วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2563

นักวิจัยทดสอบการใช้วิธีเว้นระยะห่างทางสังคมเพื่อลดการระบาดของ COVID-19

นักวิจัยจาก University of Western Australia (UWA) พบว่าการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) มีส่วนช่วยในการลดการระบาดของไวรัส COVID-19 ได้จริง โดยเขาได้ศึกษาลึกลงไปด้วยว่าวิธีไหนให้ผลดีที่สุด โดยเขาได้ศึกษาทั้งวิธี แยกตัวเอง (self-isolating) ทำงานที่บ้าน ลดการติดต่อกันในชุมชน พบว่าวิธีการที่ดีที่สุดคือการผสมกันของการแยกตัวเอง และลดการติดต่อกับชุมชนลง 70% นักวิจัยให้คำนิยามการติดต่อกับชุมชนว่าคือการติดต่อกับคนที่ไม่ได้อยู่ในโรงเรียน บ้าน หรือที่ทำงาน นักวิจัยยังพบว่าการปิดโรงเรียนอย่างเดียวให้ผลน้อยที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นผู้ใหญ่ก็ต้องใช้เวลามาดูแลเด็กด้วย ถ้าจะปิดโรงเรียนก็ต้องลดการติดต่อกับชุมชนลงอย่างน้อย 30% นักวิจัยยังบอกด้วยว่าการเว้นระยะห่างทางสังคมจะทำนานแค่ไหน จะทำอะไรบ้างนั้นเป็นเรื่องท้าทาย และคงแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Western Australia

เพิ่มเติมเสริมข่าว: 

ก็ไม่รู้จะไว้ใจรัฐบาลประเทศเรานี้ได้มากแค่ไหน คงได้แต่ภาวนาและร่วมมือด้วยการงดออกจากบ้านถ้าไม่จำเป็น เราอยู่ในบ้านได้แหละแต่สงสารคนที่เขาไม่สามารถจะทำได้ จนถึงขั้นเสียงานเสียการจริง ๆ 

วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2563

ใช้ AI ช่วยลดความหนาแน่นการจราจรและการใช้น้ำมัน

นักวิจัยจาก Oak Ridge National Laboratory (ORNL) ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) และการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning, ML) เพื่ออกแบบระบบที่ทำให้การจราจรคล่องตัวที่แยกไฟแดง และลดการสิ้นเปลืองพลังงาน แนวคิดคือรถแต่ละชนิดกินน้ำมันไม่เท่ากันเวลาต้องหยุด ตัวอย่างเช่นรถบรรทุกใหญ่ ๆ จะกินน้ำมันมากกว่าเวลาหยุดและต้องออกตัวใหม่กว่าจะกลับไปที่ความเร็วเดิมก่อนที่จะหยุด วิธีนี้ใช้ AI กับ ML ในการระบุประเภทของรถ และประมาณการใช้น้ำมันของรถ และส่งต่อไปยังแยกถัดไป ประเด็นก็คือพาหนะที่กินน้ำมันมากกว่าควรจะได้เคลื่อนที่ต่อไปมากกว่าที่จะหยุดอยู่ที่แยกไฟแดง  

อ่านข่าวเต็มได้ที่: GCN

วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2563

เราเตอร์ที่ใช้ตามบ้านอาจถูกจู่โจมเพื่อส่งผู้ใช้ไปยังเว็บไซต์อีนตราย

นักวิจัยอ้างอิงข้อมูลจากโปรแกรม BitDefender ได้เตือนว่าเราเตอร์ที่ใช้ตามบ้านอย่าง Linksys และ D-Link อาจเสี่ยงที่จะถูกแฮก โดยนำผู้ใช้ไปสู่เว็บไซต์ที่ทำเหมือนให้ข้อมูลเกี่ยวกับ Covid-19 แต่จริง ๆ แล้วเป็นเว็บไซต์ที่จะโหลดโปรแกรมอันตรายลงมายังเครื่องเรา นักวิจัยบอกว่าการจู่โจมจะทำโดยการเดารหัสผ่านของการล็อกอินเข้าสู่ตัวเราเตอร์จากระยะไกลที่ใช้เพื่อการจัดการเราเตอร์ นักวิจัยบอกว่าผู้ใช้ควรจะปิดคุณสมบัตินี้ของเราเตอร์

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Ars Technica

วันเสาร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2563

หุ่นยนต์ที่สามารถเปลี่ยนรูปร่างได้

นักวิจัยจาก Stanford University และ University of California, Santa Barbara (UCSB) ได้พัฒนาหุ่นยนต์ที่มีขนาดเท่าคน แต่สามารถปรับเปลี่ยนรูปร่างได้ (อย่าจินตนาการถึงเรื่องเทอร์มิเนเตอร์นะครับ ฃองไปดูวีดีโอจากข่าวเต็มดู) เพื่อที่จะใช้จับหรือถือวัตถุต่าง ๆ และสามารถกลิ้งไปในทิศทางที่ต้องการได้ นักวิจัยบอกว่าแนวคิดของหุ่นต์ตัวนี้คือการผสมผสานของหุ่นยนต์หลาย ๆ แบบ และที่เขาออกแบบแบบนี้ เพราะต้องการจะหาแนวทางอื่นในการออกแบบหุ่นยนต์บ้าง

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Stanford News

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

แนะนำให้เข้าไปดูรูปร่างของหุ่นยนต์จากข่าวเต็มนะครับ เราน่าจะไม่เคยเห็นหุ่นยนต์แบบนี้มาก่อน 

ฟังเพลงกันวันศุกร์: Perfect ของ Ed Sheeran

จริง ๆ วันนี้ก็วันเสาร์แล้วนะครับ มัวแต่เตรียมสอนเผลออีกทีตีหนึ่งกว่าแล้ว เอาเป็นว่าฟังเพลงกันก่อนอนสักเพลงแล้วกันนะครับ หลังจากไปขุดเพลงเก่าสมัยตัวเองบ้างพ่อตัวเองบ้างมาหลายครั้งแล้ว วันนี้ก็เอาเพลงที่วัยรุ่นเขาฟังกันบ้างแล้วนะครับ เพลงนี้ลูกเอามาเปิดให้ฟังครับ ฟังแล้วก็ชอบครับ ฟังแล้วผ่อนคลายเหมาะกับช่วงกักตัวแบบนี้ดีครับ ไปฟังเพลงกันครับ และราตรีสวัสดิ์ครับ



I found a love for me
Darling just dive right in
And follow my lead
Well I found a girl beautiful and sweet
I never knew you were the someone waiting for me
'Cause we were just kids when we fell in love
Not knowing what it was
I will not give you up this time
But darling, just kiss me slow, your heart is all I own
And in your eyes you're holding mine
Baby, I'm dancing in the dark with you between my arms
Barefoot on the grass, listening to our favorite song
When you said you looked a mess, I whispered underneath my breath
But you heard it, darling, you look perfect tonight
Well I found a woman, stronger than anyone I know
She shares my dreams, I hope that someday I'll share her home
I found a love, to carry more than just my secrets
To carry love, to carry children of our own
We are still kids, but we're so in love
Fighting against all odds
I know we'll be alright this time
Darling, just hold my hand
Be my girl, I'll be your man
I see my future in your eyes
Baby, I'm dancing in the dark, with you between my arms
Barefoot on the grass, listening to our favorite song
When I saw you in that dress, looking so beautiful
I don't deserve this, darling, you look perfect tonight
Baby, I'm dancing in the dark, with you between my arms
Barefoot on the grass, listening to our favorite song
I have faith in what I see
Now I know I have met an angel in person
And she looks perfect
I don't deserve this
You look perfect tonight
Source: LyricFind
Songwriters: Edward Christopher Sheeran
Perfect lyrics © Sony/ATV Music Publishing LLC

วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2563

 ให้รถขับเคลื่อนด้วยตัวเองเรียนจากระบบจำลองก่อนลงถนนจริง

นักวิจัยจาก Massachusetts Institute of Technology ได้สร้างระบบจำลองแบบเหมือนจริงเพื่อใช้ฝึกสอนรถยนต์อัตโนมัติก่อนที่จะให้มันไปแล่นบนถนนจริง โดยข้อมูลที่ใช้ฝึกสอนได้รวบรวมมาจากประสบการณ์จริงของคนที่ขับรถ เอามาสังเคราะห์เพื่อสร้างเส้นทางในโลกเสมือนจำนวนนับไม่ถ้วนที่รถยนต์จะนำไปใช้ได้ในโลกจริง ซึ่งระบบจะให้รางวัลโดยดูจากระยะทางที่รถแล่นไปได้โดยไม่ชนกับอะไร ด้วยวิธีนี้ตัวรถจะได้เรียนรู้เส้นทางที่ปลอดภัยได้ด้วยตัวมันเอง 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: MIT News

