วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2554

Use Case Diagram ไม่ใช่ Flowchart นะจะบอกให้

หลังจากไม่ได้เขียนบล็อกเสียนาน และหลัง ๆ นี้แทบไม่ได้เขียนเกี่ยวกับการพัฒนาโปรแกรมเลย วันนี้ก็ขอเขียนเสียหน่อยแล้วกัน แต่ก่อนอื่นขอเป็นกำลังใจให้กับชาวไทยทุกคนที่กำลังเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมอยู่ตอนนี้นะครับ

สำหรับเรื่องที่ต้องการจะเขียนวันนี้คือเรื่องที่ดูเหมือนจะง่าย ๆ ก็คือการเขียน Use Case Diagram จริง ๆ ผมตั้งใจจะเขียนมาหลายเดือนแล้ว เอหรือจะเกือบปีแล้วก็ไม่รู้ คือผมได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่องการพัฒนาโปรแกรมให้กับหน่วยงานหน่วยหนึ่ง ก่อนที่จะบรรยายผมก็ลองให้โจทย์กับผู้อบรมลองเขียน Use Case Diagram ดู ปรากฏว่าผู้เข้าอบรมหลายคนเขียน Use Case Diagram เหมือนกับว่ามันเป็น Flowchart และวันนี้เองสด ๆ ร้อน ๆ กับนักศึกษาในที่ปรึกษาของตัวเองก็ดูเหมืือนว่าจะเข้าใจผิดไปในแนวทางนั้นเช่นกัน ดังนั้นก็เลยคิดว่าคงต้องเขียนบล็อกนี้ขึ้นมาเสียหน่อยเพื่อจะช่วยให้เรื่องนี้ชัดเจนขึ้น

ก่อนอื่นเรามาทบทวนกันก่อนว่า Use Case Diagram มีจุดประสงค์อะไร ซึ่งคิดว่าพวกเราคงตอบกันได้ว่ามันมีหน้าที่หลักในการแสดง Functional Requirement ของระบบ ตัว Use Case หนึ่ง Use Case เป็นตัวแทนของฟังก์ชันหลักฟังก์ชันหนึ่งของระบบ ดูก็ง่ายดีใช่ไหมครับ แล้วปัญหาใีนอยู่ตรงไหน ลองมาดูโจทย์ที่ผมได้ใช้ทดสอบผู้เข้ารับการอบรมกับผมกันก่อนครับ

  จงเขียน UML Diagram สำหรับระบบ ATM ที่่มีการทำงานคือฝากเงิน (Deposit) โอนเงิน (Transfer) และถอนเงิน (Withdraw) โดยจะต้องมีการตรวจสอบตัวตนของลูกค้าด้วย 

จากโจทย์ก็เป็นตัวอย่างพื้นฐานทั่วไป แต่มีผู้เข้ารับการอบรมหลายคนเขียน Use Case Diagram ในลักษณะนี้ครับ

Use Case Diagram แบบ Flowchart



ซึ่งผมก็ได้สอบถามว่าทำไมเขาถึงเขียนไดอะแกรม ในลักษณะนี้ คำตอบของเขาก็คือ ก็ทำตามโจทย์อาจารย์ ตรวจสอบสิทธิก่อนที่จะอนุญาตให้ทำธุรกรรมอย่างอื่น จะเห็นได้ชัดนะครับว่านี่คือความเข้าใจผิด ตัว Use Case Diagram ไม่ได้แสดงโฟลว์การทำงานว่าอะไรต้องทำก่อนอะไร อีกจุดหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาของไดอะแกรมนี้ก็คือตัว Use Case ของเขาสองตัวคือ Enter Password และ Validate Password นั้นอยู่ในระดับที่ย่อยมากเกินไป

ถึงตรงนี้หลายคนก็อาจตั้งคำถามว่าแล้วเราควรจะเขียนอย่างไรดี ผมไม่ตอบดีไหมนี่ ทิ้งให้คิดเป็นการบ้าน มาเฉลยพรุ่งนี้ สวัสดีครับ ...... :)


ล้อเล่นน่ะครับ เฉลยเลยแล้วกันเดี๋ยวอึดอัดกันแย่ แนวทางหนึ่งที่จะเขียน Use Case Diagram สำหรับปัญหานี้ก็ตามนี้ครับ

Use Case Diagram สำหรับระบบ ATM อย่างง่าย 

จากไดอะแกรมนี้ผมได้รวมเอา Validate Password และ Enter Password เข้าด้วยกันเป็น Use Case ที่ชื่อว่า Authenticate และใช้ความสัมพันธ์  include เพื่อแสดงให้เห็นว่า Use Case ที่เหลือทั้งสามนั้นจะต้องมีการตรวจสอบตัวตนของผู้ถือบัตร ไดอะแกรมนี้แสดงความต้องการของระบบตรงตามที่โจทย์กำหนดได้อย่างชัดเจน และ Use Case Diagram ได้ทำหน้าที่หลักที่มันควรจะทำนั่นคือการแสดง Functional Requirement ของระบบ ไม่ได้แสดงโฟลว์การทำงาน อย่าลืมนะครับว่า Use Case Diagram เรามักจะสร้างขึ้นในช่วงวิเคราะห์ระบบ ซึ่งการวิเคราะห์ระบบควรจะตอบคำถามว่า "what" ซึ่งหมายความว่าระบบนี้ทำอะไรให้ได้เสียก่อน ไม่ใช่ไปตอบคำถามของคำว่า "how" ซึ่งหมายถึงว่ามันทำงานอย่างไร ถ้ามีแนวคิดนี้อยู่ในใจตลอดก็น่าจะหลีกเลี่ยงการเขียน Use Case Diagram ในลักษณะที่เป็น Flowchart ได้

หวังว่าบล็อกนี้จะทำให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับ Use Case Diagram มากขึ้นไม่มากก็น้อยนะครับ ...





วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

แอปแท้... แอปเถื่อนกับปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์


สวัสดีครับ ไม่ได้เขียนบล็อกมานานมากทั้งที่มีเรื่องมากมายอยากพูดคุยอยากเล่าให้ฟังกัน วันนี้พอจะหาเวลาได้สักเล็กน้อยก็ขอเขียนเสียหน่อยแล้วกัน เรื่องที่อยากจะคุยกันวันนี้เกี่ยวกับการหาซื้อซอฟต์แวร์มาใช้งานครับ ต้องบอกก่อนว่าผมไม่ได้คิดที่จะมาเป็นตัวแทนอะไรให้บริษัทซอฟต์แวร์นะครับ แต่ที่เขียนวันนี้เพราะอยากจะให้พวกเราคนไทยมีมุมมองที่ถูกต้องเกี่ยวกับการจัดหาซอฟต์แวร์มาใช้งาน

ย้อนกลับไปหลายปีก่อนที่ซอฟต์แวร์มีราคาแพงมาก เช่นไมโครซอฟท์เวิร์ด 1 ชุดมีราคาเป็นหลักหมื่นบาท  สูงกว่าเงินเดือนของข้าราชการระดับปริญญาโทของไทยที่ระดับหกพันกว่าบาท (ผมรู้ครับเพราะผมเริ่มเข้าทำงานด้วยเงินเดือนเท่านี้จริง ๆ นะจะบอกให้) และซอฟต์แวร์ที่เป็นโอเพนซอร์ซก็ยังไม่ได้มีให้ใช้กันแพร่หลายอย่างทุกวันนี้ ดังนั้นทางเลือกของเราก็คือซอฟต์แวร์จากพันทิพที่ทำให้เราได้ทดลองใช้งานซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ผมเคยมีประสบการณ์เดินไปถามราคาไมโครซอฟท์เวิร์ดที่ร้านที่ขายซอฟต์แวร์แท้ที่ขายอยู่บนห้างพันทิพ พอคนขายบอกราคามาเป็นหลักหมื่น ผมก็เผลอตัวอุทานออกมา ซึ่งคนขายก็มองผมอย่างสมเพชแล้วก็ทำท่าบุ้ยใบ้เหมือนกับบอกว่า "เอ็งก็ไปซื้อข้างนอกเอาซิแผ่นละไม่กี่ร้อยมีโปรแกรมเป็นโหล"

ผมเคยคุยกับลูกศิษย์ลูกหาของผมในรุ่นแรก ๆ ของผมเกี่ยวกับเรื่องนี้ และผมบอกว่าปัญหาก็คือราคาซอฟต์แวร์แพงเกินไป คือมันอาจจะไม่แพงถ้าเทียบกับรายได้เฉลี่ยของคนในสหรัฐอเมริกา แต่มันอาจจะแพงสำหรับคนในประเทศอื่น ตอนนั้นผมบอกว่าโมเดลการขายซอฟต์แวร์พื้นฐานทั่วไปที่ดีก็คืออย่าตั้งราคาให้สูงนักเช่นสัก 10 เหรียญ แต่ถ้าขายทั่วโลกได้ล้านชุดก็ 10 ล้านเหรียญแล้ว ซึ่งผมมองว่าสำหรับซอฟต์แวร์ตัวหนึ่งนี่ก็น่าจะคุ้มหรือเกินคุ้มแล้ว แต่ยังไงก็ตามผมก็บอกลูกศิษย์ผมว่าถ้าเราไปซื้อซอฟต์แวร์พันทิพมาเพื่อการศึกษาก็ทำไปนะ แต่ถ้าเมื่อไรที่เรานำไปหารายได้ก็น่าจะซื้อของลิขสิทธิ์มาใช้

เวลาผ่านไปราคาซอฟต์แวร์ก็ถูกลง มีโอเพนซอร์ซซึ่งส่วนใหญ่ก็ให้ดาวน์โหลดมาใช้ฟรี ๆ และยังมีโมเดลแบบ App Store ของ Apple และ Android Market ของ Google ซึ่งก็เปิดโอกาสให้เราซื้อซอฟต์แวร์ในระดับที่ถูกกว่าที่ผมเคยคิดไว้เสียอีก บางตัวราคาไม่ถึง 30 บาท ซึ่งผมก็คาดหวังว่าการใช้ซอฟต์แวร์น่าจะถูกลิขสิทธิ์มากขึ้น ในส่วนตัวผมเองตอนนี้บอกเลยว่าบนเครื่องที่ผมใช้งานตอนนี้ไม่มีซอฟต์แวร์ละเมิดอยู่เลย บางตัวที่ดีแล้วเขาขายราคาไม่แพงมากผมก็ซื้อ ถ้ามันแพงมากผมก็ไปหาตัวที่ฟรีที่ใกล้เคียงกันมาใช้ ยิ่งในพวก App Store นี่ผมก็ว่าเขายิ่งใจกว้างซื้อหนึ่งครั้งราคาอาจไม่ถึง 30 บาท แต่เอาไปติดตั้งลงได้หลายเครื่อง แต่กลับเป็นว่ามีคนเอาความใจกว้างนี่มาทำมาหากินโดยใช้คำว่า App แท้ ซึ่งตามความหมายของคนขายคือเป็นโปรแกรมที่เขาอาจลงทุนไปซื้อมา แต่ใช้ความใจกว้างของบริษัทซอฟต์แวร์เอามาขายต่อโดยติดตั้งให้ลูกค้าไปอีกเป็นไม่รู้กี่ร้อยคน ส่วน App เถื่อนคืออะไร ก็คือซอฟต์แวร์ที่เขาขายนี่แหละ แต่ว่าเราไปโหลดมาใช้แบบฟรี ๆ โดยการจะทำอย่างนี้ได้เครื่องที่ใช้ iOS (ระบบปฏิบัติการที่ใช้ในเครื่้อง iPhone, iPod, iPad) ของเราจะต้องสิ่งที่เรียกว่าการ Jail Break ก่อน จากนั้นมันจึงจะมีช่องทางให้เราเข้าไปหาซอฟต์แวร์มาใช้แบบฟรี ๆ   ต้องบอกก่อนว่าผมไม่ได้ต่อต้านการ Jail Break เพราะการ Jail Break ทำให้เราสามารถใช้โปรแกรมหลาย ๆ ตัวที่มีประโยชน์แต่ Apple ไม่อนุณาตให้นำไปขายใน App Store หรือบางคนก็บอกว่า Jail Break เพื่อลองไปโหลดโปรแกรมมาลองใช้ดูก่อน ถ้าดีแล้วค่อยซื้ออันนี้ถ้าทำอย่างนั้นจริงผมก็ว่าโอเคนะครับ แต่ก็มีร้านค้าใช้ความไม่ค่อยรู้ของคนนี่แหละเอามาหากินเช่นกัน โดยรับ Jail Break เครื่องแล้วก็ติดตั้งโปรแกรมให้ลูกค้าแล้วก็เก็บเงินลูกค้าไป

