วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2563

นักวิจัยใช้การเรียนรู้ของเครื่องในการจำแนกเชื้อโรค

ทีมนักวิจัยจาก University of Waterloo's Cheriton School of Computer Science และ Western University ใน Canada ได้คิดค้นวิธีการคำนวณเพื่อระบุและจำแนกไวรัสโดยใช้เวลาเป็นนาที หรือเพียงไม่กี่ชั่วโมง โดยนักวิจัยบอกว่าพวกเขาใช้วิธีที่เรียกว่า alignment-free ร่วมกับวิธีทางการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) เพื่อระบุไวรัส COVID-19 และยังสามารถจัดหมวดหมู่ของไวรัสนี้กับไวรัสตัวอื่น ๆ ได้ ซึ่งประโยชน์ก็คือเมื่อระบุได้เร็วก็ระวังตัวได้เร็ว

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Waterloo Cheriton School of Computer Science

วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2563

ใช้โดรนชาร์จไฟให้เซ็นเซอร์

นักวิจัยจาก American University of Beirut (AUB) ใน เลบานอน และ Italy’s Institute of Electronics, Computer, and Telecommunications Engineering ได้พัฒนาระบบการชาร์จไฟให้กับเซ็นเซอร์โดยใช้โดรนบินผ่านเซ็นเซอร์เหล่านั้น โดยตัวเซ็นเซอร์จะมีเสาอากาศชนิดพิเศษที่จะแปลงคลื่นวิทยุเป็นพลังงานไฟฟ้า

อ่านข่าวเต็มได้ที่: IEEE Spectrum

วันอังคารที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2563

หลายภาคส่วนในไต้หวันคัดค้านการใช้บัตรประจำตัวอิเลกทรอนิกส์

หลายภาคส่วนทั้งภาคการศึกษา อตสาหกรรม การเมือง และ NGO ได้ออกมาเซ็นข้อเรียกร้องให้ไต้หวันหยุดการเปลี่ยนบัตรประจำตัวประชาชนเป็นแบบอิเลกทรอนิกส์ไว้ก่อน โดยบัตรประจำตัวประชาชนที่ไต้หวันจะนำมาใช้จะเป็นชิปการ์ด ซึ่งจะเก็บข้อมูลส่วนตัวเช่นชื่อ วันเกิด เลขประจำตัว สถานะการแต่งงาน เพศ ที่อยู่ และข้อมูลส่วนตัวอื่น ๆ ซึ่งฝ่ายที่ค้านบอกว่าควรยังคงให้ประชาชนมีสิทธิใช้บัตรประจำตัวแบบไม่มีชิปการ์ดไปก่อน และต้องไปจัดการเรื่องการปกป้องข้อมูลส่วนตัวให้เรียบร้อยก่อน

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

แปลกดีบ้านเราใช้บัตรประจำตัวแบบนี้มานานแล้ว แต่กลับไม่ค่อยใช้ประโยชน์ ใช้ถ่ายเอกสารเอา

วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2563

เทคโนโลยีการกระตุ้นสมองทำให้ผู้ป่วยอัมพาตเล่นกีตาร์ได้อีกครั้ง

ชายผู้ซึ่งสูญเสียประสาทสัมผัสเนื่องจากการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง สามารถกลับมาเล่นกีตาร์ได้อีกครั้ง ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์ นักวิจัยจาก Battelle Memorial Institute  พบว่าผู้ป่วยคนหนึ่งที่มือขวาไม่มีความรู้สึก แต่จากการกระตุ้นสมองผ่านทางผิวหนังพบว่ายังมีสัญญาณประสาทเล็ก ๆ ที่ยังส่งไปถึงสมองได้ ดังนั้นวิธีการก็คือใช้อุปกรณ์ที่เป็นการสื่อสารระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์ โดยเมื่อสมองแปลสัญญาณนี้ได้แล้ว ให้สมองส่งการควบคุมกลับไปยังกล้ามเนื้อผ่านทางอุปกรณ์นี้ แทนการส่งผ่านไขสันหลังที่เสียหายไปแล้ว

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Daily Mail

วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2563

ใช้การเรียนรู้เชิงลึกศึกษาเรื่องเนื้องอก

นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ปัญญาประดิษฐ์การเรียนรู้เชิงลึก ในงานวิจัยที่เกี่ยวกับมะเร็ง นักวิจัยที่ MIT ได้ใช้ ข้อมูลรูปภาพเพื่อหาข้อมูลการกลายพันธ์ ซึ่งถ้าต้องวิเคราะห์ด้วยคนนั้นอาจเป็นไปไม่ได้เลย นอกจากนั้นนักวิจัยยังได้ใช้การเรียนรู้เชิงลึกทำนายการตอบสนองต่อยาของคนไข้อีกด้วย นักวิจัยยังได้แนะนำว่าปัจจุบันมีเครื่องมือด้านการเรียนรู้เชิงลึกอยู่หลายตัว ซึ่งหลายตัวก็เปิดให้ใช้ฟรี และบางตัวจะช่วยให้นักวิจัยที่ไม่มีทักษะในการเขียนโปรแกรมมากนักสามารถใช้งานการเรียนรู้เชิงลึกได้ ตัวอย่างเช่น ZeroCostDL4Mic ซึ่งใช้ Colab ซึ่งเป็นบริการคลาวด์ฟรีของ Google สำหรับนักพัฒนา AI 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Nature00

วันเสาร์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2563

กองทัพเสมือนร่วมกันช่วยองค์กรด้านสาธารณสุขจากแฮกเกอร์

แฮกเกอร์หมวกขาว (white-hat hacker) เริ่มรวมตัวกันมากขึ้นเพื่อช่วยเหลือให้เครือข่ายสาธารณสุขมีความปลอดภัยมากขึ้นในช่วงระบาดของ Covid 19 ตัวอย่างเช่นองค์การ COVID-19 CTI League ซึ่งประกอบด้วยอาสาสมัครกว่า 1400 คน จาก 76 ประเทศ ได้นำประสบการณ์ด้านความมั่นคงทางสารสนเทศ โทรคมนาคม และด้านการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อช่วยโรงพยายบาลที่กำลังรักษาผู้ป่วย COVID 19 รายงานเบื้องต้นบอกว่าองค์กรนี้ได้ช่วยกำจัดอาชญากรรมออนไลน์เกือบ 3000 ราย และได้ระบุถึงช่องโหว่กว่า 2000 จุดที่มีในโรงพยาบาล กลุ่มดูแลด้านสุขภาพ และหน่วยสนับสนุนอื่น ๆ

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  The Hill

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

แฮกเกอร์หมวกขาวคือแฮกเกอร์ฝ่ายดี ส่วนหมวกดำคือฝ่ายไม่ดี แต่ถ้าจะพูดถึงคำที่ใช้จริง ๆ แฮกเกอร์จะใช้หมายถึงผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ซึ่งเป็นฝ่ายดี แต่พวกที่เจาะระบบแบบประสงค์ร้ายเรียกว่า แครกเกอร์ (cracker)

วันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2563

ภาษา Kotlin มีการเติบโตเร็วที่สุด แต่ JavaScript ยังดึงดูดใจนักพัฒนากว่าล้านคน

ข้อมูลจาก SlashData บอกว่า ปัจจุบันมีวิศวกรซอฟต์แวร์มากกว่า 20.4 ล้านคนทั่วโลก กว่า 50๔ กำลังเรียนภาษา JavaScript หรือไม่ก็ภาษาที่เป็นตัวที่เป็นซุปเปอร์เซ็ตของภาษา JavaScript อย่าง TypeScript โดยจากการสำรวจของ SlashData ประมาณว่าในตอนนี้มีนักพัฒนากว่า 12.2 ล้านคนที่ใช้ JavaScript  สำหรับภาษาอย่าง Python และ Java ที่ตามมาเป็นอันดับสองและสาม มีนักพัฒนาที่ใช้อยู่ 8.4 ล้านคน และ 8.2 ล้านคนตามลำดับ แต่ภาษาที่มีการเติบโตเร็วที่สุดในสองปีที่ผ่านมาโดยได้นักพัฒนาเพิ่มขึ้น 1.1 ล้านคนคือภาษา Kotlin ซึ่งเป็นภาษาที่ Google สนับสนุนให้ใช้เป็นภาษาหลักในการพัฒนาแอปพลิเคชันแอนดรอยด์

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet

วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2563

ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว

นักวิจัยจาก University of Pittsburgh และ Carnegie Mellon University (CMU) ได้พัฒนาเทคโนโลยีด้านการสื่อสารระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์ให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น ด้วยการช่วยให้ชีวิตของผู้พิการแขนขามีความสะดวกมากขึ้น ทีมวิจัยได้พัฒนาเส้นทางที่เชื่อมต่อสมองกับอุปกรณ์ภายนอกได้โดยตรง โดยบันทึกกิจกรรมของเส้นประสาทในลักษณะของขั้วไฟฟ้าเพื่อใช้พัฒนาขั้นตอนวิธีที่ใช้ควบคุม โดยขั้นตอนวิธีนี้สามารถที่จะปรับตัวกับเสียงรบกวน และความไม่เสถียรของการบันทึกกิจกรรมของเส้นประสาท 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Pittwire

วันพุธที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2563

วีดีโอเกมช่วยคุณครูสอนในช่วงที่โรงเรียนต้องปิดเนื่องจากไวรัส

ในช่วงที่ต้องกักตัวทำให้ครูได้เริ่มใช้เกมเพื่อช่วยในกรสอนมากขึ้น โดยเกมที่นิยมใช้กันก็คือ Assassin's Creed, Minecraft, และ Roblox ซึ่งผู้ผลิตเกมเหล่านี้ก็ตอบสนองสนองโดยทันที ด้วยการให้ครูอาจารย์เข้าถึงเกมได้ง่ายขึ้น โดย Assassin's Creed ได้เพิ่มโหมดอย่างกรีกโบราณ และมีควิซให้ด้วย ส่วน Minecraft ของไมโครซอฟท์ ซึ่งมีโหมดการศึกษาอยู่แล้วก็เปิดให้ครูและนักเรียนเข้าใช้ได้ฟรีถึงเดือนมิถุนายนนี้ Roblox เป็นแพลตฟอร์มสำหรับช่วยสร้างวีดีโอเกม ก็กำลังทำงานกับนักการศึกษากว่า 170 คน จาก 35 ประเทศ ในเรื่องของการพัฒนาเกมสำหรับการศึกษา 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Washington Post

วันอังคารที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2563

ACM เสนอวิธีการจัดสัมมนาวิชาการแบบเสมือน

ACM ได้จัดทำรายงานข้อแนะนำสำหรับการจัดสัมมนาแบบเสมือนแทนการจัดสัมมนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบปกติ โดยในรายงานจะประกอบไปด้วยหลากหลายหัวข้อซึ่งรวมถึง เทคโนโลยีที่ต้องมี การวางแผนในระดับสูง การเข้าร่วม และด้านการเงินเป็นต้น อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ Virtual Conference

อ่านข่าวเต็มได้ที่: HPCWire

วันจันทร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2563

 ข้อมูลจากทวิตเตอร์อาจมีมีผลต่อนโยบายของพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้

นักวิจัยจาก Penn State University, Deakin University ใน Australia, Shahrekord University ใน Iran, และ Population Research Institute ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ได้ศึกษาข้อมูลของผู้ใช้ทวิตเตอร์ใน Alaska และพบว่าข้อมูลดังกล่าวสามารถแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางความคิดเกี่ยวกับพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ นักวิจัยบอกว่าเขาสามารถมองเห็นได้ว่ารูปบบของพลังงานแบบไหนที่เป็นที่ยอมรับ และแบบไหนที่ทำให้เกิดข้อถกเถียง นักวิจัยยังบอกว่าข้อมูลดังกล่าวสามารถให้การศึกษากับผู้คนเกี่ยวกับประเภทของพลังงานที่นำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับคนที่จะจัดทำนโยบาย บริษัทพลังงาน และรัฐบาล

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Penn State News

วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2563

AI ซึ่งพัฒนาด้วยตัวเอง

นักวิจัยจาก Google ได้พัฒนาโปรแกรมซึ่งหยิบยืมแนวคิดมาจากทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน รวมถึงสิ่งมีชีวิตที่จะรอดคือสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวได้มากที่สุด มาใช้ให้ AI ปรับปรุงตัวเอง โดยไม่ต้องมีข้อมูลจากคนเลย โปรแกรมชื่อ AutoML-Zero จะสร้างขั้นตอนวิธีขึ้นมา 100 วิธีแบบสุ่ม และใช้ในการแก้ปัญหาอย่างการรู้จำภาพ จากนั้นเปรียบเทียบผลลัพธ์จากขั้นตอนวิธีที่ออกแบบโดยคน โดยโปรแกรมจะทดลองแก้ค่าตรงนั้นบ้าง ตรงนี้บ้าง เพื่อสร้างเวอร์ชันที่แตกต่างกัน จากนั้นบรรดาโปรแกรมที่ขอเรียกว่าโปรแกรมลูกหลานที่ทำงานดีกว่าก็จะถูกเพิ่มเข้าไปใน และขั้นตอนวิธีเก่าก็จะถูกลบออกไป ซึ่งวิธีนี้นักวิจัยบอกว่าจะสามารถสร้างงานในด้าน AI ที่เคยต้องใช้เวลาเป็นทศวรรษ มาเหลือใช้เวลาในระดับวันเท่านั้น

