ก็จบไปแล้วนะครับสำหรับละครดอกส้มสีทอง ก็คงเป็นละครเรื่องแรก(หรือเปล่าไม่รู้นะครับ)ที่ต้องมีพระมาเทศน์ให้ฟังตอนจบของละคร ตรงนี้ผมว่ามันสะท้อนอะไรในด้านสังคมของเราหลายอย่างซึ่งผมจะพูดต่อไป ละครเรื่องนี้ได้รับการกล่าวถึงในด้านเนื้อหาและพฤติกรรมของตัวละครมากที่สุดเรื่องหนึ่งในรอบหลายปีมานี้ อย่างที่ผมเคยบอกไว้ในบล็อก เรยาในมุมมองของผม แล้วว่านี่คือละครที่ผมติดตามมากทีสุดในรอบหลายปี เหตุผลหลักไม่ใช่ภาพรวมของเนื้อเรื่องนะครับ เพราะผมว่าละครเรื่องนี้ถ้าดูเฉพาะภาพรวมแล้วมันก็คือเรื่องตบตีแย่งผัวแย่งเมียซึ่งก็พบได้ทั่วไปตามละครไทยอยู่แล้ว แต่ที่ทำให้ตัวละครเรื่องนี้น่าสนใจน่าจะเป็นนักแสดงที่แสดงได้สมบทบาท และการเขียนบทที่ปรับให้เข้ากับการดำเนินชีวิตของคนในปัจจุบัน อีกจุดหนึ่งที่ส่งให้ละครเรื่องนี้ดังขึ้นไปอีกก็คือการที่มีผู้คนให้ความเห็นในเชิงลบต่อพฤติกรรมของตัวละคร และผู้บริหารบ้านเมืองบางคนของเราตอบสนองด้วยสิ่งที่ผมเห็นว่าเกินเหตุ เช่นเรื่องการที่คิดจะแบนละครเรื่องนี้เลยเถิดไปจนถึงการที่จะพิจารณาสัมปทานกับทางช่องสามใหม่อะไรอย่างนี้ สุดท้ายก็ยังดีที่ยังหาข้อยุติที่พอจะยอมรับได้ ถึงแม้มันจะดูประหลาด ๆ เช่นต้องมีตัววิ่งบอกว่านี่เป็นการแสดงตามบทประพันธ์ที่ผู้เขียนเขียนไว้ ไม่ใช่เรื่องจริง และจบด้วยการเอาพระมาเทศน์สอน ผมขอออกความเห็นเพิ่มเติมเรื่องตัววิ่งหน่อยแล้วกันครับ จริง ๆ แทนที่จะขึ้นบอกว่ามันเป็นการแสดงไม่ใช่เรื่องจริง ผมว่าถ้าใช้คำเตือนเหมือนกับรายการประเภทเล่าเรื่องผีซึ่งมักจะบอกว่าเป็นความเชื่อส่วนบุคคลโปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม ละครเรื่องนี้ก็อาจจะขึ้นว่าพฤติกรรมของตัวละครเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมขัดต่อศีลธรรมอันดีงาม ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำกับบุตรหลาน อะไรประมาณนี้ ผมว่าน่าจะดีกว่านะ
