อ่านข่าวเต็มได้ที่: Daily Mail (U.K.)
วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563
แปลงภาพสเก็ตช์หน้าให้เป็นรูปถ่ายเหมือนจริง
นักวิจัยจาก Chinese Academy of Sciences ได้พัฒนา AI ซึ่งช่วยแปลงภาพสเก็ตช์ใบหน้าให้เป็นรูปถ่ายที่เหมือนจริง ซึ่งสามารถแปลงได้แม้ภาพสเก็ตช์จะไม่สมบูรณ์ก็ตาม AI ตัวนี้มีชื่อว่า DeepFaceDrawing โดยหลักการทำงานคือวิเคราะห์รายละเอียดของภาพสเก็ตช์ จากนั้นเอาแต่ละส่วนไปตรวจสอบกับฐานข้อมูลใบหน้าเพื่อสร้างรูปใบหน้าขึ้นมาเอง นักวิจัยบอกว่าจุดประสงค์ของเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมานี้ เพื่อช่วยให้คนที่ไม่มีทักษะทางการวาดรูปมากนัก สามารถสร้างรูปภาพที่มีคุณภาพที่ดีได้ เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีแบบเก่าที่ต้องใช้นักวาดภาพมืออาชีพจึงจะสร้างรูปภาพที่มีคุณภาพที่ดีได้
วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2563
อูเบอร์และลิฟท์คิดราคาเพิ่มขึ้นถ้าเรียกรถจากย่านที่ไม่ใช่ย่านคนขาว
นักวิจัยจาก George Washington University (GW) พบว่ามีการเหยียดเชื้อชาติเกิดขึ้นในขั้นตอนวิธีของบริษัทที่ให้บริการเรียกรถอย่างอูเบอร์ (Uber) และลิฟต์ (Lyft) โดยพบว่าบริษัทเหล่านี้คิดค่าโดยสารสูงกว่าถ้าจุดที่ต้องไปรับอยู่ในย่านที่มีคนผิวขาวอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ นักวิจัยบอกว่าถึงแม้เชื้อชาติของผู้โดยสารจะไม่ได้อยู่ในข้อมูลการเดินทาง แต่ข้อมูลค่าโดยสารต่อไมล์จะสูงกว่าเมื่อจุดรับส่งอยู่ในย่านที่มีคนผิวขาวอยู่น้อย บ้านมีราคาเฉลี่ยต่ำ หรือระดับการศึกษาเฉลี่ยต่ำ
อ่านข่าวเต็มได้ที่: New Scientist
วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2563
นักวิจัยพัฒนาระบบความมั่นคงที่ใช้ชีวมาตรที่ทันสมัยที่สุด
นักวิจัยจากUniversity of Southern California's Information Sciences Institute ได้พัฒนาระบบความมั่นคงที่ใช้ชีวมาตร (biometric) ที่ทันสมัยที่สุดสำหรับม่านตา หน้า และลายนิ้วมือ วิธีการคือการวิเคราะห์ตัวอย่างข้อมูลชีวมาตรโดยใช้ข้อมูลที่มาจากหลายช่วงคลื่น โดยฉายแสงจากแอลอีดี (LED) ที่มีความยาวคลื่นต่างกันลงบนตัวอย่าง จากนั้นใช้ขั้นตอนวิธีเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างชีวมาตรจริงกับชีวมาตรปลอม ผลการทดลองจาก John Hopkins Applied Physics Laboratory พบว่าการตรวจสอบโดยใช้การรู้จำใบหน้ามีความแม่นยำ 100% นั่นคือไม่สามารถใช้เทคนิคอะไรที่จะเข้าระบบโดยไม่ใช้หน้าจริง ๆ ของเจ้าของบัญชีได้ ส่วนการใช้ม่านตาได้ความแม่นยำที่ 99.36% และลายนิ้วมืออยู่ที่ 99.08%
อ่านข่าวเต็มได้ที่: USC Viterbi School of Engineering
วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2563
ขอพูดถึงเกณฑ์การเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการบ้าง
ในสัปดาห์นี้เรื่องที่น่าจะเป็นประเด็นร้อนที่สุดในวงการวิชาการของมหาวิทยาลัยก็คือเกณฑ์ใหม่ที่ออกมาในการประเมินอาจารย์เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการครับ ซึ่งตัวเกณฑ์ใหม่ก็ดูได้จากลิงก์นี้ครับ พออกมาก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมากมาย ว่าเป็นกฏเกณฑ์ที่สูงกว่าเกณฑ์เดิม ซึ่งจริง ๆ ก็สูงอยู่แล้ว มีการวิจารณ์ว่าเป็นเหมือนการชักบันไดหนีของคนที่ได้ไปแล้ว และก็มีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญได้ทำการวิเคราะห์ปัญหาของเกณฑ์นี้ตัวอย่างก็เช่นลิงก์นี้ครับ
ในส่วนตัวผมซึ่งก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะก็เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และก็วางแผนที่จะขยับขยายยื่นเรื่องเพือเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการที่สูงขึ้น ซึ่งต้องบอกว่าผมควรจะยื่นนานแล้ว แต่ติดโน่นติดนี่คือขาดงานบางชิ้น ซึ่งอันนี้ผมโทษตัวเองที่วางแผนเวลาไม่ดีเอง คืออย่างนี้ครับเกณฑ์การเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการถ้านับจากสักสิบปีที่แล้วนี่น่าจะเปลี่ยนมาสามหรือสี่ครั้งแล้วนะครับ ซึ่งการปรับแต่ละครั้งก็จะมีเงื่อนไขที่ต่างออกไป และมีเงื่อนไขที่ส่วนใหญ่จะสูงขึ้น ดังนั้นผมก็ไม่ประหลาดใจกับอันล่าสุดนี่สักเท่าไหร่ที่มันจะสูงขึ้น แต่คราวนี้มันสูงขึ้น บ้าขึ้น และไม่สอดคล้องกับบริบทที่ประเทศกำลังดำเนินไป
อีกอย่างหนึ่งส่วนใหญ่เกณฑ์ที่ออกมามันมักจะมีระยะเวลาก่อนที่จะบังคับใช้ คือให้เวลาอาจารย์ที่วางแผนกับเกณฑ์เก่าก็ทำตามเกณฑ์เก่าไปก่อนได้ แต่อันนี้เหมือนออกมาปุ๊ปก็จะบังคับใช้ปั๊ป อารมณ์ก็เหมือนกับวิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนไปเกือบทุกปี ทำให้เด็กบางคนที่วางแผนมาตั้งแต่ ม.4 ม.5 เสียแผนไปหมด อันนี้คืออาจารย์ก็เสียแผนไปหมด และงานบางอย่างที่ทำมาเกณฑ์เก่าใช้ได้ แต่พอเกณฑ์ใหม่นี่อาจใช้ไม่ได้เลยนะครับ ตัวอย่างก็เช่นการกำหนดว่าผลงานที่มาขอตำแหน่งวิชาการ ถ้าทำหลายคนผู้ขอจะต้องมีชื่อเป็นคนแรก หรือเป็นผู้เขียนที่รับผิดชอบในการแก้ไข (corresponding author) เท่านั้น ซึ่งบริบทในปัจจุบัน และทิศทางของประเทศ การทำงานมันจะเป็นลักษณะของสหสาขาวิชา หรือทำร่วมกันหลายคน เนื่องจากแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญที่ต่างกัน ซึ่งผลงานอย่างหนังสือหนึ่งเล่ม อาจจะมีอาจารย์ช่วยกันแต่งหลายคน ถ้ากำหนดให้คนที่มีชื่อเป็นคนแรกเท่านั้นเอาไปขอผลงานได้ ก็คงไม่มีใครอยากทำงานร่วมกันกับใคร เพราะไม่ได้ประโยชน์อะไร ซึ่งในเกณฑ์เก่าเขาให้อาจารย์ไปเซ็นเอกสารกันมาว่างานชิ้นนี้อาจารย์มีส่วนร่วมกันคนละกี่เปอร์เซนต์ ซึ่งก็เป็นการตกลงกันของอาจารย์เอง
สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะดีจากเกณฑ์ใหม่นี้คือการที่สามารถเสนอจะขอตำแหน่งได้โดยไม่ต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิมาพิจารณางาน ซึ่งเป็นส่วนที่ผมเห็นด้วยค่อนข้างมาก เพราะเกณฑ์เก่า ๆ ก่อนหน้านี้เขาก็ให้ผู้ทรงคุณวุฒิมาให้เกรดงานวิจัยว่าดี ดีมาก อะไรแบบนี้ ซึ่งจริง ๆ เกณฑ์ใหม่ก็ให้เกรดวารสารว่ากลุ่มไหนเป็น A, B+, B (เท่าที่อ่านเหมือน B จะให้กรรมการพิจารณา) อะไรแบบนี้ แต่เท่าที่ดูเกณฑ์ A กับ A+ ค่อนข้างสูง และยังกำหนดว่าต้องตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ ซึ่งก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมทุกสาขาต้องทำเหมือนกัน แต่ถ้ามีเกณฑ์ตรงนี้แล้วก็ไม่เห็นต้องไปให้ผู้ทรงคุณวุฒิอ่านอีก ประหยัดเวลา และลดงานที่ซ้ำซ้อน กำหนดไปเลยว่าจะเอากี่ชิ้น (แต่ช่วยทำวิจัย และดูแต่ละสาขาด้วย) ผมบอกเลยนะครับว่าเหตุผลหนึ่งที่ผมไม่ได้ยื่นขอตำแหน่งก็เพราะอันนี้นี่แหละ คือผมไม่เข้าใจว่าถ้าเราตีพิมพ์งานลงบนวารสารที่ตรงตามเกณฑ์แล้ว ผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านี้เอาอะไรมาบอกว่าบทความเราผ่านหรือไม่ผ่าน
แต่แทนที่จะทำแบบนี้กลับไปวางเกณฑ์แบบบ้าบอมาก คือเอาง่าย ๆ ว่าคงไม่มีใครสามารถยื่นขอตำแหน่งวิชาการแบบไม่มีผู้ทรงคุณวุฒิได้ เท่าที่อ่านมามีคนถามว่าต่อให้ศาตราจารย์ระดับโลกถ้ามายื่นขอศาสตราจารย์ในประเทศไทย ก็คงไม่ผ่านเกณฑ์นี้ ก็ได้รับคำตอบว่าก็ไปยื่นแบบมีผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาสิ ตอบได้บ้าบอมาก (ถ้าจริงนะ) และที่น่าขำคือมีคนไปขุดมาว่า พวกที่ออกเกณฑ์นี้มาเองก็ไม่ผ่านเกณฑ์ที่ตัวเองตั้งขึ้นมา
จริง ๆ ผมมองไปถึงมีระบบที่ให้อาจารย์แต่ละคนพอมีผลงานก็อัพโหลดผลงานเข้าไปในระบบ พอผลงานถึงเกณฑ์ก็ได้ตำแหน่งไป ผมไม่เข้าใจว่าจะทำให้มันซ้ำซ้อนโดยอาจารย์จะต้องมากรอกแบบฟอร์มประวัติตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ก็มีข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์แล้วทำไม นอกจากนี้ระบบนี้ยังมีประโยชน์ในเรื่องของการประกันคุณภาพได้อีกด้วย สามารถดึงข้อมูลตรงนี้ไปใส่เป็นหลักฐานประกันคุณภาพได้เลย ไม่ต้องมาเรียกขอจากอาจารย์ซ้ำไปซ้ำมา
แต่ไม่ใช่ว่าผู้ทรงคุณวุฒิจะไม่มีความจำเป็น สิ่งที่ผมคิดว่ายังคงต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิอ่านอยู่ก็คือกรณีที่ยื่นขอตำแหน่งโดยใช้ตำรา/หนังสือประกอบด้วย อันนี้ควรที่จะมีผู้ทรงคุณวุฒิช่วยตรวจดู ช่วยคุมคุณภาพ และก็ควรจะมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความทันสมัย เข้าใจเทคโนโลยี และวิชาใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นด้วย
