แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ชีวิตและงาน แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ชีวิตและงาน แสดงบทความทั้งหมด

วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2565

I Feel Fine

วันศุกร์นี้อยากมาชวนฟังเพลงกันครับ ไม่ได้ฟังกันมานานแล้ว เพลงที่จะมาชวนฟังก็เป็นเพลงของ The Beatles คือ I Feel Fine เหตุผลก็ไม่มีอะไรมากครับ เพราะหนึ่งในฐานะแฟนบอลลิเวอร์พูลมาอย่างเหนียวแน่นมาสีสิบกว่าปีได้  ตามข่าวความสำเร็จของทีมจากหนังสือนิตยสารเป็นส่วนใหญ่ในยุค ปลาย  70 ต่อ 80 ที่ทีมครองความยิ่งใหญ่ เพราะในช่วงนั้นการสื่อสารยังไม่ดีเท่าทุกวันนี้ โอกาสจะมีบอลถ่ายทอดทีมโปรดมาให้ดูสักนัดก็ยากมาก ผ่านยุคตกต่ำที่ต้องมองความสำเร็จของแมนยูปีแล้วปีเล่าในยุค 90 ที่ได้เริ่มดูถ่ายทอดสดได้มากขึ้น แต่ก็ต้องมองทีมตัวเองมีได้แค่ลุ้นตอนต้น ๆ ของฤดูกาล แล้วก็ค่อย ๆ หายไปจนไม่มีเหลือลุ้นอะไร เหมือนที่แมนยูเป็นอยู่ตอนนี้

แต่ถึงตอนนี้คงต้องบอกว่ากองเชียร์ลิเวอร์พูลทุกคนคงจะอยู่ในสถานะ I Feel Fine เพราะผลงานของทีมที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ภายใต้การดูแลของชายที่ชื่อว่า เจอร์เก็น คลอปป์ ซึ่งกำลังพาลิเวอร์พูลกลับสู่ยุครุ่งเรื่องอีกครั้ง ในฤดูกาลนี้ก็ยังมีลุ้นทุกรายการที่ลงแข่ง เป็นทีมที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นทีมที่ดีที่สุดทีมหนึ่งของโลก และนอกจากนี้ยังมีข่าวดีอีกคือ คลอปป์ ยอมขยายสัญญาตัวเองออกไปจากที่จะหมดลงในปี 2024 เป็นปี 2026 ดูหมือนว่ามันจะขยายไปอีกไม่นาน แต่สำหรับแฟนลิเวอร์พูลแล้ว ผมว่าคลอปป์ยอมต่อสัญญาออกไปแม้จะเป็นแค่ปีเดียวก็ทำให้แฟน ๆ มีความสุขแล้ว เพราะมันหมายความว่าลิเวอร์พูลก็จะมีโอการประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้นไปอีกตามจำนวนปีที่คลอปป์อยู่ต่อ

นอกจากจะรู้สึก Fine แบบชื่อเพลงแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่ผมอยากจะมาชวนฟังเพลงนี้ก็เพราะ กองเชียร์ลิเวอร์พูลที่อังกฤษได้แต่งเพลงสั้น ๆ ให้คลอปป์ โดยใช้ทำนองเพลง I Feel Fine นี้ครับ ไปฟังเพลงและดูเนื้อร้องของเพลงนี้กันก่อนครับ 


 Baby's good to me, you know

She's happy as can be, you know
She said so
I'm in love with her and I feel fine

Baby says she's mine, you know
She tells me all the time, you know
She said so
I'm in love with her and I feel fine

I'm so glad that she's my little girl
She's so glad, she's telling all the world
That her baby buys her things, you know
He buys her diamond rings, you know
She said so
She's in love with me and I feel fine, mm

Baby says she's mine, you know
She tells me all the time, you know
She said so
I'm in love with her and I feel fine

I'm so glad that she's my little girl
She's so glad, she's telling all the world
That her baby buys her things, you know
He buys her diamond rings, you know
She said so
She's in love with me and I feel fine
She's in love with me and I feel fine

และนี่คือเพลงของคลอปป์ครับ



เนื้อเพลงก็สั้น ๆ ตามนี้ครับ

I'm so glad that Jurgen is a Red.

I'm so glad he delivered what he said.

Jurgen said to me, you know. We'll win the Premier League, you know. He said so.

I'm in love with him and I feel fine.


วันศุกร์นี้ก็ขอแสดงความ Fine ตามประสาเดอะค็อปสักวันนะครับ และก็ตามลุ้นให้ทีมทำภารกิจ 4 แชมป์ ที่แทบจะเป็น mission impossible ได้สำเร็จ 

วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2565

ค่าไฟแบบ TOU จริง ๆ เดือนแรกมาแล้ว

TOU-meter
มิเตอร์ TOU

วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังต่อเนื่องจากบทความเรื่องไฟ TOU อันแรกนะครับ ถ้าใครยังไม่ได้อ่านก็อาจเข้าไปอ่านก่อนได้นะครับ  เรื่องวุ่น ๆ กับไฟ TOU  แต่ถ้าขี้เกียจอ่านผมสรุปให้ฟังคร่าว ๆ ก็คือ ผมได้ขอติดตั้งไฟแบบ TOU คือคิดอัตราตามเวลาการใช้งาน คือ 9.00-22.00 วันจันทร์ถึงศุกร์ก็แพงหน่อย แต่จาก 22.00-9.00 วันเสาร์อาทิตย์และวันหยุดราชการก็ถูกหน่อย โดยการไฟฟ้าได้มาติดตั้งให้ในเดือนธันวาคม แต่ปรากฏว่ามิเตอร์ที่การไฟฟ้าเอามาติดเสีย การไฟฟ้าก็เลยประมาณ (มโน) ค่าไฟบ้านผมมาจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ เพราะต้องรอเบิกมิเตอร์ใหม่ 

แต่ในเดือนมีนาคมผมก็ได้ยอดใช้จ่ายจริงมาแล้วครับ วันนี้ผมก็เลยจะมาลองคำนวณให้ดูนะครับว่าค่าไฟถ้าคิดแบบ  TOU กับแบบเดิมมันประหยัดลงมากไหม เพราะในบทความแรกก็มีคนอยากรู้ เพราะถ้าคุ้มเขาก็อยากลองไปติดบ้าง ในบทความนี้ผมจะคิดเฉพาะค่าไฟนะครับ ไม่ได้คิดค่าบริการ ค่า FT และ VAT  โดยเดือนมีนาคมนี้ตามบิลค่าไฟบ้านผมใช้ไปแบบนี้ครับ on peak (ราคาแพง) 98 หน่วย off peak (ราคาถูก)  489 หน่วย ถ้าไม่คิดแยกเท่ากับบ้านผมใช้ไฟรวม 587 หน่วยนะครับ

โอเคคราวนี้มาดูอัตราค่าไฟกันครับ รายละเอียดตามลิงก์นี้ครับ  

เนื่องจากบ้านผมเป็นบ้านพักอาศัย และมีอัตราการใช้ไฟเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ดังนั้นอัตราค่าไฟก็คือ 

 150 หน่วยแรก (หน่วยที่ 0 – 150) 3.2484

250 หน่วยต่อไป (หน่วยที่ 151 – 400)  4.2218

เกิน 400 หน่วยขึ้นไป (หน่วยที่ 401 เป็นต้นไป) 4.4217

ถ้าคิดตามสูตรนี้ก็คือ ผมจะต้องเสีย 150 * 3.2484 + 250 * 4.2218 + 187 * 4.4217 = 2369.56 บาท 

แต่ถ้าคิดแบบ TOU ของผมจะเข้า 1.2.2 อัตราก็คือ 

 แรงดันตํ่ากว่า 22 กิโลโวลท์ on peak 5.7982, off peak   2.6369

ค่าไฟที่ผมต้องจ่ายคือ 98 * 5.7982 + 489 * 2.6369 = 1857.66 บาท

ดังนั้นส่วนต่างก็คือ 2369.56-1857.66 = 511.9 บาท  เท่ากับประหยัดไปได้ประมาณ 500 บาท

สำหรับใครที่อ่านถึงตรงนี้แล้วอยากจะเปลี่ยนมาใช้แบบนี้ผมขอให้ข้อมูลเพิ่มอย่างนี้นะครับ มันมีค่าเปลี่ยนมิเตอร์อยู่ประมาณ 6600 บาท ซึ่งถ้าผมประหยัดได้เดือนละ  500 แบบนี้ จะใช้เวลาประมาณหนึ่งปีจึงจะได้จำนวนเงินเท่ากับค่ามิเตอร์ที่จ่ายไป นั่นคือจะประหยัดได้จริง ๆ ก็ต้องหนึ่งปีผ่านไปแล้ว และเราต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟสักเล็กน้อยนะครับ อย่างเปิดแอร์ผมก็จะรอสี่ทุ่ม จะซักผ้าโดยใช้เครื่องซักผ้า อบผ้า ก็จะรอสี่ทุ่ม หรือรอวันหยุด อีกอย่างหนึ่งที่ควรรู้ไว้ก็คือถ้าใครไปขอเปลี่ยนแล้ว แล้วปรากฏว่าค่าไฟมันแพงกว่าเดิม จะขอเปลี่ยนกลับเลยไม่ได้นะครับ จะต้องใช้แบบนี้ไปอย่างน้อยหนึ่งปีจึงจะขอเปลี่ยนกลับได้ 

ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่อยากเปลี่ยนนะครับ อ้อเกือบลืมศุกร์นี้อยู่ในช่วงสงกรานต์พอดี ก็ขออวยพรให้มีความสุขกัน เดินทางปลอดภัย และรอดพ้นภัยโควิดนะครับ สุขสันต์เทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ไทยครับ...  

วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2565

วันนี้ได้ใช้ M-Flow แบบลงทะเบียนแล้ว



M-Flow
M-Flow

หลังจากที่เมื่อสามสัปดาห์ก่อนผมได้เล่าประสบการณ์หลงเข้าไปใช้ M-Flow แบบไม่ได้ตั้งใจให้อ่านกันไปแล้วในบล็อกนี้ครับ วันนี้จะมาเล่าประสบการณ์การใช้ M-Flow แบบลงทะเบียนแล้วให้อ่านกันครับ ก็คือหลังจากวันที่ผมหลงเข้าไปวันรุ่งขึ้นผมก็ตัดสินใจสมัครสมาชิก M-Flow ครับ 

ตอนแรกตั้งใจจะสมัครเต็มรูปแบบ แต่เนื่องจากรถที่ผมใช้ชื่อผู้ครองกรรมสิทธิ์เป็นชื่อคุณภรรยาครับ ซึ่งก็จะต้องมีเอกสารเพิ่มเติมจากบัตรประชาชน ทะเบียนรถ รูปถ่ายด้านหน้ารถ นั่นก็คือหนังสือยินยอมจากภรรยา ผมก็เลยขี้เกียจยุ่งยากครับ เลยตัดสินใจสมัครผ่าน Line @mflowthai ครับ ซึ่งง่ายอย่างไม่น่าเชื่อคือ add Line @mflowthai ก่อนจากนั้นก็สมัครโดยข้อมูลที่ต้องให้เขาก็คือ ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ และเลขทะเบียนรถ อ้ออีกอันหนึ่งก็คือเลขที่บัตรเครดิตที่เราจะให้ตัดครับ ใช้เวลาไม่น่าเกินห้านาทีก็เรียบร้อยครับ ไม่ต้องถ่ายรูปอะไรทั้งนั้น แต่สมัครแบบนี้จะไม่ได้สิทธิประโยชน์เหมือนสมัครเต็มรูปแบบนะครับ อย่างได้ลดค่าผ่านทาง 20% ผ่านฟรีสองครั้งแรก แล้วก็ยังเลือกวิธีจ่ายเงินได้หลากหลาย ไม่ใช่ตัดบัตรเครดิตอย่างเดียว แต่ก็สมัครยุ่งกว่า ใช้เอกสารมากกว่า ก็ลองเลือกกันดูนะครับ ถ้าเหมือนผมคือไม่ได้ผ่านบ่อย ๆ ไม่อยากยุ่งยาก และมีบัตรเครดิต จะสมัครแบบ Line ก็สะดวกดีครับ และอีกอย่างครับใน Line เขามีเมนูให้เราแก้ไขข้อมูลทะเบียนรถ และบัตรเครดิตด้วยนะครับ นั่นคือถ้าเราเปลี่ยนรถหรือจะเปลี่ยนบัตรเครดิตก็แค่ไปเปลี่ยนที่เมนูนี้สะดวกมาก  

หลังจากสมัครแล้วผมก็ไม่ได้ใช้บริการหรอกครับจนกระทั่งวันนี้ เมื่อไปถึงด่านธัญบุรี 2 ก็พบว่ามีรถไปคับคั่งอยู่ในด่านแบบจ่ายเงินและแบบ M-Pass ติดกันยาวเหยียดครับ  ซึ่งก็ไม่เข้าใจนะครับว่าทำไมทางกรมทางหลวงถึงยังแก้ปัญหาไม่ได้ คือเหมือนคนก็ยังไม่รู้ว่าเขาสามารถวิ่งผ่าน M-Flow ไปก่อนแบบไม่ลงทะเบียนแล้วไปจ่ายทีหลังได้ และอีกอันก็คือตู้ M-Pass เดิมสองอันขวาสุดก็ปิดไว้เฉย ๆ ไม่ให้เข้าไปใช้ และปัญหาคือการติดจากหน้าด่านตรงนั้นท้ายแถวมันมาขวางทางไป M-Flow ด้วย ยิ่งไปกว่านั้นก็มีคนที่ไม่รู้วิ่งเลน M-Flow มาก่อน แล้วพอรู้ตัวว่าวิ่งผิดก็พยายามไปแทรกเข้าช่องจ่ายปกติ ยังไงก็ฝากแก้ปัญหาด้วยนะครับ

เมื่อผมหลุดท้ายแถวที่ขวางมาได้ผมก็มาที่เลน M-Flow ครับ คราวนี้ผมวิ่งใช้ความเร็วปกติครับ ประมาณ 90 (คิดว่าไม่น่าวิ่งเกินนี้ได้นะครับ ตราบใดที่เข้ายังมีด่านที่ต้องเข้า ไม่กล้าวิ่งเร็วเกินนี้) ก็ผ่านมาได้โดยสะดวกครับ และเมื่อมาเช็คบัตรเครดิต ก็พบว่ามีการตัดยอดเข้ามาหลังจากวิ่งผ่านด่านมาประมาณ 10 นาทีครับ อันนี้แปลกใจหน่อย ๆ ครับ เพราะเท่าที่หาข้อมูลมาเขาจะตัดตอนเที่ยงคืนของวันที่ใช้งาน คือสมมติวันนั้นเราวิ่งไป แล้วก็วิ่งกลับ เขาจะตัดเป็นยอดเดียวคือ 60 บาท แต่นี่ผ่านปุ๊ปแทบจะตัดปั๊ป  แต่ก็โอเคครับ แสดงว่าระบบใช้ได้ อ่านเลขทะเบียนถูก ตัดเงินได้ และถ้าไม่ได้วิ่งผ่าน ก็ยังไม่มีการตัดมั่ว ๆ เข้ามา อ้อแล้วเขาก็แจ้งผ่าน Line ด้วยนะครับว่าเขาตัดบัตรเครดิตเราแล้ว  

ก็มาเล่าประสบการณ์ให้ฟังกันอีกครั้งครับ เป็นข้อมูลให้เผื่อใครที่สนใจ อยากสมัครแบบง่าย ๆ และอยากย้ำอีกรอบนะครับ ไม่ลงทะเบียนก็ยังวิ่งผ่านได้ วิ่งไปก่อนจ่ายทีหลัง การจ่ายก็ไม่ยุ่งยากใช้ผ่าน  Mobile Banking เหมือนที่เราใช้กันทุกวันอยู่แล้ว ไม่ต้องไปเสียเวลาติดอยู่หน้าด่านครับ...    

วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

เรื่องวุ่น ๆ กับไฟ TOU

มิเตอร์ TOU


สวัสดีครับ #ศรัณย์วันศุกร์ วันนี้ผมขอนำเสนอเรื่องประสบการณ์กับค่าไฟ TOU ครับ จริง ๆ ว่าจะเขียนเรื่องนี้ตั้งแต่ศุกร์ที่แล้ว แต่บังเอิญมีเรื่อง M-Flow เข้ามาซะก่อน ซึ่งหลังจากเขียนไปก็เห็นว่ามีคนมีประสบการณ์วิ่งผ่านช่อง M-Flow แล้วถูกปรับกันเยอะแยะ ซึ่งโชคดีที่ตัวเองไม่โดนเพราะมองเห็นวิธีจ่ายพอดี และตอนนี้เท่าที่ตามข่าวมา M-Flow ก็จะคืนค่าปรับให้แล้วนะครับ 

มาเข้าเรื่องวันนี้กันดีกว่าวันนี้จะมาเล่าเรื่องประสบการณ์กับค่าไฟแบบ TOU ครับ สำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่าค่าไฟแบบ TOU คืออะไร สรุปง่าย ๆ ก็คือการคิดอัตราค่าไฟฟ้าตามเวลาที่ใช้ TOU ย่อมาจาก Time of Use ครับ โดยการไฟฟ้าจะแบ่งการคิดอัตราค่าไฟออกเป็นสองช่วงเวลาคือช่วงเวลา Peak ก็คือช่วงที่มีการใช้ไฟเยอะ ก็คือจันทร์ถึงศุกร์ 9.00-22.00 (รวมวันพืชมงคล และวันแรงงานด้วย) ตรงนี้จะคิดค่าไฟแพง กับช่วง off-peak คือช่วงที่มีการใช้ไฟต่ำ คือจันทร์ถึงศุกร์ 22.00-9.00 เช้า วันเสาร์อาทิตย์ทั้งวัน วันหยุดราชการที่ไม่ใช่วันหยุดชดเชย วันพืชมงคล และวันแรงงานที่ตรงกับเสาร์อาทิตย์ ตรงนี้จะคิดค่าไฟถูก รายละเอียดสามารถดูได้จากที่นี่ครับ  

เอาจริง ๆ ตอนแรกผมก็ไม่รู้จักหรอกนะครับ แต่คุณภรรยาไปเจอมา แล้วก็ตัดสินใจสมัครไป รู้สึกจะมีค่าธรรมเนียมการสมัครด้วยนะครับ ผมจำไม่ได้ว่าเท่าไร และการไฟฟ้าก็มาเปลี่ยนมิเตอร์เป็นแบบ TOU ให้เมื่อประมาณกลางเดือนหรือสัปดาห์ที่สามของเดือนธันวาคมปีที่แล้วนี่แหละครับ พอมาเปลี่ยนปุ๊ปบ้านผมก็เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟกันครับ อย่างผมปกติจะเริ่มเปิดแอร์ตอนประมาณสองทุ่มก็ยืดเป็นสี่ทุ่ม ยอมทนร้อนเพิ่มสองชั่วโมง 

