แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ Social แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ Social แสดงบทความทั้งหมด

วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เครื่องมือไม่ใช่ปัญหาคนต่างหากที่เป็นปัญหา

วันนี้พอดีได้อ่านข่าวจาก blognone เรื่องนี้ครับ นิวยอร์คซิตี้ออกกฎใหม่ห้ามอาจารย์-นักเรียนเป็นเพื่อนกันบนโซเชียลเน็ตเวิร์ค เหตุผลที่เขาออกกฎนี้ออกมาก็เพราะในปีที่แล้วมีกรณีไม่เหมาะสมระหว่างครูกับนักเรียนเกิดขึ้นผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์คหลายกรณีด้วยกัน พออ่านแล้วก็รู้สึกประหลาดใจมาก เพราะนึกไม่ถึงว่าประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีจะมีผู้คนที่ใช้วิธีการแก้ปัญหาที่ไม่ต่างจากประเทศสารขัณฑ์ที่นึกอะไรไม่ออกก็บล็อกเว็บไซต์ไว้ก่อนแบบนี้  ผมไม่คิดว่าการแก้ปัญหาแบบนี้มันจะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดนะครับ กรณีระหว่างครูกับนักเรียนนี่ถ้ามันจะมีไม่ต้องมีโซเชียลเน็ตเวิร์คมันก็มีได้ และจริง ๆ ไอ้เรื่องแบบนี้มันก็มีมาตั้งแต่สมัยก่อนที่จะมีโซเชียลเน็ตเวิร์คแล้ว

การที่นักเรียนกับอาจารย์เป็นเพื่อนกันบนโซเชียลเน็ตเวิร์คมันก็มีประโยชน์หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ การติดตามดูแลการโพสต์ของนักศึกษาไม่ให้เกินเลยไปรวมถึงการโพสต์ข้อความของตัวอาจารย์เองด้วย ยิ่งไปกว่านั้นการที่อาจารย์กับนักเรียนเป็นเพื่อนกันบนเฟซบุ๊คก็จะทำให้นักเรียนไม่รู้สึกกลัวเวลาที่จะต้องไปพบอาจารย์เพื่อปรึกษาเรื่องต่าง ๆ หรือถ้ายังกลัวอยู่ก็ยังสามารถขอคำปรึกษาผ่านเฟซบุ๊คได้ ซึ่งในยุคสมัยที่ผมยังเป็นนักเรียนอยู่นี่เวลาต้องเข้าไปปรึกษาอาจารย์ก็รู้สึกเกร็ง ๆ แทบทุกครั้ง ขนาดไม่ได้ทำความผิดอะไรนะครับ และไม่มีเฟซบุ๊คให้ไปโพสต์ถามด้วยต้องเข้าไปเผชิญหน้ากันอย่างเดียว เทียบกับลูกผมตอนนี้เป็นเพื่อนกับครูบนเฟซบุ๊คอยากถามอะไรก็ถามได้ง่าย หรือบางครั้งก็มีการคุยเล่นสนุก ๆ กับครูของเขาบ้าง  หรือแม้แต่ตัวผมเองต้องบอกว่าเพื่อนของผมกว่าครึ่งบนเฟซบุ๊คตอนนี้ก็คือลูกศิษย์ของผม และผมก็ถูกแซวบ้างเวลาที่ลิเวอร์พูลแพ้ (แต่ก็อย่าแซวมากนักนะ เดี๋ยวมีเคือง) ซึ่งผมว่าตรงนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนใกล้ชิดกันมากขึ้น

สรุปก็คือผมว่าทั้งหลายทั้งปวงมันขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของคนไม่ว่าจะมีอาชีพใดก็ตาม ถ้าคนคนนั้นไม่มีจิตสำนึกที่ดี ต่อให้ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมืออะไรคนคนนั้นก็ทำเรื่องไม่ดีได้ การแก้ปัญหาจึงไม่ใช่น่าจะใช่การไปควบคุมการใช้เครื่องมือที่คนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนดีใช้ประโยชน์อยู่ แต่ควรจะกลับมาเน้นเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมให้แก่เด็ก ๆ ซึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า และช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องผู้ใหญ่ไม่ดีในวันนี้ไม่ให้ทำเรื่องชั่วร้ายและควรจะลงโทษสถานหนักสำหรับคนที่ทำผิดมากกว่า 


วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ส่งท้ายกับเรยา

ก็จบไปแล้วนะครับสำหรับละครดอกส้มสีทอง ก็คงเป็นละครเรื่องแรก(หรือเปล่าไม่รู้นะครับ)ที่ต้องมีพระมาเทศน์ให้ฟังตอนจบของละคร ตรงนี้ผมว่ามันสะท้อนอะไรในด้านสังคมของเราหลายอย่างซึ่งผมจะพูดต่อไป ละครเรื่องนี้ได้รับการกล่าวถึงในด้านเนื้อหาและพฤติกรรมของตัวละครมากที่สุดเรื่องหนึ่งในรอบหลายปีมานี้ อย่างที่ผมเคยบอกไว้ในบล็อก เรยาในมุมมองของผม แล้วว่านี่คือละครที่ผมติดตามมากทีสุดในรอบหลายปี เหตุผลหลักไม่ใช่ภาพรวมของเนื้อเรื่องนะครับ เพราะผมว่าละครเรื่องนี้ถ้าดูเฉพาะภาพรวมแล้วมันก็คือเรื่องตบตีแย่งผัวแย่งเมียซึ่งก็พบได้ทั่วไปตามละครไทยอยู่แล้ว แต่ที่ทำให้ตัวละครเรื่องนี้น่าสนใจน่าจะเป็นนักแสดงที่แสดงได้สมบทบาท และการเขียนบทที่ปรับให้เข้ากับการดำเนินชีวิตของคนในปัจจุบัน อีกจุดหนึ่งที่ส่งให้ละครเรื่องนี้ดังขึ้นไปอีกก็คือการที่มีผู้คนให้ความเห็นในเชิงลบต่อพฤติกรรมของตัวละคร และผู้บริหารบ้านเมืองบางคนของเราตอบสนองด้วยสิ่งที่ผมเห็นว่าเกินเหตุ เช่นเรื่องการที่คิดจะแบนละครเรื่องนี้เลยเถิดไปจนถึงการที่จะพิจารณาสัมปทานกับทางช่องสามใหม่อะไรอย่างนี้ สุดท้ายก็ยังดีที่ยังหาข้อยุติที่พอจะยอมรับได้ ถึงแม้มันจะดูประหลาด ๆ เช่นต้องมีตัววิ่งบอกว่านี่เป็นการแสดงตามบทประพันธ์ที่ผู้เขียนเขียนไว้ ไม่ใช่เรื่องจริง และจบด้วยการเอาพระมาเทศน์สอน ผมขอออกความเห็นเพิ่มเติมเรื่องตัววิ่งหน่อยแล้วกันครับ จริง ๆ แทนที่จะขึ้นบอกว่ามันเป็นการแสดงไม่ใช่เรื่องจริง ผมว่าถ้าใช้คำเตือนเหมือนกับรายการประเภทเล่าเรื่องผีซึ่งมักจะบอกว่าเป็นความเชื่อส่วนบุคคลโปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม  ละครเรื่องนี้ก็อาจจะขึ้นว่าพฤติกรรมของตัวละครเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมขัดต่อศีลธรรมอันดีงาม ผู้ปกครองควรให้คำแนะนำกับบุตรหลาน อะไรประมาณนี้ ผมว่าน่าจะดีกว่านะ

จริง ๆ เหตุผลที่ผมอยากจะเขียนเกี่ยวกับละครเรื่องนี้อีกครั้งเป็นเพราะสิ่งที่ผมได้เห็นจากไทม์ไลน์บนทวิตเตอร์ของตัวเอง มีทั้งที่บอกว่าแหมเรยากับคุณนายที่สองทำชั่วมาตั้งเยอะได้รับผลกรรมแค่ต้องอยู่คนเดียวไม่มีใครคบ  บางคนบอกว่ามาได้รับกรรมตอนท้ายเรื่องแต่เกือบทั้งเรื่องมีความสุขงั้นคนไม่ดูตอนจบก็ไม่รู้สิ บางคนก็บอกว่าการที่ต้องมีพระมาเทศน์สรุปสอนคนนี่ก็คือการที่ชนชั้นปกครองของเราไม่เชื่อว่าประชาชนจะมีความสามารถในการคิดหรือเรียนรู้อะไรด้วยตัวเอง  และก็มีที่บอกว่าต่อไปเดี๋ยวก็ทำละครมีเนื้อหาเลวร้ายออกมาอีกแล้วก็อ้างว่าทำมาให้ข้อคิดเอามาสอนคน และยังบอกว่าถ้าจะให้แง่คิดสอนคนน่ะเอาโดเรม่อนมาฉายก็ได้ (อันนี้ชอบมาก)เรามาดูกันทีละประเด็นแล้วกันนะครับ สำหรับเรื่องผลที่ตัวละครได้รับ ตอนแรกผมก็นึกว่ามันจะเป็นรูปธรรมกว่านี้ แต่ในส่วนตัวผมก็ว่าใช้ได้นะครับเพราะตัวละครได้รับความทุกข์ใจจากการกระทำของตัวเอง ผมมองว่าการลงโทษที่แรงที่สุดก็คือการที่เราถูกลงโทษด้วยจิตใจของตัวเราเองนี่แหละครับ ลองคิดดูครับว่าถ้าคนเราต้องอยู่กับความเสียใจในสิ่งที่ตัวเองได้ทำมาไปตลอดชีวิตก็เปรียบได้กับการตกนรกทั้งเป็นนั่นเอง ส่วนคนที่บอกว่ามาลงโทษตอนจบใครไม่ได้ดูก็ไม่รู้น่ะสิอันนี้ต้องขอเถียงหน่อยครับ ผมต้องบอกก่อนนะครับว่าไม่ได้เป็นแฟนตัวยงของละครเรื่องนี้ ที่บอกว่าติดตามมากที่สุดก็คือเป็นเรื่องที่ดูมากที่สุด เพราะผมบางทีกว่าจะกลับถึงบ้านบางทีก็สามทุ่มกว่าละครผ่านไปครึ่งเรื่องแล้ว แต่ทุกครั้งที่ผมได้ดูผมก็พบว่าตัวละครที่ทำความผิดในเรื่องไม่ใช่แค่เรยา รวมถึงคุณใหญ่ และคนอื่น ๆ ด้วย ไม่ได้มีความสุขครับ ละครเกือบทุกตอนแสดงให้เห็นเลยว่าทุกคนได้รับผลได้รับความทุกข์ใจจากการกระทำของตัวเอง ตอนจบเป็นเพียงการขมวดปมของเรื่องเท่านั้น

