แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ การเมือง แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ การเมือง แสดงบทความทั้งหมด

วันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ทำไมประยุทธ์ถึงไม่ยอมขอโทษและเหมือนไม่รู้สึกอะไร

ศรัณย์วันศุกร์วันนี้ขอมาเรื่องเครียด ๆ สักหน่อยแล้วกันนะครับ เพราะสถานการณ์มันไม่ดีเลย นั่งดูโอลิมปิก ก็ยังรู้สีกเสียดายที่เมย์-รัชนก นักแบดมินตันตัวความหวังของเรา ก็พลาดไปเพียงนิดเดียว ก็รู้สึกเสียดายแทนเธอนะครับ แต่เธอทำดีที่สุดแล้วในวันนี้ ขอชมเชย เพียงแต่มันไม่ใช่วันของเธอเท่านั้นเอง 

กลับมาเข้าเรื่องที่อยากจะบันทึกไว้วันนี้ครับ คือวันนี้ได้คุยกับลูกชายคนเล็ก เขาก็ตั้งคำถามว่าทำไมประยุทธ์ถึงไม่ออกมาขอโทษ หรือยอมรับความผิดอะไรบ้าง ผู้นำประเทศอื่นหลายคนเขาก็ขอโทษ ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับลูกชายครับ เพราะจริง ๆ การขอโทษถ้าทำอย่างจริงใจ มันจะทำให้เราได้เห็นข้อผิดพลาดที่เราทำ และจะได้แก้ไขได้ แต่ถ้าไม่ขอโทษ คิดว่าไม่ได้ทำอะไรผิด มันก็จะดันทุรังทำแบบเดิมไป เพราะถ้าเปลี่ยนก็เท่ากับยอมรับ เหมือนที่อนุทินยังยืนยันไม่เข้า COVAX นั่นแหละ แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอะไร ก็บอกกับลูกไปว่า คนมีอีโก้สูงก็เป็นแบบนี้แหละ คิดว่าตัวเองดีตัวเองเก่ง รับความผิดไม่ได้ 

แต่พอผมลองกลับมานั่งนึกดู จากการกระทำของประยุทธ์ ความคิดและคำพูดของประยุทธ์ ที่ออกมาบอกว่าอัตราคนตายในประเทศของเราก็ต่ำกว่าประเทศอื่นตั้งหลายประเทศ และจากการที่ประยุทธ์มักจะเปรียบเทียบสถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้ว่าเป็นเหมือนสงคราม มันทำให้ผมได้มุมมองว่า ประยุทธ์น่าจะคิดแบบทหาร คือเวลารบทหารก็มักจะคิดว่ามันก็ต้องมีความสูญเสียบ้าง ตราบใดที่ยอดความสูญเสียมันยังอยู่ในเกณฑ์ที่พวกเขาตั้งไว้ ดังนั้นนี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าประยุทธ์อาจจะคิดอยู่บนฐานนี้ ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าผมคิดถูกหรือเปล่านะครับ แต่ถ้าคิดอย่างนี้จริง ก็อยากบอกว่าคิดใหม่เถอะ เราไม่ได้ทำสงครามอยู่ มันไม่ควรมีใครต้องเสียสละชีวิตเพื่อประเทศชาติ และนอกจากชีวิตแล้ว หลายคนต้องเสียงานเสียธุรกิจไปแบบอาจไม่ได้กลับคืนมาอีก  ลองคิดหาวิธีบริหารจัดการแบบไม่ใช่กำลังรบกับใครอยู่ดู นี่คือชีวิตของพลเรือนในความดูแลของคุณ

แต่ที่น่าเศร้าใจกว่าก็คือมีรัฐมนตรีช่วยกระทรวงที่ต้องดูแลสุขภาพประชาชน มาจากพรรคการเมือง เป็นนักการเมือง กลับใช้คำพูดประมาณว่า "อาจโชคร้ายบ้างที่อาจจะมีเสียชีวิตที่บ้าน" โดยไม่ได้คิดว่ามันเป็นเพราะการบริหารจัดการที่ยังมีข้อบกพร่องอยู่หรือเปล่า ไม่รู้เป็นอย่างนี้อยู่แล้ว หรืออยู่ใกล้ประยุทธ์นาน ๆ ก็เลยติดวิธีคิดแบบนี้มา น่าเศร้าจริง ๆ ...   

 

 


วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2563

การจะปฏิรูปองค์กรใด ๆ จำเป็นที่จะต้องด้อยค่าองค์กรด้วยหรือ

วันศุกร์นี้ขอพูดเรื่องหนัก ๆ สักวันแล้วกันนะครับ ต้องบอกก่อนว่าในสถานการณ์ปัจจุบันนี้ สิ่งที่ผมเห็นและก็รู้สึกดีส่วนหนึ่งก็คือการที่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ออกมาแสดงพลังให้เห็นว่ามีความอึดอัดคับข้องกับการบริหารงานของรัฐบาลและผู้หลักผู้ใหญ่บางคนที่กดพวกเขาไว้ ด้วยกฎระเบียบที่ล้าสมัย  และความไม่ยุติธรรมหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นที่เขามองเห็นจากมุมมองของเขา และการชุมนุมประท้วงก็ไม่ได้ยืดเยื้อ ปิดบ้านปิดเมือง แค่ต้องการแสดงพลังให้รัฐบาลนี้เห็นว่าเขาไม่พอใจ 

ตรงนี้ผมคิดว่าการแก้รัฐธรรมนูญน่าจะมีความเป็นไปได้ เพราะถ้าไม่มีพลังนี้ผมว่าพวก สว. จะไม่มีทางยอมให้มีการแก้รัฐธรรมนูญแน่ แต่ตอนนี้ผมว่ามีความหวังมากขึ้น ถ้ารัฐบาลเลิกไล่จับคน เลิกพูดว่ามีคนอยู่เบื้องหลังสักทีจะดีมาก รับฟังไป ถ้ามีโอกาสก็ชี้แจง และแสดงฝีมือให้เห็นซะทีว่าแก้ปัญหาได้ อยู่มาจะ 6-7 ปีแล้ว ผมถึงจะไม่ชอบยังไงก็ยังแอบเชียร์นะ เพราะบอกจริง ๆ ว่าถ้ามันตกลงไปมากกว่านี้ มันจะขึ้นมาได้ยากมาก อย่างเช่นคนเก่ง ๆ อย่างคลอปป์ก็ต้องใช้เวลาถึง 4 ปี กว่าจะพาลิเวอร์พูลกลับสู่ระดับที่เคยเป็นได้ (อ้าวเลี้ยวไปทีมรักจนได้ :) ) 

แต่ก็อยากฝากบอกว่าอย่ายกระดับการประท้วงจนไปถึงปิดบ้านปิดเมืองเลย ถ้าเขาหน้าด้านอยู่ต่อไปจริง ๆ โดยไม่สนใจ อีก 2 ปีกว่า ๆ ก็ได้เลือกตั้งกันแล้ว ลองทำตัวเคารพระบบ ตบหน้าพวกผู้ใหญ่บางคนที่ออกมาด่า ๆ อยู่ตอนนี้ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองปิดบ้านปิดเมือง เขาให้เลือกตั้งก็ไม่เลือกเพราะกลัวแพ้ จนทหารมายึดอำนาจ  และลากยาวมาถึงตอนนี้ จนพวกเด็ก ๆ อึดอัดต้องออกมาแสดงพลัง 

เขียนมาสามย่อหน้ายังไม่เข้าประเด็นที่จะเขียนวันนี้เลย ประเด็นของวันนี้คือ ถ้าเราต้องการปฏิรูปองค์กรใด ๆ จำเป็นไหมที่เราจะต้องด้อยค่าองค์กร ต้องเกลียดคนในองค์กร และปฏิเสธสิ่งดี ๆ ที่เป็นความจริงมีหลักฐานประจักษ์ที่องค์กรเคยทำมา องค์กรที่ยืนยาวมาเป็นร้อยปี มันจะไม่มีสิ่งดี ๆ ที่ทำให้กับประเทศบ้างเลยหรือ  และจำเป็นไหมที่เราจะต้องไปโจมตีคนที่แสดงความรักความเคารพคนในองค์กร โดยไปตีตราว่าเขาเป็นพวกล้าหลัง ไม่อยากปฏิรูปองค์กร ไม่แน่ว่าเขาอาจจะคิดว่าควรให้มีการปฏิรูปก็ได้ แต่เขารักคนคนนี้ เขาก็แสดงความรัก เหมือนที่เขาทำในทุก ๆ ปี การทำแบบนี้ ดีไม่ดีมันจะเป็นการผลักคนที่อาจเห็นด้วยให้กลายเป็นอีกฝั่งหนึ่ง ผมเคยพูดมาหลายครั้งแล้วว่าคนเราไม่ใช่คอมพิวเตอร์ที่โลกของมันมีแต่ 0 กับ 1 แต่คนเรานั้นมีหลากหลาย บางคนอาจอยากปฏิรูป แต่อาจเป็นคนละประเด็นกับที่มีคนเรียกร้อง บางคนอาจยังรักคนในองค์กร ยังระลึกถึงอดีตที่ดี ๆ (ในสายตาเขา) แต่ก็อาจเห็นด้วยว่ามันถึงเวลาต้องเปลี่ยนอะไรบางอย่างก็ได้

ส่วนตัวผมผมมองว่าทุกองค์กรถ้าถึงยุคปัจจุบันแล้วมีคนรู้สึกว่าไม่ตอบโจทย์ คนเหล่านั้นก็มีสิทธิที่จะพูดได้ แต่ก็ควรจะพูดถึงเฉพาะประเด็นที่คิดว่าเป็นปัญหา ไม่จำเป็นต้องไปทำให้องค์กรดูเลวร้าย อะไรที่เขาทำดีไว้ก็ไม่จำเป็นต้องไปปฏิเสธ เพราะผมมองว่าการที่ต้องปฏิรูปมันไม่เกี่ยวกับสิ่งดี ๆ ที่ทำมา ยกตัวอย่างเช่น ผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมหนึ่ง ในยุคหนึ่งเคยทำทีมได้แชมป์ แต่หลัง ๆ ระบบการเล่นล้าสมัย ทีมเริ่มตกต่ำ มันก็ไม่ผิดที่จะมีการพูดถึงการเปลี่ยนผู้จัดการทีม แต่การเปลี่ยนมีความจำเป็นไหมที่จะต้องไปพูดว่า ที่ทำทีมได้แชมป์ตอนนั้นมันฟลุ๊ก และคนที่ไม่อยากให้เปลี่ยนตัว ก็ไม่ควรจะอ้างแต่ว่าเขาเคยทำทีมได้แชมป์ ทั้งสองฝ่ายควรจะพูดคุยกันถกกันด้วยเหตุผล ไม่ไปก้าวล่วงอีกฝ่ายหนึ่ง และสุดท้ายแล้วมันอาจได้ข้อตกลงที่เห็นด้วยทั้งสองฝ่าย ดีต่อทีม และดีต่อตัวผู้จัดการทีมด้วย เช่นการดันผู้จัดการทีมขึ้นไปเป็นบอร์ดบริหารอาวุโส 

ขอปิดท้ายว่าสังคมประชาธิปไตยคือสังคมที่ยอมรับความเห็นต่าง และควรที่จะสามารถพูดคุยกันได้อย่างสร้างสรรค์ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ พูดคุยกันด้วยความเคารพต่อกัน ไม่ใช่เอะอะก็ "ไม่พอใจก็ออกจากประเทศไปสิ" "ออกจากมหาวิทยาลัยไปสิ" "อย่ามาแบมือขอเงินนะถ้าไปประท้วง" "พ่อแม่น่ะเป็นสลิ่ม เป็นไดโนเสาร์ ไม่เข้าใจอะไรหรอก" อะไรแบบนี้ ถ้าจะปฏิรูปอะไรก็ปฏิรูปเรื่องนี้ก่อนแล้วกัน ผมว่ามันสำคัญที่สุด ถ้าตรงนี้ปฏิรูปไม่ได้ ก็อย่าไปหวังเรื่องอื่น 

วันศุกร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2563

ศรัทธาเกิดจากผลงาน

วันศุกร์กลับมาอีกแล้วครับ และเป็นศุกร์ 13 ซะด้วย แต่ไม่ว่าจะศุกร์อะไรผมว่าช่วงนี้ประชาชนคงไม่ค่อยมีความสุขสักเท่าไหร่นะครับ ศุกร์นี้เห็นนายกออกมาพูดด้วยมุมความคิดเดิม ๆ ขอให้เชื่อใจรัฐบาล ขอให้ช่วยกัน ขออย่าด่าทุกเรื่อง ผมถามจริง ๆ เถอะครับ ถ้าคนเราทำดี แสดงให้เห็นว่าสามารถแก้ปัญหาได้ ยังไม่ต้องสำเร็จก็ได้ แต่แสดงให้เห็นว่ามาถูกทางแล้ว ใครมันจะออกมาด่าครับ อาจจะยกเว้นพวกอคติ หลับหูหลับตาด่าอย่างเดียว อย่างพวกเกลียดทักษิณ ซึ่งก็คงมีอย่างนั้นเช่นกันในฝั่งเกลียดประยุทธ์

