วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

การปรับเปลี่ยนของ Google เปลี่ยนแปลงอินเทอร์เน็ต

Meeting
ภาพจาก BBC โดย Thomas Germain 

เจ้าของเว็บไซต์ขนาดเล็ก และเป็นอิสระให้ความเห็นแย้งกับ Google ว่า การอัปเดตอัลกอริทึม Google Search ในช่วงสองปีที่ผ่านมาได้เปลี่ยนทิศทางการเข้าชมไปยังเว็บไซต์ที่มีแบรนด์ที่เป็นที่รู้จัก 

Google กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงนี้มีจุดประสงค์เพื่อหยุดการปรับแต่งเครื่องมือค้นหา (Search Engine Optimization) หรือ SEO แบบไม่ถูกต้อง 

แต่การเปลี่ยนแปลงกลับส่งเสริมการเข้าชมสำหรับเว็บไซต์ที่สร้างโดยผู้ใช้ เช่น Reddit, Quora, Instagram, LinkedIn และ Wikipedia ซึ่งส่งผลเสียต่อบล็อกเกอร์รายย่อย 

 ตามาการรายงานของ AI Overviews พบว่า ผู้สร้างเนื้อหาบอกว่าผลการค้นหา AI ขัดขวางไม่ให้ผู้ใช้คลิกไปที่เว็บไซต์ของตน ให้คำตอบที่ส่วนใหญ่ไม่ถูกต้อง หรือขโมยเนื้อหาหลักของพวกเขา

อ่านข่าวเต็มได้ที่: BBC โดย Thomas Germain 

วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ฝ่ามือของหุ่นยนต์เลียนแบบสัมผัสของมนุษย์

MIT-GetPalm
ภาพจาก MIT News โดย Rachel Gordon

นักวิจัยจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) ได้พัฒนามือหุ่นยนต์ที่มีเซ็นเซอร์ฝังอยู่ในฝ่ามือ เพื่อให้สามารถหยิบจับสิ่งของได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น 

ด้วยแรงบันดาลใจจากมือมนุษย์ GelPalm มีเซ็นเซอร์แบบยืดหยุ่นที่ทำจากเจลฝังอยู่ที่ฝ่ามือ และนิ้วมือแบบ ROMEO (RObotic Modular Endoskeleton Optical) ที่มีเทคโนโลยีการรับรู้ที่คล้ายคลึงกัน ช่วยให้มีความคล่องแคล่วและสามารถจับสิ่งของได้มั่นคงมากขึ้น

อ่านข่าวเต็มได้ที่: MIT News โดย Rachel Gordon

วันพุธที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

รัฐ (ในสหรัฐ) เริ่มควบคุม AI

open-ai
ภาพจาก Associated Press โดย Jesse Bedayn

Jared Polis ผู้ว่าการรัฐโคโลราโด ได้ลงนามในกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการเลือกปฏิบัติโดยระบบ AI ในการตัดสินใจเกี่ยวกับการจ้างงาน ที่อยู่อาศัย และการแพทย์ 

บริษัทที่ใช้ระบบ AI ในการตัดสินใจดังกล่าวต้องประเมินระบบเพื่อหาอคติที่อาจเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ บริษัทต้องจัดตั้งโปรแกรมกำกับดูแล แจ้งอัยการสูงสุดของรัฐหากพบการเลือกปฏิบัติ และแจ้งให้ลูกค้าทราบว่ามีการใช้ AI ในกระบวนการตัดสินใจ พร้อมทั้งให้ทางเลือกในการอุทธรณ์

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Associated Press โดย Jesse Bedayn

วันอังคารที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

การประมวลผลแบบคลาวด์ภายใต้หน้าปกของควอนตัม

cloud-quantum
ภาพจาก Physics โดย Michael Schirber

นักวิจัยจาก  University of Oxford  ในสหราชอาณาจักร และ Sorbonne University  ในฝรั่งเศส ได้สาธิตการประมวลผลควอนตัมแบบไม่เปิดเผยข้อมูล (blind quantum computing) โดยใช้อิออนที่ถูกกักเก็บไว้  

ระบบคลาวด์ควอนตัมนี้มี "เซิร์ฟเวอร์" ประกอบด้วยอิออนสตรอนเชียม ทำหน้าที่เป็นคิวบิตเครือข่าย (network qubit) และอิออนแคลเซียม ทำหน้าที่เป็นคิวบิตหน่วยความจำ (memory qubit) 

เซิร์ฟเวอร์ไม่ทราบสถานะอิเล็กทรอนิกส์ของคิวบิตเครือข่าย แต่ยังคงสามารถประมวลผลข้อมูลได้ผ่านกระบวนการที่ใช้เลเซอร์ในการสร้างความพัวพัน (entanglement) ระหว่างคิวบิตเครือข่าย และ คิวบิตหน่วยความจำ 

ระบบนี้ยังใช้การเข้ารหัสแบบใช้ครั้งเดียว (one-time pad) เพื่อเข้ารหัสข้อมูล ซ่อนข้อมูลและการดำเนินการต่าง ๆ จากเซิร์ฟเวอร์

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Physics โดย Michael Schirber

วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เกาหลีใต้จัดสรรเงิน 19 พันล้านดอลลาร์สำหรับการผลิตชิป

chip
ภาพจาก Bloomberg โดย Soo-Hyang, Choi Yoolim Lee และ Shinghye Kang

เกาหลีใต้ได้ประกาศมาตรการส่งเสริมมูลค่า 26 ล้านล้านวอน (19 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมชิปของประเทศ 

สิ่งนี้ถือเป็นการสนับสนุนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมชิปเท่าที่เคยมีมา และเกิดขึ้นในขณะที่รัฐบาลกำลังพัฒนาแผนการสร้างกลุ่มโรงงานผลิตชิปขนาดใหญ่ (mega-cluster) นอกกรุงโซล

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Bloomberg โดย Soo-Hyang, Choi Yoolim Lee และ Shinghye Kang

วันอาทิตย์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ส่วนขยายเว็บเบราว์เซอร์เพื่อสู้กับข้อมูลออนไลน์ที่ผิด

MIT-Trustnet-Extension
ภาพจาก MIT News โดย Adam Zewe

นักวิจัยจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) ได้พัฒนาส่วนขยายของเว็บเบราว์เซอร์ (Web browser extension) ที่ช่วยลดการแพร่กระจายของข้อมูลที่ผิด (misinformation) บนโลกออนไลน์ โดยอนุญาตให้ผู้ใช้สามารถระบุข้อมูลที่ผิด และเลือกผู้ใช้ที่เชื่อถือได้เพื่อทำการประเมินเนื้อหาออนไลน์ 

