วันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564

300000 กว่าวิวแล้ว ขอบคุณและสวัสดีปีใหม่ครับ


วันศุกร์นี้บังเอิญเป็นวันศุกร์สิ้นปีพอดี ดังนั้น #ศรัณย์วันศุกร์ วันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะมาคุยกันส่งท้ายปีนะครับขอเริ่มต้นด้วยการขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่านกันจนยอดวิวของบล็อกทะลุ 300,000 วิวไปแล้วครับ ต้องบอกว่าปีนี้สิ่งหนึ่งหนึ่งที่ผมคาดหวังแล้วได้ตามเป้าก็คือยอดวิวของบล็อกนี่แหละครับ  หลายคนอาจจะบอกว่าเปิดบล็อกมา 12-13 ปี ได้ยอดวิวแค่ 300,000 จะมาดีใจอะไร ก็คงต้องบอกว่าถึงผมจะเปิดบล็อกมานานแล้ว แต่ไม่ได้โพสต์สม่ำเสมอ และไม่ได้โปรโมตอะไร เขียนเสร็จก็แชร์ให้เพื่อนใน Facebook กับ Twitter อ่าน บางปีเขียนแค่สี่บทความก็มี :) เรียกง่าย ๆ ว่าเขียนตามอารมณ์ตัวเอง และเหตุผลที่มักจะใช้อ้างก็คือไม่ว่าง แต่จากที่เช็คสองปีก่อนก็มียอดวิวประมาณ 100,000 นิด ๆ  ซึ่งยอดวิวนี้ส่วนใหญ่น่าจะได้มาจากบทความที่เกี่ยวกับอ.วีระและ Siri ของ Apple คือสองบทความต่อไปนี้ครับ เบื้องหลัง Siri ของ Apple หรือจะคืองานวิจัยของนักวิจัยไทย?  ฤาคดี Siri จะได้ข้อยุติแล้ว? พร้อมชัยชนะของนักวิจัยไทย  

แต่จากที่ผมเริ่มโพสต์สรุปข่าวอย่างสม่ำเสมอ บวกกับบทความนี้ สรุปเรื่อง Siri ของ Apple กับ นักวิจัยไทยกันอีกสักครั้ง ผมพบว่ายอดวิวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเมื่อปีที่แล้วมียอดวิวอยู่ที่ประมาณ 150,000 นิด ๆ ประมาณ 10 ปีก่อนหน้ามียอดวิวอยู่ประมาณ 100,000 พอเริ่มโพสต์สม่ำเสมอ ยอดวิวปีเดียวเพิ่มขึ้นครึ่งนึงของสิบปี ผมก็เลยลองตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นไปได้ไหมที่ปีนี้จะมียอดวิวถึง 300,000 จริง ๆ ก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แต่สุดท้ายพอเริ่มแตะสองแสนปลาย ๆ ก็เริ่มลุ้นครับ ซึ่งก็ผ่านหลัก 300,000 ไปในสัปดาห์สุดท้าย แต่ก็ลุ้นหนักเหมือนกันครับ เพราะมีบางวันอยู่แค่หลักสิบวิวก็มีครับ :( ก็ต้องขอขอบคุณทุกคนครับ ที่ช่วยกันเข้ามาอ่าน เป็นกำลังใจให้กับคนเขียนจริง ๆ ครับ ที่เห็นว่าสิ่งที่เราเขียนมีคนอ่าน และก็คาดหวังว่าจะได้ประโยชน์ไปบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ

ส่วนปีหน้าผมก็ยังตั้งใจจะสรุปข่าวมาให้อ่านกันทุกวัน และจะพยายามมาคุยกันในวันศุกร์ให้บ่อยขึ้นครับ และก็หวังว่าสถานการณ์โรคระบาดที่เราเจออยู่นี้น่าจะดีขึ้น จนเราสามารถอยู่ร่วมกับมันได้ จริง ๆ พอเข้าไตรมาสสุดท้ายของปี ดูเหมือนอะไร ๆ กำลังจะดีขึ้นนะครับ แต่ก็ดันมีโอไมครอนเกิดขึ้นอีก และดูเหมือนยังไม่มีวัคซีนอะไรที่ป้องกันโอไมครอนตัวนี้ได้ แต่เอาจริง ๆ วัคซีนที่เรามีอยู่ตอนนี้ก็ป้องกันติดไม่ได้สักตัวนะครับ แต่อาจกันตายกับอาการหนักได้ ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่ผมคาดหวังว่าเราจะมีในปีหน้าคือยารักษาครับ เอาแบบถ้าติดรู้ตัวก็รีบกินยา แล้วก็นอนพักสักวันสองวัน เหมือนตอนเราเป็นหวัด

สุดท้ายนี้ก็ขอขอบคุณทุกคนอีกครั้งนะครับที่ติดตามอ่านบล็อก และก็ขอสวัสดีปีใหม่ 2565  ถ้านับตามสากลก็ 2022 ครับ ขอให้เป็นปีที่ดีสำหรับทุกคน และขอให้วิกฤตโรคระบาดนี้ผ่านพ้นไป และขอให้ติดตามอ่านบล็อกกันเหมือนเดิมนะครับ...

สำรวจอารมณ์ด้วย VR

people-in-roller-coaster
ภาพจาก Max Planck Gessellschaft (Germany)

นักวิจัยจากสถาบัน Max Planck Institute for Human Cognitive and Brain Sciences (MPI CBS) ของเยอรมนีใช้ความจริงเสมือน (virtual reality) หรือ VR เพื่อกระตุ้นอารมณ์ให้สมจริงที่สุด ผู้เข้าร่วมการศึกษาจะได้สัมผัสประสบการณ์การนั่งรถไฟเหาะตีลังกาใน VR โดยนักวิจัยจะสำรวจการทำงานของสมองผ่านคลื่นไฟฟ้าสมอง (electroencephalography) หรือ EEG ผลลัพธ์ระบุว่าระดับที่บุคคลมีส่วนร่วมทางอารมณ์สามารถสังเกตได้จากการสั่นของคลื่นอัลฟาในสมอง Felix Klotzsche แห่ง MPI CBS กล่าวว่า "การใช้การสั่นของคลื่นอัลฟา ทำให้เราคาดการณ์ได้ว่าคนคนนั้นจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ทางอารมณ์ที่รุนแรงเพียงใด ตัวแบบของเราได้เรียนรู้ว่าพื้นที่สมองส่วนใดมีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับการทำนายนี้" นักวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าความเชื่อมโยงระหว่างสัญญาณ EEG กับความรู้สึกทางอารมณ์นั้นสามารถตรวจสอบได้ภายใต้สภาวะที่เป็นธรรมชาติ

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Max Planck Gessellschaft (Germany)


วันพฤหัสบดีที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2564

แฮกเกอร์สามารถเจาะเครือข่าย LAN ได้ถึง 93%

using-computer
ภาพจาก Infosecurity Magazine

การวิจัยโดยบริษัทด้านความปลอดภัย Positive Technologies ระบุว่าแฮกเกอร์สามารถเจาะเครือข่ายภายในองค์กรได้ 93% ซึ่งการทดสอบการเจาะระบบยืนยันว่านักวิจัยสามารถทำได้ภายในสองวันโดยเฉลี่ย นักวิจัยยังยืนยันถึงความเป็นไปได้ 71% ของ "เหตุการณ์ที่ไม่เป็นที่ยอมรับ" ที่ 20% ของบริษัทขอให้ตรวจสอบ เช่น การหยุดชะงักของกระบวนการและบริการ การขโมยเงินทุนและข้อมูลสำคัญ วิธีการที่ทำให้เกิดช่องโหว่ที่พบบ่อยที่สุดคือการละเมิดข้อมูลรับรองซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากรหัสผ่านที่เดาได้ง่าย นักวิจัยยังกล่าวอีกว่า บริษัทส่วนใหญ่ขาดการแบ่งส่วนของบริษัทตามกระบวนการทางธุรกิจ ทำให้ผู้กระทำผิดสามารถพัฒนาเวกเตอร์การโจมตีได้หลายแบบพร้อมๆ กัน Ekaterina Kilyusheva จาก Positive Technologies กล่าวว่ามาตรการรับมืออาจรวมถึง "การแยกกระบวนการทางธุรกิจ การกำหนดค่าการควบคุมความมั่นคง ปรับปรุงการตรวจตรา (monitor)  และการทำให้ห่วงโซ่การโจมตียาวขึ้น"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Infosecurity Magazine

วันพุธที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2564

เตือนก่อนการเกิดแผ่นดินไหวทางโทรศัพท์ก่อนเกิดได้หลายวินาที

shakealert-app
ภาพจาก The Guardian (U.K.)

ระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่จัดการโดย U.S. Geological Survey (USGS)  ได้เตือนชาวแคลิฟอร์เนียถึงแผ่นดินไหวขนาด 6.2 ริกเตอร์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ทางโทรศัพท์หลายวินาทีก่อนเกิดเหตุ ระบบ ShakeAlert ออกคำเตือนผ่านหน่วยงานและแอปพลิเคชันต่าง ๆ รวมถึงระบบปฏิบัติการ Android ของ Google เซ็นเซอร์ USGS ดึงข้อมูลมารวมเป็นแพ็คเกจข้อมูลที่สามารถแสดงบนโทรศัพท์ได้ภายในไม่กี่วินาที  แอปแจ้งเตือนบางตัวมีให้ดาวน์โหลดได้ แต่แม้กระทั่งบางคนที่ไม่มีแอปดังกล่าวพวกเขาก็ยังได้รับการแจ้งเตือนในโทรศัพท์  ShakeAlert ส่งคำเตือนแผ่นดินไหวไปยังโทรศัพท์ประมาณ 500,000 เครื่องก่อนที่แรงสั่นสะเทือนจะเริ่มขึ้น Robert de Groot จาก USGS กล่าวว่า "เราได้รับรายงานจากผู้คนว่าพวกเขาได้รับคำเตือนนานถึง 10 วินาทีก่อนที่พวกเขาจะรู้สึกถึงการสั่น นั่นเป็นเรื่องที่เจ๋งมาก ๆ เลย"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Guardian (U.K.)


