แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ การเลือกตั้ง แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ การเลือกตั้ง แสดงบทความทั้งหมด

วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

อธิบายปัญหาการคำนวณสส.บัญชีรายชื่อ

วันนี้พอมีเวลานิดหน่อยเลยอยากจะมาพูดถึงปัญหาการเมืองที่เป็นอยู่ตอนนี้ จริง ๆ ปัญหานี้เป็นมานานแล้ว และเพิ่งได้ข้อสรุปชัดเจนเมื่อวานนี้ นั่นคือการคำนวณสส.แบบบัญชีรายชื่อ คือผมจะมาสรุปประเด็นว่าเราเถียงเรื่องอะไรกันอยู่ เพราะจากการคุยกับคนใกล้วตัวก็ดูเหมือนยังไม่เข้าใจชัดเจนนัก

เริ่มจากระบบเลือกตั้งครั้งนี้ เรายังมีสส.ที่เลือกตั้งจากเขต และสส.แบบบัญชีรายชื่อเหมือนที่ผ่านมา เพียงแต่คราวนี้เราใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียวเลือกสส.ทั้งสองแบบ โดยกระบวนการคือเขาจะเอาคะแนนเลือกตั้งทั้งหมดที่แต่ละพรรคได้ไปหาสิ่งที่เรียกว่าสส.พึงมี จากนั้นก็มาดูรายเขตว่าใครชนะรายเขตบ้าง จากนั้นจึงไปหาจำนวนสส.บัญชีรายชื่อ โดยเอาสส.พึงมี-สส.เขต  เช่นสมมติพรรค A มีสส.พึงมี 130 คน และถ้านับรายเขตแล้วชนะมา 120 เขต พรรค A ก็จะได้สส.บัญชีรายชื่อ 130-120 ก็คือ 10 คน

วิธีการคำนวนสส.พึงมีก็คือ เริ่มจากหาก่อนว่าจากผู้ที่มาลงคะแนนทั้งหมดและหักบัตรเสียกับบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนนไปแล้ว กี่คะแนนจึงจะได้สส. 1 คน ผมจะสมมติเลขกลม ๆ ว่าเลขนี้คือ 35,000,000 คราวนี้เรากำหนดให้ในสภาเรามีสส. ได้ 500 คน ดังนั้นเอา 35,000,000 / 500 =  70,000 นั่นคือ 70,000 คะแนนได้สส.หนึ่งคน ดูเลขนี้ไว้ให้ดีนะครับ โดย 500 คนนี้จะแบ่งเป็นสส.เขต 350 คน และบัญชีรายชื่อ 150 คน

ขั้นต่อไปคือเอาคะแนนที่ได้ทั้งหมดที่แต่ละพรรคได้มาหารด้วย 70,000 ก็จะได้สส.พึงมีของพรรคนั้น เช่นพรรค A ได้รับเลือกตั้งมา 7,000,000 คะแนน ก็เอา 7,000,000/70,000 = 100 นั่นคือสส.พึงมีของพรรค A คือ 100 คราวนี้สมมติพรรค A ชนะการเลือกตั้งแบบเขตมา 80 เขต ก็จะได้สส.บัญชีรายชื่ออีก 20 คน รวมเป็น 100 คน ซึ่งวิธีการนี้จะไม่เป็นปัญหาเลยถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ที่เขาเรียกว่าโอเวอร์แฮงค์ คือ พรรคการเมืองบางพรรคดันได้สส.เขตเกินจำนวนสส.พึงมี เช่นพรรค A จากตัวอย่างนี้ดันได้สส.เขต 110 คน ซึ่งเราไม่มีสิทธิไปตัดคะแนนสส.เขตของพรรค A นะครับ นั่นคือพรรค A จะต้องมีสส.เขต 110 คน โดยไม่มีสส.บัญชีรายชื่อ แต่จำนวนสส.ที่เกินพึงมีมาของพรรค A มันจะไปโป่งอยู่ในส่วนของสส.บัญชีรายชื่อครับ และนี่คือที่มาของปัญหาว่าเราต้องเกลี่ยมันให้เหลือ 150 เท่าเดิม ยังงงใช่ไหมครับมาดูตัวอย่างกัน

