วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ผู้บุกเบิกคอมพิวเตอร์ Arnold Spielberg พ่อของ Steven Spielberg ตายเมื่ออายุ 103 ปี

Steven Spielberg (ซ้าย) Arnold Spielberg (ขวา) ภาพจาก AP โดย Chris Pizzello

วิศวกรคอมพิวเตอร์ Arnold Spielberg ผู้ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกทางไปสู่คอมพิวเตอร์พีซี และเป็นพ่อแท้ ๆ ของนักสร้างภาพยนต์ชื่อดัง Steven Spielberg เสียชีวิตด้วยวัย 103 ปี ผลงานในการบุกเบิกของเขาคือเขาได้ร่วมมือกับ Charles Propster สร้างเครื่องเมนเฟรมคอมพิวเตอร์ GE-225 ในช่วงปลายทศวรรษ 1950 ซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่ Dartmouth College ได้พัฒนาภาษาเขียนโปรแกรมคือภาษา Basic ขึ้นมา และภาษา Basic นี้เองเป็นภาษาหลักที่ทำให้เกิดการพัฒนาเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีในช่วง ทศวรรษ 1970 และ 1980  Steven Spielberg บอกว่า เมื่อเขามองไปที่เครื่อง PlayStation และมือถือที่มีขนาดตั้งแต่เท่ากับเครื่องคิดเลข ไปจนถึง iPad เขาจะพูดว่าพ่อของเขาและทีมที่เต็มไปด้วยอัจฉริยะ เป็นผู้เริ่มต้นที่ทำให้พวกมันเกิดขึ้นมา

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Associated Press

เพิ่มเติมเสริมข่าว: 

ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าพ่อ Steven Spielberg เป็นผู้บุกเบิกวงการคอมพิวเตอร์คนนึง 


วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2563

เทคนิคใหม่เพื่อป้องกันอุปกรณ์ถ่ายภาพทางการแพทย์จากการจู่โจมทางไซเบอร์

Photo by National Cancer Institute on Unsplash

นักวิจัยจากBen-Gurion University of the Negev (BGU) ในอิสราเอลได้พัฒนาวิธีการใหม่ที่ใช้ AI ในการป้องกันอุปกรณ์ที่ใช้ถ่ายภาพทางการแพทย์จากการจู่โจมทางไซเบอร์ และจากความผิดพลาดของคนที่ป้อนคำสั่งที่ผิดผ่านทางคอมพิวเตอร์ โดยนักวิจัยได้สร้างการตรวจสอบเป็นสองระดับ ยกตัวอย่างเช่นคำสั่งที่สั่งเครื่องให้ทำงาน โดยให้ทำงานกับผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ ก็จะเป็นอันตรายถ้าคนไข้จริง ๆ เป็นเด็กทารก ซึ่งถ้าตรวจสอบเพียงชั้นเดียวอาจตรวจสอบไม่พบความผิดนี้ แต่เมื่อเพิ่มการตรวจสอบในชั้นที่สองเข้าไปก็จะตรวจพบได้ การตรวจสอบในชั้นแรกนั้นเป็นการตรวสอบโดยไม่ดูบริบท (context-free) ส่วนการตรวจสอบในชั้นที่สองนั้นเป็นแบบขึ้นกับบริบท (context-sensitive)  นักวิจัยได้ทดสอบการทำงานของระบบกับเครื่อง computed tomography (CT) โดยใช้คำสั่ง 8,227 คำสั่ง ผลการทดลองพบว่าการใช้ชั้นที่สองร่วมกับชั้นที่ 1 จะตรวจจับความผิดพลาดได้เพิ่มขึ้นจาก 71.6% เป็น 82 ถึง 99% ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ทางคลีนิคและทำงานกับส่วนไหนของร่างกาย ยิ่งไปกว่านั้นการใช้การตรวจสอบในชั้นที่สองนี้สามารถครวจจับความผิดพลาดที่ตรวจไม่เจอในการใช้ชั้นที่หนึ่งอย่างเดียวด้วย

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  Ben-Gurion University of the Negev (Israel)


วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ช้างกับรถไฟ AI ช่วยไม่ให้มันชนกัน

ทีมนักวิจัยประสบความสำเร็จในการทดสอบระบบใน West Bengal 
[ภาพจาก Apal Singh] 

นักวิจัยจาก Polytechnic University of Catalonia (UPC)-BarcelonaTech ในสเปนได้พัฒนา"หูอัจฉริยะ"เพื่อช่วยกันการชนกันจนตายระหว่างช้างกับรถไฟในอินเดีย โดยรถไฟที่วิ่งอยู่บนรางรถไฟสาย  Siliguri-Jalapaiguri ได้ชนช้างตายไปแล้วกว่า 200 เชือกในทศวรรษที่ผ่านมา นักวิจัยได้ติดตั้งกล้องและเครื่องบันทึกเสียงบนรางรถไฟใน West Bengal จากนั้นวิเคราะห์เสียงและภาพที่ถูกบันทึกไว้ด้วยการเรียนรู้ของเครื่อง เพื่อแยกระหว่างเสียงกับภาพของช้างออกจากสิ่งอื่น ๆ "หูอัจฉริยะนี้" สามารถระบุเสียงของช้างได้ในระยะห่าง 1 กม. และสามารถระบุภาพของช้างได้ในระยะ 250 เมตร เมื่อระบบตรวจจับเจอช้างก็จะส่งสัญญาณเตือนไปที่โทรศัพท์ของคนขับรถไฟ
อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet

วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2563

หน้ากากผ้าใช้ป้องกันไวรัสได้ ยืนยันโดยซุปเปอร์คอมพิวเตอร์

Fugaku ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในโลก ภาพโดย Shoya Okinaga

Riken Institute ของญี่ปุ่นบอกว่าซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ชื่อ Fugaku ซึ่งเพิ่งได้รับรางวัล ซูปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในโลก ได้พัฒนาตัวแบบที่แสดงให้เห็นว่าหน้ากากผ้าที่ทำจากใยสังเคราะห์สามารถกันการแพร่ของไวรัสไปกับละอองที่เกิดจากระบบทางเดินหายใจได้ดีกว่าผ้าฝ้ายหรือโพลีเอสเตอร์ โดยจากการจำลองแสดงให้เห็นว่าหน้ากากจากผ้าใยสังเคราะห์สามารถกันละอองจาการจามได้เกือบทั้งหมด แต่อีกสองประเภทกันได้อย่างน้อย 80% ซึ่งก็ถือว่าทั้งสามประเภทนี้ทำได้ดีในการชะลอการระบาดของโคโรนาไวรัส ทีมทดลองยังได้จำลองการระบาดของไวรัสในหอประชุมที่มีที่นั่งประมาณ 2000 ที่นั่ง และพบว่ามีอันตรายน้อยมากจากการระบาด ถ้าผู้อยู่ในหอประชุมใส่หน้ากาก และนั่งห่าง ๆ กัน 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Nikkei Asian Review


วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2563

นักวิจัยด้านความมั่นคงสามารถทำลูกกุญแจสำรองได้จากการฟังเสียงเสียบลูกกุญแจ

(LFO62/iStock/Getty Images

นักวิจัยจาก  National University of Singapore บอกว่าการฟังเสียงการเสียบลูกกุญแจเข้ากับรูกุญแจ ก็สามารถสร้างลูกกุญแจสำรองได้ ถึงแม้วิธีนี้จะยุ่งยากกว่าวิธีการการคัดลอกลูกกุญแจแบบดั้งเดิม แต่มันก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจถ้ารู้ว่ามันมีช่องโหว่ทางความมั่นคงในลักษณะนี้ ระบบนี้เรียกว่า Spikey โดยมันจะสร้างกุญแจขึ้นมาชุดหนึ่งหลังจากฟังเสียงการเสียบกุญแจแล้ว โดยปกติจะประมาณ 3 ดอก และมักจะมีดอกหนึ่งที่ใช้ได้ แต่ในบางกรณีที่น้อยมาก จะสร้างกุญแจขึ้นมาถึง 15 ดอก แต่ถึงแม้วิธีนี้จะฟังดูน่าประทับใจ แต่มันก็มีข้อจำกัดคือ การเสียบกุญแจเข้ารูกุญแจจะต้องทำด้วยความเร็วคงที่ และจะต้องเอาไมโครโฟนของมือถือไปอยู่ใกล้ ๆ กับกุญแจ ซึ่งย่อมจะดึงดูดความสนใจของเจ้าของห้องแน่ ดังนั้นการอัดเสียงอาจต้องใช้ไมโครโฟนที่ซ่อนไว้ หรือต้องแฮกโทรศัพท์มือถือหรือเครื่องมืออัดเสียงของเจ้าของห้องเพื่อใช้เป็นการอัดเสียงแทน 

