แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ การศึกษา แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ การศึกษา แสดงบทความทั้งหมด

วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ขอพูดถึงเกณฑ์การเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการบ้าง

ในสัปดาห์นี้เรื่องที่น่าจะเป็นประเด็นร้อนที่สุดในวงการวิชาการของมหาวิทยาลัยก็คือเกณฑ์ใหม่ที่ออกมาในการประเมินอาจารย์เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการครับ ซึ่งตัวเกณฑ์ใหม่ก็ดูได้จากลิงก์นี้ครับ พออกมาก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมากมาย ว่าเป็นกฏเกณฑ์ที่สูงกว่าเกณฑ์เดิม ซึ่งจริง ๆ ก็สูงอยู่แล้ว มีการวิจารณ์ว่าเป็นเหมือนการชักบันไดหนีของคนที่ได้ไปแล้ว และก็มีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญได้ทำการวิเคราะห์ปัญหาของเกณฑ์นี้ตัวอย่างก็เช่นลิงก์นี้ครับ

ในส่วนตัวผมซึ่งก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะก็เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และก็วางแผนที่จะขยับขยายยื่นเรื่องเพือเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการที่สูงขึ้น ซึ่งต้องบอกว่าผมควรจะยื่นนานแล้ว แต่ติดโน่นติดนี่คือขาดงานบางชิ้น ซึ่งอันนี้ผมโทษตัวเองที่วางแผนเวลาไม่ดีเอง คืออย่างนี้ครับเกณฑ์การเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการถ้านับจากสักสิบปีที่แล้วนี่น่าจะเปลี่ยนมาสามหรือสี่ครั้งแล้วนะครับ ซึ่งการปรับแต่ละครั้งก็จะมีเงื่อนไขที่ต่างออกไป และมีเงื่อนไขที่ส่วนใหญ่จะสูงขึ้น ดังนั้นผมก็ไม่ประหลาดใจกับอันล่าสุดนี่สักเท่าไหร่ที่มันจะสูงขึ้น แต่คราวนี้มันสูงขึ้น บ้าขึ้น และไม่สอดคล้องกับบริบทที่ประเทศกำลังดำเนินไป

อีกอย่างหนึ่งส่วนใหญ่เกณฑ์ที่ออกมามันมักจะมีระยะเวลาก่อนที่จะบังคับใช้ คือให้เวลาอาจารย์ที่วางแผนกับเกณฑ์เก่าก็ทำตามเกณฑ์เก่าไปก่อนได้ แต่อันนี้เหมือนออกมาปุ๊ปก็จะบังคับใช้ปั๊ป อารมณ์ก็เหมือนกับวิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนไปเกือบทุกปี ทำให้เด็กบางคนที่วางแผนมาตั้งแต่ ม.4 ม.5 เสียแผนไปหมด อันนี้คืออาจารย์ก็เสียแผนไปหมด และงานบางอย่างที่ทำมาเกณฑ์เก่าใช้ได้ แต่พอเกณฑ์ใหม่นี่อาจใช้ไม่ได้เลยนะครับ ตัวอย่างก็เช่นการกำหนดว่าผลงานที่มาขอตำแหน่งวิชาการ ถ้าทำหลายคนผู้ขอจะต้องมีชื่อเป็นคนแรก หรือเป็นผู้เขียนที่รับผิดชอบในการแก้ไข (corresponding author) เท่านั้น ซึ่งบริบทในปัจจุบัน และทิศทางของประเทศ การทำงานมันจะเป็นลักษณะของสหสาขาวิชา หรือทำร่วมกันหลายคน เนื่องจากแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญที่ต่างกัน ซึ่งผลงานอย่างหนังสือหนึ่งเล่ม อาจจะมีอาจารย์ช่วยกันแต่งหลายคน ถ้ากำหนดให้คนที่มีชื่อเป็นคนแรกเท่านั้นเอาไปขอผลงานได้ ก็คงไม่มีใครอยากทำงานร่วมกันกับใคร เพราะไม่ได้ประโยชน์อะไร ซึ่งในเกณฑ์เก่าเขาให้อาจารย์ไปเซ็นเอกสารกันมาว่างานชิ้นนี้อาจารย์มีส่วนร่วมกันคนละกี่เปอร์เซนต์ ซึ่งก็เป็นการตกลงกันของอาจารย์เอง

สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะดีจากเกณฑ์ใหม่นี้คือการที่สามารถเสนอจะขอตำแหน่งได้โดยไม่ต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิมาพิจารณางาน ซึ่งเป็นส่วนที่ผมเห็นด้วยค่อนข้างมาก เพราะเกณฑ์เก่า ๆ ก่อนหน้านี้เขาก็ให้ผู้ทรงคุณวุฒิมาให้เกรดงานวิจัยว่าดี ดีมาก อะไรแบบนี้ ซึ่งจริง ๆ เกณฑ์ใหม่ก็ให้เกรดวารสารว่ากลุ่มไหนเป็น A, B+, B (เท่าที่อ่านเหมือน B จะให้กรรมการพิจารณา) อะไรแบบนี้ แต่เท่าที่ดูเกณฑ์ A กับ A+ ค่อนข้างสูง และยังกำหนดว่าต้องตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ ซึ่งก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมทุกสาขาต้องทำเหมือนกัน แต่ถ้ามีเกณฑ์ตรงนี้แล้วก็ไม่เห็นต้องไปให้ผู้ทรงคุณวุฒิอ่านอีก ประหยัดเวลา และลดงานที่ซ้ำซ้อน กำหนดไปเลยว่าจะเอากี่ชิ้น (แต่ช่วยทำวิจัย และดูแต่ละสาขาด้วย)  ผมบอกเลยนะครับว่าเหตุผลหนึ่งที่ผมไม่ได้ยื่นขอตำแหน่งก็เพราะอันนี้นี่แหละ คือผมไม่เข้าใจว่าถ้าเราตีพิมพ์งานลงบนวารสารที่ตรงตามเกณฑ์แล้ว ผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านี้เอาอะไรมาบอกว่าบทความเราผ่านหรือไม่ผ่าน  

แต่แทนที่จะทำแบบนี้กลับไปวางเกณฑ์แบบบ้าบอมาก คือเอาง่าย ๆ ว่าคงไม่มีใครสามารถยื่นขอตำแหน่งวิชาการแบบไม่มีผู้ทรงคุณวุฒิได้ เท่าที่อ่านมามีคนถามว่าต่อให้ศาตราจารย์ระดับโลกถ้ามายื่นขอศาสตราจารย์ในประเทศไทย ก็คงไม่ผ่านเกณฑ์นี้ ก็ได้รับคำตอบว่าก็ไปยื่นแบบมีผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาสิ ตอบได้บ้าบอมาก (ถ้าจริงนะ) และที่น่าขำคือมีคนไปขุดมาว่า พวกที่ออกเกณฑ์นี้มาเองก็ไม่ผ่านเกณฑ์ที่ตัวเองตั้งขึ้นมา

จริง ๆ ผมมองไปถึงมีระบบที่ให้อาจารย์แต่ละคนพอมีผลงานก็อัพโหลดผลงานเข้าไปในระบบ พอผลงานถึงเกณฑ์ก็ได้ตำแหน่งไป ผมไม่เข้าใจว่าจะทำให้มันซ้ำซ้อนโดยอาจารย์จะต้องมากรอกแบบฟอร์มประวัติตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ก็มีข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์แล้วทำไม นอกจากนี้ระบบนี้ยังมีประโยชน์ในเรื่องของการประกันคุณภาพได้อีกด้วย สามารถดึงข้อมูลตรงนี้ไปใส่เป็นหลักฐานประกันคุณภาพได้เลย ไม่ต้องมาเรียกขอจากอาจารย์ซ้ำไปซ้ำมา

แต่ไม่ใช่ว่าผู้ทรงคุณวุฒิจะไม่มีความจำเป็น สิ่งที่ผมคิดว่ายังคงต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิอ่านอยู่ก็คือกรณีที่ยื่นขอตำแหน่งโดยใช้ตำรา/หนังสือประกอบด้วย อันนี้ควรที่จะมีผู้ทรงคุณวุฒิช่วยตรวจดู ช่วยคุมคุณภาพ และก็ควรจะมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความทันสมัย เข้าใจเทคโนโลยี และวิชาใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นด้วย

อีกอย่างที่ควรจะเลิกได้แล้วก็คือทำอะไรแบบ one-size-fits-all แต่ละสาขาวิชา มีบริบทที่แตกต่างกัน ทำไมการยื่นขอศาสตราจารย์ของทุกสาขาจะต้องลงตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติเท่านั้น บางประเด็นมันแก้ปัญหาอยู่ในบริบทของประเทศไทยซึ่งเป็นประโยชน์มากกับประเทศไทย เช่นสมมติเป็นงานวิจัยด้านภาษาไทย แล้วจะไปตีพิมพ์นานาชาติยังไง 

ในส่วนหนึ่งผมก็เข้าใจ และเห็นว่ามันต้องมีการควบคุมคุณภาพทางวิชาการ แต่ควรทำอยู่ในขอบเขตของความพอดี ความเป็นไปได้ เหมาะสมกับบริบทของประเทศ อย่างตอนนี้ประเทศบอกว่าต้องการงานวิจัยแบบเน้นการพัฒนาประเทศ แต่เกณฑ์ก็ยังจะเอาการอ้างอิงจากต่างประเทศ ขอให้เข้าใจว่ามหาวิทยาลัย และสาขาวิชาต่าง ๆ มีความแตกต่างกัน และภาระงานต่าง ๆ ของอาจารย์ก็ต่างกัน และเอาใจเขามาใส่ใจเราว่าถ้าตัวเองต้องมาอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์นี้จะเป็นยังไง ไม่ใช่เพราะฉันผ่านไปแล้ว ไม่ต้องลงมาทำอันนี้แล้ว จะทำยังไงก็ได้ ไหน ๆ ก็อยู่ในวงการการศึกษาการวิจัยระดับสูงสุดของประเทศแล้ว ช่วยสร้างตัวอย่างการทำงานให้หน่วยงานอื่นเขาดูกันเถอะครับ จะทำอะไรจะวางเกณฑ์อะไรก็ชี้แจงแสดงเหตุผล หรือมีงานวิจัยใช้อ้างอิงประกอบด้วยก็ดี อย่างมีประเทศไหนไหมที่เขาใช้เกณฑ์แบบเราบ้าง เพราะแทบทุกวงการในประเทศนี้ ส่วนใหญ่มันถูกสั่งการมาโดยคนกลุ่มหนึ่งที่วางเกณฑ์แบบดูเหมือนจะมโนเอา ไม่ได้วิจัยอะไร หรือมองโลกแต่ในมุมของตัวเองว่าแบบนี้มันดี โดยไม่ได้ดูว่ามันปฏิบัติได้ไหม ทำแล้วมันคุ้มกับการสิ้นเปลืองเวลาในการทำไหม และมีการประเมินข้อดีข้อเสียไหม 

สุดท้ายก็ขอฝากไว้ว่า พวกกลุ่มคนที่ออกกฏมานี่ ก็ล้วนแล้วแต่ที่จะต้องผ่านการทำวิจัยมาแล้ว และกฏเกณฑ์พวกนี้ส่วนหนึ่งก็ออกมาวัดความสามารถในการทำวิจัยของอาจารย์ ดังนั้นก่อนจะทำอะไรออกกฏอะไร ก็ช่วยทำให้คนที่เขาต้องปฏิบัติ ได้เชื่อว่าเรื่องพวกนี้ผ่านการทำวิจัยมาแล้ว มีเหตุผลรองรับชี้แจงได้ ทุกข้อ เหมือนตอนที่พวกเราต้องเป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา เราก็ต้องถามประเด็นที่นักศึกษานำเสนอจนชัดเจน ก็ขอฝากไว้แค่นี้แล้วกันครับ 
  

วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2563

สรุปประสบการณ์สอนออนไลน์และสิ่งที่น่าจะทำต่อไป

สัปดาห์นี้ผมเพิงจบการสอนออนไลน์ของภาคการศึกษาที่ 2/2562 ไปครับ อย่างที่เราทราบกันว่ามันมีเรื่อง COVID 19 เกิดขึ้น แล้วก็เกิดการระบาดไปทั่วโลกรวมถึงประทศไทยด้วย โดยสถานการณ์ของประทเศไทยเริ่มมีปัญหาหนักในช่วงปลายเดือนมีนาคม จากการระบาดครั้งใหญ่จากสนามมวยลุมพินีทำให้สถานศึกษาทุกแห่งในประเทศต้องเปลี่ยนเข้าสู่ระบบออนไลน์ทันทีไม่ว่าจะพร้อมหรือไม่ ผมก็เลยอยากจะสรุปประสบการณ์ของตัวเองและข้อเสนอแนะเอาไว้ในบล็อกนี้สักนิดนะครับ 

ต้องบอกว่าผมใช้วิธีสอนออนไลน์หลายอย่างมากครับ คือบางวิชาที่มีวีดีโออยู่แล้ว ผมก็ใช้วิธีให้ดูวีดีโอมาก่อน แล้วก็มาทำโจทย์ร่วมกันแบบออนไลน์ตามเวลาเรียนปกติ วิชาที่ไม่มีวีดีโอก็บรรยายสดผ่านโปรแกรมประชุมออนไลน์ที่ใช้มากที่สุดก็คือ Google Meet และวิชาไหนที่มี Lab คอมพิวเตอร์ก็มีใช้ Zoom บ้าง Google Meet บ้าง ให้นักศึกษาทำโจทย์ ใครทำเสร็จก็ให้แชร์หน้าจอมาให้ดู แล้วก็อธิบายโปรแกรมให้ฟัง มีการ Quiz เพื่อวัดความรู้ผ่านทางโปรแกรมอย่าง Socrative หรือ Google Form ใช้ Google Classroom ให้ทำแบบฝึกหัดแล้วอัดวีดีโอส่ง มีการสอบปฎิบัติโดยให้ทำแล้วอัดวีดีโอขณะที่ทำ แล้วส่งทั้งโค้ดและวีดีโอขึ้น Google Classroom สิ่งเดียวที่ไม่ได้ทำคือจัดสอบออนไลน์ แล้วให้นักศึกษาเปิดกล้องแล้วไปคุมสอบ อย่างที่หลายที่ทำกัน 

ซึ่งขอสรุปว่าวิธีที่ผมไม่ชอบที่สุด และสุดท้ายก็ต้องเลิกไปก็คือการสอนสด เพราะมีปัญหาหลายอย่าง อันแรกคือเรื่องความสนใจของนักศึกษา ซึ่งตามปกติเรียนในห้องก็สมาธิไม่ดีอยู่แล้ว ยิ่งเรียนแบบนี้ยิ่งไปกันใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้นการสอนนี่ยิ่งเหมือนเป็นทางเดียวหนักเข้าไปอีก เพราะตามปกติเด็กไทยเรียนในห้องก็แทบจะไม่อยากตอบอะไรอยู่แล้ว ยิ่งตอนนี้ยิ่งไม่มีส่วนร่วมใหญ่ ขนาดผมให้ chat มา ไม่ต้องพูดถาม/ตอบ ยังแทบไม่มีใครทำ นอกจากบรรยากาศแล้ว ยังเป็นเรื่องความพร้อมของนักศึกษาทั้งทางด้านวินัยตัวเอง ขนาดเรียนออนไลน์ ผมนัดตามเวลาเรียน ซึ่งจริง ๆ ไม่ควรจะมีใครมาสายก็ยังมีคนที่เข้ามาร่วมชั้นเรียนสาย ไม่ต่างจากเวลามาเรียนในห้องปกติ ความไม่พร้อมด้านสภาพแวดล้อม และอุปกรณ์ของนักศึกษาเอง ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมของบ้าน คุณภาพของเครือข่าย ความพร้อมของอุปกรณ์อื่น ๆ อย่างคอมพิวเตอร์ ซึ่งถ้ามาเรียนตามปกติ ก็มาใช้ทุกอย่างของมหาวิทยาลัย แต่พอใช้ที่บ้านเครื่องที่มีอยู่อาจไม่พร้อมเท่ามหาวิทยาลัย นักศึกษาหลายคนบ่นว่าได้ยินเสียงขาด ๆ หาย ๆ ซึ่งในที่สุดผมก็ต้องเลิกใช้วิธีนี้ และไปใช้การอัดวีดีโอให้ไปดูมาล่วงหน้า ซึ่งมันทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมาอีก อย่างเช่นผมไม่มีเวลาตรวจงานที่มอบหมายให้นักศึกษาได้ทันเวลา ซึ่งจริง ๆ ควรตรวจสัปดาห์ต่อสัปดาห์ จะได้ให้คำแนะนำต่องานที่นักศึกษาส่งเข้ามา ซึ่งตรงนี้ต้องบอกว่าทำไม่ได้เลย เพราะการทำวีดีโอมันค่อนข้างใช้เวลา และผมก็สอนเยอะมาก เทอมนี้สอน 7 วิชา มีวีดีโออยู่ 4 วิชา ซึ่งก็ต้องปรับปรุง และยังมีวิชาที่ไม่มีดีโอเลย ซึ่งการทำวีดีโอนี่ใช้เวลามากครับ ผมเลยไม่มีเวลาไปตรวจงานได้

และทุกวิธีก็มีปัญหา บางปัญหาก็เกิดจากตัวนักศึกษาเอง บางครั้งก็เกิดจากผมเอง เพราะสั่งงานไปบางครั้งก็ไม่คิดว่าจะมีปัญหาแบบนี้ เพราะเอาตัวเองเป็นหลักว่าตัวเองรู้แล้ว หรือเด็กเอกคอมน่าจะรู้ น่าจะแก้ปัญหาได้ บางปัญหาก็ไม่นึกว่าจะเกิดขึ้น อย่างทำ quiz อยู่ นักศึกษาบอกว่าไฟดับเพราะที่บ้านฝนตกหนัก บอกให้ไปซ้อมอัดวีดีโอหน้าจอมา บางคนไปซ้อมอัดมาแค่คลิปละ 2-3 นาที พอมาใช้จริง ก็พบว่า โปรแกรมที่ใช้แบบฟรี ๆ มันให้ใช้แค่คลิปละไม่เกิน 10 นาที (นี่แสดงให้เห็นถึงปัญหาของพวกเราที่เป้นผู้ใช้หลายคนนะครับ คือไม่เคยอ่านข้อตกลงเงื่อนไขการใช้งานเลย) บางคนพออัปคลิปขึ้น Youtube ซึ่งมันต้องให้ยืนยันตัวตนก่อน ถึงจะอัปคลิปยาวเกิน 15 นาทีได้ ก็ไม่อ่านว่าแค่ยืนยันตัวตนก็อัปได้แล้ว แต่กลับไปแบ่งวีดีโอเป็นหลาย ๆ คลิป อะไรแบบนี้เป็นต้น 

โดยความเห็นส่วนตัวผมมองว่า ที่ผมทำผ่านมามันไม่ใช่การเรียนออนไลน์จริง ๆ การเรียนออนไลน์จริง ๆ  ควรจะเป็นแบบที่ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามอัธยาศัยของผู้เรียน โดยอาจมีการกำหนดเวลาอย่าง Coursera, MOOC,  และ อีกหลาย Platform ซึ่งผมอยากทำแบบนั้น และตั้งใจจะทำมานานแล้ว แต่ยังหาเวลาทำให้สมบูรณ์ไม่ได้ และยังหา Platform ที่จะทำแบบนี้ยังไม่ได้ ซึ่งคิดว่าในช่วงปิดเทอมนี้จะพยายามทำให้ได้ ไม่ว่าจะต้องสอนออนไลน์หรือกลับไปสอนตามปกติ ซึ่งผมว่ามันจะเป็นประโยชน์และเป็นประโยชน์อื่น ๆ ด้วย อย่างเช่นผมสามารถให้นักศึกษาไปเรียนด้วยตัวเอง และอาจนัดกันคุยผ่านออนไลน์หรือในห้องสักสองสัปดาห์ครั้ง ครั้งละไม่นานนัก หรือถ้าใครอยากถามเป็นการส่่วนตัวก็จะกำหนดเวลาให้ซักถามไว้ ซึ่งตรงนี้ถ้าใครเรียนได้เร็วก็จบเร็ว โดยถ้าใครเรียนจบได้ตามเวลาที่กำหนดไว้ ก็จะให้เกรดอย่างต่ำ C จากนั้นก็อาจมาสอบกันจริง ๆ และ/หรือมานำเสนอโครงการ เพื่อที่จะได้เกรดที่สูงกว่า C ต่อไป 

อีกอย่างที่ต้องปรับตัวและทำความเข้าใจก็คือส่วนของสถานศึกษาครับ สถานศึกษาหลายแห่งยังเข้าใจว่าการเรียนออนไลน์ก็คือการเปลี่ยนจากสอนในห้องเป็นสอนผ่านเน็ต ดังนั้นก็จะเรียกหาหลักฐานการสอนว่าสอนครบชั่วโมง สอนตามตารางสอนไหม และที่น่าต้องคิดกันต่อไปก็คือ น่าจะสนับสนุนให้อาจารย์สร้างคอร์สออนไลน์กันให้มากขึ้น โดยอาจจะนับให้หนึ่งวิชามีค่าเท่ากับหนึ่งบทความวิชาการ และสามารถนับเพื่อไปขอผลงานทางวิชาการได้ ซึ่งถ้าทำแบบนี้ก็จะทำให้เรามีคอร์สออนไลน์มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะให้นักศึกษาเรียนแล้ว ยังเปิดให้คนนอกเรียนได้ ซึ่งจะเปิดเป็นบริการวิชาการแบบฟรี ๆ หรือจะเก็บเงินเพื่อเป็นรายได้ส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย และแจกประกาศนียบัตรให้กับคนที่เรียนจบ นอกจากนี้อาจเปิดให้คนที่เรียนออนไลน์และได้ใบประกาศนียบัตรนี้ เมื่อสมัครเข้ามาเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ก็สามารถนำมาแสดง และสามารถรับการสอบ เพื่อให้เรียนจบได้เร็วขึ้นได้ ซึ่งก็จะเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิตอีกด้วย  


วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ใช้ AI ช่วยระบุตัวนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือ

นักวิจัยที่ North Carolina State University's Center for Educational Informatics  ได้พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (Arificial Intelligence, AI) เพื่อช่วยวัดว่านักเรียนเข้าใจบทเรียนแค่ไหนผ่านทางการเล่นเกม โดยตัวแบบ (model) ที่ปรับปรุงขึ้นใช้แนวคิดการฝึกสอน AI ที่เรียกว่าการเรียนแบบหลายงาน (multi-task learning) ซึ่งจะช่วยปรับปรุงทั้งการสอนและผลลัพธ์การเรียนรู้ การเรียนแบบหลายงานก็คือการที่ตัวแบบตัวแบบหนึ่งใช้กับงานหลาย ๆ งาน AI จะถูกมอบหมายให้เรียนรู้งาน 17 งาน ซึ่งจะสัมพันธ์กับคำถามที่จะเป็นข้อสอบ 17 ข้อ  นักวิจัยได้ทดสอบกับนักเรียน 181 คน โดย AI จะดูวิธีเล่นเกมของนักเรียน และระบุพฤติกรรมของนักเรียนว่าเล่นเกมแบบไหนจึงตอบคำถามถูก และแบบไหนจึงตอบคำถามผิด ซึ่งข้อมูลตรงนี้จะสามารถใช้ทำนายว่านักเรียนคนใหม่ที่เข้ามาเล่นเกมนี้จะตอบคำถามในข้อสอบถูกหรือไม่ นักวิจัยบอกว่าวิธีเรียนแบบหลายงานนี้ช่วยเพิ่มความแม่นยำจากการฝึกสอนแบบเดิม ๆ ประมาณ 10%

อ่านข่าวเต็มได้ที่: NC State University News

วันอาทิตย์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ขอพูดถึงเรื่องวิชา Coding กับเขาบ้าง

หลังจากไม่ได้เขียนบล็อกมาซะนานวันนี้รู้สึกอยากเขียน เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว และกำลังเป็นกระแสอยู่ในตอนนี้ เรื่องนี้เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการแถลงนโนบายของรัฐบาลครับ ไม่ใช่เรื่องตัดพี่ตัดน้อง สส.สมุนโจร หรือสว.เลียท้อปบู๊ตทหารนะครับ แต่เป็นเรื่องการที่รัฐบาลจะให้เด็กเรียนโค้ดดิง (coding) โดยรมต.ออกมาพูดว่าเรียนโค้ดดิงไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ก็ได้ แล้วก็เกิดข้อถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันมากมาย

ก่อนอื่นต้องบอกว่าถ้าเราได้ติดตามข่าวด้านการศึกษาในช่วงสองสามปีมานี้ จะพบว่าทางกระทรวงศึกษาธิการได้มีการปรับปรุงหลักสูตรที่เริ่มใช้ในปีการศึกษา 2561โดยเปลี่ยนวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศจากหมวดการงาน มาเป็นวิชาวิทยาการคำนวณในหมวดวิทยาศาสตร์ ซึ่งโค้ดดิงเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาการคำนวณ ดังนั้นเรื่องการโค้ดดิงนี้จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ที่จะมาคิดริเริ่มจากกระทรวงศึกษาในรัฐบาลนี้ ซึ่งจุดประสงค์ของวิทยาการคำนวณนั้นเท่าที่ติดตามดู ไม่ได้ตั้งใจจะสร้างเด็กออกไปเป็นนักพัฒนาโปรแกรม แต่ต้องการสร้างกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ สามารถใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล และรู้เท่าทันสื่อสมัยใหม่ เพื่อให้มันติดตัวเขาไปไม่ว่าในอนาคตเขาจะไปประกอบอาชีพใด เข้าใจว่าเด็กที่เรียนในปี 2561 จะเป็นเด็ก ป.1 ป.4 ม.1 และ ม.4

ในแง่ที่เกี่ยวข้องกับโค้ดดิง ในเด็กเล็กประถมต้น เขาจะไม่ได้ให้เรียนเขียนโปรแกรมกับคอมพิวเตอร์ แต่จะสร้างการคิดอย่างเป็นระบบผ่านทางเครื่องมืออย่างการ์ดคำสั่ง หรือเกมกระดาน (board game) เป็นต้น เด็กป.4 จะได้เรียนการเขียนโปรแกรมผ่านทางภาษาโปรแกรมประเภท Block Programming คือลักษณะการเขียนโปรแกรมที่นำเอา Block คำสั่งมาเรียงต่อกัน ซึ่งภาษาที่เขาจะให้เรียนคือ Scratch ซึ่งจะให้เรียนในชั้น ป.4  ส่วนเด็กมัธยมก็จะได้เรียนเขียนโปรแกรมด้วยภาษา Python ซึ่งเป็นภาษาที่เรียนรู้ได้ง่าย เท่าที่ตามข่าวมาและพยายามทำความเข้าใจก็คือเขาน่าจะไม่ได้ให้เด็กไปเน้นที่ตัวไวยากรณ์ของภาษา ดังนั้นภาษาเขียนโปรแกรมที่เลือกใช้จึงเป็นภาษาที่เข้าใจง่าย เพื่อให้ผู้เรียนได้เน้นที่กระบวนการคิดแก้ปัญหาอย่างมีตรรกะ และเป็นระบบมากกว่า   

ในส่วนของคำว่าโค้ดดิงผมขออ้างอิงจาก  Facebook ของ อ.ยืน ภู่วรวรรณ ปรมาจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ของประเทศไทยคนหนึ่งที่บอกว่า

"โค้ดดิ้ง (Coding) เป็น Broader term ส่วน คอมพิวเตอร์ โค้ดดิ้ง (Computer coding) หรือ โปรแกรมมิ่ง (Programming) เป็น Narrow term คือมีความหมายที่แคบกว่า หรือเป็น Subset
โค้ด คือรหัส หรือการทำสัญลักษณ์ การโค้ดดิ้งคือ การเขียนสัญลักษณ์ เพื่อการบอกลำดับขั้นตอน ลำดับความคิด เพื่อสื่อสารให้เข้าใจกัน"

ดังนั้นการโค้ดดิงคืออะไรก็ได้ที่เกี่ยวข้องอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา เราเขียนอธิบายเส้นทางเพื่อให้คนส่งของมาส่งของที่บ้านเราถูกมันก็คือการโค้ดดิงแบบหนึ่ง การเขียนหนังสือการเขียนบทความให้อ่านรู้เรื่องก็เป็นการโค้ดดิงแบบหนึ่ง ดังนั้นจะเห็นว่าถ้าเราสามารถคิดและสื่อสารได้อย่างเป็นระบบแล้ว มันก็จะเป็นประโยชน์กับเราไม่ว่าเราจะทำอาชีพอะไร พูดถึงตรงนี้แล้วผมก็อยากบอกอีกครั้งว่า (เข้าใจว่าน่าจะเคยเขียนไปในบล็อกก่อน ๆ บ้างแล้ว) สิ่งที่อยากให้นำกลับมาในระบบการศึกษาระดับประถมมัธยมของเราก็คือวิชาเขียนเรียงความ เพราะจากประสบการณ์ดูแลปริญญานิพนธ์ของนักศึกษาตั้งแต่ป.ตรีถึงป.เอก พบว่าหลายคนเขียนกันไม่ค่อยจะเป็น คือบางครั้งไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน เขียนแล้วจับใจความไม่ได้ว่าจะสื่อถึงอะไร

กลับมาที่โค้ดดิงที่เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรม ที่น่าจะเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ตอนนี้ รมต.ช่วยศึกษาธิการจากพรรคประชาธิปัตย์ ชูประเด็นเรื่องโค้ดดิง และพูดถึงคำว่าภาษาที่สาม และบอกว่าโค้ดดิงไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ก็ได้ ในความเห็นส่วนตัวคงต้องจับประเด็นก่อนว่ารมต.จะพูดถึงอะไรกันแน่ ถ้าพูดถึงโค้ดดิงในแบบภาพกว้าง ตามที่อ.ยืนบอก อันนี้ก็ใช่อาจไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ก็ได้ เพราะการแสดงแนวคิดของโปรแกรมนั้นสามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ อย่างเช่นการเขียนโฟลว์ชาร์ต (flowchart) หรือรหัสเทียม (pseudo code) ซึ่งอันนี้จะหมายถึงภาษาที่สามของรมต.หรือเปล่า?

แต่ถ้าภาษาที่สามหมายถึงภาษาเขียนโปรแกรม ส่วนตัวเห็นว่าการเรียนเขียนโปรแกรมด้วยภาษาสมัยใหม่ที่เข้าใจง่าย มีไวยากรณ์ไม่ซับซ้อนอย่างภาษา Python หรือ Block Programming แบบ Scratch การนั่งเขียนอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์จะเข้าใจได้ง่ายกว่า ไม่ต้องไปเขียนลงกระดาษก่อนให้เสียเวลา เพราะผู้เรียนสามารถมองเห็นผลการทำงานของตัวโปรแกรมได้ทันที ในโปรแกรมที่ไม่มีความซับซ้อน และใช้ภาษาโปรแกรมสมัยใหม่ (จริง ๆ ถ้าคล่องแล้วแม้แต่ภาษาสมัยเก่าก็ใช้ได้นะ) ผมว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปเขียนโฟลว์ชาร์ต หรือรหัสเทียม ก่อนด้วยซ้ำ เพราะตัวภาษาเองก็เข้าใจง่ายพอ ๆ กับเขียนรหัสเทียมอยู่แล้ว  อันนี้ไม่ได้บอกว่าไม่จำเป็นต้องรู้จักการเขียนโฟลว์ชาร์ต หรือการเขียนรหัสเทียมนะครับ เพราะมันยังเป็นประโยชน์อยู่ในการสื่อสารอะไรที่มันซับซ้อน หรือต้องการสื่อสารแนวคิดที่ไม่ผูกติดกับภาษาเขียนโปรแกรมภาษาใดภาษาหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็คือ ภาษาเขียนโปรแกรมมีมากมายหลายภาษา แต่ละภาษาก็มีจุดดีจุดด้อย มีความเหมาะสมกับงานต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน ถ้าจะให้เด็กรู้จักภาษาเขียนโปรแกรมเป็นภาษาที่สามควรใช้ภาษาอะไรดี

ดังนั้นการโค้ดดิงและภาษาที่สามน่าจะหมายถึงการทำให้เด็กคิดแก้ปัญหาได้อย่างมีตรรกะ และสื่อสารได้อย่างเป็นระบบหรือเปล่า? ซึ่งตรงนี้เท่าที่อ่านจากหลาย ๆ สื่อ มีคนบอกว่าถ้าจะหมายถึงอย่างนี้เปลี่ยนจากคำว่าโค้ดดิงเป็นอย่างอื่นดีไหม เช่นความสามารถในการแก้ปัญหา (problem solving) อย่างเป็นระบบอะไรแบบนี้ ซึ่งตรงนี้ผมว่ามีความสำคัญนะครับ เพราะถ้าไม่สื่อสารชี้แจงกันให้ดี ผมว่าเดี่ยวมันก็จะกลายเป็นเหมือนการสอนภาษาอังกฤษในบ้านเราที่เน้นกันแต่ไวยากรณ์ แต่เอาไปพูดกับฝรั่งไม่ได้ การเรียนโค้ดดิงนี่ก็อาจจะกลายเป็นเน้นอะไรแบบนี้ เธอเขียนสัญญลักษณ์ของโฟลว์ชาร์ตตัวนี้ผิดนะ หรือคำสั่ง "Print()" ของเธอผิดนะ เพราะเธอใช้ P จริง ๆ ต้องใช้ p อะไรแบบนี้ 

สุดท้ายผมขอจบบล็อกนี้ด้วยการยกตัวอย่างให้เห็นว่าการคิดอย่างเป็นระบบนั้นมันอยู่รอบ ๆ ตัวเรา บางครั้งมันก็เป็นเรื่องง่าย ๆ ที่เรามองข้ามไป

(หมายเหตุเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้ มาจากเรื่องจริง แต่อาจมีการดัดแปลงคำพูดบางอย่าง และตัวละครเพื่อให้มีความเหมาะสม :))

หลายปีก่อนนักศึกษาป.ตรีที่เป็นนักศึกษาในที่ปรึกษาผม นำเล่มที่จะต้องใช้ขึ้นสอบหัวข้อมาให้ดูเป็นครั้งแรก นักศึกษาเขียนมาครบสามบทที่ต้องมีในการสอบ แต่นักศึกษาใช้วิธีรันเลขรูปแบบนี้สมมติบทที่ 1 มี 10 รูป ก็รันไปรูปที่ 1 ไปถึงรูปที่ 10 พอขึ้นบทที่ 2 ก็เริ่มตั้งแต่รูปที่ 11
ผม: คุณได้เคยเปิดเล่มของรุ่นพี่ดูบ้างไหมว่าเขารันเลขรูปยังไง
นศ.: ไม่เคยครับ
ผม: (เอาเล่มรุ่นพี่ให้ดู) เขารันยังไง
นศ.: เขารันแบบบทที่ 1 ก็ใช้รูป 1.1 1.2 ไปเรื่อย ๆ พอบทที่ 2 ก็เริ่มรันจาก 2.1 2.2 โอเค ผมเข้าใจแล้วครับ เดี๋ยวกลับไปแก้เลยครับ สวัสดีครับ
ผม: เดี๋ยว รู้ไหมทำไมเขาทำแบบนี้
นศ.: (ทำหน้าครุ่นคิดอยู่พักหนึ่ง) เอ้อ เพื่อความเป็นระเบียบหรือครับ
ผม: อืม มองไม่ออกจริง ๆ หรือ คุณลองคิดสิว่าถ้ารันเลขรูปแบบคุณ สมมติว่าถ้าผมบอกว่าให้คุณไปเพิ่มรูปในบทที่ 1 ไปรูปหนึ่งมันจะเกิดอะไรขึ้น
นศ.: (ทำหน้าแบบเกิดความรู้แจ้งสุดขีด) โอ้วเข้าใจแล้วครับ ผมก็ต้องไปรันเลขรูปใหม่ทั้งหมดในบทที่ 2 และบทที่ 3 ด้วย แต่ถ้าทำแบบพี่การเพิ่มหรือลดรูปในบทที่ 1 ก็จะไม่กระทบส่วนที่เหลือของเล่มครับ ขอบคุณครับ สวัสดีครับ
ผม: เดี๋ยว
นศ.: (ทำหน้าแบบจะเอายังไงกับตูอีกวะ)
ผม: แล้วรู้ตัวไหมว่ามันน่าอายที่เราซึ่งเป็นนักศึกษาวิทยาการคอมพิวเตอร์ แต่เราไม่สามารถประยุกต์ความรู้ที่เราเรียนและใช้มาตลอดเวลาที่เราทำโปรแกรมมาใช้กับสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเราได้ ไหนลองตอบหน่อยสิว่าสิ่งที่รุ่นพี่ทำนี่มันน่าจะตรงกับอะไรในสิ่งที่เราเรียนและใช้ทำโปรแกรมมา
นศ.: (ทำหน้าแบบ จัดเล่มมันเกี่ยวอะไรกับทำโปรแกรมวะ ผ่านไปสักครู่ ทำหน้าแบบเกิดความรู้แจ้งสุดขีด) ได้แล้วครับ Modular Design ครับอาจารย์ ถ้าเราออกแบบและพัฒนาเป็นโมดูล การแก้ไขใด ๆ ก็จะกระทบเฉพาะในโมดูลนั้น
ผม: เออ ดีแล้ว เข้าใจแล้วนะ ไปได้ อาจารย์จะได้ดู Netflix ต่อ เอ๊ยไม่ใช่ทำงานต่อ




วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ขั้นตอนวิธีที่ทำให้ TCAS รอบ 3 สามารถเลือกอันดับได้

ไม่ได้เขียนบล็อกมานานตั้งแต่ต้นปีเหมือนเดิมเพราะยุ่งมาก แต่วันนี้รู้สึกอยากเขียนเรื่อง TCAS สักหน่อย เพราะตัวเองก็ต้องศึกษาระบบนี้ เนื่องจากลูกก็สอบเข้ามหาวิทยาลัยปีนี้ และก็มองเห็นปัญหาว่าระบบในรอบ 3 นี้มันจะมีปัญหากั๊กที่แน่ ก็เลยบอกลูกว่ายังไงก็ต้องตั้งใจให้เต็มที่ทำคะแนนให้สูง ๆ เข้าไว้ และลูกก็ทำได้ ดังนั้นเขาไม่ใช่เด็กที่มีปัญหาในรอบนี้แต่อย่างใด ประกอบกับเขาอยู่สายศิลป์-คำนวณ และคณะที่เขาเลือกปีนี้ก็มาแยกสายวิทย์ กับสายศิลป์-คำนวณพอดี ดังนั้นก็ยิ่งเข้าทางเขา สำหรับใครที่ไม่ได้ตามข่าวหรือยังไม่ค่อยเข้าใจระบบนี้สามารถอ่านได้จากบทความนี้นะครับ

https://www.the101.world/from-admission-to-tcas/

และปัญหาที่เกิดขึ้นสามารถอ่านได้จากบทความนี้นะครับ

 https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_1173473

ปัญหาหลักที่เกิดในรอบ 3 ก็คือการกันที่กันหรือเรียกว่ากั๊กที่ครับ ระบบก่อนหน้า TCAS ก็กั๊กกัน แต่พวกที่เลือกหมอเขาจะประกาศผลไปต่างหากอยู่แล้ว และในระบบก่อนหน้านี้ แต่ละมหาวิทยาลัยจะบริหารจัดการกันเอง ด้วยการเรียกเด็กที่ติดสำรองมาแทนเด็กที่ติดตัวจริงที่ไม่มาสอบสัมภาษณ์ (เพราะเลือกที่อื่นไปแล้ว) แต่ในปีนี้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)  ซึ่งเป็นผู้คิดระบบ TCAS ไม่รู้มีอะไรมาดลใจ ให้เอาพวกหมอมารวมในรอบรับตรงนี้ด้วย และไม่ให้มีการเรียกสำรองอีกต่างหาก ผลก็คือเกิดมหกรรมการกั๊กที่อย่างเป็นรูปธรรมตามลิงก์ข้างบนครับ

มีคนถามทปอ.ว่าทำไมรอบ 3 ไม่ทำเหมือนรอบ 4 คือให้เรียงลำดับที่ตัวเองต้องการแล้วก็ให้ติดเฉพาะอันดับสูงสุดที่ตัวเองเลือกไว้ ทปอ.บอกทำไม่ได้ เพราะในรอบ 3 นี้คณะและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ใช้เกณฑ์ไม่เหมือนกัน เช่นบางคณะเอาแต่ GAT/PAT บางคณะใช้ 9 วิชาสามัญ ดังนั้นต้องให้เด็กติดทุกสาขาที่ผ่านเกณฑ์แล้วให้เด็กตัดสินใจเลือกทีหลัง (ซึ่งเป็นที่มาแห่งมหกรรมการกั๊กที่)

ผมลองมานั่งคิดดูว่าทำไม่ได้จริงหรือ คิดไปคิดมาก็เห็นว่าน่าจะทำได้นะ ก็เลยมาเขียนบทความนี้เพื่อลองเสนอว่าถ้าจะออกแบบโปรแกรมรอบรับตรงร่วมกันให้สามารถทำให้เด็กเลือกอันดับได้และติดอันดับสูงสุดอันดับเดียวจะทำยังไง หลักการคืออย่างนี้ครับ หนึ่งเลยเอาพวกหมอออกไปอยู่ในรอบต่างหาก (จริง ๆ จะไม่แยกก็ได้ แต่จะทำให้ระบบต้องทำงานหนักโดยไม่จำเป็น เพราะพวกหมอเขามีระบบของเขาอยู่แล้ว) จากนั้นรอบรับตรงร่วมกันก็ให้เด็กเลือกที่ต้องการได้ 4 อันดับ จากนั้นก็ส่งชื่อเด็กให้มหาวิทยาลัยทำการเรียงลำดับคะแนนของเด็กตามเกณฑ์ที่แต่ละคณะใช้ หรือทปอ.จะเขียนโปรแกรมทำให้เองก็แล้วแต่ เช่นคณะไหนใช้แต่ GAT/PAT ก็คำนวณโดยใช้แค่ GAT/PAT และเรียงลำดับมา โดยคะแนนของเด็กที่อยู่ในช่วงจำนวนที่คณะจะรับจะเรียกว่าเป็นตัวจริง ส่วนที่เหลือก็จะเป็นตัวสำรอง เช่นบัณชีจุฬาจะรับ 150 คน เด็กที่อยู่ใน 150 คนแรกก็เป็นตัวจริงของบัญชีจุฬา ที่เหลือก็เป็นตัวสำรอง

เมื่อได้คะแนนเรียงตามลำดับมาแล้วก็เริ่มทำการจัดอันดับตามที่นักเรียนเลือก  โดยรอบแรกก็จัดจากอันดับที่เลือกเป็นอันดับ 1 ก่อน ดังนี้