ส่วนกรณีที่บอกว่าผู้ปกครองบ้านเมืองไม่เชื่อว่าคนเราจะมีความคิดได้ด้วยตัวเอง อันนี้ผมค่อนข้างเห็นด้วยครับ เพราะจากการกระทำหลาย ๆ อย่าง สื่อให้เห็นไปในทางนั้นจริง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นการทำเบลอฉากที่มีเหล้าหรือบุหรี่ในละครหรือหนังโดยมีความคิดว่าถ้าไม่เห็นซะก็คงไม่สูบหรือไม่ดื่ม ตรงนี้ผมไม่ได้บอกว่าอยากจะให้มีฉากเหล้าหรือบุหรี่ในหนังนะครับ คือถ้าผู้สร้างหนังหรือละครใหม่ ๆ สามารถหลีกเลี่ยงไปได้ก็จะดี เพราะถ้าเห็นการกระทำบ่อย ๆ ก็อาจจะทำให้เกิดความเคยชินได้ แต่ไอ้การไปทำภาพเบลอกับสิ่งที่เด็กดูก็รู้ว่าตัวละครทำอะไรอยู่ผมว่ามันไม่ได้ช่วยอะไร ยิ่งตอนนี้เรามีการจัดเรตละครแล้ว ถ้ามีฉากเหล้าบุหรี่ก็จัดเรตหนัก ๆ ไปเลย ถ้าไม่อยากให้มีเอามาก ๆ ก็อาจจะกำหนดไปว่าถ้ามีเหล้าบุหรี่ต้องฉายดึก ๆ นะจะให้เรต ฉ. อะไรก็ว่าไป คนสร้างเขาจะได้หลีกเลี่ยง  แต่โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าการอบรมจากบ้านและโรงเรียนมีผลมากกว่าครับ ผมไม่เชื่อว่าถ้าเราอบรมเลี้ยงดูลูกหลานเราเป็นอย่างดี แล้วเขาจะเสียคนเพราะไปดูหนังหรือดูละคร ถ้าเราสอนพื้นฐานให้เขาว่าสิ่งใดดีสิ่งใดไม่ดี เขาก็จะสามารถแยกแยะได้ด้วยตัวเอง คุณเคยเห็นพ่อแม่จูงลูกตัวเล็ก ๆ  เดินข้ามถนนใต้สะพานลอยคนข้ามไหมครับผมว่านั่นคือสิ่งที่แย่กว่าอีกครับ เพราะมันคือการเพาะนิสัยที่ไม่มีวินัยลงไปในตัวลูก เรามารณรงค์ในเรื่องนี้กันดีกว่าไหมครับ ครอบครัวมีส่วนสำคัญครับเมื่อละครมีการจัดเรตแล้ว ถ้าด้วยเหตุใดก็ตามที่เราจะต้องให้ลูกที่ยังเล็กกว่าที่เรตกำหนดดูละครด้วย เราก็มีหน้าที่ในการให้คำแนะนำกับลูกครับ  พูดถึงเหล้าบุหรี่ก็อดจะพูดถึงเรื่องกีฬาไม่ได้  มีรายการกีฬาหลายรายการนะครับ(ไม่ใช่ถ่ายทอดสด) ที่มักจะเบลอป้ายโฆษณาเหล้าและบุหรี่ที่ติดอยู่ข้างสนาม เบลอจนดูภาพการแข่งขันไม่รู้เรื่อง อันนี้ช่วยเลิกเถอะครับ ผมถามจริง ๆ เถอะครับว่า เวลาคนเขาดูกีฬากันนี่ มีใครสักกี่คนครับที่จะไปสังเกตป้ายโฆษณา  ทำยังกับว่าถ้าเห็นโฆษณาปุ๊บก็จะเกิดอยากขึ้นมาจนต้องรีบไปซื้ออย่างนั้นแหละ อ้าวชักนอกเรื่องแฮะ กลับมาที่เรยา สิ่งหนึ่งที่เห็นก็คือสังคมของเรามีสิ่งที่เรียกว่า moral panic (ซึ่งบางครั้งอาจไม่ดีก็ได้) มีการช่วยกันเฝ้าระวังดูแลสิ่งที่ขัดต่อศีลธรรม แต่ผู้บริหารประเทศจะต้องตอบสนองอย่างมีสติ ไม่ใช่โหนกระแสหรือทำเพื่อหวังผลทางการเมือง ผมว่าส่วนหนึ่งที่ละครเรื่องนี้ดังขึ้นมาอย่างมากก็เพราะการตอบรับในลักษณะที่จะแบนละคร คนที่ไม่เคยดูละครเรื่องนี้เลยก็อาจจะเกิดความสนใจและหันกลับมาดู ดังนั้นผมว่าผู้บริหารบ้านเมืองอาจต้องเปลี่ยนวิธีคิดกันใหม่ครับ ลองกำกับดูแลอย่างที่ให้ประชาชนได้คิดหรือมีวิจารณญาณด้วยตัวเองบ้าง ไม่ต้องคิดเผื่อเขาหมดทุกอย่าง  ขอโยงเข้าการเมืองสักหน่อยแล้วกัน โดยผมอยากจะตั้งคำถามทิ้งไว้ว่าการที่เกิดความขัดแย้งในบ้านเมืองทุกวันนี้ ส่วนหนึงมันมาจากการที่คนบางกลุ่มไม่เชื่อในความคิดของคนบางกลุ่ม และคนบางกลุ่มคิดว่าตัวเองฉลาดกว่าคนบางกลุ่มใช่ไหมครับ