เพิ่มเติมเสริมข่าว: 

ตอนนี้นอกจากจะมีระบบฝึกคนแล้ว ก็มีระบบฝึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563

Facebook ให้พนักงานที่ทำหน้าที่คัดกรองข้อความกลับบ้านเรื่องจากโคโรนาไวรัส

เมื่อเร็ว ๆ นี้ Facebook ได้ให้พนักงานที่เป็นคนตรวจสอบข้อมูลกลับบ้านโดยยังคงจ่ายเงินเดือน เนื่องจากการระบาดของโคโรนาไวรัส ซึ่งก็เท่ากับว่าตอนนี้การคัดกรองเนื้อหาที่ไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ จะขึ้นอยู่กับขั้นตอนวิธีปัญญาประดิษฐ์ของ Facebook เอง ดังนั้นตอนนี้ผู้ใช้ก็อาจจะเจอปัญหาข้อผิดพลาดอย่างเช่นเนื้อหาที่ไม่มีอะไรเลย แต่อาจถูกลบออกไปได้ และไม่ใช่ Facebook ที่เดียว Youtube และ Twitter ก็ออกมาประกาศเช่นกันว่าจะใช้โปรแกรมในการคัดกรองเนิ้อหาเช่นกัน

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Washington Post

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

งานคัดกรองนี่เขาทำกันยังไงนะ ทำไมถึงทำที่บ้านไม่ได้ 

วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563

ไอบีเอ็มร่วมมือกับทำเนียบขาวใช้ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ช่วยทำวิจัยโคโรนาไวรัส

ไอบีเอ็มจะช่วยในการประสานงานและสนับสนุนซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ซึ่งมีพลังประมวลผลกว่า 330 petaflops เพื่อช่วยนักวิทยาศาสตร์ในการทำวิจัยเกี่ยวกับ COVID-19 โดยการทำงานนี้เป็นการทำงานซึ่งเป็นความร่วมมือกับสำนักงานนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของทำเนียบขาว โดยในเบื้องต้นนี้จะใช้ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ 16 ตัว จากไอบีเอ็ม ห้องปฏิบัติการวิจัยแห่งชาติ มหาวิทยาลัยหลายแห่ง อะเมซอน กูเกิล ไมโครซอฟท์ และหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งพลังงานในการประมวลผลนี้จะเปิดให้นักวิจัยเข้าถึงได้จากระยะไกล ถ้าโครงการของนักวิจัยได้รับการอนุมัติ

 อ่านข่าวเต็มได้ที่: CNN

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

ความเร็ว 1 petaflop เท่ากับสามารถทำงานคำสั่งเลขทศนิยมได้ 1000 ล้านล้าน คำสั่งต่อวินาที

วันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2563

นักวิจัยเผยช่องโหว่ของโปรแกรมจัดการรหัสผ่าน

ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงมักจะให้คำแนะนำว่าให้เราตั้งรหัสผ่านให้มีความซับซ้อน และต่างกันในแต่ละบัญชีผู้ใช้ที่เราใช้ แต่ปัญหาของการทำอย่างนั้นคือเราไม่สามารถจำรหัสผ่านทั้งหมดได้ โปรแกรมจัดการรหัสผ่านจึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้  หลักการทำงานของโปรแกรมจัดการรหัสผ่านก็คือให้เราเอารหัสผ่านทั้งหมดมาให้โปรแกรมนี้เก็บไว้ (บางโปรแกรมสามารถสร้างรหัสผ่านให้เราได้ด้วย) จากนั้นเราก็จำแค่รหัสผ่านเดียวก็คือของโปรแกรมนี้ แต่นักวิจัยจาก University of York แสดงให้เห็นว่าโปรแกรมจัดการรหัสผ่านเหล่านี้ยังไม่รัดกุมพอ โดยเขาได้สร้างแอปพลิเคชันเลียนแบบแอปพลิเคชันของ Google ขึ้นมา พบว่าสามารถหลอกให้ 2 ใน 5 ของโปรแกรมจัดการรหัสผ่านยอมเปิดเผยรหัสผ่านได้ ปัญหาคือโปรแกรมเหล่านี้บางตัวใช้เงื่อนไขที่ไม่เข้มข้นในการตรวจสอบยืนยันตัวแอปพลิเคชัน และแอปพลิเคชันบางตัวยังไม่ยอมกำหนดจำนวนครั้งในการป้อนรหัสที่ผิดเอาไว้ด้วย 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of York

วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2563

วิธีการทางด้านการเรียนรู้ของเครื่องที่ใช้กันอย่างแพร่หลายตอนนี้อาจใช้งานไม่ได้อย่างที่คาดหวังกัน

นักวิจัยจาก University of California, Santa Cruz (UCSC), Google, และ Stanford University พบข้อผิดพลาดพื้นฐานในเทคนิคของการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) ที่ใช้ในการสร้างตัวแบบของเครือข่ายที่มีความซับซ้อน โดยนักวิจัยบอกว่าเทคนิคที่ใช้กันนั้นไม่เพียงพอที่จะใช้กับเครือข่ายที่มีความซับซ้อน เช่นเครือข่ายสังคม (social network) นักวิจัยบอกว่าไม่ใช่มันจะใช้ไม่ได้เลย เพียงแต่มันไม่ได้เก่งเท่ากับที่เราเชื่อกัน

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  UC Santa Cruz Newscenter

วันเสาร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2563

สถิติใหม่ของจำนวนบั๊กในซอฟต์แวร์เปิดเผยโค้ด

จำนวนช่องโหว่ที่ถูกตรวจพบในซอฟต์แวร์แบบเปิดเผยโค้ดเพิ่มขึ้นจาก 4,100 เมื่อปีที่แล้วมาเป็น 6,100 ในปีนี้ จากข้อมูลของเว็บไซต์ WhiteSource ซึ่ง WhiteSource บอกว่า 85% ของช่องโหว่ได้ถูกค้นพบและแก้ไขแล้ว WhiteSource ยังได้ศึกษาว่าช่องโหว่เกิดจากภาษาเขียนโปรแกรมภาษาใดบ้างพบว่ามากที่สุดคือภาษา C อยู่ที่ 30% ส่วน PHP นั้นอยู่ที่ 27% และ Python อยู่ที่ 5%

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet

วันศุกร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2563

เรื่องเล่าช่วง Covid-19

เมื่อวันพุธตัว Mesh ที่บ้านเข้าอินเทอร์เน็ตไม่ได้ เลยโทรไป AIS call center ทาง call center บอกว่าไม่เห็นสัญญาณจากตัว MESH เลย จะส่งช่างมาดูให้ และจะเปลี่ยน router และ MESH ตัวใหม่ให้เลย ไอ้เราก็ถามว่าตัวที่ใช้อยู่ก็เพิ่งมาติดให้ไม่กี่เดือนเองนะ ผมทำอะไรเองไม่ได้เลยเหรอ ทาง AIS บอกว่าตัวที่จะให้นี้เป็นรุ่นใหม่ และจะมาติดตั้งให้ นัดช่างให้แล้วเป็นคิวแรก 9 โมงเช้า โอเคนัดแล้วก็มาแล้วกัน จริง ๆ ส่วนหนึ่งก็กังวลนะ ยังไม่อยากให้ใครมาบ้านช่วงนี้ อย่างน้อยคนในบ้านก็เห็น ๆ กันว่าไปไหนมาไหนบ้าง แลัวก็ช่วยกันระวังตัวอยู่แล้ว และเน็ตมันก็ยังใช้ได้ แค่ตัว MESH ที่ใช้ช่วยกระจายสัญญาณที่มันใช้ไม่ได้

