แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ AI แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ AI แสดงบทความทั้งหมด

วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

สอนรถให้แยกเสียงได้

นักวิจัยที่ Germany’s Fraunhofer Institute for Digital Media Technology (IDMT) ได้พัฒนาระบบให้รถที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองสามารถแยกแยะเสียงจากภายนอกเช่นเสียงไซเรนได้ การฝึกสอนระบบใช้วิธีการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) โดยใช้คลังเสียงแบบอะคูสติก (acoustic) และได้พัฒนาขั้นตอนวิธีที่ทำให้ระบบสามารถรู้จำเสียงที่เกิดจากวัตถุที่เคลื่อนไหวไปเรื่อย ๆ ได้ และยังได้พัฒนาขั้นตอนวิธีที่อยู่บนฐานของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ที่ทำให้แยกเสียงที่รถต้องรู้จักออกจากเสียงอื่น ๆ ได้ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Farunhofer 

วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ใช้ AI ช่วยระบุตัวนักเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือ

นักวิจัยที่ North Carolina State University's Center for Educational Informatics  ได้พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (Arificial Intelligence, AI) เพื่อช่วยวัดว่านักเรียนเข้าใจบทเรียนแค่ไหนผ่านทางการเล่นเกม โดยตัวแบบ (model) ที่ปรับปรุงขึ้นใช้แนวคิดการฝึกสอน AI ที่เรียกว่าการเรียนแบบหลายงาน (multi-task learning) ซึ่งจะช่วยปรับปรุงทั้งการสอนและผลลัพธ์การเรียนรู้ การเรียนแบบหลายงานก็คือการที่ตัวแบบตัวแบบหนึ่งใช้กับงานหลาย ๆ งาน AI จะถูกมอบหมายให้เรียนรู้งาน 17 งาน ซึ่งจะสัมพันธ์กับคำถามที่จะเป็นข้อสอบ 17 ข้อ  นักวิจัยได้ทดสอบกับนักเรียน 181 คน โดย AI จะดูวิธีเล่นเกมของนักเรียน และระบุพฤติกรรมของนักเรียนว่าเล่นเกมแบบไหนจึงตอบคำถามถูก และแบบไหนจึงตอบคำถามผิด ซึ่งข้อมูลตรงนี้จะสามารถใช้ทำนายว่านักเรียนคนใหม่ที่เข้ามาเล่นเกมนี้จะตอบคำถามในข้อสอบถูกหรือไม่ นักวิจัยบอกว่าวิธีเรียนแบบหลายงานนี้ช่วยเพิ่มความแม่นยำจากการฝึกสอนแบบเดิม ๆ ประมาณ 10%

อ่านข่าวเต็มได้ที่: NC State University News

วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ยาที่ถูกสร้างจาก AI ถูกใช้กับคนเป็นครั้งแรก

กลุ่มของนักวิจัยจากอุตสาหกรรมยาของอังกฤษและญี่ปุ่นใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence,  AI)  เพื่อสร้างโมเลกุลของยาที่จะทดลองใช้กับมนุษย์ ยาดังกล่าวถูกผลิตขึ้นมาเพื่อทดลองใช้กับผู้ป่วยที่เป็น  obsessive-compulsive disorder (OCD) โดย AI ใช้เวลา 12 เดือนในการผลิต โดยถ้าใช้วิธีแบบเดิมจะต้องใช้เวลา 5 ปี นักวิจัยบอกว่าปีนี้เป็นปีแรกที่ใช้ AI ออกแบบยา แต่เมื่อสิ้นทศวรรษนี้ ยาใหม่ ๆ ทุกตัวอาจผลิตโดย AI 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: BBC Technology News


วันอังคารที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2563

นักศึกษาเบื่อหรือยัง AI ช่วยบอกได้

นักวิจัยจาก Hong Kong University of Science and Technology (HKUST) และ China's Harbin Engineering University ร่วมกันพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) เพื่อช่วยวัดอารมณ์ของนักเรียนนักศึกษา โดยวิเคราะห์จากการแสดงความรู้สึกทางใบหน้าของนักศึกษา เพื่อที่จะวิเคราะห์ระดับความสนใจต่อการเรียนของนักศึกษาในขณะนั้น โดยได้มีการทดสอบระบบนี้กับนักเรียนชั้นอนุบาลห้องหนึ่งในญี่ปุ่น และชั้นเรียนในระดับมหาวิทยาลัยชั้นเรียนหนึ่งในฮ่องกง ผลการทดลองออกมายังไม่ดีนัก โดยระบบสามารถตรวจจับอารมณ์ที่มองเห็นได้อย่างเด่นชัดนั่นคือนักเรียนนักศึกษากำลังรู้สึกสนุก แต่ยังไม่สามารถตรวจจับความรู้สึกโกรธหรือเศร้าได้อย่างถูกต้อง ซึ่งนักวิจัยจะต้องไปปรับปรุงโมเดลต่อไป 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: IEEE Spectrum 

เพิ่มเติมเสริมข่าว: 