มาดูที่ประเด็นสุดท้ายครับว่าต่อไปก็จะมีการสร้างละครทีมีเนื้อหาไม่ดีออกมาแล้วก็จะบอกว่ามาสอน อันนี้น่าสนใจมากครับ เพราะผมว่าอาจมีผู้สร้างละครหลายคนกำลังคิดอย่างนี้อยู่ แต่โดยส่วนตัวแล้วผมว่าไม่ใช่ ถ้ามีคนมาถามผมว่ายังอยากจะดูละครแนวนี้อีกไหมโดยมาบอกว่ามันเป็นคติสอนใจนะ ผมก็จะตอบว่าผมดูละครเพื่อการผ่อนคลาย ไม่ได้คิดจะเอาเรื่องจากละครซึ่งก็รู้ว่ามันแต่งขึ้นเอามาสอนตัวเองหรือใครอย่างจริงจัง และถ้าจะให้เลือกละครอย่างดอกส้มสีทอง กับละครอะไรสักเรื่องหนึ่งที่แสดงถึงการสู้ชีวิตของตัวละครที่มีความมานะบุกบั่นฟันฝ่าอุปสรรคจนประสบความสำเร็จ ผมก็คงเลือกเรื่องหลัง เพราะมันให้แง่คิดที่ดีและเราสามารถวางใจให้ลูกเราดูได้โดยไม่ต้องมาคอยนั่งชี้แนะ ถ้าละครสามารถสอนคนได้จริงเราก็คงสร้างละครขึ้นมาให้พระเอกนางเอกเป็นคนดีมาก ๆ แล้วทุกคนก็เรียนรู้จากละครแล้วทำตามบ้านเมืองคงสงบสุขไปแล้ว แต่ในชีวิตจริงมันไม่ใช่ พฤติกรรมทั้งหลายทั้งปวงส่วนใหญ่ของเราได้มาจากกการเรียนรู้การอบรมจากครอบครัวโรงเรียนและสังคมรอบตัว  ละครทุกเรื่องที่เราได้ดูมีทั้งดีและร้าย การศึกษาอบรมที่เราได้รับจะทำให้เราแยกแยะว่าอะไรดีหรือไม่ดี ซึ่งแต่ละคนก็อาจมีมุมมองไม่เหมือนกันก็ได้  ยกตัวอย่างการ์ตูนโดเรม่อน ถ้าจะให้จัดเรตผมอาจจะให้จัดเรต น.13 ก็ได้ :) เพราะตัวละครอย่างไจแอนท์มีพฤติกรรมเป็นอันธพาลชอบใช้กำลังรังแกคน หรือซูเนโอะเป็นคนปลิ้นปล้อน แต่ถ้าเราดูไปจนจบเราก็จะพบสิ่งดี ๆ ที่อยู่ในตัวของคนทั้งสอง ซึ่งมีความรักเพื่อนถ้าเพื่อนตกอยู่ในอันตรายทั้งสองก็พร้อมที่จะไปช่วยเหลืออย่างเต็มที่  สำหรับละครเรื่องดอกส้มสีทองอย่างที่บอกไปแล้วผมบอกแล้วว่าโดยภาพรวมเนื้อหาของละครเรื่องนี้ก็คือละครแย่งผัวแย่งเมียนั่นแหละ แต่มันมาปรับเนื้อหาให้เข้มข้นขึ้น จริง ๆ มันก็ไม่ได้ต่างอะไรจากละครที่ฉายกันอยู่เต็มจอทุกวันนี้

สุดท้ายก็คือละครจบแล้วครับถ้าเราคิดว่าเราจะได้อะไรดี ๆ ไปใช้ในชีวิตได้ก็นำไปใช้ ถ้าคิดว่าไม่ได้อะไรก็ดูมันเป็นละครเรื่องหนึ่ง จบแล้วเราก็หาเรื่องอื่นที่เราชอบดูต่อไป

วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เรยา ในมุมมองของผม

สวัสดีครับ ไม่ได้เขียนบล็อกนี้มาเสียนาน จริง ๆ ก็มีหลายเรื่องที่อยากจะเขียนถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานการณ์ไทย-กัมพูชา เรื่องการทำงานของรัฐบาลหรือการยุบสภา แต่ก็ไม่คิดอยากจะเขียนเพราะมันค่อนข้างจะเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ซึ่งผมไม่อยากจะพูดอะไรมาก เพราะได้เคยพูดไปแล้วบ้างในบล็อก เรากลับมาอยู่ในระบบกันดีไหม เอาไว้ถ้ารู้สึกอึดอัดคับข้องมากกว่านี้ก็อาจจะมาเขียนระบายให้ฟังเพิ่มเติมอีก แต่ตอนนี้ขอรอไปลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมาถึงในเร็ว ๆ นี้ก็แล้วกัน (หวังว่าจะมีการเลือกตั้งนะ ถ้าใครทำให้มันไม่มีขอให้มีอันเป็นไปไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด)

เรื่องที่อยากเขียนในวันนี้เป็นเรื่องที่น่าจะฮอตฮิตที่สุดในตอนนี้นั่นก็คือเรื่องละครดอกส้มสีทอง โดยเฉพาะตัวละครเรยา ต้องบอกว่าละครเรื่องนี้เป็นละครที่ผมค่อนข้างจะติดตามมากที่สุดในรอบหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา เพราะความเข้มข้นของเนื้อหา และผู้แสดงเกือบทุกคนแสดงได้สมบทบาทมาก และอาจจะเพราะความสมบทบาทนี้ทำให้เกิดกระแสที่พูดถึงละครเรื่องนี้อย่างมากมายทั้งทางที่ดีและไม่ดี ผมก็เลยอยากจะแสดงความคิดเห็นของตัวเองเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้บ้าง เน้นนะครับว่านี่เป็นความเห็นส่วนตัว และผมไม่ได้คิดว่าคนที่คิดตรงข้ามกับผมจะเป็นฝ่ายที่ผิด สังคมที่ดีควรจะมีความคิดเห็นที่หลากหลายแตกต่างและนำมาแลกเปลี่ยนกันอย่างสร้างสรรค์ เราควรจะคิดต่างและอยู่ร่วมกันได้ อย่าให้เหมือนการเมืองซึ่งตอนนี้ถ้าใครคิดไม่เหมือนฉันนั่นคือศัตรูที่จะต้องฆ่ากันให้ตายไปข้างหนึ่ง  อ้าวว่าจะไม่พูดถึงการเมืองไหงลากเข้าไปจนได้ มาเข้าเรื่องดีกว่า