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  Science

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

เห็นกำลังพูดถึงทฤษฎีของดาร์วินกัน พอดีเจอข่าวนี้พอดี ก็เลยเอามาแบ่งปันกันครับ

วันเสาร์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2563

หุ่นยนต์ AI สอนตัวเองให้เลือกทางขับรถ

นักวิจัยจาก University of California, Berkeley (UC Berkeley) ได้พัฒนาระบให้หุ่นยนต์เรียนรู้ด้วยตัวเองจากประสบการณ์ในสภาพแวดล้อมจริง โดยไม่ต้องมีคนฝึกสอน ระบบดังกล่าวมีชื่อว่า BADGR: the Berkeley Autonomous Driving Ground Robot autonomously โดยโจทย์ของการศึกษานี้เขาเริ่มจากคำถามว่า เราเป็นคนถ้าเราต้องลากรถเข็นไป ระหว่างทางเท้าเรียบ ๆ กับทางที่เป็นสนามหญ้า เราจะเลือกทางไหน คำตอบก็ชัเดเจนว่าเราต้องเลือกทางเรียบ แต่หุ่นยนต์ไม่ได้ทำงานแบบนั้น มันดูทุกอย่างในรูปแบบเรขาคณิต ดูว่าข้างหน้ามีอะไรขวางอยู่หรือเปล่า แต่ไม่ได้แยกระหว่างทางเรียบกับทางขรุขระ ดังนั้นถ้าให้มันไปเก็บภาพจากสภาพแวดล้อมจริง และนำข้อมูลกลับมาฝึกสอนตัวเอง จะช่วยให้มันเลือกเส้นทางได้ดีขึ้น 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: IEEE Spectrum 

วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2563

เวลาผ่านไปแต่ยังมีสิ่งที่เหมือนเดิม

เมื่อหลายวันก่อนผมได้นั่งรถที่ลูกชายคนโตขับ โดยมีลูกชายคนเล็กนั่งอยู่ข้างหน้า นาน ๆ จะได้เป็นคนนั่งสักที ลูกสองคนซึ่งเรียนอยู่ในสาขาเดียวกัน คนโตกำลังจะจบแล้วปีนี้ เรียกว่าจบแล้วก็คงได้ เพราะเรียนและสอบไปหมดแล้ว และกำลังจะเริ่มงานแล้ว ส่วนคนเล็กอยู่ปี 2 สองคนพี่น้องก็คุยกันในเรื่องการงาน และวิชาการของสาขาเขา ซึ่งผมก็ฟังรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง แต่สิ่งที่อดคิดไม่ได้ก็คือ เวลาผ่านไปเร็วเหลือเกิน ผมยังเห็นภาพที่ตัวเองนั่งขับรถอยู่ข้างหน้า ลูกเล็ก ๆ สองคนนั่งอยู่ข้างหลัง คุยกัน เล่นเกมกัน กินขนมกัน และผมก็ชอบฟังเขาคุยกันเหมือนตอนนี้แหละ และก็มีหลายครั้งที่เขาพูดถึงเรื่องเกม ซึ่งบางครั้งผมก็ไม่รู้เรื่องเหมือนกันว่าเขาพูดถึงอะไรกัน

เวลาผ่านไปเร็วมากจริง ๆ นะครับ จากคนขับ เปลี่ยนเป็นคนได้มานั่งข้างหลัง แต่สิ่งที่เหมือนเดิมคือ มันก็ยังมีเรื่องที่ผมฟังเขาคุยกันไม่รู้เรื่องเหมือนเดิม :)

ใช้ AI ช่วยให้เข้าใจสมบัติอันมีค่าของมหาสมุทร

นักวิจัยจาก  National Oceanic and Atmospheric Administration ด้วยความช่วยเหลือจากวิศวกรของ Google ได้ใช้โครงข่ายประสามเทียม (Neural Network) ฝึกสอนให้โปรแกรมสามารถแยกความแตกต่างระหว่างเสียงของวาฬหลังค่อม (humpback whale) ออกจากเสียงอื่น ๆ ในมหาสมุทรได้ ซึ่งประโยชน์ก็คือสามารถที่จะรู้ที่อยู่ของพวกมัน เพื่อให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากวาฬหลังค่อมจัดเป็นสัตว์ที่อยู่ในความเสี่ยงที่จะสูญพันธ์ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Newyork Times

วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2563

มัลแวร์ที่ฆ่าไม่ตายบนโทรศัพท์แอนดรอยด์เปิดช่องให้แฮกเกอร์ควบคุมโทรศัพท์ของเราอย่างสมบูรณ์

นักวิจัยด้านความมั่นคงไซเบอร์จาก Kaspersky Lab ได้ตรวจพบมัลแวร์ xHelper ซึ่งกำจัดแแกไปได้ยาก แม้จะรีสโตร์เครื่องใหม่แล้วก็ยังไม่หาย มัลแวร์ตัวนี้ถูกเผยแพร่ผ่านทางแอปสโตร์ที่ไม่ใช่ของ Goolge โดยทำตัวเป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการล้างข้อมูลและบำรุงรักษาเครื่อง เมื่อผู้ใช้ติดตั้งมัลแวร์ตัวนี้มันจะไปดาวน์โหลดโทรจัน "dropper" ซึ่งจะเก็บข้อมูลของเครื่องและไปดาวน์โหลดโทรจันตัวที่สองที่จะสร้างสิทธิรูทในการใช้งานเครื่อง ซึ่งทำให้มันมีสิทธิเต็มที่ในการเข้าถึงแอปทุกแอปและข้อมูลทุกอย่างบนเครื่อง

อ่านข่าวเต็มได้ที่: TechRadar

วันพุธที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2563

ร้านขายของชำหันมาใช้หุ่นยนต์ในช่วงโคโรนาไวรัส

ร้านขายของชำ และเชนซุปเปอร์มาร์เก็ตในอเมริกาเริ่มหันมาใช้หุ่นยนต์ในการทำความสะอาดพื้น จัดสต็อกของในชั้น และส่งของในช่วงการระบาดของโคโรนาไวรัส ตัวอย่างเช่น  Broad Branch Market ในวอชิงตัน ดีซี ใช้หุ่นยนต์หกล้อที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง (ดูวีดีโอได้จากข่าวเต็ม) โดยมีเซ็นเซอร์และ AI ในการส่งสินค้าไปให้ลูกค้าที่อยู่ในแถบนั้น ในขณะที่ Brain Corp ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการหุ่นยนต์ถูพิ้น บอกว่าการใช้งานหุ่นยนต์แบบนี้เพิ่มขึ้นถึง 13% ตั้งแต่เดือนมีนาคม Walmart มีแผนที่จะใช้หุ่นยนต์ของ Brain Corp ในสาขา 1860 แห่งในอเมริกา และยังจะใช้หุ่นยนต์ในการสแกนกล่องสินค้าที่มาจากรถบรรทุก แล้วเอาขึ้นสายพานเพื่อส่งเข้าร้านโดยอัตโนมัติ โดยจะทำให้ได้ 1700 สาขาภายในปีนี้ ร้านค้าบางแห่งกำลังทดลองใช้หุ่นยนต์ในการจัดการรับคำสั่งซื้อของลูกค้า

อ่านข่าวเต็มได้ที่: CNN Business

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

กลัวว่าหลังจากโคโรนาผ่านไปแล้ว จะใช้หุ่นยนต์ต่อไป คนที่เคยทำอาชีพนี้ก็จะตกงานกันหมด