พิจารณาตารางนี้ครับ

พรรคสส.พึงมีสส.เขตสส.บัญชีรายชื่อ
A1701800
B13011020
C1103080
D902961
E010
F000
G000
Total500350161

จากตารางจะเห็นว่า พรรค A มีสส.เขตเกิน สส.พึงมีอยู่ 10 คน พรรค E,F,G  แต่ละพรรคมีจำนวนคะแนนรวมไม่ถึง 70,0000 ดังนั้นไม่มีสส.พึงมีเลยคือ 0 แต่สมมติว่าพรค E ชนะการเลือกตั้ง 1 เขต ดังนั้นเขาต้องได้สส. 1 คนจากเขตนี้ ดังนั้นจำนวนสส.ที่เกินมาทั้งหมด 11 คน (10 จากพรรค A และ 1 จากพรรค E) จะไปโป่งอยู่ในส่วนบัญชีรายชื่อ ซึ่งทำให้บัญชีรายชื่อที่ควรมี 150 คน กลายเป็น 161 คน ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำต่อไปคือต้องเกลี่ย 161 นี้ให้เหลือ 150 โดยพรรค A และ E ไม่เกี่ยวแล้ว เพราะได้เกินไปแล้ว และการเกลี่ยนี่แหละคือปัญหาครับ

ในมุมมองหนึ่งคือการเกลี่ยควรจะเกลี่ยจากพรรค B,C, และ D เท่านั้น เพราะพรรคเหล่านี้ได้เกิน 70,000 คะแนน ซึ่งเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำของสส.พึงมี แต่กกต.กลับใช้อีกมุมมองหนึ่งคือ เขาไปเอาพรรค F และ G ที่เข้ามาเกลี่ยด้วย โดยอ้างว่าพรรคเหล่านี้ก็ได้คะแนนเหมือนกัน และนี่คือปัญหาที่ถกเถียงกันตอนนี้ครับ เพราะถ้าใช้ใช้แนวทางนี้ พรรคที่ได้คะแนนไม่ถึง 70,000 ก็มีสิทธิได้สส.หนึ่งคนครับ ในสถาณการณ์จริงตอนนี้คือตั้งแต่ 60,000 กว่า ถึง 30,000 กว่าได้พรรคละหนึ่งเสียง และยังทำให้พรรคที่เคยได้บัญชีรายชื่ออยู่แล้ว พอมาเกลี่ยเสียงก็จะต้องหายไปบ้างอยู่แล้ว พอมาทำแบบนี้จะทำให้เสียงหายเพิ่มมากขึ้นไปอีก

ซึ่งในส่วนตัวผมแล้วผมเห็นว่าทางที่ถูกต้องมันควรจะเป็นทางแรกนะครับ เพราะคุณต้องยึดตัวเลข 70,000 เป็นที่ตั้ง 70,000 คะแนนได้สส.หนึ่งคน ถ้าไม่ถึง 70,000 ยังไงก็ต้องไม่ได้ อีกอย่างถ้าไม่เกิดเหตุการณ์โอเวอร์แฮงค์พรรค F กับ G สอบตกไปแล้วนะครับ แต่ทำไมพอโอเวอร์แฮงค์ถึงมีสิทธิกลับมาสอบผ่านได้ ไม่ฟันธงนะครับ แค่ความคิดส่วนตัวไปตัดสินกันเอาเอง แค่อยากเขียนบล็อกสรุปปัญหาไว้ให้เข้าใจกันแบบง่าย ๆ เท่านั้นครับ   


วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เลือกตั้งครั้งนี้จะได้อะไร

ใกล้วันเลือกตั้งเข้ามาแล้ว ซึ่งปีนี้เป็นปีที่แปลกครับ เพราะมีการรณรงค์คัดค้านการเลือกตั้ง การไปเลือกตั้งสำหรับคนบางคนกลับกลายเป็นการแสดงความไม่รักชาติ บางคนก็ลังเลไม่รู้ว่าควรจะไปเลือกตั้งดีไหม เรียกว่าจะทำอะไรก็กลัวไปหมดจะไปเลือกก็กลัวกลายเป็นขี้ข้าทักษิณ จะไม่ไปเลือกก็กลัวจะกลายเป็นพวกไม่รักประชาธิปไตยแพ้แล้วพาล ซึ่งผมอยากบอกว่าอย่าให้มายาคติเหล่านี้มาทำให้เราสับสนครับ ผมมองว่าคนส่วนใหญ่ทั้งคนที่เห็นด้วยกับกปปส.และคนที่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งล้วนแล้วแต่เป็นคนที่รักชาติ เพียงแต่มีมุมมองหรือชุดความคิดต่อการแก้ปัญหาที่ต่างกันเท่านั้น ดังนั้นอย่ากลัวที่จะไปใช้สิทธิตามความเชื่อของเราครับ และคงต้องขอร้องโดยเฉพาะกกปส.ว่าอย่าไปขัดขวางคนที่เขาต้องการไปเลือกตั้งครับ เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ผมเชื่อว่ามันมีสิ่งที่จะได้ตามมาหลายอย่างครับ ไม่ใช่แค่ผลาญเงินสามพันล้านแล้วไม่ได้อะไร ลองมาดูกันครับ

ก่อนอื่นผมขอไม่พูดถึงคนที่ต้องการออกมาเลือกพรรคเพื่อไทยหรือพรรคอื่น ๆ นะครับอันนั้นก็เป็นสิทธิของพวกคุณครับ แต่ผมอยากจะพูดถึงคนที่ไม่เห็นด้วยกับเพื่อไทยแต่ก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการของกกปส. เพราะคนกลุ่มนี้แหละครับที่มีความสับสนมากว่าจะทำอะไรกันดี  และผมก็เป็นหนึ่งในนั้น ในส่วนตัวผมผมชัดเจนว่าผมไปโหวตโนแน่  ในตอนแรกผมคิดว่าเราน่าจะรณรงค์ให้คนที่ไม่ชอบเพื่อไทยซึ่งหมายรวมถึงกกปส.ด้วยให้ออกมาโหวตโนกัน ถ้ามวลมหาประชาชนมีจำนวนมากจริง ๆ เสียงโหวตโนจะต้องมากกว่าเสียงที่เพื่อไทยได้ ซึ่งตรงนี้ถึงแม้มันจะไม่มีผลทางนิติศาสตร์แต่ผมว่ามันมีผลทางรัฐศาสตร์นะครับ เพราะรัฐบาลจะไม่สามารถอ้างได้ว่าตัวเองเป็นเสียงข้างมากอีกแล้ว และน่าจะต้องรีบทำเรื่องปฏิรูปตามที่ประชาชนต้องการ

แต่คิดอีกทีจากการประมวลจากหลากหลายความคิดที่แสดงกันออกมาในช่วงนี้ ผมกลับมองใหม่ครับว่า กกปส.ไหน ๆ ก็รณรงค์กันมานานแล้ว ก็ให้ยึดกับแนวทางเดิมไปเลยคือไม่ต้องไปเลือกตั้งกัน แต่ก็อย่าไปขัดขวางคนที่เขาจะไปเลือกนะครับ เพราะถ้าปล่อยให้เป็นไปเป็นแบบนี้สิ่งที่จะได้มาก็คือถ้าจำนวนมวลมหาประชาชนเป็นคนส่วนมากของประเทศจริง ๆ เราจะต้องได้จำนวนคนที่ไม่ไปเลือกตั้งมากกว่าคนที่ไปเลือกตั้ง ซึ่งตรงนี้ผมว่ามันเหมือนเป็นการทำประชามติได้นะครับ ให้มองว่าเงินสามพันล้านที่เสียไปในการจัดการเลือกตั้งคราวนี้เป็นค่าใช้จ่ายการทำประชามติซะก็แล้วกัน ซึ่งถ้าเกิดขึ้นแบบนี้จริง ๆ กกปส.จะได้ความชอบธรรมมากขึ้นแน่นอนครับ ผมคนหนึ่งล่ะที่จะไม่บ่นในสิ่งที่กกปส.จะทำ เพราะถือว่าได้ฉันทามติแล้ว ผมมองว่าถ้าเป็นอย่างนี้กกปส.มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้พรรคที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาทำตามสิ่งที่ต้องการ เช่นยื่นเงื่อนไขว่าขอไม่ให้คุณยิ่งลักษณ์ หรือคนที่เกี่ยวข้องกับตระกูลชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี ลองเลือกสักคนจากสส.พรรคเพื่อไทย (ซึ่งก็น่าจะมีคนดีอยู่บ้างล่ะน่าหรือเอาที่คิดว่าเลวน้อยสุดก็ได้) เพราะรัฐธรรมนูญบอกว่านายกต้องมาจาก สส. จากนั้นนำเสนอบุคคลที่คิดว่าควรจะเป็นรัฐมนตรีเข้าไป จะตั้งสภาประชาชนขึ้นมา จะแก้กฏหมายก็ยิ่งง่ายเพราะตอนนี้มีสภานิติบัญญัติแล้ว