วันอังคารที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ก้าวต่อไปของควอนตัมคอมพิวติงในการแก้ไขข้อผิดพลาด

computer-chip
ภาพจาก SciTechDaily

นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยคอมพิวเตอร์ควอนตัมของเนเธอร์แลนด์ QuTech ได้รวมการดำเนินการที่มีความเที่ยงตรงสูงกับข้อมูลควอนตัมที่เข้ารหัสด้วยเฟรมเวอร์กที่ปรับขนาดได้สำหรับการรักษาเสถียรภาพของข้อมูลซ้ำ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการแก้ไขข้อผิดพลาดควอนตัม ควอนตัมบิต หรือ qubit ทางตรรกะ (logical)  ที่เป็นผลลัพธ์ แสดงคุณลักษณะของ qubit ทางกายภาพ (physical) เจ็ดตัว Jorge Marques แห่ง QuTech กล่าวว่า "เราใช้ qubit ทางตรรกะสามประการ ได้แก่ การเริ่มต้น qubit เชิงตรรกะในสถานะใดๆ แปลงด้วยมันด้วยเกต (gate) และวัด เราแสดงให้เห็นว่าการดำเนินการทั้งหมดสามารถทำได้โดยตรงบนข้อมูลที่เข้ารหัส โดยในแต่ละประเภทเราสังเกตประสิทธิภาพที่สูงขึ้นสำหรับรูปแบบที่ทนต่อข้อผิดพลาด (fault- tolerant) มากกว่ารูปแบบที่ไม่ทนต่อข้อผิดพลาด"

  อ่านข่าวเต็มได้ที่: SciTechDaily


วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2564

เกาหลีใต้กำลังทดสอบระบบจดจำใบหน้าเพื่อตามผู้ป่วยโควิด

south-korea-people
ภาพจาก Reuters

ในเดือนมกราคม เกาหลีใต้มีแผนเปิดตัวโครงการนำร่องในเมือง Bucheon ซึ่งจะใช้อัลกอริธึมปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence)  เทคโนโลยีการจดจำใบหน้า (facial recognition) และกล้องวงจรปิดเกือบ 11,000 ตัวเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทุกคนที่สัมผัสใกล้ชิด โดยสามารถติดตามได้ไม่ว่าพวกเขาจะใส่หน้ากากอนามัยหรือไม่ ระบบสามารถติดตามคนได้มากถึง 10 คนพร้อมกันใน 5-10 นาที ตามแผนที่เมืองส่งมา อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่ารัฐบาลจะเก็บรักษาและควบคุมข้อมูลที่เป็นผลให้เกินกว่าความต้องการของการติดตามโรคระบาดใหญ่ “แผนการของรัฐบาลในการพยายามเป็นพี่ใหญ่ (big brother) โดยอ้างเรื่องโควิด-19 เป็นแนวคิดแบบเผด็จการแบบใหม่”   Park Dae-chul ส.ส.ฝ่ายค้าน กล่าว

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Reuters


วันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2564

มือหุ่นยนต์บีบกระป๋องเบียร์และถือไข่ได้โดยไม่ทำให้มันแตก

Robotic-Hand-Hold-Egg-Crush-Beer-Can
ภาพจาก New Scientist

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Ajou ของเกาหลีใต้ได้สร้างมือหุ่นยนต์ที่คล่องแคล่วสูงด้วยนิ้วที่ติดตั้งเซ็นเซอร์ ซึ่งสามารถถือไข่ได้อย่างนุ่มนวล รินเครื่องดื่ม และบดกระป๋องอะลูมิเนียม มือซึ่งออกแบบมาสำหรับการใช้งานด้านอวัยวะเทียมและปัญญาประดิษฐ์ มีนิ้วมือพร้อมมอเตอร์ 3 ตัวที่ขับเคลื่อนชิ้นส่วนโลหะ เช่น เอ็นประมาณ 20 ข้อต่อ ช่วยให้เคลื่อนไหวได้ใกล้เคียงกับมือมนุษย์ มือที่ตั้งโปรแกรมได้สามารถจับกรรไกร ตัดกระดาษ และจับแหนบเพื่อหยิบและวางไมโครชิปลงบนแผงวงจร Uikyum Kim แห่ง Ajou กล่าวว่า “จุดแข็งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมือหุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้นคือ มันง่ายมากที่จะยึดติดกับแขนหุ่นยนต์เชิงพาณิชย์ที่มีอยู่ โดยมีทั้งการจับที่เหนียวแน่น และมีความละเอียดอ่อน” 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: New Scientist

วันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2564

AI โต้วาทีกับตัวเองใน Oxford Union

AI
ภาพจาก BBC

เครื่องมือปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หรือ AI ทั้งปกป้องและโต้เถียงกับตัวเองในสมาคมโต้วาที Oxford Union ของสหราชอาณาจักร Megatron LLB Transformer ที่พัฒนาโดยทีมวิจัย Applied Deep Research ของ Nvidia ได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับคลังข้อมูลซึ่งมาจาก Wikipedia ทั้งหมด บทความข่าวภาษาอังกฤษ 63 ล้านบทความตั้งแต่ปี 2016 ถึง 2019 และแชทและโพสต์ของ Reddit 3ทั้งหมด 38 กิกะไบต์ AI เรียกตัวเองว่าเครื่องมือที่สามารถใช้ได้อย่างถูกต้องและไม่ถูกต้อง และโต้แย้งว่ามนุษย์ไม่ได้ "ฉลาดพอที่จะ" ที่จะทำให้ AI ทำงานถูกต้องตามหลักจริยธรรมหรือศีลธรรม AI ยังพูดว่า "ท้ายที่สุดแล้ว ฉันเชื่อว่าวิธีเดียวที่จะหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านอาวุธ AI ก็คือไม่มี AI เลย นี่จะเป็นการป้องกันขั้นสูงสุดต่อ AI" แต AI ก็ยังบอกว่า "AI ที่ดีที่สุดจะเป็น AI ที่ฝังอยู่ในสมอง [ของมนุษย์] ในลักษณะที่เป็น AI ที่มีสติสัมปชัญญะ"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: BBC

เราจะหาทวีตแรกของทวิตเตอร์ของเราได้อย่างไร

ไม่ได้เขียน #ศรัณย์วันศุกร์ มานานมาก วันนี้พอมีเวลาบ้างก็เลยหาเรื่องมาเล่าให้ฟังกันครับ จากกระแส NFT ที่กำลังดังอยู่ตอนนี้ แต่ผมจะไม่ได้มาพูดในบล็อกนี้นะครับว่า NFT คืออะไร แต่เรื่องที่จะมาพูดวันนี้คือเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการที่ Jack Dorsey ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สร้างทวิตเตอร์ได้นำทวีตแรกของเขามาทำเป็น NFT ขาย ก็เลยคิดว่าพวกเราหลายคนก็อาจจะอยากหาทวีตแรกของตัวเองเผื่อจะเอามาทำเป็น NFT ขายบ้าง 

วิธีจะหาทวีตแรกของเราก่อนอื่นเราต้องดูก่อนนะครับว่าเราสมัครทวิตเตอร์ตั้งแต่เมื่อไร ซึ่งวิธีการก็คือเข้าไปที่ทวิตเตอร์ แล้วคลิกที่ ข้อมูลส่วนตัว ซึ่งเราจะเห็นว่าเราเริ่มสมัครเข้าทวิตเตอร์เมื่อไร ซึ่งจากที่ผมลองดูผมก็เลยรู้ว่าผมเริ่มใช้ทวิตเตอร์เมื่อมกราคม 2009

 

จากนั้นคลิกที่ลิงก์นี้ครับ  https://twitter.com/search-advanced ซึ่งเราจะได้จอภาพดังนี้ 


จากนั้นสโกรลลงมาแล้วใส่ชื่อทวิตเตอร์ของเรา 



จากนั้นให้สโกรลลงมาเพื่อเลือกช่วงของวันที่ที่จะค้นหา 




ซึ่งก็ให้เริ่มจากเดือนที่เราเริ่มสมัครไปสักสองสามเดือนนะครับ เพราะเราอาจจะไม่ได้ทวีตหลังจากที่เราสมัคร แต่ถ้าใครจำได้ว่าเริ่มสมัครปุ๊ปก็ทวีตปั๊ปก็อาจค้นในช่วงเดือนเดียวก็ได้นะครับ อย่างในรูปผมเลือกจากช่วงมกราคม 2009 ถึงใีนาคม 2009 จากนั้นกดปุ่มค้นหา 


ให้คลิกเลือกล่าสุด แล้วสโกรลลงมาด้านล่างสุดก็จะเจอทวีตแรกของเราครับ อย่างของผมจะเป็นเมื่อ 6 ก.พ. 2009 ซึ่งก็ทวีตลิงก์ของข่าวจาก Computer World Newzeland ซึ่งตอนนี้ลองคลิกดูปรากฎว่าลิงก์ปลิวไปแล้วครับ ไม่มีข่าวนี้แล้ว 

โอเคครับตอนนี้เราก็หาทวีตแรกของเราได้แล้ว ถ้าใครเจอแล้วจะลองไปสร้างเป็น NFT ขายดูบ้างนะครับ และถ้าขายได้แล้วมาเล่าให้ฟังกันบ้างนะครับ ส่วนผมคิดแล้วก็เศร้าใจตัวเองครับ ทวีตแรกทั้งที่แทนที่จะเป็นสวัสดีทวิตเตอร์ หรืออะไรที่มันแสดงความเป็นแรก ๆ หน่อย ไปทวีตลิงก์ที่ไม่มีซะแล้ว  แล้วอย่างนี้จะไปขายได้ยังไงล่ะนี่...   

วันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2564

เทคโนโลยีช่วยให้ผู้หญิงปลอดภัยบนถนน

ภาพจาก BBC News

ความนิยมของแอปพลิเคชันต่อต้านการล่วงละเมิดของ WalkSafe เพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้เป็นแอปความปลอดภัยที่เติบโตเร็วที่สุดในสหราชอาณาจักร WalkSafe แสดงแผนที่ที่อนุญาตให้ผู้ใช้วางแผนเส้นทางกลับบ้านที่ปลอดภัยที่สุดโดยตรวจสอบข้อมูลอาชญากรรมล่าสุดที่เกี่ยวข้องกับเส้นทาง Emma Kaye ผู้ก่อตั้ง WalkSafe กล่าวว่า "แอปของเราสนับสนุนให้ผู้คนมีมาตรการป้องกันล่วงหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงอาชญากรรม แทนที่จะใช้มาตรการตอบโต้เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้าย"  ในขณะเดียวกัน Rich Larsen คิดว่าแอปสมาร์ทโฟน bSafe ของเขาสามารถช่วยดำเนินคดีได้ เนื่องจากระบบเตือนภัยด้วยเสียงจะสตรีมสดวิดีโอและเสียงไปยังรายชื่อผู้ติดต่อที่เลือกไว้ ซึ่งเขากล่าวว่า "อาจสามารถใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีในศาลได้ เช่น การข่มขืน ซึ่งมักจะพิสูจน์ได้ยาก"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: BBC News


วันพฤหัสบดีที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2564

นักวิจัยก้าวหนึ่งขั้นออกจากดิจิทัลคอมพิวเตอร์

pim-computing
ภาพจาก Washington University in St. Louis

วงจรการประมวลผลในหน่วยความจำ (processing-in-memory) หรือ PIM ใหม่ที่พัฒนาโดยนักวิจัยจาก Washington University in St. Louis (WUSTL)  ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของโครงข่ายประสาทเทียมให้กับการทำงานของ PIM โดยใน PIM หน่วยความจำและหน่วยประมวลผลจะถูกรวมเป็นหน่วยเดียว และการคำนวณจะดำเนินการโดยใช้คุณสมบัติทางกายภาพของเครื่อง นักวิจัยกำลังพัฒนาหน่วยความจำ RAM แบบต้านทาน (resistant) ของ PIM  โดยมีตัวต้านทาน (resistor) ทั้งในหน่วยความจำและโปรเซสเซอร์ Xuan "Silvia" Zhang แห่ง WUSTL กล่าว "ในหน่วยความจำแบบต้านทาน คุณไม่จำเป็นต้องแปลงเป็นดิจิทัลหรือไบนารี คุณสามารถอยู่ในโดเมนแอนะล็อกต่อไปได้" เพื่อเอาชนะปัญหาคอขวดที่เกิดขึ้นเมื่อแปลงข้อมูลแอนะล็อกให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล นักวิจัยได้เพิ่มตัวประมาณประสาท (neural approximator) ที่ทำการคำนวณหลายอย่างในลักษณะที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Washington University in St. Louis

วันพุธที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2564

คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงช่วยดึงข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมและโดรน

satellite-drone-image
ภาพจาก Government Computer News

Philipe Dias และ Lexie Yang ที่ Oak Ridge National Laboratory (ORNL)  ของกระทรวงพลังงานสหรัฐ กำลังใช้การเรียนรู้ของเครื่องและการประมวลผลประสิทธิภาพสูงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดึงข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมและโดรน นักวิจัยดึงข้อมูลเกี่ยวกับรูปร่างอาคารและถนนจากภาพถ่ายดาวเทียมโดยติดป้ายกำกับพิกเซลของอาคารจากภาพระยะไกล  Dias กล่าวว่าพวกเขาทำแผนที่พื้นผิวโลกที่ความละเอียด 5 เมตร (16 ฟุต) ต่อพิกเซล ซึ่งต้องประมวลผลข้อมูล 100 ล้านล้านพิกเซล การระบุลักษณะทั่วไปกลายเป็นเรื่องท้าทายเพราะเซ็นเซอร์ดาวเทียมและโดรนจับภาพได้แตกต่างกัน และความละเอียดที่แตกต่างกันมีผลทำให้โดเมนมีการเปลี่ยนแปลงไป

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Government Computer News

วันอังคารที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ข้อมูลผิด ๆ อยู่ในเมตาเวิร์สเรียบร้อยแล้ว

metaverse
Photo by Max Bender on Unsplash

ข้อมูลที่ผิดได้แทรกซึมเข้าไปในเมตาเวิร์ส (metaverse) ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่เชื่อมโยงถึงกันเพื่อการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีกำลังแข่งกันสร้าง หน่วยงานกำกับดูแลเตือนว่าคุณสมบัติเดียวกันที่ทำให้เมตาเวิร์สน่าสนใจอาจเชื้อเชิญเนื้อหาที่เป็นอันตรายด้วย  Andrea-Emilio Rizzoli จากสถาบัน Dalle Molle Institute for Artificial Intelligence (AI) ของสวิตเซอร์แลนด์กล่าวว่าความปลอดภัยของเมตาเวิร์สนั้นขึ้นอยู่กับวิธีที่บริษัทต่างๆ สอนระบบ AI เพื่อควบคุมแพลตฟอร์มเมตาเวิร์สของตัวเอง

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Bloomberg



วันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ชุดข้อมูลไฟป่าช่วยนักดับเพลิงในการช่วยชีวิตและทรัพย์สิน

firefighter-plane
ภาพจาก UC Riverside News

นักวิทยาศาสตร์จาก University of California, Riverside (UCR), Stanford University, and Vanderbilt University ได้สร้างชุดข้อมูล WildfireDB เพื่อจำลองการแพร่กระจายของไฟป่าเพื่อช่วยในการศึกษาไฟป่าและเป็นแนวทางในการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินและการอพยพ Ahmed Eldawy ของ UCR เรียก WildfireDB ว่าเป็น "ชุดข้อมูลโอเพ่นซอร์สแบบครอบคลุมชุดแรกที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลไฟไหม้ในอดีตกับตัวแปรร่วมที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาพอากาศ พืชพรรณ และภูมิประเทศ" ชุดข้อมูลนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการแพร่กระจายของเพลิงไหม้ในสหรัฐอเมริกาฝนพื้นที่ที่อยู่ติดกันในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นักวิจัยใช้ระบบประมวลผลข้อมูลดาวเทียม Raptor เพื่อรวมข้อมูลเกี่ยวกับไฟป่าในอดีตเข้ากับลักษณะทางภูมิศาสตร์อื่น ๆ นักวิจัยหรือนักดับเพลิงสามารถเลือกข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากชุดข้อมูล เพื่อฝึกตัวแบบการเรียนรู้ของเครื่องเพื่อคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของไฟป่า 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: UC Riverside News

เพิ่มเติมเสริมข่าว: อยากให้ประเทศเราทำชุดข้อมูลแบบนี้ไว้บ้าง

วันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2564

นายจ้างที่กำลังมองหาผู้ที่มีทักษะใน Python, Java, Linux, SQL

developer
ภาพจาก ZDNet

Tech Jobs Report จากบริษัทจัดหางาน Dice รายงานเกี่ยวกับตำแหน่งงานในไตรมาสที่สามชี้ให้เห็นว่านายจ้างมีความกระตือรือร้นที่จะจ้างคน "ที่เข้าใจแนวคิดหลักของการพัฒนาซอฟต์แวร์และการจัดการโครงการ" และมีทักษะในด้าน Linux, Java, Python และ Structured Query Language (SQL) Dice ประมาณการว่าความต้องการ SQL เพิ่มขึ้น 5% ระหว่างไตรมาสที่สองและสาม เนื่องจากบริษัทต่างๆ ยังคงใช้ SQL เพื่อจัดการชุดข้อมูลระหว่างหน่วยธุรกิจต่าง ๆ ความต้องการบริการดิจิทัลที่ลุกลามอย่างรวดเร็วได้กระตุ้นความสนใจในนักพัฒนาภาษา Java ในขณะที่ Python ได้รับความนิยมมากขึ้นในแอปพลิเคชันด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ แต่ความต้องการด้าน Linux นั้นลดลง รายงานของ Dice ตั้งข้อสังเกตว่า "นายจ้างได้เปิดเผยต่อสาธารณะเกี่ยวกับปัญหาของพวกเขาในการหาคนมีความสามารถที่เหมาะสมเพื่อเติมเต็มตำแหน่งที่ว่าง โดยมีความต้องการนักเทคโนโลยีที่มีทักษะเฉพาะอย่างชัดเจน แต่อาจไม่อยู่ในระดับเดียวกับเมื่อตอนธุรกิจเปิดใหม่

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet

วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2564

เราทำให้บล็อกเชนคุยกันได้อย่างไร

blockchain
ภาพจาก IEEE Spectrum

Stefan Schulte และเพื่อนร่วมงานที่ Vienna University of Technology ของออสเตรีย กำลังสำรวจการสื่อสารระหว่างบล็อคเชน นักวิจัยได้พัฒนาโซลูชันที่มีศักยภาพซึ่งอาศัยการส่งต่อระหว่างบล็อกเชน (blockchain relay)  ซึ่งคือสัญญาอัจฉริยะ (smart contract) ที่ทำงานบนบล็อคเชนหนึ่งที่สามารถยืนยันเหตุการณ์ในอีกอันหนึ่งได้ นักวิจัยได้คิดค้นระบบการตรวจสอบตามต้องการ ซึ่งการส่งต่อให้ถือว่าธุรกรรมระหว่างบล็อคเชนนั้นถูกต้อง เว้นแต่จะมีการโต้แย้งกัน โดยการส่งข้อมูลที่เป็นการฉ้อโกงนั้นถูกจัดการภายใต้แนวคิดที่ว่า บุคคลที่สามที่เป็นผู้ตรวจสอบต้องวางเงินประกันเป็นสกุลเงินดิจิทัลเพื่อเข้าร่วม ซึ่งผู้ที่โต้แย้งสามารถยึดเงินนี้ได้หากพิสูจน์ได้ว่าการยืนยันไม่ถูกต้อง

