วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

Google เปิดตัวแพลตฟอร์ม AI เพื่อช่วยให้เมืองสามารถปลูกต้นไม้ได้มากขึ้น

ภาพจาก Express Computer (India)

Google ได้เปิดตัวแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่รวม AI เข้ากับภาพถ่ายทางอากาศเพื่อช่วยให้สามารถมองเห็นความครอบคลุมของหลังคาต้นไม้ในเมือง เพื่อช่วยให้วางแผนการปลูกต้นไม้ในอนาคต Tree Canopy Lab เปิดตัวใน Los Angeles เป็นที่แรก โดยเป็นส่วนหนึ่งของแพลตฟอร์มที่เรียกว่า Environmental Insights Explorer ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำให้การวัด วางแผน และลดการปล่อยคาร์บอนและมลพิษของเมืองทำได้ง่ายขึ้น แพลตฟอร์มนี้ใช้ AI ที่มีความสามารถพิเศษในการตรวจจับต้นไม้โดยอัตโนมัติ จากการสแกนภาพถ่ายทางอากาศ โดยระบุตำแหน่งที่มีต้นไม้ และสร้างแผนที่เพื่อคำนวณความหนาแน่นในการปกคลุมของต้นไม้ Google บอกว่าจะเปิด Tree Canopy Lab ในเมืองอีกเป็นร้อยเมืองในอนาคต 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Express Computer (India)

วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

คอมพิวเตอร์วิชันสามารถประมาณปริมาณแคลอรีในอาหารได้โดยแค่เหลือบมอง

ภาพจาก filadendron/Getty Images

นักวิจัยจาก Karlsruhe Institute of Technology (KIT) ของเยอรมนีได้พัฒนาเทคนิคคอมพิวเตอร์วิชันเพื่อประเมินปริมาณแคลอรี่ของมื้ออาหารจากภาพถ่าย ทีมนักวิจัยได้ใช้เครือข่ายประสาทเทียม DenseNet ที่จะเชื่อมโยงภาพถ่ายอาหารจากฐานข้อมูลที่มีรูปภาพ 308,000 ภาพ จากสูตรอาหาร 70,000 สูตร จากเว็บไซต์ทำอาหารในเยอรมัน โดยวิธีนี้จะทำนายธาตุอาหารหลักจากส่วนประกอบที่ระบุไว้ในสูตรอาหาร นักวิจัยบอกว่าสมมติฐานของเทคนิคนี้ก็คือ อาหารถูกปรุงตามสูตรอย่างถูกต้อง โดยตัวแบบจะเรียนรู้ระหว่างข้อมูลโภชนาการกับรูปภาพ ตัวแบบนี้สามารถประมาณปริมาณแคลอรีได้ถูกต้องอยู่ที่ค่าเฉลี่ยประมาณ 32.6% เมื่อนำไปประเมินกับภาพที่ไม่เคยเห็นมาก่อน แต่นักวิจัยบอกว่ามันสามารถแยกความแตกต่างระหว่างอาหารที่มีแคลอรีสูงกับแคลอรีต่ำได้

อ่านข่าวเต็มได้ที่:   New Scientist

วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

DeepER ใช้การเรียนรู้เชิงลึกจัดสรรบริการฉุกเฉินให้ดีขึ้น

ภาพจาก Binghamton University News

นักวิจัยของมหาวิทยาลัย Binghamton ใช้วิธีการเรียนรู้เชิงลึกเพื่อวิเคราะห์ระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่บริการฉุกเฉินใช้ในการแก้ไขปัญหา และแนะนำวิธีการจัดสรรทรัพยากรให้ดีขึ้นถ้าจำเป็น เครื่้องมือนี้เรียกว่า DeepER ซึ่งเป็นตัวแบบการเข้าและถอดรหัสแบบเป็นลำดับ โดยใช้โครงข่ายประสาทเทียมแบบ Recurrent ทีมนักวิจัยใช้ข้อมูลสาธารณะของเมืองนิวยอร์กในช่วงเวลา 10 ปี โดยแบ่งกลุ่มให้เห็นถึงประเภทของเรื่องฉุกเฉิน และเวลาที่ใช้ในการแก้ปัญหา นักวิจัยบอกว่าเหตุการณ์หลายอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ในเวลาเดียวกัน และเวลาในการแก้ไขก็ย่อมจะต้องใช้เวลามากขึ้น เนื่องจากต้องมีการแบ่งปันบุคลากร ทรัพยากร และเครื่องมือ และสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นจากระยะเวลาที่ใช้แก้ปัญหา ซึ่งนักวิจัยจะใช้ข้อมูลนี้ในการทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Binghamton University News

วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

หมวกสำหรับวิเคราะห์สมองทารก

ภาพจาก University College London

นักวิจัยจาก University College London (UCL) ของสหราชอาณาจักร  Cambridge University, Rosie Hospital และบริษัทสตาร์ตอัพ Gowerlabs ได้สาธิตอุปกรณ์เทคโนโลยีที่จัดทำแผนที่สมองของเด็กทารกแบบสวมใส่ได้ โดยอยู่ในรูปหมวกสำหรับเด็กอายุ 6 เดือน โดยปล่อยแสงสีแดงและแสงที่มีความใกล้เคียงกับอินฟาเรดที่ไม่เป็นอันตราย ในการสร้างภาพสามมิติของกิจกรรมของสมอง ซึ่งด้วยวิธีนี้ทำให้แพทย์และนักประสาทวิทยาไม่ต้องนำทารกไปผ่านเครื่องถ่ายภาพด้วยสนามแม่เหล็ก นักวิจัยบอกว่าวิธีนี้ปลอดภัย เงียบ และสวมใส่ได้ และสามารถสร้างรูปภาพการทำงานของสมองในรายละเอียดที่ดีกว่าเทคโนโลยีอื่นที่ใกล้เคียงกัน

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University College London

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

AI ช่วยให้แอป "อัจฉริยะ" เร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

USask post-doctoral fellow Hao Zhang  (Photo credit: Dave Stobbe for the University of Saskatchewan.)

