วันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2563

เดือนแรกของปีหนู(ดุ)

สวัสดีครับ หลังจากสร้างนิสัยสรุปข่าวแชร์ข่าวได้แล้วหนึ่งอย่าง ก็เลยคิดว่าจะลองเขียนบล็อกเรื่องอะไรที่อยากเขียน เล่าเรื่องอะไรที่อยากเล่า โดยเล่าให้ฟังทุกวันศุกร์ที่เป็นวันทำงานวันสุดท้ายของสัปดาห์ก็เลยเป็นที่มาของบล็อกนี้ครับ

วันแรกของบล็อกในหัวข้อนี้ก็บังเอิญเป็นศุกร์สิ้นเดือนของเดือนแรกของปีนี้พอดี จะว่ามันเร็วก็เร็วนะครับ เพราะเหมือนกับเพิ่งฉลองปีใหม่ไปได้แป๊ปเดียว แต่เอาจริง ๆ แล้วมันมีอะไรเกิดขึ้นมากมายและเป็นเรื่องใหญ่ ๆ ทั้งนั้นที่เกิดขึ้นในเดือนนี้ เริ่มตั้งแต่กรณีอเมริกากับอิหร่าน ไฟป่าที่ออสเตรเลีย ฝุ่น PM  (อย่าไปแปลเป็น Prime Minister นะครับ :) ) จนมาถึงโคโรนาไวรัส บางเรื่องก็ทำท่าว่าอาจจบได้แล้ว   บางเรื่องก็อาจต้องดูผลกระทบต่อไป เพราะมันเริ่มกระจายไปทั่วโลกจน WHO ต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน และเห็นคุณหมอบางท่านคนออกมาบอกว่าต่อไปมันก็จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ประจำฤดูกาลเหมือนกับโรคอย่างไข้หวัดใหญ่ ต่อไปก็คงต้องฉีดวัคซีนเพิ่มกันอีก (หรือเปล่า) นอกจากนี้เรื่องฝุ่น PM เรื่องไวรัสมันก็ทำให้ได้เห็นถึงความสามารถในการจัดการปัญหาและภาวะผู้นำของผู้นำประเทศได้เหมือนกันนะครับ ยิ่งไปกว่านั้นด้านเศรษฐกิจ ซึ่งหลายคนก็คาดว่าปีนี้จะเป็นปีเผาจริงแล้ว (สาธุขอให้เขาคาดผิดกัน) เจอเหตุการณ์แบบนี้เข้าไป ก็ไม่รู้ว่ามันจะแย่มากขึ้นหรือเปล่า และยังไม่พอยังมีข่าวนักบาสชื่อดังระดับตำนาน ซึ่งเป็นคนที่ผมชื่นชอบคนหนึ่งคือโคบี้ ไบรอัน ยังเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเครื่องบินตกอีก หรือมันจะเป็นปีหนูดุจริง ๆ

พูดมาเหมือนมีแต่เรืองไม่ดี มาลองดูสิว่ามันมีเรื่องดี ๆ อะไรบ้าง เหมือนจะคิดไม่ออก แต่จริง ๆ ก็มีนะครับ อันแรกก็คือทีมฟุตบอลที่ผมเชียร์มาตั้งแต่เด็กคือลิเวอร์พูล ก็ยังโชว์ฟอร์มดีต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยชนะมาได้ทั้งหมดตลอดเดือนมกราคม และนำห่างที่สองถึง 19 แต้ม ตามปกติเดือนมกราคมจะเป็นเดือนที่ลิเวอร์พูลมักจะทำแต้มหล่นหาย (อันนี้อาจจะดีแค่กองเชียร์ลิเวอร์พูล แต่กองเขียร์ทีมอื่นอาจคิดว่ามันน่าจะจัดกลุ่มอยู่ในย่อหน้าบนก็ได้นะครับ :) ) ตัวเองก็ยังมีงานทำ ยังพอมีเงินใช้ สุขภาพก็ยังพอใช้ได้ ครอบครัวก็ยังอยู่กันพร้อมหน้า

ส่วนหนึ่งก็อยากภาวนาว่าปัญหาร้ายแรงทั้งหลายที่มันเกิดขึ้นมันจะเป็นของทั้งปี และได้เกิดหมดไปแล้วในเดือนนี้ และตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ (ซึ่งปีนี้มี 29 วันนะครับ :) ) หวังว่าจะมีแต่เรื่องดี ๆ เข้ามาและที่เขาคาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจที่มันจะเป็นปีเผาจริงก็ขอให้คาดผิด หรือมีเหตุการณ์อะไรเข้ามาช่วยเรา

แต่คิดว่ามันน่าจะดีกว่าถ้าเราหันมาบริหารจัดการตัวเอง เช่นตอนนี้ผมก็เริ่มบอกตัวเองให้ประหยัดมากขึ้น อะไรที่อยากได้แต่ไม่จำเป็นก็พักไว้ก่อน ช่วงนี้ก็หลีกเลี่ยงการไปในที่ที่มีคนเยอะ ๆ ออกกำลังกายให้มากขึ้น พักผ่อนให้มากขึ้น และพัฒนาตัวเอง ในเมื่อเราไม่สามารถรู้โชคชะตาข้างหน้าได้ และอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาล ซึ่งก็ไม่ได้ดีไปกว่ารัฐบาลที่ผ่านมาในอดีตเลย (เสียเวลาไปห้าหกปี กับคำพูดหรู ๆ ของนักการเมืองที่หลอกคนออกมาบนถนน บอกว่าจะปฏิรูปประเทศ แต่จริง ๆ ต้องการให้ทหารมายึดอำนาจ) ออกจะแย่กว่าด้วยซ้ำ และจริง ๆ แล้วเราก็ไม่ควรไปหวังพึ่งรัฐบาลไหนอยู่แล้ว (เพียงแต่ถ้ารัฐบาลเก่งและเราดูแลตัวเองผลมันอาจจะดีกว่ารัฐบาลแย่ ๆ )

 ก็ขอส่งท้ายบล็อกนี้ว่า อัตาหิอัตโนนาโถ ตนนั้นแลเป็นที่พึ่งแห่งตน บริหารจัดการตัวเองกันดี ๆ ไม่ว่าหนูจะดุแค่ไหนเราก็น่าจะผ่านกันไปได้ (อาจจะทุลักทุเลหน่อย ภายใต้รัฐบาลแบบนี้)) และช่วยกันตั้งความหวังว่าสุดท้ายเราจะได้รัฐบาลเก่ง ๆ มีความสามารถมากกว่านี้มาช่วยให้เราผ่านพ้นวิกฤติต่าง ๆ ไปได้ไปอย่างสบายกว่านี้แล้วกันครับ สาธุ

ชายอเมริกันที่ติดไวรัสโคโรนาถูกดูแลโดยหุ่นยนตฺ์

ชาวอเมริกันคนแรกที่ถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาวูฮันได้รับการรักษาโดยความช่วยเหลือของหุ่นยนต์ที่ Providence Regional Medical Center in Everett, WA หุ่นยนต์ดังกล่าวมีหูฟังเพื่อให้หมอสามารถฟังสัญญาณชีพของคนไข้ และมีหน้าจอขนาดใหญ่ให้หมอกับคนไข้ได้คุยกัน โดยมีพยาบาลเป็นคนเลื่อนหุ่นยนต์ไปรอบ ๆ ห้องเพื่อให้หมอได้เห็นและพูดคุยกับคนไข้ หมอบอกว่าหุ่นยนต์นี้จะมีส่วนช่วยลดการติดเชื้อจากคนไข้มาสู่บุคลากรทางการแพทย์ได้ ตามข่าวบอกว่าโรงพยาบาลนี้ได้ทดสอบวิธีการในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชิ้อโรคที่แพร่กระจายและติดต่อกันได้ง่ายอย่าง Ebola หรือ MERS มาเมื่อสองสัปดาห์ก่อน (ซึ่งก็เลยได้ใช้จริงกับคนไข้รายนี้พอดี) และจริง ๆ แล้วโรงพยาบาลได้เริ่มปรับเปลี่ยนวิธีรักษามาตั้งแต่หลังการระบาดของ Ebola 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: CNN Health

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

ตอนแรกคิดว่าน่าเสียดายที่ยังต้องใช้พยาบาลเลื่อนหุ่นยนต์อยู่ ถ้าให้หุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้เอง หรือใช้รีโมทควบคุมหุ่นยนต์ได้ก็น่าจะทำให้พยาบาลไม่ต้องเสี่ยง แต่คิดอีกที ยังไงก็คงต้องใช้พยาบาลที่เป็นคนดูแลคนไข้อยู่ดี บุคคลากรทางการแพทย์เป็นอาชีพที่ต้องเสียสละจริง ๆ

วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2563

ตัวเลขที่จะเปิดเผยเซลมะเร็ง

นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลด้านชีวการแพทย์ (biomedical) ที่ Stanford University School of Medicine พบว่าจำนวนยีน (gene) ที่เซลใช้ในการสร้าง RNA เป็นตัวบ่งชี้ที่น่าเชื่อถือในการระบุยีนที่ทำให้เกิดมะเร็ง ในปัจจุบันเชื่อกันว่าเซลต้นกำเนิด (stem cell) มักจะเป็นต้นเหตุในการเกิดมะเร็ง แต่การค้นหาเซลต้นกำเนิดทำได้ยาก เพราะมันมักจะเปลี่ยนรูปไปเป็นผิวหนัง กล้ามเนื้อ และตัวเลวร้ายก็ทำให้เกิดมะเร็ง การรักษามะเร็งในปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่ระบุว่าเซลไหนที่เป็นเซลมะเร็ง แต่การค้นพบนี้จะทำให้การระบุเซลที่อาจเป็นต้นเหตุทำได้ง่ายขึ้น 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Standford Medicine News Center 