ในกรณีที่มวลมหาประชาชนไม่ได้เป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศจริงคือมีคนไปเลือกตั้งมากกว่าคนไม่ไปเลือก ก็ยังไม่เป็นไรเพราะผมมองว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีคนโหวตโนกันมาก อย่างน้อยคนที่เคยเลือกประชาธิปัตย์ก็น่าจะโหวตโนกันนะ ตรงนี้ถ้าจำนวนคนที่ไม่ไปเลือกกับคนโหวตโนมีจำนวนมากกว่าคะแนนเสียงที่เพื่อไทยได้ ผมว่ามันก็จะเข้ากรณีแรกคือมีผลทางรัฐศาสตร์ที่ทำให้รัฐบาลสำนึกตัวว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้เขาไม่เอาคุณนะ ดังนั้นรีบปฏิรูปตามที่สัญญาไว้ซะ และอย่าทำอะไรแบบนิรโทษสุดซอยอีก เพราะถ้าทำคราวนี้คนส่วนใหญ่ของประเทศออกมาจัดการคุณแน่ แต่ถ้าสุดท้ายคนที่เลือกเพื่อไทยยังคงมากกว่าเสียงของโหวตโนและโนโหวตก็คงต้องยอมรับ แต่ยังไงก็ตามผมยังเชื่อนะว่าเพื่อไทยก็จะไม่กล้าทำอะไรที่เลวร้ายมาก ๆ อย่างที่ผ่านมาอีกแน่

ถึงตรงนี้หลายคนอาจคิดว่าผมเป็นพวกโลกสวยรัฐบาลแบบนี้มันไม่ยอมทำอะไรแบบนี้หรอก ก็ไม่รู้สินะครับ ผมมองว่าไม่ว่าใครที่ได้รับเสียงที่เลือกเข้ามาน้อยกว่าเสียงที่ไม่เลือก เขาไม่น่าจะกล้าทำอะไรที่ขัดความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ และถ้าจะพูดเรื่องโลกสวยผมว่าคนในกกปส.นี่โลกสวยกว่าผมอีกนะ ที่คิดกันว่าการปฏิรูป (ที่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะทำอะไรบ้าง) ในช่วงประมาณปีครึ่ง จะแก้ปัญหาที่เกาะกินประเทศเรามาเป็นสิบ ๆ ปี อย่างเรื่องนักการเมืองด้อยคุณภาพ การทุจริตในทุกระดับได้ ไม่ใช่ผมไม่อยากได้นะอะไรแบบนี้ แต่ผมมองว่าประเทศเราผ่านการปฏิวัติกันมากันตั้งหลายครั้ง ทุกครั้งก็มีการร่างกติกาการปกครองประเทศขึ้นมาใหม่ ซึ่งแต่ละครั้งก็บอกว่านี่คือกติกาที่ดีที่สุดแล้ว จะแก้ปัญหาได้ แต่สุดท้ายเป็นยังไงครับ ขนาดรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ซึ่งแต่ก่อนก็ว่าดีนักดีหนา ก็ยังกันคนโกงไม่ได้ ผมว่าปัญหาแบบนี้มันจะต้องค่อย ๆ แก้กันไปให้มีการเรียนรู้กันไป ซึ่งผมมองว่าประเทศเราก็เดินหน้ามาเรื่อย ๆ นะ อย่างน้อยตอนหลังมานี้เราได้เห็นการแข่งขันกันด้านนโยบายมากขึ้น และมันทำให้คนได้เรียนรู้ว่านโยบายแบบไหนทีที่มันไม่ยั่งยืนและสร้างความเสียหาย อย่างเช่นนโยบายจำนำข้าวนี่ผมเชื่อว่าชาวนาหลายคนก็ได้เรียนรู้แล้วและเขาไม่น่าจะเลือกเพื่อไทยเข้ามาอีก

