วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เรยา ในมุมมองของผม

สวัสดีครับ ไม่ได้เขียนบล็อกนี้มาเสียนาน จริง ๆ ก็มีหลายเรื่องที่อยากจะเขียนถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานการณ์ไทย-กัมพูชา เรื่องการทำงานของรัฐบาลหรือการยุบสภา แต่ก็ไม่คิดอยากจะเขียนเพราะมันค่อนข้างจะเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ซึ่งผมไม่อยากจะพูดอะไรมาก เพราะได้เคยพูดไปแล้วบ้างในบล็อก เรากลับมาอยู่ในระบบกันดีไหม เอาไว้ถ้ารู้สึกอึดอัดคับข้องมากกว่านี้ก็อาจจะมาเขียนระบายให้ฟังเพิ่มเติมอีก แต่ตอนนี้ขอรอไปลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมาถึงในเร็ว ๆ นี้ก็แล้วกัน (หวังว่าจะมีการเลือกตั้งนะ ถ้าใครทำให้มันไม่มีขอให้มีอันเป็นไปไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด)

เรื่องที่อยากเขียนในวันนี้เป็นเรื่องที่น่าจะฮอตฮิตที่สุดในตอนนี้นั่นก็คือเรื่องละครดอกส้มสีทอง โดยเฉพาะตัวละครเรยา ต้องบอกว่าละครเรื่องนี้เป็นละครที่ผมค่อนข้างจะติดตามมากที่สุดในรอบหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา เพราะความเข้มข้นของเนื้อหา และผู้แสดงเกือบทุกคนแสดงได้สมบทบาทมาก และอาจจะเพราะความสมบทบาทนี้ทำให้เกิดกระแสที่พูดถึงละครเรื่องนี้อย่างมากมายทั้งทางที่ดีและไม่ดี ผมก็เลยอยากจะแสดงความคิดเห็นของตัวเองเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้บ้าง เน้นนะครับว่านี่เป็นความเห็นส่วนตัว และผมไม่ได้คิดว่าคนที่คิดตรงข้ามกับผมจะเป็นฝ่ายที่ผิด สังคมที่ดีควรจะมีความคิดเห็นที่หลากหลายแตกต่างและนำมาแลกเปลี่ยนกันอย่างสร้างสรรค์ เราควรจะคิดต่างและอยู่ร่วมกันได้ อย่าให้เหมือนการเมืองซึ่งตอนนี้ถ้าใครคิดไม่เหมือนฉันนั่นคือศัตรูที่จะต้องฆ่ากันให้ตายไปข้างหนึ่ง  อ้าวว่าจะไม่พูดถึงการเมืองไหงลากเข้าไปจนได้ มาเข้าเรื่องดีกว่า

ในส่วนตัวผมบอกได้เลยว่าผมไม่เห็นด้วยเลยกับเสียงที่ออกมาให้แบนละครเรื่องดังกล่าวหรือจะไปตัดฉากที่เป็นการแสดงออกที่ไม่ดีของเรยาออกไป แต่ก็มีฉากอย่างเลิฟซีนบางฉากก็มากเกินไปเหมือนกัน ซึ่งผมว่าฉากแบบนี้อาจทำให้เบาลงพอที่ผู้ชมเข้าใจก็น่าจะพอแล้ว นอกจากฉากเลิฟซีนที่กล่าวถึงไปแล้วผมว่าโดยภาพรวมเนื้อหาถึงจะแรงแต่มันก็มีเหตุผลของมันอยู่ และเราต้องยอมรับว่าในสังคมของเราคนอย่างเรยาอาจจะมีอยู่จริง รายการผู้หญิงถึงผู้หญิงทางช่องสามที่ผมได้ดูเมื่อเช้านี้ก็ได้นำบทสัมภาษณ์จากหนังสือพิมพ์มติชน (ถ้าจำไม่ผิด) ของผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเคยทำตัวเหมือนเรยามาเล่าให้ฟัง ซึ่งเรื่องดังกล่าวอาจจะจริงหรือไม่ก็ได้ แต่เราต้องยอมรับกันว่าสังคมทุกสังคมมีด้านมืดอยู่มีคนไม่ดีปะปนอยู่ในสังคมของเรา ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าลูกหลานเราหรือแม้แต่ตัวเราจะไปเจอะเจอคนแบบนี้เมื่อไร ดังนั้นเมื่อมีละครนำมานำเสนอเราก็น่าจะนำมาคิดและวิเคราะห์ และก็หยิบยกมาคุยกับลูกหลานว่าถ้าเราเจอคนแบบนี้เราควรจะทำอย่างไร และเราก็สามารถชี้ให้เห็นตัวอย่างจริง ๆ ของการทำตัวไม่ดีให้กับลูกหลานเราได้เห็นได้ ซึ่งผมได้ใช้มาแล้วกับลูกชายของผมเอง ลูกผมเขาไม่ได้ติดตามละครเรื่องนี้นะครับเพราะเขายังเด็กและเนื้อหามันค่อนข้างหนักสำหรับเขา แต่มีวันหนึ่งเขาเดินผ่านทีวีมาเห็นฉากที่เรยากำลังพูดจาระเบิดอารมณ์ใส่แม่ของตัวเอง ซึ่งเขาดูแล้วเขาก็รู้โดยผมไม่ต้องสอนเลยว่ามันไม่ดี เพราะเขาถามว่าทำไมเรยาพูดกับแม่อย่างนั้น ผมก็เลยได้โอกาสสอนเขาไปว่าเวลาเขาโมโหเขาก็ลืมตัว และบางทีก็พูดจาไม่ดีกับแม่ของเขาเหมือนกัน ถ้าไม่อยากเป็นเหมือนเรยาก็ให้ระวังตัวเองด้วย  