วันพฤหัส
ช่าง AIS มาตอนเกือบบ่ายโมง (นัดไว้เก้าโมง โทรมาเลื่อนเกือบ 11 โมง) เข้ามาแป๊บหนึ่ง เอาสายแลนเสียบเครื่อง สักครู่หันมาถาม
ช่าง AIS : พี่อยู่บ้านถึงกี่โมง
sarun: วันนี้อยู่ทั้งวัน มีอะไรเหรอ
ช่าง AIS: ผมลืมเอาอะแดปเตอร์จาก USB เป็นสาย LAN มา พอร์ตแลนผมเสีย
sarun: อ้อ มี เดี๋ยวไปเอามาให้ (ในใจคิดว่า ถ้าไปบ้านอื่นแล้วเขาไม่มี จะทำยังไงนี่)
ไปเอามาให้ใช้
ช่าง AIS: ลองเสียบดู ใช้ไม่ได้พี่ สงสัยต้องลง driver ผมกลับไปเอาของผมมาก่อน
sarun: (คิดจะถามแล้วว่าทำไมไม่โหลด driver แต่คิดอีกทีอาจเห็นว่าใช้แค่ครั้งเดียว สงสัยอยู่แถวนี้) กลับไปเอาที่ไหนเหรอ
ช่าง AIS: ศรีนครินทร์พี่ นี่ที่ผมมาช้าก็เพราะมาจากศรีนครินทร์นี่แหละ
sarun: (นั่งคิดนิดหนึ่ง นัดกันไว้เลทไปสี่ชั่วโมง ถ้ากลับไปกลับมาสงสัยมาอีกทีสองทุ่ม เอาไงดีวะ) ใช้คอมผมได้ไหม (ถ้าช่างจะปฏิเสธเราเพราะกลัว Covid ก็เข้าใจได้นะ)
ช่าง AIS: ได้พี่ เดี๋ยวผมส่งไฟล์ที่ต้องใช้เข้าไลน์พี่
sarun: ส่งเมลได้ไหม เครื่องที่จะให้ใช้ไม่ได้ลงไลน์ไว้ (คือจะเอาเครื่องสำรองมาให้ใช้ ไม่ให้ใช้เครื่องที่ใช้งานหลัก)
จากนั้นขึ้นไปเอาเครื่องลงมา
ช่าง AIS: Line พี่อะไร เดี๋ยวผมส่งไฟล์ที่ต้องใช้ให้ เออแล้วพี่มีไขควงหัวเล็ก ๆ ไหม
sarun: (สงสัยไม่ได้ฟัง แต่ชินแล้ว เวลาสอน นักศึกษาบางคนก็ไม่ได้ฟัง เหมือนกัน line ก็ line) พอได้ไฟล์มาก็จัดการเอาลงเครื่องใช้หลายขั้นตอนหน่อย แล้วก็ไปเอาไขควงมาให้
ช่าง AIS : พิมพ์คอมของ sarun เพื่อติดตั้งไป แล้วก็จามสามคร้ง (มี mask มา แต่เอามือมาปิดปาก สงสัยเตรียมตัวไม่ทัน)
sarun และลูก sarun มองหน้ากัน เครื่องคอมลูกตั้งอยู่ใก้ล ๆ จุดสัญญาณเน็ต และเขาก็ลุกออกมาเพื่อให้ช่างเข้าไปทำงาน
ช่าง AIS : พิมพ์คอม sarun ต่อไป, เสร็จแล้วพี่
sarun: ตกลงมันเป็นอะไร ทำไมต้องเปลี่ยน
ช่าง AIS: อ๋อจริง ๆ มันไม่ต้องเปลี่ยนก็ได้พี่ แต่ Call Center เขาบอกให้เปลี่ยนเลย เป็นรุ่นใหม่ให้พี่เลย
sarun: (ซาบซึ้งใจมาก) แล้วทำไมมันหลุดล่ะ ถ้าเครื่องนี้หลุดอีกจะแก้ปัญหายังไง
ช่าง AIS: พี่กดปุ่ม reset ที่ตัว mesh จนไฟขึ้น
sarun: เฉพาะรุ่นนี้หรือเปล่า แล้วตัวเก่าที่มาเปลี่ยนให้ล่ะ
ช่าง AIS: ได้เหมือนกันพี่
sarun: (จริงหรือเปล่านี่ ถ้ามันทำง่ายอย่างนี้ ทำไมเขาไม่บอกให้เราทำ ช่างที่มาติดให้ครั้งแรก บอกว่ายุ่งยาก ต้องกดนู่นนี่นั้น ตอนช่างติดให้ก็เหมือนต้องโทรไปให้ AIS ปล่อยสัญญาณมา) เหรอ แล้วทำไมไม่บอกให้ผมทำนะ
ช่าง AIS: สงสัยเขาอยากเปลี่ยนให้พี่
sarun: (ซาบซึ้งอีกครั้ง แต่เอาจริง ๆ ถ้ามันทำได้เองช่วงนี้อยากทำเองไปก่อนนะ ยังไม่ต้องเปลี่ยนก็ได้) แล้วมีไปที่ไหนอีกไหม
ช่าง AIS: อีกสองที่พี่ วัชรพลแล้วก็สายไหม
sarun: โอเค ขอบคุณมาก (ในใจคิดว่าถ้าปล่อยให้กลับไปเอาอุปกรณ์มา สองบ้านนั้นคงรอไปอีกนาน และภาวนาว่าสองบ้านนั้นคงมีคอมให้ยืมใช้ มีไขควง และรู้วิธีเอาไฟล์จาก line ลงคอมนะ เอหรือเขาจะกลับไปเอาของที่ศรีนครินทร์ก่อน)
หลังจากนั้นด้วยสถานการณ์ Covid
sarun และลูกก็บิ๊กคลีนนิง เครื่องคอมสำรอง sarun ก็เช็ดแอลกอฮอล์ แล้วก็ว่าจะ Quarantine สักเดือนหนึ่ง ส่วนเครื่องลูกและอุปกรณ์ต่าง ๆ ก็เอาแอลกอฮอล์ไล่เช็ด และก็หวังว่าเขาคงจามเพราะแพ้ฝุ่นที่บ้าน ไม่ใช่เพราะเหตุอื่น และเอาจริง ๆ ไม่แน่ว่าพนักงานก็อาจรีบไปหาเจลล้างมือเพราะมาใช้คอมของเราเช่นกัน
สุดท้ายก็ขอขอบคุณ AIS ที่ช่างมาอย่างน้อยก็ในวันเดียวกัน ถึงแม้จะช้าไป 4 ชั่วโมง ช่างทำงานดีครับ เมื่ออุปกรณ์ (จากลูกค้า) พร้อมก็ใช้เวลาไม่นาน และขอบคุณที่เอาอุปกรณ์รุ่นใหม่มาเปลี่ยนให้

รางวัล Turing ปีนี้เป็นของผู้ที่ร่วมสร้างหนังฮิตหลายเรื่อง

รางวัล Turing (Turing Award) เป็นรางวัลทางด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งเปรียบเทียบได้กับรางวัลโนเบล ปีนี้เป็นของ  Patrick Hanrahan และเพื่อนร่วมงานของเขาคือ Ed Catmull สำหรับ Patrick Hanrahan เคยทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์อาวุโสที่ Pixar ซึ่งเป็นบริษัทสร้างภาพยนตร์แอนิเมชันชื่อดัง โดยทั้งสองคนได้รับรางวัลนี้จากเทคโนโลยีสามมิติที่พวกเขาได้ร่วมกันพัฒนาขึ้นในการสร้างแอนิเมชันฮิตคือ Toy Story จากนั้นเทคโนโลยีที่ทั้งคู่ได้พัฒนาขึ้นนี้ยังถูกนำมาใช้กับหนังดังอย่าง Avatar, Finding Nemo และ Titanic ทั้งคู่จะขึ้นรับรางวัลอย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายน ในงานเลี้ยงฉลองรางวัลของ ACM (Association for Computing Machinery) ในซานฟราสซิสโก 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Fortune

วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2563

ทำเนียบขาวกระตุ้นให้นักวิจัยใช้ AI วิเคราะห์บทความเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา

สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของทำเนียบขาวได้ออกนโยบายให้นักวิจัยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) ในการวิเคราะห์บทความวิชาการเกี่ยวกับโคโรนาไวรัสประมาณ 29,000 บทความ เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกของไวรัสโคโรนา โดยสำนักงานได้กล่าวว่าเขาได้ร่วมมือกับ Microsoft, Google และอีกหลายบริษัท เพื่อสร้างฐานข้อมูลของบทความดังกล่าว ทางสำนักงานบอกว่าจากบทความทั้งหมดมีเพียง 13,000 บทความเท่านั้นที่อยู่ในรูปแบบที่นำไปวิเคราะห์โดยโปรแกรมได้เลย