เหมือนเคยอ่านข่าวว่ามีงานวิจัยแนวนี้อยู่หลายปีแล้ว แต่น่าแปลกใจว่างานวิจัยนี้เหมือนไม่ได้ต่อยอดขึ้นมา เหมือนทำขึ้นมาใหม่ เพราะได้ผลลัพธ์ไม่ดีมากนัก สำหรับตัวเองไม่ต้องใช้ AI หรอก แค่เดินเข้าห้องก็รู้แล้วว่านักศึกษาอยากเลิกเรียนกลับบ้าน :) 

วันจันทร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2563

เกาหลีใต้เปิดโรงเรียนเพื่อฝึกคนให้ผ่านการสัมภาษณ์การทำงานกับ AI

บริษัทใหญ่ ๆ ในเกาหลีใต้ได้นำระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) มาใช้ในการคัดเลือกคนเข้าทำงาน ซึ่งคีย์หลักคือการสัมภาษณ์ผ่านทางวีดีโอ ซึ่ง AI จะใช้เทคโนโลยีการรู้จำใบหน้าในการประเมินผู้สมัคร ซึ่งเหตุนี้ทำให้มีการเปิดโรงเรียนเพื่อติวผู้จะสมัครงานว่าควรทำยังไงเพื่อให้ผ่านการสอบสัมภาษณ์กับ AI ไปได้ ตัวอย่างการสอนก็เช่น "อย่าพยายามยิ้มด้วยริมฝีปาก ต้องให้ตายิ้มด้วย" ตามข่าวบอกว่าอย่างน้อย 1 ใน 4 ของบริษัทระดับท้อป 131 บริษัทของเกาหลีใต้ กำลังใช้หรือมีแผนที่จะใช้ AI ในการคัดคนเข้าทำงาน โดยการสัมภาษณ์งานของ AI จะใช้เกมเพื่อทดสอบคุณสมบัติ 37 ด้าน ของผู้สมัคร ซึ่งไม่ใช่การวัดความจำ และบางเกมไม่มีคำตอบที่ถูกต้องด้วยซ้ำ เพราะต้องการวัดวิธีการแก้ปัญหา และทัศนคติของผู้สมัครมากกว่า ตามข่าวมีผู้สมัครบางคนรู้สึกสิ้นหวัง เพราะเขาไม่สามารถที่จะจ่ายเงินเพื่อไปเข้าโรงเรียนติวได้ และเขาบอกว่าไม่มีทางที่จะเอาชนะ AI ได้เลย

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Reuters Technology News

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

ฝ่าย HR อาจเป็นอีกงานหนึ่งที่ถูก Distrupt ถ้าเป็นแบบนี้ แต่ส่วนตัวมองว่าถ้าเราต้องฝึกเพื่อจะเอาชนะ AI ให้ได้ และถ้า AI ไม่สามารถหาคนที่เหมาะสมจริง ๆ ที่ไม่ผ่านการฝึกมาได้ ระบบนี้ไม่น่าถือว่าเป็นระบบที่ดี สำหรับประเทศไทยนี่อาจเป็นตลาดใหม่ของโรงเรียนกวดวิชา หลังจากจำนวนเด็กลดลง :)

วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2563

ใช้ AI สู้การคุกคามออนไลน์

นักวิจัยจาก California Institute of Technology (Caltech) และ Stanford University ได้สาธิตให้เห็นว่าขั้นตอนวิธีการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) สามารถติดตามการสนทนาบนสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งจะนำไปสู่ความสามารถในการตรวจสอบการรังแกกันออนไลน์ได้ ซึ่งวิธีใหม่นี้นักวิจัยบอกว่าจะดีกว่าวิธีเก่าที่ใช้การตรวจสอบจากเซ็ตของคำหลัก (key word) ที่สร้างเอาไว้แล้วก็ไม่ได้ปรับปรุง วิธีเก่าพยามจะแก้ปัญหานี้โดยใช้คนเข้ามาช่วยตรวจสอบด้วย ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพ และคนแต่ละคนก็อาจมีความเห็นต่อคำแต่ละคำแตกต่างกันออกไป วิธีที่งานวิจัยนี้ใช้เรียกว่า GloVe (Global Vectors for Word Representation) ซึ่วใช้การคำนวนความคล้ายคลึงกันของความหมายของคำสองคำ โดยเมื่อเราเริ่มใช้คำหลักคำหนึ่ง ขั้นตอนวิธีนี้ก็จะเริ่มหาคำที่มีความสัมพันธ์กัน เพือนำไปสู่กลุ่มคำที่มีความสัมพันธ์กัน ในข่าวยกตัวอย่างว่า เมื่อค้นคำว่า "MeToo" ก็จะนำไปสู่ "SupportSurvivors," "ImWithHer," และ "NotSilent." แต่ GloVe ไม่ได้หยุดแค่หาคำที่สัมพันธ์กัน แต่ยังดูความสัมพันธ์ของการใช้คำเหล่านี้ในบริบทการสนทนาด้วย เพราะคำเดียวกันแต่เมื่อใช้สนทนาในเรื่องที่ต่างกัน ก็มีความสัมพัน์กับคำที่แตกต่างกันด้วย นักวิจัยคาดหวังว่าในที่สุดเราจะสามารถสร้างเครื่องมือที่จะใช้ต่อสู้กับการคุกคามออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ ได้ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Caltech 

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

ใช้ขั้นตอนวิธีอะไร ก็ไม่สู้แก้แนวคิดในใจของคนเรา