วันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553

บล็อกส่งท้ายปีเสือดุ: พลังของ Social Network

ปีหนึ่ง ๆ ผ่านไปเร็วมากนะครับ มันเหมือนกับว่าเพิ่งจะผ่านปีใหม่ไปไม่นานนี้เอง ปีนี้จริง ๆ แล้วก็คงต้องบอกว่าเป็นปีเสือดุจริง ๆ นะครับ มีเหตุการณ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้นมากมายไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมทางการเมืองและมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากมาย มาจนถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ กรณีซากเด็กทารกที่เกิดจาการทำแท้ง กรณีโจ๊ก-จิ๊บไผ่เขียวและเหตุการณ์ล่าสุดที่กำลังเป็นเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในตอนนี้ก็คือกรณีอุบัติเหตุรถซีวิคชนกับรถตู้โดยสารจนมีผู้เสียชีวิตหลายคน และเด็กสาวที่ขับรถซีวิคก็กลายเป็นจำเลยของสังคมถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมายอยู่ในตอนนี้ กรณีโจ๊ก-จิ๊บผมได้เขียนไปแล้วในเรื่องที่แล้ว วันนี้ผมก็ขอส่งท้ายด้วยมุมมองของผมเกี่ยวกับเหตุการณ์ซีวิคนี้ก็แล้วกันครับ โดยจะเน้นให้เห็นถึงพลังของ Social Network ซึ่งมีทั้งที่ดีและไม่ดี

ผมได้ติดตามเรื่องอุบัติเหตุครั้งนี้มาเรื่อย ๆ จากหลายสื่อด้วยกัน โดยสื่อแรกที่ผมได้ทราบเรื่องนี้ก็คือจาก twitter ซึ่งตอนแรกนั้นข่าวเป็นเหมือนว่ารถตู้ตกโทลเวย์ จนในที่สุดก็เป็นเรื่องอย่างที่เราทราบกันอยู่ก็คือรถซีวิคชนรถตู้จนผู้โดยสารกระเด็นจากรถออกมา และมีผู้โดยสารเสียชีวิตซึ่งในขณะที่เขียนอยู่นี้มีผู้เสียชีวิตแล้วเก้าคน ส่วนคนที่ชนนั้นเป็นเด็กสาวอายุ 16 ปี และมีนามสกุลใหญ่โต ผมก็ได้ติดตามข่าวนี้จากหลาย ๆ สื่อ รวมทั้งอ่าน Timeline ของผมใน Twitter ด้วย ซึ่งสิ่งที่ทำให้ผมไม่สบายใจมากก็คือกระแสจาก Social Network นี่แหละครับเพราะบอกตามตรงว่ามันรุนแรงมากถึงกับขั้นที่สร้างความเกลียดชังกับตัวเด็กคนนั้นกันทีเดียว และจากกระแสนี้มันทำให้ผมเข้าใจเลยว่าทำไมสังคมไทยมันถึงเกิดการแตกแยกกันขนาดนี้

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนนะครับว่าผมก็เสียใจไปกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตทุกคน และผมไม่ได้จะออกมาเข้าข้างคนขับรถซีวิค แต่ต้องออกตัวไว้ก่อนเพราะเข้าใจว่ามีคนที่มีความเห็นคล้าย ๆ ผมนี่โดนมาแล้ว นี่ก็คือปัญหาหนึงตอนนี้เหมือนกับว่าสังคมเรายอมรับความเห็นต่างไม่ได้แล้ว ถ้าใครเห็นต่างจากตัวเองก็กลายเป็นคนเลวหรือกลายเป็นอีกฝ่ายหนึ่งไป ทั้ง ๆ ที่การรับฟังความเห็นของคนอิ่นนั้นน่าจะมีประโยชน์ทำให้เรามีมุมมองที่กว้างขึ้นหรือมองปัญหาได้รอบด้านขึ้น