วันอังคารที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2563

ใช้เกมเพื่อช่วยงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์

เกม Borland Science ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง  Jerome Waldispuhl จาก McGill University's School of Computer Science ใน Canada, บริษัทวีดีโอเกม Gearbox Software and 2K, ร่วมด้วย Massively Multiplayer Online Science (MMOS) และ Microsetta Initiative ที่ University of California San Diego's School of Medicine ได้พัฒนาเกมเพื่อช่วยจับคู่จุลินทรีย์ในลำไส้มนุษย์ โดยให้คนเล่นเกมแข่งกันจับคู่ ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาที่นักวิจัยต้องใช้อาจเป็นแสนชั่วโมงในการฝึกสอนคอมพิวเตอร์ให้ทำงานนี้ได้ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: McGill University (Canada)

วันจันทร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2563

สอนหุ่นยนต์สุนัขด้วยวีดีโอสุนัขจริง

นักวิจัยจาก Google ได้พัฒนาหุ่นยนต์สุนัขและสอนให้มันเดินโดยให้มันดูวีดีโอการเดินของสุนัขจริง ๆ บนลู่วิ่ง หุ่นยนต์สุนัขนี้มีชื่อว่า Laikago โดยตัวมันเองมีลักษะต่างจากสุนัขจริง ๆ (ดูรูปได้จากข่าว) ดังนั้นมันจะไม่สามารถลอกเลียนสุนัขจริง ๆ ทั้งหมดได้ โดยระบบจะใช้ขั้นตอนวิธี reinforcement learning เพื่อช่วยให้หุ่นยนต์เคลื่อนไหวเหมือนสุนัขจริง ๆ ให้มากที่สุด

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  Wired

วันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2563

Google เพิ่มแป้นพิมพ์เบรลบนอุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฎิบัติการแอนดรอยด์

Google ได้เพิ่มแป้นพิมพ์เบรลสำหรับผู้พิการทางสายตาสำหรับอุปกรณ์แอนดรอยด์ โดยที่ไม่ต้องมีฮาร์ดแวร์พิเศษใด ๆ โดยแป้นพิมพ์นี้จะทำงานได้กับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ตั้งแต่เวอร์ชัน 5 ขึ้นไป โดยให้อัปเดต Android Accessibility Suite จาก Google Play Store โดยในช่วงแรกนี้จะรองรับเบรลเกรด 1 และ 2 ในภาษาอังกฤษเท่านั้น ภาษาอื่น ๆ จะค่อย ๆ ตามมา 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: VentureBeat

วันเสาร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2563

ฟลอริดาใช้รถขับเคลื่อนด้วยตัวเองส่งข้อมูลไปทดสอบ COVID

หน่วยทดสอบ COVID ใน Jacksonville ฟลอริดา ใช้รถ Shuttle Bus แบบขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ในการส่งตัวอย่างที่ได้จากคนไข้ไปประมวลผลที่โรงพยาบาล โดยในช่วงทดสอบนี้ รถนี้จะถูกขับตามมาโดยรถที่ขับด้วยคนอีกทีหนึ่ง และถนนที่รถวิ่งผ่านก็ยังมีการกันไม่ให้มีคนเดินเท้าและรถอื่น ๆ ด้วย ซึ่งการใช้รถขับเคลื่อนด้วยตัวเองแบบนี้ ถึงแม้ยังต้องมีคนคุมอยู่ แต่มันก็ช่วยลดโอกาสที่อาจมีการติดเชื้อจากการขนส่งโดยเฉพาะคนที่ต้องอยู่ในรถกับตัวอย่าง และยังช่วยให้มีบุคลากรเหลือทำงานในโรงพยาบาลมากขึ้นเนื่องจากไม่ต้องไปขนส่งด้วยตัวเอง 
 
อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Verge

วันศุกร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2563

มาใช้ Google Account กับโทรศัพท์แอนดรอยด์กันเถอะ

ปัจจุบันนี้พวกเราส่วนใหญ่ก็คงใช้สมาร์ตโฟนกันนะครับ ซึ่งสมาร์ตโฟนก็มีอยู่หลัก ๆ สองค่าย คือของฝั่ง Apple ซึ่งก็คือ iPhone และของฝั่งแอนดรอยด์ซึ่งมีหลากหลายยี่ห้อ โดยคนที่ใช้ iPhone ก็ควรจะต้องมี  Apple ID ส่วนคนที่ใช้แอนดรอยด์ก็ควรมี Google Account แต่เชื่อไหมครับ ปัจจุบันคนที่ใช้มือถือหลายคนกลับละเลย และไม่ให้ความสำคัญกับการที่ต้องผูกข้อมูลเหล่านี้ไว้กับโทรศัพท์ตัวเอง ทั้ง ๆ ที่มีประโยชน์มากมายไม่ว่าจะเป็นการแบ็คอัพข้อมูล การติดตามโทรศัพท์ถ้าโทรศัพท์หาย และการกู้คืนโทรศัพท์

เมื่อสองสามสัปดาห์ก่อน (เรื่องนี้ว่าจะเขียนนานแล้ว แต่มีเรื่องอื่นแทรกเข้ามาก่อน) ผมได้เจอประสบการณ์ที่ต้องกู้คืนโทรศัพท์ที่เจ้าของลืมรหัสเข้าเครื่อง จริง ๆ ไม่เชิงลืมครับคืออย่างนี้ เรื่องของเรื่องคือน้องสาวผมได้เปลี่ยนโทรศัพท์ซึ่งใช้มานานมากน่าจะเกิน 7 ปี และที่ต้องเปลี่ยนเพราะถ้าไม่เปลี่ยนต่อไปก็จะใช้แอปพวกธนาคารต่าง ๆ ไม่ได้แล้ว น้องก็เอาโทรศัพท์เก่าและใหม่ มาเพื่อให้ช่วยเซ็ตให้ เท่าที่เห็นคือโทรศัพท์เก่าที่น้องใช้ไม่ได้ตั้งรหัสเข้าเครื่อง เครื่องใหม่ก็ไม่ได้ตั้ง และยังไม่ได้ล็อกอิน Google Account ก็เลยแนะนำให้ล็อกอินก่อน แล้วน่าจะตั้งพินเข้าเครื่องด้วย น้องก็ทำท่าอิดออดไม่อยากล็อกอิน Google Account บอกเครื่องเก่าก็ไม่ได้ล็อก ก็เลยบอกว่าถ้าไม่ได้ล็อกแล้วโหลดแอปยังไง น่าจะล็อกมั้ง ก็เลยยอม ซึ่งก็นั่งคิดรหัสผ่านอยู่ตั้งนาน แสดงว่าไม่ค่อยได้ใช้ Google Accont เพื่อเรื่องอื่นจริง ๆ  ถึงตอนให้ตั้งพินก็ยังไม่อยาก แต่ก็ยอมทำ เอาละครับเรื่องมันเริ่มตรงนี้แหละครับ เวลาตั้งพินมันจะให้ใส่สองครั้งเหมือนกันใช่ไหมครับ ซึ่งน้องผมก็ทำผ่านเรียบร้อย แต่เชื่อไหมครับ พินที่น้องผมตั้งไป มันไม่ใช่ตัวที่เขาตั้งใจ เขากดผิดไปบางตัว แล้วกดผิดเหมือนกันสองครั้ง เหตุการณ์ที่ไม่น่าเกิดมันเกิดขึ้นแล้วครับ ซึ่งแน่นอนการตั้งพินก็ผ่านไปเรียบร้อย