อีกอย่างที่ควรจะเลิกได้แล้วก็คือทำอะไรแบบ one-size-fits-all แต่ละสาขาวิชา มีบริบทที่แตกต่างกัน ทำไมการยื่นขอศาสตราจารย์ของทุกสาขาจะต้องลงตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติเท่านั้น บางประเด็นมันแก้ปัญหาอยู่ในบริบทของประเทศไทยซึ่งเป็นประโยชน์มากกับประเทศไทย เช่นสมมติเป็นงานวิจัยด้านภาษาไทย แล้วจะไปตีพิมพ์นานาชาติยังไง
ในส่วนหนึ่งผมก็เข้าใจ และเห็นว่ามันต้องมีการควบคุมคุณภาพทางวิชาการ แต่ควรทำอยู่ในขอบเขตของความพอดี ความเป็นไปได้ เหมาะสมกับบริบทของประเทศ อย่างตอนนี้ประเทศบอกว่าต้องการงานวิจัยแบบเน้นการพัฒนาประเทศ แต่เกณฑ์ก็ยังจะเอาการอ้างอิงจากต่างประเทศ ขอให้เข้าใจว่ามหาวิทยาลัย และสาขาวิชาต่าง ๆ มีความแตกต่างกัน และภาระงานต่าง ๆ ของอาจารย์ก็ต่างกัน และเอาใจเขามาใส่ใจเราว่าถ้าตัวเองต้องมาอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์นี้จะเป็นยังไง ไม่ใช่เพราะฉันผ่านไปแล้ว ไม่ต้องลงมาทำอันนี้แล้ว จะทำยังไงก็ได้ ไหน ๆ ก็อยู่ในวงการการศึกษาการวิจัยระดับสูงสุดของประเทศแล้ว ช่วยสร้างตัวอย่างการทำงานให้หน่วยงานอื่นเขาดูกันเถอะครับ จะทำอะไรจะวางเกณฑ์อะไรก็ชี้แจงแสดงเหตุผล หรือมีงานวิจัยใช้อ้างอิงประกอบด้วยก็ดี อย่างมีประเทศไหนไหมที่เขาใช้เกณฑ์แบบเราบ้าง เพราะแทบทุกวงการในประเทศนี้ ส่วนใหญ่มันถูกสั่งการมาโดยคนกลุ่มหนึ่งที่วางเกณฑ์แบบดูเหมือนจะมโนเอา ไม่ได้วิจัยอะไร หรือมองโลกแต่ในมุมของตัวเองว่าแบบนี้มันดี โดยไม่ได้ดูว่ามันปฏิบัติได้ไหม ทำแล้วมันคุ้มกับการสิ้นเปลืองเวลาในการทำไหม และมีการประเมินข้อดีข้อเสียไหม
สุดท้ายก็ขอฝากไว้ว่า พวกกลุ่มคนที่ออกกฏมานี่ ก็ล้วนแล้วแต่ที่จะต้องผ่านการทำวิจัยมาแล้ว และกฏเกณฑ์พวกนี้ส่วนหนึ่งก็ออกมาวัดความสามารถในการทำวิจัยของอาจารย์ ดังนั้นก่อนจะทำอะไรออกกฏอะไร ก็ช่วยทำให้คนที่เขาต้องปฏิบัติ ได้เชื่อว่าเรื่องพวกนี้ผ่านการทำวิจัยมาแล้ว มีเหตุผลรองรับชี้แจงได้ ทุกข้อ เหมือนตอนที่พวกเราต้องเป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา เราก็ต้องถามประเด็นที่นักศึกษานำเสนอจนชัดเจน ก็ขอฝากไว้แค่นี้แล้วกันครับ
วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2563
นักวิจัยพัฒนาขั้นตอนวิธีเพิ่มประสิทธิภาพของระบบคลาวด์เพี่อรองรับการทำงานจากที่บ้าน
นักวิจัยจาก University of Texas at San Antonio, University of Georgia, University of Virginia, และ IBM’s Thomas J. Watson Research Center ไ้ด้ร่วมมือกันพัฒนาขั้นตอนวิธีที่จะลดปริมาณความต้องการการใช้ทรัพยากรของระบบคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้ใช้ต้องทำงานจากที่บ้านเพิ่มขึ้นเนื่องจากการระบาดของโคโรนาไวรัส โดนความต้องการที่เพิ่มขึ้นมีทั้งโปรแกรมที่ทำงานอยู่ในฉากหน้าอย่างโปรแกรมอีเมล หรือประชุมทางไกล และโปรแกรมที่ทำงานอยู่ในฉากหลังอย่างโปรแกรมป้องกันไวรัส โดยขั้นตอนวิธีที่พัฒนาขึ้นนี้จะช่วยปรับการใช้ทัพยากรให้เหมาะสม โดยที่ฝ่ายไอทีไม่ต้องติดตั้งโปรแกรมอะไรเพิ่ม หรือต้องมาคอยตามดูการใช้ทรัพยากรด้วยตัวเอง นักวิจัยบอกว่าถึงแม้ขั้นตอนวิธีนี้จะทดสอบบนAmazon Elastic Compute Cloud แต่มันก็สามารถทำงานบนแพลตฟอร์มอื่นได้ด้วย
อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Texas at San Antonio
แชมป์ลีกในรอบสามสิบปีของลิเวอร์พูล
วันนี้ขอเขียนบล็อกยินดีกับความสำเร็จของทีมที่ตัวเองเชียร์มาตั้งแต่เด็ก ถ้านับตั้งแต่เชียร์มาจนถึงตอนนี้ก็น่าจะร่วม 40 กว่าปีได้แล้วนะครับ ทีมที่ผมเชียร์ก็คือทีมที่เพิ่งคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกอังกฤษประจำฤดูกาล 2019-2020 ได้แล้ว ถึงแม้จะเหลือการแข่งขันอยู่อีก 7 นัด ลิเวอร์พูลนั่นเอง ถ้านับจากเริ่มเปลี่ยนชี่อมาเป็นพรีเมียร์ลีกก็นับว่าเป็นสมัยแรก แต่ถ้านับรวมทั้งหมดทั้งในชื่อเดิมด้วยก็คือ 19 ครั้ง อยากนับแบบไหนก็เชิญเถอะครับ อดีตที่มันเกิดขึ้นแล้วจะพยายามฝัง พยายามกลบ ขโมยหมุด ทำลายอนุเสาวรีย์ยังไง มันก็เปลี่ยนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงไม่ได้หรอก อ้าวนอกเรื่องแล้ว กลับมาดีกว่า
ผมเริ่มเชียร์ลิเวอร์พูลจากความชื่นชอบผู้รักษาประตูในขณะนั้นของลิเวอร์พูลคือ เรย์ คลีเมนซ์ จำได้ว่ามีช่วงหนึ่งที่ต้องไปอยู่บ้านย่าที่เชียงใหม่ แล้วก็ได้ไปอ่านนิตยสารสตาร์ซอคเกอร์ของอา แล้วก็ไปอ่านเรื่องของเรย์ คลีเมนซ์เข้า แล้วก็ชื่นชอบ เพราะตอนเด็ก ๆ ชอบเล่นเป็นผู้รักษาประตู เพราะดูชุดมันสวยดี ได้ใส่กางเกงวอร์ม มีถุงมือโกล์ด้วย พอรู้ว่าอยู่ลิเวอร์พูล ก็เชียร์ลิเวอร์พูลด้วยเลย ไม่ได้รู้จักหรอกว่าเป็นทีมที่กำลังครองความยิ่งใหญ่อยู่ในยุคนั้น
ในยุคเมื่อ 40 ปีมาแล้ว เราไม่ได้มีบอลถ่ายทอดสดให้ดูกันครบทุกคู่อย่างทุกวันนี้นะครับ ดังนั้นข่าวสารส่วนใหญ่ก็จะได้จากการอ่านนิตยสารอย่างสตาร์ซอคเกอร์ นานนานที่จะมีบอลอังกฤษถ่ายทอดให้ดูสักครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เขาก็จะเลือกลิเวอร์พูลกับแมนยูมาให้ดูกัน ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจนะครับที่คนไทยส่วนใหญ่จึงรู้จักและเชียร์สองทีมนี้
ซึ่งต้องบอกนะครับว่าในยุคที่ผมเริ่มเชียร์ลิเวอร์พูลคือปลาย ๆ 1970 มาเรื่อย ๆ นี่ไม่ใช่ยุคยิ่งใหญ่ของแมนยูในลีกนะครับ คู่แข่งของลิเวอร์พูลจะเป็นพวก น็อตติงแฮมฟอเรสต์ อิปสวิช วิลล่า แม้แต่คู่อริร่วมเมืองอย่างเอฟเวอร์ตัน ผลงานของแมนยูนั้นลุ่ม ๆ ดอน ๆ อยู่ในลีก แต่แมนยูมักจะทำแสบให้กับลิเวอร์พูลบ่อย ๆ ในบอลถ้วย ถ้าไปอ่านประวัติแมนยู จะเห็นว่าเขาต้องรอแชมป์ลีกสูงสุดหลังจากคว้ามาครั้งสุดท้ายถึง 26 ปี จากนั้นจึงเริ่มเป็นยุคทองของแมนยู และยาวนานมาจนเกือบสองทศวรรษ
และผมก็คิดไม่ถึงว่าเรื่องแบบเดียวกันจะมาเกิดกับลิเวอร์พูล และใช้เวลารอมากกว่าแมนยูด้วยคือ 30 ปี ซึ่งในช่วง 30 ปีนี้ ผลงานของลิเวอร์พูลในลีกก็ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ไม่ต่างกับแมนยูในช่วงนั้น แต่ถ้าจะถามว่าเราล้มเหลวไหม ผมว่าก็ไม่นะ ในช่วง 30 ปีนี้ เราคว้าแชมป์มาได้ทุกรายการ รวมถึงถ้วยยุโรปทั้งใบใหญ่ใบเล็ก ได้เข้ารอบชิงถ้วยยุโรปสี่ห้าครั้ง (บางทีมที่ว่าแน่ ๆ ในลีกในประเทศยังทำไม่ได้) ขาดแค่แชมป์ลีกเท่านั้น และก็เป็นจุดด่างพร้อย ทำให้คนหลายคนมองข้ามว่าทีมไม่ประสบความสำเร็จ และกลายมาเป็นที่ล้อเลียนของแฟนบอลทีมอื่น โดยเฉพาะแฟนบอลทีมแมนยู แต่ถึงตอนนี้ผมว่าแฟนแมนยูน่าจะเข้าใจความรู้สึกของแฟนลิเวอร์พูลได้แล้วนะครับ เพราะตอนนี้ก็น่าจะ 7 หรือ 8 ปีแล้ว ที่ไม่ได้แชมป์ลีกเลย และก็ไม่รู้ว่าจะต้องรอไปอีกหลายปีไหม ดังนั้นก็เลิกล้อเลียนกันซักทีนะครับ
พูดถึงเรื่องแฟนบอล ก็ย้อนคิดไปถึงสมัยที่อ่านจากสตาร์ซอคเกอร์ ยุคนั้นเราไม่มี Social Media แบบนี้ แฟนบอลก็จะเขียนจดหมายไปคุยกับ ย.โย่ง ซึ่งก็เป็นคอลัมน์ที่ผมชอบอ่าน ส่วนใหญ่ก็จะถามเกี่ยวกับทีมที่ตัวเองเชียร์ ไม่มีด่ากันไปกันมาระหว่างแฟนทีมต่าง ๆ (หรือมันอาจจะมีแล้วเขาคัดออกก็ไม่รู้) แต่ในยุคปัจจุบันนี้ รู้สึกว่ามันไม่ใช่การแซวกัน แต่มันเป็นการทำร้ายกัน เหยียดใส่กัน ซึ่งไม่ใช่แค่แฟนทีมอื่น แฟนลิเวอร์พูลเองก็เป็น ถ้าเป็นเพื่อนกันสนิทกันก็ว่าไปอย่าง (แต่ถึงเป็นเพื่อก็ควรมีลิมิต) แต่บางคนไม่ได้รู้จักกันเลย ก็มาสาดคำด่าหยาบคายใส่กัน บางครั้งคนเชียร์ทีมเดียวกัน สร้างเว็บไซต์สร้างเพจขึ้นมา พูดคุยถึงทีมตัวเอง ซึ่งบางครั้งก็อาจอวยทีมตัวเองบ้างซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ แต่ก็จะมีแฟนทีมอื่นเข้ามาป่วน มาด่าส่า มาบอกว่าขี้โม้ ดังนั้นผมจะหลีกเลี่ยงที่จะอ่านความเห็นคนเหล่านี้ ติดตามทีมอย่างเดียว แต่บางครั้งเวลาทวีตเกี่ยวกับทีมในทวิตเตอร์ช่วงที่มีการแข่งขัน ก็มีคนทวีตมาแซวด้วยข้อความที่ผมเห็นว่าไม่เหมาะสม ผมก็จะบล็อกครับ บอกตรง ๆ เมื่อก่อนไม่เคยไม่ชอบแมนยูเลย มันก็ทีมที่แข่งกัน สลับกันแพ้สลับกันชนะ เป็นกีฬา คุณภรรยาก็เชียร์แมนยู นักเตะหลายคนของแมนยูผมก็ชอบ แต่มาหลัง ๆ เริ่มไม่ชอบมากขึ้น ก็เพราะพวกแฟนบอลบางคนนี่แหละ แต่แฟนบอลดี ๆ ก็มีนะครับ ไม่ใช่ไม่มีซะเลย และแน่นอนแฟนบอลลิเวอร์พูลแย่ ๆ ก็มี