แต่ตอนนี้หลายคนที่เขาออกมาพูดออกมาตำหนิ บางคนเคยเชียร์ด้วยซ้ำ เพราะเขาเห็นแล้วว่าสิ่งที่ทำอยู่มันแก้ปัญหาไม่ถูกทาง มันไม่เป็นระบบ มันมั่ว จะให้เขาทำยังไง ผมถามจริง ๆ เหอะ สมมติประชาชนหุบปาก ไม่โวยวายเรื่องฝุ่น เรื่องหน้ากาก ถามจริง ๆ เถอะว่าพวกท่านจะรู้สึกรู้สม จะออกมาแก้ปัญหากันหูตาเหลือกอย่างนี้จริง ๆ หรือ ขนาดประชาชนออกมาโวยวายตอนแรก ยังหาว่าเป็น Fake News เกิดจากการทำลายกันทางการเมือง ถึงตอนนี้พรรคพวกท่านบางคนยังคิดแบบนี้อยู่เลย

แล้วก็ไอ้แนวคิดว่าประชาชนต้องช่วยตัวเองด้วยนี่ ท่านคิดว่าประชาชนเขางอมืองอเท้าไม่ทำอะไรเลย รอท่านอย่างเดียวจริง ๆ หรือครับ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ผมว่าดีไม่ดีตายกันไปหลายคนแล้ว ประชาชนเขาช่วยตัวเองเท่าที่จะทำได้แล้วครับ แต่บางเรื่องมันก็เกินความสามารถของเขา เอาง่าย ๆ เรื่องหน้ากากเรื่องเจลล้างมือนี่ ผมว่าประชาชนก็ไม่ได้คิดจะรอแจกจากท่าน หลายคนเขาก็พร้อมจะซื้อ แต่เขาไม่รู้จะไปหาซื้อที่ไหน จะให้เขาเดินทางไปทั่วเมืองโดยไม่รู้ว่าจะซื้อได้หรือเปล่านี่มันใช่ไหมล่ะครับ ถ้าต้องทำเรื่องที่มันไม่ควรจะลำบากแบบนี้ด้วยความยากลำบาก มันก็สมควรไหมที่เขาจะตั้งคำถามว่า แล้วเราจะมีรัฐบาลไปทำไม ทางแก้ปัญหาหลายอย่างก็มาจากภาคประชาชน หรือพรรคที่เพิ่งถูกยุบไป อย่างเว็บไซต์แสดงจุดที่มีหน้ากากขายอะไรแบบนี้ หน่วยงานที่ควรจะเป็นตัวตั้งตัวตีในการทำเรื่องนี้อย่างกระทรวง DE ทำอะไรอยู่ครับ หรือกระทรวงนี้มีหน้าที่แค่ไปเที่ยวไล่ฟ้องคนที่ด่ารัฐบาล ยัดเยียดข้อหาสร้าง Fake News ตั้งแต่ไวรัสเริ่มระบาด พวกท่านทำอะไร ท่านคิดแต่ห่วงรายได้จากการท่องเที่ยว ท่านคิดแต่ห่วงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่ประเทศบางประเทศเขาเล็กกว่าเราอีก เขายังมีมาตรการที่เด็ดขาดกว่าในการคัดกรองคนเข้าประเทศ

ท่านขอความเชื่อใจและศรัทธา มาตั้งแต่ท่านยึดอำนาจ ท่านบริหารด้วยอำนาจพิเศษมากว่า 5 ปี ผมบอกเลยนะท่านทำลายความศรัทธามากกว่าสร้างความศรัทธา ผมคิดว่าตอนที่ท่านเข้ามาใหม่ ๆ คนคงคาดหวังกับท่านไว้มาก แต่ยิ่งอยู่ไปคนยิ่งเสื่อมศรัทธา และหลังจากเลือกตั้ง ท่านคิดว่าท่านชนะเลือกตั้ง ท่านคิดอย่างนี้จริง ๆ หรือครับ หรือท่านชอบหลอกตัวเอง พรรคที่สนับสนุนท่าน ไม่ใช่พรรคที่ชนะเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งนะครับ พรรคที่สนับสนุนท่านแพ้ แพ้พรรคที่ที่ท่านยึดอำนาจเขามานั่นแหละ แต่ด้วยกลไกต่าง ๆ ที่ท่านวางไว้ ท่านจึงได้เป็นนายก ถ้าไม่มีกลไกเหล่านี้ ท่านไม่ได้กลับมาเป็นนายกหรอก แต่เอาเถอะท่านก็มาตามกติกาที่ท่านร่างขึ้นมาเองละนะ แต่ท่านบริหารยังไงล่ะครับมันถึงได้เป็นแบบนี้ ท่านขอให้เชื่อใจมาแล้ว 5 ปี ซึ่งก็เห็นแล้วว่ามันไม่ได้เรื่อง ท่านยังจะขอให้เชื่อใจไปอีกกี่ปีหรือครับ 20 ปี ตามยุทธศาสตร์ชาติของท่านหรือครับ ถึงตอนนั้นคนไทยจะจนกันหมดประเทศ หรือตายกันหมดประเทศดีล่ะครับ

ผมขอยกตัวอย่างคนที่สร้างความศรัทธาให้เกิดสักคนหนึ่งก็แล้วกัน เจอร์เกน คลอปป์ครับ ผู้จัดการทีมทีมรักของผมลิเวอร์พูล ก่อนที่เจอร์เกน คลอปป์เข้ามา ลิเวอร์พูลอยู่ในสภาพยักษ์หลับ และดูเหมือนไม่มีใคร แม้แต่แฟนบางคนของทีมจะเชื่อว่ายักษ์ตัวนี้จะกลับมาผงาดได้อีกครั้ง เมื่อคลอปป์เข้ามา เขาบอกว่า เขาจะเปลี่ยนให้คนที่สงสัยไม่เชื่อมั่นกลับมาเป็นคนที่เชื่อมั่นในทีมให้ได้ From Doubters to Believers คือคำที่คลอปป์ใช้ ซึ่งก็คงไม่ต่างจากเพลง "ขอเธอจงเชื่อใจและศรัทธา" หรอก แต่ความแตกต่างคือคลอปป์ทำให้มันเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่แต่งเพลง  คลอปป์สร้างทีมตามแนวทาง ลิเวอร์พูลไม่ได้แชมป์อะไรเลยในช่วงสองสามปีแรกที่คลอปป์เข้ามา แต่สิ่งที่แฟน ๆ เห็น คือแนวทางการเล่นของทีม แฟน ๆ เห็นการพัฒนาของทีม ดังนั้นแฟน ๆ ก็กลับมาเชียร์มาศรัทธาและเชื่อมั่น คลอปป์ไม่เคยออกมาเรียกร้องว่าแฟน ๆ อย่ามาด่าเขานะ ขอให้เชื่อใจนะ แต่เขาแสดงให้เห็นด้วยผลงาน และสุดท้ายปีที่แล้วลิเวอร์พูลก็ได้แแชมป์ถ้วยใบใหญ่ที่สุดในยุโรป และเป็นรองแชมป์พรีเมียร์ลีกที่มีแต้มสูงสุดในประวติศาสตร์ ได้แชมป์โลก ได้รับการยกย่องว่าเป็นทีมฟุตบอลที่ดีที่สุดทีมหนึ่งในขณะนี้ และปีนี้กำลังจะเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีกด้วยผลงานที่ทิ้งคู่แข่งในลีกไปไกลมาก เห็นไหมล่ะครับว่าผลงานเท่านั้นเป็นตัวสร้างศรัทธา

พูดถึงลิเวอร์พูลก็อดกังวลไม่ได้ มันจะอะไรนักนะ กำลังจะเป็นแชมป์ลีกสูงสุดหนแรกในรอบ 30 ปี ก็มีไอ้ไวรัสบ้าบออะไรไม่รู้มาทำเรื่องจนต้องลุ้นว่าจะแข่งจนจบได้แชมป์หรือเปล่าซะอีก อ้าวเริ่มด้วยการเมือง ดันมาจบด้วยเรื่องบอลซะได้ เฮ้อ แสดงว่ามันกังวลอยู่ในจิตใต้สำนึกนะนี่...



วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ผมไม่เห็นด้วยกับการลงถนนประท้วง

วันศุกร์เวียนกลับมาอีกครั้งนะครับ สัปดาห์นี้มีเรื่องที่น่าสนใจอยู่หลายเรื่อง เลือกยากเหมือนกันครับว่าจะเขียนเรื่องอะไร ตอนแรกอยากเขียนถึงคุณสุเทพ วงศ์กำแหง นักร้องระดับตำนานของเมืองไทยที่เพิ่งเสียชีวิตไป แต่สุดท้ายตัดสินใจเขียนเรื่องการเมืองก่อนแล้วกัน ก่อนอื่นผมคิดว่าคนที่รู้จักผมทั้งทางส่วนตัวและโซเชียลจะรู้ว่าผมไม่ชอบพลเอกประยุทธ์เลย (จะเรียกคุณประยุทธ์ เดี๋ยวก็จะมีคนมาบอกว่าไม่สุภาพอีก)  ในความเห็นส่วนตัวนี่คือนายกที่แย่ที่สุดเท่าที่ผมติดตามการเมืองมา และที่มาในตอนแรกก็ยังมาจากการยึดอำนาจ และก็ทำทุกวิถีทางที่จะสืบทอดอำนาจต่อไป (ใครจะคิดว่าไม่จริง ก็ตามใจนะครับ) ที่น่ารำคาญที่สุดก็คือมักจะอ้างว่าเป็นบุญเป็นคุณเหลือเกินที่เขาเข้ามาเป็นนายก ประเทศมันจะล่มจมนะถ้าเขาไม่เข้ามา และก็ยังมีความหลงผิดว่าตัวเองนี่เป็นนายกที่เก่งที่สุด ทำอะไรก็ไม่เคยผิด โทษโน่นนี่นั่น อย่างเดียวที่ไม่โทษคือโทษตัวเอง แต่สุดท้ายเขาและพรรคพวกก็ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปได้ตามคาด และที่น่าเศร้าคือมีฝ่ายค้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นพรรคเพื่อไทยไม่ยอมร่วมโหวตด้วย และที่น่าเศร้ากว่าก็คือ รัฐมนตรีที่ได้ฉายาว่าสีเทา ก็ยังผ่านการอภิปราย  โดยพรรคที่อ้างนักอ้างหนาว่าเกลียดการทุจริต เกลียดคนไม่ดี ก็ออกเสียงไว้วางใจให้เขาด้วย พรรคนี้ยังไงก็ไม่สามารถสร้างความหวังอะไรได้เลยครับ

แต่ผมก็รู้สึกตื่นเต้นที่ได้เห็นพลังของเด็กนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ออกมารวมตัวกันส่งเสียงว่าจะทำอะไรก็เห็นหัวพวกเขาบ้าง แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่มนะครับ ที่ยังคิดว่าเด็กพวกนี้ถูกชักจูงออกมา เป็นพวกถูกล้างสมอง บางคนก็หาว่าเป็นพวกทักษิณไปซะอีก ทั้ง ๆ ที่เด็กพวกนี้ไม่น่าจะทันยุคทักษิณด้วยซ้ำ และถ้าจะถูกล้างสมอง เด็กพวกนี้น่าจะถูกล้างสมองจากพวกพ่อแม่ที่มียังผีทักษิณฝังอยู่ในหัวมากกว่า คนที่ให้ความเห็นแบบนี้ส่วนใหญ่ก็พวกที่ประท้วง เขาให้เลือกตั้งก็ไม่ไปเลือก จนพลเอกประยุทธ์เข้ามายึดอำนาจ แล้วลากยาวมาจนถึงทุกวันนี้แหละครับ คนพวกนี้คงคิดว่ามีแต่พวกตัวเองที่ฉลาดซะเหลือเกิน รู้เท่าทันทักษิณและพวก ออกมาด้วยความรักชาติ แต่คนอื่นที่ออกมาเป็นพวกรับจ้าง โง่ ถูกล้างสมอง ถูกพวกล้มเจ้าหลอก น่าแปลกครับที่คนพวกนี้สามารถเข้าใจกลโกงอันแยบยลของทักษิณได้ทุกประการ แต่กลับมองไม่เห็นการกระทำที่มันเข้าใจง่ายกว่าอีกมากมายที่เกิดขึ้นมาตลอดในช่วง 5-6 ปีมานี้ คนพวกนี้มักจะอ้างว่าที่ออกมาไล่ยิ่งลักษณ์ เพราะโกง ออกพรบ.นิรโทษกรรมจะเอาทักษิณกลับบ้าน แล้วก็หยุดแค่นี้ โดยไม่ได้พูดถึงเหตุการณ์ต่อมาว่า ยิ่งลักษณ์ได้ยุบสภาให้ไปเลือกตั้งกันแล้ว  ตัวยิ่งลักษณ์เองก็ถูกสั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ไปแล้ว แต่คนพวกนี้ก็ยังไม่หยุด ไปพยายามป่วนทุกวิถีทาง จนการเลือกตั้งมันเป็นโมฆะ ทั้ง ๆ ที่ บอกว่าตัวเองเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ดันกลัวเลือกตั้งแล้วแพ้ ถึงตอนนี้พอเด็ก ๆ ออกมาแสดงพลังกันบ้างก็ไปด่าว่าพวกเขา

