วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

การโจมตีเครื่องชาร์จไฟแบบเร็วเพื่อทำให้อุปกรณ์พัง

badpower.jpg
Image: Tencent

ทีมนักวิจัยด้านความมั่นคงของจีนจาก Tencent's Xuanwu Lab บอกกว่าพวกเขาสามารถเข้าไปแก้เฟิร์มแวร์(firmware) ของเครื่องชาร์จไฟแบบเร็ว (fast charger) เพื่อให้อุปกรณ์ที่นำมาชาร์จกับเครื่องชาร์จนี้เสียหายได้ โดยเขาเรียกวิธีการนี้่ว่า BadPower ซึ่งหลักการทำงานของ BadPower ก็คือการไปทำให้เครื่องชาร์จปล่อยแรงไฟออกมามากกว่าที่ตัวอุปกรณ์จะรับได้ ซึ่งการจู่โจมนี้ทำได้โดยเอาเครื่องมือไปเสียบไว้ที่ตัวชาร์จ ทิ้งไว้สักสองสามวินาที จากนั้นตัวเฟิร์มแวร์ก็จะถูกแก้ไข หรือถ้าคิดว่าการเข้าถึงอุปกรณ์ชาร์จไฟของคนอื่นทำได้ยาก อักวิธีหนึ่งก็หาทางติดตั้งโปรแกรมลงไปในอุปกรณ์อย่างโทรศัพท์มือถือของผู้ใช้ พอผู้ใช้เอาไปชาร์จ โปรแกรมจากโทรศัพท์ผู้ใช้ก็จะไปเปลี่ยนแปลงเฟิร์มแวร์ของเครื่องชาร์จไฟได้เช่นกัน วิธีการป้องกันปัญหานี้ก็คือต้องอัพเดตเฟิร์มแวร์ของเครื่องชาร์จ แต่นักวิจัยพบว่ามีเครื่องชาร์จไฟหลายยี่ห้อที่ใช้ชิปจากผู้ผลิตที่ไม่ได้เปิดให้มีการอัปเดตเฟิร์มแวร์ ดังนั้นเครื่องชาร์จที่ใช้ชิปเหล่านั้นก็จะยังคงมีความเสี่ยงกับปัญหานี้ วิธีที่สามารถแก้ปัญหานี้ได้นอกจากการอัพเดตเฟิร์มแวร์ของเครื่องชารจ์ก็คือ ตัวอุปกรณ์ที่จะนำมาชาร์จต้องมีระบบป้องกันไฟเกิน

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet

วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

หลอดเลือด Artery ที่พิมพ์จากเครื่องพิมพ์สามมิติสามารถติดตามการอุดตันได้จากภายใน

Section of artificial artery

[ภาพจาก UW-Madison News]

วิศวกรจาก University of Wisconsin-Madison (UW-Madison) กำลังพัฒนาหลอดเลือด artery ที่พิมพ์จากเครื่องพิมพ์สามมิติ ซึ่งจะช่วยให้หมอและคนไข้รู้ว่ามีการอุตตันของหลอดเลือดเกิดขึ้นได้จากภายในตัวหลอดเลือด ในเทคโนโลยีที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เมื่อหมอเอาหลอดเลือดไปใส่แทนของเดิมที่เสียหาย วิธีการติดตามผลต้องทำผ่านอุปกรณ์อย่างเช่น CT scan, ultrasound หรือเครื่องมือทางการแพทย์อื่น ๆ ที่มีราคาแพง 

หลอดเลือดแบบใหม่นี้จะช่วยแก้ปัญหาได้ หลอดเลือดนี้จะถูกพิมพ์ขึ้นมาจากวัสดุที่มีความยืดหยุ่น และสามารถติดตามผลได้ตลอดเวลา หลอดเลือดนี้สามารถสร้างสัญญาณไฟฟ้าที่เป็นจังหวะตามการเคลื่อนไหวของความดัน ทำให้รู้ระดับความดันเลือดได้อย่างแม่นยำโดยไม่ต้องใช้แหล่งพลังงานภายนอก 

ด้วยความที่เป็นรูปทรงแบบ 3 มิติ สัญญาณไฟฟ้าที่เป็นจังหวะนี้ยังสามารถทำให้เห็นว่ามีการเคลื่อนตัวที่ผิดไป เนื่องจากการอุดตันในเส้นเลือดหรือไม่ได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น

อ่านข่าวเต็มได้ที่: UW-Madison News

วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

Apple เริ่มแจก iPhone เวอร์ชันที่เป็นมิตรกับแฮกเกอร์ให้กับนักล่าบั๊ก

[ภาพจาก https://unsplash.com/@dnnsbrndl]

Apple เริ่มต้นให้ยืม iPhone เวอร์ชันพิเศษที่เป็นมิตรกับแฮกเกอร์ ให้กับนักวิจัยที่ได้รับการตรวจสอบแล้ว เพื่อช่วยให้พวกเขาหาและรายงานช่องโหว่ด้านความปลอดภัยที่จะให้บริษัทแก้ไขได้ง่ายขึ้น โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการงานวิจัยด้านความมั่นคงของอุปกรณ์ที่ใช้ iOS (iOS Security Research Device program) โดย iPhone ที่ให้ยืมนี้จะมี iOS ที่ดัดแปลงให้มีคุณสมบัติที่ iOS เวอร์ชันปกติไม่มี เช่นการใช้ Secure Shell สิทธิในการเป็น root เพื่อใช้คำสั่งโดยมีสิทธิสูงสุด และเครื่องมือตรวจหาข้อผิดพลาดของโปรแกรม เพื่อให้นักวิจัยรันโปรแกรมได้ง่ายขึ้น และเข้าใจการทำงานเบื้องหลังได้ง่ายขึ้น ผู้เข้าร่วมโครงการจะสามารถเข้าถึงเอกสารได้มากขึ้น และ Apple ยังมีฟอรัม (Forum) ที่วิศวกรของ Apple จะเข้ามาตอบคำถามและตอบกลับเรื่องต่าง ๆ Apple คาดหวังว่าโปรแกรมนี้จะช่วยให้นักวิจัยด้านความมั่นคงที่มีความน่าเชื่อถือเหล่านี้ ค้นพบช่องโหว่ต่าง ๆ ที่ฝังลึกอยู่ในซอฟต์แวร์

อ่านข่าวเต็มได้ที่: TechCrunch

วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ภาษาเขียนโปรแกรมที่ได้รับความนิยมในปี 2020

จากการจัดดันดับของ IEEE Spectrum ล่าสุด พบว่าภาษา Python ยังคงเป็นภาษาที่ได้รับความนิยมสูงสุด การจัดอันดับนี้ใช้มาตรวัดที่ได้มาจากการสำรวจออนไลน์หลายอย่างผสมกัน โดยดูจากภาษาโปรแกรมที่ได้รับความนิยม 55 ภาษา โดยภาษา Java และ C ได้รับความนิยมเป็นอันดับสองและสามตามลำดับ ที่แปลกกว่าการจัดอันดับที่อื่นคือ IEEE Spectrum จัด Arduino เป็นภาษาโปรแกรมด้วย โดยได้รับความนิยมเป็นอันดับที่ 7 โดยขึ้นมาจากอันดับ 11 ซึ่งจริง ๆ แล้ว Arduino นั้นคือบอร์ดคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก ภาษาโปรแกรมที่เขียนใช้กับ Arduino คือ Wiring ที่ถูกดัดแปลงมาจาก C/C++ อีกทีหนึ่ง IEEE Spectrum ให้เหตุผลของการจัด Ardunio ว่าเป็นภาษาเขียนโปรแกรมก็เพราะว่า เวลาคนค้นภาษาเขียนโปรแกรมบน Arudino มักจะค้นด้วยคำว่า "Ardunio Code" หรือ "Ardunio Programming" ไม่ได้ค้นด้วยคำว่า "Wiring Code"  

screenshot of the the top ten list from the app
[ภาพจาก IEEE Spectrum ]