ชักออกนอกเรื่องไปมากมายกลับมาดีกว่า อย่างที่บอกครับ ผมไม่เคยคิดว่าหลังจากครองแชมป์ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1990 จะค้องรอถึง 30 ปีจึงจะกลับมาได้แชมป์ลีกอีกครั้ง ในช่วง 30 ปีนี้ แมนยูสถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งในลีกได้อย่างเต็มภาคภูมิในช่วงยี่สิบปีแรก และทีมอย่างแบล็คเบิร์น และเลสเตอร์ ก็สามารถความแชมป์ลีกได้ โดยลิเวอร์พูลไม่สามารถทำได้ และยังมีการเติบโดขึ้นมาของเชลซี และแมนซิ จากทีมที่ไม่มีอะไร กลายมาเป็นทีมชั้นนำของลีกอีก ทำให้งานของลิเวอร์พูลยากขึ้นเรื่อย ๆ และตัวสโมสรเองก็ต้องเกือบล้มละลาย จากการบริหารของสองปลิงมะกัน แต่ก็อย่างที่อยู่ในเนื้อเพลง You'll never walk alone ที่ว่า At the end of a storm. There is a golden sky. เมื่อพายุสงบลง เราก็จะได้พบกับฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เอ๊ยไม่ใช่แล้ว จบแค่ฟ้าสีทองผ่องอำไพครับ
การเข้ามาของ FSG เข้ามาแก้ปัญหาของลิเวอร์พูลอย่างเป็นระบบ จริง ๆ ต้องบอกว่าการเลือกโค้ชของ FSG นี่ใช้ได้นะครับ แบรนดอน ร็อดเจอร์ เกือบพาลิเวอร์พูลคว้าแชมป์ลีกได้ แต่ด้วยความที่ขาดประสบการณ์ ขาดโชค ในฤดูกาล 2013-2014 ทำให้ได้เพียงแค่รองแชมป์ และไม่สามารถรักษาสตาร์ไว้ได้ จึงเกิดความตกต่ำกลับมาอีกครั้ง จนนำไปสู่การปลดร็อดเจอร์ และการเข้ามาของเจอร์เกน คลอปป์ ผมว่าปัญหาของร็อดเจอร์ คือขาดประสบการณ์ ยังไม่สามารถเอาชนะใจและสร้างความเชื่อมั่นได้อย่างแท้จริง ประกอบกับตัวร็อดเจอร์ อาจไม่มีความรู้ด้านศาสตร์ข้อมูล (data science) ไม่เปิดกว้างที่จะรับ และไม่มีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา
ซึ่งต่างจากคลอปป์ที่นอกจากจะเป็นโค้ชที่เก่ง มีจิตวิทยา มีบุคลิกลักษณะที่เป็นเสน่ห์แล้ว คลอปป์ยังเป็นคนเปิดกว้าง และจบปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา จึงได้ทำงานร่วมกับทีมของ FSG ได้อย่างลงตัว และค่อย ๆ ปรับให้ลิเวอร์พูลกลับขึ้นมาเป็นทีมที่แข็งแกร่งทั้งฟอร์มการเล่น และสภาพจิตใจของนักเตะ และสร้างความเชื่อใจให้กับแฟนบอล และเจ้าของทีม
ในส่วนตัวผมเห็นว่าความสำเร็จของลิเวอร์พูลในวันนี้มาจากการร่วมมือกัน เริ่มจากเจ้าของทีมที่บริหารทีมด้วยความเข้าใจ ถึงแม้จะไม่ทุ่มมากเหมือนเชลซี หรือแมนซิ แต่ก็พร้อมจะจ่ายถ้าทีมงานบอกว่าจำเป็น การนำวิทยาการสมัยใหม่ อย่างศาสตร์ข้อมูล (data science) เข้ามาใช้ และการเน้นถึงรายละเอียดทุกอย่างแม้กระทั่งในด้านโภชนาการของนักเตะ และที่สำคัญที่สุดก็คือคลอปป์ที่นำข้อมูลด้านต่าง ๆ มาสู่ภาคปฏิบัติ การวางแผนการเล่น การฝึกซ้อม การดึงศักยภาพนักเตะ การรวมใจของแฟนบอลให้กลับมาศรัทธาทีมอีกครั้ง ด้วยผลงานที่ทำให้เห็นว่ามีการพัฒนาขึ้นมาทุกปี ถึงแม้ในสองปีแรกจะไม่มีถ้วยรางวัลอะไรเลย แต่ทุกคนเห็นถึงพัฒนาการในด้านบวกของทีม และในที่สุดก็ประสบความสำเร็จต่อเนื่องมากจากปีที่แล้วจนมาถึงปีนี้ ด้วยรากฐานแบบนี้ผมก็หวังว่าในช่วงอย่างน้อย 10 ปีต่อจากนี้ น่าจะเป็นยุคทองของลิเวอร์พูลอีกครั้ง ก่อนที่ทุกอย่างจะเป็นไปตามวัฏจักรคือเมื่ออะไรที่ขึ้นไปสูงสุด แล้วมันก็จะต้องตกลงมาบ้าง
ใช้ผลงานเป็นตัวพูด ไม่ต้องร้องขอให้ใครมาเชื่อใจและศรัทธา ทั้งที่ทำงานมาหกเจ็ดปีแล้ว แต่ยังไม่เห็นพัฒนาการอะไรก็ยังขอความศรัทธาอยู่นั่นแหละ และก็ออกอาการงอนถ้ามีคนแสดงให้เห็นว่าไม่ศรัทธา อ้าว ๆ ชักไปกันใหญ่แล้ว จบดีกว่านะครับ
วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2563
เครื่องพิมพ์สามมิติสามารถพิมพ์ลงบนอวัยวะที่ทำงานอยู่ได้แล้ว
วิศวกรเครื่องกลและนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากUniversity of Minnesota (UMinn) ได้พัฒนาวิธีการพิมพ์ผ่านเครื่องพิมพ์สามมิติ ให้สามารถพิมพ์เซนเซอร์ลงในอวัยวะที่ทำงานอยู่และมีการเปลี่ยนแปลงขนาด ยุบเข้าหรือพองออกตลอดเวลาอย่างหัวใจ และปอด ซึ่งนักวิจัยได้ทดลองและได้รับผลสำเร็จจากการพิมพ์ เซ็นเซอร์ที่ทำจากโฮโดรเจลลงบนปอดของสัตว์ นักวิจัยคาดหวังว่าการวิจัยนี้จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปในด้านของการใช้หุ่นยนต์ผ่าตัด
อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Minnesota
วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2563
การสร้างหุ่นยนต์ที่ซับซ้อนจะทำได้ง่ายขึ้นแล้ว
นักวิจัยจาก New York University Tandon School of Engineering และ Max Planck Institute for Intelligent Systems ใน Tübingen และ Stuttgart ประเทศเยอรมัน ได้พัฒนาหุ่นยนต์ 4 ขาที่สามารนำไปผระกอบเข้าด้วยกัน หรือแก้ไขได้โดยง่าย หุนยนต์นี้มีชื่อว่า Solo 8 ซึ่งมีราคาเพียงไม่กีพันยูโรเท่านั้น ดังนั้นทีมสร้างหุ่นยนต์ที่ไม่ค่อยมีทุนมากนักก็จะสามารถเจ้าถึงมันได้ และด้วยแพลตฟอร์มแบบเปิดเผยรหัส (opem source) ก็จะทำให้การพัฒนาหุ่นยนต์มีความรวดเร็วมากขึ้น หุ่น Solo 8 นี้มีความสามารถหลายอย่างเช่น ในการกระโดด เคลื่อนที่ได้หลายรูปแบบและหลายทิศทาง เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้นองค์ประกอบต่าง ๆ ที่จะเอามาประกอบกับหุ่นยนต์ ยังสามารถพิมพ์จากเครื่องพิมพ์สามมิติ หรือจะซื้อก็ได้ โดยถ้าจะพิมพ์ ไฟล์ที่จะใช้ในการพิมพ์เปิดให้โหลดมาใช้ได้ฟรีภายใต้สัญญาอนุญาตแบบ BSD 3-clause
อ่านข่าวเต็มได้ที่: NYU Tandon School of Engineering
วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2563
จับสุนัขมาใส่ในเกม
นักวิจัยจากUniversity of Bath's Center for the Analysis of Motion, Entertainment Research, and Applications (CAMERA) ได้แปลงท่าทางการเคลื่อนไหวของสุนัข 14 สายพันธ์ ให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล โดยวิธีการก็คือให้สุนัขเหล่านี้ใส่ชุดที่อกแบบมาเป็นพิเศษ และได้บันทึกการเคลื่อนไหวของสุนัขเหล่านี้ไว้ จากนั้นข้อมูลก็จะถูกประมวลผล เพื่อทำนายและจำลองการเคลื่อนไหวของสุนัขเหล่านี้ในแบบที่ไม่ได้ใส่ชุด นักวิจัยบอกว่าเทคโนโลยีนี้นอกจากจะช่วยในด้านการศึกษาเพื่อให้เข้าใจการเคลื่อนไหวของสัตว์แล้ว ในอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างเกมก็จะได้ภาพการเคลื่อนไหวของสัตว์ที่สมจริงมากขึ้น และยิ่งไปกว่านั้นเข้าของสัตว์เลี้ยง ต่อไปก็อาจสามารถสร้างรูปแบบ 3 มิติของสัตว์เลี้ยงของตัวเองได้ ซึ่งจะต้องเป็นเรื่องที่สนุกมากแน่ ๆ
อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Bath Communications
วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2563
คนอเมริกามีแนวโน้มที่จะหาหมอในระบบทางไกลต่อไปแม้จะพ้นการระบาดของไวรัสแล้ว
จากการสำรวจของเว็บไซต์ Doctor.com ซึ่งมีผู้เข้มาตอบแบบสำรวจประมาณ 1800 คนทั่วประเทศสหรัฐ พบว่า 83% จะใช้ระบบนี้ต่อไปแม้จะพ้นช่วงการระบาดของไวรัสไปแล้ว 55% บอกว่าเขาใช้ระบบนี้เพื่อที่จะได้มีโอกาสพบหมอคนใหม่ ๆ บ้าง และอีก ในขณะที่ 69% บอกว่าเพราะเทคโนโลยีนี้ใช้งานง่ายจึงจูงใจให้พวกเขาเลือกใช้งาน โดยในปัจจุบันนี้ 71% ของผู้ตอบแบบสำรวจใช้การหาหมอทางไกลนี้อยู่แล้ว
อ่านข่าวเต็มได้ที่: PR Newswire
วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2563
นักวิจัยบอกว่าจุดอ่อนใหม่ด้านความปลอดภัยมาจากโปรแกรมเพิ่มเติมของ Google Chrome
นักวิจัยจาก Awake Security บอกว่าเขาได้พบโปรแกรมสอดแนม (spyware) จากโปรแกรมที่เขียนขึ้นมาให้ใช้เป็นโปรแกรมส่วนขยายของ Google Chrome ซึ่งโปแแกรมเหล่านี้มียอดดาวน์โหลดถึง 32 ล้าน โดย Google บอกว่าไได้ลบโปรแกรมเหล่านี้กว่า 70 โปรแกรมออกไปแล้วจาก Chrome Web Store ซึ่งนักวิจัยบอกว่ามันช่วยอะไรแทบไม่ได้เลย ถ้าเทียบกับยอดดาวน์โหลด โปรแกรมเหล่านี้ถูกออกแบบมาให้หลีกเลี่ยงการตรวจจับของโปรแกรมป้องกันไวรัส และโปรแกรมป้องกันต่าง ๆ ความอันตรายของโปรแกรมเหล่านี้ก็คือมันติดตั้งอยู่บนเว็บเบราว์เซอร์ ซึ่งปัจจุบันเราใช้ทำงานที่เป็นส่วนตัว และงานสำคัญต่าง ๆ ซึ่งแน่นอนว่ามันก็จะเป็นเป้าหมายของการก่ออาชญกรรมต่าง ๆ