แน่นอนอยู่แล้วครับที่เด็กที่ขับซีวิคนั้นมีความผิดในส่วนของการขับรถทั้งที่ไม่มีสิทธิขับตามกฏหมาย และพ่อแม่ของเด็กคนนั้นก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบในฐานะที่เป็นคนอบรมเลี้ยงดูลูก และผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมจนป่านนี้พ่อแม่ของเด็กจึงยังไม่ออกมากล่าวขอโทษและแสดงความเสียใจในส่วนนี้ คือจากคำสัมภาษณ์เหมือนกับจะรอให้ชัดเจนก่อนว่าในเรื่องอุบัติเหตุใครถูกหรือผิด แต่ผมว่ามันไม่เกี่ยวกันในส่วนที่ตัวเองผิดนี่ก็ยอมรับไปก่อน ผมว่ามันจะช่วยลดกระแสสังคมลงได้ส่วนหนึ่ง ดีกว่าออกแถลงการมาเป็นสกุล มันยิ่งทำให้ดูเหมือนการแบ่งชนชั้นมากขึ้น

กลับมาถึงเรื่องที่ผมอยากให้เราตั้งสติกันครับ จากกระแสที่กำลังสร้างความเกลียดชังเด็กคนนี้อยู่ตอนนี้ ผมว่าสังคมไทยในยุคที่มี Social Network และการรับข่าวสารแบบทันทีทันใดนี้นี่น่ากลัวมากครับ ถ้าคนรับข่าวสารไม่ตั้งสติและใช้วิจารณญาณในการรับข่าวสารให้ดี วิพากษ์วิจารณ์ตามกระแส หรือเห็นคล้อยตามกับคนมีชื่อเสียงที่ใช้ Social Network และอาจจะมีทัศนคติที่ไม่ดีเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น และเราก็ตามกระแสไปจนผมขอใช้คำว่าถึงขั้นเลยเถิด  และถ้าเรายังปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปผมว่าสังคมไทยก็จะเกิดความขัดแย้งแบบนี้ไปอีกนาน

ดังนั้นผมอยากให้พวกเราตั้งสติและพิจารณาเหตุการณ์นี้ให้ดีครับลองมาพิจารณาเป็นข้อ ๆ นะครับ  ข้อแรกเหตุการณ์นี้เป็นอุบัติเหตุซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิด เหตุการณ์แบบนี้สามารถเกิดได้กับทุกคนที่ขับรถ เด็กคนนั้นในแง่ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะผิดจริงหรือไม่ก็ต้องรอการพิสูจน์ เด็กคนนั้นผิดแน่ในแง่การขับรถโดยไม่มีใบขับขี่และขับรถเร็วเกินกฏหมายกำหนด แต่ส่วนอื่น ๆ ไม่ว่าจะผิดจริงหรือไม่สิ่งที่เราต้องตั้งสติและพิจารณาให้ดีก็คือ เด็กคนนั้ีนคงไม่ได้ตั้งใจทีจะขับรถพุ่งชนใส่รถตู้ ดังนั้นสมควรแล้วหรือที่เราจะต้องสร้างความเกลียดชังเด็กคนนี้ถึงขนาดนั้น จริง ๆ เราไม่เคยรู้จักเด็กคนนี้ด้วยซ้ำก่อนที่จะเกิดเรื่องนี้ขึ้น

ข้อสองหลายคนอาจบอกว่าที่ไม่พอใจก็เพราะเด็กคนนั้นหลังจากชนแล้วยังออกไปกดบีบีเล่นไม่สนใจคนเจ็บ คำถามก็คือเราทราบได้อย่างไรว่าเด็กคนนั้นทำอะไรอยู่ แค่ดูจากรูปที่มีคนถ่ายแล้วส่งมา ซึ่งดูจากรูปแล้วมันจะเป็นอะไรก็ได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ดูเหมือนจะสรุปได้ว่าเด็กคนนั้นกำลังโทรศัพท์ ซึ่งถ้าโทรศัพท์ก็คงเป็นเรื่องปกติที่พวกเราทุกคนคงต้องทำเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น หรือถ้ากดบีบีจริงผมว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องผิดถ้าเธอจะใช้เป็นช่องทางเพื่อติดต่อหรือแจ้งให้คนอื่น ๆ ทราบถึงเหตุการณ์ดังกล่าว