จริง ๆ เหตุผลที่ผมอยากจะเขียนเกี่ยวกับละครเรื่องนี้อีกครั้งเป็นเพราะสิ่งที่ผมได้เห็นจากไทม์ไลน์บนทวิตเตอร์ของตัวเอง มีทั้งที่บอกว่าแหมเรยากับคุณนายที่สองทำชั่วมาตั้งเยอะได้รับผลกรรมแค่ต้องอยู่คนเดียวไม่มีใครคบ บางคนบอกว่ามาได้รับกรรมตอนท้ายเรื่องแต่เกือบทั้งเรื่องมีความสุขงั้นคนไม่ดูตอนจบก็ไม่รู้สิ บางคนก็บอกว่าการที่ต้องมีพระมาเทศน์สรุปสอนคนนี่ก็คือการที่ชนชั้นปกครองของเราไม่เชื่อว่าประชาชนจะมีความสามารถในการคิดหรือเรียนรู้อะไรด้วยตัวเอง และก็มีที่บอกว่าต่อไปเดี๋ยวก็ทำละครมีเนื้อหาเลวร้ายออกมาอีกแล้วก็อ้างว่าทำมาให้ข้อคิดเอามาสอนคน และยังบอกว่าถ้าจะให้แง่คิดสอนคนน่ะเอาโดเรม่อนมาฉายก็ได้ (อันนี้ชอบมาก)เรามาดูกันทีละประเด็นแล้วกันนะครับ สำหรับเรื่องผลที่ตัวละครได้รับ ตอนแรกผมก็นึกว่ามันจะเป็นรูปธรรมกว่านี้ แต่ในส่วนตัวผมก็ว่าใช้ได้นะครับเพราะตัวละครได้รับความทุกข์ใจจากการกระทำของตัวเอง ผมมองว่าการลงโทษที่แรงที่สุดก็คือการที่เราถูกลงโทษด้วยจิตใจของตัวเราเองนี่แหละครับ ลองคิดดูครับว่าถ้าคนเราต้องอยู่กับความเสียใจในสิ่งที่ตัวเองได้ทำมาไปตลอดชีวิตก็เปรียบได้กับการตกนรกทั้งเป็นนั่นเอง ส่วนคนที่บอกว่ามาลงโทษตอนจบใครไม่ได้ดูก็ไม่รู้น่ะสิอันนี้ต้องขอเถียงหน่อยครับ ผมต้องบอกก่อนนะครับว่าไม่ได้เป็นแฟนตัวยงของละครเรื่องนี้ ที่บอกว่าติดตามมากที่สุดก็คือเป็นเรื่องที่ดูมากที่สุด เพราะผมบางทีกว่าจะกลับถึงบ้านบางทีก็สามทุ่มกว่าละครผ่านไปครึ่งเรื่องแล้ว แต่ทุกครั้งที่ผมได้ดูผมก็พบว่าตัวละครที่ทำความผิดในเรื่องไม่ใช่แค่เรยา รวมถึงคุณใหญ่ และคนอื่น ๆ ด้วย ไม่ได้มีความสุขครับ ละครเกือบทุกตอนแสดงให้เห็นเลยว่าทุกคนได้รับผลได้รับความทุกข์ใจจากการกระทำของตัวเอง ตอนจบเป็นเพียงการขมวดปมของเรื่องเท่านั้น
ส่วนกรณีที่บอกว่าผู้ปกครองบ้านเมืองไม่เชื่อว่าคนเราจะมีความคิดได้ด้วยตัวเอง อันนี้ผมค่อนข้างเห็นด้วยครับ เพราะจากการกระทำหลาย ๆ อย่าง สื่อให้เห็นไปในทางนั้นจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำเบลอฉากที่มีเหล้าหรือบุหรี่ในละครหรือหนังโดยมีความคิดว่าถ้าไม่เห็นซะก็คงไม่สูบหรือไม่ดื่ม ตรงนี้ผมไม่ได้บอกว่าอยากจะให้มีฉากเหล้าหรือบุหรี่ในหนังนะครับ คือถ้าผู้สร้างหนังหรือละครใหม่ ๆ สามารถหลีกเลี่ยงไปได้ก็จะดี เพราะถ้าเห็นการกระทำบ่อย ๆ ก็อาจจะทำให้เกิดความเคยชินได้ แต่ไอ้การไปทำภาพเบลอกับสิ่งที่เด็กดูก็รู้ว่าตัวละครทำอะไรอยู่ผมว่ามันไม่ได้ช่วยอะไร ยิ่งตอนนี้เรามีการจัดเรตละครแล้ว