ผลเสียของทั้งสองวิธีนี้ก็คือผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ที่เขาลงทุนลงแรงไปก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร ประโยชน์กลับตกไปเป็นของร้านค้าเหล่านี้  บางคนอาจถามว่าแล้วผมมาเดือดร้อนอะไรด้วย คำตอบก็คือผมเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในวงการนี้ ถึงผมในตอนนี้จะไม่ได้เป็นคนหนึ่งที่พัฒนาโปรแกรมขึ้นสู่ App Store แต่ผมก็เป็นคนสอนเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาโปรแกรม และผมก็คาดหวังว่าลูกศิษย์ของผมหลาย ๆ คนอาจจะเป็นคนที่พัฒนาโปรแกรมออกมาขายบ้างก็ได้ ซึ่งถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ผมว่าตลาดของไทยคงเติบโตยาก

ผมเข้าใจว่าคนใช้ iPhone, iPod, หรือ iPad หลายคนไม่ได้มีความคิดที่จะใช้ซอฟต์แวร์แบบไม่ถูกต้องเหล่านี้ แต่เพราะความไม่รู้และอาจจะถูกทำให้เข้าใจผิดด้วยคำว่า App แท้ ก็หวังว่าบล็อกนี้จะช่วยให้เข้าใจมากขึ้น ส่วนบางคนอาจบอกว่าทำไม่เป็นพวกติดตั้งโปรแกรมอะไรนี่ ครั้นจะซื้อโทรศัพท์ราคาสองหมื่นกว่าบาทมาโทรอย่างเดียวก็กลัวจะไม่คุ้ม ผมอยากบอกครับว่าลองศึกษาดูครับ มีเว็บไซต์และหนังสือดี ๆ ที่สอนการใช้งานเรื่องพวกนี้อยู่มากมาย และจริง ๆ แล้วมันไม่ใช่เรื่องยากนะครับ และผมคิดว่าเราจะสนุกสนานกับการใช้อุปกรณ์ของเรามากขึ้นด้วย  ส่วนคนที่บอกว่าแหมจ่าย 500 บาท เขาลงโปรแกรมมาให้ตั้งหกหน้าแปดหน้า ถ้ามัวมาหามาลงเอง จะใช้เวลาเท่าไร และต้องจ่ายเงินเท่าไร ลองถามตัวเองครับว่าโปรแกรมที่เราใช้จริง ๆ จัง มีสักกี่ตัวกัน ไอ้ที่เขาลงมาให้หกหน้าแปดหน้านี่ได้ใช้จริงหรือเปล่า

สุดท้ายผมก็อยากมาเชิญชวนพวกเราให้มาใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกลิขสิทธิ์กันครับ สบายใจภูมิใจเวลาใช้ สร้างสำนึกที่ดีในการเคารพทรัพย์สินทางปัญญาให้กับสังคมเรา และยังช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของไทยเราอีกด้วย

วันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อำนาจอยู่ในมือเราแล้วไปเลือกตั้งกันครับ

สวัสดีครับผมไม่ได้เขียนบล็อกมาซะนาน วันนี้ขอเขียนหน่อยเพราะอยากจะร่วมรณรงค์ให้ออกไปเลือกตั้งกันวันอาทิตย์ที่ 3 ก.ค. นี้ครับ จริง ๆ ผมก็ไม่ได้คิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะมาเปลี่ยนแปลงประเทศของเราให้มันดีขึ้นมาได้ทันตาเห็นหรอกนะครับ เพราะนักการเมืองที่ลงเลือกตั้งก็หน้าเดิม ๆ มีแนวคิดแบบเดิม ๆ ที่บอกว่าจะปรองดองกันก็ทำได้แต่ปากพูด เพราะเท่าที่เห็นหาเสียงกันอยู่ตอนนี้ก็มีแต่สาดโคลนใส่กัน เอาเรื่องที่ยังไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริงกล่าวหากันไปมา ฝ่ายหนึ่งก็กล่าวหาว่าอีกฝ่ายหนึ่งสั่งฆ่าคน อีกฝ่ายก็กล่าวหาว่าอีกฝ่ายเผาบ้านเผาเมืองทั้งที่ความจริงเป็นอย่างไรก็ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ชัดเจน ทำกันแบบนี้ประเทศชาติคงจะสงบได้หรอกเพราะประชาชนที่สนับสนุนแต่ละฝ่ายก็ออกมาตอบโต้กันไปมาสนับสนุนฝ่ายที่ตัวเชียร์อยู่ เขียนมาถึงตรงนี้หลายคนอาจถามว่าถ้าอย่างนั้นเราจะไปเลือกตั้งกันทำไม คำตอบคือการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการแสดงพลังอำนาจของประชาชนอย่างพวกเราที่ถูกปล้นไปโดยผู้คนหลายกลุ่ม (ถ้าใครลืมไปแล้วเดี๋ยวผมจะทวนให้ฟังต่อไป) และหวังว่ามันจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ประเทศเรากลับมาสู่ระบบอีกครั้งถ้าทุกฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้งตามที่บอกไว้ 