ในส่วนตัวผมบอกได้เลยว่าผมไม่เห็นด้วยเลยกับเสียงที่ออกมาให้แบนละครเรื่องดังกล่าวหรือจะไปตัดฉากที่เป็นการแสดงออกที่ไม่ดีของเรยาออกไป แต่ก็มีฉากอย่างเลิฟซีนบางฉากก็มากเกินไปเหมือนกัน ซึ่งผมว่าฉากแบบนี้อาจทำให้เบาลงพอที่ผู้ชมเข้าใจก็น่าจะพอแล้ว นอกจากฉากเลิฟซีนที่กล่าวถึงไปแล้วผมว่าโดยภาพรวมเนื้อหาถึงจะแรงแต่มันก็มีเหตุผลของมันอยู่ และเราต้องยอมรับว่าในสังคมของเราคนอย่างเรยาอาจจะมีอยู่จริง รายการผู้หญิงถึงผู้หญิงทางช่องสามที่ผมได้ดูเมื่อเช้านี้ก็ได้นำบทสัมภาษณ์จากหนังสือพิมพ์มติชน (ถ้าจำไม่ผิด) ของผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเคยทำตัวเหมือนเรยามาเล่าให้ฟัง ซึ่งเรื่องดังกล่าวอาจจะจริงหรือไม่ก็ได้ แต่เราต้องยอมรับกันว่าสังคมทุกสังคมมีด้านมืดอยู่มีคนไม่ดีปะปนอยู่ในสังคมของเรา ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าลูกหลานเราหรือแม้แต่ตัวเราจะไปเจอะเจอคนแบบนี้เมื่อไร ดังนั้นเมื่อมีละครนำมานำเสนอเราก็น่าจะนำมาคิดและวิเคราะห์ และก็หยิบยกมาคุยกับลูกหลานว่าถ้าเราเจอคนแบบนี้เราควรจะทำอย่างไร และเราก็สามารถชี้ให้เห็นตัวอย่างจริง ๆ ของการทำตัวไม่ดีให้กับลูกหลานเราได้เห็นได้ ซึ่งผมได้ใช้มาแล้วกับลูกชายของผมเอง ลูกผมเขาไม่ได้ติดตามละครเรื่องนี้นะครับเพราะเขายังเด็กและเนื้อหามันค่อนข้างหนักสำหรับเขา แต่มีวันหนึ่งเขาเดินผ่านทีวีมาเห็นฉากที่เรยากำลังพูดจาระเบิดอารมณ์ใส่แม่ของตัวเอง ซึ่งเขาดูแล้วเขาก็รู้โดยผมไม่ต้องสอนเลยว่ามันไม่ดี เพราะเขาถามว่าทำไมเรยาพูดกับแม่อย่างนั้น ผมก็เลยได้โอกาสสอนเขาไปว่าเวลาเขาโมโหเขาก็ลืมตัว และบางทีก็พูดจาไม่ดีกับแม่ของเขาเหมือนกัน ถ้าไม่อยากเป็นเหมือนเรยาก็ให้ระวังตัวเองด้วย  

ส่วนที่มีคนออกมาบอกว่าถ้าปล่อยให้เด็กหรือเยาวชนดูละครเรื่องนี้แล้วจะนำไปทำตามตัวอย่างที่ไม่ดีเหมือนที่เรยาทำ ผมคิดว่าเราอาจต้องเปลี่ยนวิธีคิดกันใหม่นะครับ ทำไมเราถึงคิดว่าละครเรื่องเดียวจะทำให้ลูกหลานที่เราเลี้ยงมาอย่างดีเป็นปี ๆ กลายเป็นคนไม่ดีไปได้ ผมว่าเด็กจะเติบโตขึ้นมาเป็นอย่างไรมันมาจากการอบรมเลี้ยงดูจากทางบ้านและโรงเรียนมากกว่า ถ้าเราสั่งสอนลูกหลานกันมาดีเด็กที่เห็นเรยาทำตัวไม่ดีกับแม่ ก็อาจจะถามเหมือนกับที่ลูกผมถามว่าทำไมเรยาทำกับแม่แบบนั้น  ผมมองว่าพ่อแม่ผู้ปกครองที่ยอมให้ลูกตัวเล็ก ๆ ไปเต้นท่ายั่วยวนบนหลังคารถจากข่าวที่เห็นในช่วงสงกรานต์ ผมว่าอันนั้นน่ากลัวกว่านะครับ การที่เรามีความคิดแบบปิดกั้นนี้ไงครับ ทำให้เราคิดวิธีการป้องกันอะไรแบบประหลาด ๆ เช่นฉากเบลอขวดเหล้าหรือบุหรี่ในละคร หรือหนักกว่านั้นไปเบลอป้ายโฆษณาบุหรี่หรือเหล้าที่อยู่ในสนามกีฬาจนดูไม่รู้เรื่อง