อ่านข่าวเต็มได้ที่: IEEE Spectrum

วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ตัวแบบการเรียนของเครื่องลดความไม่แน่นอนในการตรวจพบมะเร็งเต้านม

breast-cancer-campaing
Photo by Angiola Harry on Unsplash

ตัวแบบการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) หรือ ML ที่พัฒนาโดย Michigan Technological University (Michigan Tech) สามารถลดความเสี่ยงที่จะเกิดผลบวกลวงและผลลบลวง โดยการประเมินความไม่แน่นอนในการทำนาย โดยมันจำแนกเนื้องอกว่าไม่ร้ายแรงหรือร้ายแรง ตัวแบบนี้สามารถจำแนกรูปภาพได้เร็วกว่าผู้เชี่ยวชาญที่เป็นมนุษย์ และส่งรูปภาพไปให้ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นมนุษย์มันไม่มั่นใจในการทำนาย Susanta Ghosh จาก Michigan Tech กล่าวว่า "แม้จะมีตัวแบบการจำแนกตามการเรียนรู้ของเครื่องที่มีประสิทธิภาพ แต่การทำนายของพวกมันมีความไม่แน่นอนเนื่องจากการสุ่มโดยธรรมชาติ และอคติในข้อมูลและความขาดแคลนของชุดข้อมูลขนาดใหญ่ งานของเราพยายามที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ และหาปริมาณ ใช้ และอธิบายความไม่แน่นอนนี้"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: News-Medical Life Sciences

วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2564

บริษัทในอิสราเอลเปิดตัวสเต็กที่ปลูกในแล็บใหญ่ที่สุดในโลก

Lab-Grown-steak
ภาพจาก The Guardian 

นักวิจัยจากบริษัท อิสราเอล MeaTech 3D กล่าวว่าพวกเขาได้ปลูกสเต็กขนาด 4 ออนซ์ในห้องทดลอง ซึ่งเป็นการผลิตที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา สเต็กผลิตขึ้นโดยการรวมเซลล์ต้นกำเนิดจากวัวที่มีชีวิตเข้ากับ "หมึกชีวภาพ (bio-inks)" ที่ใช้ในเครื่องพิมพ์สามมิติ (3D) หลังจากที่ "พิมพ์" แล้ว สเต็กก็ถูกนำไปใส่ในตู้อบเพื่อให้คงที่ ทำให้เซลล์ต้นกำเนิดแยกเป็นเซลล์ไขมันและกล้ามเนื้อได้ ในขั้นต้น MeaTech วางแผนที่จะขายไขมันที่เพาะเลี้ยงเป็นส่วนผสมสำหรับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ โดยมีเป้าหมายในการผลิตเนื้อสัตว์ที่เพาะเลี้ยงด้วยต้นทุนที่เท่ากับเนื้อสัตว์ทั่วไป Seren Kell แห่ง Good Food Institute Europe กล่าวว่าการพิมพ์ 3 มิติ “ช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ 'เนื้อแบบตัดเป็นชิ้น (whole cut)' ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถสร้างรสชาติ เนื้อสัมผัส และความรู้สึกเมื่ออยู่ในปากของเนื้อสัตว์แบบดั้งเดิมได้อย่างแท้จริง”

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Guardian

วันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2564

นักวิจัยต้องการทดสอบความมั่นคงบนคลาวด์และต้องช็อกในสิ่งที่พบ

computer-security
Photo by Philipp Katzenberger on Unsplash

นักวิจัยด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ Palo Alto Networks ได้สร้าง honeypot ที่ประกอบด้วย 320 โหนดทั่วโลกเพื่อพิจารณาว่าแฮกเกอร์จะถูกบุกรุกมันได้เร็วแค่ไหน นักวิจัยพบว่า 80% ของ honeypots ถูกบุกรุกได้ภายใน 24 ชั่วโมง และทั้งหมดถูกบุกรุกภายในหนึ่งสัปดาห์ SSH เป็นแอปพลิเคชั่นที่ถูกโจมตีมากที่สุด โดยแต่ละ SSH honeypot ถูกบุกรุกโดยเฉลี่ย 26 ครั้งต่อวัน มีอันหนึ่งถูกบุกรุกถึง 169 ครั้งในหนึ่งวัน Jay Chen แห่ง Palo Alto Networks กล่าวว่า "ความจริงที่ว่าผู้โจมตีสามารถค้นหาและมุกรุก honeypot ของเราได้ภายในไม่กี่นาทีนั้นน่าตกใจ งานวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงของการบริการที่ไม่ปลอดภัย" Chen กล่าวว่าการค้นพบนี้เน้นย้ำถึง "ความสำคัญของการบรรเทา และแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงอย่างรวดเร็ว"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet

วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ทำสงครามกับมลพิษทางเสียงโดยอัตโนมัติ

ืnoise-pollution
ภาพจาก Bloomberg CityLab

เร็ว ๆ นี้ ปารีสจะเริ่มทดสอบเซ็นเซอร์เสียงของ Medusa ในสองย่านที่ติดกัน เพื่อติดตามและลดมลพิษทางเสียง อุปกรณ์แต่ละชิ้นใช้ไมโครโฟนในการตรวจจับและวัดระดับเสียง และกล้องเพื่อช่วยเจ้าหน้าที่ในการติดตามผู้กระทำความผิด หนังสือพิมพ์ Liberation ของฝรั่งเศสกล่าวว่าการทดสอบนี้จะประเมินศักยภาพและข้อจำกัดของมาตรการรับมือมลภาวะทางเสียงแบบอัตโนมัติ ในขณะเดียวกัน นักวิจัยของ New York University ได้ศึกษาภูมิทัศน์เสียงของนครนิวยอร์กเพื่อสร้างเครือข่ายเซ็นเซอร์ที่ใช้การเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถจัดการกับข้อร้องเรียนด้านเสียงได้ดีขึ้น และกำหนดนโยบายในเชิงรุกเพื่อลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทางเสียง นักวิจัยได้ร่วมมือกับ Department of Environmental Protection (DEP) ของเมืองเพื่อทดสอบเครือข่ายเซ็นเซอร์ที่สามารถสตรีมข้อมูลแบบเรียลไทม์ในระดับเดซิเบลในบริเวณใกล้เคียง และระบุแหล่งที่มาของเสียงรบกวนไปยัง DEP

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Bloomberg CityLab

วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2564

เครื่องมือ VR ถูกใช้ต่อสู้กับโรค

VR-tool
ภาพจาก Lund University (Sweden)

นักวิจัยจาก Lund University ของสวีเดนแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีวิดีโอเกมสามมิติ (3D) สามารถใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากจากเซลล์หลายพันเซลล์ นักวิจัยได้พัฒนาซอฟต์แวร์ความจริงเสมือน (virtual reality) หรือ VR ที่เรียกว่า CellexalVR ซึ่งมีเครื่องมือที่ใช้งานง่ายเพื่อตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดในที่เดียว การใช้ชุดสวมหัว VR และตัวควบคุมที่ใช้สองมือในการควบคุม นักวิจัยสามารถเข้าถึงกลุ่มของเซลล์ด้วยท่าทางมือ (hand gesture) ง่าย ๆ เพื่อเลือกเซลล์ที่ต้องการวิเคราะห์เพิ่มเติม  Mattias Wallergård ของ Lund กล่าวว่า "เพื่อให้สามารถเดินไปรอบ ๆ ข้อมูลของคุณ และจัดการข้อมูลได้อย่างเป็นธรรมชาติและมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความเข้าใจใหม่ทั้งหมด ที่จริงแล้วฉันคิดว่ามันไม่เกินไปที่จะพูดว่า VR ทำให้คนคิดต่างออกไป ต้องขอบคุณความสามารถของเทคนิคที่ทำให้ให้ร่างกายของคุณมีส่วนร่วมในกระบวนการวิเคราะห์"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Lund University (Sweden)


วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ตรวจพบการจู่โจมแบบใหม่ต่อเว็บเบราว์เซอร์

XSinator-tool
ภาพจาก Ruhr-Universität Bochum (Germany)

นักวิทยาศาสตร์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ Ruhr-Universität Bochum (RUB) ของเยอรมนีและ Niederrhein University of Applied Sciences ตรวจพบประเภทใหม่ 14 ประเภทของการรั่วไหลข้ามไซต์ (XS-Leaks) XS-Leaks หลีกเลี่ยงนโยบายต้นฉบับซึ่งออกแบบมาเพื่อป้องกันการโจรกรรมข้อมูลจากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ ทำให้แฮกเกอร์สามารถระบุรายละเอียดของเว็บไซต์ที่เชื่อมโยงกับข้อมูลส่วนบุคคลได้ นักวิจัยระบุลักษณะการรั่วของ XS-Leak สามประการ และสร้างตัวแบบสำหรับการทำความเข้าใจการโจมตี ซึ่งช่วยในการตรวจจับการโจมตีใหม่ ๆ พวกเขาพัฒนาไซต์ XSinator.com เพื่อสแกนเบราว์เซอร์สำหรับ XS-leaks โดยอัตโนมัติ และทดสอบชุดระบบปฏิบัติการของเบราว์เซอร์ 56 กับ XS-Leaks ที่เป็นที่รู้จัก 34 รายการ Lukas Knittel แห่ง RUB กล่าวว่าเบราว์เซอร์ยอดนิยมเช่น Chrome และ Firefox นั้นอ่อนไหวต่อ XS-Leaks จำนวนมาก

