วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ไปลองแอร์พอร์ตลิงก์มาแล้วครับ

ผมได้มีโอกาสไปลองใช้บริการแอร์พอร์ตลิงก์หรือถ้าจะเรียกให้ถูกจริง ๆ ก็ต้องเรียกว่าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาครับ ว่าจะมาเขียนเล่าให้ฟังตั้งแต่วันที่ไปขึ้นมาแล้วครับ แต่ไม่มีเวลาเลย เลยลากยาวมาถึงวันศุกร์นี่แหละครับ เริ่มเลยแล้วกันนะครับ

วันจันทร์ที่ผมไปเป็นวันที่แอร์พอร์ตลิงก์เปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์เป็นวันแรก ซึ่งผมก็คาดหวังว่าอะไรต่าง ๆ น่าจะพร้อมแล้ว แต่กลับไม่เป็นอย่างที่คาดครับ เริ่มจากป้ายบอกทางต่าง ๆ ก็ยังดูสับสนอยู่ (แต่อันนี้อาจเป็นเพราะผมยังไม่ชินเองก็ได้) ต้องอาศัยเดิน ๆ ตามกันไป ส่วนขบวนที่ผมจะขึ้นก็เจอเลยครับสิ่งที่เกิดขึ้นกับรถไฟไทยมาทุกยุคทุกสมัยนั่นคือดีเลย์ครับ ก็คือช้ากว่ากำหนดไป 15 นาที แต่ทางการรถไฟเขาเข้าใจทำนะครับคือเขาประกาศว่ารถไฟจะมาถึงใน 5 นาที และอีก 5 นาทีต่อมาเขาก็ประกาศอีกว่ารถไฟจะมาถึงใน 5 นาที ทำอย่างนี้ 3 ครั้ง 15 นาทีพอดีครับ แต่ฟังเหมือนดีเลย์แค่ 5 นาที

หลังจากที่ได้ขึ้นรถไปสิ่งแรกที่สังเกตเห็นก็คือประตูปิดเสียงดังมากและดูเหมือนจะแรงมากครับ เรียกว่าเป็นการขู่พวกที่ชอบยืนขวางประตุได้ผลนะครับผมว่า เพราะถ้าใครลองไปยืนขวางและถูกหนีบนี่ดูแล้วน่าจะมีสิทธิขาดสองท่อนได้ แต่ที่ชอบก็คือเสียงตอนที่หยุดและเปิดประตุให้ผู้โดยสารขึ้นลงนี่เป็นเสียงระฆังรถไฟแบบเดิมครับซึ่งผมว่ามันคลาสสิกดี

สำหรับสภาพตัวรถก็ดูใหม่ดีครับ แต่พอลองมองออกไปตรงรางรถไฟตอนรถใกล้จะเข้าสถานีเห็นสนิมขึ้นเต็มเลย ก็เลยดูไม่ดีนิดหน่อย แต่ถ้าคิดจริง ๆ รางนี่เขาก็วางกันมาเป็นปีแล้วโดนฝนเข้าก็อาจเป็นสนิมได้ แต่ก็ทำให้ความรู้สึกเห่อว่าเป็นของใหม่หมดไปเล็กน้อย ส่วนในเรื่องของการวิ่งของรถไฟนี่ไม่นิ่มเหมื่อน BTS หรือ MRT บอกได้เลยว่ายังมีลักษณะเอกลักษณ์ของรถไฟธรรมดาอยู่มีกระตุกมีโคลงเคลงอยู่บ้างเป็นบางช่วง

ส่วนเจ้าหน้าที่ก็ให้บริการดีครับแม้ดู ๆ ว่าจะยังสับสนอยู่บ้าง แต่ที่ต้องรีบปรับปรุงนี่ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องหาเจ้าหน้าที่ที่พูดภาษาอังกฤษได้มาประจำไว้บ้าง เพราะผมเดินผ่านไปเห็นชาวต่างชาติไปสอบถามข้อมูลแต่เจ้าหน้ายังไม่สามารถสื่อสารได้ดีนัก อันนี้สำคัญนะครับเพราะแอร์พอร์ตลิงนี้น่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติใช้บริการเป็นจำนวนมาก