วันพุธที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2563

การส่งรหัส OTP ไปที่มือถืออาจไม่ปลอดภัย

การยืนยันตัวตนแบบสองขั้นตอน (Two-Factor Authentication, 2FA) หรือที่เรารูจักกันคือการส่งรหัสผ่านแบบใช้ครั้งเดียว (One Time Password, OTP) ผ่านมาทางมือถือเพื่อให้เราใช้รหัสนั้นเพื่อยืนยันตัวเราในการทำธุรกรรมออนไลน์เช่นการฝากเงินโอนเเงินถอนเงินทำได้โดยปลอดภัยมากขึ้น กว่าการใช้แค่รหัสผ่านของเราอย่างเดียว แต่นักวิจัยจาก Princeton University พบว่าวิธีการดังกล่าวอาจไม่ปลอดภัย เพราะเขาบอกว่าแฮกเกอร์สามารถใช้วิธีที่เรียกว่าการสลับซิม (SIM Swapping) ซึ่งก็คือการเอาซิมใหม่มา แล้วคัดลอกข้อมูลจากซิมเดิมไปใส่ซิมใหม่ จากนั้นก็กลายเป็นเจ้าของเบอร์ได้เลย ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการมือถือที่จะต้องป้องกันไม่ให้มีการกระทำดังกล่าว แต่นักวิจัยพบว่าผู้ให้บริการมือถือขนาดใหญ่ของอเมริกาทั้งห้าแห่ง ไม่มีมาตรการรองรับที่ดีพอในเรื่องนี้ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: NewScientist

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

แปลกใจที่อเมริกาเพิ่งมาตื่นเต้นกัน จริง ๆ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ของคนไทยเลยนะครับ เราเคยเห็นกรณีแบบนี้มาแล้วหลายครั้ง วิธีการก็ง่าย ๆ คือไปแจ้งว่าซิมหาย แล้วขอเปลี่ยนซิม แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นตอนนี้ค่ายมือถือก็เข้มงวดขึ้นโดยขอบัตรประชาชนตัวจริงของผู้มาติดต่อทุกครั้ง ปัญหาแบบนี้ในบ้านเราก็เลยเงียบ ๆ ไป แต่ในอเมริกาเพิ่งมาตื่นเต้นกัน เราจะสรุปได้ไหมนะครับว่าไอ้เรื่องประยุกต์เทคโนโลบีไปในทางไม่ดีนี่ ไทยเราเก่งกว่าอเมริกาเยอะ  

วันอังคารที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2563

เมื่อ Open Source กำลังเข้าสู่วงการผลิตชิป

บริษัทผลิตชิปรายใหญ่เริ่มพิจารณาที่จะใช้ชุดคำสั่งทางฮาร์ดแวร์ของ RISC-V ที่เปิดให้ใช้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายมาใช้แทนชุดคำสั่งที่แต่ละบริษัทคิดขึ้นมาเอง ซึ่งมาตรฐานแบบเปิดเผยโค้ดโปรแกรม (open source) ของ RISC-V จะช่วยในด้านการควบคุมการสื่อสารระหว่างซอฟต์แวร์กับตัวชิป ดังนั้นบริษัทที่ใช้มาตรฐานนี้จะสามารถแข่งขันกับบริษัทอย่างอินเทล (Intel) และ ARM ซึ่งเป็นเจ้าหลักในการผลิตหน่วยประมวลผลของอุปกรณ์เคลื่อนที่ ผู้สนับสนุนแนวทางนี้บอกว่าชุดคำสั่งมาตรฐานเหล่านี้จะช่วยออกแบบชิปที่ดีขึ้นที่สามารถนำไปใช้กับรถขับเคลื่อนด้วยตัวเอง และงานด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้นแนวคิดนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการผลิตชิป โดยเฉพาะในส่วนงานอย่างศูนย์ข้อมูล ซึ่งเริ่มคิดที่จะพัฒนาหน่วยประมวลผลขึ้นมาใช้เองมากขึ้น

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Bloomberg

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

Open Source หรือการเปิดเผยเปิดเผยโค้ดโปรแกรม เป็นคำที่รู้จักกันในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ โดยมีแนวคิดคือผู้ที่สร้างซอฟต์แวร์ จะต้องเปิดเผยโค้ดโปรแกรมให้คนอื่นได้ศึกษา ปรับปรุง และส่งต่อไปยังคนอื่นได้ แนวคิดนี้อยู่บนฐานของการแบ่งปันและร่วมมือ ซึ่งช่วยให้เกิดความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์

วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2563

เทคนิคที่ใช้ในการตรวจสอบตัวแบบความเสี่ยงในการรักษาคนไข้

ตัวแบบความเสี่ยงของคนไข้ (patient risk model) เป็นตัวแบบที่หมอจะนำมาใช้ประกอบในการรักษาคนไข้ ตัวอย่างเช่นถ้ามีคนไข้เข้ามารักษาด้วยอาการหัวใจวาย หมอก็จะใช้ตัวแบบตวามเสี่ยงมาประกอบการรักษาโดยดูจากปัจจัยเช่นถ้าอายุเท่านี้ มีอาการแบบนี้ ต้องรักษาแบบนี้ เป็นต้น ซึ่งตัวแบบนี้มีประโยชน์มาก แต่บางครั้งมันก็ใช้ไม่ได้กับคนไข้ทุกคน เช่นอาจมีบางคนที่อายุเท่ากับที่ระบุไว้ในตัวแบบ แต่ถ้ารักษาโดยใช้วิธีการที่กำหนดไว้ในตัวแบบอาจมีความเสี่ยงกับชีวิตของคนไข้

นักวิจัยจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) ศูนย์วิจัย IBM และโรงเรียนแพทย์แห่ง University of Massachusetts จึงได้ร่วมกันพัฒนาเทคนิคที่ใช้ในการตรวจสอบความเที่ยงตรงของตัวแบบขึ้นมา โดยเทคนิคนี้จะให้ค่าความไม่น่าเชื่อถือในช่วงคะแนนจาก 0 ถึง 1 โดยการเปรียบเทียบคะแนนความเสี่ยงจากตัวแบบความเสี่ยงของคนไข้ที่ใช้ตามปกติ กับค่าความเสี่ยงที่สร้างจากตัวแบบอื่น ๆ ที่ฝึกสอนจากชุดข้อมูลเดียวกัน โดยถ้าได้ค่าความเสี่ยงต่างกัน แสดงว่าตัวแบบไม่น่าเชื่อถือ โดยถ้าค่าความไม่น่าเชื่อถือยิ่งสูงแสดงว่าตัวแบบยิ่งเขื่อถือไม่ได้ และถ้านำไปรักษาคนไข้ก็เท่ากับโยนหัวโยนก้อย คือมีโอกาสรอดกับตายเท่า ๆ กัน

นักวิจัยคาดหวังว่าในอนาคตจะมีซอฟต์แวร์ที่สมบูรณ์ซึ่งใช้เทคนิคนี้ ตัวอย่างการใช้งานก็เช่นถ้ามีคนไข้มา แล้วระบบบอกว่าตัวแบบความเสี่ยงอาจใช้ได้ไม่ดีกับคนไข้คนนี้ หมอก็สามารถขอให้ระบบปรับปรุงตัวแบบความเสี่ยงที่เหมาะกับคนไข้มากขึ้นได้

อ่านข่าวเต็มได้ที่: MIT News


วันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2563

การทำให้อุปกรณ์ IoT สื่อสารกันได้เร็วขึ้นโดยใช้ทรัพยากรที่ไม่ได้ใช้ของการสื่อสารไร้สาย

นักวิจัยจาก  University of Pittsburgh’s Swanson School of Engineering ได้ค้นพบวิธีที่จะลดความล่าช้า (delay) ในการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ IoT โดยไม่ต้องเพิ่มฮาร์ดแวร์ใหม่เข้าไป แต่ใช้ทรัพยากรที่เหลือไม่ได้ใช้ในเครือข่ายการสื่อสารไร้สายมาช่วยในการรับส่งข้อมูล ซึ่งผลการทดลองพบว่าสามารถลดความล่าช้าได้ถึง 90% การสื่อสารที่รวดเร็วแบบมีความล่าช้าน้อยนี้จะมีความสำคัญมากขึ้นอย่างแน่นอนครับ ในข่าวได้ยกตัวอย่างของการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ที่จำเป็นที่จะต้องได้รับข้อมูลให้เร็วมากที่สุด

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  Pitt Swanson Engineering

  

วันเสาร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2563

เว็บไซต์หลอกลวงเอาบัญชีเงินคริปโต

วันนี้เจอเว็บไซต์ที่น่าจะเป็นเว็บไซต์หลอกลวงเอาบัญชีเงินคริปโตของเราครับ ก็เลยเอามาเขียนเตือนกันไว้ เรืองก็คือผมไปสมัครเป็นสมาชิกของกลุ่ม Blockchain กลุ่มหนึ่ง คืออันนี้ https://www.facebook.com/Blockchain-Community-101423281418037/ เข้าใจว่าตอนสมัครเพราะมันขึ้นมาจาก Facebook Ad เราสนใจ Blockhain อยู่แล้วก็เลยสมัครเข้าไป จากที่เข้าไปดูกลุ่มนี้เพิ่งถูกสร้างเมื่อ 23 มกราคมปี 2020 นี้เองครับ ผมก็ไม่ได้สนใจอะไร จนได้รับข้อความว่ามีการโพสต์ถึงผมในกลุ่ม ผมเข้าไปดูก็เห็นเอารูปรูปหนึ่งจาก Facebook ผมไปโพสต์ในกลุ่ม แล้วก็โพสต์ข้อความนี้

Congratulations!
Get Extra Bonus 100%!
You are one active users who are lucky to get 0.6300 BTC & 35.66 Ethereum (ETH).
Do not miss 0.6300 BTC & 35.66 Ethereum (ETH) are on the way your wallet.
Immediately get your bonus here:
└► 
https://bit.ly/2sWBokm?Blockchain-GiveAway
Description:
* Only for Accounts that already have transactions that can receive BTC, Ethereum (ETH) wallet.
* We will be give to users who have 5 transactions history.
* For security system without cheating.
* For loyal users.
* If not eligible, The invite bonus can't be found
* And Share your friends.
Best Regards,
Thanks for choosing blockchain – Happy trading!
Kind regards
©2020 BLOCKCHAIN ALL RIGHTS RESERVED

จากที่ไล่ไปดูก็มีสมาชิกกลุ่มอีกหลายคนที่ได้รับข้อความนี้
ซึ่งจากการเอาลิงก์ไปเช็คก็มีหลายที่รายงานว่าเป็น Phishing แต่ไม่ได้มีมัลแวร์อะไรผมก็ลองคลิกเข้าไปก็เจอหน้านี้


จะเห็นว่าบอกว่าจะให้ 0.6300 BTC & 35.66 Ethereum (ETH) เหมือนที่โพสต์ไว้ และยังบอกอีกว่า ยิ่งมีเงินในบัญชีเยอะยิ่งได้เยอะ และเมื่อคลิกปุ่ม Claim เข้าไปยิ่งสนุกครับ เพราะมันพาไปที่อีกเว็บหนึ่งซึ่งมีหน้าจอนี้ 