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  ScienceAlert

วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2563

นักวิทยาศาสตร์พิมพ์ตึกสร้างจากดินโดยใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ

ตึกในดูไบที่พิมพ์จากเครื่องพิมพ์สามมิติ โดยเทคโนโลยีนี้ใช้สร้างสถาปัตยกรรมส่วนหน้าอาคาร (facade) ทั้งหมด[ภาพโดย: Satish Kumar/Reuters]

นักวิจัยจาก Texas A&M University ได้พัฒนาเทคนิคในการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพื่อพิมพ์ตึก โดยวัสดุที่ใช้ในการพิมพ์คือดิน ซึ่งนักวิจัยคาดหวังว่าวิธีนี้จะสร้างตึกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้วัสดุจากธรรมชาติแทนการใช้คอนกรีต ทีมนักวิจัยมีจุดมุ่งหมายที่จะพิมพ์โครงสร้างออกมาโดยใช้ดินที่เอามาจากสวนทั่ว ๆ ไป นักวิจัยบอกว่าขณะนี้มีความก้าวหน้าอย่างมากในการปรับปรุงความสามารถในการรับน้ำหนักให้กับดิน เพราะนี่คือส่วนสำคัญที่จะทำให้สามารถใช้แทนคอนกรีตได้ นักวิจัยบอกว่าปัญหาของการใช้คอนกรีตคือ มันนำมารีไซเคิลไม่ได้ และยังต้องใช้พลังงานมากมายในการผสม และเคลื่อนย้าย

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Guardian

 



วันอังคารที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2563

กองทัพอาจสอนหุ่นยนต์ให้ทำงานชนะคนได้


[ภาพจาก U.S. Army Research Laboratory

นักวิจัยจาก U.S. Army Combat Capabilities Development Command's Army Research Laboratory (ARL) และ University of Texas at Austin ได้พัฒนาขั้นตอนวิธีที่จะช่วยให้รถขับเคลื่อนด้วยตัวเองปรับปรุงระบบนำทางของตัวเอง โดยสังเกตจากการขับรถของคนจริง ๆ ขั้นตอนวิธีนี้นี้มีชื่อว่า APPLD (adaptive planner parameter learning from demonstration) ที่จะทำให้ระบบทำเหมือนกับที่คนสาธิตให้ดู ในขณะเดียวกันก็ยังคงความสามารถในการนำทางแบบเดิมไว้ ตัวอย่างการสาธิตก็ให้คนขับรถจำลองโดยใช้ตัวควบคุมไร้สายของ Xbox โดยระบบจะสังเกตว่าเมื่อคนขับ ขับรถผ่านในที่ที่เป็นทางแคบ เขาก็จะขับช้าลง และระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งหุ่นยนต์ก็จะเรียนรู้ที่จะลดความเร็วสูงสุดลงมา และเพิ่มการคำนวณต่าง ๆ ให้มากขึ้นในสภาพแวดล้อมที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งการทำแบบนี้หุ่นยนต์สามารถเดินทางผ่านเส้นทางแคบที่มันไม่สามารถผ่านไปได้ก่อนหน้า นักวิจัยคาดหวังว่า ขั้นตอนวิธีนี้จะช่วยฝึกสอนรถที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองในสมรภูมิ ให้ทำงานได้ในสภาพแวดล้อมที่ธุรกันดาร

อ่านข่าวเต็มได้ที่: U.S. Army Research Laboratory


วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ผู้ช่วยเสมือนช่วยคัดกรองสายเรียกเข้าจากระบบอัตโนมัติ

 

You won’t be hearing from them anymore

Juj Winn/Getty Images

นักวิจัยจาก Georgia Institute of Technology พัฒนาผู้ช่วยเสมือนเพื่อคัดกรองสายเรียกเข้าเพื่อบล็อกสายจากระบบอัตโนมัติที่โทรเข้ามา เบอร์โทรที่ไม่อยู่ในรายชื่อผู้ติดต่อจะถูกส่งต่อไปยังผู้ช่วยเสมือน ซึ่งจะบอกให้สายที่โทรเข้าระบุชื่อผู้รับ ถ้าสายที่โทรเข้ามาตอบมา ผู้ช่วยเสมือนจะขัดจังหวะ และพูดว่า  "ขอโทษด้วย ไม่ได้ยิน คุณช่วยบอกชื่อคนที่คุณจะโทรหาอีกครั้งได้ไหม" ถ้าคนโทรมาเป็นคนจริง ก็จะหยุดการสนทนา ผู้ช่วยจะส่งต่อการโทรไปยังผู้รับ และบันทึกข้อมูลลงในแอปพลิเคชัน ระบบนี้บล็อกการโทรเข้าจากสายโทรเข้าอัตโนมัติ 8000 รายการได้ 100% และบล็อกสายที่เป็นคนโทรเข้ามาได้ 97.8% จาก 21 สาย ซึ่งพูดกับผู้ช่วยแต่ระบุชื่อคนรับผิด  

อ่านข่าวเต็มได้ที่: New Scientist

วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2563

AI ของ Facebook ช่วยให้ได้ภาพจาก MRI เร็วขึ้น 4 เท่า

รูปซ้ายภาพจาก MRI ที่ใช้ข้อมูล 1 ใน 4 ของรูปเต็ม รูปขวาภาพที่สร้างจาก AI โดยใช้ภาพซ้าย
ภาพจาก The Daily Mail

Facebook และผู้เชี่ยวชาญจาก New York University ได้พัฒนาตัวแบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) แบบเปิดเผยรหัสเพื่อช่วยสร้างภาพที่ขาดหายไปจากการสแกนด้วย MRI ประโยชน์ของการทำแบบนี้ก็คือการสแกนด้วย MRI เพื่อให้ได้ภาพที่สมบูรณ์จะใช้เวลานานมาก แต่ด้วยวิธีนี้สามารถสแกนภาพให้มีรายละเอียดน้อยลงและใช้ AI ช่วยสร้างภาพที่สมบูรณ์ขึ้นมา จากการฝึกสอนด้วยภาพจากการสแกนแบบเต็มรูปแบบเป็นพันภาพ และทดสอบกับนักฉายภาพรังสีหกคน ผลการทดสอบพบว่าวิธีนี้เที่ยงตรง และช่วยให้ได้ภาพที่มีความคุณภาพสูงแต่ใช้เวลาเร็วขึ้นสี่เท่า นักวิจัยบอกว่าตัวแบบนี้สามารถทำให้ MRI เร็วเท่าหรือเร็วกว่าการเอกซ์เรย์ โดยมีข้อมูลให้วิเคราะห์มากกว่า และไม่ต้องใช้รังสีด้วย  