คราวนี้ผมจะทวนให้ฟังครับว่าอำนาจของเราถูกใครปล้นไปบ้าง เริ่มจากกลุ่มแรกเลยครับก็คือกลุ่มคนที่ใช้สีเหลืองเป็นสัญลักษณ์กับทหารที่ทำปฏิวัติเมื่อปี 2549 จริง ๆ ผมเคยคิดนะครับว่าการปฏิวัติสมัย รสช. คงจะเป็นครั้งสุดท้ายของประเทศแล้วไม่คิดว่าจะได้เห็นอีก จริง ๆ กลุ่มคนที่ใช้เสื้อเหลืองนี่ผมก็ไม่อยากจะเหมารวมไปทุกคนนะครับ เอาเป็นว่าขอเน้นไปที่แกนนำแล้วกัน แกนนำยุยงปลุกปั่นด้วยเรื่องจริงบ้างไม่จริงบ้างให้ประชาชนออกมารวมตัวกัน จนทหารมีข้ออ้างออกมาปฏิวัติ ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นเรากำลังจะมีการเลือกตั้งกันอยู่แล้ว ซึ่งคนเสื้อเหลืองและทหารไม่แน่ใจว่าถ้าปล่อยให้มีการเลือกตั้งแล้วพรรคที่ตัวเองต้องการจะได้มาบริหารประเทศหรือไม่ และที่น่าเศร้าที่สุดก็คือหลังจากการปฏิวัติแล้วก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ปัญหาที่มีอยู่ที่เป็นสาเหตุของการปฏิวัติก็ไม่ได้รับการแก้ไข สิ่งที่การปฏิวัติทิ้งไว้ให้เราคือความแตกแยก และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งอ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนยอมรับเพราะมีการลงมติ แต่การลงมติที่ว่านั้นอยู่ในบรรยากาศที่ว่าให้รับ ๆ ไปก่อนเพราะถ้าไม่รับคณะปฏิวัตินี้ก็จะยังคงปกครองประเทศเราอยู่ต่อไป และสุดท้ายเมื่อมีการเลือกตั้งพรรคการเมืองที่ทั้งเสื้อเหลืองและทหารไม่อยากให้เข้ามาก็ชนะได้เข้ามาอยู่ดี 

แต่เอาล่ะครับอย่างน้อยการเลือกตั้งครั้งนั้นก็ทำให้เราได้อำนาจคืนมาบ้าง แต่ก็ได้มาไม่นานส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะนักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาไม่รู้จักหลาบจำ ไปทำเรื่องที่เป็นเหตุให้คนเสื้อเหลืองหาเหตุระดมคนออกมาชุมนุมอีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์บางอย่างที่ผมคิดว่าถ้าประเทศเราอยู่ในสถานการณ์ปกติมันไม่น่าจะเกิดขึ้น เช่นการที่นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยต้องถูกปลดเพราะไปออกรายการทำกับข้าว พอเปลี่ยนนายกมาเป็นอีกคนหนึ่งก็ยังไม่ถูกใจคนเสื้อเหลือง ก็เลยทำการชุมนุมเลยเถิดสร้างความเดือดร้อนไปทั่วไปยึดทำเนียบรัฐบาลเป็นแรมเดือน จนถึงขั้นไปทำนากันอยู่ในนั้น และยังไปยึดสนามบินนานาชาติ ทำเอาเศรษฐกิจของชาติเสียหายไปมากมาย และที่น่าโมโหสำหรับผมก็คือคนเสื้อเหลืองอ้างอีกว่านี่คื่อเสียงของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งไม่มีที่มาที่ไปเพราะคนเสื้อเหลืองไม่ได้รับการเลือกตั้งมา ส่วนทหารก็ให้ความร่วมมือด้วยการอยู่เฉย ๆ ไม่่ิออกมาทำอะไรทั้งที่รัฐบาลมอบหมายหน้าที่ให้ แต่สุดท้ายรัฐบาลก็ต้องจากไปแต่ไม่ใช่เพราะคนเสืิ้อเหลืองแต่เป็นเพราะสาเหตุอื่น นั่นคือการถูกยุบพรรคของแกนนำรัฐบาล 

คราวนี้การเมืองก็พลิกขั้วมาเป็นอีกฝ่ายหนึ่งได้เข้ามาเป็นรัฐบาล ซึ่งโดยส่วนตัวผมก็พอจะทำใจรับได้ (ถึงแม้มันจะดูไม่โปร่งใสอยู่บ้าง) เพราะอย่างน้อยคนเหล่านั้นก็ยังได้รับเลือกตั้งเข้ามา เรียกว่ายังอยู่ในระบบ แต่อำนาจของเรากลับถูกโขมยไปอีกจากคนอีกกลุ่มหนึ่ง (ขอเน้นที่แกนนำเช่นกัน) ที่ใช้เสื้อสีแดง คนกลุ่มนี้ที่เคยด่าเสื้อเหลืองไว้ว่าทำอะไรไม่คิดทำให้ประเทศชาติเสียหายก็ทำซะเอง เริ่มตั้งแต่ไม่ได้สนใจว่าตัวเราเองเป็นเจ้าบ้านจัดการประชุมสำคัญระดับนานาชาติ ไปประท้วงจนเกิดความวุ่นวายจนแขกบ้านแขกเมืองต้องหนีขึ้นเรือออกไปกลางทะเลเพื่อไปขึ้นเครื่องบินกลับบ้านเป็นภาพที่อเนจอนาถเหลือเกิน หลังจากนั้นรัฐบาลใหม่ก็ไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้น ความพยายามที่จะลดความขัดแย้งก็ทำอย่างไม่จริงใจ จนในที่สุดคนกลุ่มนี้ก็กลับมาอีกครั้ง และก็ประท้วงมาเลยเถิดไปยึดแยกราชประสงค์จนเกิดความเสียหายไม่รู้เท่าไรต่อเท่าไร และในที่สุดมันก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดจนเป็นปัญหากันอยู่ตอนนี้ และเหมือนเดิมคนกลุ่มนี้ก็อ้างว่านี่คือความต้องการของคนส่วนใหญ่ของประเทศ นี่มันโขมยอำนาจของเราไปชัด ๆ นะครับ คนสองกลุ่มนี้เราไม่ได้เลือกเข้ามา (ถึงแม้ในแต่ละกลุ่มอาจมีส.ส.อยู่แต่ก็มีไม่กี่คน) 