ส่วนขยายนี้ชื่อว่า Trustnet Extension สามารถทำงานร่วมกับโพสต์บนโซเชียลมีเดีย บทความบนเว็บไซต์รวบรวมข่าว วิดีโอบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง และเนื้อหาอื่น ๆ บนเว็บไซต์ได้ 

เมื่อผู้ใช้กำลังอ่านเว็บเพจใด ๆ Trustnet จะตรวจสอบลิงก์ทั้งหมดในเว็บเพจนั้น โดยจะแสดงเครื่องหมายไว้ข้าง ๆ ลิงก์ที่ได้รับการประเมินจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ และค่อย ๆ ลดการมองเห็นข้อความที่ถูกพิจารณาว่ามีเนื้อหาที่ไม่ถูกต้อง

อ่านข่าวเต็มได้ที่: MIT News โดย Adam Zewe

วันเสาร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

Google กับ Apple ร่วมมือกันเพื่อสู้กับการสะกดรอยจากระบบติดตามตำแหน่ง

apple-tags
ภาพจาก CNBC โดย Kif Leswing

เพื่อป้องกันการติดตามตำแหน่งโดยไม่ได้รับอนุญาต (tracking  stalking) Apple และ Google ได้ประกาศว่าผู้ใช้ iPhone และ Android จะได้รับการแจ้งเตือนหากมีอุปกรณ์ติดตามตำแหน่งไร้สายอยู่ใกล้เคียง 

โทรศัพท์ที่อัปเดตซอฟต์แวร์เป็นเวอร์ชันล่าสุดจะแสดงข้อความแจ้งผู้ใช้ว่ามีอุปกรณ์ติดตามผ่านบลูทูธ (Bluetooth tracker) "ถูกพบว่ากำลังเคลื่อนที่ไปกับคุณ" พร้อมตัวเลือกในการให้เครื่องติดตามส่งเสียงเพื่อระบุตำแหน่ง และคำแนะนำในการปิดใช้งาน 

การแจ้งเตือนนี้จะถูกระบุเป็นข้อกำหนดที่ต้องทำ สำหรับเครื่องติดตามอุปกรณ์ที่หาย ("Find My") ที่สร้างโดยบริษัทอื่น

อ่านข่าวเต็มได้ที่: CNBC โดย Kif Leswing

วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

กู้ชีพเครื่องค้นหาตัวแรกของอินเทอร์เน็ต

screenshot-archie
ภาพจาก Ars Technica โดย Kevin Purdy

ทีมนักวิจัยจากช่อง The Serial Port บน YouTube ได้ "กู้ชีพ" Archie ซึ่งเป็นเครื่องมือค้นหา (search engine) ทางอินเทอร์เน็ตตัวแรกที่สร้างขึ้นในปี 1989 โดย Alan Emtage ซึ่งตอนนั้นเป็นนักศึกษาอยู่ที่ McGill University ในแคนาดา 

หลังจากที่พบเวอร์ชันสุดท้ายที่ยังใช้งานได้ของ Archie (เวอร์ชัน 3.5 เบต้า) ทีม The Serial Port ได้เริ่มต้นใช้งานเซิร์ฟเวอร์ Archie บนเครื่อง SunSPARCstation 5 จำลอง และกำลังทำดัชนีของสำเนา (mirror) ของ  Hobbes OS/2 Archive และเว็บไซต์ FTP สำหรับ FreeBSD, Adobe และ D Bit emulation 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Ars Technica โดย Kevin Purdy 

วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เทคโนโลยีการโคลนเสียงนำช่วงเวลาสำคัญของศาลฎีกากลับมามี 'ชีวิต'

Earl-Warren
ภาพจาก Associated Press โดย David Bauder

Jerry Goldman อดีตศาสตราจารย์จาก Northwestern University  กำลังสร้างเว็บไซต์ที่จะนำเสนอการโต้แย้งด้วยวาจา (oral arguments) ในคดีของศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาจากหลายสิบปีก่อน โดยใช้เทคโนโลยีการโคลนนิ่งเสียง 

การจำลองคดี "Brown Revisited" ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ brown.oyez.org ได้นำเสนอเสียงของประธานศาลฎีกา Earl Warren (ในภาพ) ที่กำลังอ่านคำตัดสินในคดี Brown v. Board of Education จากปี 1954 ซึ่งเป็นหนึ่งปีก่อนที่ศาลจะเริ่มบันทึกเสียงการโต้แย้งด้วยวาจา

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Associated Press โดย David Bauder

วันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

นักศึกษาโขมย 25 ล้านเหรียญในไม่กี่วินาทีจากบั๊กในอีเธอเรียมบล็อกเชน

ETH
ภาพจาก Ars Technica โดย Ashley Belanger

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาได้ฟ้องร้องนักศึกษาสองคนจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) ในข้อหาที่พวกเขาถูกกล่าวหาว่าแทรกแซงบล็อกเชนของอีเธอเรียม (Ethereum) เพื่อขโมยเงินดิจิทัลมูลค่า 25 ล้านดอลลาร์ภายในเวลาเพียง 12 วินาที 

แผนการนี้ใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ในกระบวนการหลังจากที่ทำธุรกรรมเสร็จสิ้น แต่ก่อนที่ธุรกรรมจะถูกเพิ่มเข้าไปในบล็อกเชน 

การจู่โจมนี้ใช้การสร้างชุดของผู้ตรวจสอบ (validators) ของอีเธอเรียมผ่านบริษัทต่าง ๆ ที่สร้างมาบังหน้า (shell companies) และการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ รวมถึงการใช้ "ธุรกรรมล่อ (bait transactions)" เพื่อดึงดูดบอทเฉพาะทางที่ผู้ซื้อและผู้ขายใช้ในการระบุโอกาสในการทำกำไร

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Ars Technica โดย Ashley Belanger

วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

UAE ปล่อยตัวแบบ AI เพื่อแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี

AI
ภาพจาก Reuters โดย Alexander Cornwell 

Technology Innovation Institute ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยของรัฐบาลภายใต้ Advanced Technology Research Council แห่งอาบูดาบี ได้เปิดตัวซีรีย์ Falcon 2 ของตัวแบบปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ (generative AI) แบบโอเพ่นซอร์ส (open-source) 

ซีรีย์นี้ประกอบด้วย Falcon 2 11B ซึ่งเป็นโมเดลที่ใช้ข้อความ (text-based model) และ Falcon 2 11B VLM ซึ่งเป็นโมเดลที่สามารถแปลงภาพเป็นภาษา (vision-to-language) โดยสามารถสร้างคำอธิบายข้อความของภาพที่อัปโหลดได้

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Reuters โดย Alexander Cornwell 

วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

การพิมพ์ 3 มิติปูทางไปสู่การให้ยาเฉพาะบุคคล

3D-printed-pills
ภาพจาก University of Nottingham (U.K.)