นักวิจัยจาก University of Saskatchewan (USask) ในแคนาดาได้ประดิษฐ์ตัวแบบคอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์ที่อาจมีศักยภาพในการทำให้แอปพลิเคชัน "อัจฉริยะ" อย่างผู้ช่วยส่วนตัว (เช่น Siri) โปรแกรมรู้จำใบหน้า หนือโปรแกรมทำนายสภาพอากาศ ปลอดภัยขึ้น เร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น  นักวิจัยบอกว่าตัวแบบของเขาแบ่งกระบวนการประมวลผลของ AI เป็นส่วนเล็ก ๆ เพื่อช่วยให้แอปรันได้บนสมาร์ตโฟนแทนที่จะต้องไปรันบนเซิร์ฟเวอร์ เขาได้รันโปรแกรมจำลองเพื่อเปรียบเทียบตัวแบบที่สร้างขึ้นกับตัวที่ใช้อยู่บนโทรศัพท์รุ่นใหม่ ๆ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ผลลัพธ์คือตัวแบบสามารถรันแอปหลาย ๆ ตัวได้เร็วกว่าอุปกรณ์ที่ขายกันอยู่ในปัจจุบันถึง 20% และใช้แบตเตอรีน้อยกว่าสองเท่า ซึ่งงานวิจัยนี้สามารถนำไปสู่วิธีการที่แตกต่างออกไปในการออกแบบแอป และระบบปฏิบัติการของอุปกรณ์อย่างแท็บเล็ต โทรศัพท์ และคอมพิวเตอร์

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Saskatchewan

 

วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

หัวใจที่พิมพ์จากเครื่องพิมพ์สามมิติใช้เป็นเครื่องมือในการผ่าตัด


ภาพจาก Carnegie Mellon University

นักวิจัยจาก Carnegie Mellon University (CMU) พัฒนาตัวแบบหัวใจมนุษย์ทีมีขนาดเท่าของจริงเพื่อใช้พิมพ์ผ่านเครื่องพิมพ์สามมิติได้เป็นที่แรก โดยใช้วิธีที่เรียกว่า  Freeform Reversible Embedding of Suspended Hydrogels (FRESH) ซึ่งการพิมพ์หัวใจมนุษย์แบบขนาดเท่าของจริงนี้ต้องใช้เครื่องพิมพ์สามมิติที่สั่งทำเป็นพิเศษ และต้องปรับปรุงซอฟต์แวร์เพื่อรักษาความเร็วและความเที่ยงตรงของการพิมพ์ นักวิจัยบอกว่าสิ่งที่ได้ไม่ใช่เป็นแค่ใช้เพื่อการวางแผน แต่สามารถนำไปใช้ได้จริง หมอผ่าตัดสามารถใช้มันในการฝึกเพราะมันสามารถตอบสนองได้เหมือนเนื้อเยื่อจริง 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Carnegie Mellon University


วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

สถานีตรวจอากาศที่พิมพ์จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ช่วยงานวิทยาศาสตร์ได้มากขึ้นด้วยงบที่น้อยลง

3D-printed weather station initial installation in the field. (Image by Argonne National Laboratory.)

ทีมนักวิจัยที่นำโดย U.S. Department of Energy's Argonne National Laboratory  ได้ทดสอบสถานีวัดสภาพอากาศที่พิมพ์จากเครื่องพิมพ์สามมิติ โดยได้ทดลองเทียบผลการวัดกับสถานีวัดสภาพอากาศที่วางขายเพื่อการค้าในปัจจุบัน โดยช่วงระยะเวลาทดลองคือ 8 เดือน ซึ่งผลการทดลองพบว่าให้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกัน โดยสถานีวัดอากาศนี้ถูกพิมพ์โดยใช้วัสดุที่เป็นพลาสติกที่คงทน ติดตั้งเซ็นเซอร์ที่ราคาถูก ซึ่งนอกจากสัญญาณของการเสื่อมสภาพเมื่อผ่านไป 5 เดือนแล้ว การวัดอุณหภูมิ ความดัน ฝน รังสีอัลตร้าไวโอเล็ต และองค์ประกอบด้านความชื้นอื่น ๆ ให้ผลในระดับเทียบเคียงได้กับสถานีวัดอากาศที่ขายกันอยู่ในปัจจุบัน นักวิจัยบอกว่าตัวเขาไม่ได้คาดหวังว่าสถานีวัดอากาศที่พิมพ์ออกมานี้จะทำงานได้ดีถึงขนาดนี้ ปัญหาเดียวของมันก็คือการเสื่อมสภาพ ซึ่งแสดงว่ามันจะถูกนำมาใช้ได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Argonne National Laboratory

     

วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

หุ่นยนต์ดูดฝุ่นแอบฟังเราอยู่หรือเปล่า

Credit Sriram Sami

นักวิจัยจาก University of Maryland และ National University of Singapore แสดงให้เห็นว่าหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่ใช้ตามบ้านสามารถถูกแฮกให้ทำหน้าที่ไมโครโฟนได้ ทีมนักวิจัยเก็บข้อมูลจากระบบนำทางที่ใช้ LiDAR จากนั้นใช้การประมวลผลสัญญาณและการเรียนรู้เชิงลึกเพื่อดึงคำพูดออกมา และระบุชื่อรายการทีวีที่กำลังฉายอยู่ในห้องนั้น ห่นยนต์ดูดฝุ่นใช้ LiDAR ในการสแกนสภาพแวดล้อมรอบตัวมันโดยใช้เลเซอร์ และใช้แสงที่สะท้อนกลับมาในการระบุอ็อบเจกต์ต่าง ๆ ทีมนักวิจัยแฮกระบบโดยเข้าไปควบคุมตำแหน่งของเลเซอร์และส่งข้อมูลที่มันสะท้อนกลับมาไปยังเครื่องโน้ตบุ๊กผ่านทางไวไฟ (Wi-Fi) จากนั้นส่งสัญญาณไปที่ขั้นตอนการเรียนรู้เชิงลึกเพื่อฝึกสอนให้แยกเสียงคนหรือเสียงดนตรีจากรายการทีวี ระบบนี้สามารถระบุเสียงคนพูดได้แม่นยำถึง 90% และสามารถระบุชื่อรายการทีวีได้จากการฟังรายการทีวีที่มีความยาวอย่างน้อย 1 นาที 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Maryland Institute for Advanced Computer Studies