ทั้งหมดก็คือการสรุปคร่าว ๆ ของกลุ่มคนที่มาเอาอำนาจที่อยู่ในมือเราออกไป ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้อำนาจได้กลับมาอยู่ในมือเราแล้ว ขอให้เราออกไปแสดงให้เขาเห็นครับว่าเราต้องการให้ประเทศเป็นไปอย่างไร ถึงแม้เราจะได้นักการเมืองหน้าเดิม ๆ กลับเข้ามา แต่ก็หวังว่าเขาจะทำตัวดีขึ้นและเราก็ติดตาม ถ้าเขายังทำตัวไม่ดีเราก็ใช้ช่องทางตามที่กฏหมายกำหนดเช่นการเข้าชื่อหรืออะไรก็ว่าไป ซึ่งฝ่ายค้านน่าจะมาชี้นำประชาชนในจุดนี้มากกว่าที่จะไปสนับสนุนคนที่ออกมาเคลื่อนไหวเข้าข้างฝ่ายตัวเองบนถนน (หวังว่าจะไม่มีอีก) และถ้ายังทำอะไรไม่ได้จริง ๆ (ผมคิดว่าถ้ามันแย่จริง ๆ หรือมีหลักฐานชัดมันน่าจะทำได้) เราก็รอให้ครบเทอมครับจนอำนาจกลับมาอยู่ในมือเราอีกครั้ง ทหารควรจะเอาคำว่าปฏิวัติทิ้งไปได้แล้ว ให้ระบบมันดำเนินไปได้อย่างถูกต้อง และผมเชื่ออย่างที่ผมเคยเขียนไปแล้วว่าถ้าเรายอมอยู่ในระบบจนคนดีมีความสามารถเขามีความมั่นใจเขาก็จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาของบ้านเมืองครับ 

สุดท้ายผมอยากบอกว่าประเทศเราโชคดีที่ยังไม่เป็นอย่างลิเบีย ซึ่งผมคิดว่าคนที่ออกมาประท้วงรัฐบาลตอนแรกอาจจะไม่ได้คิดว่าเหตุการณ์มันจะบานปลายมาถึงขนาดนี้ ถ้าเขารู้เขาอาจจะไม่ทำ ดังนั้นพวกเราโชคดีครับที่ยังมีโอกาส ออกไปเลือกตั้งกันครับและยอมรับผลการเลือกตั้ง ติดตามดูผลงานของคนที่เราเลือกและไม่ได้เลือกเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกตั้งครั้งหน้า และขอฝากนักการเมืองทั้งหลายให้เปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำงานโดยคิดถึงประเทศชาติเป็นหลัก เลิกสร้างความขัดแย้ง ทำงานให้สมกับที่ประชาชนไว้ใจเลือกเข้ามาเป็นตัวแทน ผมว่าถ้าเป็นได้อย่างนี้ประเทศเราจะเดินไปข้างหน้าได้โดยเริ่มจากการเลือกตั้งครั้งนี้ครับ

วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2554

น้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ได้พบในสัปดาห์ที่ผ่านมา

สวัสดีครับไม่ได้เขียนบล็อกมาเสียนาน วันนี้ขอเขียนเสียหน่อยเพราะอยากจะบันทึกเรื่องดี ๆ ที่ได้เจอในสัปดาห์นี้ไว้ก่อนที่จะเริ่มสัปดาห์ใหม่ ตอนนี้ต้องบอกว่าผมกำลังเริ่มเข้าสู่โหมดการเปิดเทอมเกือบเต็มรูปแบบ ที่ผมเรียกอย่างนี้ก็เพราะว่าผมเริ่มโหมดการเปิดเทอมตั้งแต่เมื่อกลางเดือนที่แล้วคือลูกเริ่มเปิดเทอมก่อนและผมก็ต้องเริ่มขับรถเข้าเมืองเพื่อรับส่งลูก จากนั้นเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมามหาวิทยาลัยที่เป็นอาจารย์ประจำก็เริ่มเปิดเทอม และอีกสักสองอาทิตย์จากนี้เมื่อมหาวิทยาลัยที่ผมได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษอยู่เปิดทั้งหมดก็เท่ากับผมเข้าสู่โหมดเปิดเทอมแบบเต็มรูปแบบครับ

ขนาดที่ยังไม่ได้เปิดเทอมแบบเต็มรูปแบบผมก็เริ่มเหนื่อยแล้วครับ เพราะเดี๋ยวนี้รถติดเหลือเกินและฝนยังตกอีกทำให้เพิ่มความติดมากขึ้นไปอีก แต่เหตุการณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผมได้ประสบมาเมื่ออาทิตย์ที่แล้วก็ทำให้มีความรู้สึกดีขึ้นครับ สิ่งนั้นก็คือผมพบว่าน้ำใจของคนไทยในเมืองหลวงยังมีอยู่ครับ เรื่องแรกเป็นน้ำใจของร้านขายอาหารครับ เรื่องก็มีอยู่ว่าเมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมาลูกชายคนโตของผมมาบอกว่าเขาต้องใช้ใบกะเพราเพื่อทดลองวิทยาศาสตร์ จริง ๆ ในบ้านผมก็ปลูกกะเพราไว้เหมือนกัน ผมก็เลยดุเขาไปว่าทำไมไม่บอกตั้งแต่เย็นตอนนี้มันดึกแล้ว แล้วผมก็บอกลูกว่าให้เขียนกระดาษไปแปะไว้ที่ประตูหน้าบ้าน ตอนเช้าจะได้ไม่ลืมไปเก็บก่อนไปโรงเรียน ปรากฏว่าคุณลูกชายไม่ได้เขียนครับ ผลลัพธ์ก็คือ ... ใช่แล้วครับเราลืมครับ พอไปถึงโรงเรียนท่านลูกก็นึกขึ้นมาได้ครับ ทำยังไงดีล่ะครับทีนี้ ตอนแรกผมก็ว่าจะไม่ยุ่งแล้วเพราะจะปล่อยให้เขาได้รับผลจากการไม่รับผิดชอบของเขา แต่พอดีมันเป็นงานกลุ่มและเขารับปากว่าจะเอากะเพราไป ผมก็เลยพาเขาไปที่โรงอาหาร และก็ตั้งใจว่าจะไปขอซื้อใบกะเพราจากร้านอาหารตามสั่ง เมื่อไปถึงร้านผมก็ถามว่ามีใบกะเพราไหมจะขอซื้อให้นักเรียนไปทดลองวิทยาศาสตร์ ปรากฏว่าแม่ค้าก็เดินไปหยิบมาให้สองกิ่งใหญ่ครับและไม่คิดเงินด้วย ถึงแม้จะดูว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ผมคิดว่านี่คือน้ำใจของคนไทยครับ