อีกจุดหนึ่งก็คือเรื่องของที่จอดรถเพื่อให้คนมาจอดรถทิ้งไว้แล้วเดินทางไปทำงานผมว่าก็น่าจะทำให้มากกว่านี้นะครับ ตอนนี้เท่าที่ทราบก็มีที่มักกะสัน แต่ที่อื่นถ้าสามารถทำได้ก็น่าจะทำให้คนหันมาสนใจมากขึ้น และอย่าคิดค่าจอดแพงนะครับ ตอนผมไปลองขึ้นนี่ผมเอารถไปจอดที่สนามบินสุวรรณภูมิ ตอนแรกว่าจะไปแป๊บเดียวแล้วรีบกลับมา ปรากฏว่าพอลงที่มักกะสันก็เลยลองเดินต่อไปขึ้น MRT เข้าไปหาอะไรทานแถว ๆ ย่านรัชดา ปรากฏว่าพอกลับมาขับรถออกจากสนามบินเจอค่าจอดรถไป 145 บาท :(

โดยสรุปผมก็ดีใจครับที่เราสามารถใช้เจ้าแอร์พอรต์ลิงก์นี้ได้เสียที เพราะน่าจะเป็นระบบขนส่งมวลชนที่มีประโยชน์มากอีกอันหนึ่ง และน่าจะเป็นก้าวใหม่ของรถไฟไทยที่จะพัฒนาบริการใหม่ ๆ เช่นรถไฟความเร็วสูงให้เราได้ใช้กันต่อไป ในการบริการวันแรก ๆ ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ผมเชื่อว่าด้วยความมุ่งมั่นของเจ้าหน้าที่ทุกคนก็น่าจะช่วยให้ปัญหาต่าง ๆ หมดไปในอนาคตอันใกล้นี้ ขอเป็นกำลังใจให้นะครับ

วันอาทิตย์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เกี่ยวกับ 3G ในประเทศไทย จากความเห็นของ พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ กทช.

ผมได้อ่าน Time Line ใน Twitter เกี่ยวกับเรื่อง 3G ในประเทศไทย ซึ่ง พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ (@DrNatee39G ) หนึ่งในกรรมการ กทช. ได้ tweet มาเล่าให้ follower ฟังกัน ซึ่ง พ.อ.ดร.นที บอกว่าจริง ๆ แล้วได้ให้สัมภาษณ์ทาง DM (direct message) กับคุณปานระพี @panraphee จากช่อง 3 ไปแล้วรอบหนึ่งแต่เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์จึงเอามา tweet ให้ follwer อีกที ผมก็เลยสรุปประเด็นมาเล่าให้ฟังกัน และเสริมความคิดเห็นส่วนตัวลงไปบ้างนะครับ

ผมคงไม่นำมาเล่าทั้งหมดนะครับ ถ้าใครอยากดูข้อความทั้่งหมดก็ขอเชิญไปดูจาก twitter ของ พ.อ.ดร.นที ได้ แต่ผมอยากจะสรุปเฉพาะประเด็นที่คิดว่าน่าสนใจมาให้อ่านกัน ประเด็นแรกก็คือในประเทศไทยเราเปิดประมูล 3.9G ไม่ใช่ 3G แล้วมันต่างกันยังไง จริง 3.9G ก็คือเทคโนโลยี 3G แต่มีความเร็วมากขึ้น คือข้อกำหนดพื้นฐานของ 3G มีความเร็วอยู่ที่ 2 Mbps แต่ 3.9G จะอยู่ที่ 42 Mbps พ.อ.ดร.นที สรุปง่าย ๆ ว่า 3.9G ก็คือเวอร์ชัน 3G ที่ดีที่สุดในปัจจุบัน และถ้าเราประกาศว่าเราจะเปิด 3.9G จะทำให้เราประกาศตัวเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่จะใช้เทคโนโลยีนี้พร้อมกับญี่ปุ่น แต่ถ้าเราประกาศ 3G เราจะกลายเป็นประเทศรองบ๊วยในอาเซียนที่ใช้ 3G (ประเทศบ๊วยนี่คือประเทศอะไรใครทราบบ้างครับ) อันนี้คิดว่า พ.อ.ดร.นที คงพูดตลก ๆ นะครับ คงไม่มีใครคิดจะทำวิธีนี้ในการหนีบ๊วยหรอกนะครับ