ข้อสามหลายคนอาจถามว่าทำไมไม่ไปดูแลคนเจ็บ ผมอยากให้ลองคิดอย่างนี้ครับว่าถ้าเราเป็นคนขับรถคันนั้น และเราเป็นคนชนเราจะเป็นยังไงครับ เราจะตกใจไหม รถที่ขับก็พังยับทั้งคัน เราถูกงัดอกมาจากรถ เราไม่เห็นรถคู่กรณี เราอาจจะนึกว่าเราแค่ขับชนท้ายรถก็เหมือนรถชนธรรมดา เราไม่รู้ว่ามีคนเจ็บคนตาย ประเด็นก็คือผมเองแม้จะอายุเยอะแล้วถ้าอยู่ในเหตุการณ์นั้นก็อาจทำอะไรไม่ถูกก็ได้ นับประสาอะไรกับเด็กอายุ 16

ข้อสี่คนมีนามสกุลใหญ่จะต้องได้รับอภิสิทธิ์ พวกคนตระกูลใหญ่จะต้องใช้เส้นสายเพื่อให้พวกตัวเองพ้นผิด เรื่องการปฏิบัติสองมาตรฐานหรือเอาใจคนใหญ่คนโตนี้ผมเห็นด้วยครับว่ามันมีอยู่ในสังคมเราจริง  ๆ  แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าคนใหญ่คนโตทุกคนจะต้องใช้เส้นสายหรือใช้สิทธินี้ และมันก็ไม่มีเหตุผลที่จะไปเกลียดหรือเข้าข้างใคร ๆ เพียงเพราะเขามีนามสกุลใหญ่โตและทำผิด เรื่องการแบ่งแยกนี้มันทำให้เกิดปัญหาระดับชาติมาแล้วนะครับ พวกชนชั้นกลางหลายคนก็ไปดูถูกคนต่างจังหวัดว่าโง่เลือกผู้แทนที่ไม่มีคุณภาพ คนต่างจังหวัดก็ถูกปลุกปั่นให้เห็นว่าคนชั้นกลางเอารัดเอาเปรียบ ดังนั้นผมอยากเสนอว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ให้เราพิจารณาที่คนคนนั้น เหตุการณ์นั้นโดยไม่เอาอคติในเรื่องชนชั้นมาเกี่ยวข้องด้วยก็น่าจะทำให้เรามองปัญหาด้วยใจที่เทียงธรรมมากขึ้นครับ

กรณีเรื่องการปฏิบัติสองมาตรฐานนี้ถ้าจะโทษผมอยากให้โทษที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมากกว่า ลองถามตัวเองดูว่าปฏิบัติเหมือนกันไหมระหว่างคนธรรมดากับคนตระกูลใหญ่ ถ้าคนที่ขับรถชนเป็นคนนามสกุลธรรมดาตำรวจจะปล่อยตัวไปโดยไม่ควบคุมอะไรเลยแบบนี้ไหม แต่ถ้ามองในแง่ตำรวจผู้ปฏิบัติงานก็อาจน่าเห็นใจว่าเขาอาจถูกกดดันจากคนที่มีอำนาจเหนือกว่า ถ้าเขาทำตามหน้าที่ตรงไปตรงมาก็อาจมีปัญหาได้โดยไม่มีใครช่วยเขา ตรงนี้แหละครับที่ผมมองว่า Social Network อาจเข้ามาช่วยได้ คือถ้ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงตรงโดยไม่กลัวเกรงกับอิทธิพลใด ๆ ก็ให้เราใช้พลัง Social Network ช่วยเขาครับ ส่วนเรื่องการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันอะไรที่รัฐบาลเสนอเข้ามา ผมก็ภาวนาขอให้มันสำเร็จจริง ๆ ไม่ใช่แค่นโยบายหาเสียงไปวัน ๆ ก็แล้วกัน    

