วันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ขั้นตอนวิธีที่ทำให้ TCAS รอบ 3 สามารถเลือกอันดับได้

ไม่ได้เขียนบล็อกมานานตั้งแต่ต้นปีเหมือนเดิมเพราะยุ่งมาก แต่วันนี้รู้สึกอยากเขียนเรื่อง TCAS สักหน่อย เพราะตัวเองก็ต้องศึกษาระบบนี้ เนื่องจากลูกก็สอบเข้ามหาวิทยาลัยปีนี้ และก็มองเห็นปัญหาว่าระบบในรอบ 3 นี้มันจะมีปัญหากั๊กที่แน่ ก็เลยบอกลูกว่ายังไงก็ต้องตั้งใจให้เต็มที่ทำคะแนนให้สูง ๆ เข้าไว้ และลูกก็ทำได้ ดังนั้นเขาไม่ใช่เด็กที่มีปัญหาในรอบนี้แต่อย่างใด ประกอบกับเขาอยู่สายศิลป์-คำนวณ และคณะที่เขาเลือกปีนี้ก็มาแยกสายวิทย์ กับสายศิลป์-คำนวณพอดี ดังนั้นก็ยิ่งเข้าทางเขา สำหรับใครที่ไม่ได้ตามข่าวหรือยังไม่ค่อยเข้าใจระบบนี้สามารถอ่านได้จากบทความนี้นะครับ

https://www.the101.world/from-admission-to-tcas/

และปัญหาที่เกิดขึ้นสามารถอ่านได้จากบทความนี้นะครับ

 https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_1173473

ปัญหาหลักที่เกิดในรอบ 3 ก็คือการกันที่กันหรือเรียกว่ากั๊กที่ครับ ระบบก่อนหน้า TCAS ก็กั๊กกัน แต่พวกที่เลือกหมอเขาจะประกาศผลไปต่างหากอยู่แล้ว และในระบบก่อนหน้านี้ แต่ละมหาวิทยาลัยจะบริหารจัดการกันเอง ด้วยการเรียกเด็กที่ติดสำรองมาแทนเด็กที่ติดตัวจริงที่ไม่มาสอบสัมภาษณ์ (เพราะเลือกที่อื่นไปแล้ว) แต่ในปีนี้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)  ซึ่งเป็นผู้คิดระบบ TCAS ไม่รู้มีอะไรมาดลใจ ให้เอาพวกหมอมารวมในรอบรับตรงนี้ด้วย และไม่ให้มีการเรียกสำรองอีกต่างหาก ผลก็คือเกิดมหกรรมการกั๊กที่อย่างเป็นรูปธรรมตามลิงก์ข้างบนครับ

มีคนถามทปอ.ว่าทำไมรอบ 3 ไม่ทำเหมือนรอบ 4 คือให้เรียงลำดับที่ตัวเองต้องการแล้วก็ให้ติดเฉพาะอันดับสูงสุดที่ตัวเองเลือกไว้ ทปอ.บอกทำไม่ได้ เพราะในรอบ 3 นี้คณะและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ใช้เกณฑ์ไม่เหมือนกัน เช่นบางคณะเอาแต่ GAT/PAT บางคณะใช้ 9 วิชาสามัญ ดังนั้นต้องให้เด็กติดทุกสาขาที่ผ่านเกณฑ์แล้วให้เด็กตัดสินใจเลือกทีหลัง (ซึ่งเป็นที่มาแห่งมหกรรมการกั๊กที่)