มีคำกล่าวว่าดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว ละครหลายเรื่องเป็นละครเบา ๆ สนุกสนานดูได้อย่างมีความสุขทั้งครอบครัว บางเรื่องก็มีแต่เรื่องความฟุ้งเฟ้อ บางเรื่องตื่นเต้นสืบสวนหรือบู๊ดุเดือดเลือดพล่าน หรือบางเรื่องก็หนักสะท้อนสังคม ดังนั้นละครนอกจากจะให้ความเพลิดเพลินแล้วก็อาจให้ข้อคิดในหลาย ๆ ด้านอีกด้วย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะปรับนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้หรือไม่ อย่างละครเรื่องดอกส้มสีทองนี้ ผมมองว่ามันได้สะท้อนด้านมืดของสังคม ซึ่งแทนที่จะเราจะปิดกั้นลูกหลานของเราโดยไม่ให้เขารับรู้ว่าในสังคมมีสิ่งนี้อยู่ แล้วปล่อยให้เขาไปเผชิญกับสิ่งนี้โดยเขาอาจไม่มีภูมิคุ้มกันอยู่เลย ทำไมเราไม่นำสิ่งละครนำเสนออกมานำมาสอนให้เขาระมัดระวังในการใช้ชีวิต และถ้าใครได้ติดตามดูละครเรื่องนี้มาโดยตลอดจะพบว่าเรยาไม่เคยมีความสุขที่ยั่งยืนจากการกระทำของตัวเองเลย และในตอนจบเท่าที่ทราบมาก็จะมีบทสรุปว่าผลที่เรยาจะได้รับจากการกระทำนี้คืออะไร หลายคนให้ความเห็นว่าแหมเลวมาตั้งนานมาสรุปแค่ตรงท้ายเรื่องว่าผลกรรมเป็นอย่างไรมันน้อยไป แต่ผมถามจริง ๆ เถอะครับ ละครหรือหนังส่วนใหญ่มันก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้นไม่ใช่หรือครับ ที่ตัวร้ายก็กลั่นแกล้งพระเอกหรือนางเอกมาค่อนเรื่องแล้วก็มาแพ้หรือตายตอนเรื่องจบ ดังนั้นผมว่านี่มันก็คือละครธรรมดาเรื่องหนึ่ง

สำหรับบทสรุปของการแก้ปัญหาของละครเรื่องนี้เมื่อสักครู่ที่ดูจากข่าวช่องสามก็คือ จะมีการขึ้นข้อความว่าเป็นการแสดง และอาจมีการตัดฉากบางฉากซึ่งไม่เหมาะสมออก ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นฉากอะไรเหมือนกันนะครับ ก็อาจจะเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุดในตอนนี้แล้วก็ได้ครับ...

วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2553

ความเห็นเกี่ยวกับข่าวฮอตประจำสัปดาห์

สำหรับสัปดาห์นี้ข่าวร้อนแรงที่สุดก็คงมีอยู่ 3 เรื่องนะครับ คือเรื่องที่การประมูลใบอนุญาต 3G ถูกระงับ เรื่องฟิล์ม และเรื่องเปิดตัวไอโฟน 4 อย่างเป็นทางการในไทย ก็ขออนุญาตเกาะกระแสเขียนถึงทั้ง 3 เรื่องนี้บ้างแล้วกันนะครับ

เริ่มจากเรื่อง 3G ก่อน จริง ๆ เรื่องนี้ผมเขียนถึงไปสองครั้งแล้ว คงต้องบอกว่าผิดหวังเหมือนกับหลาย ๆ คนในประเทศนี้ แต่คิดไว้ล่วงหน้าแล้วว่ายังไงศาลก็คงไม่ยอมให้เดินหน้าต่อเพราะมีปัญหาเรื่องข้อกฏหมายจริง ๆ แต่ถ้าถามว่าปัญหาน่าจะเกิดจากอะไร ผมคิดว่าเป็นปัญหาด้านการบริหารจัดการของรัฐบาล รัฐบาลไม่รู้ว่าองค์กรใดมีอำนาจทำอะไรได้บ้าง ไม่รู้ว่าเคยปรึกษากับกฤษฎีกาหรือเปล่า (จริง ๆ ถ้ายังไม่แน่ใจนี่น่าจะรีบดันเรื่อง กสทช.ออกมาให้เร็วที่สุด มาเร่งทำตอนนี้ก็ค่อนข้างสายแล้วครับ) อีกอย่างหนึ่งยังไม่สามารถควบคุมองค์กรที่อยู่ในสังกัดของตัวเองให้ทำตามนโยบายของรัฐบาลได้ อ้อแต่รับฟังมาอีกกระแสหนึ่งเห็นเขาบอกว่าจริง ๆ รัฐบาลไม่อยากให้การประมูล 3G สำเร็จโดยกทช. ครับ เพราะมีข้อไม่เห็นด้วยกับ กทช. (ทำนองว่า กทช. มีความไม่โปร่งใสอะไรบางอย่าง) แต่ไม่สามารถทำอะไรได้เพราะกทช. เป็นองค์กรอิสระ อันนี้แค่ฟังมานะครับไม่รู้จริงหรือเปล่าเอามาเล่าให้ฟังไว้เป็นข้อมูลอีกด้านหนึ่ง สรุปเรื่องนี้ก็คือตอนนี้ TOT กับ กสท. ก็สมหวังแล้วในการที่ยับยั้งไม่ให้มี 3G รายอื่นเกิดขึ้นมาในประเทศ ก็ช่วยพัฒนาสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์กับประเทศชาติสูงสุดด้วยนะครับ