ไม่รู้เห็นชัดไหมนะครับ สรุปให้ครับ มันให้เราใส่ 12-word phrase ครับ ซึ่งแน่นอนครับถ้าเราให้มันไป มันก็ยึดบัญชีเราไปได้เลยนะครับ เฮ้อมันเล่นกันง่ายดีเนอะ 

สำหรับใครที่ไม่รู้ หรือเพิ่งเข้าสู่วงการเงินคริปโต หรือวงการบล็อกเชนนะครับ จำไว้นะครับว่าถ้าใครจะโอนเงินให้คุณ สิ่งที่คุณต้องให้ก็คือเลขบัญชีของคุณเท่านั้นนะครับ ถ้าขอ 12-word phrase หรือ private key อะไร โดยอ้างว่าจะต้องยืนยันว่าเป็นตัวคุณ อย่าไปเชื่อ และอย่าให้ไปเด็ดขาดครับ 




ใช้ขนนกจริงในการสร้างหุ่นยนต์ที่บินได้เหมือนนก

นักวิจัยจาก Stanford University ใช้ขนนกพิราบเป็นองค์ประกอบของการสร้างหุ่นยนต์ และทำให้หุ่นยนต์บินได้เหมือนนก หุ่นยนต์นี้เขาตั้งชื่อว่า หุ่นยนต์นกพิราบ (PegionBot) โดยใช้ขนนกพิราบเป็นองค์ประกอบของปีกทั้งสองข้าง ทำให้หุ่นยนต์นี้สามารถบินได้ด้วยความเร็ว 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นักวิจัยบอกว่าการที่ใช้ขนนกจริงก็เพราะว่า เขาไม่สามารถสร้างขนนกเทียมขึ้นมาให้มีคุณสมบัติของขนนกจริง ๆ แบบนี้ได้ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: NewScientist

เพิ่มเติมเสริมข่าว: 

จะเรียกว่านกพิราบไซบอร์กได้ไหมนะ หวังว่าคงไม่ฆ่านกจริงเอามาสร้างหุ่นยนต์นะ  

วันศุกร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2563

ผมสามารถสร้างนิสัยได้หนึ่งนิสัยแล้ว

ขอบันทึกไว้หน่อยว่าปีนี้ผมสร้างนิสัยได้หนึ่งนิสัยแล้ว คือเขียนบล็อกสรุปข่าวด้านไอที ได้ 21 วันติดต่อกัน (จริง ๆ ได้ 21 วันตั้งแต่เมื่อวานแล้ว) ผมตั้งใจจะสร้างนิสัยให้ได้อย่างหนึ่งเป็นปณิธานของปีใหม่ปีนี้ โดยจากการโพสต์ Face Book ของ อ.ธงชัย รุ่นพี่สมัยมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นอาจารย์สอนวิชา Innovative Thinking ที่โด่งดังมากในจุฬา เป็นวิชาเลือกฮอตฮิตของนิสิตจุฬา ถึงกับต้องมีการคัดเลือกนักศึกษากันแทบทุกเทอม ซึ่งหนึ่งในการบ้านที่อ.ธงชัย ได้มอบหมายให้นักศึกษาทำเพื่อเสริมสร้างนิสัยก็คือหาสิ่งที่ต้องการทำเป็นนิสัย แล้วทำให้ได้ติดต่อกัน 21 วัน

ผมเห็นว่ามีประโยชน์ จริง ๆ ตั้งใจทำมานานแล้ว แต่ก็อ้างโน่นอ้างนี้กับตัวเองมาตลอด จนปีนี้เห็นว่าต้องเริ่มทำให้ได้แล้ว คราวนี้ก็เลยเลือกว่าจะทำอะไรดี จริง ๆ มีสิ่งที่ผมชอบทำอยู่อย่างหนึ่งก็คือ ผมชอบแชร์เรื่องที่อ่านมาให้คนอื่นรับรู้ด้วย และจริง ๆ ผมได้เริ่มทำมาหลายปีแล้ว แต่ทำไม่สม่ำเสมอ นั่นคือการเลือกข่าวด้านไอที ที่เน้นไปที่งานวิจัย ที่ไม่ใช่ข่าวที่เขียนไปแล้วในบล็อกข่าวด้านไอทียอดนิยมอย่างใน blognone หรือข่าวไอทีที่เกี่ยวกับผู้ใช้ทั่ว ๆ ไป หรือข่าวผลิตภัณฑ์ที่มีคนทำมากมาย

โดยตอนแรกผมได้เขียนลงในบล็อกของผมบล็อกนี้แหละครับ เลือกข่าวแล้วก็เอามาเขียน แรก ๆ ก็ทำสองสามวันสักเรื่องหนึ่ง แต่ปรากฏว่าพอมาช่วงหลัง ๆ การโพสต์เริ่มห่างไปเรื่อย ๆ ซึ่งเหตุผลก็อย่างที่หลายคนชอบเอามาอ้างก็คือไม่มีเวลา และกลายเป็นว่าบางปีแทบไม่ได้โพสต์อะไรเลย แม้แต่เรื่องทั่ว ๆ ไป ซึ่งผมมักจะแทรกเขียนเข้ามาบ้างถ้ามีเหตุการณ์ที่น่าสนใจ ตอนหลังต้องบอกว่าแทบปล่อยร้างเลย ปีหนึ่งเขียนแค่สองสามเรื่องก็ยังมี

ผมได้อ่านโพสต์จากอ.ธงชัยเรื่องอุปสรรคของการสร้างนิสัยใหม่ อ่านเสร็จก็เอามาวิเคราะห์ตัวเองว่าทำไมถึงทำให้สม่ำเสมอไม่ได้ ก็พบว่าผมมักจะอ้างว่าตัวเองเหนื่อยจากการทำงานมาแล้ว และการเขียนบล็อกหนึ่งบล็อกใช้เวลามาก คราวนี้ผมก็เลยถามตัวเองว่า ทำไมมันใช้เวลามาก ผมก็ได้คำตอบว่า เพราะตอนแรกผมพยายามเขียนในแบบกึ่ง ๆ แปลข่าว คือค่อนข้างจะเขียนละเอียด และข่าวที่เลือกมาส่วนใหญ่มันเป็นงานวิจัย ซึ่งในบางเรื่องพอลงไปลึก ๆ เราก็ต้องไปค้นคว้าเพิ่มเติมมาเขียน อธิบายให้ทั้งตัวเองและคนอ่านได้เข้าใจด้วย ดังนั้นนอกจากจะใช้เวลามากแล้ว ยังเขียนได้น้อยเรื่องอีกด้วย คืออ่านมาหลายเรื่อง แต่เขียนได้ไม่กี่เรื่อง ก็เลยเปลี่ยนแนวใหม่เป็นสรุปข่าว แล้วก็พยายามสรุปหลาย ๆ ข่าวมาเขียนในบล็อกเดียวกัน ก็ดีขึ้น แต่ก็ยังใช้เวลามากอยู่ดี และสิ่งที่ทำไม่ได้คือความสม่ำเสมอ เพราะมักจะอ้างว่าต้องทำงานอื่นก่อน พอทำงานอื่นเสร็จก็เหนื่อยแล้ว มีอยู่ช่วงหนึ่งเปลี่ยนแนวมาสรุปสั้น ๆ สั้นกว่าเดิมอีก แล้วโพสต์ลง Facebook กับ Twitter แต่ก็ยังขาดความสม่ำเสมออยู่ดี แล้วก็ยังติดโลภมากคือจะโพสต์ให้ได้วันละหลาย ๆ ข่าว

เมื่อวิเคราะห์ตัวเองได้แล้ว ก็เลยตั้งใจว่าเอาเป็นสรุปข่าวแล้วโพสต์วันละข่าวพอ ทำทีละเล็กละน้อยดีกว่าไม่ทำ ผมก็เลยตั้งต้นทำจริง ๆ ทำตั้งแต่วันปีใหม่เลย โดยโพสต์ลง Facebook กับ Twitter วันละข่าวทำไปได้สองวัน ก็คิดว่าทำไมเราไม่เขียนลงบล็อกของเราไว้ด้วย แล้วค่อยแชร์ข่าวไป เพราะเราตั้งใจเขียนบล็อกแนวนี้อยู่แล้ว บล็อกจะได้มีความเคลื่อนไหว และเวลาจะค้นเรื่องที่สรุปไปแล้วก็ทำได้ง่ายด้วย ก็เลยเปลี่ยนมาเขียนสรุปข่าวในบล็อกก่อน แล้วค่อยแชร์ไป Facebook กับ Twitter ทำให้ได้ทำตามจุดประสงค์ของตัวเองที่ตั้งใจทำบล็อกแต่แรก

การทำให้สำเร็จก็ต้องมีการวางแผน ผมก็พยายามทำตามคำแนะนำของอ.ธงชัย ก็คือพยายามทำเวลาที่ยังสดชื่นอยู่ ผมมักจะใช้เวลาอ่านข่าวตอนเช้าอยู่แล้ว พออ่านแล้วก็เลือกว่าอันไหนน่าสนใจ แล้วก็ใช้เวลาสรุป และเขียนบล็อก โดยวางเวลาว่าจะใช้เวลาสรุปและเขียนไม่เกิน 15-20 นาที ต่อข่าว ถ้าวันไหนมีเวลามาก ก็จะเขียนเผื่อไว้หลายข่าว ทำเหมือนถ่ายสต็อกรายการทีวีเก็บไว้ ถ้าอันไหนเขียนไม่เสร็จมาต่อให้เสร็จตอนจะโพสต์ (ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังไม่มีอันไหนเขียนไม่เสร็จ อาจมีมาแก้มาเกลานิดหน่อยก่อนโพสต์) คือผมวางแผนโพสต์ตอนเย็นถึงค่ำ เพราะคิดว่าน่าจะมีคนอ่านช่วงนั้นมากกว่า 

ซึ่งตอนนี้ก็ทำมาแล้ว 22 วันติดกัน ถ้ารวมสองวันแรกที่ไม่ได้เขียนลงบล็อกด้วย ก็เป็น 24 วันติดกันแล้ว อุปสรรคก็มีอยู่บ้างคือบางวันเกือบลืม หรือบางวันมีธุระต้องกลับบ้านดึก ก็เกือบไม่ได้โพสต์ ดังนั้นต่อไปผมก็คงต้องวางแผนให้ดีขึ้น ถ้ารู้ว่าจะมีธุระก็คงโพสต์ไปก่อนเลย  ประโยชน์ของการสร้างนิสัยนี้ก็คือ ผมได้ทำกิจกรรมที่ผมชอบทำคือแบ่งปันความรู้ บล็อกผมได้มีความเคลื่อนไหวไม่ร้าง และที่สำคัญได้ฝึกทักษะในการย่อความสรุปความให้คนอ่านเข้าใจได้