คราวนี้ก็รอดูว่าค่าไฟจะถูกลงเท่าไร  ปรากฏว่าเมื่อบิลค่าไฟเดือนมกราคมมาถึงมันแพงขึ้นกว่าปกติครับ ซึ่งก็ทำให้ผมกับภรรยาประหลาดใจมาก (โดยเฉพาะผมอุตส่าห์ทนร้อนเพิ่ม) ขณะที่กำลังงง ๆ ว่าหรือมันจะคิดแบบเดิมรวมมาด้วยก่อนเปลี่ยน และจะรอดูอีกสักเดือนหนึ่ง ปรากฏว่าวันที่ 24 มกราคม มีรถการไฟฟ้ามาดูที่มิเตอร์ ซึ่งภรรยาผมก็ออกไปถามได้ความว่ามิเตอร์เสียครับ เสียตั้งแต่วันที่เอามาติดคือค่าไฟไม่เดินเลยเป็น 0 หมด และที่มานี่แค่มาดูนะครับ ยังไม่ได้มาเปลี่ยนเพราะยังเบิกของไม่ได้ 

คราวนี้ถ้ามิเตอร์เสียแล้วค่าไฟมาจากไหน คุณภรรยาก็เลยโทรไปการไฟฟ้า ซึ่งการไฟฟ้าแจ้งว่ามิเตอร์เสีย และคนที่มาจดคิดว่าเป็นบ้านไม่มีคนอยู่ก็เลยจดเป็นศูนย์ไปไม่ได้คิดอะไร คุณภรรยาก็เลยถามว่าแล้วค่าไฟเดือนที่แล้วมายังไง ก็ได้รับคำตอบว่าการไฟฟ้ารู้ครับว่ามันเป็นบ้านมีคนอยู่ และนี่คือสิ่งที่เขาทำครับ เขาบอกว่าเนื่องจากบ้านผมใช้ TOU เป็นเดือนแรก เขาไม่มีข้อมูลเก่า เขาเลยประมาณเลขขึ้นมาเองครับ (จะเรียกว่ามั่วก็น่าจะได้นะครับ) โดยเลขที่ประมาณขึ้นมาแบ่งเป็นช่วง peak 60% และช่วง off-peak 40% เจอคำตอบแบบนี้เข้าไปภรรยาผมถึงกับมึนเลยครับ ทำอย่างนี้ก็ได้หรือ ก็เลยบอกไปว่าอย่างนี้ไม่แฟร์นะ ถ้าเราจะใช้ช่วง peak เยอะ ๆ เราจะไปขอเปลี่ยนเป็น TOU ทำไม เปลี่ยนแล้วค่าไฟดันแพงขึ้น ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่าเดี๋ยวถ้ามีข้อมูลแล้วจะเฉลี่ยคืนให้ 

และจากวันที่การไฟฟ้ามาดูว่ามิเตอร์เสีย เมื่อ 24 มกราคม ก็ยังไม่ได้มาเปลี่ยนนะครับ เพิ่งมาเปลี่ยนเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ซึ่งในช่วงนั้นเราก็ใช้ไฟกันตามปกติแบบก่อนจะเปลี่ยนมิเตอร์ครับ เพราะไม่รู้จะพยายามใช้แบบ TOU ไปทำไม ในเมื่อเดี๋ยวเขาก็จะใช้ค่าประมาณของเขาเองอีก แต่ปรากฏว่าเดือนนี้เขาประมาณให้ถูกกว่าปกติครับ (ก็ไม่รู้ว่าถ้าคุณภรรยาไม่โทรไปถามจะคิดแบบไหนนะครับ) และพอมิเตอร์มาติดเราก็ไปเช็คกันปรากฏว่ามันเดินแล้วครับ คราวนี้ก็ได้ใช้กันแบบ TOU ซะที เดี๋ยวเดือนหน้ามาดูกันครับว่าค่าไฟจริง ๆ แบบ TOU มันจะเป็นเท่าไร ถูกลงแค่ไหน  

วันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565

เมื่อผมหลงเข้าไปใช้ M-Flow โดยบังเอิญ

สวัสดีครับ หลังจากไม่ได้เขียน #ศรัณย์วันศุกร์ มาซะนาน วันนี้พอจะมีเวลาบ้างและบังเอิญได้รับประสบการณ์การใช้งาน M-Flow เป็นครั้งแรก และเป็นแบบบังเอิญซะด้วย และก็เพิ่งอ่านข่าวว่ารู้สึกจะเมื่อวานหรือเมื่อวานซืนที่รถติดหน้าด่านมาก ๆ อาจมีสาเหตุมาจาก M-Flow ก็เลยจะมาเล่าให้ฟังกัน และมีข้อเสนอแนะบางอย่างเผื่อถ้าคนที่เกี่ยวข้องได้อ่านจะได้พิจารณาดูว่าจะไปปรับใช้ได้ไหมนะครับ

ก่อนอื่นมารู้จัก M-Flow กันก่อนครับ M-Flow เอาง่าย ๆ คือวิธีเก็บค่าผ่านทางพิเศษแบบใหม่ ซึ่งจะไม่มีไม้กันให้เราต้องจอดจ่ายเงิน หรือต้องชะลอรถเพื่อให้มีการอ่านบัตร Easy Pass หรือ M-Pass เพื่อหักเงินเราก่อนจะเปิดไม้กั้นให้เราผ่านไป ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการของกระทรวงคมนาคม ซึ่งตั้งใจจะนำมาใช้กับมอเตอร์เวย์ และทางด่วน ซึ่งเปิดตัวให้ใช้อย่างเป็นทางการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ด่านทับช้าง 1 ทับช้าง 2 ธัญบุรี 1 และธัญบุรี 2 

โดยวิธีการของระบบนี้คือเขาจะมีกล้องจับทะเบียนรถเรา แล้วก็ไปเก็บเงินเราตามวิธีการที่เราระบุไว้ตอนเราลงทะเบียนใช้งานระบบ หรือในตอนนี้เราไม่ลงทะเบียนก็ใช้ได้วิ่งผ่านไปก่อน แล้วเขาจะมีเว็บไซต์ให้เราไปจ่ายเงินทีหลังโดยป้อนทะเบียนรถเราเข้าไป ซึ่งกรณีของผมเป็นแบบหลังนี้ครับ เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟัง แต่ถ้าใครอยากรู้รายละเอียดเกี่ยวกับ M-Flow สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ของ M-Flow ครับ 

จริง ๆ ผมได้รับอีเมลให้ลงทะเบียนสมัครใช้ M-Flow มาก่อนหน้านี้เป็นเดือนแล้วครับ แต่ไม่ได้สนใจจะสมัคร เพราะเหตุผลสองอย่าง อย่างแรกคือยังไม่ไว้ใจระบบอ่านเลขทะเบียนนี่สักเท่าไหร่ เพราะแค่ Easy Pass ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ แค่แสดงจำนวนเงินในบัตรตอนขับผ่านยังแสดงไม่ตรงเลย คือมันมักจะดีเลย์ไปแสดงของรถคันหน้าเรา อีกอย่างหนึ่งก็คือผมมองว่าวิธีนี้มันผูกติดกับตัวรถ คือถ้าผมเปลี่ยนรถ หรือมีวันหนึ่งสมมติต้องยืมรถภรรยามาขับ ถ้าเป็น Easy Pass ผมก็แค่เอามันไปใช้กับรถที่ผมจะใช้วันนั้น แต่ถ้าเป็นระบบนี้ผมก็ต้องลงทะเบียนรถทุกคัน ซึ่งขั้นตอนการลงทะเบียนถึงแม้จะดูไม่ยาก แต่ก็ดูยุ่ง ๆ และถ้าต้องลงทะเบียนรถหลายคัน ก็น่าจะยุ่งขึ้นไปอีก ก็เลยยังไม่สมัคร และคิดว่าจะใช้  Easy Pass ไปก่อน จนระบบมันลงตัว หรือเขายกเลิก Easy Pass ไปแล้ว หรือตัวเองพร้อมที่จะลงทะเบียน

บังเอิญวันนี้ผมมีธุระต้องไปแถวคลองหลวงตั้งแต่เช้า ก็ขับรถขึ้นมอเตอร์เวย์ไป โดยลืมสนิทเลยว่า M-Flow มันเปิดใช้แล้ว และตามทางที่วิ่งไปก็จะเจอข้อความบนบอร์ดประชาสัมพันธ์ของมอเตอร์เวย์พูดถึง M-Flow ว่ารถที่ไม่ลงทะเบียนห้ามวิงผ่าน M-Flow จะมีโทษนู่นนี่นั่น แอบวิ่งไม่จ่ายเงินเจอค่าปรับ 10 เท่า เห็นป้ายแบบนี้แล้วก็ยังไม่ได้คิดครับว่ามันเปิดใช้แล้ว กับด่านที่ผมจะต้องผ่านนี่แหละคือธัญบุรี น่าจะ 2 นะครับ ขาออกมุ่งหน้าบางปะอิน 

ถ้าใครเคยผ่านด่านธัญบุรีอันนี้คงจะรู้นะครับว่ามันจะมีช่อง Easy Pass อยู่ขวาสุดสองช่อง ผมซึ่งคุ้นเคยกับด่านนี้ดีก็ขับไปตามความเคยชินครับไม่ได้มองป้าย M-Flow อะไร พอขับเข้าไปก็เป็นงงครับเพราะมันว่างมากแทบไม่มีรถวิ่งเข้ามาด้านนี้เลย หนักกว่านั้นมีกรวยมาวางกั้นไม่ให้เข้าไปที่ตู้ Easy Pass คราวนี้ก็เริ่มระลึกได้ครับว่า เฮ้ย หรือนี่มันจะเป็น M-Flow แต่ตอนนั้นก็ตั้งคำถามกับตัวเองนะครับว่าต่อให้เป็น M-Flow แล้วทำไมถึงปิดตู้ Easy Pass แต่คิดอีกทีสุดท้ายเขาคงอยากให้เป็น M-Flow ทั้งหมดรถจะได้ไม่ต้องชะลอ แต่ผมว่าถ้ามีตู้อยู่มันก็ต้องชะลอกันอยู่ดีนะ แต่เอาเถอะครับในตอนนั้นปัญหาเฉพาะหน้าก็คือทำยังไงดี เพราะอ่านป้ายคำขู่ตามทางที่ผ่านมาว่ารถไม่ลงทะเบียนห้ามวิ่งผ่าน M-Flow 

แต่จะให้ถอยกลับก็คงไม่ใช่ ถ้าทำอย่างนั้นสงสัยจะถูกชนแบนอยู่บนมอเตอร์เวย์ ก็เลยชะลอรถเลือกผ่านเข้าไปที่ตู้หนึ่ง ก็เห็นป้ายเล็ก ๆ เขียนไว้ประมาณว่า รถที่ไม่ได้ลงทะเบียนให้ไปจ่ายเงินย้อนหลังได้ที่เว็บไซต์ของ M-Flow เห็นแล้วก็เลยโล่งใจขึ้น แล้วก็นึกในใจว่า ทำไมมันถึงไปโปรโมทแต่เรื่องจะลงโทษรถที่ไม่ลงทะเบียนแล้วใช้ M-Flow ในเมื่อมันก็มีระบบให้จ่ายทีหลังด้วยตัวเองได้อยู่แล้ว 

จริง ๆ ควรจะโปรโมทระบบจ่ายทีหลังนี้มากกว่า เพราะอาจไม่ใช่ทุกคนที่จะผ่านมาใช้เป็นประจำ เขาอาจจะผ่านมาเป็นครั้งคราว พอผ่านเสร็จก็ไปจ่ายเงินย้อนหลัง ไม่จำเป็นต้องไปวุ่นวายลงทะเบียนอะไร และการโปรโมทแบบนี้ก็อาจเป็นการเชิญชวนให้คนที่ใช้ประจำแต่ไม่ได้ลงทะเบียนมาทดลองใช้ดูว่าระบบการอ่านเลขทะเบียนมันโอเคไหม ให้เขาลองใช้ดูแล้วก็ค่อยโปรโมทต่อว่าถ้าคุณลงทะเบียนคุณจะได้สิทธิพิเศษอะไรบ้าง นี่เล่นขู่กันอย่างเดียวเลย และนี่อาจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้รถติดหนักหน้าด่านเมื่อวานหรือเมื่อวานซืน เพราะคุณลดด่านที่ต้องจ่ายเงิน กับด่าน Easy Pass กับ M-Pass ลง ทำให้รถซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ได้ลงทะเบียนต้องไปแออัดกันหน้าด่าน ทำให้ท้ายแถวติดยาวเหยียดจนคนที่ลงทะเบียน M-Flow ก็เข้าช่อง M-Flow ไม่ได้ ไม่ต่างกับคนที่ใช้ Easy Pass หรือ M-Pass ที่ต้องมาติดท้ายแถวจากคนที่จ่ายเงินสด อันนี้ก็เป็นคำแนะนำนะครับ ไม่ได้ต่อว่าอะไร เพราะผมไม่ได้ไปติดอยู่กับเขา แต่คนที่ติดอยู่วันนั้นคงสรรเสริญคนที่คิดแต่เรื่องขู่แบบนี้ไปพอสมควรนะครับ :)

คราวนี้มาถึงเรื่องของผมต่อครับ หลังจากผมผ่านด่านมาแล้ว มาลงที่คลองหลวง ใช้เวลาผ่านจากด่านมาน่าจะประมาณ 20 นาที ผมก็ลองเข้าเว็บไซต์เพื่อเช็คดูว่าผมจะต้องจ่ายเงินยังไง เมื่อเข้าไปที่เว็บไซต์  ก็จะเจอเมนูตามรูปที่ 1 ครับ 

Mflow-pay-menu
รูปที่ 1 เมนูจ่ายเงิน M-Flow

ผมก็เลือกอันล่างสุดนะครับ "วิ่งช่องผ่านทาง M-Flow แต่ไม่ใช่สมาชิก" รู้สึกว่าคำพูดมันประหลาด ๆ ไหมครับ จริง ๆ มันน่าจะเป็น "วิ่งผ่านช่องทาง M-Flow แต่ไม่ใช่สมาชิก" ว่าไหมครับ หลังจากเลือกอันนี้มันจะพาเราไปที่หน้าจอดังรูปที่ 2 ครับ

find-car-by-id-mflow
รูปที่ 2 ค้นหารถยนต์เพื่อชำระเงิน

 
เราก็ป้อนเลขทะเบียนรถเราซึ่งต้องแบ่งเป็นสามส่วนนะครับ คือช่องแรกให้ใส่สามหลักแรก ช่องที่สองก็ให้ใส่เลขสี่หลัก (รถผมมีสี่หลัก แต่ถ้าใครมีกี่หลักก็น่าจะใส่ตามนั้นนะครับ) และช่องสุดท้ายก็คือจังหวัด จากนั้นกดปุ่มค้นหา 

ซึ่งในตอนแรกที่ผมป้อน มันหาไม่เจอนะครับ มันบอกไม่มียอดค้างชำระ ตอนแรกผมก็คิดว่าระบบอ่านเลขทะเบียนมันแย่หรือเปล่านี่ แล้วตอนนี้มันไปอ่านเป็นรถใครแทนหรือเปล่า แต่คิดอีกทีสงสัยมันต้องใช้เวลาบันทึกข้อมูลลงระบบ ก็เลยทำธุระไปก่อน ช่วงบ่ายลองค้นอีกทีคราวนี้มันเจอครับ ก็ขึ้นว่าต้องจ่าย 30 บาท ซึ่งเราสามารถจ่ายผ่านระบบพรอมท์เพย์ (prompt pay) ได้นะครับ มันจะสร้าง QR Code ขึ้นมา เราก็เอาไปสแกนจ่ายผ่านแอปธนาคารได้เลย หลังจากจ่ายไปแล้ว ผมลองทิ้งเวลาไปสักหนึ่งชั่วโมง ลองค้นดูอีกทีก็ปรากฏว่าไม่มีค้างชำระแล้ว 

สรุปก็คือระบบอ่านเลขทะเบียนใช้ได้ แต่ต้องไม่ลืมว่าตอนผมผ่านด่านผมชะลอรถช้า ๆ เพราะเข้ามาแบบงง  ๆ หวังว่าจะเจอเจ้าหน้าที่บ้างแต่ก็ไม่มี เจอแต่ป้ายบอกจ่ายทีหลังได้ ดังนั้นที่เขาตั้งใจว่าให้วิ่งผ่านได้ด้วยความเร็ว 120 ไม่ต้องชะลอรถมันจะโอเคไหม ระบบจ่ายเงินก็ใช้ได้ แต่ไม่รู้ว่าถ้ามีคนใช้เยอะกว่านี้จะเป็นยังไง 

ก็หวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกท่านนะครับ ถ้าใครผ่านทับช้าง 1 ทับช้าง 2 ธัญบุรี 1 และธัญบุรี 2 และไม่ได้ลงทะเบียน M-Flow ไว้ก็ใช้ได้นะครับ ไม่ต้องไปติดอยู่ที่ด่านจ่ายเงิน ส่วนคำแนะนำสำหรับเจ้าหน้าที่ก็คือน่าจะโปรโมทระบบจ่ายทีหลังนี้นะครับ แทนที่จะขู่ว่าไม่ลงทะเบียนห้ามผ่าน การโปรโมทแบบนี้ผมว่าจะทำให้คนอยากลองใช้มากขึ้น จะช่วยลดรถติดหน้าด่าน ซึ่งน่าจะเป็นจุดประสงค์หลักของการใช้ระบบนี้ แล้วพอเขาเห็นว่าถ้าสมัครสมาชิกมันทำให้สะดวกสบายกว่าอย่างเช่นมันสามารถหักค่าผ่านทางโดยใช้เงินที่มีใน Easy Pass และ M-Pass ได้ด้วย หักจากบัตรเครดิตได้ หรือจ่ายเป็นรายเดือนก็ได้ เขาก็จะสมัครกันเอง แต่ถ้าไม่โปรโมทระบบจ่ายทีหลังนี้เพราะกลัวระบบจ่ายเงินล่มถ้าคนมาใช้เยอะอันนี้ก็คงไม่มีคำพูดอะไรต่อครับ ส่วนถ้ากลัวคนมาใช้แล้วไม่ยอมจ่ายเพราะไม่ลงทะเบียน จริง ๆ อันนี้น่าจะคิดไว้ก่อนแล้วนะครับ ถ้ายังไม่ได้ทำก็เสนอทำพร้อมกับระบบใบสั่งไปเลย คือให้ขนส่งดูให้ว่าถ้ามีใบสั่งที่ยังไม่จ่าย หรือไม่จ่ายค่าผ่านทางก็ไม่ต่อทะเบียนให้ แก้กฎหมายตรงนี้กันไปเลย  

วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ทำไมประยุทธ์ถึงไม่ยอมขอโทษและเหมือนไม่รู้สึกอะไร

ศรัณย์วันศุกร์วันนี้ขอมาเรื่องเครียด ๆ สักหน่อยแล้วกันนะครับ เพราะสถานการณ์มันไม่ดีเลย นั่งดูโอลิมปิก ก็ยังรู้สีกเสียดายที่เมย์-รัชนก นักแบดมินตันตัวความหวังของเรา ก็พลาดไปเพียงนิดเดียว ก็รู้สึกเสียดายแทนเธอนะครับ แต่เธอทำดีที่สุดแล้วในวันนี้ ขอชมเชย เพียงแต่มันไม่ใช่วันของเธอเท่านั้นเอง 

กลับมาเข้าเรื่องที่อยากจะบันทึกไว้วันนี้ครับ คือวันนี้ได้คุยกับลูกชายคนเล็ก เขาก็ตั้งคำถามว่าทำไมประยุทธ์ถึงไม่ออกมาขอโทษ หรือยอมรับความผิดอะไรบ้าง ผู้นำประเทศอื่นหลายคนเขาก็ขอโทษ ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับลูกชายครับ เพราะจริง ๆ การขอโทษถ้าทำอย่างจริงใจ มันจะทำให้เราได้เห็นข้อผิดพลาดที่เราทำ และจะได้แก้ไขได้ แต่ถ้าไม่ขอโทษ คิดว่าไม่ได้ทำอะไรผิด มันก็จะดันทุรังทำแบบเดิมไป เพราะถ้าเปลี่ยนก็เท่ากับยอมรับ เหมือนที่อนุทินยังยืนยันไม่เข้า COVAX นั่นแหละ แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไร ก็บอกกับลูกไปว่า คนมีอีโก้สูงก็เป็นแบบนี้แหละ คิดว่าตัวเองดีตัวเองเก่ง รับความผิดไม่ได้ 

แต่พอผมลองกลับมานั่งนึกดู จากการกระทำของประยุทธ์ ความคิดและคำพูดของประยุทธ์ ที่ออกมาบอกว่าอัตราคนตายในประเทศของเราก็ต่ำกว่าประเทศอื่นตั้งหลายประเทศ และจากการที่ประยุทธ์มักจะเปรียบเทียบสถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้ว่าเป็นเหมือนสงคราม มันทำให้ผมได้มุมมองว่า ประยุทธ์น่าจะคิดแบบทหาร คือเวลารบทหารก็มักจะคิดว่ามันก็ต้องมีความสูญเสียบ้าง ตราบใดที่ยอดความสูญเสียมันยังอยู่ในเกณฑ์ที่พวกเขาตั้งไว้ ดังนั้นนี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าประยุทธ์อาจจะคิดอยู่บนฐานนี้ ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าผมคิดถูกหรือเปล่านะครับ แต่ถ้าคิดอย่างนี้จริง ก็อยากบอกว่าคิดใหม่เถอะ เราไม่ได้ทำสงครามอยู่ มันไม่ควรมีใครต้องเสียสละชีวิตเพื่อประเทศชาติ และนอกจากชีวิตแล้ว หลายคนต้องเสียงานเสียธุรกิจไปแบบอาจไม่ได้กลับคืนมาอีก  ลองคิดหาวิธีบริหารจัดการแบบไม่ใช่กำลังรบกับใครอยู่ดู นี่คือชีวิตของพลเรือนในความดูแลของคุณ

แต่ที่น่าเศร้าใจกว่าก็คือมีรัฐมนตรีช่วยกระทรวงที่ต้องดูแลสุขภาพประชาชน มาจากพรรคการเมือง เป็นนักการเมือง กลับใช้คำพูดประมาณว่า "อาจโชคร้ายบ้างที่อาจจะมีเสียชีวิตที่บ้าน" โดยไม่ได้คิดว่ามันเป็นเพราะการบริหารจัดการที่ยังมีข้อบกพร่องอยู่หรือเปล่า ไม่รู้เป็นอย่างนี้อยู่แล้ว หรืออยู่ใกล้ประยุทธ์นาน ๆ ก็เลยติดวิธีคิดแบบนี้มา น่าเศร้าจริง ๆ ...   

 

 


วันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564

สวัสดีปีใหม่ 2564 (2021)

Photo by Moritz Knöringer on Unsplash

สวัสดีปีใหม่ครับ ศรัณย์วันศุกร์วันนี้มาในวันปีใหม่พอดี เนื่องจากวันเริ่มต้นของปีนี้เป็นวันศุกร์ และเมื่อเริ่มต้นด้วยวันศุกร์ ก็หวังว่ามันจะเป็นปีที่ทำให้เรามีความสุขกันทุกคนนะครับ 

ในวันนี้ผมก็อยากจะเริ่มต้นด้วยการมองย้อนไปในปีที่แล้วจากการเขียนบทความลงในบล็อกนี้ของผมแล้วกันนะครับ ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณทุกคนที่เข้ามาอ่านบล็อกนะครับ เริ่มจากต้นปีมียอดวิวอยู่ที่ประมาณ 120,000 กว่าวิว จนถึงวันสุดท้ายของปีมียอดวิว  150,000 กว่าวิว ถ้าเอากลม ๆ ก็คือ ปีนี้มีผู้เข้ามาอ่านบล็อกทั้งหมดประมาณ 30,000 กว่าครั้ง ก็ขอขอบคุณอีกครั้งครับ

ถึงแม้ผมจะทำสำเร็จตามที่ตั้งปณิธานไว้ในปีที่แล้ว คือสรุปข่าวไอทีเขียนลงบล็อกวันละหนึ่งเรื่อง แต่บทความที่ถูกอ่านมากที่สุดกลับเป็นบทความเกี่ยวกับอ.วีระกับ Apple ซึ่งโพสต์ไว้เมื่อ 8 ปีที่แล้ว กับบทความสรุปให้ฟังอีกครั้งซึ่งเขียนในปีที่แล้ว ส่วนสรุปข่าวไอทีที่เขียนให้อ่านทุกวันก็พอมียอดอ่านอยู่บ้าง ก็หวังว่าในปีนี้จะเข้ามาอ่านกันให้มากขึ้นนะครับ ซึ่งผมจะพยายามคัดสรรเรื่องที่น่าสนใจมาให้อ่านกันต่อไปครับ ส่วนศรัณย์วันศุกร์ก็จะพยายามหาเรื่องที่น่าสนใจมาเขียนให้บ่อย ๆ ขึ้นในทุก ๆ วันศุกร์ครับ 

และสำหรับใครที่สนใจบทความด้าน Computing ก็ขอฝากบล็อกนี้ของผมไว้ด้วยครับ ซึ่งเอาจริง ๆ ปีที่แล้วก็ไม่ได้เขียนมากนัก เนื่องจากไม่มีเวลา เพราะจัดสรรเวลาแต่ในปีนี้ผมตั้งใจว่าจะเขียนให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละบทความครับ 

ในปีนี้ปณิธานของผมที่ตั้งใจจะทำให้ได้ก็คือจัดสรรเวลาให้ดีขึ้นเพื่อจะได้มีเวลาพัฒนาตัวเองตามที่ตั้งใจไว้มาหลายปีแล้ว  และดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดีขึ้น เพื่อที่จะได้มีกำลังดูแลคนในครอบครัว และเมื่อแก่ตัวลงมากกว่านี้จะได้ไม่เป็นภาระของคนในครอบครัวครับ ส่วนใครที่มีปณิธานอะไรก็ขอให้ทำได้ตามที่ตั้งใจไว้นะครับ

ขอให้เป็นปีที่ดีสำหรับทุกคนครับ 

 


วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2563

ปีที่ไม่น่าจดจำกำลังจะผ่านไป

หลังจากไม่ได้เขียนศรัณย์วันศุกร์มาพักหนึ่ง วันศุกร์นี้ก็ขอเขียนซะหน่อยแล้วกันนะครับ เพราะมันเป็นศุกร์สุดท้ายของปีที่ไม่น่าจดจำปีหนึ่งทีเดียว ทั้ง ๆ ที่เลขของปีสวยงามมากคือ 2020 นิตยสาร Times ถึงกับใช้รูปนี้เป็นหน้าปก และบอกว่ามันเป็นปีที่เลวร้ายที่สุดตั้งแต่เคยมีมา 


จริง ๆ ศุกร์สุดท้ายของปีนี้คือวันคริสมาสต์พอดี ซึ่งควรเป็นช่วงของการเฉลิมฉลองแต่เนื่องจากสถานการณ์ของโลกในปีนี้ นั่บตั้งแต่ไฟป่าตามที่ต่าง ๆ และการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้น และเมื่อถึงเดือนสุดท้ายของปี กลับดูหมือนจะแย่ลงไปอีก และผลกระทบของ COVID ไม่เป็นเพียงแต่ด้านสุขภาพเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบไปถึงปัญหาเศรษฐกิจอีกด้วย 

ในส่วนประเทศของเรานั้น รัฐบาลเลือกที่จะไม่ให้มีการแพร่ระบาดในประเทศ โดยในตอนต้นนั้นเน้นด้านเดียว โดยแทบจะทิ้งมิติด้านเศรษฐกิจไปเลย พอสถานการณ์ดีแล้วจึงกลับมามองด้านเศรษฐกิจ ซึ่งก็ไม่รู้จะทันไหม แต่ขณะที่กลไกเศรษฐกิจกำลังจะเดินไป ก็เกิดมีการแพร่ระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นมาในเดือนสุดท้ายของปี ซึ่งในบล็อกนี้ผมจะไม่โทษใครแล้วกันนะครับ เอาเป็นว่ามันเกิดขึ้นแล้ว และก็หวังว่ารัฐบาลจะมองเห็นจุดบกพร่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จากการแก้ปัญหาในรอบแรก และไม่ให้มันเกิดซ้ำอีกในรอบนี้ (แต่ดู ๆ แล้ว อาจหวังไม่ได้ เพราะเอาง่าย ๆ ตอนนี้หน้ากากอนามัยก็เริ่มแพง และอาจจะขาดตลาดอีกแล้ว) 

ส่วนตัวถ้าถามว่าปีนี้มีผลกระทบอะไรไหม ก็มีญาติคนหนึ่งต้องเสียชีวิตไปในปีนี้ (ไม่ใช่จาก COVID) แต่นอกจากนั้นแล้วต้องบอกว่า โดยส่วนตัวก่อนเดือนสุดท้ายของปีก็ถือว่าไม่มีอะไรนะครับ สุขภาพก็ยังใช้ได้ การงานอาจหนักขึ้นหน่อย เนื่องจากต้องมาเปลี่ยนการเรียนการสอนออนไลน์อย่างกระทันหัน แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ทำให้ได้ทักษะด้านการจัดทำสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น ในปีนี้ผมได้สร้างนิสัยในการโพสต์ข่าวด้านวิทยาการทุกวันเป็นเวลาจะครบปีแล้ว ทีมฟุตบอลที่เชียร์คือลิเวอร์พูลก็ได้แชมป์ (แต่เอาจริง ๆ ผลงานลิเวอร์พูลนั้นดีมาก ๆ ในปี 2019 นะครับ พอเข้ามา 2020 ก็ดรอปลงไป แต่อาศัยว่าทำดีมาก่อนหน้าแล้วก็เลยได้แชมป์ไปอย่างสบาย) คนรอบตัวก็ไม่มีใครติด COVID 

แต่พอเข้าเดือนสุดท้ายของปี ก็เริ่มโดนกับเขาบ้าง เริ่มจากอุบัติเหตุรถยนต์เล็ก ๆ น้อย ซึ่งต้องบอกว่าผมไม่ได้ขับรถที่เกิดอุบัติเหตุโดยมีสาเหตุมาจากตัวเองมาเป็นสิบปีแล้วนะครับ พอวันที่ 2 ของเดือนสุดท้ายก็โดนเลย แต่มันก็เป็นอะไรที่เล็กน้อยมาก 

แต่เหตุการณ์ที่แย่กว่านั้นมากก็คือ แม่ผมหกล้มครับ และเป็นการหกล้มในบ้าน ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะแม่ก็เดินจากห้องนอน ห้องน้ำ ห้องพระ ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กันไม่เกิน 3 เมตร มาเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว พื้นก็ไม่ลื่น ไม่มีอะไรขวางให้สะดุดได้ แต่วันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม น่าจะประมาณเที่ยง แม่ก็ล้มลงแถว  ๆ ห้องพระ ปกติแม่จะถือของมือหนึ่ง อีกมือจะถือไม้เท้า หรือไม่ก็เอาไว้คอยจับ แต่วันนั้นแม่บอกว่าไม่รู้นึกอะไร จึงถือของเต็มทั้งสองมือ และแม่ก็ล้มครับ ซึ่งในตอนแรกก็นึกว่าน่าจะแค่ช้ำ เพราะเป็นการล้มในบ้าน พืนก็เป็นพื้นไม้ แต่แม่ปวดมากขยับไม่ได้ เลยเรียกรถพยาบาลมารับไปโรงพยาบาล ปรากฏว่ากระดูกสะโพกหักสามท่อน หมอถามหลายรอบมากว่าไม่ใช่ล้มนอกบ้านนะ สุดท้ายก็ต้องผ่าตัดครับ และนอนโรงพยาบาลสิบกว่าวัน จึงออกมาพักฟื้นที่บ้านได้ ดูเอาเถอะครับ เรื่องไม่น่าเกิดก็เกิด และไม่น่าหนักก็หนัก แต่คิดในแง่ดีคือการผ่าตัดออกมาปลอดภัย เพราะการผ่าตัดแบบนี้ในคนสูงอายุ มีความเสี่ยงมากมาย แต่สุขภาพโดยรวมของแม่ค่อนข้างดี ไม่เป็นเบาหวานอะไรพวกนี้ ก็เลยไม่เป็นอะไรมากนอกจากเจ็บแผลผ่าตัด 

ก็หวังว่าจากนี้ไปจะไม่มีอะไรแล้วนะครับ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลายเรื่องก็เกิดจากปัจจัยภายนอกตัวที่ตัวเราเองคุมไม่ได้ อย่างการระบาดของ COVID แต่หลายเรื่องก็เกิดจากตัวเราเอง อย่างการเกิดอุบัติเหตุของรถผม หรือการล้มของแม่ ถ้าเราตั้งสติดี ๆ เหตุการณ์นี้ก็คงไม่เกิด 

สรุปปีนี้สิ่งที่เหมือนเดิมอย่างหนึ่งก็คือเวลายังคงผ่านไปเร็วมาก ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ร้ายใด ๆ เวลาก็เดินหน้าของมันต่อไป และผมก็ยังมีหลายอย่างที่ตั้งใจว่าจะทำก็ยังทำไม่เสร็จ บางอันยังไม่ได้เริ่มด้วยซ้ำเหมือนเดิม :( แต่เราก็คงต้องมองต่อไปข้างหน้าครับ อะไรที่มันผ่านไปแล้ว เราก็ดูก็จำเก็บไว้เป็นบทเรียนเหมือนที่ผ่าน ๆ มา และก็ตั้งเป้าหมายของเราต่อไป และก็หวังว่าปีหน้าเหตุการณ์โดยรวมของโลก และของประเทศจะดีขึ้น หวังว่าเราจะมีวัคซีนป้องกัน COVID ที่ได้ผล และมีปริมาณเพียงพอให้ทุกคนได้ฉีดกัน หวังว่าปีหน้าประเทศของเราจะมีรัฐบาลที่ดีกว่านี้ หรือต่อให้เป็นชุดนี้ ก็ขอให้เขามีปัญญาที่จะนำพาประเทศผ่านวิกฤติต่าง ๆ ไปได้โดยไม่ตกต่ำจนคนที่จะเข้ามากอบกู้ต้องใช้เวลานานเป็นหลายปี เหมือนลิเวอร์พูลที่ต้องรอถึง 30 ปี ก่อนจะกลับมาถึงจุดที่ตัวเองเคยเป็นได้ 

สุดท้าย สุขสันต์วันคริสมาต์และสวัสดีปีใหม่ 2564, 2021 ขอให้เป็นปีที่ดีครับ

วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2563

สรุปประสบการณ์สอนออนไลน์และสิ่งที่น่าจะทำต่อไป

สัปดาห์นี้ผมเพิงจบการสอนออนไลน์ของภาคการศึกษาที่ 2/2562 ไปครับ อย่างที่เราทราบกันว่ามันมีเรื่อง COVID 19 เกิดขึ้น แล้วก็เกิดการระบาดไปทั่วโลกรวมถึงประทศไทยด้วย โดยสถานการณ์ของประทเศไทยเริ่มมีปัญหาหนักในช่วงปลายเดือนมีนาคม จากการระบาดครั้งใหญ่จากสนามมวยลุมพินีทำให้สถานศึกษาทุกแห่งในประเทศต้องเปลี่ยนเข้าสู่ระบบออนไลน์ทันทีไม่ว่าจะพร้อมหรือไม่ ผมก็เลยอยากจะสรุปประสบการณ์ของตัวเองและข้อเสนอแนะเอาไว้ในบล็อกนี้สักนิดนะครับ 

ต้องบอกว่าผมใช้วิธีสอนออนไลน์หลายอย่างมากครับ คือบางวิชาที่มีวีดีโออยู่แล้ว ผมก็ใช้วิธีให้ดูวีดีโอมาก่อน แล้วก็มาทำโจทย์ร่วมกันแบบออนไลน์ตามเวลาเรียนปกติ วิชาที่ไม่มีวีดีโอก็บรรยายสดผ่านโปรแกรมประชุมออนไลน์ที่ใช้มากที่สุดก็คือ Google Meet และวิชาไหนที่มี Lab คอมพิวเตอร์ก็มีใช้ Zoom บ้าง Google Meet บ้าง ให้นักศึกษาทำโจทย์ ใครทำเสร็จก็ให้แชร์หน้าจอมาให้ดู แล้วก็อธิบายโปรแกรมให้ฟัง มีการ Quiz เพื่อวัดความรู้ผ่านทางโปรแกรมอย่าง Socrative หรือ Google Form ใช้ Google Classroom ให้ทำแบบฝึกหัดแล้วอัดวีดีโอส่ง มีการสอบปฎิบัติโดยให้ทำแล้วอัดวีดีโอขณะที่ทำ แล้วส่งทั้งโค้ดและวีดีโอขึ้น Google Classroom สิ่งเดียวที่ไม่ได้ทำคือจัดสอบออนไลน์ แล้วให้นักศึกษาเปิดกล้องแล้วไปคุมสอบ อย่างที่หลายที่ทำกัน 