ยังไงก็ตามครับ ถึงผมจะดีใจที่ได้เห็นพลังของเด็ก ๆ แต่ผมอยากให้แค่แสดงพลังแบบนี้ก็พอแล้วครับ แสดงพลังกันในสถานที่ปิดแบบนี้ เอาให้แค่พอบอกพวกมีอำนาจว่าเห็นหัวพวกเราบ้าง อย่าเพิ่งลงถนนกัน เหตุผลที่ผมไม่อยากให้ลุกลามบานปลายไปจนถึงต้องลงถนนไล่กันก็คือ ความผิดพลาดของรัฐบาลนี้มันก็ยังไม่ชัดเจนพอที่จะไล่นะครับ ถึงแม้จะเป็นรัฐบาลที่ค่อนข้างด้อยประสิทธิภาพในแทบทุกด้านก็ตาม แต่มันก็คงไม่ใช่เหตุผลที่เราจะต้องไปขับไล่เขาอย่างเอาเป็นเอาตายนะครับ ในประเทศที่เจริญแล้ว เขาไล่รัฐบาลห่วย ๆ ด้วยการไม่เลือกเข้ามาอีกในครั้งต่อไปนะครับ อีกอย่างที่เราว่าเขาว่าเป็นเผด็จการ ในตอนนี้ถึงเราจะรู้สึกว่ามันเป็น แต่ก็ต้องยอมรับว่าเขามาในระบบ ถึงจะเป็นระบบที่เขาออกแบบมาเอง และคนคุมกฎ (กกต.) ก็เป็นคนที่เขาคัดสรรมากับมือก็ตาม ดังนั้นออกมาแสดงพลังให้เขาแก้กฎให้มันยุติธรรมดีกว่าครับ แล้วก็ให้แก้กฎหมายในส่วนของการยุบพรรคโดยคนเก้าคน (ซึ่งบางคนนั่งยุบพรรคมานี่น่าจะเป็นพรรคที่สี่หรือห้าแล้ว) หรือไม่ก็ผลักดันให้ยกเลิกคนเก้าคนนี้ไปเลยก็ได้นะครับ รวมถึงคนคุมกฎด้วย

รัฐธรรมนูญที่ใช้กันอยู่ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่ามีคนส่วนใหญ่รับมัน ถึงแม้ในช่วงโหวตมันจะดูไม่ยุติธรรม เพราะมีการปิดปากไม่ให้วิจารณ์ข้อเสียของรัฐธรรมนูญนี้ แต่ข้อดีพูดได้หมด คนพูดว่าไม่รับออกสื่อนี่สุ่มเสี่ยงจะถูกจับไปปรับทัศนคติ ส่วนคนบอกว่ารับนี่พูดได้ตามสบาย นอกจากไม่ให้พูดแล้ว ยังส่งร่างไปให้คนรับไม่ทั่วถึงอีก และร่างฉบับสรุปก็ดูจะเอนเอียงไปแต่ข้อดีของรัฐธรรมนูญ พูดง่าย ๆ หลายคนโหวตรับไปโดยไม่ได้อ่าน หรืออ่านแล้วไม่เข้าใจ มันจึงเกิดปรากฎการณ์ที่มีหลายคนเพิ่งรู้ว่าตัวเองโหวตรับอะไรแบบนี้ไปได้ยังไง แต่ยังไงก็ตามเสียงรับมันก็มากกว่าไม่รับ และทุกพรรคการเมืองก็ยอมลงเลือกตั้งกันตามกติกานี้ อ้อพูดถึงรัฐธรรมนูญมีคนชมนักชมหนาว่าปราบโกง คนโกงย้ายค่ายก็ยังลอยหน้าลอยตาอยู่ได้นะ หรือแค่ย้ายค่ายก็ไม่โกงแล้ว

อีกอย่างที่พลเอกประยุทธ์ได้เป็นนายก ส่วนหนึ่งก็คงต้องบอกว่าเพราะพวกนักการเมืองด้วยนะครับ พวกนักการเมืองของพรรคที่ตอนหาเสียงบอกไม่เอาแล้วเปลี่ยนไปเข้าข้างสนับสนุนนี่แหละตัวดี อย่าลืมว่าถ้าไม่มีพรรคเหล่านี้ทำตรงข้ามกับที่หาเสียงเอาไว้ ต่อให้มีสว. 250 คน พลเอกประยุทธ์เต็มที่ก็เป็นนายกที่เป็นเสียงข้างน้อย นอกจากนี้ยังมีพวกสส.ปัดเศษทั้งหลายอีก คนพวกนี้ทำให้พลเอกประยุทธ์ถึงกับหลงตัวเองและเอาไปอ้างว่าเขาชนะเลือกตั้งโดยได้คะแนนเสียงเยอะกว่า เขาไม่ต้องใช้สว.ที่เขาตั้งมาเองก็ได้ ผมอยากให้จำคนและพรรคเหล่านี้ไว้ครับ ถ้าได้เลือกตั้งกันครั้งหน้า ช่วยกันตอบแทนให้มันสาสมเลยนะครับ

ถ้าถามว่าแล้วถ้าไม่ลงถนนแล้วจะต้องทนไปอย่างนี้หรือ ผมคงต้องตอบว่าใช่ครับ เพราะนี่คือระบอบประชาธิปไตย เราต้องรู้จักอดทนครับ อีกเต็มที่ 4 ปี เราก็จะได้เลือกตั้งใหม่ อย่าทำตัวแบบที่พวกกลัวแพ้เลือกตั้งทำมาจนทำประเทศไม่เดินหน้ามา 6-7 ปีกันเลยครับ อีกอย่างจากการติดตามการอภิปรายในสภาผมเห็นว่าคนที่ได้ทำหน้าที่อภิปรายจากพรรคที่มีคนเลือก 6.3 ล้าน และถูกยุบไปแล้ว ทำหน้าที่ได้ค่อนข้างดีนะครับ ถ้าไม่เปลี่ยนอุดมการณ์ซะก่อนก็น่าจะพอฝากความหวังได้

ส่วนเพื่อไทยจากเหตุการณ์ที่มีการออกมาแฉการทำหน้าที่ของเพื่อไทย ถ้าเป็นจริงก็ถือว่าไม่เคยเรียนรู้อะไรเลย ได้อำนาจมากี่ครั้งก็ทำตัวเองพังทุกครั้ง มาครั้งนี้เป็นฝ่ายค้านก็ยังไม่จริงใจกับการทำหน้าที่ แล้วมันก็ทำให้ตัวเลือกในครั้งหน้ามีน้อยลงไปอีก แต่ก็อย่างว่านะพรรคนี้เอาจริง ๆ มันก็ไม่ต่างจากประชาธิปัตย์ คือฝากความหวังอะไรไว้ไม่ได้เลย

กลับมาถึงการแสดงออกของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ผมหวังว่าพลังการแสดงออกครั้งนี้ น่าจะทำให้พวกที่มีอำนาจอยู่นี้ได้รู้สึกบ้าง และจงพยายามทำความเข้าใจซะด้วยว่า ที่เขาออกมาชุมนุมนี่มันไม่ใช่เพราะพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบอย่างเดียว แต่มันสะสมมา การยุบอนาคตใหม่อาจเป็นเพียงฟางเส้นสุดท้าย เขาเห็นว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมันมีความไม่ยุติธรรม แทบจะทุกขั้นตอน ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง ดังนั้นลองตั้งสติรับฟัง แล้วแก้กติกาการเลือกตั้งให้มันยุติธรรม ให้มันเป็นสากลเหมือนประเทศอื่นในโลก แก้กฎหมายเรื่องยุบพรรค หา กกต.ที่เป็นกลางจริง ๆ หาวิธีสรรหาตลก.ศาลรัฐธรรมนูญใหม่ หรือไม่ก็ยกเลิกมันไปเลย เวลามีปัญหาเรื่องต้องการตีความรัฐธรรมนูญ ก็คัดเลือกบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญจากหลายสาขามาถกกัน อย่างกรณียุบอนาคตใหม่นี่ ลองคิดดูเถอะเรื่องเดียวกัน แต่ตีความกันไปได้ไกลคนละทาง ผมว่ากฎหมายแบบนี้มันมีปัญหานะ และถ้ามันกว้างขวางแบบนี้ มันต้องใช้นักบัญชี นักกฎหมายมหาชน  และอื่น ๆ มาช่วยกันถกไหม กรณียุบพรรคและตัดสิทธินี่มันเปรียบได้กับกฎหมายตัดหัวเจ็ดชั่วโคตรเลยนะ พวกตุลาการศาลแต่ละคนนี่รู้และเข้าใจทุกเรื่องจริง ๆ หรือเปล่า นอกจากนี้ยังมีพวกกสทช. ที่คอยปิดหูปิดตาประชาชนอีก พวกนี้ก็น่าจะสรรหาใหม่ หรือไม่ต้องมีมันไปเลยดีไหม

ถ้าแก้ประเด็นที่เป็นปัญหาแล้วแล้วก็ยุบสภาไปเลือกตั้งกัน ไม่ต้องแก้ประเด็นอื่นที่คิดว่ามันจะช่วยปราบโกงก็ได้ (เขียนตรงนี้ก็อยากอ้วกออกมา รัฐธรรมนูญปราบโกง คนโกงก็ยังอยู่เหมือนเดิม ไม่เห็นจะทำอะไรมั)  ผมอยากบอกถึงคนที่ไม่อยากแก้เพราะชอบอ้างว่ามันเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกงว่า ถ้ากติกาที่จะคัดคนเข้ามาในระบบมันยังไม่เที่ยงตรงมีปัญหาสารพัดอย่างแล้ว คือมันโกงมาตั้งแต่แรกแล้ว มันจะไปปราบโกงอะไรได้

สุดท้ายถึงแม้ถ้าก่อนเลือกตั้งยังแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ พวกเราก็รู้แล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มันเป็นยังไง กติกามันเป็นยังไง จะเลือกยังไงเพื่อไม่เปิดโอกาสให้พลเอกประยุทธ์กับพวกกลับมาอีกง่าย ๆ พรรคไหนที่บอกจะเอาพลเอกประยุทธ์เป็นนายกก็อย่าไปเลือก พรรคที่ทำตัวเป็นอีแอบตอนเลือกตั้งพูดอย่าง หลังเลือกตั้งทำอีกอย่างตอนนี้เราก็รู้แล้วก็อย่าเลือก แต่พูดถึงตรงนี้ก็ว้าเหว่นะครับ เพราะตัวเลือกมันเหลือน้อยจริง ๆ นะครับ เพื่อไทยก็ยังฝากความหวังไม่ได้เหมือนเดิม ก็คงต้องดูพรรคกล้า (ซึ่งผมก็ไม่ค่อยเชื่อว่าจะดี) พรรคที่อนาคตใหม่เดิมจะตั้งขึ้น ก็ไม่รู้จะเจอวิบากกรรมอะไรอีก และประสบการณ์ก็น้อยมาก ๆ หรือพรรคอ.วันนอร์ (ซึ่งก็ดูจะเป็นพรรคในเชิงพื้นที่ซะมากกว่า) พรรคของเสรีก็จะฮาร์ดคอร์อย่างเดียว แต่ถึงตอนนั้นอาจจะมีพรรคที่โดดเด่นขึ้นมาก็ได้ครับ ต้องตั้งความหวังกัน

แต่ถ้าเลือกตั้งแล้วยังได้คนเดิมกลับเข้ามาก็คงต้องยอมรับและทำใจครับ เพราะมันอาจไม่มีตัวเลือกจริง ๆ หรืออาจเกิดจากการที่รัฐบาลนี้บริหารประเทศได้ดีขึ้นจริง ๆ ซึ่งเราควรจะเอาใจช่วยเขานะครับ เพราะถ้าเขายังคงทำได้แค่นี้อยู่ เราจะตายกันหมดประเทศจริง ๆ ในระบอบประชาธิปไตยเราไม่สามารถจะยอมรับเฉพาะตอนที่เราชนะได้ แต่ต้องยอมรับตอนที่เราแพ้ด้วย ประเทศเราที่มาถึงจุดนี้ เพราะคนที่ชนะเหลิงอำนาจ และคนที่แพ้ซ้ำซากหาทางเอาชนะในระบบไม่ได้ เลยหาวิธีลัดจนประเทศเดินมาถึงจุดนี้นี่แหละครับ

วันศุกร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

มุมมองส่วนตัวหลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ

วันศุกร์นี้มีข่าวใหญ่อีกแล้วครับ สำหรับศุกร์นี้คือการตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งบอกตามตรงมันไม่ผิดจากความคาดหมายของผมหรอกนะครับ ถ้าเป็นเมื่อก่อนผมอาจจะแสดงความเห็นบ้าง เพราะมันไม่ได้มีกฎหมายห้ามแตะศาลรัฐธรรมนูญเหมือนปัจจุบันนี้ ถึงแม้เขาจะบอกว่าวิจารณ์อย่างสุจริตได้ แต่บอกตามตรงผมไม่ไว้ใจกับการตีความของผู้คนในประเทศนี้ครับ ตราบใดที่คนหลายคนโดยเฉพาะพวกที่มีอำนาจอยู่ในมือ ยังแยกความแตกต่างระหว่างไม่เห็นด้วยกับคำตัดสิน กับไม่ยอมรับคำตัดสินไม่ได้ สามารถลากเอาการวิจารณ์รัฐบาล วิจารณ์ผู้นำกองทัพ ว่าเป็นพวกชังชาติ พวกหนักแผ่นดิน  หรือการเสนอให้ยกเลิกการเกณฑ์ทหารเปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ เป็นการจะไม่ให้มีกองทัพ มันก็ยากที่จะพูดคุยกันต่อไป

ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดที่จะอยู่ในประเทศนี้ในยุคนี้ น่าจะเป็นพยายามอยู่ด้วยตัวเองให้ได้ หุบปาก ก้มหน้าก้มตาทำงานไป อ้ออาจแลกเงินเป็นสกุลต่างประเทศที่มีความมั่นคงไว้ด้วยก็คงดีนะครับ เพราะหลังจากก้มหน้าก้มตาทำงานไป ไม่สนใจอะไรพวกนี้แล้วเพราะมันสิ้นหวัง ถ้าเงยหน้ามาอีกทีเงินเรามีค่าเป็นกระดาษไปแล้ว เราจะได้ไม่ลำบากมาก หรือถ้าใครอายุยังน้อยอยู่ ยังมีเรี่ยวมีแรง และรู้สึกทนไม่ไหวลองย้ายไปอยู่ต่างประเทศสักพักก็ได้ครับ เก็บเงินจนคิดว่าจะกลับมาอยู่ประเทศนี้ได้โดยไม่เดือดร้อนไม่ว่ารัฐบาลมันจะเป็นยังไงค่อยกลับมาก็ได้ครับ

คราวนี้ผมอยากเสนอมุมมองส่วนตัวหลังจากกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ครับ

1. ที่ผมเป็นห่วงคือคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะพวกที่เคยไปเลือกตั้งครั้งแรก และคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เลือกอนาคตใหม่ คนกลุ่มนี้อาจหันหลังให้การเมืองไปเลยก็ได้ เพราะเขาอาจไม่เข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ทำไมพรรคที่เขาเลือกโดนกระทำอยู่ฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งทำอะไรก็ดูเหมือนจะมีข้อยกเว้นเต็มไปหมด

2. ผมยังยืนยันว่ากฎหมายยุบพรรคนี่เป็นเรื่องแย่มาก บางคนอาจคิดว่ามันเป็นยาแรง เพราะคนจะได้ไม่ทำผิด  แต่ผมกลับมองว่ามันเหมือนพ่อไปค้ายา ลูกเมียไม่รู้เรื่อง แต่แทนที่จะตัดสินให้พ่อติดคุกคนเดียว แต่ดันตัดสินให้ทุกคนในบ้านติดคุกไปด้วย กรณีนี้ถ้ากรรมการบริหารทำผิดก็ลงโทษกรรมการไป หรือจริง ๆ ถ้าจะยุบพรรคมันก็ต้องเป็นคดีที่ร้ายแรงจริง ๆ อย่างพยายามล้มล้างการปกครอง ไอ้พรรคที่แพ้เลือกตั้งซ้ำซาก แล้วลากคนไปลงถนน ขัดขวางการเลือกตั้ง จนทหารเข้ามายึดอำนาจ แบบนั้นน่าจะโดนยุบมากกว่า

3. อนาคตการเมืองไทยต่อจากนี้น่าจะว้าเหว่ครับ เรามีนักการเมืองที่มีความคิดแบบเก่า ๆ ทำการเมืองแบบเก่า ๆ อยู่เต็มสภาไปหมด คุณภาพของสส.พลังประชารัฐก็เห็นกันอยู่ คนที่อยู่เพื่อไทยที่ด่า ๆ กันพลังประชารัฐก็อ้าแขนรับ แถมยังไม่ได้มีความคิดที่จะศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย หันไปดูเพื่อไทยก็เศร้าครับ นักการเมืองรุ่นเก่า ๆ ความคิดเก่า ๆ แทบทั้งนั้น คนที่มีประวัติไม่ดีก็ยังมีอยู่เยอะ ประชาธิปัตย์ไม่ต้องพูดถึง เมื่อก่อนก็แย่อยู่แล้ว ตอนนี้ยิ่งแย่หนักเข้าไปอีก ส่วนพรรคกล้าที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ บอกตามตรงไม่ศรัทธาครับ ส่วนตัวคิดว่ากรณ์ก็ไม่ต่างอะไรกับอภิสิทธิ์ ยิ่งมีอรรถวิชด้วย บอกตามตรงยิ่งสิ้นหวัง ก็ขอให้คิดผิดแล้วกัน ส่วนพรรคอื่นไม่อยากพูดถึงครับ อย่างภูมิใจไทยพอให้จับงานใหญ่ก็ไม่ได้แสดงความมีประสิทธิภาพอะไร ยิ่งชาติไทยพัฒนาอะไรนี่พรรคตัวประกอบคอยเสียบเข้ากับฝ่ายชนะ ที่พูดนี่ก็ไม่ได้หมายความว่าพรรคอนาคตใหม่จะดีเลิศอะไรนะครับ พรรคนี้ก็มีจุดอ่อนอยู่เยอะ แต่ก็ดูพอที่จะเป็นทางเลือกได้ ถ้าให้โอกาสเขาได้ทำงานการเมืองสักพัก

4. อ.ปิยบุตรในช่วงถูกตัดสิทธิ์นี่ ถ้าจะกลับไปสอนหนังสือนี่คงต้องไปสอนต่างประเทศครับ เพราะหลักกฎหมายที่อ.เอามาพูดเอามาโต้แย้งมันดูจะไม่เข้ากับกฎหมายไทยนะครับ ประเทศนี้คงต้องให้อย่างวิษณุ หรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนสอน

5. อย่าได้คาดหวังว่าการตัดสินวันนี้จะเป็นบรรทัดฐานให้มีการยุบพรรคอื่น ๆ ที่มีกรณีการกู้เงินเหมือนกันนะครับ เพราะคุณจะได้รับคำวินิจฉัย (ที่คุณห้ามแตะต้อง) ว่ามันไม่เหมือนกัน ดูกรณีเสียบบัตรแทนกันที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างก็ได้ครับ

6. รัฐบาลนี้ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบก็คงอยู่ไปอีกนานละครับ ยิ่งฝ่ายค้านเหลือเสียงน้อยลงแบบนี้ และพรรคเพื่อไทยไม่น่าจะเป็นฝ่ายค้านที่เข้มแข็งอะไร ผมไม่เห็นด้วยที่จะไปลงถนนกันอีกแล้วนะครับ ก็หวังว่าเราจะได้ให้ระบอบประชาธิปไตยมันทำงานของมัน ถ้ารัฐบาลมันห่วยจริง ผมก็หวังว่าประชาชนจะเห็น และคงคิดได้ระหว่างกลัวแต่ทักษิณจะกลับมา กับประเทศดิ่งลงเหวเราจะเลือกอะไร

7. สุดท้ายผมอยากให้เราเอาใจช่วยรัฐบาลให้ประคองตัวให้ผ่านปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาไวรัส ปัญหาฝุ่น และปัญหาอื่น ๆ แบบไม่บอบช้ำเกินไปนะครับ ช่วยกันภาวนาให้มีคนในรัฐบาลนี้มีคนที่มีความคิดดี ๆ ก้าวหน้าในการแก้ปัญหาประเทศชาติกันบ้าง เพราะยังไงนี่มันก็ประเทศของเรา และถ้ามันเกิดอะไรขึ้นมันก็กระทบกับเราซึ่งไม่ใช่คนรวย 0.01% ของประเทศนี้แน่ เพราะถ้ามันแย่มาก ๆ ต่อให้สุดท้ายได้คนเก่ง ๆ เข้ามา มันอาจจะสายเกินแก้ หรืออาจต้องใช้เวลาเหมือนกับทีมรักของผมคือลิเวอร์พูล ซึ่งแม้จะได้คนเก่งสุด ๆ อย่างเจอร์เกน คลอปป์มา ก็ต้องใช้เวลาตั้ง 4 ปี กว่าจะกลับมาเป็นเหมือนตอนนี้









วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

อธิบายปัญหาการคำนวณสส.บัญชีรายชื่อ

วันนี้พอมีเวลานิดหน่อยเลยอยากจะมาพูดถึงปัญหาการเมืองที่เป็นอยู่ตอนนี้ จริง ๆ ปัญหานี้เป็นมานานแล้ว และเพิ่งได้ข้อสรุปชัดเจนเมื่อวานนี้ นั่นคือการคำนวณสส.แบบบัญชีรายชื่อ คือผมจะมาสรุปประเด็นว่าเราเถียงเรื่องอะไรกันอยู่ เพราะจากการคุยกับคนใกล้วตัวก็ดูเหมือนยังไม่เข้าใจชัดเจนนัก

เริ่มจากระบบเลือกตั้งครั้งนี้ เรายังมีสส.ที่เลือกตั้งจากเขต และสส.แบบบัญชีรายชื่อเหมือนที่ผ่านมา เพียงแต่คราวนี้เราใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียวเลือกสส.ทั้งสองแบบ โดยกระบวนการคือเขาจะเอาคะแนนเลือกตั้งทั้งหมดที่แต่ละพรรคได้ไปหาสิ่งที่เรียกว่าสส.พึงมี จากนั้นก็มาดูรายเขตว่าใครชนะรายเขตบ้าง จากนั้นจึงไปหาจำนวนสส.บัญชีรายชื่อ โดยเอาสส.พึงมี-สส.เขต  เช่นสมมติพรรค A มีสส.พึงมี 130 คน และถ้านับรายเขตแล้วชนะมา 120 เขต พรรค A ก็จะได้สส.บัญชีรายชื่อ 130-120 ก็คือ 10 คน

วิธีการคำนวนสส.พึงมีก็คือ เริ่มจากหาก่อนว่าจากผู้ที่มาลงคะแนนทั้งหมดและหักบัตรเสียกับบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนนไปแล้ว กี่คะแนนจึงจะได้สส. 1 คน ผมจะสมมติเลขกลม ๆ ว่าเลขนี้คือ 35,000,000 คราวนี้เรากำหนดให้ในสภาเรามีสส. ได้ 500 คน ดังนั้นเอา 35,000,000 / 500 =  70,000 นั่นคือ 70,000 คะแนนได้สส.หนึ่งคน ดูเลขนี้ไว้ให้ดีนะครับ โดย 500 คนนี้จะแบ่งเป็นสส.เขต 350 คน และบัญชีรายชื่อ 150 คน

ขั้นต่อไปคือเอาคะแนนที่ได้ทั้งหมดที่แต่ละพรรคได้มาหารด้วย 70,000 ก็จะได้สส.พึงมีของพรรคนั้น เช่นพรรค A ได้รับเลือกตั้งมา 7,000,000 คะแนน ก็เอา 7,000,000/70,000 = 100 นั่นคือสส.พึงมีของพรรค A คือ 100 คราวนี้สมมติพรรค A ชนะการเลือกตั้งแบบเขตมา 80 เขต ก็จะได้สส.บัญชีรายชื่ออีก 20 คน รวมเป็น 100 คน ซึ่งวิธีการนี้จะไม่เป็นปัญหาเลยถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ที่เขาเรียกว่าโอเวอร์แฮงค์ คือ พรรคการเมืองบางพรรคดันได้สส.เขตเกินจำนวนสส.พึงมี เช่นพรรค A จากตัวอย่างนี้ดันได้สส.เขต 110 คน ซึ่งเราไม่มีสิทธิไปตัดคะแนนสส.เขตของพรรค A นะครับ นั่นคือพรรค A จะต้องมีสส.เขต 110 คน โดยไม่มีสส.บัญชีรายชื่อ แต่จำนวนสส.ที่เกินพึงมีมาของพรรค A มันจะไปโป่งอยู่ในส่วนของสส.บัญชีรายชื่อครับ และนี่คือที่มาของปัญหาว่าเราต้องเกลี่ยมันให้เหลือ 150 เท่าเดิม ยังงงใช่ไหมครับมาดูตัวอย่างกัน

พิจารณาตารางนี้ครับ

พรรคสส.พึงมีสส.เขตสส.บัญชีรายชื่อ
A1701800
B13011020
C1103080
D902961
E010
F000
G000
Total500350161

จากตารางจะเห็นว่า พรรค A มีสส.เขตเกิน สส.พึงมีอยู่ 10 คน พรรค E,F,G  แต่ละพรรคมีจำนวนคะแนนรวมไม่ถึง 70,0000 ดังนั้นไม่มีสส.พึงมีเลยคือ 0 แต่สมมติว่าพรค E ชนะการเลือกตั้ง 1 เขต ดังนั้นเขาต้องได้สส. 1 คนจากเขตนี้ ดังนั้นจำนวนสส.ที่เกินมาทั้งหมด 11 คน (10 จากพรรค A และ 1 จากพรรค E) จะไปโป่งอยู่ในส่วนบัญชีรายชื่อ ซึ่งทำให้บัญชีรายชื่อที่ควรมี 150 คน กลายเป็น 161 คน ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำต่อไปคือต้องเกลี่ย 161 นี้ให้เหลือ 150 โดยพรรค A และ E ไม่เกี่ยวแล้ว เพราะได้เกินไปแล้ว และการเกลี่ยนี่แหละคือปัญหาครับ

ในมุมมองหนึ่งคือการเกลี่ยควรจะเกลี่ยจากพรรค B,C, และ D เท่านั้น เพราะพรรคเหล่านี้ได้เกิน 70,000 คะแนน ซึ่งเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำของสส.พึงมี แต่กกต.กลับใช้อีกมุมมองหนึ่งคือ เขาไปเอาพรรค F และ G ที่เข้ามาเกลี่ยด้วย โดยอ้างว่าพรรคเหล่านี้ก็ได้คะแนนเหมือนกัน และนี่คือปัญหาที่ถกเถียงกันตอนนี้ครับ เพราะถ้าใช้ใช้แนวทางนี้ พรรคที่ได้คะแนนไม่ถึง 70,000 ก็มีสิทธิได้สส.หนึ่งคนครับ ในสถาณการณ์จริงตอนนี้คือตั้งแต่ 60,000 กว่า ถึง 30,000 กว่าได้พรรคละหนึ่งเสียง และยังทำให้พรรคที่เคยได้บัญชีรายชื่ออยู่แล้ว พอมาเกลี่ยเสียงก็จะต้องหายไปบ้างอยู่แล้ว พอมาทำแบบนี้จะทำให้เสียงหายเพิ่มมากขึ้นไปอีก