แล้วเรื่องมันก็เกิด พอไม่ใช้เครื่องหน้าจอมันก็ล็อก พอจะปลดล็อกมันก็ให้ใส่พิน และแน่นอนครับมันเข้าไม่ได้ น้องก็พยายามเดาว่าผิดตรงตำแหน่งไหน แต่เดายังไงก็ไม่ถูก ซึ่งยิ่งเดาผิดมากครั้ง มันก็เพิ่มเวลาให้รอมากขึ้น ดังนั้นผมก็คิดว่าเดาไปคงใช้เวลาอีกเท่าไรก็ไม่รู้ ผมก็ไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน แต่ก็คิดถึงการ  Factory Reset เครื่อง ก็เลยจะลองทำดู ซึ่งสมัยก่อนก็ทำบ่อยเวลาจะลง ROM เครื่องเอง เดี๋ยวนี้ไม่ได้ทำแล้ว เพราะไม่รู้จะทำไปทำไม แต่ประเด็นคือเท่าที่เคยทำมาเราจะต้องปิดเครื่องให้ได้ก่อน แล้วค่อยกดปุ่มพิเศษเพื่อเข้าเมนูพิเศษของเครื่อง แต่ตอนนี้มันก็ไม่ยอมให้ปิดเครื่องครับ พอจะปิดเครื่องมันก็ยังให้ใส่พินให้ถูก ซึ่งจริง ๆ คุณสมบัตินี้มันเป็นคุณสมบัติที่ดีมากเลยนะครับ ถ้าโทรศัพท์เราหาย แต่พอมาเจอกับตัวเองเข้าก็หงุดหงิดครับ แต่สุดท้าย Google ก็ช่วยชีวิตครับ มีวิธีที่ทำให้เราเข้าเมนูพิเศษได้โดยไม่ต้องปิดเครื่อง ดังนั้นผมก็ทำไป แล้วก็ทำ Factory Reset

ถึงตอนนี้คิดว่าเอาชนะได้แล้ว ความคิดเริ่มย้อนแย้ง ประมาณว่าสุดท้ายก็ไม่แน่จริงนี่หว่า ยังไงถ้าใครโขมยเครื่องไปเขาก็เอาไปใช้ได้อยู่ดี  แต่ผมคิดผิดครับ มันยังไม่จบ เพราะหลังจาก Factory Reset เสร็จมันก็ยังถามพินเข้าเครื่องอยู่ดี แต่มันมีทางเลือกให้เราล็อกอิน Google Account ด้วย มันบอกประมาณว่าดูเหมือนว่ามีใช้พินหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ น่าจะลืมพิน ถ้าลืมพินก็ให้ใช้ Google Account ที่ล็อกอินมาก่อนหน้าที่จะ reset เครื่องนะ โอ้วประทับใจมากครับ และก็รู้สึกดีใจที่บอกให้น้องล็อกอิน Google Account ไว้ก่อน และแสดงให้เห็นว่าทำไมเราต้องผูก Gogole Account ของเรากับโทรศัพท์แอนดรอยด์

ซึ่งจากประสบการณ์นี้บอกตามตรงว่าค่อนข้างประทับใจกับระบบความปลอดภัย อย่างนี้ถ้าเราตั้งพินเอาไว้ดี ๆ คนที่เก็บเครื่องเราได้หรือโขมยไปจะเอาเครื่องไปใช้ ก็จะยุ่งยากมาก แต่คิดอีกที ถ้ามีทางเลือกแบบให้ล็อกอิน Google Account ได้  ทำไมไม่ทำให้ออกมาถามตอนเขาป้อนพินผิดหลาย ๆ ครั้งนะ ทำไมต้องให้เขาไป Factory Reset ก่อนด้วย...

โปรแกรมบอทที่ทำหน้าที่ขุดเงินคริปโตได้แอบเจาะโปรแกรม MSSQL Server มาเกือบสองปี

บริษัทด้านความมั่นคงไซเบอร์ชื่อ Guardicore บอกว่า มีโปรแกรมบอทที่ใช้วิธีเดารหัสผ่านของผู้ดูแลระบบของโปรแกรมจัดการฐานข้อมูล MSSQL Server เมื่อเดาได้แล้วก็ติดตั้งสคริปต์การขุดเงินคริปโตลงในระบบปฏิบัติการที่โปรแกรมจัดการฐานข้อมูลทำงานอยู่ โดยทำมาเกือบสองปีแล้ว โปรแกรมบอทตัวนี้มีชื่อว่า Vollgar โดย Guardicore บอกว่าโปรแกรมนี้เจาะระบบได้ 3000 ระบบต่อวัน โดยบอกว่าการจู่โจมมีมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 โดยมาจาก IP address กว่า 120 ตัว โดยส่วนใหญ่มาจากประเทศจีน โดย 60% ของเครื่องที่ติดโปรแกรมนี้จะติดอยู่ไม่เกิน 2 วัน แต่ เกือบ 20% จะปล่อยให้เครื่องตัวเองติดอยู่เกิน 1 สัปดาห์ ยิ่งไปกว่านั้น 10% จะติดซ้ำ โดย Guadicore ได้โพสต์สคริปต์เพื่อตรวจจับบอทตัวนี้ไว้ที่ GitHub repository ของ Guadicore

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  ZDNet

วันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2563

เครื่องมือค้นหาที่ใช้ AI ช่วยให้การค้นข้อมูล COVID-19 ทำได้ง่ายขึ้น

นักวิจัยจาก University of Waterloo Cheriton School of Computer Science ใน  Canada และ New York University ได้ร่วมกันพัฒนาจักรกลค้นหา (search engine) เฉพาะทางเพื่อนักวิจัยที่ทำวิจัยด้านการระบาดของ COVID-19 ซึ่งจักรกลค้นหานี้จะค้นข้อมูลชุดข้อมูล COVID-19 Open Research Dataset (CORD-19) ซึ่งเป็นข้อมูลแบบสาธารณะเปิดให้เข้าใช้ได้ โดยชุดข้อมูลดังกล่าวจะมีบทความวิชาการ รายงานทางการแพทย์ บทความจากวาสาร และข้อมูลที่มีการตีพิมพ์เกี่ยวกับ COVID-19 และไวรัสจระกูลโคโรนา ประมาณ 45,000 บทความ ซึ่ง AI จะดึงข้อมูลเชิงลึกออกมาจากข้อมูลที่เป็นข้อความ และทำให้ผู้ใช้สามารถค้นหาข้อมูลได้โดยใช้ภาษาที่เราใช้กันทั่ว ๆ ไป 

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  University of Waterloo Cheriton School of Computer Science

