ไม่ได้เขียนบล็อกมานาน อ่านข่าวเจอว่าจะให้นักศึกษาที่เรียนจบป.ตรีต้องสอบ U-Net แล้วรู้สึกหงุดหงิด ประกอบกับลิเวอร์พูลแพ้เชลซี และแมนซิตี้ยังชนะอีก ก็เลยหงุดหงิดหนักเข้าไปอีก ขอระบายจัดหนักในบล็อกนี้เลยแล้วกัน สำหรับใครที่ยังไม่ทราบเรื่องนี้ก็ลองอ่านเรื่องจากลิงก์นี้ และบทสัมภาษณ์ผู้บริหารสถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) คนนี้จากลิงก์นี้ดูแล้วกันนะครับ
ก็หวังว่าจะพอเข้าใจเรื่องราวกันแล้วนะครับ ก่อนอื่นผมก็ขอออกตัวก่อนว่านี่เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวที่ไม่เห็นด้วยของผมเท่านั้นนะครับ จากการติดตามข่าวและการให้สัมภาษณ์ ซึ่งผมก็ไม่ได้บอกว่าความคิดของผมจะถูกทั้งหมด เพราะคนที่คิดเรื่องนี้ขึ้นมาคงมีเหตุผลของเขา แต่ผมอยากจะแสดงให้เห็นถึงจุดที่ผมไม่เห็นด้วยเท่านั้น แต่ก็อาจจะแรงหน่อยนะ เพราะอย่างที่บอกกำลังหงุดหงิดกับผลบอล
เริ่มจากจุดประสงค์ก่อน ตอนแรกก็บอกว่าจะให้สอบแล้วก็จะให้ผู้ประกอบการเอาไปใช้ประกอบการรับสมัครงานด้วย พอถูกค้านเข้าก็มาบอกว่าเข้าใจผิด การสอบจะเป็นการวัดคุณภาพของสถาบันการศึกษาเท่านั้น ไม่รู้พูดมานี่เคยประเมิน O-Net ไหมว่าตกลงมันวัดคุณภาพของสถานศึกษาได้ไหม อย่างตอนนี้ก็เอาคะแนน O-Net มาเฉลี่ยกับเกรดนักเรียน นัยว่าจะได้บังคับให้เด็กตั้งใจสอบ จะเอามาเฉลี่ยเผื่อโรงเรียนปล่อยเกรด แต่พอเอาเข้าจริง ๆ มันก็ไม่ได้เป็นไปตามจุดประสงค์ พอเด็กสอบตรงติด เขาก็ไม่สนใจที่จะสอบ O-Net แล้ว (ก็เลยจะยกเลิกสอบตรงซะ อันนี้ผมมโนเอาเองนะครับ :) ) ถ้าบังคับมาก ๆ เข้า ตอนนี้ก็มีโรงเรียนกวดวิชา กวดข้อสอบ O-Net แล้ว และผมมั่นใจว่าถ้าบังคับ U-Net กันจริง ๆ มันต้องมีกวดวิชาสอบ U-Net ถ้าเป็นแบบนี้มันวัดคุณภาพสถานศึกษาได้หรือ (ถ้าจะวัดก็คงวัดคุณภาพโรงเรียนกวดวิชา) ยิ่งไปกว่านั้นข้อสอบ O-Net แต่ละปี ก็ล้วนแล้วแต่มีวีรกรรมดี ๆ ทั้งนั้น ไม่รู้ว่าคำถามจะวัดอะไร ให้ครู-อาจารย์ทำกันเองยังตอบกันไปคนละทางสองทาง (น่าจะให้คนออกข้อสอบลองไขว้กันทำข้อสอบที่คนอื่นออกนะ) นี่ระดับโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรกลางเดียวกันนะ โรงเรียนบางแห่งก็ยังสอนไม่เหมือนกัน ข้อสอบ O-Net เน้นวิเคราะห์แต่โรงเรียนส่วนใหญ่ก็ยังสอนให้ท่องจำกันอยู่ นี่ระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายมาก ก็ไม่รู้ว่าจะวัดได้ยังไง แล้วข้อสอบที่ออกมาจะมีวีรกรรมอะไรอีก ผมว่าถ้าจะทำนะก็ทำกับตัวผู้บริหารสทศ. หรือคนที่เป็นต้นเรื่องเห็นด้วยกับเรื่องนี้แหละ ลองดูว่าตัวเองจะสอบผ่านไหม ถ้าไม่ผ่านก็ลาออกไปอยู่บ้านปลูกต้นไม้ต้นไร่ไปตามเรื่องดีกว่า