ซึ่งขอสรุปว่าวิธีที่ผมไม่ชอบที่สุด และสุดท้ายก็ต้องเลิกไปก็คือการสอนสด เพราะมีปัญหาหลายอย่าง อันแรกคือเรื่องความสนใจของนักศึกษา ซึ่งตามปกติเรียนในห้องก็สมาธิไม่ดีอยู่แล้ว ยิ่งเรียนแบบนี้ยิ่งไปกันใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้นการสอนนี่ยิ่งเหมือนเป็นทางเดียวหนักเข้าไปอีก เพราะตามปกติเด็กไทยเรียนในห้องก็แทบจะไม่อยากตอบอะไรอยู่แล้ว ยิ่งตอนนี้ยิ่งไม่มีส่วนร่วมใหญ่ ขนาดผมให้ chat มา ไม่ต้องพูดถาม/ตอบ ยังแทบไม่มีใครทำ นอกจากบรรยากาศแล้ว ยังเป็นเรื่องความพร้อมของนักศึกษาทั้งทางด้านวินัยตัวเอง ขนาดเรียนออนไลน์ ผมนัดตามเวลาเรียน ซึ่งจริง ๆ ไม่ควรจะมีใครมาสายก็ยังมีคนที่เข้ามาร่วมชั้นเรียนสาย ไม่ต่างจากเวลามาเรียนในห้องปกติ ความไม่พร้อมด้านสภาพแวดล้อม และอุปกรณ์ของนักศึกษาเอง ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมของบ้าน คุณภาพของเครือข่าย ความพร้อมของอุปกรณ์อื่น ๆ อย่างคอมพิวเตอร์ ซึ่งถ้ามาเรียนตามปกติ ก็มาใช้ทุกอย่างของมหาวิทยาลัย แต่พอใช้ที่บ้านเครื่องที่มีอยู่อาจไม่พร้อมเท่ามหาวิทยาลัย นักศึกษาหลายคนบ่นว่าได้ยินเสียงขาด ๆ หาย ๆ ซึ่งในที่สุดผมก็ต้องเลิกใช้วิธีนี้ และไปใช้การอัดวีดีโอให้ไปดูมาล่วงหน้า ซึ่งมันทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมาอีก อย่างเช่นผมไม่มีเวลาตรวจงานที่มอบหมายให้นักศึกษาได้ทันเวลา ซึ่งจริง ๆ ควรตรวจสัปดาห์ต่อสัปดาห์ จะได้ให้คำแนะนำต่องานที่นักศึกษาส่งเข้ามา ซึ่งตรงนี้ต้องบอกว่าทำไม่ได้เลย เพราะการทำวีดีโอมันค่อนข้างใช้เวลา และผมก็สอนเยอะมาก เทอมนี้สอน 7 วิชา มีวีดีโออยู่ 4 วิชา ซึ่งก็ต้องปรับปรุง และยังมีวิชาที่ไม่มีดีโอเลย ซึ่งการทำวีดีโอนี่ใช้เวลามากครับ ผมเลยไม่มีเวลาไปตรวจงานได้

และทุกวิธีก็มีปัญหา บางปัญหาก็เกิดจากตัวนักศึกษาเอง บางครั้งก็เกิดจากผมเอง เพราะสั่งงานไปบางครั้งก็ไม่คิดว่าจะมีปัญหาแบบนี้ เพราะเอาตัวเองเป็นหลักว่าตัวเองรู้แล้ว หรือเด็กเอกคอมน่าจะรู้ น่าจะแก้ปัญหาได้ บางปัญหาก็ไม่นึกว่าจะเกิดขึ้น อย่างทำ quiz อยู่ นักศึกษาบอกว่าไฟดับเพราะที่บ้านฝนตกหนัก บอกให้ไปซ้อมอัดวีดีโอหน้าจอมา บางคนไปซ้อมอัดมาแค่คลิปละ 2-3 นาที พอมาใช้จริง ก็พบว่า โปรแกรมที่ใช้แบบฟรี ๆ มันให้ใช้แค่คลิปละไม่เกิน 10 นาที (นี่แสดงให้เห็นถึงปัญหาของพวกเราที่เป้นผู้ใช้หลายคนนะครับ คือไม่เคยอ่านข้อตกลงเงื่อนไขการใช้งานเลย) บางคนพออัปคลิปขึ้น Youtube ซึ่งมันต้องให้ยืนยันตัวตนก่อน ถึงจะอัปคลิปยาวเกิน 15 นาทีได้ ก็ไม่อ่านว่าแค่ยืนยันตัวตนก็อัปได้แล้ว แต่กลับไปแบ่งวีดีโอเป็นหลาย ๆ คลิป อะไรแบบนี้เป็นต้น 

โดยความเห็นส่วนตัวผมมองว่า ที่ผมทำผ่านมามันไม่ใช่การเรียนออนไลน์จริง ๆ การเรียนออนไลน์จริง ๆ  ควรจะเป็นแบบที่ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามอัธยาศัยของผู้เรียน โดยอาจมีการกำหนดเวลาอย่าง Coursera, MOOC,  และ อีกหลาย Platform ซึ่งผมอยากทำแบบนั้น และตั้งใจจะทำมานานแล้ว แต่ยังหาเวลาทำให้สมบูรณ์ไม่ได้ และยังหา Platform ที่จะทำแบบนี้ยังไม่ได้ ซึ่งคิดว่าในช่วงปิดเทอมนี้จะพยายามทำให้ได้ ไม่ว่าจะต้องสอนออนไลน์หรือกลับไปสอนตามปกติ ซึ่งผมว่ามันจะเป็นประโยชน์และเป็นประโยชน์อื่น ๆ ด้วย อย่างเช่นผมสามารถให้นักศึกษาไปเรียนด้วยตัวเอง และอาจนัดกันคุยผ่านออนไลน์หรือในห้องสักสองสัปดาห์ครั้ง ครั้งละไม่นานนัก หรือถ้าใครอยากถามเป็นการส่่วนตัวก็จะกำหนดเวลาให้ซักถามไว้ ซึ่งตรงนี้ถ้าใครเรียนได้เร็วก็จบเร็ว โดยถ้าใครเรียนจบได้ตามเวลาที่กำหนดไว้ ก็จะให้เกรดอย่างต่ำ C จากนั้นก็อาจมาสอบกันจริง ๆ และ/หรือมานำเสนอโครงการ เพื่อที่จะได้เกรดที่สูงกว่า C ต่อไป 

อีกอย่างที่ต้องปรับตัวและทำความเข้าใจก็คือส่วนของสถานศึกษาครับ สถานศึกษาหลายแห่งยังเข้าใจว่าการเรียนออนไลน์ก็คือการเปลี่ยนจากสอนในห้องเป็นสอนผ่านเน็ต ดังนั้นก็จะเรียกหาหลักฐานการสอนว่าสอนครบชั่วโมง สอนตามตารางสอนไหม และที่น่าต้องคิดกันต่อไปก็คือ น่าจะสนับสนุนให้อาจารย์สร้างคอร์สออนไลน์กันให้มากขึ้น โดยอาจจะนับให้หนึ่งวิชามีค่าเท่ากับหนึ่งบทความวิชาการ และสามารถนับเพื่อไปขอผลงานทางวิชาการได้ ซึ่งถ้าทำแบบนี้ก็จะทำให้เรามีคอร์สออนไลน์มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะให้นักศึกษาเรียนแล้ว ยังเปิดให้คนนอกเรียนได้ ซึ่งจะเปิดเป็นบริการวิชาการแบบฟรี ๆ หรือจะเก็บเงินเพื่อเป็นรายได้ส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย และแจกประกาศนียบัตรให้กับคนที่เรียนจบ นอกจากนี้อาจเปิดให้คนที่เรียนออนไลน์และได้ใบประกาศนียบัตรนี้ เมื่อสมัครเข้ามาเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ก็สามารถนำมาแสดง และสามารถรับการสอบ เพื่อให้เรียนจบได้เร็วขึ้นได้ ซึ่งก็จะเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิตอีกด้วย  


วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ขอชมเชยช่างจากการไฟฟ้าลาดกระบังครับ

วันนี้ขอกล่าวชมและขอบคุณเจ้าหน้าที่ช่างจากการไฟฟ้าลาดกระบังครับ คือเรื่องมีอยู่ว่ามีไฟฟ้าโซนนึงในบ้านผมมันมีอาการไฟตกและไฟมาไม่สม่ำเสมอ คืออาการมันเป็นอย่างนี้ครับตอนแรกเครื่อง UPS มันทำงานผิดปกติครับ คือมันแสดงให้เห็นว่าไฟที่เข้ามามันขึ้น ๆ ลง จาก 200 กว่า แล้วก็ตกลงเหลือ 100 กว่า ดังนั้นเครื่องมันก็ต้องทำงานตลอดเวลาโดยส่งเสียงร้องบอกว่าไฟไม่พอ ต้องใช้ไฟสำรองเพื่อส่งให้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต่ออยู่ ตอนแรกก็นึกว่าเป็นปัญหาที่การไฟฟ้าอาจส่งไฟมาไม่พอ เพราะช่วงนี้มีคนใช้ไฟเยอะ แต่พอไปเช็คที่โซนอื่นของบ้านมันก็ปกติดี และลองปิดไฟส่วนอื่นของบ้านทั้งหมดมันก็ยังเป็น ตัวผมไม่มีความรู้เรื่องไฟฟ้าเลย ก็พยายามหาช่างที่จะมาซ่อม แต่ก็ยังไม่ได้จริงจังนัก เพราะใช้ไฟในโซนอื่นของบ้านได้อยู่ ใช้สายพ่วงต่อมาเอา 

แต่พอผ่านไปหลายวันเข้า อาการมันหนักขึ้นหลอดไฟในโซนนั้นมันก็หรี่ลงเรื่อย ๆ บางดวงก็เปิดไม่ติดเลย และเมื่อคืนนี้ประมาณสองทุ่ม ไฟดวงหลักในห้องทำงานของคนในบ้านก็หรี่ลงอย่างเห็นได้ชัด ก็เลยคิดว่าต้องหาช่างจริงจังแล้ว จะหาช่างที่ไหนยังไงดีที่ไว้ใจได้ ก็เลยนึกว่าถ้าเป็นช่างจากการไฟฟ้าน่าจะไว้ใจได้มากที่สุด ก็เลยค้นไปเจอเบอร์ Call Center ของการไฟฟ้านครหลวง คือเบอร์ 1130 และเข้าไปอ่านในเว็บก็เหมือนมีบริการเรื่องไฟฟ้าในบ้านด้วย ก็เลยลองโทรดู พอโทรไปก็ต้องรอครับ ตามข้อมูลที่ได้ฟังจากระบบอัตโนมัติของ Call Center บอกว่าขณะนี้มีคนสอบถามเรื่องเกี่ยวกับการคืนค่าประกันมิเตอร์ไฟเป็นจำนวนมาก ผมก็อดทนรอครับ ตอนแรกคุณภรรยาก็นั่งรออยู่ด้วยจะได้ช่วยกันอธิบายอาการให้เขาฟัง สุดท้ายคุณภรรยาไม่รอครับ แต่ผมก็ทนรอต่อไปจนประมาณสัก 15 นาที ก็ได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ 

เจ้าหน้าที่ก็ได้สอบถามเลขสัญญาไฟฟ้าจากผม ผมก็เปิดแอปการไฟฟ้าเลย แล้วก็บอกอย่างมั่นใจ ปรากฏว่าไม่ถูกครับ เจ้าหน้าที่บอกมันต้องมี 8 หลัก แต่ในแอปมันแสดงแค่ 6 หลัก ก็เลยต้องวิ่งวุ่นหาบิลค่าไฟฟ้า สุดท้ายหาไม่เจอครับ เลยขอแจ้งชื่อกับที่อยู่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ค้นให้ได้ครับ ขอบคุณมากครับ ดังนั้นประสบการณ์แรกคือเราควรเก็บบิลค่าไฟฟ้าไว้สักใบนะครับ เพราะแอปมันแสดงหลักไม่ครบ  พอได้แล้วก็เล่าอาการให้ฟัง เจ้าหน้าที่ก็เลยให้เบอร์โทรศัพท์ของการไฟฟ้าลาดกระบังให้ 

ผมก็เลยโทรไปแล้วเล่าอาการให้ฟัง พอช่างฟังก็บอกว่าน่าจะเป็นเพราะมีอะไรหลวมในตู้เบรกเกอร์ แล้วก็ถามเลขที่สัญญาไฟฟ้าจากผมอีกครั้ง เพื่อให้รู้ตำแหน่งบ้านผม พอรู้ปุ๊ปก็บอกว่า เดี๋ยวจะเข้าไปดูให้ ผมฟังก็นึกว่าฟังผิดไป เพราะนึกว่าจะต้องนัดกันก่อน กว่าจะมาก็น่าจะอีกสักสองสามวัน ก็เลยถามว่าจะมาเลยหรือครับ ช่างบอกใช่ครับจะเข้าไปเลย เหมือนเขาออกมาทำงานแถวนี้พอดี ผมได้ฟังก็เลยรีบลงมาเคลียร์ที่เพื่อให้ช่างเข้าถึงตู้เบรกเกอร์ได้ง่าย ๆ คือบ้านมันผมค่อนข้างรก(มาก)ครับ ยังเคลียร์ไม่ทันเสร็จ ลูกชายคนโตบอกพ่อสงสัยมาแล้ว เขามาฉายไฟฉายแว็บ ๆ อยู่หน้าบ้าน ก็เลยหันไปดู ใช่จริงครับมาแล้ว นับจากที่วางหูโทรศัพท์ไม่น่าจะเกิน 5 นาที ก็เลยรีบออกไปรับ ช่างก็เริ่มจากไปดูก่อนว่ากระแสไฟที่จ่ายเข้าบ้านจากเสาไฟฟ้าปกติไหม ปรากฏว่าปกติดี ก็เลยเข้ามาเช็คในบ้านก็เสียบ UPS ให้เขาเห็นอาการ เขาก็ไปดูที่ตู้เบรคเกอร์ แล้วก็บอกว่าสายนิวทรัลไหม้ แล้วก็ไหม้มากด้วย ไม่ได้กลิ่นไหม้กันเลยเหรอ ผมกับภรรยาและลูกชายคนโตก็มองหน้ากัน แล้วก็คิดว่าหรือพวกเราจะติด COVID-19 กันหมด เพราะไม่มีใครได้กลิ่นเลย ทั้งที่ก็นังทำงานกันอยู่ตรงนั้น อ้อพูดถึงตรงนี้ต้องขอนินทาเจ้าลูกคนเล็กนิดนึงครับ คือเขานั่งเล่นเกมอยู่อีกโซนหนึ่ง ช่างเดินผ่านเข้าออกไปที่ตู้เบรกเกอร์ไปแล้วรอบสองรอบ เขาเพิ่งเงยหน้ามาถามอ้าวช่างมาแล้วเหรอพ่อ เวลาเรียนขอให้มีสมาธิแบบนี้นะลูกนะ

ช่างก็จัดการเปลี่ยนสายให้เรียบร้อย และอาการก็หายครับ ใช้เวลาในการตรวจสอบและแก้ไขน่าจะไม่เกินครึ่งขั่วโมง ประทับใจมากครับ และไม่เรียกรับค่าบริการใด ๆ ด้วย ก็ขอขอบคุณไว้ที่นี้อีกครั้งแล้วกันนะครับ เสียดายที่ไม่ได้ถามชื่อช่างไว้ด้วย ผมว่าเจ้าหน้าที่แบบนี้ช่วยเสริมภาพลักษณ์ขององค์กรได้ดีมากครับเทียบกับที่อ่านข่าวตอนเช้าที่มีคนจากการไฟฟ้าออกมาแสดงความกังวลว่าการที่การไฟฟ้าต้องลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนสองสามเดือนในช่วง COVID อาจทำให้การไฟฟ้าเจ๊งเหมือนการบินไทยนี่ให้ความรู้สึกคนละเรื่องกันเลยครับ 

วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

คนเฒ่าเล่าความหลังช่วงไปเรียนที่อเมริกา

เมื่อสองสามวันก่อนจัดบ้านเคลียร์ของเก่า ๆ ทิ้งก็ไปเจอสมุดเช็คของตัวเองสมัยตอนเรียนอยู่อเมริกานับมาถึงตอนนี้ก็ 23 ปีแล้วครับ นี่คือหน้าตาของเช็คครับ




แล้วมันก็ทำให้นึกถึงเรื่องขำ ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นมาครับ คือนักเรียนทุนเมื่อไปถึงอเมริกาแล้วจะต้องไปเปิดบัญชีธนาคารเพื่อให้โอนเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้ ซึ่งธนาคารที่อยู่ใกล้อพาร์ทเมนท์ที่ผมอยู่ที่สุดก็คือ Chevy Chase (ตอนนี้ถูก takeover โดย Capital One ไปแล้วครับ) ตอนเห็นชื่อธนาคาร ผมก็นึกขำ ธนาคารนี้ชื่อเหมือนดาราคนนึงเลย อ.วีระ ที่งานวิจัยป.เอกของอาจารย์เป็นรากฐานของ Siri เป็นคนพาผมไปเปิดบัญชีที่ธนาคาร คืออ.วีระ ไปเรียนก่อนผมประมาณ 1 เทอม เราก็ไปที่ธนาคาร ไปรอที่จะเปิดบัญชี คนที่จะให้บริการผมนี่เป็นสาวหน้าตาเหมือนคนเอเชีย ดู ๆ ไปออกไปทางเวียดนามหรือจีน ก่อนที่เธอจะให้บริการผม ก็มีคนเอาเหรียญมาให้เธอ เธอก็ค่อย ๆ ละเลียดนับ อ.วีระก็เริ่มบ่นเธอกับผมทันทีด้วยเสียงค่อนข้างดังประมาณว่าดูยายนี่สิ นับอยู่ได้ แทนที่จะให้บริการก่อน จริง ๆ ผมก็เห็นด้วยกับอ.วีระแหละครับ แต่ก่อนจะตอบอะไรไป ผมบังเอิญเหลือบไปเห็นป้ายชื่อเธอเข้า มันเหมือนชื่อคนไทย ก็เลยบอกอ.วีระไปว่า สงสัยคนไทยนะ อ.วีระก็บอกว่าไม่ใช่หรอก มาธนาคารนี้ตั้งหลายครั้งแล้ว พอเธอจัดการเหรียญเสร็จ ก็เงยหน้าขึ้นมา แล้วพูดไทยชัดแจ๋วว่า "เชิญค่ะ" ผมก็อึ้งไปนิดหนึ่งหันมามองข้าง ๆ ไม่เห็นอ.วีระแล้วครับ แกออกจากธนาคารไปเร็วมาก :) ก็ได้คุยกับเธอช่วงเปิดบัญชีว่าเธอเป็นคนไทย แต่พ่อแม่เธอมาตั้งรกรากอยู่ที่อเมริกา เธอเกิดและโตที่อเมริกา เป็นอเมริกันเต็มตัว นึกดีใจนิด ๆ ว่ายังไม่ได้นินทาอะไรเธอไป งั้นคงอึดอัดพึลึก เป็นอันว่าไปเปิดบัญชีธนาคารนึกว่าจะได้พูดภาษาอังกฤษก็ได้พูดไทยซะงั้น และก็เป็นบัญชีเดียวที่ผมเปิดที่นี่ด้วย ส่วนหลายคนอาจสงสัยว่าทำไมต้องมีเช็คด้วย เพราะช่วงที่ผมไปอยู่ คนอเมริกันเขานิยมใข้เข็คกันนะครับ แรก ๆ ที่ไปไม่มีบัตรเครดิต จ่ายทุกอย่างตั้งแต่ค่าเช่าอพาร์ตเมนต์ จนไปถึงซื้อของตามร้าน ตามห้าง ก็ใช้เช็คนี่แหละครับ  