IEEE Spectrum ได้ให้เหตุผลว่าส่วนหนึ่งที่ภาษา Python ได้รับความนิยม ส่วนหนึ่งเพราะตอนนี้มันถูกใช้เป็นภาษาสำหรับสอนเขียนโปรแกรม แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งมันก็เป็นภาษาที่คนทำงานอย่างเช่นทางด้านการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) ใช้กันด้วย เพราะมันมีไลบรารีที่มีคุณภาพในด้านต่าง ๆ ให้ใช้เยอะมาก 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: IEEE Spectrum   

เพิ่มเติมเสริมข่าว: 

ปีนี้ผมสรุปข่าวการจัดอันดับภาษาโปรแกรม มาน่าจะสักสามข่าวได้แล้วนะครับ ซึ่งอันดับท็อปสิบก็ไม่ค่อยต่างกันนัก โดย Python ก็มักจะอยู่ในอันดับท็อปห้าเสมอ ผมมักจะบอกลูกศิษย์และลูก  ๆ หลาน ๆ อยู่เสมอว่าโปรแกรมหนึ่งที่ควรใช้ให้เป็นอย่างยิ่งคือ Excel และถ้าจะต้องให้เพิ่มภาษาเขียนโปรแกรมที่ควรจะเขียนให้เป็นไว้หนึ่งภาษา ผมก็จะแนะนำภาษา Python ครับ

วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

นิวยอร์กห้ามการใช้ระบบรู้จำใบหน้าในโรงเรียนทั่วรัฐ

People walk past a poster simulating facial recognition software at the Security China 2018 exhibition on public safety and security in Beijing, China October 24, 2018.

[ภาพจาก VentureBeat ]

สภานิติบัญญัติของนิวยอร์กได้ประกาศให้เลื่อนการใช้ระบบรู้จำใบหน้าและการใช้การระบุตัวตนโดยใช้ชีวมาตรไปก่อนจนกว่าจะถึงปี 2022 แม้ผู้ให้การสนับสนุนจะอ้างว่าระบบ Aegis ที่พัฒนาโดยบริษัทในแคนาดา จะทำให้นักเรียนปลอดภัยจากการขึ้นบัญชีคนที่ต้องเฝ้าระวัง แต่ก็มีการวิจารณ์ว่าระบบสามารถใช้สอดแนมนักเรียน และยังมีฐานข้อมูลใบหน้าที่ค่อนข้างอ่อนไหวที่ทางสภาเมืองเองก็อาจดูแลให้ปลอดภัยไม่ได้ ผู้สนับสนุนการเลื่อนอออกไปยังบอกว่าระบบรู้จำใบหน้ายังไม่เที่ยงตรง ในการระบุตัวผู้หญิงและคนผิวสี ทาง ACM และ  American Civil Liberties Union ก็กำลังเร่งให้มีการเลื่อนการใช้การระบุตัวตนโดยใช้ชีวมาตรออกไป 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: VentureBeat

เพิ่มเติมเสริมข่าว: 

จำได้ว่าสรุปข่าวเรื่องการรู้จำใบหน้ามาหลายข่าวแล้ว คิดว่ามันคงต้องกลับไปปรับปรุงให้สมบูรณ์มากกว่านี้จริง ๆ แต่ประเทศที่ใช้มันมากเลยเท่าที่รู้คือจีน แต่ก็ไม่ได้เห็นข่าวทางด้านลบมากนัก ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเป็นประเทศที่ประชาชนไม่มีสิทธิจะพูดอะไร หรือมันไม่มีความหลากหลาย และลำเอียงทางด้านการจัดเก็บข้อมูล มันเลยทำงานได้ดี 

วันอาทิตย์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

หุ่นยนต์จัดการสายเคเบิล

The system uses a pair of soft robotic grippers with high-resolution tactile sensors to successfully manipulate freely moving cables.
[ภาพจาก MIT News]

นักวิจัยจากแล็บวิทยาการคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ของ  Massachusetts Institute of Technology (MIT) ได้พัฒนาระบบที่ทำให้หุ่นยนต์สามารถส่งต่อสายเคเบิลระหว่างตัวจับหนึ่งไปยังอีกตัวจับหนึ่งได้ นักวิจัยได้สร้างตัวจับที่มีสองนิ้ว โดยเมื่อใช้สองตัวร่วมกันจะสามารถส่งสาย USB ระหว่างตัวจับทั้งสองได้ โดยหุ่นยนต์นี้สามารถทำงานกับสายที่ทำจากวัสดุที่ต่างกัน มีความหนาที่ต่างกัน และยังสามารถใส่หูฟังลงในช่องเสียบได้อีกด้วย นักวิจัยบอกว่าด้วยเทคนิคนี้สักวันหนึ่งเราจะมีหุ่นยนต์ที่สามารถช่วยคนผูกเงื่อน ถักถอสาย และเย็บแผลผ่าตัด

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  MIT News

วันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

นักวิจัยพัฒนากล้องที่มองเห็นตามมุมได้

นักวิจัยจาก University of California, Los Angeles (UCLA) และ Nara Institute of Science and Technology ในญี่ปุ่น ได้พัฒนากล้องที่ทำให้ผู้ใช้มองเห็นภาพที่อยู่ตามมุมได้ โดยใช้หลักการของการสะท้อนแสงจากพื้นผิวเช่นกำแพงที่อยู่รอบ ๆ ห้อง และกระเบิ้องปูพิ้น ซึ่งตาของคนเราไม่สามารถมองเห็นได้ 

นักวิจัยคิดขั้นตอนวิธีที่ใช้ในการปรับเปลี่ยนทิศทางของแสงที่สะท้อนจากกำแพงเพื่อให้แสดงอ็อบเจกต์ที่ซ่อนอยู่ นักวิจัยบอกว่าถ้าเทคโนโลยีนี้นำไปประยุกต์ใช้กับกล้องได้อย่างสมบูรณ์ มันจะสามารถนำไปใช้ในงานอย่างเช่นช่วยหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุของรถขับเคลื่อนด้วยตัวเองในจุดที่เป็นจุดบอด หรืออาจช่วยให้วิศวกรด้านชีวการแพทย์ (biomedical engineer) สามารถสร้างกล้องส่องดูอวัยวะภายใน (endoscope) ที่ช่วยให้หมอสามารถมองเห็นรอบ ๆ อวัยวะได้


จากภาพ: ทางซ้ายคือตัวกล้องที่มีตัวโพลาร์ไรซ์วางอยู่หน้าเลนส์ ทางขวาคืออ็อบเจกต์ที่ต้องการตรวจจับ 
[ภาพจาก:  UCLA Samueli Newsroom]


 
จากภาพ: ทางขวาแสดงภาพสะท้อนของวัตถุที่กล้องจับได้ 
[ภาพจาก:  UCLA Samueli Newsroom]


อ่านข่าวเต็มได้ที่: UCLA Samueli Newsroom

วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

โชคมักจะมากับความมุ่งมั่น

วันศุกร์นี้ขอเขียนเรื่องทีมรักอย่างลิเวอร์พูลอีกสักวันแล้วกันครับ เพราะมีประเด็นที่คิดว่าน่าสนใจที่จะเอาแบ่งปันกันได้ อย่างที่รู้กันนะครับว่าลิเวอร์พูลสามารถกลับมาคว้าแชมป์ในลีกสูงสุดของอังกฤษอีกครั้งหลังจากที่คว้าแชมป์นี้ได้ล่าสุดเมื่อ 30 ปีที่แล้ว โดยก่อนหน้าที่โควิดจะระบาดลิเวอร์พูลมีแต้มนำทีมแชมป์ปีที่แล้ว และรองแชมป์ปีนี้อย่างแมนเชสเตอร์ซิตี้อยู่ภึง 25 คะแนน ในณะที่เหลือการแข่งขันอยู่อีก 9 นัด และหลังจากกลับมาแข่งขันใหม่ ลิเวอร์พูลสามารถทำคะแนนทิ้งห่างจากแมนเชสเตอร์ซิตี้จนแต้มขาดไปในนัดที่ 31 และเพิ่งจะได้ชูถ้วยอย่างเป็นทางการไปในเช้าตรู่วันพฤหัสที่ 23 กรกฎาคม 2563 ตามเวลาประเทศไทย 