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

การเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตอย่างรุนแรงมากกำลังแพร่กระจายไปทั่วในประเทศประชาธิปไตย

Photo by Leon Seibert on Unsplash


นักวิจัยจาก University of Michigan (U-M) ใช้ระบบติดตามการเซ็นเซอร์อัตโนมัติเพื่อสาธิตให้เห็นว่า การเซ็นเซอร์ออนไลน์กำลังแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วแม้แต่ในประเทศที่มีเสรีภาพที่สุด ทีมนักวิจัยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Censored Planet เก็บข้อมูลจากการประเมินกว่า 21 พันล้านครั้ง จากระยะเวลากว่า 20 เดือน จาก 221 ประเทศ และพบว่าการเซ็นเซอร์อินเทอร์เน็ตกำลังเพิ่มชึ้นใน 10 ประเทศ รวมถึงประเทศที่คาดไม่ถึงอย่างนอร์เวย์ ญึ่ปุ่น อิตาลี อินเดีย อิสราเอล และโปแลนด์ ทีมนักวิจัยบอกว่าในหลายกรณีมันเริ่มจากการบล็อกสิ่งที่ไม่เหมาะสมชัดเจนอย่างภาพโป๊เด็ก แล้วก็นำไปสู่การวางนโนบายการบล็อกที่รุนแรงมากขึ้น และนี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าการประเมินการเซ็นเซอร์เป็นสิ่งจำเป็น วิธีการที่ Censored Planet ใช้เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพโดยการแปลงเซิร์ฟเวอร์อินเทอร์เน็ตสาธารณะให้กลายเป็นทหารยามในการติดตามและรายงานเมื่อมีการบล็อกการเข้าถึงเว็บไซต์

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  University of Michigan News

วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในโลกตอนนี้ยิ่งเร็วมากขึ้นไปอีก

Image credit: RIKEN

Fugaku ของญี่ปุ่นซึ่งเป็นซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในโลกในการจัดอันดับของ Top500 ตอนนี้มีความเร็วเพิ่มขึ้นเป็น 442 petaFLOPS จากเดิมที่มีความเร็ว 416 petaFLOPS ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา  Fugaku ยังได้คะแนนเพิ่มขึ้นจากการผสมผสานด้าน high-performance computing (HPC)-artificial intelligence (AI) ซึ่งเพิ่มขึ้นจนแตะหลัก 2.0  exaFLOPS ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นได้มาจากการเพิ่มคอร์เข้าไป 330,000 คอร์ ใน CPU ที่เป็น  Arm-based ของ Fujitsu A64FX ทำให้ตอนนี้มีคอร์ทั้งหมด 7,630,848 คอร์ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: TechRadar

วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

เซ็นเซอร์สำหรับเส้นใยอัจฉริยะที่ทนทานต่อการซักและการถูกทำลายด้วยวิธีต่าง ๆ

Image courtesy of James Weaver/Harvard SEAS

นักวิจัยจาก Harvard University John A. Paulson School of Engineering and Applied Sciences (SEAS) และ Wyss Institute for Biologically Inspired Engineering ได้พัฒนาเซ็นเซอร์ที่มีความทนทานที่จะนำไปติดตั้งกับเส้นใยอัจฉริยะ และระบบหุ่นยนต์แบบซอฟต์ (soft robotic system) โดยเซ็นเซอร์นี้ได้ผ่านการทดสอบด้วยการถูกแทงด้วยมีดผ่าตัด ทุบด้วยค้อน เอารถยนต์แล่นทับ และผ่านการซ้กด้วยเครื่องซักผ้าหลายครั้ง ซึ่งผลลัพธ์คือไม่เกิดความเสียหายใด ๆ นักวิจัยบอกว่าด้วยเซนเซอร์นี้จะทำให้เกิดแอปพลิเคชั้นใหม่ ๆ ที่จะใช้วัดกลไกทางชีวภาพและจิตใจของผู้คนได้ตลอดวัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำได้ด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ 

 อ่านข่าวเต็มได้ที่: Harvard University John A. Paulson School of Engineering and Applied Sciences

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ใช้การเรียนรู้ของเครื่องเพื่อช่วยให้เห็นผลกระทบด้านจิตใจต่อการระบาดของ COVID-19

ภาพจาก MIT News

นักวิจัยจาก  Massachusetts Institute of Technology (MIT) และ Harvard University ได้สาธิตให้เห็นว่าการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) สามารถนำมาใช้เพื่อประเมินผลกระทบด้านจิตใจต่อสถานการณ์การระบาดของโรค โดยวิเคราะห์จากคำที่ผู้คนใช้ในการโพสต์เพื่อแสดงความกังวลต่อเรื่องนี้ ขั้นตอนวิธีประมวลผลภาษาธรรมชาติ (machine learning) ได้ประมวลผลข้อความที่ถูกโพสต์ใน Reddit กว่า 800,000 ข้อความ โดยวัดความถี่ของคำที่เกี่ยวข้องกับความกังวล ความตาย การกักตัว และยาเสพติด นักวิจัยได้วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักและเนื้อหาที่โพสต์จากเดือนมกราคมถึงเมษายน 2020 และได้พบว่ามีกลุ่มที่มีแนวโน้มจะฆ่าตัวตายและเปล่าเปลี่ยว  โดยการโพสต์ในกลุ่มนี้มากขึ้นเป็นสองเท่าในช่วงของการระบาด เทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่แล้ว

