วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2563

เครื่องมือเพื่อทำนายอัตราการเสียชีวิตจาก COVID-19

Photo by Avi Richards on Unsplash

นักวิจัยจากหลายสถาบันในอังกฤษได้พัฒนาขั้นตอนวิธีสำหรับทำนายอัตราการตายจาก COVID-19 นักวิจัยได้รวบรวมข้อมูลจากคนไข้กว่า 8 ล้านคน โดยข้อมูลของคนไข้ 6 ล้านคนถูกใช้เป็นตัวสร้างตัวแบบโดยใช้ช่วงเวลา 97 วัน จากวันที่ 24 มกราคม ถึง 30 เมษายน ข้อมูลของอีก 2.2 ล้านคนใช้เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของตัวแบบบนช่วงเวลาที่ต่างกันสองช่วงในรอบของการระบาดรอบแรก โดยตัวแบบทำนายว่า 5% จากคนที่ที่ถูกทำนายว่ามีปัจจัยเสี่ยงสูงมากจาก COVID-19 จะเป็น 75% ของผู้ที่ตายในช่วงเวลาที่ศึกษา 97 วันแรก นักวิจัยคาดหวังว่าตัวแบบนี้จะช่วยในการแบ่งกลุ่มความเสี่ยงของประชากรสำหรับการจัดการด้านสาธารณสุขในการระบาดรอบสอง และช่วยสนับสนุนการแบ่งปันด้านการจัดการความเสี่ยง

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Independent (U.K.)

วันศุกร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2563

บริษัทความมั่นคงทางไซเบอร์พบว่าแฮกเกอร์ขายข้อมูลผู้เลือกตั้งในอเมริกา 186 ล้านคน

Consumer data for sale.Trustwave

Trustway บริษัทด้านความมั่นคงทางไซเบอร์พบว่าแฮกเกอร์กำลังขายข้อมูลส่วนบุคคลของคนอเมริกัน 245 ล้านคน รวมถึงข้อมุลการลงทะเบียนของผู้เลือกตั้ง 186 ล้านคน โดยแฮกเกอร์เรียกตัวเองว่า Greenmoon 2019 และได้สร้างตัวตนปลอมขึ้นมาเพื่อรับเงิน โดยรวมถึงการใช้กระเป๋าเงินบิตคอยน์ด้วย Trustwave ได้รายงานเรื่องนี้ให้กับ FBI แล้ว Trustwave บอกว่าข้อมูลเหล่านี้เมื่ออยู่ในมือผู้ไม่หวังดีก็จะสามารถนำไปใช้เพื่อสร้างการบิดเบือนข้อมูลผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ อีเมลล่อลวง ข้อความและโทรศัพท์หลอกลวงทั้งก่อน ระหว่างและหลังการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีการโต้แย้งผลการเลือกตั้ง

อ่านข่าวเต็มได้ที่: NBC News

วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2563

เทคนิคที่จะทำให้ AI เรียนรู้ได้โดยไม่ต้องมีข้อมูลฝึกหัด

 

Sample images from the MNIST dataset.WIKIMEDIA

นักวิจัยจาก University of Waterloo ในแคนาดานำเสนอตัวแบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI ที่มีความสามารถที่เรียกว่า การเรียนรู้แบบ "less than one”-shot (LO-shot)" นั่นคือระบบสามารถรับรู้วัตถุที่นอกเหนือสิ่งที่มันเคยเรียนรู้มาได้อย่างแม่นยำ นักวิจัยสาธิตแนวคิดนี้โดยใช้ภาพ 60,000 ภาพจากชุดข้อมูลของ MNIST ซึ่งเป็นรูปลายมือของการเขียนเลข 0 ถึง 9 โดยจากงานวิจัยก่อนหน้าของ Massachusetts Institute of Technology ได้กลั่นรูปภาพให้เหลือรูปภาพที่ใช้ฝึกอยู่เพียง 10 รูปภาพ โดยใช้เพียง 10 รูปภาพนี้ ก็ทำให้ AI สามารถเรียนรู้ลายมือของการเขียนเลข 0-9 ได้ ซึ่งนักวิจัยจาก Waterloo ต้องการจะลดจำนวนรูปภาพที่ใช้ฝึกลงไปอีก โดยการพยายามรวมภาพการฝึกเลขหลาย ๆ ตัวไว้ในภาพเดียว โดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า Soft labels ซึ่งพยายามจับส่วนที่เหมือนกันของตัวเลขแต่ละตัว จากนั้นก็ฝึกระบบด้วยข้อมูลอย่างเช่น รูปนี้มีเปอร์เซนต์ที่จะเป็นเลข 3 อยู่ 60%  เป็นเลข 8 อยู่ 30% และเป็นเลข 0 อยู่ 10% เป็นต้น ซึ่งจากการทดลองพบว่าตัวอย่างเพียงสองตัวอย่างอาจแยกความแตกต่างได้เป็น หมื่นหรือเป็นล้านคลาส ซึ่งนักวิจัยบอกว่าประสิทธิภาพของวิธีนี้ขึ้นอยู่กับชุดข้อมูลที่จะถูกนำมาใช้ด้วย

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  MIT Technology Review

 

วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2563

SocialBlock: เทคโนโลยีที่จะเพิ่มความมั่นคงของข้อมูลในเมืองอัจฉริยะ

Photo: Kaspars Upmanis / unsplash.com

นักวิจัยจาก Universitat Oberta de Catalunya (UOC) ในสเปน ได้พัฒนาสถาปัตยกรรมมที่จะสร้างแอปพลิเคชันการจัดการข้อมูลแบบที่มีผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง (user-centric) โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีบล็อกเชน (blockchain) แนวคิดเบื้องหลังของ SocialBlock คือ กระจายศูนย์การจัดเก็บข้อมูลและจัดการ เพื่อให้การควบคุมข้อมูลกลับไปอยู่ในมือของคนที่สร้างมันขึ้นมา แนวคิดนี้จะมีผลอย่างมีนัยสำคัญกับเมืองอัจฉริยะที่ใช้อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (internet of things) เซ็นเซอร์ (sensor) โดรน (drone) บิ๊กดาต้า และเทคโนโลยีอื่น ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพของชีวิต จริง ๆ มีโครงการในลักษณะนี้อยู่บ้างแล้ว แต่จะทำกับส่วนเล็ก ๆ โครงการนี้จะเป็นโครงการแรกที่จะทำกับเมืองทั้งเมือง  