ตอนนี้ก็บอกว่าไม่มีผลกับเด็ก ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นเด็ก ๆ ก็คงสอบแก้บนไปอย่างนั้นเอง เสียงบประมาณไปโดยใช่เหตุ มันวัดอะไรไม่ได้ และถ้าจะให้เดาสุดท้ายก็คงต้องมาบังคับ อย่างเอามาเฉลี่ยกับเกรดตอนจบอะไรอย่างนี้ หรือหนักกว่านั้นถ้าสอบไม่ผ่านก็ไม่ให้จบ ซึ่งผมว่ามันเป็นอะไรที่ไร้สาระมาก ถ้าจะบอกว่านี่ไงเป็นการควบคุมสถานศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ ไอ้การสอบครั้งเดียวนี้มันวัดได้หรือ ถ้าจะคุมคุณภาพสถานศึกษามันต้องคุมตั้งแต่หลักสูตร การจัดการเรียนการสอน คุณภาพของผู้สอน แต่ไม่ใช่ทำแบบประกันคุณภาพการศึกษานะ (เรื่องประกันนี่เดี๋ยวหาเวลาว่างจัดเป็นอีกเรื่องดีกว่า) แต่อยากจะบอกว่าสองหน่วยงานนี้นี่เป็นหน่วยงานที่รับลูกกันดีมาก พอ สทศ. ทำเรื่องนี้ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ซึ่งดูแลเรื่องประกันคุณภาพ ก็รับลูกว่าจะเอามาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินคุณภาพการศึกษาทันที เข้ากันได้ดีราวผีเน่ากับโลงผุ ซึ่งอย่างนี้มหาวิทยาลัยทั้งหลายที่ต้องถูกประเมินโดยสมศ. ก็ต้องบังคับเด็กสอบแน่นอน จะบอกว่าไม่บังคับได้ยังไง สองหน่วยงานนี้บอกตามตรงว่าเป็นหน่วยงานที่ผมไม่ประทับใจการทำงานเอาเลยจริง ๆ
แล้วก็ให้สัมภาษณ์บอกว่าเป็นพันธกิจ ทำไมไม่ตั้งพันธกิจให้มันดูมีประโยชน์กว่า อย่างเช่นทำการทดสอบภาษาอังกฤษระดับชาติขึ้นมา แล้วผลักดันการสอบนี้ให้เป็นที่ยอมรับอย่างน้อยในระดับ AEC คือแทนที่จะให้ไปสอบ TOEFL หรือ IELTS ซึ่งมีราคาแพง ก็ให้คนของเรามาสอบอันนี้แทนตามความสมัครใจ ค่าใช้จ่ายก็ให้เหมาะสมกับประเทศเรา หรือในระดับวิชาชีพ ก็อาจจะจัดการสอบเพื่อวัดความรู้การเขียนโปรแกรมภาษา Java ให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติ หรือนานาชาติด้วยก็ยิ่งดี อันนี้ไม่ต้องบังคับผมว่าก็คงมีคนหลายคนยินดีสอบ และผู้ประกอบการก็คงจะพอใจที่จะมีอะไรแบบนี้ ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่อยู่นอกระบบการศึกษาปกติ แต่มีความสามารถได้มีผลลัพธ์จากการสอบนี้เป็นจุดอ้างอิงได้ด้วย