อ่านข่าวเต็มได้ที่: Reuters
วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2563
ความหลากหลายในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำไม่ได้เปลี่ยนไปเลยในหกปีนี้
ในขณะที่บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกอย่าง Alphabet, Amazon, Apple. Facebook, Microsoft และ Twitter เคยประกาศว่าพวกเขาให้คุณค่ากับความหลากหลาย แต่จากการวิเคราะห์ของ CNBC พบว่าอัตราการจ้างงานของคนที่เป็นคนกลุ่มน้อยเพิ่มขึ้นน้อยมากในช่วงหกปีที่ผ่านมา โดยอัตราการเพิ่มขึ้นเป็นเลขหลักเดียวที่ต่ำมาก โดยในบรรดาบริษัทเหล่านี้ Amazon มีอัตราเพิ่มขึ้นสูงที่สุด แต่การจ้างงานนี้รวมถึงคนงานในคลังสินค้า และคนงานส่งของด้วย ส่วน Facebook มีการจ้างงานคนผิวดำเพิ่มขึ้นจาก 3% เป็น 3.8% Twitter จาก 2% เป็น 6% ส่วน Amazon เพิ่มจาก 11% เป็น 26.5% นับตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ความหลากหลายยังต่ำในตำแหน่งที่เป็นผู้บริหารกับสายเทคนิค ตัวอย่างเช่น Apple มีคนผิวดำที่ทำงานในตำแหน่งปฏิบัติการอยู่ 9% แต่ที่อยู่ในตำแหน่งบริหารมีเพียง 3%
อ่านข่าวเต็มได้ที่: CNBC
วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2563
เรื่องที่น่ากังวลในการพัฒนาโปรแกรม
ศรัณย์วันศุกร์วันนี้ขอพูดถึงเรื่องในวงการของตัวเองสักวันแล้วกันนะครับ ต้องขอโทษด้วยถ้าผู้อ่านที่อาจติดตามบล็อกอยู่แต่ไม่ได้อยู่ในฟิลด์นี้อาจอ่านไม่เข้าใจ วันนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาโปรแกรมครับ คือผมได้มีโอกาสอ่านบล็อกบล็อกหนึ่งคือ Old Code Gets Younger Every Year ซึ่งพูดถึงเรื่องของการพัฒนาโปรแกรม และผมค่อนข้างเห็นด้วย ก็เลยเอามาเขียนสรุปให้ฟังในบล็อกนี้ครับ
จากบล็อกที่ผมเข้าไปอ่าน ผมเข้าใจว่าผู้เขียนน่าจะเป็นคนที่ทำงานอยู่กับภาษาเขียนโปรแกรมที่จัดว่าเก่ามาก ๆ ภาษาหนึ่งคือ COBOL ครับ ซึ่งภาษานี้ยังมีการใช้งานอยู่นะครับ เพราะระบบงานที่ใช้กันมานานแล้ว งานพวกที่ต้องประมวลผลข้อมูล จัดรูปแบบข้อมูล โปรแกรมทางธุรกิจที่ทำงานอยู่บนเครื่องเมนเฟรม ก็เขียนกันมาด้วยภาษานี้ แต่ด้วยความโบราณของมัน ทำให้มันไม่รองรับแนวคิดของการเขียนโปรแกรมสมัยใหม่ และก็แทบจะไม่มีการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยกันอีกแล้ว และก็มีการคาดกันว่ามันน่าจะล้มตายไป แต่ก็ไม่นะครับ เพราะอย่างที่บอกมันยังใช้อยู่ในงานที่ผมกล่าวมาแล้ว และผู้เขียนบล็อกก็คงจะโดนแซะโดนแซวว่าทำงานกับภาษาโบราณเป็นคนแก่อะไรประมาณนี้
แต่สิ่งที่ผู้เขียนพูดถึงก็คือภาษา COBOL จนถึงป่านนี้ก็ยังไม่ตาย ทั้ง ๆ ที่มีการสำรวจในปี 2006 ว่าอายุเฉลี่ยของนักเขียนโปรแกรมภาษา COBOL อยู่ที่ 55 ปี และก็มีความกังวลว่าเมื่อคนเหล่านี้เกษียณจะเกิดอะไรขึ้น แต่มันก็ไม่เกิดอะไรขึ้น และจากการสำรวจในปี 2019 อายุเฉลี่ยกลับมาอยู่ที่ 50 ปี และจริง ๆ อายุเฉลี่ยของนักเขียนโปรแกรมภาษา COBOL ค่อนข้างคงที่แบบนี้มาเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว เหตุผลก็คือ ในตอนแรกคนรุ่นใหม่อาจไม่ได้เรียนหรือใช้ภาษา COBOL แต่พอเป็นนักเขียนโปรแกรมนาน ๆ เข้า ก็มีประสบการณ์มากพอที่จะย้ายเข้ามาทำงานกับภาษา COBOL ในภายหลังได้ไม่ยาก สิ่งที่ผู้เขียนพูดอีกอย่างเกี่ยวกับ COBOL ก็คือปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับงานคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน มักจะไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับภาษา COBOL
ผู้เขียนบอกว่าแทนที่จะมาแซะกันเรื่อง COBOL เราควรจะมาสนใจเรื่องพวกนี้กันดีไหม (ซึ่งผมค่อนข้างเห็นด้วยนะครับ) ปัญหาคือการขึ้นต่อกัน (dependency) ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างของภาษาเขียนโปรแกรมซึ่งมีการปรับปรุงเวอร์ชันไปขนานใหญ่แล้ว แต่นักพัฒนายังติดอยู่กับเวอร์ชันเก่าของภาษา ตัวอย่างก็คือภาษา Java ซึ่งตอนนี้ไปที่เวอร์ชัน 14 แล้ว แต่ 64% ของนักพัฒนายังใช้ Java 8 อยู่ ภาษา Java มีการปรับปรุงครั้งใหญ่ตั้งแต่เวอร์ชัน 9 นั่นคือถ้าจะเอาจริง ๆ โปรแกรมเดิมที่เขียนด้วยเวอร์ชัน 8 จะต้องถูกเขียนใหม่เกือบทั้งหมด และนี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมยังใช้เวอร์ชัน 8 กัน
อีกหนึ่งตัวอย่างคือภาษา Python ซึ่งตอนนี้อยู่ในเวอร์ชัน 3 ซึ่งก็เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เช่นกัน และนักเขียนโปรแกรมหลายคนก็ยังอยู่ในเวอร์ชัน 2 แม้แต่ Mac OS เอง ก็ยังติดตั้ง Python 2.7 มาเป็นดีฟอลต์ให้ เพราะเครื่องมือที่ใช้ภายในของตัว OS ยังใช้ Python 2.7 นอกจากนี้ก็ยังมีโปรแกรมดัง ๆ อีกหลายตัวที่เป็นแบบนี้
ปัญหาของทั้ง Java และ Python ที่มีร่วมกันก็คือการขึ้นต่อกันเพราะภาษาพวกนี้ มักจะมีการใช้คลังโปรแกรม (library) พอตัวภาษาถูกปรับปรุง แต่ตัวคลังโปรแกรมไม่ได้ปรับปรุงตาม ก็ทำให้นักเขียนโปรแกรมที่ใช้คลังโปรแกรมเหล่านั้น ถ้าจะปรับก็ต้องเขียนคลังโปรแกรมขึ้นมาเอง ซึ่งก็ไม่มีใครอยากทำ
นอกจากนี้พอมาถึงยุคของเฟรมเวอร์กก็ทำให้การขึ้นต่อกันหนักขึ้นไปอีก ผู้เขียนยกตัวอย่างของ node.js ซึ่งเกิดขึ้นมาเพื่อทำให้เราสามารถเขียนโปรแกรมภาษา JavaScript ซึ่งทำงานบนฝั่งเซิร์ฟเวอร์ได้ และด้วยความที่ภาษา JavaScript อาจถูกออกแบบมาไม่ดีนัก (ผมนี่ไม่ชอบเลยภาษานี้) ปัญหาคือมันแทบจะไม่มีคลังโปรแกรมมาตรฐานที่ควรมากับภาษาโปรแกรมเหมือนที่ภาษาอื่นมี ดังนั้นมีแนวคิดของ NPM เกิดขึ้น เพื่อให้นักเขียนโปรแกรมไปแชร์ไลบรารีที่ตัวเองเขียนขึ้นได้โดยง่าย นักพัฒนาซึ่งไม่อยากเขียนคลังโปรแกรมเอง ก็ใช้ NPM เพื่อติดตั้งคลังโปรแกรมเหล่านั้น ลงบนเครื่องของนักพัฒนา ดังนั้นเครื่องของนักพัฒนาแต่ละคนก็อาจติดตั้งคลังโปรแกรมที่ทำงานแบบเดียวกันแต่เป็นคนละตัวกัน คลังโปรแกรมบางตัวก็ไม่ได้ปรับปรุงมาเป็นปีแล้ว ก็ยังถูกดาวน์โหลดไปติดตั้งกัน จะเห็นว่ามีการขึ้นแก่กันอย่างมาก ลองจินตนาการว่าถ้า JavaScript มีการปรับปรุงครั้งใหญ่ เหมือน Java และ Python มันก็คงจะให้ผลคล้าย ๆ กัน คือคงมีคนไม่ปรับปรุงโปรแกรมเป็นจำนวนมาก
ผู้เขียนสรุปว่าสิ่งที่เราควรจะกังวลกันคงไม่ใช่อายุของคนเขียนโปรแกรม ที่ไปเขียนโปรแกรมด้วยภาษาโปรแกรมโบราณ ภาษาอย่าง COBOL ทำงานของ COBOL ได้ดีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราควรกังวลกันคือเรากำลังสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้เรายึดติดอยู่กับโค้ดของภาษาโปรแกรมที่หมดอายุไปแล้วต่างหาก
ภาษาเขียนโปรแกรมภาษาแรกที่รองรับคอมพิวเตอร์ควอนตัมอย่างลงตัว
ทีมนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จาก ETH Zurich ใน Switzerland ได้พัฒนาภาษาเขียนโปรแกรมภาษาแรกที่รองรับคอมพิวเตอร์ควอนตัมอย่างลงตัว โดยผู้พัฒนาบอกว่ากลไกการเขียนโปรแกรมจะไม่ซับซ้อน เชื่อถือถือได้ และปลอดภัยเหมือนกับภาษาเขียนโปรแกรมสำหรับคอมพิวเตอร์แบบที่เราใช้กันอยู่ ภาษาเขียนโปรแกรมดังกล่าวมีชื่อว่า Sliq โดยผู้พัฒนาบอกว่าภาษาโปรแกรมนี้จะทำให้นักเขียนโปรแกรมใช้คำสั่งที่ภาษาเตรียมไว้ให้ โดยไม่ต้องใช้คำสั่งพิเศษเกี่ยวกับควอนตัม ผู้พัฒนาบอกว่า Slick เป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ในแง่การเขียนโปรแกรมบนคอมพิวเตอร์ควอนตัม แต่มันยังไม่ใช่ระยะสุดท้ายของการพัฒนา
อ่านข่าวเต็มได้ที่: ETH Zurich
เพิ่มเติมเสริมข่าว:
ถ้าใครสนใจจะดูหน้าตาของภาษาดูได้จากลิงก์นี้ครับ
วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2563
จมูกอิเลกทรอนิกส์ดมกลิ่นลูกพีชสุก
นักวิจัยจาก Brazil’s Federal University of Technology-Parana และ State University of Ponta Grossa ได้พัฒนาจมูกอิเลกทรอนิกส์เพื่อใช้ดมลูกพีชเพื่อหาลูกที่สุกที่สุดและฉ่ำที่สุด นักวิจัยใช้เซ็นเซอร์วัดแก๊สที่ส่งออกมาจากลูกพีช เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบที่อยู่ในแก๊ส ซึ่งจากการศึกษาล่าสุดพบว่าจมูกอิเลกทรอนิกส์นี้มีความแม่นยำกว่า 98%
อ่านข่าวเต็มได้ที่: IEEE Spectrum
วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2563
ระบบไวไฟ (Wi-Fi) ใต้น้ำ