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Universitat Oberta de Catalunya (Spain)

วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2563

รัฐบาลสหรัฐใช้ AI เพื่อคัดและตัดข้อบังคับที่ล้าสมัย

ภาพจาก ACM

Office of Management and Budget (OMB) ของทำเนียบขาวบอกว่ารัฐบาลกลางจะใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI ในการลบข้อกำหนดที่ล้าสมัย และไม่สอดคล้องกันออกจากกฏข้อบังคับของรัฐบาล โดยโครงการนำร่องเริ่มเมื่อปี 2019 ที่ Department of Health and Human Services โดยใช้การเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) และการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (natural language processing) เปิดเผยให้เห็นถึงความผิดพลาดด้านเทคนิค และความล้าสมัยในกฏเกณฑ์มีอยู่  ทำเนียบขาวบอกว่าจะใช้ AI และเทคโนโลยีอื่น ๆ ในการหาจุดที่กฏต่าง ๆ จะถูกอัพเดตให้ทันสมัย และขจัดข้อผิดพลาดทางเทคนิคออกไป

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Reuters

วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2563

JavaScript ยังคงครองมงกุฏภาษาเขียนโปรแกรมที่ได้รับความนิยม

Photo by Bharat Patil on Unsplash

จากการสำรวจของ SlashData ในหัวข้อ State of the Developer Nation Q3 2020 พบว่าภาษา JavaScript ยังคงครองมงกุฏภาษาสำหรับนักพัฒนา โดยมีจำนวนนักพัฒนาเพิ่มชึ้น 5 ล้านคนนับตั้งแต่ปี 2017 โดยตอนนีืมียอดรวมนักพัฒนาอยู่ที่ 12.4 ล้านคนทั่วโลก โดย Python อยู่ที่อันดับสอง มียอดรวมนักพัฒนาอยู่ที่ 9 ล้านคน เพิ่มขึ้นมา 2.2 ล้านคนจากปีที่แล้ว เหตุผลก็คือมันถูกนำไปใช้ในการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) วิทยาศาสตร์ข้อมูล (data science) และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) ภาษา Java อยู่อันดับที่ 3 ในการจัดอันดับ อยู่ที่ 8.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.6 ล้านนับจากปี 2017 Oracle บอกว่ามากกว่า 69% ของนักพัฒนาแบบเต็มเวลายังใช้ Java โดยมี Java Virtual Machine ถูกติดตั้งอยู่กว่า 51พันล้านตัว

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  ZDNet

วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2563

WEF บอกว่าการเข้ามาของเครื่องจักรจะเพิ่มงานมากกว่าทำลายงาน

ภาพจาก ACM


World Economic Forum (WEF) ทำนายว่าความก้าวหน้าด้านหุ่นยนต์และปัญญาประเดิษฐ์จะมีผลให้จำนวนงานสุทธิเพิ่มสูงขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า แม้ว่าการใช้งานเครื่องจักรอย่างกว้างขวางจะทำให้ตำแหน่งงานหายไปถึง 85 ล้านตำแหน่งในปี 2025 แต่ในขณะเดียวกันงานอีก 97 ล้านตำแหน่งจะถูกสร้างขึ้นมาใหม่ นั่นคือจะมีงานเพิ่มขึ้นมา 12 ล้านตำแหน่ง WEF บอกว่าจะต้องมีจำนวนการฝึกทบทวนและเพิ่มทักษะใหม่ในหมู่คนงานเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะพร้อมกับงานในอนาคต WEF ยังบอกว่าทั้งการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและ COVID-19 จะทำให้การทำลายล้างเพิ่มเป็นสองเท่าสำหรับคนทำงาน โดยการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีจะทำให้คนงานต้องเปลี่ยนสภาพแวดล้อมการทำงาน แต่ COVID-19 จะนำไปสู่การเสียงาน

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  CNBC

วันเสาร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ใช้ AI เพื่อเปลี่ยนแผนที่โบราณเป็นแผนที่ดาวเทียม

Images: Escola Politécnica da Universidade de Pernambuco/IEEE

นักวิจัยจาก Polytechnic University of Pernambuco ในบราซิล ได้พัฒนาขั้นตอนวิธีทางการเรียนรู้ของเครื่องเพื่อแปลงแผนที่โบราณเป็นแผนที่ดาวเทียมในรูปแบบเหมือนของ Google ซึ่งประโยชน์ก็คือจะสามารถบอกได้ว่ามีการใช้งานและมีการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่อย่างไรเมื่อเวลาเปลี่ยนไป และยังแสดงให้เห็นถึงผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจที่มีผลต่อการสร้างเมือง นักวิจัยใช้เครื่องมือด้าน AI ที่มีอยู่คือ Pix2pix ซึ่งใช้โครงข่ายประสาทเทียม 2 ตัว หนึ่งใช้สร้างภาพจากชุดข้อมูล อีกหนึ่งใช้ตรวจสอบว่าภาพที่สร้างขึ้นเป็นภาพหลอก (fake) หรือไม่ ซึ่งเมื่อจำมาใช้ร่วมกันแล้วจะสร้างภาพที่เหมือนจริงของข้อมูลทางประวัติศาสตร์ นักวิจัยบอกว่าพวกเขากำลังปรับปรุงความละเอียดของภาพผลลัพธ์อยู่ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: IEEE Spectrum