อ่านข่าวเต็มได้ที่:   MIT News

วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

เครื่องมือช่วยตรวจสอบการใช้งานด้านความมั่นคงอย่างไม่ปลอดภัยของแอนดรอยด์แอป

ภาพจาก Columbia Engineering

 เครื่องมือที่ชื่อ CRYLOGGER ที่ถูกพัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จากคณะวิศวกรรมมหาวิทยาลัยโคลอมเบียสามารถวิเคราะห์การใช้การเข้ารหัสลับแบบผิด ๆ ในแอนดรอยด์แอปพลิเคชันพันกว่าตัว โดยไม่ต้องเข้าไปดูซอร์ซโค้ดของโปรแกรม ซึ่ง CRYLOGGER พบว่าแอปเหล่านี้ใช้ไลบรารีที่ไม่ตรงกับข้อกำหนดด้านมาตรฐานความมั่นคง หลายตัวใช้ขั้นตอนวิธีที่มีข้อบกพร่อง และหลายตัวใช้วิธีการเข้ารหัสที่ไม่ปลอดภัยในการปกป้องข้อมูลของผู้ใช้ นักวิจัยบอกว่าสิ่งที่พบนี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีการจู่โจมเกิดขึ้น แต่น่าจะพิจารณาว่าเป็นคำเตือนมากกว่า นักวิจัยได้ติดต่อผู้พัฒนาแอปกว่า 300 ราย เพื่อยืนยันเรื่องนี้ แต่มีเพียง 10 รายเท่านั้นที่ตอบกลับมาด้วยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ นักวิจัยเชื่อว่าวิธีที่ CRYPTOLGGGER ใช้คือการเก็บข้อมูลจากการรันโปรแกรมเพื่อไปวิเคราะห์ภายหลัง โดยไม่ต้องไปยุ่งกับซอร์ซโค้ดของโปรแกรม จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับโดนเมนด้านความมั่นคงอื่น ๆ ได้อีกด้วย

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  Columbia Engineering

วันอังคารที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

รถฮอนด้าระดับตำนานจะขับเคลื่อนด้วยตนเองบนถนนอันวุ่นวาย (ในญี่ปุ่น)

ภาพจาก ACM

ฮอนด้าได้ออกรุ่นใหม่ของรถยนต์ซีดานระดับตำนานของตัวเอง โดยให้มันทำหน้าที่แทนคนขับในถนนที่มีการจราจรยุ่งเหยิง ซึ่งเป็นไปตามการอนุมัติของรัฐบาลต่อรถขับเคลื่อนด้วยตัวเองในระดับที่ 3 ฮอนดาบอกว่าระบบนี้จะทำงานแทนคนบนถนนที่มีการจราจรหนาแน่นอย่างเช่นทางด่วน ฮอนด้าบอกอีกว่าในตอนนี้ยังไม่มีการผลิตรถในระดับสามออกมามากนัก  ซึ่งในระดับสามนี้ยังคงต้องให้คนขับเข้ามาควบคุมในสถานการ์เฉพาะบางอย่าง ซึ่งระดับสูงสุดของรถขับเคลื่อนด้วยตัวเองคือระดับ 5 คือไม่ต้องมีคนควบคุมเลย รัฐบาลญี่ปุ่นบอกว่ารถขับเคลื่อนด้วยตัวเองถูกคาดหวังว่าจะมีบทบาทที่สำคัญในการแก้ปัญหาความท้าทางในสังคมในด้านต่าง ๆ ที่ประเทศญี่ปุ่นประสบอยู่ เช่น การลดอุบัติเหตุจราจร การทำให้ผู้สูงอายุเดินทางได้อย่างปลอดภัย และเพิ่มประสิทธิภาพในภาคการขนส่ง

อ่านข่าวเต็มได้ที่: CNN


วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

เกมสงครามกับ COVID-19 อาจช่วยรักษางานของเรา

ภาพจาก ACM

uFlexReward ซึ่งเจ้าของคือ Unilever ได้พัฒนาเกมสงคราม COVID-19 ซึ่งเป็นเกมจำลองที่จะให้ผู้บริหารในอังกฤษ ได้พิจารณาผลกระทบกับแนวโน้มของรายได้ต่อการลดตำแหน่งงานลง ผู้เล่นจะต้องจำลองกลยุทธ์ที่จะลดค่าใช้จ่ายเงินเดือนลง 20% ในบริษัทจำลอง โดยสามารถเปรียบเทียบวิธีการปลดพนักงานออกเป็นจำนวนมาก เทียบกับวิธีอื่น ๆ และผลกระทบระยะยาวต่อบริษัทกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง เกมนี้จะทำให้ผู้เล่นสามารถรวมเงินเดือนพนักงาน สวัสดิการ โบนัส และรางวัลที่ได้รับร่วมกันเข้ามาเป็นค่าใช้จ่ายก้อนเดียว ซึ่งก็จะทำให้ผู้เล่นมองเห็นวิธีการต่าง ๆ ในการลดค่าใช้จ่ายได้ชัดเจนขึ้น ผลการตัดสินเกมที่แข่งขันกันระหว่างทีมผู้บริหารของ Unilever กับผู้บริหารของ Endava จะมีขึ้นในวันที่ 3 ธันวาคม 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Reuters

เพิ่มเติมเสริมข่าว 

ใครอยากเล่นเกมลองเข้าไปที่ลิงก์นี้ได้ครับ  

 