วันพุธที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2563

การศึกษาเพื่อใช้ AI ในการหาระเบิดที่ยังไม่ระเบิดจากสงครามเวียดนาม

นักวิจัยจาก Ohio State University (OSU) ใช้ AI เพื่อหาระเบิดที่ถูกทิ้งลงมาแต่ยังไม่ระเบิดในกัมพูชา ในช่วงสงครามเวียดนาม วิธีการคือใช้การเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) เพื่อวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมในพื้นที่ 100 ตารางกิโลเมตร ใกล้กับ Kampong Trabaek ในกัมพูชา เพื่อหาหลุมระเบิด ซึ่งนักวิจัยบอกว่ามันสามารถหาหลุมระเบิดเจอได้สูงกว่าวิธีมาตรฐานที่ใช้กันถึง 160% ผลการศึกษาพบว่า 44% ถึง 50% ของระเบิดที่ถูกทิ้งลงไปที่นั่นยังไม่ระเบิด

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Ohio State News

วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2563

ภาพสามมิติเสมือนจริงของใบหน้าสามารถสร้างได้จากกล้องของสมาร์ตโฟน

นักวิจัยจาก Carnegie Mellon University's Robotics Institute  ได้แสดงให้เห็นถึงการสร้างภาพสามมิติเสมือนจริงได้โดยใช้วีดีโอภาพใบหน้าที่ถ่ายจากกล้องสมาร์ตโฟน โดยเขาได้ใช้ขั้นตอนวิธีของการเรียนรู้เชิงลึกประมวลผลภาพวีดีโอที่ถ่ายใบหน้าจากด้านหน้าและด้านข้าง ตามข่าวบอกว่ากระบวนการสร้างไม่ได้ใช้เวลาที่เร็วนัก ต้องใช้เวลาประมาณ 30 ถึง 40 นาทีจึงจะประมวลผลเสร็จ แต่กระบวนการทั้งหมดสามารถทำได้โดยใช้สมาร์ตโฟน โดยสมาร์ตโฟนที่นักวิจัยใช้คือ iPhone X

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Carnegie Mellon University

วันจันทร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2563

ผู้เชี่ยวชาญจากยุโรปบอกว่าได้พัฒนาเทคโนโลยีสมาร์ตโฟนสำหรับหยุดโคโรนาไวรัส

กลุ่มของผู้เชี่ยวชาญ 130 คนจากประเทศในยุโรป 8 ประเทศ กำลังจะเปิดตัวแพลตฟอร์มบนโทรศัพท์มือถือที่จะสามารถติดตามคนที่มีสัมผัสใกฃ้ชิดกับผู้ติดเชื่้อโคโรนาได้ หลักการก็คือเมื่อสมาร์ตโฟนสองเครื่องมาอยู่ใกล้กันก็จะมีการบันทึกข้อมูลเอาไว้ 14 วัน ดังนั้นพอสามารถตรวจเจอคนที่ติดไวรัส ก็สามารถแจ้งเตือนผู้ที่มีความเสี่ยงได้ โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกเข้ารหัสและเข้าดูได้โดยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้านสุขภาพเท่านั้น 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Reuters

วันอาทิตย์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2563

คอมพิวเตอร์จิ๋วเพื่อติดตามสัตว์ป่าที่เข้าถึงที่อยู่ได้ยาก

ทีมวิศกร นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และนักชีววิทยาจาก Ohio State University, several German universities, หลายแห่งในเยอรมัน และ Smithsonian Tropical Research Institute ในปานามา ได้ร่วมกันพัฒนาคอมพิวเตอร์คิดหลังขนาดจิ๋ว (ดูรูปได้จากข่าวเต็ม) เพื่อติดไว้บนหลังสัต์ขนาดเล็กเพื่อที่จะได้ติดตามเข้าไปในถิ่นที่อยู่ของมัน โดยคอมพิวเตอร์เหล่านี้จะสามารถเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายได้ และจะใช้พลังงานอย่างประหยัดคือมันจะตอบสนองเมื่อได้รับสัญญาณจากคอมพิวเตอร์อีกตัวหนึ่งเท่านั้น ความจุแบตเตอรีที่ใช้จะมีเพียง 5% ของถ่าน 3A ที่เราใช้ทั่วไป นักวิจัยได้ทดสอบกับฝูงค้างคาวอยู่สองสัปดาห์ และสามารถบันทึกการติดต่อสื่อสารของพวกมันประมาณ 400,000 ครั้งลงในโทรศัพท์

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Ohio State News

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

ค้างคาวอีกแล้ว บอกตามตรงสรุปข่าวนี้ก็เพราะค้างคาวนี่แหละ อยากบอกนักวิจัยว่าช่วงนี้เลิกยุ่งกับมันไปสักพักได้ไหมไอ้ค้างคาวนี่

วันเสาร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2563

ซอฟต์แวร์ประสงค์ร้าย COVID-19 จะลบข้อมูลในเครื่องคุณและเขียนส่วนบูตเครื่องขึ้นมาใหม่

ZDNet ระบุว่าซอฟต์แวร์ประสงค์ร้าย (malware,มัลแวร์)  ที่ใช้รูปลักษณ์ของ COVID-19 จำนวน 5 ตัว จะทำความเสียหายให้เครื่องคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่ลบข้อมูลทั้งหมดในเครื่องคอมพิวเตอร์จนถึงเขียนส่วนบูตเครื่องหลัก (master boot record) ขึ้นมาใหม่ มัลแวร์จะใช้ชื่อว่า COVID-19.exe ตัวหนึ่งเมื่อติดเครื่องแล้ว มันจะแสดงวินโดว์ที่ปิดไม่ได้ เมื่อผู้ใช้สาละวนอยู่กับการพยายามแก้ปัญหา ตัวมัลแวร์จะเข้าไปเขียนส่วนบูตเครื่องหลัก และเมื่อเครื่องถูกรีสตาร์ตขึ้นมาใหม่มันจะบล็อกผู้ใช้ไม่ให้เข้าไปสู่เมนูก่อนการบูตเครื่อง อีกตัวหนึ่งจะทำตัวเป็นเหมือนซอฟต์แวร์เรียกค่าไถ่ (ransomeware) เพื่อหลอกผู้ใช้ แต่จริง ๆ แล้วมีจุดประสงค์เพื่อโขมยรหัสผ่าน และในเวอร์ขันสองจะแอบเขียนส่วนบูตเครื่องหลักไปด้วย ส่วนอีกสองตัวจะลบไฟล์ในเครื่อง ถึงแม้มันจะใช้วิธีแบบที่ไม่มีประสิทธิภาพเอามาก ๆ แต่มันก็ทำงานได้จริง ซึ่งนั่นก็หมายความว่ามันก็ทำอันตรายได้จริง ถ้ามันกระจายไปอย่างกว้างขวาง