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Reuters

วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2563

สอนให้ลำโพงอัจฉริยะรู้ตำแหน่งของคนพูด

นักวิจัยจาก University of Illinois at Urbana-Champaign's Coordinated Science Laboratory (CSL) ได้พัฒนาระบบที่ทำให้ลำโพงอัจฉริยะอย่าง Amazon Alexa สามารถบอกตำแหน่งของผู้ที่สั่งงานมันได้ โดนระบบนี้ยังสามารถเรียนรู้ลักษณะของห้องได้ด้วย นักวิจัยบอกว่าการรู้ตำแหน่งของผู้สั่งงาน จะทำให้ลำโพงอัจฉริยะสามามารถตอบสนองต่อการสั่งงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกตัวอบ่างเช่นเวลาเราสั่งงานว่าปิดไฟ ถ้าลำโพงรู้ตำแหน่งของเราก็จะรู้ได้ว่าควรปิดไฟห้องไหนเป็นต้น 

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  University of Illinois Coordinated Science Lab

วันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2563

อิสราเอลใช้โทรศัพท์เพื่อติดตามผู้ป่วยโคโรนาไวรัส

รัฐบาลอิสราเอลได้มอบอำนาจให้ Shin Bet ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านความปลอดภัยเพื่อใช้ระบบสอดแนมในโทรศัพท์ในความพยายามป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส ซึ่งนายกรัฐมนตรีเบนจสมิน เนทันยาฮู ยอมรับว่ามันก็จะมีการละเมิดความเป็นส่วนตัวของประชาชนในระดับหนึ่ง โดย Shin Bet จะใช้ระบบติดตามโทรศัพท์เพื่อสร้างตัวแบบการเดินทางของผู้ที่ติดเชิ้อ โดยวิเคราะห์ว่าก่อนที่เขาจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น เขาไปที่ไหนมาบ้าง เพื่อที่จะได้ระบุได้ว่าใครบ้างที่อาจมีสิทธิติดโรคบ้าง เพื่อลดการละเมิดความเป็นส่วนตัว เนทันยาฮูบอกว่าจะจำกัดว่าใครจะสามารถดูข้อมูลได้บ้าง 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Associated Press

เพิ่มเติมเสริมข่าว: เห็นว่าของไทยก็จะบังคับให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาต้องยอมให้ลงแอพติดตามตัว


วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2563

เซ็นเซอร์ติดผิวหนังแบบไร้สายช่วยติดตามทารกและหญิงตั้งครรภ์

นักวิจัยจาก Northwestern University ได้พัฒนาเซ็นเซอร์ติดผิวหนังแบบไร้สายเพื่อติดตามทารกเกิดใหม่และหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งจะช่วยให้การคลอดมีความปลอดภัยและลดอัตราการตายของแม่ โดยงานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจาก Bill & Melinda Gates Foundation and Save the Children ซึ่งงานวิจัยนี้ได้นำไปใช้กับประเทศอย่าง Ghana, India, Kenya, และ Zambia โดยนักวิจัยบอกว่าสิ่งที่ดีของเทคโนโลยีนี้ก็คือเราสามารถใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ (mobile device) ได้หลากหลายในการติดตามผล ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็ยังคงแม่นยำ เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนที่ใช้อยู่ในโรงพยาบาลในทุกวันนี้

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Northwestern University NewsCenter

วันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2563

ใช้ VR ในการออกแบบยา

นักวิจัยจาก  University of Bristol ในสหราชอาณาจักรกำลังสำรวจวิธีการใช้ VR ในการออกแบบยา นักวิจัยใช้ VR ในการเรนดอร์ (render) โมเลกุลของยาในรูปแบบสามมิติ ผลการทดลองพบว่าแม้แต่คนที่ไม่ใช้ผู้เชี่ยวชาญก็สามารถสร้างโครงสร้างของยาซึ่งมีความซับซ้อนได้ นักวิจัยบอกว่ามันมีความเป็นไปได้ในการสร้างตัวแบบเชื่อมยาเข้าหรืออกจากโปรตีนเป้าหมายโดยใช้เวลาสั้นกว่าการทำแบบเดียวกันโดยไม่ใช้วิธีการนี้

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Bristol

วันเสาร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2563

PIN 4 หลักหรือหกหลักปลอดภัยกว่ากัน

ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางเทคโนโลยีสารสนเทศที่ Germany’s Ruhr-Universitat Bochum (RUB) และ Max Planck Institute for Security and Privacy และ George Washington University ได้ประเมินการใช้ PIN ในอุปกรณ์เคลื่อนที่ทั้ง Apple และ Android โดยผลจากการประเมินพบว่า PIN 6 หลักมีความปลอดภัยมากกว่า PIN 4 หลัก เพียงนิดเดียวเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ PIN 6 หลัก สามารถสร้างรหัสที่ต่างกันได้ 1,000,000 รหัส ส่วน PIN 4 หลัก จะสร้างรหัสที่ต่างกันได้เพียง 10,000 รหัส เท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเป็นอย่างนี้ก็เพราะคนมักจะตั้งรหัส 6 หลักแบบง่าย ๆ เพื่อให้จำได้ง่าย ผลการวิจัยยังบอกด้วยว่ารหัสผ่านปลอดภัยกว่า PIN แต่ PIN ปลอดภัยกว่า Pattern Lock

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  Ruhr-University Bochum (Germany)

เพิ่มเติมเสริมข่าว: 

มีมหาวิทยาลัยตัวเองมีส่วนร่วมด้วยแฮะ 

วันศุกร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2563

ศรัทธาเกิดจากผลงาน

วันศุกร์กลับมาอีกแล้วครับ และเป็นศุกร์ 13 ซะด้วย แต่ไม่ว่าจะศุกร์อะไรผมว่าช่วงนี้ประชาชนคงไม่ค่อยมีความสุขสักเท่าไหร่นะครับ ศุกร์นี้เห็นนายกออกมาพูดด้วยมุมความคิดเดิม ๆ ขอให้เชื่อใจรัฐบาล ขอให้ช่วยกัน ขออย่าด่าทุกเรื่อง ผมถามจริง ๆ เถอะครับ ถ้าคนเราทำดี แสดงให้เห็นว่าสามารถแก้ปัญหาได้ ยังไม่ต้องสำเร็จก็ได้ แต่แสดงให้เห็นว่ามาถูกทางแล้ว ใครมันจะออกมาด่าครับ อาจจะยกเว้นพวกอคติ หลับหูหลับตาด่าอย่างเดียว อย่างพวกเกลียดทักษิณ ซึ่งก็คงมีอย่างนั้นเช่นกันในฝั่งเกลียดประยุทธ์

แต่ตอนนี้หลายคนที่เขาออกมาพูดออกมาตำหนิ บางคนเคยเชียร์ด้วยซ้ำ เพราะเขาเห็นแล้วว่าสิ่งที่ทำอยู่มันแก้ปัญหาไม่ถูกทาง มันไม่เป็นระบบ มันมั่ว จะให้เขาทำยังไง ผมถามจริง ๆ เหอะ สมมติประชาชนหุบปาก ไม่โวยวายเรื่องฝุ่น เรื่องหน้ากาก ถามจริง ๆ เถอะว่าพวกท่านจะรู้สึกรู้สม จะออกมาแก้ปัญหากันหูตาเหลือกอย่างนี้จริง ๆ หรือ ขนาดประชาชนออกมาโวยวายตอนแรก ยังหาว่าเป็น Fake News เกิดจากการทำลายกันทางการเมือง ถึงตอนนี้พรรคพวกท่านบางคนยังคิดแบบนี้อยู่เลย