ทำจนกว่า จะไม่มีนักเรียนที่สามารถจัดอันดับ 1 ได้ (คือทำจนสามารถจัดนักเรียนทุกคนที่เลือกอันดับ 1 ได้ หรือจนกว่าคณะที่เลือกเป็นอันดับ 1 ของนักเรียนเต็มแล้ว) 
   อ่านข้อมูลของนักเรียนโดยอ่านจากอันดับ 1 ที่เลือก 
   ถ้านักเรียนติด (อยู่ในกลุ่มตัวจริง ของอันดับ 1 ที่เลือก)  
        เขียนข้อมูลนักเรียนและสาขาที่ติด
        เช็คว่านักเรียนติดอันดับ 2 3 และ 4 ด้วยหรือไม่ ถ้าติดอันดับใด ให้ลบชื่อนักเรียนออกจากสาขาที่ติดนั้น   แล้วเลื่อนอันดับสำรองถัดไปของสาขานั้นเข้ามาเป็นตัวจริง (พูดง่าย ๆ นี่คือการเรียกตัวสำรองนั่นเอง) 
กลับไปที่ต้นลูป

เมื่อทำจบรอบนี้เราก็จะได้นักเรียนที่ได้สาขาที่ตัวเองเลือกเป็นอันดับ 1

รอบต่อไปก็ทำเหมือนกันแต่ทำอันดับ 2 3 และ 4 ตามลำดับ ซึ่งถ้าถึงอันดับ 4 แล้วนักเรียนก็ยังไม่ติดก็แสดงว่านักเรียนไม่ติดในรอบนี้ ต้องไป TCAS รอบ 4 ต่อไป

ก็ต้องบอกว่านี่เป็นแนวคิดคร่าว ๆ นะครับ ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องประสิทธิภาพแต่อย่างใด เพียงแต่อยากแสดงให้เห็นว่ามันไม่จำเป็นต้องเอาคะแนนที่ถูกคำนวณมาแบบเดียวกันมาจัดลำดับกันอย่างเดียว เท่าที่ดูโปรแกรมอาจจะทำงานเยอะหน่อยในการจัดอันดับ 1 หลังจากนั้นก็น่าจะทำงานน้อยลง โดยเฉพาะการจัดอันดับ 4 ก็น่าจะง่ายแล้ว เพราะการเช็คก็จะง่ายขึ้นและไม่ต้องไปทำเรื่องเรียกตัวสำรองอะไรอีก

มีความเห็นอะไร หรือเห็นว่าขั้นตอนวิธีที่นำเสนอมีข้อบกพร่องอะไรก็สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ครับ 

วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2559

การสอบเข้ามหาวิทยาลัย การทดลองของผู้ใหญ่ที่ไม่เคยถามอะไรเด็ก

เริ่มเขียนเรื่องนี้มาหลายวันแล้วครับ แต่ไม่มีเวลามาเขียนจนเสร็จ จนกระแสเริ่มซาไปแล้ว แต่คิดว่ายังไงก็ยังอยากเขียน ก็คือเรื่องระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ (อีกแล้ว) ที่มีแนวโน้มว่าจะบังคับใช้ปีการศึกษา 2561 นี่แหละครับ

หลังจากรวบรวมเสียงของเด็กเกี่ยวกับแนวคิดจะเปลี่ยนระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ ในบล็อกที่แล้ว วันนี้ก็ขอแสดงความเห็นของตัวเองบ้างนะครับ สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าแนวคิดนี้คืออะไร ถ้าคลิกดูที่บล็อกที่แล้วของผมก็จะเห็น หรือจะลองอ่านดูจากลิงก์นี้ได้ครับ http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/638816 ซึ่งผมแนะนำว่าถ้าใครเข้าไปอ่านลิงก์นี้แล้ว ขอให้อ่านให้จบนะครับ เพราะมันมีอะไรที่ผมอยากจะมาพูดถึงในบล็อกของผมด้วย

ก่อนที่จะพูดถึงแนวคิดใหม่นี้ เรามาทำความเข้าใจระบบที่มีอยู่ในปัจจุบันกันก่อนแล้วกันนะครับ เพราะจริง ๆ ผมเชื่อว่าคนที่เป็นพ่อแม่ที่มีลูกเข้ามหาวิทยาลัยในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ น่าจะเป็นคนยุคที่สมัยตัวเองการสอบเข้ามหาวิทยาลัย มีการสอบเอ็นทรานซ์เพียงครั้งเดียว แล้วก็นั่งลุ้นว่าคะแนนจะติดไหม แต่ระบบใหม่ที่เด็กใช้กันมาตลอดหลายปีนี้ ถูกพัฒนาขึ้นมาด้วยเหตุผลของผู้ใหญ่ที่มองเห็นว่า ระบบเอ็นทรานซ์แบบดั้งเดิมทำให้เด็กเครียด ไม่มีโอกาสแก้ตัว และทำให้เด็กไม่สนใจเรียนในห้อง มุ่งหน้าไปกวดวิชาเพื่อเอนทรานซ์อย่างเดียว (ซึ่งระบบใหม่ผมก็ไม่เห็นว่ามันจะแก้ปัญหาได้ โรงเรียนกวดวิชาเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด) จากตอนนั้นถึงตอนนี่ต้องบอกว่าระบบมีการปรับเปลี่ยนแทบทุกปี จนดูเหมือนจะเริ่มลงตัวมาในช่วงสองสามปีหลัง ดังนั้นผมจะขอสรุประบบล่าสุดที่ใช้กันอยู่ให้ฟังก่อนนะครับ บอกตามตรงผมก็เพิ่งจะมาเข้าใจระบบนี้จริง ๆ เมื่อปีที่แล้วนี้เอง เพราะลูกคนโตต้องสอบเข้า

สำหรับระบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงจะใช้กับนักเรียนที่จะเข้ามหาวิทยาลัยในปี 2560 ก็เป็นดังนี้ครับ นักเรียนจะเข้ามหาวิทยาลัยได้ตามช่องทางนี้ครับ
1. โควต้า มหาวิทยาลัยจะให้โควต้ากับนักเรียนซึ่งมีความสามารถพิเศษ อยู่ในภูมิภาคเดียวกับมหาวิทยาลัย หรืออยู่ในโรงเรียนที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเป็นต้น ซึ่งโควต้าประเภทนี้อาจจะมีการสอบเองโดยมหาวิทยาลัย หรือจะใช้คะแนนสอบกลาง (จะกล่าวถึงต่อไป) มาประกอบบ้างก็ได้
2. รับตรง โดยมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะประกาศรับนักศึกษาด้วยตัวเอง ซึ่งการรับแบบนี้แหละครับ ที่ระบบที่นำมาใช้ใหม่เขาบอกว่ามันเป็นปัญหาที่เขาตั้งใจจะมาแก้ โดยระบบนี้มหาวิทยาลัยบางแห่งก็จะจัดสอบเอง หรือใช้คะแนนสอบกลาง โดยกำหนดเงื่อนไขขั้นต่ำในการรับ ถ้านักศึกษาไม่ผ่านเงื่อนไขขั้นต่ำ ก็ไม่สามารถสมัครได้ และถ้านักเรียนได้ในรอบนี้แล้ว ก็มักจะเรียกเก็บเงินค่ามัดจำล่วงหน้าไว้ก่อน เผื่อนักเรียนไปสมัครที่อื่น แล้วจะสละสิทธิ์ (คือมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะมีวันสอบหรือช่วงยื่นคะแนนและประกาศผลไม่ตรงกัน ดังนั้นใครประกาศรับก่อนก็จะเก็บเงินค่ามัดจำไว้ก่อน) ผมเล่ามาถึงตรงนี้คิดว่าคงเห็นปัญหาที่เขาพยายามจะแก้แล้วใช่ไหมครับ แต่จริง ๆ ระบบนี้มันก็มีข้อดีนะครับ ซึ่งผมจะพูดต่อไปทีหลัง ระบบรับตรงนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งจะเข้าร่วมสิ่งที่เรียกว่า Clearing House ก็คือถ้านักเรียนคนไหนที่ได้มหาวิทยาลัยในรอบนี้แล้ว จะไม่มีสิทธิ์ไปเข้าระบบแอดมิชชันกลาง (จะพูดถึงต่อไป) ด้วยการยืนยันสิทธิ์ เอาง่าย ๆ คือเขาจะไม่ให้เด็กที่มีที่เรียนแล้วไปกั๊กที่คนอื่นในรอบแอดมิดชันอีก ถ้าอยากไปแอดมิชชันก็ต้องสละสิทธิ์สิ่งที่ได้ในรอบรับตรง
3. แอดมิชชันกลาง อันนี้ก็เป็นระบบที่ใช้คะแนนสอบกลาง ให้นักเรียนเลือกมหาวิทยาลัย และคณะที่ต้องการได้ 4 อันดับ ถ้าคะแนนถึงอันดับไหนก็ได้อันดับนั้น ในระบบปัจจุบันการแอดมิชชันจะอยู่หลังจากรับตรง และเป็นความหวังเกือบสุดท้ายของเด็ก เพราะคู่แข่งก็จะน้อยลง เนื่องจากพวกที่รับตรงและยืนยันสิทธิ์ไปแล้ว จะไม่มาแข่งกับเขาอีก
4. รับตรงหลังแอดมิชชันกลาง อันนี้มหาวิทยาลัยบางแห่งจะเปิดรับอีกในกรณีได้นักศึกษาไม่ครบตามเป้าหมาย    
5. การสอบ กสพท. อันนี้เป็นการสอบที่จัดให้นักศึกษาที่จะเข้าแพทย์ ทันตแพทย์ อะไรพวกนี้ เข้าใจว่าที่ต้องมาจัดสอบเองในสาขานี้ก็เพราะว่า มหาวิทยาลัยมองว่าข้อสอบกลางไม่สามารถคัดกรองคนที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมได้

คราวนี้มามองดูการสอบกลางบ้างว่านักเรียนต้องสอบอะไรบ้าง

1. GAT/PAT ซึ่ง GAT ก็เป็นการสอบความถนัดทางภาษา ทั้งไทยและอังกฤษ ส่วน PAT ก็คือการสอบความถนัดทางด้านต่าง ๆ เช่น PAT1 คือเลข PAT2 วิทยาศาสตร์ (รวมฟิสิกส์ เคมี ชีวะ) และ PAT2 นี้นักเรียนที่อยู่สายศิลป์ก็เลือกสอบได้นะครับ แปลกดีเหมือนกัน PAT5 คือความถนัดด้านครูเป็นต้น ซึ่งจะต้องสอบ PAT อะไรบ้างนั้น แต่ละคณะในแต่ละมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้กำหนด นักเรียนจะต้องดูเงื่อนไขของคณะที่ต้องการเข้าเอาเองว่าต้องสอบอะไรบ้าง GAT/PAT จะสอบได้สองครั้ง ครั้งแรกจะประมาณ ปลายปี (ประมาณ ต.ค. - พ.ย.) คือยังเรียน ม.6 ไม่จบก็ต้องสอบแล้ว ครั้งที่สองจะประมาณเดือนมีนาคม หลังจากจบม. 6 แล้ว
2. 9 วิชาสามัญ ก็พวก เลข ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย สังคม อะไรพวกนี้ ซึ่งนักเรียนก็ต้องดูว่าคณะที่ตัวเองต้องการเข้าเขาต้องการวิชาอะไรบ้าง อันนี้สอบประมาณ ธ.ค.
3. ONET อันนี้สอบหลังสุด และส่วนใหญ่จะใช้ตอนแอดมิชชันกลาง และที่เขาคิด ONET ขึ้นมาเพราะเขาบอกว่าจะให้นักเรียนตั้งใจเรียนในห้องเรียนมากขึ้น และทำให้เกรดที่ได้ของโรงเรียนมันเท่าเทียมกัน เพราะโรงเรียนมีคุณภาพไม่เท่ากัน บางโรงเรียนปล่อยเกรด อะไรแบบนี้   ONET จะนำไปถ่วงกับเกรดที่นักเรียนได้ ดังนั้นใครทำ ONET ได้น้อยก็จะทำให้เกรดที่ได้จากโรงเรียนลดลง และเขาค่อย ๆ เพิ่มน้ำหนักของการเข้ามหาวิทยาลัยด้วย ONET เพิ่มขึ้นทุกปี (แต่ได้ผลตามที่เขาคิดไหม ... ขอไม่พูดแล้วกัน)

 เห็นนักเรียนต้องสอบแล้วเหนื่อยใช่ไหมครับ และถ้ามหาวิทยาลัยหรือคณะในบางมหาวิทยาลัยที่รับตรงแบบให้ไปสอบ อย่างคณะบริหารธุรกิจของธรรมศาสต์ในปีก่อนหน้าปีนี้ เขาก็จะมีการสอบที่เรียกว่า Smart-1 ซึ่งเปิดสอบทั้งปี ให้นักเรียนไปสอบเก็บคะแนนเพื่อนำไปยื่นเข้ามหาวิทยาลัย หรือคณะอื่น ๆ ที่จัดสอบเองอีก ก็จะต้องเหนื่อยเข้าไปอีก ซึ่งระบบใหม่ส่วนหนึ่งนี้เขามุ่งจะแก้ปัญหานี้ เพื่อให้นักเรียนสอบน้อยลง ประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง และเขายังมองถึงการลดความเหลื่อมล้ำด้วย คือเขามองว่าคนรวยก็มีสิทธิ์ที่จะได้สอบมากกว่าคนจนอะไรประมาณนี้

ก็คงพอเห็นภาพ และเห็นปัญหาที่เขาพยายามจะแก้แล้วนะครับ คราวนี้ผมจะขอแสดงความเห็นบ้าง แต่ก่อนจะแสดงความเห็นขอพูดสั้น ๆ ก่อนว่าสิ่งที่พวกเขาคิดขึ้นมามันเหมือนคิดอะไรไม่ค่อยจะสุด มีปัญหาให้ลองผิดลองถูกมาแทบจะตลอด คนที่รับผลก็คือนักเรียนนี่แหละ เพราะคิดปุ๊ปก็ทำปั๊ป พอเห็นว่ามีปัญหาก็เปลี่ยนใหม่ จะทำอะไรก็ไม่เคยถามความคิดของคนที่ต้องเป็นผู้ปฏิบัติ ไม่รู้คนพวกนี้ไม่มีลูกมีหลานที่ต้องสอบบ้างหรือยังไง

คราวนี้มาดูสิ่งที่เขาพยายามจะแก้ด้วยระบบใหม่นี้คือระบบรับตรง อันนี้เห็นด้วยว่าระบบรับตรง นักเรียนต้องสอบเยอะ ผู้ปกครองเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม และมหาวิทยาลัยบางแห่งใช้ตรงนี้เป็นแหล่งหารายได้ทั้งค่าสอบและค่ามัดจำล่วงหน้า แต่ประเด็นหลังนี้ก็ต้องบอกว่าส่วนหนึ่งก็เพราะนโยบายที่จะให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบด้วยหรือเปล่า มหาวิทยาลัยหลายแห่งก็เลยหันมาหารายได้ด้วยวิธีนี้ ไม่ได้เห็นด้วยนะ แต่อยากให้คิดว่าเรื่องนี้มันก็เป็นปัญหา ส่วนเรื่องคนรวยได้สอบเยอะ ก็อยากให้คิดว่าคนที่ได้สอบเยอะก็ใช่ว่ามันจะสอบได้นะ คนที่ตั้งใจเรียนอาจสอบครั้งเดียวแล้วได้เลยก็ได้ และที่ต้องมองคือข้อดีอันหนึ่งของระบบรับตรงที่ผมมองเห็นคือ ระบบรับตรงจะทำให้มหาวิทยาลัยได้เด็กที่มีการเตรียมพร้อม (ผมไม่ได้บอกว่าเก่งกว่าพวกแอดมิชชันนะ) คือการรับตรงถ้าใช้คะแนนจากการสอบกลางนี่ มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะตั้งเงื่อนไขการรับไว้ค่อนข้างสูง และส่วนใหญ่จะใช้ผลจากการสอบ GAT/PAT ครั้งที่ 1 และ 9 วิชาสามัญ ซึ่งนักเรียนที่ผ่านมาได้คือเขามีการเตรียมพร้อมที่ดี แต่ประเด็นนี้จริง ๆ ก็ไม่สำคัญหรอก เพราะคนที่มันเตรียมพร้อมจะให้สอบอะไรแบบไหนมันก็พร้อม อีกประเด็นถ้าไม่มองแค่ว่ามหาวิทยาลัยอยากได้เงินจากการสอบ การที่มหาวิทยาลัยบางแห่งที่จัดสอบเองเป็นเพราะข้อสอบกลางคัดเด็กให้เขาไม่ได้ด้วยหรือเปล่า

ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากเสนอให้คิดกันก็คือ

  • ถึงเวลาหรือยังที่จะสอบถามคนที่ได้ผลกระทบก่อนจะทำอะไร ลองให้เขาพูดถึงความรู้สึก หรือเสนอวิธีแก้ตามที่เขาคิดบ้างดีไหม 
  • ถึงเวลาหรือยังที่จะคิดอะไรปุ๊ปแล้วทำปั๊ปลองคิดพิจารณาให้ดีให้ถี่ถ้วน ไม่ใช้ลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ ดีไหม ผมมองว่ามันยังมีอะไรที่ควรจะต้องคิดให้ลงตัวก่อนที่จะนำระบบมาใช้เช่น
    • ข้อสอบจะทำยังไงให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ยอมรับว่าคัดเด็กที่ต้องการได้จริง เรืองพวกนี้ต้องใช้เวลานะผมว่า ข้อสอบที่สทศ.จัดการอยู่ก็มีปัญหาเรื่องมาตรฐานให้พูดกันทุกปี ตามข่าวก็เห็นว่าที่ประชุมก็คิดถึงเรื่องนี้ ดังนั้นก่อนประกาศใช้อะไรเรื่องนี้ต้องชัดเจน
    •  เรื่องคะแนนที่จะเป็นจุดอ้างอิงให้นักเรียนที่จะสอบด้วยระบบใหม่เป็นรุ่นแรกจะต้องทำยังไง
    • เรื่องการปิดเปิดเทอมของมหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนกลับไปใช้แบบเดิมหรือเปล่า (นี่ก็อีกตัวอย่างของการทำอะไรไม่คิดให้ถี่ถ้วน) และมีมหาวิทยาลัยบางแห่งประกาศแล้วว่าจะกลับไปใช้แบบเดิมจะแก้ปัญหายังไง
    • การสอบ ONET ถ้าไม่ได้แก้ปัญหาอะไร และจะไม่เอามาใช้เข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ยังต้องสอบอยู่ไหม  
    • การสอบ GAT/PAT ที่เคยสอบสองครั้ง มาเหลือสอบครั้งเดียว จะทำให้เด็กบางคนคิดว่าเสียโอกาสไหม 
    • เป็นไปได้ไหมที่จะรวมการสอบทั้งสองอย่าง หรือสามอย่างที่ว่าเข้าเป็นการสอบเดียว
    • กสทพ. ยังจะให้เขาสอบอยู่ไหม ถ้าไม่ให้เขาสอบแสดงว่าต้องปรับข้อสอบกลาง แล้วถ้าปรับแล้ว มันจะทำให้สาขาอื่นที่ไม่ต้องการอะไรยากอย่างนั้นลำบากไปด้วยไหม
  •  เลิกด่าว่าคนที่เขาคิดไม่เหมือนตัวเองว่าเป็นผู้เสียผลประโยชน์ หรือไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงซะที หัดรับฟังความคิดและข้อเสนอที่หลากหลายบ้าง และควรยอมรับว่าเด็กเขาก็มีความคิดดี ๆ มันน่าจะหมดยุคผู้ใหญ่หัวหงอก ไปนั่งคิดแล้วก็บอกว่านี่คือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเด็กได้แล้วมั้ง ขอโทษที่อาจแรงไปหน่อย เพราะอ่านในเนื้อข่าวที่พูดแล้วมันจี๊ด (ด่ามาก็ด่ากลับไม่คดโกง :) ) 
สรุปสุดท้ายก็คือ ไม่ใช่ผมจะต่อต้านการเปลี่ยนแปลงใด ๆ นะ ผมก็เห็นปัญหาและเข้าใจที่พยายามจะแก้ แต่อยากจะให้เลิกใช้วิธีแบบหนูลองยาซะที ลองรับฟังความเห็น และวางแผนการปรับเปลี่ยนให้ชัดเจนก่อนดีไหม ผมเชื่อว่าเด็กเขาพร้อมจะเปลี่ยนแปลง แต่ทางผู้ใหญ่ต้องชัดเจน และให้โอกาสให้เวลาเขาวางแผนเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่ใช่เขาเตรียมตัวมาอย่างแต่มาเปลี่ยนเป็นอีกอย่าง ผมมองว่าหลังจากวางแผนอะไรลงตัวแล้ว ก็ควรจะจัดอมรมให้ครูแนะแนวได้เข้าใจ เพื่อนำไปถ่ายทอดให้นักเรียนด้วยและก็ควรจะประกาศใช้กับนักเรียนที่ขึ้นจาก ม.3 มา ม.4 หรือช้าสุดก็น่าจะม.4 ขึ้นม.5 อะไรประมาณนี้... 