เรื่องที่สองเป็นน้ำใจของร้านขายมือถือครับ คือผมเห็นว่าแผ่นกันรอยมือถือที่ผมใช้อยู่มันเริ่มเป็นรอยมากแล้ว และบังเอิญผมมีแผ่นกันรอยมือถืออยู่อีกแผ่นหนึ่ง ไอ้ครั้นจะติดเองผมก็เป็นคนมีฝีมือดีเกินไปจนโอเวอร์โฟลว์กลับไปอีกข้างหนึ่ง ก็เลยไปที่ร้านมือถือให้เขาช่วยติดให้และผมกะว่าจะให้ค่าเสียเวลาตามสมควร ต้องบอกว่าผมไม่เคยเป็นลูกค้าของร้านนี้มาก่อนนะครับ ปรากฏว่าเมื่อไปถามทางร้านก็บอกว่าเอามาเถอะเดี๋ยวติดให้ไม่คิดเงิน ซึ่งก็ใช้เวลาติดอยู่นานเหมือนกันนะครับ เสียดายที่ผมจำชื่อร้านไม่ได้ ถ้ายังไงเดี๋ยววันหลังผ่านไปจะเอาชื่อร้านมาฝากครับ

เรื่องที่สามอันนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่ตัวเองทำ ซึ่งก็ไม่ได้คิดว่าจะเป็นเรื่องอะไรมากมาย เรื่องก็คือรถผมติดไฟแดงอยู่ที่แยกร่มเกล้าตัดกับรามคำแหง ซึ่งผมกำลังจะรอเลี้ยวขวาซึ่งไฟแดงมันนานมากจนหางแถวจนถึงคันที่ผมอยู่นี่มันก็เริ่มจะขวางทำให้รถที่ต้องการกลับรถไม่สามารถเข้าไปในช่องทางกลับรถได้ ซึ่งผมสังเกตุเห็นคันข้างหลังผมเขาต้องการจะกลับรถ ผมก็เลยพยายามขยับรถให้ติดไปที่คันหน้ามากที่สุดเพื่อเปิดช่องทาง ซึ่งคันหน้าผมพอเห็นอย่างนั้นก็ขยับเดินหน้าไปมากขึ้นผมก็ขยับตาม จนในที่สุดรถคันหลังผมก็สามารถเข้าช่องทางกลับรถได้ ซึ่งผมก็ไม่ได้คิดอะไรเลย แต่ปรากฏว่ารถคันนั้นมาจอดข้างรถผมลดกระจกลงและกล่าวขอบคุณผม

จากเรื่องที่ผมเล่ามาทั้งหมดดูเหมือนเหตุการณ์จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ซึ่งคนที่ทำให้อาจไม่ได้นึกอะไร แต่คนที่ได้รับนั้นเขาได้รับรู้ถึงน้ำใจที่แฝงอยู่ในการกระทำนั้น ดังนั้นผมอยากจะเชิญชวนให้พวกเราลองหันไปมองรอบ ๆ ตัวและลองแสดงน้ำใจเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับคนรอบข้าง ผมว่าสังคมเราจะน่าอยู่ขึ้นมากครับ        

วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ส่งท้ายกับเรยา

ก็จบไปแล้วนะครับสำหรับละครดอกส้มสีทอง ก็คงเป็นละครเรื่องแรก(หรือเปล่าไม่รู้นะครับ)ที่ต้องมีพระมาเทศน์ให้ฟังตอนจบของละคร ตรงนี้ผมว่ามันสะท้อนอะไรในด้านสังคมของเราหลายอย่างซึ่งผมจะพูดต่อไป ละครเรื่องนี้ได้รับการกล่าวถึงในด้านเนื้อหาและพฤติกรรมของตัวละครมากที่สุดเรื่องหนึ่งในรอบหลายปีมานี้ อย่างที่ผมเคยบอกไว้ในบล็อก เรยาในมุมมองของผม แล้วว่านี่คือละครที่ผมติดตามมากทีสุดในรอบหลายปี เหตุผลหลักไม่ใช่ภาพรวมของเนื้อเรื่องนะครับ เพราะผมว่าละครเรื่องนี้ถ้าดูเฉพาะภาพรวมแล้วมันก็คือเรื่องตบตีแย่งผัวแย่งเมียซึ่งก็พบได้ทั่วไปตามละครไทยอยู่แล้ว แต่ที่ทำให้ตัวละครเรื่องนี้น่าสนใจน่าจะเป็นนักแสดงที่แสดงได้สมบทบาท และการเขียนบทที่ปรับให้เข้ากับการดำเนินชีวิตของคนในปัจจุบัน อีกจุดหนึ่งที่ส่งให้ละครเรื่องนี้ดังขึ้นไปอีกก็คือการที่มีผู้คนให้ความเห็นในเชิงลบต่อพฤติกรรมของตัวละคร และผู้บริหารบ้านเมืองบางคนของเราตอบสนองด้วยสิ่งที่ผมเห็นว่าเกินเหตุ เช่นเรื่องการที่คิดจะแบนละครเรื่องนี้เลยเถิดไปจนถึงการที่จะพิจารณาสัมปทานกับทางช่องสามใหม่อะไรอย่างนี้ สุดท้ายก็ยังดีที่ยังหาข้อยุติที่พอจะยอมรับได้ ถึงแม้มันจะดูประหลาด ๆ เช่นต้องมีตัววิ่งบอกว่านี่เป็นการแสดงตามบทประพันธ์ที่ผู้เขียนเขียนไว้ ไม่ใช่เรื่องจริง และจบด้วยการเอาพระมาเทศน์สอน ผมขอออกความเห็นเพิ่มเติมเรื่องตัววิ่งหน่อยแล้วกันครับ จริง ๆ แทนที่จะขึ้นบอกว่ามันเป็นการแสดงไม่ใช่เรื่องจริง ผมว่าถ้าใช้คำเตือนเหมือนกับรายการประเภทเล่าเรื่องผีซึ่งมักจะบอกว่าเป็นความเชื่อส่วนบุคคลโปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม  ละครเรื่องนี้ก็อาจจะขึ้นว่าพฤติกรรมของตัวละครเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมขัดต่อศีลธรรมอันดีงาม ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำกับบุตรหลาน อะไรประมาณนี้ ผมว่าน่าจะดีกว่านะ