เขียนมาซะยืดยาวและเป็นเรื่องหนัก ๆ ทั้งนั้นในวันส่งท้ายปีแบบนี้จริง ๆ ไม่อยากเขียนเลย แต่ที่ต้องเขียนเขียนก็เพราะอยากเห็นคนไทยในยุค Social Network ตั้งสติและพิจารณาข่าวสารให้ดี ให้เราเข้าใจว่าข้อมูลที่เราได้รับจากสื่อต่าง ๆ มันอาจจะไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้องทั้งหมด ให้แยกแยะว่าอะไรคือข้อเท็จจริง อะไรคือข้อวิจารณ์ซึ่งบางทีอาจเกิดจากอารมณ์ก็ได้ 

สุดท้ายผมอยากให้เราใช้ Social Network ในทางสร้างสรรค์เช่นการรวมตัวกันช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมอย่างที่ผ่านมา หรือสนับสนุนคนดี ๆ มากกว่าที่จะมาใช้ Social Network เพื่อทำลายล้างกันหรือสร้างกระแสให้เกลียดชังกัน ซึ่งถ้าเราทำอย่างนี้ได้ผมว่าเราจะใช้ประโยชน์จาก Social Network ได้คุ้มค่า และประเทศของเราก็น่าจะเข้าสู่ปีใหม่ด้วยความสงบสุขเหมือนที่ผ่านมาได้ครับ สวัสดีปีใหม่ครับ ...

วันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เรากลับมาอยู่ในระบบกันดีไหม

สวัสดีครับ คงยังไม่สายไปที่จะกล่าวคำว่า Merry X'Mas ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับชาวพุทธอย่างที่คนไทยส่วนใหญ่เป็นกัน แต่เราชาวไทยทั้งหลายก็พร้อมที่จะร่วมฉลองกับทุกเทศกาลอยู่แล้ว ซึ่งผมมองว่านี่เป็นจุดที่น่ารักอีกประการหนึ่งของคนไทยเราครับ และก็ทำให้เราไม่เกิดสงครามศาสนาเหมือนกับประเทศอื่น ๆ แต่สิ่งที่ผมอยากจะเขียนวันนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องคริสต์มาสนะครับ แต่อยากจะพูดถึงเรื่องที่หลัง ๆ นี้ผมว่าพวกเราหลายคนอาจจะลืม ๆ ไป หรือชินกับมันไปแล้วนั่นคือการที่เรายอมละเมิดกฏหรือระบบเพื่อให้ได้ตามที่ใจเราต้องการ

จริง ๆ ผมมีความคิดที่จะเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้นานแล้ว แต่ก็ตัดสินใจไม่เขียนเพราะบอกตรง ๆ ว่าไม่อยากจะพูดเรื่องการเมืองมากนัก ผมเคยเขียนบล็อกว่าพวกเสื้อเหลืองที่มาชุมนุมปิดสนามบิน และว่าพวกเสื้อแดงที่มาชุมนุมจนการประชุมอาเซ็มล่ม ซึ่งในบล็อกที่เขียนว่าเสื้อเหลืองก็มีคนคิดว่าผมเป็นเสื้อแดง พอเขียนว่าเสื้อแดงผมก็กลายเป็นเสื้อเหลือง ซึ่งจริง ๆ ผมไม่ใช่สีไหนทั้งสิ้นผมเป็นคนไทยที่ไม่มีสี และจริง ๆ คนไทยก็ไม่เคยมีสี จนมาถึงยุคนี้แหละครับที่พวกเราถูกคนที่ต้องการอำนาจพยายามใช้เราเป็นเครื่องมือและแบ่งแยกคนไทยออกจากกัน และกลายเป็นว่าคุณต้องเป็นสีใดสีหนึ่งถ้าคุณบอกว่าคุณไม่เป็นสีใดนั่นคือคุณแอ๊บ ดังนั้นผมเลยตัดสินใจว่าไม่เขียนดีกว่า