พันธกิจที่ตอบคำถามสังคมไม่ได้ว่าทำไปทำไม มีประโยน์อะไร คุ้มค่ากับที่แต่ละฝ่ายต้องลงทุนลงแรงเสียเวลาเสียเงินเสียทองไปหรือไม่ แล้วยังจะเดินหน้ืำต่อไปโดยอ้างแค่ว่ามีหน้าที่ อย่างนี้เรียกว่าคิดอย่างมีวิจารณญาณแล้วใช่ไหม ลองตัดอคติที่มัวแต่มาคิดว่าคนที่ค้านนี่เพราะกลัวการสอบออกไป แล้วมานั่งมองดูสิว่าที่เขาค้านกันนี่มันเพราะอะไร หรือถ้ายังคิดไม่ได้ ก็ลองกลับไปประเมินสิ่งที่ตัวเองทำไปแล้วอย่าง O-Net ก็ได้ว่าผลลัพธ์มันเป็นยังไง มันให้อะไรกับสังคมกับประเทศชาติตามที่ตั้งใจไว้หรือยัง ถ้ายังก็ทำให้มันสำเร็จ มีข้อสอบที่คนในสังคมยอมรับว่ามันได้มาตรฐาน วัดความรู้ได้จริง ๆ คนในสังคมเห็นประโยชน์ของมัน ทำอันที่มีอยู่ให้มันสำเร็จอย่างนี้ก่อนดีไหม แล้วค่อยเดินหน้าทำต่อไป คิดว่าถ้าทำได้อย่างนี้ เสียงค้านจะไม่มากมายแบบนี้แน่ ฝากถึงที่ประชุมอธิการบดีด้วยแล้วกัน เห็นเรื่องการเมืองก็ออกมาแสดงบทบาทกันมากมายแล้ว อันนี้เรื่องใกล้ตัวเรื่องการศึกษาออกมาแสดงบทบาทหน่อยก็ดีนะครับ
คราวนี้มาดูที่วิชาสอบกันบ้าง เริ่มจากวิชาที่เขาจะสอบเอาแค่วิชาแรกก่อนแล้วกัน การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร แน่นอนครับผมเห็นด้วยว่าเด็กไทยเรามีปัญหาจริง ๆ กับการสื่อสารทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จากการที่ได้คุมปริญญานิพนธ์ วิทยานิพนธ์ ตั้งแต่ระดับป.ตรีถึงป.เอก แต่คำถามคือทำไมเราถึงจะมาแก้ปัญหาด้วยการสอบในระดับอุดมศึกษา เรื่องการสื่อสารนี่มันควรจะเริ่มจากตรงไหน มันควรจะเริ่มจากเด็ก ๆ เลยใช่ไหม ตามที่ผมเข้าใจคือเด็กนักเรียนสมัยนี้เขาไม่ได้เรียนการผันวรรณยุกต์ กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า กันแล้ว ใช้วิธีเหมือนจำ ๆ เอา ดังนั้นก็ผันไม่ถูก ไม่เข้าใจอักษรสูงกลางต่ำ (ไม่ใช่ไฮโลนะ) อย่างคำว่า โค้ด ก็เขียนกันเป็นโค๊ด เพราะเห็นแบบผิด ๆ ที่ใช้กันมาอย่างแพร่หลาย วิชาเรียงความก็รู้สึกจะไม่มีแล้ว ภาษาอังกฤษนี่ไม่ต้องพูดถึงเรียนกันมาไม่รู้กี่ปีก็ยังสื่อสารไม่ได้ ถ้าไม่ปูไม่ทำกันมาตั้งแต่ต้น แล้วคุณจะมาวัดคุณภาพบัณฑิตคุณภาพสถาบันอุดมศึกษาอะไรกันตอนนี้ พูดถึงตรงนี้ก็นึกขึ้นได้ว่าผอ.สทศ. บอกว่าหน่วยงานตัวเองมีหน้าที่วัด ไม่ได้มีหน้าที่เป็นตัวปรับปรุงกระบวนการผลิต ฟังแล้วก็ดูเหมือนปัด ๆ ให้พ้นตัวยังไงก็ไม่รู้ ประเด็นคือถ้ากระบวนการผลิตยังไม่ดี ผลลัพธ์มันก็ออกมาอย่างที่เห็นนี่แหละ ดูอย่าง O-Net ผลมันก็ออกมาทุกปีว่าเด็กไทย อ่อนเลข วิทย์ อังกฤษ ไทย แล้วก็มานั่งตีโพยตีพายกัน ปีหน้าสอบใหม่ผลออกมาก็เหมือนเดิม แล้วจริง ๆ ไม่ต้องมีผล O-Net ผมว่าเราก็รู้อยู่แล้วนะว่าเด็กไทยอ่อนวิชาเหล่านี้
