วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2563

หุ่นยนต์ตามล่าไวรัสโคโรนาด้วยแสงยูวีที่สถานีรถไฟลอนดอน

ภาพจาก Reuters

หุ่นยนต์ถูกนำมาใช้งานที่ London's St. Pancras International train station ในสหราชอาณาจักร เพื่อฆ่าไวรัสโคโรนาด้วยแสงอัลตราไวโอเล็ต (ultraviolet) หรือเรียกสั้น ๆ ว่ายูวี (UV) โดยหุ่นยนต์จะกวาดไปในพื้นที่ขนาดใหญ่ด้วยแสงยูวี ซึ่งจะไม่สร้างผลกระทบด้านสารเคมี และสามารถทำลายไวสัสและแบคทีเรียบนพื้นผิวและในอากาศได้เกือบ 100% ในเวลาไม่กี่นาที โดยสถานีรถไฟนี้มีผู้คนเข้าออกประมาณ 34.6 ล้านคนในเดือนมีนาคม 2019 จัดว่าเป็นสถานีที่มีความวุ่นวายเป็นอันดับที่เก้าในสหราชอาณาจักร  โดยทางสถานีบอกว่าทางสถานีเป็นสถานีแรกที่นำเทคโนโลยีนี้เข้ามาใช้ โดยต้องการให้ผู้คนที่เขามาใช้บริการมีความเชื่อมั่น และค่อย ๆ กลับไปใช้ชีวิตกันตามปกติ ดูวีดีโอการทำงานของหุ่นยนต์ได้จากข่าวเต็มครับ

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Reuters

วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2563

เครือข่าย 5G อาจทำให้การทำนายสภาพอากาศผิดไป

ภาพจาก: Rutgers Today

จากการศึกษาของ  Rutgers University พบว่าเครือข่ายไร้สาย 5G ที่ใช้กันอยุ่โดยบริษัทมือถืออาจทำให้การพยากรณ์อากาศไม่เที่ยงตรง ปัญหาก็คือสัญญาณ 5G อาจไปรบกวนย่านความถี่ที่ใช้โดยเซ็นเซอร์วัดอากาศของดาวเทียมที่ใช้วัดปริมาณไอน้ำในอวกาศ ทางทีมของ Rutgers ใช้ตัวแบบคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจสอบผลกระทบจากการที่คลื่น 5G ไปรบกวนย่านความถี่ที่อยู่ติดกัน โดยใช้ตัวแบบจำลองทำนายการเกิดทอร์นาโดใหญ่เมื่อปี 2008 เทียบกับของเดิม ซึ่งผลการทดลองพบว่ามีการทำนายปริมาณฝนผิดไปสูงถึง 0.9 มิลลิเมตร และทำนายอุณหภูมิระดับผิวดินผิดไปสูงถึง 2.34 องศาฟาเรนต์ไฮต์ ซึ่งนักวิจัยบอกว่าถ้าเราต้องยอมให้การรบกวนนี้เกิดขึ้น จะต้องมีการปรับปรุงรายละเอียดของการทำนายสภาพอากาศ รวมไปถึงเทคโนโลยีเสาอากาศ และปรับปรุงขั้นตอนวิธีทำนายสภาพอากาศโดยการนำการรบกวนของสัญญาณ 5G มาพิจารณาด้วย

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Rutgers Today

วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2563

John Hopkins พัฒนาระบบหุ่นยนต์เพื่อควบคุมเครื่องช่วยหายใจจากระยะไกล

ภาพจาก Johns Hopkins Newsletter (MD)

นักวิจัยจาก  Laboratory for Computational Sensing and Robotics ของโรงพยาบาล Johns Hopkins และ University of Maryland ได้ร่วมมือกันพัฒนาระบบหุ่นยนต์ที่ใช้ึชควบคุมเครื่องช่วยหายใจจากระยะไกล เพื่อใช้กับผู้ป่วย COVID-19 ที่อยู่ในไอซียู (ICU) ตัวหุ่นยนต์นี้จะติดตั้งเข้ากับเครื่องช่วยหายและมีกล้องที่จะจับและส่งรูปภาพของหน้าจอของเครื่องช่วยหายใจมาที่แท็บเล็ต (tablet) ของผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ เพื่อให้ควบคุมหุ่นยนต์ผ่านทางแท็บเล็ต โดยไม่ต้องเข้าไปอยู่ในห้องกับคนไข้ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจบอกว่า ระบบหุ่นยนต์นี้มีศักยภาพที่จะช่วยให้การดูแลผู้ป่วยที่เตียง ทำได้โดยใช้เวลาน้อยลง และให้การดูแลคนไข้ได้เป็นจำนวนมาก 

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  Johns Hopkins Newsletter (MD)

วันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2563

การคุกคามทางไซเบอร์ขัดขวางการเปิดภาคการศึกษาในสหราชอาณาจักร

ภาพจาก: Getty Images

National Cyber Security Center (NCSC) ในสหราชอาณาจักรได้ออกมาเตือนวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยว่ามีจำนวนการคุกคามทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นที่จะขัดขวางการเปิดเทอมที่กำลังจะมาถึง คำเตือนนี้มาจากการที่มีการจู่โจมจาก Ransomeware ต่อสถานศึกษามาเป็นลำดับ ซึ่งการจู่โจมนี้ก็จะตามมาด้วยการเรียกร้องให้จ่ายเงินเพื่อข้อมูลที่ถูกแช่แข็งไว้หรือถูกขโมยไป ตัวอย่างเช่นวิทยาลัยหลายแห่งใน  Yorkshire และสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งใน Lancashire ตกเป็นเป้าจู่โจมในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และในเดือนนี้ก็เป็นมหาวิทยาลัยใน  Newcastle และ Northumbria การเตือนเน้นไปที่ความเสี่ยงจากระบบออนไลน์สำหรับการทำงานจากระยะไกล เนื่องจากบุคลากรในสถาบันการศึกษาต้องทำงานจากที่บ้านในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดย Universities UK ซึ่งเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัย 139 แห่งบอกว่า กำลังร่วมมือกับ NSC เพื่อสร้างระบบคำแนะนำที่เข้มแข็งเกี่ยวกับการจู่โจมทางไซเบอร์ ซึ่งจะออกมาให้ใช้กันภายในปีการศึกษานี้ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: BBC News

วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2563

ทวิตเตอร์ขอโทษทีมีการเหยียดในขั้นตอนวิธีการเลือกตัดรูป

ภาพจาก Glenn Chapman/AFP/Getty Images

ทวิตเตอร์ (Twitter) ออกมาขอโทษต่อกรณีขั้นตอนวิธีการเลือกตัดรูปภาพ (cropping) มีการทำงานในลักษณะเหยียดเชื้อชาติ หลังจากผู้ใช้พบว่าขั้นตอนวิธีจะโฟกัสไปที่หน้าของคนขาวมากกว่าคนดำ เมื่อต้องตัดภาพในทวีตแบบอัตโนมัติ ทวิตเตอร์ใช้ขั้นตอนวิธีร่วมกันหลายวิธี เพื่อทำให้แน่ใจว่าหน้าและข้อความที่ทวีตจะอยู่ในส่วนที่ถูกตัด แต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ผู้ใช้พบข้อผิดพลาดในคุณสมบัตินี้ โดยทดลองด้วยรูปภาพของอดีตประธานาธิบดี Barack Obama กับสมาชิกวุฒิสภา Mitch McConnell และยังใช้รูปของตัวการ์ตูนจากเรื่อง Simpsons รวมไปถึงใช้รูปหมาลาบราดอร์สีทองกับสีดำ ซึ่งผลปรากฎว่าขั้นตอนวิธีหน้าที่มีผิวขาวมากกว่า ทวิตเตอร์บอกว่าทางทีมงานได้ทดสอบเรื่องความลำเอียงแล้วก่อนจะปล่อยโปรแกรมออกมา แต่มันเห็นได้ชัดเจนจากตัวอย่างเหล่านี้ว่า มีอะไรอีกมากมายที่จะต้องวิเคราะห์ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Guardian

วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2563

ผู้หญิงในเยอรมันคนแรกที่ตายจากการจู่โจมทางไซเบอร์

Photo by Markus Spiske on Unsplash

ผู้หญิงชาวเยอรมันที่มีอาการป่วยหนักถึงขั้นเสียชีวิตได้ กลายเป็นผู้ป่วยคนแรกที่ต้องเสียชีวิตจากการจู่โจมทางไซเบอร์ต่อระบบดูแลสุขภาพ เนื่องจากทางโรงพยาบาลไม่สามารถรับเธอเข้ามารักษาได้เนื่องจากระบบล่ม โดย Ransomware ได้แทรกซึมเข้ามาในระบบคอมพิวเตอร์ของ University Clinic ใน Dusseldorf โดยใช้ช่องโหว่ของ เครือข่ายส่วนตัวแบบเสมือน (virtual private network) ของ Citrix ซึ่งมีผลทำให้รถพยาบาลที่กำลังนำผู้ป่วยเดินทางมาต้องเปลี่ยนเส้นทางไปที่ Wuppertal แทน และผู้ป่วยต้องเสียชีวิตลงเนื่องจากการต้องเปลี่ยนเส้นทางนี้ ซึ่งหน่วยงานด้านความมั่นคงของเยอรมันบอกว่าทางหน่วยงานได้เตือนเรื่องช่องโหว่นี้ไปแล้วตั้งแต่เดฺือนธันวาคม 2019 และบอกให้หน่วยงานด้านดูแลสุขภาพได้ปรับปรุงระบบเพื่ออุดช่องโหว่นี้ ซึ่งในตอนนี้ได้กล่าวย้ำอีกครั้งว่าขอให้อย่าละเลยหรือเลื่อนการทำตามคำเตือน ขอให้ทำโดยทันที เหตุการณ์นี้ก็แสดงให้เห็นอีกครั้งแล้วว่า อันตรายร้ายแรงแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Daily Mail

วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2563

Phish Scale: วิธีที่จะช่วยให้ฝ่ายไอทีเข้าใจว่าทำไมผู้ใช้จึงคลิกอ่านเมลหลอกลวง

ภาพจาก: NIST

นักวิจัยจาก U.S. National Institute of Standards and Technology (NIST) ได้พัฒนาโปรแกรมที่เรียกว่า Phish Scale ซึ่งจะช่วยให้องค์กรฝึกสอนพนักงานให้ไม่ถูกหลอกจากอีเมลหลอกลวงได้ดีขึ้น ในอดีตฝ่ายความมั่นคงขององค์กรก็มีโปรแกรมฝึกฝนพนักงานอยู่แล้ว โดยส่งเมลหลอกลวงให้พนักงานแล้วตรวจสอบอัตราการคลิกอีเมลของพนักงาน แต่วิธีการดังกล่าวจะวัดจากอัตราการคลิกอย่างเดียว ซึ่งอาจทำให้ไม่ได้ข้อมูลในรายละเอียด โปรแกรม Phish Scale ที่พัฒนาขึ้นจะดูเนื้อหาของอีเมลด้วย ซึ่งจะทำให้แยกกลุ่มของเป้าหมายได้เช่นเป้าหมายกลุ่มที่เป็นมหาวิทยาลัย กลุ่มภาคธุรกิจ และกลุ่มสุขภาพเป็นต้น โดยเนื้อหาจะเน้นที่ส่วนสำคัญ 5 ส่วน โดยแต่ละส่วนจะมีคะแนนความยากง่ายจาก 1 ถึง 5 ผู้ฝึกสอนจะหาคะแนนเฉลี่ยเพื่อแบ่งแบบฝึกหัดที่จะฝึกพนักงานออกเป็นง่าย ปานกลาง และยาก สามารถดูวีดีโอได้จากข่าวเต็มครับ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: NIST

 

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2563

สิงคโปร์จะจ่ายเงินให้ผู้ที่ดูแลสุขภาพด้วย Apple Watch

Photo by Daniel Korpai on Unsplash

Apple และรัฐบาลสิงคโปร์ร่วมมือกันในโครงการเริ่มต้นสองปีที่ชื่อว่า LumiHealth ซึ่งจะติดตามและให้รางวัลพฤติกรรมของผู้ใช้ผ่านทาง Apple Watch และแอปพลิเคชันบน iPhone คนสิงคโปร์จะได้เงินมากถึง 380 เหรียญสิงคโปร์ ประมาณ 280 เหรียญสหรัฐ ในรูปแบบของเงินเพิ่มและบัตรกำนัลถ้าทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในแอป LumiJealth ตัวแอป จะเสนอผู้ช่วยส่วนตัวและเตือนเรื่องการตรวจสุขภาพและการฉีดวัคซีน ยิ่งไปกว่านั้นยังมีโปรแกรมท้าทายด้านสุขภาพเช่นการจำกัดอาหาร และอุปนิสัยการนอน Apple บอกว่าข้อมูลของผู้ใช้จะถูกเข้ารหัสและจะไม่ถูกขายหรือเปิดเผยเพื่อจุดประสงค์ด้านการตลาด

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Bloomberg

วันอังคารที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2563

การฝึกสอนเครื่องเพื่อให้เห็นภาพสามมิติในที่มืด

ภาพจาก ANU

นักวิจัยจาก Australian National University (ANU) ได้พัฒนาวิธีการใช้การเรียนรู้ของเครื่องในการสร้าง อ็อปติคัลโฮโลแกรม (optical hologram) ได้อย่างเกือบสมบูรณ์ในที่ที่เกือบมืดสนิท โดยปกติแล้วภาพโฮโลแกรมสามมิติจะเห็นเป็นจุดเล็กๆ  ในที่ที่มีแสงน้อย แต่ Holo-UNet ของ ANU ถูกฝึกสอนในวงจรการเรียนรู้เป็นพัน ๆ ครั้ง โดยหลังจากการฝึกสอนแต่ละครั้ง นักวิจัยจะแสดงให้ Holo-UNet ได้เห็นข้อมูลอ็อปติคัลที่หายไป จากนั้นเครื้องก็จะจำว่าจะเติมเต็มส่วนที่หายไปได้อย่างไรเพื่อให้ได้โฮโลแกรมที่เกือบสมบูรณ์ นักวิจัยบอกว่าด้วยวิธีการที่พัฒนาขึ้นมานี้ จะนำไปใช้ได้กับงานที่หลากหลายตั้งแต่ด้านความมั่นคงไปจนถึงการวาดภาพเซลล์ที่มีชีวิตได้ในแบบทันทีทันใด โดยใช้แสงน้อยกว่าที่เคยต้องใช้ สามารถดูวีดีโอตัวอย่างการทำงานได้จากข่าวเต็มครับ