ก็อยากเชิญชวนให้มาอ่านบล็อกผมกันนะครับ อ่านข่าวงานวิจัย ซึ่งบางเรื่องอาจจะอยู่ในช่วงเริ่มต้น และอาจจะใช้ได้จริงในอีกหลายปีถัดไป สำหรับคนที่เคยติดตามบล็อกผมไว้ และผมทิ้งบล็อกร้างไป ตอนนี้ผมกลับมาแล้วนะครับ :)

เมื่อสร้างนิสัยนี้ได้แล้ว ผมก็มีแผนจะสร้างนิสัยอื่นต่อไป เพราะอ.ธงชัยบอกให้ค่อย ๆ เริ่มไปทีละอย่างอย่าโลภมาก ถ้ามีนิสัยอื่นที่สร้างสำเร็จ และเอามาแบ่งปันกันได้อีกก็จะมาเล่าให้ฟังแล้วกันนะครับ

ท่าเต้นของเราบอกความเป็นเราได้

นักวิจัยจาก Finland’s University of Jyvaskyla ได้สอนคอมพิวเตอร์ให้ระบุตัวตนของคนแต่ละคนได้จากท่าทางในการเต้นรำ จริง ๆ ตอนแรกงานวิจัยนี้มีจุดประสงค์เพื่อใช้การเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) ร่วมกับการตรวจจับความเคลื่อนไหว เพื่อใช้ท่าเต้นเป็นตัวบอกว่าคนคนนั้นกำลังฟังเพลงประเภทไหนอยู่ แต่ปรากฎว่าคอมพิวเตอร์สามารถบอกว่าคนนี้เป็นใครได้ถูกต้องถึง 94% โดยดูจากท่าเต้น โดยนักวิจัยบอกว่าเขาอยากให้การศึกษานี้ไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นมากกว่าการเอาไปสอดแนมประชาชน งานวิจัยที่น่าจะศึกษาต่อไปก็เช่น ท่าเต้นของคนเราจะเปลี่ยนไปตามอายุไหม เราสามารถระบุถึงวัฒนธรรมที่ต่างกันได้จากท่าเต้นไหม หรือคนเราจะสามารถแยกแยะตัวบุคคลได้ดีกว่าคอมพิวเตอร์โดยดูจากท่าเต้นไหม เป็นต้น

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Jyväskylä research news

เพิ่มเติมเสริมข่าว: 

จริง ๆ ก็อยากให้ทดลองเรื่องที่ตั้งใจไว้เดิมต่อด้วยนะ น่าสนใจเหมือนกันว่าเต้นแบบนี้กำลังฟังเพลงประเภทไหนอยู่ 

วันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2563

อิสราเอลพัฒนาขั้นตอนวิธีทำนายภาวะการเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์


นักวิจัยจาก Israel’s Weizmann Institute of Science ได้พัฒนาขั้นตอนวิธีในการทำนายว่าหญิงตั้งครรภ์คนใดมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งจะทำนายได้ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์หรือก่อนหน้าการตั้งครรภ์ก็ได้ ซึ่งผลลัพธ์จะทำให้มีการเตรียมการป้องกันโดยแนะนำด้านโภชนาการและการใช้ชีวิตให้กับผู้เข้ารับการทดสอบ วิธีการที่ใช้ในการทำนายนี้ใช้การเรียนรู้ของเครื่อง โดยใช้ข้อมูลของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ 450,000 ราย ที่คลอดลูกระหว่างปี 2010 ถึง 2017

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Jerusalem Post

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

การป้องกันดีกว่าการรักษา ยิ่งคนที่จะเป็นคุณแม่นี่ยิ่งน่าสงสาร จะรักษาอะไรก็ต้องระวังกลัวจะไปกระทบลูก

วันพุธที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2563

เครื่องวัดค่า pH ของเหงื่อบนอุปกรณ์สวมใส่

ผลงานนี้เป็นของนักวิจัยใกล้บ้านเราคือ National University of Singapore (NUS) ซึ่งได้พัฒนาเครื่องวัดค่า pH  จากเหงื่อ ซึ่งเครื่องนี้สามารถนำไปประกอบเป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์สวมใส่ที่เราใส่กันอยู่ในปัจจุบันเพื่อดูแลสุขภาพ เช่นสายรัดข้อมือที่นับก้าวเดิน วัดระดับการเต้นของหัวใจ หรือพวกสมาร์ตวอตช์ต่าง ๆ ได้โดยง่ายและมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำมาก ค่า pH จากเหงื่อสามารถบอกข้อมูลสุขภาพได้มากมายเช่นบอกว่าเรากำลังอยู่ในภาวะขาดน้ำหรือไม่ สามารถบอกสภาวะที่ผิวหนังอักเสบ และติดเชิ้อได้ ในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานค่า pH จากเหงื่อยังสามารถเป็นตัวบอกภาวะที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เช่นถ้าค่า pH สูงในขณะที่เหงื่อออกมาก และเหงื่อออกตอนกลางคืน อาจเป็นสัญญาณว่าระดับกลูโคสในเลือดต่ำต้องรีบพบแพทย์เป็นต้น 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: NUSNews

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

เพิ่งอ่านข่าวจับโจรปล้นร้านทองที่ยิงกราดฆ่าสามศพ บอกว่าเหงื่อสามารถนำมาพิสูจน์ได้ โดยวิเคราะห์จากเหงื่อที่หยดบนเคาเตอร์ร้านทอง ซึ่งสามารถตรวจสอบตัวคนร้ายได้แม้คนร้ายจะไม่ทิ้งลายนิ้วมือไว้เลย พออ่านข่าวนี้อีกเลยเพิ่งรู้ว่าเหงื่อบอกอะไรได้มากมายขนาดนี้

วันอังคารที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2563

นักศึกษาเบื่อหรือยัง AI ช่วยบอกได้

นักวิจัยจาก Hong Kong University of Science and Technology (HKUST) และ China's Harbin Engineering University ร่วมกันพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) เพื่อช่วยวัดอารมณ์ของนักเรียนนักศึกษา โดยวิเคราะห์จากการแสดงความรู้สึกทางใบหน้าของนักศึกษา เพื่อที่จะวิเคราะห์ระดับความสนใจต่อการเรียนของนักศึกษาในขณะนั้น โดยได้มีการทดสอบระบบนี้กับนักเรียนชั้นอนุบาลห้องหนึ่งในญี่ปุ่น และชั้นเรียนในระดับมหาวิทยาลัยชั้นเรียนหนึ่งในฮ่องกง ผลการทดลองออกมายังไม่ดีนัก โดยระบบสามารถตรวจจับอารมณ์ที่มองเห็นได้อย่างเด่นชัดนั่นคือนักเรียนนักศึกษากำลังรู้สึกสนุก แต่ยังไม่สามารถตรวจจับความรู้สึกโกรธหรือเศร้าได้อย่างถูกต้อง ซึ่งนักวิจัยจะต้องไปปรับปรุงโมเดลต่อไป 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: IEEE Spectrum 

เพิ่มเติมเสริมข่าว: 

เหมือนเคยอ่านข่าวว่ามีงานวิจัยแนวนี้อยู่หลายปีแล้ว แต่น่าแปลกใจว่างานวิจัยนี้เหมือนไม่ได้ต่อยอดขึ้นมา เหมือนทำขึ้นมาใหม่ เพราะได้ผลลัพธ์ไม่ดีมากนัก สำหรับตัวเองไม่ต้องใช้ AI หรอก แค่เดินเข้าห้องก็รู้แล้วว่านักศึกษาอยากเลิกเรียนกลับบ้าน :) 

วันจันทร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2563

เกาหลีใต้เปิดโรงเรียนเพื่อฝึกคนให้ผ่านการสัมภาษณ์การทำงานกับ AI

บริษัทใหญ่ ๆ ในเกาหลีใต้ได้นำระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) มาใช้ในการคัดเลือกคนเข้าทำงาน ซึ่งคีย์หลักคือการสัมภาษณ์ผ่านทางวีดีโอ ซึ่ง AI จะใช้เทคโนโลยีการรู้จำใบหน้าในการประเมินผู้สมัคร ซึ่งเหตุนี้ทำให้มีการเปิดโรงเรียนเพื่อติวผู้จะสมัครงานว่าควรทำยังไงเพื่อให้ผ่านการสอบสัมภาษณ์กับ AI ไปได้ ตัวอย่างการสอนก็เช่น "อย่าพยายามยิ้มด้วยริมฝีปาก ต้องให้ตายิ้มด้วย" ตามข่าวบอกว่าอย่างน้อย 1 ใน 4 ของบริษัทระดับท้อป 131 บริษัทของเกาหลีใต้ กำลังใช้หรือมีแผนที่จะใช้ AI ในการคัดคนเข้าทำงาน โดยการสัมภาษณ์งานของ AI จะใช้เกมเพื่อทดสอบคุณสมบัติ 37 ด้าน ของผู้สมัคร ซึ่งไม่ใช่การวัดความจำ และบางเกมไม่มีคำตอบที่ถูกต้องด้วยซ้ำ เพราะต้องการวัดวิธีการแก้ปัญหา และทัศนคติของผู้สมัครมากกว่า ตามข่าวมีผู้สมัครบางคนรู้สึกสิ้นหวัง เพราะเขาไม่สามารถที่จะจ่ายเงินเพื่อไปเข้าโรงเรียนติวได้ และเขาบอกว่าไม่มีทางที่จะเอาชนะ AI ได้เลย

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Reuters Technology News

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

ฝ่าย HR อาจเป็นอีกงานหนึ่งที่ถูก Distrupt ถ้าเป็นแบบนี้ แต่ส่วนตัวมองว่าถ้าเราต้องฝึกเพื่อจะเอาชนะ AI ให้ได้ และถ้า AI ไม่สามารถหาคนที่เหมาะสมจริง ๆ ที่ไม่ผ่านการฝึกมาได้ ระบบนี้ไม่น่าถือว่าเป็นระบบที่ดี สำหรับประเทศไทยนี่อาจเป็นตลาดใหม่ของโรงเรียนกวดวิชา หลังจากจำนวนเด็กลดลง :)

วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2563

เมื่อบริษัทเทคโนโลยีหนุน Google ในการสู้กับ Oracle

บริษัทเทคโนโลยีที่เป็นคู่แข่งของ Google อย่างไมโครซอฟท์ ไอบีเอ็ม หรือโมซิลลา ต่างออกมาสนับสนุน Google ในคดีฟ้องร้องที่ Oracle ฟ้อง Google เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ์การใช้งาน API (Application Program Interface) ของภาษา Java ของ Oracle ในการนำไปพัฒนาระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ การฟ้องร้องนี้มีระยะเวลานานประมาณ 10 ปีได้แล้ว โดยกำลังจะมีการตัดสินจากศาลสูงของสหรัฐภายในปีนี้ ซึ่งบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายที่เป็นคู่แข่งของ Google ได้ขึ้นให้การต่อศาลโดยสนับสนุน Goolge เพราะบริษัทเหล่านี้มองว่าสิ่งที่ Oracle ฟ้องร้องในเรื่องของ API เป็นการขัดขวางนวัตกรรม โดย IBM บอกว่า API ไม่ควรจะจดลิขสิทธิ์ได้ ในขณะที่ Oracle ยังยืนยันว่า Google เป็นโขมย และยังทำลายจุดแข็งของ Java ในแง่ของการทำงานร่วมกันได้

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Hill

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

ขออธิบายเพิ่มเติมว่าทำไมบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ถึงออกมาเข้าข้าง Google และถ้า Oracle ชนะมันจะมีอาจมีผลกระทบกับอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ยังไงบ้าง ก่อนอื่นมาทำความรู้จัก API (Application Program Interface) กันก่อน ซึ่งก็ขออธิบายง่าย ๆ ว่ามันคือลิสต์รายชื่อของฟังก์ชันที่นักเขียนโปรแกรมสามารถเรียกใช้จากคลังโปรแกรม (program library) ที่พัฒนาไว้ก่อนหน้าแล้วได้ โดยประโยชน์ของมันก็คือนักเขียนโปรแกรมสามารถเรียกใช้ฟังก์ชันจากคลังโปรแกรมได้โดยไม่ต้องรู้รายละเอียดว่าโค้ดในคลังโปรแกรมเขียนขึ้นมายังไง เขียนขึ้นมาด้วยภาษาอะไร ทำงานบนแพลตฟอร์มแบบไหน

ในปัจจุบันเราต้องเขียนโปรแกรมให้ทำงานได้บนอุปกรณ์หลากหลายเช่นทั้งบนมือถือ บนแท็บเล็ต บนคอมพิวเตอร์ ซึ่งนอกจากตัวอุปกรณ์แล้วระบบปฏิบัติการก็ยังมีหลายตัวอีกด้วย ดังนั้นคลังโปรแกรมก็อาจจำเป็นต้องพัฒนาขึ้นมาสำหรับอุปกรณ์ต่าง ๆ บนระบบปฏิบัตการต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งถ้าเราสามารถใช้ API เดียวกัน ในการเรียกคลังโปรแกรมเหล่านี้ เราก็สามารถนำโค้ดที่เขียนกับอุปกรณ์ตัวหนึ่ง มาใช้กับโค้ดสำหรับอุปกรณ์อีกตัวหนึ่งได้โดยง่าย

แต่สมมติถ้า Oracle ชนะในคดีนี้ คือตัว API สามารถมีลิขสิทธื์ได้ มันก็อาจทำให้เกิดปัญหาเช่นสมมติผมสร้างคลังโปรแกรมขึ้นมาให้ทำงานกับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ซึ่งแน่นอนผมต้องมี API ให้นักพัฒนาที่จะเอาคลังโปรแกรมของผมไปใช้ เรียกใช้คลังโปรแกรมของผมได้ คราวนี้ถ้ามีคนอยากพัฒนาคลังโปรแกรมที่ทำงานเหมือนของผมแต่ทำงานบนแอนดรอยด์ แต่เพราะ API เป็นลิขสิทธิ์ของผม ดังนั้นเขาต้องสร้าง API ของเขาเอง นั่นหมายความว่าตอนนี้นักพัฒนาซึ่งอยากพัฒนาให้ทำงานได้บนวินโดวส์ และบนแอนดรอยด์จำเป็นต้องเขียนโปรแกรมสองแบบเพื่อใช้เรียกใช้คลังโปรแกรมที่ทำงานเหมือนกัน และลองคิดต่อ ๆ ไปสิครับว่าถ้าต้องเขียนโปรแกรมสำหรับ iOS Mac OS และอื่น ๆ อีกมากมายจะยุ่งแค่ไหน

ยิ่งไปกว่านั้นเหตุการณ์นี้อาจทำให้เกิดการผูกขาดเช่น ถ้านักพัฒนาโปรแกรมไม่อยากเขียนโค้ดเยอะ เขาก็จำเป็นต้องรอให้ผมพัฒนาคลังโปรแกรมให้ทำงานบนเครื่องที่เขาอยากใช้ ถึงตรงนี้หลายคนอาจถามว่าแล้วอย่างนี้คนคิดคนแรกก็เสียเปรียบสิ อุตสาห์ทำขึ้นมาก่อน พอทำดีก็มีคนเอาไปทำตาม คือต้องเข้าใจนะครับว่าตัวโค้ดในคลังโปรแกรมยังเป็นลิขสิทธิ์ของคนที่ทำมันขึ้นมา คนที่สร้างคลังโปรแกรมตัวถัดมาต้องยังคงต้องเขียนโค้ดคลังโปรแกรมของตัวเองขึ้นมาเอง แต่เขาสามารถใช้ API เหมือนของคนแรกได้ คนแรกถ้าต้องการจะแข่งขันก็สามารถสร้างคลังโปรแกรมให้ทำงานบนแพลตฟอร์มเดียวกันกับคนที่สองขึ้นมาแข่งได้ และถ้ามันดีกว่านักพัฒนาก็สามารถเปลี่ยนมาใช้ได้โดยง่าย เพราะใช้ API เดียวกัน โค้ดก็ไม่ต้องเปลี่ยนอะไรอยู่แล้ว

ถ้าอ่านแล้วยังไม่เข้าใจว่าถ้า Oracle ชนะจะมีผลยังไง ลองจินตนาการว่าเราอยู่ในโลกซึ่งรูที่เติมน้ำมันรถมีลิขสิทธิ์ รถแต่ละยี่ห้อไม่สามารถใช้รูเติมน้ำมันแบบเดียวกันได้ เช่นถ้า Toyota ใช้วงกลมไปแล้ว  Honda ถ้าอยากใช้วงกลมด้วยต้องจ่ายเงินให้ Toyota ตามยอดขาย Honda ไม่ยอมก็เลยไปใช้รูเติมน้ำมันเป็นสี่เหลี่ยม แล้วยี่ห้ออื่น ๆ ก็ใช้รูปแบบของตัวเอง ลองคิดกันดูแล้วกันครับว่ามันจะยุ่งแค่ไหน




วันเสาร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2563

ตรวจจับวัตถุด้วยคลื่นไมโครเวฟและการเรียนรู้ของเครื่อง

นักวิจัยจาก  Duke University  และ Institut de Physique de Nice จากประเทศฝรั่งเศส ได้พัฒนาวิธีการที่ใช้การเรียนรู้ของเครื่องเพื่อนำคลื่่นไมโครเวฟมาใช้ในการระบุวัตถุ ซึ่งวิธีนี้จะเพิ่มความแม่นยำในขณะที่จะลดเวลาและใช้พลังงานน้อยกว่าวิธีการที่ใช้อยู่เดิม ซึ่งผลของการวิจัยนี้จะสามารถนำไปใช้กับงานที่ต้องการการตรวจจับวัตถุให้ได้อย่างรวดเร็วเช่น รถที่ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง และเซ็นเซอร์ตรวจจับความปลอดภัยเป็นต้น 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Duke PRATT SCHOOL of ENGINEERING News 

วันศุกร์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2563

สถิติโลกใหม่ของนักวิ่งที่เป็นอัมพาตในการแข่งขันวิ่งมาราธอน

 Adam Gorlitsky ซึ่งเป็นอัมพาตตั้งแต่เอวลงไปสร้างสถิติใหม่ในการเข้าเส้นชัยในการแข่งขันมาราธอน โดยใช้ชุดที่ออกแบบมาเป็นโครงเพื่อให้เคลื่อนไหวได้ (ไม่รู้จะอธิบายยังไง ดูรูปจากข่าวเต็มแล้วกันนะครับ) โดยสถิตินี้เกิดขึ้นในการแช่งขัน Charleston (SC) Marathon 2020 โดยใช้เวลาในการเข้าเส้นชัย 33 ชั่วโมง 50 นาที 23 วินาที เขาออกเดินวันพฤหัสและเข้าเส้นชัยในเช้าวันเสาร์ โดยไ่ม่ได้หยุดพักหรือนอนเลย ซึ่งเวลาที่ทำได้นี้ได้ทำลายสถิติของ ชายชาวอังกฤษคือ Simon Kindleysides ที่ทำไว้ใน  London Marathon 2018 ที่ใช้เวลา 36 ชั่วโมง 46 นาที ซึ่งตอนนี้ก็ต้องรอให้ Guinness บันทึกอย่างเป็นทางการต่อไป สำหรับ Adam Gorlitsky เป็นอัมพาตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ในปี 2005 ทำให้มีการบาดเจ็บที่เส้นประสาทไขสันหลังหลายแห่ง

 อ่านข่าวเต็มได้ที่: CNN

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

อ่านข่าวแล้วก็สร้างกำลังใจดีครับ คนเราถ้าไม่ยอมแพ้กับเหตุการณ์ไม่คาดหมายที่เกิดกับตัวเอง ก็สามารถสร้างสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นได้