นักวิจัยแยกและถอดรหัสรูปแบบสัญญาณสมอง

ภาพจาก USC Viterbi School of Engineering 

นักวิจัยจาก   University of Southern California Viterbi School of Engineering (USC Viterbi) และ New York University พัฒนาขั้นตอนวิธีการเรียนรู้ของเครื่องเพื่อแยกและถอดรหัสพฤติกรรมที่ได้จากสัญญาณที่ส่งมาจากสมอง ขั้นตอนวิธีนี้สามารถแยกแยะรูปแบบไดนามิกของสัญญาณสมองที่สัมพันธ์กับพฤติกรรมที่นักวิจัยสนใจ ขั้นตอนวิธีนี้ยังสามารถหารูปแบบของสัญญาณประสาทที่ถูกมองข้ามไปโดยวิธีอื่น นักวิจัยบอกว่าการแยกรูปแบบสัญญาณประสาทแบบไดนามิกที่สัมพันธ์กับฟังก์ชันที่ต่างกันของสมอง ทำให้เราสามารถศึกษาฟังก์ชันของสมอง และพัฒนาส่วนติดต่อระหว่างเครื่องกับสมองที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อช่วยซ่อมแซมฟังก์ชันที่เสียไปจากการทำงานผิดปกติของระบบประสาทและจิตใจ

อ่านข่าวเต็มได้ที่: USC Viterbi School of Engineering

วันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ทีมนักวิจัยพัฒนา "จมูกอิเลกทรอนิกส์" เพื่อดมความสดของเนื้อ

ภาพจาก Nanyang Technological University (Singapore)

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาตินำโดย Nanyang Technological University สิงคโปร์ ได้พัฒนาจมูกอิเลกทรอนิกส์ที่ใช้ AI ที่เลียนแบบความสามารถของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในการประเมินความสดของเนื้อจากกลิ่นของมัน หลักการทำงานก็คือที่ตัวบรรจุภัณฑ์จะมีบาร์โค้ดที่เปลี่ยนสีตามแก๊สที่ถูกปล่อยออกมาจากเนื้อที่กำลังเน่าไปเรื่อย ๆ จากนั้นใช้แอปบนสมาร์โฟนเพื่ออ่านบาร์โค้ด การฝึกสอนจมูกอิเลกทรอนิกส์ทำโดยใช้คลังสีของบาร์โค้ด นักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองจมูกอิเลกทรอนิกส์นี้โดยใช้ตัวอย่างที่เป็น ไก่ ปลา และเนื้อ และได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ 98.5% นักวิจัยบอกว่าระบบนี้สามารถติดตั้งเข้ากับผลิตภัณฑ์ได้โดยง่าย และได้ผลลัพธ์ในเวลาอันรวดเร็ว โดยที่ไม่ต้องใช้สายเพื่อส่งสัญญาณอิเลกทรอนิกส์หมือนระบบจมูกอิเลกทรอนิกส์บางตัวที่ถูกพัฒนาขึ้นมาก่อนหน้านี้ ดูวีดีโอการทำงานได้จากข่าวเต็มครับ

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Nanyang Technological University (Singapore)

วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

การใช้รูปแบบสองรูปแบบในการปลดล็อกจะช่วยให้โทรศัพท์แอนดรอยด์มีความปลอดภัยมากขึ้น

Bust of Washington on the GWU campus (Dreamtime photo: Jon Bilous)

นักวิจัยจาก George Washington University (GWU) พบว่าการใช้รูปแบบหลายรูปแบบในการปลดล็อกโทรศัพท์แอนดรอยด์ให้ความปลอดภัยกว่าการใช้เพียงรูปแบบเดียว และในบางกรณียังมีความปลอดภัยกว่าการใช้ตัวเลข 4 หรือ 6 หลักอีกด้วย เทคนิคการปลดล็อกสองรูปแบบก็คือการให้ผู้ใช้เลือกรูปแบบการปลดล็อกมาสองรูปแบบ แล้วให้ใช้ต่อเนื่องกันในการปลดล็อกโทรศัพท์ จากการสำรวจผู้ใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่กว่า 600 ราย พบว่าการใช้รูปแบบสองรูปแบบนี้จะช่วยเพิ่มระดับความปลอดภัยขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ นักวิจัยบอกว่าการใช้วิธีนี้ช่วยเพิ่มความปลอดภัยขึ้นมาก โดยไม่มีผลกระทบกับการใช้งานด้วย

อ่านข่าวเต็มได้ที่: George Washington University

วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

หุ่นยนต์ช่วยตอบคำถามว่าทำไมปลาต้องว่ายน้ำเป็นฝูง


ภาพจาก: University of Konstanz

นักวิจัยที่  Max Planck Institute of Animal Behavior (MPI-AB) ของเยอรมัน และ University of Konstanz ร่วมมือกับนักวิจัยจาก Peking University ของจีน ในการใช้หุ่นยนต์ที่เหมือนปลาสาธิตการประยัดพลังงานการว่ายน้ำของฝูงปลา โดยที่ไม่ต้องเฝ้าดูพวกมันจากที่ไกล ๆ หุ่นยนต์ปลานี้ช่วยให้นักวิจัยวัดพลังงานที่ต้องใช้ไปในการว่ายน้ำของปลาที่ว่ายไปด้วยกัน และว่ายไปตามลำพัง นักวิจัยบอกว่าจากการทดลองกว่า 10,000 ครั้ง พบว่าปลาตัวที่ว่ายนำฝูงจะทำให้เกิดผลกระทบกับการเคลื่อนที่ของน้ำของปลาตัวที่ว่ายตามมา เพื่อประหยัดพลังงานปลาตัวที่ตามจะโบกหางโดยใช้จังหวะเดียวกับตัวนำ นักวิจัยบอกว่าก่อนหน้าที่จะจำลองฝูงปลาโดยใช้หุ่นยนต์ ก็เคยมีการสังเกตว่าปลามีพฤติกรรมที่ตัวตามจะว่ายโดยใช้จังหวะเดียวกับตัวนำ แต่ก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไม จนกระทั่งได้เข้าใจจากการใช้หุ่นยนต์นี้

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Konstanz

วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ตัวแบบ AI เพื่อตรวจหาคนที่ติด COVID-19 แต่ไม่แสดงอาการจากเสียงไอ