ในฤดูกาลนี้มีช่วงหนึ่งที่ลิเวอร์พูลชนะติดกันมาถึง 18 นัด และในหลาย ๆ นัดก็ทำท่าว่าจะเสมอ หรือบางนัดจะแพ้ด้วยซ้ำ แต่ก็กลับมาชนะได้หมด จนหลายคนโดยเฉพาะที่ไม่ใช่แฟนลิเวอร์พูล บอกว่าลิเวอร์พูลนั้นก็แค่โชคดีมากในฤดูกาลนี้ ถ้าไม่มีโชคแบบนี้ ก็คงไม่ทิ้งห่างแมนเชสเตอร์ซิตี้แบบนี้ 

แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจมองข้ามไปก็คือ ในช่วงที่ผลการแข่งขันดีมาก ๆ นั้น นักฟุตบอลของลิเวอร์พูล มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเอาชนะ เพื่อที่จะพยายามทิ้งห่างแมนเชสเตอร์ซิตี้ออกไปให้มากที่สุด เพราะยังคงเจ็บใจจากฤดูกาลที่แล้วที่แพ้ไปแค่แต้มเดียว โดยมาโดนแมนเชสเตอร์ซิตี้แซงในช่วงท้าย ดังนั้นเมื่อนกหวีดหมดเวลายังไม่ดัง ทุกคนจึงทุ่มเทอย่างไม่หยุดยั้ง และได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ ซึ่งถ้านักเตะลิเวอร์พูลไม่ทุ่มเทแบบนั้นสิ่งที่จะเรียกว่าโชคหรืออะไรก็แล้วแต่มันก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ 
 


แต่หลังจากกลับมาเล่นกันใหม่จากการที่ต้องหยุดยาวจากโควิด โดยเฉพาะหลังจากคว้าแชมป์แน่นอนแล้ว จะเห็นว่าลิเวอร์พูลมีผลการแข่งขันที่ไม่ดีเหมือนเดิม เสียแต้มไปเยอะมาก สองนัดก่อนหน้านัดล่าสุดก็เสมอและแพ้ ทั้งที่ออกนำไปก่อนด้วยรูปเกมที่ในช่วง 20 นาทีแรกเหนือกว่าคู่แข่งอย่างมาก ประเด็นที่เห็นได้ชัดคือนักฟุตบอลหลายคนไม่ได้มุ่งมั่นเหมือนเดิม คือยังคงเล่นเต็มที่ แต่ถ้าพลาดไปแล้วมักจะกลับมาไม่ได้ ลูกยิงที่น่าจะเข้า หรือเคยเข้าในช่วงที่ชนะติดกันยาว ๆ ก็ไม่เข้า ชนเสาบ้าง ถูกเซฟบ้าง ยิงไม่ดีเองบ้าง ซึ่งถ้าจะพูดในเรื่องโชค ก็อาจพูดได้ว่าโชคหายไปแล้ว แต่ถ้าดูดี ๆ ก็คือมันหายไปพร้อมกับความมุ่งมั่นที่ลดลงนั่นเอง แต่ในนัดล่าสุดถึงแม้จะยังมีฟอร์มที่ไม่ดีเหมือนเดิม แต่เท่าที่เห็นคือมีความมุ่งมั่นมากกว่าเดิม เพราะเป็นนัดสุดท้ายในบ้านในฤดูกาลนี้ และเป็นนัดที่จะได้รับถ้วยด้วย จึงเอาชนะไปได้ 

ซึ่งผมว่าตรงนี้มันน่าจะให้ข้อคิดกับพวกเราหลาย ๆ คนนะครับว่า การที่เราคิดว่าหลาย ๆ คนนั้นโชคดี แต่เบื่้องหลังของความโชคดีส่วนใหญ่ มักจะเกิดจากความพยายามมุ่งมั่นทำอะไรบางอย่างมาก่อน จนเมื่อโชคหรือโอกาสหรืออะไรก็ตามมาถึง เขาก็สามารถคว้ามันไว้ได้ น้อยมากที่นอน ๆ อยู่แล้วก็จะได้โชค ต่อให้ถูกล็อตเตอรีรางวัลที่หนึ่ง หลายคนอย่างน้อยสุดก็ต้องออกไปซื้อใช่ไหมครับ และหลายคนก็อาจมุ่งมั่นซื้อมาเรื่อย ๆ ด้วย :)



ดังนั้นใครที่มีความฝันอะไร ก็มุ่งมั่นทำต่อไปนะครับ เมื่อโอกาสมาถึง หรือจะเรียกว่าโชคมาถึงก็ได้ เราจะได้คว้ามันเอาไว้ได้ และอีกจุดหนึ่งที่ลิเวอร์พูลแสดงให้เห็นในฤดูกาลนี้ก็คือ ถ้าเร่งเดินหน้าทำเต็มที่ตั้งแต่ต้น เราก็สามารถสบายได้ในตอนท้าย ขณะที่หลาย ๆ ทีมยังคงต้องเครียดเพื่อที่ 3  ที่ 4 หรือที่ 5 บางทีมก็หนีการตกขั้น แต่ลิเวอร์พูลนั้นไม่ต้องมาเครียดอะไรอีกแล้ว 

เขียนไปเขียนมาชักจะกลายเป็นไลฟ์โค้ชแล้ว แค่แสดงความเห็นส่วนตัวนะครับ จบดีกว่า...    ก่อนจบก็ขอแชร์บรรยากาศชูถ้วยของลิเวอร์พูลซะหน่อยแล้วกันนะครับ 


ไมโครซอฟท์เตือนให้เร่งอัพเดตแพทช์ของ Windows Server

[ภาพจาก: Frank V.]

นักวิจัยที่บริษัทด้านความมั่นคง Check Point ได้ค้นพบช่องโหว่ใน Windows DNS ซึ่งจะทำให้ผู้บุกรุกสามารถเข้าควบคุมเครือข่ายทั้งหมดได้โดยไม่ต้องมีผู้ใช้เข้าไปเกี่ยวข้องเลย ช่องโหว่นี้มีชื่อว่า SigRed ซึ่งเป็น "wormable" ก็คือมันสามารถแพร่กระจายจากเครื่องหนึ่งไปสู่เครื่องหนึ่งด้วยตัวเองอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม SigRed ไม่ได้โจมตี Windows สำหรับเครื่องผู้ใช้ทั่วไป แต่จะโจมตี Windows Server ตั้งแต่รุ่นปี 2003-2019 นักวิจัยที่ Check Point บอกว่ายังถึงตอนนี้ยังไม่มีรายงานการโจมตีโดยใช้ช่องโหว่นี้ แต่มีแนวโน้มว่าอาจเกิดขึ้น นักวิจัยบอกว่าช่องโหว่นี้มีผลร้ายแรง เพราะเราจะพบเครื่อง Windows Server ที่ไม่ได้อัพเดทแพทช์มากมาย ยิ่งไปกว่านั้นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหลายรายก็มักจะติดตั้ง DNS Server สาธารณะโดยใช้ Windows DNS ไมโครซอฟท์ได้แก้ไขประเด็นนี้ โดยใส่มาเป็นส่วนหนึ่งของแพทช์ประจำเดือนนี้ โดยออกมาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา และเตือนให้ลูกค้าเร่งอัพเดทแพทช์นี้ให้เร็วที่สุด

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  Ars Technica

วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

Google ให้ทุนการศึกษา 100,000 ทุน เพื่อให้เรียนประกาศนียบัตรออนไลน์

The Google logo outside if its New York City offices, which were closed on May 19, 2020 due to the coronavirus pandemic.