วันพฤหัสบดีที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2563

งานวิจัยที่จะช่วยลดอันตรายกับตัวเราในการใช้งาน VR

นักวิจัยจาก Oregon State University (OSU) และ Northern Illinois University ได้ประเมินการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อและกระดูกจากการใช้งาน ความจริงเสมือน (Virtual Reality, VR) เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงส่วนติดต่อกับผู้ใช้ที่ใช้งาน VR เช่นการที่ต้องยืดแขนเข้าออกอย่างรวดเร็วเพื่อไปแตะวัตถุเสมือนที่เห็นใน VR อาจทำให้เกิดบาดเจ็บที่หัวไหล่ การใส่อุปกรณ์ VR หนัก ๆ ที่หัวก็อาจทำให้คอมีปัญหา งานวิจัยนี้จะนำไปใช้ในการออกแบบส่วนติดต่อกับผู้ใช้สำหรับแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่ใช้ VR ตัวอย่างเช่นวัตถุเสมือนใน VR ที่ผู้ใช้ใช้บ่อย ๆ ก็ควรจะวางไว้ใกล้ตัวผู้ใช้ที่สุด และวัตถุควรจะวางอยู่ในระดับสายตาไม่ควรสูงกว่าหรือต่ำกว่าเป็นต้น 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Oregon State University News Room

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

งานด้าน VR ตอนนี้หลายคนอาจจะคิดว่าเน้นหนักไปที่เกมเท่านั้น แต่จริง ๆ มันกำลังเข้ามามีบทบาททั้งด้านการศึกษา และอุตสาหกรรมมากขึ้นด้วย ดังนั้นงานวิจัยนี้ไม่ได้ช่วยแค่เกมเมอร์เท่านั้น  

วันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2563

ใช้คลาวด์เพื่อเป็นเทวดาผู้พิทักษ์สำหรับรถยนต์

เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับการขับขี่รถยนต์ วิศวกรจากพานาโซนิกได้เริ่มพัฒนาระบบที่เขาตั้งชื่อว่า เข็มขัดนิรภัยดิจิทัล (digital seatbelt) ซึ่งจะส่งข้อมูลของรถยนต์เช่นความเร็ว และทิศทาง ไปยังระบบโครงสร้างพื้นฐานของการคมนาคม (transportation infrastructure) (ไม่รู้จะเรียกอะไรดี เพราะไทยยังไม่น่าจะมีนะครับระบบนี้) จากนั้นระบบจะส่งข้อมูลกลับมาเตือนให้คนขับรู้สภาพถนนที่อาจเป็นปัญหาเช่นมีการก่อสร้าง หรือแม้แต่รถติด โดยเขาได้ทดลองร่วมกับกรมการขนส่ง (department of transporation) ในรัฐโคโรลาโด และยูทาห์ ซึ่งตามข่าวบอกว่าจริง ๆ ระบบที่พูดคุยกันแบบโต้ตอบไปมาแบบนี้ ใช้กับถนนสายหลัก ๆ แล้วหลายแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะในยุโรป ดังนั้นวิศวกรของพานาโซนิกมีแผนที่จะทำให้ก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยการพัฒนาระบบที่เรียกว่า Cirrus ซึ่งจะใช้ข้อมูลการขับขี่ที่มากกว่าความเร็วและทิศทาง ข้อมูลที่เพิ่มเข้ามาก็เช่น ข้อมูลของระบบเบรค สถานะของที่ปัดน้ำฝน ข้อมูลของไฟตัดหมอกเป็นต้น ไปยังระบบคลาวด์ และใช้การเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) เพื่อวิเคราะห์และสร้างการเตือนให้เหมาะสมกับคนขับแต่ละคนได้ ซึ่งทางพานาโซนิคบอกว่าจะเปิดระบบให้นักพัฒนาแอปเข้ามาใช้ได้ด้วย ซึ่งทางพานาโซนิคบอกว่าเขากำลังสร้างระบบประสาทที่เป็นศูนย์กลางเพื่อเชื่อมต่อรถยนต์เข้าด้วยกัน

อ่านข่าวเต็มได้ที่: IEEE Spectrum

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

ในขณะที่รถขับเคลื่อนด้วยตัวเองยังคงต้องใช้เวลาอีกสักพักหนึ่ง แต่เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องก็เริ่มปล่อยออกมาให้เราได้ใช้กันแล้ว ย้อนมามองในประเทศไทย ประเทศซึ่งมีสถิติอุบัติเหตุบนถนนติดอันดับต้น ๆ ของโลก เรายังใช้วิธีรณรงค์เมาไม่ขับ เปลี่ยนชื่อ 7 วัน อันตราย เป็น 7 วัน แห่งความสุข เพื่อแก้ปัญหาอุบัติเหตุกันอยู่เลย

วันอังคารที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2563

เซ็นเซอร์แบบพลาสเตอร์ปิดแผลเพื่อเก็บข้อมูลร่างกาย

ข่าวนี้เป็นผลงานของนักวิจัยเอเชีย เป็นนักวิจัยจากเกาหลีใต้ครับ โดยเขาได้ออกแบบเซ็นเซอร์ติดตัวผู้ใช้ที่มีลักษณะเหมือนพลาสเตอร์ปิดแผล (รูปดูได้ในข่าวเต็ม) วิธีการใช้งานก็เหมือนกับพลาสเตอร์คือติดลงไปบนผิวหนังของเรา ตัวเซ็นเซอร์เองสร้างจากวัสดุซึ่งกันน้ำได้ เซ็นเซอร์แบบนี้จะแก้ปัญหาของเซ็นเซอร์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ที่ัมักจะมีข้อจำกัดถ้าผู้ใช้มีการเคลื่อนไหวร่างกายหนัก ๆ เหงื่อและสารคัดหลั่งต่าง ๆ จากร่างกาย  เซ็นเซอร์ที่พัฒนาขึ้นนี้สามารถเชื่อมต่อกับสมาร์ตโฟนผ่านทางบลูทูช (bluetooth) ทำให้สามารถเก็บข้อมูลขึ้นคลาวด์ได้ตลอดเวลา  ดังนั้นก็จะเป็นประโยชน์มากในการเก็บข้อมูลทางชีวภาพ (biodata) ของผู้ใส่

อ่านข่าวเต็มได้ที่: dgist

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

จินตนาการถึงวันที่เราจะติดเซ็นเซอร์บนตัวกันเป็นเรื่องปกติ อาจมีแฟชันเซ็นเซอร์แบบต่าง ๆ ให้เลือกซื้อกันตามความชอบด้วย


วันจันทร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2563

วอลมาร์ทเปิดตัวหุ่นยนต์ช่วยหยิบของในโกดังสินค้า

เรื่องนี้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีร้านค้าที่ใช้หุ่นยนต์ทำแบบนี้มานานแล้วคืออะเมซอน (Amazon) แต่ตอนนี้วอลมาร์ท (Walmart) ซึ่งเป็นเชนค้าปลีกใหญ่ในสหรัฐได้นำเทคโนโลยีนี้มาใช้บ้างแล้ว โดยได้เปิดตัวร้านค้าแบบอัตโนมัติใน New Hampshire ซึ่งใช้หุ่นยนต์ที่เรียกว่า Alphabot ที่จะช่วยหยิบสินค้าจากโกดังสินค้าตามรายการที่ลูกค้าสั่ง เพื่อนำไปส่งให้คนบรรจุสินค้า และคนก็จะนำสินค้าไปให้กับลูกค้าที่นั่งรออยู่ในรถที่จอดอยู่ในลานจอดรถ ซึ่งวอลมาร์ทบอกว่าได้ใช้หุ่นยนต์ทั้งหมด 30 ตัว ช่วยกันหยิบสินค้า โดยใช้ขั้นตอนวิธีในการเรียงลำดับการสั่งซื้อ ซึ่งผลลัพธ์พบว่าหุ่นยนต์สามารถหยิบสินค้าได้เร็วกว่าคนเดินเข้ามาซื้อเองถึง 10 เท่า แต่หุ่นยนต์นี้ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่นะครับ คือมันยังไม่สามารถที่จะหยิบพวกผักสด หรือของที่สามารถเน่าเสียได้ ซึ่งของแบบนี้ยังคงต้องใช้คนอยู่ และตอนนี้มันยังทำงานได้แค่ 20% ของคุณภาพที่มันควรทำได้ โดยสามารถจัดการกับคำสั่งซื้อได้ 170 รายการต่อวัน ซึ่งทางวอลมาร์ทหวังว่าสักวันหนึ่งหุ่นยนต์จะพัฒนาให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และสามารถนำสินค้าไปส่งให้ลูกค้าถึงรถได้เลย ซึ่งถ้าทำตรงนี้ได้ก็จะช่วยส่งเสริมการซื้อของในแบบ Drive Through มากขึ้น

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Bloomberg

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

ลองนึกภาพในอนาคต เรากลับจากทำงานโดยรถซึ่งขับเองได้ เกิดอยากซื้อของขึ้นมาก็เลยสั่งของออนไลน์ สั่งรถพาเราไปที่ร้าน มีหุ่นยนต์มาส่งของให้เรา ไม่รู้จะอยู่ถึงวันที่มันได้ใช้จริงกันเป็นเรื่องปกติแบบนี้ไหม อ้อแต่ที่ต้องน่ากังวลก่อนตอนนี้คือจะมีเงินเก็บพอที่จะใช้ไปจนตายไหมมากกว่า :)

วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2563

ใช้ AI สู้การคุกคามออนไลน์

นักวิจัยจาก California Institute of Technology (Caltech) และ Stanford University ได้สาธิตให้เห็นว่าขั้นตอนวิธีการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) สามารถติดตามการสนทนาบนสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งจะนำไปสู่ความสามารถในการตรวจสอบการรังแกกันออนไลน์ได้ ซึ่งวิธีใหม่นี้นักวิจัยบอกว่าจะดีกว่าวิธีเก่าที่ใช้การตรวจสอบจากเซ็ตของคำหลัก (key word) ที่สร้างเอาไว้แล้วก็ไม่ได้ปรับปรุง วิธีเก่าพยามจะแก้ปัญหานี้โดยใช้คนเข้ามาช่วยตรวจสอบด้วย ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพ และคนแต่ละคนก็อาจมีความเห็นต่อคำแต่ละคำแตกต่างกันออกไป วิธีที่งานวิจัยนี้ใช้เรียกว่า GloVe (Global Vectors for Word Representation) ซึ่วใช้การคำนวนความคล้ายคลึงกันของความหมายของคำสองคำ โดยเมื่อเราเริ่มใช้คำหลักคำหนึ่ง ขั้นตอนวิธีนี้ก็จะเริ่มหาคำที่มีความสัมพันธ์กัน เพือนำไปสู่กลุ่มคำที่มีความสัมพันธ์กัน ในข่าวยกตัวอย่างว่า เมื่อค้นคำว่า "MeToo" ก็จะนำไปสู่ "SupportSurvivors," "ImWithHer," และ "NotSilent." แต่ GloVe ไม่ได้หยุดแค่หาคำที่สัมพันธ์กัน แต่ยังดูความสัมพันธ์ของการใช้คำเหล่านี้ในบริบทการสนทนาด้วย เพราะคำเดียวกันแต่เมื่อใช้สนทนาในเรื่องที่ต่างกัน ก็มีความสัมพัน์กับคำที่แตกต่างกันด้วย นักวิจัยคาดหวังว่าในที่สุดเราจะสามารถสร้างเครื่องมือที่จะใช้ต่อสู้กับการคุกคามออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ ได้ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Caltech 