วันศุกร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2563

NHS ใช้โดรนเพื่อส่งชุดข้อมูลโคโรนาไวรัสระหว่างโรงพยาบาล

Photograph: Annalisa Russell-Smith/PA

National Health Service (NHS) ของอังกฤษ กำลังทดสอบการใช้โดรนเพื่อส่งตัวอย่าง Covid-19 ผลเลือด และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลระหว่างโรงพยาบาล โดรนที่ถูกควบคุมจากระยะไกลในตอนเริ่มต้นนี้จะบินระหว่างโรงพยาบาล Essex's Broomfield กับ Basildon และแล็บพยาธิวิทยาของ Basildon โครงการนี้ดำเนินการโดย Apian ที่เป็นบริษัทสตารต์อัพด้านโดรนเพื่อสุขภาพ โดยได้เงินทุน 1.3 ล้านปอนด์ จากโครงการอวกาศของอังกฤษ โดยมีความหวังที่จะสร้างเครือข่ายทางอากาศสำหรับโดรนที่ถูกนำทางโดยระบบ GPS โดรนที่ใช้ในการทดลองนี้จะบิดที่ระดับความสูง 90 เมตร และทนทานต่อสภาพอากาศที่เลวร้าย โดยผลที่คาดหวังจากโครงการนี้คือลดเวลาในการขนส่ง ทำให้บุคคลากรของ NHS สามารถไปทำงานอย่างอื่น ลดการสัมผัสที่ไม่จำเป็น และลดความเสี่ยงของการระบาดในระลอกสอง

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  The Guardian (U.K.)

วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2563

พบประตูลับแอบถ่ายรูปในสมาร์ตวอทช์ของเด็ก

ภาพจาก Ars Technica

นักวิจัยจากบริษัทด้านความมั่นคงของนอร์เวย์คือ Mnemonic พบประตูลับ (backdoor) ที่ยังไม่เคยมีการพบมาก่อน ในสมาร์ตวอทช์ X4 ของบริษัท Xplora ซึ่งเน้นทำตลาดกับกลุ่มเด็ก นักวิจัยบอกว่าข้อความที่เข้ารหัสไว้ในการกระตุ้นให้ประตูลับทำงาน โดยมันจะทำงานอย่างลับ ๆ ในการรายงาน  ตำแหน่งของนาฬิกา อัดและส่งภาพไปยังเซิร์ฟเวอร์ของ Xplora จากนั้นโทรศัพท์โดยส่งเสียงที่ได้ยินจากหูฟังออกไป Xplora บอกว่ากำลังพัฒนาตัวแก้ไขให้กับ X4 ตามที่นักวิจัยจาก Mnemonic แนะนำ 


อ่านข่าวเต็มได้ที่: Ars Technica

  

วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ของญี่ปุ่นแสดงให้เห็นผลของความชื้นที่มีผลกับการแพร่กระจายของโคโรนาไวรัส



ภาพจาก: ACM

นักวิจัยจาก  Kobe University และบริษัทวิจัยใหญ่คือ Riken ของญี่ปุ่น พบว่าความชื้นมีผลอย่างมากต่อการแพร่กระจายของอนุภาคไวรัส นักวิจัยได้จำลองแบบการแพร่กระจายของอนุภาคที่คล้ายกับอนุภาคไวรัสจากผู้ติดเชื้อ ในสภาพแวดล้อมที่อยู่ในอาคารปิดโดยใช้ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ Fugaku ผลการจำลองพบว่าจำนวนอนุภาคจากละอองน้ำลายเพิ่มมากขึ้นกว่า 2 เท่า ในที่ที่มีความชื้นต่ำกว่า 30%  เมื่อเทียบกับที่ที่มีความชิ้น 60% หรือมากกว่า ซึ่งตรงนี้แสดงให้เห็นว่าไวรัสเสี่ยงที่จะแพร่กระจายได้มากขึ้นในพื้นที่ปิด และแห้ง ในช่วงฤดูหนาว นักวิจัยยังพบว่า Face Shield ให้ผลในการป้องกันไวรัสได้น้อยกว่าหน้ากากอนามัย

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Reuters


วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ระบบรู้จำใบหน้าจะเข้ามาสู่ชีวิตประจำวันในสิงคโปร์

ภาพจาก: GovTech

คนสิงคโปร์จะสามารถเข้าใช้บริการของรัฐ และบริการอื่น ๆ ได้ผ่านทางระบบรู้จำใบหน้า ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณสมบัติของโปรแกรมระบุตัวตนของชาติ (national identity) ของ SingPass โดยส่วนยืนยันใบหน้าของ SingPass จะยอมให้ผู้ใช้ล็อกอินเข้าระบบได้ผ่านทางตู้ข้อมูลข่าวสาร (kiosk) จากคอมพิวเตอร์ที่บ้าน แท็บเล็ต และโทรศัพท์มือถือ รัฐบาลสิงคโปร์บอกว่าข้อมูลใบหน้าของผู้ใช้จะถูกใช้เพื่อจุดประสงค์ที่ต้องการเท่านั้น โดยจะถูกเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์เป็นเวลา 30 วัน และจะถูกลบทิ้งไป เทคโนโลยีนี้ยังป้องกันการล็อกอินโดยใช้รูปถ่าย หน้ากาก และการหลอกลวงเชิงลึก (deepfake) และการใช้ภาพหน้าของคนที่บันทึกไว้ในการล็อกอินอีกด้วย 