ผมลองมานั่งคิดดูว่าทำไม่ได้จริงหรือ คิดไปคิดมาก็เห็นว่าน่าจะทำได้นะ ก็เลยมาเขียนบทความนี้เพื่อลองเสนอว่าถ้าจะออกแบบโปรแกรมรอบรับตรงร่วมกันให้สามารถทำให้เด็กเลือกอันดับได้และติดอันดับสูงสุดอันดับเดียวจะทำยังไง หลักการคืออย่างนี้ครับ หนึ่งเลยเอาพวกหมอออกไปอยู่ในรอบต่างหาก (จริง ๆ จะไม่แยกก็ได้ แต่จะทำให้ระบบต้องทำงานหนักโดยไม่จำเป็น เพราะพวกหมอเขามีระบบของเขาอยู่แล้ว) จากนั้นรอบรับตรงร่วมกันก็ให้เด็กเลือกที่ต้องการได้ 4 อันดับ จากนั้นก็ส่งชื่อเด็กให้มหาวิทยาลัยทำการเรียงลำดับคะแนนของเด็กตามเกณฑ์ที่แต่ละคณะใช้ หรือทปอ.จะเขียนโปรแกรมทำให้เองก็แล้วแต่ เช่นคณะไหนใช้แต่ GAT/PAT ก็คำนวณโดยใช้แค่ GAT/PAT และเรียงลำดับมา โดยคะแนนของเด็กที่อยู่ในช่วงจำนวนที่คณะจะรับจะเรียกว่าเป็นตัวจริง ส่วนที่เหลือก็จะเป็นตัวสำรอง เช่นบัณชีจุฬาจะรับ 150 คน เด็กที่อยู่ใน 150 คนแรกก็เป็นตัวจริงของบัญชีจุฬา ที่เหลือก็เป็นตัวสำรอง

เมื่อได้คะแนนเรียงตามลำดับมาแล้วก็เริ่มทำการจัดอันดับตามที่นักเรียนเลือก  โดยรอบแรกก็จัดจากอันดับที่เลือกเป็นอันดับ 1 ก่อน ดังนี้

ทำจนกว่า จะไม่มีนักเรียนที่สามารถจัดอันดับ 1 ได้ (คือทำจนสามารถจัดนักเรียนทุกคนที่เลือกอันดับ 1 ได้ หรือจนกว่าคณะที่เลือกเป็นอันดับ 1 ของนักเรียนเต็มแล้ว) 
   อ่านข้อมูลของนักเรียนโดยอ่านจากอันดับ 1 ที่เลือก 
   ถ้านักเรียนติด (อยู่ในกลุ่มตัวจริง ของอันดับ 1 ที่เลือก)  
        เขียนข้อมูลนักเรียนและสาขาที่ติด
        เช็คว่านักเรียนติดอันดับ 2 3 และ 4 ด้วยหรือไม่ ถ้าติดอันดับใด ให้ลบชื่อนักเรียนออกจากสาขาที่ติดนั้น   แล้วเลื่อนอันดับสำรองถัดไปของสาขานั้นเข้ามาเป็นตัวจริง (พูดง่าย ๆ นี่คือการเรียกตัวสำรองนั่นเอง) 
กลับไปที่ต้นลูป

เมื่อทำจบรอบนี้เราก็จะได้นักเรียนที่ได้สาขาที่ตัวเองเลือกเป็นอันดับ 1

รอบต่อไปก็ทำเหมือนกันแต่ทำอันดับ 2 3 และ 4 ตามลำดับ ซึ่งถ้าถึงอันดับ 4 แล้วนักเรียนก็ยังไม่ติดก็แสดงว่านักเรียนไม่ติดในรอบนี้ ต้องไป TCAS รอบ 4 ต่อไป

ก็ต้องบอกว่านี่เป็นแนวคิดคร่าว ๆ นะครับ ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องประสิทธิภาพแต่อย่างใด เพียงแต่อยากแสดงให้เห็นว่ามันไม่จำเป็นต้องเอาคะแนนที่ถูกคำนวณมาแบบเดียวกันมาจัดลำดับกันอย่างเดียว เท่าที่ดูโปรแกรมอาจจะทำงานเยอะหน่อยในการจัดอันดับ 1 หลังจากนั้นก็น่าจะทำงานน้อยลง โดยเฉพาะการจัดอันดับ 4 ก็น่าจะง่ายแล้ว เพราะการเช็คก็จะง่ายขึ้นและไม่ต้องไปทำเรื่องเรียกตัวสำรองอะไรอีก

มีความเห็นอะไร หรือเห็นว่าขั้นตอนวิธีที่นำเสนอมีข้อบกพร่องอะไรก็สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ครับ 

วันศุกร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2561

ประวัติ PowerPoint

พอดีได้อ่านบทความนี้ The Improbable Origins of PowerPoint  ทำให้ได้รู้ที่มาของโปรแกรมนำเสนอยอดนิยมอย่าง PowerPoint ครับ ก็เลยว่าเอามาแบ่งปันกันสบาย ๆ ในคืนวันศุกร์ก็น่าจะดี ซึ่งผมขอสรุปมาให้ฟังกันแต่เนื้อ ๆ นะครับ เจ้า PowerPoint นี่มันมีประวัติที่น่าสนใจดังนี้ครับ