 
 

วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2558

จตุรัสกล เอ็งโกว และการทบทวนวรรณกรรม

ผมไม่ได้เขียนบล็อกพูดคุยเรื่องอะไรมาซะนานเลยนะครับ หลัง ๆ ก็จะเขียนสรุปข่าวมากกว่า เพราะใช้เวลาน้อยกว่า แต่เอาเข้าจริง ๆ แม้แต่สรุปข่าวหลัง ๆ ก็ไม่ได้เขียน ไม่รู้เวลามันหายไปไหนหมด หรือบริหารไม่ดีไม่รู้ เอาเถอะไหน ๆ วันนี้ก็เขียนแล้ว ก็เลิกบ่นตัวเองดีกว่าเนอะครับ

เห็นหัวข้อวันนี้แล้วก็อาจจะงงนะครับว่าวันนี้ผมจะพูดคุยเรื่องอะไร เรื่องของเรื่องก็คือผมกำลังเตรียมเรื่องที่จะพูดในวันปฐมนิเทศของนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยที่ผมสอนอยู่ ซึ่งหัวข้อที่จะพูดอันหนึ่งก็คือเรื่องความสำคัญของการทบทวนวรรณกรรมในการทำวิจัย ซึ่งความสำคัญของการทบทวนวรรณกรรมประการหนึ่งก็คือเราจะได้รู้ว่าใครทำอะไรไปบ้างแล้ว เราจะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปทำงานซ้ำกับเขาอีก ก็เลยคิดว่าเอามาเขียนลงบล็อกด้วยก็น่าจะดี

นั่งคิดอยู่สักครู่ว่าจะยกตัวอย่างอะไรดีนะให้เข้าใจง่าย ๆ ในหัวมันก็แว่บขึ้นมาถึงฉากหนึ่งในเรื่องมังกรหยก ภาคของก๊วยเจ๋ง (ก๊วยเจ๋งยอดวีรบุรุษ) ไม่ทราบว่าพวกเรายังมีใครอ่านเรื่องนี้กันบ้างไหมครับ หรือคงเคยดูหนัง ดูซีรีย์เรื่องนี้กันมาบ้างมั้งครับ เพราะสร้างมาไม่รู้กี่รอบแล้ว ตั้งแต่ผมยังเป็นเด็ก (จนตอนนี้เด็กที่ตัวเองมีก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็ยังสร้างอยู่) รู้สึกว่าคนส่วนใหญ่จะประทับใจภาคเอี้ยก้วยมากกว่า แต่ส่วนตัวผมชอบภาคก๊วยเจ๋งที่สุด จริง ๆ ก๊วยเจ๋งนี่เป็นตัวอย่างที่ดีของคนที่ไม่ได้ฉลาดเป็นอัจฉริยะ แต่ขยันและฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอนะครับ จนในที่สุดก็ก้าวขึ้นมาเป็นยอดฝีมือที่เก่งที่สุด เทียบกับแฟน (ภรรยา) ของเขาคืออึ้งย้ง ซึ่งฉลาดมาก แต่ความพยายามไม่มีเท่า ซึ่งก็อาจเป็นเพราะมีทั้งพ่อทั้งแฟนที่เก่งอยู่แล้ว ก็เลยไม่สนใจที่จะต้องพยายามอะไรมากมาย ดังนั้นนักวิจัยทั้งหลายก็ควรจะเอานิสัยของก๊วยเจ๋งมาใช้นะครับ

ชักนอกเรื่องแล้วกลับมาต่อครับ เอาเป็นว่าก๊วยเจ๋งกับอึ้งย้ง (ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากฝ่ามือเหล็กลอยน้ำ ฮิวโชยยิ่ม) ทำให้ก๊วยเจ๋งต้องแบกอึ้งย้งหลบหนี จนหลบเข้าไปยังที่พักของเอ็งโกว ซึ่งเรียกตัวเองว่าเทพคำนวณ และสร้างค่ายคูประตูกลป้องกันที่พักตัวเองเอาไว้ (รายละเอียดว่าเอ็งโกวทำไมต้องมาเก็บตัวอยู่นี่ ใครสนใจก็คงต้องไปอ่านหนังสือเอานะครับ รับรองสนุกมาก ขืนเล่าหมดบล็อกนี้จะกลายเป็นเล่าเรื่องมังกรหยกไป) ซึ่งค่ายคูประตูกลของเอ็งโกวย่อมไม่สามารถป้องกันความสามารถของอึ้งย้ง ซึ่งศึกษาค่ายคูประตูกลมาตั้งแต่เด็กได้ บวกกับวิชาตัวเบาของก๊วยเจ๋งซึ่งเทพมาก ทำให้ทั้งคู่เข้ามายังที่อยู่ของเอ็งโกวได้ จากนั้นอึ้งย้งยังได้แสดงความสามารถทางคณิตศาสตร์ จนเทพคำนวณหงอยไปเลย คราวนี้เอ็งโกวก็นึกขึ้นได้ว่า มันต้องมีอันนี้แหละที่จะเอาชนะอึ้งย้งได้ ก็ตั้งคำถามท้าทายอึ้งยงดังนี้ครับ

"หากจัดเรียงหนึ่งถึงเก้าเป็นสามแถว ไม่ว่านับทางแนวขวางและแนวทแยง เลขทั้งสามจะต้องรวมกันได้สิบห้า จะจัดเรียงอย่างไร" 1 กะว่าอึ้งย้งเสร็จแน่คราวนี้ ซึ่งคำถามของเอ็งโกวก็คือจตุรัสกล 3X3 นั่นเอง

อึ้งย้งฟังแล้วก็คิดว่ามันยากตรงไหนนี่ เล่นมาตั้งแต่เด็กแล้ว ก็เลยร้องออกมาเป็นเพลงว่า "ความหมายของเก้าปราสาท แบบแผนเช่นเต่าวิเศษ สองหกเป็นไหล่ สี่แปดเป็นขา ซ้ายเก้าขวาหนึ่ง ทูนเจ็ดเหยียบสาม ห้าดำรงอยู่กลาง" 1 ซึ่งจากคำร้องของอึ้งย้งจตุรัสกลจะมีหน้าตาดังนี้ครับ
 
2 7 6
9 5 1
4 3 8

เอ็งโกวสตั๊นไปหลายนาที แล้วก็พูดออกมาว่า "เราเข้าใจว่านี่เป็นแนวทางที่เราคิดขึ้น ที่แท้มีบทเพลงเผยแพร่ในโลกกว้างแต่แรก" 1 อึ้งย้งยังตอกย้ำไปอีกนะครับว่า นอกจาก 3X3 แล้วยังมี  4X4 5X5 และขยายไปได้จนถึงเลข 1 ถึง 72 ซึ่งเรียกว่าแผนภาพลกจือ 1 จากคำพูดของเอ็งโกวคงเห็นแล้วนะครับว่าถ้าเราไม่ทำการทบทวนวรรณกรรม เราก็จะไม่ต่างจากเอ็งโกวไม่รู้ว่าในโลกเขามีอะไรบ้าง มัวแต่ไปเสียเวลาคิดอะไรที่โลกเขาคิดไปไกลถึงไหน ๆ แล้ว

ในยุคของเอ็งโกวไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มี Google ถ้ามีเอ็งโกวก็คงไม่ต้องมืดบอดไปถึงขนาดนี้ พวกเราอยู่ในยุคที่ข้อมูลหาได้ด้วยเพียงปลายนิ้ว ดังนั้นก็ใช้ประโยชน์จากมันให้เต็มที่นะครับ...  

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
1.น.นพรัตน์ (แปล) "ไตรภาคมังกรหยก ชุดที่ 1 ก๊วยเจ๋งยอดวีรบุรุษ เล่ม 3" สำนักพิมพ์สยามอินเตอร์บุ๊คส์ พ.ศ. 2546

วันจันทร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2557

วงการศึกษาไทยคิดอะไรนอกจากสอบเป็นไหม

ไม่ได้เขียนบล็อกมานาน อ่านข่าวเจอว่าจะให้นักศึกษาที่เรียนจบป.ตรีต้องสอบ U-Net แล้วรู้สึกหงุดหงิด ประกอบกับลิเวอร์พูลแพ้เชลซี และแมนซิตี้ยังชนะอีก ก็เลยหงุดหงิดหนักเข้าไปอีก ขอระบายจัดหนักในบล็อกนี้เลยแล้วกัน สำหรับใครที่ยังไม่ทราบเรื่องนี้ก็ลองอ่านเรื่องจากลิงก์นี้ และบทสัมภาษณ์ผู้บริหารสถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) คนนี้จากลิงก์นี้ดูแล้วกันนะครับ

ก็หวังว่าจะพอเข้าใจเรื่องราวกันแล้วนะครับ ก่อนอื่นผมก็ขอออกตัวก่อนว่านี่เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวที่ไม่เห็นด้วยของผมเท่านั้นนะครับ จากการติดตามข่าวและการให้สัมภาษณ์ ซึ่งผมก็ไม่ได้บอกว่าความคิดของผมจะถูกทั้งหมด เพราะคนที่คิดเรื่องนี้ขึ้นมาคงมีเหตุผลของเขา แต่ผมอยากจะแสดงให้เห็นถึงจุดที่ผมไม่เห็นด้วยเท่านั้น แต่ก็อาจจะแรงหน่อยนะ เพราะอย่างที่บอกกำลังหงุดหงิดกับผลบอล

เริ่มจากจุดประสงค์ก่อน ตอนแรกก็บอกว่าจะให้สอบแล้วก็จะให้ผู้ประกอบการเอาไปใช้ประกอบการรับสมัครงานด้วย พอถูกค้านเข้าก็มาบอกว่าเข้าใจผิด การสอบจะเป็นการวัดคุณภาพของสถาบันการศึกษาเท่านั้น ไม่รู้พูดมานี่เคยประเมิน O-Net ไหมว่าตกลงมันวัดคุณภาพของสถานศึกษาได้ไหม อย่างตอนนี้ก็เอาคะแนน O-Net มาเฉลี่ยกับเกรดนักเรียน นัยว่าจะได้บังคับให้เด็กตั้งใจสอบ จะเอามาเฉลี่ยเผื่อโรงเรียนปล่อยเกรด แต่พอเอาเข้าจริง ๆ มันก็ไม่ได้เป็นไปตามจุดประสงค์ พอเด็กสอบตรงติด เขาก็ไม่สนใจที่จะสอบ O-Net แล้ว (ก็เลยจะยกเลิกสอบตรงซะ อันนี้ผมมโนเอาเองนะครับ :) ) ถ้าบังคับมาก ๆ เข้า ตอนนี้ก็มีโรงเรียนกวดวิชา กวดข้อสอบ O-Net แล้ว และผมมั่นใจว่าถ้าบังคับ U-Net กันจริง ๆ มันต้องมีกวดวิชาสอบ U-Net ถ้าเป็นแบบนี้มันวัดคุณภาพสถานศึกษาได้หรือ (ถ้าจะวัดก็คงวัดคุณภาพโรงเรียนกวดวิชา) ยิ่งไปกว่านั้นข้อสอบ O-Net แต่ละปี ก็ล้วนแล้วแต่มีวีรกรรมดี ๆ ทั้งนั้น ไม่รู้ว่าคำถามจะวัดอะไร ให้ครู-อาจารย์ทำกันเองยังตอบกันไปคนละทางสองทาง (น่าจะให้คนออกข้อสอบลองไขว้กันทำข้อสอบที่คนอื่นออกนะ) นี่ระดับโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรกลางเดียวกันนะ โรงเรียนบางแห่งก็ยังสอนไม่เหมือนกัน ข้อสอบ O-Net เน้นวิเคราะห์แต่โรงเรียนส่วนใหญ่ก็ยังสอนให้ท่องจำกันอยู่ นี่ระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายมาก ก็ไม่รู้ว่าจะวัดได้ยังไง แล้วข้อสอบที่ออกมาจะมีวีรกรรมอะไรอีก ผมว่าถ้าจะทำนะก็ทำกับตัวผู้บริหารสทศ. หรือคนที่เป็นต้นเรื่องเห็นด้วยกับเรื่องนี้แหละ ลองดูว่าตัวเองจะสอบผ่านไหม ถ้าไม่ผ่านก็ลาออกไปอยู่บ้านปลูกต้นไม้ต้นไร่ไปตามเรื่องดีกว่า

ตอนนี้ก็บอกว่าไม่มีผลกับเด็ก ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นเด็ก ๆ ก็คงสอบแก้บนไปอย่างนั้นเอง เสียงบประมาณไปโดยใช่เหตุ มันวัดอะไรไม่ได้ และถ้าจะให้เดาสุดท้ายก็คงต้องมาบังคับ อย่างเอามาเฉลี่ยกับเกรดตอนจบอะไรอย่างนี้ หรือหนักกว่านั้นถ้าสอบไม่ผ่านก็ไม่ให้จบ ซึ่งผมว่ามันเป็นอะไรที่ไร้สาระมาก ถ้าจะบอกว่านี่ไงเป็นการควบคุมสถานศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ ไอ้การสอบครั้งเดียวนี้มันวัดได้หรือ ถ้าจะคุมคุณภาพสถานศึกษามันต้องคุมตั้งแต่หลักสูตร การจัดการเรียนการสอน คุณภาพของผู้สอน แต่ไม่ใช่ทำแบบประกันคุณภาพการศึกษานะ (เรื่องประกันนี่เดี๋ยวหาเวลาว่างจัดเป็นอีกเรื่องดีกว่า) แต่อยากจะบอกว่าสองหน่วยงานนี้นี่เป็นหน่วยงานที่รับลูกกันดีมาก พอ สทศ. ทำเรื่องนี้ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ซึ่งดูแลเรื่องประกันคุณภาพ ก็รับลูกว่าจะเอามาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินคุณภาพการศึกษาทันที เข้ากันได้ดีราวผีเน่ากับโลงผุ ซึ่งอย่างนี้มหาวิทยาลัยทั้งหลายที่ต้องถูกประเมินโดยสมศ. ก็ต้องบังคับเด็กสอบแน่นอน จะบอกว่าไม่บังคับได้ยังไง สองหน่วยงานนี้บอกตามตรงว่าเป็นหน่วยงานที่ผมไม่ประทับใจการทำงานเอาเลยจริง ๆ

แล้วก็ให้สัมภาษณ์บอกว่าเป็นพันธกิจ ทำไมไม่ตั้งพันธกิจให้มันดูมีประโยชน์กว่า อย่างเช่นทำการทดสอบภาษาอังกฤษระดับชาติขึ้นมา แล้วผลักดันการสอบนี้ให้เป็นที่ยอมรับอย่างน้อยในระดับ AEC คือแทนที่จะให้ไปสอบ TOEFL หรือ IELTS ซึ่งมีราคาแพง ก็ให้คนของเรามาสอบอันนี้แทนตามความสมัครใจ ค่าใช้จ่ายก็ให้เหมาะสมกับประเทศเรา หรือในระดับวิชาชีพ ก็อาจจะจัดการสอบเพื่อวัดความรู้การเขียนโปรแกรมภาษา Java ให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติ หรือนานาชาติด้วยก็ยิ่งดี อันนี้ไม่ต้องบังคับผมว่าก็คงมีคนหลายคนยินดีสอบ และผู้ประกอบการก็คงจะพอใจที่จะมีอะไรแบบนี้ ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่อยู่นอกระบบการศึกษาปกติ แต่มีความสามารถได้มีผลลัพธ์จากการสอบนี้เป็นจุดอ้างอิงได้ด้วย  

พันธกิจที่ตอบคำถามสังคมไม่ได้ว่าทำไปทำไม มีประโยน์อะไร คุ้มค่ากับที่แต่ละฝ่ายต้องลงทุนลงแรงเสียเวลาเสียเงินเสียทองไปหรือไม่ แล้วยังจะเดินหน้ืำต่อไปโดยอ้างแค่ว่ามีหน้าที่ อย่างนี้เรียกว่าคิดอย่างมีวิจารณญาณแล้วใช่ไหม ลองตัดอคติที่มัวแต่มาคิดว่าคนที่ค้านนี่เพราะกลัวการสอบออกไป แล้วมานั่งมองดูสิว่าที่เขาค้านกันนี่มันเพราะอะไร หรือถ้ายังคิดไม่ได้ ก็ลองกลับไปประเมินสิ่งที่ตัวเองทำไปแล้วอย่าง O-Net ก็ได้ว่าผลลัพธ์มันเป็นยังไง มันให้อะไรกับสังคมกับประเทศชาติตามที่ตั้งใจไว้หรือยัง ถ้ายังก็ทำให้มันสำเร็จ มีข้อสอบที่คนในสังคมยอมรับว่ามันได้มาตรฐาน วัดความรู้ได้จริง ๆ คนในสังคมเห็นประโยชน์ของมัน ทำอันที่มีอยู่ให้มันสำเร็จอย่างนี้ก่อนดีไหม แล้วค่อยเดินหน้าทำต่อไป คิดว่าถ้าทำได้อย่างนี้ เสียงค้านจะไม่มากมายแบบนี้แน่ ฝากถึงที่ประชุมอธิการบดีด้วยแล้วกัน เห็นเรื่องการเมืองก็ออกมาแสดงบทบาทกันมากมายแล้ว อันนี้เรื่องใกล้ตัวเรื่องการศึกษาออกมาแสดงบทบาทหน่อยก็ดีนะครับ

คราวนี้มาดูที่วิชาสอบกันบ้าง เริ่มจากวิชาที่เขาจะสอบเอาแค่วิชาแรกก่อนแล้วกัน การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร แน่นอนครับผมเห็นด้วยว่าเด็กไทยเรามีปัญหาจริง ๆ กับการสื่อสารทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จากการที่ได้คุมปริญญานิพนธ์ วิทยานิพนธ์ ตั้งแต่ระดับป.ตรีถึงป.เอก แต่คำถามคือทำไมเราถึงจะมาแก้ปัญหาด้วยการสอบในระดับอุดมศึกษา เรื่องการสื่อสารนี่มันควรจะเริ่มจากตรงไหน มันควรจะเริ่มจากเด็ก ๆ เลยใช่ไหม ตามที่ผมเข้าใจคือเด็กนักเรียนสมัยนี้เขาไม่ได้เรียนการผันวรรณยุกต์ กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า กันแล้ว ใช้วิธีเหมือนจำ ๆ เอา ดังนั้นก็ผันไม่ถูก ไม่เข้าใจอักษรสูงกลางต่ำ (ไม่ใช่ไฮโลนะ) อย่างคำว่า โค้ด ก็เขียนกันเป็นโค๊ด เพราะเห็นแบบผิด ๆ ที่ใช้กันมาอย่างแพร่หลาย วิชาเรียงความก็รู้สึกจะไม่มีแล้ว ภาษาอังกฤษนี่ไม่ต้องพูดถึงเรียนกันมาไม่รู้กี่ปีก็ยังสื่อสารไม่ได้ ถ้าไม่ปูไม่ทำกันมาตั้งแต่ต้น แล้วคุณจะมาวัดคุณภาพบัณฑิตคุณภาพสถาบันอุดมศึกษาอะไรกันตอนนี้ พูดถึงตรงนี้ก็นึกขึ้นได้ว่าผอ.สทศ. บอกว่าหน่วยงานตัวเองมีหน้าที่วัด ไม่ได้มีหน้าที่เป็นตัวปรับปรุงกระบวนการผลิต ฟังแล้วก็ดูเหมือนปัด ๆ ให้พ้นตัวยังไงก็ไม่รู้  ประเด็นคือถ้ากระบวนการผลิตยังไม่ดี ผลลัพธ์มันก็ออกมาอย่างที่เห็นนี่แหละ ดูอย่าง O-Net ผลมันก็ออกมาทุกปีว่าเด็กไทย อ่อนเลข วิทย์ อังกฤษ ไทย แล้วก็มานั่งตีโพยตีพายกัน ปีหน้าสอบใหม่ผลออกมาก็เหมือนเดิม แล้วจริง ๆ ไม่ต้องมีผล O-Net ผมว่าเราก็รู้อยู่แล้วนะว่าเด็กไทยอ่อนวิชาเหล่านี้

อีกสักวิชาแล้วกันการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking)  ดูแล้วก็น่าสนใจนะ เพราะถ้าผู้บริหารบ้านเมืองและนักการเมืองในประเทศเราสามารถคิดได้ย่างมีวิจารณญาณจริง บ้านเมืองเราคงไม่ปั่นป่วนวุ่นวายแบบทุกวันนี้ ชักจะโยงเข้าหาการเมืองแฮะ กลับมาดีกว่า แต่คำถามก็คือไอ้ข้อสอบที่จะวัดนี่จะมีหน้าตายังไง มหาวิทยาลัยจะต้องจัดวิชาอะไรมารองรับข้อสอบแบบนี้ไหม ถ้าต้องทำก็ต้องเป็นวิชาบังคับ ก็หมายความว่าอาจต้องเพิ่มหน่วยกิต หรือไปลดรายวิชาบางตัวออกไปอย่างนั้นหรือ อาจจะบอกว่าก็ทุกสาขามันก็ต้องให้นักศึกษาคิดอย่างมีวิจารณญาณอยู่แล้ว แต่อยากจะบอกอีกครั้งว่านี่คือมหาวิทยาลัย แต่ละสาขาวิชาก็จะมีชุดความคิดพื้นฐานที่แตกต่างกัน ปัญหาเดียวกันไปถามนักคณิตศาสตร์อาจได้คำตอบอย่างหนึ่ง ไปถามนักอักษรศาตร์อาจได้คำตอบอีกอย่างหนึ่ง หรือตัวอย่างใกล้ ๆ ตัวนี่ก็ได้ กฏหมายข้อเดียวกันแท้ ๆ นักกฎหมายก็ยังตีความไปได้คนละทางสองทาง แล้วมันจะมีข้อสอบวิเศษอะไรที่จะวัดตรงนี้ได้ ข้อสอบอย่างผ้าปูโต๊ะควรใช้สีอะไรแบบนั้นหรือไง และถ้ามีข้อสอบแบบนี้จริง ผู้บริหารสทศ.นั่นแหละทำให้ผ่านก่อนเลย จะได้วัดว่าตัวเองเป็นผู้คิดอย่างมีวิจารณญาณหรือไม่

ผู้หลักผู้ใหญ่ประเทศเราชอบแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ผมเข้าใจว่าหลายคนหวังดีอย่างช่วยแก้ปัญหาการศึกษาของประเทศชาติ แต่การแก้ปัญหาด้วยการรีบเร่งมาวัดจากผลลัพธ์แบบนี้มันอาจไม่ใช่คำตอบ การแก้ปัญหาก็คือต้องแก้ตั้งแต่ต้นทาง แก้ปัญหาที่กระบวนการผลิต ตั้งแต่หลักสูตรระดับประถม มัธยม จนถึงมหาวิทยาลัย ดูแลเรื่องการจัดการเรียนการสอน ปรับปรุงพัฒนาคุณภาพครูผู้สอน แต่ไม่ใช่การเน้นที่การตรวจเอกสารทีมีเพื่อให้ผ่าน KPI โดยไม่ได้คิดจะแก้ปัญหาจริง ๆ อย่างที่ทำประกันคุณภาพกันอยู่นะ อย่างเช่นบางทีมีเอกสารให้อาจารย์ผู้สอนแจ้งว่าการเรียนการสอนมีปัญหาอะไรบ้าง แต่พอแจ้งไปก็ไม่เคยได้รับการเหลียวแลแก้ไข ซึ่งจริง ๆ แล้วผู้บริหารเพียงแต่ต้องการให้มีเอกสารที่ สมศ. ต้องการให้ครบเท่านั้นไม่ได้คิดจะแก้ปัญหาอะไร อย่างนี้เป็นต้น เรื่องนี้ถ้าให้พูดคงได้พูดกันกันยาวครับ เอาเป็นว่าพอแค่นี้ก่อนแล้วกัน เดี๋ยวมันจะออกนอกเรื่องไปยาวกันใหญ่ อีกอย่างก็ได้ระบายออกมาจนพอจะหายหงุดหงิดที่ลิเวอร์พูลแพ้ไปบ้างแล้ว หวังว่าอีกสองนัดคงไม่พลาดอีกจนหงุดหงิดต้องออกมาระบายอะไรแบบนี้อีกนะหงส์นะ อยากเห็นเจอร์ราดชูถ้วย  EPL และ สทศ.ยกเลิกการสอบ O-Net U-Net V-Net อะไรนี่ให้มันหมดไปซะที เอ้อว่าแต่สองเรื่องนี้มันเกี่ยวกันตรงไหนหว่า...    

วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2556

การเขียนบทสรุปและข้อเสนอแนะในตัวเล่มงานวิจัย

การเขียนบทสุดท้ายในงานวิจัยซึ่งก็คือบทสรุปและข้อเสนอแนะดูเหมือนจะเป็นอีกบทหนึ่งที่ยากสำหรับนักวิจัยหลาย ๆ คน เพราะไม่รู้ว่าควรจะต้องเขียนอะไรบ้าง บางคนเขียนไปเขียนมาก็กลายเป็นเหมือนกับบทคัดย่อ หรือบางคนก็เขียนไปเขียนมากลายเป็นบทนำไปเลย ดังนั้นวันนี้เราจะมาดูกันว่าในบทนี้จุดประสงค์ของมันคืออะไรและควรจะมีอะไรอยู่ในบทนี้บ้าง ตอนแรกผมก็ว่าจะเขียนสรุปขึ้นมาเอง แต่ก็รู้สึกอยากหาทางลัดบ้างก็เลยลองค้นจาก Google ดูว่ามีใครที่เขียนสรุปเรื่องนี้ไว้ดี ๆ บ้างก็ได้เจอสไลด์สรุปของ คุณ Louise Edwards ซึ่งเขียนไว้ที่ Acedimia.edu ซึ่งผมเห็นว่ามันค่อนข้างตรงกับสิ่งที่ผมจะอยากจะเขียนครับก็เลยเอามาสรุปให้ฟังกัน

แต่ก่อนจะมาดูว่ามีอะไรอยู่บ้างเรามาดูประโยชน์ของการเขียนบทนี้กันก่อนดีกว่าครับ คุณ Louise Edwards ได้เขียนสรุปไว้ได้ค่อนข้างตรงประเด็นทีเดียวครับกล่าวคือประโยชน์แรกก็คือเมื่อคุณต้องนำเสนองานวิจัยของคุณต่อคณะกรรมการสอบ ซึ่งบทนี้มักจะเป็นบทที่กรรมการสอบมักจะอ่านเพื่อที่จะเข้าใจแนวคิดโดยรวมและผลลัพธ์ของงานวิจัย ประเด็นคือคณะกรรมการสอบอาจจะไม่ได้อ่านงานวิจัยของคุณต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนจบ แต่อาจจะอ่าน ๆ หยุด ๆ เป็นช่วง ๆ ดังนั้นบทนี้และบทนำจะช่วยให้กรรมการสามารถเข้าใจงานคุณได้เร็วขึ้น ประโยชน์ประการที่สองคือประโยชน์ต่อตัวคุณเองถ้าคุณมีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย และต่อมาคุณต้องการเขียนบทความวิชาการเกี่ยวกับงานของคุณ บทนี้จะเป็นบทที่ทำให้คุณปะติดปะต่องานที่คุณทำได้เร็วขึ้น

เอาล่ะครับหลังจากเห็นประโยชน์บางประการของบทนี้กันไปแล้ว เรามาดูว่าบทนี้ควรมีอะไรอยู่บ้าง อันแรกก็คือส่วนสรุป และอีกส่วนหนึ่งก็คือข้อเสนอแนะ แต่ไม่ได้หมายความว่าบทนี้ของเราจะต้องแบ่งออกเป็นแค่สองส่วนนะครับ เช่นในส่วนสรุปอาจแบ่งเป็นส่วนย่อย ๆ อีกก็ได้ ส่วนสรุปก็คือการนำทุกส่วนในรูปเล่มของเรานำมาร้อยเรียงเชื่อมกันเพื่อให้ผู้อ่านได้มองเห็นภาพรวมของงานวิจัยของเราอีกครั้ง ในส่วนนี้ก็มักจะประกอบด้วยเราทำวิจัยเกี่ยวกับอะไร ประเด็นหลักของงานคืออะไร เราทำวิจัยอย่างไร เราค้นพบอะไรจากงานวิจัยนี้ งานวิจัยนี้มีข้อดีเมื่อเทียบกับงานวิจัยก่อนหน้าอย่างไร แต่การสรุปแบบนี้อย่างเดียวยังไม่พอครับในส่วนนี้เราจะต้องเน้นให้เห็นประโยชน์ ความสำคัญ ความรู้ใหม่ที่ได้จากการวิจัยนี้ และข้อจำกัดของงานวิจัยนี้ ข้อจำกัดก็คือส่วนที่จะแสดงให้เห็นถึงว่าเราทำงานวิจัยนี้ภายใต้ขอบเขตหรือสภาพแวดล้อมแบบใด มีปัญหาอะไรที่เรายังไม่ได้แก้หรือยังไม่ได้ทดสอบ เช่นบอกว่าโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นนี้ได้ทดสอบและทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เวอร์ชัน 4.1.2  หรือเราได้ทดลองระบบของเราโดยใช้ข้อมูลจากคณะวิทยาศาสตร์ สถาบัน... เป็นกรณีศึกษา ซึ่งถ้านำไปใช้กับข้อมูลของสถาบันอื่นอาจจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขบางส่วนเป็นต้น ในส่วนของข้อเสนอแนะจะเป็นส่วนที่แนะนำการทำวิจัยต่อไป เช่นการนำเสนอให้ทดลองโดยใช้ชุดข้อมูลใหม่ หรือทดลองกับข้อมูลชุดเดิมโดยใช้ขั้นตอนวิธีใหม่ หรือทดลองและปรับปรุงโปรแกรมให้ทำงานได้ภายใต้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เวอร์ชันอื่น หรืออุปกรณ์ที่มีขนาดหน้้าจอที่หลากหลายเป็นต้น

คุณ Louise Edwards ได้สรุปไว้ว่าซึ่งที่จะต้องมีในบทนี้ก็คือการเขียนที่ชัดเจนและเน้นให้เห็นประโยชน์และความรู้ใหม่ที่ได้จากงานวิจัย ในบทนี้จะต้องแสดงถึงความเชื่อมโยงของแนวคิดหลักที่กระจัดกระจายอยู่ในบทต่าง ๆ ของตัวเล่มของเรา ควรจะแสดงถึงความมุ่งมั่นและความกระตือรือร้นของเราในด้านงานวิชาการ และต้องให้ผู้ที่อ่านงานวิจัยของเรามีความคิดเชิงบวกเกี่ยวกับตัวเราครับ คือเขาอ่านจบแล้วเขาควรจะต้องเข้าใจงานของเราและเชื่อถือหรือยอมรับในสิ่งที่เราทำ ไม่ใช่พออ่านเสร็จก็มีคำถามเต็มไปหมดว่าไอ้คนนี้มันทำอะไร มันทดลองอะไร ทำไมมันทำแบบนี้ แล้วผลการทดลองมันน่าเชื่อถือได้หรืออะไรประมาณนี้

นอกจากสิ่งที่ควรต้องทำหรือต้องเขียนแล้ว คุณ Louise Edwards ก็แนะนำถึงสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงด้วย ซึ่งผมก็ว่าสำคัญนะครับ เพราะหลายคนยังเข้าใจผิดอยู่ในหลาย ๆ เรื่อง ส่วนแรกที่ไม่ควรจะอยู่ในบทนี้ก็คือการอ้างหรือนำสิ่งที่เรายังไม่ได้ทดสอบมาใช้ เช่นบอกว่าโปรแกรมนี้น่าจะทำงานได้ภายใต้ระบบปฏิบัติการ Black Berry  ด้วยโดยผ่านทางระบบอีมูเลเตอร์ทั้งที่เราก็ไม่เคยได้ทดสอบ อีกส่วนหนึ่ง (ซึ่งส่วนนี้ผมมักจะพบบ่อย ๆ) ก็คือการนำเสนอแนวคิดใหม่หรือหัวข้อใหม่ซึ่งไม่เคยพูดถึงมาก่อนในบทใด ๆ ในตัวเล่มงานวิจัย อีกจุดที่ควรหลีกเลี่ยงก็คือการหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงข้อจำกัดของงานวิจัยเราครับ เพราะมันจะทำให้ผู้อ่านมองว่างานวิจัยของเราไม่น่าเชือถือ นอกจากนี้เราควรจะหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงข้อเสนอแนะที่เป็นไปในทางปฏิบัติมาก ๆ เช่นพูดถึงวิธีการปรับแต่งเซิร์ฟเวอร์โปรแกรมหรือการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบจัดการฐานข้อมูล ซึ่งถ้าจำเป็นจริง ๆ ให้เขียนไว้ที่ภาคผนวกครับ และสุดท้ายก็คืออย่าให้บทนี้ยาวเกินไปหรือสั้นเกินไป ถ้าบทนี้จะยาวเกินไปส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่เราเขียนซ้ำไปซ้ำมาครับ สิ่งที่ผมมักจะเจอก็คือบางทีไปเอาผลการทดลองซึ่งอยู่ในบทก่อนหน้าเอามาใส่ซ้ำในบทสรุปอีกทีหนึ่ง หรือไปคัดลอกเอาส่วนของบทนำมาใส่เป็นต้น แต่ถ้าเขียนสั้นเกินไปผลก็คือเราอาจจะไม่ได้พูดถึงสิ่งสำคัญที่งานวิจัยของเราได้นำเสนอ

ก็หวังว่าคงพอจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ สุดท้ายนี้ก็ขอรวบรวมบล็อกที่เกี่ยวกับการเขียนงานวิจัยของผมมาไว้ที่นี่นะครับเพื่อความสะดวกในการอ้างถึง

การเขียนบทคัดย่อ
การเขียนบททฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (เน้นที่ปริญญานิพนธ์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์)
การเขียนคำภาษาต่างประเทศในบทความวิชาการ
Use Case Diagram ไม่ใช่ Flowchart นะจะบอกให้ (อันนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับบทที่สามสำหรับด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์)

อ้างอิง: Writing the Conclusion Chapter for your Thesis

วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

การเขียนบททฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (เน้นที่ปริญญานิพนธ์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์)

จริง ๆ ว่าจะเขียนเรื่องนี้มานานแล้ว เพราะในฐานะที่ตัวเองเป็นอาจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์จะต้องตอบคำถามว่าบทที่สองในรูปเล่มรายงานปริญญานิพนธ์ (ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง) ต้องเขียนอะไรบ้าง วันนี้ก็โดนถามอีกก็เลยคิดว่ามาเขียนบล็อกให้แนวทางในการเขียนสักหน่อยก็น่าจะดี นอกจากจะเป็นประโยชน์กับลูกศิษย์ตัวเองแล้ว ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับนักศึกษาที่ต้องเขียนปริญญานิพนธ์ และที่สำคัญก็คือตัวเองจะได้ไม่ต้องปากเปียกปากแฉะซ้ำ ๆ หลายรอบ :)

บทที่สองจุดประสงค์จริง ๆ ก็คือให้คุณได้เขียนอธิบายถึงหลักการและทฤษฎีที่คุณจะนำมาใช้เป็นหลักในการทำวิจัย และวิเคราะห์และสรุปการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับงานของคุณ ส่วนที่เป็นปัญหาที่เจอมากที่สุดก็คือทฤษฎีจะเขียนอะไร บางคนก็เข้าใจว่าอะไรที่ตัวเองใช้ก็คือทฤษฎี ดังนั้นในสมัยก่อนที่เจอบ่อยก็คือจะเริ่มต้นด้วยว่าฐานข้อมูลคืออะไร อธิบายการออกแบบ การเขียน ER ไปจนถึง primary key, candidate key เป็นต้น ซึ่งพอถามว่าจะเขียนมาทำไม ก็ได้รับคำตอบว่านี่คือทฤษฎีที่ต้องใช้ในการออกแบบฐานข้อมูล พอเจอคำตอบอย่างนี้ผมก็เลยถามกลับว่าถ้าอย่างนั้นทำไมถึงไม่เขียนมาด้วยล่ะว่าการเขียนโปรแกรมคืออะไร การคอมไพล์โปรแกรมทำยังไง หรือการวิเคราะห์หรือออกแบบระบบคืออะไร เพราะก็ต้องใช้ในการพัฒนาโปรแกรมเหมือนกันไม่ใช่หรือ พอเจอคำถามนี้เข้าไปก็เงียบกันไปหมด   รุ่นหลัง ๆ นี้ก็เลยไม่เขียนกันแล้วว่าฐานข้อมูลคืออะไร แต่ไปเขียนว่าแอนดรอยด์คืออะไร จะเขียนโปรแกรมบนแอนดรอย์ต้องทำยังไงแทน เฮ้อ....  แต่ที่เจอแล้วมึนที่สุดก็คือเขียนอธิบายมาว่าเว็บเบราซ์เซอร์คืออะไร เหตุผลที่เขียนมาก็คือเพราะตัวเองทำเว็บแอพพลิเคชัน เว็บเบราซ์เซอร์ก็เลยเป็นทฤษฎีที่ใช้ส่วนหนึ่ง เวรกรรมจริง ๆ

ผมมานั่งวิเคราะห์ปัญหาดูว่าทำไมเราถึงเขียนอะไรกันอย่างนี้ ก็เลยคิดว่าปัญหาอาจมาจากคำว่าอย่าเขียนอะไรโดยคิดว่าคนอ่านรู้อยู่แล้ว แต่จริง ๆ มันมีสิ่งที่ซ่อนอยู่ในนั้นนะครับคือเราต้องคิดว่าคนอ่านอย่างน้อยก็น่าจะอยู่ในฟิลด์ของเรา (คอมพิวเตอร์) ดังนั้นเขาควรจะต้องมีความรู้พื้นฐานเรื่องพวกฐานข้อมูล หรือการพัฒนาโปรแกรมอยู่แล้ว หรือถ้าเขาเป็นนักคอมพิวเตอร์แต่ไม่รู้วิธีการเขียนโปรแกรมแอนดรอยด์ เขาก็ควรไปหาอ่านจากหนังสือทางด้านนี้โดยตรง งานวิจัยของเราคงไม่ได้มีจุดประสงค์จะมาสอนใครให้เขียนโปรแกรมแอนดรอยด์เป็นใช่ไหมครับ ดังนั้นอันแรกครับพวกความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโปรแกรมไม่ว่าแพล็ตฟอร์มไหนนี่ตัดทิ้งไปได้เลยครับ เวลาเขียนบทที่สองให้คิดไว้ครับว่าคนอ่านเขาคงไม่ได้เข้ามาอ่านงานของเราเพื่ออ่านทฤษฎีพื้นฐานที่หาอ่านได้ทั่ว ๆ ไป หรือมีการเรียนการสอนกันอยู่แล้วนะครับ

แล้วจะเขียนอะไรดีล่ะในส่วนทฤษฎีนี้ คำตอบที่ผมมักจะให้นักศึกษาใช้เป็นแนวทางคือ มีทฤษฎีหรือความรู้อะไรที่คนที่อ่านงานของคุณในบทที่สาม (การดำเนินการวิจัย/การวิเคราะห์และออกแบบระบบ) จำเป็นต้องรู้บ้างไหม ถ้ามีก็ให้เขียนไว้เพื่อที่เขาจะได้กลับมาอ่านเป็นแนวทางได้ แต่ก็เอาเฉพาะที่จำเป็น ส่วนที่เป็นรายละเอียดมาก ๆ ก็ให้เป็นเอกสารอ้างอิงไป ตัวอย่างเช่นสมมติว่าคุณต้องทำโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับ GPS และต้องเก็บข้อมูลเกี่ยวกับ GPS ลงฐานข้อมูล ก็ไม่แปลกอะไรที่คุณจะมีทฤษฎีเบื้องต้นเกี่ยวกับข้อมูลที่ GPS ต้องใช้  จะเห็นนะครับว่าอย่างเรื่อง GPS นี่ไม่ใช่เรื่องที่เป็นพื้นฐานใช้กันทั่วไป และการที่คุณให้ข้อมูลตรงนี้ไว้ มันก็จะช่วยให้คนอ่านในบทที่สามของคุณเข้าใจว่าทำไมคุณต้องมีฟิลด์ที่ใช้เก็บข้อมูลนี้ในตารางในฐานข้อมูลของคุณ หรืออีกสักตัวอย่างหนึ่ง ถ้างานเราต้องใช้การติดต่อกับ Social Network อย่าง Twitter หรือ Facebook ก็ถือว่าโอเคนะถ้าจะมีส่วนที่แสดงให้เห็นว่าการติดต่อกับ Social Network เหล่านี้ทำได้โดยผ่าน API และมันมีข้อมูลหรือบริการอะไรที่เราใช้ได้บ้าง เพราะตรงนี้มันก็อาจอธิบายถึงการออกแบบในบทที่สามของเราเมื่อต้องทำงานกับส่วนนี้ ส่วนถ้างานของเราเน้นที่การพัฒนาโปรแกรม ไม่ได้ใช้อะไรจริง ๆ นอกจากทักษะด้านออกแบบและการพัฒนาโปรแกรม ผมว่าจะไม่มีทฤษฎีที่เกี่ยวข้องเลยก็ไม่แปลกนะ เพราะบทนี้ยังมีอีกส่วนหนึ่งก็คืองานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะให้คุณได้แสดงทักษะความสามารถในการคิดวิเคราะห์

ในส่วนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องถ้าใครที่ทำงานที่เน้นไปที่ด้านการวิจัย สิ่งที่ต้องทำก็คือให้ศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับงานที่เราทำ แต่ไม่ใช่ไปลอกงานเขามาใส่งานเรานะครับ แต่ทีต้องทำก็คือศึกษาและวิเคราะห์จุดดีจุดด้อยของงานวิจัยที่มีอยู่ เพื่อที่จะได้ตอบคำถามว่าทำไมเราถึงต้องทำงานชิ้นนี้ จากนั้นก็เขียนสรุปงานของเขาและส่วนของการวิเคราะห์ด้วยคำพูดของเราเอง ส่วนคนที่ทำำแอพพลิเคชันก็ต้องเขียนเพื่อตอบให้ได้ว่าทำไมต้องทำแอพลิเคชันนี้ ถ้ามันยังไม่มีิอยู่เลยก็ต้องหาที่มาของข้อกำหนดความต้องการให้ได้ เช่นถ้าจะพัฒนาระบบงานเพื่อช่วยทำอะไรก็ต้องชี้ให้เห็นว่าระบบเดิมที่เขาทำด้วยคนโดยไม่มีโปรแกรมนี่มันมีการทำงานอย่างไร ระบบเดิมมีปัญหาตรงไหน  หรือถ้าจะทำแอพพลิเคชันที่มีคนทำอยู่แล้ว ก็ศึกษาข้อดีข้อด้อยของแอพลิเคชันเหล่านั้น แล้วก็นำมาเขียนอาจจะเป็นลักษณะของการรีวิวก็ได้  ซึ่งสิ่งที่เราศึกษาและวิเคราะห์มาก็จะนำไปสู่ข้อกำหนดความต้องการของระบบที่เราจะพัฒนาขึ้นนั่นเอง

คิดว่าจากที่เขียนมาทั้งหมด ก็คงจะพอทำให้เห็นแนวทางการเขียนบทที่สองของงานปริญญานิพนธ์ได้มากขึ้นนะครับ ซึ่งถึงแม้ผมจะเน้นและยกตัวอย่างด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์เป็นหลัก แต่คิดว่าก็อาจนำไปปรับใช้กับงานวิจัยด้านอื่นได้เช่นกัน