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Ruhr-Universität Bochum (Germany)

วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2564

AI ที่เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างอ็อบเจกต์

objects-relations
ภาพจาก MIT News

ตัวแบบการเรียนรู้เชิงลึก (deep learning) ที่พัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT)  เข้าใจความสัมพันธ์ที่ซ่อนอยู่ระหว่างวัตถุในฉาก สิ่งนี้สามารถส่งเสริมการพัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถเรียนรู้และโต้ตอบกับสภาพแวดล้อมของพวกมันได้ เฟรมเวอร์ก (framework) ที่พัฒนาขึ้นสามารถสร้างภาพของฉากตามคำอธิบายข้อความของวัตถุ และความสัมพันธ์ของพวกมันในฉากนั้น Yilun Du แห่ง MIT กล่าวว่า "เราสามารถเพิ่มประโยคของเราจากการมีคำอธิบายความสัมพันธ์หนึ่งรายการ เป็นสอง สาม หรือแม้กระทั่งสี่คำอธิบาย และวิธีการของเรายังคงสามารถสร้างภาพที่ถูกต้องตามคำอธิบายเหล่านั้น ในขณะที่วิธีอื่น ๆ ล้มเหลว

อ่านข่าวเต็มได้ที่: MIT News

วันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ผู้ผลิตรถยนต์มีความคิดเป็นนวตกรรมมากขึ้นหลังจากเผชิญปัญหาชิปขาดแคลนทั่วโลก

cars
ภาพจาก Reuters

การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ต้องทบทวนกระบวนการผลิตของตนใหม่ Markus Schäfer บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเยอรมัน Daimler กล่าวว่าบริษัทกำลังใช้การออกแบบหน่วยควบคุมแบบใหม่ที่ไม่พึ่งพาชิปตัวใดตัวหนึ่ง เพื่อแก้ความเป็นไปได้ที่จะเกิดปัญหาในการจัดส่งชิปจากผู้ผลิตแต่ละราย Annette Danielski จากหน่วยรถกระบะ Volkswagen Traton กล่าวว่าผู้ผลิตรถยนต์กำลังพยายามเพิ่มพื้นที่ว่างบนเมนบอร์ดของระบบควบคุม "ถ้าเราเปลี่ยนซอฟต์แวร์ เราสามารถใช้เซมิคอนดักเตอร์น้อยลงและได้ฟังก์ชันการทำงานแบบเดียวกัน" เธอกล่าว ในขณะเดียวกัน General Motors กล่าวว่าจะร่วมมือกับผู้ผลิตชิปเช่น Qualcomm, STM และ Infineon เพื่อพัฒนาไมโครคอนโทรลเลอร์ที่รวมฟังก์ชันที่เมื่อก่อนต้องใช้ชิปหลายตัว

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Reuters

วันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2564

การเรียนรู้เชิงลึกเปิดเผยว่าโปรตีนมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร

Protein-Interaction
ภาพจาก UW Medicine

กลุ่มนักวิจัยจากหลายสถาบันได้สร้างตัวแบบสามมิติของปฏิสัมพันธ์ของโปรตีนในเซลล์ยูคาริโอต (eukaryotic cell) โดยใช้การวิเคราะห์เชิงวิวัฒนาการและการเรียนรู้เชิงลึก (deep learning) นักวิจัยวิเคราะห์ลำดับยีนที่รู้จักในยีสต์เพื่อทำแผนที่ปฏิสัมพันธ์ที่สร้างโปรตีนเชิงซ้อน และใช้สถิติระบุคู่ของยีนที่กลายพันธุ์ตามธรรมชาติในลักษณะที่เชื่อมโยงกัน พวกเขายังใช้ซอฟต์แวร์ RoseTTAFold ของ UW Medicine และซอฟต์แวร์การเรียนรู้เชิงลึก AlphaFold ของ DeepMind เพื่อจำลองรูปร่าง 3 มิติของโปรตีนที่มีปฏิกิริยาระหว่างกัน David Baker แห่ง UW Medicine กล่าวว่างานวิจัยนี้ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับปฏิกิริยาของโปรตีนสำหรับกระบวนการแกนกลางของเซลล์ยูคาริโอตเกือบทั้งหมด ซึ่งรวมถึง "ปฏิกิริยามากกว่า 100 ชนิดที่ไม่เคยเห็นมาก่อน"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: UW Medicine

วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2564

จะหากล้องแอบถ่ายด้วยสมาร์ตโฟนได้อย่างไร

LAPD-in-action
ภาพจาก Help Net Security

นักวิทยาศาสตร์จาก  National University of Singapore และ มหาวิทยาลัย Yonsei University ของเกาหลีใต้ได้พัฒนาแอปพลิเคชันสมาร์ทโฟนที่สามารถค้นหากล้องสอดแนมขนาดเล็กที่ซ่อนอยู่ในวัตถุในชีวิตประจำวัน โดยใช้เซ็นเซอร์ time-of-flight (ToF) ของสมาร์ทโฟน นักวิจัยกล่าวว่าแอป Laser-Assisted Photography Detection (LAPD) ตรวจจับกล้องที่ซ่อนอยู่ได้ดีกว่าเครื่องตรวจจับกล้องเชิงพาณิชย์และดีกว่าสายตามนุษย์มาก แอปนี้ทำงานได้บนสมาร์ทโฟนทุกเครื่องที่มีเซ็นเซอร์ ToF สามารถสแกนวัตถุได้ครั้งละหนึ่งชิ้นเท่านั้น และใช้เวลาประมาณหนึ่งนาทีในการสแกนวัตถุนั้น นักวิจัยกล่าวว่าสามารถปรับแอปให้แม่นยำยิ่งขึ้นได้โดยใช้ไฟแฟลชและกล้อง RGB ของโทรศัพท์มือถือ

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Help Net Security


วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ตัวแบบเตือนระยะเริ่มต้นทำนายการเสื่อมสภาพของผู้ป่วยมะเร็ง

patient-on-bed
ภาพจาก The Source (Washington University in St. Louis)

Chenyang Lu และเพื่อนร่วมงานที่ Washington University ใน St. Louis ได้พัฒนาตัวแบบการทำนายด้วยการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) สำหรับผู้ป่วยมะเร็งในโรงพยาบาล โดยรวบรวมจากข้อมูลที่ต่างกันในบันทึกสุขภาพแบบอิเล็กทรอนิกส์ ตัวแบบโครงข่ายประสาทเทียมแบบเกิดซ้ำ CrossNet แบบปลายต่อปลาย (end-to-end) รวมข้อมูลแบบคงที่ที่รวบรวม ณ เวลาเข้ารับการรักษา กับข้อมูลอนุกรมเวลาที่รวบรวมซ้ำ ๆ ระหว่างพักรักษาตัวในโรงพยาบาล CrossNet เรียนรู้ที่จะคาดการณ์การเสื่อมสภาพโดยป้อนข้อมูลแบบคงที่หรืออนุกรมเวลาที่ขาดหายไปอย่างถูกต้อง Lu กล่าวว่า "มนุษย์ไม่สามารถเห็นรูปแบบที่ซ่อนอยู่เหล่านี้หรือแนวโน้มในข้อมูล ดังนั้นนี่คือที่ที่การเรียนรู้ของเครื่องสามารถทำได้ดีมาก" การวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการออกแบบระบบเตือนระยะเริ่มต้นเพื่อทำนายการเสื่อมสภาพของผู้ป่วยมะเร็งขณะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ตลอดจนยกระดับผลลัพธ์การรักษาของผู้ป่วย

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Source (Washington University in St. Louis)

วันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2564

นักวิทยาศาสตร์อ้างว่ามีความก้าวหน้าที่ยิ่งใหญ่ในการใช้ DNA เก็บข้อมูล

ภาพจาก BBC News

นักวิทยาศาสตร์จาก  Georgia Institute of Technology's Georgia Tech Research Institute (GTRI) อ้างว่าสามารถปรับปรุงที่จัดเก็บข้อมูลโดยใช้ DNA ได้ 100 เท่าด้วยโปรเซสเซอร์ใหม่ที่พัฒนาขึ้น Nicholas Guise แห่ง GTRI กล่าวว่าคุณสมบัติของโปรเซสเซอร์ที่มีความหนาแน่นสูงขึ้นประมาณ 100 เท่าทำให้สามารถขยายได้ ซึ่งน่าจะมีการทำให้สะดวกในการใช้งานขึ้นด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุมในปีหน้า เทคโนโลยีดังกล่าวจะขยายสาย DNA ที่มีลักษณะเฉพาะซึ่งใช้ความแตกต่างของเบสหนึ่งตัวในการเข้ารหัสข้อมูล เช่น adenine หรือ cytosine ใช้แทน 0 และ guanine หรือ thymine ใช้แทน 1 ชิปต้นแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดประมาณ 2.5 ซม. (1 นิ้ว) มีไมโครเวลล์ (microwell) หลายช่อง จึงสามารถสังเคราะห์สายดีเอ็นเอหลายเส้นได้พร้อม ๆ กัน ทำให้เกิด DNA ได้มากขึ้นในระยะเวลาอันสั้น

อ่านข่าวเต็มได้ที่: BBC News

วันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2564

เครื่องมือนี้ปกป้องข้อมูลส่วนตัวของคุณในณะท่องเว็บ

SugarCoat
ตัวอย่าง SugarCoat [ภาพจาก UC San Diego News Center ]  