คำถามต่อไปคือทำไมไม่ประกาศ 4G ไปเลย คำตอบก็คือ มาตรฐานของ 4G จะกำหนดชัดเจนในปีหน้า และอาจต้องรออุปกรณ์อีก 3-4 ปี ส่วน 3G จะให้ประโยชน์อะไรบ้างคำตอบก็คือบริการ broadband จะไปอย่างทั่วถึง จะสามารถครอบคลุมประชากรถึงร้อยละ 80 ของประเทศได้โดยใช้ระยะเวลาน้อยกว่า 4 ปี โดย ADSL ปัจจุบันใช้ได้กับประชากรร้อยละ 10 เท่านั้น การมีบริการ 3G จะช่วยให้เราสามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจกับประเทศต่าง ๆ ได้ และเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน ให้ทั้งคนเมืองและชนบทมีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารมากขึ้น

นอกจากนี้ พ.อ.ดร.นที ยังได้พูดถึงโครงการต่อจาก 3G ว่าก็คือโครงการที่ในเมืองใหญ่ ๆ จะมีบริการผ่านโครงข่ายใยแก้วนำแสงทีเรียกว่า Fiber to the Home (FTTH) ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่ตัวผมเองเห็นด้วยว่าดีมาก และควรจะมีได้ตั้งนานแล้ว ในส่วนตัวผมมองว่าถ้าจุดใดสามารถที่จะเดินสายได้ก็ควรจะเดินสาย เพราะการสื่อสารแบบมีสายเช่นนี้จะเสถียรและมีประสิทธิภาพมากกว่าไร้สาย

จริง ๆ พ.อ.ดร.นที ยังได้พูดถึงเรื่องการประมูลใบอนุญาตว่าแตกต่างจากสัมปทานอย่างไร แต่ผมคงไม่มาพูดถึงในที่นี้นะครับ ขอพูดถึงแต่ในแง่มุมที่น่าจะทำให้เรามองเห็นประโยชน์ และอนาคตของเครือข่ายโทรคมนาคมในบ้านเรา เราก็มานับวันรอกันที่จะได้ใช้เครือข่าย broadband ความเร็วสูงกันเถอะครับ และช่วยภาวนาให้มันเสถียร และราคาอยู่ในจุดที่พอรับได้ด้วยนะครับ

วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2553

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและวิชาการ

สวัสดีครับ สำหรับวันนี้ผมมีหน่วยงานหน่วยงานหนึ่งมาแนะนำให้รู้จักกันครับ หน่วยงานนี้มีชื่อว่าสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและวิชาการ เคยได้ยินไหมครับ สำหรับผมเพิ่งจะเคยได้ยินเมื่อวันพุธที่ผ่านมานี่เอง คือในสัปดาห์นี้วันจันทร์ถึงวันพุธผมได้ไปเป็นวิทยากรอบรมเรื่อง UML ให้้กับบุคลากรของหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง ในวันพุธซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการอบรม ผมก็ได้ขึ้นไปทานอาหารกลางวันที่โรงอาหารและได้ไปเจอหน่วยงานนี้มาออกบูธอยู่ (ถ้ามาเริ่มออกวันพฤหัสผมก็คงยังไม่รู้ว่ามีหน่วยงานนี้) ด้วยความที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนก็เลยเดินเข้าไปสอบถามดูเพราะคิดว่าเป็นหน่วยงานเกิดใหม่ แต่จริง ๆ แล้วก็ไม่ใหม่มากนะครับเพราะเป็นหน่วยงานที่ผ่านพระราชกฤษฎีการเมื่อวันที่ 28 ก.ย. พ.ศ. 2545 และเริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 สำหรับหน่วยงานนี้มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการจัดประชุมและวิชาการในประเทศไทยครับ ฟัง ๆ ดูก็น่าจะคล้าย ๆ กับพวกรับจัดงานแต่งงานหรืองานอีเวนต์ต่างๆ นะครับ โดยจากแผ่นพับที่เขาแจกมาเขามีแพกเกจที่จะช่วยเชิญวิทยากร มีการจัดกิจกรรมสร้างความสามัคีให้กับทีมงาน การตรวจสุขภาพพื้นฐานให้พนักงาน การจัดคาราโอเกะ และอาหารกล่องด้วย สำหรับใครที่สนใจก็เข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ของหน่วยงานนี้ได้ที่นี่ครับ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและวิชาการ แต่เท่าที่ผมเข้าไปดูรู้สึกว่าจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์นะครับ อ้อเขามี twitter ด้วยนะครับคือ @MeetInThailand

วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทยและมุมมองของผมเกี่ยวกับการรับบริจาค

สวัสดีครับผมหายไปไม่ได้เขียนบล็อกเสียนานเลย เหตุผลก็คือไม่ว่างเช่นเดิม จริง ๆ เรื่องที่จะเล่านี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมาแล้วครับ แต่ไม่ว่างมาเขียนเลย ก่อนที่จะดองเอาไว้ให้ผ่านไปเป็นเดือนหรือเป็นปี ก็เลยหาช่องมาเล่าให้ฟังกันซะหน่อยครับ ก่อนอื่นผมจะมาแนะนำให้รู้จักกับมูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์กันครับ หลักการดำเนินงานของมูลนิธิก็คือสร้างครอบครัวให้กับเด็กกำพร้า คือเขาจะปลูกบ้านให้ และหาแม่ให้ สรุปก็คือเด็กกำพร้าเหล่านั้นจะมีบ้านและมีแม่ ถ้าใครสนใจรายละเอียดการดำเนินงานของมูลนิธิก็คลิกเข้าไปดูได้เลยครับ

ผมคิดว่าหลายคนอาจรู้จักมูลนิธินี้อยู่แล้ว แต่ก็คงมีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้จักเช่นผมเป็นต้น ผมได้รู้จักมูลนิธินี้เมื่อวันอาทิตย์ที่แล้วครับ โดยผมตั้งใจจะได้ไปดูอาหารตาที่ห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว ผมแวะไปทานข้าว (อาหารกาย) ที่โลตัสลาดพร้าวก่อน และเดินข้ามสะพานลอยหน้าโลตัสมาลงหน้าโรงเรียนหอวังแล้วเดินต่อมาที่เซ็นทรัล ก็ปรากฏว่าได้พบกลุ่มคนที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิมาขอประชาสัมพันธ์ (จะเป็นเจ้าหน้าที่จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้นะครับ แต่เอาเป็นอันว่าคิดบวกไว้ก่อนว่าเป็นเจ้าหน้าที่จริงแล้วกัน) ผมก็เลยลองรับฟังดู ก็ได้ทราบว่าจุดประสงค์ของมูลนิธิดังที่ได้บอกไปแล้ว  ซึ่งผมฟังดูแล้วก็คิดว่าเป็นโครงการที่ดีมาก  และสนใจที่จะช่วยเหลือ แต่ด้วยความที่ไม่เคยได้ยินเรื่องเกี่ยวกับมูลนิธินี้มาก่อน  ก็เลยบอกว่าจะขอมาศึกษาโครงการดูก่อน และขอพวกเอกสารแผ่นพับ หรือใบบริจาคที่สามารถกรอกและส่งกลับไปทางไปรษณีย์ได้ ปรากฏว่าทางเจ้าหน้าที่ไม่มีครับ มีแต่แบบฟอร์มใบบริจาคซึ่งผมจะต้องกรอกและคืนให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งในแบบฟอร์ดังกล่าวผมก็ต้องให้รายละเอียดส่วนตัว และหมายเลขบัตรเครดิต ซึ่งผมไม่สบายใจ และรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะให้ข้อมูลในส่วนนั้น เพราะก็เห็นข่าวกันบ่อย ๆ เรื่องกลโกงทั้งหลาย จะขอใบบริจาคมากรอกและส่งกลับไปเอง เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าไม่ได้เพราะมีหมายเลขกำกับไว้ และเมื่อเห็นผมทำท่าไม่เชื่อเขาก็พยายามแสดงจดหมายราชการจากกระทรวงการคลังเกี่ยวกับมูลนิธินี้ให้ผมดูอีก (ซึ่งเขาคงไม่รู้หรอกว่ายิ่งให้ผมดูเท่าไรแทนที่ผมจะเชื่อผมกลับไม่เชื่อมากขึ้น) ผมถามเขาว่ามูลนิธิมีเว็บไซต์ไหมเขาก็บอกว่ามีผมก็เลยบอกว่างั้นเดี๋ยวผมมาศึกษาข้อมูลจากเว็บ และอาจจะบริจาคผ่านทางหน้าเว็บ ก็ได้รับคำชี้แจงอีกว่าการบริจาคผ่านหน้าเว็บยังไม่สามารถบริจาคได้ อยากจะให้ผมบริจาคไปเลย ซึ่งตอนนั้นในความรู้สึกผมเหมือนกับเขามาขายของและพยายามจะปิดการขายให้ได้ แต่หลังจากนั้นก็พยายามเข้าใจครับว่าเขาคงอยากจะทำยอดบริจาคให้มูลนิธิ  แต่สุดท้ายผมก็ไม่ได้บริจาค และกลับมามาค้นข้อมูลจากเว็บก็ได้พบหน้าเว็บไซต์ของมูลนิธิตามที่ได้กล่าวไปในตอนต้นแล้ว

