ไม่ได้เขียน #ศรัณย์วันศุกร์ มานานมาก บางทีมีเรื่องอยากเขียนมันก็เลยวันศุกร์มาแล้ว ถ้าเขียนมันจะกลายเป็น #ศรัณย์วันอื่นๆ ไป จะไปเขียนอีกศุกร์หนึ่งเรื่องมันก็ไม่น่าสนใจแล้ว แต่วันนี้ขอเขียนเรื่องที่กำลังประเด็นอยู่ตอนนี้ ก็คือเรื่องนักเรียนคนหนึ่งที่กำลังทำอารยะขัดขืนเพื่อต่อต้านสิ่งที่เขาคิดว่ามันไม่ถูกต้อง ก็คือเรื่องชุดนักเรียน และเสรีภาพในตัวเอง
ส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้ต้องแยกอออกเป็นหลายประเด็น ประเด็นที่หนึ่งคือเครื่องแบบกับเรื่องทรงผมอะไรพวกนี้มันมีผลอะไรกับการเรียนหรือไม่ ซึ่งทุกคนก็คงมีความเห็นเหมือนกันว่าเรื่องพวกนี้มันไม่เกี่ยวกับผลการเรียนเลย
ประเด็นที่ต่อเนื่องถัดมาคือถ้ามันไม่สำคัญแล้วทำไมบางโรงเรียนถึงต้องให้ใส่เครื่องแบบ ซึ่งตรงนี้ก็ต้องบอกว่าจริง ๆ มันเป็นสิทธิของโรงเรียนที่เขาจะวางกฏของเขา และเขาก็มีเหตุผลของเขา และไม่ใช่แค่โรงเรียนในไทยที่โรงเรียนมีเครื่องแบบ ในประเทศที่มีประชาธิปไตยเยอะ ๆ บางโรงเรียนเขาก็มีเครื่องแบบ ดังนั้นก่อนที่เราจะเข้าไป เราก็ต้องถามตัวเองก่อนว่าเรารับกฏเขาได้ไหม ถ้าไม่ได้ก็ไม่ต้องเข้าไป ซึ่งเขาจะมีเหตุผลอะไรก็แล้วแต่นะครับ แต่แน่นอนว่ามันไม่เกี่ยวกับผลการเรียนแน่
ประเด็นต่อเนื่องถัดมาคือทำไมถึงมีเด็กที่ต่อต้าน ส่วนตัวมองว่าเพราะมันมีการใช้อำนาจเกินขอบเขตและไม่มีเหตุผลในการควบคุมตรงนี้ คำถามคือมันมีเหตุผลอะไรที่ต้องตัดผมเกรียน หรือสั้นขนาดที่ต้องเอาไม้บรรทัดมาวัด ขาดไปไม่กีมิลก็ไม่ได้ คือมันไม่ใช่โรงเรียนฝึกทหารนะ โรงเรียนแบบนั้นเขาต้องการฝึกคนอีกแบบหนึ่ง ส่วนตัวอาจอคติเกินไปก็ได้เพราะคิดว่ามันเหมือนเป็นที่แสดงอำนาจเหนือเด็กของครูบางคน และก็ไม่ปรับตัวตามยุคสมัย ส่วนตัวมองว่าถ้าทำให้มันเป็นธรรมชาติ ไม่ไปบังคับเรื่องไร้สาระเกินไป มันไม่น่าจะมีประเด็นขนาดนี้ และวิธีการลงโทษก็ทำเกินเลยใช้อำนาจนิยม เช่นตัดผมจนแหว่ง กร้อนผม และอะไรต่ออะไร ซึ่งคนเป็นครูที่ควรจะมองเด็กเหมือนเป็นลูกตัวเองคนหนึ่ง เวลาจะทำอะไร ให้นึกว่าถ้าเป็นลูกตัวเองจะทำแบบนี้ไหม มันอาจจะช่วยให้ไม่ทำก็ได้
อีกอย่างก็ต้องยอมรับถึงยุคสมัยที่มันเปลี่ยนไปด้วย อย่างเรื่องย้อมสีผมอะไรแบบนี้ ส่วนตัวมองว่ามันก็เป็นแค่แฟชันที่วัยรุ่นสมัยนี้นิยมกัน และมันก็จะหายไปเมื่อเขาโตขึ้น มันน่าแปลกที่ทุกคนก็ผ่านช่วงวัยรุ่นมาแล้วทั้งนั้น และมันก็มีเรื่องที่เราอึดอัดคับข้องใจ มีขนบบางอย่างทื่เราก็อยากแหก หรือบางคนก็แหกไปแล้ว ซึ่งเราก็อาจเคยตั้งคำถามว่าทำไมเรื่องแบบนี้ถึงต้องห้าม และเราก็โกรธผู้ใหญ่ตอนนั้น แต่พอตอนเราโตขึ้นมาเรากลับลืม และกลับทำกับเด็กเหมือนกับที่เราโดนทำมา
เรื่องบางเรื่องแทนที่จะใช้การบังคับ เราใช้การพูดกับเขาด้วยเหตุผล ให้เขาคิดเองไหม อย่างเช่นถ้าเด็กใส่ประโปรงสั้นเกินไป หรือไม่ใส่เสื้อซับใน แทนที่จะลงโทษด้วยการประจาน ถ้าเราเปลี่ยนเป็นเตือนว่า ถ้าเธอนุ่งกระโปรงสั้นเวลาเดินทางเธอต้องระวังตัวนะ เดี๋ยวนี้มันมีพวกโรคจิตแอบถ่ายใต้กระโปรง แบบนี้มันอาจจะทำให้เขาคิดได้ว่า เออถ้าเราใส่กระโปรงให้มันยาวหน่อยก็น่าจะช่วยเซฟตัวเองจากพวกโรคจิตได้มากขึ้น