เทคนิคการพิมพ์ 3 มิติที่พัฒนาโดยนักวิจัยจาก University of Nottingham ในสหราชอาณาจักร อาจเป็นหนทางสู่ยาเฉพาะบุคคล (personalized medicine) โดยสามารถรวมยาหลายชนิดไว้ในยาเม็ดเดียวที่ปรับแต่งได้ 

ยาเหล่านี้จะถูกปล่อยออกมาในอัตราที่ควบคุมได้ตามการออกแบบของยา เทคนิคนี้เรียกว่า Multi-Material InkJet 3D Printing (MM-IJ3DP) ใช้สูตรหมึกที่อ้างอิงจากโมเลกุลที่ไวต่อแสง UV ซึ่งจะสร้างโครงสร้างที่ละลายน้ำได้เมื่อพิมพ์

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Nottingham (U.K.)


วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

BCI ถอดรหัสคำที่ 'พูด' ในสมองแบบเรียลไทม์

BCI
ภาพจาก  Medical Xpress โดย Bob Yirka

ระบบเชื่อมต่อสมอง-คอมพิวเตอร์ (brain-computer interface หรือ BCI) ที่พัฒนาโดยนักวิจัยจาก California Institute of Technology (Caltech) สามารถบันทึกสัญญาณจากเซลล์ประสาทแต่ละตัว เพื่อถอดรหัสคำที่ "พูด" ในสมองได้แบบเรียลไทม์  

BCI นี้ได้รับการฝึกฝนให้จดจำสัญญาณสมองสำหรับคำทดสอบ 6 คำ และคำควบคุมที่ไม่มีความหมาย 2 คำ ได้ถูกทดสอบในผู้เข้าร่วมสองคนที่มีอาการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง โดยมีอัตราความแม่นยำ 79% สำหรับผู้ป่วยรายหนึ่ง และ 23% สำหรับผู้ป่วยอีกรายหนึ่ง

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Medical Xpress โดย Bob Yirka

วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

Raspberry Pi เข้าสู่ตลาดหุ้นเพื่อขยายขอบเขตของเครื่องคอมพิวเตอร์จิ๋ว

raspberri-pi
ภาพจาก The Verge โดย Jess Weatherbed

บริษัท Raspberry Pi ผู้ผลิตมินิคอมพิวเตอร์จากสหราชอาณาจักร ประกาศแผนการยื่นจดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในสหราชอาณาจักร 

บริษัทกล่าวว่าการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก หรือ IPO นี้จะทำให้บริษัทสามารถจ้างวิศวกรเพิ่มมากขึ้น นำส่วนต่างๆ ของกระบวนการผลิตเซมิคอนดักเตอร์มาดำเนินการภายในบริษัทเอง และขยายสายผลิตภัณฑ์ 

CEO และผู้ก่อตั้ง Raspberry Pi, Eben Upton กล่าวว่าบริษัทมี "แผนงานทางเทคโนโลยีที่จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้น" ในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Verge โดย Jess Weatherbed 

วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

Shadow Hand ทนทานต่อความเข้มข้นของการวิจัย AI

shadow-hand
ภาพจาก The Engineer โดย Jason Ford

Shadow Hand ซึ่งสร้างขึ้นโดย Shadow Robot ในสหราชอาณาจักรสำหรับ Google DeepMind ได้รับการออกแบบมาให้ทนทานต่อการใช้งานในการวิจัยปัญญาประดิษฐ์  หรือ AI 

มือนี้มีสามนิ้ว สามารถเปลี่ยนนิ้วได้ง่าย และสามารถทนต่อการถูกกระแทกด้วยค้อนได้ จลนศาสตร์ของแต่ละนิ้ว ประกอบด้วยช่องเซ็นเซอร์ 155 ช่อง และวิดีโอจากเซ็นเซอร์สัมผัสที่ปลายนิ้ว คล้ายกับนิ้วของมนุษย์ โดยมีข้อต่อที่โคนนิ้ว และข้อต่ออีกสามข้อที่สามารถงอและยืดได้ตามความยาวของนิ้ว

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Engineer โดย Jason Ford

วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ยานพาหนะที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้นอาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงสัญญาณไฟจราจร

trafficlight
ภาพจาก Associated Press โดย Jeff McMurray

การมาถึงของยานพาหนะที่เชื่อมต่อและขับเคลื่อนอัตโนมัติ อาจนำการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาสู่สัญญาณไฟจราจรแบบดั้งเดิม 

ตัวอย่างเช่น Ali Hajbabaie จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนอร์ทแคโรไลนา เสนอให้เพิ่มสัญญาณไฟที่สี่ ในกรณีมีมีรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติบนท้องถนนจำนวนมากพอเพื่อควบคุมและนำทาง 

โครงการนำร่องของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of Michigan ในเขตชานเมืองเบอร์มิงแฮมของดีทรอยต์พบว่า การปรับเวลาของสัญญาณไฟจราจรเพียงไม่กี่วินาทีก็ช่วยลดความแออัดได้

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Associated Press โดย Jeff McMurray


วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ทีมงานในญี่ปุ่นใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์เพื่อพัฒนา LLM

Japanese-LLM
ภาพจาก The Japan Times

ทีมนักวิจัยในญี่ปุ่นได้พัฒนาโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model) หรือ LLM โดยใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ Fugaku ของญี่ปุ่น ซึ่งพัฒนาร่วมกันโดย Fujitsu และสถาบันวิจัย Riken 

โมเดล Fugaku-LLM นี้ได้รับการฝึกฝนอย่างกว้างขวางกับข้อมูลภาษาญี่ปุ่น คาดว่าจะนำไปสู่การวิจัยเกี่ยวกับ AI สร้างสรรค์ที่ตอบสนองความต้องการภายในประเทศได้

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Japan Times

วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

การจำลองของ NASA แสดงให้เห็นว่าการบินเข้าไปในหลุมดำเป็นอย่างไร

black-hole
ภาพจาก วีดีโอของ NASA

Jeremy Schnittman นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ของ NASA ได้พัฒนา "การสร้างภาพเสมือนจริง (immersive visualization)"  เพื่อจำลองการบินเข้าไปในหลุมดำและการข้ามอีเวนต์ฮอไรซัน (event horizon) 