นักวิจัยจากKing Abdullah University of Science and Technology ในซาอุดิอาราเบีย สร้างระบบส่งสัญญาณไวไฟ (Wi-Fi) ใต้น้ำที่เขาเรียกว่า Aqua-Fi ซึ่งระบบนี้จะทำให้นักดำน้ำสามารถส่งภาพถ่ายจากใต้น้ำขึ้นมาได้โดยใช้ลำแสง นักวิจัยได้ทดลองรับส่งข้อมูลสื่อผสมระหว่างคอมพิวเตอร์ที่ตั้งอยู่ห่างกันไม่กี่เมตรผ่านทางน้ำที่นิ่ง พบว่าอัตราเร็วสูงสุดที่รับส่งกันได้คือ 2.11 เมกะไบต์ต่อวินาที แต่ในการทำงานจริง หลักการทำงานคือโทรศัพท์ของนักดำน้ำจะเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่ติดอยู่กับถังอากาศโดยใช้คลื่นวิทยุ อุปกร์ดังกล่าวจะทำหน้าที่เป็น gateway เพื่อส่งข้อมูลขึ้นมาโดยใช้แสง ซึ่งจากรูปในข่าวถ้าระยะลึกประมาณไม่มากกว่า 10 เมตร จะใช้ LED แต่ถ้าลึกในระดับ 20 เมตรจะใช้ Laser โดยข้อมูลจะถูกส่งเข้าดาวเทียม แล้วถูกส่งเข้าคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม เหตุผลที่ไม่ใช้คลื่นวิทยุในการส่งข้อมูลขึ้นมาเลยก็เนื่องจากแสงสามารถส่งข้อมูลได้ไกลกว่าและส่งข้อมูลไปพร้อม ๆ กันได้มากกว่า
อ่านข่าวเต็มได้ที่: KAUST Discovery
วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2563
มีการเสียตำแหน่งงานด้านไอทีไปประมาณ 117,000 ตำแหน่งในสหรัฐ ในช่วงวิกฤต COVID
สำนักงานด้านสถิติแรงงานของสหรัฐประมาณว่ามีคนด้านไอทีที่ต้องเสียงานไปประมาณ 117,000 คน ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา จากผลการศึกษาข้อมูลของบริษัท Janco พบว่างานด้านโทรคมนาคม การประมวลผลข้อมูล ผู้ให้บริการด้านเว็บโฮสต์ติง และการออกแบบระบบซอฟต์แวร์และบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีจำนวนผู้ที่มีงานทำในด้านเหล่านี้ลดจาก 3.655 ล้านคน มาอยู่ที่ 3.588 ล้านคน จากช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม อย่างไรก็ตามทาง Janco คาดว่าจะมีการสร้างตำแหน่งานด้านไอทีใหม่ ๆ กว่า 35,000 ตำแหน่งภายในปีนี้ และเชื่อว่าภาวะถดถอยของงานด้านไอทีได้สิ้สุดลงแล้ว และงานด้านไอทีก็จะมีข้อได้เปรียบที่สามารถทำจากระยะไกลได้ โดยกว่า 85% ของบริษัทที่ Janco ไปสำรวจมา ยอมให้คนที่ทำงานด้านไอทีทำงานจากบ้านได้
อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet
วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2563
โปรแกรม AI ของ Facebook แปลงภาษาเขียนโปรแกรมจากภาษาหนึ่งเป็นอีกภาษาหนึ่ง
Facebook บอกว่า โปรแกรมชื่อ TransCoder ของ Facebook สามารถแปลงภาษาเขียนโปรแกรมระดับสูงภาษาหนึ่งไปเป็นอีกภาษาหนึ่งได้ โปรแกรมนี้ใช้การเรียนรู้แบบไม่ต้องมีคนสอน (unsupervised learning) ในการแปลงภาษาเขียนโปรแกรมระหว่างกันสามภาษาคือ C++, Java และ Python โดยข้อมูลที่ใช้ในการฝึกกว่า 2.8 ล้านโค้ดได้มาจาก Github ส่วนการประเมินผลการทำงาน นักวิจัยได้คัดเลือกโปรแกรมที่ทำงานเหมือน ๆ กันแต่เขียนด้วยภาษาที่ต่างกันคือ C++, Java และ Python มาจำนวน 852 โปรแกรม จาก GeekforGeeks ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่มีการตั้งคำถามให้เขียนโปรแกรม และมีคนมาโพสต์คำตอบของคำถามนั้นโดยใช้ภาษาเขียนโปรแกรมหลากหลายภาษา โดยการประเมินจะดูว่าฟังก์ชันที่โปรแกรมแปลมาจะให้ผลัพธ์เหมือนกับฟังก์ชันที่นำมาใช้หรือไม่ สำหรับประสิทธิภาพของการแปลงภาษาดูได้จากข่าวเต็มนะครับ นักวิจัยยังบอกว่า TransCoder นี้สามารถใช้กับภาษาเขียนโปรแแกรมอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ และยังมีประสิทธิภาพดีกว่าโปรแกรมที่ทำหน้าที่แบบเดียวกันที่ขายกันอยู่ตอนนี้อีกด้วย
อ่านข่าวเต็มได้ที่: VentureBeat
วันอาทิตย์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2563
รถขับเคลื่อนด้วยตัวเองจะตรวจจับวัตถุได้ดีกว่าถ้าถูกสอนให้รู้จักที่ว่าง
นักวิจัยจาก Carnegie Mellon University (CMU) ได้พัฒนาวิธีการที่จะทำให้รถขับเคลื่อนด้วยตัวเองตรวจจับวัตถุต่างได้ดีขึ้น ด้วยการสอนให้มันรู้จักด้วยว่าจุดใดเป็นที่ว่าง ซึ่งนักวิจัยบอกว่าการที่วิธีการเก่า ๆ ไม่ตรวจจับช่องว่างเพราะมันจะทำให้ใช้เวลานานเกินไป แต่นักวิจัยบอกว่าวิธีของเขาใช้เวลา 24 วินาที เมื่อเทียบกับการกวาดของตัวเซ็นเซอร์ lidr 1 รอบ ที่ใช้เวลา 100 วินาที โดยเมื่อเทียบกับวิธีเก่าพบว่า วิธีนี้ตรวจจับรถยนต์ได้ดีขึ้น 10.7% คนเดินเท้าดีขึ้น 5.3% รถบรรทุก 7.4% รถประจำทาง 18.4% และรถพ่วง 16.7%
อ่านข่าวเต็มได้ที่: Carnegie Mellon University School of Computer Science
เพิ่มเติมเสริมข่าว:
กรณีไม่ตรวจจับที่ว่างนี้ เคนดูในหนังเรื่อง The Core ที่ทีมนักวิทยาศาสตร์จะต้องเดินทางไปกับยานที่เจาะลงไปที่แกนโลก เพื่อทำให้แกนโลกทำงานอีกครั้ง โดยคอมพิวเตอร์เป็นตัวตรวจจับสภาพแวดล้อมภายนอก และมีจุดหนึ่งที่เป็นเหวก็คือเป็นที่ว่าง และคอมพิวเตอร์ตรวจจับไม่ได้ จนยานตกลงไปในเหว
วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2563
เมื่อโดรนจะโดยสารรถประจำทาง
นักวิจัยจาก Stanford University's Intelligent Systems Laboratory and Autonomous Systems Lab ได้พัฒนาวิธีการที่จะใช้โดรนในการส่งของในเมืองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการให้โดรนโดยสารรถประจำทาง หรือรถราง ซึ่งวิธีการนี้นักวิจัยบอกว่าจะช่วยลดความคับคั่งของการจราจรของโดรน ประหยัดพลังงาน และส่
ของได้ในระยะทางที่ไกลขึ้น โดยระบบนี้จะทำงานโดยเครือข่าย AI ซึ่งรองรับโดรนได้มากถึง 200 ตัว และส่งของได้ 5000 ชิ้น สำหรับเมืองที่มีสถานีสูงสุด 8000 สถานี โดยนักวิจัยได้ทดสอบระบบนี้ใน Sanfrancisco และ Washinton, D.C. โดยระบบขนส่งสาธารณะของ Sanfrancisco ครอบคลุมพื้นที่ 150 ตารางกิโลเมตร ส่วน Washinton, D.C. จะมีพื้นที่ 400 ตารางกิโลเมตร
อ่านข่าวเต็มได้ที่: VentureBeat
วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2563
IBM ประกาศหยุดการทำงานวิจัยด้านการรู้จำใบหน้า
CEO ของ IBM คือ Arvind Krishna ได้ส่งจดหมายถึงสภา Congress ของสหรัฐว่าบริษัทจะหยุดการพัฒนา การวิจัย และการให้ความช่วยเหลือของโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับการรู้จำหรือวิเคราะห์ใบหน้า ซึ่งทางบริษัทให้เหตุผลว่า "บริษัทต่อต้านเทคโนโลยีที่จะนำไปสู่การสอดแนม การระบุเชื้อชาติ การละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและเสรีภาพ และเรื่องอื่น ๆ ที่ขัดกับค่านิยมและหลักการด้านความน่าเชื่อถือและความโปร่งใส แม้ว่าในปัจจุบัน AI จะมีส่วนช่วยพัฒนาการรู้จำใบหน้าขึ้นเป็นอย่างมาก แต่มันก็ยังมีปัญหาด้านการลำเอียงในด้านของอายุ เชื้อชาติ และชาติพันธ์ ซึ่งจะมีผลช่วยลดความน่าเชื่อถือของการบังคับกฎหมาย ความมั่นคง ซึ่งจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิพลเมือง" ในปี 2018 IBM ได้เปิดชุดข้อมูลออกสู่สาธารณะเพื่อลดความลำเอียงจากการฝึกสอนตัวแบบเพื่อรู้จำใบหน้า อย่างไรก็ตามมีรายงานว่าทางบริษัทได้เปิดเผยชุดข้อมูลที่ได้มาจากรูปภาพจาก Flickr โดยไม่ได้ได้รับความยินยอมจากเจ้าของภาพ
อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Verge
สรุปเรื่อง Siri ของ Apple กับ นักวิจัยไทยกันอีกสักครั้ง
วันนี้ขอมาสรุปเรื่องคดีที่ Apple ถูกฟ้องเรื่องละเมิดสิทธิบัตร ซึ่งมีนักวิจัยไทยคนหนึ่งเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยกันอีกสักครั้งแล้วกันนะครับ ผมได้เขียนเรื่องนี้ไว้สองบล็อก บล็อกแรกเล่าข่าวตอนที่มีการเริ่มฟ้องร้องกัน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อน่าจะแปดปีมาแล้ว และบล็อกที่สองสรุปเรื่องราวว่า Apple ยอมจ่ายค่าสิทธิบัตร 24.9 ล้านเหรียญ เพื่อที่จะไม่ต้องไปขึ้นศาล บล็อกนี้เขียนเมื่อสี่ปีที่แล้ว และคิดว่าน่าจะจบไปแล้ว แต่อยู่ ๆ เมื่อวานนี้ผมพบว่ามียอดคนเข้าไปอ่านบล็อกแรกของผมเพิ่มขึ้นมาอย่างมาก ก็เลยแปลกใจ จนได้เห็นว่ามีการเอาข่าวจากเว็บไซต์แห่งหนึ่งมาแชร์ใน Facebook ว่า Apple แพ้คดี Siri ที่ศาลสูงสหรัฐและต้องจ่าย 25 ล้านเหรียญ และก็มีการเอารูป รศ.ดร.วีระ บุญจริง ในฐานะที่เป็นนักวิจัยมาประกอบด้วย และก็แน่นอนมีการคอมเมนต์มากมาย บางคนก็เพิ่งทราบเรื่องนี้ บางคนก็อาจรู้มาบ้างแล้ว บางคนอ่านข่าวอาจคิดว่าอ.วีระเป็นคนไปฟ้อง Apple และได้เงิน 25 ล้านเหรียญ และบางคนก็เอาไปโยงว่ามันชื่อ Siri เพราะคนไทยเป็นคนคิด ซึ่งมันไม่ใช่อย่างนั้นนะครับ ผมก็เลยจะมาสรุปให้เข้าใจกันซะอีกรอบหนึ่งแล้วกัน