สุดท้ายผมก็อยากบอกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มาถึงขนาดนี้แล้วควรจะเดินหน้าต่อไป ไม่ว่าสุดท้ายมันจะเป็นโมฆะหรือไม่ อยากขออย่างเดียวว่าไม่ว่าจะคิดเห็นต่างกันอย่างไรก็อย่าไปละเมิดสิทธิของคนอื่น ผมเชื่อว่าเงินสามพันล้านที่เราใช้ลงไปกับการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ จะให้อะไรกลับมาครับนั่นคือมันจะเป็นตัวแสดงความเห็นของคนทั้งประเทศ

วันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อำนาจอยู่ในมือเราแล้วไปเลือกตั้งกันครับ

สวัสดีครับผมไม่ได้เขียนบล็อกมาซะนาน วันนี้ขอเขียนหน่อยเพราะอยากจะร่วมรณรงค์ให้ออกไปเลือกตั้งกันวันอาทิตย์ที่ 3 ก.ค. นี้ครับ จริง ๆ ผมก็ไม่ได้คิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะมาเปลี่ยนแปลงประเทศของเราให้มันดีขึ้นมาได้ทันตาเห็นหรอกนะครับ เพราะนักการเมืองที่ลงเลือกตั้งก็หน้าเดิม ๆ มีแนวคิดแบบเดิม ๆ ที่บอกว่าจะปรองดองกันก็ทำได้แต่ปากพูด เพราะเท่าที่เห็นหาเสียงกันอยู่ตอนนี้ก็มีแต่สาดโคลนใส่กัน เอาเรื่องที่ยังไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริงกล่าวหากันไปมา ฝ่ายหนึ่งก็กล่าวหาว่าอีกฝ่ายหนึ่งสั่งฆ่าคน อีกฝ่ายก็กล่าวหาว่าอีกฝ่ายเผาบ้านเผาเมืองทั้งที่ความจริงเป็นอย่างไรก็ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ชัดเจน ทำกันแบบนี้ประเทศชาติคงจะสงบได้หรอกเพราะประชาชนที่สนับสนุนแต่ละฝ่ายก็ออกมาตอบโต้กันไปมาสนับสนุนฝ่ายที่ตัวเชียร์อยู่ เขียนมาถึงตรงนี้หลายคนอาจถามว่าถ้าอย่างนั้นเราจะไปเลือกตั้งกันทำไม คำตอบคือการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการแสดงพลังอำนาจของประชาชนอย่างพวกเราที่ถูกปล้นไปโดยผู้คนหลายกลุ่ม (ถ้าใครลืมไปแล้วเดี๋ยวผมจะทวนให้ฟังต่อไป) และหวังว่ามันจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ประเทศเรากลับมาสู่ระบบอีกครั้งถ้าทุกฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้งตามที่บอกไว้ 