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  NBC News

วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2563

บริการคอมพิวเตอร์บนเครื่องบินอาจเปิดช่องโหว่ให้ถูกแฮก


ภาพจาก Chris Ratcliffe/Bloomberg

รายงานจาก Government Accountability Office (GAO) ซึ่งมุ่งตรงไปที่ Federal Aviation Administration (FAA) โดยบอกว่าทาง FAA ขาดการให้ความสำคัญด้านความเสี่ยงทางไซเบอร์ ไม่มีการพัฒนาการอบรมด้านความมั่นคงไซเบอร์ ไม่มีการทดสอบช่องโหว่ของระบบอย่างเข้มข้น โดยมองว่าระบบคอมพิเตอร์ที่สายการบินพาณิชย์ให้บริการนั้นมีความซับซ้อนมากขึ้น อย่างเช่นเครือข่ายไร้สาย ความบันเทิงจากที่นั่งผู้โดยสาร อุปกรณ์บอกตำแหน่ง และอุปกรณ์ที่ส่งข้อมูลมาที่ภาคพิ้นดิน ซึ่ง GAO ขอให้ FAA เพิ่มการป้องกันระบบเหล่านี้ให้มากขึ้น ถึงแม้ตอนนี้จะยังไม่รายงานด้านการคุกคามระบบเข้ามาก็ตาม ทาง GAO บอกว่าการเชื่อมต่อระหว่างเครื่องบินกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เพิ่มมากขึ้น และแนวทางการคุกคามทางไซเบอร์ จะมีผลในการเพิ่มความเสี่ยงต่อเที่ยวบินที่จะเกิดขึ้นต่อไป และจนกว่า FAA จะเพิ่มความแข็งแรงให้กับการปกป้องระบบของตัวเองโดยประเมินจากปัจจัยความเสี่ยงต่าง ๆ ให้ถี่ถ้วน ก็จะไม่มีทางแน่ใจได้เลยว่าทาง FAA ได้พัฒนากลไกที่เพียงพอต่อการปกป้องความเสี่ยงทางไซเบอร์ที่จะเกิดขึ้นกับเครื่องบินพาณิชย์ได้อย่างเพียงพอ 

 อ่านข่าวเต็มได้ที่: Bloomberg

วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2563

การฉายภาพเพื่อหลอกระบบขับอัตโนมัติของ Tesla

จากการฉายภาพอย่างรวดเร็ว นักวิจัยสามารถหลอกให้ Tesla Model X หยุดได้.PHOTOGRAPH: JASPER JUINEN/BLOOMBERG/GETTY IMAGES

Ben Gurion University of the Negev (BGU) ในอิสราเอล พบวิธีหลอกระบบผู้ช่วยขับอัตโนมัติของ Tesla โดยการฉายภาพวัตถุลงบนถนน หรือฉายภาพเครื่องหมายจราจรอย่างเครื่องหมายให้หยุดรถ ลงบนบิลบอร์ดโฆษณา ซึ่งการทำแบบนี้จะทำให้ผู้ช่วยขับอัตโนมัติหยุดรถ หรือหักพวงมาลัยหลบ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก Tesla ได้ส่งอีเมลถึงนักวิจัยบอกว่า ระบบขับอัตโนมัติของ Tesla ไม่ควรที่จะใช้ในการขับเคลื่อนอัตโนมัติเต็มรูปแบบ แต่ระบบถูกออกแบบมาเพื่อใช้โดยต้องมีคนขับที่พร้อมจะเข้ามาทำหน้าที่ตลอดเวลา

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Wired

วันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2563

พนักงานยึดมั่นกับนโยบายด้านความมั่นคงไม่เท่ากัน

ภาพจาก Binghamton University

นักวิจัยจากหลายสถาบันซึ่งนำโดย State University of New York's Binghamton University  พบว่าพนักงานจะทำตามนโยบายด้านความปลอดภัยน้อยลงถ้านโยบายนั้นไม่ตรงกับวิธีการปฏิบัติงานจริงของพนักงาน นักวิจัยศึกษาการปฏิบัติตามนโยบายโดยแบ่งกลุ่มพนักงานในโรงพยาบาลเป็นสามกลุ่มคือหมอ พยาบาล และฝ่ายสนับสนุน ผลการทดสอบพบว่าหมอมักจะไม่สนใจที่จะล็อกการเข้าใช้เครื่อง เนื่องจากต้องรีบไปดูแลคนไข้ นั่นคือในสายตาของหมอการดูแลคนไข้สำคัญกว่าการรั่วของข้อมูล ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนจะไม่ค่อยลืมล็อกการเข้าใช้เครื่อง เพราะกลัวการถูกลงโทษหรือไล่ออกถ้าทำข้อมูลรั่ว นักวิจัยแนะนำว่าในการจะออกนโยบายอะไรผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงสารสนเทศควรจะพูดคุยกับผู้ปฏิบัติงานในช่วงของการสร้างนโยบาย นอกจากนี้ยังแนะนำว่า สำหรับระบบในโรงพยาบาล ควรจะมีระบบการล็อกและปลดล็อกอัตโนมัติเมื่อผู้ใช้งานเข้ามาใช้งานหรือเลิกใช้งานเครื่อง

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Binghamton University

วันศุกร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2563

If we burn you burn with us

 ไม่ได้เขียน #ศรัณย์วันศุกร์มาหลายศุกร์เพราะไม่ว่าง ศุกร์นี้ก็ยังไม่ว่าง แต่รู้สึกอยากเขียน มันมีอะไรหลายอย่างที่ประดังประเดเข้ามาในสถานการณ์ตอนนี้ แต่พอจะลงมือเขียนจริง เรื่องต่าง ๆ มันเยอะซะจนถ้าเขียนอาจต้องนั่งเขียนและเรียบเรียงเป็นเวลาหลายชั่วโมง ซึ่งไม่มีเวลามากขนาดนั้น พอดีนึกถึงฉากนี้ในหนังเรื่องนี้ ซึ่งการชูสามนิ้วก็มาจากหนังเรื่องนี้แหละครับ คิดว่ามันน่าจะพูดแทนใจคนหลาย ๆ คนได้ 

Katniss Everdeen:

I have a message for President Snow: You can torture us, and bomb us, or burn our districts to the ground. But do you see that? Fire Is Catching... If we burn... you burn with us!.