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Daily Mail

วันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2563

จะดีแค่ไหนถ้าเราควบคุมการเข้าถึงข้อมูลของเราจากแอปมือถือได้ดีขึ้น

Source: Jan Vašek from Pixabay

ในแต่ละปีนักพัฒนาแอปมือถือได้เงินเป็นพันล้านเหรียญจากการขายข้อมูลที่เก็บมาจากมือถือของลูกค้า และพวกเขาไม่ได้ให้ทางเลือกที่ง่ายนักกับผู้ใช้ในการป้องกันเรื่องดังกล่าว แม้ว่า iOS  และ Android จะเพิ่มการรวบรวมข้อมูลด้านความเป็นส่วนตัว ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ว จะช่วยให้ผู้ใช้ควบคุมข้อมูลได้มากขึ้น แต่จากการศึกษาพบว่าผู้ใช้ยังต้องวุ่นวายกับข้อมูลมากมาย และไม่ได้ใช้ประโยชน์จากคุณสมบัตินี้ จริง ๆ แล้วการควบคุมความเป็นส่วนตัวแบบนี้ขาดการแยกจุดประสงค์ที่ต่างกันของการเก็บข้อมูล นักวิจัยจาก Cylab ของ Carnegie Mellon University ได้พัฒนาผู้ช่วยความเป็นส่วนตัวทางดิจิทัล ที่ใช้การเรียนรู้ของเครื่องช่วยให้ผู้ใช้ที่ใช้แอปมือถือควบคุมข้อมูลของตัวเองได้ดีขึ้น โดยไม่ต้องไปปวดหัวกับการตอบข้อมูลด้านความส่วนตัวมากเกินไป นักวิจัยบอกว่าในปัจจุบันผู้ใช้โดยเฉลี่ยจะมีแอปติดตั้งอยู่บนมือถือ 70 ตัว และแต่ละตัวผู้ใช้ต้องตอบคำถามด้านความเป็นส่วนตัวประมาณ  3 คำถาม ต่อแอป นั่นหมายความว่าผู้ใช้ต้องตอบคำถามกว่า 200 คำถาม ผู้ช่วยความเป็นส่วนตัวที่พัฒนาขึ้นนี้จะถามด้านความเป็นส่วนตัวจากผู้ใช้ประมาณ 5-6 คำถาม นำมาสร้างเป็นโพรไฟล์ของความเป็นส่วนตัว เพื่อใช้เป็นตัวอนุมานตัวเลือกด้านความเป็นส่วนตัว แต่ถ้าตัวผู้ช่วยไม่สามารถตัดสินใจได้ในบางกรณี ซึ่งนักวิจัยบอกว่าจะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ประมาณ 10% ของการใช้งาน ก็จะถามผู้ใช้เพิ่มเติมอีกเพียงหนึ่งหรือสองคำถาม

 อ่านข่าวเต็มได้ที่: Carnegie Mellon University

วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2563

การจะปฏิรูปองค์กรใด ๆ จำเป็นที่จะต้องด้อยค่าองค์กรด้วยหรือ

วันศุกร์นี้ขอพูดเรื่องหนัก ๆ สักวันแล้วกันนะครับ ต้องบอกก่อนว่าในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ สิ่งที่ผมเห็นและก็รู้สึกดีส่วนหนึ่งก็คือการที่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ออกมาแสดงพลังให้เห็นว่ามีความอึดอัดคับข้องกับการบริหารงานของรัฐบาลและผู้หลักผู้ใหญ่บางคนที่กดพวกเขาไว้ ด้วยกฎระเบียบที่ล้าสมัย  และความไม่ยุติธรรมหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นที่เขามองเห็นจากมุมมองของเขา และการชุมนุมประท้วงก็ไม่ได้ยืดเยื้อ ปิดบ้านปิดเมือง แค่ต้องการแสดงพลังให้รัฐบาลนี้เห็นว่าเขาไม่พอใจ 

ตรงนี้ผมคิดว่าการแก้รัฐธรรมนูญน่าจะมีความเป็นไปได้ เพราะถ้าไม่มีพลังนี้ผมว่าพวก สว. จะไม่มีทางยอมให้มีการแก้รัฐธรรมนูญแน่ แต่ตอนนี้ผมว่ามีความหวังมากขึ้น ถ้ารัฐบาลเลิกไล่จับคน เลิกพูดว่ามีคนอยู่เบื้องหลังสักทีจะดีมาก รับฟังไป ถ้ามีโอกาสก็ชี้แจง และแสดงฝีมือให้เห็นซะทีว่าแก้ปัญหาได้ อยู่มาจะ 6-7 ปีแล้ว ผมถึงจะไม่ชอบยังไงก็ยังแอบเชียร์นะ เพราะบอกจริง ๆ ว่าถ้ามันตกลงไปมากกว่านี้ มันจะขึ้นมาได้ยากมาก อย่างเช่นคนเก่ง ๆ อย่างคลอปป์ก็ต้องใช้เวลาถึง 4 ปี กว่าจะพาลิเวอร์พูลกลับสู่ระดับที่เคยเป็นได้ (อ้าวเลี้ยวไปทีมรักจนได้ :) ) 

แต่ก็อยากฝากบอกว่าอย่ายกระดับการประท้วงจนไปถึงปิดบ้านปิดเมืองเลย ถ้าเขาหน้าด้านอยู่ต่อไปจริง ๆ โดยไม่สนใจ อีก 2 ปีกว่า ๆ ก็ได้เลือกตั้งกันแล้ว ลองทำตัวเคารพระบบ ตบหน้าพวกผู้ใหญ่บางคนที่ออกมาด่า ๆ อยู่ตอนนี้ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองปิดบ้านปิดเมือง เขาให้เลือกตั้งก็ไม่เลือกเพราะกลัวแพ้ จนทหารมายึดอำนาจ  และลากยาวมาถึงตอนนี้ จนพวกเด็ก ๆ อึดอัดต้องออกมาแสดงพลัง 

เขียนมาสามย่อหน้ายังไม่เข้าประเด็นที่จะเขียนวันนี้เลย ประเด็นของวันนี้คือ ถ้าเราต้องการปฏิรูปองค์กรใด ๆ จำเป็นไหมที่เราจะต้องด้อยค่าองค์กร ต้องเกลียดคนในองค์กร และปฏิเสธสิ่งดี ๆ ที่เป็นความจริงมีหลักฐานประจักษ์ที่องค์กรเคยทำมา องค์กรที่ยืนยาวมาเป็นร้อยปี มันจะไม่มีสิ่งดี ๆ ที่ทำให้กับประเทศบ้างเลยหรือ  และจำเป็นไหมที่เราจะต้องไปโจมตีคนที่แสดงความรักความเคารพคนในองค์กร โดยไปตีตราว่าเขาเป็นพวกล้าหลัง ไม่อยากปฏิรูปองค์กร ไม่แน่ว่าเขาอาจจะคิดว่าควรให้มีการปฏิรูปก็ได้ แต่เขารักคนคนนี้ เขาก็แสดงความรัก เหมือนที่เขาทำในทุก ๆ ปี การทำแบบนี้ ดีไม่ดีมันจะเป็นการผลักคนที่อาจเห็นด้วยให้กลายเป็นอีกฝั่งหนึ่ง ผมเคยพูดมาหลายครั้งแล้วว่าคนเราไม่ใช่คอมพิวเตอร์ที่โลกของมันมีแต่ 0 กับ 1 แต่คนเรานั้นมีหลากหลาย บางคนอาจอยากปฏิรูป แต่อาจเป็นคนละประเด็นกับที่มีคนเรียกร้อง บางคนอาจยังรักคนในองค์กร ยังระลึกถึงอดีตที่ดี ๆ (ในสายตาเขา) แต่ก็อาจเห็นด้วยว่ามันถึงเวลาต้องเปลี่ยนอะไรบางอย่างก็ได้

ส่วนตัวผมผมมองว่าทุกองค์กรถ้าถึงยุคปัจจุบันแล้วมีคนรู้สึกว่าไม่ตอบโจทย์ คนเหล่านั้นก็มีสิทธิที่จะพูดได้ แต่ก็ควรจะพูดถึงเฉพาะประเด็นที่คิดว่าเป็นปัญหา ไม่จำเป็นต้องไปทำให้องค์กรดูเลวร้าย อะไรที่เขาทำดีไว้ก็ไม่จำเป็นต้องไปปฏิเสธ เพราะผมมองว่าการที่ต้องปฏิรูปมันไม่เกี่ยวกับสิ่งดี ๆ ที่ทำมา ยกตัวอย่างเช่น ผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมหนึ่ง ในยุคหนึ่งเคยทำทีมได้แชมป์ แต่หลัง ๆ ระบบการเล่นล้าสมัย ทีมเริ่มตกต่ำ มันก็ไม่ผิดที่จะมีการพูดถึงการเปลี่ยนผู้จัดการทีม แต่การเปลี่ยนมีความจำเป็นไหมที่จะต้องไปพูดว่า ที่ทำทีมได้แชมป์ตอนนั้นมันฟลุ๊ก และคนที่ไม่อยากให้เปลี่ยนตัว ก็ไม่ควรจะอ้างแต่ว่าเขาเคยทำทีมได้แชมป์ ทั้งสองฝ่ายควรจะพูดคุยกันถกกันด้วยเหตุผล ไม่ไปก้าวล่วงอีกฝ่ายหนึ่ง และสุดท้ายแล้วมันอาจได้ข้อตกลงที่เห็นด้วยทั้งสองฝ่าย ดีต่อทีม และดีต่อตัวผู้จัดการทีมด้วย เช่นการดันผู้จัดการทีมขึ้นไปเป็นบอร์ดบริหารอาวุโส 