แล้วก็ไอ้แนวคิดว่าประชาชนต้องช่วยตัวเองด้วยนี่ ท่านคิดว่าประชาชนเขางอมืองอเท้าไม่ทำอะไรเลย รอท่านอย่างเดียวจริง ๆ หรือครับ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ผมว่าดีไม่ดีตายกันไปหลายคนแล้ว ประชาชนเขาช่วยตัวเองเท่าที่จะทำได้แล้วครับ แต่บางเรื่องมันก็เกินความสามารถของเขา เอาง่าย ๆ เรื่องหน้ากากเรื่องเจลล้างมือนี่ ผมว่าประชาชนก็ไม่ได้คิดจะรอแจกจากท่าน หลายคนเขาก็พร้อมจะซื้อ แต่เขาไม่รู้จะไปหาซื้อที่ไหน จะให้เขาเดินทางไปทั่วเมืองโดยไม่รู้ว่าจะซื้อได้หรือเปล่านี่มันใช่ไหมล่ะครับ ถ้าต้องทำเรื่องที่มันไม่ควรจะลำบากแบบนี้ด้วยความยากลำบาก มันก็สมควรไหมที่เขาจะตั้งคำถามว่า แล้วเราจะมีรัฐบาลไปทำไม ทางแก้ปัญหาหลายอย่างก็มาจากภาคประชาชน หรือพรรคที่เพิ่งถูกยุบไป อย่างเว็บไซต์แสดงจุดที่มีหน้ากากขายอะไรแบบนี้ หน่วยงานที่ควรจะเป็นตัวตั้งตัวตีในการทำเรื่องนี้อย่างกระทรวง DE ทำอะไรอยู่ครับ หรือกระทรวงนี้มีหน้าที่แค่ไปเที่ยวไล่ฟ้องคนที่ด่ารัฐบาล ยัดเยียดข้อหาสร้าง Fake News ตั้งแต่ไวรัสเริ่มระบาด พวกท่านทำอะไร ท่านคิดแต่ห่วงรายได้จากการท่องเที่ยว ท่านคิดแต่ห่วงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่ประเทศบางประเทศเขาเล็กกว่าเราอีก เขายังมีมาตรการที่เด็ดขาดกว่าในการคัดกรองคนเข้าประเทศ

ท่านขอความเชื่อใจและศรัทธา มาตั้งแต่ท่านยึดอำนาจ ท่านบริหารด้วยอำนาจพิเศษมากว่า 5 ปี ผมบอกเลยนะท่านทำลายความศรัทธามากกว่าสร้างความศรัทธา ผมคิดว่าตอนที่ท่านเข้ามาใหม่ ๆ คนคงคาดหวังกับท่านไว้มาก แต่ยิ่งอยู่ไปคนยิ่งเสื่อมศรัทธา และหลังจากเลือกตั้ง ท่านคิดว่าท่านชนะเลือกตั้ง ท่านคิดอย่างนี้จริง ๆ หรือครับ หรือท่านชอบหลอกตัวเอง พรรคที่สนับสนุนท่าน ไม่ใช่พรรคที่ชนะเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งนะครับ พรรคที่สนับสนุนท่านแพ้ แพ้พรรคที่ที่ท่านยึดอำนาจเขามานั่นแหละ แต่ด้วยกลไกต่าง ๆ ที่ท่านวางไว้ ท่านจึงได้เป็นนายก ถ้าไม่มีกลไกเหล่านี้ ท่านไม่ได้กลับมาเป็นนายกหรอก แต่เอาเถอะท่านก็มาตามกติกาที่ท่านร่างขึ้นมาเองละนะ แต่ท่านบริหารยังไงล่ะครับมันถึงได้เป็นแบบนี้ ท่านขอให้เชื่อใจมาแล้ว 5 ปี ซึ่งก็เห็นแล้วว่ามันไม่ได้เรื่อง ท่านยังจะขอให้เชื่อใจไปอีกกี่ปีหรือครับ 20 ปี ตามยุทธศาสตร์ชาติของท่านหรือครับ ถึงตอนนั้นคนไทยจะจนกันหมดประเทศ หรือตายกันหมดประเทศดีล่ะครับ

ผมขอยกตัวอย่างคนที่สร้างความศรัทธาให้เกิดสักคนหนึ่งก็แล้วกัน เจอร์เกน คลอปป์ครับ ผู้จัดการทีมทีมรักของผมลิเวอร์พูล ก่อนที่เจอร์เกน คลอปป์เข้ามา ลิเวอร์พูลอยู่ในสภาพยักษ์หลับ และดูเหมือนไม่มีใคร แม้แต่แฟนบางคนของทีมจะเชื่อว่ายักษ์ตัวนี้จะกลับมาผงาดได้อีกครั้ง เมื่อคลอปป์เข้ามา เขาบอกว่า เขาจะเปลี่ยนให้คนที่สงสัยไม่เชื่อมั่นกลับมาเป็นคนที่เชื่อมั่นในทีมให้ได้ From Doubters to Believers คือคำที่คลอปป์ใช้ ซึ่งก็คงไม่ต่างจากเพลง "ขอเธอจงเชื่อใจและศรัทธา" หรอก แต่ความแตกต่างคือคลอปป์ทำให้มันเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่แต่งเพลง  คลอปป์สร้างทีมตามแนวทาง ลิเวอร์พูลไม่ได้แชมป์อะไรเลยในช่วงสองสามปีแรกที่คลอปป์เข้ามา แต่สิ่งที่แฟน ๆ เห็น คือแนวทางการเล่นของทีม แฟน ๆ เห็นการพัฒนาของทีม ดังนั้นแฟน ๆ ก็กลับมาเชียร์มาศรัทธาและเชื่อมั่น คลอปป์ไม่เคยออกมาเรียกร้องว่าแฟน ๆ อย่ามาด่าเขานะ ขอให้เชื่อใจนะ แต่เขาแสดงให้เห็นด้วยผลงาน และสุดท้ายปีที่แล้วลิเวอร์พูลก็ได้แแชมป์ถ้วยใบใหญ่ที่สุดในยุโรป และเป็นรองแชมป์พรีเมียร์ลีกที่มีแต้มสูงสุดในประวติศาสตร์ ได้แชมป์โลก ได้รับการยกย่องว่าเป็นทีมฟุตบอลที่ดีที่สุดทีมหนึ่งในขณะนี้ และปีนี้กำลังจะเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีกด้วยผลงานที่ทิ้งคู่แข่งในลีกไปไกลมาก เห็นไหมล่ะครับว่าผลงานเท่านั้นเป็นตัวสร้างศรัทธา

พูดถึงลิเวอร์พูลก็อดกังวลไม่ได้ มันจะอะไรนักนะ กำลังจะเป็นแชมป์ลีกสูงสุดหนแรกในรอบ 30 ปี ก็มีไอ้ไวรัสบ้าบออะไรไม่รู้มาทำเรื่องจนต้องลุ้นว่าจะแข่งจนจบได้แชมป์หรือเปล่าซะอีก อ้าวเริ่มด้วยการเมือง ดันมาจบด้วยเรื่องบอลซะได้ เฮ้อ แสดงว่ามันกังวลอยู่ในจิตใต้สำนึกนะนี่...



วิธีใหม่ 2 วิธี สามารถจู่โจมช่องโหว่ในซีพียู AMD ที่ผลิตในช่วงปี 2011 ถึง 2019 ได้

นักวิจัยจาก Graz University of Technology ในออสเตรีย และ University of Rennes ในฝรั่งเศส ได้ชี้ให้เห็นว่าช่องโหว่ในซีพียูของ AMD ผลิตในช่วงปี 2011 ถึง 2019 เปิดช่องให้การจู่โจมใหม่สองวิธีที่จะมีผลกับการประมวลผลข้อมูลในซีพียู ทำให้ผู้บุกรุกสามารถได้ข้อมูลที่สำคัญ หรือลดระดับความปลอดภัยของเครื่องลง วิธีการจู่โจมดังกล่าวชือ Collide+Probe และ Load+Reload แต่อย่างไรก็ตามนักวิจัยบอกว่าได้แจ้งช่องโหว่นี้ไปที่ AMD แล้ว แต่ AMD ไม่สนใจโดยบอกว่ามันก็เป็นเพียงแค่การคาดเดาเท่านั้น 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZdNet




วันพฤหัสบดีที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2563

ใช้ Super คอมพิวเตอร์ เพื่่อหาส่วนประกอบของยารักษาโคโรนาไวรัส

นักวิจัยจาก Oak Ridge National Laboratory (ORNL) ได้ใช้ Super Computer เพื่อหาโมเลกุลของยาที่จะใช้สู้กับ SARS-CoV-2 coronavirus ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการระบาดของ Covid-19 โดยให้ Super Computer จำลององค์ประกอบกว่า 8000 ชนิด เพื่อดูว่าองค์ประกอบอะไรบ้างที่จะใช้ต่อต้านได้บ้าง  ซึ่งตอนนี้เขาพบองค์ประกอบ 77 ชนิดซึ่งให้ผลการทดลองที่ดี นักวิจัยบอกว่าการจำลองโดยใช้ Super Computer ใช้เวลาเพียงวันหรือสองวัน แต่ถ้าใช้คอมพิวเตอร์ธรรมดา อาจต้องใช้เวลาเป็นเดือน

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Oak Ridge National Laboratory