[ภาพจาก CNBC]

Google เริ่มหลักสูตรประกาศนียบัตรออนไลน์ใหม่ ด้าน Data Analytics, Project Management, และ UX design ซึ่งสอนโดยพนักงานของ Google และใช้แพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์ Coursera โดยผู้เรียนไม่จำเป็นต้องมีปริญญาใด ๆ ก่อนที่จะเข้าเรียน และแต่ละวิชาสามารถเรียบจบได้ในช่วงเวลา 3-6 เดือน โดย Google บอกว่าจะพิจารณาว่าประกาศนียบัตรเหล่านี้เท่ากับระดับปริญญาตรีซึ่งใช้เวลาเรียน 4 ปี สำหรับตำแหน่งงานใน Google 

สำหรับค่าใช้จ่ายในการเรียนผ่านแพลตฟอร์ม Coursera จะอยู่ที่ $49 ต่อเดือน แต่ Google จะให้ทุนการศึกษา 100,000 ทุน สำหรับคนที่ลงทะเบียนเรียนหนึ่งในโปรแกรมประกาศนียบัตรเหล่านี้ และจะมอบทุน $10 ล้านเหรียญให้กับองค์กรอย่าง YWCA, NPower, และ JFF ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงกำไร และร่วมมือกับ Google ในการพัฒนาแรงงานที่เป็นผู้หญิง ทหารผ่านศึก และผู้ด้อยโอกาส 

Google เลือก Data Analytics, Project Management, และ UX design มาเป็นโปรแกรมที่ใช้สอนนี้เนื่องจากเป็นสาขาที่กำลังเติบโตและมีเงินเดือนสูง

อ่านข่าวเต็มได้ที่: CNBC

วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

Deepfake ถูกใช้เพื่อใส่ร้ายคู่สามีภรรยานักกิจกรรม

ถ้าไปค้นในอินเทอร์เน็ตจะพบว่าชายที่ชื่อ Oliver Taylor เป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮมในประเทศอังกฤษ อายุประมาณ 20 ปี มีตาสีน้ำตาล เป็นคนรักกาแฟ ถูกเลี้ยงมาในครอบครัวชาวยิวธรรมดา และมีงานบรรณาธิการและบล็อกโพสต์กว่า 6 ชิ้นที่แสดงความสนใจด้านการต่อต้านชาวยิวและกิจกรรมของชาวยิว และยังได้พาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์อย่าง Jerusalem Post และ Times of Israel ด้วย แต่สุดท้ายอาจกลายเป็นว่า Taylor นั้นไม่มีตัวตนอยู่จริง? 

แสดงการวิเคราะห์รูปโปรไฟล์ของ Tylor ว่าสร้างจาก DeepFake 
[ภาพจาก: Reuters]

เรื่องของ Taylor ได้รับความสนใจจนนำไปสู่การตรวจสอบเมื่อ Taylor ไปเขียนบทความโจมตีนักการศึกษาที่อยู่ในลอนดอนคือ Mazen Marsri ซึ่งเป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคม ในบทความที่ตีพิมพ์โดยหนังสือพิมพ์ชาวยิวในอเมริกา โดยบอกว่า Marsri และภรรยาเป็นผู้ที่สนับสนุนผู้ก่อการร้าย 

จากการตรวจสอบที่มหาวิทยาลัยพบว่าไม่มีข้อมูลของเขา และเขาก็ไม่ได้มีร่องรอยของการออนไลน์นอกจากการไปตอบคำถามในเว็บไซต์ถามตอบ Quora ซึ่งก็มีการใช้งานอยู่สองวันในเดือนมีนาคม หนังสือพิมพ์สองฉบับที่เผยแพร่งานของเขาก็พยายามแต่ไม่สามารถระบุตัวตนของเขาได้ ผู้เชี่ยวชาญใช้โปรแกรมที่ทันสมัยที่สุดทางนิติเวชมาวิเคราะห์รูปโพรไฟล์ของเขา และได้ผลว่ามันเป็นรูปที่ถูกสร้างขึ้นโดยเทคนิคที่เรียกว่า deepfake ทางสำนักข่าว Reuter ยังไม่รู้ว่าใครอยู่เบื้องหลังตัวตนปลอมนี้

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  Reuters

เพิ่มเติมเสริมข่าว: 

Deepfake เป็นการใช้เทคนิคที่เรียกว่า deep learning ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของ AI ในการสร้างภาพ หรือวีดีโอจากสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง แบบที่ดูเหมือนจริงมาก สำหรับใครที่อยากรู้มากขึ้นเกี่ยวกับ Deepfake สามารถดูได้จากวีดีโอนี้ครับ 


 

วันอังคารที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

หุ่นยนต์ในญี่ปุ่นกำลังจะทำงานในร้านสะดวกซื้อ

ในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ หุ่นยนต์จากผู้พัฒนาในญี่ปุ่นชื่อ Telexistence จะเตรียมอาหารในร้านสะดวกซื้อ FamilyMart  โดยมีแผนการจะขยายให้ได้ 20 สาขาในโตเกียวภายในปี 2022 


ภาพจาก: Reuters

ในตอนเริ่มต้นจะให้คนเป็นคนคุ่มหุ่นยนต์จากระยะไกล จนกว่า AI จะเรียนรู้และเลียนแบบการทำงานของคนได้ บริษัทบอกว่าการทำแบบนี้จะประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการเขียนโปรแกรมที่ซับซ้อนเป็นอย่างมาก หุ่นยนต์นี้ถูกเรียกว่า T Model โดยถูกออกแบบให้มีลักษณะเหมือนจิงโจ้ เพื่อให้ลูกค้าไม่รู้สึกไม่สะดวกใจถ้ารูปลักษณ์ของหุ่นยนต์เหมือนคนมากเกินไป


อ่านข่าวเต็มได้ที่: Reuters

วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

หุ่นยนต์ขากรรไกรเพื่อช่วยผลิตหมากฝรั่งทางการแพทย์

จากการศึกษาของนักวิจัยที่ University of Bristol ประเทศอังกฤษ พบว่าหุ่นยนต์ที่เลียนแบบขากรรไกรของคนในการบดเคี้ยว จะช่วยให้บริษัทยาผลิตหมากฝรั่งทางการแพทย์ได้ โดยนักวิจัยได้เปรียบเทียบปริมาณไซลิทอล (xylitol) ที่เหลืออยู่ในหมากฝรั่งจากการเคี้ยวของหุ่นยนต์ เทียบกับคนไข้ที่เข้ารับการทดลอง 


[รูปภาพจาก: University of Bristol News (U.K.)]

นักวิจัยยังต้องการประเมินปริมาณของไซลิทอลที่ถูกปล่อยออกจากหมากฝรั่งอีกด้วย ซึ่งผลการทดลองพบว่าอัตราการปล่อยไซลิทอลในคนกับหุ่นยนต์มีอัตราที่ใกล้เคียงกัน โดยปริมาณไซลิทอลที่ถูกปล่อยออกมามากที่สุดจะอยู่ใน 5 นาที่แรก และหลังจากเคี้ยวไป 20 นาที จะมีปริมาณไซลิทอลเหลืออยู่ในหมากฝรั่งค่อนข้างน้อย นักวิจัยบอกว่าหุ่นยนต์นี้จะช่วยให้บริษัทผลิตยาได้ทดลองหมากฝรั่งทางการแพทย์ โดยลดการทดลองกับคนไข้จริงและประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วย

อ่านข่าวเต็มได้ที่: University of Bristol News (U.K.)

วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

การสัมภาษณ์งานด้านเทคโนโลยีเป็นการประเมินความตื่นเต้นไม่ใช่ทักษะ

นักวิจัยจาก North Carolina State University (NC State) และ Microsoft พบว่าการสัมภาษณ์ด้านเทคนิคในตำแหน่งวิศวกรซอฟต์แวร์ไม่ได้เน้นไปที่ความสามารถในการเขียนโปรแกรม แต่เป็นการดูว่าใครจัดการกับความตื่นเต้นได้ดีกว่ากัน เพราะการสัมภาษณ์งานในตำแหน่งนี้มีการให้ผู้สมัครเขียนโปรแกรมลงบนกระดาน และอธิบายโปรแกรมให้ผู้สอบสัมภาษณ์ฟังไปด้วย 

person writes on whiteboard

[รูปภาพจาก: NC State University News]

นักวิจัยได้ทำการทดลองโดยการแบ่งนักศึกษาระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษาออกเป็นสองกลุ่มกลุ่มละเท่า ๆ กัน โดยกลุ่มหนึ่งให้สัมภาษณ์แบบเขียนกระดานและอธิบายโปรแกรม อีกกลุ่มหนึ่งให้เขียนโปรแกรมในห้องส่วนตัวที่ไม่มีผู้สัมภาษณ์อยู่ ซึ่งผลการวิจัยสรุปได้ว่าบริษัทอาจจะเสียนักเขียนโปรแกรมที่เก่ง ๆ ไป เพราะพวกเขาเหล่านั้นไม่คุ้นเคยกับการเขียนโปรแกรมบนกระดานไปด้วยและอธิบายสิ่งที่เขาเขียนออกมาดัง ๆ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: NC State University News

วันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

หุ่นยนต์ช่วยทำแล็บช่วยการวิจัยได้เร็วกว่าเป็น 1000 เท่า




[รูปภาพจาก: The Verge]

ที่ University of Liverpool ในประเทศอังกฤษ นักวิจัยได้พัฒนาหุ่นยนต์ช่วยทำแล็บ ซึ่งสามารถช่วยทำแล็บได้เร็วกว่าคน 1,000 เท่า แม้ว่าหุ่นยนต์นี้จำทำงานได้ในห้องแล็บซึ่งต้องมีการระบุตำแหน่งอุปกรณ์ไว้ล่วงหน้า และไม่สามารถออกแบบการทดลองเองได้ แต่มันสามารถทำงานได้ 22 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างระบบอัตโนมัติกับงานวิจัยที่ใช้เวลานานและน่าเบื่อ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Verge

  

วันศุกร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

คำเตือนสำหรับผู้ใช้เราเตอร์ตามบ้าน

นักวิจัยจาก Fraunhofer Institute for Communication (FKIE) ในประเทศเยอรมัน ได้ศึกษาเราเตอร์ที่ใช้ตามบ้าน 127 ตัวจาก 7 ยี่ห้อ และพบว่า 46 ตัว ไม่มีการอัพเดตด้านความมั่นคงในปีที่ผ่านมา การศึกษายังพบว่าเราเตอร์หล่านี้มีช่องโหว่ที่รู้กันอยู่แล่้วเป็นร้อย ๆ รายการ แต่ซอฟต์แวร์อัพเดตของเราเตอร์ กลับไม่ได้แก้ปัญหาเหล่านี้ นักวิจัยยังพบว่าเราเตอร์ยี่ห้อ AVM เป็นเพียงยี่ห้อเดียวที่ไม่ได้นำกุญแจส่วนตัว (private key) ในการเข้ารหัสใส่ลงไปเฟิร์มแวร์ของเราเตอร์ นอกจากนี้ 90% ของเราเตอร์ที่นำมาศึกษาใช้ระบบปฏิบัติการลินุกซ์ที่ไม่ได้มีการอัพเดต นักวิจัยบอกว่าบริษัทเหล่านี้มีการอัพเดตซอฟต์แวร์ของตัวเอง เพียงแต่การอัพเดตนั้นไม่ได้มีส่วนที่ควรจะต้องอัพเดต

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

หวังว่าจะไม่กี่ยวข้องกับเราเตอร์ในประเทศเรานะครับ

วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

นาฬิกาอัจฉริยะอาจถูกแฮกเพื่อส่งข้อมูลการเตือนการกินยาให้คนป่วย

นักวิจัยจาก Pen Test Partners ซึ่งเป็นบริษัทด้านความมั่นคงในประเทศอังกฤษพบว่าช่องโหว่ในนาฬิกาอัจฉริยะ (smart watch) ที่จะช่วยเตื่อนให้คนไข้ที่สูงอายุไม่ลืมกินยา โดยนักวิจัยพบว่าแอปที่ชื่อ SETracker ที่ได้รับความนิยมมากในนาฬิกาอัจฉริยะราคาถูกซึ่งถูกดาวน์โหลดไปมากกว่า 10 ล้านครั้ง มีช่องโหว่ให้แฮกเกอร์ส่งข้อความเตือนกินยาไปที่นาฬิกาหลาย ๆ ครั้ง ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยกินยาเกินขนาดได้ เมื่อได้รับการเตือนเรื่องนี้บริษัทจากจีนที่เป็นเจ้าของแอปนี้ก็รีบแก้ช่องโหว่นี้ทันที แต่นักวิจัยบอกว่าเราไม่มีทางรู้ว่าช่องโหว่นี้ถูกใช้ไปบ้างหรือยังก่อนที่จะมีการแก้ไข

 อ่านข่าวเต็มได้ที่: BBC News

วันพุธที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

หมึกชีวภาพสำหรับพิมพ์สามมิติในร่างกาย

นักวิจัยจาก Ohio State University (OSU) ได้พัฒนาหมึกชีวภาพที่สามารถพิมพ์สามมิติที่อุณหภูมิร่างกายของมนุษย์ และทำให้เป็นรูปร่างโดยใช้แสงที่มองเห็นได้ (visible light) หมึกชีวภาพประกอบด้วยเซลที่มีชีวิตที่อยู่ในเจลและปลอดภัยที่จะใช้ในร่างกายมนุษย์ ซึ่งเป็นการเปิดทางที่สำคัญให้เกิดการพิมพ์สามมิติในร่างกายมนุษย์  นักวิจัยบอกว่าจุดประสงค์ไม่ใช่การพิมพ์อวัยวะขึ้นมาทั้งชิ้น แต่จะเป็นส่วนเสริมที่พิมพ์อุปกรณ์ทางชีวภาพสำหรับเริ่มต้นการรักษา หรือยาสำหรับป้องกันการติดเชื้อ โดยนักวิจัยมองว่าการพิมพ์ด้วยหมึกชีวภาพนี้จะเป็นเครื่องมืออีกหนึ่งชิ้นที่ใช้ในการผ่าตัด

อ่านข่าวเต็มได้ที่: IEEE Spectrum

วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

การศึกษาพบว่ามีเพียง 18% ของนักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่ศึกษาจริยธรรมของ AI

จากการสำรวจของบริษัทซอฟต์แวร์ Anaconda พบว่ามีเพียง 15% ของอาจารย์มหาวิทยาลัยที่สอนเรื่องจริยธรรมของ AI และมีเพียง 18% ของนักศึกษาเท่านั้นที่บอกว่าเรียนด้านนี้ แต่ตัวเลขที่ต่ำนี้ไม่ได้เกิดจากความไม่สนใจ จากการสำรวจนักศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล นักวิชาการ และมืออาชีพจากกว่า 100 ประเทศ พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามเกือบครึ่งหนึ่งตอบว่าปัญหาที่ใหญ่ที่สุดด้าน AI และการเรียนรู้ของเครื่อง (machine learnig) คือผลกระทบด้านสังคมของอคติ หรือความเป็นส่วนตัว นั่นคือมีความกังวลในด้านนี้ เพียงแต่มันไม่ได้สะท้อนกลับเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอน จากการสำรวจยังพบว่ามีเพียง 15% ที่ตอบว่าองค์กรของตัวเองมีระบบที่ยุติธรรม และมีเพียง 19% ที่ตอบว่าระบบที่ใช้อยู่สามารถอธิบายเหตุผลต่าง ได้ นักวิจัยสรุปว่าจากประเด็นต่าง ที่ได้ทำการศึกษาพบว่า ความก้าวหน้าที่ช้าในประเด็นของอคติและความยุติธรรม และการทำให้การเรียนรู้ของเครื่องอธิบายได้ เป็นหัวข้อที่มีความกังวลมากที่สุด ถึงแม้ทั้งสองเรื่องนี้จะแตกต่างแต่ก็มีความสัมพันธ์กัน และทั้งสองเรื่องนี้เป็นหัวข้อคำถามที่สำคัญทั้งด้านสังคม อุตสาหกรรม และการศึกษา ในขณะที่ทั้งภาคธุรกิจและภาคการศึกษากำลังพูดกันถึงเรื่องจริยธรรมของ AI แต่มันก็อาจไม่มีประโยชน์อะไรถ้าไม่มีการปฏิบัติ