มาเริ่มกันก่อนนะครับ อ.วีระ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจาก Rensselaer Polytechnic Institute (RPI) นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา น่าจะประมาณปี คศ. 2000 ถ้าจำไม่ผิด โดยส่วนหนึ่งของงานวิจัยของอ.วีระคือ Natural Language Interface นั้นได้ถูกจดสิทธิบัตรไว้ ซึ่งถ้าใครอยากดูตัวสิทธิบัตรก็ดูได้จากลิงก์ในบล็อกแรกของผมนะครับ และอาจารย์ก็กลับมาทำงานที่ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง ตามเดิมหลังจากสำเร็จการศึกษา ซึ่งอาจารย์ก็ทำหน้าที่สอนและวิจัยไปตามปกติ ไม่ได้ไปด้อม ๆ มอง ๆ หาวิธีการที่จะฟ้องร้อง Apple อะไร ตอนที่ Apple ออก Siri มา อาจารย์ก็ไม่ได้คิดว่า Apple จะไปละเมิดสิทธิบัตรอะไร
คราวนี้เมื่อประมาณแปดปีที่แล้ว ผ่านมาจากที่อาจารย์จบมาประมาณ 12 ปี อ.วีระซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานกับผมมานานแล้ว ได้ส่งลิงก์ข่าวมาให้ผม บอกว่าอาจารย์ที่ปรึกษาป.เอกของอ.วีระ ส่งมาให้ ซึ่งมันก็คือข่าวที่บริษัท Dynamic Advances ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำมาหากินโดยไปขอรับใบอนุญาตการใช้งานสิทธิบัตรด้านงานวิจัย และก็เอาไปฟ้องร้องบริษัทต่าง ๆ กำลังฟ้อง Apple จากการละเมิดสิทธิบัตร Natural Language Interface ซึ่งตอนนั้นอาจารย์วีระก็ดูงง ๆ กับข่าวนี้ พอผมเห็นข่าว ผมซึ่งเขียนบล็อกอยู่แล้ว ก็เลยเขียนเรื่องนี้ ก็ไม่แน่ใจว่าเป็นที่แรกหรือเปล่าที่เขียนเรื่องนี้ จุดประสงค์หลักที่ผมเขียนบล็อกก็คือ เล่าเรื่องราวที่น่าสนใจให้ลูกศิษย์ และเพื่อน ๆ ได้อ่านกัน ยิ่งเรื่องนี้มีเพื่อนตัวเองเป็นตัวละคร และตัวเองก็มีส่วนร่วมนิดหน่อยในงานวิจัยนี้ ด้วยการส่งตัวอย่างคำถามที่เป็นภาษาพูดให้อาจารย์วีระไปทดสอบระบบนี้ ก็เลยเขียนบล็อกโดยรายงานข่าว แล้วก็เล่าให้ฟังถึงบรรยากาศช่วงนั้น ซึ่งเป็นช่วงที่ทั้งผมและอาจารย์วีระกำลังเรียนอยู่ที่อเมริกา แต่อยู่คนละรัฐกัน และก็ไม่มีใครคิดว่างานวิจัยนั้นมันจะมาถึงขั้นนี้
หลังจากผมเขียนบล็อกแรกเสร็จ ก็มีลูกศิษย์อาจารย์วีระ และเคยเป็นเพื่อนร่วมงานกับผมคือ ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน ซึ่งเป็นคอลัมนิสต์ เนชั่นสุดสัปดาห์ ได้เอาเรื่องจากบล็อกผมไปขยายความในคอลัมน์ ซึ่งตอนนั้นต้องบอกว่าอาจารย์วีระปวดหัวมาก เพราะมีนักข่าวพยายามจะขอสัมภาษณ์มากมาย ซึ่งอาจารย์วีระ เป็นคนที่ไม่ชอบความวุ่นวาย และไม่ชอบตกเป็นข่าว อาจารย์ชอบใช้ชีวิตเงียบ ๆ ดังนั้นจึงปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ทั้งหมด เอาจริง ๆ ตอนนนั้นผมก็รู้สึกไม่สบายใจนะ เพราะเหมือนผมเป็นคนต้นเรื่องเอามาเขียนบล็อก แต่คิดอีกทีถ้าผมไม่เขียน ก็ต้องมีคนอื่นเขียนอยู่ดี
หลังจากนั้นคดีก็ดำเนินไป มีช่วงหนึ่งอาจารย์วีระก็ต้องเดินทางไปให้การไต่สวนที่ศาลที่สหรัฐอเมริกาเพื่อเป็นพยานในคดี ซึ่งสุดท้ายเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ผลของคดีก็คือ Apple ยอมจ่าย 24.9 ล้านเหรียญ เพื่อยุติคดี ไม่ต้องให้คดีไปขึ้นสู่ศาล ผมก็เลยมาเขียนบล็อกที่สอง และคิดว่าเรื่องน่าจะจบไปแล้ว
คราวนี้มาดูความที่น่าจะเกิดความเข้าใจผิดจากข่าวที่แชร์กัน หนึ่งเลยที่ผมค้นล่าสุด ไม่ได้มีข่าวเกี่ยวกับการตัดสินที่ศาลสูง ดังนั้นสิ่งที่ข่าวเอามาแชร์จึงน่าจะเป็นเรื่องที่จบไปเมื่อสี่ปีที่แล้ว คือ Apple ยอมจ่าย 24.9 ล้านเหรียญ
สอง คนที่ได้เงินส่วนใหญ่ไป ไม่ใช่อาจารย์วีระ แต่เป็นบริษัท (Dynamic Advances) ที่ทำเรื่องฟ้อง ซึ่งเงินที่ได้บริษัทก็จะแบ่งให้มหาวิทยาลัย (RPI) ส่วนหนึ่งตามข้อตกลง จากนั้นเงินที่มหาวิทยาลัยได้ จึงจะมาแบ่งให้อาจารย์ที่ปรึกษา และนักศึกษาที่เป็นคนทำงานวิจัย (อ.วีระ) ตามข้อตกลง ดังนั้นสรุปอาจารย์วีระ ไม่ได้เป็นคนฟ้อง Apple และก็ไม่ใช่ได้เงิน 24.9 ล้านเหรียญ
สาม ชื่อ Siri ไม่ได้มาจากการที่คนพัฒนาเป็นคนไทย ตอนนั้น Apple ยังไม่รู้เลยว่าจะถูกฟ้อง ยังอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าส่วนหลักส่วนหนึ่งของโปรแกรมมาจากคนไทย มีคนเคยวิเคราะห์ว่า Siri น่าจะมาจากคำเต็มที่ว่า Speech Interpretation and Recognition Interface ซึ่ง Apple ก็ไม่เคยออกมายอมรับคำเต็มนี้ และมีบางคนบอกว่าถ้าเป็นตัวย่อจริง Apple น่าจะใช้ SIRI เป็นตัวใหญ่ทั้งหมด แต่ Apple เลือกใช้ Siri ซึ่งจากบล็อกนี้ เขาวิเคราะห์ว่า Siri น่าจะมาจากภาษานอร์เวย์ ซึ่งมีความหมายตามภาษาอังกฤษว่า "beautiful woman who leads you to victory" หรือถ้าจะแปลเป็นไทยก็คือ "สาวงามผู้จะนำทางคุณไปสู่ชัยชนะ" ซึ่งผู้ร่วมพัฒนา Siri เป็นคนนอร์เวย์ และจะตั้งขื่อลูกสาวตัวเองว่า Siri แต่ปรากฎว่าได้ลูกชาย ก็เลยเอามาเป็นชื่อแอปอย่างเดียว
สี่ อาจารย์วีระไม่ใช่คนพัฒนา Siri แต่ส่วนหนึ่งของ Siri อยู่บนฐานงานวิจัยคือ Natural Language Interface ที่ได้มีการจดสิทธิบัตรไว้ โดยวิธีการนี้อาจารย์วีระเป็นผู้คิดค้นหลัก เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยระดับปริญญาเอกของอ.วีระ และต้องบอกว่าส่วนของงานนี้มันไม่ได้ใช้กับแค่ Siri ต่อไปสมมติถ้าได้ข่าวว่ามีการฟ้องร้อง Alexa ของ Amazon และมีชื่ออาจารย์วีระเข้าไปเกี่ยวข้องอีก ก็อย่าได้ประหลาดใจ และอย่าไปคิดว่าอาจารย์วีระเป็นคนพัฒนา Alexa อีก กลัวเหลือเกินว่า ถ้าเข้าใจกันอย่างนี้จะไปเข้าใจว่าอาจารย์วีระมีภรรยาเป็นชาวต่างชาติ เลยตั้งชื่อตามลูกสาวว่า Alexa
ห้า อาจารย์วีระในตอนนี้ไม่ได้สังกัดภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบังแล้ว อาจารย์ย้ายไปประจำอยู่ที่วิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง อยู่หลายปี ปัจจุบันเกษียณอายุแล้ว และได้รับการต่ออายุให้เป็นอาจารย์พิเศษของภาควิชาวิศกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง
วันพฤหัสบดีที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2563
วิธีทดสอบสายตาแบบใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วย AI
นักวิจัยจาก Stanford University ได้พัฒนาวิธีทดสอบสายตาแบบใหม่ที่ใช้ AI เป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งนักวิจัยบอกว่าให้ผลได้ถูกต้องกว่าวิธีที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันคือการอ่านกระดานตัวอักษรจากบนลงล่าง ซึ่งวิธีการก็คือเมื่อเราต้องการวัดสายตาให้เข้าไปที่เว็บไซต์ myeyes.ai จากนั้นระบบจะประมาณความละเอียดหน้าจอของเรา โดยให้เราเอาบัตรเครดิตจริงมาทางกับหน้าจอ แล้วปรับขนาดของสี่เหลี่ยมบนหน้าจอให้เท่ากับขนาดบัตรเครดิต จากนั้นระบบจะให้เราบอกระยะห่างของตัวเรากับหน้าจอ ซึ่งอันนี้เราจะต้องมีสายวัด หรือจะใช้แอพช่วยวัดระยะทางก็ได้ โดยระยะทางมาตรฐานคือเราต้องอยู่ห่างจากจอประมาณ 6.1 เมตร จากนั้นระบบจะแสดงตัว E ขึ้นมาทีละหนึ่งตัวบนหน้าจอ ในขนาดและทิศทางต่าง ๆ คือในรูปแบบปกติ กลับด้าน หงายขึ้น คว่ำลง โดยเราจะต้องตอบให้ถูกในแต่ละครั้ง และระบบจะประเมินสายตาของเราจากคำตอบของเรา ซึ่งเราจะตอบโดยใช้คีย์บอร์ดจากคอมพิวเตอร์ก็ได้ แต่ถ้าต้องยืนห่างจากจอถึง 6.1 เมตร คงไม่สามารถกดคีย์บอร์ดได้ ซึ่งนักวิจัยก็มีทางเลือกให้โดยให้ตอบผ่านทางโทรศัพท์มือถือได้ นักวิจัยไม่ได้ทำการทดลองกับคนจริง แต่ใช้คอมพิวเตอร์ในการจำลองเป็นคนไข้ 1,000 คน ซึ่งผลการทดลองพบว่าลดข้อผิดพลาดจากการวิเคราะห์ได้ 74% เมื่อเทียบกับการใช้วิธีที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
อ่านข่าวเต็มได้ที่: Science
วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2563
บาร์เทนเดอร์หุ่นยนต์
บาร์เทนเดอร์หุ่นยนต์กำลังกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของคาเฟ่และบาร์ในเกาหลีใต้ ตามนโยบายของประเทศที่เรียกว่าระยะห่างในชีวิตประจำวันเนื่องจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ตัวอย่างเช่นหุ่นยนต์ Carbo สูงหกฟุตที่มีหน้าที่ตัดน้ำแข็ง และยังมีหุ่นยนต์ที่ทำหน้าที่เขย่าค็อกเทลด้วย ซึ่งถึงแม้ข้อดีของหุ่นยนต์ก็คือการที่มันจะทำให้ได้เครืองดื่มที่มีรสชาติคงที่ แต่ลูกค้าก็บอกว่ายังคิดถึงบรรยากาศเก่า ๆ ที่ได้พูดคุยกับบาร์เทนเดอร์ที่เป็นคนอยู่ดี
วันอังคารที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2563
ซอฟต์แวร์ช่วยพยากรณ์ค่าใช้จ่ายในโรงงาน
นักวิจัยจาก Purdue University และ Indiana Next Generation Manufacturing Competitiveness Center (IN-MaC) ได้พัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อช่วยให้โรงงานทำนายค่าใช้จ่ายในการผลิตได้ดีขึ้น โปรแกรมนี้ทำงานโดยผู้ใช้สามารถทดลองปรับเปลี่ยนสายการผลิตในแบบลากองค์ประกอบที่ต้องการมาวางลงบนจอภาพ เช่นการปรับเปลี่ยนว่าจะใช้เครื่องมือ คน หรือหุ่นยนต์ ซึ่งผู้ใช้จะเห็นราคาค่าใช้จ่ายเมื่อปรับเปลี่ยนองค์ประกอบต่าง ๆ ซึ่งนักพัฒนาบอกว่าโปรแกรมนี้จะช่วยในการวางแผลกลยุทธของโรงงานในด้านการดำเนินการและประเมินค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ซึ่งทั้งหมดอยู่ในขอบเขตเพื่อให้เข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีผลกระทบกับค่าใช้จ่ายอย่างไรบ้าง
อ่านข่าวเต็มได้ที่: Purdue University News
วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2563
ภาษาเขียนโปรแกรม Rust เข้าสู่ 1 ใน 20 อันดับภาษายอดนิยมเป็นครั้งแรก
ภาษาเขียนโปรแกรม Rust เข้ามาติด 1 ใน 20 ของภาษาเขียนโปรแกรมที่มีความนิยมมากที่สุดของดัชนี Tiobe เป็นครั้งแรก ภาษา Rust ได้รับความนิยมมากขึ้นในการนำไปใช้เขียนโปรแกรมระบบ โดยไมโครซอฟท์ได้พิจารณาใช้ Rust กับ Windows และ Azure เพื่อลดข้อผิดพลาดจากการใช้งานหน่วยความจำจากโปรแกรมที่เขียนโดยภาษา C และ C++ ส่วน Amazon Web Service ก็ใช้ Rust กับงานที่ต้องการประสิทธิภาพสูง ในปีนี้ Rust ได้รับความนิยมอยู่ในอันดับที่ 20 โดยปีที่แล้วอยู่อันดับที่ 38 โดยอันดับในดัชนีนี้ไม่ได้หมายความว่ามีคนเขียนโปรแกรมด้วยภาษา Rust เพิ่มขึ้น แต่มีการค้นข้อมูลเกี่ยวกับภาษานี้มากขึ้น โดย CEO ของ Tiobe software บอกว่า Rust เป็นภาษาสำหรับการเขียนโปรแกรมระบบที่ทำทุกอย่างได้ถูกต้อง
อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet
วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2563
โปรแกรมเรียกค่าไถ่ที่ใช้ Java มุ่งโจมตี Windows และ Linux
นักวิจัยด้านความมั่นคงได้พบโปรแกรมเรียกค่าไถ่ตัวใหม่ที่ทำงานบน Windows และ Linux โดยตัวโปรแกรมนี้ใช้รูปบบของไฟล์ Java ที่ไม่ค่อยมีคนใช้และไม่ค่อยรู้จักคือ JIMAGE ซึ่งเป็นรูปแบบของโปรแกรม Java อีกแบบหนึ่ง คือสามารถรันได้เหมือนโปรแกรม Java ปกติที่เราใช้กัน การทำแบบนี้ก็เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับของโปรแกรมป้องกันไวรัส หน่วยงานที่ถูกจู่โจมจากโปรแกรมนี้คือสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งในยุโรป จากการสำรวจพบว่าโปรแกรมนี้ถูกปล่อยเข้ามาผ่านทางเซิฟร์เวอร์ที่ให้บริการเชื่อมต่อจากระยะไกล และทิ้งโปรแกรมที่ทำหน้าที่เป็นประตูลับไว้ แฮกเกอร์ไม่ได้จู่โจมทันทีแต่กลับมาหลังจากนั้นหลายวัน ซึ่งพบว่าไม่มีโปรแกรมหรือใครที่เห็นโปรแกรมประตูลับนี้ จึงได้ปล่อยโปรแกรมเรียกค่าไถ่ชื่อ Tycoon ซึ่งทำหน้าที่เข้ารหัสไฟล์ต่าง ๆ นักวิจัยบอกว่าถ้าใครที่โดน Tycoon เวอร์ชันแรก ๆ อาจจะยังไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าไถ่ เพื่อให้ได้คีย์มาถอดรหัส เพราะนักวิจัยพบว่ามันใช้คีย์เข้ารหัสเดียวกัน ดังนั้นถ้าแก้ได้หนึ่งที่ก็จะแก้ที่อื่นได้ด้วย แต่ถ้าเป็นเวอร์ชันใหม่โปรแกรมได้อุดช่องโหว่นี้ไปแล้ว
อ่านข่าวเต็มได้ที่: TechCrunch
วันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2563
การทดลองอพยพออกจากตึกเสมือน
นักวิจัยจาก Delft University of Technology (TU Delft) ในเนเธอร์แลนด์ ได้ศึกษาการใช้ VR และ AR ในการศึกษาพฤติกรรมของคนเมื่อยู่ในภาวะอันตราย โดยได้ให้ผู้ทดลอง 150 คนเข้าไปร่วมอยู่ในตึกจำลองผ่านทางทั้งแว่น VR และคอมพิวเตอร์ โดยมีกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมทำ จากนั้นจะส่งสัญญาณให้ผู้เข้าร่วมอพยพออกจากตึกโดยไม่บอกล่วงหน้า ซึ่งจากการสังเกตพบว่าผู้เข้าร่วมหลายคนที่ใช้แว่น VR ถึงแม้จะรู้ว่าตัวเองอยูในตึกเสมือนก็ยังมีอาการตื่นตระหนก อย่างไรก็ตามคนที่ใช้คอมพิวเตอร์จะไม่ค่อยตื่นตระหนก เพราะมันเหมือนกับกำลังเล่นเกมอยู่ ถ้าเทียบกับคนที่ใช้ VR ซึ่งจะรู้สึกเหมือนอยู่ในสถานการณ์จริง ผู้วิจัยจะทำการทดลองกับตึกจริงต่อไป เพื่อดูว่าพฤติกรรมของคนจะแตกต่างออกไปหรือไม่
อ่านข่าวเต็มได้ที่: TU Delft
วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2563
สรุปประสบการณ์สอนออนไลน์และสิ่งที่น่าจะทำต่อไป
สัปดาห์นี้ผมเพิงจบการสอนออนไลน์ของภาคการศึกษาที่ 2/2562 ไปครับ อย่างที่เราทราบกันว่ามันมีเรื่อง COVID 19 เกิดขึ้น แล้วก็เกิดการระบาดไปทั่วโลกรวมถึงประทศไทยด้วย โดยสถานการณ์ของประทเศไทยเริ่มมีปัญหาหนักในช่วงปลายเดือนมีนาคม จากการระบาดครั้งใหญ่จากสนามมวยลุมพินีทำให้สถานศึกษาทุกแห่งในประเทศต้องเปลี่ยนเข้าสู่ระบบออนไลน์ทันทีไม่ว่าจะพร้อมหรือไม่ ผมก็เลยอยากจะสรุปประสบการณ์ของตัวเองและข้อเสนอแนะเอาไว้ในบล็อกนี้สักนิดนะครับ
ต้องบอกว่าผมใช้วิธีสอนออนไลน์หลายอย่างมากครับ คือบางวิชาที่มีวีดีโออยู่แล้ว ผมก็ใช้วิธีให้ดูวีดีโอมาก่อน แล้วก็มาทำโจทย์ร่วมกันแบบออนไลน์ตามเวลาเรียนปกติ วิชาที่ไม่มีวีดีโอก็บรรยายสดผ่านโปรแกรมประชุมออนไลน์ที่ใช้มากที่สุดก็คือ Google Meet และวิชาไหนที่มี Lab คอมพิวเตอร์ก็มีใช้ Zoom บ้าง Google Meet บ้าง ให้นักศึกษาทำโจทย์ ใครทำเสร็จก็ให้แชร์หน้าจอมาให้ดู แล้วก็อธิบายโปรแกรมให้ฟัง มีการ Quiz เพื่อวัดความรู้ผ่านทางโปรแกรมอย่าง Socrative หรือ Google Form ใช้ Google Classroom ให้ทำแบบฝึกหัดแล้วอัดวีดีโอส่ง มีการสอบปฎิบัติโดยให้ทำแล้วอัดวีดีโอขณะที่ทำ แล้วส่งทั้งโค้ดและวีดีโอขึ้น Google Classroom สิ่งเดียวที่ไม่ได้ทำคือจัดสอบออนไลน์ แล้วให้นักศึกษาเปิดกล้องแล้วไปคุมสอบ อย่างที่หลายที่ทำกัน
ซึ่งขอสรุปว่าวิธีที่ผมไม่ชอบที่สุด และสุดท้ายก็ต้องเลิกไปก็คือการสอนสด เพราะมีปัญหาหลายอย่าง อันแรกคือเรื่องความสนใจของนักศึกษา ซึ่งตามปกติเรียนในห้องก็สมาธิไม่ดีอยู่แล้ว ยิ่งเรียนแบบนี้ยิ่งไปกันใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้นการสอนนี่ยิ่งเหมือนเป็นทางเดียวหนักเข้าไปอีก เพราะตามปกติเด็กไทยเรียนในห้องก็แทบจะไม่อยากตอบอะไรอยู่แล้ว ยิ่งตอนนี้ยิ่งไม่มีส่วนร่วมใหญ่ ขนาดผมให้ chat มา ไม่ต้องพูดถาม/ตอบ ยังแทบไม่มีใครทำ นอกจากบรรยากาศแล้ว ยังเป็นเรื่องความพร้อมของนักศึกษาทั้งทางด้านวินัยตัวเอง ขนาดเรียนออนไลน์ ผมนัดตามเวลาเรียน ซึ่งจริง ๆ ไม่ควรจะมีใครมาสายก็ยังมีคนที่เข้ามาร่วมชั้นเรียนสาย ไม่ต่างจากเวลามาเรียนในห้องปกติ ความไม่พร้อมด้านสภาพแวดล้อม และอุปกรณ์ของนักศึกษาเอง ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมของบ้าน คุณภาพของเครือข่าย ความพร้อมของอุปกรณ์อื่น ๆ อย่างคอมพิวเตอร์ ซึ่งถ้ามาเรียนตามปกติ ก็มาใช้ทุกอย่างของมหาวิทยาลัย แต่พอใช้ที่บ้านเครื่องที่มีอยู่อาจไม่พร้อมเท่ามหาวิทยาลัย นักศึกษาหลายคนบ่นว่าได้ยินเสียงขาด ๆ หาย ๆ ซึ่งในที่สุดผมก็ต้องเลิกใช้วิธีนี้ และไปใช้การอัดวีดีโอให้ไปดูมาล่วงหน้า ซึ่งมันทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมาอีก อย่างเช่นผมไม่มีเวลาตรวจงานที่มอบหมายให้นักศึกษาได้ทันเวลา ซึ่งจริง ๆ ควรตรวจสัปดาห์ต่อสัปดาห์ จะได้ให้คำแนะนำต่องานที่นักศึกษาส่งเข้ามา ซึ่งตรงนี้ต้องบอกว่าทำไม่ได้เลย เพราะการทำวีดีโอมันค่อนข้างใช้เวลา และผมก็สอนเยอะมาก เทอมนี้สอน 7 วิชา มีวีดีโออยู่ 4 วิชา ซึ่งก็ต้องปรับปรุง และยังมีวิชาที่ไม่มีดีโอเลย ซึ่งการทำวีดีโอนี่ใช้เวลามากครับ ผมเลยไม่มีเวลาไปตรวจงานได้
และทุกวิธีก็มีปัญหา บางปัญหาก็เกิดจากตัวนักศึกษาเอง บางครั้งก็เกิดจากผมเอง เพราะสั่งงานไปบางครั้งก็ไม่คิดว่าจะมีปัญหาแบบนี้ เพราะเอาตัวเองเป็นหลักว่าตัวเองรู้แล้ว หรือเด็กเอกคอมน่าจะรู้ น่าจะแก้ปัญหาได้ บางปัญหาก็ไม่นึกว่าจะเกิดขึ้น อย่างทำ quiz อยู่ นักศึกษาบอกว่าไฟดับเพราะที่บ้านฝนตกหนัก บอกให้ไปซ้อมอัดวีดีโอหน้าจอมา บางคนไปซ้อมอัดมาแค่คลิปละ 2-3 นาที พอมาใช้จริง ก็พบว่า โปรแกรมที่ใช้แบบฟรี ๆ มันให้ใช้แค่คลิปละไม่เกิน 10 นาที (นี่แสดงให้เห็นถึงปัญหาของพวกเราที่เป้นผู้ใช้หลายคนนะครับ คือไม่เคยอ่านข้อตกลงเงื่อนไขการใช้งานเลย) บางคนพออัปคลิปขึ้น Youtube ซึ่งมันต้องให้ยืนยันตัวตนก่อน ถึงจะอัปคลิปยาวเกิน 15 นาทีได้ ก็ไม่อ่านว่าแค่ยืนยันตัวตนก็อัปได้แล้ว แต่กลับไปแบ่งวีดีโอเป็นหลาย ๆ คลิป อะไรแบบนี้เป็นต้น
โดยความเห็นส่วนตัวผมมองว่า ที่ผมทำผ่านมามันไม่ใช่การเรียนออนไลน์จริง ๆ การเรียนออนไลน์จริง ๆ ควรจะเป็นแบบที่ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามอัธยาศัยของผู้เรียน โดยอาจมีการกำหนดเวลาอย่าง Coursera, MOOC, และ อีกหลาย Platform ซึ่งผมอยากทำแบบนั้น และตั้งใจจะทำมานานแล้ว แต่ยังหาเวลาทำให้สมบูรณ์ไม่ได้ และยังหา Platform ที่จะทำแบบนี้ยังไม่ได้ ซึ่งคิดว่าในช่วงปิดเทอมนี้จะพยายามทำให้ได้ ไม่ว่าจะต้องสอนออนไลน์หรือกลับไปสอนตามปกติ ซึ่งผมว่ามันจะเป็นประโยชน์และเป็นประโยชน์อื่น ๆ ด้วย อย่างเช่นผมสามารถให้นักศึกษาไปเรียนด้วยตัวเอง และอาจนัดกันคุยผ่านออนไลน์หรือในห้องสักสองสัปดาห์ครั้ง ครั้งละไม่นานนัก หรือถ้าใครอยากถามเป็นการส่่วนตัวก็จะกำหนดเวลาให้ซักถามไว้ ซึ่งตรงนี้ถ้าใครเรียนได้เร็วก็จบเร็ว โดยถ้าใครเรียนจบได้ตามเวลาที่กำหนดไว้ ก็จะให้เกรดอย่างต่ำ C จากนั้นก็อาจมาสอบกันจริง ๆ และ/หรือมานำเสนอโครงการ เพื่อที่จะได้เกรดที่สูงกว่า C ต่อไป
อีกอย่างที่ต้องปรับตัวและทำความเข้าใจก็คือส่วนของสถานศึกษาครับ สถานศึกษาหลายแห่งยังเข้าใจว่าการเรียนออนไลน์ก็คือการเปลี่ยนจากสอนในห้องเป็นสอนผ่านเน็ต ดังนั้นก็จะเรียกหาหลักฐานการสอนว่าสอนครบชั่วโมง สอนตามตารางสอนไหม และที่น่าต้องคิดกันต่อไปก็คือ น่าจะสนับสนุนให้อาจารย์สร้างคอร์สออนไลน์กันให้มากขึ้น โดยอาจจะนับให้หนึ่งวิชามีค่าเท่ากับหนึ่งบทความวิชาการ และสามารถนับเพื่อไปขอผลงานทางวิชาการได้ ซึ่งถ้าทำแบบนี้ก็จะทำให้เรามีคอร์สออนไลน์มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะให้นักศึกษาเรียนแล้ว ยังเปิดให้คนนอกเรียนได้ ซึ่งจะเปิดเป็นบริการวิชาการแบบฟรี ๆ หรือจะเก็บเงินเพื่อเป็นรายได้ส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย และแจกประกาศนียบัตรให้กับคนที่เรียนจบ นอกจากนี้อาจเปิดให้คนที่เรียนออนไลน์และได้ใบประกาศนียบัตรนี้ เมื่อสมัครเข้ามาเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ก็สามารถนำมาแสดง และสามารถรับการสอบ เพื่อให้เรียนจบได้เร็วขึ้นได้ ซึ่งก็จะเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิตอีกด้วย
เครื่องมือแปลงคณิตศาสตร์เป็นภาพ
นักวิจัยจาก Carnegie Mellon University (CMU) ได้พัฒนาโปรแกรมที่จะแสดงนิพจน์ทางคณิตศาสตร์เป็นรูปภาพ โดยโปรแกรมนี้มีชื่อว่า Penrose ซึ่งตั้งตามชื่อของนักคณิตศาสตร์และนักฟิสิกส์ John Penrose จุดประสงค์ของเครื่องมือนี้คือช่วยให้การเรียน และการเขียนบทความทางคณิตศาสตร์เข้าใจได้ง่ายขึ้น นักวิจัยบอกว่าอาจารย์บางคนมีความสามารถในการวาดรูปมาก แต่พอวาดบนกระดานในห้องเมื่อสอนจบรูปนั้นก็จะถูกลบไป หรือในบทความวิชาการจะเห็นว่าไม่ค่อยจะมีรูปประกอบคำอธิบาย เนื่องจากผู้เขียนบทความอาจใช้เครื่องมือวาดรูปไม่คล่อง และการวาดรูปก็ใช้เวลานานและเป็นงานที่น่าเบื่อ นักวิจัยจึงสร้างเครื่องมือนี้มา โดยมีภาษาเขียนโปรแกรมให้นักคณิตศาสตร์เขียนนิพจน์ทางคณิตศาสตร์ได้ง่าย ๆ และโปรแกรมจะช่วยวาดรูปให้ นักวิจัยบอกว่า ด้วยเครื่องมือนี้ตำราคณิตศาสตร์เก่า ๆ จากห้องสมุดจะหมดไป แต่จะเข้ามาอยู่ในคอมพิวเตอร์แทน และก็จะมีรูปประกอบที่สวยงาน ซึ่งจะช่วยให้คนอ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น
อ่านข่าวเต็มได้ที่: Carnegie Mellon University
เพิ่มเติมเสริมข่าว:
เพื่อความเข้าใจมากขึ้นว่าเครื่องมือนี้มีการทำงานยังไง แนะนำให้เข้าไปดูที่วีดีโอที่อยู่ในข่าวเต็มครับ
วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2563
บั๊กใน Sign in with Apple ได้รับการแก้ไขแล้ว
เครื่องมือที่ชื่อว่า Sign in with Apple ที่ยอมให้ผู้ใช้ล็อกอินเข้าเว็บไซต์ หรือแอปอื่น ๆ โดยไม่ต้องเปิดเผยที่อยู่อีเมล สำหรับเครื่องมือ Sign in with Apple นี้เปิดตัวในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว หลักการคือผู้ใช้ที่ใช้ iPhone หรือ iPad สามารถล็อกอินเข้าเว็บไซต์ หรือแอปอื่น ๆ ได้โดยใช้ Touch Id, Face Id หรือ Passcode ที่ตั้งไว้ Bhavul Jain เป็นคนที่เจอข้อผิดพลาดจากเครื่องมือนี้ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถขโมยบัญชีของเว็บไซต์ หรือแอปจากผู้ใช้ได้ โดย Jain เจอข้อผิดพลาดในเดือนเมษายน และแจ้งให้ทาง Apple ทราบและได้รับเงินรางวัล $100,000 และตอนนี้ Apple ก็ได้แก้ปัญหานี้เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามไม่มีรายงานว่าช่องโหว่นี้ถูกใช้งานจากผู้บุกรุก
อ่านข่าวเต็มได้ที่: Ars Technica
เพิ่มเติมเสริมข่าว:
ส่วนตัวไม่เคยใช้เครื่องมือนี้เลย และนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ไม่มีรายงานการบุกรุกเพราะผู้ใช้ไม่ค่อยมีใครใช้
วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2563
แว่นอิเลกทรอนิกส์ที่ทำงานได้หลากหลาย
นักวิจัยจาก Korea University's KU-KIST Graduate School of Converging Science and Technology ได้พัฒนาต้นแบบของแว่นอิเลกทรอนิกส์ที่ทำงานได้หลายรูปแบบ โดยใช้อิเลกโตรดติดตามกิจกรรมการทำงานของสมอง และการเคลื่อนไหวของดวงตา และนำข้อมูลไปประมวลผล และยังมีการตรวจจับปริมาณของรังสีไวโอเล็ต เพื่อเปลี่ยนโหมดจากแว่นธรรมดาเป็นแว่นกันแดด นอกจากนี้ยังมีการติดตามท่าทางและตรวจจับการล้ม ซึ่งเปิดโอกาสให้มีแอปพลิเคชันด้านความจริงเสมือน (virtual reality) และการเตือนการเกิดอุบัติเหตุในผู้สูงอายุ
อ่านข่าวเต็มได้ที่: New Atlas
วันอังคารที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2563
ส่งยาโดยใช้รถไร้คนขับใน Houston
CVS Health ซึ่งเป็นเชนด้านสุขภาพในอเมริกา ร่วมมือกับ Nuro ซึ่งเป็นบริษัทด้านหุ่นยนต์ จะทดสอบการส่งยาตามใบสั่งโดยรถไร้คนขับให้กับลูกค้าที่อยู่ใน Houston ในเดือนนี้ โดยโฆษกของบริษัทบอกว่า จะใช้เวลาในการส่งไม่เกิน 1 ชั่วโมง สำหรับลูกค้าที่สั่งสินค้าจากร้านที่อยู่ใน Houston โดยในการรับยา ลูกค้าจะต้องยืนยันตัวตนก่อนเพื่อให้ประตูของรถเปิดออกให้ลูกค้าหยิบของ ลูกค้ายังสามารถติดตามตำแหน่งของรถได้ด้วย และนี่เป็นครั้งแรกที่หน่วยงานรัฐยอมให้มีรถไร้คนขับที่ไม่มีคนนั่งอยู่ด้วยวิ่งไปบนถนนสาธารณะ
อ่านข่าวเต็มได้ที่: Associated Press
เพิ่มเติมเสริมข่าว:
Houston We have a problem
วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2563
การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนที่ไม่ได้อยู่ในบ้านเดียวกันผิดกฎหมายในอังกฤษ
ตั้งแต่ 11.30 วันจันที์ที่ 1 มิถุนายนตามเวลาที่อังกฤษ การมีเพศสัมพันธ์กันระหว่างคนที่ไม่ได้อยู่ในบ้านเดียวกัน ถึงแม้จะมีกันในบ้านของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะถือว่าผิดกฏหมายในประเทศอังกฤษ โดยผู้ฝ่าฝืนจะถูกปรับ 100 ปอนด์ และจะลดเหลือ 50 ปอนด์ ถ้าจ่ายค่าปรับภายใน 14 วัน โดยกฎหมายนี้ยังรวมถึงการรวมกลุ่มของคนที่ไม่ได้อยู่ในบ้านเดียวกันด้วย นั้นคือใครที่ไปค้างบ้านคนอื่น หรือคนสองคนที่ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกันไปเจอกันในที่ส่วนตัวโดยไม่มีเหตุผล จะถือว่าผิดกฎหมายนี้ ที่อังกฤษออกกฏหมายนี้มาเพราะเชื่อว่าการระบาดของโรคในครั้งก่อนมีผลมาจากการที่มีการเดินทางไปมีเพศสัมพันธ์กันที่บ้านของอีกฝ่ายหนึ่ง
อ่านข่าวเต็มได้ที่: Yahoo! World
เพิ่มเติมเสริมข่าว:
ไวรัสนี้มันก็ทำให้เห็นวิธีการแก้ปัญหาของประเทศต่าง ๆ นะ อะไรที่ไม่นึกว่าจะคิดทำกัน ก็ทำมันออกมาโดยไม่รู้ว่ามันจะเป็นไปได้ในทางปฎิบัติไหม ตำรวจคงวุ่นวายตาย จะต้องไปตามจับไปตามดูกรณีเหล่านี้
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)