ส่วนเรื่องฟิล์มนี่ผมจะไม่แตะเลยครับ ถ้าคุณระเบียบรัตน์ไม่ออกมาให้สัมภาษณ์อะไรซึ่งในส่วนตัวผมฟังแล้วรู้สึกแย่มาก ผมไม่ใช่แฟนของฟิล์ม และติดตามผลงานของฟิล์มน้อยมาก และผมไม่ชอบยุ่งเรื่องส่วนตัวของคนอื่น แต่ที่เขียนถึงเรื่องนี้ก็เพราะคุณระเบียบรัตน์จริง ๆ ก่อนอื่นผมบอกเลยนะครับว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องของคนสองคน เขารู้ดีที่สุดว่าอะไรเป็นอะไร เราเป็นบุคคลนอกไม่มีสิทธิที่จะไปวิพากษ์วิจารณ์เขาในทางที่เหมือนต่อว่าคนที่เราไม่เห็นด้วยอย่างเสีย ๆ หาย ๆ สิ่งที่เราทำได้เพียงอย่างเดียวคือยกเอามาเป็นตัวอย่างในการสั่งสอนลูกหลานของเราให้ระมัดระวังตัวในการใช้ชีวิต ในการให้สัมภาษณ์คุณระเบียบรัตน์ได้ต่อว่าคุณพจน์ อานนท์ที่มาพูดให้ข่าวเหมือนเชิงแก้ตัวแทนฟิล์มว่าไม่ควรพูดเพราะเป็นคนนอก แต่ตัวเองกลับทำเสียเอง ไปพูดเป็นเชิงว่าฟิล์มไม่สนใจไม่ดูแลไม่รับผิดชอบ แถมยังมาพูดเป็นเชิงประชดประชันแดกดันว่าไม่ต้องตรวจดีเอ็นเอ ให้บอกว่าเด็กเป็นลูกฟิล์ม ให้จำไว้จนวันตายอะไรประมาณนี้ (การให้สัมภาษณ์เต็ม ๆ ฟังได้จากจากคลิปนี้ครับ) คำถามคือคุณระเบียบรัตน์ถือสิทธิอะไรในการไปพูดจาว่ากล่าวคนอื่นแบบนี้ ทั้งที่ความจริงตัวเองก็ไม่น่าจะรู้หรอกว่าจริง ๆ แล้วมันเป็นยังไง ปัญหาของประเทศเราส่วนหนึ่งก็มาจากวิธีคิดและการกระทำแบบนี้แหละครับ เที่ยวไปตัดสินคนอื่นโดยรับฟังข้อมูลข้างเดียว เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ไม่คิดไตร่ตรองว่าอะไรควรพูดอะไรไม่ควรพูด

ส่วนเรื่องไอโฟน 4 กระแสแรงจริง ๆ ครับ แสดงว่าคนไทยหลายคนก็อดทนรอที่จะได้ใช้เจ้าโทรศัพท์ตัวนี้ ส่วนคนที่รอไม่ได้นี่ได้ข่าวว่ายอมซื้อเครื่องหิ้วที่เข้ามาตอนแรก ๆ ถึงสี่-ห้าหมื่น สำหรับตอนนี้ก็เปิดขายแล้วโดยทั้งสามค่ายใหญ่ เครื่องเปล่าราคาเท่ากันหมด เริ่มต้นที่สองหมื่นกว่า รายละเอียดดูได้ที่บล็อกของคุณพัชร แว่ว ๆ ว่าขายดีเหมือนแจกฟรี ถ้าจะใช้ครอบคลุมจริง ๆ คือได้ใช้ทั้ง 3G และ Wifi นี่ตอนนี้ก็คงไม่มีใครสู้ True ได้ ดังนั้นผมคิดว่า AIS และ DTAC ก็คงต้องเปิด 3G ให้ได้บนเครือข่ายเดิมที่ตัวเองมีอยู่เพื่อจะให้การใช้งานเครื่องให้ได้คุ้มค่าที่สุด เห็นว่ารัฐบาลอาจจะผลักดัน 3G ตามแนวนี้ด้วยเหมือนกันครับ แต่ก็แปลกดีนะครับบริษัทที่มี 3G อยู่แล้วอย่าง TOT กลับไม่กระตือรือร้นที่จะนำไอโฟนเข้ามาขาย บริษัทที่นำมาขายกลับยังไม่มี 3G

สำหรับวันนี้ก็คงพอแค่นี้นะครับ ขอให้มีความสุขในวันศุกร์ครับ

วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

มูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทยและมุมมองของผมเกี่ยวกับการรับบริจาค

สวัสดีครับผมหายไปไม่ได้เขียนบล็อกเสียนานเลย เหตุผลก็คือไม่ว่างเช่นเดิม จริง ๆ เรื่องที่จะเล่านี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมาแล้วครับ แต่ไม่ว่างมาเขียนเลย ก่อนที่จะดองเอาไว้ให้ผ่านไปเป็นเดือนหรือเป็นปี ก็เลยหาช่องมาเล่าให้ฟังกันซะหน่อยครับ ก่อนอื่นผมจะมาแนะนำให้รู้จักกับมูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์กันครับ หลักการดำเนินงานของมูลนิธิก็คือสร้างครอบครัวให้กับเด็กกำพร้า คือเขาจะปลูกบ้านให้ และหาแม่ให้ สรุปก็คือเด็กกำพร้าเหล่านั้นจะมีบ้านและมีแม่ ถ้าใครสนใจรายละเอียดการดำเนินงานของมูลนิธิก็คลิกเข้าไปดูได้เลยครับ