อีกสักวิชาแล้วกันการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) ดูแล้วก็น่าสนใจนะ เพราะถ้าผู้บริหารบ้านเมืองและนักการเมืองในประเทศเราสามารถคิดได้ย่างมีวิจารณญาณจริง บ้านเมืองเราคงไม่ปั่นป่วนวุ่นวายแบบทุกวันนี้ ชักจะโยงเข้าหาการเมืองแฮะ กลับมาดีกว่า แต่คำถามก็คือไอ้ข้อสอบที่จะวัดนี่จะมีหน้าตายังไง มหาวิทยาลัยจะต้องจัดวิชาอะไรมารองรับข้อสอบแบบนี้ไหม ถ้าต้องทำก็ต้องเป็นวิชาบังคับ ก็หมายความว่าอาจต้องเพิ่มหน่วยกิต หรือไปลดรายวิชาบางตัวออกไปอย่างนั้นหรือ อาจจะบอกว่าก็ทุกสาขามันก็ต้องให้นักศึกษาคิดอย่างมีวิจารณญาณอยู่แล้ว แต่อยากจะบอกอีกครั้งว่านี่คือมหาวิทยาลัย แต่ละสาขาวิชาก็จะมีชุดความคิดพื้นฐานที่แตกต่างกัน ปัญหาเดียวกันไปถามนักคณิตศาสตร์อาจได้คำตอบอย่างหนึ่ง ไปถามนักอักษรศาตร์อาจได้คำตอบอีกอย่างหนึ่ง หรือตัวอย่างใกล้ ๆ ตัวนี่ก็ได้ กฏหมายข้อเดียวกันแท้ ๆ นักกฎหมายก็ยังตีความไปได้คนละทางสองทาง แล้วมันจะมีข้อสอบวิเศษอะไรที่จะวัดตรงนี้ได้ ข้อสอบอย่างผ้าปูโต๊ะควรใช้สีอะไรแบบนั้นหรือไง และถ้ามีข้อสอบแบบนี้จริง ผู้บริหารสทศ.นั่นแหละทำให้ผ่านก่อนเลย จะได้วัดว่าตัวเองเป็นผู้คิดอย่างมีวิจารณญาณหรือไม่
ผู้หลักผู้ใหญ่ประเทศเราชอบแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ผมเข้าใจว่าหลายคนหวังดีอย่างช่วยแก้ปัญหาการศึกษาของประเทศชาติ แต่การแก้ปัญหาด้วยการรีบเร่งมาวัดจากผลลัพธ์แบบนี้มันอาจไม่ใช่คำตอบ การแก้ปัญหาก็คือต้องแก้ตั้งแต่ต้นทาง แก้ปัญหาที่กระบวนการผลิต ตั้งแต่หลักสูตรระดับประถม มัธยม จนถึงมหาวิทยาลัย ดูแลเรื่องการจัดการเรียนการสอน ปรับปรุงพัฒนาคุณภาพครูผู้สอน แต่ไม่ใช่การเน้นที่การตรวจเอกสารทีมีเพื่อให้ผ่าน KPI โดยไม่ได้คิดจะแก้ปัญหาจริง ๆ อย่างที่ทำประกันคุณภาพกันอยู่นะ อย่างเช่นบางทีมีเอกสารให้อาจารย์ผู้สอนแจ้งว่าการเรียนการสอนมีปัญหาอะไรบ้าง แต่พอแจ้งไปก็ไม่เคยได้รับการเหลียวแลแก้ไข ซึ่งจริง ๆ แล้วผู้บริหารเพียงแต่ต้องการให้มีเอกสารที่ สมศ. ต้องการให้ครบเท่านั้นไม่ได้คิดจะแก้ปัญหาอะไร อย่างนี้เป็นต้น เรื่องนี้ถ้าให้พูดคงได้พูดกันกันยาวครับ เอาเป็นว่าพอแค่นี้ก่อนแล้วกัน เดี๋ยวมันจะออกนอกเรื่องไปยาวกันใหญ่ อีกอย่างก็ได้ระบายออกมาจนพอจะหายหงุดหงิดที่ลิเวอร์พูลแพ้ไปบ้างแล้ว หวังว่าอีกสองนัดคงไม่พลาดอีกจนหงุดหงิดต้องออกมาระบายอะไรแบบนี้อีกนะหงส์นะ อยากเห็นเจอร์ราดชูถ้วย EPL และ สทศ.ยกเลิกการสอบ O-Net U-Net V-Net อะไรนี่ให้มันหมดไปซะที เอ้อว่าแต่สองเรื่องนี้มันเกี่ยวกันตรงไหนหว่า...
เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ
ตอบลบ