พอเกิดเหตุการณ์โจ๊ก-จิ๊บไผ่เขียวที่ไปยิงน้องโตมี่ และในที่สุดก็นำไปสู่การวิสามัญฆาตกรรมโจ๊ก (ทำไมต้องชื่อโจ๊กด้วยนะ ทำเสียคนชื่อโจ๊กหมด) ผมเลยคิดว่าน่าจะต้องเขียนถึงเสียหน่อย ผมต้องบอกก่อนนะครับว่าผมก็มีความเห็นเหมือนกับพวกเราหลายคนคือคนอย่างพี่น้องสองคนนี้ไม่สมควรที่จะมีชีวิตอยู่เพือมาก่อกรรมทำชั่วกับใคร ๆ อีก ยิ่งฟังการให้สัมภาษณ์ของพ่อของทั้งสองคนแล้ว ก็ทำให้เห็นเลยว่าทำไมสองคนนี้ถึงได้ชั่วขนาดนี้ แต่สิ่งที่ผมอยากจะสะกิดเตือนพวกเราในวันนี้ก็คือเรื่องเกี่ยวกับการวิสามัญฆาตกรรมนี่แหละครับ ผมจะไม่เขียนเรื่องว่าตำรวจทำถูกหรือไม่ถูกนะครับ เพราะผมไม่เคยดูวีดีโอที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน หรือถึงจะดูก็อาจจะไม่สามารถวิจารณ์ได้อยู่ดี

สิ่งที่ผมอยากจะพูดก็คือกระแสสังคมที่เหมือนจะสนับสนุนการทำวิสามัญฆาตกรรมของตำรวจ ซึ่งผมมองว่านี่คือสิ่งที่น่ากลัวครับ เพราะผมมองว่ามันคือการทำลายระบบยุติธรรมของไทย มันเหมือนกับว่าเราพร้อมที่จะสนับสนุนการทำผิดถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เราถูกใจ จริง ๆ แล้วกระบวนการยุติธรรมมันมีบทบาทเฉพาะของมันอยู่แล้ว ตำรวจมีหน้าที่จับกุมถ้าคนร้ายต่อสู้ก็สามารถป้องกันตัวเองได้ แต่ตำรวจไม่มีอำนาจไปตัดสินว่าคนร้ายสมควรที่จะต้องตาย การตัดสินเป็นอำนาจของศาล

ในทำนองเดียวกันกับการชุมนุมของกลุ่ม พธม. (เสื้อเหลือง) ซึ่งทั้งปิดถนน เข้าไปยึดทำเนียบ และปิดสนามบิน แต่พวกเราหลายคนก็พร้อมที่จะปิดหูปิดตาและบอกว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพราะคนเหล่านี้มาชุมนุมขับไล่คนที่เราไม่ชอบ เวลาทหารอกมาปฏิวัติถ้าเขาปฏิวัติเอาคนที่เราไม่ชอบออกไป เราก็เอาดอกไม้ไปให้ทหาร ขอบคุณทหารที่ออกมาปฏิวัติ ทั้ง ๆ ที่มันเป็นการทำลายระบบ พวกสื่อและนักวิชาการก็ช่วยให้การชุมนุมที่จริง ๆ นั้นผิดให้กลับกลายเป็นถูก มีการประดิษฐ์ถ้อยคำเช่น "ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง" หรือคำประเภท "สิทธิของเสียงส่วนน้อย" ซึ่งในความเห็นผมผมก็เห็นด้วย แต่มันต้องมีการเติมให้สมบูรณ์ครับ เช่นประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง แต่คุณต้องยอมรับผลการเลือกตั้ง และคอยติดตามดูผลงานของคนที่คุณเลือกหรือไม่ได้เลือกเข้าไป ถ้าเขาทุจริตหรือคดโกงคุณก็ต้องใช้ช่องทางตามที่กฏหมายเปิดช่องไว้ เช่นการเข้าชื่อถอดถอน ยื่นฟ้องต่อองค์กรอิสระ หรือก็อาจต้องอดทนรอการเลือกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งอำนาจจะกลับมาอยู่ในมือเราอีกครั้ง ถ้าเราเป็นเสียงส่วนน้อยเรามีสิทธิที่จะพูดแสดงความคิดเห็น และโน้มน้าวให้คนอื่น ๆ เห็นด้วยกับเราจนเรากลายเป็นเสียงข้างมาก แต่ถ้ามันไม่สำเร็จเราก็ต้องยอมตามเสียงข้างมาก นั่นคือระบอบประชาธิปไตย แต่ถ้าเราคิดว่าสิ่งที่เสียงส่วนใหญ่นั้นผิดและจะเป็นภัยร้ายแรง เราก็ต้องมาใช้สิทธิของเราในด้านอื่นตามช่องทางที่กฏหมายกำหนด