การจำลองนี้ถูกสร้างขึ้นโดยใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ของ NASA และมีภาพกราฟฟิกที่เหมือนจริง รวมถึงรายละเอียดด้านฟิสิกส์ที่แม่นยำ การจำลองนี้สามารถรับชมได้บน YouTube ในรูปแบบวิดีโอพร้อมคำอธิบาย หรือวิดีโอ 360 องศาเพื่อให้ผู้ชมได้สัมผัสประสบการณ์ได้เต็มที่ 

สามารถดูวีดีโอได้ที่นี่ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: CBS News โดย Kerry Breen





วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

สหราชอาณาจักรแจ้งให้บริษัทเทคโนโลยี 'ควบคุมอัลกอริทึม' เพื่อปกป้องเด็ก ๆ

facebook-tiktok-logos
ภาพจาก Reuters โดย Paul Sandle

ภายใต้มาตรการที่ถูกเสนอโดยสหราชอาณาจักรและเผยแพร่เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2024  แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจะต้อง "ควบคุม" อัลกอริทึมของตัวเองเพื่อกรองหรือลดระดับเนื้อหาที่เป็นอันตราย เพื่อช่วยปกป้องเด็ก  

แผนงานดังกล่าวเสนอโดย Office of Communications  หรือ Ofcom คือหนึ่งในกว่า 40 ขั้นตอนเชิงปฏิบัติที่บริษัทเทคโนโลยีจะต้องนำไปใช้ภายใต้กฎหมายความปลอดภัยออนไลน์ของสหราชอาณาจักร ซึ่งประกาศเป็นกฎหมายเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Reuters โดย Paul Sandle 

วันอาทิตย์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

มีผู้ได้รับอันตรายมากกว่า 200 รายหลังจากปัญหาซอฟต์แวร์ทำให้แบตเตอรี่ของเครื่องปั๊มอินซูลินหมด

a-woman-using-app
ภาพจาก CNN โดย Jamie Gumbrecht

องค์การอาหารและยา (Food and Drug Administration) หรือ FDA ของสหรัฐอเมริกา ประกาศเมื่อวันพุธที่แล้วว่า มีผู้ป่วยเบาหวานมากกว่า 200 รายได้รับอันตราย เนื่องจากเครื่องปั๊มอินซูลิน (insulin pump) หยุดทำงานอย่างไม่คาดคิด 

ปัญหาเกิดจากของแอปพลิเคชัน t:connect ซึ่งทำงานบน Apple iOS เวอร์ชัน 2.7 ซึ่งถูกใช้เชื่อมต่อกับเครื่องปั๊มอินซูลินรุ่น  t:slim X2 with Control-IQ  เกิดปัญหาทำให้แอปเกิดการล่ม (crash) และเริ่มทำงานใหม่ซ้ำ ๆ ส่งผลให้แบตเตอรี่ของเครื่องปั๊มหมดอย่างรวดเร็วและหยุดการทำงาน รวมถึงหยุดการจ่ายอินซูลินด้วย  ขณะนี้แอปพลิเคชันดังกล่าวถูกถอดออกเรียบร้อยแล้ว

อ่านข่าวเต็มได้ที่: CNN โดย Jamie Gumbrecht

วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

AR เพรียวบางลงด้วย AI, โฮโลแกรม

new-ar-glass
ภาพจาก IEEE Spectrum โดย Charles Q. Choi

จอแสดงผล AR ที่พัฒนาโดยนักวิจัยจาก Stanford University, University of Hong Kong, และ Nvidia ผสมผสานเทคโนโลยีโฮโลแกรม 3 มิติ  AI และ ออปติคัลเมตาเซอร์เฟซ (optical metasurface)  พวกเขากล่าวว่าจอดังกล่าวสวมใส่สบายพอ ๆ กับแว่นตาธรรมดา 

นักวิจัยใช้ AI ในการปรับแต่งโครงสร้างเมตาเซอร์เฟซ  แปลงภาพ 3 มิติ ให้เป็นโฮโลแกรมคุณภาพสูง และปรับเทียบเลนส์ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเลเซอร์  

Gordon Wetzstein จาก Stanford กล่าวว่า "จอแสดงผล AI ของเราบางกว่าจอ AR ในปัจจุบัน และที่สำคัญคือมันสามารถแสดงภาพสามมิติให้แก่ดวงตาแต่ละข้างได้"

เพิ่มเติมเสริมข่าว: ออปติคัลเมตาเซอร์เฟซ (optical metasurface) เป็นเทคโนโลยีใหม่ของเลนส์สมัยใหม่ที่ช่วยจัดการกับแสง

อ่านข่าวเต็มได้ที่: IEEE Spectrum โดย Charles Q. Choi


วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ปักกิ่งบีบยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียของจีน

tiktok-bytedance
ภาพจาก BBC โดย João da Silva

กฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นของรัฐบาลจีนเกี่ยวกับบริษัทอินเทอร์เน็ตของประเทศมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม โดยกำหนดให้ "ผู้ให้บริการเครือข่าย" ต้องตรวจสอบข้อมูลที่ผู้ใช้แชร์ และดำเนินการหากมีการโพสต์ข้อมูลที่ละเอียดอ่อน 

กฎระเบียบดังกล่าวมีรายละเอียดระบุว่าบริษัทต่างๆ เช่น Tencent, ByteDance และ Weibo ต้องลบโพสต์ เก็บข้อมูล และรายงานต่อเจ้าหน้าที่ 

นอกจากนี้ กฎที่ได้รับการปรับปรุงยังขยายความหมายของข้อมูลที่ละเอียดอ่อนให้ครอบคลุมถึง "ความลับด้านงาน" ถึงแม้จะยังมีความไม่แน่นอนว่าอะไรบ้างที่ถือเป็นความลับของรัฐ

อ่านข่าวเต็มได้ที่: BBC โดย João da Silva

ความพอเพียง(อาจ)ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอ

หายจาก #ศรัณย์วันศุกร์ ไปนานมาก ศุกร์ที่แล้วก็มีกระแสเรื่อง "พอเพียง" จากเดี่ยวล่าสุดของโน้ส อุดมที่เริ่มลงฉายทาง Netflix ก็เลยอยากจะแบ่งปันความเห็นของคำว่าพอเพียงในมุมมองของตัวเองบ้าง ซึ่งจะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับที่โน้สพูดนะครับ จะขอแชร์ความเห็นของตัวเองเท่านั้น  