1. ชื่อเดิมของมันคือ Presenter มีคนสามคนที่ร่วมพัฒนามันคือ Robert Gaskins, Dennis Austin และ Tom Rudkin โดยทำมันในนามบริษัทที่ชื่อ Forethought
2. มันถูกพัฒนาขึ้นมาบนเครื่อง Macintosh ก่อนโดยเวอร์ชันแรกของมันพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้สร้างสไลด์ขึ้นมาแล้วพิมพ์ออกมาทางเครื่องพิมพ์เลเซอร์รุ่นใหม่ (ในขณะนั้น) ของ Apple คือ LaserWriter เมื่อพิมพ์ออกมาแล้วก็เอาไปถ่ายเอกสารลงแผ่นใส เพื่อนำไปฉายบนเครื่องฉาย ซึ่งตรงนี้จะช่วยทำให้ผู้ใช้สามารถสร้างสไลด์สวย ๆ ขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องไปจ้างบริษัททำกราฟิก
3.  ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1987 บริษัท Forethought นำโปรแกรมที่ชื่อว่า PowerPoint 1.0 ออกสู่ตลาด ซึ่งมันก็คือ Presenter แต่เปลี่ยนชื่อ ซึ่งโปรแกรมก็ได้ใจผู้ใช้ Mac ในช่วงข้ามคืน มันทำรายได้หนึ่งล้านเหรียญในเดือนแรกที่เปิดตัว และทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิ 400,000 เหรียญ
4. สามเดือนหลังจาก PowerPoint เปิดตัวไมโครซอฟท์ก็เข้าซื้อ Forethought ด้วยเงิน 14 ล้านเหรียญ
5. Microsoft PowerPoint ถูกพัฒนาให้ใช้กับเครื่อง Mac ก่อน จากนั้นจึงเป็น Windows
6.  ทีมงานของ Forethought กลายมาเป็น หน่วยธุรกิจกราฟิกส์ของไมโครซอฟท์ (Microsoft’s Graphics Business Unit) ซึ่ง Guskins เป็นหัวหน้าทีมอยู่ 5 ปี ส่วน Austin และ Rudkin ทำหน้าที่เป็นผู้พัฒนาหลักของโปรแกรม PowerPoint อยู่ 10 ปี
7. ไมโครซอฟท์ตัดสินใจให้หน่วยธุรกิจกราฟิกส์ของไมโครซอฟท์อยู่ที่ Silicon Valley ต่อไป นับเป็นหน่วยงานแรกของไมโครซอฟท์ที่อยู่นอกสำนักงานใหญ่ และ PowerPoint ก็ถูกพัฒนาจากที่นั่นมาจนถึงทุกวันนี้




วันพุธที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2561

เราต้องดีหรือเก่งแค่ไหนถึงจะวิจารณ์คนอื่นได้

เคยรู้สึกไหมครับว่าหลาย ๆ ครั้งที่เราคุยกับใครแล้วก็มีความเห็นต่างกัน โดยอาจจะเป็นการวิจารณ์อะไรสักอย่างในมุมมองที่ต่างกัน สุดท้ายก็มักจะมีข้อความประเภทว่า ไปวิจารณ์เขาเราดีพร้อมแล้วหรือ หรือไปวิจารณ์เขาทำดีได้เท่าเขาหรือเปล่า ซึ่งถ้ามาถึงตรงนี้ผมก็มักจะเลิกคุย เพราะคุยไปก็ไม่มีประโยชน์ เสียอารมณ์กันเปล่า ๆ

ถ้าคนเราต้องดีให้ครบทุกด้าน แล้วถึงจะมีสิทธิวิจารณ์คนอื่นได้ โลกนี้คงไม่ต้องมีการวิจารณ์กัน อันนี้ไม่ได้หมายถึงว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเองนะ แต่หมายถึงคนทุกคนย่อมมีข้อบกพร่องอยู่ในตัวแทบทุกคน เช่นบางคนเป็นคนเคารพกฎหมาย แต่อาจจะหงุดหงิดง่าย ถ้าเขาจะวิจารณ์คนทำผิดกฎหมายก็ไม่น่าจะแปลก แต่ถ้าเขาไปวิจารณ์คนอื่นว่าหงุดหงิดง่ายจัง นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง และก็สมควรถูกว่ากลับว่าดูตัวเองหรือยัง

