วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

อธิบายปัญหาการคำนวณสส.บัญชีรายชื่อ

วันนี้พอมีเวลานิดหน่อยเลยอยากจะมาพูดถึงปัญหาการเมืองที่เป็นอยู่ตอนนี้ จริง ๆ ปัญหานี้เป็นมานานแล้ว และเพิ่งได้ข้อสรุปชัดเจนเมื่อวานนี้ นั่นคือการคำนวณสส.แบบบัญชีรายชื่อ คือผมจะมาสรุปประเด็นว่าเราเถียงเรื่องอะไรกันอยู่ เพราะจากการคุยกับคนใกล้วตัวก็ดูเหมือนยังไม่เข้าใจชัดเจนนัก

เริ่มจากระบบเลือกตั้งครั้งนี้ เรายังมีสส.ที่เลือกตั้งจากเขต และสส.แบบบัญชีรายชื่อเหมือนที่ผ่านมา เพียงแต่คราวนี้เราใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียวเลือกสส.ทั้งสองแบบ โดยกระบวนการคือเขาจะเอาคะแนนเลือกตั้งทั้งหมดที่แต่ละพรรคได้ไปหาสิ่งที่เรียกว่าสส.พึงมี จากนั้นก็มาดูรายเขตว่าใครชนะรายเขตบ้าง จากนั้นจึงไปหาจำนวนสส.บัญชีรายชื่อ โดยเอาสส.พึงมี-สส.เขต  เช่นสมมติพรรค A มีสส.พึงมี 130 คน และถ้านับรายเขตแล้วชนะมา 120 เขต พรรค A ก็จะได้สส.บัญชีรายชื่อ 130-120 ก็คือ 10 คน

วิธีการคำนวนสส.พึงมีก็คือ เริ่มจากหาก่อนว่าจากผู้ที่มาลงคะแนนทั้งหมดและหักบัตรเสียกับบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนนไปแล้ว กี่คะแนนจึงจะได้สส. 1 คน ผมจะสมมติเลขกลม ๆ ว่าเลขนี้คือ 35,000,000 คราวนี้เรากำหนดให้ในสภาเรามีสส. ได้ 500 คน ดังนั้นเอา 35,000,000 / 500 =  70,000 นั่นคือ 70,000 คะแนนได้สส.หนึ่งคน ดูเลขนี้ไว้ให้ดีนะครับ โดย 500 คนนี้จะแบ่งเป็นสส.เขต 350 คน และบัญชีรายชื่อ 150 คน

ขั้นต่อไปคือเอาคะแนนที่ได้ทั้งหมดที่แต่ละพรรคได้มาหารด้วย 70,000 ก็จะได้สส.พึงมีของพรรคนั้น เช่นพรรค A ได้รับเลือกตั้งมา 7,000,000 คะแนน ก็เอา 7,000,000/70,000 = 100 นั่นคือสส.พึงมีของพรรค A คือ 100 คราวนี้สมมติพรรค A ชนะการเลือกตั้งแบบเขตมา 80 เขต ก็จะได้สส.บัญชีรายชื่ออีก 20 คน รวมเป็น 100 คน ซึ่งวิธีการนี้จะไม่เป็นปัญหาเลยถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ที่เขาเรียกว่าโอเวอร์แฮงค์ คือ พรรคการเมืองบางพรรคดันได้สส.เขตเกินจำนวนสส.พึงมี เช่นพรรค A จากตัวอย่างนี้ดันได้สส.เขต 110 คน ซึ่งเราไม่มีสิทธิไปตัดคะแนนสส.เขตของพรรค A นะครับ นั่นคือพรรค A จะต้องมีสส.เขต 110 คน โดยไม่มีสส.บัญชีรายชื่อ แต่จำนวนสส.ที่เกินพึงมีมาของพรรค A มันจะไปโป่งอยู่ในส่วนของสส.บัญชีรายชื่อครับ และนี่คือที่มาของปัญหาว่าเราต้องเกลี่ยมันให้เหลือ 150 เท่าเดิม ยังงงใช่ไหมครับมาดูตัวอย่างกัน

พิจารณาตารางนี้ครับ

พรรคสส.พึงมีสส.เขตสส.บัญชีรายชื่อ
A1701800
B13011020
C1103080
D902961
E010
F000
G000
Total500350161

จากตารางจะเห็นว่า พรรค A มีสส.เขตเกิน สส.พึงมีอยู่ 10 คน พรรค E,F,G  แต่ละพรรคมีจำนวนคะแนนรวมไม่ถึง 70,0000 ดังนั้นไม่มีสส.พึงมีเลยคือ 0 แต่สมมติว่าพรค E ชนะการเลือกตั้ง 1 เขต ดังนั้นเขาต้องได้สส. 1 คนจากเขตนี้ ดังนั้นจำนวนสส.ที่เกินมาทั้งหมด 11 คน (10 จากพรรค A และ 1 จากพรรค E) จะไปโป่งอยู่ในส่วนบัญชีรายชื่อ ซึ่งทำให้บัญชีรายชื่อที่ควรมี 150 คน กลายเป็น 161 คน ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำต่อไปคือต้องเกลี่ย 161 นี้ให้เหลือ 150 โดยพรรค A และ E ไม่เกี่ยวแล้ว เพราะได้เกินไปแล้ว และการเกลี่ยนี่แหละคือปัญหาครับ

ในมุมมองหนึ่งคือการเกลี่ยควรจะเกลี่ยจากพรรค B,C, และ D เท่านั้น เพราะพรรคเหล่านี้ได้เกิน 70,000 คะแนน ซึ่งเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำของสส.พึงมี แต่กกต.กลับใช้อีกมุมมองหนึ่งคือ เขาไปเอาพรรค F และ G ที่เข้ามาเกลี่ยด้วย โดยอ้างว่าพรรคเหล่านี้ก็ได้คะแนนเหมือนกัน และนี่คือปัญหาที่ถกเถียงกันตอนนี้ครับ เพราะถ้าใช้ใช้แนวทางนี้ พรรคที่ได้คะแนนไม่ถึง 70,000 ก็มีสิทธิได้สส.หนึ่งคนครับ ในสถาณการณ์จริงตอนนี้คือตั้งแต่ 60,000 กว่า ถึง 30,000 กว่าได้พรรคละหนึ่งเสียง และยังทำให้พรรคที่เคยได้บัญชีรายชื่ออยู่แล้ว พอมาเกลี่ยเสียงก็จะต้องหายไปบ้างอยู่แล้ว พอมาทำแบบนี้จะทำให้เสียงหายเพิ่มมากขึ้นไปอีก

ซึ่งในส่วนตัวผมแล้วผมเห็นว่าทางที่ถูกต้องมันควรจะเป็นทางแรกนะครับ เพราะคุณต้องยึดตัวเลข 70,000 เป็นที่ตั้ง 70,000 คะแนนได้สส.หนึ่งคน ถ้าไม่ถึง 70,000 ยังไงก็ต้องไม่ได้ อีกอย่างถ้าไม่เกิดเหตุการณ์โอเวอร์แฮงค์พรรค F กับ G สอบตกไปแล้วนะครับ แต่ทำไมพอโอเวอร์แฮงค์ถึงมีสิทธิกลับมาสอบผ่านได้ ไม่ฟันธงนะครับ แค่ความคิดส่วนตัวไปตัดสินกันเอาเอง แค่อยากเขียนบล็อกสรุปปัญหาไว้ให้เข้าใจกันแบบง่าย ๆ เท่านั้นครับ