ฉันมีข้อความจะฝากถึง ประยุทธ์ เอ๊ยไม่ใช่ ประธานาธิบดี Snow แกอาจฉีดน้ำผสมสาร เอ๊ยไม่ใช่ ทรมานเรา ยิงแก๊สน้ำตา เอาอีกแล้วไม่ใช่ ทิ้งระเบิดหรือเผาเขตของเราจนราบเป็นหน้ากลอง แต่แกเห็นนั่นไหม เปลวไฟได้ถูกจุดขึ้นแล้ว ถ้าเราต้องมอดไหม้ แกก็ต้องมอดไหม้ไปกับเราด้วย

นักวิจัยจากอิสราเอลพบช่องโหว่จากการให้บริการโทรทัศน์

photo credit: ROBERT GALBRAITH/REUTERS

นักวิจัยจากบริษัท Israeli Guardicore ของอิสราเอล พบช่องโหว่ที่ทำให้แฮกเกอร์สามารถดังฟังผู้ใช้จากช่องว่างในตัวรีโมทคอนโทรล (remote control) ของผู้ให้บริการเคเบิลทีวี Comcast ซึ่งรองรับการสั่งงานด้วยเสียง และสนับสนุนการสื่อสารผ่านคลื่นวิทยุจากระยะไกล ช่องโหว่นี้จะทำให้แฮกเกอร์เปิดใช้งานตัวรีโมทได้แม้จะอยู่ห่างออกไป และสั่งให้อัดเสียง ซึ่งก็จะสามารถอัดเสียงที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมใกล้  ๆ ตัวรีโมท โดยตัวรีโมทจะตรวจสอบว่ามีการอัพเดตหรือไม่ทุก ๆ 24 ชั่วโมง ซึ่งช่วงเวลาการตรวจสอบนี้เองเป็นช่วงที่แฮกเกอร์ใช้ในการจู่โจม นักวิจัยแนะนำให้ Comcast ร่วมมือกับบริษัทในการแก้ไขช่องโหว่นี้ และแนะนำให้ผู้ผลิตรีโมทคอนโทรลที่สั่งการด้วยเสียงทดสอบด้วยความระมัดระวังเพื่อป้องกันช่องโหว่ที่คล้าย ๆ กัน

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Jerusalem Post


วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ศาลสูงของ EU จำกัดอำนาจของรัฐที่จะสอดแนมข้อมูลอินเทอร์เน็ตบนมือถือของประชาชน

ภาพจาก https://www.ekathimerini.com/

ศาลสหภาพยุโรปตัดสินว่าประเทศที่เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปไม่สามารถที่จะเก็บข้อมูลการใช้งานอินเทอร์เน็ตของประชาชน โดยศาลตัดสินว่าคสชวามพยายามที่จะสั่งให้บริษัทโทรศัพท์ และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เก็บข้อมูลการใช้งานของผู้ใช้ได้ตามอำเภอใจ นั้นขัดกับกฎของสหภาพยุโรป แต่ศาลก็ยอมรับว่ามันอาจมีสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ ที่ประเทศสมาชิกอาจต้องละเมิดกฎความเป็นส่วนตัวของข้อมูลที่ส่งผ่านเครือข่ายอิเลกทรอนิกส์ แต่การแทรกแซงเหล่านั้นจะต้องมีกลไกด้านความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ และต้องถูกตรวจสอบด้วยองค์กรที่เป็นอิสระ การตัดสินนี้เป็นการตอบสนองต่อกรณีที่ Privacy International และ French advocacy group La Quadrature du Net arguing นำเรื่องเข้าสู่ศาลว่ามีการสอดแนมใน สหราชอาณาจัก ฝรั่งเศส และเบลเยี่ยม ซึ่งละเมิดสิทธิพื้นฐานด้านมนุษยชน  

อ่านข่าวเต็มได้ที่: CNBC

วันพุธที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2563

Waymo เริ่มให้บริการรถไร้คนขับใน Arizona


ภาพจาก: Bloomberg

บริษัทรถขับเคลื่อนด้วยตัวเอง Waymo ประกาศเปิดบริการเรียกรถแบบไร้คนขับเต็มรูปแบบในชานเมือง Phoenix, Arizona โดยในช่วงแรกจะให้บริการเฉพาะลูกค้าเก่า และจะมีรถให้ใช้กว่า 300 คัน แต่จะให้บริการอยู่ในพื้นที่ 50 ตารางไมล์เท่านั้น ซึ่ง Waymo จะขยายบริการให้กับลูกค้าใหม่ในอีกสองหรือสามสัปดาห์ โดยบริษัทอาจจะจัดให้มีคนขับนั่งไปในรถเพื่อดูแลความปลอดภัยในบางเที่ยว แต่จะยังไม่ทำจนกว่าจะติดตั้งแผงกั้นระหว่างเบาะหน้ากับเบาะหลังให้เสร็จก่อน

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Bloomberg

วันอังคารที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2563

หุ่นยนต์ส่งจดหมายเปิดตัวในญี่ปุ่น

ภาพจาก KYODO

Japan Post Co. ซึ่งเป็นบริษัทไปรษณีย์และขนส่งของญี่ปุ่น กำลังทดสอบหุ่นยนต์ที่ใช้ส่งจดหมายที่ทำงานได้ด้วยตัวเอง โดยหุ่นยนต์นี้สามารถเคลื่อนที่ได้ในที่ที่มีอุปสรรคต่าง ๆ และสามารถข้ามถนนในแยกที่มีไฟเขียวไฟแดงได้ หุ่นยนต์นี้มีชื่อว่า  DeliRo ซึ่งมีขนาดเท่ากับวีลแชร์ มีกล้อง และเว็นเซอร์ต่าง ๆ ติดตั้งอยู่ภายใน และสามารถบรรทุกสิ่งของที่มีน้ำหนักสูงสุดได้ 30 กิโลกรัม โดยมีความเร็วในการเดินทางอยู่ที่ 6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รัฐบาลญี่ปุ่นจะใช้ผลการทดสอบที่ได้นี้ ในการพิจารณาลดข้อจำกัดที่มีอยู่ในตอนนี้คือหุ่นยนต์จะไม่สามารถทำงานอยู่บนทางเท้าและบนถนน โดยไม่มีคนควบคุมไม่ได้ ดูวีดีโอการทำงานของหุ่นยนต์ได้จากข่าวเต็มครับ