ผมคิดว่าหลายคนอาจรู้จักมูลนิธินี้อยู่แล้ว แต่ก็คงมีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้จักเช่นผมเป็นต้น ผมได้รู้จักมูลนิธินี้เมื่อวันอาทิตย์ที่แล้วครับ โดยผมตั้งใจจะได้ไปดูอาหารตาที่ห้างเซ็นทรัลลาดพร้าว ผมแวะไปทานข้าว (อาหารกาย) ที่โลตัสลาดพร้าวก่อน และเดินข้ามสะพานลอยหน้าโลตัสมาลงหน้าโรงเรียนหอวังแล้วเดินต่อมาที่เซ็นทรัล ก็ปรากฏว่าได้พบกลุ่มคนที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิมาขอประชาสัมพันธ์ (จะเป็นเจ้าหน้าที่จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้นะครับ แต่เอาเป็นอันว่าคิดบวกไว้ก่อนว่าเป็นเจ้าหน้าที่จริงแล้วกัน) ผมก็เลยลองรับฟังดู ก็ได้ทราบว่าจุดประสงค์ของมูลนิธิดังที่ได้บอกไปแล้ว  ซึ่งผมฟังดูแล้วก็คิดว่าเป็นโครงการที่ดีมาก  และสนใจที่จะช่วยเหลือ แต่ด้วยความที่ไม่เคยได้ยินเรื่องเกี่ยวกับมูลนิธินี้มาก่อน  ก็เลยบอกว่าจะขอมาศึกษาโครงการดูก่อน และขอพวกเอกสารแผ่นพับ หรือใบบริจาคที่สามารถกรอกและส่งกลับไปทางไปรษณีย์ได้ ปรากฏว่าทางเจ้าหน้าที่ไม่มีครับ มีแต่แบบฟอร์มใบบริจาคซึ่งผมจะต้องกรอกและคืนให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งในแบบฟอร์ดังกล่าวผมก็ต้องให้รายละเอียดส่วนตัว และหมายเลขบัตรเครดิต ซึ่งผมไม่สบายใจ และรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะให้ข้อมูลในส่วนนั้น เพราะก็เห็นข่าวกันบ่อย ๆ เรื่องกลโกงทั้งหลาย จะขอใบบริจาคมากรอกและส่งกลับไปเอง เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าไม่ได้เพราะมีหมายเลขกำกับไว้ และเมื่อเห็นผมทำท่าไม่เชื่อเขาก็พยายามแสดงจดหมายราชการจากกระทรวงการคลังเกี่ยวกับมูลนิธินี้ให้ผมดูอีก (ซึ่งเขาคงไม่รู้หรอกว่ายิ่งให้ผมดูเท่าไรแทนที่ผมจะเชื่อผมกลับไม่เชื่อมากขึ้น) ผมถามเขาว่ามูลนิธิมีเว็บไซต์ไหมเขาก็บอกว่ามีผมก็เลยบอกว่างั้นเดี๋ยวผมมาศึกษาข้อมูลจากเว็บ และอาจจะบริจาคผ่านทางหน้าเว็บ ก็ได้รับคำชี้แจงอีกว่าการบริจาคผ่านหน้าเว็บยังไม่สามารถบริจาคได้ อยากจะให้ผมบริจาคไปเลย ซึ่งตอนนั้นในความรู้สึกผมเหมือนกับเขามาขายของและพยายามจะปิดการขายให้ได้ แต่หลังจากนั้นก็พยายามเข้าใจครับว่าเขาคงอยากจะทำยอดบริจาคให้มูลนิธิ  แต่สุดท้ายผมก็ไม่ได้บริจาค และกลับมามาค้นข้อมูลจากเว็บก็ได้พบหน้าเว็บไซต์ของมูลนิธิตามที่ได้กล่าวไปในตอนต้นแล้ว

ประเด็นที่ผมอยากจะชี้ให้เห็นในแง่การประชาสัมพันธ์มูลนิธิหรือโครงการอะไรที่เป็นสาธารณกุศลแบบนี้ในความเห็นของผมก็คือ แทนที่จะให้เจ้าหน้าที่มาเน้นเงินบริจาค ผมว่าน่าจะเน้นประชาสัมพันธ์ให้รู้จักกับโครงการมากกว่า มูลนิธิน่าจะจัดทำแผ่นพับซึ่งมีแบบฟอร์มบริจาคที่สามารถส่งกลับทางไปรษณีย์ได้   หรืออีกวิธีหนึ่งก็อาจจะแนบใบบริจาคมากับใบแจ้งยอดบัตรเครดิต อีกจุดหนึ่งก็คือเรื่องสถานที่ที่เขาไปขอรับบริจาค ถ้าใครมาที่เซ็นทรัลลาดพร้าวบ่อยๆ คงจะทราบนะครับว่า บริเวณทางเดินจากหอวังมาเซ็นทรัลนั้น จะเป็นที่ซึ่งมูลนิธิต่าง ๆ นา ๆ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาขอรับบริจาค ผมขอใช้คำว่าผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนครับ เพราะเหมือนเขาจะตกลงกันไว้จะไม่มาพร้อมกัน เช่นสัปดาห์นี้รับบริจาคเรื่องโลงศพ สัปดาห์ต่อมาจะมีเด็กนักเรียนใส่ชุดนักเรียนเอาตุ๊กตาบ้าง เอาสติ๊กเกอร์บ้างมาขายเป็นต้น ซึ่งเราก็ไม่รู้นะครับว่าที่มายืน ๆ ขอบริจาคกันนี่มันจริงหรือไม่จริง ดังนั้นเมื่อมูลนิธิมาใช้พื้นที่ตรงนี้ก็เลยอาจจะถูกเหมารวมว่าเป็นเรื่องไม่จริงไปด้วย

ส่วนตัวผมจริง ๆ แล้วเรื่องบัตรเครดิตที่กลัวนี่ไม่ได้กลัวว่าเขาจะเอาไปซื้ออะไรเยอะแยะหรอกครับ  กลัวเขาจะโทรกลับมาด่าเอาว่าเสียเวลาพูดล่อหลอกอยู่ตั้งนานแม่..มีวงเงินในบัตรแค่นี้เองเหรอ...