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet

วันศุกร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2563

อยากได้คำตอบกันไหมว่าเราจะต้องอยู่บ้านช่วยชาติกันไปนานแค่ไหนและรัฐบาลจะทำอะไร

ตอนนี้หลายคนอาจอยู่บ้านช่วยชาติ Work From Home กันมาหลายวันแล้วนะครับ ส่วนตัวผมนี่ก็สอนออนไลน์อยู่ที่บ้านมาสามสัปดาห์แล้ว ในส่วนตัวตอนนี้ก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรมาก เพราะส่วนตัวเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบไปไหนต่อไหนอยู่แล้ว ปกติเลิกงานก็กลับบ้าน ที่เดือดร้อนที่สุดตอนนี้ก็น่าจะเป็นเรื่องเปลืองไฟ เปลืองแอร์ที่บ้าน และกังวลว่าอุปกรณ์ที่ใช้อยู่มันจะเสียไหม เพราะหลายชิ้นก็ใช้งานมานานแล้ว ถ้ามันเสียก็จะทำให้ทำงานลำบากขึ้น ตอนนี้ก็คงจะออกไปซ่อมหรือหาซื้อได้ยาก เพราะร้านต่าง ๆ ก็ปิดกันหมด โดยเฉพาะร้านตามห้างต่าง ๆ ปกติผมจะไปหาซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ตามห้าง และอีกอันก็คือรู้สึกว่าการสอนออนไลน์มันเตรียมเหนื่อยกว่าการสอนปกติ และบางทีมันสอนยากกว่า เพราะไม่ได้เห็นหน้านักศึกษา ข้อดีอย่างเดียวคือไม่ต้องเดินทาง อีกเรื่องนึงที่เดือดร้อนที่สุดก็เป็นเรื่องตัดผมครับ ก่อนที่มถานการณ์จะมาถึงขนาดนี้ ผมตั้งใจจะไปตัดผม แต่วันที่ไปดันมีคนรอตัดผมเต็มร้านไปหมด ผมก็เลยไม่รอ และหลังจากวันนั้นดันไม่ว่าง ก็เลยไม่ได้ตัดมาจนถึงตอนนี้ และคงไม่ได้ตัดไปอีกนานอย่างน้อยก็คงถึงสิ้นเดือนนี้

ในส่วนพวกเราที่ทำงานที่บ้านได้ ไม่ตกงาน บ้านมีเน็ตดี ๆ ดู Netflix ได้ ก็คงอยู่กันไปได้ สักพักหนึ่ง แต่ถ้ามันนานมาก ๆ ผมว่าพวกเราก็คงไม่ไหวเหมือนกันนะครับ ขนาดผมตอนนี้ยังรู้สึกเริ่มเบื่อ ๆ เลย และลองมาดูผลกระทบกับบุคคลที่ไม่สามารถทำแบบนี้ได้ บางคนต้องตกงาน ธุรกิจบางตัวถึงกับต้องปิดตัวไป ในส่วนนี้รัฐบาลได้คิดมาตรการรองรับไหม มาตรการ 5000 บาทนานสามเดือนมันเยียวยาได้พอไหม พอเปิดมาหลังจากนี้ถ้าเขาไม่มีงานทำ รัฐบาลจะช่วยเขายังไง คือที่เขียนมานี้ไม่ได้คิดแต่จะตำหนิรัฐบาล แต่อยากจะให้คิดว่ามันไม่ใช่ให้อยู่บ้านกันไปเรื่อย ๆ เพราะยิ่งต้องอยู่นาน การเยียวยาจากรัฐบาลมันจะทำได้ยากมากขึ้น และค่าใช้จ่ายมันจะยิ่งสูงมากขึ้น

คือผมเข้าใจว่ามันเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบาก และไม่คาดคิด แต่การจะประกาศอะไรออกมา มันควรจะผ่านการกลั่นกรองวางแผนมาระดับหนึ่งไหมครับ อย่างทีมคุณหมอท่านเสนอแนะว่าควรให้อยู่บ้านกันมากที่สุด ท่านก็เสนอในมุมของคุณหมอ ท่านก็คิดในมุมลดการระบาด แต่มันก็ต้องมีคนคิดส่วนอื่นด้วย ในตอนแรกที่เสนอมาว่าถึง 12 เมษายน นี่ ใช้หลักคิดอะไร แล้วมีมาตรการจะจัดการยังไง แล้วทำไมพอประกาศมาแค่ไม่กี่วันก็มาขยายเป็น 30 เมษายน คือมันมีหลักการอะไรในการประเมิน ดังนั้นตอนนี้ก็คือเราจะรู้ได้ยังไงว่าเมื่อถึงวันที่ 30 เมษายน แล้วมันจะยังไงต่อไป เรามีอะไรเป็นเกณฑ์ประเมินความสำเร็จของมาตรการ ประชาชนจะได้รู้ว่ามันสำเร็จหรือไม่ และถ้ามันไม่สำเร็จ มันก็ต้องประเมินว่าทำไมมันไม่สำเร็จ เรามาผิดทาง ประชาชนไม่ให้ความร่วมมือหรือเพราะอะไร ถ้ามาตรการไม่สำเร็จ เราปิดต่อไป แล้วจะทำยังไง ให้มันสำเร็จ

มีคนบอกว่าอย่าวิจารณ์อย่างเดียว ต้องเสนอด้วยสิ หรือเอาแต่วิจารณ์มาทำดูสิ ซึ่งจริง ๆ ผมบอกแล้วนะว่าการวิจารณ์มันไม่ใช่ว่าเราต้องทำได้ เพราะหลาย ๆ ครั้ง เราก็ไม่ได้มีเครื่องไม้เครื่องมือ หรือมีศักยภาพที่จะทำได้เหมือนคนที่มีอำนาจอยู่ แต่คราวนี้ผมอยากจะลองเสนอดูบ้าง คือผมว่ารัฐบาลน่าจะมีแผนไปเลยในช่วงนี้ว่าหยุดแล้วจะทำอะไร เช่นประกาศหยุดหนึ่งเดือนอย่างตอนนี้ ในช่วงสองสัปดาห์แรก อยู่บ้านกัน ช่วยลดการติดต่อ เพิ่มเรื่อง social distancing ในช่วงสองสัปดาห์นี้ รัฐบาลจะจัดหาชุดตรวจโควิดที่ให้ผลเร็ว ทำให้หน้ากากอนามัยหาซื้อได้ หรือจัดส่งให้ประชาชน (ซึ่งวันนี้ทีฟังเหมือนกับเขากำลัวจะทำหน้าการผ้ามาแจก) จัดทำเจลล้างมือ อะไรก็ว่าไป หลังจากนั้นอีกสองสัปดาห์ จะปูพรมลงตรวจประชาชน ซึ่งตรงนี้จะต้องขอเพิ่มมาตรการเช่นประกาศเป็นวันหยุด ให้ทุกคนอยู่บ้านตรวจด้วยเครื่องมือที่ให้ผลเร็วจะได้รู้จำนวนคนป่วย แล้วแยกตัวออกมา เพราะโรคนี้บางทีมันก็ไม่แสดงอาการ อาจไม่ได้ 100% แต่ก็ทำให้มากที่สุด พวกที่ต้องทำจริง ๆ หยุดไม่ได้ ก็ให้ตรวจที่ทำงาน ในช่วงที่ต้องหยุดงานนี้ บริษัทที่เสียผลประโยชน์ ไม่สามารถ work from home ได้ รัฐบาลจะชดเชยให้ลูกจ้าง ให้บริษัทยังไงก็ว่าไป ช่วงที่หยุดก็ทำความสะอาดที่ทำงาน ระบบขนส่งมวลชนอะไรให้มากที่สุด ถ้าเห็นว่า Face Shield มันใช้ได้ผล ก็อาจจัดหา หรือสั่งทำให้พร้อมจำหน่าย หรือแจกจ่ายประชาชนที่มีรายได้น้อย ตรงนี้อาจใช้เวลาอีกสองสัปดาห์ และแน่นอนต้องให้ประชาชนตระหนักว่าในช่วงหลังจากนี้ออกจากบ้าน ต้องใช้ Face Shield สวมหน้ากากอนามัย พกเจลล้างมือติดตัว ซึ่งรวมทั้งหมดนี้ก็จะใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนตามที่ประกาศหยุด ซึ่ง Covid อาจไม่หายไปหมด แต่อย่างน้อยเราก็ออกมาใช้ชีวิตกันได้เหมือนเดิม ด้วยการระมัดระวังป้องกันตัวเอง เพราะอย่างน้อยเราก็ได้คัดกรองคนป่วยไปส่วนใหญ่แล้ว และเราก็สามารถหาซื้อเครื่องมือป้องกันตัวเองได้ง่ายไม่ขาดตลาดเหมือนตอนนี้  อีกอย่างที่ต้องทำให้เกิดให้ได้คือระบบซึ่งเป็น cashless เอาให้ถึงระดับล่างที่สุดเลยให้ได้ เพราะเชื้อพวกนี้มันติดต่อผ่านแบงค์หรือเหรียญได้ จริง ๆ มันก็ไม่ใช่แค่โรคนี้หรอก หลายโรคเลยแหละ แต่เราไม่ได้สนใจมันมากเท่านั้นเอง