หลายคนอาจจะบอกว่าเลือกตั้งใหม่ก็ได้คนเดิมอยู่ดี เพราะเสียงคุณสู้ไม่ได้ (จนกลายไปเป็นไปดูถูกหรือด่าคนอื่นว่าโง่กว่าตัวเอง) แต่นี่คือระบอบประชาธิปไตยครับ อย่างที่บอกไปแล้วว่าคุณต้องโน้มน้าวหรือทำให้คนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับคุณ คุณอาจจะคุยกับเพื่อน ๆ คุณบอกว่าควรเลือกพรรคนี้หรือพรรคนั้นเพราะอะไร  ส่วนนักการเมืองก็ควรจะนำเสนอนโยบาย และถ้าแพ้ก็ควรจะมาพิจารณาตัวเองว่ายังมีจุดบกพร่องอะไร ไม่ใช่พอแพ้เลือกตั้งมาก็พูดอยู่คำเดียวเป็นคาถาว่าแพ้เพราะอีกฝ่ายซื้อเสียงโดยไม่ได้มองตัวเองเลย แล้วก็เล่นเกมการเมืองไปเรื่อยโดยไม่คิดว่าที่จะทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีโดยเอาผลประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นหลัก

พูดมาถึงตรงนี้หลายคนก็บอกว่าก็นี่ไงเพราะคุณภาพของนักการเมืองบ้านเรามันเป็นอย่างนี้ก็เลยต้องใช้วิธีนอกระบบ แต่ผมกลับมองว่าถ้าเรารักษาระบบไว้คือไม่ว่านักการเมืองจะแย่ยังไง เราก็จะใช้วิธีที่อยู่ในระบบจัดการกับเขา ไม่มีการมาปิดสนามบินหรือยึดย่านเศรษฐกิจขับไล่ และไม่มีการปฏิวัติ ก็จะทำให้คนดี ๆ กล้าที่จะเข้ามาทำงานมากขึ้น เพราะเขารู้ว่าจะไม่มีการใช้วิธีการนอกระบบมาจัดการกับเขา เพราะแม้แต่คนชั่ว ๆ เรายังอดทนที่จะอยู่ในระบบได้ ซึ่งผมคิดว่าสักวันวันนั้นจะมาถึงถ้าเราปล่อยให้ทุกอย่างมันเป็นไปตามกลไกการทำงานของระบบ ไม่ไปหยุดมันกลางทางอย่างทีทำกันอยู่ในปัจจุบัน