ถ้ามีฉากเหล้าบุหรี่ก็จัดเรตหนัก ๆ ไปเลย ถ้าไม่อยากให้มีเอามาก ๆ ก็อาจจะกำหนดไปว่าถ้ามีเหล้าบุหรี่ต้องฉายดึก ๆ นะจะให้เรต ฉ. อะไรก็ว่าไป คนสร้างเขาจะได้หลีกเลี่ยง แต่โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าการอบรมจากบ้านและโรงเรียนมีผลมากกว่าครับ ผมไม่เชื่อว่าถ้าเราอบรมเลี้ยงดูลูกหลานเราเป็นอย่างดี แล้วเขาจะเสียคนเพราะไปดูหนังหรือดูละคร ถ้าเราสอนพื้นฐานให้เขาว่าสิ่งใดดีสิ่งใดไม่ดี เขาก็จะสามารถแยกแยะได้ด้วยตัวเอง คุณเคยเห็นพ่อแม่จูงลูกตัวเล็ก ๆ เดินข้ามถนนใต้สะพานลอยคนข้ามไหมครับผมว่านั่นคือสิ่งที่แย่กว่าอีกครับ เพราะมันคือการเพาะนิสัยที่ไม่มีวินัยลงไปในตัวลูก เรามารณรงค์ในเรื่องนี้กันดีกว่าไหมครับ ครอบครัวมีส่วนสำคัญครับเมื่อละครมีการจัดเรตแล้ว ถ้าด้วยเหตุใดก็ตามที่เราจะต้องให้ลูกที่ยังเล็กกว่าที่เรตกำหนดดูละครด้วย เราก็มีหน้าที่ในการให้คำแนะนำกับลูกครับ พูดถึงเหล้าบุหรี่ก็อดจะพูดถึงเรื่องกีฬาไม่ได้ มีรายการกีฬาหลายรายการนะครับ(ไม่ใช่ถ่ายทอดสด) ที่มักจะเบลอป้ายโฆษณาเหล้าและบุหรี่ที่ติดอยู่ข้างสนาม เบลอจนดูภาพการแข่งขันไม่รู้เรื่อง อันนี้ช่วยเลิกเถอะครับ ผมถามจริง ๆ เถอะครับว่า เวลาคนเขาดูกีฬากันนี่ มีใครสักกี่คนครับที่จะไปสังเกตป้ายโฆษณา ทำยังกับว่าถ้าเห็นโฆษณาปุ๊บก็จะเกิดอยากขึ้นมาจนต้องรีบไปซื้ออย่างนั้นแหละ อ้าวชักนอกเรื่องแฮะ กลับมาที่เรยา สิ่งหนึ่งที่เห็นก็คือสังคมของเรามีสิ่งที่เรียกว่า moral panic (ซึ่งบางครั้งอาจไม่ดีก็ได้) มีการช่วยกันเฝ้าระวังดูแลสิ่งที่ขัดต่อศีลธรรม แต่ผู้บริหารประเทศจะต้องตอบสนองอย่างมีสติ ไม่ใช่โหนกระแสหรือทำเพื่อหวังผลทางการเมือง ผมว่าส่วนหนึ่งที่ละครเรื่องนี้ดังขึ้นมาอย่างมากก็เพราะการตอบรับในลักษณะที่จะแบนละคร คนที่ไม่เคยดูละครเรื่องนี้เลยก็อาจจะเกิดความสนใจและหันกลับมาดู ดังนั้นผมว่าผู้บริหารบ้านเมืองอาจต้องเปลี่ยนวิธีคิดกันใหม่ครับ ลองกำกับดูแลอย่างที่ให้ประชาชนได้คิดหรือมีวิจารณญาณด้วยตัวเองบ้าง ไม่ต้องคิดเผื่อเขาหมดทุกอย่าง ขอโยงเข้าการเมืองสักหน่อยแล้วกัน โดยผมอยากจะตั้งคำถามทิ้งไว้ว่าการที่เกิดความขัดแย้งในบ้านเมืองทุกวันนี้ ส่วนหนึงมันมาจากการที่คนบางกลุ่มไม่เชื่อในความคิดของคนบางกลุ่ม และคนบางกลุ่มคิดว่าตัวเองฉลาดกว่าคนบางกลุ่มใช่ไหมครับ