สุดท้ายก็ขอนำบล็อกที่เคยเขียนเกี่ยวกับการเขียนงานวิจัยมาใส่ลิงก์ไว้ให้ตรงนี้ เพื่อความสะดวกในการค้นหาครับ

การเขียนคำภาษาต่างประเทศในบทความวิชาการ

การเขียนบทคัดย่อ

วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การเขียนคำภาษาต่างประเทศในบทความวิชาการ


วันนี้ขอเขียนเรื่องหนึ่งที่มักจะเป็นปัญหาในการเขียนบทความวิชาการภาษาไทย เรื่องนั้นก็คือคำที่เป็นภาษาอังกฤษนั้นจะเขียนอย่างไร ซึ่งตรงนี้ต้องบอกว่าจริง ๆ ถ้าเป็นพวกวารสารหรือที่ประชุมวิชาการเราก็ไปดูว่าเขามีกฎเกณฑ์ในเรื่องนี้ไว้อย่างไร ถ้าเป็นพวกวิทยานิพนธ์หรือปริญญานิพนธ์ก็คงต้องศึกษาคู่มือการเขียนปริญญานิพนธ์หรือวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยนั้นๆ แต่หลักการที่ส่วนใหญ่จะยึดไว้เหมือนกันก็คือให้พยายามใช้ภาษาไทยให้มากที่สุด คำภาษาอังกฤษที่เป็นคำทับศัพท์ที่รู้จักกันเป็นที่แพร่หลายอยู่แล้วก็ให้ใช้ทับศัพท์ไปตามนั้นเช่นชื่อประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาเป็นต้น

ในส่วนของศัพท์เฉพาะทาง เริ่มต้นก็ให้ดูศัพท์บัญญัติทางวิชาการของสาขาวิชานั้นที่บัญญัติโดยราชบัณฑิตยสภา ซึ่งแน่นอนครับคำศัพท์หลาย ๆ คำที่ถูกบัญญัติไว้นั้นบางคำก็ดูแปลก ๆ และบางครั้งพอเอามาใช้เขียนในเนื้อหาแล้วทำให้ดูสับสนมากกว่าจะช่วยให้อ่านรู้เรื่อง ปัญหานี้เดี๋ยวผมจะกลับมาพูดอีกทีครับว่าผมใช้วิธีการยังไง นอกจากนี้ทางราชบัณฑิตยสถานอาจรู้ตัวแล้วว่าคำศัพท์บางคำเอาไปใช้ตรง ๆ แล้วอาจไม่สื่อความหมายก็เลยยอมให้ใช้วิธีทับศัพท์ได้ด้วยโดยเขียนคำทับศัพท์มาให้เสร็จสรรพ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ก็ง่ายสำหรับเราหยิบมาใช้ได้เลย

คราวนี้คำศัพท์ที่ไม่มีการบัญญัติและไม่มีคำทับศัพท์ล่ะจะทำยังไง ถ้าเป็นแบบนี้ถ้าให้ดีจริง ๆ ก็คือเราอาจต้องให้ความหมายเอง หรือทับศัพท์ด้วยตัวเราเอง แต่แบบไม่ค่อยดีก็คือเขียนเป็นภาษาอังกฤษไปเลย ซึ่งวิธีหลังสุดนี้ก็ง่ายดีแต่บางทีมันก็อาจทำให้งานเขียนของเราดูไม่ค่อยสอดคล้องกันสักเท่าไร ลองคิดดูนะครับเราใช้คำไทยมาตลอดแต่มีบางคำโผล่มาเป็นภาษาอื่นผมว่ามันดูแปลก ๆ นะ ส่วนการแปลหรือให้ความหมายเองบางคนถามว่าจะทำได้หรือ  โดยส่วนตัวผมคิดว่าทำได้ ก็มันไม่มีการบัญญัติไว้ ถ้าเราใช้แล้วมันสื่อความหมายได้ดีทำไมจะใช้ไม่ได้  และดีไม่ดีอาจเป็นคำที่ต่อไปกลายเป็นศัพท์บัญญัติก็ได้ แต่ถ้าคิดว่าควรจะทับศัพท์ดีกว่าก็คงจะทับศัพท์ตามใจชอบไม่ได้ การทับศัพท์จะต้องยึดหลักที่กำหนดโดยราชบัณฑิตยสภา ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถหาดูได้จากเว็บไซต์ของราชบัณฑิตยสภา ซึ่งมีข้อมูลที่น่าสนใจมากมายไม่ว่าจะเป็นศัพท์บัญญัติทางวิชาการ หรือหนังสืออิเลกทรอนิกส์ที่ผมชอบมากก็คือศัพท์ต่างประเทศที่ใช้คำไทยแทนได้ แต่ก็ต้องบอกว่าหลักการทับศัพท์นี่ก็มีรายละเอียดเยอะมากครับบางครั้งอ่านแล้วก็ยังงง ๆ อยู่

อีกเรื่องหนึ่งที่มักสร้างความสับสนก็คือเรื่องของการวงเล็บภาษาอังกฤษประกอบกับคำศัพท์ภาษาไทยที่เราเลือกใช้ หลักการง่าย ๆ หลักการแรกก็คือคำศัพท์ไหนที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายกันดีจนมันกลายเป็นภาษาไทยไปแล้วเช่น สหรัฐอเมริกา ค่าเฉลี่ย โปรแกรม และคอมพิวเตอร์ เหล่านี้ไม่ต้องใส่วงเล็บประกอบครับ ผมว่ามันเชยนะถ้าเราต้องเขียนแบบนี้ เทคโนโลยี  (technology) ทั้ง ๆ ที่เราก็รู้จักกันดีอยู่แล้วว่าคำทับศัพท์คำนี้มันมาจากภาษาอังกฤษคำไหน

การใช้วงเล็บควรจะใช้กับคำศัพท์ที่ยังไม่แพร่หลาย หรือคำที่ใช้อาจสื่อถึงภาษาอังกฤษได้หลายตัว การวงเล็บนั้นหลักการก็คือควรวงเล็บเฉพาะครั้งแรกที่เราใช้คำนั้นเช่น ซิงโครนัส (synchronous) เราก็วงเล็บเฉพาะครั้งแรก หลังจากนั้นเราก็ใช้ซิงโครนัสได้เลยโดยไม่ต้องใส่วงเล็บอีก ลองคิดดูครับว่ามันจะน่ารำคาญแค่ไหนที่ในหน้าเดียวกันเราเขียนคำว่าซิงโครนัส (synchronous) แล้วถัดไปอีกสามบรรทัดก็เขียนซิงโครนัส (synchronous) อีก แต่สำหรับเรื่องนี้ผมก็มีหลักการของตัวเองเพิ่มเติมนิดหน่อยครับไม่รู้ว่ามันจะดีหรือเปล่า ผมเห็นว่างานวิชาการบางครั้งคนอ่านงานเราเขาอาจไม่ได้อ่านตั้งแต่หน้าแรกยันหน้าสุดท้ายเหมือนอ่านนิยาย เขาอาจจะเลือกอ่านเฉพาะส่วนที่เขาสนใจ ดังนั้นถ้าเราใส่คำศัพท์ที่มีวงเล็บไว้ที่บทที่หนึ่งแล้วแต่เขาไม่ได้อ่านข้ามมาอ่านบทที่สามเลย เขาอาจไม่รู้ว่าคำนี้มันคืออะไร ดังนั้นถ้าเป็นคำศัพท์ที่สำคัญที่คนอ่านควรรู้ ผมก็คิดว่าถ้าเราจะวงเล็บไว้ในครั้งแรกที่เราใช้ในแต่ละบทก็น่าจะดี หรือไม่เราก็อาจมีอภิธานศัพท์ (glossary) ไว้ในภาคผนวกก็อาจช่วยได้ ซึ่งอภิธานศัพท์นี้นอกจากที่จะช่วยคนอ่านแล้วยังช่วยเราคนเขียนด้วย คือเราจะได้ใช้คำคำเดียวกันสำหรับคำศัพท์คำเดียวกันได้อย่างสอดคล้องตลอดทั้งเล่ม

กลับมาอีกหนึ่งเรื่องที่ผมค้างไว้ก็คือจะทำยังไงถ้าใช้ศัพท์บัญญัติแล้วมันไม่สื่อความหมายในงานเขียนของเรา ผมขอยกตัวอย่างคำหนึ่งคือคำว่า implementation คำนี้ศัพท์บัญญัติทางคอมพิวเตอร์ของราชบัณฑิตใช้คำว่าการทำให้เกิดผล ดังนั้นสมมติว่าเราต้องการจะแปลวลี design and implementation เราก็คงต้องแปลว่าการออกแบบและการทำให้เกิดผล ซึ่งมันอาจฟังดูแปลก ๆ เพราะเราไม่คุ้น และคำว่าการทำให้เกิดผลมันไม่ได้สื่อตรง ๆ ว่าหมายถึงอะไร ถ้าวลีดังกล่าวเป็นชื่อหัวข้อผมว่าการแปลอย่างนี้อาจจะใช้ได้ เพราะเราสามารถขยายความคำว่าการทำให้เกิดผลว่ามันหมายถึงอะไรในส่วนของเนื้อความ แต่สมมติว่ามันไม่ใช่หัวข้อแต่เป็นเนื้อความส่วนอื่น ก็อาจถามตัวเองว่ามันมีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องแปลหรือเขียนคำว่า implementation ตรง ๆ สมมติว่าถ้าเราลองเลี่ยงไปใช้คำอื่นเช่นการพัฒนาโปรแกรมมันยังให้ความหมายที่เราต้องการจะสื่อหรือไม่  แต่ถ้าต้องใช้ implementation จริง ๆ ส่วนตัวผมอาจใช้คำว่าการอิมพลีเมนต์ครับ อันนี้เลี่ยงบาลีเอา คือมองว่าคำว่า implement ไม่ได้มีการบัญญัติไว้ และ implementation เป็นคำนาม เราก็เติมการเข้าไป ผมว่ามันทำได้นะครับถ้าจะทำให้บทความของเราอ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้น เพราะคนในวงการพัฒนาซอฟต์แวร์ก็รู้จักคำว่าอิมพลีเมนต์กันทุกคน แต่จะถูกหลักของราชบัณฑิตยหรือเปล่าอันนี้ไม่แน่ใจ

สุดท้ายผมมีหนังสือแนะนำสองเล่มที่น่าจะช่วยการเขียนของเราครับเล่มแรกคืออ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ของราชบัณฑิตยสภา ซึ่งจะช่วยให้เราอ่านและเขียนภาษาไทยได้ถูกต้อง และอีกเล่มคือคำทับศัพท์ภาษาต่างประเทศในไทย โดย เจตต์ วิษุวัต ซึ่งผู้เขียนได้รวบรวมคำทับศัพท์ที่ใช้บ่อย ๆ ในประเทศไทยไว้ให้พวกเราได้ใช้กัน วันนี้ยาวหน่อยนะครับ แต่ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์...

วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เริ่มเขียนที่โรงเรียนกวดวิชาแต่จบที่บ้าน


บล็อกนี้เริ่มเขียนที่โรงเรียนกวดวิชาชื่อดังแห่งหนึ่งในวิสุทธานีครับ และพูดอย่างไม่กลัวเชยว่าผมเพิ่งเคยมาที่นี่เป็นครั้งแรก มาส่งลูกคนโตเรียนพิเศษและถือโอกาสเดินสำรวจไปทั่ว ๆ จากนั้นก็เข้ามานั่งรอลูกและเริ่มเขียนบล็อกนี้ครับ ผมเข้ามาสู่วังวนของโรงเรียนกวดวิชาอีกครั้งแล้วครับหลังจากหยุดมานานตั้งแต่สมัยที่ให้ลูกไปเรียนกวดวิชาเพื่อสอบเข้าป.1 ตอนนั้นผมกับภรรยาก็ยังไม่ค่อยแน่ใจหรอกว่ามันควรทำหรือไม่ แต่ได้รับคำแนะนำจากผู้รู้ทั้งเพื่อนฝูงและญาติพี่น้องว่าควรไปจะได้รู้แนวข้อสอบงั้นจะเสียเปรียบเขา เราก็เลยพาลูกไปเรียน ซึ่งจริงๆ ก็สงสารลูกนะครับและต้องชมเขาอีกครั้งว่าพวกเขาซึ่งตอนที่ไปเรียนนั้นอายุแค่ประมาณห้าขวบ ตื่นกันขึ้นมาแต่เช้าและยอมไปเรียนโดยไม่งอแง

หลังจากสอบเข้าป.1 แล้วผมกับภรรยาก็ไม่ได้ให้ลูกไปเรียนพิเศษที่โรงเรียนกวดวิชาที่ไหนอีก จะมีก็แค่เป็นส่วนเสริมเช่นไปเรียนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ดนตรี ฟุตบอล แต่ถ้าจะเรียนเป็นงานเป็นการก็คือคุมองซึ่งเป็นการเน้นการทำโจทย์คณิตศาสตร์และฝึกให้เด็กรู้จักรับผิดชอบ และถ้าแบ่งเวลาดี ๆ ก็จะใช้เวลาไม่มาก  ซึ่งจริง ๆ ผมเพิ่งมาทราบภายหลังว่าภรรยาผมเธอมีจุดประสงค์แอบแฝงในการให้ลูกไปเรียนคุมอง เพราะเธอต้องการเปิดศูนย์คุมองครับเลยส่งลูกไปเป็นสายลับก่อน :) ซึ่งตอนนี้เธอก็ได้เปิดศูนย์คุมองสมใจเธอแล้ว   

ถ้าถามว่าทำไมผมถึงไม่ชอบให้ลูกเรียนกวดวิชาคำตอบก็คือผมกับภรรยาไม่คิดว่าการเรียนพิเศษในวิชาที่เรียนอยู่ในห้องมันจะเป็นเรื่องจำเป็นอะไร สำหรับภรรยาผมเท่าที่คุยกันเธอก็ไม่เคยไปเรียนพิเศษที่ไหนเนื่องจากตอนเด็กเธอต้องช่วยที่บ้านขายของ ส่วนผมเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือเองครับ ผมจะใช้วิธีซื้อหนังสือคู่มือมาอ่านแล้วก็ฝึกทำโจทย์ อีกอย่างหนึ่งเราคิดว่าการไปเรียนกวดวิชาเป็นการยัดเยียดอะไรให้ลูกมากเกินไป เราก็เลยสอนลูกให้ตั้งใจเรียนทำความเข้าใจในห้องและหมั่นทบทวนซึ่งลูกก็สอบในโรงเรียนได้ดีโดยไม่ต้องไปเรียนพิเศษที่ไหน

คราวนี้ทำไมให้ลูกมากวดวิชาอีก เหตุผลเริ่มจากที่ภรรยาผมต้องการให้ลูกคนเล็กลองมาสอบเข้าม.1 ที่โรงเรียนอื่นดูบ้าง เธอให้เหตุผลว่าให้เขามาลองฝีมือดู มาเทียบกับเด็กโรงเรียนอื่นดูบ้าง  ซึ่งเราก็ให้เขามาลองสอบ pre-test  เข้า ม. 1 ซึ่งโรงเรียนดัง ๆ ส่วนใหญ่นิยมจัดกัน ลองให้เขาสอบตั้งแต่เขาอยู่ ป. 5 ผลปรากฏว่าไม่ติดฝุ่นครับ เจ้าตัวเล็กผมตอนอยู่โรงเรียนเดิมนี่ได้ที่ 1-3 ของห้องมาเกือบตลอด แต่พอมาสอบนี่ไม่ติดอันดับเลย ตอนนั้นเราก็วิเคราะห์กันว่าเพราะเขาอยู่แค่ป. 5 และไม่ได้เตรียมตัวสอบดีเท่าไร  พอเขาอยู่ป. 6 ก็ให้มาลองสอบอีกปรากฏว่าดีขึ้นแต่ก็ยังไม่ติดอันดับเหมือนเดิม คราวนี้เราก็เลยต้องคิดกันใหม่  ช่วงแรกเราก็เลยหาคู่มือสอบมาให้เขาลองทำซึ่งทำให้รู้ว่าเขาไม่เคยเจอข้อสอบในลักษณะนั้นมาก่อน เท่าที่จำได้และเห็นเด่นชัดก็คือวิชาวิทยาศาสตร์ซึ่งการเรียนในโรงเรียนดูเหมือนจะไม่ได้เน้นพวกโครงสร้างอะตอมอะไรพวกนี้ (อันนี้ที่รู้เพราะเวลาลูกสอบผมมักจะหาเวลามาติวลูก) แต่ในคู่มือกลับมีข้อสอบลักษณะนี้ ซึ่งผมจำได้ว่าสมัยผมกว่าจะเรียนพวกนี้ หรือรู้จักตารางธาตุก็ตอนม.ปลายแล้ว แต่นี่แค่เด็กป. 6 และข้อสอบไม่ได้ถามแค่ให้รู้จักธรรมดายังถามให้คำนวณด้วย หรืออย่างข้อสอบคณิตศาสตร์นี่มันก็จะมีสูตรลัดต่าง ๆ ซึ่งถ้าทำตรง ๆ อาจใช้เวลานาน และในบางวิชาถึงจะมีเฉลยแล้วเราก็ยังไม่รู้ที่มาที่ไปอยู่ดี คือผมกับภรรยาก็พยายามช่วยเขา แต่ความที่เราก็ทิ้งวิชาอื่น ๆ นอกจากเลขกับภาษาอังกฤษมานานแล้วทำให้บางครั้งเราก็ตอบไม่ได้ว่าอะไรเป็นอะไร  อีกประการที่ผมพยายามฝึกลูกอยู่ก็คือลูกผมไม่เหมือนผมที่ชอบอ่านและทำโจทย์เองครับ ด้วยเหตุผลนี้เราจึงคิดว่าน่าจะลองให้เขาเรียนพิเศษดูและเขาก็น่ารักอีกตามเคยที่ยอมไปเรียนครับ แต่คราวนี้แรก ๆ ก็มีงอแงบ้าง เพราะจริง ๆ เขาก็ไม่ได้รู้สึกว่าอยากย้ายจากโรงเรียนเดิมครับ เราก็ต้องบอกเขาว่าอยากให้เขาไปเรียนเพื่อที่จะเพิ่มความรู้ให้เขาไปลองเทียบฝีมือกับคนอื่นดู ถ้าสอบได้และเขาไม่อยากย้ายก็จะไม่บังคับอะไร

สรุปเจ้าคนเล็กเริ่มเรียนพิเศษเพื่อเตรียมสอบเข้าม.1 ช้ามากคือมาเริ่มเรียนตอนป.6 แล้ว ไปสอบสนามแรกก็ไม่ติด มาสนามที่สองก็ยังไม่ติดแต่ที่ผมสังเกตุคือคะแนนเขาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนถึงสนามสุดท้ายบดินทรเดชา 2 สนามนี้เจ้าคนเล็กอยากเข้ามากครับ เพราะเขาไปได้เพื่อนใหม่ที่เรียนพิเศษด้วยกันและตั้งใจเข้าบดินทร 2 ด้วยกัน  (คิด ๆ ดูนี่เจ้าตัวเล็กผมใจง่ายนะครับ เพื่อนโรงเรียนเดิมเรียนกันมาตั้งหกปีจะทิ้งไปอยู่กับเพื่อนที่เพิ่งเรียนด้วยกันซะแล้ว) ปรากฏว่าเขาสอบติดครับและเพื่อนเขาที่เรียนด้วยกันหลายคนก็ติดด้วย ไม่รู้ว่านี่จะสรุปได้ไหมว่าโรงเรียนกวดวิชามีผลเป็นอย่างมาก ถ้าลูกใครสอบเข้าได้โดยไม่ต้องไปกวดวิชาที่ไหนนี่มาแสดงความเห็นด้วยก็ดีนะครับ มาช่วยบอกหน่อยว่าทำยังไง คือถึงตอนนี้ผมก็ไม่ได้ชอบโรงเรียนกวดวิชา แต่มันเหมือนกับว่าถ้าคุณไม่กวดวิชาคุณก็จะเสียเปรียบสู้คนที่กวดไม่ได้  

คราวนี้ก็ถึงรอบคนโตครับเพราะภรรยาผมก็ต้องการให้เขาไปวัดฝีมือสอบเข้าม.4 กับเด็กอื่นอีกแล้ว และนี่ก็คือเหตุผลที่ผมต้องมาที่วิสุทธานีเป็นครั้งแรก และยังคงจะต้องมาอีกหลายครั้งเพื่อรับส่งเขา ส่วนคนเล็กนี่เราตัดสินใจให้เขาหยุดเรียนพิเศษไว้ก่อนครับ เพราะเราก็ยังเชื่อว่าการตั้งใจเรียนและทบทวนบทเรียนในห้องเรียนน่าจะเพียงพอสำหรับการเรียนในโรงเรียนแล้ว ซึ่งถ้าแค่เรียนในโรงเรียนยังต้องมากวดวิชานี่เราสองคนก็ยังไม่เห็นด้วยครับ เพราะเราคิดว่ามันจะติดเป็นนิสัยจนเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยครับ ซึ่งเหตุการณ์นี้เจอกับตัวเองเลย มีลูกศิษย์บางคนเคยเข้ามาถามว่าอาจารย์ไม่รับติวพิเศษบ้างหรือ ซึ่งผมก็บอกว่าเราเรียนระดับมหาวิทยาลัยแล้วเราไม่ควรจะต้องมีการมาติวพิเศษอีกแล้ว เราจะต้องหัดเรียนรู้และรับผิดชอบด้วยตัวเองให้ได้ เร็ว ๆ นี้ก็ได้คุยกับเพื่อนที่เป็นอาจารย์ด้วยกันแต่อยู่กันคนละมหาวิทยาลัยซึ่งเขาก็บอกว่าเดี๋ยวนี้ค่านิยมการเรียนพิเศษมันได้ลามไปถึงระดับป.โทหรือกระทั่งป.เอกแล้ว ฟังแล้วก็อนาถใจ 

สิ่งหนึ่งที่ผมได้เห็นจากเรื่องโรงเรียนกวดวิชานี้ก็คือเหตุผลของการที่เด็กต้องมาเรียนกวดวิชา ซึ่งผมสรุปเองได้หลัก ๆ สามข้อ หนึ่งคือข้อสอบที่ใช้สอบเข้าไม่ว่าจะระดับไหนไม่ได้ออกตามจุดประสงค์หรือแม้กระทั่งอาจจะไม่ตรงกับหลักสูตรที่เด็กได้เรียนมา (ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น) สองการมาเรียนกวดวิชาทำให้เด็กได้สูตรลัดในการคิดคำนวณซึ่งก็จะได้เปรียบกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนเพราะจะทำให้ได้คำตอบที่เร็วกว่า (แต่จุดประสงค์ของการสอบต้องการวัดอะไรกันแน่ วัดความเร็วหรือจะวัดกระบวนการคิด) สามครูที่สอนอยู่ในสถานศึกษา(รวมถึงตัวผมด้วย) อาจต้องพิจารณาแล้วว่าทำไมเราจึงสื่ิอสารกับเด็กสู้ติวเตอร์ที่สอนพิเศษเหล่านี้ไม่ได้ บางคนอาจถามว่าแล้วความแตกต่างระหว่างโรงเรียนไม่เกี่ยวหรือ ผมว่าไม่เกี่ยวนะเด็กที่มาเรียนพิเศษที่ผมเห็นอยู่รวมถึงลูกผมด้วยส่วนใหญ่ก็มาจากโรงเรียนดัง ๆ กันทั้งนั้น คือพูดง่าย ๆ ว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่โรงเรียนไหนคุณก็ต้องกวดวิชาทั้งนั้น ผมยังเคยคิดเล่น ๆ เลยว่าถ้ามันเป็นอย่างนี้ให้ลูกเรียนกศน.เสียเลยดีไหม แล้วก็มาเรียนกวดวิชาเอา  

ผมเริ่มเขียนบล็อกที่โรงเรียนกวดวิชาแต่สุดท้ายก็มาจบที่บ้านครับ ยังไงเสียบ้านก็จะเป็นที่บ่มเพาะสำคัญให้ลูก ๆ ของเราเติบโตเป็นสมาชิกที่ดีของประเทศชาติต่อไป ช่วยกันทำบ้านให้อบอุ่นเพื่อลูกหลานของเรากันนะครับ วันนี้จบมันแบบไม่เกี่ยวกับเรื่องที่เขียนมาแบบนี้แหละ สวัสดีครับ...