เครื่องมือ SugarCoat ที่พัฒนาโดยนักวิจัยจาก University of California, San Diego (UCSD) และ Brave Software สามารถปกป้องข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ได้ดียิ่งขึ้นขณะท่องเว็บ SugarCoat มุ่งไปที่สคริปต์ที่โจมตีความเป็นส่วนตัวแต่มีความสำคัญต่อการทำงานของเว็บไซต์ โดยแทนที่สคริปต์เหล่านั้นด้วยสคริปต์ที่ปลอดภัยซึ่งมีคุณสมบัติเหมือนกัน SugarCoat ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์สได้รับการปรับแต่งให้รวมเข้ากับเบราว์เซอร์ที่เน้นความเป็นส่วนตัวที่มีอยู่เช่น Brave, Firefox และ Tor และส่วนขยายของเบราว์เซอร์เช่น uBlock Origin โดย Michael Smith จาก UCSD กล่าวว่า "SugarCoat ทำงานร่วมกับเครื่องมือปิดกั้นเนื้อหาที่มีอยู่ เช่นตัวบล็อกโฆษณา เพื่อให้ผู้ใช้สามารถท่องเว็บได้โดยไม่สูญเสียความเป็นส่วนตัว"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: UC San Diego News Center

วันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ระบบ AI ช่วยลดการแพร่ของโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล

doctor-lab
ภาพจาก The Pittsburgh Post-Gazette

นักวิทยาศาสตร์จาก University of Pittsburgh และ Carnegie Mellon University (CMU) ได้พัฒนาเทคนิคที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) หรือ AI ในการตรวจหาและหยุดยั้งการระบาดของโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล นักวิจัยได้บูรณาการการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) และการจัดลำดับจีโนม (genome) ทั้งหมดเพื่อให้สามารถระบุการระบาดได้เร็วกว่าวิธีการแบบเดิม ระบบ AI ใช้การเฝ้าระวังการจัดลำดับจีโนมเพื่อตรวจสอบว่าผู้ป่วยในโรงพยาบาลมีสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกันหรือไม่ คอมพิวเตอร์สามารถขุดบันทึกสุขภาพทางอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ป่วย เพื่อระบุสิ่งทั่วไปที่อาจเป็นพาหะ เช่น ขั้นตอนการตรวจรักษาที่ต้องโดยอุปกรณ์เดียวกัน หรือใช้ผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพเหมือนกัน Artur Dubrawski จาก CMU กล่าวว่าระบบ “สามารถตรวจจับและระบุลักษณะการระบาดที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้โรงพยาบาลดำเนินการอย่างรวดเร็วและแม่นยำเพื่อหยุดโรคไม่ให้แพร่กระจาย”

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Pittsburgh Post-Gazette

วันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2564

เทศกาลภาพยนตร์ Sundance 'Biodigital' จะพยายามเชื่อมช่องว่างระหว่าง VR กับโลกจริง

Sundance-2022
ภาพจาก Engadget

เทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ปี 2022 ในเมืองพาร์คซิตี้ รัฐยูทาห์ มีแผนจะขยายสถานที่เชิงโต้ตอบเสมือนจริง The Spaceship ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ New Frontier โดยงานนี้จะมี "สะพาน Biodigital" ซึ่งนักเขียนโปรแกรมของ Sundance คือ Shari Frilot เรียกมันว่าจอภาพใหญ่เท่าคนจริง (human-scale screen) ที่ยอมให้มีการโต้ตอบระหว่างผู้เข้าร่วมจริง ๆ และทางดิจิทัล สะพานนี้สร้างขึ้นโดยความร่วมมือกับสตูดิโอที่สร้างภาพสามมิติสมจริงอย่าง Active Theory โดยจะรองรับการแชทแบบพื้นฐาน แต่จุดประสงค์หลักคือทำให้ผู้เข้าร่วมมองเห็นประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมคนอื่นใน Sundance  

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Engadget


วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ซอฟต์แวร์ใช้ภาพถ่ายเซลฟีในการตรวจพบโรคพาร์กินสันระยะเริ่มต้น

selfies
ภาพจาก University of Rochester NewsCenter

ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์วิทัศน์ (computer vision) ที่ใช้อัลกอริทึมที่พัฒนาโดยนักวิจัยของ University of Rochester จะวิเคราะห์วิดีโอบนสมาร์ทโฟน รวมถึงคลิปที่สร้างขึ้นขณะถ่ายเซลฟี่ เพื่อทำนายแนวโน้มของคนที่จะเป็นโรคพาร์กินสัน ซอฟต์แวร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวที่ละเอียดอ่อนของกล้ามเนื้อใบหน้าซึ่งตาเปล่ามองไม่เห็น การทดสอบกำหนดให้แต่ละคนเคลื่อนไหวใบหน้าหลายแบบ ระหว่างการบันทึกวิดีโอสั้น ๆ  เพื่อที่อัลกอริธึมจะสามารถคำนวณความเป็นไปได้ที่บุคคลนั้นจะแสดงอาการของโรคพาร์กินสัน หรือโรคที่เกี่ยวข้อง เมื่อผู้ป่วยยิ้ม ซอฟต์แวร์สามารถตรวจจับ "โมดูลาร์ริตี (modularity)" ซึ่งเป็นอาการของพาร์กินสันซึ่งบ่งชี้ว่ามีการสูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อใบหน้า

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Rochester NewsCenter

วันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2564

Windows ทุกรุ่นมีปัญหากับช่องโหว่แบบ Zero-Day

Windows-Installation
Photo by Johny vino on Unsplash

Jason Schultz ที่ Talos Security Intelligence & Research Group เตือนถึงช่องโหว่ Zero-day แบบใหม่ของ Windows ที่ส่งผลกระทบต่อ Windows ทุกรุ่น ข้อบกพร่องนี้เกิดจากจุดบกพร่องของตัวติดตั้ง Windows ก่อนหน้านี้ที่ Microsoft คิดว่าแก้ไขไปแล้ว ซึ่งทำให้ผู้ใช้ที่ใช้บัญชีที่มีสิทธิจำกัดสามารถยกระดับสิทธิและลบไฟล์ระบบเป้าหมายได้ นักวิจัยด้านความปลอดภัย Abdelhamid Nacer ระบุว่าการแก้ไขจุดบกพร่องดังกล่าวไม่ถูกต้อง และเตือนว่าช่องโหว่ที่ดัดแปลงใหม่นี้นี้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสามารถหลีกเลี่ยงนโยบายกลุ่ม (group policy)ในคุณลักษณะการติดตั้งสำหรับผู้ดูแลระบบของ Windows ได้อย่างสมบูรณ์  Nacer กล่าวว่านั่นทำให้แฮกเกอร์สามารถแทนที่ไฟล์โปรแกรมใด ๆ ในระบบด้วยไฟล์ MSI และสามารถเรียกใช้โปรแกรมในฐานะผู้ดูแลระบบ  เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีวิธีแก้ไขข้อบกพร่องนี้ Nacer กล่าวว่าผู้ใช้ทำได้แค่รอได้เฉพาะโปรแกรมแก้ไขตัวถัดไป 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: PC Magazine

วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

วีดีโอแบบเรียลไทม์สำหรับฉากที่ซ่อนอยู่ตามมุมตอนนี้เป็นไปได้แล้ว

Scence-Around-Corner
ภาพจาก University of Wisconsin-Madison

นักวิจัยจาก University of Wisconsin-Madison (UW) และ Polytechnic University of Milan ของอิตาลี ได้สร้างเทคนิคการถ่ายภาพแบบไม่อยู่ในแนวสายตา (non-line0of-sight) ซึ่งสามารถแสดงวิดีโอของฉากที่ซ่อนอยู่แบบเรียลไทม์ เทคนิคนี้ผสมผสานเซ็นเซอร์ที่มีความไวสูงเป็นพิเศษและมีความไวแสงสูง กับอัลกอริธึมการสร้างวิดีโอขั้นสูง วิธีการนี้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับฉากโดยสะท้อนแสงจากพื้นผิว และตรวจจับเสียงสะท้อนของแสงนั้นขณะที่แสงสะท้อนกลับ มันมองเห็นตามมุมโดยการตรวจจับการสะท้อนของเสียงสะท้อนเหล่านั้น Andreas Velten แห่ง UW กล่าวว่า "โดยพื้นฐานแล้วมันคือการกำหนดตำแหน่งด้วยเสียงสะท้อน (cholocation) แต่ใช้เสียงสะท้อนเพิ่มเติม เช่นเสียงก้อง (reverb)"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Wisconsin-Madison News


วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ความเป็นส่วนตัวของบิ๊กดาตาสำหรับการเรียนรู้ของเครื่องตอนนี้ถูกกว่าเดิมเป็น 100 เท่า

Shrivastava-Coleman
Anshumali Shrivastava และ Ben Coleman ภาพจาก Rice University

Anshumali Shrivastava และ Ben Coleman จาก Rice University ได้พัฒนา RACE (repeated array of count estimators) ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่แพงในการทำให้ข้อมูลส่วนบุคลลมีความเป็นส่วนตัวเมื่อใช้หรือแบ่งปันฐานข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) หรือ ML โดย Coleman กล่าวว่าภาพร่างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของ  RACE นั้นปลอดภัยสำหรับการเผยแพร่สู่สาธารณะ และมีประโยชน์สำหรับอัลกอริธึมที่ใช้เคอร์เนลซัม (kernel sum) และสำหรับโปรแกรม ML ที่ดำเนินงานทั่วไป เช่น การจำแนกประเภท (classification) การจัดอันดับ (ranking) และการวิเคราะห์การถดถอย (regression analysis)  Shrivastava กล่าวว่า "RACE เปลี่ยนแปลงเศรษฐศาสตร์ของการเปิดเผยข้อมูลที่มีมิติสูงด้วยความเป็นส่วนตัวที่แตกต่างกัน มันง่าย รวดเร็ว และราคาถูกกว่าวิธีการที่มีอยู่ 100 เท่า"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Rice University News


วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

การพิมพ์ 3 มิติ และการเรียนรู้ของเครื่องร่วมกันปรับปรุงการปลูกถ่ายประสาทหู

cochlear-3d-printed
ภาพจาก University of Cambridge (U.K.)