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Australian National University

วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2563

IBM สร้างโปรแกรมการศึกษาและวิจัยด้าน Quantum แห่งแรก

ภาพจาก ACM

IBM ประกาศว่าได้สร้างโปรแกรมการศึกษาและวิจัยด้านควอนตัม (Quantum) ขึ้นเป็นแห่งแรกสำหรับ  Historically Black Colleges and Universities (HBCU) ซึ่งนำโดย  Howard University และ HBCU อีก 12 แห่ง IBM-HBCU Quantum Center จะให้การเข้าถึงคอมพิวเตอร์ควอนตัมของ IBM และจะมีส่วนร่วมด้านการศึกษา และความพยายามในการเข้าถึงประชาคม จุดประสงค์เริ่มต้นคือเตรียม และสร้างผู้มีความสามารถที่ HBCU ในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ให้พร้อมสำหรับยุคของควอนตัม

อ่านข่าวเต็มได้ที่: HPCwire

วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2563

เทคโนโลยีด้าน AI ช่วยมองหาคนขับรถที่เป็นอันตราย

ภาพจาก ECU News

ระบบตรวจจับป้ายทะเบียนรถยนต์อัตโนมัติที่พัฒนาโดยนักวิจัยจาก  Australia’s Edith Cowan University (ECU) และ University of Melbourne และ University of Malaysia ซึ่งเป็นระบบที่ใช้เครือข่ายประสาทเทียมของระบบปัญญาประดิษฐ์ในการตรวจจับป้ายทะเบียนได้ในทุกเงื่อนไข และประมวลผลได้ในเวลาไม่กี่วินาที ซึ่งถ้าใช้ร่วมกับระบบรู้จำใบหน้าจะสามารถตรวจจับคนขับรถที่กำลังพูดโทรศัพท์อยู่ หรือคนขับที่กำลังหลับอยู่ หรือมีท่าทางการเคลื่อนไหวที่ไม่ปกติ นักวิจัยบอกว่าด้วยความเร็วและประสิทธิภาพของวิธีที่ก้าวหน้านี้ เรากำลังจะเปลี่ยนวิธีการที่จะดูแลการจราจร

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Edith Cowan University (Australia)


เพิ่มเติมเสริมข่าว: 

รูปมาจากเว็บไซต์ข่าว แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเอารูปถนนในกรุงเทพไปใช้ 

วันเสาร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2563

โปรตีนที่สร้างจากคอมพิวเตอร์ช่วยป้องกันเซลล์ของมนุษย์ที่ถูกเลี้ยงมาในห้องทดลองจาก SARS-CoV-2

Photo by Photoholgic on Unsplash

นักวิทยาศาสตร์จาก University of Washington (UW) School of Medicine in Seattle และ Washington University School of Medicine ใน St. Louis ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อออกแบบโปรตีนที่ทำหน้าที่เป็นเกราะหุ้มเซลล์ของมนุษย์ที่ถูกเลี้ยงในห้องทดลองจาก SARS-CoV-2 ซึ่งก็คือโคโรนาไวรัสที่เป็นต้นเหตุของ COVID-19 ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา นักวิจัยจาก UW School of Medicine ใช้คอมพิวเตอร์ออกแบบโปรตีนกว่าสองล้านตัวซึ่งเชื่อมโยงอย่างเหนียวแน่นกับ โปรตีนขัดขวาง SARS-CoV-2 และยับยั้งเซลที่ติดเชื้อ จากนั้นโปรตีนกว่า 118,000 ตัวถูกผลิตและทดสอบ ซึ่งนำไปสู่ยาต้านไวรัสตัวหนึ่งคือ LCB1 นักวิจัยเชื่อว่าการใช้ยาต้านไวรัสที่สร้างจากคอมพิวเตอร์เป็นวิธีการที่น่าจะให้ผลอย่างมาก พวกมันสามารถกันการติด SARS-CoV-2 ได้ดีอย่างน้อยเทียบเท่ากับ  monoclonal antibodies แต่สร้างง่ายกว่ามาก และยังเสถียรกว่าด้วย 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: News-Medical

วันศุกร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2563

ความพึงพอใจต่ออาชีพวิศวกรในอเมริกาสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดแต่เงินเดือนเพิ่มขึ้นช้า

ภาพจาก: iStockphoto

จากการสำรวจล่าสุดของ IEEE ด้านเงินเดือนและสวัสดิการของผู้ประกอบอาชีพด้านเทคโนโลยีที่เป็นสมาชิกของ IEEE พบว่ามีรายได้ต่อปีอยู่ที่ $148,500 ในปี 2019 เพิ่มขึ้น 2.4% จากปี 2018 แต่ความพึงพอใจต่องานกลับสูงขึ้น โดยเกิน 1.0 จากสเกล -2 ถึง +2 เป็นครั้งแรก โดยมีความพึงพอใจเพิ่มขึ้นในทุกด้านรวมถึงด้านความท้าทายทางเทคโนโลยี การสนับสนุนของนายจ้างด้านเทคโนโลยีที่น่าสนใจ ค่าตอบแทน และโอกาสที่จะก้าวหน้า วิศวกรด้านเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้บริโภคมีมัธยฐานเงินเดือนสูงสุดคือ $185,000 ในขณะนักการศึกษามีมัธยฐานเงินเดือนต่ำสุดคือ $105,707 และเงินเดือนของผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้ของเครื่องลดลงจาก $185,000 ในปี 2018 มาเป็น $130,800 ในปี 2019 นอกจากนี้จากผู้สอบถามทั้งหมดที่ทำงานเต็มเวลา มี 8.6% ที่เป็นผู้หญิง และช่องว่างระหว่างเงินเดือนของผู้หญิงกับผู้ชายเพิ่มขึ้น 18% ในหนึ่งปี นอกจากนี้ช่องว่างของเงินเดือนระหว่างคนคอเคเซียนกับคนแอฟริกันอเมริกันยังกว้างขึ้นด้วย 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: IEEE Spectrum

วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2563

ทำไม C++ กระโดดขึ้นมาได้รับความนิยมอีกครั้ง

Photo by Caspar Camille Rubin on Unsplash


Tiobe Software บอกว่า ตอนนี้ C++ เป็นภาษาเขียนโปรแกรมที่เติบโตขึ้นมาเร็วที่สุด โดยขึ้นมาอยู่อันดับสี่จากดัชนีภาษาที่ได้รับความนิยมสูงสุดของบริษัทในเดือนกันยายน 2020  ตามหลังภาษา C, Java และ Python โดย Paul Jansen จาก Tiobe บอกว่า C++ เคยขึ้นอยู่จุดสูงสุดที่ 17.53% เมื่อปี 2003 โดยเขาบอกว่าการมาถึงของ C++ 20 อาจเป็นส่วนหนึ่งของคำอธิบายว่าทำไมมันจึงกลับมาได้รับความสนใจขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งจากการประกาศรับรองเวอร์ชันสมบูรณ์ของ C++ 20 ซึ่งเป็นการอัพเดตใหญ่ของภาษานับจากปี 2017 โดยมีคุณลักษณะใหม่คือ "module" และ "coroutine" ซึ่ง Jansen บอกว่าจะมาแทนที่กลไก include อันน่าสะพรึงกลัว

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet



วันพุธที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2563

Breakthrough Prize มอบเงินสามล้านเหรียญให้นักวิทยาศาสตร์ที่ออกแบบโมเลกุลในการสู้โควิด

ภาพจาก: TEK IMAGE/SCIENCE PHOTO LIBRARY / Getty Images

Breakthrough Prize Foundation ได้ประกาศชื่อของ David Baker จาก University of Washington ให้รับเงินสามล้านเหรียญ จากการใช้คอมพิวเตอร์ออกแบบโมเลกุลที่ซับซ้อน ซึ่งจากการออกแบบล่าสุดอาจนำไปสู่การรักษา COVID-19 Baker's Institute for Protein Design ได้พัฒนา Rosetta ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ในการจำลองการพับตัว (folding) และการมีปฏิสัมพันธ์แบบต่าง ๆ ของโปรตีน โดยกระตุ้นให้นักวิทยาศาสตร์ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการวิจัยผ่านทาง FoldIT ซึ่งเป็นเครือข่ายการประมวลผลแบบกระจาย ทาง Breakthrough Prize Foundation บอกว่า Baker ได้รับรางวัลนี้จากการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้มีการออกแบบโปรตีนซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในธรรมชาติ รวมไปถึงโปรตีนซึ่งมีศักยภาพที่จะรักษาโรคที่เกิดในคน 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: TechCrunch

วันอังคารที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2563

Stanford เปิดตัวเครื่องมือวิเคราะห์ข่าวทีวีที่ใช้พลังของ AI

ภาพเครื่องมือ Stanford Cable TV News Analyzer

นักวิจัยจาก Stanford University's Brown Institute for Media Innovation ได้ประกาศเปิดตัวเครื่องมือแบบโต้ตอบที่ใช้ AI ในการทำงาน เพื่อเปิดการค้นหาข่าวจากเคเบิลทีวี (ของอเมริกา) และคำนวณเวลาที่ได้ออกอากาศของบุคคลสาธารณะ ซึ่งงานในลักษณะนี้ถ้าต้องทำโดยใช้คนเพื่อหาว่าใครและอะไรที่ได้ออกข่าวไปแล้วบ้างจะต้องใช้ความพยายามอย่างมาก เครื่องมือนี้มีชื่อว่า Stanford Cable TV News Analyzer  (ซึ่งสามารถคลิกเข้าไปลองใช้ได้เลยนะครับ) โดยสามารถค้นหาข่าวได้จากทั้ง CNN, Fox News และ MSNBC ย้อนกลับไปได้ถึงเดือนมกราคม 2010 นักวิจัยบอกว่าการที่เราสามารถค้นได้โดยง่ายว่าใครและอะไรที่อยู่ในข่าว จะช่วยระบุอคติและแนวโน้มของข่าวที่นำเสนอในเคเบิลทีวีได้ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Standford News

 

วันจันทร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2563

กล้องเว็บแคมสาธารณะบอกเราได้ว่ามีการเว้นระยะห่างทางสังคมหรือไม่

Social distancing in Massachusetts

BRIAN SNYDER/Reuters

ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จาก  Purdue University ใช้ฐานข้อมูลออนไลน์ของกล้องสาธารณะเพื่อติดตามว่าผู้คนปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมหรือไม่ ด้วยการเก็บข้อมูลปริมาณ 0.5 เทราไบต์ต่อสัปดาห์ ทีมงานประมวลผลรูปภาพจากเว็บแคมกว่า 10.4 ล้านภาพ โดยใช้เครือข่ายประสาทเทียมการเรียนรู้เชิงลึก (deep learning neural network) เพื่อตรวจจับวัตถุและแยกมันออกจากคน จากนั้นวาดกรอบรอบคนแลพคำนวณระยะห่างเพื่อดูว่าคนทำตามนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคมหรือไม่ ซึ่งผลการสังเกตพบว่าผู้คนปฏิบัติตามในระดับหนึ่ง นักวิจัยบอกว่าการติดตามด้วยกล้องมีประสิทธิภาพกว่าการติดตามด้วยข้อมูลตำแหน่งแบบที่ Google และ Apple ทำ เนื่องจากวิธีการดังกล่าวผู้ใช้ต้องสมัครเข้าร่วม แต่วิธีนี้ไม่ต้อง

อ่านข่าวเต็มได้ที่: New Scientist

  

วันอาทิตย์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2563

ผู้หญิงคนแรกที่ได้รางวัล Africa Prize for Innovation

Charlette N'Guessan CEO ของ  BACE Group
[ภาพจาก CNN]

Charlette N'Guessan อายุ 26 ปี CEO ของ BACE Group ได้รับการปะากศชื่อเป็นผู้ชนะรางวัล Africa Prize for Engineering Innovation ของ  Royal Academy of Engineering ประจำปี 2020 จากผลงานของทีมของเธอจาก API สำหรับการระบุตัวตนแบบดิจิทัล ระบบนี้ได้รวมเอา AI และระบบรู้จำใบหน้าเข้าด้วยกันในการระบุตัวตนของคนแอฟริกันจากระยะไกล และทำได้แบบทันที โดยการจับคู่ภาพของบุคคลในขณะนั้นกับรูปถ่ายในพาสปอร์ต หรือบัตรประจำตัว เว็บไซต์และออนไลน์แอปพลิเคชัน สามารถใช้ BACE API เพื่อยืนยันตัวตนจากกล้องเว็บแคม N'Guessan บอกว่า เธอจะดีใจมากถ้าผู้คนได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องของเธอ ที่เป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัล Africa Prize for Engineering Innovation และในฐานะของผู้หญิงที่อยู่ในวงการเทคโนโลยี