วันพุธที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2563

แขนกลที่ออกแบบในจีนสามารถช่วยชีวิตคนในภาวะฉุกเฉินได้

นักวิจัยจาก Tsinghua University ในประเทศจีนได้พัฒนาหุ่นยนต์ (เฉพาะส่วนที่เป็นแขน) ที่สามารถทำอัลตราซาวด์ ทำความสะอาดช่องปาก (อันนี้น่าจะหมายถึงกรณีที่อาจมีวัตถุติดอยู่ในช่องปาก) และฟังเสียงที่เกิดจากอวัยวะของผู้ป่วย ระบบนี้ประกอบด้วยแขนกลที่มีล้อเลื่อน และสามารถช่วยชีวิตได้ในช่วงการระบาดของโคโรนาไวรัสแบบในปัจจุบันนี้ นักวิจัยได้ดัดแปลงแขนกลที่ใช้ในสถานีอวกาศและยานสำรวจดวงจันทร์ การทำงานของหุ่นยนต์นี้เป็นแบบอัตโนมัติเกือบสมบูรณ์ และสามารถฆ่าเชื่อโรคได้ด้วยตัวเองหลังจากสัมผัสกับคนไข้แล้ว หมอในประเทศจีนกำลังฝึกสอนหุ่นยนต์ตัวนี้อยู่ โดยเป็นหมอจาก Tsinghua University และโรงพยาบาล Wuhan Union

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Reuters

วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2563

อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้บลูทูชพลังงานต่ำมีช่องโหว่ด้านความปลอดภัย

องค์การอาหารและยาของสหรัฐ (U.S. Food and Drug Administration, FDA) ได้ออกมาเตือนคนไข้ ผู้ให้บริการทางการแพทย์ และบริษัทผู้ผลิต ในเรื่องช่องโหว่ที่ร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เชื่อมต่อโดยใช้บลูทูชพลังงานต่ำ (Bluetooth Low Energy, BLE) ซึ่ง BLE นี้คือเทคนิคที่ทำให้อุปกรณ์สามารถจับคู่เชื่อมต่อกันได้โดยประหยัดพลังงานจากแบตเตอรีของอุปกรณ์ การจู่โจมที่เรียกว่า "SweynTooth"  จะทำให้ผู้บุรุกสามารถเข้ายึดครองอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างเช่น ตัวควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ อุปกรณ์แสดงระดับน้ำตาลในเลือด และเครื่องอัลตราซาวด์ โดยทำให้มันหยุดทำงาน หรือผู้บุรุกสามารถเข้าถึงฟังก์ชันซึ่งสงวนไว้สำหรับเจ้าหน้าที่เท่านั้นได้ โดยการเข้าถึงนี้สามารถเข้าถึงได้จากซอฟต์แวร์ที่เปิดให้ดาวน์โหลดมาใช้งานได้อย่างอิสระ FDA ได้เรียกร้องให้บริษัทผู้ผลิตรีบแก้ไข และเตือนผู้ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนี้ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: U.S. Food and Drug Administration

เพิ่มเติมเสริมข่าว

จากที่ข่าวบอกว่าซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการบุกรุกสามารถดาวน์โหลดได้อย่างอิสระ ซึ่งตรงนี้ก็น่ากลัวว่า ถ้ามีคนที่ไม่รู้เรื่องอะไรมากนัก แค่อยากแฮกเล่นสนุก ๆ อาจสร้างความเสียหายได้มากกว่าเพราะความไม่รู้ก็ได้ ลองเปรียบเทียบดูโจรมืออาชีพถ้าปล้นเราพอได้เงินแล้วอาจไม่ฆ่าเรา แต่โจรมือใหม่ หรือมือสมัครเล่น อาจฆ่าเราโดยไม่ตั้งใจ เพียงแต่เราล้วงกระเป๋าไปจะหยิบเงินให้ แต่เขาอาจคิดว่าเราจะหยิบอาวุธมาสู้ เลยฆ่าเราตาย  

วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2563

บริษัท Startup ด้าน AI ส่วนใหญ่ยังมีฐานอยู่ในอเมริกา

CB insights ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยด้านเทคโนโลยีพบว่า 65% ของบริษัท Startup ด้าน AI ที่อยู่ในร้อยอันดับแรกด้าน AI ส่วนใหญ่ยังมีฐานอยู่ในอเมริกา แม้ว่าบางบริษัทจะมีสำนักงานใหญ่คู่กันในจีนหรือประเทศอื่นด้วย บริษัทเหล่านี้จะอยู่ในด้านสุขภาพ ค้าปลีกและขนส่ง  อย่างไรก็ตามเปอร์เซนต์การลงทุนด้าน AI ได้ลดลงจาก 71% เป็น 39% ตั้งแต่ปี 2014 สำหรับประเทศที่รองลงมาจากอเมริกาคือแคนาดาและสหราชอาณาจักรอยู่ที่ 8% เท่ากัน

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Bloomberg

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

อันดับหนึ่งกับอันดับสองยังห่างกันอยู่มาก แสดงว่ายังไงสหรัฐก็ยังคงเป็นผู้นำทางด้านนี้อยู่ หรือไม่ก็ยังคงมีโครงสร้างพื้นฐานที่ยังเหมาะสมกว่าประเทศอื่น ๆ อยู่อีกพอสมควร

วันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2563

เครื่องมือสำหรับช่วยทหารวางแผนอพยพพลเรือน

นักวิจัยจาก North Carolina State University (NC State) และกองทัพสหรัฐ ได้ร่วมกันพัฒนาตัวแบบที่จะช่วยอพยพพลเรือนในสถานการ์ฉุกเฉินเช่นภัยธรรมชาติ หรือด้านมนุษยธรรมโดยตัวแบบนี้เน้นไปที่การอพยพในเกาหลีใต้ แต่ก็สามารถนำมาปรับใช้กับทีอื่น ๆ ได้ทั่วโลกด้วย นักวิจัยบอกว่าตัวแบบนี้ต่างกับตัวแบบอื่น ๆ ในแง่ที่มันมีทั้งการวางแผนและการปฏิบัติการ โดยสรุปก็คือตัวแบบนี้จะบอกว่าต้องทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ โดยสามารถลงไปในรายละเอียดเช่นต้องเอารถบรรทุกไปจอดที่ไหนในเวลาอะไร การที่เขาไปสร้างตัวแบบนี้โดยเน้นที่เกาหลีใต้เป็นเพราะ เขาบอกว่าการอพยพคนในเกาหลีใต้มีความซับซ้อน เหมาะกับการที่จะเข้าไปวิจัยและปรับปรุง 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: NC State news 

วันเสาร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2563

สร้างหุ่นยนต์ที่เก่งขึ้นโดยเรียนรู้จากงู

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Johns Hopkins ได้พัฒนาหุ่นยนต์งู ซึ่งสามารถเคลื่อนที่และปีนป่ายได้อย่างว่องไว หุ่นยนต์นี้จะช่วยให้งานวิจัยด้านหุ่นยนต์ค้นหาและกู้ภัยมีความก้าวหน้ามากขึ้น โดยหุ่นยนต์จะสามารถเคลือนที่เข้าไปยังพิ้นที่ที่ยากลำบากได้ โดยนักวิจัยได้ศึกษาวิธีการปีนของงูที่อยู่ในสภาพแวดล้อมในธรรมชาติตั้งแต่ในทะเลทรายไปจนถึงในป่า จากนั้นสร้างหุ่นยนต์ซึ่งเลียนแบบการเคลื่อนที่ของพวกมัน นักวิจัยบอกว่ายังไงสัตว์พวกนี้ก็ยังเก่งกว่า แต่ผลลัพธ์ที่ได้จากการวิจัยนี้ถือเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญ

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Johns Hopkins Hub

วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2563

หรือเมาส์ไร้สายควรจะถูกเรียกว่าแฮมสเตอร์

วันศุกร์กลับมาอีกแล้วนะครับ จริง ๆ ผมกะว่าจะเขียนเรื่องนี้มาเมื่อสักสองศุกร์ก่อนหน้านี้แล้วครับ แต่บังเอิญมีเรื่องการเมืองร้อนแรงให้เขียนถึงซะก่อน คือเมื่อสองศุกร์ก่อน  Facebook ฟีดเรื่องนี้ขึ้นมาให้ผมครับ ไม่รู้ทำไม คือมีคนไปสร้าง campaing ใน change.org ว่าทำไมเราถึงยังเรียกเมาส์ไร้สายว่าเมาส์กันอยู่ ในเมื่อหนูที่ไม่มีหางมาตั้งแต่เกิดน่ะมันคือแฮมสเตอร์ ดังนั้นเปลี่ยนมาเรียกเมาส์ไร้สายว่าแฮมสเตอร์กันเถอะ เห็นด้วยกับเขาไหมครับ ถ้าเห็นด้วยก็ไปร่วมลงชื่อกับเขาได้นะครับที่

 https://www.change.org/p/donald-trump-rename-the-wireless-mouse-to-hamster-66da426f-0238-4d2d-b9ac-f070cab9d5b4?use_react=false