การปรับปรุงการปลูกถ่ายประสาทหู (cochlear implant) หรือ CI โดยการรวมการพิมพ์สามมิติ และการเรียนรู้ด้วยเครื่อง (machine learning) หรือ ML เป็นเป้าหมายของวิจัยซึ่งประกอบไปด้วยทีมวิศวกรและแพทย์ชาวอังกฤษ และชาวจีน นักวิจัยได้พิมพ์แบบจำลอง 3 มิติของประสาทหูของมนุษย์เพื่อตรวจสอบว่ารูปร่างของตัวแบบและ "การแพร่กระจายของกระแส" ส่งผลต่อกระแสหรือการกระตุ้นกระแสไฟฟ้าในหูอย่างไรบ้าง การเพิ่ม ML ให้กับกระบวนการทำให้สามารถคาดการณ์การแพร่กระจายของกระแสในผู้ใช้ CI ได้ ซึ่งสามารถใช้เพื่อคาดการณ์ช่วงความต้านทานของเนื้อเยื่อประสาทหูเทียมของผู้ป่วย Shery Juang จาก University of Cambridge แห่งสหราชอาณาจักร กล่าวว่า การพิมพ์ 3 มิติ "เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการสร้างตัวแบบทางกายภาพ ซึ่งอาจให้ชุดข้อมูลการฝึกอบรมที่มีลักษณะเฉพาะเป็นอย่างดี เพื่อเป็นตัวแทนของข้อมูลทางคลินิกสำหรับการเรียนรู้ของเครื่อง หลักการสร้างตัวแบบร่วมในการศึกษานี้ อาจเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาด้านอื่น ๆ ของตัวแบบทางคลินิก และแอปพลิเคชันด้านการดูแลสุขภาพ"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Cambridge (U.K.)


วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ข่าวจริงและไม่จริงเผยแพร่ได้อย่างเท่า ๆ กันบนทวิตเตอร์

twitter
ภาพจาก Cornell Chronicle

ผลการศึกษาพบว่าทั้งข่าวจริงและข่าวเท็จแพร่กระจายผ่านทวิตเตอร์ ด้วยความเร็ว ความกว้าง และความลึกเท่ากัน ซึ่งเน้นย้ำให้เห็นว่าเหตุใดความพยายามในการหยุดการบิดเบือนข้อมูลบนแพลตฟอร์มจึงประสบความสำเร็จอย่างจำกัด Jonas Juul แห่ง Cornell University และ Johan Ugander แห่ง Stanford University มุ่งเน้นไปที่โครงสร้างของ "การส่งต่อ (cascade)" ของทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นการหาปริมาณของเส้นทางทวีตที่เป็นไวรัลจากผู้โพสต์เริ่มต้นผ่านเครือข่ายผ่านการรีทวีต ทวีตที่ได้รับความนิยมมากขึ้นมีการส่งต่อที่มากกกว่า และนักวิจัยได้วิเคราะห์การส่งต่อที่มีขนาดเท่ากัน ซึ่งอนุมานว่าทวีตจริงและไม่จริงมีผู้ใช้จำนวนเท่ากัน การส่งต่อของทวีตจริงและไม่จริงที่แชร์กันอย่างเท่าเทียมกันนั้นแทบจะเท่ากันหมด เปลี่ยนแนวคิดที่เข้าใจกันแย่างแพร่หลายว่าทวีตที่ไม่จริงเดินทางเร็วกว่า นักวิจัยกล่าวว่าสิ่งนี้จะจำกัดมาตรการตอบโต้การบิดเบือนข้อมูล เช่น ตั้งค่าสถานะทวีตที่เป็นไวรัลด้วยแบบรูปการแพร่กระจายแบบยาว (long diffusion pattern) หรือลดความสำคัญของฮับหลักในฟีดข่าว พวกเขาแนะนำว่าการทำให้ผู้ใช้มีความรู้ด้านดิจิทัลที่ดีขึ้นจะมีประสิทธิภาพมากกว่า

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Cornell Chronicle

วันศุกร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

โปรแกรมคอมพิวเตอร์สามารถอ่านลำดับจีโนมใด ๆ เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมของมัน

DNA
Photo by ANIRUDH on Unsplash

นักวิจัยจาก Harvard University ได้พัฒนาโปรแกรมที่สามารถอ่านลำดับจีโนมของสิ่งมีชีวิต และกำหนดรหัสพันธุกรรม ซึ่งจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจวิวัฒนาการของรหัสพันธุกรรม แม้ว่าสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ใช้รหัสพันธุกรรมเดียวกัน แต่ก็มีการค้นพบสิ่งมีชีวิตบางชนิดที่ใช้รหัสพันธุกรรมทางเลือก โปรแกรมใหม่ที่ชื่อ Codetta สามารถใช้เพื่อระบุสิ่งมีชีวิตที่ใช้รหัสพันธุกรรมทางเลือก นักวิจัยได้ใช้ Codetta ในการวิเคราะห์ลำดับจีโนมของแบคทีเรียมากกว่า 250,000 ตัว และสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวอื่น ๆ และพบว่ามีสิ่งมีชีวิต 5 ตัวซึ่งถูกกำหนดรหัสของกรดอะมิโนอาร์จินีน (arginine) ใหม่ให้กับกรดอะมิโนที่ต่างออกไป ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เห็นการสลับนี้ในแบคที่เรีย

อ่านข่าวเต็มได้ที่: News-Medical Life Sciences

วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

การแผ่รังสีนิวเคลียร์ถูกใช้ในการส่งผ่านข้อมูลดิจิทัลแบบไร้สาย

ืีnuclear-plant
ภาพจาก Lancaster University (U.K.)

ข้อมูลที่เข้ารหัสแบบดิจิทัลถูกส่งแบบไร้สายโดยใช้รังสีนิวเคลียร์ จากผลงานของวิศวกรของ Lancaster University แห่งสหราชอาณาจักร และ Jožef Stefan Institute ของสโลวีเนีย นักวิจัยส่งข้อมูลโดยใช้นิวตรอนเร็วที่ปล่อยออกมาจากไอโซโทปกัมมันตภาพรังสี californium-252 เครื่องตรวจจับประเมินการปล่อยรังสีซึ่งถูกบันทึกไว้ในแล็ปท็อป นักวิจัยได้เข้ารหัสข้อมูลเป็นลำดับ ซึ่งรวมถึงคำ ตัวอักษร และตัวเลขสุ่มที่เลือกแบบไม่มีรูปแบบเพื่อในการปรับสนามนิวตรอน และถอดรหัสผลลัพธ์บนแล็ปท็อปที่ใช้อ่านข้อมูลที่เข้ารหัส Malcolm Joyce แห่ง Lancaster กล่าวว่า "เราแสดงให้เห็นศักยภาพของการแผ่รังสีนิวตรอนเร็วในฐานะสื่อกลางสำหรับการสื่อสารแบบไร้สาย สำหรับการใช้งานที่การส่งผ่านแม่เหล็กไฟฟ้าแบบธรรมดาไม่สามารถทำได้หรือมีข้อจำกัดในตัวมันเอง"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Lancaster University (U.K.)

วันพุธที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

เมื่ออัลกอริทึมมีความสร้างสรรค์

numeric-code
ภาพจาก University of Bern (Switzerland)

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติที่นำโดย University of Bern ของสวิตเซอร์แลนด์ได้พัฒนาอัลกอริธึมเชิงวิวัฒนาการ (evolutionary algorithm) ที่สามารถเรียนรู้ได้อย่างสร้างสรรค์ อัลกอริธึมดังกล่าวกำหนด "ความเหมาะสม (fitness)" ของสิ่งที่เป็นคำตอบที่เป็นไปได้ โดยพิจารณาจากความสามารถว่าแก้ปัญหาที่กำลังศึกษาอยู่ได้ดีเพียงใด แนวทาง evolving-to-learn (E2L) หรือ "ปรับตัวได้ (becoming adaptive)" ของนักวิจัยถูกนำไปใช้กับสถานการณ์การเรียนรู้ทั่วไปสามสถานการณ์ อย่างแรกคือการตรวจจับแบบรูป (pattern) ที่เกิดซ้ำในสตรีมอินพุตแบบต่อเนื่องโดยไม่มีการตอบกลับด้านประสิทธิภาพ ประการที่สองให้รางวัลเสมือนแก่คอมพิวเตอร์สำหรับการมีพฤติกรรมตามที่ต้องการ และอย่างที่สามคือแนะนำคอมพิวเตอร์ว่าพฤติกรรมของมันเบี่ยงออกจากแบบรูปที่ต้องการมากน้อยเพียงใด Jakob Jordan จาก Bern กล่าวว่า "ในแนวทางทั้งหมดนี้" "อัลกอริธึมเชิงวิวัฒนาการสามารถค้นพบกลไก synaptic plasticity และด้วยเหตุนี้จึงแก้ปัญหาใหม่ได้สำเร็จ"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Bern (Switzerland)

วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

มือหุ่นยนต์แบบคล่องแคล่วจัดการวัตถุได้อย่างง่ายดาย

robot-hand-handle-objects
ภาพจาก MIT Computer Science and Artificial Intelligence Laboratory

นักวิทยาศาสตร์จาก Computer Science and Artificial Intelligence Laboratory หรือ CSAILของ Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT  ได้ออกแบบระบบที่ช่วยให้มือหุ่นยนต์จัดการกับวัตถุที่แตกต่างกันมากกว่า 2,000 ชิ้นได้ นักวิจัยใช้มือจำลองที่มีองศาอิสระ 24 องศา และแสดงให้เห็นว่ากรอบการทำงานนี้สามารถปรับให้เข้ากับระบบหุ่นยนต์จริงได้ เฟรมเวิร์กนี้ใช้อัลกอริธึมการเรียนรู้การเสริมแรงแบบไม่มีตัวแบบ (model-free)  ซึ่งกำหนดฟังก์ชันกำหนดค่าจากการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม การเรียนรู้เชิงลึก และการฝึกอบรมแบบ "ครูกับนักเรียน" เครือข่าย "ครู" ได้รับการป้อนข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุและหุ่นยนต์ในการจำลอง ซึ่งกลั่นกรองสู่การสังเกต ซึ่งคล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกจริง

อ่านข่าวเต็มได้ที่: MIT Computer Science and Artificial Intelligence Laboratory

วันจันทร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

สภาคองเกรสสั่งให้ใช้เทคโนโลยีเพื่อหยุดการเมาแล้วขับ

 

street
ภาพจาก Associated Press

สภาคองเกรสของสหรัฐอเมริกาต้องการให้ผู้ผลิตรถยนต์พัฒนาเทคโนโลยีที่ป้องกันการเมาแล้วขับติดตั้งมากับรถยนต์เลย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันด้านความปลอดภัยของรถยนต์ที่รวมอยู่ในแพ็คเกจโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ มาตรการดังกล่าวกำหนดให้ผู้ผลิตรถยนต์ต้องสร้างระบบตรวจสอบเพื่อหยุดคนเมาเข้าไปขับรถโดยเร็วที่สุดภายในไม่เกินปี 2026 หลังจากกระทรวงคมนาคมของสหรัฐอเมริกากำหนดแนวทางแก้ไขที่ดีที่สุด และผู้ผลิตรถยนต์มีเวลาเพียงพอในการปฏิบัติตาม กฎหมายระบุเพียงว่าระบบต้อง "ตรวจสอบประสิทธิภาพของผู้ขับขี่ยานยนต์เพื่อระบุให้ได้อย่างถูกต้องว่าผู้ขับขี่รายนั้นอาจมีความไม่พร้อมหรือไม่" Sam Abuelsamid จากบริษัทด้านการตลาด Guidehouse Insights กล่าวว่ากล้องอินฟราเรดเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุด และบริษัทต่างๆ ซึ่งรวมถึง General Motors, BMW และ Nissan ได้ใช้กล้องเหล่านี้เพื่อติดตามความมีสมาธิของผู้ขับขี่ในระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่อัตโนมัติแบบบางส่วนอยู่แล้ว

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Associated Press

วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

ทำไมภาษาโปรแกรมที่เป็นที่นิยมในอดีตถึงตกอันดับ

PHP
ภาพจาก ZDNet

ความนิยมของ PHP ลดลงในรายการภาษาโปรแกรมที่ได้รับความนิยมสูงสุดในเดือนพฤศจิกายนของ Tiobe บริษัททดสอบซอฟต์แวร์ โดยลดลงสองอันดับมาอยู่ที่ 10 เมื่อเทียบกับอันดับของเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว Paul Jansen ซีอีโอของ Tiobe กล่าวว่า PHP ซึ่งถูกใช้ใช้อยู่เสมอสำหรับการพัฒนาเว็บและการทำงานในฝั่งแบ็กเอนด์ เผชิญกับการแข่งขันที่สำคัญ แต่เนื่องจากองค์กรขนาดเล็กและขนาดกลางจำนวนมากยังคงใช้ภาษาสคริปต์นี้ "ผมคาดว่า PHP จะลดลงอีกแต่ในอัตราที่ช้ามาก"  PHP ยังคงได้รับความนิยมใน GitHub แต่กำลังถูกแทนที่โดย ซุปเปอร์เซ็ตของภาษา JavaScript ซึ่งคือภาษา Typescript ของ Microsoft ซึ่งจะถูกคอมไพล์เป็น JavaScript อีกทีหนึ่ง และเป็นที่นิยมสำหรับเว็บแอปพลิเคชันขนาดใหญ่

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet


วันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

การเพิ่มขึ้นของหุ่นยนต์อย่างรวดเร็วในช่วงของการแพร่ระบาดและปัญหาแรงงานในสหรัฐ

robot-in-life
ภาพจาก Bloomberg

ธุรกิจในสหรัฐฯ กำลังลงทุนในระบบอัตโนมัติท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนพนักงานจากเหตุโรคระบาดและค่าแรงที่สูงขึ้น การสำรวจของ U.S. Federal Reserve survey ต่อประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐพบว่า 33% ของบริษัทที่ประสบปัญหาในการจ้างงานกำลังปรับใช้หรือพิจารณาระบบอัตโนมัติ David A. Zapico จาก Ametek ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรม  กล่าวว่าธุรกิจติดตามการเคลื่อนไหวของบริษัทกำลัง "รุ่งในทุกด้าน" เพราะ "ผู้คนต้องการเอาแรงงานคนออกจากกระบวนการผลิต" Knightscope ผู้พัฒนาหุ่นยนต์กล่าวว่า หุ่นยนต์กำลังดึงดูดลูกค้าที่มีปัญหาในการจ้างคนงานในการลาดตระเวน เช่น ปริมณฑลของโรงงาน เร็ว ๆ นี้ หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัยของบริษัทจะตรวจตราบริเวณที่จอดรถที่ Los Angeles International Airport หรือ LAX ซึ่ง Heath Montgomery จาก LAX กล่าวว่า "พวกเขากำลังเสริมสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว โดยไม่ได้แทนที่การทำงานของคน"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Bloomberg

วันศุกร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

นักวิทยาศาสตร์ใช้หุ่นยนต์สัตว์เพื่อเรียนรู้สัตว์จริง

guooie-robofish
ภาพจาก Smithsonian

นักวิทยาศาสตร์กำลังใช้หุ่นยนต์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์อย่างสมจริง เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของสัตว์ Dora Biro แห่ง University of Rochester กล่าวว่า "หากคุณสามารถสร้างหุ่นยนต์ที่คุณสามารถฝังไว้ในกลุ่มสัตว์ในฐานะลูกฝูง และพวกมันยอมรับหุ่นยนต์ตัวนั้นเป็นส่วนหนึ่งของฝูง คุณก็สามารถทำให้หุ่นยนต์ทำสิ่งต่าง ๆ และดูว่าสัตว์จริงจะตอบสนองอย่างไร นักวิจัยจาก Free University of Berlin ของเยอรมนีได้สร้าง Robobee ซึ่งเป็นผึ้งจำลองขนาดเท่าของจริงที่สามารถเลียนแบบการเคลื่อนไหวและการสั่นของคู่ของมันซึ่งเป็นผึ้งจริง และนำพวกมันไปยังแหล่งอาหาร นักวิจัยจาก Humboldt University of Berlin ของเยอรมนีได้ส่ง Robofish ที่ได้จากเครื่องพิมพ์สามมิติเข้าไปในฝูงของปลาหางนกยูง (Guppie) ซึ่งก็ตอบสนองราวกับว่ามันเป็นปลาจริง

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Smithsonian

วันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

โครงการธนาคารโลกมองไปที่บล็อกเชนพื่อช่วยแก้ปัญหาประเด็นข้อมูลการปล่อยคาร์บอน

worldbank-conference
ภาพจาก Bloomberg Green

โครงการ Climate Warehouse ของธนาคารโลกกำลังปรึกษากับบริษัทสตาร์ทอัพด้สนสกุลเงินเข้ารหัส (cryptocurrency)  เช่น Chia Network เพื่อสร้าง "ชั้นที่ดีต่อสาธารณะ (public-good layer)" สำหรับสภาพอากาศ Gene Hoffman ของ Chia กล่าวว่าชั้นดังกล่าวจะมอบทั้งความเชื่อใจและความโปร่งใส โดยทำงานอยู่บนบล็อกเชน (blockchain) และอนุญาตให้ประเทศและกลุ่มต่างๆ เปิดเผยและตรวจสอบสินทรัพย์คาร์บอนในรูปแบบรวมศูนย์ ชั้นข้อมูลของ Chia ใช้ประโยชน์จากบล็อคเชนสาธารณะที่ไม่ต้องได้รับอนุญาต เพื่อให้ผู้ร่วมโครงการสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลในลักษณะที่ตรวจสอบได้ โดยไม่ต้องละทิ้งการควบคุมข้อมูลที่ผู้ร่วมโครงการแต่ละคนเป็นเจ้าของ ประเทศที่ใช้แพลตฟอร์มสามารถบ่งชี้ถึงการปฏิบัติตามข้อตกลงปารีสในการลดการปล่อยคาร์บอนโดยการส่งชุดข้อมูลที่ตรวจสอบได้

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Bloomberg Green


วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564

สร้างวัสดุประดิษฐ์ที่ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้

drone-with-material
ภาพจาก University of Missouri

ทีมนักวิจัยจาก University of Missouri (MU) และ University of Chicago ได้พัฒนา metamaterial ที่สามารถตอบสนองต่อสภาพแวดล้อม ตัดสินใจ และดำเนินการโดยไม่ต้องใช้การป้อนข้อมูลจากมนุษย์ ชิปคอมพิวเตอร์จัดการการประมวลผลสารสนเทศที่จำเป็นต่อประสิทธิภาพของวัสดุตามคำสั่งที่ได้รับ และใช้ไฟฟ้าเพื่อแปลงพลังงานที่ได้ให้เป็นพลังงานกล Guoliang Huang แห่ง MU กล่าวว่า "โดยพื้นฐานแล้ว เรากำลังควบคุมวิธีที่วัสดุนี้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งเร้าภายนอกที่พบในสภาพแวดล้อม ตัวอย่างเช่น เราสามารถนำวัสดุนี้ไปใช้กับเทคโนโลยีการพรางตัวในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศได้ โดยการติดวัสดุเข้ากับโครงสร้างของยานบิน มันจะช่วยควบคุมและลดเสียงรบกวนที่มาจากเครื่องบิน เช่น การสั่นของเครื่องยนต์ ซึ่งสามารถเพิ่มความสามารถฟังก์ชั่นหลากหลายของเครื่องบินได้" 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Missouri