อ่านข่าวเต็มได้ที่: CNN


วันเสาร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2563

นักวิจัยจากอินเทลออกแบบหุ่นยนต์ที่ใช้พลังจากสมาร์ตโฟนและใช้งบแค่ $50 ในการสร้าง

ภาพจาก Venture Beat

นักวิจัยจากอินเทลได้สร้างหุ่นยนต์ที่มีล้อที่ใช้พลังจากสมาร์ตโฟน โดยมีค่าใช้จ่ายในการประกอบเข้าด้วยกันแค่ $50 โดยหุ่นยนต์นี้อินเทลเรียกว่า OpenBot โครงของหุ่นยนต์ถูกออกแบบให้สามารถถูกพิมพ์ออกมาจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ มันสามารถจุมอเตอร์ได้สูงสุด 4 ตัว รวมไปถึง คอนโทรลเลอร์ (controller) ไมโครคอนโทรลเลอร์ (microcontroller) LED ที่วางสมาร์ตโฟน และสายยูเอสบี โดยมีแผงใส่แบตเตอรีเป็นแหล่งจ่ายไฟให้กับมอเตอร์ ให้ผู้ควบคุมจะเก็บข้อมูลจากแอปที่รันบนสมาร์ตโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์  ในขณะที่ บอร์ด Ardunio Nano จะใช้ในจัดการการทำงานในระดับต่ำ และวัดความเร็ว ระยะทาง และโวลต์ของแบตเตอรี ตัวควบคุมที่ใช้งานผ่านบลูทูชของเครื่องเล่นเกม อย่าง PS4, Xbox และ Nintendo Switch สามารถนำมาใช้ควบคุม OpenBot ได้ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Venture Beat

วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2563

นักวิจัยพบช่องโหว่ของ PIN code

การซื้อของที่มีราคาสูงจะต้องใช้ PIN Code แต่การป้องกันนี้สามารถถูกหลอกได้ ในบัตรบางใบ 
(ภาพจาก Shutterstock)

นักวิจัยจาก ETH Zurich ในสวิสเซอร์แลนด์ ได้พบช่องโหว่ที่ร้ายแรงในมาตรฐาน EMV (Europay, Mastercasrd, Visa) ที่การจ่ายเงินแบบไร้สัมผัส (contactless) ใช้อยู่ นักวิจัยค้นพบช่องโหว่ในโปรโตคอลที่ใช้โดย Visa ที่ทำให้ไม่ต้องใส่ PIN code เวลาซื้อของที่มีราคาสูง โดยช่องโหว่นี้ทำให้คนที่ขโมยบัตร หรือพบบัตรที่หายเอาไปใช้ได้ นักวิจัยได้ทดลองช่องโหว่นี้โดยพัฒนาแอปที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ และติดตั้งลงบนโทรศัพท์มือถือสองเครื่องที่รองรับระบบ Near-Field-Communication (NFC) โดยโทรศัทพ์ตัวแรกทำหน้าที่สแกนข้อมูลของบัตรเครดิต จากนั้นส่งข้อมูลบัตรเครดิตไปให้โทรศัพท์เครื่องที่สอง ซึ่งโทรศัพท์เครื่องที่สองสามารถนำไปใช้ซื่อของได้เลย โดยไม่มีการถาม PIN code นักวิจัยได้แจ้ง Visa เกี่ยวกับช่องโหว่นี้แล้ว และได้เสนอวิธีการที่ต้องแก้ไข ซึ่งซอฟต์แวร์ที่ได้รับการแก้ไขนี้ จะถูกติดตั้งให้กับเครื่องรับจ่ายเงินในการอัพเดซซอฟต์แวร์ครั้งต่อไป 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ETH Zurich (Switzerland)

 

วันพฤหัสบดีที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2563

ภาษา python อาจทำให้นักเขียนโปรแกรมภาษา Julia นอกใจถ้าเป็นงานด้านศาสตร์ข้อมูล

Photo by Markus Spiske on Unsplash

โครงการเปิดเผยรหัสที่อยู่เบื้องหลังภาษา Julia ภาษาสำหรับนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ได้เปิดเผยว่าภาษาอะไรที่นักเขียนโปรแกรมจะใช้นอกจาก Julia ซึ่งผลลัพธ์ก็คือภาษา Python จากการสอบถามผู้ใช้ Julia 2,565 คนพบว่า 76% บอกว่าถ้าไม่ใช้ Julia ภาษาที่จะใช้ต่อไปคือ Python ซึ่งเพิ่มขึ้นมาจาก 73% ในปี 2019 ภาษา Python เป็นภาษาที่ไม่ว่าจะดูการจัดอันดับใด ๆ มักจะติดสามอันดับแรกเสมอ ซึ่งความนิยมของมันถูกผลักดันจากนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และความต้องการด้านแอปพลิเคชันการเรียนรู้ของเครื่อง อย่างไรก็ตามผู้ที่เป็นผู้ร่วมสร้างภาษา Julia คือViral Shah บอกว่า ยิ่งได้ใช้ภาษา Julia นานเท่าไหร่โอกาสที่จะย้ายไปภาษาอื่นก็ยากขึ้นเท่านั้น และตอนนี้ Julia ก็ขึ้นมาอยู่ใน 20 อันดับแรก 


ถ้าดูจากคู่แข่งของ Julia อย่าง MATLAB พบว่าความนิยมตกลงจาก 35% มาเป็น 31% ส่วน C++ เพิ่มจาก 28% มาเป็น 31% ในณะเดียวกันภาษาด้านการสิเคราะห์ทางสถิติอีกตัวหนึ่งอย่าง R ตกลงจาก 27% เป็น 25% ซึ่งถ้าดูจาก แนวโน้มนี้ Julia ก็ยังดูมีอนาคต ถ้าไม่นับ Python ซึ่งดูเหมือนจะเป็นภาษาที่นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลใช้กันทั่ว ๆ ไป 

จุดแข็งของ Julia คือความเร็วและประสิทธิภาพ ข้อเสียที่ผู้ใช้ Julia รายงานมาก็คือการพล็อตกราฟในครั้งแรกจะใช้เวลานาน และใช้เวลาคอมไพล์นาน และบางคนยังบอกว่าตัวแพ็กแกจยังไม่ค่อยลงตัว ซึ่งเป็นจุดที่แตกต่างหลักเมื่อเทียบกับ Python ยิ่งไปกว่านั้น Julia ยังมีอุปสรรคจากการที่ผู้ร่วมงานของผู้ใช้ไม่ได้ใช้ภาษานี้ ซึ่งก็เป็นอุปสรรคเดียวกับภาษา Rust ที่เป็นภาษาที่โด่งดังสำหรับเขียนโปรแกรมระบบ แต่ผู้ใช้ก็ไม่สามารถนำไปใช้ได้ เพราะบริษัทที่ผู้ใช้ทำงานด้วยไม่ใข้ภาษานี้ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet

วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2563

AI ระบุดาวเคราะห์ใหม่ 50 ดวง จากข้อมูลเก่าของ NASA

 