อ่านข่าวเต็มได้ที่The Next Web


เพิ่มเติมเสริมข่าว: 


ส่วนตัวมองว่าระบบที่อธิบายให้เข้าใจได้ และยอมรับได้ว่าทำไมตัดสินออกมาอย่างนี้เป็นเรื่องสำคัญ อย่าปล่อยให้มีคำว่าก็คอมพิวเตอร์มันบอกมาแบบนั้น โดยไม่มีเหตุผล แต่ประเทศเราคงอาจเจอกับประสบการณ์นี้แล้วคือเรื่องลงทะเบียนเราไม่ทิ้งกัน และประชาชนก็ไปประท้วงระบบ ดังนั้นคนไทยน่าจะมีภูมิต้านทานในเรื่องนี้อยู่บ้าง จริง ๆ เราต้องสอนให้คนเข้าใจว่า AI หรือ การเรียนรู้ของเครื่องมันก็คือตัวแบบทางคณิตศาสตร์ที่สร้างจากคน มันทำงานบนเงื่อนไข และข้อมูลต่าง ๆ ที่มาจากคนสร้างตัวแบบ ดังนั้นมันก็อาจจะมีอคติ และความไม่ยุติธรรมได้ และตัวแบบพวกนี้สามารถถูกปรับได้ถ้าพบความบกพร่อง 

วันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ภาษา R กลับมาแล้ว

จากดัชนีความนิยมภาษาโปรแกรมล่าสุดของ Tiobe พบว่าภาษา R กลับมาสู่อันดับ 8 หลังจากตกจาก 20 อันดับแรกจากดัชนีในเดือนพฤษภาคม CEO ของ Tiobe บอกว่าเหตุผลหลักที่ R กลับมาน่าจะมาจากความพยามยามของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และนักวิจัยจากทั่วโลกที่กำลังหาวิธีสร้างวัคซีนสำหรับ COVID-19 จึงทำให้ทั้งภาษา R และ Python ซึ่งเป็นภาษาที่นักสถิติใช้ในการทำเหมืองข้อมูล (data mining) มีความนิยมเพิ่มมากขึ้น ดัชนีของ Tiobe นั้นจัดทำจากผลการสืบค้นที่ได้จาก search engine ในหัวข้อที่เกี่ยวกับภาษาโปรแกรม โดยในดัชนีของเดือนล่าสุดคือเดือนกรกฎาคมอันดับความนิยมของภาษาเขียนโปรแกรมเป็นดังนี้ C, Java, Python, C++, C#, Visual Basic, JavaScript, R, PHP, และ Swift  อย่างไรก็ตามยังมีข้อถกเถียงกันว่าภาษา R กลับมาเพราะ COVID-19 จริงหรือเปล่า แต่เคยมีนักวิเคราะห์บอกว่า R จะไม่มีทางอยู่ในสิบอันดับแรกของภาษาเขียนโปรแกรม เพราะมันมีโดเมนการใช้งานเพียงโดเมนเดียวคือการทำงานกับข้อมูล และ R ก็ไม่ติด 10 อันดับแรกของรายการที่จัดโดย GitHub ในปี 2019 จากการสำรวจพบว่ากลุ่มผู้ใช้ R กลุ่มใหญ่มีสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือภาคการศึกษาในสาขาสังคมศาสตร์และชีววิทยา กลุ่มที่สองคืออุตสาหกรรมด้านดูแลสุขภาพ  

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  ZDNet

วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

แล็บจริยธรรมเพื่อจัดการปัญหาด้านจริยธรรมทางเทคโนโลยี

University of Notre Dame และ IBM ได้เริ่มต้นดำเนินการ Notre Dame-IBM Tech Ethics Lab เพื่อรองรับความกังวลด้านจริยธรรมที่เพิ่มมากขึ้น จากการใช้งานปัญญาปะดิษฐ์ (Artificial Intelligence) การเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) การคำนวณแบบควอนตัม (Quantum Computing) และเทคโนโลยีขั้นสูงอื่น ๆ IBM จะลงทุนเป็นเงิน 20 ล้านเหรียญ ในช่วงระยะเวลา 10 ปี จุดประสงค์คือให้ภาคการศึกษาและอุตสาหกรรมมาร่วมมือกันเพื่อสร้างเฟรมเวอร์กทางจริยธรรมที่ใช้ได้จริง เพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่หรือกำลังเกิดขึ้น 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Notre Dame News

วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

นักวิจัยพบหนึ่งพันข้อความที่อาจสั่งให้ผู้ช่วยอัจฉริยะทำงานโดยไม่ได้ตั้งใจ

นักวิจัยจาก Ruhr University Bochum และ Max Planck Institute for Security and Privacy ในเยอรมันพบคำกว่าหนึ่งพันคำที่อาจเริ่มการทำงานของผู้ช่วยอัจฉริยะอย่าง Siri, Alexa, Cortana และ Google Home ทำงานโดยไม่ได้ตั้งใจ นักวิจัยบอกว่าบางครั้งคำพูดที่พูดกันจากรายการทีวีก็ทำให้ผู้ช่วยอัจฉริยะเหล่านี้ทำงานโดยที่เราไม่ได้สั่ง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาด้านความเป็นส่วนตัว เนื่องจากหลังจากที่เราสั่งให้ผู้ช่วยอัจฉริยะทำงาน เช่นพูดว่า OK Google เพื่อให้ Google Home ทำงาน สิ่งที่เราพูดจะถูกส่งไปที่ผู้ให้บริการ ซึ่งผู้ให้บริการส่วนใหญ่ก็จะมีพนักงานมาช่วยแปลและตรวจสอบ เพื่อปรับปรุงการทำงานของกระบวนการรู้จำคำของโปรแกรม ดังนั้นเมื่อโปรแกรมผู้ช่วยเหล่านี้ทำงานโดยเราไม่ได้สั่ง การสนทนาซึ่งเราตั้งใจจะให้เป็นส่วนตัวก็อาจถูกฟังโดยพนักงานได้ ตัวอย่างของคำที่นักวิจัยพบก็เช่นคำว่า "unacceptable" และ "election" จะทำให้ Alexa ทำงาน ส่วน Siri ก็จะถูกปลุกด้วยคำว่า "city" สำหรับ Google Home ก็เช่นคำว่า "Ok, cool" และ Cortana ก็เช่นคำว่า "Montana" ในข่าวเต็มมีวีดีโอแสดงตัวอย่างด้วยนะครับ

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Ars Technica

 เพิ่มเติมเสริมข่าว: 

สำหรับเรื่องนี้ถ้าจะพูดในแง่หนึ่งมันก็ไม่น่าประหลาดใจ เพราะมันก็มีคำที่ออกเสียงคล้าย ๆ กันอยู่ ยิ่งถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ค่อยจะเงียบ อย่าง "city" ก็อาจถูกฟังเพี้ยนเป็น "siri" ได้ แต่มันเป็นเรื่องที่เตือนให้เราต้องระวัง ในการใช้ผู้ช่วยเหล่านี้ ส่วนตัวเคยเจอ Google Assistant ทำงานเองบ่อย ๆ เวลาเปิดวีดีโอจากคอมพิวเตอร์แล้ววางโทรศัพท์ไว้ใกล้ ๆ 

วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

โดรนที่ทำหน้าที่ผสมเกสรดอกไม้

นักวิจัยจาก Japan Advanced Institute of Science and Technology ได้พัฒนาวิธีการผสมเกสรดอกไม้โดยใช้โดรนซึ่งทำหน้าที่ปล่อยละอองเกสรดอกไม้ในรูปฟองสบู่ โดยฟองสบู่หนึ่งฟองสามารถมีจำนวนละอองเกสรได้มากถึง 2,000 ละออง นักวิจัยได้สาธิตการทำงานด้วยการใช้โดรนที่มีเครื่องสร้างฟองสบู่ ที่สร้างฟองสบู่ได้ในอัตรา 5,000 ฟองต่อนาที โดรนบินด้วยอัตราเร็ว 2 เมตรต่อวินาที ที่ระดับความสูงสองเมตร ผลการทดลองพบว่ามีอัตราความสำเร็จ 90% นักวิจัยบอกว่าขอแค่มีเพียงฟองเดียวที่ตกลงบนเกสรตัวเมียก็เพียงพอต่อการผสมเกสรแล้ว

อ่านข่าวเต็มได้ที่: IEEE Spectrum

เพิ่มเติมเสริมข่าว: 

แม้แต่ผึ้งก็จะโดน Disrupt หรือนี่ :)

วันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

กล้องความปลอดภัยในบ้านสามารถถูกแฮกเพื่อตรวจจับว่าเจ้าของบ้านอยู่บ้านหรือไม่

นักวิทยาศาสตร์จาก Queen Mary University of London และ Chinese Academy of Sciences ในปักกิ่งได้สาธิตการใช้งานช่องโหว่ในกล้องความปลอดภัยที่นิยมติดตั้งตามบ้าน โดยดูจากข้อมูลที่มันอัพโหลดขึ้นอินเทอร์เน็ต โดยผู้บุกรุกจะดักจับข้อมูลที่ส่งจาก WiFi ซึ่งกล้องความปลอดภัยในบ้านส่วนใหญ่ใช้ในการส่งข้อมูลขึ้นอินเทอร์เน็ต ซึ่งผู้บุกรุกสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้ แม้ข้อมูลจะถูกเข้ารหัส นักวิจัยได้ศึกษาชุดข้อมูลจากบริษัทที่ไม่เปิดเผย ซึ่งยอมให้นักวิจัยเข้าถึงข้อมูล 15.4 ล้านชุดที่ถูกอัพโหลดขึ้นอินเทอร์เน็ตจากผู้ใช้ 211,000 ราย ซึ่งนักวิจัยสามารถพบรูปแบบของข้อมูลที่เป็นการเคลื่อนไหว และยังสามารถแยกประเภทของการเคลือนไหวได้ด้วย ซึ่งผู้บุกรุกก็สามารถใช้ข้อมูลนี้เพื่อดูว่าเจ้าของบ้านอยู่บ้านหรือไม่ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  The Daily Mail (U.K.)

เพิ่มเติมเสริมข่าว: 

แทบทุกอย่างมีทั้งคุณและโทษจริง ๆ อย่างกล้องพวกนี้ เราติดก็เพื่อใช้ดูบ้านตอนเราไม่อยู่ว่ามีใครเข้ามาหรือเปล่า คนจะเข้าบ้านเราก็ใช้กล้องในการดูว่าตอนนี้มีใครอยู่บ้านหรือเปล่า 

วันพุธที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ขั้นตอนวิธีรู้จำใบหน้าจับคนผิดตัว

คุณ Robert Julian-Borchak Williams ถูกจับในบ้านของตัวเองในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและกฎหมายบอกว่านี่น่าจะเป็นกรณีแรกที่คนอเมริกันถูกจับผิดตัวโดยขั้นตอนวิธีการรู้จำใบหน้า โดยคุณ Robert ถูกกล่าวหาว่าขโมยนาฬิกาห้าเรือนมูลค่า $3,800 และเขาเพิ่งถูกยกฟ้องเร็ว ๆ นี้  จากผลการศึกษาล่าสุดของ Massachusetts Institute of Technology และ National Institute of Standards and Technology บอกว่าขั้นตอนวิธีรู้จำใบหน้าทำงานได้ดีกับคนผิวขาว แต่เนื่องจากไม่มีความหลากหลายของข้อมูลอย่างเพียงพอในฐานข้อมูล ทำให้ไม่มีความเที่ยงตรงกับกลุ่มประชากรกลุ่มอื่น ถึงแม้ว่าบริษัทอย่าง Amazon, Microsoft และ IBM ได้ยุติการให้การสนับสนุนการใช้การรู้จำใบหน้ากับการบังคับใช้กฎหมาย แต่ตำรวจยังคงใช้เทคโนโลยีนี้จากบริษัทที่เล็กกว่าบริษัทเหล่านี้

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The New York Times

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

ข่าวนี้น่าจะเป็นจุดยืนยันว่าทำไมจึงมีการเรียกร้องให้หยุดใช้เทคโนโลยีรู้จำใบหน้ากับงานของรัฐบาล และธุรกิจ

วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

สเต็กที่พิมพ์จากเครื่องพิมพ์สามมิติจะเข้าสู่ภัตตาคารในปีนี้

บริษัทในอิสราเอลชื่อ Redefine Meat ได้ออกมาประกาศถึงสิ่งที่เขาเรียกว่า สเต็กไร้เนิ้อที่พิมพ์จากเครื่องพิมพ์สามมิติอันแรกของโลก ซึ่งทางบริษัทบอกว่าได้จำลองทั้งสภาพเนื้อ กลิ่น และลักษณะที่เหมือนกับสเต็กที่ทำจากเนื้อจริง ๆ โดยบริษัทบอกว่าได้พัฒนาเทคโนโลยีนี้ 2 ปี การพิมพ์สเต็กนี้จะพิมพ์ชั้นต่อชั้น โดยใช้การผสมผสานของถั่วเหลือง โปรตีนถั่ว ไขมันมะพร้าว น้ำมันดอกทานตะวัน สีผสมอาหารและกลิ่น นอกจากนี้ยังมีบริษัทในอิสราเอลอีกสองบริษัทคือ MeaTech และ Aleph Farms ซึ่งวางแผนว่าจะพิมพ์สเต็กจากเนื้อเยื่อของวัว โดยที่ไม่ต้องฆ่าวัว บริษัทบอกว่าการแพร่ระบาดของโรคทำให้เห็นความสำคัญของการผสมผสานนวัตกรรมเข้าด้วยกันเพื่อสร้างอาหารที่ปลอดภัย ที่ไม่ขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก และลดความเสี่ยงการเกิดโรคจากสัตว์สู่คน

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Jerusalem Post

วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

ACM เรียกร้องให้รัฐบาลและภาคธุรกิจเลิกการใช้เทคโนโลยีรู้จำใบหน้า

คณะกรรมการด้านเทคโนโลยีของ ACM (Association for Computing Machinery) สหรัฐอเมริกา ได้ออกข้อเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายให้ภาครัฐและองค์กรธุรกิจหยุดการใช้เทคโนโลยีรู้จำใบหน้าทันที ACM ให้เหตุผลว่าเทคโนโลยีนี้ยังไมสมบูรณ์พอ และมีช่องโหว่ด้านความลำเอียงระหว่างเชื้อชาติ เผ่าพันธ์ และเพศ ข้อเรียกร้องของ ACM ยังพูดถึงกฎเกณฑ์การควบคุม ซึ่งรวมไปถึงการไม่ยอมรับอัตราข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากเชื้อชาติ เพศ และปัจจัยด้านประชากรศาสตร์อื่น ๆ และยังมีข้อเสนอแนะให้มีการตรวจสอบโดยองค์กรภายนอก และให้รัฐบาลดูแลอย่างเข้มงวด ต้องบอกประชาชนให้ชัดเจนว่าจะมีการใช้เทคโนโลยีรู้จำใบหน้า และต้องระบุกรณีที่จะมีการใช้งานให้ชัดเจนก่อนที่จะเริ่มติดตั้งใช้งาน และบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีนี้จะต้องรับผิดชอบถ้าเทคโนโลยีนี้ทำความเสียหายให้กับบุคคล