วันพุธที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2555

การเขียนบทคัดย่อ

เข้าสู่เทศกาลสอบ Senior Project กันแล้วนะครับ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ต้องเขียนในเอกสารก็คือบทคัดย่อ แต่ปัญหาคือหลายคนไม่รู้ว่าในบทคัดย่อต้องเขียนอะไร แม้แต่ปริญญาโทบางคนก็อาจยังไม่รู้ ผมเคยเขียนเรื่องนี้ไว้หลายปีแล้วที่ เว็บบอร์ดของ Computer Science KMITL วันนี้ขออนุญาตเอามาเล่าซ้ำให้ฟังอีกครั้งแล้วกันครับ โดยมีการแก้ไขเล็กน้อย

เริ่มต้นจากบทคัดย่อคืออะไรและสำคัญอย่างไร บทคัดย่อก็คือการสรุปงานวิจัยที่สมบูรณ์ในรูปแบบที่สั้นและกระชับ ความสำคัญของบทคัดย่อก็คือถ้าเราเขียนได้ดี ผู้อ่านจะสามารถเข้าใจภาพรวมของงานวิจัยเราได้ และเขาอาจประเมินงานวิจัยของเราได้เลยว่าน่าสนใจ มีประโยชน์ หรือเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เขาสนใจหรือไม่ โดยที่ไม่ต้องอ่านรายละเอียดของงานวิจัยเราทั้งหมด คนที่อยู่ในแวดวงวิจัยคงจะทราบดีนะครับว่า เวลาเราจะหาหัวข้องานวิจัยที่เราสนใจ ในตอนแรกเราไม่ได้อ่านรายละเอียดทั้งหมดในเอกสาร เพราะถ้าทำอย่างนั้นเราก็คงต้องเสียเวลาไปมากกว่าจะเลือกเรื่องที่เราสนใจจริง ๆ ได้  ดังนั้นวิธีการที่เราใช้กันก็คืออ่านจากบทคัดย่อก่อน คัดกรองเรื่องที่คิดว่าเกี่ยวข้องจริง ๆ กับเรา แล้วจึงจะอ่านในรายละเอียดส่วนอื่น ๆ ต่อไป ดังนั้นบทคัดย่อที่ดีจึงเป็นประโยชน์กับวงการวิจัยมาก อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมจากการเขียนบทคัดย่อที่ดีที่เพิ่งเกิดขึ้นกับตัวผมและนักศึกษาปริญญาเอกในที่ปรึกษาก็คือ  ผมและนักศึกษาได้รับเชิญให้เขียนบทความวิจัยลงในวารสารวิชาการระดับนานาชาติเล่มหนึ่ง ซึ่งเขาให้เหตุผลในการเชิญคือเขาอ่านจากบทคัดย่อจากบทความวิจัยที่นำเสนอในที่ประชุมวิชาการ (conference) แล้วคิดว่างานวิจัยดังกล่าวน่าสนใจ ขอให้เขียนเพิ่มเติมเพื่อที่จะนำลงตีพิมพ์ในวารสาร ถึงตรงนี้ก็คงเห็นความสำคัญของการเขียนบทคัดย่อที่ดีกันบ้างแล้วนะครับ

คราวนี้ในบทคัดย่อควรมีอะไรบ้าง ผมขออ้างอิงจากเว็บของมหาวิทยาลัย Berkeley ดังนี้ครับ


  1. แรงจูงใจในการทำวิจัย/ความสำคัญของปัญหา ในส่วนนี้จะบอกว่าทำไมเราจึงสนใจปัญหานี้ มีประเด็นอะไรที่งานวิจัยของเราจะเข้าไปแก้ไข
  2. วิธีการในการวิจัย ในส่วนนี้จะอธิบายวิธีการดำเนินการวิจัยของเรา เพื่อให้เห็นว่าเราได้ผลลัพธ์มาอย่างไร 
  3. ผลลัพธ์ ในส่วนนี้จะอธิบายผลลัพธ์ที่ได้จากงานวิจัยนี้ โดยจะบอกว่าเราได้เรียนรู้ หรือได้พัฒนาอะไรขึ้นมา
  4. สรุป เป็นส่วนที่บอกว่างานที่ได้นั้นมีประโยชน์อย่างไร ประเด็นก็คือมันสามารถตอบคำถามในข้อ 1 ได้อย่างไร
คราวนี้มาลองดูตัวอย่างบทคัดย่อสักตัวอย่างหนึ่งนะครับเผื่อจะเห็นภาพมากขึ้น อันนี้มาจากปัญหาพิเศษล่าสุดที่ผมเป็นที่ปรึกษาครับ

เป็นที่ยอมรับกันในวงการการศึกษาว่าการติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียนรายบุคคลเป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน ซึ่งผลที่ได้จากกลไกนี้ก็คือผู้สอนสามารถที่จะออกแบบการเรียนการสอนที่ส่งเสริมผู้เรียนเป็นรายบุคคลได้โดยง่าย ผู้เรียนจะได้เข้าใจจุดอ่อนจุดแข็งและมองเห็นการพัฒนาของตนเอง ส่วนผู้ปกครองก็จะได้รับรู้ข้อมูลพัฒนาการของบุตรหลานและสามารถร่วมมือกับโรงเรียนได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะมาสนับสนุนให้กลไกดังกล่าวเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือการมีระบบสารสนเทศที่เหมาะสม ปัญหาพิเศษนี้มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาต้นแบบของระบบสารสนเทศการติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียน โดยระบบที่พัฒนาขึ้นมีลักษณะเป็นเว็บแอพพลิเคชันเพื่อให้ผู้สอน ผู้เรียน และผู้ปกครองสามารถเข้าถึงข้อมูลผ่านทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์ สำหรับการวัดและประเมินผลการเรียนรู้จะพิจารณาจากมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยในการพัฒนาระบบนี้ผู้พัฒนาได้ใช้โรงเรียน... เป็นกรณีศึกษา การทดสอบระบบทำโดยการเก็บข้อมูลการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่สองจำนวนสองห้อง ผลการทดสอบพบว่าระบบที่พัฒนาขึ้นสามารถจัดเก็บข้อมูลที่จำเป็นและแสดงผลการวิเคราะห์ที่สามารถนำไปใช้ในการติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียนรายบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2554

Use Case Diagram ไม่ใช่ Flowchart นะจะบอกให้

หลังจากไม่ได้เขียนบล็อกเสียนาน และหลัง ๆ นี้แทบไม่ได้เขียนเกี่ยวกับการพัฒนาโปรแกรมเลย วันนี้ก็ขอเขียนเสียหน่อยแล้วกัน แต่ก่อนอื่นขอเป็นกำลังใจให้กับชาวไทยทุกคนที่กำลังเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมอยู่ตอนนี้นะครับ

สำหรับเรื่องที่ต้องการจะเขียนวันนี้คือเรื่องที่ดูเหมือนจะง่าย ๆ ก็คือการเขียน Use Case Diagram จริง ๆ ผมตั้งใจจะเขียนมาหลายเดือนแล้ว เอหรือจะเกือบปีแล้วก็ไม่รู้ คือผมได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่องการพัฒนาโปรแกรมให้กับหน่วยงานหน่วยหนึ่ง ก่อนที่จะบรรยายผมก็ลองให้โจทย์กับผู้อบรมลองเขียน Use Case Diagram ดู ปรากฏว่าผู้เข้าอบรมหลายคนเขียน Use Case Diagram เหมือนกับว่ามันเป็น Flowchart และวันนี้เองสด ๆ ร้อน ๆ กับนักศึกษาในที่ปรึกษาของตัวเองก็ดูเหมืือนว่าจะเข้าใจผิดไปในแนวทางนั้นเช่นกัน ดังนั้นก็เลยคิดว่าคงต้องเขียนบล็อกนี้ขึ้นมาเสียหน่อยเพื่อจะช่วยให้เรื่องนี้ชัดเจนขึ้น

ก่อนอื่นเรามาทบทวนกันก่อนว่า Use Case Diagram มีจุดประสงค์อะไร ซึ่งคิดว่าพวกเราคงตอบกันได้ว่ามันมีหน้าที่หลักในการแสดง Functional Requirement ของระบบ ตัว Use Case หนึ่ง Use Case เป็นตัวแทนของฟังก์ชันหลักฟังก์ชันหนึ่งของระบบ ดูก็ง่ายดีใช่ไหมครับ แล้วปัญหาใีนอยู่ตรงไหน ลองมาดูโจทย์ที่ผมได้ใช้ทดสอบผู้เข้ารับการอบรมกับผมกันก่อนครับ

  จงเขียน UML Diagram สำหรับระบบ ATM ที่่มีการทำงานคือฝากเงิน (Deposit) โอนเงิน (Transfer) และถอนเงิน (Withdraw) โดยจะต้องมีการตรวจสอบตัวตนของลูกค้าด้วย 

จากโจทย์ก็เป็นตัวอย่างพื้นฐานทั่วไป แต่มีผู้เข้ารับการอบรมหลายคนเขียน Use Case Diagram ในลักษณะนี้ครับ

Use Case Diagram แบบ Flowchart



ซึ่งผมก็ได้สอบถามว่าทำไมเขาถึงเขียนไดอะแกรม ในลักษณะนี้ คำตอบของเขาก็คือ ก็ทำตามโจทย์อาจารย์ ตรวจสอบสิทธิก่อนที่จะอนุญาตให้ทำธุรกรรมอย่างอื่น จะเห็นได้ชัดนะครับว่านี่คือความเข้าใจผิด ตัว Use Case Diagram ไม่ได้แสดงโฟลว์การทำงานว่าอะไรต้องทำก่อนอะไร อีกจุดหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาของไดอะแกรมนี้ก็คือตัว Use Case ของเขาสองตัวคือ Enter Password และ Validate Password นั้นอยู่ในระดับที่ย่อยมากเกินไป

ถึงตรงนี้หลายคนก็อาจตั้งคำถามว่าแล้วเราควรจะเขียนอย่างไรดี ผมไม่ตอบดีไหมนี่ ทิ้งให้คิดเป็นการบ้าน มาเฉลยพรุ่งนี้ สวัสดีครับ ...... :)


ล้อเล่นน่ะครับ เฉลยเลยแล้วกันเดี๋ยวอึดอัดกันแย่ แนวทางหนึ่งที่จะเขียน Use Case Diagram สำหรับปัญหานี้ก็ตามนี้ครับ

Use Case Diagram สำหรับระบบ ATM อย่างง่าย 

จากไดอะแกรมนี้ผมได้รวมเอา Validate Password และ Enter Password เข้าด้วยกันเป็น Use Case ที่ชื่อว่า Authenticate และใช้ความสัมพันธ์  include เพื่อแสดงให้เห็นว่า Use Case ที่เหลือทั้งสามนั้นจะต้องมีการตรวจสอบตัวตนของผู้ถือบัตร ไดอะแกรมนี้แสดงความต้องการของระบบตรงตามที่โจทย์กำหนดได้อย่างชัดเจน และ Use Case Diagram ได้ทำหน้าที่หลักที่มันควรจะทำนั่นคือการแสดง Functional Requirement ของระบบ ไม่ได้แสดงโฟลว์การทำงาน อย่าลืมนะครับว่า Use Case Diagram เรามักจะสร้างขึ้นในช่วงวิเคราะห์ระบบ ซึ่งการวิเคราะห์ระบบควรจะตอบคำถามว่า "what" ซึ่งหมายความว่าระบบนี้ทำอะไรให้ได้เสียก่อน ไม่ใช่ไปตอบคำถามของคำว่า "how" ซึ่งหมายถึงว่ามันทำงานอย่างไร ถ้ามีแนวคิดนี้อยู่ในใจตลอดก็น่าจะหลีกเลี่ยงการเขียน Use Case Diagram ในลักษณะที่เป็น Flowchart ได้

หวังว่าบล็อกนี้จะทำให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับ Use Case Diagram มากขึ้นไม่มากก็น้อยนะครับ ...





วันเสาร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2554

คำศัพท์ใหม่น่ารู้

วันนี้เขียนเรื่องสั้น ๆ เบา ๆ แล้วกันนะครับ เพราะกว่าจะได้เริ่มเขียนบล็อกก็เข้าสู่เช้าวันใหม่แล้ว สำหรับวันนี้จะมาแนะนำคำศัพท์ภาษาอังกฤษใหม่ครับ คือผมได้อ่านรีดเดอร์ไดเจสท์ฉบับภาษาไทยเขาบอกว่า Oxford Dictionary ได้เพิ่มคำศัพท์ใหม่เข้าไป 2000 คำ และได้ยกตัวอย่างมาจำนวนหนึ่ง ผมก็เลยลองไปหาเพิ่มเติมดูและเลือกคำที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ตหรือน่าสนใจมาเล่าให้ฟังกันครับ


  • social media เว็บไซต์และแอพพลิเคชันที่ใช้สำหรับเครือข่ายสังคม
  • staycation ใช้เวลาวันหยุดในประเทศของตัวเอง
  • overthink คิดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากหรือนานเกินไป
  • frenemy คนที่เราทำดีด้วยแม้จริง ๆ จะไม่ชอบ (ผมคิดว่าคำนี้น่าจะมาจาก friendly enemy)
  • tweetup การประชุมที่ทำด้วยการโพสต์ข้อความบน twitter 
  • defriend เหมือนกับคำว่า unfriend คือการลบชื่อออกจากรายชื่อเพื่อนหรือผู้ติดต่อบนไซต์เครือข่ายสังคม
  • Interweb อินเทอร์เน็ต

ดูแล้วเป็นยังไงกันบ้างครับ ในส่วนตัวผมว่านี่คือวิวัฒนาการของภาษา และจริง ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะในยุคก่อน ๆ ก็มีการเพิ่มคำที่เกิดขึ้นจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างเช่น shareware เข้าไปในพจนานุกรมอยู่แล้ว ดังนั้นก็คงไม่ต้องแปลกใจอะไรนะครับ ถ้าคำอย่างชิมิ อะนะ หรืออิอิ จะได้เข้าไปอยู่ในพจนานุกรมของไทยบ้าง 

วันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2553

เราลืมสอนเรื่องการใช้ชีวิตให้นักศึกษากันหรือเปล่า

วันนี้ขออนุญาตเขียนเรื่องราวที่อาจไม่เกี่ยวกับไอทีสักวันนะครับ และอาจจะดูเป็นการบ่น ๆ หรือระบายบ้าง คือในภาคการศึกษานี้ในมีเรื่องที่ผมอยากจะมาเล่าสู่กันฟังสองเรื่อง เรื่องแรกเกิดในระหว่างที่ผมกำลังตัดเกรด และเรื่องที่สองเกิดขึ้นหลังจากผมตัดเกรดและทางมหาวิทยาลัยได้ประกาศเกรดไปแล้ว

เริ่มจากเรื่องแรกครับต้องขอเกริ่นก่อนว่าในวิชาที่ผมสอนส่วนใหญ่แล้วผมจะให้โครงงานประจำวิชาด้วย ซึ่งโครงงานนี้จะให้ทำเป็นกลุ่มและนักศึกษาจะต้องมานำเสนอรายงานด้วย ซึ่งหลังจากที่นักศึกษาทุกกลุ่มนำเสนอรายงานเสร็จแล้วผมก็นำเอาคะแนนโครงการมารวมกับคะแนนสอบเพื่อที่จะตัดเกรด ขณะที่ผมไล่รายชื่อไปก็พบว่ามีนักศึกษาคนหนึ่งที่ไม่มีรายชื่ออยู่กับกลุ่มใดเลย และคะแนนสอบของนักศึกษาคนนี้ก็อยู่ในเกณฑ์ปานกลางคือพอผ่าน แต่ถ้ารวมคะแนนโครงการเข้าไปเขาจะได้เกรดที่ดีขึ้น ผมจึงได้ประกาศให้นักศึกษาติดต่อผมผ่านทางอีเมล และเขาก็ติดต่อมาซึ่งผมก็ได้แจ้งไป และให้โอกาสเขาโดยบอกให้เขารีบทำงานมาส่งโดยผมจะให้ติด I ไว้ก่อน แต่คำตอบที่ผมได้รับคือเขาจะไม่ทำเพราะเขาไม่ได้ชอบสาขาที่เรียนอยู่ตอนนี้แต่พ่อแม่บังคับให้เรียน ขอแค่สอบผ่านก็พอใจแล้ว จากเรื่องนี้มีสองจุดที่ผมอยากจะพูดถึงครับ จุดแรกเรื่องพ่อแม่บังคับให้ลูกเรียนในสาขาที่เขาไม่ชอบ คือพ่อแม่ก็หวังดีเห็นว่าสาขาทางคอมพิวเตอร์นี้จบออกไปแล้วมีงานทำแน่นอนมีเงินเดือนดี แต่ในความเป็นจริงคนที่เรียนคือลูกนะครับไม่ใช่พ่อแม่ ซึ่งจากประสบการณ์ของผมพบว่ามีนักศึกษาหลายคนที่เป็นแบบนี้ครับ และส่วนใหญ่ที่จบไปก็เกรดไม่ค่อยดีนัก และบางคนก็ไม่ได้ทำงานในสาขานี้หรือไปเรียนต่อในสาขาอื่น ดังนั้นอยากฝากพ่อแม่ครับว่าอย่าบังคับลูกเลย ถ้าเขาได้เรียนในสิ่งที่เขาชอบและเขามีความถนัดจริงผมเชื่อว่าเขาก็จะมีทางไปของเขาได้ จุดที่สองในส่วนของนักศึกษาเอง ผมอยากจะบอกว่าเมื่อเราได้ทำอะไรแล้วไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบเราก็น่าจะตั้งใจทำให้ดีที่สุด อยากให้นักศึกษามองไปไกล ๆ หน่อยครับอย่ามองแค่ใกล้ ๆ สมมติว่าถ้าต้องอดทนเรียนไปจริง ๆ ทำไมถึงไม่พยายามทำให้ดีที่สุด เพราะเกรดที่เราได้ในวันนี้แน่นอนครับว่าจะมีผลต่อการเรียนต่อในสิ่งที่เราสนใจในอนาคตอย่างแน่นอน และไม่แน่ครับถ้าเราได้ตั้งใจทำให้ดีที่สุดแล้วเราอาจจะค้นพบก็ได้ว่า๊จริง ๆ เราก็ชอบสิ่งที่เรากำลังเรียนอยู่เหมือนกัน สรุปสิ่งที่อยากฝากไว้สำหรับเรื่องนี้ก็คือสู้ครับทำทุกอย่างให้เต็มกำลัง