ภาพจาก CNN

การเรียนรู้ของเครื่องที่พัฒนาโดยนักดาราศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่ University of Warwick ของประเทศอังกฤษ พบดาวเคราะห์ใหม่ 50 ดวง จากการวิเคราะห์ข้อมูลเก่าของ NASA นักวิจัยได้สอนขั้นตอนวิธีโดยใช้ข้อมูลที่ได้มาจากกล้อง Kepler Space Telescope โดยได้สอนให้แยกความแตกต่างระหว่างดาวเคราะห์จริง ๆ กับสิ่งที่เหมือนว่าจะเป็นดาวเคราะห์ จากนั้นจึงนำไปใช้วิเคราะห์ชุดข้อมูลเก่าของสิ่งที่น่าจะเป็นดาวเคราะห์ ซึ่งได้ผลว่ามันค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบที่เราไม่เคยพบมาก่อน โดยนักวิจัยบอกว่า AI จะสามารถยืนยันความถูกต้องของตัวเลือกที่ไม่เคยเห็นมาก่อนได้ภายในไม่กี่วินาที และเพราะมันเป็นการเรียนรู้ของเครื่อง ดังนั้นมันจึงปรับปรุงขึ้นได้เรื่อย ๆ และมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อมีการค้นพบใหม่ ๆ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: CNN

วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2563

Data Science Institute เพิ่มการโฟกัสไปที่จริยธรรมและขั้นตอนวิธี

Photo by Markus Spiske on Unsplash

University of California, Santa Cruz (UCSC) กำลังทำงานร่วมกันกับ universities of Washington, Wisconsin-Madison, และ Chicago เพื่อสร้างสถาบันสหวิทยาการ  Institute for Foundations of Data Science (IFDC) ซึ่งได้รับเงินสนับสนุนจาก U.S. National Science Foundation จุดประสงค์ของสถาบันคือการพัฒนาวิธีการเชิงจริยธรรมเพื่อวิเคราะห์ชุดข้อมูลที่มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมีความเป็นได้สูงมากที่จะลำเอียง โดยชุดข้อมูลเหล่านี้ถูกใช้ในภาคอุตสาหกรรมและการศึกษา สิ่งที่คาดหวังจากการทำงานของสถาบันคือเทคนิคที่มีประสิทธิภาพในการคำนวณมากขึ้น ไม่ผิดพลาด  มีการตอบสนองและดำเนินการได้ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ได้ดีกว่าเทคนิคที่มีอยู่ในปัจจุบัน นักวิจัยบอกว่าในขณะที่เรากำลังมองหาวิธีที่เหมาะสมที่สุดทางด้านศาสตร์ข้อมูล เราจะคำนึงถึงความยุติธรรม ความลำเอียง และความเป็นส่วนตัว 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: UC Santa Cruz

วันจันทร์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2563

ภาษาเขียนโปรแกรมตัวไหนที่ให้ค่าจ้างสูงสุด

Photo by Chris Ried on Unsplash

Upwork ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มจ้างงานฟรีแลนซ์บอกว่า นักพัฒนาซอฟต์แวร์แบบฟรีแลนซ์ที่ทำงานกับภาษาเขียนโปรแกรมเก่า ๆ หรือไม่เป็นที่นิยมมากนัก สามารถเรียกค่าจ้างได้สูงมาก ทักษะด้าน Objective-C ภาษาเขียนโปรแกรมที่ Apple พยายามจะแทนที่มันด้วย Swift ได้รับค่าจ้างสูงสุด  โดยเฉลี่ยอยู่ที่ $66 ต่อขั่วโมง ภาษาที่มาอันดับสองคือ Golang ของ Google อยู่ที่ $64 ต่อชั่วโมง นอกจากนี้ภาษาหลายภาษาที่อยู่ในสิบอันดับแรกก็ไม่ดังมากนักอย่าง Windows PowerShell ก็ได้เงินถึง $62 ต่อชั่วโมง หรือ Excel VBA  ก็ได้ $60 ต่อชั่วโมง จริง ๆ แล้วภาษาที่อยู่ใน 15 อันดับแรกมีอัตราค่าจ้างไม่ต่างกันมากนัก แต่ที่น่าสนใจคือมีภาษาอยู่ 3 ภาษา ที่มีอัตราเติบโตในปริมาณการจ้างเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว ภาษา SQL มีอัตราเติบโต 152%  ส่วน Java และ Ruby เพิ่มขึ้น 127% 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet

วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2563

คอมพิวเตอร์ที่ใช้ Windows ตกเป็นเป้าหมายของมัลแวร์ 83% ใน Q1

รายงานจาก AV Test ซึ่งเป็นผู้ประเมินด้านความมั่นคงของ Microsoft Windows และ Android พบว่า 83.45% ของมัลแวร์ที่ถูกสร้างขึ้นมาทั้งหมดในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ มุ่งจู่โจมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ รายงานบอกว่ามีมัลแสร์ถูกสร้างใหม่ขึ้นมาประมาณ 114 ล้านตัวในปีที่แล้ว และปีนี้คาดว่าจะมากขึ้นคือ160 ล้านตัว เหตุผลที่มัลแวร์เพิ่มขึ้นเนืองจากการแพร่ระบาดของไวรัส ทำให้แฮกเกอร์ใช้ช่วงเวลาความไม่แน่นอนนี้ในการแพร่มัลแวร์และหลอกลวงแบบ phishing 

เหตุผลที่ Microsoft Windows เป็นเป้าจู่โจมนอกจากความที่มันเป็นระบบปฏิบัติการที่ใช้กันทั่ว ๆ ไปแล้ว มันยังเป็นระบบปฏิบัติการที่มีช่องโหว่ด้านความปลอดภัยอีกด้วย จากฐานข้อมูล CVE ที่ใช้ในการติดตามเรื่องช่องโหว่ด้านความมั่นคงพบว่า Microsoft นั้นมีช่องโหว่ที่ร้ายแรงกว่า 660 ประการ และ 357 ประการเป็นของ Windows 10 โดย Windows 10 ถูกมองว่าเป็นระบบปฏิบัติการที่มีความมั่นคงน้อยที่สุด 

ประเภทของมัลแวร์บน Windows จากรายงานของ AV Test ในปี 2019 แสดงได้ดังรูปต่อไปนี้ 



ถ้าพิจารณาแพลตฟอร์มที่มีการแพร่ของมัลแวร์ เว็บเบราว์เซอร์เคยมีสัดส่วนอยู่ที่ 15.84% ในปีที่แล้ว และลดลงเหลือ 11.09% ในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ Android เคยมีสัดส่วน 2.75% เมื่อปีที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นเป็น 3.24% ในปีนี้ ระบบปฏิบัติการอื่น ๆ ซึ่งรวมถึง iOS, macOS, และ Linux มีสัดส่วน 2.35% ปีที่แล้ว และลดลงเป็น 1.91% ในตอนต้นปี 2020