มาดูที่ประเด็นสุดท้ายครับว่าต่อไปก็จะมีการสร้างละครทีมีเนื้อหาไม่ดีออกมาแล้วก็จะบอกว่ามาสอน อันนี้น่าสนใจมากครับ เพราะผมว่าอาจมีผู้สร้างละครหลายคนกำลังคิดอย่างนี้อยู่ แต่โดยส่วนตัวแล้วผมว่าไม่ใช่ ถ้ามีคนมาถามผมว่ายังอยากจะดูละครแนวนี้อีกไหมโดยมาบอกว่ามันเป็นคติสอนใจนะ ผมก็จะตอบว่าผมดูละครเพื่อการผ่อนคลาย ไม่ได้คิดจะเอาเรื่องจากละครซึ่งก็รู้ว่ามันแต่งขึ้นเอามาสอนตัวเองหรือใครอย่างจริงจัง และถ้าจะให้เลือกละครอย่างดอกส้มสีทอง กับละครอะไรสักเรื่องหนึ่งที่แสดงถึงการสู้ชีวิตของตัวละครที่มีความมานะบุกบั่นฟันฝ่าอุปสรรคจนประสบความสำเร็จ ผมก็คงเลือกเรื่องหลัง เพราะมันให้แง่คิดที่ดีและเราสามารถวางใจให้ลูกเราดูได้โดยไม่ต้องมาคอยนั่งชี้แนะ ถ้าละครสามารถสอนคนได้จริงเราก็คงสร้างละครขึ้นมาให้พระเอกนางเอกเป็นคนดีมาก ๆ แล้วทุกคนก็เรียนรู้จากละครแล้วทำตามบ้านเมืองคงสงบสุขไปแล้ว แต่ในชีวิตจริงมันไม่ใช่ พฤติกรรมทั้งหลายทั้งปวงส่วนใหญ่ของเราได้มาจากกการเรียนรู้การอบรมจากครอบครัวโรงเรียนและสังคมรอบตัว ละครทุกเรื่องที่เราได้ดูมีทั้งดีและร้าย การศึกษาอบรมที่เราได้รับจะทำให้เราแยกแยะว่าอะไรดีหรือไม่ดี ซึ่งแต่ละคนก็อาจมีมุมมองไม่เหมือนกันก็ได้ ยกตัวอย่างการ์ตูนโดเรม่อน ถ้าจะให้จัดเรตผมอาจจะให้จัดเรต น.13 ก็ได้ :) เพราะตัวละครอย่างไจแอนท์มีพฤติกรรมเป็นอันธพาลชอบใช้กำลังรังแกคน หรือซูเนโอะเป็นคนปลิ้นปล้อน แต่ถ้าเราดูไปจนจบเราก็จะพบสิ่งดี ๆ ที่อยู่ในตัวของคนทั้งสอง ซึ่งมีความรักเพื่อนถ้าเพื่อนตกอยู่ในอันตรายทั้งสองก็พร้อมที่จะไปช่วยเหลืออย่างเต็มที่ สำหรับละครเรื่องดอกส้มสีทองอย่างที่บอกไปแล้วผมบอกแล้วว่าโดยภาพรวมเนื้อหาของละครเรื่องนี้ก็คือละครแย่งผัวแย่งเมียนั่นแหละ แต่มันมาปรับเนื้อหาให้เข้มข้นขึ้น จริง ๆ มันก็ไม่ได้ต่างอะไรจากละครที่ฉายกันอยู่เต็มจอทุกวันนี้
สุดท้ายก็คือละครจบแล้วครับถ้าเราคิดว่าเราจะได้อะไรดี ๆ ไปใช้ในชีวิตได้ก็นำไปใช้ ถ้าคิดว่าไม่ได้อะไรก็ดูมันเป็นละครเรื่องหนึ่ง จบแล้วเราก็หาเรื่องอื่นที่เราชอบดูต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น