ประเด็นถัดมาก็คือประเด็นที่เด็กที่ชื่อหยกทำอยู่ตอนนี้ เริ่มจากตัวเด็กก่อน ถามว่าเด็กทำถูกไหม ถ้าจะมองในแง่ของกฏก็ต้องบอกว่าทำไม่ถูก เพราะกฏของโรงเรียนเด็กก็รับทราบมาก่อนแล้ว แต่สิ่งที่เด็กทำอยู่ตอนนี้คือสิ่งที่อาจเรียกว่าอารยะขัดขืน เพราะต้องการเปลี่ยนแปลงกฏซึ่งเขามองว่ามันไม่มีเหตุผล
ส่วนตัวมองว่าเด็กทำข้ามขั้นตอนไป เพราะก่อนที่จะไปถึงอารยะขัดขืน มันต้องเริ่มตามระบบก่อนไหม ถ้าทำตามระบบแล้ว ได้ผลลัพธ์ที่ไม่เป็นธรรมค่อยอารยะขัดขืน อะไรที่เรียกว่าทำตามระบบ ประการแรกเด็กต้องถามก่อนว่าคนในโรงเรียนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนกฏนี้ไหม ถ้ามีแค่ตัวเองคนเดียว หรือไม่กี่คน ก็ควรต้องหยุด นั่นคือเสียงส่วนใหญ่เขาไม่เอาด้วย แต่ถ้ามีคนเห็นด้วยก็เข้าชื่อกันยื่นข้อเรียกร้องต่อรองกับโรงเรียน ซึ่งก็อาจมีการเจรจากันถึงจุดที่ยอมรับได้ โดยทุกฝ่ายมีความสุข อันนี้ก็จบด้วยดี แต่ถ้าโรงเรียนไม่มีเหตุผล ไม่รับฟังเลย แถมใช้อำนาจว่าฉันเป็นผู้ใหญ่นะ อันนี้ก็อาจจะมีการอารยะขัดขืน และตอนนี้แทนที่จะทำคนเดียวก็อาจมีคนร่วมทำด้วย
อีกอย่างที่อยากเตือนทุกคนคือ ความหยาบคายไม่เคยนำไปสู่ทางออก เพราะมันจะเบี่ยงเบนประเด็นที่ต้องการจะถกกัน และสุดท้ายจะไม่มีใครฟังใคร และจะจ้องโจมตีกันที่ตัวบุคคล
ประเด็นถัดมาคือโรงเรียน ประการแรกคือโรงเรียนนั้นดีที่ยอมให้หยกมารายงานตัวเข้าเรียน จากกรณีการโดนเอาไปกักขังในสิ่งที่เขามองว่าไม่เป็นธรรม แต่กลับมาจัดการเรื่องนี้ได้แย่มาก (ตอนที่เขียนอยู่นี้ได้ข่าวว่าโรงเรียนเรียกตำรวจมาจัดการ) จริง ๆ แล้วโรงเรียนควรเป็นคนเริ่มพูดคุยกับเด็กว่าต้องการอะไรในการทำแบบนี้ อธิบายว่าทุกที่มีกฏมีกติกาของตัวเอง ประโยชน์ของการมีกฏนี้คืออะไร ซึ่งประชาคมในกลุ่มต้องปฏิบัติตามกฏนี้ แต่ถ้ามีคนเห็นว่ากฏต้องมีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องผ่านการเห็นชอบจากชุมชน จะยกตัวอย่างพรรคก้าวไกล (ซึ่งมีคนชอบโทษว่าเขาล้างสมองเด็กให้เป็นแบบนี้) ก็ได้ว่า กฏหมายต่าง ๆ ที่จะทำให้เกิดข้อโต้เถียงกัน เขายังจะใช้การโหวตในสภาเลย แล้วก็ยอมรับผลการโหวตนั้น
โรงเรียนควรเป็นผู้เสนอทางออกว่างั้นเรามาทำประชามติกันในโรงเรียนไหมว่ามีใครเห็นด้วยบ้าง แล้วจะแก้ยังไง แต่งธรรมดาสามวัน เครื่องแบบสองวันดีไหม อะไรแบบนี้ ผลออกมายังไงมันก็เป็นอย่างนั้นนะ แสดงให้เห็นว่าโรงเรียนเห็นด้วยกับแนวทางประชาธิปไตย ถ้าเด็กจะเคลื่อนไหวส่งเสริมประชาธิปไตยก็ควรยอมรับแนวทางนี้ และไม่ควรตัดสิทธิในการเข้าเรียนของเด็ก ให้เด็กต้องปีนเข้าไปเรียน อันนี้อาจมีคนเถียงว่างั้นเดี๋ยวก็มีคนทำตาม ถ้ามีคนทำตามแสดงว่าอะไรล่ะ มันก็แสดงว่ามีคนอยากทำแต่ไม่กล้าทำไง ดังนั้นถ้าโรงเรียนอยากจบเรื่องเร็ว ส่วนตัวมองว่าก็รีบทำประชามติไปเลย โดยต้องตกลงกับเด็กว่ายอมรับผลทั้งสองฝ่ายนะ เด็กจะไปรณรงค์หาเสียงอะไรก็ปล่อยเขาเต็มที่
ทั้งหมดนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเอง ซึ่งมองว่าปัญหาทุกอย่างโดยเฉพาะเรื่องที่มองต่างกัน ควรแก้ไขผ่านกลไกของระบบที่เป็นธรรม อย่าใช้แต่อำนาจ หรือคำว่าฉันเป็นผู้ใหญ่ ฉันรู้ดีกว่า ซึ่งความคิดแบบนี้แหละที่มันทำให้ประเทศเรามีปัญหากันแบบทุกวันนี้