พูดถึงบัตรเครดิต ก็เล่าให้ฟังเพิ่มอีกนิดแล้วกันครับ บัตรเครดิตใบแรกที่ได้นี่หลังจากไปอยู่อเมริกาได้สักเทอมหนึ่งนะครับ เป็นของ Citi Bank เท่าที่จำได้คือเดินอยู่ในมหาวิทยาลัย แล้วเห็นเขามาเปิดบูธให้สมัคร แล้วแจกเสื้อคนสมัคร บอกตามตรงว่าผมไม่คิดว่าจะได้บัตรนะครับ เพราะอยู่เมืองไทยกว่าจะสมัครบัตรเครดิตได้นี่ยากมาก ของไทยนี่บัตรใบแรกเป็นของกสิกรไทย และต้องแนบเอกสารการเงิน ซึ่งเงินเดือนข้าราชการตอนที่เข้ามาเริ่มทำงานอยู่ที่ 6000 บาทนิด ๆ สมัครไม่ผ่านแน่ ต้องไปขอให้ที่ที่ไปทำงานพิเศษเขาออกหนังสือรับรองเงินเดือนให้ ถึงจะได้มา ดังนั้นที่เดินเข้าไปสมัคร บอกตรง ๆ เลยว่าอยากได้เสื้อ ก็กรอกใบสมัครไป แล้วเชื่อไหมครับว่าไม่ต้องแนบเอกสารอะไรเลย ถ้าเป็นเมืองไทยนี่คงถ่ายเอกสารกันเยอะแยะ แล้วก็ได้เสื้อมา ซึ่งเสื้อที่ได้มาผ่านมา 23 ปีแล้วก็ยังใส่อยู่นะครับ มันดูไม่เก่าเลย และบัตรเครดิตก็สมัครผ่านอีกต่างหากครับ พอได้มาก็เลยไม่ประหลาดใจเลยครับว่าทำไมคนอเมริกันถึงเป็นหนี้บัตรเครดิตกันเยอะ มันสมัครง่ายแบบนี้นี่เอง หลังจากนั้นผมยังสมัครบัตรเครดิตเพิ่มได้อีกสองใบครับ รวมถึงสมัครบัตรเสริมให้คุณภรรยาอีก ไปอยู่อเมริกาไม่ถึงปี มีบัตรเครดิต 3 ใบ และถ้าสมัครเพิ่มอีกคงได้อีก จนคุณภรรยาต้องเบรกว่าจะสมัครไปทำไมเยอะแยะ ก็เลยหยุด สงสัยเก็บกดครับ อยู่เมืองไทยสมัครยากเย็นเหลือเกิน :)

ศุกร์นี้ก็ไม่มีสาระอะไรนะครับ ถ้าใครอ่านถึงตรงนี้ก็นึกซะว่ามาฟังคนแก่เล่าความหลังให้ฟังแล้วกันครับ จริง ๆ พอเห็นเช็คนี้ ก็คิดถึงเรื่องสนุก ๆ ตอนเรียนอยู่อเมริกาหลายเรื่องนะครับ เอาไว้มีโอกาสจะมาเล่าให้ฟังกันอีกครับ 

วันศุกร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2563

อยากได้คำตอบกันไหมว่าเราจะต้องอยู่บ้านช่วยชาติกันไปนานแค่ไหนและรัฐบาลจะทำอะไร

ตอนนี้หลายคนอาจอยู่บ้านช่วยชาติ Work From Home กันมาหลายวันแล้วนะครับ ส่วนตัวผมนี่ก็สอนออนไลน์อยู่ที่บ้านมาสามสัปดาห์แล้ว ในส่วนตัวตอนนี้ก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรมาก เพราะส่วนตัวเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบไปไหนต่อไหนอยู่แล้ว ปกติเลิกงานก็กลับบ้าน ที่เดือดร้อนที่สุดตอนนี้ก็น่าจะเป็นเรื่องเปลืองไฟ เปลืองแอร์ที่บ้าน และกังวลว่าอุปกรณ์ที่ใช้อยู่มันจะเสียไหม เพราะหลายชิ้นก็ใช้งานมานานแล้ว ถ้ามันเสียก็จะทำให้ทำงานลำบากขึ้น ตอนนี้ก็คงจะออกไปซ่อมหรือหาซื้อได้ยาก เพราะร้านต่าง ๆ ก็ปิดกันหมด โดยเฉพาะร้านตามห้างต่าง ๆ ปกติผมจะไปหาซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ตามห้าง และอีกอันก็คือรู้สึกว่าการสอนออนไลน์มันเตรียมเหนื่อยกว่าการสอนปกติ และบางทีมันสอนยากกว่า เพราะไม่ได้เห็นหน้านักศึกษา ข้อดีอย่างเดียวคือไม่ต้องเดินทาง อีกเรื่องนึงที่เดือดร้อนที่สุดก็เป็นเรื่องตัดผมครับ ก่อนที่มถานการณ์จะมาถึงขนาดนี้ ผมตั้งใจจะไปตัดผม แต่วันที่ไปดันมีคนรอตัดผมเต็มร้านไปหมด ผมก็เลยไม่รอ และหลังจากวันนั้นดันไม่ว่าง ก็เลยไม่ได้ตัดมาจนถึงตอนนี้ และคงไม่ได้ตัดไปอีกนานอย่างน้อยก็คงถึงสิ้นเดือนนี้

ในส่วนพวกเราที่ทำงานที่บ้านได้ ไม่ตกงาน บ้านมีเน็ตดี ๆ ดู Netflix ได้ ก็คงอยู่กันไปได้ สักพักหนึ่ง แต่ถ้ามันนานมาก ๆ ผมว่าพวกเราก็คงไม่ไหวเหมือนกันนะครับ ขนาดผมตอนนี้ยังรู้สึกเริ่มเบื่อ ๆ เลย และลองมาดูผลกระทบกับบุคคลที่ไม่สามารถทำแบบนี้ได้ บางคนต้องตกงาน ธุรกิจบางตัวถึงกับต้องปิดตัวไป ในส่วนนี้รัฐบาลได้คิดมาตรการรองรับไหม มาตรการ 5000 บาทนานสามเดือนมันเยียวยาได้พอไหม พอเปิดมาหลังจากนี้ถ้าเขาไม่มีงานทำ รัฐบาลจะช่วยเขายังไง คือที่เขียนมานี้ไม่ได้คิดแต่จะตำหนิรัฐบาล แต่อยากจะให้คิดว่ามันไม่ใช่ให้อยู่บ้านกันไปเรื่อย ๆ เพราะยิ่งต้องอยู่นาน การเยียวยาจากรัฐบาลมันจะทำได้ยากมากขึ้น และค่าใช้จ่ายมันจะยิ่งสูงมากขึ้น

คือผมเข้าใจว่ามันเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบาก และไม่คาดคิด แต่การจะประกาศอะไรออกมา มันควรจะผ่านการกลั่นกรองวางแผนมาระดับหนึ่งไหมครับ อย่างทีมคุณหมอท่านเสนอแนะว่าควรให้อยู่บ้านกันมากที่สุด ท่านก็เสนอในมุมของคุณหมอ ท่านก็คิดในมุมลดการระบาด แต่มันก็ต้องมีคนคิดส่วนอื่นด้วย ในตอนแรกที่เสนอมาว่าถึง 12 เมษายน นี่ ใช้หลักคิดอะไร แล้วมีมาตรการจะจัดการยังไง แล้วทำไมพอประกาศมาแค่ไม่กี่วันก็มาขยายเป็น 30 เมษายน คือมันมีหลักการอะไรในการประเมิน ดังนั้นตอนนี้ก็คือเราจะรู้ได้ยังไงว่าเมื่อถึงวันที่ 30 เมษายน แล้วมันจะยังไงต่อไป เรามีอะไรเป็นเกณฑ์ประเมินความสำเร็จของมาตรการ ประชาชนจะได้รู้ว่ามันสำเร็จหรือไม่ และถ้ามันไม่สำเร็จ มันก็ต้องประเมินว่าทำไมมันไม่สำเร็จ เรามาผิดทาง ประชาชนไม่ให้ความร่วมมือหรือเพราะอะไร ถ้ามาตรการไม่สำเร็จ เราปิดต่อไป แล้วจะทำยังไง ให้มันสำเร็จ

มีคนบอกว่าอย่าวิจารณ์อย่างเดียว ต้องเสนอด้วยสิ หรือเอาแต่วิจารณ์มาทำดูสิ ซึ่งจริง ๆ ผมบอกแล้วนะว่าการวิจารณ์มันไม่ใช่ว่าเราต้องทำได้ เพราะหลาย ๆ ครั้ง เราก็ไม่ได้มีเครื่องไม้เครื่องมือ หรือมีศักยภาพที่จะทำได้เหมือนคนที่มีอำนาจอยู่ แต่คราวนี้ผมอยากจะลองเสนอดูบ้าง คือผมว่ารัฐบาลน่าจะมีแผนไปเลยในช่วงนี้ว่าหยุดแล้วจะทำอะไร เช่นประกาศหยุดหนึ่งเดือนอย่างตอนนี้ ในช่วงสองสัปดาห์แรก อยู่บ้านกัน ช่วยลดการติดต่อ เพิ่มเรื่อง social distancing ในช่วงสองสัปดาห์นี้ รัฐบาลจะจัดหาชุดตรวจโควิดที่ให้ผลเร็ว ทำให้หน้ากากอนามัยหาซื้อได้ หรือจัดส่งให้ประชาชน (ซึ่งวันนี้ทีฟังเหมือนกับเขากำลัวจะทำหน้าการผ้ามาแจก) จัดทำเจลล้างมือ อะไรก็ว่าไป หลังจากนั้นอีกสองสัปดาห์ จะปูพรมลงตรวจประชาชน ซึ่งตรงนี้จะต้องขอเพิ่มมาตรการเช่นประกาศเป็นวันหยุด ให้ทุกคนอยู่บ้านตรวจด้วยเครื่องมือที่ให้ผลเร็วจะได้รู้จำนวนคนป่วย แล้วแยกตัวออกมา เพราะโรคนี้บางทีมันก็ไม่แสดงอาการ อาจไม่ได้ 100% แต่ก็ทำให้มากที่สุด พวกที่ต้องทำจริง ๆ หยุดไม่ได้ ก็ให้ตรวจที่ทำงาน ในช่วงที่ต้องหยุดงานนี้ บริษัทที่เสียผลประโยชน์ ไม่สามารถ work from home ได้ รัฐบาลจะชดเชยให้ลูกจ้าง ให้บริษัทยังไงก็ว่าไป ช่วงที่หยุดก็ทำความสะอาดที่ทำงาน ระบบขนส่งมวลชนอะไรให้มากที่สุด ถ้าเห็นว่า Face Shield มันใช้ได้ผล ก็อาจจัดหา หรือสั่งทำให้พร้อมจำหน่าย หรือแจกจ่ายประชาชนที่มีรายได้น้อย ตรงนี้อาจใช้เวลาอีกสองสัปดาห์ และแน่นอนต้องให้ประชาชนตระหนักว่าในช่วงหลังจากนี้ออกจากบ้าน ต้องใช้ Face Shield สวมหน้ากากอนามัย พกเจลล้างมือติดตัว ซึ่งรวมทั้งหมดนี้ก็จะใช้เวลาประมาณหนึ่งเดือนตามที่ประกาศหยุด ซึ่ง Covid อาจไม่หายไปหมด แต่อย่างน้อยเราก็ออกมาใช้ชีวิตกันได้เหมือนเดิม ด้วยการระมัดระวังป้องกันตัวเอง เพราะอย่างน้อยเราก็ได้คัดกรองคนป่วยไปส่วนใหญ่แล้ว และเราก็สามารถหาซื้อเครื่องมือป้องกันตัวเองได้ง่ายไม่ขาดตลาดเหมือนตอนนี้  อีกอย่างที่ต้องทำให้เกิดให้ได้คือระบบซึ่งเป็น cashless เอาให้ถึงระดับล่างที่สุดเลยให้ได้ เพราะเชื้อพวกนี้มันติดต่อผ่านแบงค์หรือเหรียญได้ จริง ๆ มันก็ไม่ใช่แค่โรคนี้หรอก หลายโรคเลยแหละ แต่เราไม่ได้สนใจมันมากเท่านั้นเอง

ที่พูดมามันก็เป็นเพียงแนวคิดของผม จะดีหรือไม่ดีไม่รู้ แต่ผมอยากได้คำชี้แจงหรือแผนงานอะไรประมาณนี้ครับ อย่างน้อยมันก็ดีกว่าอยู่บ้านช่วยชาติกันไปนะ ซึ่งถ้าแผนมันไม่ได้ผลอะไรครงไหนเราจะได้รู้ และจะได้เข้าใจว่าทำไมต้องหยุดต่อ หรือต้องทำอะไรต่อไปและพร้อมให้ความร่วมมือ และจะได้มองเห็นเป้าหมายร่วมกัน และถ้ายิ่งให้เราออกมาใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วเท่าไหร่ เศรษฐกิจก็ยิ่งเสียหายน้อยลงเท่านั้น และรัฐบาลก็ใช้เงินในการเยียวยาน้อยลงด้วย ไม่ใช่เอาแต่ออกมาขู่ ถ้ายังไม่ลดก็ปิดต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งมันฟังแล้วไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย นอกจากจะเกลียดมากขึ้น เวรกรรม ว่าจะไม่แขวะแล้ว อดไม่ได้จริง ๆ

วันศุกร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2563

ศรัทธาเกิดจากผลงาน

วันศุกร์กลับมาอีกแล้วครับ และเป็นศุกร์ 13 ซะด้วย แต่ไม่ว่าจะศุกร์อะไรผมว่าช่วงนี้ประชาชนคงไม่ค่อยมีความสุขสักเท่าไหร่นะครับ ศุกร์นี้เห็นนายกออกมาพูดด้วยมุมความคิดเดิม ๆ ขอให้เชื่อใจรัฐบาล ขอให้ช่วยกัน ขออย่าด่าทุกเรื่อง ผมถามจริง ๆ เถอะครับ ถ้าคนเราทำดี แสดงให้เห็นว่าสามารถแก้ปัญหาได้ ยังไม่ต้องสำเร็จก็ได้ แต่แสดงให้เห็นว่ามาถูกทางแล้ว ใครมันจะออกมาด่าครับ อาจจะยกเว้นพวกอคติ หลับหูหลับตาด่าอย่างเดียว อย่างพวกเกลียดทักษิณ ซึ่งก็คงมีอย่างนั้นเช่นกันในฝั่งเกลียดประยุทธ์

แต่ตอนนี้หลายคนที่เขาออกมาพูดออกมาตำหนิ บางคนเคยเชียร์ด้วยซ้ำ เพราะเขาเห็นแล้วว่าสิ่งที่ทำอยู่มันแก้ปัญหาไม่ถูกทาง มันไม่เป็นระบบ มันมั่ว จะให้เขาทำยังไง ผมถามจริง ๆ เหอะ สมมติประชาชนหุบปาก ไม่โวยวายเรื่องฝุ่น เรื่องหน้ากาก ถามจริง ๆ เถอะว่าพวกท่านจะรู้สึกรู้สม จะออกมาแก้ปัญหากันหูตาเหลือกอย่างนี้จริง ๆ หรือ ขนาดประชาชนออกมาโวยวายตอนแรก ยังหาว่าเป็น Fake News เกิดจากการทำลายกันทางการเมือง ถึงตอนนี้พรรคพวกท่านบางคนยังคิดแบบนี้อยู่เลย

แล้วก็ไอ้แนวคิดว่าประชาชนต้องช่วยตัวเองด้วยนี่ ท่านคิดว่าประชาชนเขางอมืองอเท้าไม่ทำอะไรเลย รอท่านอย่างเดียวจริง ๆ หรือครับ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ผมว่าดีไม่ดีตายกันไปหลายคนแล้ว ประชาชนเขาช่วยตัวเองเท่าที่จะทำได้แล้วครับ แต่บางเรื่องมันก็เกินความสามารถของเขา เอาง่าย ๆ เรื่องหน้ากากเรื่องเจลล้างมือนี่ ผมว่าประชาชนก็ไม่ได้คิดจะรอแจกจากท่าน หลายคนเขาก็พร้อมจะซื้อ แต่เขาไม่รู้จะไปหาซื้อที่ไหน จะให้เขาเดินทางไปทั่วเมืองโดยไม่รู้ว่าจะซื้อได้หรือเปล่านี่มันใช่ไหมล่ะครับ ถ้าต้องทำเรื่องที่มันไม่ควรจะลำบากแบบนี้ด้วยความยากลำบาก มันก็สมควรไหมที่เขาจะตั้งคำถามว่า แล้วเราจะมีรัฐบาลไปทำไม ทางแก้ปัญหาหลายอย่างก็มาจากภาคประชาชน หรือพรรคที่เพิ่งถูกยุบไป อย่างเว็บไซต์แสดงจุดที่มีหน้ากากขายอะไรแบบนี้ หน่วยงานที่ควรจะเป็นตัวตั้งตัวตีในการทำเรื่องนี้อย่างกระทรวง DE ทำอะไรอยู่ครับ หรือกระทรวงนี้มีหน้าที่แค่ไปเที่ยวไล่ฟ้องคนที่ด่ารัฐบาล ยัดเยียดข้อหาสร้าง Fake News ตั้งแต่ไวรัสเริ่มระบาด พวกท่านทำอะไร ท่านคิดแต่ห่วงรายได้จากการท่องเที่ยว ท่านคิดแต่ห่วงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่ประเทศบางประเทศเขาเล็กกว่าเราอีก เขายังมีมาตรการที่เด็ดขาดกว่าในการคัดกรองคนเข้าประเทศ