ขอปิดท้ายว่าสังคมประชาธิปไตยคือสังคมที่ยอมรับความเห็นต่าง และควรที่จะสามารถพูดคุยกันได้อย่างสร้างสรรค์ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ พูดคุยกันด้วยความเคารพต่อกัน ไม่ใช่เอะอะก็ "ไม่พอใจก็ออกจากประเทศไปสิ" "ออกจากมหาวิทยาลัยไปสิ" "อย่ามาแบมือขอเงินนะถ้าไปประท้วง" "พ่อแม่น่ะเป็นสลิ่ม เป็นไดโนเสาร์ ไม่เข้าใจอะไรหรอก" อะไรแบบนี้ ถ้าจะปฏิรูปอะไรก็ปฏิรูปเรื่องนี้ก่อนแล้วกัน ผมว่ามันสำคัญที่สุด ถ้าตรงนี้ปฏิรูปไม่ได้ ก็อย่าไปหวังเรื่องอื่น 

อังกฤษกลับลำเรื่องใช้ขั้นตอนวิธีเพื่อประมาณผลการสอบ

Students in South Staffordshire, England, protest the government’s use of an algorithm to estimate exam results. (Jacob King/AP)

หลังจากการประท้วงใหญ่ รัฐบาลอังกฤษเปลี่ยนการตัดสินใจที่จะใช้ขั้นตอนวิธีเพื่อประมาณค่าคะแนนสอบ A-level ที่ใช้ในการรับเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งสาเหตุที่ต้องใช้วิธีประมาณก็คือไม่สามารถจัดสอบได้ จากปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าขั้นตอนวิธีนี้ทำให้เด็กโรงเรียนเอกชนที่จ่ายค่าเทอมแพง ๆ ได้เปรียบ และทำให้นักเรียนที่มีภูมิหลังมาจากครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวยเสียเปรียบ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนายก Boris Johnson บอกว่า เขาไม่มีข้อสงสัยกับขั้นตอนวิธีนี้เลย ผลสอบที่ได้เชื่อถือได้ และขึ้นกับผู้สมัครล้วน ๆ แต่หลังจากการประท้วงใหญ่ ก็ได้เปลี่ยนการตัดสินใจ และได้กล่าวคำขอโทษต่อเด็กและผู้ปกครองที่ทำให้กังวลใจ โดยบอกว่าผลที่เป็นทางการจะเทียบจากคะแนนที่ได้จากขั้นตอนวิธีกับการประเมินโดยครู อันไหนสูงกว่าก็เอาอันนั้น จากการสำรวจพบว่า ตัวขั้นตอนวิธีประเมินคะแนน A-level ของนักเรียนในอังกฤษประมาณ 40% ต่ำกว่าคะแนนที่ได้จากการประเมินโดยครู ซึ่งประเมินจากผลการเรียนที่ผ่านมา และการให้นักเรียนได้ทำข้อสอบจำลอง 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Washington Post

 เพิ่มเติมเสริมข่าว: 

อาจจะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่คล้าย ๆ ในหนังสือ Weapons of Math Destruction ให้ระวังกันไว้ให้ดี ต่อไปอาจจะมีโมเดลแบบนี้มากขึ้น ดังนั้นก่อนจะเอาโมเดลวัดอะไรแบบนี้มาใช้ จะต้องมีการอธิบายวิธีการคำนวณอย่างชัดเจน โปร่งใสเข้าใจได้ และประชาชนก็ต้องพยายามรู้เท่าทัน ไม่ใช่อะไร ๆ ก็เชื่อโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพราะจริง ๆ โปรแกรมมันทำงาน มันประมวลผลจากข้อมูลที่มันได้รับ การประมวลผลโดยคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ยุคแรกจนถึงปัจจุบัน คำว่าเอาขยะใส่เข้าไปก็จะได้ขยะออกมาก็ยังใช้ได้อยู่เสมอ


วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2563

การแฮกที่ทำให้ระบบรู้จำใบหน้าคิดว่าคนอื่นเป็นคุณ

MICHAEL ALEO/UNSPLASH

นักวิจัยของ McAfee ใช้การเรียนรู้ของเครื่องเพื่อสาธิตให้เห็นว่าระบบรู้จำใบหน้าสามารถถูกหลอกให้ระบุว่าหน้าที่กำลังดูอยู่เป็นหน้าคนอื่น วิธีการก็คือเอารูป 1500 รูป จากสองโครงการเข้าสู่ขั้นตอนวิธีการแปลงรูปภาพที่เรียกว่า CycleGAN เพื่อให้เปลี่ยนภาพหนึ่งไปเป็นอีกภาพหนึ่ง จากนั้น CycleGAN จะสร้างภาพที่ดูด้วยตาเปล่าคือนาย A แต่ระบบการรู้จำใบหน้าจะระบุว่าเป็นนาย B นักวิจัยบอกว่าปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่องเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการช่วยระบุและยืนยันตัวตน แต่ถ้าเราใช้มันแบบหลับหูหลับตา และให้มันไปแทนระบบเดิมที่เคยขึ้นอยู่กับคนอย่างเดียวโดยไม่ตรวจสอบอีกครั้ง มันก็จะนำไปสู่จุดอ่อนที่ใหญ่กว่าที่เคยมีมา 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: MIT Technology Review

วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2563

NSA และ FBI เปิดเผยเครื่องมือแฮกจากรัสเซีย


Photo by Markus Spiske on Unsplash

National Security Agency (NSA) ของสหรัฐ และ Federal Bureau of Investigation (FBI) ได้ประกาศต่อสาธารณชนถึงเครื่องมือแฮกจากรัสเซียชื่อ Drovorub ซึ่งเป็นมัลแวร์ (malware) ที่เจาะระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ Linux ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า  Drovorub เป็นคล้าย ๆ มีดพับสารพัดประโยชน์ของสวิส (Swiss Army knife) ที่ทำงานได้หลากหลายเช่นการขโมยไฟล์ การควบคุมคอมพิวเตอร์ของเหยื่อจากระยะไกล การประกาศการค้นพบ Drovorub นี้เป็นตัวล่าสุดที่ประกาศโดยรัฐบาลสหรัฐ เกี่ยวกับปฏิบัติการแฮกของรัสเซียก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2020

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Reuters

วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2563

แฮกเกอร์ชาวดัชแสดงให้เห็นว่าการแฮกระบบสัญญาณไฟทำได้ง่าย ๆ

เราอาจเคยเห็นในหนังฮอลลีวู้ดหลายเรื่องถึงการแฮกระบบสัญญาณไฟจราจร แตาเอาจริง ๆ แล้วจากการสาธิตของนักวิจัยด้านความมั่นคงหลายคนเมื่อหลายปีก่อนแสดงให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วมันไม่ได้ทำกันง่าย ๆ เหมือนในหนัง เพราะใครที่จะทำต้องอยู่ในระยะสัญญาณวิทยุของไฟจราจรที่เป็นเป้าหมาย แต่ตอนนี้นักวิจัยชาวเนเธอร์แลนด์สองคนได้แสดงให้เห็นว่าเขาสามารถแฮกไฟจราจรได้ผ่านทางอินเทอร์เน็ต 

[ภาพจาก Getty Images]

ในงานสัมมนาด้านแฮกเกอร์ Defcon นักวิจัยด้านความมั่นคงสองคนคือ Rik van Duijn และ Wesley Neelen ได้แสดงให้เห็นว่าเขาพบช้่องโหว่ในระบบ "intelligent transport" ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถเข้าไปแทรกแซงระบบสัญญาณไฟจราจรในอย่างน้อย 10 เมืองในเนเธอร์แลนด์ การแฮกของเขาทำไดยหลอกระบบว่ามีจักรยานกำลังจะผ่านสี่แยก (จริง ๆ ไม่มี) จากนั้นไฟสัญญาณจราจรก็จะกลายเป็นไฟเขียวให้จักรยาน ส่วนรถอื่น ๆ ที่จะผ่านแยกก็จะได้สัญญาณไฟแดง ซึ่งพวกเขาบอกว่าถ้าระบบ "intelligent transport" นี้ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางมากขึ้น และถูกแฮกแบบนี้ จะทำให้รถต้องหยุดรออยู่ที่แยกที่จริง ๆ แล้วไม่มีรถอะไรวิ่งผ่านเลย ซึ่งจะทำให้การจราจรติดขัดเป็นวงกว้าง นักวิจัยบอกว่าเขาสามารถสร้างจักยานปลอม ๆ นี้ได้จากที่บ้าน และทำได้พร้อม ๆ กันจากหลายสี่แยกด้วย 