ก่อนอื่นคำว่าพอเพียงมักจะถูกเข้าใจผิด ๆ อย่างไม่ตั้งใจ หรืออาจจะอย่างตั้งใจที่จะเอาไว้แซะฝ่ายตรงข้าม ว่ามันเป็นเรื่องของการกลับไปทำเกษตร ใช้ชีวิตปลูกผักสวนครัวไว้กิน เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ดไว้กินไข่และขาย อะไรแบบนี้ 

ที่มันเป็นแบบนี้ส่วนตัวมองว่าส่วนหนึ่งมันเป็นพราะภาครัฐนั่นแหละ คือเอาเศรฐกิจพอเพียงกับเกษตรทฤษฎีใหม่ที่เป็นคนละเรื่องกัน เอามาจับมัดรวมกันแล้วก็นำเสนอ จนกลายเป็นภาพจำของคนหลายคนว่าเศรษฐกิจพอเพียงก็คือการเกษตร และก็จะเกี่ยวโยงไปถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ดังนั้นก็ไม่น่าแปลกอะไรที่ฝั่งโหนกับฝั่งแซะจะเล่นกันที่ประเด็นนี้ ลองค้นคำว่าพอเพียงจาก Google ดูแล้วไปคลิกดูที่ผลการค้นรูปภาพสิครับ นี่คือตัวอย่างสิ่งที่ผมได้ 

sufficient

ภาพจากการค้นหาด้วยคำว่าพอเพียงจาก Google

คราวนี้ความพอเพียงมันคืออะไร จริง ๆ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านก็ตรัสไว้ชัดแล้วในปรัชญาญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่าน และพระองค์ท่านก็ไม่ได้ให้นิยามคำว่าพอเพียงขึ้นมาใหม่ ซึ่งผมขอสรุปคำว่าพอเพียงด้วยคำพูดของตัวเองแล้วกันนะครับว่า ความพอเพียงก็คือ การที่เราสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างเหมาะสมกับตัวเอง พึ่งพาความสามารถของตัวเองเป็นหลัก ไม่ต้องไปกราบไหว้อ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากใคร ไม่ต้องไปเบียดเบียนคดโกงใคร มันไม่เกี่ยวกับคนจนก็ต้องเจียม ไม่ต้องไปทำเกษตร หรือห้ามรวย หรือคนรวยจะซื้อของฟุ่มเฟือยไม่ได้ จุดของความพอเพียงเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล

ความพอเพียงจะเกิดขึ้นได้ส่วนหนึ่งมันจะต้องเกิดจากการวางแผนชีวิตของตัวเองให้เหมาะสม ตัวอย่างเช่นเมื่อเราเริ่มต้นทำงานรายได้ยังไม่สูงนัก  เราก็ต้องวางแผนว่าถ้าเรามีรายได้เท่านี้ เราจะจัดสรรอย่างไรให้ตัวเองสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้แบบพอเพียงภายใต้จำนวนเงินนั้น  และถ้าเราทำได้แล้ว ความพอเพียงก็ไม่ได้บอกว่าหยุดแค่นี้เถอะ ไม่ได้หมายความว่าเราจะอยากมีบ้านมีรถ มีนู่นมีนี่ไม่ได้ ถ้าอายุการทำงานของเรายังมีอีกเยอะ ร่างกายสมองยังไหว เราก็ควรคิดถึงการขยับขยาย ปรับปรุงตัวเอง เพื่อให้มีความเจริญก้าวหน้า เพื่อให้คุณภาพชีวิตของตัวเองดีขึ้น ถ้าเราจะมีครอบครัวเราก็ต้องวางแผนให้ทั้งครอบครัวของเราอยู่ได้อย่างพอเพียง ซึ่งก็คือนิยามเดิม คืออยู่ได้อย่างเหมาะสมกับสภาพการณ์ ไม่ขึ้นกับใคร ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน 

ความพอเพียงไม่ได้หมายความว่าเราจะไปกู้หนี้ยืมสินไม่ได้ แต่การกู้หนี้ยืมสินเราก็ต้องคิดแล้วว่าที่เรากู้มามันจะสร้างประโยชน์ให้กับเราได้อย่างคุ้มค่า และที่สำคัญคือเราจะต้องมั่นใจว่าเราจะสามารถจ่ายหนี้คืนได้ ซึ่งมันก็กลับมาอยู่ที่การวางแผนของเรา  

ความพอเพียงไม่ได้หมายความว่า เราจะซื้อของฟุ่มเฟือยไม่ได้ ถ้าการซื้อนั้นไม่ได้ทำให้เราเดือดร้อน ไม่ได้กระทบกับการดำรงชีวิตใด ๆ ของเรา จะซื้อก็ซื้อไป ดังนั้นถ้าคนรวย ๆ เหรือใครที่เขาไม่เดือดร้อนเขาจะซื้อลาบูบู้ มาเก็บสะสมไว้ หรือเขาจะสะสมซุปเปอร์คาร์ เขาย่อมทำได้ 

ถ้าชีวิตมันเกิดอุบัติเหตุไม่คาดหมาย เราก็ต้องวางแผนชีวิตใหม่ ลดระดับการใช้ชีวิตลง เพื่อให้อยู่แบบพอเพียงตามอัตภาพของเราให้ได้ ดังนั้นส่วนหนึ่งของความพอเพียงก็คือการวางแผนชีวืตของเรานั่นเอง ถ้าเราวางแผนชีวิตไว้เป็นอย่างดี เมื่อถึงจุดหนึ่งคือในวัยที่เราหมดพลังงาน ร่างกายแย่ลงแล้ว เราก็เข้าสู่ความพร้อมที่จะเกษียณ ไปใช้ชีวิตให้มีความสุขต่อไปตามอัตภาพของเรา ตามที่เราวางแผนชีวิตไว้

แต่สิ่งที่พูดมาทั้งหมดต้องบอกว่านี่คืออุดมคติ ที่อยากจะพูดถึงว่าความพอเพียงมันคืออะไรในมุมมองของตัวเอง เพราะจากสถิติมีคนไม่กี่เปอร์เซนต์เท่านั้นที่สามารถเกษียณและอยู่อย่างพอเพียงได้ ส่วนใหญ่ก็ยังต้องอาศัยการดูแลจากลูกหลาน 

ที่เป็นอย่างนี้เพราะอะไร อย่างที่บอกไปแล้วว่าส่วนหนึ่งของความพอเพียงคือการวางแผน แต่สำหรับบางคนที่ต้นทุนทางสังคมไม่ได้สูงหรืออาจติดลบ การวางแผนอย่างเดียวอาจไม่พอ แต่อาจต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอด้วย ซึ่งที่จะพูดถึงก็คือการสนับสนุนจากภาครัฐ 