ซึ่งในส่วนตัวผมแล้วผมเห็นว่าทางที่ถูกต้องมันควรจะเป็นทางแรกนะครับ เพราะคุณต้องยึดตัวเลข 70,000 เป็นที่ตั้ง 70,000 คะแนนได้สส.หนึ่งคน ถ้าไม่ถึง 70,000 ยังไงก็ต้องไม่ได้ อีกอย่างถ้าไม่เกิดเหตุการณ์โอเวอร์แฮงค์พรรค F กับ G สอบตกไปแล้วนะครับ แต่ทำไมพอโอเวอร์แฮงค์ถึงมีสิทธิกลับมาสอบผ่านได้ ไม่ฟันธงนะครับ แค่ความคิดส่วนตัวไปตัดสินกันเอาเอง แค่อยากเขียนบล็อกสรุปปัญหาไว้ให้เข้าใจกันแบบง่าย ๆ เท่านั้นครับ   


วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2562

บันทึกหลังจากเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562

ผลการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากยึดอำนาจก็ออกมาแล้ว ถึงจะไม่เป็นทางการ ก็มีอะไรน่าสนใจที่คิดว่าอยากจะบันทึกเอาไว้สักหน่อย ถ้าถามว่าในฐานะที่ไม่เอาพวกยึดอำนาจ รู้สึกผิดหวังไหม ก็ไม่นะ เพราะคิดอยู่แล้วว่ายังไงก็ได้ประยุทธ์เป็นนายกต่อ แต่ยังไงพรรคที่ไม่เอาประยุทธ์ก็ยังได้จำนวนสส.มาเป็นอันดับหนึ่ง (ถ้าไม่มีอภินิหารจากกกต. มาสอยออกไปอีกนะ) แต่ก็ผิดคาดในหลายประเด็น

ประการแรกที่น่าสนใจและน่าตื่นเต้นมาก ก็คือการเกิดขึ้นของพรรคการเมืองใหม่อย่างอนาคตใหม่ ซึ่งผู้สมัครส่วนใหญ่เป็นใครก็ไม่รู้ มีแกนนำพรรคเป็นที่รู้จักอยู่สองสามคนเท่านั้น แต่สามารถได้สส.ถึง 80 กว่าคน และไม่ใช่แค่สส.แบบบัญชีรายชื่อตามที่คาดไว้ แต่ได้สส.เขตด้วย นั่นก็แสดงว่ามีคนที่เลือกสส.เพราะอุดมการณ์และนโยบายอย่างเดียวจริง ๆ และอาจจะมีคนเบื่อของเก่าอาจอยากลองของใหม่ด้วย ซึ่งส่วนตัวอยากให้พรรคนี้พัฒนาตัวเองให้กลายเป็นพรรคที่เป็นทางเลือกให้ประชาชนต่อไปนาน ๆ เพราะส่วนหนึ่งที่การเมืองไทยมีปัญหามานาน เพราะมันมีทางเลือกหลัก ๆ แค่สองทาง ซึ่งพอทางเลือกหนึ่งมีปัญหา จะหันไปหาอีกทางเลือกหนึ่งก็ดูจะฝากความหวังอะไรไม่ได้

ประการที่สองก็คือความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของประชาธิปัตย์ ซึ่งไม่คิดว่าจะแพ้ได้ขนาดนี้ ซึ่งสาเหตุก็น่าจะเป็นเพราะเป็นผลงานเก่าที่ผ่านมาซึ่งไม่เคยเอาชนะทักษิณได้ และอาจเป็นการเดินนโยบายผิดพลาดของหัวหน้าพรรคที่ประกาศไม่เอาประยุทธ์ คนที่เกลียดทักษิณก็เลยไปเลือกพรรคพลังประชารัฐโดยตรง และด้วยความที่พรรคไม่ชัดเจนว่าจะร่วมกับพลังประชารัฐหรือไม่ คือไม่เอาประยุทธ์ แต่ก็อาจรวมกับพลังประชารัฐได้ คนที่ไม่ชอบประยุทธ์ ก็เลยไปเลือกอนาคตใหม่แทน และก็อาจมีคนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงก็ไปที่อนาคตใหม่ด้วย และอีกอย่างก็คือสส.บางส่วนถูกดูดไปยังพลังประชารัฐด้วย

ประการที่สาม เพื่อไทย เอาจริง ๆ ก็ไม่ได้ถือว่าแย่นะ เพราะได้สส.เขตมาถึง 130 กว่าเสียง แสดงว่าสส.ในพื้นที่เขายังแข็งแกร่ง และเขาก็คาดอยู่แล้วว่าเขาจะไม่ได้บัญชีรายชื่อ แต่อาจจะได้น้อยกว่าที่คาดไปหน่อย เพราะถูกอนาคตใหม่แบ่งไปบ้าง และยังมีสส.ที่ถูกดูดไปที่พลังประชารัฐด้วย ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับมีชัยมีผลลดคะแนนพรรคนี้จริง ๆ อีกอย่างก็คือแผนการที่จะเอาไทยรักษาชาติมาช่วยต้องพังไปซะก่อน ทำให้เสียงหายไปแน่ ๆ ร้อยกว่าเขต และคิดว่าหลังผลออกมาเขาคงเห็นแล้วละว่า สู้ส่งให้ครบ 350 เขตเลยดีกว่า  เพราะจากอนาคตใหม่และพลังประชารัฐก็เห็นแล้วว่าได้เสียงเยอะเพราะส่งครบทุกเขต แต่ก็อย่างว่านะสมมติเพื่อไทยไม่แตกออกมาเป็นไทยรักษาชาติ ดีไม่ดีป่านนี้ถูกยุบไปด้วยกันแล้ว กรณีเสนอแคนดิเดทนายก

ประการที่สี่ พลังประชารัฐได้มากกว่าที่คาด แสดงว่าพลังดูดที่ดูดสส.จากหลายพรรคไปมีผลจริง ๆ และยังได้เสียงจากคนที่ไม่ชอบทักษิณที่ผันแปรมาจากประชาธิปัตย์อีกด้วย และการที่ประยุทธ์ลงพื้นที่นี่ก็น่าจะมีผล นอกจากนี้คิดว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนี่ก็มีส่วนมาก และการหาเสียงในช่วงสุดท้ายที่ชูเรื่องความสงบ โดยสามประสานประยุทธฺบอกให้คิดถึงปี 57 สุเทพบอกถ้าเลือกอีกฝั่งก็มีสิทธิเจอกันอีกที่ราชดำเนิน และพลังประชารัฐก็ปิดท้ายด้วย ถ้าอยากสงบจบที่ลุงตู่ คิดว่าอันนี้ก็คงมีผลกับประชาชนส่วนหนึ่งซึ่งไม่ได้คิดอะไรกับใครเป็นพิเศษ เป็นพวกคิดว่าชีวิตก็ทำมาหากินไป ใครจะมาเป็นก็ต้องทำมาหากินอยู่แล้ว เอาที่มันเดินทางสะดวกไม่มีม็อบก็แล้วกัน

ประการที่ห้า ที่แย่ที่สุดก็คือคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งทำงานได้แย่มาก ไม่ได้คุ้มกับงบประมาณที่ต้องเสียไปห้าพันกว่าล้านในการจัดเลือกตั้ง มีปัญหาตั้งแต่เป็นการประชาสัมพันธ์ การตัดสินเรื่องต่าง ๆ ไม่มีความเป็นมืออาชีพ ไม่แม่นกฎ และบางกรณีก็แสดงสิ่งที่ทำให้ประชาชนสงสัยว่าเป็นกลางจริงไหม ปัญหาเกิดขึ้นตั้งแต่การเลือกตั้งล่วงหน้า เลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ยันเลือกตั้งจริง ซึ่งบางเรื่องมันไม่ควรจะเกิดเลย หรือน่าจะแก้ได้ ถ้าบริหารจัดการกันเป็น  เรื่องการชี้แจงก็ไม่ชัดเจนโดยเฉพาะเรื่องที่มันสำคัญอย่างทำไมจำนวนบัตรมากกว่าจำนวนคนมีสิทธิ การขานบัตรดีบัตรเสีย และการที่มีมัตรเสียเยอะมาก แล้วยังทำงานช้าประกาศผลช้า ยุคก่อน อินเทอร์เน็ตก็ไม่ดีอย่างทุกวันนี้ เลือกตั้งเสร็จบ่ายสาม สองสามทุ่มก็ประกาศผลแล้ว คืนวันเลือกตั้งก็เห็นหน้าตารัฐบาลแล้ว มายุคนีี้เทคโนโลยีก็ก้าวหน้ากว่าไม่รู้เท่าไร แต่ไม่สามารถนับผลให้เสร็จได้ อ้างโน่นอ้างนี้ ทุกคนผิดหมดยกเว้นตัวเอง ทั้งหมดทำให้ประชาชนมองการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าไม่มีความน่าเชื่อถือ และดีไม่ดีอาจทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้  นี่หรือคือคนที่สนช.คัดมาแล้วไม่รู้กี่รอบ แล้วบอกว่านี่ดีที่สุดแล้ว ถ้าดีที่สุดได้แค่นี้ มันก็แสดงถึงความสามารถของคนเลือกด้วยนะ มันมีคนที่ตั้งใจมาใช้สิทธฺเลือกตั้งครั้งนี้ และบางคนใช้เป็นครั้งแรก ถ้ามันเป็นแบบนี้ ต่อไปเขาก็อาจไม่มาก็ได้


และประการสุดท้าย คือจำนวนผู้มาใช้สิทธิในวันเลือกตั้งจริงน้อยกว่าที่คาดมาก เพราะมากันแค่ ร้อยละหกสิบกว่า ซึ่งอันนี้ก็ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน  ไม่รู้ถ้ามากันมากกว่านี้ ผลมันจะเปลี่ยนไปไหม

อ้อแถมอีกนิด รอดูวันที่จะเห็นประยุทธ์ถูกอภิปรายในสภาด้วยครับ ว่าจะเอาตัวรอด หรือคุมอารมณ์อยู่ไหม

วันเสาร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2562

บันทึกก่อนไปเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562

ด้วยวัยขนาดนี้ก็ผ่านการเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง ก็ไม่คิดว่าตัวเองจะต้องมาตื่นเต้น อยากจะเลือกตั้งอะไรอีก แต่คราวนี้รู้สึกตื่นเต้น เหตุผลหลัก ๆ ก็คือส่วนตัวคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เหมือนกับหลายครั้งที่ผ่านมา เพราะที่ผ่าน ๆ มาตัวเองไม่ค่อยแคร์เท่าไร เพราะเท่าที่ติดตามการทำงานของนักการเมืองมาในแต่ละพรรคมันก็มีทั้งดีทั้งแย่ บางพรรคมีบางคนบริหารเก่ง แต่ก็มีคนที่ไม่ได้เรื่องได้ราวด้วย พอมีตำแหน่งก็ใช้อำนาจระรานเขา บางพรรคประกาศว่าไม่โกง ก็อาจจริงที่ตัวคนประกาศไม่โกง แต่พอคนใกล้ตัวหรือคนที่เป็นคนที่สามารถค้ำบัลลังก์ตัวเองได้ทำอะไรที่ดูไม่เหมาะสม ก็แกล้งหลับตามองไม่เห็นซะ

ตัวเองเป็นคนที่ไม่ชอบทักษิณ และเคยคิดว่ารอดคดีซุกหุ้นภาคแรกมาได้ยังไง และที่ไม่ชอบที่สุดคือหลังจากชนะเลือกตั้งครั้งที่สองมาอย่างถล่มทลาย ก็รู้สึกว่าเริ่มเหลิงอำนาจ จำได้ว่ามีวันหนึ่งฟังวิทยุ และเขาถ่ายทอดไม่แน่ใจว่าประชุมครม.หรืออะไร มีการให้ข้าราชการไปชี้แจงเรื่องอะไรสักอย่าง ข้าราชการคนนั้นอ้าปากพูดจะตอบคำถามจะชี้แจง ทักษิณพูดขัดตลอด และใช้น้ำเสียงที่ไม่เหมาะสมด้วย ส่วนตัวคิดว่าไม่สามารถทำงานกับหัวหน้าที่ไม่ให้เกียรติคนอื่นได้ และยังเรื่องชอบพูดอะไรไม่คิด (คล้าย ๆ ประยุทธ์ตอนนี้ แต่ยังดีกว่าเยอะนะ) อย่างไอเอ็มเอฟไม่ใช่พ่อ ซึ่งกองเชียร์คิดว่าเท่ซะเหลือเกิน แต่ส่วนตัวคิดว่าเป็นผู้นำประเทศ ยังต้องติดต่อทำธุรกรรมกับเขาอีกเยอะมาพูดอย่างนี้ได้ยังไง  แต่ก็ไม่ได้เกลียดหรืออคติแบบไม่ลืมหูลืมตาว่าความเลวทุกอย่างในโลกนี้ถ้ามีชื่อทักษิณเข้าไปเกี่ยวข้องมันต้องจริงหมด ซึ่งตอนนี้ฝ่ายที่เรียกตัวเองว่ารู้ทันทักษิณ ก็กำลังทำกับธนาธรแบบเดียวที่ทำกับทักษิณ พูดถึงเรื่องนี้ก็น่าประหลาดนะ ส่วนตัวคิดว่าเรื่องที่กล่าวหาทักษิณหลายเรื่องมันก็ดูซับซ่้อน แต่คนเหล่านี้เข้าใจได้ แต่กับเรื่องที่พวกยึดอำนาจทำอยู่ตอนนี้เข้าใจง่ายกว่าตั้งเยอะ ก็มองข้ามไป หรือจริง ๆ สำหรับคนเหล่านี้อะไรก็ได้ใครก็ได้ขออย่าเป็นทักษิณพอ 