จุดอ่อนของระบบนี้อยู่ที่ระบบสัญญาณไฟจราจรนี้ใช้ตำแหน่งของจักรยานจากแอปอย่าง Schwung และ CrossCycle ซึ่งเมื่อผู้ขี่จักรยานที่ใช้แอปนี้มาถึงสี่แยก ระบบก็จะได้ตำแหน่งของจักรยานและเปลี่ยนไฟเขียวให้กับจักรยาน นักวิจัยได้เขียนสคริปต์เพื่อป้อนข้อมูลหลอก ๆ ให้กับระบบสัญญาณไฟว่าตอนนี้มีโทรศัพท์ของนักขี่จักรยานกำลังจะผ่านแยก

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  Wired


วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2563

โมเดลการคำนวณที่ช่วยปรับปรุงการนำยาที่ทดลองในสัตว์มาใช้กับคน

ประมาณ 50% ของคนที่กินยารักษาลำไส้อักเสบอย่าง infliximab มีการต่อต้านหรือไม่มีการตอบสนองต่อการใช้ยานี้ นักวิทยาศาสตร์อาจเห็นปัญหานี้ได้ตั้งแต่แรกเริ่มในการผลิตยา ถ้าใช้ตัวแบบการคำนวณที่นักวิจัยจาก Purdue University และ Massachusetts Institute of Technology พัฒนาขึ้นเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนจากการทดลองยาในสัตว์มาสู่การทดลองทางคลีนิคกับคน  

ตัวแบบนี้ชื่อว่า TransComp-R ซึ่งนักวิจัยใช้มันเพื่อระบุกลไกทางชีววิทยาที่ถูกมองข้ามไป ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คนไข้ต่อต้านยา infliximab นักวิจัยบอกว่าตัวแบบนี้จะช่วยบอกได้ว่ายาตัวใดที่ควรจะย้ายจากการทดลองในสัตว์ไปทดลองในคน ถ้ามันมีปัจจัยที่จะทำให้ยานี้ใช้ไม่ได้กับคนเช่นการต่อต้านยา ตัวแบบนี้จะช่วยระบุได้ และจะช่วยแนะนำว่าจะจัดการการทดลองทางคลีนิคได้อย่างไร 

Doug Brubaker หนึ่งในนักวิจัยที่พัฒนา TransComp-R 
[ภาพจาก Purdue University photo/John Underwood]

TransComp-R รวบรวมผลการประเมินเป็นพัน ๆ ตัวอย่างจากตัวแบบที่ใช้กับสัตว์ ข้อมูลที่น้อยลงนี้จะช่วยอธิบายสาเหตุของความแตกต่างด้านชีววิทยาที่มีความเกี่ยวพันกันมากที่สุดระหว่างตัวแบบของสัตว์กับของคน  จากจุดนี้นักวิทยาศาสตร์จะสามารถฝึกสอนตัวแบบอื่น ๆ ให้ทำนายการตอบสนองต่อการรักษาที่มีต่อมนุษย์จากข้อมูลที่ถูกเลือกมาแล้วจากตัวแบบของสัตว์ได้ 

ในกรณีของ infliximab ปัญหาก็คือข้อมูลการทดลองที่ทำกับหนู และคนไม่เข้ากันด้วยความแตกต่างของประเภทการประเมินทางชีววิทยา ซึ่งตัว TransComp-R สามารถชี้ให้เห็นได้   

นักวิจัยบอกว่างานนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับสัตว์ประเภทอื่น โรคอื่น และปัญหาอื่น การที่สามารถระบุสิ่งที่มีผลแต่เฉพาะสัตว์แต่ไม่มีผลกับคน จะช่วยประหยัดเวลา ค่าใช้จ่าย และความพยายามในการพัฒนายา

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  Purdue University News

วันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2563

งานด้านพัฒนาซอฟต์แวร์มีความต้องการเพิ่มขึ้นอีกครั้งแต่ทักษะที่เป็นที่ต้องการกำลังเปลี่ยนไป

Photo by Karl Pawlowicz on Unsplash

นักวิจัยจากบริษัทจัดหาคนระดับนานาชาติ Harvey Nash พบว่าในธุรกิจหลายภาคส่วนได้เปลี่ยนความต้องการประเภทของทักษะด้านเทคโนโลยี โดยความมั่นคงทางไซเบอร์ (cybersecurity) สถาปัตยกรรมแบบเอนเทอร์ไพรส์ (enterprise architecture) การเปลี่ยนแปลงองค์กร (organizational change) และทักษะด้านคลาวด์ (cloud) อยู่ในส่วนต้น ๆ ของความต้องการ โดยเมื่อปีที่แล้ว ข้อมูลขนาดใหญ่และการวิเคราะห์ (big data and analytics) อยู่ในอันดับหนึ่ง ตามด้วยความมั่นคงทางไซเบอร์ สถาปัตยกรรมแบบเอนเทอร์ไพรส์ สถาปัตยกรรมเชิงเทคนิค (technical architecture) และ DevOps นักวิจัยบอกว่าภาคเทคโนโลยีนั้นเหมือนมีฉนวนป้องกันตัวจากปัญหาการระบาดของโรค เพราะภาคธุรกิจต้องเปลี่ยนไปทำงานที่บ้าน ดังนั้นงานด้านเทคโนโลยีที่ชลอตัวลงจะเป็นส่วนของงานประจำเท่านั้น แต่ตอนนี้อัตราความต้องการก็กำลังเพิ่มขึ้นแล้ว โดยเฉพาะในด้านนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ผู้ตอบคำถามให้ความช่วยเหลือ (helpdesk advisor) สถาปนิกระบบคลาวด์ (cloud architect) และผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet

วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ภาพสามมิติใบหน้าของทารกจากอัลตราซาวด์เพื่อพ่อแม่ที่ตาบอด

Taylor Ellis อายุ 26 ถือรูปสามมิติจากภาพอัลตราซาวด์ของลูกของเธอ 
(Andrew Mangum for The Washington Post)

โรงพยาบาล Johns Hopkins ในบัลติมอร์สามารถสร้างตัวแบบสามมิติของหน้าของลูกของพ่อแม่ที่ตาบอด จากภาพถ่ายที่ได้จากอัลตราซาวด์ เพื่อช่วยให้พวกเขาได้ "เห็น" หน้าลูกของเขา ก่อนที่ลูกของเขาจะคลอดออกมา เหมือนกับพ่อแม่ที่ตาปกติทั่วไปที่จะได้เห็นหน้าลูกจากภาพอัลตราซาวด์ โดยแนวคิดนี้ได้มาจากการที่เมื่อหลายปีก่อนโรงพบาบาลได้ใช้เครื่องพิมพ์สามมิติพิมพ์ภาพกระดูกสันหลังของเด็กทารกที่ต้องผ่าตัดเพื่อรักษาโรค spina bifida เพื่อให้ทีมหมอผ่าตัดได้ฝึกฝนก่อนการผ่าจริง สำหรับการพิมพ์หน้าทารกแบบสามมิตินี้ จะใช้เวลาประมาณ 3.5 ชั่วโมง และใช้วัสดุราคา $1.40

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Washington Post

วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ตัวแบบเครือข่ายประสาทเทียมของ NIST สามารถเห็นอ็อบเจกต์เล็ก ๆ ในรูปที่ไม่ชัด

 

Credit: NIST

นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จาก U.S. National Institute of Standards and Technology (NIST) ได้สร้างตัวแบบเครือข่ายประสาทเทียมในการตรวจหารูปภาพทางเรขาคณิตเล็ก ๆ จากรูปที่ไม่ชัด นักวิจัยได้ปรับปรุงสถาปัตยกรรมเครือข่ายที่พัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันที่ใช้วิเคราะห์รูปทางชีวการแพทย์ เพื่อใช้ดึงข้อมูลดิบออกมาจากรูปที่ถูกทำให้มีคุณภาพแย่ลงในการตีพิมพ์บทความในวารสาร นักวิจัยบอกว่าถึงแม้จุดประสงค์ของงานวิจัยนี้จะเป็นการหาข้อมูลที่หายไปเนื่องจากการตีพิมพ์ แต่งานนี้สามารถนำไปประยุกต์กับงานด้านอื่นที่ต้องการการตรวจจับวัตถุได้ด้วย เช่นรถขับเคลื่อนโดยอัตโนมัติ และการตรวจสอบเครื่องจักรเป็นต้น 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: NIST

วันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ตำรวจสิงคโปร์ทดลองใช้โดรนไร้คนขับในการบังคับการเว้นระยะห่างทางสังคม

ภาพจาก Reuters

หน่วยงานด้านการบังคับใช้กฎหมายในสิงคโปร์กำลังทดสอบการใช้โดรนไร้คนขับสองตัวในการช่วยบังคับการเว้นระยะห่างทางสังคม โดยใช้ติดตามการรวมกลุ่มกันและถ่ายวีดีโอส่งให้กับตำรวจ โดรนนี้เป็นของบริษัท Airobotics ซึ่งบริษัทบอกว่าบริษัทได้ระดมทุนมา $120 ล้านเหรียญ และใช้ $100 ล้านเหรียญในการลงทุนพัฒนาโดรนให้เช่าใช้ บริษัทบอกว่านี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่โดรนทางการค้าที่ทำงานโดยอัตโนมัติ ได้รับอนุญาตให้บินตรวจการในเมือง โดรนจะช่วยตรวจตราในพื้นที่ที่การเดินเท้าหรือรถของตำรวจเข้าไปไม่ถึง โดยปัจจุบันนอกจากสิงคโปร์แล้ว ยังมีภาคอุตสาหกรรมในอิสราเอล และสหรัฐอเมริกา ที่ใช้โดรนของบริษัท  

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Daily Mail (U.K.)


วันพุธที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2563

การเรียนรู้เชิงลึกทำให้วัคซีนมะเร็งเข้าใกล้ความจริง

Image credit: Pixabay (Free Pixabay license

นักวิจัยจาก India's International Institute of Information Technology Bangalore (IIIT Bangalore) ได้ออกแบบวิธีการเรียนรู้เชิงลึกที่จะช่วยให้การพัฒนาวัคซีนโรงมะเร็งสำหรับแต่ละคน โดยทำความเข้าใจกลไกทางชีวภาพระหว่างเซลล์มะเร็งกับระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ได้ดีขึ้น 

ระบบภูมิคุ้มกันด้วยตัวของมันเองไม่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างเซลล์ปกติกับเซลล์มะเร็ง วิธีการที่วัคซีนตัวนี้ทำงานก็คือสังเคราะห์เป๊ปไทด์ (peptide) จากภายนอก ซึ่งเมื่อฉีดให้กับคนไข้แล้วจะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันระบุเซลล์มะเร็งได้ วิธีการก็คือการสร้างพันธะ (bond) ระหว่างเป๊ปไทด์ที่ถูกฉีกเข้าไปกับเซลล์มะเร็งในร่างกาย เนื่องจากเซลล์มะเร็งจะมีความแตกต่างกันในแต่ละคน ดังนั้นการเลือกเป๊ปไทด์ที่ถูกต้องจะต้องใช้การวิเคราะห์ที่จะทำให้ได้เป๊ปไทด์ที่กระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันอย่างเหมาะสม 

ความยากของวิธีนี้คือในตอนนี้ประชาคมทางวิทยาศาสตร์ยังขาดความเข้าใจว่าพันธะของเป๊ปไทด์ MHC (Major Histocompatibility Complex) เกิดขึ้นได้อย่างไร และความยากในการทดสอบทางคลีคนิคของโมเลกุลที่ต่างกันเป็นงานที่ใช้ทรัพยากรมหาศาล 

นักวิจัยจึงสร้างตัวแบบการเรียนรู้เชิงลึก (deep learning) ที่ชื่อว่า MHCAttnNet ขึ้น นักวิจัยบอกว่าตัวแบบนี้สามารถทำนายการเกิดพันธะของ เป๊ปไทด์ MHC ได้ดีกว่าวิธีการที่มีอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเน้นให้เห็นถึงสายลำดับย่อยของกรดอะมิโน (amino-acids) ที่น่าจะมีความสำคัญในการทำนายได้อีกด้วย

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Technology.org

วันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2563

นักวิทยาศาสตร์ออกแบบอุปกรณ์สวมใส่ที่มีตัววัดเหงื่อเพื่อติดตามสุขภาพ

Photo by Nico Nazaire on Unsplash

นักวิจัยจาก  Tufts University ได้พัฒนาชุดวัดสัญญาณทางไฟฟ้าที่ยืดหยุ่นที่สามารถวัดสัญญาณด้านสุขภาพหลายตัวจากเหงื่อของผู้ใส่ โดยอุปกรณ์นี้จะถูกเย็บเข้าไปในเสื่อผ้าด้วยเส้นด้ายพิเศษที่มีส่วนประกอบอิเลกโทรนิกส์ และการเชื่อมต่อแบบไร้สายที่สามารถดึงข้อมูล จัดเก็บ และประมวลผลได้ตามเวลาที่ต้องการ เส้นด้ายนี้นอกจากใช้วิเคราะห์โรคที่เกิดขึ้นฉับพลันและเรื้อรังแล้ว ยังสามารถใช้ติดตามประสิทธิภาพของนักกีฬา และความปลอดภัยในที่ทำงานอีกด้วย โดยมันจะวิเคราะห์ระดับสัญญาณจากตัวบ่งชี้ทางชีวภาพจากเหงื่อที่เกิดขึ้นในขณะนั้นหลายตัวอย่างเช่น อิเลกโตรไลต์ (electrolyte) เมตาโบไลต์ (metabolite) พีเอช (pH) และฮอร์โมนความเครียดคอร์ติโซล (cortisol) 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: International Business Times

วันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ระบบ AI ของอินเทลระบุความคล้ายคลึงกันของโค้ดโปรแกรมสองชุด

MISIM
สถาปัตยกรรมของ MISIM 
[ภาพจาก VentureBeat]

นักวิทยาศาสตร์ของอินเทลร่วมกับนักวิจัยจาก Massachusetts Institute of Technology และ Georgia Institute of Technology บอกว่าพวกเเขาได้พัฒนาเครื่องที่ทำงานได้โดยอัตโนมัติในการบอกว่าโค้ดโปรแกรมสองชุดทำงานเหมือนกันหรือไม่ ถึงแม้โค้ดทั้งสองจะมีโครงสร้างที่แตกต่างกันและใช้ขั้นตอนวิธีที่แตกต่างกัน โดยวิธีนี้ใช้ AI และการเรียนรู้ของเครื่องในการสรุปว่าโปรแกรมจะทำอะไร เครื่องนี้มีชื่อว่า Machine Inferred Code Similarity (MISIM) โดยนักวิจัยบอกว่ามันทำงานได้เร็วกว่าวิธีที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบันถึง 40 เท่า เครื่องนี้สามารถนำไปใช้ในงานได้หลากหลายตั้งแต่การแนะนำโค้ด ไปจนถึงการตรวจแก้จุดบกพร่อง (debugging) ของโปรแกรมโดยอัตโนมัติ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: VentureBeat

วันอาทิตย์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2563

นักวิทยาศาสตร์ต้องเปลี่ยนชื่อของยีนเพราะไมโครซอฟท์เอกซ์เซล

DNA (deoxyribonucleic acid) structure, illustration.
KTSDESIGN/SCIENCE PHOTO LIBRARY via Getty Images

แม้ว่าระบบจัดรูปแบบอัตโนมัติของไมโครซอฟท์เอกซ์เซลเป็นระบบที่มีประโยชน์ที่ช่วยให้เราพิมพ์ข้อมูลได้เร็วขึ้น แต่ในหลาย ๆ ครั้งมันก็ก่อให้เกิดความสับสน ตัวอย่างหนึ่งของความสับสนนี้คือ  HUGO Gene Nomenclature Committee (HGNC) ต้องออกคู่มือการตั้งชื่อยีน (gene) ของคน เพื่อป้องกันไม่ให้เอกซ์เซลจัดรูปแบบมันเป็นวันที่ ตัวอย่างเช่นยีนชื่อ MARCH1 (Membrance Associaed Ring-CH-Type Finger 1) พอไปพิมพ์ในเอกซ์เซลมันจะแปลงเป็น 1-Mar ซึ่งก็คือวันที่ 1 มีนาคม ในปัจจุบันยีนดังกล่าวมีชื่อว่า MARCHF1 เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหานี้ 