จริง ๆ เหตุผลที่ผมอยากจะเขียนเกี่ยวกับละครเรื่องนี้อีกครั้งเป็นเพราะสิ่งที่ผมได้เห็นจากไทม์ไลน์บนทวิตเตอร์ของตัวเอง มีทั้งที่บอกว่าแหมเรยากับคุณนายที่สองทำชั่วมาตั้งเยอะได้รับผลกรรมแค่ต้องอยู่คนเดียวไม่มีใครคบ  บางคนบอกว่ามาได้รับกรรมตอนท้ายเรื่องแต่เกือบทั้งเรื่องมีความสุขงั้นคนไม่ดูตอนจบก็ไม่รู้สิ บางคนก็บอกว่าการที่ต้องมีพระมาเทศน์สรุปสอนคนนี่ก็คือการที่ชนชั้นปกครองของเราไม่เชื่อว่าประชาชนจะมีความสามารถในการคิดหรือเรียนรู้อะไรด้วยตัวเอง  และก็มีที่บอกว่าต่อไปเดี๋ยวก็ทำละครมีเนื้อหาเลวร้ายออกมาอีกแล้วก็อ้างว่าทำมาให้ข้อคิดเอามาสอนคน และยังบอกว่าถ้าจะให้แง่คิดสอนคนน่ะเอาโดเรม่อนมาฉายก็ได้ (อันนี้ชอบมาก)เรามาดูกันทีละประเด็นแล้วกันนะครับ สำหรับเรื่องผลที่ตัวละครได้รับ ตอนแรกผมก็นึกว่ามันจะเป็นรูปธรรมกว่านี้ แต่ในส่วนตัวผมก็ว่าใช้ได้นะครับเพราะตัวละครได้รับความทุกข์ใจจากการกระทำของตัวเอง ผมมองว่าการลงโทษที่แรงที่สุดก็คือการที่เราถูกลงโทษด้วยจิตใจของตัวเราเองนี่แหละครับ ลองคิดดูครับว่าถ้าคนเราต้องอยู่กับความเสียใจในสิ่งที่ตัวเองได้ทำมาไปตลอดชีวิตก็เปรียบได้กับการตกนรกทั้งเป็นนั่นเอง ส่วนคนที่บอกว่ามาลงโทษตอนจบใครไม่ได้ดูก็ไม่รู้น่ะสิอันนี้ต้องขอเถียงหน่อยครับ ผมต้องบอกก่อนนะครับว่าไม่ได้เป็นแฟนตัวยงของละครเรื่องนี้ ที่บอกว่าติดตามมากที่สุดก็คือเป็นเรื่องที่ดูมากที่สุด เพราะผมบางทีกว่าจะกลับถึงบ้านบางทีก็สามทุ่มกว่าละครผ่านไปครึ่งเรื่องแล้ว แต่ทุกครั้งที่ผมได้ดูผมก็พบว่าตัวละครที่ทำความผิดในเรื่องไม่ใช่แค่เรยา รวมถึงคุณใหญ่ และคนอื่น ๆ ด้วย ไม่ได้มีความสุขครับ ละครเกือบทุกตอนแสดงให้เห็นเลยว่าทุกคนได้รับผลได้รับความทุกข์ใจจากการกระทำของตัวเอง ตอนจบเป็นเพียงการขมวดปมของเรื่องเท่านั้น

ส่วนกรณีที่บอกว่าผู้ปกครองบ้านเมืองไม่เชื่อว่าคนเราจะมีความคิดได้ด้วยตัวเอง อันนี้ผมค่อนข้างเห็นด้วยครับ เพราะจากการกระทำหลาย ๆ อย่าง สื่อให้เห็นไปในทางนั้นจริง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นการทำเบลอฉากที่มีเหล้าหรือบุหรี่ในละครหรือหนังโดยมีความคิดว่าถ้าไม่เห็นซะก็คงไม่สูบหรือไม่ดื่ม ตรงนี้ผมไม่ได้บอกว่าอยากจะให้มีฉากเหล้าหรือบุหรี่ในหนังนะครับ คือถ้าผู้สร้างหนังหรือละครใหม่ ๆ สามารถหลีกเลี่ยงไปได้ก็จะดี เพราะถ้าเห็นการกระทำบ่อย ๆ ก็อาจจะทำให้เกิดความเคยชินได้ แต่ไอ้การไปทำภาพเบลอกับสิ่งที่เด็กดูก็รู้ว่าตัวละครทำอะไรอยู่ผมว่ามันไม่ได้ช่วยอะไร ยิ่งตอนนี้เรามีการจัดเรตละครแล้ว ถ้ามีฉากเหล้าบุหรี่ก็จัดเรตหนัก ๆ ไปเลย ถ้าไม่อยากให้มีเอามาก ๆ ก็อาจจะกำหนดไปว่าถ้ามีเหล้าบุหรี่ต้องฉายดึก ๆ นะจะให้เรต ฉ. อะไรก็ว่าไป คนสร้างเขาจะได้หลีกเลี่ยง  แต่โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าการอบรมจากบ้านและโรงเรียนมีผลมากกว่าครับ ผมไม่เชื่อว่าถ้าเราอบรมเลี้ยงดูลูกหลานเราเป็นอย่างดี แล้วเขาจะเสียคนเพราะไปดูหนังหรือดูละคร ถ้าเราสอนพื้นฐานให้เขาว่าสิ่งใดดีสิ่งใดไม่ดี เขาก็จะสามารถแยกแยะได้ด้วยตัวเอง คุณเคยเห็นพ่อแม่จูงลูกตัวเล็ก ๆ  เดินข้ามถนนใต้สะพานลอยคนข้ามไหมครับผมว่านั่นคือสิ่งที่แย่กว่าอีกครับ เพราะมันคือการเพาะนิสัยที่ไม่มีวินัยลงไปในตัวลูก เรามารณรงค์ในเรื่องนี้กันดีกว่าไหมครับ ครอบครัวมีส่วนสำคัญครับเมื่อละครมีการจัดเรตแล้ว ถ้าด้วยเหตุใดก็ตามที่เราจะต้องให้ลูกที่ยังเล็กกว่าที่เรตกำหนดดูละครด้วย เราก็มีหน้าที่ในการให้คำแนะนำกับลูกครับ  พูดถึงเหล้าบุหรี่ก็อดจะพูดถึงเรื่องกีฬาไม่ได้  มีรายการกีฬาหลายรายการนะครับ(ไม่ใช่ถ่ายทอดสด) ที่มักจะเบลอป้ายโฆษณาเหล้าและบุหรี่ที่ติดอยู่ข้างสนาม เบลอจนดูภาพการแข่งขันไม่รู้เรื่อง อันนี้ช่วยเลิกเถอะครับ ผมถามจริง ๆ เถอะครับว่า เวลาคนเขาดูกีฬากันนี่ มีใครสักกี่คนครับที่จะไปสังเกตป้ายโฆษณา  ทำยังกับว่าถ้าเห็นโฆษณาปุ๊บก็จะเกิดอยากขึ้นมาจนต้องรีบไปซื้ออย่างนั้นแหละ อ้าวชักนอกเรื่องแฮะ กลับมาที่เรยา สิ่งหนึ่งที่เห็นก็คือสังคมของเรามีสิ่งที่เรียกว่า moral panic (ซึ่งบางครั้งอาจไม่ดีก็ได้) มีการช่วยกันเฝ้าระวังดูแลสิ่งที่ขัดต่อศีลธรรม แต่ผู้บริหารประเทศจะต้องตอบสนองอย่างมีสติ ไม่ใช่โหนกระแสหรือทำเพื่อหวังผลทางการเมือง ผมว่าส่วนหนึ่งที่ละครเรื่องนี้ดังขึ้นมาอย่างมากก็เพราะการตอบรับในลักษณะที่จะแบนละคร คนที่ไม่เคยดูละครเรื่องนี้เลยก็อาจจะเกิดความสนใจและหันกลับมาดู ดังนั้นผมว่าผู้บริหารบ้านเมืองอาจต้องเปลี่ยนวิธีคิดกันใหม่ครับ ลองกำกับดูแลอย่างที่ให้ประชาชนได้คิดหรือมีวิจารณญาณด้วยตัวเองบ้าง ไม่ต้องคิดเผื่อเขาหมดทุกอย่าง  ขอโยงเข้าการเมืองสักหน่อยแล้วกัน โดยผมอยากจะตั้งคำถามทิ้งไว้ว่าการที่เกิดความขัดแย้งในบ้านเมืองทุกวันนี้ ส่วนหนึงมันมาจากการที่คนบางกลุ่มไม่เชื่อในความคิดของคนบางกลุ่ม และคนบางกลุ่มคิดว่าตัวเองฉลาดกว่าคนบางกลุ่มใช่ไหมครับ