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  The Japan Times 

วันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ยุคของอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่งที่เป็นพลาสติกแบบไม่ต้องมีแบตเตอรี

ทีมนักวิจัยจาก University of Washington (UW) 
Photo: Mark Stone/University of Washington

นักวิจัยจาก University of Washington (UW) ได้พัฒนาเทคนิคในการใช้เครื่องพิมพ์สามมิติในการพิมพ์วัตถุที่เป็นพลาสติกที่สามารถสื่อสารกันด้วยไวไฟ (Wi-Fi) โดยไม่ต้องใช้แบตเตอรี โดยต่อยอดงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเองเมื่อปี 2014 ที่ใช้การส่งสัญญาณโดยใช้การสะท้อนหรือไม่สะท้อนสัญญาณออกไปแทนค่าบิตที่เป็น 1 หรือ 0 ดังนั้นจึงไม่ต้องใช้แบตเตอรีเป็นแหล่งพลังงาน นักวิจัยได้ปล่อยตัวแบบที่เขาได้ออกแบบโดยใช้โปรแกรม computer-aided design (CAD) เพื่อให้คนที่ชอบการพิมพ์ได้ใช้พิมพ์อ็อบเจกต์ที่เป็นอินเทอร์เน็ตของสรพพสิ่งได้ด้วยตัวเอง 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: IEEE Spectrum

วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2563

นักวิจัยสร้างลายนิ้วมือดิจิทัลเพื่อตามรอยคนสร้างมัลแวร์


ภาพจาก: The Hacker News

นักวิจัยด้านความมั่นคงไซเบอร์จาก Check Point Research ได้ติดตั้งวิธีการที่จะระบุลักษณะเฉพาะตัวของผู้เขียนมัลแวร์ และใช้มันในลักษณะของลายนิ้วมือเพื่อตามรอยว่าคนคนเดียวกันนี้พัฒนามัลแวร์ตัวใดอีกบ้าง การระบุลักษณะเฉพาะตัวนี้จะดูจากการตั้งค่าที่ใส่ไว้ในโค้ดโปรแกรม การตั้งชื่อสตริง การจัดโครงสร้างโค้ด การพัฒนาฟังก์ชัน เป็นต้น ตัวอย่างที่ค้นพบจากวิธีการนี้คือเขาพบว่า "Volodya" และ "PlayBit" น่าจะเป็นคนคนเดียวกัน นักวิจัยบอกว่าวิธีการนี้น่าจะช่วยระบุตัวตนของคนอื่น ๆ เพิ่มขึ้นได้อีกด้วย

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Hacker News


วันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2563

แอปจากนาซาเพื่อช่วยงานวิจัยที่สู้กับความอ่อนล้า

Credits: NASA/Ames Research Center/Dominic Hart

National Aeronautics and Space Administration หรือนาซา (NASA) ได้ปล่อยแอปพลิเคชันขึ้นบน App Store ของ Apple เพื่อช่วยนักวิทยาศาสตร์ในการศึกษาเพื่อให้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อคนเรารู้สึกล้า และสามารถระบุสัญญาณที่จะสามารถเตือนให้คนได้รู้ว่าตัวเขาเองเกิดอาการล้าแล้วนะ แอปนี้ทำงานโดยใช้ฐานของการเฝ้าระวังด้านจิตใจ ที่วัดเวลาในการตอบสนองต่อสัญญาณที่ถูกออกแบบมาให้ใช้งานกับอุปกรณ์พกพา แอปนี้ยังมีส่วนที่ช่วยให้การเก็บข้อมูลทำได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นคนที่ทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมจริง สามารถเก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่อนำมาใช้กับการออกแบบการทดสอบและทางแก้ปัญหาที่น่าเชื่อถือ นาซาใช้แอปนี้ในการจำลองการเดินทางด้วยยานอวกาศ

อ่านข่าวเต็มได้ที่: NASA


วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2563

Python กำลังจะแซง Java ในการจัดอันดับภาษาเขียนโปรแกรม

Image: Tiobe

จากการจัดอันดับประจำเดือนของ Tiobe ชี้ให้เห็นว่า Python กำลังจะแซง Java เพื่อเป็นภาษาที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับสองต่อจากภาษา C ภาษา Java มีความนิยมตกลง 4.2% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมปีที่แล้ว และถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ Java จะหลุดจากอันดับสองเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2001 CEO ของ Tiobe เคยบอกว่า Pyhton กำลังมีปัญหาเนื่องจากความนิยมลดลง 3.81 ในเดือนกันยายนปีนี้เทียบกับปีที่แล้ว แต่มันกลับทะยานขึ้นอีกครั้งจากการใช้งานของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และการเข้ามาของการเรียนรู้ของเครื่อง โดยตอนนี้ Java มีความนิยม 12.56% ส่วน Python อยู่ที่ 11.28%  ห่างกันอยู่แค่ 1.3% จากการจัดอันดับของ RedMonks ซึ่งเป็นคู่เปรียบเทียบของ Tiobe ภาษาอันดับหนึ่งคือ JavaScript และเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเป็นครั้งแรกที่ Java หลุดจากอันดับสอง โดยภาษาที่มาแทนที่คือ Python 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet



วันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2563

Github เปิดคุณสมบัติการสแกนโค้ดเพื่อหาข้อบกพร่องในโปรแกรมได้ตั้งแต่ต้น

Image Credit: Igor Golovniov/SOPA Images/LightRocket via Getty Images

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Github ได้เปิดคุณสมบัติการสแกนโค้ดเพื่อช่วยนักพัฒนาระบุข้อบกบ่องในโค้ด ก่อนที่จะปล่อยสู่สาธารณะ ซึ่งเป็นผลจากการที่เมื่อปีที่แล้ว Github เข้าเป็นเจ้าของ Semmle ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการวิเคราะห์โค้ด ซึ่งเครื่องมือใหม่นี้คือตัวช่วยในการทดสอบด้านความมั่นคงของแอปพลิเคชัน ซึ่งจะแปลงโค้ดให้อยู่ในรูปแบบที่สืบค้นได้ จากนั้นหาแบบรูป (pattern) ของช่องโหว่ เครื่องมือดังกล่าวระบุข้อบกพร่องและข้อผิดพลาดในการตรวจสอบโค้ดได้ทันที Github บอกว่าในการทำการทดสอบแบบเบต้า มีที่เก็บโค้ดถูกตรวจสอบกว่า 12,000 แหล่ง โดยสแกนกว่า 1 ล้านครั้ง ค้นพบช่องโหว่กว่า 20,000 จุด และ 72% ของช่องโหว่นี้ ถูกแก้ไขภายใน 30 วัน 

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  VentureBeat

วันพุธที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2563

สายไฟเบอร์ "ล่องหน" ที่พิมพ์จากเครื่องพิมพ์สามมิติสามารถวัดการหายใจ

ภาพจาก University of Cambridge (U.K.)

นักวิจัยจาก  University of Cambridge ของประเทศอังกฤษ ใช้เครื่องพิมพ์สามมิติเพื่อพิมพ์สายไฟเบอร์ที่ใช้ส่งสัญาณไฟฟ้าแบบที่บางมาก ๆ และมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า โดยเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเซ็นเซอร์วัดการหายใจที่เคลื่อนย้ายได้ สวมใส่ได้ และไม่ต้องมีการสัมผัส อุปกรณ์ตัวนี้สามารถนำไปติดกับสมาร์ตโฟนเพื่อที่จะบันทึกรูปแบบการหายใจ เสียง และภาพได้พร้อม ๆ กัน นักวิจัยทดสอบการใช้เซ็นเซอร์นี้ในการวัดปริมาณละอองของเหลวที่รั่วออกมาจากหน้ากากอนามัยของเขา เพื่อเปรียบเทียบการหายใจถี่ ๆ ปกติกับการไอ ตัวเซ็นเซอร์นี้เอาชนะอุปกรณ์ที่วางขายอยู่ในตลาดตอนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตามการหายใจถี่ ๆ นักวิจัยยังบอกอีกว่าเซ็นเซอร์สายไฟเบอร์นี้สามารถนำไปผลิตเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ทดสอบในบ้านได้ เพื่อให้คนทั่ว ๆ ไป สามารถจัดการทดสอบเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของตัวเอง

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  University of Cambridge (U.K.)

วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2563

นักวิทยาศาสตร์ฝึกคอมพิวเตอร์ให้บอกว่ามะเร็งเต้านมระยะแรกแบบไหนที่จะกำเริบขึ้นมาอีก

ซ้ายภาพมะเร็งที่ไม่เกิดซ้ำ ขวามะเร็งที่เกิดซ้ำ
ภาพจาก University of Michigan

วิธีการวิเคราะห์แบบใหม่ที่พัฒนาโดยนักวิจัยจาก University of Michigan Rogel Cancer Center ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการช่วยทำนายด้วยความเชื่อมั่นในระดับสูงว่ามะเร็งเต้านมที่อยู่ในระยะ 0 ว่าจะเกิดซ้ำอีกหรือไม่หลังจากผ่าตัดไปแล้ว หรือการผ่าตัดจะช่วยรักษาได้หรือไม่ นักวิจัยไ้ด้รวบมรวมภาพจากไมโครสโคป (microscope) ของมะเร็งในระยะ 0 ที่ร้าย (aggressive) หรือไม่ร้าย (non-aggressive) เพื่อฝึกสอนคอมพิวเตอร์ จากนั้นแสดงภาพที่ต่างกัน 100 ภาพ ที่เครื่องไม่เคยเห็นมาก่อน เพื่อวัดความแม่นยำในการทำนาย โปรแกรมจะได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องโดยใช้ตัวอย่างที่เพิ่มเติมเข้าไป ซึ่งตอนนี้สามารถระบุมะเร็งร้าย และไม่ร้ายได้แม่นยำถึง 96%

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Michigan

วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2563

Jaguar และกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีร่วมมือกันพัฒนาซอฟต์แวร์ควบคุมจากระยะไกล

Photo by Caleb Woods on Unsplash

กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีของเยอรมันคือ IOTA ประกาศความร่วมมือกับบริษัทผลิตรถยนต์  Jaguar Land Rover บริษัทผลิตชิป STMicroelectronics และบริษัท NTT Data ซึ่งเป็นบริษัทของประเทศญี่ปุ่นที่ทำงานด้านการบูรณาการระบบ (system integration) โดยทั้งหมดร่วมมือกันเปิดตัวซอฟต์แวร์ที่จะให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและควบคุมอุปกรณ์เช่นรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าจากระยะไกล โดยโปรแกรมนี้มีชื่อว่า IOTA Access ซึ่งนอกจากจะให้ผู้ใช้เข้าถึงอุปกรณ์จากระยะไกลแล้ว ยังยอมให้ผู้ใช้จัดการสิทธิการเข้าถึงอุปกรณ์ให้กับผู้ที่ได้รับอนุญาตอีกด้วย นักวิจัยบอกว่าโปรแกรมนี้จะฝังเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรถยนต์ Jaguar โดยผู้ใช้จะสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ได้ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ โดยนักวิจัยมองว่าโทรศัพท์ควรจะถูกใช้เป็นกุญแจส่วนบุคคล

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Reuters


วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2563

วิศวกรเชื่อมสมองเข้ากับคอมพิวเตอร์ด้วยการปลูกถ่ายโดยใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ

ภาพจาก University of Sheffield (U.K.)