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

ใช้ขั้นตอนวิธีอะไร ก็ไม่สู้แก้แนวคิดในใจของคนเรา  

วันเสาร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2563

เครื่องมือที่ช่วยบอกว่าโปรแกรมจะรันได้เร็วแค่ไหน

ตัวแปลภาษาโปรแกรม (compiler)  ที่ใช้แปลภาษาโปรแกรมระดับสูงเป็นภาษาเครื่อง จะใช้ตัวแบบประสิทธิภาพ (perfromance model) ซึ่งรันโค้ดบนแบบจำลองของสถาปัตยกรรมของชิป ตัวแปลภาษาโปรแกรมจะใช้ข้อมูลที่ได้จากตัวแบบประสิทธิภาพมาสร้างโค้ดที่มีประสิทธิภาพในการทำงานมากที่สุด แต่ปัญหาคือในปัจจุบันตัวแบบประสิทธิภาพนั้นจะถูกสร้างจากผู้เชี่ยวชาญกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น และก็มักจะไม่ค่อยได้ตรวจสอบอย่างเหมาะสม

เพื่อแก้ปัญหานี้นักวิจัยจาก MIT ได้พัฒนาเครื่องมือที่ใช้เทคนิคการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) โดยตัวแบบที่สร้างขึ้นนี้สามารถทำนายผลการรันโค้ดบนชิปของอินเทล (Intel) ว่าจะรันได้เร็วแค่ไหนได้ดีกว่าตัวแบบประสิทธิภาพที่สร้างโดย (ผู้เชี่ยวชาญของ) อินเทลเอง นอกจากนี้เครื่องมือนี้ยังสามารถนำไปใช้เพื่อทำนายประสิทธิภาพของสถาปัตยกรรมชิปแบบอื่นได้โดยง่ายอีกด้วย โดยป้อนข้อมูลฝึกสอนที่ได้จากการรันโค้ดบนสถาปัตยกรรมนั้น ๆ ให้กับเครื่องมือที่พัฒนาขึ้น

อ่านข่าวเต็มได้ที่: MIT News

เพิ่มเติมเสริมข่าว

ผู้เชี่ยวชาญระดับไหนก็มีสิทธิถูกแทนที่ได้นะนี่
 

วันศุกร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2563

ปัญหา Y2K กลับมาอีกครั้ง เพราะความขี้เกียจ

คิดว่าพวกเราหลายคนคงจำปัญหา Y2K กันได้นะครับ ถ้าใครจำไม่ได้ก็คือปัญหาที่ตอนเราเปลี่ยนศตวรรษจากศตววรษที่ 20 (1900) มาเป็นศตวรรษที่ 21 (2000) ปัญหาก็คือเพื่อความประหยัดเนื้อที่ในการเก็บข้อมูล เราจึงเก็บข้อมูลวันที่ในศตวรรษที่ 20 โดยใช้แค่สองหลักสุดท้ายเช่น วันที่ 6 มีนาคม 1968 เราก็จะเก็บข้อมูลเป็น 06/03/68 โดยอนุมานเอาว่าเลขสองหลักข้างหน้าปีคือ 19 คราวนี้พอเข้าศตวรรษใหม่ 2000 มันก็เลยเกิดปัญหาครับ เพราะถ้าใช้การเก็บข้อมูลแบบเดิมปีต้องย้อนกลับมาเป็น 00 ใหม่ ซึ่งมันก็อาจเกิดปัญหากับบางโปรแกรมเพราะมันเท่ากับเซ็ตวันที่กลับไปเป็นปี 1900  เหตุผลที่ทำแบบนี้เพราะในช่วงนั้นฮาร์ดแวร์ของคอมพิวเตอร์ยังมีราคาแพงจึงต้องประหยัด และคนที่พัฒนาโปรแกรมในช่วงนั้นก็คงไม่คิดว่าโปรแกรมของตัวเอง และหลักการเก็บวันที่แบบนี้จะใช้งานมาจนเข้าศตวรรษใหม่ ซึ่งตอนนั้นก็ต้องแก้ปัญหากันซึ่งวิธีแก้ปัญหามีสองวิธีครับ คือเขียนโค้ดใหม่ขึ้นมาเลย กับใช้วิธีขยับหน้าต่างให้ช่วง 00-20 หมายถึงปี 2000 ถึง 2020 (ซึ่งเหตุผลว่าทำไมขยับได้ในช่วงแค่นี้ ขอไม่อธิบายแล้วกันนะครับ ใครอยากรู้คร่าว ๆ ลองไปอ่านในข่าวเต็มกัน หรือลองค้นดูเรื่องเก่า ๆ เกี่ยวกับ Y2K) และไม่น่าแปลกใจนะครับว่า 80% ของโปรแกรมที่ต้องแก้ไขเลือกใช้วิธีขยับหน้าต่างครับเพราะมันง่ายกว่า และตอนนี้ก็กลับมาเจอปัญหาเดิมครับ ในข่าวยกตัวอย่างระบบเก็บค่าจอดรถในนิวยอร์กก็ปฏิเสธไม่รับบัตรเครดิต เพราะวันที่มันย้อนกลับไปเป็นปี 1920 หรือโปรแกรมเกมมวยปล้ำ WWE 2K20 ก็เล่นไม่ได้ในวันที่ 1 มกรา 2020 ซึ่งผู้เล่นต้องดาวน์โหลดโปรแกรมแก้ไขจึงจะเล่นได้ต่อ ซึ่งตอนนี้ก็ต้องดูว่าการแก้ปัญหาจะยังใช้วิธีขยับหน้าต่างกันแบบเดิมอีกหรือเปล่า เพราะถ้าทำแบบเดิมอีกก็จะเจอปัญหานี้อีกทีในปี 2038 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: NewScientist

เพิ่มเติมเสริมข่าว

การแก้ปัญหาอะไรก็ตามที่ทำแบบขอไปที เอาง่ายเข้าว่า หรือทำแบบซุกขยะไว้ใต้พรม ก็จะเกิดปัญหาตามมาไม่มีที่สิ้นสุดแบบนี้ แต่มองอีกแง่หนึ่งสิ่งที่ทำให้นักพัฒนาไม่อยากแก้โปรแกรมให้รองรับแต่ใช้วิธีเลื่อนหน้าต่างเอา ก็อาจเป็นเพราะวิธีการพัฒนาโปรแกรมสมัยก่อน ซึ่งอาจจะยังไม่เป็นโมดูลาร์มากนัก การแก้โปรแกรมส่วนหนึ่งอาจกระทบกับส่วนอื่น ยิ่งคนที่ต้องแก้อาจไม่ใช่คนที่เขียนโปรแกรมเองด้วย หรือต่อให้เป็นคนเขียนโปรแกรมเอง ถ้าผ่านไปสักพักหนึ่งแล้ว อาจไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าโค้ดโปแกรมส่วนนี้ตัวเองเขียนไปทำไม ในปัจจุบันอาจมีโปรแกรมบางโปรแกรม ที่มีโค้ดบางส่วนที่ไม่มีใครรู้ว่ามีเอาไว้ทำอะไร แต่ไม่มีใครกล้าลบออก เพราะกลัวว่าโปรแกรมอาจทำงานผิดพลาด :)

วันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2563

หุ่นยนต์ส่งอาหารเปิดตัวแล้ว

บริษัท Starship Technology ได้พัฒนาหุ่นยนต์สำหรับส่งอาหารโดยในตอนนี้ได้เริ่มส่งอาหารที่ University of Texas at Dallas, University of Houston, และ George Mason University ในเวอร์จิเนีย บริษัทมีแผนที่จะขยายให้ได้ 100 มหาวิทยาลัยภายในสองปี เจ้าหุ่นตัวนี้มีรูปทรงสี่เหลี่ยมเหมือนคูลเลอร์ (cooler) มีล้อ 6 ล้อ ติดธงสีส้ม เพื่อให้เป็นที่สังเกตของทั้งรถและคน  (ดูรูปและวีดีโอได้จากข่าวเต็ม) การสั่งอาหารทำได้จากแอปในสมาร์ตโฟน ตามข่าวบอกว่าเจ้าหุ่นยนต์นี้เป็นคนดังของมหาวิทยาลัยเลยนะครับ

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Dallas Morning News

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

ต่อไปคนส่ง Grab Food, Line Man ก็จะถูก disrupt ด้วยนะนี่

วันพุธที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2563

คนเรามีแนวโน้มที่จะแชร์ข้อมูลส่วนตัวกับผู้ช่วยเสมือนมากขึ้น

ปัจจุบันมีผู้ช่วยเสมือนที่เราใช้ ๆ กันอยู่หลัก ๆ ก็คือ Alexa (ของอะแมซอน) Google Assistant และ Siri ซึ่งบริษัทที่อยู่เบื้องหลังของผู้ช่วยเสมือนเหล่านี้ ก็จะแอบเก็บข้อมูลที่เราพูดจาโต้ตอบกับผู้ช่วยเหล่านี้นำไปใช้ประโยชน์ นักวิจัยจาก University of Waterloo พบว่าตอนนี้มีแนวโน้มที่คนเราจะเชื่อถือและเปิดเผยเรื่องราวส่วนตัวกับผู้ช่วยเสมือนเหล่านี้มากขึ้น เพราะผู้ใช้เริ่มสร้างอวตาร (Avatar) ของผู้ช่วยเหล่านี้ขึ้น เช่นอายุประมาณเท่าไร หน้าตา และทรงผมเป็นยังไง เป็นต้น โดยนักวิจัยบอกว่าการที่คนเรามีภาพที่เป็นตัวตนกับผู้ช่วยเหล่านี้ แทนที่ึคิดว่ามันเป็นเพียงแค่เทคโนโลยี คือสาเหตุให้เราเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวจากการพูดคุยกับผู้ช่วยเหล่านี้ (ซึ่งแน่นอนบริษัทที่อยู่เบื่องหลังพวกมันก็จะได้ข้อมูลไปด้วย)  โดยจากการสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมวิจัย  20 คน ชาย 10 หญิง 10 พบว่าบุคลิกของผู้ช่วยแต่ละตัวสรุปได้ดัวนี้  Siri ออกจะไม่ตรงไปตรงมา และดูเจ้าเล่ห์นิด ๆ Alexa จะจริงใจ และห่วงใยมากกว่า ในส่วนของรูปลักษณ์ Alexa จะเตี้ยกว่าอีกสองตัวนิดหน่อย แต่งตัวด้วยชุดลำลอง หรือชุดทำงานแบบลำลอง สีเข้ม หรือสีพื้น ๆ ถ้าอยากเห็นภาพของผู้ช่วยทั้งสามคลิกเข้าไปดูในข่าวเต็มได้เลยนะครับ