ความเพียงพอส่วนแรกก็คือค่าครองชีพกับเงินเดือนที่เหมาะสม รายรับจะต้องเพียงพอกับร่ายจ่าย และถ้าจะให้ดีมันควรจะต้องพอให้มีเหลือไว้ใช้กับสิ่งที่ไม่คาดหมายในชีวิตด้วย ข้าวของขึ้นมาตลอดเวลาเป็นสิบปี แต่ค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้ขยับตาม ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ ผู้คนส่วนใหญ่อาจจะไม่สามารถก้าวสู่ความพอเพียงได้เลย คือทำทุกอย่างวางแผนทุกอย่างแล้ว มันก็ยังไม่พอจะดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสม เมื่อก่อนอาจจะมีข้าวไข่เจียวจานละ 10 บาทให้กิน เดี๋ยวนี้จะไปกินข้าวอะไรอาจต้องไปถามดี ๆ เพราะอาจเจอข้าวไข่ดาวสองฟอง 70 บาท ไหนจะค่าเดินทาง ค่าสาธารณูปโภค ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน 

การขึ้นค่าแรงอย่างเดียว แต่ควบคุมค่าครองชีพพื้นฐานไม่ได้ส่วนตัวคิดว่ามีประโยชน์น้อยมาก  ค่าแรงขึ้นค่าครองชีพก็ขึ้นแบบนี้ระยะห่างมันก็เท่าเดิม และอย่าลืมว่าค่าครองชีพขยับขึ้นมาตลอด แต่ค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้ขยับตามมาหลายปีแล้ว 

ไม่ได้เห็นด้วยกับค่าแรงราคาเดียวกันทั่วประเทศ แต่ต้องพิสูจน์ว่าค่าครองชีพมันมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทั่วประเทศจริง ๆ แล้วก็ขึ้่นให้เหมาะสม คือยังไงมันต้องทำให้เขาอยู่ได้กันก่อน ไม่ใช่ขนาดวางแผนกินแต่มาม่าเป็นหลักแล้ว ก็ยังอยู่ไม่ได้ เอาจริง ๆ เดี๋ยวนี้มาม่าก็แพงนะ 

ผู้ประกอบการบอกว่าค่าแรงต้องให้ตามความสามารถ อันนี้เห็นด้วย เพราะหลายคนชอบเอาคำว่าเท่าเทียมมาใช้แบบผิด ๆ ในความเป็นจริงใครเก่งกว่าก็ควรได้มากกว่า ไม่อย่างนั้นใครมันจะอยากเป็นคนเก่ง เพราะจะเป็นคนเก่งกว่าคนอื่น มันก็ต้องลงทุนลงแรงมากกว่าคนอื่น ซึ่งตรงนี้คิดว่ามันไม่ใช่ปัญหา ส่วนใหญ่นายจ้างก็ให้ค่าแรงคนเก่งมากกว่าอยู่แล้ว 

แต่ปัญหามันคือค่าแรงขั้นต่ำที่มันไม่พอกับค่าครองชีพ ทำยังไงที่จะทำให้คนที่สามารถทำงานขั้นพื้นฐานให้เจ้าของกิจการสามารถมีชีวิตอยู่ทำงานต่อไปได้แบบ  win-win คนเราถ้าต้องทำงานเช้าถึงเย็นที่หนึ่ง เย็นถึงค่ำอีกที่หนึ่ง เพื่อแค่ให้อยู่ได้ แล้วมาบอกว่าอยากได้เงินเพิ่มก็พัฒนาตัวเองสิ ไป upskill, reskill,  หรือหา new skill เขาก็อาจไม่รู้จะเอาเวลาที่ไหนไปทำ

เดี๋ยวจะหาว่าไม่ชมประยุทธ์เลย ในยุคประยุทธ์โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็เป็นความพยายามหนึ่งที่ตัวเองมองว่าก็พยายามช่วย แต่ถ้าจะให้ยั่งยืนกว่า ก็ต้องจัดสรรค่าแรงและค่าครองชีพให้เพียงอยู่กันได้ ถ้าทำได้เงินสวัสดิการนี้อาจไม่จำเป็น หรือใช้เงินน้อยลง หรือไม่ลดวงเงินแต่ถ้าจัดสรรให้คนจำนวนน้อยลง คนที่เดือดร้อนจริง ๆ  คนแก่ทำงานไม่ไหวและยังไม่สามารถพอเพียงได้ก็ได้เงินมากขึ้นจนอาจจะพอเพียง  

สำหรับเกษตกรจริง ๆ แทนที่จะเอาเงินไปช่วยโปะราคาซื้อให้เขา มันน่าจะช่วยลดต้นทุนให้เขา ลดค่าปุ๋ย สอนวิธีทีจะทำให้เขาได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ดูแลด้านชลประทาน ไม่ใช่ปล่อยไปตามธรรมชาติ เวลาเขาจะต้องถางไร่ถางนา จัดหารถไถให้เขา อาจจะฟรี หรือราคาถูกอะไรก็แล้วแต่ เขาอาจจะได้ไม่ต้องเผาด้วย ลดฝุ่น  PM ได้อีก สมัยผมเด็ก ๆ ยกย่องเกษตกรเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ถึงทุกวันนี้กระดูกสันหลังก็ยังมีชีวิตความเป็นอยู่ที่แทบไม่ได้ดีขึ้นเลย  

เพียงพอถัดมาก็คือเรื่องสุขภาพ ไม่ว่าใครจะไม่ชอบทักษิณยังไง แต่ควรต้องยอมรับนะว่าโครงการ 30 บาท นี่ก็เป็นโครงการหนึ่งที่ชวยสนับสนุนให้เกิดความพอเพียงได้ อย่างน้อยแผนการที่อาจต้องออมเงินจำนวนมากเอาไว้เพื่อรักษาพยาบาล ก็อาจโยกไปไว้ในส่วนที่จำเป็นเร่งด่วนกว่าได้ เอาจริง ๆ ถ้าทำได้อยากให้ลองรื้อระบบประกันสุขภาพของประเทศขึ้นมาให้เป็นระบบที่ดีกว่านี้ ส่วนตัวมองว่าถ้าคนเรามีความเพียงพอด้านสุภาพ มันก็อาจจะทำให้เขามุ่งหน้าไปสู่ความพอเพียงในระดับของเขาได้ง่ายขึ้น และเขาอาจสามารถจ่ายเงินเพิ่มเติมเพื่อให้ได้รับการดูแลด้านสุขภาพที่ดีขึ้นกว่าที่รัฐจัดให้

เพียงพอต่อมาคือด้านการศึกษา ที่มาเขียนไว้ลำดับนี้ ไม่ใช่มันไม่สำคัญนะ มันสำคัญน่าจะมากที่สุดเลย เพราะคนเราจะวางแผนชีวิตเพื่อไปสู่ความพอเพียงได้ มันก็เกิดจากการศึกษานี่แหละ ทำยังไงจะทำให้คนในประเทศมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน โดยได้คุณภาพที่ไม่แตกต่างกันมากนัก อันนี้ไม่ได้พูดถึงโรงเรียนทางเลือกอย่างโรงเรียนเอกชน หรือนานาชาตินะ คือถ้าใครมีปัญญาไประดับนั้นได้อย่างไม่ลำบากและคิดว่ามันคุ้มก็ไปทางนั้นได้ เพราะนั่นคือความพอเพียงในระดับของคนเหล่านั้น

โรงเรียนของรัฐจะปรับหลักสูตรยังไงให้เหมาะสมและเท่าเทียมกันให้มากที่สุดเทาที่เป็นไปได้ คือเข้าเรียนโรงเรียนไหนก็ได้ ถ้าเป็นแบบนี้คนก็จะเอาลูกหลานเข้าโรงเรียนใกล้บ้าน นี่ก็ลดค่าครองชีพด้านการเดินทางแล้ว  การเรียนก็เน้นที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม คิดอย่างมีเหตุผล อ่านออกเขียนได้ สื่อสารได้ (ถ้าได้อย่างน้อยสองภาษาก็ดี) ในระดับชั้นประถม คือถ้าคนเราสื่อสารไม่ได้ พูดไม่รู้เรื่อง ฟังไม่รู้เรื่อง อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ มันก็ไปต่ออะไรยากนะ วิชาการต่าง ๆ ค่อยมาปรับมาเรียนในชั้นสูงขึ้นมา แทรกวิชาการวางแผน วิชาการเงินการลงทุนเข้าไป ทำให้เด็กคิดเป็นวางแผนชีวิตตัวเองเป็นตั้งแต่มัธยม ซึ่งเมื่อเขาวางแผนได้มันเขาจะได้วางแผนไปสู่ความพอเพียงตามแบบฉบับของเขา

อาจจะอุดมคติไปหน่อย แต่นี่คือความพอเพียงในความเข้าใจของตัวเอง ซึ่งก็คือการที่เราใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างเหมาะสมตามอัตภาพของเรา ไม่คดโกงเบียดเบียนใคร จะรวยหรือจน จะประกอบอาชีพอะไรก็ได้ แต่การก้าวไปถึงความพอเพียงสำหรับหลายคนก็อาจต้องการการสนับสนุนที่เพียงพอจากภาครัฐด้วย ซึ่งถ้าภาครัฐไม่ทำอะไรเลย เราจะมีรัฐบาลกันไปทำไมล่ะ ใช่ไหมครับ...

วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

แฮกเกอร์ช่วยกันรุมเพื่อใช้เราเตอร์

hacker-robots
ภาพจาก Ars Technica โดย Dan Goodin

นักวิจัยจากบริษัท Trend Micro ซึ่งเป็นบริษัทซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์อเมริกัน-ญี่ปุ่น ระบุว่า แฮกเกอร์กำลังแอบซ่อนตัวอย่างลับๆ ภายในเราเตอร์ที่ถูกเจาะระบบเพื่อใช้เป็นเครื่องมืออำพรางการโจมตีที่มีแรงจูงใจทั้งทางการเงินและการจารกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ 

ในบางกรณี แฮกเกอร์จะต่างฝ่ายต่างอยู่ โดยกลุ่มแฮกเกอร์ที่แสวงหาผลประโยชน์ทางการเงินจะให้สิทธิ์ในการเข้าถึงเราเตอร์แก่สายลับ เพื่อแลกกับค่าธรรมเนียม 

ในกรณีอื่นๆ แฮกเกอร์ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐจะเข้ายึดอุปกรณ์ที่เคยถูกเจาะโดยกลุ่มอาชญากรไซเบอร์ไว้ก่อนหน้านี้

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Ars Technica โดย Dan Goodin

วันพุธที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เสา 6G อาจนำไปสู่การสื่อสารความเร็วสูง

new-6g-attena-coverage
ภาพจาก Live Science โดย Tim Danton

นักวิจัยจาก University of Glasgow ในสหราชอาณาจักรได้พัฒนาเสาอากาศเมตาเซอร์เฟซแบบไดนามิก (dynamic metasurface antenna) หรือ DMA ซึ่งเป็นตัวแรกที่สามารถทำงานร่วมกับสัญญาณ 6G โดยใช้เทคนิคบีมฟอร์มมิ่ง (beamforming) ในการส่งสัญญาณ 6G ไปยังอุปกรณ์เป้าหมายได้อย่างแม่นยำในระดับนาโนวินาที 

ต้นแบบ DMA ช่วยลดการใช้พลังงานและปริมาณการชนกันของข้อมูล (data collisions) ได้ถึง 88% และ 24% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเสาอากาศที่ส่งสัญญาณได้รอบทิศทาง (omnidirectional antennas)

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Live Science โดย Tim Danton

วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

รัสเซียถูกกล่าวหาว่าแทรกแซงระบบ GPS

airplane
ภาพจาก France 24 โดย Sébastian Seibt

สัญญาณ GPS ที่สนามบินทาร์ทู ประเทศเอสโตเนีย ถูกรบกวน สันนิษฐานว่ารัสเซียมีส่วนเดี่ยวข้อง ซึ่งการกวนสัญญาณ GPS หรือการปลอมแปลงสัญญาณทำให้เครื่องบินลงจอดได้ยาก

ส่งผลให้สายการบินฟินแอร์ของฟินแลนด์ต้องหยุดให้บริการเที่ยวบินลงจอดที่สนามบินดังกล่าวเป็นเวลา 1 เดือน รายงานระบุว่า เครื่องบินประมาณ 46,000 ลำ ที่เดินทางเข้าออกอังกฤษตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2023 ประสบปัญหากับสัญญาณ GPS เหนือทะเลบอลติก

อ่านข่าวเต็มได้ที่: France 24 โดย Sébastian Seibt

วันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

โดรนเต้นระบำโดยใช้ ChatGPT

Prof-Angela-Schoellig
Prof Angela Schoellig ภาพจาก Interesting Engineering; Maria Mocerino

นักวิจัยจาก Technical University of Munich (TUM) ประเทศเยอรมนี ประสบความสำเร็จในการออกแบบท่าเต้นโดรนกลางอากาศโดยใช้ ChatGPT โดยสั่งให้โดรนหกตัวบินเป็นวงกลมโดยไม่ชนกัน การออกแบบครั้งนี้เกี่ยวข้องกับการเลือกเพลงประกอบและการป้อนข้อความที่ ChatGPT แปลเป็นท่าเต้น 