ประเด็นที่ผมอยากจะชี้ให้เห็นในแง่การประชาสัมพันธ์มูลนิธิหรือโครงการอะไรที่เป็นสาธารณกุศลแบบนี้ในความเห็นของผมก็คือ แทนที่จะให้เจ้าหน้าที่มาเน้นเงินบริจาค ผมว่าน่าจะเน้นประชาสัมพันธ์ให้รู้จักกับโครงการมากกว่า มูลนิธิน่าจะจัดทำแผ่นพับซึ่งมีแบบฟอร์มบริจาคที่สามารถส่งกลับทางไปรษณีย์ได้   หรืออีกวิธีหนึ่งก็อาจจะแนบใบบริจาคมากับใบแจ้งยอดบัตรเครดิต อีกจุดหนึ่งก็คือเรื่องสถานที่ที่เขาไปขอรับบริจาค ถ้าใครมาที่เซ็นทรัลลาดพร้าวบ่อยๆ คงจะทราบนะครับว่า บริเวณทางเดินจากหอวังมาเซ็นทรัลนั้น จะเป็นที่ซึ่งมูลนิธิต่าง ๆ นา ๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาขอรับบริจาค ผมขอใช้คำว่าผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนครับ เพราะเหมือนเขาจะตกลงกันไว้จะไม่มาพร้อมกัน เช่นสัปดาห์นี้รับบริจาคเรื่องโลงศพ สัปดาห์ต่อมาจะมีเด็กนักเรียนใส่ชุดนักเรียนเอาตุ๊กตาบ้าง เอาสติ๊กเกอร์บ้างมาขายเป็นต้น ซึ่งเราก็ไม่รู้นะครับว่าที่มายืน ๆ ขอบริจาคกันนี่มันจริงหรือไม่จริง ดังนั้นเมื่อมูลนิธิมาใช้พื้นที่ตรงนี้ก็เลยอาจจะถูกเหมารวมว่าเป็นเรื่องไม่จริงไปด้วย

ส่วนตัวผมจริง ๆ แล้วเรื่องบัตรเครดิตที่กลัวนี่ไม่ได้กลัวว่าเขาจะเอาไปซื้ออะไรเยอะแยะหรอกครับ  กลัวเขาจะโทรกลับมาด่าเอาว่าเสียเวลาพูดล่อหลอกอยู่ตั้งนานแม่..มีวงเงินในบัตรแค่นี้เองเหรอ...