ท่านขอความเชื่อใจและศรัทธา มาตั้งแต่ท่านยึดอำนาจ ท่านบริหารด้วยอำนาจพิเศษมากว่า 5 ปี ผมบอกเลยนะท่านทำลายความศรัทธามากกว่าสร้างความศรัทธา ผมคิดว่าตอนที่ท่านเข้ามาใหม่ ๆ คนคงคาดหวังกับท่านไว้มาก แต่ยิ่งอยู่ไปคนยิ่งเสื่อมศรัทธา และหลังจากเลือกตั้ง ท่านคิดว่าท่านชนะเลือกตั้ง ท่านคิดอย่างนี้จริง ๆ หรือครับ หรือท่านชอบหลอกตัวเอง พรรคที่สนับสนุนท่าน ไม่ใช่พรรคที่ชนะเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งนะครับ พรรคที่สนับสนุนท่านแพ้ แพ้พรรคที่ที่ท่านยึดอำนาจเขามานั่นแหละ แต่ด้วยกลไกต่าง ๆ ที่ท่านวางไว้ ท่านจึงได้เป็นนายก ถ้าไม่มีกลไกเหล่านี้ ท่านไม่ได้กลับมาเป็นนายกหรอก แต่เอาเถอะท่านก็มาตามกติกาที่ท่านร่างขึ้นมาเองละนะ แต่ท่านบริหารยังไงล่ะครับมันถึงได้เป็นแบบนี้ ท่านขอให้เชื่อใจมาแล้ว 5 ปี ซึ่งก็เห็นแล้วว่ามันไม่ได้เรื่อง ท่านยังจะขอให้เชื่อใจไปอีกกี่ปีหรือครับ 20 ปี ตามยุทธศาสตร์ชาติของท่านหรือครับ ถึงตอนนั้นคนไทยจะจนกันหมดประเทศ หรือตายกันหมดประเทศดีล่ะครับ

ผมขอยกตัวอย่างคนที่สร้างความศรัทธาให้เกิดสักคนหนึ่งก็แล้วกัน เจอร์เกน คลอปป์ครับ ผู้จัดการทีมทีมรักของผมลิเวอร์พูล ก่อนที่เจอร์เกน คลอปป์เข้ามา ลิเวอร์พูลอยู่ในสภาพยักษ์หลับ และดูเหมือนไม่มีใคร แม้แต่แฟนบางคนของทีมจะเชื่อว่ายักษ์ตัวนี้จะกลับมาผงาดได้อีกครั้ง เมื่อคลอปป์เข้ามา เขาบอกว่า เขาจะเปลี่ยนให้คนที่สงสัยไม่เชื่อมั่นกลับมาเป็นคนที่เชื่อมั่นในทีมให้ได้ From Doubters to Believers คือคำที่คลอปป์ใช้ ซึ่งก็คงไม่ต่างจากเพลง "ขอเธอจงเชื่อใจและศรัทธา" หรอก แต่ความแตกต่างคือคลอปป์ทำให้มันเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่แต่งเพลง  คลอปป์สร้างทีมตามแนวทาง ลิเวอร์พูลไม่ได้แชมป์อะไรเลยในช่วงสองสามปีแรกที่คลอปป์เข้ามา แต่สิ่งที่แฟน ๆ เห็น คือแนวทางการเล่นของทีม แฟน ๆ เห็นการพัฒนาของทีม ดังนั้นแฟน ๆ ก็กลับมาเชียร์มาศรัทธาและเชื่อมั่น คลอปป์ไม่เคยออกมาเรียกร้องว่าแฟน ๆ อย่ามาด่าเขานะ ขอให้เชื่อใจนะ แต่เขาแสดงให้เห็นด้วยผลงาน และสุดท้ายปีที่แล้วลิเวอร์พูลก็ได้แแชมป์ถ้วยใบใหญ่ที่สุดในยุโรป และเป็นรองแชมป์พรีเมียร์ลีกที่มีแต้มสูงสุดในประวติศาสตร์ ได้แชมป์โลก ได้รับการยกย่องว่าเป็นทีมฟุตบอลที่ดีที่สุดทีมหนึ่งในขณะนี้ และปีนี้กำลังจะเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีกด้วยผลงานที่ทิ้งคู่แข่งในลีกไปไกลมาก เห็นไหมล่ะครับว่าผลงานเท่านั้นเป็นตัวสร้างศรัทธา

พูดถึงลิเวอร์พูลก็อดกังวลไม่ได้ มันจะอะไรนักนะ กำลังจะเป็นแชมป์ลีกสูงสุดหนแรกในรอบ 30 ปี ก็มีไอ้ไวรัสบ้าบออะไรไม่รู้มาทำเรื่องจนต้องลุ้นว่าจะแข่งจนจบได้แชมป์หรือเปล่าซะอีก อ้าวเริ่มด้วยการเมือง ดันมาจบด้วยเรื่องบอลซะได้ เฮ้อ แสดงว่ามันกังวลอยู่ในจิตใต้สำนึกนะนี่...



วันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2563

เดือนแรกของปีหนู(ดุ)

สวัสดีครับ หลังจากสร้างนิสัยสรุปข่าวแชร์ข่าวได้แล้วหนึ่งอย่าง ก็เลยคิดว่าจะลองเขียนบล็อกเรื่องอะไรที่อยากเขียน เล่าเรื่องอะไรที่อยากเล่า โดยเล่าให้ฟังทุกวันศุกร์ที่เป็นวันทำงานวันสุดท้ายของสัปดาห์ก็เลยเป็นที่มาของบล็อกนี้ครับ

วันแรกของบล็อกในหัวข้อนี้ก็บังเอิญเป็นศุกร์สิ้นเดือนของเดือนแรกของปีนี้พอดี จะว่ามันเร็วก็เร็วนะครับ เพราะเหมือนกับเพิ่งฉลองปีใหม่ไปได้แป๊ปเดียว แต่เอาจริง ๆ แล้วมันมีอะไรเกิดขึ้นมากมายและเป็นเรื่องใหญ่ ๆ ทั้งนั้นที่เกิดขึ้นในเดือนนี้ เริ่มตั้งแต่กรณีอเมริกากับอิหร่าน ไฟป่าที่ออสเตรเลีย ฝุ่น PM  (อย่าไปแปลเป็น Prime Minister นะครับ :) ) จนมาถึงโคโรนาไวรัส บางเรื่องก็ทำท่าว่าอาจจบได้แล้ว   บางเรื่องก็อาจต้องดูผลกระทบต่อไป เพราะมันเริ่มกระจายไปทั่วโลกจน WHO ต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน และเห็นคุณหมอบางท่านคนออกมาบอกว่าต่อไปมันก็จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ประจำฤดูกาลเหมือนกับโรคอย่างไข้หวัดใหญ่ ต่อไปก็คงต้องฉีดวัคซีนเพิ่มกันอีก (หรือเปล่า) นอกจากนี้เรื่องฝุ่น PM เรื่องไวรัสมันก็ทำให้ได้เห็นถึงความสามารถในการจัดการปัญหาและภาวะผู้นำของผู้นำประเทศได้เหมือนกันนะครับ ยิ่งไปกว่านั้นด้านเศรษฐกิจ ซึ่งหลายคนก็คาดว่าปีนี้จะเป็นปีเผาจริงแล้ว (สาธุขอให้เขาคาดผิดกัน) เจอเหตุการณ์แบบนี้เข้าไป ก็ไม่รู้ว่ามันจะแย่มากขึ้นหรือเปล่า และยังไม่พอยังมีข่าวนักบาสชื่อดังระดับตำนาน ซึ่งเป็นคนที่ผมชื่นชอบคนหนึ่งคือโคบี้ ไบรอัน ยังเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกอีก หรือมันจะเป็นปีหนูดุจริง ๆ

พูดมาเหมือนมีแต่เรืองไม่ดี มาลองดูสิว่ามันมีเรื่องดี ๆ อะไรบ้าง เหมือนจะคิดไม่ออก แต่จริง ๆ ก็มีนะครับ อันแรกก็คือทีมฟุตบอลที่ผมเชียร์มาตั้งแต่เด็กคือลิเวอร์พูล ก็ยังโชว์ฟอร์มดีต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยชนะมาได้ทั้งหมดตลอดเดือนมกราคม และนำห่างที่สองถึง 19 แต้ม ตามปกติเดือนมกราคมจะเป็นเดือนที่ลิเวอร์พูลมักจะทำแต้มหล่นหาย (อันนี้อาจจะดีแค่กองเชียร์ลิเวอร์พูล แต่กองเขียร์ทีมอื่นอาจคิดว่ามันน่าจะจัดกลุ่มอยู่ในย่อหน้าบนก็ได้นะครับ :) ) ตัวเองก็ยังมีงานทำ ยังพอมีเงินใช้ สุขภาพก็ยังพอใช้ได้ ครอบครัวก็ยังอยู่กันพร้อมหน้า

ส่วนหนึ่งก็อยากภาวนาว่าปัญหาร้ายแรงทั้งหลายที่มันเกิดขึ้นมันจะเป็นของทั้งปี และได้เกิดหมดไปแล้วในเดือนนี้ และตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ (ซึ่งปีนี้มี 29 วันนะครับ :) ) หวังว่าจะมีแต่เรื่องดี ๆ เข้ามาและที่เขาคาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจที่มันจะเป็นปีเผาจริงก็ขอให้คาดผิด หรือมีเหตุการณ์อะไรเข้ามาช่วยเรา

แต่คิดว่ามันน่าจะดีกว่าถ้าเราหันมาบริหารจัดการตัวเอง เช่นตอนนี้ผมก็เริ่มบอกตัวเองให้ประหยัดมากขึ้น อะไรที่อยากได้แต่ไม่จำเป็นก็พักไว้ก่อน ช่วงนี้ก็หลีกเลี่ยงการไปในที่ที่มีคนเยอะ ๆ ออกกำลังกายให้มากขึ้น พักผ่อนให้มากขึ้น และพัฒนาตัวเอง ในเมื่อเราไม่สามารถรู้โชคชะตาข้างหน้าได้ และอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาล ซึ่งก็ไม่ได้ดีไปกว่ารัฐบาลที่ผ่านมาในอดีตเลย (เสียเวลาไปห้าหกปี กับคำพูดหรู ๆ ของนักการเมืองที่หลอกคนออกมาบนถนน บอกว่าจะปฏิรูปประเทศ แต่จริง ๆ ต้องการให้ทหารมายึดอำนาจ) ออกจะแย่กว่าด้วยซ้ำ และจริง ๆ แล้วเราก็ไม่ควรไปหวังพึ่งรัฐบาลไหนอยู่แล้ว (เพียงแต่ถ้ารัฐบาลเก่งและเราดูแลตัวเองผลมันอาจจะดีกว่ารัฐบาลแย่ ๆ )

 ก็ขอส่งท้ายบล็อกนี้ว่า อัตาหิอัตโนนาโถ ตนนั้นแลเป็นที่พึ่งแห่งตน บริหารจัดการตัวเองกันดี ๆ ไม่ว่าหนูจะดุแค่ไหนเราก็น่าจะผ่านกันไปได้ (อาจจะทุลักทุเลหน่อย ภายใต้รัฐบาลแบบนี้)) และช่วยกันตั้งความหวังว่าสุดท้ายเราจะได้รัฐบาลเก่ง ๆ มีความสามารถมากกว่านี้มาช่วยให้เราผ่านพ้นวิกฤติต่าง ๆ ไปได้ไปอย่างสบายกว่านี้แล้วกันครับ สาธุ

วันเสาร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2563

เว็บไซต์หลอกลวงเอาบัญชีเงินคริปโต

วันนี้เจอเว็บไซต์ที่น่าจะเป็นเว็บไซต์หลอกลวงเอาบัญชีเงินคริปโตของเราครับ ก็เลยเอามาเขียนเตือนกันไว้ เรืองก็คือผมไปสมัครเป็นสมาชิกของกลุ่ม Blockchain กลุ่มหนึ่ง คืออันนี้ https://www.facebook.com/Blockchain-Community-101423281418037/ เข้าใจว่าตอนสมัครเพราะมันขึ้นมาจาก Facebook Ad เราสนใจ Blockhain อยู่แล้วก็เลยสมัครเข้าไป จากที่เข้าไปดูกลุ่มนี้เพิ่งถูกสร้างเมื่อ 23 มกราคมปี 2020 นี้เองครับ ผมก็ไม่ได้สนใจอะไร จนได้รับข้อความว่ามีการโพสต์ถึงผมในกลุ่ม ผมเข้าไปดูก็เห็นเอารูปรูปหนึ่งจาก Facebook ผมไปโพสต์ในกลุ่ม แล้วก็โพสต์ข้อความนี้

Congratulations!
Get Extra Bonus 100%!
You are one active users who are lucky to get 0.6300 BTC & 35.66 Ethereum (ETH).
Do not miss 0.6300 BTC & 35.66 Ethereum (ETH) are on the way your wallet.
Immediately get your bonus here:
└► 
https://bit.ly/2sWBokm?Blockchain-GiveAway
Description:
* Only for Accounts that already have transactions that can receive BTC, Ethereum (ETH) wallet.
* We will be give to users who have 5 transactions history.
* For security system without cheating.
* For loyal users.
* If not eligible, The invite bonus can't be found
* And Share your friends.
Best Regards,
Thanks for choosing blockchain – Happy trading!
Kind regards
©2020 BLOCKCHAIN ALL RIGHTS RESERVED

จากที่ไล่ไปดูก็มีสมาชิกกลุ่มอีกหลายคนที่ได้รับข้อความนี้
ซึ่งจากการเอาลิงก์ไปเช็คก็มีหลายที่รายงานว่าเป็น Phishing แต่ไม่ได้มีมัลแวร์อะไรผมก็ลองคลิกเข้าไปก็เจอหน้านี้


จะเห็นว่าบอกว่าจะให้ 0.6300 BTC & 35.66 Ethereum (ETH) เหมือนที่โพสต์ไว้ และยังบอกอีกว่า ยิ่งมีเงินในบัญชีเยอะยิ่งได้เยอะ และเมื่อคลิกปุ่ม Claim เข้าไปยิ่งสนุกครับ เพราะมันพาไปที่อีกเว็บหนึ่งซึ่งมีหน้าจอนี้ 


ไม่รู้เห็นชัดไหมนะครับ สรุปให้ครับ มันให้เราใส่ 12-word phrase ครับ ซึ่งแน่นอนครับถ้าเราให้มันไป มันก็ยึดบัญชีเราไปได้เลยนะครับ เฮ้อมันเล่นกันง่ายดีเนอะ 

สำหรับใครที่ไม่รู้ หรือเพิ่งเข้าสู่วงการเงินคริปโต หรือวงการบล็อกเชนนะครับ จำไว้นะครับว่าถ้าใครจะโอนเงินให้คุณ สิ่งที่คุณต้องให้ก็คือเลขบัญชีของคุณเท่านั้นนะครับ ถ้าขอ 12-word phrase หรือ private key อะไร โดยอ้างว่าจะต้องยืนยันว่าเป็นตัวคุณ อย่าไปเชื่อ และอย่าให้ไปเด็ดขาดครับ 




วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2563

ผมสามารถสร้างนิสัยได้หนึ่งนิสัยแล้ว

ขอบันทึกไว้หน่อยว่าปีนี้ผมสร้างนิสัยได้หนึ่งนิสัยแล้ว คือเขียนบล็อกสรุปข่าวด้านไอที ได้ 21 วันติดต่อกัน (จริง ๆ ได้ 21 วันตั้งแต่เมื่อวานแล้ว) ผมตั้งใจจะสร้างนิสัยให้ได้อย่างหนึ่งเป็นปณิธานของปีใหม่ปีนี้ โดยจากการโพสต์ Face Book ของ อ.ธงชัย รุ่นพี่สมัยมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นอาจารย์สอนวิชา Innovative Thinking ที่โด่งดังมากในจุฬา เป็นวิชาเลือกฮอตฮิตของนิสิตจุฬา ถึงกับต้องมีการคัดเลือกนักศึกษากันแทบทุกเทอม ซึ่งหนึ่งในการบ้านที่อ.ธงชัย ได้มอบหมายให้นักศึกษาทำเพื่อเสริมสร้างนิสัยก็คือหาสิ่งที่ต้องการทำเป็นนิสัย แล้วทำให้ได้ติดต่อกัน 21 วัน

ผมเห็นว่ามีประโยชน์ จริง ๆ ตั้งใจทำมานานแล้ว แต่ก็อ้างโน่นอ้างนี้กับตัวเองมาตลอด จนปีนี้เห็นว่าต้องเริ่มทำให้ได้แล้ว คราวนี้ก็เลยเลือกว่าจะทำอะไรดี จริง ๆ มีสิ่งที่ผมชอบทำอยู่อย่างหนึ่งก็คือ ผมชอบแชร์เรื่องที่อ่านมาให้คนอื่นรับรู้ด้วย และจริง ๆ ผมได้เริ่มทำมาหลายปีแล้ว แต่ทำไม่สม่ำเสมอ นั่นคือการเลือกข่าวด้านไอที ที่เน้นไปที่งานวิจัย ที่ไม่ใช่ข่าวที่เขียนไปแล้วในบล็อกข่าวด้านไอทียอดนิยมอย่างใน blognone หรือข่าวไอทีที่เกี่ยวกับผู้ใช้ทั่ว ๆ ไป หรือข่าวผลิตภัณฑ์ที่มีคนทำมากมาย

โดยตอนแรกผมได้เขียนลงในบล็อกของผมบล็อกนี้แหละครับ เลือกข่าวแล้วก็เอามาเขียน แรก ๆ ก็ทำสองสามวันสักเรื่องหนึ่ง แต่ปรากฏว่าพอมาช่วงหลัง ๆ การโพสต์เริ่มห่างไปเรื่อย ๆ ซึ่งเหตุผลก็อย่างที่หลายคนชอบเอามาอ้างก็คือไม่มีเวลา และกลายเป็นว่าบางปีแทบไม่ได้โพสต์อะไรเลย แม้แต่เรื่องทั่ว ๆ ไป ซึ่งผมมักจะแทรกเขียนเข้ามาบ้างถ้ามีเหตุการณ์ที่น่าสนใจ ตอนหลังต้องบอกว่าแทบปล่อยร้างเลย ปีหนึ่งเขียนแค่สองสามเรื่องก็ยังมี