Angela Schoellig จาก TUM กล่าวว่าเนื่องจาก ChatGPT "ในตอนแรกไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับคุณสมบัติของโดรนและข้อจำกัดทางกายภาพสำหรับเส้นทางการบินของพวกมัน" จึงมีการพัฒนาอัลกอริทึมความปลอดภัยเพื่อวางแผนเส้นทางการบินให้หลีกเลี่ยงการชนกัน

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Interesting Engineering; Maria Mocerino

วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ออสเตรเลียให้ทุนสนับสนุนคอมพิวเตอร์ควอนตัม 'Utility-Scale' มูลค่า 620 ล้านดอลลาร์

Negative-Sapces
Photo by FlyD on Unsplash

รัฐบาลกลางของออสเตรเลียและรัฐควีนส์แลนด์ประกาศสนับสนุนเงินทุนจำนวน 940 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (620 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ให้แก่สตาร์ทอัพ PsiQuantum เพื่อพัฒนา "คอมพิวเตอร์ควอนตัมแบบ utility-scale เครื่องแรกของโลก"  

สตาร์ทอัพนี้ใช้แผงวงจรรวมซิลิกอนพื้นฐาน (silicon wafer) คิวบิตแบบโฟโตนิก (photonic qubits) และเทคโนโลยีจากอุปกรณ์สื่อสารด้วยแสง (optical communications kits) ในการสร้างเครื่องจักรที่ประกอบด้วยใยแก้วนำแสงที่เชื่อมต่อกับตัวประมวลผลแบบโฟโตนิก โดยไม่จำเป็นต้องใช้ระบบทำความเย็นที่มีราคาสูง

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Register (U.K.); Simon Sharwood

วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ภาษา BASIC อายุ 60 ปีแล้ว

basic-labguage
ภาพจาก Ars Technica โดย Benj Edwards

ภาษาโปรแกรม BASIC (Beginner's All-Purpose Symbolic Instruction Code) ครบรอบ 60 ปีเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา  

BASIC สร้างขึ้นเพื่อให้การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้าถึงได้สำหรับคนทั่วไปมากขึ้น โดยได้รับความนิยมในหมู่โปรแกรมเมอร์มือใหม่เนื่องจากใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่เรียบง่าย 

BASIC พัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา และยังคงเป็นที่นิยมในหมู่ผู้สนใจคอมพิวเตอร์ย้อนยุค (retrocomputing) ภาษาที่สืบเชื้อสายมาจาก BASIC  ได้แก่ Visual Basic, Visual Basic for Applications และ Small Basic ของ Microsoft

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Ars Technica โดย Benj Edwards

วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

จีนเปิดตัวระบบเชื่อมต่อสมองและเครื่องจักรที่พัฒนาเองในประเทศ

NeuCyber-Array-BMI-System
ภาพจาก China Daily

นักวิจัยจาก Chinese Institute for Brain Research  และบริษัท NeuCyber NeuroTech (ปักกิ่ง) พัฒนาระบบเชื่อมต่อสมองและเครื่องจักร (brain-machine interface) หรือ BMI 

ระบบดังกล่าวประกอบด้วยไมโครอิเล็กโทรดแบบยืดหยุ่นที่มีความจุสูง ระบบการรับสัญญาณประสาทความเร็วสูงแบบพันช่องสัญญาณ และอัลกอริทึมถอดรหัสสัญญาณประสาท (generative neural decoding algorithm) ที่ใช้กลไกการควบคุมแบบ feedforward 

ระบบเปิดตัวในงาน Zhongguancun Forum 2024 ที่กรุงปักกิ่ง มีการสาธิตผ่านวิดีโอแสดงการควบคุมแขนกลที่แยกตัวออกมาโดยความคิดของลิงตัวหนึ่งเพื่อเก็บสตรอเบอรีผ่าน NeuCyber Array BMI System

อ่านข่าวเต็มได้ที่: China Daily

วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ความเป็นกลางทางอินเทอร์เน็ตกลับมาอีกครั้ง

net-neutrality
ภาพจาก CNN โดย Brian Fung

คณะกรรมการกำกับกิจการสื่อสารแห่งสหรัฐอเมริกา (Federal Communications Commission) หรือ FCC ได้ออกกฎระเบียบเกี่ยวกับความเป็นกลางของอินเทอร์เน็ต (net neutrality) เมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา โดยห้ามผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) เลือกปฏิบัติเพื่อเพิ่มความเร็ว ลดความเร็ว หรือบล็อกการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของลูกค้า 

กฎดังกล่าวสะท้อนถึงกฎที่มีการบังคับใช้โดย FCC ในปี 2015 แต่ถูกยกเลิกโดยรัฐบาลของทรัมป์ในปี 2017 นอกจากข้อกำหนดอื่นๆ แล้ว กฎใหม่นี้จะช่วยระงับไม่ให้ ISP ขายข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า หรือแบ่งปันข้อมูลดังกล่าวกับบริษัทเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการฝึกโมเดล AI

อ่านข่าวเต็มได้ที่: CNN โดย Brian Fung

วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

อัลกอริทึมของ TikTok ปรับแต่งสิ่งที่เราเห็นอย่างไร

a-main-using-smart-phone
ภาพจาก Futurity.org โดย Stefan Milne

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) หรือ UW ได้ทำการวิเคราะห์ TikTok เพื่อทำความเข้าใจการทำงานของอัลกอริทึมแนะนำเนื้อหา (recommendation algorithm) รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น 

จากข้อมูลจากผู้ใช้ TikTok จำนวน 347 คนซึ่งมีส่วนในการแสดงผลวิดีโอแนะนำทั้งสิ้น 9.2 ล้านครั้ง นักวิจัยพบว่ามากถึงครึ่งหนึ่งของ 1,000 วิดีโอแรกที่แสดงนั้นมาจากการคาดการณ์ความชอบของผู้ใช้โดยแพลตฟอร์ม และพบว่าเวลาเฉลี่ยที่ผู้ใช้ใช้ TikTok เพิ่มขึ้นจาก 29 นาทีในวันแรกเป็น 50 นาทีหลังจากผ่านไป 120 วัน 

Franziska Roesner จาก UW กล่าวว่า "การออกแบบแพลตฟอร์มไม่ได้เป็นกลาง และส่งผลต่อระยะเวลาที่ผู้ใช้ดูวิดีโอ รวมถึงประเภทของวิดีโอที่พวกเขาเห็น"

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Futurity.org โดย Stefan Milne