ชื่อยีน 27 ตัว ต้องถูกเปลี่ยนชื่อในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่เกิดจากเอกซ์เซล ผู้ประสานงานของ HGNC บอกว่านี่ไม่ใช่ข้อผิดพลาดที่ไม่ค่อยเกิดขึ้น เพราะจากการศึกษาในปี 2016 พบว่าบทความด้านพันธุกรรมห้าบทความได้รับผลกระทบจากโปรแกรมเอกซ์เซล 

จริง ๆ แล้ววงการวิทยาศาสตร์เคยเปลี่ยนชื่อยีนมาแล้ว เพื่อลดข้อผิดพลาดจากการสืบค้นข้อมูล หรือเหตุผลด้านความไม่สบายใจของคนไข้ แต่ตอนนี้มันเป็นผลจากการออกแบบซอฟต์แวร์โดยตรง 

กรณีนี้แสดงให้เห็นว่าการจัดรูปแบบอัตโนมัติสามารถสร้างปัญหาได้ และนี่คือสิ่งที่เราไม่ควรมองข้าม 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: engadget

 

วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2563

อิฐพิมพ์จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติที่ช่วยซ่อมกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อน

Scientists Engineer 3D-Printed Bricks That Aid in Bone and Soft Tissue Repair
[ภาพจาก  Oregon Health & Science University]


นักวิจัยจาก Oregon Health & Science University ได้สร้างอิฐที่พิมพ์จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่สามารถใช้ซ่อมแซมกระดูกที่หัก และเนื้อเยื่ออ่อนที่ถูกทำลาย อิฐนี้จะเป็นลูกบาศก์ขนาด 0.6 นิ้ว ที่เอามาประกอบกันได้เหมือนเลโก้ (Lego) โดยมันสามารถทำหน้าที่เป็นโครง (scaffold) ให้ทั้งเนื้อเยื่อที่แข็งและอ่อนถูกปลูกขึ้นมาใหม่ ด้วยการใส่เจลจำนวนหนึ่งที่มีองค์ประกอบที่จำเป็นต่อการเติบโตเข้าไปในส่วนที่เป็นรูของก้อนอิฐ แล้วนำมันไปใส่ไว้ในจุดที่ต้องการที่สุด โดยอิฐนี้สามารถนำมาประกอบกันได้หลายรูปแบบเพื่อซ่อมแซมกระดูกที่แตก ผลการศึกษาจากการทดลองกับกระดูกของหนูพบว่า มันสามารถสร้างการเติบโตของหลอดเลือดได้เป็น 3 เท่า เมื่อเทียบกับการใช้วัสดุที่ใช้ทำโครงแบบเดิมที่ใช้กันอยู่ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Interesting Engineering

วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2563

กุ้มใจ

ไม่ได้ฟังเพลงวันศุกร์กันมานานแล้วนะครับ อาการเดิมกลับมาอีกแล้วครับ เพลงวนเวียนอยู่ในหัว คราวนี้เป็นเพลงไทยจังหวะสนุก ๆ ของอัสนี-วสันต์ครับ ไม่รู้ว่าทันกันไหมนะครับ เพลงจังหวะสนุก ๆ แต่ต้องสารภาพว่าจนป่านนี้ผมยังไม่รู้ว่าเพลงนี้เขาอยากสื่ออะไร เดาเอาว่าให้สะกดภาษาไทยให้ถูก ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นในยุคนี้น่าจะมีเพลง นะคะ นะค่ะ น่าจะดีนะครับ ไปฟังเพลงกันครับ ขอให้มีความศุกร์กันในวันศุกร์ กับ #ศรัณย์วันศุกร์ ครับ


AI ทำนายมะเร็งต่อมลูกหมากได้แม่นยำเกือบสมบูรณ์

Prostate Biopsy AI Cancer
ภาพเนื้อเยื่อที่มีความน่าจะเป็นที่จะเป็นมะเร็ง 
[ภาพจาก Ibex Medical Analytics]

นักวิจัยจาก University of Pittsburgh และ University of Pittsburgh Medical Center (UPMC) ได้ฝึกสอนให้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) สามารถจำแนกและระบุคุณลักษณะของมะเร็งต่อมลูกหมากได้ด้วยอัตราแม่นยำสูงสุดในปัจจุบัน นักวิจัยใช้รูปภาพจากสไลด์ของเนื่อเยื้อย้อมสีจากเนื้อเยื่อของคนไข้ในการฝึกสอน AI จากนั้นทดสอบกับสไลด์จำนวน 1600 สไลด์จากคนไข้ 100 คนที่สงสัยว่าจะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ผลการทดลองพบว่าอัตตราที่ AI บอกว่าเป็น และคนไข้เป็นจริง ๆ อยู่ที่ 97% และอัตราที่ AI บอกว่าไม่เป็น และคนไข้ไม่เป็นจริง ๆ อยู่ที่ 98% 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: SciTechDaily

วันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2563

นักเรียนม.ปลาย (สหรัฐ) ชนะเลิศการแข่งขันระดับประเทศด้วยเครื่องมือหยุดความไม่มั่นคงทางอาหาร

Lillian Key Petersen
[ภาพจาก Society for Science] 

Lillian Key Petersen นักเรียนชั้นม.ปลายปีสุดท้าย (น่าจะม.6 บ้านเรา) จาก Los Alamos ได้พัฒนาตัวแบบทางวิทยาศาสตร์ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อลดความไม่มั่นคงทางอาหารโดยการทำนายผลผลิตการเกษตร โครงการของเธอได้รับรางวัลชนะเลิศ $250,000 จากการแข่งขัน Regeneron Science Talent Search ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับชาติทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นม.ปลายปีสุดท้าย โครงการของเธอคือการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมของผลผลิตทางการเกษตรในประเทศ จากนั้นเอาข้อมูลนี้ไปใช้กับประเทศในแอฟริกา ซึ่งผลงานของเธอสามารถทำนายผลผลิตได้อย่างแม่นยำ 

เธอบอกว่าแรงบันดาลใจในการทำโครงการของเธอได้มาจากการที่ครอบครัวของเธอได้รับลูกบุญธรรมมา 3 คน เมื่อเก้าปีก่อน และน้อง ๆ บุญธรรมของเธอทั้งสามคนมีปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารในตอนเป็นเด็ก ซึ่งเธอได้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการขาดแคลนอาหาร ที่มีผลกระทบกับชีวิตของน้อง ๆ บุญธรรมของเธอ 

หลังจากที่เธอได้อ่านบทความเกี่ยวกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเนื่องจากความแห้งแล้งในเอธิโอเปียในปี 2015 เธอจึงเริ่มคิดว่าต้องใช้ทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ของเธอ เพื่อที่จะช่วยจัดการและติดตามผลผลิตทางการเกษตรเมื่อเกิดภัยแล้งขึ้น เพื่อที่จะช่วยให้การตอบสนองต่อวิกฤตด้านอาหารได้ในช่วงเวลาที่ดีขึ้น เพื่อจะไม่ทำให้เด็กต้องประสบกับภาวะขาดแคลนอาหาร ซึ่งจะมีผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาไปตลอด 

เธอเริ่มติดตามภาวะภัยแล้งในแอฟริกาจากภาพถ่ายดาวเทียม และเคยตีพิมพ์บทความวิจัยลงในวารสารที่มีการรีวิวก่อนการตีพิมพ์ด้วย เธอมีแผนการที่จะเข้าเรียนต่อที่ Harvard ในเทอม Fall นี้ เธอยังได้ประชุมร่วมกับ  International Food Policy Research Institute เพื่อพูดคุยกันถึงเรื่องการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลก และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผลผลิตทางการเกษตรในแอฟริกา