คราวนี้ผมจะทวนให้ฟังครับว่าอำนาจของเราถูกใครปล้นไปบ้าง เริ่มจากกลุ่มแรกเลยครับก็คือกลุ่มคนที่ใช้สีเหลืองเป็นสัญลักษณ์กับทหารที่ทำปฏิวัติเมื่อปี 2549 จริง ๆ ผมเคยคิดนะครับว่าการปฏิวัติสมัย รสช. คงจะเป็นครั้งสุดท้ายของประเทศแล้วไม่คิดว่าจะได้เห็นอีก จริง ๆ กลุ่มคนที่ใช้เสื้อเหลืองนี่ผมก็ไม่อยากจะเหมารวมไปทุกคนนะครับ เอาเป็นว่าขอเน้นไปที่แกนนำแล้วกัน แกนนำยุยงปลุกปั่นด้วยเรื่องจริงบ้างไม่จริงบ้างให้ประชาชนออกมารวมตัวกัน จนทหารมีข้ออ้างออกมาปฏิวัติ ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นเรากำลังจะมีการเลือกตั้งกันอยู่แล้ว ซึ่งคนเสื้อเหลืองและทหารไม่แน่ใจว่าถ้าปล่อยให้มีการเลือกตั้งแล้วพรรคที่ตัวเองต้องการจะได้มาบริหารประเทศหรือไม่ และที่น่าเศร้าที่สุดก็คือหลังจากการปฏิวัติแล้วก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ปัญหาที่มีอยู่ที่เป็นสาเหตุของการปฏิวัติก็ไม่ได้รับการแก้ไข สิ่งที่การปฏิวัติทิ้งไว้ให้เราคือความแตกแยก และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งอ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนยอมรับเพราะมีการลงมติ แต่การลงมติที่ว่านั้นอยู่ในบรรยากาศที่ว่าให้รับ ๆ ไปก่อนเพราะถ้าไม่รับคณะปฏิวัตินี้ก็จะยังคงปกครองประเทศเราอยู่ต่อไป และสุดท้ายเมื่อมีการเลือกตั้งพรรคการเมืองที่ทั้งเสื้อเหลืองและทหารไม่อยากให้เข้ามาก็ชนะได้เข้ามาอยู่ดี 

แต่เอาล่ะครับอย่างน้อยการเลือกตั้งครั้งนั้นก็ทำให้เราได้อำนาจคืนมาบ้าง แต่ก็ได้มาไม่นานส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะนักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาไม่รู้จักหลาบจำ ไปทำเรื่องที่เป็นเหตุให้คนเสื้อเหลืองหาเหตุระดมคนออกมาชุมนุมอีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์บางอย่างที่ผมคิดว่าถ้าประเทศเราอยู่ในสถานการณ์ปกติมันไม่น่าจะเกิดขึ้น เช่นการที่นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยต้องถูกปลดเพราะไปออกรายการทำกับข้าว พอเปลี่ยนนายกมาเป็นอีกคนหนึ่งก็ยังไม่ถูกใจคนเสื้อเหลือง ก็เลยทำการชุมนุมเลยเถิดสร้างความเดือดร้อนไปทั่วไปยึดทำเนียบรัฐบาลเป็นแรมเดือน จนถึงขั้นไปทำนากันอยู่ในนั้น และยังไปยึดสนามบินนานาชาติ ทำเอาเศรษฐกิจของชาติเสียหายไปมากมาย และที่น่าโมโหสำหรับผมก็คือคนเสื้อเหลืองอ้างอีกว่านี่คื่อเสียงของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งไม่มีที่มาที่ไปเพราะคนเสื้อเหลืองไม่ได้รับการเลือกตั้งมา ส่วนทหารก็ให้ความร่วมมือด้วยการอยู่เฉย ๆ ไม่่ิออกมาทำอะไรทั้งที่รัฐบาลมอบหมายหน้าที่ให้ แต่สุดท้ายรัฐบาลก็ต้องจากไปแต่ไม่ใช่เพราะคนเสืิ้อเหลืองแต่เป็นเพราะสาเหตุอื่น นั่นคือการถูกยุบพรรคของแกนนำรัฐบาล 