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  PC Magazine

วันเสาร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2563

Apple และ Google ขยายความสามารถของซอฟต์แวร์เตือนโคโรนาไวรัส

Apple และ Google ประกาศการขยายความสามารถของโปรแกรมเตือนโคโรนาไวรัส เพื่อให้หน่วยงานสาธารณสุขของรัฐ (ในสหรัฐ) นำไปใช้ได้ โดยไม่ต้องปรับปรุงอะไร โปรแกรมนี้จะถูกใส่มากับระบบปฏิบัติการแอนดรอย์ และ iOS และใช้บลูทูช (bluetooth) เพื่อดูว่าคนสองคนอยู่ใกล้กันในเวลาที่นานอย่างมีนัยสำคัญ (คือนานพอที่จะมีการติดต่อของโรค) หรือไม่ โดยจะเรียกคุณสมบัตินี้ว่า “exposure notifications express” 

Covidwise ที่ Apple และ Google ติดตั้งมาในระบบปฏิบัติการของตัวเอง (Jonathan Baran/The Washington Post)

การติดตั้งระบบแจ้งเตือนแบบนี้มาในระบบปฏิบัติการเลย ทำให้รัฐไม่ต้องไปออกแบบโปรแกรมติดตามของตัวเอง ประชาชนที่อาศัยอยู่ในรัฐ (ในสหรัฐ) จะได้รับข้อความแจ้งเตือนว่าจะเข้าร่วมโปรแกรมหรือไม่ ถ้าจะเข้าร่วมก็ทำตามไม่กี่ขั้นตอน ก็จะสามารถแชร์ข้อมูลบลูทูช และได้รับการแจ้งเตือน ถ้าเขาเข้าไปใกล้กับผู้เข้าร่วมโปรแกรมที่มีผลการตรวจเป็นบวก โดยวิธีการที่จะรู้ว่าใครมีผลเป็นบวกก็คือหน่วยงานสาธารณสุขของรัฐจะเป็นผู้พิมพ์หมายเลขของคนที่มีผลเป็นบวกเข้าไปในระบบ โดยหมายเลขนี้จะไม่ซ้ำกัน ต่อข้อถามที่ว่าทำไม Apple กับ Google ไม่ทำทางเลือก "express" นี้ตั้งแต่แรก ๆ ก็ได้รับคำตอบว่า พวกเขาชอบที่จะเห็นเวอร์ชันสองของซอฟต์แวร์ของเขาดีกว่าเวอร์ชันแรก 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Washington Post

วันศุกร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2563

การสรุปความที่น่าจะเก่งมาก ๆ จากวรณคดีไทย

เมื่อหลายวันก่อน ช่วยภรรยาขนของ คุณภรรยาก็ทวนว่าครบเจ็ดชิ้นแล้วใช่ไหม ก็มีอาขยานบทที่เคยท่องมาตั้งแต่เด็กแว่บขึ้นมาในหัว ก็เลยตอบไปว่า "เป็นเจ็ดชิ้นสิ้นเรื่องอรทัย" จำได้ไหมครับว่ามาจากเรื่องอะไร  หรือไม่เคยเรียนกันแล้ว แต่สงสัยเด็กรุ่นหลัง ๆ จะไม่ได้เรียนกันจริง ๆ เพราะลูก ๆ ตอนเรียนอยู่ก็ไม่เคยมาท่องให้ฟัง บทอาขยานนี้มาจากเรื่องสังข์ทองครับ ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 2 

พอนึกถึงอาขยานนี้ได้ก็เลยทำให้นึกถึงสิ่งที่น่าจะเป็นความสามารถหนึ่งที่นักวิจัยน่าจะมีกันก็คือความสามารถในการสรุปความครับ การเขียนบทคัดย่อในการวิจัย การเขียนบทการทบทวนวรรณกรรมก็ต้องใช้ความสามาถในการสรุปความ หรือการเขียนบทสรุปในงานวิจัยก็เช่นกัน 

สำหรับคนที่ไม่เคยท่องบทอาขยานนี้มาก่อนนะครับ มาดูกันครับ 

ชิ้นหนึ่งทรงครรภ์กัลยา

คลอดลูกออกมาเป็นหอยสังข์

ชิ้นสองต้องขับเที่ยวเซซัง

อุ้มลูกไปยังพนาลัย

ชิ้นสามเมื่ออยู่ด้วยยายตา

ลูกยาออกช่วยขับไก่

ชิ้นสี่กัลยามาแต่ไพร

ทุบสังข์ป่นไปกับนอกชาน

ชิ้นห้าบิตรุงค์ทรงศักดิ์

ให้จับตัวลูกรักมาจากบ้าน

ชิ้นหกจองจำทำประจาน

ให้ประหารฆ่าฟันไม่บรรลัย

ชิ้นเจ็ดเพชฌฆาตเอาลูกยา

ไปถ่วงลงคงคาน้ำไหล

เป็นเจ็ดชิ้นสิ้นเรื่องอรไท

ใครใครไม่ทันจะสงกา

ซึ่งเหตุการณนี้เป็นตอนที่พระนางจันเทวีแม่ของพระสังข์ ซึ่งทำงานเป็นแม่ครัวอยู่ในวังของท้าวสามล (พ่อตาพระสังข์) สลักชิ้นฟักทำอาหารให้พระสังข์ เพื่อให้รู้ว่าแม่อยู่ที่นี่ 

ซึ่งจะเห็นนะครับว่าเป็นการสรุปความช่วงชีวิตของพระสังข์ได้ชัดเจนและกระชับที่สุด และสำหรับคนอ่านอย่างเรา ๆ ต่อให้ไม่ได้อ่านเรื่องพระสังข์มาตั้งแต่ต้น มาอ่านแค่ตรงนี้ก็แทบจะรู้เรื่องทั้งหมดแล้ว จริงไหมครับ นอกจากนี้ผู้ประพันธ์ยังคงแสดงความประชดประชันของเมียหลวง ที่ต่อว่าพ่อกลาย ๆ ให้ลูกฟังด้วยนะครับ อย่าง 

"ชิ้นห้าบิตรุงค์ทรงศักดิ์ 

ให้จับตัวลูกรักมาจากบ้าน

ชิ้นหกจองจำทำประจาน

ให้ประหารฆ่าฟันไม่บรรลัย

ชิ้นเจ็ดเพชฌฆาตเอาลูกยา

ไปถ่วงลงคงคาน้ำไหล" 


ซึ่งถ้าจะพูดภาษาชาวบ้าน ๆ ก็คือ ดูพ่อผู้ยิ่งใหญ่ของลูกสิ และดูเขาทำกับลูกสิ 

ถ้าจะว่าไปพระเอกอย่างพระสังข์นี่เอาจริง ๆ ก็ชอบซุกตัวอยู่ในเปลือกเพื่อหนีปัญหานะครับ ตอนเด็กก็แอบอยู่ในหอยสังข์ ทั้ง ๆ ที่ควรจะออกมาแสดงตัวกับแม่ จนสุดท้ายแม่ต้องมาทุบหอยสังข์ทิ้งไป และสุดท้ายก็ยังมาซุกตัวอยู่ในชุดเจ้าเงาะอีก จนเดือดร้อนไปถึงพระอินทร์ต้องแปลงกายมาทำท่าจะยึดเมืองท้าวสามล ถึงยอมถอดรูปเงาะออกมา 