มาดูที่ประเด็นสุดท้ายครับว่าต่อไปก็จะมีการสร้างละครทีมีเนื้อหาไม่ดีออกมาแล้วก็จะบอกว่ามาสอน อันนี้น่าสนใจมากครับ เพราะผมว่าอาจมีผู้สร้างละครหลายคนกำลังคิดอย่างนี้อยู่ แต่โดยส่วนตัวแล้วผมว่าไม่ใช่ ถ้ามีคนมาถามผมว่ายังอยากจะดูละครแนวนี้อีกไหมโดยมาบอกว่ามันเป็นคติสอนใจนะ ผมก็จะตอบว่าผมดูละครเพื่อการผ่อนคลาย ไม่ได้คิดจะเอาเรื่องจากละครซึ่งก็รู้ว่ามันแต่งขึ้นเอามาสอนตัวเองหรือใครอย่างจริงจัง และถ้าจะให้เลือกละครอย่างดอกส้มสีทอง กับละครอะไรสักเรื่องหนึ่งที่แสดงถึงการสู้ชีวิตของตัวละครที่มีความมานะบุกบั่นฟันฝ่าอุปสรรคจนประสบความสำเร็จ ผมก็คงเลือกเรื่องหลัง เพราะมันให้แง่คิดที่ดีและเราสามารถวางใจให้ลูกเราดูได้โดยไม่ต้องมาคอยนั่งชี้แนะ ถ้าละครสามารถสอนคนได้จริงเราก็คงสร้างละครขึ้นมาให้พระเอกนางเอกเป็นคนดีมาก ๆ แล้วทุกคนก็เรียนรู้จากละครแล้วทำตามบ้านเมืองคงสงบสุขไปแล้ว แต่ในชีวิตจริงมันไม่ใช่ พฤติกรรมทั้งหลายทั้งปวงส่วนใหญ่ของเราได้มาจากกการเรียนรู้การอบรมจากครอบครัวโรงเรียนและสังคมรอบตัว  ละครทุกเรื่องที่เราได้ดูมีทั้งดีและร้าย การศึกษาอบรมที่เราได้รับจะทำให้เราแยกแยะว่าอะไรดีหรือไม่ดี ซึ่งแต่ละคนก็อาจมีมุมมองไม่เหมือนกันก็ได้  ยกตัวอย่างการ์ตูนโดเรม่อน ถ้าจะให้จัดเรตผมอาจจะให้จัดเรต น.13 ก็ได้ :) เพราะตัวละครอย่างไจแอนท์มีพฤติกรรมเป็นอันธพาลชอบใช้กำลังรังแกคน หรือซูเนโอะเป็นคนปลิ้นปล้อน แต่ถ้าเราดูไปจนจบเราก็จะพบสิ่งดี ๆ ที่อยู่ในตัวของคนทั้งสอง ซึ่งมีความรักเพื่อนถ้าเพื่อนตกอยู่ในอันตรายทั้งสองก็พร้อมที่จะไปช่วยเหลืออย่างเต็มที่  สำหรับละครเรื่องดอกส้มสีทองอย่างที่บอกไปแล้วผมบอกแล้วว่าโดยภาพรวมเนื้อหาของละครเรื่องนี้ก็คือละครแย่งผัวแย่งเมียนั่นแหละ แต่มันมาปรับเนื้อหาให้เข้มข้นขึ้น จริง ๆ มันก็ไม่ได้ต่างอะไรจากละครที่ฉายกันอยู่เต็มจอทุกวันนี้

สุดท้ายก็คือละครจบแล้วครับถ้าเราคิดว่าเราจะได้อะไรดี ๆ ไปใช้ในชีวิตได้ก็นำไปใช้ ถ้าคิดว่าไม่ได้อะไรก็ดูมันเป็นละครเรื่องหนึ่ง จบแล้วเราก็หาเรื่องอื่นที่เราชอบดูต่อไป