คราวนี้การเมืองก็พลิกขั้วมาเป็นอีกฝ่ายหนึ่งได้เข้ามาเป็นรัฐบาล ซึ่งโดยส่วนตัวผมก็พอจะทำใจรับได้ (ถึงแม้มันจะดูไม่โปร่งใสอยู่บ้าง) เพราะอย่างน้อยคนเหล่านั้นก็ยังได้รับเลือกตั้งเข้ามา เรียกว่ายังอยู่ในระบบ แต่อำนาจของเรากลับถูกโขมยไปอีกจากคนอีกกลุ่มหนึ่ง (ขอเน้นที่แกนนำเช่นกัน) ที่ใช้เสื้อสีแดง คนกลุ่มนี้ที่เคยด่าเสื้อเหลืองไว้ว่าทำอะไรไม่คิดทำให้ประเทศชาติเสียหายก็ทำซะเอง เริ่มตั้งแต่ไม่ได้สนใจว่าตัวเราเองเป็นเจ้าบ้านจัดการประชุมสำคัญระดับนานาชาติ ไปประท้วงจนเกิดความวุ่นวายจนแขกบ้านแขกเมืองต้องหนีขึ้นเรือออกไปกลางทะเลเพื่อไปขึ้นเครื่องบินกลับบ้านเป็นภาพที่อเนจอนาถเหลือเกิน หลังจากนั้นรัฐบาลใหม่ก็ไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้น ความพยายามที่จะลดความขัดแย้งก็ทำอย่างไม่จริงใจ จนในที่สุดคนกลุ่มนี้ก็กลับมาอีกครั้ง และก็ประท้วงมาเลยเถิดไปยึดแยกราชประสงค์จนเกิดความเสียหายไม่รู้เท่าไรต่อเท่าไร และในที่สุดมันก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดจนเป็นปัญหากันอยู่ตอนนี้ และเหมือนเดิมคนกลุ่มนี้ก็อ้างว่านี่คือความต้องการของคนส่วนใหญ่ของประเทศ นี่มันโขมยอำนาจของเราไปชัด ๆ นะครับ คนสองกลุ่มนี้เราไม่ได้เลือกเข้ามา (ถึงแม้ในแต่ละกลุ่มอาจมีส.ส.อยู่แต่ก็มีไม่กี่คน) 

ทั้งหมดก็คือการสรุปคร่าว ๆ ของกลุ่มคนที่มาเอาอำนาจที่อยู่ในมือเราออกไป ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้อำนาจได้กลับมาอยู่ในมือเราแล้ว ขอให้เราออกไปแสดงให้เขาเห็นครับว่าเราต้องการให้ประเทศเป็นไปอย่างไร ถึงแม้เราจะได้นักการเมืองหน้าเดิม ๆ กลับเข้ามา แต่ก็หวังว่าเขาจะทำตัวดีขึ้นและเราก็ติดตาม ถ้าเขายังทำตัวไม่ดีเราก็ใช้ช่องทางตามที่กฏหมายกำหนดเช่นการเข้าชื่อหรืออะไรก็ว่าไป ซึ่งฝ่ายค้านน่าจะมาชี้นำประชาชนในจุดนี้มากกว่าที่จะไปสนับสนุนคนที่ออกมาเคลื่อนไหวเข้าข้างฝ่ายตัวเองบนถนน (หวังว่าจะไม่มีอีก) และถ้ายังทำอะไรไม่ได้จริง ๆ (ผมคิดว่าถ้ามันแย่จริง ๆ หรือมีหลักฐานชัดมันน่าจะทำได้) เราก็รอให้ครบเทอมครับจนอำนาจกลับมาอยู่ในมือเราอีกครั้ง ทหารควรจะเอาคำว่าปฏิวัติทิ้งไปได้แล้ว ให้ระบบมันดำเนินไปได้อย่างถูกต้อง และผมเชื่ออย่างที่ผมเคยเขียนไปแล้วว่าถ้าเรายอมอยู่ในระบบจนคนดีมีความสามารถเขามีความมั่นใจเขาก็จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาของบ้านเมืองครับ 

สุดท้ายผมอยากบอกว่าประเทศเราโชคดีที่ยังไม่เป็นอย่างลิเบีย ซึ่งผมคิดว่าคนที่ออกมาประท้วงรัฐบาลตอนแรกอาจจะไม่ได้คิดว่าเหตุการณ์มันจะบานปลายมาถึงขนาดนี้ ถ้าเขารู้เขาอาจจะไม่ทำ ดังนั้นพวกเราโชคดีครับที่ยังมีโอกาส ออกไปเลือกตั้งกันครับและยอมรับผลการเลือกตั้ง ติดตามดูผลงานของคนที่เราเลือกและไม่ได้เลือกเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกตั้งครั้งหน้า และขอฝากนักการเมืองทั้งหลายให้เปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำงานโดยคิดถึงประเทศชาติเป็นหลัก เลิกสร้างความขัดแย้ง ทำงานให้สมกับที่ประชาชนไว้ใจเลือกเข้ามาเป็นตัวแทน ผมว่าถ้าเป็นได้อย่างนี้ประเทศเราจะเดินไปข้างหน้าได้โดยเริ่มจากการเลือกตั้งครั้งนี้ครับ