อ่านข่าวเต็มได้ที่: NPR

วันพุธที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ความต้องการการฝึกอบรมด้านไอทีเพิ่มสูงขึ้น

cloud-computing-at-keyboard-3-photo-by-joe-mckendrick.jpg
Photo: Joe McKendrick

จากการสำรวจผู้ที่อยู่ในวงการ 937 คน โดยบริษัท Netwrix ซึ่งเป็นบริษัทด้านซอฟต์แวร์พบว่า การระบาดของ COVID-19 ทำให้บริษัทต้องเปลี่ยนแปลงเข้าสู่รูปแบบดิจิทัลชั่วข้ามคืน ซึ่งมีผลทำให้มีความต้องการการฝึกสอนทางด้านไอทีเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก โดยเปอร์เซนต์การลงทุนทางด้านการศึกษาด้านไอทีของหลายบริษัทเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจาก 20% ในช่วงปลายปี 2019 มาเป็น 38% ในวันนี้ และเนื่องจากการจ้างงานเพิ่มไม่สามารถทำได้ในช่วงนี้ บริษัทที่ตอบแบบสำรวจถึง 31% ตอบว่าวิธีการแก้ไขก็คือให้การศึกษากับพนักงานด้านไอทีที่มีอยู่เดิม โดยรายงานจากสภาคองเกรสแสดงให้เห็นว่า ต้องมีการเรียนและฝึกอบรมด้าน AI ที่เพิ่มขึ้น เพื่อทื่ภาครัฐและเอกชนจะเป็นผู้นำในเศรษฐกิจโลก และข่าวดีก็คือคนที่ต้องการทักษะด้าน AI ไม่จำเป็นต้องรออีกต่อไป เนื่องจากในปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่เปิดให้เรียนด้าน AI ได้ฟรี หรือในราคาที่ไม่สูงมาก   

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet

วันอังคารที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2563

นักวิทยาศาสตร์สร้างโมเดลเพื่อตรวจหาสัญญาณเริ่มของโรคซึมเศร้าจากข้อความ


[ภาพจาก https://unsplash.com/@vmxhu]


นักวิทยาศาสตร์จาก Canada's University of Alberta (UAlberta) ได้สร้างตัวแบบการเรียนรู้ของเครื่องที่สามารถระบุลักษณะของข้อความอย่างเช่นข้อความที่โพสต์ในทวิตเตอร์ (twitter) ที่เป็นสัญญาณของความซึมเศร้าได้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้สร้างตัวแบบภาษาอังกฤษจากข้อความตัวอย่างที่ถูกโพสต์ลงในฟอรัม (forum) โดยคนที่ถูกระบุว่าเป็นโรคซึมเศร้า ขั้นตอนวิธีนี้ถูกสอนให้ตรวจจับภาษาที่แสดงถึงการซึมเศร้าจากการทวีต นักวิจัยบอกว่านี่เป็นการศึกษาชิ้นแรกที่แสดงให้เห็นว่าภาษาที่แสดงความซึมเศร้านั้นมีรูปแบบที่แน่ชัด และตัวแบบที่สร้างขึ้นนี้จะนำไปสู่การตรวจหาภาษาที่แสดงถึงความซึมเศร้าจากข้อความใด ๆ ที่ไม่ได้มาจากทวิตเตอร์ได้ ตัวอย่างของการนำไปใช้ก็เช่น ถ้าเอาตัวแบบนี้ใส่เข้าไปในโปรแกรมแชทบอทที่ใช้คุยกับคนสูงอายุ โปรแกรมก็จะสามารถเห็นสัญญาณเตือนว่าผู้สูงอายุคนนั้นกำลังเหงาหรือซึมเศร้าอยู่หรือไม่ หรืออาจใช้กับนักเรียนเพื่อดูว่าพวกเขากำลังทรมานจากอาการซึมเศร้าอยู่หรือไม่ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  University of Alberta

วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2563

โดรนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพาราไกลเดอร์ เครื่องบิน และเฮลิคอปเตอร์

Gih-Keong Lau
Mechanical engineer Associate Professor Gih-Keong Lau pictured with the drone prototypeNATIONAL CHIAO TUNG UNIVERSITY

ทีมนักวิจัยนานาขาตินำโดย National University of Singapore ได้พัฒนาต้นแบบของอุปกรณ์บินแบบกระพือปีกได้ ที่สามารถบินวน บินร่อน หรือดิ่งลงมา ได้ดีกว่าโดรนแบบสี่ใบพัดในปัจจุบัน เครื่องนี้สามารถบินโฉบเข้ามาในพื้นที่ที่มีคนอยู่หนาแน่น และสามารถหยุดได้ทันทีเพื่อหลีกเลี่ยงการชน นักวิจัยบอกว่าโดรนนี้คือการผสมผสานกันของ พาราไกลเดอร์ (paraglider) เครื่องบิน และเฮลิคอปเตอร์

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Newsweek

วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2563

อัตราการประกาศหางานด้านด้านเทคโนโลยีในอเมริกาลดลงมากกว่างานด้านอื่น

postings-tech-vs-all.png
Image: Indeed

Indeed ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มด้านการหางานในอเมริกาบอกว่าอัตราการประกาศหางานด้านเทคโนโลยีลดลง 36% ในปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว จริง ๆ แล้วการประกาศหางานก็ลดลงในทุกด้านแต่เฉลี่ยแล้วอยูที่ 21% นั่นคืองานด้านเทคโนโลยีลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ย ถึงแม้มีการเพิ่มขึ้นของนักพัฒนาที่เขียนโปรแกรมด้วยภาษา R และ Python แต่การประกาศงานด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับงานด้านเทคโนโลยีทั้งหมด บริษัทจัดอันดับภาษาโปรแกรมชื่อดังอย่าง Tiobe บอกว่าการค้นหาเกี่ยวกับภาษา R และ Python ที่มีอัตราสูงขึ้น น่าจะมาจากมหาวิทยาลัย และด้านสาธารณสุขที่กำลังทำวิจัยด้านวัคซีนไวรัสโคโรนา จากข้อมูลของ Indeed การประกาศหานักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และผู้จัดการด้านเทคโนโลยีลดลง 43% และ 45% ตามลำดับ ยิ่งไปกว่านั้นงานด้านพัฒนาซอฟต์แวร์ ก็ลดลง 35% และงานด้าน ปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่องก็ยังลดลง 29% 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet

วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2563

การจู่โจม Garmin ไม่ได้มีผลแค่เรื่องออกกำลังกาย

grounded planes

PHOTOGRAPH: TOM BLACHFORD/GETTY IMAGES

จากที่บริษัทด้านฟิตเนสและเครื่องมือนำทางอย่าง Garmin ถูกโปรแกรมเรียกค่าไถ่ (ransomeware) จู่โจมสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้บริการหลายอย่างใช้ไม่ได้ แต่ปัญหาตอนนี้ไม่ได้เกิดกับแค่ผู้ที่ออกกำลังกายเท่านั้น นักบินที่ใช้ Garmin ในการหาตำแหน่ง และนำทางของเครื่องบินก็กำลังมีปัญหาเช่นกัน แอป flyGarmin และ Garmin Pilot ซึ่งไม่สามารถติดต่อกับระบบคลาวด์ของ Garmin ได้ ก็มีปัญหากับกลไกการวางแผนการบิน และไม่สามารถอัพเดตฐานข้อมูลการบินของ FAA ได้  โดยปกตินักบินจะใช้แอปบน iPad เพื่อสำรองแผนการบิน แต่ถ้าแอปนั้นเป็นของ Garmin ก็จะใช้การไม่ได้ นักบินจะต้องไปโหลดไฟล์จาก FAA เว็บไซต์ หรือโทรศัพท์ไปขอไฟล์ด้วยตัวเอง โปรแกรมเรียกค่าไถ่พุ่งเป้าหมายไปที่กลุ่มอุตสาหกรรมด้านระบบควบคุม และสาธารณูประโภคที่สำคัญมากขึ้น เช่นโรงกลั่นน้ำมัน ท่อส่งก๊าซ และระบบไฟฟ้าสำหรับโรงพยาบาล ซึ่งการที่อุตสาหกรรมเหล่านี้ถูกเป็นเป้าจู่โจมก็เพราะเป้าหมายเหล่านี้มักจะมีอะไรที่ต้องสูญเสียมากถ้าระบบล่มไป ดังนั้นเป้าหมายเหล่านี้จึงมักที่จะยอมจ่ายเงินค่าไถ่ เพื่อกู้ระบบคืนมา

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Wired

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

ตอนที่โพสต์ข่าวนี้เห็นว่า Garmin เริ่มทยอยแก้ปัญหาได้บางส่วนแล้ว