แต่ดูเหมือนจะไม่ค่อยมีใครสนใจสักเท่าไรนะครับ เพราะเท่าที่ดู campaign นี้สร้างมาสองปีแล้ว แต่มีคนลงชื่อสนับสนุนไปแค่ 5000 กว่าคน 

คราวนี้ผมก็เลยคิดว่าเราลองไปค้นเรื่องของเมาส์หน่อยดีไหมและทำไมเขาถึงเรียกมันว่าเมาส์ ก็เลยลองไปค้นดูครับ แล้วก็ค้นพบว่าคนแรกที่สร้างเมาส์ขึ้นมาคือคุณ Doug Engelbart และเขาตั้งชื่อมันว่าเมาส์ก็เพราะมันมีรูปร่างเหมือนหนูที่มีหางนั่นเองครับ อ้างอิงจากเว็บนี้นะครับ https://www.devinedesign.net/why-is-a-mouse-called-a-mouse/ ซึ่งก็ตรงตามที่รณรงค์ใน campaing สำหรับใครที่อยากอ่านประวัติของเมาส์แบบมี timeline เข้าใจง่าย และมี quiz เช็คความเข้าใจด้วยก็ดูที่ประวัติของคอมพิวเตอร์เมาส์ ได้เลยครับ

สำหรับผมก่อนอื่นเลยต้องบอกว่าดีใจที่ไทยเราไม่เรียกเมาส์ว่าหนู เพราะมันอาจจะมีความหมายอย่างอื่นในบางบริบท ลองคิดภาพดูครับ สมมติมีนิยายเรื่องหนึ่ง เขียนเล่าถึงการใช้งานคอมพิวเตอร์ของผู้ร้ายว่า

"เขาจับหนู กดหนูค้างไว้แล้วลากหนูไปจนถึงจุดที่ต้องการ แตะปุ่มซ้ายของหนูอย่างรวดเร็วสองครั้ง จากนั้นแตะปุ่มขวาของหนู และคำรามออกมาอย่างไม่พอใจเมื่อรู้สึกว่าหนูตอบสนองช้าเกินไป..."

ไป ๆ มา ๆ มันจะพาลนึกถึงนิยาย 18+ นะครับ

คราวนี้สมมติว่าถ้าเราเปลี่ยนมาเรียกเมาส์ไร้สายว่าแฮมสเตอร์ ลองมาดูนิยายเรื่องเดิมนะครับ 

"เขาจับแฮมสเตอร์ ลากแฮมสเตอร์ไปจนถึงจุดที่ต้องการ แตะปุ่มซ้ายของแฮมสเตอร์อย่างรวดเร็วสองครั้ง จากนั้นแตะปุ่มขวาของแฮมสเตอร์ และคำรามออกมาอย่างไม่พอใจเมื่อรู้สึกว่าแฮมสเตอร์ตอบสนองช้าเกินไป..." 

แบบนี้อาจนึกถึงเรื่องการทรมานสัตว์นะครับ

สำหรับผมแล้ว ผมคิดว่าไม่ต้องไปเปลี่ยนชื่อมันหรอกนะครับ เพราะคำว่าเมาส์ตอนนี้ก็เป็นที่ยอมรับกันแล้วในอีกหนึ่งความหมาย คืออุปกรณ์ที่เป็นอุปกรณ์นำข้อมูลเข้าสู่คอมพิวเตอร์ และจริง ๆ เราก็ไม่เคยเรียกสายเมาส์ว่าหางหนูอยู่แล้วจริงไหมครับ ดังนั้นผมว่าเมาส์ไร้สายก็ดีแล้วนะครับ 

ช่องโหว่ในชิปไวไฟอาจทำให้อุปกรณ์เป็นล้าน ๆ เครื่องสามารถถูกดักจับข้อมูลได้

นักวิจัยจาก Slovakian Internet security company ESET ได้พบช่องโหว่ในชิปไวไฟ (WiFi) ที่ทำให้ผู้บุกรุกที่อยู่ข้างเคียงสามารถดักจับข้อมูลที่(อาจจะ) สำคัญของผู้ใช้ไปใช้ได้ ช่องโหว่นี้นักวิจัยตั้งชื่อว่า Kr00k โดยช่องโหว่นี้อยู่ในชิปไวไฟที่ถูกผลิตโดย  Cypress Semiconductor และ Broadcom ซึ่งใช้ในอุปกรณ์ตั้งแต่ iPhone, iPad, Mac, Kindle, Android (รายชื่อของอุปกรณ์ที่อาจได้รับผลกระทบดูได้จากข่าวเต็มครับ) ช่องโหว่นี้เป็นแบบนี้ครับ คือโดยปกติแล้วเมื่ออุปกรณ์ของเราเชื่อมต่อกับ Access Point (ตัวกระจายสัญญาณไวไฟ) การส่งข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ของเรากับ Access Point จะถูกเข้ารหัส ดังนั้นต่อให้ผู้บุกรุกได้ข้อมูลไปก็จะอ่านไม่รู้เรื่อง แต่ช่องโหว่นี้เกิดขึ้นเมื่ออุปกรณ์ของเราเลิกเชื่อมต่อกับ Access Point เช่นเราเดินออกมานอกรัศมีของ Acces Point ตัวนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือเฟรมข้อมูลที่เรายังไม่ได้ส่ง จะถูกส่งออกไปในอากาศโดยใช้คีย์ในการเข้ารหัสเป็น 0 ทุกตัว ดังนั้นผู้บุกรุกก็สามารถถอดรหัสข้อมูลของเราได้ ซึ่งถ้าข้อมูลนี้มีข้อมูลที่เป็นความลับอย่างบัญชีผู้ใช้และรหัสผ่าน ผู้บุกรุกก็สามารถนำไปใช้ได้อย่างง่ายดาย ตามข่าวบอกว่าผู้ผลิตได้ออกตัวแก้ไขมาแล้ว แต่ปัญหาคือไม่รู้ว่ามีอุปกรณ์กี่ตัวที่ได้ติดตั้งตัวแก้ไขนี้ ตามข่าวบอกว่า Apple ได้ออกตัวแก้ไขมาแล้วตั้งแต่ตุลาคมปีที่แล้ว Amazon ก็บอกว่าได้ออกตัวแก้ไขมาให้แล้วเช่นกันครับ

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Ars Technica

เพิ่มเติมเสริมข่าว: 

ทางหนึ่งก็มีคำแนะนำว่าควรอัพเดตระบบปฏิบัติการตามที่บริษัทบอก แต่หลาย ๆ ครั้งก็มีเหตุการณ์ที่ว่า ใครรีบอัปเดตก่อนซวยก่อน เพราะดันมีข้อผิดพลาดจากตัวอัปเดตตัวนั้น วิธีที่ผมใช้คือถ้าจุดประสงค์หลักของตัวแก้ไข เน้นที่เรื่องความปลอดภัย ผมก็จะรีบอัพเดต แต่ถ้าเปลี่ยนเวอร์ชันเน้นคุณสมบัติใหม่ หลาย ๆ ครั้ง ผมจะรอไปก่อนจนกว่าจะไม่เห็นใครบ่นว่ามันมีปัญหาอะไรใหญ่โตครับ 

วันพฤหัสบดีที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2563

สันตะปาปาสนับสนุนจริยธรรมของ AI

คริสต์จักรโรมันคาทอลิกตกลงทำงานร่วมกับไอบีเอ็มและไมโครซอฟท์ เพื่อพัฒนามาตรฐานทางจริยธรรมในการออกแบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) โดยการสนับสนุนของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสต์ อย่างไรก็ตามไมโครซอฟท์บอกว่าการจะสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมของ AI ให้เป็นที่ยอมรับกันทุกคนเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะคนแต่ละคนก็มีมาตรฐานทางจริยธรรมต่างกัน ไอบีเอ็มบอกว่า ในอีกไม่นานนี้ AI จะเข้ามาอยู่ในทุกอาชีพ คนเราจะทำงานคู่ไปกับเครื่องจักร ดังนั้นมันสำคัญมากที่จะต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้อง และทางไอบีเอ็มดีใจมากที่ได้ร่วมงานกับคริสต์จักร