ส่วนที่มีคนออกมาบอกว่าถ้าปล่อยให้เด็กหรือเยาวชนดูละครเรื่องนี้แล้วจะนำไปทำตามตัวอย่างที่ไม่ดีเหมือนที่เรยาทำ ผมคิดว่าเราอาจต้องเปลี่ยนวิธีคิดกันใหม่นะครับ ทำไมเราถึงคิดว่าละครเรื่องเดียวจะทำให้ลูกหลานที่เราเลี้ยงมาอย่างดีเป็นปี ๆ กลายเป็นคนไม่ดีไปได้ ผมว่าเด็กจะเติบโตขึ้นมาเป็นอย่างไรมันมาจากการอบรมเลี้ยงดูจากทางบ้านและโรงเรียนมากกว่า ถ้าเราสั่งสอนลูกหลานกันมาดีเด็กที่เห็นเรยาทำตัวไม่ดีกับแม่ ก็อาจจะถามเหมือนกับที่ลูกผมถามว่าทำไมเรยาทำกับแม่แบบนั้น  ผมมองว่าพ่อแม่ผู้ปกครองที่ยอมให้ลูกตัวเล็ก ๆ ไปเต้นท่ายั่วยวนบนหลังคารถจากข่าวที่เห็นในช่วงสงกรานต์ ผมว่าอันนั้นน่ากลัวกว่านะครับ การที่เรามีความคิดแบบปิดกั้นนี้ไงครับ ทำให้เราคิดวิธีการป้องกันอะไรแบบประหลาด ๆ เช่นฉากเบลอขวดเหล้าหรือบุหรี่ในละคร หรือหนักกว่านั้นไปเบลอป้ายโฆษณาบุหรี่หรือเหล้าที่อยู่ในสนามกีฬาจนดูไม่รู้เรื่อง

มีคำกล่าวว่าดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว ละครหลายเรื่องเป็นละครเบา ๆ สนุกสนานดูได้อย่างมีความสุขทั้งครอบครัว บางเรื่องก็มีแต่เรื่องความฟุ้งเฟ้อ บางเรื่องตื่นเต้นสืบสวนหรือบู๊ดุเดือดเลือดพล่าน หรือบางเรื่องก็หนักสะท้อนสังคม ดังนั้นละครนอกจากจะให้ความเพลิดเพลินแล้วก็อาจให้ข้อคิดในหลาย ๆ ด้านอีกด้วย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะปรับนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้หรือไม่ อย่างละครเรื่องดอกส้มสีทองนี้ ผมมองว่ามันได้สะท้อนด้านมืดของสังคม ซึ่งแทนที่จะเราจะปิดกั้นลูกหลานของเราโดยไม่ให้เขารับรู้ว่าในสังคมมีสิ่งนี้อยู่ แล้วปล่อยให้เขาไปเผชิญกับสิ่งนี้โดยเขาอาจไม่มีภูมิคุ้มกันอยู่เลย ทำไมเราไม่นำสิ่งละครนำเสนออกมานำมาสอนให้เขาระมัดระวังในการใช้ชีวิต และถ้าใครได้ติดตามดูละครเรื่องนี้มาโดยตลอดจะพบว่าเรยาไม่เคยมีความสุขที่ยั่งยืนจากการกระทำของตัวเองเลย และในตอนจบเท่าที่ทราบมาก็จะมีบทสรุปว่าผลที่เรยาจะได้รับจากการกระทำนี้คืออะไร หลายคนให้ความเห็นว่าแหมเลวมาตั้งนานมาสรุปแค่ตรงท้ายเรื่องว่าผลกรรมเป็นอย่างไรมันน้อยไป แต่ผมถามจริง ๆ เถอะครับ ละครหรือหนังส่วนใหญ่มันก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้นไม่ใช่หรือครับ ที่ตัวร้ายก็กลั่นแกล้งพระเอกหรือนางเอกมาค่อนเรื่องแล้วก็มาแพ้หรือตายตอนเรื่องจบ ดังนั้นผมว่านี่มันก็คือละครธรรมดาเรื่องหนึ่ง

สำหรับบทสรุปของการแก้ปัญหาของละครเรื่องนี้เมื่อสักครู่ที่ดูจากข่าวช่องสามก็คือ จะมีการขึ้นข้อความว่าเป็นการแสดง และอาจมีการตัดฉากบางฉากซึ่งไม่เหมาะสมออก ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นฉากอะไรเหมือนกันนะครับ ก็อาจจะเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุดในตอนนี้แล้วก็ได้ครับ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น