ผมได้อ่านโพสต์จากอ.ธงชัยเรื่องอุปสรรคของการสร้างนิสัยใหม่ อ่านเสร็จก็เอามาวิเคราะห์ตัวเองว่าทำไมถึงทำให้สม่ำเสมอไม่ได้ ก็พบว่าผมมักจะอ้างว่าตัวเองเหนื่อยจากการทำงานมาแล้ว และการเขียนบล็อกหนึ่งบล็อกใช้เวลามาก คราวนี้ผมก็เลยถามตัวเองว่า ทำไมมันใช้เวลามาก ผมก็ได้คำตอบว่า เพราะตอนแรกผมพยายามเขียนในแบบกึ่ง ๆ แปลข่าว คือค่อนข้างจะเขียนละเอียด และข่าวที่เลือกมาส่วนใหญ่มันเป็นงานวิจัย ซึ่งในบางเรื่องพอลงไปลึก ๆ เราก็ต้องไปค้นคว้าเพิ่มเติมมาเขียน อธิบายให้ทั้งตัวเองและคนอ่านได้เข้าใจด้วย ดังนั้นนอกจากจะใช้เวลามากแล้ว ยังเขียนได้น้อยเรื่องอีกด้วย คืออ่านมาหลายเรื่อง แต่เขียนได้ไม่กี่เรื่อง ก็เลยเปลี่ยนแนวใหม่เป็นสรุปข่าว แล้วก็พยายามสรุปหลาย ๆ ข่าวมาเขียนในบล็อกเดียวกัน ก็ดีขึ้น แต่ก็ยังใช้เวลามากอยู่ดี และสิ่งที่ทำไม่ได้คือความสม่ำเสมอ เพราะมักจะอ้างว่าต้องทำงานอื่นก่อน พอทำงานอื่นเสร็จก็เหนื่อยแล้ว มีอยู่ช่วงหนึ่งเปลี่ยนแนวมาสรุปสั้น ๆ สั้นกว่าเดิมอีก แล้วโพสต์ลง Facebook กับ Twitter แต่ก็ยังขาดความสม่ำเสมออยู่ดี แล้วก็ยังติดโลภมากคือจะโพสต์ให้ได้วันละหลาย ๆ ข่าว

เมื่อวิเคราะห์ตัวเองได้แล้ว ก็เลยตั้งใจว่าเอาเป็นสรุปข่าวแล้วโพสต์วันละข่าวพอ ทำทีละเล็กละน้อยดีกว่าไม่ทำ ผมก็เลยตั้งต้นทำจริง ๆ ทำตั้งแต่วันปีใหม่เลย โดยโพสต์ลง Facebook กับ Twitter วันละข่าวทำไปได้สองวัน ก็คิดว่าทำไมเราไม่เขียนลงบล็อกของเราไว้ด้วย แล้วค่อยแชร์ข่าวไป เพราะเราตั้งใจเขียนบล็อกแนวนี้อยู่แล้ว บล็อกจะได้มีความเคลื่อนไหว และเวลาจะค้นเรื่องที่สรุปไปแล้วก็ทำได้ง่ายด้วย ก็เลยเปลี่ยนมาเขียนสรุปข่าวในบล็อกก่อน แล้วค่อยแชร์ไป Facebook กับ Twitter ทำให้ได้ทำตามจุดประสงค์ของตัวเองที่ตั้งใจทำบล็อกแต่แรก

การทำให้สำเร็จก็ต้องมีการวางแผน ผมก็พยายามทำตามคำแนะนำของอ.ธงชัย ก็คือพยายามทำเวลาที่ยังสดชื่นอยู่ ผมมักจะใช้เวลาอ่านข่าวตอนเช้าอยู่แล้ว พออ่านแล้วก็เลือกว่าอันไหนน่าสนใจ แล้วก็ใช้เวลาสรุป และเขียนบล็อก โดยวางเวลาว่าจะใช้เวลาสรุปและเขียนไม่เกิน 15-20 นาที ต่อข่าว ถ้าวันไหนมีเวลามาก ก็จะเขียนเผื่อไว้หลายข่าว ทำเหมือนถ่ายสต็อกรายการทีวีเก็บไว้ ถ้าอันไหนเขียนไม่เสร็จมาต่อให้เสร็จตอนจะโพสต์ (ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังไม่มีอันไหนเขียนไม่เสร็จ อาจมีมาแก้มาเกลานิดหน่อยก่อนโพสต์) คือผมวางแผนโพสต์ตอนเย็นถึงค่ำ เพราะคิดว่าน่าจะมีคนอ่านช่วงนั้นมากกว่า 

ซึ่งตอนนี้ก็ทำมาแล้ว 22 วันติดกัน ถ้ารวมสองวันแรกที่ไม่ได้เขียนลงบล็อกด้วย ก็เป็น 24 วันติดกันแล้ว อุปสรรคก็มีอยู่บ้างคือบางวันเกือบลืม หรือบางวันมีธุระต้องกลับบ้านดึก ก็เกือบไม่ได้โพสต์ ดังนั้นต่อไปผมก็คงต้องวางแผนให้ดีขึ้น ถ้ารู้ว่าจะมีธุระก็คงโพสต์ไปก่อนเลย  ประโยชน์ของการสร้างนิสัยนี้ก็คือ ผมได้ทำกิจกรรมที่ผมชอบทำคือแบ่งปันความรู้ บล็อกผมได้มีความเคลื่อนไหวไม่ร้าง และที่สำคัญได้ฝึกทักษะในการย่อความสรุปความให้คนอ่านเข้าใจได้

ก็อยากเชิญชวนให้มาอ่านบล็อกผมกันนะครับ อ่านข่าวงานวิจัย ซึ่งบางเรื่องอาจจะอยู่ในช่วงเริ่มต้น และอาจจะใช้ได้จริงในอีกหลายปีถัดไป สำหรับคนที่เคยติดตามบล็อกผมไว้ และผมทิ้งบล็อกร้างไป ตอนนี้ผมกลับมาแล้วนะครับ :)

เมื่อสร้างนิสัยนี้ได้แล้ว ผมก็มีแผนจะสร้างนิสัยอื่นต่อไป เพราะอ.ธงชัยบอกให้ค่อย ๆ เริ่มไปทีละอย่างอย่าโลภมาก ถ้ามีนิสัยอื่นที่สร้างสำเร็จ และเอามาแบ่งปันกันได้อีกก็จะมาเล่าให้ฟังแล้วกันนะครับ

วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ขอพูดถึงเรื่องวิชา Coding กับเขาบ้าง

หลังจากไม่ได้เขียนบล็อกมาซะนานวันนี้รู้สึกอยากเขียน เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว และกำลังเป็นกระแสอยู่ในตอนนี้ เรื่องนี้เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการแถลงนโนบายของรัฐบาลครับ ไม่ใช่เรื่องตัดพี่ตัดน้อง สส.สมุนโจร หรือสว.เลียท้อปบู๊ตทหารนะครับ แต่เป็นเรื่องการที่รัฐบาลจะให้เด็กเรียนโค้ดดิง (coding) โดยรมต.ออกมาพูดว่าเรียนโค้ดดิงไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ก็ได้ แล้วก็เกิดข้อถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากมาย

ก่อนอื่นต้องบอกว่าถ้าเราได้ติดตามข่าวด้านการศึกษาในช่วงสองสามปีมานี้ จะพบว่าทางกระทรวงศึกษาธิการได้มีการปรับปรุงหลักสูตรที่เริ่มใช้ในปีการศึกษา 2561โดยเปลี่ยนวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศจากหมวดการงาน มาเป็นวิชาวิทยาการคำนวณในหมวดวิทยาศาสตร์ ซึ่งโค้ดดิงเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาการคำนวณ ดังนั้นเรื่องการโค้ดดิงนี้จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ที่จะมาคิดริเริ่มจากกระทรวงศึกษาในรัฐบาลนี้ ซึ่งจุดประสงค์ของวิทยาการคำนวณนั้นเท่าที่ติดตามดู ไม่ได้ตั้งใจจะสร้างเด็กออกไปเป็นนักพัฒนาโปรแกรม แต่ต้องการสร้างกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ สามารถใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล และรู้เท่าทันสื่อสมัยใหม่ เพื่อให้มันติดตัวเขาไปไม่ว่าในอนาคตเขาจะไปประกอบอาชีพใด เข้าใจว่าเด็กที่เรียนในปี 2561 จะเป็นเด็ก ป.1 ป.4 ม.1 และ ม.4

ในแง่ที่เกี่ยวข้องกับโค้ดดิง ในเด็กเล็กประถมต้น เขาจะไม่ได้ให้เรียนเขียนโปรแกรมกับคอมพิวเตอร์ แต่จะสร้างการคิดอย่างเป็นระบบผ่านทางเครื่องมืออย่างการ์ดคำสั่ง หรือเกมกระดาน (board game) เป็นต้น เด็กป.4 จะได้เรียนการเขียนโปรแกรมผ่านทางภาษาโปรแกรมประเภท Block Programming คือลักษณะการเขียนโปรแกรมที่นำเอา Block คำสั่งมาเรียงต่อกัน ซึ่งภาษาที่เขาจะให้เรียนคือ Scratch ซึ่งจะให้เรียนในชั้น ป.4  ส่วนเด็กมัธยมก็จะได้เรียนเขียนโปรแกรมด้วยภาษา Python ซึ่งเป็นภาษาที่เรียนรู้ได้ง่าย เท่าที่ตามข่าวมาและพยายามทำความเข้าใจก็คือเขาน่าจะไม่ได้ให้เด็กไปเน้นที่ตัวไวยากรณ์ของภาษา ดังนั้นภาษาเขียนโปรแกรมที่เลือกใช้จึงเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย เพื่อให้ผู้เรียนได้เน้นที่กระบวนการคิดแก้ปัญหาอย่างมีตรรกะ และเป็นระบบมากกว่า   

ในส่วนของคำว่าโค้ดดิงผมขออ้างอิงจาก  Facebook ของ อ.ยืน ภู่วรวรรณ ปรมาจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ของประเทศไทยคนหนึ่งที่บอกว่า

"โค้ดดิ้ง (Coding) เป็น Broader term ส่วน คอมพิวเตอร์ โค้ดดิ้ง (Computer coding) หรือ โปรแกรมมิ่ง (Programming) เป็น Narrow term คือมีความหมายที่แคบกว่า หรือเป็น Subset
โค้ด คือรหัส หรือการทำสัญลักษณ์ การโค้ดดิ้งคือ การเขียนสัญลักษณ์ เพื่อการบอกลำดับขั้นตอน ลำดับความคิด เพื่อสื่อสารให้เข้าใจกัน"

ดังนั้นการโค้ดดิงคืออะไรก็ได้ที่เกี่ยวข้องอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา เราเขียนอธิบายเส้นทางเพื่อให้คนส่งของมาส่งของที่บ้านเราถูกมันก็คือการโค้ดดิงแบบหนึ่ง การเขียนหนังสือการเขียนบทความให้อ่านรู้เรื่องก็เป็นการโค้ดดิงแบบหนึ่ง ดังนั้นจะเห็นว่าถ้าเราสามารถคิดและสื่อสารได้อย่างเป็นระบบแล้ว มันก็จะเป็นประโยชน์กับเราไม่ว่าเราจะทำอาชีพอะไร พูดถึงตรงนี้แล้วผมก็อยากบอกอีกครั้งว่า (เข้าใจว่าน่าจะเคยเขียนไปในบล็อกก่อน ๆ บ้างแล้ว) สิ่งที่อยากให้นำกลับมาในระบบการศึกษาระดับประถมมัธยมของเราก็คือวิชาเขียนเรียงความ เพราะจากประสบการณ์ดูแลปริญญานิพนธ์ของนักศึกษาตั้งแต่ป.ตรีถึงป.เอก พบว่าหลายคนเขียนกันไม่ค่อยจะเป็น คือบางครั้งไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน เขียนแล้วจับใจความไม่ได้ว่าจะสื่อถึงอะไร

กลับมาที่โค้ดดิงที่เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรม ที่น่าจะเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ตอนนี้ รมต.ช่วยศึกษาธิการจากพรรคประชาธิปัตย์ ชูประเด็นเรื่องโค้ดดิง และพูดถึงคำว่าภาษาที่สาม และบอกว่าโค้ดดิงไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ก็ได้ ในความเห็นส่วนตัวคงต้องจับประเด็นก่อนว่ารมต.จะพูดถึงอะไรกันแน่ ถ้าพูดถึงโค้ดดิงในแบบภาพกว้าง ตามที่อ.ยืนบอก อันนี้ก็ใช่อาจไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ก็ได้ เพราะการแสดงแนวคิดของโปรแกรมนั้นสามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ อย่างเช่นการเขียนโฟลว์ชาร์ต (flowchart) หรือรหัสเทียม (pseudo code) ซึ่งอันนี้จะหมายถึงภาษาที่สามของรมต.หรือเปล่า?

แต่ถ้าภาษาที่สามหมายถึงภาษาเขียนโปรแกรม ส่วนตัวเห็นว่าการเรียนเขียนโปรแกรมด้วยภาษาสมัยใหม่ที่เข้าใจง่าย มีไวยากรณ์ไม่ซับซ้อนอย่างภาษา Python หรือ Block Programming แบบ Scratch การนั่งเขียนอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์จะเข้าใจได้ง่ายกว่า ไม่ต้องไปเขียนลงกระดาษก่อนให้เสียเวลา เพราะผู้เรียนสามารถมองเห็นผลการทำงานของตัวโปรแกรมได้ทันที ในโปรแกรมที่ไม่มีความซับซ้อน และใช้ภาษาโปรแกรมสมัยใหม่ (จริง ๆ ถ้าคล่องแล้วแม้แต่ภาษาสมัยเก่าก็ใช้ได้นะ) ผมว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเขียนโฟลว์ชาร์ต หรือรหัสเทียม ก่อนด้วยซ้ำ เพราะตัวภาษาเองก็เข้าใจง่ายพอ ๆ กับเขียนรหัสเทียมอยู่แล้ว  อันนี้ไม่ได้บอกว่าไม่จำเป็นต้องรู้จักการเขียนโฟลว์ชาร์ต หรือการเขียนรหัสเทียมนะครับ เพราะมันยังเป็นประโยชน์อยู่ในการสื่อสารอะไรที่มันซับซ้อน หรือต้องการสื่อสารแนวคิดที่ไม่ผูกติดกับภาษาเขียนโปรแกรมภาษาใดภาษาหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็คือ ภาษาเขียนโปรแกรมมีมากมายหลายภาษา แต่ละภาษาก็มีจุดดีจุดด้อย มีความเหมาะสมกับงานต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน ถ้าจะให้เด็กรู้จักภาษาเขียนโปรแกรมเป็นภาษาที่สามควรใช้ภาษาอะไรดี

ดังนั้นการโค้ดดิงและภาษาที่สามน่าจะหมายถึงการทำให้เด็กคิดแก้ปัญหาได้อย่างมีตรรกะ และสื่อสารได้อย่างเป็นระบบหรือเปล่า? ซึ่งตรงนี้เท่าที่อ่านจากหลาย ๆ สื่อ มีคนบอกว่าถ้าจะหมายถึงอย่างนี้เปลี่ยนจากคำว่าโค้ดดิงเป็นอย่างอื่นดีไหม เช่นความสามารถในการแก้ปัญหา (problem solving) อย่างเป็นระบบอะไรแบบนี้ ซึ่งตรงนี้ผมว่ามีความสำคัญนะครับ เพราะถ้าไม่สื่อสารชี้แจงกันให้ดี ผมว่าเดี่ยวมันก็จะกลายเป็นเหมือนการสอนภาษาอังกฤษในบ้านเราที่เน้นกันแต่ไวยากรณ์ แต่เอาไปพูดกับฝรั่งไม่ได้ การเรียนโค้ดดิงนี่ก็อาจจะกลายเป็นเน้นอะไรแบบนี้ เธอเขียนสัญญลักษณ์ของโฟลว์ชาร์ตตัวนี้ผิดนะ หรือคำสั่ง "Print()" ของเธอผิดนะ เพราะเธอใช้ P จริง ๆ ต้องใช้ p อะไรแบบนี้ 

สุดท้ายผมขอจบบล็อกนี้ด้วยการยกตัวอย่างให้เห็นว่าการคิดอย่างเป็นระบบนั้นมันอยู่รอบ ๆ ตัวเรา บางครั้งมันก็เป็นเรื่องง่าย ๆ ที่เรามองข้ามไป

(หมายเหตุเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ มาจากเรื่องจริง แต่อาจมีการดัดแปลงคำพูดบางอย่าง และตัวละครเพื่อให้มีความเหมาะสม :))

หลายปีก่อนนักศึกษาป.ตรีที่เป็นนักศึกษาในที่ปรึกษาผม นำเล่มที่จะต้องใช้ขึ้นสอบหัวข้อมาให้ดูเป็นครั้งแรก นักศึกษาเขียนมาครบสามบทที่ต้องมีในการสอบ แต่นักศึกษาใช้วิธีรันเลขรูปแบบนี้สมมติบทที่ 1 มี 10 รูป ก็รันไปรูปที่ 1 ไปถึงรูปที่ 10 พอขึ้นบทที่ 2 ก็เริ่มตั้งแต่รูปที่ 11
ผม: คุณได้เคยเปิดเล่มของรุ่นพี่ดูบ้างไหมว่าเขารันเลขรูปยังไง
นศ.: ไม่เคยครับ
ผม: (เอาเล่มรุ่นพี่ให้ดู) เขารันยังไง
นศ.: เขารันแบบบทที่ 1 ก็ใช้รูป 1.1 1.2 ไปเรื่อย ๆ พอบทที่ 2 ก็เริ่มรันจาก 2.1 2.2 โอเค ผมเข้าใจแล้วครับ เดี๋ยวกลับไปแก้เลยครับ สวัสดีครับ
ผม: เดี๋ยว รู้ไหมทำไมเขาทำแบบนี้
นศ.: (ทำหน้าครุ่นคิดอยู่พักหนึ่ง) เอ้อ เพื่อความเป็นระเบียบหรือครับ
ผม: อืม มองไม่ออกจริง ๆ หรือ คุณลองคิดสิว่าถ้ารันเลขรูปแบบคุณ สมมติว่าถ้าผมบอกว่าให้คุณไปเพิ่มรูปในบทที่ 1 ไปรูปหนึ่งมันจะเกิดอะไรขึ้น
นศ.: (ทำหน้าแบบเกิดความรู้แจ้งสุดขีด) โอ้วเข้าใจแล้วครับ ผมก็ต้องไปรันเลขรูปใหม่ทั้งหมดในบทที่ 2 และบทที่ 3 ด้วย แต่ถ้าทำแบบพี่การเพิ่มหรือลดรูปในบทที่ 1 ก็จะไม่กระทบส่วนที่เหลือของเล่มครับ ขอบคุณครับ สวัสดีครับ
ผม: เดี๋ยว
นศ.: (ทำหน้าแบบจะเอายังไงกับตูอีกวะ)
ผม: แล้วรู้ตัวไหมว่ามันน่าอายที่เราซึ่งเป็นนักศึกษาวิทยาการคอมพิวเตอร์ แต่เราไม่สามารถประยุกต์ความรู้ที่เราเรียนและใช้มาตลอดเวลาที่เราทำโปรแกรมมาใช้กับสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเราได้ ไหนลองตอบหน่อยสิว่าสิ่งที่รุ่นพี่ทำนี่มันน่าจะตรงกับอะไรในสิ่งที่เราเรียนและใช้ทำโปรแกรมมา
นศ.: (ทำหน้าแบบ จัดเล่มมันเกี่ยวอะไรกับทำโปรแกรมวะ ผ่านไปสักครู่ ทำหน้าแบบเกิดความรู้แจ้งสุดขีด) ได้แล้วครับ Modular Design ครับอาจารย์ ถ้าเราออกแบบและพัฒนาเป็นโมดูล การแก้ไขใด ๆ ก็จะกระทบเฉพาะในโมดูลนั้น
ผม: เออ ดีแล้ว เข้าใจแล้วนะ ไปได้ อาจารย์จะได้ดู Netflix ต่อ เอ๊ยไม่ใช่ทำงานต่อ




วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ประสบการณ์สนุก ๆ ของผมกับเพลงหนักแผ่นดิน

ตอนนี้กระแสเพลงหนักแผ่นดินกำลังฮืตมาก ๆ นะครับ ทำให้ผมคิดได้ว่าสมัยเด็ก ๆ จนถึงตอนจะมีลูก ผมก็มีประวัติศาสตร์กับเพลงนี้อยู่บ้างเหมือนกัน ต้องบอกว่าตอนผมเป็นเด็กนี่เพลงปลุกใจพวกนี้เปิดกันบ่อยมาก เพราะเป็นสมัยที่เขาบอกว่าเราสู้กับคอมมิวนิสต์ และอีกอย่างสมัยเด็ก ๆ ผมเป็นเด็กไม่แข็งแรงครับ ขาดเรียนบ่อยเวลาขาดเรียนก็ต้องไปอยู่ที่ที่ทำงานกับแม่ แล้วในสมัยนั้นเขาก็เอาข้าราชการไปฟังสัมมนาต่อต้านคอมมิวนิสต์ บางครั้งแม่ก็ต้องพาผมไปด้วย ผมก็ไปนอนหลับเวลาเขาสัมมนากันตื่นมาก็เห็นเขาร้องเพลงปลุกใจกัน ก็มาร้องกับเขาด้วย เรียกว่าร้องเพลงปลุกใจได้ได้แทบทุกเพลง นักร้องเพลงปลุกใจอย่างคุณสันติ ลุนเผ่ นี่ก็ดังมาก เพลงหนักแผ่นดินนี่ก็เป็นเพลงฮิตเพลงหนึ่งร้องกันได้ทั่วบ้านทั่วเมือง ใครยังไม่เคยฟังก็ร้องฟังกันดูครับ


ฟังกันสนุก ๆ นะครับ อย่าไปอินกับมันมาก สำหรับเนื้อร้องก็ประมาณนี้ครับ

คนใดใช้ชื่อไทยอยู่ กายก็ดูเหมือนไทยด้วยกัน
ได้อาศัยโพธิ์ทองแผ่นดินของราชันย์ แต่ใจมันยังเฝ้าคิดทำลาย
คนใดเห็นไทยเป็นทาส ดูถูกชาติเชื้อชนถิ่นไทย
แต่ยังฝังทำกิน กอบโกยสินไทยไป เหยียดคนไทยเป็นทาสของมัน
หนักแผ่นดิน หนักแผ่นดิน คนเช่นนี้เป็นคนหนักแผ่นดิน (หนักแผ่นดิน!)
หนักแผ่นดิน หนักแผ่นดิน คนเช่นนี้เป็นคนหนักแผ่นดิน (หนักแผ่นดิน!)
คนใดยุยงปลุกปั่น ไทยด้วยกันหวังให้แตกกระจาย
ปลุกระดมมวลชนให้สับสนวุ่นวาย เพื่อคนไทยแบ่งฝ่ายรบกันเอง
คนใดหลงชมชาติอื่น ชาติเดียวกันเขายืนข่มเหง
ได้สินทรัพย์เจือจานก็ประหารไทยกันเอง ทีชาติอื่นเกรงดังญาติของมัน
คนใดขายตนขายชาติ ได้โอกาสชี้ทางให้ศัตรู
เข้าทลายพลังไทยให้สลายทางสู้ เมื่อศัตรูโจมจู่เสียทีมัน
คนใดคิดร้ายราวี ประเพณีของไทยไม่ต้องการ
เกื้อหนุนอคติ เชื่อลัทธิอันธพาล แพร่นำมันมาบ้านเมืองเรา

สมัยก่อนนี้เวลาเพลงมันดังมาก ๆ ก็จะมีคนนำมาแปลงเล่นกันครับ และเพลงหนักแผ่นดินก็ถูกนำมาแปลงเช่นกัน ซึ่งถูกแปลงเป็นเพลงหนักที่นอน ซึ่งผมก็ไม่รู้นะครับว่าใครเป็นคนแต่ง พอดีได้ยินเพื่อน ๆ ร้องมา เนื้อร้องก็ประมาณนี้นะครับ อาจไม่ตรงร้อยเปอร์เซนต์ เพราะมันนานมากแล้ว เนื้อร้องก็ประมาณนี้ครับ 

คนใดใช้เงินเมียอยู่ กายก็ดูเขาใช่จะพิการ 
ได้อาศัยเมียกิน กอบโกยสินนงคราญ แต่ใจมันยังเฝ้าคิดนอกใจ
คนใดใช้เมียดังทาส ได้โอกาสหาทางดื่มเมรัย 
ปล่อบเมียไว้เปล่าเปลี่ยว ออกไปเที่ยวคนจัญไร กลับบ้านได้ตีห้าทุก ๆ คืน 
หนักที่นอน หนักที่นอน คนเช่นนี้เป็นผัวหนักที่นอน  (หนักที่นอน!)

ถ้าใครอยากร้องแนะนำว่าให้ฝึกร้องหนักแผ่นดินให้ได้ก่อนนะครับ แล้วก็ลองร้องเพลงนี้ดูถึงจะได้อารมณ์ 

ผมเอาเพลงนี้ไปร้องให้ที่บ้านฟังก็มีแต่คนหัวเราะ หลังจากผ่านยุคนั้นมาก็ไม่ได้ร้องเพลงนี้อีกเลยนะครับ จนกระทั่งถึงปีที่คุณภรรยากำลังท้องลูกคนแรกได้ 6-7 เดือน คุณเธอก็ไปอ่านหนังสือมาบอกว่าลูกได้ยินเสียงแล้ว ควรพูดกับลูกหรือร้องเพลงให้ลูกฟัง แทนที่เธอจะร้องเอง คุณเธอก็ใช้วิธีว่าตอนเธอจะนอนเธอก็ชวนผมให้นอนด้วยครับ (อย่าคิดเรื่องอื่นนะครับ ตอนนั้นเธอท้องอยู่) และให้ผมเป็นคนร้องเพลงให้ลูกฟังครับ ผมก็ร้องเพลงให้ฟังกล่อมลูกกล่อมเมียไป ทุกวันเข้าหลัง ๆ ชักหมดมุกไม่รู้จะร้องอะไรดี ไม่รู้อะไรดลใจก็ร้องหนักแผ่นดินขึ้นมาครับ เธอก็บอกว่าเอาเพลงอะไรมาร้องเนี่ย ผมก็เลยเปลี่ยนเป็นหนักที่นอนแทน ปรากฎเธอหัวเราะไม่ยอมหยุด ผมกลัวจะเป็นอันตรายกับลูกก็เลยรีบหยุดร้องครับ :) จากนั้นก็ไม่เคยร้องหรือนึกถึงเพลงนี้อีกเลยจนถึงวันนี้นี่แหละครับ 

เห็นเพลงนี้กลับมาเป็นกระแสก็เลยเอามาเล่าให้ฟังครับ เรื่องเครียด ๆ จริงจังเห็นโพสต์กันเยอะแล้วบน Facebook มาเขียนเรื่องเบา ๆ กันบ้างดีกว่านะครับ...  


วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2562

เหลียวหลังมองปี 2018

สวัสดีปีใหม่ครับ หวังว่าคงจะยังไม่ช้าเกินไปที่จะสวัสดีปีใหม่กันนะครับ บล็อกแรกของปี และตั้งใจว่าจะเขียนให้มากขึ้นในปีนี้ แต่ก็ไม่อยากตั้งเป้าไว้มาก เพราะปีที่แล้วก็ตั้งเป้าไว้แบบนี้แต่ก็ทำไม่ได้

จริง ๆ ผมไม่เคยคิดที่จะมาเขียนรีวิวปีที่แล้วเลยนะครับ แต่บังเอิญ Google ส่ง Goole Maps Timeline ซึ่งเป็นการสรุปการเดินทางของผมในปีที่แล้วมาให้ ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจคือปีที่แล้วผมใช้เวลาอยู่บนรถ 736 ชั่วโมง เฉลี่ย 2 ชั่วโมงกว่า ๆ ต่อวัน และเดินทางด้วยรถไปเป็นระยะทาง 23,499 กิโลเมตร ส่วนการเดินทางด้วยการเดินคือ 77 กิโลเมตร และใช้เวลาเดินทางด้วยการเดิน 17 ชั่วโมง ซึ่งก็ไม่รู้ว่ามั่วบ้างหรือเปล่านะครับ เพราะเข้าไปดูรายละเอียดมีการแสดงว่าผมเดินทางด้วยมอเตอร์ไซค์ด้วย แต่ปีที่แล้วผมแน่ใจว่าไม่เคยนั่งมอเตอร์ไซค์เลยปีที่แล้ว และสถานที่ที่อยู่ก็ไม่น่าจะมีมอเตอร์ไซค์ให้นั่ง ไม่รู้ Google ดูจากอะไรว่าผมนั่งมอเตอร์ไซค์

หลังจากที่ได้ข้อมูลจาก Google ก็เลยทำให้ผมได้มองย้อนกลับไปในปีที่แล้ว และก็ถามตัวเองว่าปีที่แล้วของผมเป็นยังไง ซึ่งคำตอบที่ได้คือเป็นปีที่ทุ่มเทเวลาไปกับการสอนหนังสือ และเตรียมตัวสอนหนังสือ จริง ๆ ผมเป็นคนที่สอนหนังสือด้วยจำนวนชั่วโมงต่อปีมากอยู่แล้ว แต่ปีที่แล้วใช้เวลามากขึ้น เพราะได้รับเชิญให้ไปสอนที่วิทยาลัยนานาชาติ อีก 3 วิชา ซึ่งนอกจากวิชาจะเพิ่มแล้วก็ต้องเตรียมตัวสอนเพิ่มขึ้นอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นผมยังคิดอะไรไม่รู้ไปเปิดวิชาใหม่ขึ้นมาหนึ่งวิชาคือวิชาที่เกี่ยวกับบล็อกเชน ซึ่งต้องเตรียมสอนเยอะมาก ผมไม่ได้สอนวิชาที่ใหม่ ๆ ไม่เคยสอนมาก่อนเลยนี่นานมากแล้วนะครับ ย้อนกลับไปเป็นสิบปีได้ ถึงแม้จะมีความรู้ มีวัตถุดิบอยู่พอสมควรแล้ว แต่การนำมาเรียบเรียงนี่ใช้เวลามากจริง ๆ ครับ ถ้าใครเคยเตรียมสอนวิชาใหม่ ๆ ผมว่าน่าจะเข่้าใจดี วิชาเก่า ๆ ก็ต้องเตรียมสอนนะครับ ปรับปรุงให้ทันสมัย และดูข้อบกพร่องทีทำให้นักศึกษาไม่เข้าใจ ตัดอะไรที่มันล้าสมัยหรือไม่จำเป็นออกไป ยิ่งไปกว่านั้นยังต้องจัดทำสื่อออนไลน์ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนในแบบ Active Learning อีกด้วย เรียกว่าปีที่แล้วแทบไม่ได้ทำงานอย่างอื่นเลย สอนเสร็จก็กลับบ้านก็มานั่งเตรียมสอน

ส่วนเรื่องอื่น ๆ ในปีที่แล้วที่น่าจดจำก็มีอย่างลูกคนเล็กที่สามารถเอาชนะระบบ TCAS เข้ามหาวิทยาลัยได้โดยไม่มีปีญหา คนในครอบครัวทุกคนก็ยังมีสุขภาพดี และมีความสุขกันตามอัตภาพ ทีมฟุตบอลที่เชียร์อย่างลิเวอร์พูลก็ทำให้มีรอยยิ้มได้มากมายตลอดปี (หวังว่าปีนี้จะทำให้ยิ้มได้เต็มที่นะ) สุขภาพตัวเองก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีระดับหนึ่ง (มีเสื่อมไปตามวัยบ้าง)  ถึงแม้จะเอาแต่ทำงานและไม่ได้ดูแลตัวเองมากนัก (ปีนี้ตั้งใจจะดูแลตัวเองให้ดีขึ้น)

ส่วนปณิธาณที่ตั้งใจจะทำในปีนี้ ก็ขอไม่ตั้งอะไรมาก (เพราะตั้งแล้วทำไม่เคยได้เลย) เอาเป็นว่าก็จะทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุดทั้งด้านงาน ส่วนตัว ครอบครัว และคนรอบข้าง ซึ่งถ้าทำอย่างดีแล้วก็หวังว่าผลมันก็จะออกมาดีด้วย และก็จะพยายามมาพูดคุยกันผ่านบล็อกนี้กันให้บ่อยขึ้นครับ สวัสดีปีใหม่อีกครั้งครับ

วันพุธที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2561

เราต้องดีหรือเก่งแค่ไหนถึงจะวิจารณ์คนอื่นได้

เคยรู้สึกไหมครับว่าหลาย ๆ ครั้งที่เราคุยกับใครแล้วก็มีความเห็นต่างกัน โดยอาจจะเป็นการวิจารณ์อะไรสักอย่างในมุมมองที่ต่างกัน สุดท้ายก็มักจะมีข้อความประเภทว่า ไปวิจารณ์เขาเราดีพร้อมแล้วหรือ หรือไปวิจารณ์เขาทำดีได้เท่าเขาหรือเปล่า ซึ่งถ้ามาถึงตรงนี้ผมก็มักจะเลิกคุย เพราะคุยไปก็ไม่มีประโยชน์ เสียอารมณ์กันเปล่า ๆ

ถ้าคนเราต้องดีให้ครบทุกด้าน แล้วถึงจะมีสิทธิวิจารณ์คนอื่นได้ โลกนี้คงไม่ต้องมีการวิจารณ์กัน อันนี้ไม่ได้หมายถึงว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเองนะ แต่หมายถึงคนทุกคนย่อมมีข้อบกพร่องอยู่ในตัวแทบทุกคน เช่นบางคนเป็นคนเคารพกฎหมาย แต่อาจจะหงุดหงิดง่าย ถ้าเขาจะวิจารณ์คนทำผิดกฎหมายก็ไม่น่าจะแปลก แต่ถ้าเขาไปวิจารณ์คนอื่นว่าหงุดหงิดง่ายจัง นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง และก็สมควรถูกว่ากลับว่าดูตัวเองหรือยัง

ถ้าคนเราจะวิจารณ์ใครแล้วจะต้องทำดีให้เท่าเขาให้ได้ก่อน โลกนี้คงไม่ต้องมีการวิจารณ์กันเช่นกัน การวิจารณ์นักฟุตบอลระดับพรีเมียร์ลีกสักคนหนึ่ง ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเตะบอลให้เก่งระดับพรีเมียร์ลีก แต่การวิจารณ์เหล่านั้นมันจะอยู่บนมาตรฐานหรือสิ่งที่เราคาดหวังว่านักฟุตบอลระดับนั้นน่าจะทำได้ อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือคนที่ประเมินการสอนของอาจารย์ก็คือนักเรียน ถ้าอาจารย์คิดว่านักเรียนพวกนี้เป็นใครถึงมาวิจารณ์เรา มาสอนเองจะสอนได้ไหม มีความรู้เท่าเราไหม ก็คงไม่ต้องมีการประเมิน แต่ถ้าคิดว่าเขาประเมินเราด้วยระดับมาตรฐานที่เขาคิดว่าเราน่าจะทำได้ นั่นก็เป็นสิ่งที่เราควรจะต้องรับฟัง การวิจารณ์นักการเมือง ทหาร หัวหน้าคสช. หรือผู้บริหารบ้านเมือง โดยประชาชนก็เช่นกัน

อีกอย่างคงต้องแยกการวิจารณ์ออกจากการติเตียน (ด่า) ด้วย เพราะบางคนก็ขอให้ได้แย้ง ขอด่าเอามัน แต่การวิจารณ์ที่ดีก็คือการติเพื่อก่อ ชี้ให้เห็นข้อบกพร่อง และอาจจะเสนอทางแก้ด้วยหรือไม่ก็ได้ ถ้าเสนอได้ก็ดีมาก จริง ๆ การวิจารณ์บางอย่างมันก็บอกทางแก้อยู่ในตัวแล้ว เช่นถ้าบอกว่าแบบฟอร์มมันไม่เหมาะสม มีส่วนที่ให้ป้อนข้อมูลมากเกินไป ตรงนี้ตรงนั้นไม่น่ามี หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง วิจารณ์ว่าทำไมไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง จะได้ไม่ต้องทำเรื่องขยายเวลาการทำงานพรรคการเมืองออกไป นั่นก็เสนอทางแก้ปัญหาแล้ว แต่ถ้าเสนอไม่ได้ เพราะปัญหาบางอย่างมันอาจเกินความสามารถของคนธรรมดาที่ไม่ได้มีความรู้ในเรื่องนั้นจะแก้ปัญหาได้ เพียงแต่เขาเห็นว่ามันเป็นปัญหา ก็เป็นหน้าที่ของผู้รับผิดชอบที่จะต้องรับฟังและหาทางแก้ หรือไม่ก็ชี้แจง แทนที่จะมาทำฟาดงวงฟาดงาหาว่าบิดเบือน หรือฟ้องเขาบ้าง อย่างที่คนบางคนชอบทำอยู่ในทุกวันนี้

การวิจารณ์อย่างเสรีและสร้างสรรค์เป็นปัจจัยหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสมควรจะเริ่มได้คืนมาก่อนที่เราจะได้เลือกตั้งกันนะ เอ๊ะผมพูดอะไรนี่ พวกเพลงดาบแม่น้ำห้าสายเขาประสานงานกันอย่างเป็นระบบที่จะทำให้การเลือกตั้งมันเลื่อนออกไปเรื่อย ๆ ดาบนี้ชง ดาบนี้รับลูก คนหนึ่งไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง อีกคนทำเรื่องขยายเวลาอ้างความหวังดีกลัวพรรคการเมืองทำงานไม่ทัน ช่างเป็นกระบวนท่าที่สวยงามจริง ๆ อ้าวทำไมวกมาเรื่องนี้ล่ะนี่ พอก่อนแล้วกันนะครับ เดี๋ยวบล็อกจะปลิวไปซะ บล็อกต่อไปเขียนเรื่องเมย์-เจ ชวัญ-กอล์ฟท่านลอร์ด อะไรแบบนี้น่าจะถูกใจผู้มีอำนาจมากกว่า...