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  BBC News

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

ถ้าไม่วางมาตรฐานไว้มันอาจเป็น Skynet แต่ไม่รู้สินะ กลัว ๆ ว่า พอ AI ทำงานร่วมกับคนไปสักพัก มันจะติดนิสัยแย่ ๆ ของคนทำให้มาตรฐานทางจริยธรรมของมันเสียไปหรือเปล่า :)

วันพุธที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2563

แฮก Siri ด้วยคลื่นอัลตร้าโซนิก

นักวิจัยจากหลากหลายสถาบันนำโดย Washington University ใน St. Louis (WUSL) ได้สาธิตวิธีที่เรียกว่า "surfing attack" โดยใช้คลื่นอัลตร้าโซนิกเพื่อเข้ายึดการทำงานของระบบรู้จำเสียงพูดบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งรวมถึง Siri และ Google ด้วย วิธีการก็คือการส่งคลื่นผ่านพิ้นผิวที่แข็งไปยังโทรศัพท์เพื่อสั่งให้ระบบทำงาน และแฮกเกอร์จะได้ยินเสียงที่ระบบทำงานผ่านทางอุปกรณ์พิเศษ นักวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าหลังจากนั้นแฮกเกอร์สามารถใช้ไมโครโฟนเพื่อส่งคำสั่งไปยังโทรศัพท์เป้าหมายได้ วิธีเตรียมตัวในการจู่โจมที่นักวิจัยสาธิตให้ดูก็คือ เขาติดตั้งอุปกรณ์ที่จะแปลงไฟฟ้าเป็นคลื่นอัลตร้าโซนิกไว้ใต้โต๊ะ ดังนั้นเมื่อเหยื่อวางโทรศัพท์บนโต๊ะก็จะสามารถถูกจู่โจมได้ นักวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าเมื่อเปิดระบบสั่งงานด้วยเสียงได้แล้วก็สามารถสั่งงานด้วยคำสั่งอย่าง อ่าน SMS ซึ่งก็สามารถที่จะรู้รหัสผ่านแบบใช้ครั้งเดียวที่ระบบส่งมาเวลาเราสั่งธุรกรรม เพื่อไม่ให้เหยื่อรู้ตัวแฮกเกอร์สามารถสั่งให้ลดระดับเสียงของโทรศัพท์ลงเช่นในการทดลองนี้เขาลดเสียงโทรศัพท์ลงสู่ระดับ 3 นอกจากนี้เขายังได้ทดลองสั่งให้โทรศัพท์โทรไปหาคนอื่น และก็คุยกับสายปลายทางโดยปลอมตัวเป็นเจ้าของโทรศัพท์ด้วย นักวิจัยได้ทดลองกับโทรศัพท์หลายรุ่นตามลิงก์นี้ https://surfingattack.github.io/ และนักวิจัยบอกว่าถึงแม้โทรศัพท์จะใส่เคสก็ป้องกันไม่ได้

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Source

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

ใครที่ชอบวางโทรศัพท์ไว้บนโต๊ะก็คงต้องระวังไว้นะครับ




วันอังคารที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2563

หลอกให้แฮกเกอร์เปิดเผยวิธีการแฮก

แทนที่จะป้องกันไม่ให้แฮกเกอร์เข้ามาแฮก นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จาก University of Texas at Dallas ได้ใช้วิธีเชิญชวนแฮกเกอร์ให้เข้ามาแฮก วิธีการที่เขาใช้เรียกว่า  DEEP-Dig (DEcEPtion DIGging) โดยหลอกให้แฮกเกอร์ไปที่เว็บไซต์ที่เป็นเหยื่อล่อ แล้วก็ให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้เทคนิคที่แฮกเกอร์ใช้ในการแฮก ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะใช้ฝึกสอนคอมพิวเตอร์ให้ใช้รับมือกับการโจมตีครั้งต่อ ๆ ไป ในอนาคต

อ่านข่าวเต็มได้ที่: UT Dallas News Center

วันจันทร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2563

เชื่อมสมองจริงกับสมองเทียมผ่านเว็บ

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Southampton ในอังกฤษ Pavoda ในอิตาลี  University of Zurich และ ETH Zurich ในสวิสเซอร์แลนด์ ได้พัฒนาระบบที่ทำให้เซลล์ประสาทของสมองกับเซลล์ประสาทที่ประดิษฐ์ขึ้นสามารถสื่อสารกันได้ผ่านอนเทอร์เน็ต นักวิจัยได้แสดงให้เห็นการทำงานร่วมกันของเทคโนโลยีสามอย่างคือ การเชื่อมต่อระหว่างคอมพิวเตอร์กับสมอง เครือข่ายประสาทเทียม และ memristor (เทคโนโลยีหน่วยความจำแบบหนึ่ง) ว่าสามารถนำมาสร้างเครือข่ายใยประสาทแบบผสมผสานได้ นักวิจัยบอกว่านี่จะเป็นรากฐานของอินเทอร์เน็ตของเซลล์ประสาทอิเลกทรอนิกส์ และนำไปสู่ความหวังใหม่ทางด้าน  neuroprosthetic (อุปกรณ์ที่รับข้อมูลจากระบบประสาท) และจะนำทางไปสู่การแทนที่สมองส่วนที่เสียหายด้วยชิปปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence)

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Southampton

วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2563

เพิ่มความปลอดภัยให้เว็บเบราว์เซอร์ด้วยกระบะทราย

ปัจจุบันเว็บเบราว์เซอร์ต้องทำงานได้สารพัดอย่าง เปรียบได้กับระบบปฏิบัติการย่อย ๆ ตัวหนึ่ง ซึ่งอาจารย์วิทยาการคอมพิวเตอร์จาก UT Austin กล่าวว่า เว็บเบราว์เซอร์เป็นฝันร้ายของงานด้านความมั่นคง (security) เลยทีเดียว เพราะยิ่งมีความสามารถเยอะก็ยิ่งมีบั๊กเยอะ ซึ่งบั๊กเหล่านี้ก็คือช่องทางที่ผู้บุกรุกจะใช้จู่โจมอุปกรณ์ของผู้ใช้ เพื่อป้องกันการจู่โจมนี้นักวิจัยใช้ WebAssembly กลไกด้านความปลอดภัยที่ตอนแรกถูกออกแบบมาเพื่อเพิ่มความเร็วให้กับแอปพลิเคชันที่ทำงานภายใต้เว็บเบราว์เซอร์ แต่แอปพลิเคชันเหล่านั้นจะทำงานภายใต้กระบะทราย (sandbox) เพื่อป้องกันโปรแกรมที่ไม่ประสงค์ดีที่อาจแฝงเข้ามาเพื่อจู่โจมอุปกรณ์ของผู้ใช้ ตัวอย่างของโปรแกรมที่ใช้ประโยชน์ของ WebAssembly ก็คือเกม แอปฟังเพลงแบบสตรีมมิงเป็นต้น นักวิจัยจึงได้พัฒนาสิ่งที่เรียกว่า RLBox เฟรมเวอร์ก เพื่อนำเอาองค์ประกอบบางตัวของเว็บเบราซ์เซอร์อย่างตัวถอดรหัสข้อมูลไฟล์สื่อผสมเข้ามาทำงานในกระบะทรายของ WebAssembly งานวิจัยนี้ร่วมกันทำโดยนักวิจัยจาก  University of Texas at Austin (UT Austin), University of California, San Diego, Stanford University, และ Mozilla (เจ้าของ เว็บเบราซ์เซอร์ Firefox) โดยในช่วงเริ่มต้นนี้เขาจะทดสอบกับองค์ประกอบเพียงตัวเดียวของเว็บเบราซ์เซอร์ Firefox บนระบบปฏิบัติการ Linux ถ้าสำเร็จด้วยดีก็จะเพิ่มองค์ประกอบให้มากขึ้น และขยายไปบนระบบปฏิบัติการตัวอื่น ๆ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: UT News

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า sandbox บ่อย ๆ โดยอาจรู้ว่าถ้าเขาจะทดสอบอะไรก็จะทำบน sandbox แต่อาจไม่รู้ที่มาว่ามายังไง คำว่า sandbox นี้ มาจากทหารครับ คือเวลาเขาวางแผนจะโจมตีเขาจะมีกระบะทราย (sandbox) เอาไว้แสดงแผนการจู่โจม และทดสอบแผนการจู่โจมหลาย ๆ แบบ