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Waterloo News 

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

คำโบราณที่ว่า อย่าไว้ใจทางอย่าวางใจคน คงไม่พอแล้วนะครับ คงอาจต้องเปลี่ยนเป็น

อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน อย่าหลงกลผู้ช่วยเสมือน

วันอังคารที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2563

คอมพิวเตอร์ที่สร้างจาก DNA สามารถหารากที่สองของ 900 ได้แล้ว

นักวิจัยจาก University of Rochester ในรัฐนิวยอร์ก สร้างคอมพิวเตอร์จากสาย DNA ในหลอดทดลอง ซึ่งสามารถคำนวณหารากที่สองของ 900 ได้ โดยคอมพิวเตอร์ดังกล่าวสร้างจากสาย DNA 32 เส้น โดยมันสามารถคำนวณหารากที่สองของเลขที่เกิดจากการยกกำลังสองตั้งแต่ 1,4,9, 16... ไปเรื่อย ๆ จนถึง 900 นักวิจัยที่ทำเรื่องนี้บอกว่าในตอนนี้คอมพิวเตอร์ที่สร้างจาก DNA ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นแต่เขาคิดว่าคอมพิวเตอร์แบบนี้สามารถที่จะแก้ปัญหาที่ยากมาก ๆ หรืออาจแก้ปัญหาที่อาจแก้ไม่ได้โดยคอมพิวเตอร์ที่ใช้ซิลิกอนแบบที่ใช้ในปัจจุบันได้ 

อ่านข่าวเต็มได้ที: NewScientist

เพิ่มเติมเสริมข่าว

ข้อที่นักวิจัยมองว่าเป็นข้อดีของ DNA Computer ก็คือ การที่สามารถเพิ่มจำนวน DNA เข้าไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคำนวณได้ง่ายกว่าการเพิ่มจำนวนหน่วยประมวลผลของคอมพิวเตอร์ที่ใช้ซิลิกอนแบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

วันจันทร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2563

นักวิจัยสร้างตัวแบบทำนายสถานะทางการเงินได้แม่นยำกว่านักวิเคราะห์

นักวิจัยจาก MIT สร้างตัวแบบ (model) สำหรับทำนายสถานะทางการเงินของธุรกิจ ได้แม่นยำกว่านักวิเคราะห์ที่เป็นคนใน Wallstreet ยิ่งไปกว่านั้นยังใช้ข้อมูลที่นำมาใช้ทำนายน้อยกว่า โดยข้อมูลที่นักวิเคราะห์เอามาทำนายจะใช้ข้อมูลทั้งที่เป็นสาธารณะและข้อมูลเฉพาะของบริษัท และข้อมูลจากตัวแบบการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) หลากหลายโมเดล แต่ตัวแบบที่นักวิจัยจาก MIT คิดขึ้นมานี้จะใช้ข้อมูลแค่รายการการใช้บัตรเครดิตในแต่ละอาทิตย์ และรายงานรายรับสามเดือนของบริษัทเท่านั้น นักวิจัยได้ใช้ตัวแบบนี้ทำนายรายรับรายไตรมาสของบริษัท 30 แห่ง ผลการประเมินพบว่าตัวแบบที่สร้างขึ้นสามารถทำนายได้ดีกว่านักวิเคราะห์ที่เป็นคน 57% ของการทำนายทั้งหมด

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  MIT News

เพิ่มเติมเสริมข่าว

นักวิเคราะห์ธรรมดาก็จะถูก disrupt ไป แต่คนที่สร้างโมเดลได้ก็จะยังอยู่ต่อไปครับ

วันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2563

ควอนตัมบิตสามารถสื่อสารกันได้ไกลขึ้นแล้ว

นักวิจัยจาก Princeton University ได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการส่งซิลิกอนควอนตัมบิต (quantum bit) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า คิวบิต (qbit) ได้ในระยะทางที่ไกลขึ้น โดยระยะห่างระหว่างคิวบิตต่อคิวบิตคือ 0.5 เซ็นติเมตร ซึ่งงานวิจัยนี้จะเป็นแนวทางในการพัฒนาซิลิกอนควอนตัมไมโครชิปต่อไป

อ่านข่าวเต็มได้ที: Princeton University  

เพิ่มเติมเสริมข่าว

บางคนอาจถามว่าแหม 0.5 เซ็นติเมตรนี้ไกลแล้วหรือ คือต้องเข้าใจนะครับว่าเรากำลังพูดถึงระยะทางในการสื่อสารระหว่างชิปต่อชิปในคอมพิวเตอร์ ก็เหมือนกับเราพูดถึงเวลาในการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ หน่วยที่เราใช้ก็ไม่ใช่วินาที แต่เป็นมิลลิวินาที่ (1/1000) วินาที นั่นเองครับ   

วันเสาร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2563

เมือสถานศึกษาเปลี่ยนสมาร์ตโฟนเป็นเครื่องมือสอดแนม

ปัจจุบันสถานศึกษาหลายแห่งในอเมริกาได้ใช้เทคโนโลยีในการติดตามนักศึกษาจากสมาร์ตโฟนที่พวกเขาใช้ โดยเชื่อมต่อสมาร์ตโฟนของพวกเขาเข้ากับไวไฟ (WiFi) หรือบลูทูช (Bluetooth) ของมหาวิทยาลัย หรือภายในชั้นเรียน ซึ่งประโยชน์ที่ได้จากการทำแบบนี้ก็คือสามารถติดตามว่านักเรียน นักศึกษาเข้าเรียนหรือไม่ สามารถประเมินสุขภาพจิตของนักศึกษา สถานศึกษาบางแห่งยังมีการคำนวณคะแนนความเสี่ยงว่านักศึกษาอาจมีผลการเรียนตก โดยดูจากจำนวนครั้งที่นักศึกษาเข้าห้องสมุด  อย่างไรก็ตามมีนักวิชาการหลายคนกังวลว่าการติดตามในลักษณะดังกล่าว จะทำให้นักศึกษาเติบโตมาโดยยอมรับการสอดแนมว่าเป็นเรื่องปกติในชีวิต แต่เมื่อไปสอบถามนักศึกษาหลายคนก็บอกว่าไม่ได้รู้สึกกังวลอะไรกับเรื่องการละเมิดความเป็นส่วนตัวดังกล่าว แต่นักศึกษาและอาจารย์หลายคนก็บอกว่า จะให้ทำยังไงล่ะก็ต้องยอมรับมันไป เพราะเทคโนโลยีนี้มันก็มีอยูแทบจะทุกที่แล้ว

อาจารย์ท่านหนึ่งให้ความเห็นทิ้งท้ายกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าฟังว่า  "สิ่งที่เรากำลังทำอยู่เป็นการเสริมความสร้างความรู้สึกของการไร้อำนาจที่จะขัดขืน (ให้กับนักเรียนนักศึกษา).... แต่คำถามที่ควรจะคิดกันจริงจังก็คือ ทำไมเราถึงสร้างสถาบันการศึกษาที่นักเรียนนักศึกษาไม่รู้สึกอยากจะมาเรียนขึ้นมาล่ะ"

“We’re reinforcing this sense of powerlessness … when we could be asking harder questions, like: Why are we creating institutions where students don’t want to show up?”

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Washington Post

เพิ่มเติมเสริมข่าว

ในตอนนี้ยังไม่ได้ยินว่ามหาวิทยาลัยในไทยนำเทคโนโลยีแบบนี้มาใช้ แต่เอาจริง ๆ ตอนนี้เราก็เริ่มยอมรับมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตกันแล้วนะครับ อย่างกรณีแสดงความสนใจอะไร Facebook ก็ส่งโฆษณามาเลย นี่ก็แสดงถึงการสอดแนมแบบหนึ่ง และต่อไปการสอดแนมแบบนี้สักวันก็คงมาในระดับประชาชน ด้วย โดยเหตุผลก็คงเป็นเรื่องของการยกระดับคุณภาพชีวิต และความมั่นคงของประเทศ ก็ได้แต่หวังว่าเราจะได้คนออกฎหมายที่เข้าใจ และออกกฎหมายมาเพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ และป้องกันคนไม่ดีเอาข้อมูลไปใช้เพื่อหาประโยชน์หรือคุคามฝ่ายตรงข้ามกับตัวเองก็แล้วกัน

วันศุกร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2563

ขั้นตอนวิธีทำนายว่าเรามีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์หรือเปล่า

นักวิจัยจาก Harvard-affiliated Massachusetts General Hospital (MGH) ได้พัฒนาโปรแกรมเพื่ออ่านประวัติสุขภาพของผู้ป่วย และนำมาประเมินว่าผู้ป่วยจะมีโอกาสป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมหรือไม่ ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือ ขั้นตอนวิธีนี้สามารถทำนายโอกาสการเกิดโรคนี้จากคนที่มีสุขภาพดี และสามารถทำนายได้แปดปีล่วงหน้า ซึ่งงานวิจัยนี้ทำในโรงพยาบาลสองแห่งคือ MGH’s Center for Quantitative Health, the Harvard T.H. Chan School of Public Health และ Harvard Brain Tissue Resource Center. การทดลองนี้ทำกับข้อมูลของผู้ป่วย 267,855 คน และพบว่า 2.4% ของผู้ป่วยมีอาการของโรคสมองเสื่อมหลังจากการติดตามผลมาแปดปี นักวิจัยบอกว่าการวิจัยแบบนี้สามารถทำซ้ำได้ทั่วโลกเพื่อให้ได้ข้อมูลมากขึ้น และประโยชน์จากงานวิจัยนี้จะช่วยทำให้การวางแผนการรักษาทำได้ง่ายขึ้น 

ที่มา: The Harvard Gazette