ภาพจาก MIT

นักวิจัยจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) ได้พัฒนาตัวแบบปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หรือ เอไอ (AI) ที่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างเสียงไอของคนที่ติด COVID-19 แต่ไม่มีอาการกับคนที่ปกติ โดยเสียงไอนั้นจะถูกอัดจากเว็บเบราเซอร์ โทรศัพท์มือถือ และเครื่องโน้ตบุ๊ก ทีมนักวิจัยฝึกสอนตัวแบบจากตัวอย่างเสียงไอ และเสียงพูดปกติ โดยมันสามารถระบุเสียงไอจากผู้ที่มีไวรัสได้ด้วยความแม่นยำถึง 98.5% (100% จากคนที่ไม่มีอาการ) นักวิจัยกำลังจะนำตัวแบบนี้เข้าไปในแอปพลิเคชันที่ทำให้ผู้ใช้ใช้ง่าย โดยตั้งใจจะให้เป็นแอปที่ฟรี ใช้งานง่าย และไม่รุกล้ำความเป็นส่วนตัว เพื่อระบุตัวคนที่ติด COVID-19 แต่ไม่แสดงอาการ ผู้ใช้สามารถล็อกอินเข้าระบบทุกวัน ไอผ่านมือถือ และได้ผลลัพธ์อย่างทันทีว่าตัวเองติดเชื้อหรือไม่ และไปทดสอบอย่างเป็นทางการอีกทีหนึ่ง

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  MIT News

วันอังคารที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

นักวิจัยพัฒนาเทคนิคในการเขียนประโยคเพื่อหลอกตัวแยกประเภทข้อความ

 

Image Credit: raindrop74 / Shutterstock

นักวิจัยจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) สร้างเฟรมเวอร์กเพื่อเขียนประโยคขึ้นมาใหม่โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำให้ตัวแยกประเภทข้อความทำงานผิดพลาด โดยการจู่โจมนี้จะมีผลต่ออุตสาหกรรมอย่างเช่นการให้กู้ยืมเงิน ซึ่งใช้ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หรือ AI ในการประมวลผลเอกสาร โดยการจู่โจมนี้ใช้การสร้างประโยคซึ่งทำให้การจู่โจมได้ผลกว่าการใช้คำ โดยให้นักวิจัยได้ใช้โปรแกรมแต่งประโยคขึ้นมาใหม่ โดยให้มีความหมายเหมือนับประโยคเดิม อย่างเช่น ประโยคเดิมคือ "Turkey is put on track for EU membership,” โปรแกรมแยกข้อความจะจัดกลุ่มของประโยคต้นฉบับอยู่ในกลุ่ม "World"  ถ้าเปลี่ยนเป็น “EU puts Turkey on track for full membership” ประโยคนี้จะถูกจัดกลุ่มอยู่ในกลุ่ม "Business" นักวิจัยบอกว่าถึงแม้วิธีการนี้จะถูกนำไปใช้แบบผิด ๆ เพื่อการโจมตี แต่มันก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในการฝึกให้โมเดลที่มีอยู่ต่อสู้กับการโจมตีในลักษณะนี้ได้ดีขึ้น

อ่านข่าวเต็มได้ที่: VentureBeat

วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

เทคโนโลยีโดรนเพื่อปรับปรุงความสามารถในการทำนายการประทุของภูเขาไฟ

ภาพจาก UCL News

ทีมวิจัยนานาชาตินำโดย University College London ประเทศอังกฤษ ได้ปรับปรุงโดรนระยะไกลที่รวบรวมข้อมูลจากภูเขาไฟที่ยังไม่ดับ เพื่อทำนายการปะทุได้ดีขึ้น โครงการนี้มีชื่อว่า ABOVE ใช้ข้อมูลจากโดรนที่เก็บข้อมูลจากภูเขาไฟ Manam ของประเทศ Papua New Guinea เพื่อสาธิตให้เห็นถึงความสามารถในการได้มาซึ่งข้อมูลเชิงลึกที่ใช้ในการคาดการณ์ โดยการนำข้อมูลจากอากาศ จากพื้นโลก และข้อมูลจากดาวเทียมมาใช้ร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเทคนิคที่ใช้วัดการปล่อยแก๊ซจากภูเขาไฟโดยใช้โดรน ร่วมกับการใช้ข้อมูลจาการวัดจากแหล่งอื่น ๆ เช่นจากดาวเทียม และเซ็นเซอร์บนพื้นโลก นักวิจัยบอกว่าเมื่อสิบปีก่อนเราทำได้แค่จ้องและเดาว่าภูเขาไป Manam ปล่อย CO2 ออกมาเท่าใด

อ่านข่าวเต็มได้ที่: UCL News

วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

AI ทำนายไข้หวัดใหญ่ได้แม่นยำขึ้น

ภาพจาก Stevens Institute of Technology

เครื่องมือทำนายไข้หวัดใหญ่ที่ใช้พลังของปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หรือ เอไอ (AI) ที่พัฒนาโดยนักวิจัยจาก Stevens Institute of Technology ได้ใช้ข้อมูลตำแหน่ง ที่ทำให้เพิ่มความแม่นยำของการทำนายได้สูงขึ้นกว่าเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบันถึง 11% โดยสามารถทำนายการแพร่ระบาดได้ล่วงหน้าถึง 15 สัปดาห์ ทีมนักวิจัยฝึกสอน AI ด้วยข้อมูลในปัจจุบันและข้อมูลในภูมิภาคจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น จากนั้นทดสอบการทำนายกับข้อมูลที่เกิดขึ้นจริงในอดีต นักวิจัยบอกว่าขั้นตอนวิธีนี้จะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถ้ามีการจัดเก็บข้อมูลใหม่เข้าไป ทำให้สามารถทำนายได้แม่นยำมากขึ้นในช่วงเวลาที่ยาวนานขึ้น

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Stevens Institute of Technology

วันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

โค้ชฟิตเนสคนใหม่อาจไม่มีร่างกายอีกต่อไป

ภาพจาก: News@Northeastern

นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จาก  Northeastern University ได้พัฒนาโค้ชฟิตเนสแบบดิจิทัลที่ชื่อว่า Carmen ซึ่งจะอยู่ในจอภาพ และสามารถพูดภาษาอังกฤษและภาษาสเปนได้ โดยจะถามผู้ใช้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน ปัญหาที่มี และเป้าหมายที่ต้องการ นักวิจัยได้ศึกษาผู้เข้าร่วมการทดลองที่เป็นชาวลาติน 245 คน อายุระหว่าง 50-87 ปี โดยแบ่งให้ครึ่งหนึ่งฝึกกับ Carmen อีกครึ่งหนึ่งฝึกกับโค้ชที่เป็นคน ผลการศึกษาพบว่าคนที่ฝึกกับ Carmen ใช้เวลาในการเดินเพิ่มขึ้น 154 นาที ต่อสัปดาห์ขณะที่กลุ่มที่ฝึกกับคนเพิ่มขึ้น 132 นาที นักวิจัยบอกว่าคนสูงอายุจะมีความรู้ในด้านการใช้งานคอมพิวเตอร์ค่อนข้างน้อย แต่ถ้าเรานำเสนอสิ่งที่เป็นเหมือนการพูดคุยกันตามปกติ จะทำให้พวกเขาใช้งานได้ง่ายขึ้น

อ่านข่าวเต็มได้ที่: News@Northeastern

วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

สาวเผาจุดสำคัญของแฟนหนุ่มเนื่องจากมันไม่สู้

ผู้หญิงชาวฮ่องกงคนถูกพิพากษาให้จำคุก 3 ปี 5 เดือน ในข้อหาทำร้ายร่างกายแฟนหนุ่มของตัวเอง ตามข่าวบอกว่าสาวคนนี้อายุ 39ปี ใช้ไดร์เป่าผมเผาจุดสำคัญของแฟนตัวเองหลังจากที่เขาทำให้มันแข็งตัวไม่ได้ ตามข่าวบอกว่าผู้ญิงคนนี้ใช้ไดร์เป่าผมเผาจุดนั้นจนเป็นแผลพุพองไปหมด ยิ้งไปกว่านั้นเธอยังกระแทกหัวเขากับกำแพง และเอาน้ำร้อนลวกต้นขาด้วย ตามคำกล่าวของหมดที่รักษาผู้ชายบอกว่า ทั้งคู่มาพบเขาและบอกว่ามันเป็นอุบัติเหตุ ตัวผู้หญิงยังถามด้วยว่าแฟนของเธอจะมีเซ็กส์ได้อีกเมื่อไหร่ 

ในการให้การกับศาลผู้หญิงคนนี้บอกว่าเธอต้องพบจิตแพทย์หลังจากได้อ่านข่าวของตัวเอง และเมื่อปลายปีที่แล้วเธอถึงกับคิดจะฆ่าตัวตาย ส่วนในคำตัดสินของศาลบอกว่าถึงแม้ผู้ต้องหาจะมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตาย แต่ก็ไม่มีรายงานความผิดปกติทางจิตอื่น ๆ อย่างไรก็ตามเธอกำลังเข้ารับการปรึกษาเพื่อกำจัดความเครียด 

ตามข่าวบอกว่าแฟนของเธอได้ขอเธอแต่งงานในปี 2018 แต่พ่อของเธอไม่อนุญาตให้สองคนคบกัน อย่างไรก็ตามข่าวบอกว่าเธอให้สัมภาษณ์ว่าเธอไม่มีความสุขในเรื่องเพศ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะแฟนของเธอไม่ค่อยแข็งตัว โดยจะแข็งตัวได้เพียงไม่กี่วินาที แต่เธอก็ยังบอกว่าเธอรักเขามาก 

ใครอยากเห็นหน้าตาของเธอดูได้จากข่าวเลยครับ 

อ่านแล้วก็ยังสงสัยนะครับ ว่าจริง ๆ มันยังไงกัน ทำไมผู้ชายยอมให้เผาอยู่ได้โดยไม่ทำอะไร และยังถูกจับเอาหัวกระแทกกำแพงอีก ดูจากรูปผู้หญิงก็ไม่ได้ตัวใหญ่อะไร และผู้ชายก็ไม่ได้ตัวเล็ก 

ใช้การเรียนรู้ของเครื่องเพื่อแปลภาษาที่สาบสูญ

ภาพจาก MIT News

นักวิจัยจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) ได้พัฒนาระบบการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) เพื่อแปลภาษาที่สาบสูญได้โดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องรู้ความสัมพันธ์ของภาษานี้กับภาษาอื่น ระบบนี้ทำงานโดยใช้ความรู้เชิงลึกของภาษาโบราณ รวมถึงความจริงที่ว่าภาษาจะมีพัฒนาการในรูปแบบที่ทำนายได้ นักวิจัยได้พัฒนาขั้นตอนวิธีการถอดรหัสที่สามารถแบ่งคำในภาษาโบราณและจับคู่คำเหล่านั้นกับคำในภาษาที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนวิธีอนุมานความสัมพันธ์ระหว่างภาษา และสามารถประเมินความใกล้เคียงกันของภาษาได้

อ่านข่าวเต็มได้ที่: MIT News

วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ใช้การสั่นสะเทือนของพื้นเพื่อตรวจสอบจำนวนคนในตึก