เรื่องที่สองหลังจากที่มีการประกาศเกรดแล้ว ผมก็ได้รับข้อความถามจากนักศึกษาว่าทำไมเขาจึงได้เกรดน้อย ทั้ง ๆ ที่ตอนกลางภาคเขาก็ทำคะแนนได้ค่อนข้างดี ซึ่งตรงนี้ผมโอเคนะครับ คือผมยินดีที่จะให้นักศึกษาเข้ามาดูและมาสอบถามได้เสมอ เพราะผมก็อาจพลาดได้ แม้ว่าผมจะตรวจทานการป้อนคะแนนและการตัดเกรดถึง 3 ครั้ง ก่อนที่ผมจะส่งเกรดไป แต่สิ่งที่ผมทำใจยอมรับได้ยากสักหน่อยและตั้งคำถามกับตัวเองว่านี่มันเกิดอะไรขึ้น เพราะนักศึกษาคนนี้ให้เบอร์โทรให้ผมโทรกลับ และบอกว่าถ้าอาจารย์ไม่ติดต่อกลับเขาจะเข้ามาหาในวันเสาร์ (จากนั้นมาขอแก้ไขบอกว่าจะเข้ามาวันอาทิตย์) ตกลงนักศึกษาคนนี้เขาเป็นเจ้านายผมหรือครับ เขาจะมาหาผมวันไหนที่เขาอยากมาก็ได้ (แม้แต่วันหยุด) และผมจะต้องมาพบเขาตามวันที่เขาระบุใช่ไหม นักศึกษาคนนี้ไม่ได้รับการสั่งสอนจากที่ใดมาเลยหรือครับว่าเวลาที่จะนัดหมายกับผู้ใหญ่จะต้องทำอย่างไร

นี่คือสองเรื่องที่เกิดขึ้นและผมก็เลยเกิดคำถามขึ้นว่าในการเรียนการสอนในปัจจุบันของเรานั้น เราเน้นกันที่จะให้แต่ความรู้วิชาการและแข่งขันกันด้วยเกรดอย่างเดียว จนลืมที่จะอบรมให้เด็กให้เป็นคนที่มีความรอบรู้ มีคุณธรรมจริยธรรม และสู้ชีวิตหรือเปล่า นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะเอามาแบ่งปันกันในวันนี้โดยเฉพาะคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ เพราะผมคิดว่าจะใช้กรณีตัวอย่างนี้ในการสอนลูกผมเช่นเดียวกัน

วันศุกร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2551

ปริศนา Java 2



หลังจากเขียนภาคหนึ่งไว้ตั้งแต่สองสามเดือนก่อน คราวนี้ก็มาต่อภาคสองสักทีนะครับ สำหรับภาคนี้ คำถามก็ยังเหมือนเดิมครับ คือผลลัพธ์จากโปรแกรม Java นี้คืออะไร




import java.net.*;
import java.util.*;
public class URLSet {
 private static final String[] URL_NAMES = {
  "http://www.google.com", 
  "http://www.ajsarun.blogspot.com",
  "http://www.ajsarun.bloggang.com",
  "http://ajsarun.blogspot.com",
  "http://kisarun.multiply.com",
  "http://www.google.com"
 };
public static void main(String[] args) throws MalformedURLException {
  Set favorites = new HashSet();
  for(String urlName: URL_NAMES) {
   favorites.add(new URL(urlName));
  }
  System.out.println(favorites.size());
 }
}


  1. 4

  2. 5

  3. 6

  4. ขึ้นอยู่กับการรันแต่ละครั้ง




เราลองมาวิเคราะห์โปรแกรมนี้กันดูนะครับ จะเห็นว่าเราประกาศอะเรย์ของ String ชื่อว่า URL_NAMES โดยสมาชิกแต่ละตัวของอะเรย์ก็คือ URL ของเว็บไซต์ต่าง ๆ แต่จะเห็นว่ามี http://www.google.com ซ้ำกันอยู่ 2 ที่ จากนั้นที่เมท็อด main เราสร้างออบเจ็กของคลาส HashSet (ซึ่งจัดเป็นข้อมูลแบบเซ็ต) ใน for loop ก็มีการสร้างออบเจ็กต์ของ class URL โดยใช้สมาชิกแต่ละตัวจากอะเรย์ URI_NAMES และเก็บอ็อบเจกต์ของคลาส URL แต่ละตัวลงในเซ็ต พวกเราคงทราบนะครับว่าข้อมูลในเซ็ตจะไม่ซ้ำกัน แต่เรามีwww.google.com ซ้ำกันอยู่ 2 ตัวดังนั้น ดังนั้นข้อมูลในเซ็ตก็ควรจะมี 5 ตัว เมื่อเราสั่งพิมพ์ขนาดของเซ็ตออกมาในบรรทัดสุดท้าย ผลลัพธ์ก็ควรจะเป็น 5 ใช่ไหมครับ คำตอบก็ควรจะเป็นข้อ B

แต่ไม่ใช่ครับ คำตอบคือข้อ D. ประหลาดใจไหมครับ คือถ้าคุณต่ออินเทอร์เน็ตอยู่ผลลัพธ์จะเป็นข้อ A. คือ 4 แต่ถ้าไม่ผลลัพธ์จะเป็น 5 ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เรามาดูกันครับ ความลับอยู่ที่เมท็อด equals ของคลาส URL ครับ วิธีการเปรียบเทียบว่า URL จะเท่ากันหรือไม่ดูดังนี้ครับ กล่าวคือถ้าเราต่ออินเทอร์เน็ตอยู่ มันจะแปล URL ไปเป็นหมายเลข IP ถ้าหมายเลข IP เท่ากันก็ถือว่าเป็น URL ตัวเดียวกัน แต่ถ้าเราไม่ต่ออินเทอร์เน็ต มันก็จะเอาค่าสตริงของ URL มาเปรียบเทียบ โดยไม่คำนึงถึงตัวอักษรตัวเล็กหรือตัวใหญ่


มาดูกรณีต่ออินเทอร์เน็ตอยู่ จะพบว่าในสตริงมี http://www.google.com สองครั้ง ซึ่งก็ต้องได้ หมายเลข IP เดียวกันแน่นอน คราวนี้มาพิจารณาดู URL สองตัวนี้ครับ http://www.ajsarun.blogspot.com กับ http://ajsarun.blogspot.com สองตัวนี้จะให้ผลลัพธ์เป็นหมายเลข IP เดียวกัน นั่นก็หมายความว่าจะมีหมายเลข IP ที่ไม่ซ้ำกันอยู่ทั้งหมด 4 ตัวเท่านั้น ดังนั้นผลลัพธ์จึงเป็น 4


สำหรับกรณีที่ไม่ต่ออินเทอร์เน็ต มันก็จะเปรียบเทียบค่าสตริง URL ว่ามี http://www.google.com อยู่ 2 ตัว ซึ่งซ้ำกัน ที่เหลือไม่ซ้ำดังนั้นผลลัพธ์จึงเป็น 5

เป็นยังไงครับรู้สึกอยากด่าหรืออยากเลิกใช้ Java ไปเลยไหมครับ คราวนี้ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ พิธีกรเขาให้เหตุผลว่าในสมัยก่อนที่มีการสร้างคลาสนี้ยังไม่มีแนวคิดของการที่มีชื่อ URL ที่ต่างกัน แต่อ้างถึงหมายเลข IP เดียวกัน


วิธีการแก้ไขถ้าต้องการให้ได้ผลลัพธ์ที่เหมือนเดิมเสมอไม่ว่าจะต่ออินเทอร์เน็ตหรือไม่ ให้ใช้คลาสที่ชื่อ URI แทนครับ ดังนั้นโปรแกรมในตอนต้นจะต้องเปลี่ยนเป็นดังนี้ครับ





import java.net.*;
import java.util.*;
public class URISet {
 private static final String[] URI_NAMES = {
  "http://www.google.com", 
  "http://www.ajsarun.blogspot.com",
  "http://www.ajsarun.bloggang.com",
  "http://ajsarun.blogspot.com",
  "http://kisarun.multiply.com",
  "http://www.google.com"
 };
 public static void main(String[] args) {
  Set favorites = new HashSet();
  for(String uriName: URI_NAMES) {
   favorites.add(URI.create(uriName));
  }
  System.out.println(favorites.size());
 }
}




ซึ่งคลาส URI นี้จะพิจารณาโดยใช้สตริงเท่านั้น คือไม่มีการไปแปลงเป็นหมายเลข IP ใด ๆ ดังนั้นผลลัพธ์จะเป็น 5 เสมอ แต่ก็ยังเป็นการเปรียบเทียบแบบไม่สนใจตัวอักษรตัวเล็กหรือตัวใหญ่เช่นเดิมนะครับคือ http://www.google.com กับ http://www.GOOGLE.COM ก็ถือว่าเท่ากัน

สิ่งที่พิธีกรเขาสรุปจากปริศนานี้ก็คือ เขาบอกว่าเราไม่ควรใช้ URL กับ class SET หรือ class MAP เพราะว่ามันออกแบบมาไม่ดี ให้ใช้ URI แทน ซึ่งตรงนี้ผมว่าถ้าใครไม่ได้เขียนโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ก็อาจดูจะไกลตัวไปนะครับ

แต่สิ่งที่เขาเน้นและผมก็คิดว่าสำคัญก็คือ เวลาเราเขียนโปรแกรม Java เมท็อดตัวหนึ่งที่เรามักจะ override ก็คือเมท็อด equals ก็ขอให้คิดไว้เสมอนะครับว่า เมท็อด equals นี้ไม่ควรจะให้ผลลัพธ์ที่เปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมของการทำงาน


ผู้เขียนยินดีที่จะให้นำบทความไปเผยแพร่ต่อไปได้ถ้าไม่ได้นำไปใช้เพื่อการค้า แต่ขอให้บอกที่มาว่ามาจากผู้เขียนด้วย

วันอาทิตย์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ปริศนา Java 1

ต้องขอเกริ่นก่อนนะครับว่าต่อไปบล็อกนี้ผมจะเขียนเรื่องที่หนักไปทางวิทยาการคอมพิวเตอร์มากขึ้น เพราะเท่าที่ดูผู้อ่่านของผมในบล็อกนี้ก็คือศิษย์ปัจจุบันหรือศิษย์เก่า ส่วนถ้าใครยังติดใจเรื่องเล่าข่าวไอทีต่าง ๆ ก็ขอเชิญที่บล็อกของผมที่ bloggang นะครับ

หลังจากเอาวีดีโอขึ้นไปให้ดูกันจากบทความที่แล้ว ก็มีเสียงบ่นว่าวีดีโอยาวจัง ไม่มีเวลาดู ผมก็เลยคิดว่าจะหยิบยกปริศนาภาษา Java จากวีดีโอมาคุยให้ฟังแล้วกันนะครับ เริ่มจากปริศนาแรกเลยนะครับ

import java.util.*;
public class ShortSet {
public static void main(String[] args) {
Set s = new HashSet();
for (short i = 0; i < 100; i++) {
s.add(i);
s.remove(i-1);
}
System.out.println(s.size());
}
}

คำถามคือผลลัพธ์จากโปรแกรมนี้คืออะไร
a. 1
b. 100
c. Throw Exception
d. None of the above

ลองมาไล่โปรแกรมดูนะครับ ถ้าไล่โปรแกรมไปตามปกติจะเห็นว่าเป็นการนำเอาตัวเลข 0 ถึง 99 ใส่ลงใน Set แต่ในการใส่ในแต่ละครั้งจะมีการเอาตัวที่อยู่ก่อนหน้าออก ถ้าลองไล่ดูที่ i = 0, จะได้ set {0} และเมื่อพยายามจะ เอา (0-1 = -1 ) ออกจาก set จะพบว่าไม่มี -1 ดังนั้นจึงไม่มีการเอาอะไรออก ในรอบแรกนี้ set จะมีค่า {0} ในรอบที่ 2 i = 1 จะได้ set คือ {0,1} และเมื่อเอา (1-1 = 0) ออกจะได้ว่า set คือ {1} ดังนั้นถ้าทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ในรอบสุดท้ายเราจะได้ set คือ {99} ดังนั้นผลลัพธ์ของโปรแกรมที่สั่งพิมพ์คือขนาดของ Set ก็จะต้องเป็น 1 แต่ถ้าลอง run โปรแกรมดูจะได้ผลลัพธ์คือ 100 ซึ่งคือข้อ b.ครับ คำถามคือทำไม...
คำตอบคือตอนแรกควรจะมามาเข้าใจ interface Set กันก่อน ซึ่งมีหน้าตาดังนี้ครับ
Interface Set {
boolean add(E e);
boolean remove (Object o);
...
}

ให้สังเกตุนะครับว่าสำหรับ add จะรับพารามิเตอร์เป็นประเภทที่ระบุไว้ นั่นหมายความว่าเราไม่สามารถใส่ข้อมูลประเภทอื่น ๆ ที่ไม่ได้ระบุไว้ตั้งแต่ตอนสร้าง set ลงใน set ได้ แต่ remove พารามิเตอร์้เป็น Object ซึ่งหมายถึงจะเป็นประเภทข้อมูลอะไรก็ได้ ซึ่งก็ดูประหลาดนะครับ แต่เหตุผลหนึ่งของการทำอย่างนี้ก็คือในเรื่องของ backward compatability และเขาก็บอกว่าได้ลองคิดถึงการที่จะออกแบบให้ใช้ remove(E e) แล้วแต่ปรากฏว่ามันใช้ไม่ได้ในหลายกรณี เขายกตัวอย่างว่าสมมติว่าถ้าเราต้องการจะหา intersection ระหว่าง Set ของ Number กับ Set ของ Long ซึ่งในกรณีนี้เราจะต้องสามารถดึง object ของ Long ออกมาจาก Numberได้
เอาละครับคราวนี้ก็มาดูว่าอะไรทำให้ผลลัพธ์ไม่ได้ตามที่ต้องการ จากบรรทัด s.remove(i-1) จะเห็นว่าผลลัพธ์ของ i-1 จะเป็น int และจากคุณสมบัติ Autoboxing ก็จะทำให้ได้ผลลัพธ์เป็น object ของ Integer ให้สังเกตุว่าข้อมูลใน Set ที่เราใส่เข้าไปเป็น Short แต่เวลาจะเอาออกเราหา object ของ Integer ซึ่ง object ของ Integer และ Object ของ Short ไม่สามารถเทียบกันได้ดังนั้นการ remove แต่ละครั้ง จึงไม่มีการเอาอะไรออกจาก set
ถ้าจะให้โปรแกรมนี้ทำงานตามที่ต้องการ พอจะตอบได้ไหมครับว่าต้องแก้ตรงไหน ....

ใช่แล้วครับ ต้องแก้บรรทัด s.remove(i-1) เป็น s.remove((short) (i-1)) ซึ่งจะทำให้ได้ผลลัพธ์เป็น Short
สิ่งที่ได้จากปริศนา Java นี้ก็คือผลลัพธ์ของการคำนวณเกี่ยวกับจำนวนเต็มจะได้เป็น int หรือ long ดังนั้นให้หลีกเลี่ยงการใช้ short ในโปรแกรมนะครับ เขายกตัวอย่างว่ากรณีเดียวที่น่าจะใช้ short ก็คือการใช้ array ของ short เท่านั้น

หมายเหตุ : บทความนี้ผู้เขียนยินดีที่จะให้นำไปเผยแพร่ต่อได้ แต่ขอให้อ้างอิงที่มาว่ามาจากผู้เขียนด้วย

วันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

การ์ตูนและนวนิยายกับการเขียน

วันนี้ดูจากหัวข้อแล้วอาจจะรู้สึกแปลก ๆ นะครับว่าจะมาไม้ไหน เดี๋ยวคอยติดตามแล้วกันนะครับ...


ความคิดที่จะเขียนเรื่องนี้ของผมเริ่มจาก เมื่อสักประมาณปลายสัปดาห์ก่อนผมได้รับอีเมล์จากเพื่อน ซึ่งในอีเมล์นั้นก็ได้แนบพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฉบับการ์ตูนมาด้วย ซึ่งผมก็ได้ไปโพสต์ไว้ให้ดาวน์โหลดกันผ่านทางลิงค์นี้นะครับ http://www.beupload.com/download/?0092d074e10b35469302f7ede58306e8
ลองไปอ่านกันดูนะครับ สนุกและเข้าใจได้ง่ายดี

ซึ่งผมเห็นว่านี่คือการใช้การ์ตูนให้เป็นประโยชน์อย่างมาก การ์ตูนสามารถสื่อความเข้าใจจากเรื่องยากให้กลายเป็นเรื่องง่ายได้ ดังนั้นจะเห็นว่าในช่วงที่ผ่าน ๆ มา จะมีการ์ตูนอย่างเช่น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับการ์ตูน บทพระราชนิพนธ์คุณทองแดงฉบับการ์ตูน บทพระราชนิพนธ์พระมหาชนกฉบับการ์ตูนเป็นต้น ซึ่งตรงนี้ก็ต้องบอกว่าดีมากครับ เพราะทำให้คนไทยหลาย ๆ คนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือได้อ่านงานที่มีคุณค่า หรือทำให้ชาวบ้านอย่างพวกเราเข้าใจประเด็นข้อกฏหมายในรัฐธรรมนูญได้มากขึ้น (ไม่ทราบพวกที่จะไปเยิ้ว ๆ ให้แก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญนี่ได้อ่านบ้างหรือเปล่า) ในปัจจุบันจะมีการ์ตูนซึ่งเป็นลักษณะที่สอนวิทยาศาสตร์ ไม่ทราบเคยได้ยินกันไหมครับ (ส่วนผมรู้เพราะลูก ๆ ผมชอบอ่านครับ) เช่นเอาชีวิตรอดบนเกาะร้าง เอาชีวิตรอดในป่าลึก หรืออย่างนวนิยายนักสืบอย่างเช่นเชอร์ลอกโฮล์มก็ทำเป็นการ์ตูน ซึ่งต้องบอกว่าลูกทั้งสองคนของผมชอบมาก ไปร้านหนังสือทีไรก็จะต้องซื้อกันคนละเล่มสองเล่ม ซึ่งในสมัยผมเป็นเด็กไม่มีนะครับ ตัวผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก ประมาณ ป. 3 นี่ก็อ่านหนังสือแตกแล้ว ถ้าจำไม่ผิดหนังสือนิยายเล่มแรกที่อ่านนี่คือ พล นิกร กิมหงวนของ ป.อินทรปาลิต (อันนี้คนที่เป็นเด็กรุ่นใหม่อาจไม่รู้จักแล้วนะครับ) จากนั้นผมก็อ่านเรื่อยมา เช่นเพชรพระอุมาของพนมเทียน และก็นิยายจีนกำลังภายของโก้วเล้ง กิมย้งนี่ก็อ่านมาจนหมดครับ ส่วนการ์ตูนก็มีนะครับ แต่จะเป็นพวกขายหัวเราะ หรือหนูจ๋า (หลายคนคงไม่รู้จัก) ผมมาเริ่มอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นอย่างที่เด็กสมัยใหม่อ่านกันนี่ตอนเรียน ป.ตรีครับ ในช่วงนั้นก็รู้สึกจะมีสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจเป็นเจ้าหลักครับ ที่ชอบอ่านก็เช่น โดเรมอน ดราก้อนบอล ซึบาสะ และซิตี้ฮันเตอร์ เด็ก ๆ รุ่นใหม่คุ้นไหมครับ พวกคุณก็ยังรู้จักเรื่องพวกนี้อยู่ใช่ไหมครับ

ประเด็นที่ผมต้องการจะสื่อในวันนี้คือ การ์ตูนมีประโยชน์ในการทำให้เรื่องยากเข้าใจได้ง่ายและอ่านสนุก ดังนั้นผมรู้สึกดีใจที่เด็กรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ที่มีประโยชน์ผ่านทางการ์ตูนได้ แต่สิ่งหนึ่งที่คุณจะไม่ได้จากการ์ตูนก็คือภาษาที่เป็นการบรรยาย เพราะการ์ตูนจะบรรยายเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วยภาพเป็นหลัก และนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พวกเราหลาย ๆ คนที่อ่านแต่การ์ตูน เมื่อถึงเวลาที่ต้องเขียนหนังสือหรือรายงานจะทำได้ด้วยความยากลำบาก เพราะตัวเองไม่เคยได้สัมผัสว่าการบรรยายด้วยตัวอักษรนั้นเขาทำกันอย่างไร จากประสบการณ์ของผมในฐานะที่เป็นอาจารย์ และควบคุมงานวิจัยมาเป็นสิบ ๆ ปี ผมพบว่านักศึกษาไม่ว่าจะเป็นระดับป.ตรี ป.โท หรือ ป.เอก มีปัญหานี้ครับ ซึ่งจากการสอบถามก็คือส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้อ่านหนังสืออื่น ๆ จะอ่านแต่ตำรา (ถูกบังคับให้อ่าน) และการ์ตูนเป็นหลัก ซึ่งหนังสือตำราบางเล่มที่วางขายกันในท้องตลาดปัจจุบันนี้คุณลองอ่านดูซิครับว่ามันอ่านรู้เรื่องไหม คนเขียนต้องการจะสื่ออะไร บางทีก็ไปแปลฝรั่งมาทั้งประโยคโดยไม่ได้ขัดเกลาเลย

ดังนั้นผมจึงอยากจะเชิญชวนครับว่า นอกจากคุณจะหาความเพลิดเพลินจากการ์ตูนแล้ว ยังมีหนังสือนวนิยาย หรือความรู้ดี ๆ ที่ไม่ใช่การ์ตูนอีกมากมาย หนังสือเหล่านี้นอกจากจะให้ความบันเทิงแล้วยังให้ทักษะในด้านการบรรยาย การใช้สำนวนภาษาที่สละสลวย ซึ่งผมมั่นใจครับว่าจะช่วยให้ทักษะในการเขียนของพวกคุณดีขึ้นอย่างแน่นอน

วันนี้คุณอ่านนิยายหรือยังครับ...