แต่จะว่าไปก็ยังดีกว่าคนที่แอบย่องเข้าหาผู้หญิงทั้งที่ยังอยู่ในผ้าเหลือง เจ้าชู้ไปทั่ว แล้วยังผ่าท้องเมียเอาลูกมาทำกุมารทองอีก 

อ้าวว่าจะพูดเรื่องความสามารถในการสรุปความ ทำไมกลายเป็นวิจารณ์พระเอกในวรณคดีไทยได้ จบดีกว่า ขอให้มีความสุขในวันหยุดยาวนี้ครับ 

เมื่อนักบิน F16 มาสุ้กับ AI ใครจะชนะ

Photo by Kyaw Tun on Unsplash

กระทรวงกลาโหมสหรัฐได้จัดการแข่งขันที่เรียกว่า "AlphaDogFight Trials" ขึ้น โดยเป็นการแข่งขันการบินต่อสู้กันระหว่างนักบินจริง ๆ ที่บังคับเครื่องบินผ่านอุปกรณ์ VR กับโปรแกรม AI โดยเครื่องบินจะมีอาวุธคือเครื่องยิงแสงเลเซอร์ ซึ่งสมมติว่าเป็นปืนกล ซึ่งผลการแข่งขันพบว่า AI เอาชนะไปได้อย่างง่ายดายทั้งห้ารอบ โดยใช้เวลาต่ำกว่าสองนาที อย่างไรก็ตามกระทรวงกลาโหมบอกว่า การชนะนี้ไม่ได้หมายความว่า AI จะสามารถชนะได้ในการต่อสู้กันจริง ๆ เพราะในการแข่งขันนี้มีข้อจำกักและข้อยกเว้นมากมาย โปรแกรมที่ชนะนี้เป็นโปรแกรมของ Heron Systems ซึ่งสามารถเล็งเป้าหมายได้แม่นยำกว่านักบินที่เป็นคน และยังชนะโปรแกรมที่พัฒนาโดยบริษัทอื่น ๆ อย่างเช่น โปรแกรมที่พัฒนาโดย Georgia Institute of Technology และ Lockheed Martin

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Fortune

วันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2563

เงินเดือนของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลไม่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19

จากการสำรวจของ Burtch Works ที่เป็นบริษัทสรรหาผู้บริหารพบว่า COVID-19 ไม่มีผลกระทบกับเงินเดือนหรืองานด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล ในเดือนกรกฎาคม ผู้ตอบแบบสอบถาม 7.6% บอกว่าทีมด้านวิเคราะห์ของตัวเองมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 

โดยมัธยฐานของเงินเดือนของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่ไม่ได้เป็นผู้บริหารจะมีรายได้ในช่วง $95,500 สำหรับพนักงานที่อยู่ในระดับ 1 ไปจนถึง $165,000 ในระดับ 3 

Salaries of data science individual contributors

 
BURTCH WORKS

สำหรับมัธยฐานของเงินเดือนในตำแหน่งบริหารจะอยู่ในช่วง $150,750 สำหรับระดับ 1 ไปจนถึง $250,000 ในระดับ 3 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2019 มัธยฐานของเงินเดือนจะคงที่หรือเพิ่มขึ้นในแต่ละระดับขึ้นกับความต้องการ

 BURTCH WORKS


อ่านข่าวเต็มได้ที่: Forbes

วันพุธที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2563

เมืองในญี่ปุ่นจะทดสอบรถโดยสารสะเทื้นน้ำสะเทิ้นบกที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง

ภาพจาก Saitama Institute of Technology

เมือง Naganohara ในญี่ปุ่น จะทดสอบรถโดยสารสะเทื้นน้ำสะเทิ้นบกที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง โดยจะเริ่มในเดือนธันวาคม และทดสอบไปจนถึงมีนาคม 2021 Saitama Institute of Technology (SIT) กำลังพัฒนาระบบไร้คนขับให้กับรถโดยสาร โดยใช้แพลตฟอร์ม Autoware ซึ่งเป็นแบบเปิดเผยรหัส โดยใช้กับรถขับเคลื่อนอัตโนมัติ และใช้กับตัวควบคุมซึ่งเอา Joy Cars มาดัดแปลง  Joy Cars คือตัวที่ใช้ควบคุมรถในรูปแบบ joystick ที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับผู้พิการ หลักการทำงานคร่าว ๆ ก็คือ ตัวโปรแกรม Autoware จะถูกติดตั้งในเครื่องพีซี จะรับข้อมูลจากอุปกรณ์อย่าง Lidar กล้อง และ GPS และนำข้อมุลมาประมวลผลเพื่อส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายตัวควบคุม (controller area network ) หรือ CAN ซึ่งก็จะส่งสัญาณไปที่ตัว joystick เพื่อใช้ควบคุมรถยนต์อีกต่อหนึ่ง โดยตัวควบคุมรถยนต์จะแบ่งเป้นสองส่วนคือ ควบคุมพวงมาลัย และควบคุมการเร่งและเบรค โดยตัวรถจะต้องสามารถควบคุมการเคลื่อนที่จากบกสู่น้ำ จากน้ำสู่บก ตรวจสอบาภาพแวดล้อมแบบสามมิติ เนื่องจากเส้นทางที่รถวิ่งจะวื่งไปในเขื่อน Yanba ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงระดับของน้ำ อย่างรวดเร็ว และเนื่องจากในการสร้างเขื่อนนี้ไม่ได้มีการปรับภูมิทัศน์อะไร คือปล่อยน้ำท่วมเข้ามาเฉบ ๆ ดังนั้นต้นไม้ที่เคยมีอยู่ก็จะอยู่อย่างนั้น ดังนั้นต้องใช้โซนาร์ (sonar) เพื่อตรวจสอบอุปสรรคต่าง ๆ ใต้น้ำด้วย  

อ่านข่าวเต็มได้ที่: IEEE Spectrum


วันอังคารที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2563

ทำนายอายุขัยของแอป

ภาพจาก Shutterstock

นักวิจัยจาก Northwestern Polytechnical University พัฒนาตัวแบบเพื่อใช้ทำนายอายุขัยของแอป นักวิจัยใช้วิธีการเรียนรู้แบบ Multi-Task ในการพัฒนาตัวแบบ โดยวิเคราะห์ปัจจัยอย่างเช่นประวัติการดาวน์โหลด คะแนนที่ได้รับ และรีวิวของผู้ใช้จากช่วงเวลาต่าง ๆ ตัวแบบนี้มีชื่อว่า AppLife มันจะทำนายโอกาสที่แอปจะถูกถอดออกจาก app store ในปีหรือสองปี นักวิจัยได้ทดสอบกับชุดข้อมูลของแอปกว่า 35,000 แอป จาก app store ที่เปิดตัวในปี 2015 และยังโหลดได้อยู่ในปี 2016 นักวิจัยบอกว่าวิธีของเขาชนะวิธีที่ทันสมัยที่สุด 7 วิธี ในการทำนายอายุขัยของแอป

อ่านข่าวเต็มได้ที่: IEEE Spectrum