ที่พูดมามันก็เป็นเพียงแนวคิดของผม จะดีหรือไม่ดีไม่รู้ แต่ผมอยากได้คำชี้แจงหรือแผนงานอะไรประมาณนี้ครับ อย่างน้อยมันก็ดีกว่าอยู่บ้านช่วยชาติกันไปนะ ซึ่งถ้าแผนมันไม่ได้ผลอะไรครงไหนเราจะได้รู้ และจะได้เข้าใจว่าทำไมต้องหยุดต่อ หรือต้องทำอะไรต่อไปและพร้อมให้ความร่วมมือ และจะได้มองเห็นเป้าหมายร่วมกัน และถ้ายิ่งให้เราออกมาใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วเท่าไหร่ เศรษฐกิจก็ยิ่งเสียหายน้อยลงเท่านั้น และรัฐบาลก็ใช้เงินในการเยียวยาน้อยลงด้วย ไม่ใช่เอาแต่ออกมาขู่ ถ้ายังไม่ลดก็ปิดต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งมันฟังแล้วไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย นอกจากจะเกลียดมากขึ้น เวรกรรม ว่าจะไม่แขวะแล้ว อดไม่ได้จริง ๆ

ACM มอบรางลัลให้ผู้พัฒนา AlphaGo

Association for Computing Machinery (ACM) ได้ประกาศในวันที่ 1 เมษายน เพื่อมอบรางวัล ACM Prize in computing ประจำปี 2019  ในสาขา คอมพิวเตอร์เล่นเกม (computer game-playing) ให้กับ David Silver ซึ่งเป็นผู้นำของกลุ่มนักพัฒนาที่พัฒนา AlphaGo ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ที่เล่นเกม Go ชนะแชมป์ของเกมนี้ที่เป็นคน ในตอนนี้ Silver และทีมกำลังพัฒนาขั้นตอนวิธีที่เรียกว่า AlphaZero เพื่อให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้การเล่นเกมกับตัวเอง โดยไม่ต้องเรียนรู้จากผู้เล่นที่เป็นคนเลย ซึ่งขั้นตอนวิธีที่ Silver และทีมกำลังพัฒนาสามารถนำไปประยุกต์กับเทคโนโลยีระดับสูงนอกจากเกมได้ อย่างเช่น Google ตอนนี้ก็กำลังศึกษาวิธีที่จะนำไปใช้ในการบริหารจัดการหุ่นยนต์ในโรงงานอุตสาหกรรม

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ACM

วันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2563

แอพมือถือบางตัวอาจมีประตูลับซ่อนอยู่

นักวิจัยด้านความมั่นคงไซเบอร์ (cybersecurity) ที่ Ohio State University, New York University, and Germany's CISPA Helmholtz Center for Information Security พบว่า 8.5% จากแอปประมาณ 150,000 ตัวที่เราสามารถดาวน์โหลดกันได้มีประตูลับซึ่งอาจเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ หรือบล็อกผู้ใช้จากการเข้าถึงเว็บต่าง ๆ ซึ่งอันหลังนี้นักวิจัยบอกว่า มันแอบเอาไว้โดยไม่บอก ดังนั้นผู้ใช้อาจไม่รู้ตัวว่าถ้าใช้คำนี้แล้วจะถูกบล็อก นักวิจัยบอกว่าบางครั้งช่องโหว่นี้มันไม่ได้เป็นความมุ่งร้ายของผู้พัฒนาแอป แต่เป็นความประมาทหรือเข้าใจผิดว่าการทำวิศวกรรมย้อนกลับ (reverse engineering) โปรแกรมเพื่อให้เห็นโค้ดโปรแกรมนั้นทำได้ยาก ดังนั้นบางแอปก็อาจเอาตัวรหัสผ่านระดับสูงสุดสด (master password) ใส่ไว้ในแอป ดังนั้นถ้าใครทำวิศกรรมย้อนกลับแล้วได้รหัสผ่านนี้ไปก็สามารถเข้าถีงข้อมูลอะไรก็ได้ที่แอปเก็บไว้ นักวิจัยไดสร้างเครื่อมือแบบเปิดเผยโค้ดชื่อ InputScore เพื่อช่วยให้นักพัฒนาได้เห็นช่องโหว่ในโปรแกรมของตัวเอง 

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  Ohio State News

วันพุธที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2563

นักวิจัยพัฒนาวิธีการที่เร็วกว่าในการแทนที่ข้อมูลที่ถูกต้อง

นักวิจัยจาก North Carolina State University (NC State) และ U.S. Army Research Office ได้พัฒนาตัวแบบแบบใหม่ที่สามารถแทนที่ข้อมูลที่ผิดพลาดที่แพร่ไปบนเครือข่ายสังคมและอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) ด้วยข้อมูลที่มีความถูกต้อง โดยวิธีการของนักวิจัยคือหาจุดที่จะเอาข้อมูลใหม่ที่ถูกต้องเข้าไปในเครือข่ายเพื่อให้กระจายไปเร็วที่สุด เพื่อที่จะได้ไปกำจัดข้อมูลที่ไม่ถูกต้องออกไปให้เร็วที่สุด

อ่านข่าวเต็มได้ที่: NC State University News