ภาพจาก EPFL

นักวิจัยจาก Swiss Federal Institute of Technology (EPFL) ใช้เซ็นเซอร์ที่ติดตั้งที่พื้นของอาคารเพื่อนับจำนวนคนที่อยู่ในตึก และติดตามความเคลื่อนไหว นักวิจัยบอกว่าวิธีนี้จะให้ความเป็นส่วนตัวมากกว่าการใช้กล้องวงจรปิด หรือโทรศัพท์มือถือของผู้ที่เข้ามาในตึก ระบบนี้ใช้เซ็นเซอร์เพื่อวัดแรงสั่นสะเทือนจากการเดินเพื่อคำนวณว่ามีคนกี่คนในตึก ตำแหน่งและทิศทางการเคลื่อนที่ นักวิจัยบอกว่าระบบนี้ต้องการเซ็นเซอร์หนึ่งตัวต่อพิ้นที่ 15 ถึง 75 ตารางเมตร และพื้นก็ไม่ต้องมีความแข็งเท่ากัน

อ่านข่าวเต็มได้ที่: EPFL (Switzerland)


วันพุธที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

AI เผยให้เห็นต้นไม้เป็นล้านต้นในทะเลทรายซาฮารา

Photo: Martin Brandt

นักวิจัยจาก  University of Copenhagen ประเทศเดนมาร์ค และองค์กรความร่วมมือจากนานาชาติใช้ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หรือ เอไอ (AI) และภาพถ่ายดาวเทียมแบบที่มีรายละเอียดเพื่อนับต้นไม้และพุ่มไม้กว่า 1.8  พันล้านต้น ในเนื้อที่ 1.3 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตะวันตกของทะเลทรายซาฮารา โดยภาพถ่ายดาวเทียมนั้นใช้ภาพถ่ายจากนาซา (NASA) และนี่คือครั้งแรกที่มีการนับจำนวนต้นไม้ในพื้นที่แห้งแล้งที่มีขนาดใหญ่ นักวิจัยบอกว่างานวิจัยนี้มีความสำคัญเนื่องจาก ตัวแบบคำนวณสภาพอากาศในปัจจุบันยังไม่มีการนำต้นไม้ที่อยู่นอกบริเวณป่าไปคำนวณด้วย

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Copenhagen

วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

FBI เตือนการคุกคามของโปรแกรมเรียกค่าไถ่ที่จะมีต่อระบบดูแลสุขภาพ

ภาพจาก AP


FBI,   Department of Homeland Security, และ Department of Health and Human Services ของสหรัฐ ออกมาเตือนถึงการคุกคามที่จะมีมากขึ้นทางด้านอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ต่อโรงพยายบาลและหน่วยงานด้านสาธารณสุขในสหรัฐ เพื่อที่จะขโมยข้อมูลและขัดขวางการให้บริการ คำเตือนนี้เกิดขึ้นท่ามกลางการระบาดของ COVID-19 ทั่วประเทศ โดยในสัปดาห์นี้มีการจู่โจมของซอฟต์แวร์เรียกค่าไถ่ (ransomware) ต่อโรงพยาบาลอย่างน้อย 5 แห่งในสหรัฐ โดยการจู่โจมมาจากกลุ่มอาชญากรในยุโรปโดยใช้ Ryuk ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์เรียกค่าไถ่สายพันธ์หนึ่ง ซึ่งไมโครซอฟท์กำลังหาทางจัดการอยู่ ผู้เชี่ยวชาญด้านความั่นคงบอกว่าอาชญากรทางไซเบอร์เหล่านี้มีจุดประสงค์ที่จะใช้ซอฟต์แวร์เรียกค่าไถ่ เพื่อเรียกค่าไถ่จากโรงพยาบาลแต่ละแห่งไม่ต่ำกว่า 10 ล้านเหรียญ และบอกว่ามีการวางแผนบนเว็บมืด (dark web) ที่จะจู่โจมโรงพยาบาล คลีนิค และสถานพยาบาลไม่ต่ำกว่า 400 แห่ง

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Associated Press

วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

นักวิทยาศาสตร์ใช้เครื่องพิมพ์สามมิติพิมพ์เรือที่เล็กที่สุดในโลก

ภาพจาก: CNN

นักวิจัยจาก Leiden University ในเนเธอร์แลนด์ สร้างเรือที่เล็กที่สุดในโลกจากกล้องจุลทรรศน์อิเลกตรอน และเครื่องพิมพ์สามมิติความละเอียดสูง เรือซึ่งมีความยาว 30 ไมโครเมตร ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นอุปกรณ์ที่สามารถเดินทางไปในร่างกายของคนเพื่อใช้การรักษาโรค นอกจากเรือแล้วนักวิจัยยังได้สร้างวัตถุในรูปแบบอื่น ๆ ด้วยเช่นวัตถุขนาด 4 ไมโครเมตร นักวิจัยบอกว่าเขาต้องการจะรู้ว่าการออกแบบในรูปแบบใดจะดีที่สุดที่จะเป็นตัวที่ใช้ในการลำเลียงยา

อ่านข่าวเต็มได้ที่: CNN

วันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

นักวิทยาศาสตร์สร้างลิ้นสังเคราะห์โดยใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ

ภาพจาก: Daily Mail (U.K.)

นักวิจัยจาก University of Leeds ในอังกฤษ รายงานการพัฒนาสิ่งที่เรียกว่าลิ้นแบบไบโอมิเมติก (biomimetic tongue) อันแรกที่พิมพ์จากเครื่องพิมพ์สามมิติ นักวิจัยใช้การสแกนแบบดิจิทัลกับลิ้นของคนแล้วส่งเข้าเครื่องพิมพ์สามมิติ ซึ่งจะพิมพ์ลิ้นออกมาบนวัสดุที่เป็นซิลิโคนสังเคราะห์เพื่อเลียนแบบความยืดหยุ่นของลิ้นคน ความเปียกของลิ้น และลักษณะของเนื้อ นักวิจัยบอกว่าจุดประสงค์ของการพัฒนาลิ้นสังเคราะห์นี้คือการสร้างลิ้นของมนุษย์ที่สามารถนำไปใช้งานในห้องทดลองได้โดยง่ายเพื่องานอย่างเช่นการตรวจอาหารปลอม ยา และช่วยในการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านโภชนาการใหม่ ๆ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Daily Mail (U.K.)