แต่แน่นอนครับเมื่อระบบมันเสียไปจากการที่พวกเรายอมรับสิ่งที่ผิดถ้ามันตรงใจ จากเสื้อเหลืองมันก็เลยเกิดเสื้อแดง ก็ต้องบอกอีกครั้งว่าไม่ได้เห็นด้วยเลยกับการที่เสื้อแดงออกมาเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกับเสื้อเหลือง เพราะตอนเสื้อเหลืองทำผิดกฏหมายบ้านเมืองพวกเสื้อแดงก็ด่าเสร็จแล้วก็มาทำเสียเอง ผมว่าไอ้คนที่ด่าเขาแล้วตัวเองมาทำเองนี่แย่กว่าอีกนะ คือรู้ว่าอะไรผิดแล้วยังทำ ผมเบื่อจริง ๆ กับคำว่าเขาทำผิดได้เราก็ต้องทำได้ จริง ๆ มันควรจะเป็นว่าเขาทำผิดเราจะไม่ทำผิดเหมือนเขาถึงจะถูก จริง ๆ ถ้าอยากชุมนุมก็ทำเหมือนที่เคยทำมาก่อนหน้าคือชุมนุมโดยสงบตามสนามกีฬาที่ไม่เดือดร้อนใคร ชี้ให้เห็นการทำงานที่ผิดพลาดหรือสองมาตรฐานอะไรก็ตาม ซึ่งผมว่าถ้าคุณทำอย่างนี้นี่แหละจะเป็นการโน้มน้าวให้คนที่มีใจเป็นกลางให้เห็นด้วยกับคุณ และขณะที่กำลังเขียนบล็อกนี้อยู่ก็มีข่าวแฟนบอลลงมาทำร้ายกรรมการในการแข่งขันระหว่างศรีสะเกษกับนครปฐม นี่ก็คือตัวอย่างของการทำนอกระบบ

ท้ายนี้ผมก็อยากจะฝากให้พวกเราทุกฝ่ายคิดและยอมรับระบบ อะไรที่คิดว่าไม่ยุติธรรมก็ให้แก้ไขอยู่ในขอบเขตของระบบ และต้องเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงไม่อาจเกิดขึ้นได้ในข้ามวัน ขอให้มีความอดทนอดกลั้นเพื่อให้ประเทศเราได้เดินหน้าไปอย่างปกติเหมือนอย่างที่เคยเป็นมาครับ

วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2553

แนะนำฟอรัมเกี่ยวกับการเมืองให้อ่านกันครับ

สวัสดีครับสำหรับวันนี้ผมจะมาคุยเรื่องการเมืองครับ แต่เนื้อหานั้นจะไม่ได้มาจากที่ผมเขียนครับแต่มาจากฟอรัมในบล็อกนัน ผมคิดว่าพวกเราหลายคนก็คงเข้าไปอ่านข่าวไอทีจากบล็อกนันกันเป็นประจำอยู่แล้ว ผมก็ใช่ครับแต่วันนี้บังเอิญได้ไปอ่านฟอรัมในบล็อกนันในหัวข้อจริยธรรมนัการเมืองโกง,คนเล่นบล็อกนันใช้ของเถื่อน? ซึ่งตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าจะมีอะไรน่าสนใจมากมาย แต่ปรากฏว่าในการแสดงความเห็นเกี่ยวกับหัวข้อดังกล่าว มีมุมมองที่น่าสนใจอยู่มากครับทั้งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อ และแตกประเด็นไปถึงเรื่องระบอบประชาธิปไตยของไทย ซึ่งผมอยากให้ได้เข้าไปอ่านกันครับเพราะผมเชื่อว่าจะเปิดมุมมองของเราให้กว้างขึ้นได้อย่างมากมายครับ การอ่านความเห็นของคนที่ถกกันด้วยเหตุผลและหลักการผมว่ามันดีกว่าเข้าไปเว็บไซต์ที่เลือกข้างไว้แล้ว และพยายามปั่นหัวหรือยัดเยียดมุมมองด้านเดียวให้กับเรานะครับ เชิญชวนให้อ่านกันครับแต่แนะนำว่าควรจะต้องมีเวลาว่างพอสมควรนะครับ บางทีอาจต้องใช้เวลาอ่านมากกว่าหนึ่งวันครับ