วิศวกรจาก University of Sheffield ประเทศอังกฤษ St. Petersburg State University ประเทศรัสเซีย และ Technical University of Dresden ประเทศเยอรมัน ได้พัฒนาต้นแบบการปลูกถ่ายจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่สามารถนำไปใช้ในการเชื่อมต่อสมองกับคอมพิวเตอร์ ด้วยวิธีนี้จะทำให้นักประสาทวิทยาสามารถออกแบบ ให้วิศวกรนำไปสร้างตัวแบบคอมพิวเตอร์ และถูกพิมพ์ออกมาจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ นักวิจัยบอกว่า ผู้ป่วยมีลักษณะทางกายวิภาคที่ต่างกัน และการปลูกถ่ายก็จะต้องถูกจัดการให้เหมาะสมกับแต่ละคน ในอนาคตตัวปลูกถ่ายนี้อาจถูกพิมพ์ออกมาในห้องผ่าตัด ในขณะที่ผู้ป่วยกำลังเตรียมตัวรอรับการผ่าตัดอยู่ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Sheffield (U.K.)


วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2563

Amazon เปิดตัว Amazon One ให้จ่ายเงินด้วยฝ่ามือ

Image Credits: Amazon

Amazon เปิดตัว Amazon One เครื่องสแกนไร้สายที่ให้ลูกค้าสามารถจ่ายเงินที่ร้าน Amazon Go ด้วยฝ่ามือ วิธีการจ่ายเงินก้คือลูกค้าสอดบัตรเครดิตเข้าไปที่เครื่อง จากนั้นเอาฝ่ามือชูอยู่เหนือตัวเครื่อง และเครื่องจะจับคู่รูปฝ่ามือของลูกค้ากับระบบจ่ายเงินของ Amazon โดย Amazon บอกว่า Amazon One ใช้เทคโนโลยีด้าน computer vision ในการสร้างลายเซ็นของฝ่ามือแบบทันที ซึ่งวิธีนี้จะให้ความเป็นส่วนตัวมากกว่าการใช้ชีวมาตรแบบอื่น รูปภาพจะถูกเข้ารหัสและส่งไปยังจุดที่ปลอดภัยบนระบบคลาวด์ของ Amazon โดยตอนนี้มีการทดลองระบบนี้อยู่ที่ร้านของ Amzon สองแห่งในซีแอตเติล (Seattle)

อ่านข่าวเต็มได้ที่: TechCrunch

  

วันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2563

หุ่นยนต์เอาชนะคนในกีฬา Curling

ภาพจาก:  Korea University

นักวิจัยจาก South Korea's Korea University, Germany's Berlin Institute of Technology และ Max Planck Institute for Informatics ได้พัฒนาขั้นตอนวิธีเรียนรู้เชิงลึก (deep learning) ที่ทำให้หุ่นยนต์เอาชนะคนในกีฬา Curling (นาจะคล้าย ๆ ทอยกองบ้านเรา: ผู้สรุป) ทีมนักวิจัยฝึกสอนหุ่นยนต์ที่เรียกว่า Curly ให้รู้จักประเมินและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่ควบคุมไม่ได้ โดยใช้การเรียนแบบเสริมแรงเชิงลึก (deep reinforcement learning)  ทำให้มันสามารถชดเชยความไม่แน่อน และมีการเล่นที่เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมนั้น ซึ่งผลก็คือมันสามารถเอาชนะผู้เล่นที่เชี่ยวชาญที่เป็นคนได้อย่างขาดลอย นักวิจัยบอกว่าเกมอย่าง Curling จะเป็นตัวทดสอบที่ดีในการศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัญญาประดิษฐ์และโลกจริง

อ่านข่าวเต็มได้ที่: UPI

วันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2563

นี่คือรางวัลที่แฮกเกอร์ได้รับจากการล่าบั๊ก

Photo by Bermix Studio on Unsplash

เงินรางวัลกว่า 44.75 ล้านเหรียญถูกมอบให้แฮกเกอร์ทั่วโลกในปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นถึง 86% จากการรายงานของ HackerOne ซึ่งเป็นคนจัดการมอบรางวัล ค่าเฉลี่ยของช่องโหว่ที่ร้ายแรงเพิ่มขึ้น 8% จากปีที่แล้วที่อยู่ที่ 3,650 เหรียญ และค่าเฉลี่ยต่อหนึ่งช่องโหว่อยู่ที่ 979 เหรียญ นับมาจนถึงปัจจุบัน มีรายงานช่องโหว่เข้ามากว่า 181,000   ช่องโหว่ และแฮกเกอร์ได้รางวัลไปแล้วกว่า 100 ล้านเหรียญ 90% ของแฮกเกอร์ที่ลงทะเบียนกับ HackerOne มีอายุต่ำกว่า 35 ปี และหนึ่งในห้ามีแหล่งรายได้จากการแฮกเพียงอย่างเดียว HackerOne รายงานว่าในช่วงน้อยกว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีแฮกเกอร์ 9 คน ที่แต่ละคนได้รับเงินรางวัลไปแล้วประมาณ 1 ล้านเหรียญ แฮกเกอร์กว่า 200 คน ได้เงินไปกว่า 100,000 เหรียญ และแฮกเกอร์อีก 9,000 คน ได้เงินไปจำนวนหนึ่ง 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet