วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2564

อเมริกานำในการแข่งขันด้าน AI ในขณะที่จีนกำลังพุ่งขึ้นมา

Photo by Markus Winkler on Unsplash

จากการศึกษาข้อมูลในปี 2020 ของ Information Technology and Innovation Foundation ยืนยันว่า สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำของโลกด้านการพัฒนาและใช้งานปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หรือ AI ในขณะที่จีนมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และสหภาพยุโรปยังตามหลังอยู่ การวิเคราะห์ตัวชี้วัด ซึ่งรวมถึงความสามารถของบุคลากร กิจกรรมการวิจัย การพัฒนาเชิงพาณิชย์ และการลงทุนด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ โดยจากการสำรวจให้คะแนนอเมริกา 44.6 จากคะแนนเต็ม 100 จีนตามมาด้วยคะแนน 32 และสหภาพยุโรปมีคะแนนเพียง 23.3 สหรัฐอเมริกาชนะคู่แข่งอย่างขาดลอย ในด้านการลงทุนกับบริษัทสตาร์ตอัพ และเงินทุนด้านการพัฒนา ในขณะที่จีนควบคุมซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีพลังประมวลผลสูงที่สุด 500 อันดับแรกของโลกมากที่สุดอยู่ที่ 214 เครื่อง เทียบกับสหรัฐ 113 เครื่อง และสหภาพยุโรป 91 เครื่อง  Daniel Castro จาก Information Technology and Innovation Foundation กล่าวว่าทั้งสหรัฐฯและยุโรปควรให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าของจีน "เนื่องจากประเทศต่างๆที่เป็นผู้นำในการพัฒนาและใช้ AI จะกำหนดอนาคตและปรับปรุงความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของตนอย่างมีนัยสำคัญ"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Times of India

วันเสาร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2564

เมื่อเรื่องราวเริ่มถูกเผยแพร่ AI สามารถช่วยระบุข่าวปลอมได้

ภาพจาก Rensselaer Polytechnic Institute

นักวิจัยของ Rensselaer Polytechnic Institute (RPI) ระบุว่าปัญญาประดิษฐ์ (AI) สามารถช่วยประเมินข่าวสารได้อย่างแม่นยำ แต่ก็ต่อเมื่อเรื่องราวเปิดเผยเป็นครั้งแรกเท่านั้น โดยรวมแล้วทีม RPI พบว่าการแทรกแซงที่ขับเคลื่อนด้วย AI ไม่ได้ผล เมื่อใช้กับเรื่องราวที่มีการพูดถึงบ่อยครั้ง ซึ่งผู้คนได้มีความคิดเห็นของตัวเองต่อเรื่องราวนั้นแล้ว คำแนะนำที่สร้างโดย AI ช่วยให้ผู้อ่านตัดสินได้ดีขึ้นเกี่ยวกับความถูกต้องของบทความข่าว เมื่อหัวข้อนั้นใหม่ยังใหม่มากก่อนที่จะมีผู้ให้ความคิดเห็น การแทรกแซงนี้จะได้ผลดีที่สุดเมื่อให้เหตุผลที่สอดคล้องกับกระบวนการคิดตามธรรมชาติของบุคคล เช่นการประเมินความถูกต้องของข้อเท็จจริงที่ให้มา หรือความน่าเชื่อถือของแหล่งที่มา Dorit Nero จาก RPI กล่าวว่า "หากเราสามารถเข้าถึงผู้คนได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่เรื่องราวนั้นถูกเผยแพร่ ใช้เหตุผลที่เจาะจงเพื่ออธิบายว่าเหตุใด AI จึงตัดสินแบบนั้น พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะยอมรับคำแนะนำนั้นมากขึ้น"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Rensselaer Polytechnic Institute

วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2564

นักวิทยาศาสตร์ใช้หมึกแบบใหม่ล่าสุดเพื่อพิมพ์ 'กระดูก' 3 มิติด้วยเซลล์ที่มีชีวิต

Photo: UNSW

เทคโนโลยีที่พัฒนาโดยนักวิจัยจาก University of New South Wales (UNSW) Sydney ของออสเตรเลียช่วยให้เครื่องพิมพ์สามมิติ (3D) สามารถพิมพ์โครงสร้างที่เหมือนกระดูกด้วยเซลล์ที่มีชีวิต (living cell) ได้ นักวิจัยได้พัฒนาหมึกที่ประกอบด้วยแคลเซียมฟอสเฟตและเทคนิคใหม่ของพวกเขาที่เรียกว่าการพิมพ์ทางชีวภาพแบบเซรามิกรอบทิศทางในสารแขวนลอยของเซลล์ (ceramic omnidirectional bioprinting in cell-suspensions) หรือ  COBICS ซึ่งช่วยให้สามารถพิมพ์โครงสร้างคล้ายกระดูก 3 มิติที่แข็งตัวในไม่กี่นาทีเมื่ออยู่ในน้ำ นับเป็นครั้งแรกที่โครงสร้างดังกล่าวถูกสร้างขึ้นที่อุณหภูมิห้องโดยไม่มีสารเคมีรุนแรงหรือรังสีและยังสามารถรวมเซลล์ที่มีชีวิตเข้าไปได้ด้วย Kristopher Kilian จาก UNSW กล่าวว่า "เราสามารถเข้าไปในกระดูกได้โดยตรง ในที่ที่มีเซลล์ เส้นเลือด และไขมัน  จากนั้นพิมพ์โครงสร้างคล้ายกระดูกที่มีเซลล์ที่มีชีวิตอยู่ได้ในบริเวณนั้นโดยตรง ในตอนนี้ยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่สามารถทำได้" 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of New South Wales (Australia)

วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2564

จะฝึกหุ่นยนต์โดยใช้ AI และซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ได้อย่างไร

 ตัวอย่างกลุ่มจุดที่สร้างจาก PCGAN ภาพจาก UT Arlington

นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่ University of Texas at Arlington (UT Arlington) กำลังใช้เครือข่ายปฏิปักษ์ร่วมกำเนิด (generative adversarial networks) หรือ GAN เพื่อฝึกหุ่นยนต์ให้รู้จักวัตถุต่าง  ๆ  การฝึกแบบนี้ปกติแล้วต้องใช้ชุดข้อมูลภาพขนาดใหญ่มาก แต่ GAN สามารถสร้างข้อมูลได้อย่างไม่จำกัด ซึ่งทำให้สามารถฝึกสอนหุ่นยนต์ได้ในเพียงไม่กี่วินาที นักวิจัยได้พัฒนา PCGAN ซึ่งเป็น GAN แบบมีเงือนไขตัวแรกที่สามารถสร้างกลุ่มของจุดสีที่หนาแน่นได้ในโหมดที่ไม่ต้องฝึกสอน จากการประเมินตัวอย่างแบบสุ่ม 5,000 ตัวอย่างของวัตถุในแต่ละคลาส นักวิจัยพบว่า PCGAN สามารถสังเคราะห์กลุ่มของจุดที่มีคุณภาพสูงสำหรับ อะเรย์ที่แตกต่างกันของวัตถุในคลาสต่าง  ๆ นักวิจัยบอกว่าเรากำลังเริ่มจากจุดเล็ก ๆ และสร้างลำดับชั้นเพื่อนำไปสร้างฉากสังเคราะห์ที่สมบูรณ์ (full synthetic scene generation) ที่จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับหุ่นยนต์

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Texas Advanced Computing Center

วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2564

ใครต้องการครูกันล่ะ? AI ออกแบบบทเรียนให้ตัวเอง

OPENAI

นักวิจัยจาก University of California, Berkeley (UC Berkeley) และ Google ได้สร้างปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่สามารถตรวจสอบได้ว่าจะให้ความรู้แก่ตนเองได้ดีที่สุดอย่างไร ในการทดลองหนึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้ทดสอบเอเจนต์ AI ที่สสมารถหาเส้นทางในตารางสองมิติที่เต็มไปด้วยบล็อกเพื่อไปถึงปลายทางได้อย่างรวดเร็ว เอเจนต์ปรับปรุงความสามารถของตัวเองผ่านการเรียนรู้แบบเสริมกำลัง (reinforcement learning) โดยใช้วิธี PAIRED นักวิจัยได้จับคู่ AI ที่จัดเป็นตัวเอก (protagonist) กับ AI ที่เกือบเท่าเทียมกับตัวเอก แต่มีจุดแข็งที่ต่างกัน ที่อาจเรียกว่าเป็นคู่ปรับ (antagonist) จากนั้น AI ตัวที่สามจะออกแบบสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้คู่ปรับแก้ได้ง่าย แต่ไม่ได้เอื้อกับตัวเอก ด้วยการฝึกฝนจากการทดลองในหลาย ๆ ครั้ง พบว่าตัวเอกที่ได้รับการฝึกแบบนี้ สามารถแก้ปัญหาเขาวงกตที่มีความซับซ้อนได้ 1 ใน 5 แต่ถ้าฝึกด้วยวิธีเดิม (ไม่มี AI ตัวที่สามมาออกแบบสภาพแวดล้อม) จะแก้ปัญหาไม่ได้เลย

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  Science

วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2564

Mitsubishi Electric, Tokyo Tech พัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชนเพื่อทำให้การซื้อขายพลังงานแบบ P2P เหมาะสมที่สุด

Photo by Launchpresso on Unsplash

เทคโนโลยีบล็อกเชนที่พัฒนาโดยนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว และบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ Mitsubishi Electric ของญี่ปุ่นสามารถทำให้การซื้อขายพลังงานแบบเพียร์ทูเพียร์ (P2P) ได้เหมาะสมที่สุด (optimize) ทีมนักวิจัยได้ออกแบบขั้นตอนวิธีแบบกระจายที่เหมาะสมที่สุด ที่สามารถทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ไคลเอนต์สามารถแบ่งปันเป้าหมาย (goal) และข้อมูลการซื้อขาย จากนั้นจับคู่ลำดับการซื้อขายที่เหมาะสมที่สุด โดยใช้การคำนวณน้อยที่สุด ขั้นตอนวิธีมีสี่ขั้นตอนได้แก่ ขั้นแรกจะแบ่งปันคำสั่งซื้อขายที่มีเป้าหมายการซื้อขายร่วมกัน ระหว่างเซิร์ฟเวอร์คอมพิวเตอร์ในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า จากนั้นให้เซิร์ฟเวอร์แต่ละตัวหาคำสั่งที่ตรงกับเป้าหมายนั้น เซิร์ฟเวอร์แต่ละตัวจะแบ่งปันผลลัพธ์ที่มันหาได้ในขั้นตอนที่สาม หลังจากนั้นเซิร์ฟเวอร์เหล่านี้จะสร้างบล็อกใหม่ โดยเลือกการซื้อขายที่ตรงกับเป้าหมายร่วมกันมากที่สุด การค้นหาแบบกระจายอำนาจ (decentralized) เพื่อหาคำตอบจะทำไปพร้อม ๆ กันบนเครื่องคอมพิวเตอร์หลายเครื่อง โดยการจับคู่ที่ตรงกันจะถูกเลือกแบบสุ่ม เพื่อให้แน่ใจว่าเป็นการซื้อขายที่ยุติธรรม

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  Tokyo Institute of Technology

วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2564

Microsoft กำลังลงทุนและเป็นหุ้นส่วนกับ GM ในรถขับเคลื่อนด้วยตัวเอง

Cruise Origin driverless shuttle ภาพจาก Cruise

Microsoft กำลังทำงานร่วมกับบริษัทผลิตรถยนต์ General Motor (GM) และ Cruise ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านรถยนต์อัตโนมัติ เพื่อลงทุนและเร่งการนำไปใช้งานในเชิงพาณิชย์ของรถยนต์ไร้คนขับ ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการคลาวด์ที่ GM และ Cruise ชื่นชอบ Satya Nadella แห่ง Microsoft บอกว่า "เราจะใช้พลังของ Azure (บริการคลาวด์ของ Microsoft) เพื่อช่วยให้การเติบโตและการทำให้การขนส่งแบบอัตโนมัติกลายเป็นกระแสหลัก GM กล่าวว่าจะทำงานร่วมกับ Microsoft  "เพื่อเร่งการริเริ่มการเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลซึ่งรวมถึงการทำงานร่วมกัน การจัดเก็บข้อมูล ปัญญาประดิษฐ์ และความสามารถในการเรียนรู้ของเครื่อง" GM จะร่วมสำรวจกับ Microsoft ในความเป็นไปได้ที่จะลดความซับซ้อนของการดำเนินงานในห่วงโซ่อุปทานดิจิทัล และเปิดตัวบริการด้านโมบายล์ให้กับลูกค้าได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

อ่านข่าวเต็มได้ที่: CNBC

วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2564

แฮกเกอร์ปล่อยข้อมูลวัคซีน Covid-19 ที่ขโมยมาจากการจู่โจมทางไซเบอร์

Photo by Michael Geiger on Unsplash

European Medicines Agency (EMA) เปิดเผยว่าข้อมูลเกี่ยวกับยาและวัคซีน Covid-19 ซึ่งถูกขโมยโดยเป็นส่วนหนึ่งของการโจมตีทางอินเทอร์เน็ตที่ประกาศเมื่อเดือนที่แล้วได้รั่วไหลออกไปบนอินเทอร์เน็ต แฮกเกอร์ได้จู่โจมแอปพลิเคชันไอทีตัวหนึ่งซึ่งไม่เปิดเผย โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ข้อมูลที่เกี่ยวกับยาและวัคซีน Covid-19 อย่างไรก็ตามงานและเครือข่ายในการกำกับดูแลของ EMA ไม่ได้รับผลกระทบกับการโจมตีนี้ และการรับรองและแจกจ่ายวัคซีน Covid-19 ก็ไม่ได้ถูกขัดขวาง EMA บอกว่าจะต้องมีการดำเนินการที่จำเป็นต่อไปโดยหน่วยงานบังคับกฎหมาย 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet

วันเสาร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2564

ตัวแบบวิเคราะห์ว่าไวรัสหลบหนีจากระบบภูมิคุ้มกันได้อย่างไร

ภาพจาก MIT News

นักวิจัยจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) ได้พัฒนาแบบจำลองที่สามารถทำนายได้ว่าส่วนใดของโปรตีนที่พื้นผิวของไวรัสมีแนวโน้มที่จะกลายพันธุ์ และส่วนใดมีโอกาสกลายพันธุ์น้อยกว่า ซึ่งจะเป็นเป้าหมายที่ดีสำหรับวัคซีนใหม่ นักวิจัยยังระบุเป้าหมายที่เป็นไปได้อย่างมากสำหรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ HIV และ SARS-CoV-2 นักวิจัยฝึกสอนแบบจำลองการประมวลผลภาษาธรรมชาติในการวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรม เพื่อทำนายลำดับใหม่ที่มีฟังก์ชันใหม่ ในขณะที่ติดตามกฏทางชีวภาพของโครงสร้างโปรตีนอย่างต่อเนื่อง จากนั้นนักวิจัยได้ใช้แบบจำลองดังกล่าวทำนายลำดับของ spike protein ของโคโรนาไวรัส envelope preotein ของ HIV และ  hemagglutinin protein ของไข้หวัดใหญ่ ที่อาจมีโอกาสมากขึ้นหรือน้อยลงที่จะกลายพันธ์ และกลายเป็นไวรัสที่หนีจากการดักจับได้ นักวิจัยบอกว่า "มันมีโอกาสมากมาย และสิ่งที่สวยงามที่สุดคือ สิ่งที่เราต้องการก็มีแค่สายลำดับข้อมูล ที่สร้างขึ้นมาได้ง่ายมาก" 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: MIT News

วันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2564

บริการด้านการคัดคนเข้าทำงานหยุดใช้การวิเคราะห์ใบหน้าของผู้สมัครงาน

ILLUSTRATION: ELENA LACEY; GETTY IMAGES

บริษัทจัดจำหน่ายซอฟต์แวร์ด้านทรัพยากรบุคคล (human resource) ชื่อ HireVue กำลังกำจัดคุณลักษณะการวิเคราะห์การแสดงออกทางใบหน้าของผู้สมัครงานเพื่อระบุคุณลักษณะบางอย่างออกจากซอฟต์แวร์การจ้างงาน ตัวซอฟต์แวร์ระบุให้ผู้สมัครงานต้องตอบคำถามผ่านกล้องเว็บแคม จากนั้นส่งวีดีโอที่มีข้อมูลพฤติกรรม น้ำเสียง และคำพูดไปให้ขั้นตอนวิธีที่อ้างว่าสามารถระบุคุณลักษณะ และคุณสมบัติบางประการได้ ในขณะที่การตรวจสอบขั้นตอนวิธีเมื่อปีที่แล้วของ HireVue บอกว่า ตัวขั้นตอนวิธีไม่ได้มีอคติ แต่ CEO ของบริษัทบอกว่า ถึงแม้ส่วนการวิเคราะห์การแสดงออกทางใบหน้าจะเพิ่มคุณค่าให้กับลูกค้า แต่มันก็ไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่กังวลกันอยู่ Alex Engler จาก Brookings Institution กล่าวว่าการเรียนรู้ของเครื่องอาจช่วยกระบวนการจ้างงานได้บางส่วน แต่เน้นว่าปัญญาประดิษฐ์สมัยใหม่ไม่สามารถอนุมานเกี่ยวกับความสามารถของใครบางคนได้

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Wired

วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2564

ภาคีสมาชิกของ ACM ปี 2020 จากผลงานที่เป็นหลักของนวัตกรรมด้านการคำนวณในปัจจุบัน

ภาพจาก ACM

ACM ประกาศชื่อภาคีสมาชิก 95 คนประจำปี 2020 จากผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อวงการอย่างเห็นได้ชัดทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) คลาวด์คอมพิวติง (cloud computing) คอมพิวเตอร์กราฟิกส์ (computer graphics) ชีววิทยาเชิงคำนวณ (computational biology) วิทยาศาสตร์ข้อมูล (data science) ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ (human-computer interaction) วิศวกรรมซอฟต์แวร์ (software engineering) วิทยาการคอมพิวเตอร์เชิงทฤษฏี (theoretical computer science) และความจริงเสมือน  (virtual reality) นวัตกรรมของพวกเขาครอบคลุมอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นด้านขั้นตอนวิธี เครือข่าย สถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ ระบบกระจาย การพัฒนาซอฟต์แวร์ ระบบไร้สาย วิทยาศาตร์ของเว็บ (Web science) และอีกมากมาย ประธานของ ACM บอกว่า "ชายและหญิงเหล่านี้ได้มอบแกนสำคัญทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรม และวิถีชิวิตของผู้คน เราคาดหวังอย่างเต็มที่ว่าภาคีสมาชิกใหม่ของ ACM เหล่านี้ จะยังคงเป็นผู้นำในสาขาของพวกเขาต่อไป" 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ACM

เพิ่มเติมเสริมข่าว: รายชื่อภาคีสมาชิกใหม่ของ ACM ประจำปี 2020 ดูได้ที่นี่ครับ 2020 ACM Fellows

วันพุธที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2564

มัลแวร์บน macOS ใช้ Run-Only AppleScripts เพื่อหลบการตรวจจับมาได้ 5 ปี

Image: Bundo Kim

นักวิจัยจากบริษัทด้านความมั่นคงไซเบอร์ SentinelOne ที่อยู่ในแคลิฟอร์เนีย พบว่ามัลแวร์ชื่อ OSAMiner ที่ขโมยทรัพยากรจากเครื่องที่ใช้ macOS ที่ติดเชื้อไปใช้ขุดเงินเข้ารหัส (cryptocurrency) มัลแวร์ซึ่งหลีกเลี่ยงการตรวจจับมาได้ตั้งแต่ปี 2015 ติดเข้าเครื่องที่มีช่องโหว่ผ่านทางเกมและซอฟต์แวร์เถื่อน และดูเหมือนว่าจะมีเป้าหมายอยู่ที่ชุมชนชาวจีนและเอเชียแปซิฟิก บริษัทด้านความมั่นคงของจีนได้ระบุและวิเคราะห์เวอร์ชันเก่าของมัลแวร์นี้ในปี 2018 แต่นักวิจัยด้านความมั่นคงไม่สามารถดึงโค้ดทั้งหมดของไวรัสออกมาได้ในตอนนั้น นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าช่วงเวลาที่มันสามารถทำงานอยู่ได้ และการขาดความใส่ใจต่อแคมเปญ macOS.OSAMiner ทำให้เห็นว่า Run-Only AppleScripts มีความเก่งกาจอย่างมากต่อการหลบเลี่ยง และการถูกวิเคราะห์

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet

เพิ่มเติมเสริมข่าว: Run-Only AppleScripts เป็นสคริปต์ที่ถูกคอมไพล์โดยไม่เก็บข้อมูลที่จะช่วยให้อ่านสคริปต์กลับคืนขึ้นมาเพื่อแก้ไขได้ จุดประสงค์ก็คือการทำให้สคริปต์มีขนาดเล็ก 

วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2564

โดรนสามารถตรวจจับและฆ่าเชื่อ Covid 19 จากท้องฟ้า

Photo by Goh Rhy Yan on Unsplash

Draganfly Smart Vital System ซึ่งถูกนำมาใช้โดย Alabama State University และ Alabama State Senate for Covid-19 screenings สามารถวัดอุณหภูมิ อัตราการเต้นของหัวใจ และอัตราการหายใจ จากโดรนที่บินอยู่ เพื่อตรวจจับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะติด Covid-19 โดยผู้ที่ถูกระบุว่ามีความเสี่ยงจะถูกนำไปตรวจทันที ทางมหาวิทยาลัยยังใช้โดรน Draganfly ในการฆ่าเชื้อที่พื้นผิวทั้งในและนอกสนามกีฬาด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคและไวรัส นักวิจัยบอกว่าระบบคัดกรองนี้ถูกออกแบบให้ทำงานจากโดรน แต่สิ่งที่เราต้องการทำจริง ๆ คือการที่มีกล้องถ่ายทางอากาศที่อยู่ประจำที่ และแม้แต่ในโทรศัพท์มือถือเพื่อการรักษาทางไกล นักวิจัยยังบอกว่าโดรนนี้จะไม่เก็บข้อมูลส่วนบุคคลใด ๆ และไม่ทำเรื่องการรู้จำใบหน้า

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Hill

วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2564

การใช้สื่อสังคมโดยนักเคลื่่อนไหวทางการเมืองทำกันเป็นอุตสาหกรรมแล้ว

ภาพจาก ACM

จากการสำรวจ 81 ประเทศในปี 2020 โดย Oxford Internet Institute (OII) ของสหราชอาณาจักร พบหลักฐานของการใช้สื่อสังคม (social media) ในการสื่อสารด้านการเมืองในแต่ละประเทศเพิ่มขึ้น 15% จากปี 2019 การบิดเบือนข้อมูลเป็นแท็กติกใช้ทั่ว ๆ ไปใน 76 ประเทศ OII บอกว่าการบิดเบือนข้อมูลตอนนี้ "ถูกผลิตในระดับอุตสาหกรรม" ทีมของ OII เตือนถึงระดับการใช้งานสื่อสังคมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก โดยรัฐบาลและพรรคการเมืองใช้เงินเป็นล้านเพื่อตั้ง "กองทัพไซเบอร์" ในภาคเอกชน เพื่อกลบเสียงอื่น ๆ และใช้คนที่เป็นแรงบันดาลใจ (influenzer) ในการเผยแพร่ข้อมูลยกย่องตัวเอง การศึกษายังพบหลักฐานใน 62 ประเทศว่าหน่วยงานรัฐบาลใช้การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อชี้นำแนวทางการสนทนาสาธารณะ OII บอกว่าบริษัทสื่อสังคมจะต้องเพิ่มความพยายามให้มากขึ้นในการชี้ให้เห็นข่าวที่บิดเบือน ปิดบัญชีปลอมโดยที่ไม่ต้องมีการแทรกแซงจากรัฐ

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  University of Oxford (U.K.)

วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2564

นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์: เราไม่สามารถควบคุมเครื่องทีมีความฉลาดยิ่งยวดได้

ภาพจาก Max Planck Institute for Human Development (Germany)

ทีมนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์นานาชาติสรุปว่า จากการคำนวณทางทฤษฎี ปัญญาประดิษฐ์ที่มีความฉลาดยิ่งยวด (superintelligent artificial intelligence) จะอยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์ นักวิจัยเสนอขั้นตอนวิธีการกักกันทางทฤษฎีที่จะทำให้มั่นใจว่า AI ฉลาดยิ่งยวดนี้จะไม่ทำร้ายคนโดยสร้างตัวแบบพฤติกรรมของมันขึ้นมาก่อน และหยุดมันถ้ามันจะเป็นอันตราย แต่จากการวิเคราะห์บ่งชี้ว่าปัจจุบันนี้ยังไม่สามารถสร้างขั้นตอนวิธีดังกล่าวขึ้นมาได้ และต่อให้สร้างขึ้นมาได้นักวิจัยบอกว่าถ้าเราแตกปัญหาออกจนถึงกฏพื้นฐานจากวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เชิงทฤษฎี มันจะเป็นไปได้ว่าขั้นตอนวิธีที่จะสั่ง AI ไม่ให้ทำลายโลกอาจหยุดการทำงานโดยไม่คาดหมาย และถ้ามันเกิดขึ้นเราก็ไม่มีทางรู้เลยว่าขั้นตอนการกักกันยังทำการวิเคราะห์อยู่ หรือมันยอมรับตัว AI อันตรายเข้ามาแล้ว และยิ่งไปกว่านั้นขั้นตอนวิธีที่จะระบุว่านี่คือปัญญาประดิษฐ์ที่ฉลาดยิ่งยวดก็ยังสร้างไม่ได้เช่นกัน 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Max Planck Institute for Human Development (Germany)

วันเสาร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2564

AI ช่วยหาการใช้ยาที่มีอยู่แล้วกับกรณีที่ไม่เคยใช้มาก่อน

ภาพจาก ACM

นักวิจัยจาก Ohio State University (OSU) ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หรือ AI ในการประมวลผลชุดข้อมูลจำนวนมหาศาลเพื่อหาว่ายาที่มีอยู่เดิม สามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยที่ไม่เคยใช้ยานี้มาก่อนได้หรือไม่ นักวิจัยใช้ข้อมูลการเคลมประกันจากผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจประมาณ 1.2 ล้านคน การศึกษามุ่งไปที่การใช้ยาที่เคยใช้เพื่อป้องกันหัวใจล้มเหลวและโรคหลอดเลือดสมอง ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ผลการทดลองพบว่าสามารถระบุยา 9 ตัวที่มีแนวโน้มที่จะทำให้การรักษาทำได้ดีขึ้น นักวิจัยบอกว่าการศึกษานี้สามารถทำกับโรคอะไรก็ได้ ถ้าเราสามารถนิยามผลลัพธ์ของโรคได้ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Ohio State University

วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2564

ภาษา python ครองบัลลังก์ในขณะที่ Java ร่วง

www.tiobe.com

บริษัทติดตามคุณภาพซอฟต์แวร์ Tiobe ได้ประกาศชื่อ Python เป็นภาษาโปรแกรมที่เป็นภาษาที่อยู่ในระดับสูงสุดในปี 2020 เนื่องจากความนิยมเติบโตมากกว่าภาษาอื่น ๆ ทั้งหมดในดัชนีของบริษัทเมื่อปีที่แล้ว การใช้งาน Python เพิ่มขึ้น 2.01% ในช่วงปีที่แล้ว ขณะที่ Java ตกลง 5% ในช่วงเวลาเดียวกัน CIO ของ Tiobe ให้เครดิตกับความสามารถรอบด้านของ Python ความง่ายต่อการเรียนรู้ และให้ผลผลิตในระดับสูง แต่สิ่งหนึ่งที่ยังทำให้ Pyhton ยังไม่อยู่อันดับหนึ่ง (ในดัชนีการจัดอันดับ) ก็เพราะภาษา C ยังมีประสิทธิภาพมากกว่า ในปัจจุบัน Python เป็นภาษาที่ได้รับความนิยมในงานด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล และการเรียนรู้ของเครื่อง และตอนนี้ยังใช้ในการพัฒนาเว็บ และโปรแกรมที่ทำงานอยู่ในระบบหลังบ้าน และกำลังเติบโตเข้าไปในการพัฒนาโมบายล์แอปพลิเคชัน และแม้แต่ระบบฝังตัว จากการจัดอันดับล่าสุดในเดือนมกราคมปีนี้  C ยังเป็นอันดับหนึ่ง Java เป็นอันดับสอง และ Pyhton เป็นอันดับสาม แต่ CIO ของ Tiobe เชื่อว่า Python จะแย่งอันดับสองจาก Java มาได้อย่างถาวรในเร็ว ๆ นี้ ทางบริษัทยังคาดว่าภาษาเขียนโปรแกรม Julia ซึ่งกำลังเติบโตในด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล และการเรียนรู้ของเครื่องจะเข้ามาอยู่ใน 20 อันดับแรกในปี 2021

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet 

วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2564

ซอร์สโค้ดของ Nissan รั่วออกสู่โลกออนไลน์หลังจากคอนฟิก Git Repo ผิดพลาด

Image: Daniel Demers

Tillie Kottmann วิศวกรซอฟต์แวร์จากสวิสกล่าวว่าการกำหนดค่าเซิร์ฟเวอร์ Bitbucket Git ของ Nissan อเมริกาเหนือมีความผิดพลาด ทำให้เกิดการรั่วไหลของซอร์สโค้ดสำหรับแอปพลิเคชันมือถือ และเครื่องมือภายในของบริษัทออกไปทางออนไลน์ Kottmann บอกว่าที่จัดเก็บข้อมูล (repository) ถูกปล่อยไว้บนอินเทอร์เน็ตโดยใช้ค่าปริยายของชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านคือ admin/admin นิสสันได้เอามันออกจากออนไลน์หลังจากที่ซอร์สโค้ดได้ถูกเผยแพร่ออกไปในรูปแบบของลิงก์ของ torrent ที่แชร์ผ่าน Telegram และฟอรัมของแฮกเกอร์ โฆษกของ Nissan บอกว่า  "เราตระหนักถึงการอ้างเกี่ยวกับการรายงานการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับและซอร์สโค้ดของ Nissan อย่างไม่เหมาะสม เราให้ความสำคัญกับประเด็นนี้อย่างจริงจังและกำลังดำเนินการสืบสวนอยู่"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet

วันพุธที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2564

ตัวขโมยเงินเข้ารหัสแอบซ่อนอยู่บน Windows, macOs, และ Linux มาหนึ่งปี

ภาพจาก Ars Technica

จากรายงานของบริษัทด้านความมั่นคง Intezer ของอิสราเอล ได้บันทึกการขโมยที่อยู่กระเป๋าเงินเข้ารหัส (crytocurrency) ของผู้ใช้ ผ่านทางมัลแวร์ที่สร้างขึ้นมาเองทั้งหมด และไม่มีใครตรวจพบมันเลยเมื่อปีที่แล้ว แฮกเกอร์ใช้แอปพลิเคชันที่มีมัลแวร์นี้แอบอยู่ข้างใน โดยแอปพลิเคชันนี้มีอยู่บนระบบปฏิบัติการทั้ง Windows, macOS, และ Linux โดยอาศัยเครือข่ายของบริษัท เว็บไซต์ และโพรไฟล์เครือข่ายสังคมปลอม เพื่อหลอกลวงเหยื่อ ตัวแอปจะบอกว่าตัวเองเป็นแอปที่มีประโยชน์กับผู้ถือครองเงินเข้ารหัส โดยมีโทรจันแอบแฝงเข้ามาที่ชื่อว่า ElectroRAT ที่จะทำใหผู้บุกรุกสามาถเก็บข้อมูลการกดแป้นพิมพ์ จับภาพหน้าจอ อัปโหลดและดาวน์โหลดไฟล์ สั่งรันคำสั่งบนเครื่องที่ติดเชื้อ โดยไม่มีผลิตภัณฑ์ป้องกันไวรัสรายใหญ่ใด ๆ ตรวจจับได้เลย

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Ars Technica

 

วันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2564

ตัวแบบการคำนวณที่ใช้ได้จริงตัวแบบแรกเพื่อเข้าใจไวรัส COVID-19


ภาพจาก University of Chicago

ตัวแบบการคำนวณ (computational model) ที่ใช้ได้จริงตัวแบบแรกสำหรับไวรัส COVID-19 ถูกสร้างขึ้นแล้วโดยนักวิจัยจาก University of Chicago (UChicago) นักวิจัยใช้เทคนิคที่เรียกว่า coarse-graining ในการระบุองค์ประกอบที่สำคัญแต่ละตัวของไวรัส และกำจัดข้อมูลที่ไม่สำคัญออกไป ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือได้ตัวแบบคอมพิวเตอร์ของไวรัส COVID-19 ที่ครอบคลุมและสามารถรันบนคอมพิวเตอร์ได้ นักวิจัยบอกว่าถ้าเราเข้าใจว่าไวรัสทำงานอย่างไร นั่นคือขั้นตอนแรกที่จะหยุดมัน แต่ละเรื่องที่เรารู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตและองค์ประกอบของมัน นั่นคือช่องโหว่ที่เราจะใช้โจมตีมัน

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Chicago

วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2564

เมื่อรถสามารถเผยความลับ

Sebastian König / for NBC News

หน่วยงานด้านการบังคับใช้กฎหมาย (สหรัฐ) เริ่มหันมาใช้ข้อมูลที่จัดเก็บอยู่ในบอร์ดของคอมพิวเตอร์บนรถมากขึ้น เพื่อช่วยไขคดีอาชญากรรม หน่วยงานนิติวิทยาศาสตร์ (forensic) สามารถใช้ข้อมูลที่สร้างและจัดเก็บด้วยบอร์ดคอมพิวเตอร์นำมาประกอบกันเพื่อหาว่ารถเคยไปที่ไหนมาบ้าง และพฤติกรรมของผู้โดยสาร โดยข้อมูลที่จะถูกเปิดเผยออกมาได้ก็เช่น ตำแหน่งและความเร็วของรถ การเปิดและปิดประตู คำสั่งเสียง ประวัติการท่องเว็บ ประวัติการโทรและส่งข้อความ อุปกรณ์ใดบ้างที่มีการเชื่อมต่อกับรถ และอีกมากมาย 

อย่างไรก็ตามนักเคลื่อนไหวด้านความเป็นส่วนตัวกำลังกังวลกับการที่บอร์ดคอมพิวเตอร์แบบนี้ขาดการรักษาความมั่นคง (security) นอกจากนี้ยังขาดแคลนกฎหมายของรัฐบาลกลางในการควบคุมว่าผู้ผลิตรถยนต์สามารถรวบรวมข้อมูลใด และสามารถทำอะไรได้บ้าง

อ่านข่าวเต็มได้ที่: NBC News


วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2564

วิศวกรซอฟต์แวร์ได้เงินเดือนเท่าไร

ภาพจาก  iStockphoto

จากการวิเคราะห์ค่าจ้างของวิศกรซอฟต์แวร์โดยผู้ให้บริการเครื่องมือเปรียบเทียบเงินเดือน Levels.fyi ได้ให้รายละเอียดการเปลี่ยนแปลงจากบริษัทที่จ่ายเงินเดือนสูงสุดเมื่อปีที่แล้วพบว่า บริษัทที่ให้บริการแชร์การใช้พาหนะ (ride sharing) คือ Lyft ในปี 2020 ให้เงินเดือนสูงสุดสำหรับวิศวกรระดับเริ่มต้น โดยมีค่ามัธยฐานของเงินเดือน โบนัส และหุ้นรวมกันอยู่ที่ 230,000 เหรียญสหรัฐต่อปี ส่วน Airbnb ให้ค่าจ้างรวมทั้งหมด 295,500 เหรียญสหรัฐต่อปี สำหรับวิศวกรที่ประสบการณ์ 2 ถึง 5 ปี ส่วน LinkedIn ให้ค่าจ้างรวมทั้งหมด 461,000 เหรียญสหรัฐต่อปี สำหรับวิศกรที่มีประสบการณ์ 5 ปี ขึ้นไป 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: IEEE Spectrum

วันเสาร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2564

คอมพิวเตอร์ที่พิมพ์ออกมาได้และไม่ต้องใช้แบตเตอรี

ภาพจาก Forbes

ป้ายชื่อ (tag) อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) ของ Wiliot เป็นชิปที่พิมพ์ออกมาได้โดยมีหน่วยความจำทั้ง RAM และ ROM มีเซ็นเซอร์ มีบลูทูชที่ได้รับการรับรอง (certified)  ซีพียู ARM หน่วยความจำแฟลช และการสื่อสารที่ปลอดภัย ชิปนี้ไม่ต้องใช้แบตเตอรี โดยใช้พลังงานจากคลื่นวิทยุโดยรอบตัว มันสามารถติดกับเสาอากาศ รับอินพุตจากเซ็นเซอร์เพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ การเคลื่อนไหว หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงทางเคมี ด้วยการที่ไม่ต้องมีแบตเตอรี ทำให้ตัวอุปกรณ์มีขนาดเล็ก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีราคาไม่แพง โดยชิปนี้อาจมีราคาแค่หนึ่งเพนนีเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วทาง Williot บอกว่าความก้าวหน้าที่แท้จริงของงานนี้ก็คือการลดราคาของโครงสร้างพื้นฐานของเซ็นเซอร์ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการใช้งาน IoT อย่างแพร่หลาย 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Forbes

วันศุกร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2564

แฮกเกอร์ฝังประตูลับไว้ในอุปกรณ์ของ Zyxel

ภาพจาก Ars Technica

นักวิจัยจากบริษัทด้านความมั่นคง  Eye Control ในประเทศเนเธอร์แลนด์ พบว่าแฮกเกอร์กำลังพยายามใช้งานประตูลับที่ติดตั้งอยู่ในอุปกรณ์ของ Zyxel เช่น VPN ไฟร์วอล (firewall) และแอกเซสพอยต์ของเครือข่ายไร้สาย ที่ใช้กันทั้งส่วนบุคคลและธุรกิจ ประตูลับนี้คือบัญชีผู้ใช้งานที่ไม่ได้มีการบันทึกไว้ในเอกสาร โดยบัญชีผู้ใช้นี้ถูกฝังเอาไว้ในเฟิร์มแวร์ (firmware) ของอุปกรณ์ และมีสิทธิเป็นผู้ดูแลระบบอย่างเต็มตัว บัญชีนี้สามารถเข้าถึงได้ทั้งผ่านทาง SSH หรือผ่านเว็บบราวน์เซอร์ ตัวแก้ช่องว่างนี้มีพร้อมแล้วสำหรับไฟร์วอลทุกรุ่น ส่วนของตัวแอกเซสพอยน์จะมีให้ใช้ในวันที่ 8 มกราคมนี้ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Ars Technica

วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2564

เทคโนโลยีที่จะปรับปรุงแบตเตอรีพลังน้ำรุ่นต่อไป

ภาพจาก SciTechDaily

แบตเตอรีพลังน้ำแบบ zinc/bromine redox flow batteries (ZBBs) ซึ่งถูกพัฒนาโดยนักวิจัยจาก Korea Advanced Institute of Science and Technology (KAIST) ในเกาหลีใต้ ถูกออกแบบมาเพื่อเอาชนะปัญหาด้านอายุการใช้งานของแบตเตอรีพลังน้ำในรุ่นต่อไป นักวิจัยบอกว่าไม่เพียงแต่มันจะถูกกว่าแบตเตอรีแบบ  lithium-ion ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน แต่มันยังช่วยส่งเสริมการใช้งานพลังงานแบบนำกลับมาใช้ใหม่ และยังเป็นแหล่งสนับสนุนที่ปลอดภัยให้กับระบบจัดเก็บพลังงานที่สามารถให้ประสิทธิภาพของพลังงานกว่า 80% นักวิจัยบอกว่า ZBBs ให้ผลลัพธ์และให้อายุการใช้งานได้สูงสุดเมื่อเทียบกับแบตเตอรีแบบ Redox flow และยังไม่มีความเสี่ยงการการจุดระเบิดและไฟที่เกิดขึ้นให้เห็นกันอยู่ในการใช้แบตเตอรีแบบ lithium-ion

อ่านข่าวเต็มได้ที่: SciTechDaily

วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2564

เข้าใจสิ่งที่อยู่ใต้ผิวหนังได้อย่างรวดเร็ว

Image: Astrid Eckert / TUM

นักวิจัยจาก Technical University of Munich (TUM) ประเทศเยอรมัน ได้พัฒนาขั้นตอนวิธีแบบเรียนรู้ด้วยตัวเองเพื่อช่วยวิเคราะห์ภาพถ่ายทางการแพทย์ ซอฟต์แวร์นี้มีชื่อว่า AIMOS (Artificial Intelligence-based Mouse Organ Segmentation) ซึ่งทำงานโดยใช้โครงข่ายปราสาทเทียมเพื่อรู้จำแบบรูป (pattern) และหาวิธีแก้ปัญหาด้วยตัวเอง การฝึกฝนขั้นตอนวิธีนี้ทำโดยใช้ภาพของหนู โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้โปรแกรมประเมินการสแกนภาพทั้งตัวแบบสามมิติเพื่อแสดงตำแหน่งและรูปร่างที่แน่นอนของอวัยวะที่ต้องการ นักวิจัยบอกว่า ผลการทดลองนี้แสดงให้เห็นว่าขั้นตอนวิธีแบบเรียนรู้ด้วยตัวเองนี้นอกจากเร็วกว่าคนในการวิคราะห์ภาพทางชีววิทยาแล้ว ยังแม่นยำกว่าด้วย

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Technical University of Munich (Germany)

วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2564

10 เทคโนโลยีที่จะมาป่วนวงการไอทีในห้าปีต่อจากนี้

Photo by Michael Dziedzic on Unsplash

Burning Glass Technologies ซึ่งเป็นบริษัทด้านซอฟต์แวร์บอกว่าควอนตัมคอมพิวติง (quantum computing) และเทคโนโลยีการเชื่อมต่อ (connected technology) จะเป็น 2 เทคโนโลยีจาก 10 เทคโนโลยีที่จะมาป่วน (disrupt) เทคโนโลยีด้านไอทีในห้าปีต่อจากนี้ โดยคาดการณ์อัตราเติบโตอยู่ที่ 135% และ 104% ตามลำดับ ส่วนอีก 8 เทคโนโลยีที่เหลือได้แก่ บทบาทของไอทีทางด้านเทคโนโลยีการเงิน ปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่อง ( artificial intelligence and machine learning) ไอทีอัตโนมัติ (IT automation) การประมวลผลภาษาธรรมชาติ (natural language processing) ความมั่นคงเชิงรุก (proactive security) ระเบียบวิธีพัฒนาซอฟต์แวร์ (software development methodology)  คลาวด์ (cloud) และการคำนวณแบบขนาน (parallel computing) ซึ่งจริง ๆ ทักษะ 8 ด้านจาก 10 ด้านนี้ ปัจจุบันก็เป็นทักษะที่มักจะระบุไว้ในกว่า 30% ของงานอยู่แล้ว

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet

วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2564

เครื่องจะเปลี่ยนวิธีที่บริษัทใช้สื่อสาร

Photo by William Iven on Unsplash

นักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์และการเรียนรู้ของเครื่องจากมหาวิทยาลัย Columbia และ Georgia State พบว่าปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หรือ AI กำลังเปลี่ยนวิธีที่บริษัทจะสื่อสารกัน การประมวลผลภาษาธรรมชาติกำลังถูกใช้ในการวิเคราะห์และประมวลผลข้อความในเอกสารด้านการเงินที่บริษัทต้องส่งให้คณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา จากนั้นส่วนการเรียนรู้ของเครื่องจะถูกใช้เพื่อสรุปข้อความ และจัดอันดับภาษาที่ใช้ว่าเป็นบวก ปกติ หรือเป็นลบ ซึ่งสัญญาณที่ได้จากเครื่องมือเหล่านี้จะเป็นข้อมูลให้ผู้ให้คำปรึกษา นักวิเคราะห์ และนักลงทุนในการตัดสินใจ การดาวน์โหลดเอกสารจากเครื่องมีความสัมพันธ์กับความเร็วในการซื้อขายหลังจากที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ได้โพสต์เอกสารที่ถูกส่งมา ซึ่งสิ่งนี้ผลต่ออุตสาหกรรมด้านการเงินและเศรษฐกิจ โดยหลายบริษัทได้พยายามยกระดับการใช้ภาษาเพื่อให้เข้ากับระดับที่ส่วนการเรียนรู้ของเครื่องจะรายงานออกมา นักวิจัยบอกว่าหลักฐานนี้ชี้ให้ห็นว่าผู้บริหารควรระมัดระวังว่ารูปแบบการพูดและอารมณ์ของพวกเขา ซึ่งเมื่อถูกประเมินโดยคนหรือโปรแกรมจะส่งผลต่อการประเมินของนักลงทุนและนักวิเคราะห์

อ่านข่าวเต็มได้ที่: VentureBeat

วันอาทิตย์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2564

ขั้นตอนวิธีที่จะป้องกันการระบุประเภทเซลล์มะเร็งผิดพลาด

ภาพจาก University of Kent (U.K.)

ขั้นตอนวิธีการเรียนรู้เชิงลึก (deep learning algorithm) ที่ถูกพัฒนาโดยนักวิจัยจาก University of Kent ในสหราชอาณาจักร ได้ค้นพบความแตกต่างในสายของเซลล์มะเร็งจากภาพที่ถ่ายจากกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งจะช่วยป้องกันการวินิจฉัยเซลล์มะเร็งที่ผิดในห้องทดลอง  ทีมนักวิจัยได้ใช้ขั้นตอนวิธีบนตัวแบบคอมพิวเตอร์ที่มีการฝึกสอนด้วยการเปรียบเทียบประเภทของเซลล์มะเร็งจำนวนมาก ตัวโปรแกรมจะทำให้คอมพิวเตอร์สามารถสำรวจ ระบุ และเขียนป้ายระบุภาพถ่ายดิจิทัลแต่ละภาพของสายเซลล์ 


นักวิจัยบอกว่างานวิจัยนี้จะทำให้มีโอกาสที่จะระบุเซลล์ได้ถูกต้องมากขึ้น ลดข้อผิดพลาดในงานวิจัยด้านมะเร็ง และมีผลอย่างมากต่อการช่วยชีวิต ยิ่งไปกว่านั้นงานวิจัยนี้ยังแสดงให้เห็นว่าแบบจำลองคอมพิวเตอร์สามารถจัดสรรเงื่อนไขที่แน่นอนต่าง ๆ ในการระบุสายเซลล์ได้อย่างถูกต้อง ซึ่งก็หมายความว่าศักยภาพของนักวิจัยในอนาคตที่จะถูกฝึกให้ระบุเซลล์ได้อย่างแม่นยำอาจเพิ่มขึ้นอย่างมากด้วย

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  University of Kent (U.K.)

วันเสาร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2564

กลยุทธ์ด้านความมั่นคงไซเบอร์ที่ดีกว่า

ภาพจาก MIT News

นักวิจัยจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT), Northwestern University, และ University of Chicago ได้ข้อสรุปว่า รัสเซียใช้ที่อยู่ IP ของเกาหลีเหนือในการโจมตีทางอินเทอร์เน็ตระหว่างพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2018 ซึ่งทำให้เห็นถึงความจำเป็นในการหากลยุทธใหม่ทางด้านความมั่นคงไซเบอร์ ซึ่งเกี่ยวกับการตอบโต้แบบเจาะจง (selective retaliation) 

นักวิจัยบอกว่าสมมติว่าเขาคิดถึงแค่รัสเซียกับจีนทุกครั้งหลังจากมีการจู่โจม เขาก็จะปล่อยให้เกาหลีเหนือและอิหร่านรอดตัวไป ปัจจุบันมีตัวแบบมากมายที่ทำให้ประเทศตระหนักถึงเรื่องการโจมตี แต่กลับละเลยข้อมูลของการโจมตีและผู้โจมตี นักวิจัยพบว่ากลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จจะต้องมีการปรับปรุงการตรวจจับการโจมตี และเก็บข้อมูลของผู้โจมตีให้มากขึ้นก่อนที่จะมีการโต้ตอบ 

นักวิจัยยังบอกอีกว่า ถ้าเราเอาแต่คิดที่จะโต้ตอบแบบหน้ามืดตามัวหลังจากการถูกโจมตีทุกครั้ง ก็เพิ่มความเสี่ยงที่เราจะถูกโต้ตอบกลับ หลังจากสัญญาณเตือนที่ผิดพลาด 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: MIT News  

วันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564

AI ของ DeepMind สามารถเป็นเจ้าแห่งเกมได้โดยไม่ต้องสอนกฏเกณฑ์การเล่น

Courtesy of Deepmind

MuZero ซึ่งเป็น AI ที่พัฒนาโดย DeepMind บริษัทลูกของ Alphabet สามารถเป็นเจ้าแห่งเกมได้ โดยไม่ต้องสอนกฎการเล่นเกมให้ก่อน ระบบใช้วิธีลองทำเพื่อศึกษาว่าการกระทำนี้ขัดกับกฏของเกมหรือไม่ และในขณะเดียวกันก็ศึกษาด้วยว่าได้รางวัลจากการทำแบบนั้นด้วยหรือไม่ วิธีการนี้จะเหมาะกับการที่จะสอน AI ในงานที่ยากที่จะอธิบายให้โปรแกรมเข้าใจได้ MuZero เอาชนะ AI ของ DeepMind ตัวก่อนหน้าได้อย่างราบคาบ เนื่องจากมันใช้ข้อมูลน้อย เพราะจำลองจากพารามิเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเท่านั้น หลังจากฝึกสอนแล้ว MuZero จะใช้พลังประมวลผลน้อยมากในการตัดสินใจ ดังนั้นฟังก์ชันทั้งหมดของมัน สามารถติดตั้งใช้งานได้บนสมาร์ตโฟน


อ่านข่าวเต็มได้ที่: IEEE Spectrum

สวัสดีปีใหม่ 2564 (2021)

Photo by Moritz Knöringer on Unsplash

สวัสดีปีใหม่ครับ ศรัณย์วันศุกร์วันนี้มาในวันปีใหม่พอดี เนื่องจากวันเริ่มต้นของปีนี้เป็นวันศุกร์ และเมื่อเริ่มต้นด้วยวันศุกร์ ก็หวังว่ามันจะเป็นปีที่ทำให้เรามีความสุขกันทุกคนนะครับ 

ในวันนี้ผมก็อยากจะเริ่มต้นด้วยการมองย้อนไปในปีที่แล้วจากการเขียนบทความลงในบล็อกนี้ของผมแล้วกันนะครับ ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่านบล็อกนะครับ เริ่มจากต้นปีมียอดวิวอยู่ที่ประมาณ 120,000 กว่าวิว จนถึงวันสุดท้ายของปีมียอดวิว  150,000 กว่าวิว ถ้าเอากลม ๆ ก็คือ ปีนี้มีผู้เข้ามาอ่านบล็อกทั้งหมดประมาณ 30,000 กว่าครั้ง ก็ขอขอบคุณอีกครั้งครับ

ถึงแม้ผมจะทำสำเร็จตามที่ตั้งปณิธานไว้ในปีที่แล้ว คือสรุปข่าวไอทีเขียนลงบล็อกวันละหนึ่งเรื่อง แต่บทความที่ถูกอ่านมากที่สุดกลับเป็นบทความเกี่ยวกับอ.วีระกับ Apple ซึ่งโพสต์ไว้เมื่อ 8 ปีที่แล้ว กับบทความสรุปให้ฟังอีกครั้งซึ่งเขียนในปีที่แล้ว ส่วนสรุปข่าวไอทีที่เขียนให้อ่านทุกวันก็พอมียอดอ่านอยู่บ้าง ก็หวังว่าในปีนี้จะเข้ามาอ่านกันให้มากขึ้นนะครับ ซึ่งผมจะพยายามคัดสรรเรื่องที่น่าสนใจมาให้อ่านกันต่อไปครับ ส่วนศรัณย์วันศุกร์ก็จะพยายามหาเรื่องที่น่าสนใจมาเขียนให้บ่อย ๆ ขึ้นในทุก ๆ วันศุกร์ครับ 

และสำหรับใครที่สนใจบทความด้าน Computing ก็ขอฝากบล็อกนี้ของผมไว้ด้วยครับ ซึ่งเอาจริง ๆ ปีที่แล้วก็ไม่ได้เขียนมากนัก เนื่องจากไม่มีเวลา เพราะจัดสรรเวลาแต่ในปีนี้ผมตั้งใจว่าจะเขียนให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละบทความครับ 

ในปีนี้ปณิธานของผมที่ตั้งใจจะทำให้ได้ก็คือจัดสรรเวลาให้ดีขึ้นเพื่อจะได้มีเวลาพัฒนาตัวเองตามที่ตั้งใจไว้มาหลายปีแล้ว  และดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดีขึ้น เพื่อที่จะได้มีกำลังดูแลคนในครอบครัว และเมื่อแก่ตัวลงมากกว่านี้จะได้ไม่เป็นภาระของคนในครอบครัวครับ ส่วนใครที่มีปณิธานอะไรก็ขอให้ทำได้ตามที่ตั้งใจไว้นะครับ

ขอให้เป็นปีที่ดีสำหรับทุกคนครับ