ถ้าคนเราจะวิจารณ์ใครแล้วจะต้องทำดีให้เท่าเขาให้ได้ก่อน โลกนี้คงไม่ต้องมีการวิจารณ์กันเช่นกัน การวิจารณ์นักฟุตบอลระดับพรีเมียร์ลีกสักคนหนึ่ง ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเตะบอลให้เก่งระดับพรีเมียร์ลีก แต่การวิจารณ์เหล่านั้นมันจะอยู่บนมาตรฐานหรือสิ่งที่เราคาดหวังว่านักฟุตบอลระดับนั้นน่าจะทำได้ อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือคนที่ประเมินการสอนของอาจารย์ก็คือนักเรียน ถ้าอาจารย์คิดว่านักเรียนพวกนี้เป็นใครถึงมาวิจารณ์เรา มาสอนเองจะสอนได้ไหม มีความรู้เท่าเราไหม ก็คงไม่ต้องมีการประเมิน แต่ถ้าคิดว่าเขาประเมินเราด้วยระดับมาตรฐานที่เขาคิดว่าเราน่าจะทำได้ นั่นก็เป็นสิ่งที่เราควรจะต้องรับฟัง การวิจารณ์นักการเมือง ทหาร หัวหน้าคสช. หรือผู้บริหารบ้านเมือง โดยประชาชนก็เช่นกัน

อีกอย่างคงต้องแยกการวิจารณ์ออกจากการติเตียน (ด่า) ด้วย เพราะบางคนก็ขอให้ได้แย้ง ขอด่าเอามัน แต่การวิจารณ์ที่ดีก็คือการติเพื่อก่อ ชี้ให้เห็นข้อบกพร่อง และอาจจะเสนอทางแก้ด้วยหรือไม่ก็ได้ ถ้าเสนอได้ก็ดีมาก จริง ๆ การวิจารณ์บางอย่างมันก็บอกทางแก้อยู่ในตัวแล้ว เช่นถ้าบอกว่าแบบฟอร์มมันไม่เหมาะสม มีส่วนที่ให้ป้อนข้อมูลมากเกินไป ตรงนี้ตรงนั้นไม่น่ามี หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง วิจารณ์ว่าทำไมไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง จะได้ไม่ต้องทำเรื่องขยายเวลาการทำงานพรรคการเมืองออกไป นั่นก็เสนอทางแก้ปัญหาแล้ว แต่ถ้าเสนอไม่ได้ เพราะปัญหาบางอย่างมันอาจเกินความสามารถของคนธรรมดาที่ไม่ได้มีความรู้ในเรื่องนั้นจะแก้ปัญหาได้ เพียงแต่เขาเห็นว่ามันเป็นปัญหา ก็เป็นหน้าที่ของผู้รับผิดชอบที่จะต้องรับฟังและหาทางแก้ หรือไม่ก็ชี้แจง แทนที่จะมาทำฟาดงวงฟาดงาหาว่าบิดเบือน หรือฟ้องเขาบ้าง อย่างที่คนบางคนชอบทำอยู่ในทุกวันนี้

การวิจารณ์อย่างเสรีและสร้างสรรค์เป็นปัจจัยหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสมควรจะเริ่มได้คืนมาก่อนที่เราจะได้เลือกตั้งกันนะ เอ๊ะผมพูดอะไรนี่ พวกเพลงดาบแม่น้ำห้าสายเขาประสานงานกันอย่างเป็นระบบที่จะทำให้การเลือกตั้งมันเลื่อนออกไปเรื่อย ๆ ดาบนี้ชง ดาบนี้รับลูก คนหนึ่งไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง อีกคนทำเรื่องขยายเวลาอ้างความหวังดีกลัวพรรคการเมืองทำงานไม่ทัน ช่างเป็นกระบวนท่าที่สวยงามจริง ๆ อ้าวทำไมวกมาเรื่องนี้ล่ะนี่ พอก่อนแล้วกันนะครับ เดี๋ยวบล็อกจะปลิวไปซะ บล็อกต่อไปเขียนเรื่องเมย์-เจ ชวัญ-กอล์ฟท่านลอร์ด อะไรแบบนี้น่าจะถูกใจผู้มีอำนาจมากกว่า...