อ่านข่าวเต็มได้ที่: VentureBeat

วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

หุ่นยนต์ AI กำลังจะได้รับบทนำในหนัง Sci-Fi

ภาพยนต์เชิงวิทยาศาสตร์ที่จะเข้าฉายให้เราดูกัน ได้นำหุ่นยนต์เหมือนคนมารับบทนำเป็นครั้งแรกในภาพยนต์ หุ่นยนต์ตัวนี้มีชื่อว่า Erica ถูกสร้างโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นสองคนคือ Hiroshi Ishiguro และ Kohei Ogawa ผู้อำนวยการสร้างคือ Sam Khoze บอกว่า "เธอ (หุ่นยนต์ Erica) ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรับบทนี้โดยเฉพาะ เราจำลองการเคลือนไหวและอารมณ์ของเธอ แบบหนึ่งฉากต่อหนึ่งฉาก เช่นควบคุมความเร็วของการเคลื่อนไหว การพูดออกมาจากอารมณ์ สอนการพัฒนาการคุณลักษณะ และภาษากาย" หนังเรื่องนี้มีชื่อว่า b มีทุนสร้าง $70 ล้านเหรียญ โดยกำหนดฉายยังไม่ระบุ แต่จะไม่เร็วกว่าปลายปีหน้า ลักษณะหน้าตาของหุ่นยนต์ดูได้จากข่าวเต็มครับ

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Popular Mechanics

วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

สร้อยคอจาก NASA ช่วยสู้ COVID

นักวิจัยจากNational Aeronautics and Space Administration (NASA) Jet Propulsion Laboratory ได้พัฒนาสร้อยคอซึ่งถูกพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ โดยสร้อยคอนี้มีเซ็นเซอร์ที่จะทำให้สร้อยคอสั่นเมื่อตรวจจับได้ว่าคนใส่กำลังจะเอามือแตะหน้า โดยจะยิ่งสั่นแรงขึ้นเมื่อมือเข้าใกล้หน้ามากขึ้น NASA บอกว่าสร้อยคอนี้สร้างง่ายและเข้าถึงได้ง่าย โดยวิธีการสร้างและรายการของชิ้นส่วนที่จำเป็นในการสร้าง มีการเปิดเผยเป็นสาธารณะให้คนที่ต้องการสร้างไปใช้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สำหรับรูปภาพ วีดีโอแสดงการใช้งาน และลิงก์การสร้างดูได้จากข่าวเต็มครับ

อ่านข่าวเต็มได้ที่: CNet

วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

โปรแกรมเรียกค่าไถ่ปลอมตัวเป็นโปรแกรมติดตาม COVID

นักวิจัยจาก ESET ซึ่งเป็นบริษัทด้านความมั่นคลในซโลวัค บอกว่าผู้โจมตีทางไซเบอร์ได้ปล่อยแอปซึ่งเป็นมัลแวร์ลงบนที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ผ่านทางเว็บไซต์ (ซึ่งปัจจุบันเข่้าถึงไม่ได้แล้ว) โดยบอกว่ามันคือแอปอย่างเป็นทางการของแคนาดาสำหรับการติดตามผู้ที่มีการสัมผัสกับคนที่เป็น COVID-19  จริง ๆ แล้วแอปตัวจริงยังไม่ปล่อยออกมา โดยจะปล่อยออกมาเร็วที่สุดเดือนหน้า แอปปลอมตัวนี้จะติดตั้งโปรแกรมเรียกค่าไถ่ชื่อ CryCryptor ลงบนเครื่องของเหยื่อ และจะเข้ารหัสไฟล์บนเครื่อง โดยจะเข้ารหัสไฟล์ที่มีนามสกุล (ส่วนขยาย) ตามที่กำหนดไว้ในโปรแกรม อย่างไรก็ตาม ESET ได้ปล่อยคีย์ถอดรหัสของเวอร์ชันแรกของโปรแกรมเรียกค่าไถ่นี้เรียบร้อยแล้ว ESET บอกว่าโปรแกรมตัวนี้ถูกดัดแปลงมาจากซอร์ซโค้ดที่ถูกอัพโหลดขึ้นไปบน Github โดยผู้พัฒนาตั้งชื่อโปรเจ็คว่า CryDroid และบอกว่ามันเป็นโครงการวิจัย

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet

เพิ่มเติมเสริมข่าว: 

ในวันที่เขียนข่าวนี้ CryDroid ยังเปิดให้ดาวน์โหลดได้ โดยผู้พัฒนามีคำเตือนไว้ใน Github ของตัวเองว่าการเอาโค้ดไปจู่โจมเป้าหมายโดยไม่ได้รับความยินยอมของเป้าหมายถือว่าเป็นการกระทำที่ผิด และผู้พัฒนาขอไม่รับผิดชอบต่อความเสียหายจากการนำโปรแกรมนี้ไปใช้ในทางที่ผิด

วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

อุปกรณ์ในบ้านอัจฉริยะสามารถบอกพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับโรคความจำเสื่อม

นักวิจัยจาก Gonzaga University และ Washington State University ได้พัฒนาขั้นตอนวิธีใหม่ที่จะวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาจากอุปกรณ์ในบ้านอัจฉริยะ (Smart Home Devices) เพื่อที่จะวัดความถดถอยในด้านการรับรูู้ของผู้ใช้เมื่อเวลาผ่านไป ขั้นตอนวิธีนี้มีชื่อว่า Behavior Change Detection for Groups (BCD-G) จะวิเคราะห์รูปแบบพฤติกรรมของคนในบ้าน โดยการทดลองนี้ระบบได้ติดตามพฤติกรรมของคน 14 คน ในบ้านของพวกเขาเองเป็นเวลาหนึ่งเดือน โดยมี 7 คน จาก 14 คนนี้ที่มีอาการของโรคความจำเสื่อมโดย BCD-G ประเมินกิจกรรม 16 อย่าง ซึ่งรวมถึง การอาบน้ำ ทำอาหาร นอนหลับ ทำงาน และกินยา โดยเปรียบเทียบพฤติกรรมของทั้งสองกลุ่ม โดยเปรียบเทียบคนที่มีอายุและระดับการศึกษาใกล้เคียงกัน นักวิจัยบอกว่าขั้นตอนวิธีนี้ขะวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป ซึ่งข้อมูลนี้จะช่วยให้ผู้ที่ดูแลทราบว่าใครที่มีอาการดีขึ้นหรือแย่ลง

อ่านข่าวเต็มได้ที่: IEEE Spectrum

วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

เมืองในแคลิฟอร์เนียเป็นที่แรกที่ห้ามใช้ระบบตำรวจแบบทำนายล่วงหน้า

เมือง Santa Cruz ในแคลิฟอร์เนียเป็นเมืองในสหรัฐอเมริกาเมืองแรกที่ห้ามใช้ระบบตำรวจแบบทำนายล่วงหน้า โดยนายกเทศมนตรี Justin Cumming บอกว่ามันเป็นการสร้างอคติที่ไม่เหมาะสมต่อคนผิวสี ระบบตำรวจแบบทำนายล่วงหน้าจะใช้ข้อมูลของตำรวจ วิเคราะห์ข้อมูลการถูกจับคุมหรือข้อมูลทัณฑ์บน หรือการระบุที่ที่อาชญากรรมอาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามมันก็อาจเป็นการส่งเสริมรูปแบบการเหยียดแบบเดิม ๆ ที่ตำรวจใช้กันอยู่ ได้แก้ประวัติที่ถูกจับกุม รายได้ต่ำ ชุมชนคนกลุ่มน้อยมักเป็นจุดที่เกิดอาชญากรรม และก็ส่งตำรวจลงไปตรวจตราที่พื้นที่เหล่านั้นมากกว่าที่อื่น ในขณะเดียวกันสภาเมืองบอสตันได้โหวตให้ห้ามใช้เทคโนโลยีการสอดส่องโดยใช้ใบหน้าอีกด้วย

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  Reuters

เพิ่มเติมเสริมข่าว: 

เขียนชื่อข่าวแล้วนึกถึงหนังเรื่อง Minority Report