ส่วนอภิสิทธิ์ ตอนเข้ามาใหม่ ๆ ก็เชียร์นะ แต่พอเวลาผ่านไปเขาทำให้ผิดหวังมาก เพราะรู้สึกว่าเขาไม่ได้ยึดมั่นในระบบจริง ๆ การเมืองนอกสภาก็เอา บอยคอตการเลือกตั้งมาแล้วสองครั้ง มีโอกาสได้บริหารประเทศก็ไม่ได้แสดงถึงความเก่งอะไรอย่างที่คาดหวังไว้ (อาจตั้งความหวังไว้เยอะเกินไป) ยิ่งไปกว่านั้นยังมี DNA ของพรรคประชาธิปัตย์เต็มตัว ส่วนตัวคิดว่าไอ้ DNA นี้อาจติดตัวพรรคนี้มานานแล้ว แต่มันมาเข้มข้นขึ้นยุคอภิสิทธิ์นี่แหละ

ดังนั้นในช่วงก่อนที่มีตัวเลือกหลัก ๆ แค่สองทางนี้ ก็รู้สึกว่าไม่อยากเลือกใครเลย แต่ถ้าต้องเลือกจริงก็คงไม่เลือกปชป. แต่สุดท้ายก็โหวตโนนะ เพราะยุคที่ไทยรักไทยถูกยุบกลายเป็นพลังประชาชนและกลายเป็นเพื่อไทย จนต้องใช้ชุดสำรองมาลงเลือกตั้งยิ่งรู้สึกไม่มีตัวเลือกเข้าไปใหญ่ ก็โหวตโนมันซะเลย

ตัวเองเป็นคนไม่ชอบวิธีการนอกระบบทั้งหลาย ด่ามันมาหมดแล้วตั้งแต่พันธมิตร นปช. กกปส. สนธิ (ทหาร) ประยุทธ์ที่ยึดอำนาจก็ด่า ปีที่พันธมิตรประท้วง จำได้แม่นตอนที่พวกนี้ยกขบวนกันไปสนามบิน เพราะคืนก่อนหน้าที่พวกนี้จะเดินไปสนามบิน ตัวเองผ่าตัดไส้ติ่ง พอตอนเช้าตื่นขึ้นมาเปิดทีวีดู เซ็งมาก พวกนี้มันทำอะไรกันเคยนึกถึงผลเสียที่จะตามมาไหมนี่ แล้วยังลามปามไปถึงยึดทำเนียบไปทำนาปลูกข้าวอีก ส่วนนปช. ก็จำได้แม่น ตอนพวกนี้ยกขบวนไปทำให้ประชุมอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพล้ม ตอนดูข่าวเห็นผู้นำประเทศต่าง ๆ ต้องนั่งเรือออกไปกลางทะเล เพื่อไปขึ้นเครื่องบินกลับบ้าน ดูข่าวแล้วอยากร้องไห้ ถามตัวเองว่าคนพวกนี้ตอนเด็ก ๆ พ่อแม่ไม่ได้สั่งสอนหรือว่าเวลามีแขกไปใครมาที่บ้าน ถ้ามีเรื่องอะไรกันให้เก็บไว้ก่อน ต้อนรับแขกก่อน ส่งแขกกลับบ้านแล้วค่อยคุยกัน และก็เห็นว่าไหน ๆ ตัวเองก็เดินเกมการเมืองพลาดไปแล้ว อภิสิทธิ์ได้เป็นนายก ก็ไม่เห็นเป็นไร รอครบวาระ หรือจะใช้วิธีในสภาก็ได้กดดันให้เขายุบสภาไป แต่ก็ดันไปเลือกวิธีประท้วง ไปปิดย่านเศรษฐกิจอย่างราชประสงค์ พวกแกเป็นบ้ากันหรือไง และฉากสุดท้ายก็จบไม่สวย ซึ่งตรงนี้ก็ยังงงอยู่นะว่ามันเกิดได้ยังไง จำได้ว่าอภิสิทธื์ประกาศยอมให้เลือกตั้งใหม่แล้ว แกนนำก็ประกาศสลายการชุมนุมแล้ว แต่กลับเกิดเหตุการณ์ชุลมุนวุ่นวายมีการเผาห้าง ซึ่งกลายมาเป็นวาทกรรมเผาบ้านเผาเมือง (ซึ่งตรงนี้ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายนะ เพราะจนถึงตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปจริง ๆ ว่าใครเผา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าพวกนี้ไม่มาชุมนุมกัน มันก็ไม่เกิดเรื่อง) มาจนถึงพวกนกหวีด กกปส. บอกตามตรงเลยนะ ว่าตอนออกมาเดินขบวนต้านพรบ.นิรโทษกรรมสุดซอยกันนี่โอเค แต่พอยิ่งลักษณ์ประกาศยุบสภาแล้ว ดันไม่เลิก ประท้วงต่อกันอีก ชัตดาวน์กรุงเทพกันสนุกสนาน ไม่ได้สนใจเลยว่าประเทศจะเป็นยังไง ยังไม่พอยังไปป่วนเลือกตั้งอีก ตัวเองเป็นหนึ่งในยี่สิบล้านเสียงที่ออกไปเลือกตั้ง แต่ดันต้องเป็นโมฆะ ก็ไม่เข้าใจนะว่าเรียกตัวเองเป็นมวลมหาประชาชน แต่ดันกลัวแพ้เลือกตั้ง เคยคุยกับคนที่เชียร์กกปส.คนหนึ่งถามว่า ทำไมไม่ไปเลือกตั้งกันล่ะ ถ้าเป็นคนหมู่มากจริงก็พร้อมใจกันไปเลือกปชป.สิ ได้รับคำตอบว่าก็ไม่ได้ชอบปชป.เหมือนกัน ส่วนตัวนี่งงเลย เกลียดทักษิณขนาดนั้นทำไมไม่ยอมเลือกปชป.  คือขนาดตัวเองที่ไม่เคยคิดจะเลือกปชป. ปีนั้นยังตั้งใจแล้วว่าจะกลั้นใจเลือกปชป. ที่มีอภิสิทธิ์เป็นผู้นำนี่แหละ ลงโทษเพื่อไทยซะหน่อย ทำวุ่นวายมาหลายครั้งแล้ว แล้วทำไมพวกมวลมหาประชาชนถึงไม่ยอมเลือก แต่สุดท้ายปชป.ก็บอยคอตเลือกตั้งด้วย อยากจะบอกปชป.ว่าคุณได้ทิ้งโอกาสที่จะได้คะแนนจากผมไปแล้วนะ (พูดอย่างกับเขาจะแคร์ 55)

สุดท้ายก็จบที่ยึดอำนาจต้องทนอยู่กับประยุทธ์มาห้าปีกว่า ซึ่งต้องบอกว่าเป็นห้าปีที่รู้สึกอึดอัดมาก แต่เพื่อให้ความเป็นธรรมก็ต้องบอกว่าประยุทธ์ก็มีข้อดีในแง่ของการกล้าจัดการอะไรที่ไม่เป็นระเบียบ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าที่ทำได้เพราะประยุทธ์มีมาตรา 44 ซึ่งรัฐบาลปกติไม่มี แต่อย่างที่บอกส่วนตัวไม่ชอบอะไรที่นอกระบบแบบนี้ เราได้ใครมาบริหารก็ไม่รู้ เราไม่ได้เลือกถ้าคนอื่นเลือกมาเราก็ยอมรับได้ แต่นี่ยึดอำนาจเข้ามา แล้วยังไม่ยอมรีบคืนด้วย คุมอารมณ์ตัวเองก็ไม่ได้ พูดจาก็ไม่ระมัดระวัง ความสามารถก็ไม่ได้ดีไปกว่ายิ่งลักษณ์ พวกพ้องคนใกล้ชิดมีปัญหาก็มองข้าม คือปัญหาที่เคยเกิดในรัฐบาลปกติที่ด่า ๆ เข้าไว้ก็เกิดในรัฐบาลนี้เหมือนกัน แต่หนักกว่าคือพอถามมาก ๆ เข้าโกรธ และบางทีก็สั่งไม่ให้ถาม และยังบอกสื่อว่าไม่ให้เสนอข่าวอีก จากเป็นกรรมการก็จะลงมาเล่นเอง ซึ่งตรงนี้ก็ไม่ผิดนะ แต่แทนที่จะลาออกหรือทำอะไรให้มันอยู่ในกติกาเหมือนคนอื่นเขา กลับอ้างต้องทำงานต่อด้วยและก็จะมาเล่นการเมืองด้วย มันก็เลยดูทุลักทุเล  อิลักอีเหลื่อกันไปทุกฝ่าย และที่น่าขำคือพอใกล้เลือกตั้งก็ทำแอ๊บแบ๊วไปวัน ๆ บอกว่าไม่ได้อยากเป็นนายกต่อ แต่พยายามเปลี่ยนภาพลักษณ์ตัวเอง กลายเป็นตู่หวานจ๋อย แล้วก็ลงพื้นที่ในฐานะนายกตลอด แต่บอกว่าไม่ได้มาหาเสียง สว. 250 คนที่สุดท้ายต้องเลือกเอง แล้วเขาก็จะมามีส่วนร่วมโหวตตัวเอง นี่ก็ทำได้หน้าตาเฉยโดยไม่ได้รู้สึกอะไร 

นอกจากอึดอัดกับประยุทธ์แล้ว ก็อึดอัดกับกองเชียร์ประยุทธ์ (ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่ชอบประยุทธ์มากขึ้นไปอีก เหมือนกับเกลียดทีมบอลคู่อริมากขึ้นก็เพราะไม่ชอบกองเชียร์) อ้างอยู่อย่างเดียวว่าบ้านเมืองสงบ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วถ้าพวกคุณไม่ออกไปประท้วงปิดบ้านปิดเมืองแบบนั้นประเทศมันก็สงบ พอใกล้เลือกตั้งก็ใช้วิธีแบบเดิม ๆ ที่ใช้ในการปลุกระดมต่อต้านทักษิณ แต่คราวนี้เปลี่ยนเป้าเป็นธนาธรแทน ข้อหาก็เดิม ๆ เผาบ้านเผาเมือง ล้มเจ้า อะไรที่เคยเป็นสิ่งที่ฝั่งที่ตัวเองไม่ชอบทำ พอเป็นประยุทธ์ทำก็ไม่เห็นเป็นไร ประยุทธ์และพวกตั้งญาติตัวเองเข้ามาทำงานด้วยก็ไม่เป็นไร ทั้ง ๆ ที่ ด่าอีกฝ่ายมาตลอดเรื่องเอาญาติพี่น้องมาทำงาน คนใกล้ตัวประยุทธ์มีพฤติกรรมไม่โปร่งใส ก็ไม่เห็นเป็นไร ทั้งที่ถ้าเป็นอีกฝ่ายทำเดือดร้อนกันจะเป็นจะตาย ประยุทธ์เดินทางไปต่างประเทศ แซ่ซ้องสรรเสริญว่าไปทำงาน นายกคนก่อนหน้าก็ไปไอ้งานเดียวกันนี่แหละ แต่บอกว่าไปเที่ยว คุมสื่อปิดกั้นการแสดงความเห็นอย่างเสรี ไม่เป็นไรบ้านเมืองอยู่ในภาวะไม่ปกติ แต่ไม่เคยมองเห็นว่าสื่อที่ถูกปิดถูกควบคุมคือสื่อที่ไม่เชียร์รัฐบาล ประยุทธ์ไม่เก่งภาษาอังกฤษไม่เป็นไรล่ามมีไว้ทำไม แต่กับอีกคนจิกหัวด่าว่าอีโง่

นอกจากนี้ยังอึดอัดกับองค์กรอิสระซึ่งไม่ได้สร้างความไว้วางใจว่าได้ทำหน้าที่อย่างอิสระเลย ถ้าเป็นกรรมการก็คงจะถูกกล่าวหาว่าลำเอียงนั่นแหละ พรรคการเมืองที่เชียร์ประยุทธ์หาเสียงเชิงข่มขู่ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมว่า ถ้าอีกพรรคชนะจะต้องไปชุมนุมบนถนนกันอีกบ้าง หรือถ้าอยากสงบจบที่ ... ก็มองไม่เห็น ทีคนของพรรคที่ถูกยุบถูกตัดสิทธ์ไปแล้ว ไปช่วยหาเสียงให้อีกพรรคซึ่งดูแล้วก็ไม่น่าจะมีอะไร ดันจะไปหาว่าเขาผิด องค์กรที่ควบคุมสื่อก็ขยันหมั่นเพียรหาเรื่องปิดสื่อที่ไม่เชียร์รัฐบาล ไปกล่าวหาว่าไม่เป็นกลาง ทั้ง ๆ ที่อีกช่องหนึ่งพฤติกรรมชัดเจนหนักกว่าเห็น ๆ แต่เชียร์รัฐบาล ก็ไม่ทำอะไร   

ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้ ถึงแม้จะรู้ผลอยู่แล้วว่าด้วยกฎกติกาที่เอื้ออำนวย ประยุทธ์ก็น่าจะได้กลับมา แต่ยังหวังว่าจะมีปาฏิหารย์ที่ผู้คนในประเทศนี้รู้สึกถึงความอึดอัดอย่างที่ตัวเองรู้สึก แล้วไปเลือกฝั่งที่ไม่เอาประยุทธ์กันเยอะ ๆ ซึ่งถ้าผลอออกมาเป็นอย่างที่หวังก็ถือว่าได้คลายความอึดอัดคับข้องใจตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ต้องถึงกับได้เป็นรัฐบาลหรอก เอาแค่พรรคที่สนับสนุนประยุทธ์ได้สส.น้อย ๆ สักประมาณไม่เกิน 50 ก็พอใจแล้ว (จริง ๆ อยากให้ได้น้อยกว่า 25 จะได้เสนอชื่อนายกไม่ได้) และถ้าพวกนี้จะหน้าด้านไปรวมเสียงมาให้ได้เป็น 126 เสียงแล้วเอาไปรวมกับ สว. 250 คน ก็ไม่ว่าอะไร ถือว่าชนะแล้ว แต่ถ้าฝ่ายประยุทธ์ชนะมามากจริง ๆ ก็คงต้องยอมรับผล และคิดว่าเราเป็นคนส่วนน้อยของประเทศ แต่อย่างน้อยก็ยังรู้ว่าอีก 4 ปี ได้เลือกกันใหม่ ไม่ต้องรอคอยความกรุณา หรือมีคนมาพูดเหมือนกับมันเป็นบุญคุณที่เขายอมให้มีการเลือกตั้งกันอย่างทุกวันนี้         
 

วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ประสบการณ์สนุก ๆ ของผมกับเพลงหนักแผ่นดิน

ตอนนี้กระแสเพลงหนักแผ่นดินกำลังฮืตมาก ๆ นะครับ ทำให้ผมคิดได้ว่าสมัยเด็ก ๆ จนถึงตอนจะมีลูก ผมก็มีประวัติศาสตร์กับเพลงนี้อยู่บ้างเหมือนกัน ต้องบอกว่าตอนผมเป็นเด็กนี่เพลงปลุกใจพวกนี้เปิดกันบ่อยมาก เพราะเป็นสมัยที่เขาบอกว่าเราสู้กับคอมมิวนิสต์ และอีกอย่างสมัยเด็ก ๆ ผมเป็นเด็กไม่แข็งแรงครับ ขาดเรียนบ่อยเวลาขาดเรียนก็ต้องไปอยู่ที่ที่ทำงานกับแม่ แล้วในสมัยนั้นเขาก็เอาข้าราชการไปฟังสัมมนาต่อต้านคอมมิวนิสต์ บางครั้งแม่ก็ต้องพาผมไปด้วย ผมก็ไปนอนหลับเวลาเขาสัมมนากันตื่นมาก็เห็นเขาร้องเพลงปลุกใจกัน ก็มาร้องกับเขาด้วย เรียกว่าร้องเพลงปลุกใจได้ได้แทบทุกเพลง นักร้องเพลงปลุกใจอย่างคุณสันติ ลุนเผ่ นี่ก็ดังมาก เพลงหนักแผ่นดินนี่ก็เป็นเพลงฮิตเพลงหนึ่งร้องกันได้ทั่วบ้านทั่วเมือง ใครยังไม่เคยฟังก็ร้องฟังกันดูครับ


ฟังกันสนุก ๆ นะครับ อย่าไปอินกับมันมาก สำหรับเนื้อร้องก็ประมาณนี้ครับ

คนใดใช้ชื่อไทยอยู่ กายก็ดูเหมือนไทยด้วยกัน
ได้อาศัยโพธิ์ทองแผ่นดินของราชันย์ แต่ใจมันยังเฝ้าคิดทำลาย
คนใดเห็นไทยเป็นทาส ดูถูกชาติเชื้อชนถิ่นไทย
แต่ยังฝังทำกิน กอบโกยสินไทยไป เหยียดคนไทยเป็นทาสของมัน
หนักแผ่นดิน หนักแผ่นดิน คนเช่นนี้เป็นคนหนักแผ่นดิน (หนักแผ่นดิน!)
หนักแผ่นดิน หนักแผ่นดิน คนเช่นนี้เป็นคนหนักแผ่นดิน (หนักแผ่นดิน!)
คนใดยุยงปลุกปั่น ไทยด้วยกันหวังให้แตกกระจาย
ปลุกระดมมวลชนให้สับสนวุ่นวาย เพื่อคนไทยแบ่งฝ่ายรบกันเอง
คนใดหลงชมชาติอื่น ชาติเดียวกันเขายืนข่มเหง
ได้สินทรัพย์เจือจานก็ประหารไทยกันเอง ทีชาติอื่นเกรงดังญาติของมัน
คนใดขายตนขายชาติ ได้โอกาสชี้ทางให้ศัตรู
เข้าทลายพลังไทยให้สลายทางสู้ เมื่อศัตรูโจมจู่เสียทีมัน
คนใดคิดร้ายราวี ประเพณีของไทยไม่ต้องการ
เกื้อหนุนอคติ เชื่อลัทธิอันธพาล แพร่นำมันมาบ้านเมืองเรา

สมัยก่อนนี้เวลาเพลงมันดังมาก ๆ ก็จะมีคนนำมาแปลงเล่นกันครับ และเพลงหนักแผ่นดินก็ถูกนำมาแปลงเช่นกัน ซึ่งถูกแปลงเป็นเพลงหนักที่นอน ซึ่งผมก็ไม่รู้นะครับว่าใครเป็นคนแต่ง พอดีได้ยินเพื่อน ๆ ร้องมา เนื้อร้องก็ประมาณนี้นะครับ อาจไม่ตรงร้อยเปอร์เซนต์ เพราะมันนานมากแล้ว เนื้อร้องก็ประมาณนี้ครับ 

คนใดใช้เงินเมียอยู่ กายก็ดูเขาใช่จะพิการ 
ได้อาศัยเมียกิน กอบโกยสินนงคราญ แต่ใจมันยังเฝ้าคิดนอกใจ
คนใดใช้เมียดังทาส ได้โอกาสหาทางดื่มเมรัย 
ปล่อบเมียไว้เปล่าเปลี่ยว ออกไปเที่ยวคนจัญไร กลับบ้านได้ตีห้าทุก ๆ คืน 
หนักที่นอน หนักที่นอน คนเช่นนี้เป็นผัวหนักที่นอน  (หนักที่นอน!)

ถ้าใครอยากร้องแนะนำว่าให้ฝึกร้องหนักแผ่นดินให้ได้ก่อนนะครับ แล้วก็ลองร้องเพลงนี้ดูถึงจะได้อารมณ์ 

ผมเอาเพลงนี้ไปร้องให้ที่บ้านฟังก็มีแต่คนหัวเราะ หลังจากผ่านยุคนั้นมาก็ไม่ได้ร้องเพลงนี้อีกเลยนะครับ จนกระทั่งถึงปีที่คุณภรรยากำลังท้องลูกคนแรกได้ 6-7 เดือน คุณเธอก็ไปอ่านหนังสือมาบอกว่าลูกได้ยินเสียงแล้ว ควรพูดกับลูกหรือร้องเพลงให้ลูกฟัง แทนที่เธอจะร้องเอง คุณเธอก็ใช้วิธีว่าตอนเธอจะนอนเธอก็ชวนผมให้นอนด้วยครับ (อย่าคิดเรื่องอื่นนะครับ ตอนนั้นเธอท้องอยู่) และให้ผมเป็นคนร้องเพลงให้ลูกฟังครับ ผมก็ร้องเพลงให้ฟังกล่อมลูกกล่อมเมียไป ทุกวันเข้าหลัง ๆ ชักหมดมุกไม่รู้จะร้องอะไรดี ไม่รู้อะไรดลใจก็ร้องหนักแผ่นดินขึ้นมาครับ เธอก็บอกว่าเอาเพลงอะไรมาร้องเนี่ย ผมก็เลยเปลี่ยนเป็นหนักที่นอนแทน ปรากฎเธอหัวเราะไม่ยอมหยุด ผมกลัวจะเป็นอันตรายกับลูกก็เลยรีบหยุดร้องครับ :) จากนั้นก็ไม่เคยร้องหรือนึกถึงเพลงนี้อีกเลยจนถึงวันนี้นี่แหละครับ 

เห็นเพลงนี้กลับมาเป็นกระแสก็เลยเอามาเล่าให้ฟังครับ เรื่องเครียด ๆ จริงจังเห็นโพสต์กันเยอะแล้วบน Facebook มาเขียนเรื่องเบา ๆ กันบ้างดีกว่านะครับ...  


วันพุธที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2561

เราต้องดีหรือเก่งแค่ไหนถึงจะวิจารณ์คนอื่นได้

เคยรู้สึกไหมครับว่าหลาย ๆ ครั้งที่เราคุยกับใครแล้วก็มีความเห็นต่างกัน โดยอาจจะเป็นการวิจารณ์อะไรสักอย่างในมุมมองที่ต่างกัน สุดท้ายก็มักจะมีข้อความประเภทว่า ไปวิจารณ์เขาเราดีพร้อมแล้วหรือ หรือไปวิจารณ์เขาทำดีได้เท่าเขาหรือเปล่า ซึ่งถ้ามาถึงตรงนี้ผมก็มักจะเลิกคุย เพราะคุยไปก็ไม่มีประโยชน์ เสียอารมณ์กันเปล่า ๆ

ถ้าคนเราต้องดีให้ครบทุกด้าน แล้วถึงจะมีสิทธิวิจารณ์คนอื่นได้ โลกนี้คงไม่ต้องมีการวิจารณ์กัน อันนี้ไม่ได้หมายถึงว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเองนะ แต่หมายถึงคนทุกคนย่อมมีข้อบกพร่องอยู่ในตัวแทบทุกคน เช่นบางคนเป็นคนเคารพกฎหมาย แต่อาจจะหงุดหงิดง่าย ถ้าเขาจะวิจารณ์คนทำผิดกฎหมายก็ไม่น่าจะแปลก แต่ถ้าเขาไปวิจารณ์คนอื่นว่าหงุดหงิดง่ายจัง นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง และก็สมควรถูกว่ากลับว่าดูตัวเองหรือยัง

ถ้าคนเราจะวิจารณ์ใครแล้วจะต้องทำดีให้เท่าเขาให้ได้ก่อน โลกนี้คงไม่ต้องมีการวิจารณ์กันเช่นกัน การวิจารณ์นักฟุตบอลระดับพรีเมียร์ลีกสักคนหนึ่ง ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเตะบอลให้เก่งระดับพรีเมียร์ลีก แต่การวิจารณ์เหล่านั้นมันจะอยู่บนมาตรฐานหรือสิ่งที่เราคาดหวังว่านักฟุตบอลระดับนั้นน่าจะทำได้ อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือคนที่ประเมินการสอนของอาจารย์ก็คือนักเรียน ถ้าอาจารย์คิดว่านักเรียนพวกนี้เป็นใครถึงมาวิจารณ์เรา มาสอนเองจะสอนได้ไหม มีความรู้เท่าเราไหม ก็คงไม่ต้องมีการประเมิน แต่ถ้าคิดว่าเขาประเมินเราด้วยระดับมาตรฐานที่เขาคิดว่าเราน่าจะทำได้ นั่นก็เป็นสิ่งที่เราควรจะต้องรับฟัง การวิจารณ์นักการเมือง ทหาร หัวหน้าคสช. หรือผู้บริหารบ้านเมือง โดยประชาชนก็เช่นกัน

อีกอย่างคงต้องแยกการวิจารณ์ออกจากการติเตียน (ด่า) ด้วย เพราะบางคนก็ขอให้ได้แย้ง ขอด่าเอามัน แต่การวิจารณ์ที่ดีก็คือการติเพื่อก่อ ชี้ให้เห็นข้อบกพร่อง และอาจจะเสนอทางแก้ด้วยหรือไม่ก็ได้ ถ้าเสนอได้ก็ดีมาก จริง ๆ การวิจารณ์บางอย่างมันก็บอกทางแก้อยู่ในตัวแล้ว เช่นถ้าบอกว่าแบบฟอร์มมันไม่เหมาะสม มีส่วนที่ให้ป้อนข้อมูลมากเกินไป ตรงนี้ตรงนั้นไม่น่ามี หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง วิจารณ์ว่าทำไมไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง จะได้ไม่ต้องทำเรื่องขยายเวลาการทำงานพรรคการเมืองออกไป นั่นก็เสนอทางแก้ปัญหาแล้ว แต่ถ้าเสนอไม่ได้ เพราะปัญหาบางอย่างมันอาจเกินความสามารถของคนธรรมดาที่ไม่ได้มีความรู้ในเรื่องนั้นจะแก้ปัญหาได้ เพียงแต่เขาเห็นว่ามันเป็นปัญหา ก็เป็นหน้าที่ของผู้รับผิดชอบที่จะต้องรับฟังและหาทางแก้ หรือไม่ก็ชี้แจง แทนที่จะมาทำฟาดงวงฟาดงาหาว่าบิดเบือน หรือฟ้องเขาบ้าง อย่างที่คนบางคนชอบทำอยู่ในทุกวันนี้

การวิจารณ์อย่างเสรีและสร้างสรรค์เป็นปัจจัยหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสมควรจะเริ่มได้คืนมาก่อนที่เราจะได้เลือกตั้งกันนะ เอ๊ะผมพูดอะไรนี่ พวกเพลงดาบแม่น้ำห้าสายเขาประสานงานกันอย่างเป็นระบบที่จะทำให้การเลือกตั้งมันเลื่อนออกไปเรื่อย ๆ ดาบนี้ชง ดาบนี้รับลูก คนหนึ่งไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง อีกคนทำเรื่องขยายเวลาอ้างความหวังดีกลัวพรรคการเมืองทำงานไม่ทัน ช่างเป็นกระบวนท่าที่สวยงามจริง ๆ อ้าวทำไมวกมาเรื่องนี้ล่ะนี่ พอก่อนแล้วกันนะครับ เดี๋ยวบล็อกจะปลิวไปซะ บล็อกต่อไปเขียนเรื่องเมย์-เจ ชวัญ-กอล์ฟท่านลอร์ด อะไรแบบนี้น่าจะถูกใจผู้มีอำนาจมากกว่า...



วันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ดราม่าสาวเสื่้อลายดอกกับงานพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวง ร.9

วันที่ 26 ตุลาคม 2560 คงเป็นวันที่คนไทยส่วนใหญ่ในประเทศนี้ต้องจดจำกันไปตลอดชีวิต คนไทยประมาณกว่า 19 ล้านคนในประเทศ  พร้อมใจกันออกไปร่วมวางดอกไม้จันทน์ คนไทยอีกหลายแสนหรืออาจะล้านคนไปทำงานเป็นจิตอาสาเพื่อถวายงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งบรรยากาศก็เป็นไปด้วยความถ้อยทีถ้อยอาศัย และพร้อมใจกัน ถึงแม้อาจจะมีปัญหาบ้างผมเชื่อว่าทุกคนก็พร้อมที่จะอภัยให้กัน และรักสามัคคีกันเพื่อพ่อหลวงของปวงชนชาวไทย

ชุมชนชาวไทยในต่างประเทศก็มีการจัดพิธีขึ้นเช่นเดียวกับในประเทศไทย และก็เกิดดราม่าขึ้นที่อเมริกาครับ เมื่อมีผู้หญิงคนหนึ่งแต่งตัวแบบในคลิปนี้และก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมพิธี


ใครที่ยังไม่ได้ดูก็ขอให้ดูก่อนนะครับว่าผู้หญิงคนนี้แต่งตัวยังไง และมีคนได้เสนอว่าจะให้ยืมเสื้อคลุมเพื่อให้เธอเข้าร่วมพิธีแต่เธอปฏิเสธ และสุดท้ายก็ถูกโห่ไล่ออกไป มีคนไปขุดคุ้ยว่าเธอเป็นเสื้อแดง แต่ผมว่าสีเสื้อไม่เกี่ยวกับประเด็นนี้ คนเสื้อสีอะไรก็เคารพหรือไม่เคารพในหลวงได้

จากนั้นสามีของเธอซึ่งเป็นนักข่าวที่มีชื่อเสียงได้รับเสนอชื่อเข้าชิงพูลิตเซอร์ถึงสองครั้ง ก็ได้ไปเขียนบทความนี้ครับ

https://timesofsandiego.com/opinion/2017/10/27/opinion-an-innocent-color-choice-brings-out-intolerance-in-thai-community/

เรียกชุมชนคนไทยในอเมริกาว่าเป็นนาซี บอกว่าเขาและภรรยาต้องการไปถวายอาลัยในหลวงร.9 เหมือนคนอื่น แต่กลับได้รับความเกลียดชัง บอกว่าภรรยาเขาชื่อ Rose ก็เลยชอบสีแดง และคนไทยไม่ชอบสีแดงเพราะพวกเสื่อแดงถูกมองว่าเป็นพวกไม่ดี และในบทความก็มีคำพูดซึ่งไม่เห็นอยู่ในวีดีโอนี้มากมายเช่น มีคนเรียกเธอว่ากะหรี่ หรือถามเธอว่ามาจากไหน เธอตอบว่ามาจากอเมริกา และมีคนบอกเธอว่านี่คือประเทศไทย  ซึ่งเรื่องพวกนี้ก็ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริงนะครับ และก็ยังบอกว่ามีคนไปขู่เขาและภรรยามากมายทั้งในทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊ก จนเขาต้องแจ้งความ ซึ่งถ้าอันนี้จริงก็ถือว่าไม่ถูกต้องนะครับ

ผมจะไม่โฟกัสที่ประเด็นอื่น แต่ผมจะโฟกัสที่การแต่งตัวแล้วกันผมเชื่อว่าต่อให้ประเทศที่บอกว่ามีเสรีภาพมาก ๆ อย่างอเมริกา เขาก็มีมารยาทสังคม มีกฏการแต่งกายให้เหมาะสมกับงานต่าง ๆ งานศพเขาก็แต่งขาวดำ (อันนี้ดูจากหนัง) หรือจากประสบการณ์ที่ได้ไปเรียนมาก็เห็นว่าเวลาเรียนเขาอาจแต่งตัวตามสบาย หน้าร้อนบางคนอาจใส่ขาสั้นมาเรียน แต่พอถึงเวลาต้องนำเสนอหน้าชั้นเขาก็แต่งตัวสุภาพกัน มันเป็นการให้เกียรติคนฟังด้วย

วันนี้ผมได้ไลน์จากเพื่อนบอกว่ามีชาวต่างชาติคนหนึ่งก็ไม่เห็นด้วยกับบทความนี้ และได้เขียนคอมเมนต์กลับไป (ซึ่งอันนี้ผมก็ไม่ได้เห็นคอมเมนต์ตัวจริงนะครับ ดังนั้นจริง ๆ อาจเป็นใครเขียนก็ได้) ผมเห็นว่าเขาเขียนได้ดี มีการด่าแบบสุภาพแต่น่าจะเจ็บไปถึงใจคนอ่าน ก็เลยอยากยกมาให้อ่านกัน ซึ่งเขาคอมเมนต์ไว้ดังนี้ครับ

If you travel to Thailand a lot, then you know that Thais are one of the most tolerant and friendliest people on earth. Every place has " a dress code" even when you want to eat at the restaurant. If you do not follow "the dress code", you will be asked to leave. It's simple.
"Your wife is a Thai and she is not a young teenager who knows little about social etiquette. She knows very well what the dress code for the King's funeral is. Hence, when she turned up dressing like going to a horse racing club, it points out to her only intention - to cause a disruption".
You are a respectable journalist who has a Thai wife and been to Thailand. So, you must have known that during the time of the king's passing, every Thais -red, yellow, multi colour or neutral "set their differences aside" and mourn their beloved king. Everyone dresses appropriately and respectfully. In the clip, your wife was offered a jacket to cover herself so she can still attend the funeral. She refused. Instead, she kept on arguing with the volunteer. Where's the manner?

I am disappointed in your wife for making Thais in America society a bad name. "Living in a free country does not mean you can do whatever you like. Freedom comes with duty, responsibility and more importantly respect for others." Your wife exercised her rights to dress as she pleases. The Thai community also has the rights to ask her to leave when she disrespected them. Nothing to compare to the Nazi here. It is shocking to find the article written by a professional journalist like yourself to be so bias, dramatize and profoundly unethical. Your wife is NOT a victim here. The Thais in America society that you unfairly branded a 'Nazi' is. I see no hope in winning a Pulitzer award for you. However, an Oscar for screenwriting is hopeful.

ถ้าใครขี้เกียจแปล ผมขอแปลด้วยภาษาอังกฤษงู ๆ ปลา ๆ ของผมดังนี้ครับ

ถ้าคุณไปประเทศไทยมาหลายครั้งแล้ว คุณก็จะรู้ว่าคนไทยเป็นชนชาติที่มีความอดกลั้นและเป็นมิตรมากที่สุดชนชาติหนึ่งแล้วในโลกใบนี้ ทุก ๆ ที่ต่างมี "กฎการแต่งตัว" แม้แต่เวลาที่คุณจะไปกินข้าวตามร้านบางร้าน ถ้าคุณไม่ทำตาม "กฎการแต่งตัว" ของเขาคุณก็จะถูกเชิญให้ออกจากร้าน มันเป็นเรื่องง่าย ๆ แค่นี้เอง "ภรรยาของคุณเป็นคนไทยและก็ไม่ใช่วัยรุ่นที่ไม่รู้มารยาททางสังคม เธอรู้ดีว่ากฎการแต่งตัวเพื่อเข้าร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพเป็นอย่างไร ดังนั้นเมื่อเธอแต่งตัวราวกับว่าจะไปสโมสรม้าแข่ง มันก็ทำให้เห็นได้ชัดเจนถึงความตั้งใจเพียงอย่างเดียวของเธอนั่นคือไปป่วนงาน" คุณเป็นนักสื่อสารมวลชนที่ได้รับความเคารพและมีภรรยาเป็นคนไทย คุณก็ต้องรู้แล้วว่าในช่วงเวลาของการสวรรคตของพระมหากษัตริย์ คนไทยทุกคนไม่ว่าจะแดง เหลือง หลากสี หรือไม่เป็นพวกไหนเลย พวกเขาได้วางความแตกต่างเหล่านี้ลง และร่วมกันถวายความอาลัยแด่พระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของพวกเขา ทุกคนแต่งตัวอย่างเหมาะสมและเต็มไปด้วยความเคารพ ในคลิปมีคนเสนอให้ยืมเสื้อคลุมแก่ภรรยาของคุณเพื่อที่เธอจะได้เข้าร่วมในพิธีได้ แต่เธอปฏิเสธ และยังคงต่อว่าจิตอาสาต่อไป มารยาทมันหายไปไหนหมดล่ะนี่ ผม(ฉัน)ยังผิดหวังที่ภรรยาของคุณทำให้สังคมคนไทยในอเมริกาต้องเสียชื่อไปด้วย "การอาศัยอยู่ในประเทศเสรีไม่ได้หมายความว่าคุณจะทำอะไรก็ได้ที่คุณอยากทำ เสรีภาพต้องมาพร้อมกับหน้าที่ ความรับผิดชอบ และที่สำคัญที่สุดคือความเคารพคนอื่น"  ภรรยาของคุณแสดงสิทธิของเธอในการจะแต่งตัวอย่างที่เธอต้องการ ชุมชนไทยก็มีสิทธิที่จะขอให้เธอออกไปเมื่อเธอไม่แสดงความเคารพต่อพวกเขา ไม่มีอะไรเกี่ยวกับนาซีเลยสักนิด มันน่าตกใจมากที่ได้พบว่าบทความที่เขียนโดยนักสื่อสารมวลชนมืออาชีพอย่างคุณ จะเต็มไปด้วยความอคติ ดราม่า และไม่มีจรรยาบรรณเอาเสียเลย ภรรยาคุณไม่ใช่เหยื่อในเรื่องนี้หรอก แต่เป็นคนไทยในอเมริกาต่างหากที่ถูกคุณตีตราด้วยคำว่า "นาซี" อย่างไม่เป็นธรรม ผม(ฉัน)ไม่เห็นว่าคุุณจะมีทางได้รับรางวัลพูลิทเซอร์หรอกนะ แต่ถ้าเป็นรางวัลออสการ์ด้านบทภาพยนต์ยอดเยี่ยมอันนั้นอาจจะพอหวังได้ 

ผมจะขอยกส่วนที่ผมชอบใจมานะครับ 

Every place has " a dress code" even when you want to eat at the restaurant. If you do not follow "the dress code", you will be asked to leave. It's simple.

ทุก ๆ ที่ต่างมี "กฎการแต่งตัว" แม้แต่เวลาที่คุณจะไปกินข้าวตามร้านบางร้าน ถ้าคุณไม่ทำตาม "กฎการแต่งตัว" ของเขาคุณก็จะถูกเชิญให้ออกจากร้าน มันเป็นเรื่องง่าย ๆ แค่นี้เอง 

สรุปง่าย ๆ คือภรรยาคุณไม่รู้จักกาลเทศะ

Your wife is a Thai and she is not a young teenager who knows little about social etiquette
ภรรยาของคุณเป็นคนไทยและก็ไม่ใช่วัยรุ่นที่ไม่รู้มารยาททางสังคม

สรุปคือภรรยาคุณแก่แล้ว และกำลังทำตัวเป็นมนุษย์ป้า

So, you must have known that during the time of the king's passing, every Thais -red, yellow, multi colour or neutral "set their differences aside" and mourn their beloved king.

คุณก็ต้องรู้แล้วว่าในช่วงเวลาของการสวรรคตของพระมหากษัตริย์ คนไทยทุกคนไม่ว่าจะแดง เหลือง หลากสี หรือไม่เป็นพวกไหนเลย พวกเขาได้วางความแตกต่างเหล่านี้ลง และร่วมกันถวายความอาลัยแด่พระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของพวกเขา 

ถูกต้องครับคนไทยไม่ว่าสีไหนหรือไม่มีสีส่วนใหญ่รักในหลวง ร.9 ครับ ดังนั้นสีเสื้อไม่เกี่ยวอะไรกับเรื่องนี้

"Living in a free country does not mean you can do whatever you like. Freedom comes with duty, responsibility and more importantly respect for others."
"การอาศัยอยู่ในประเทศเสรีไม่ได้หมายความว่าคุณจะทำอะไรก็ได้ที่คุณอยากทำ เสรีภาพต้องมาพร้อมกับหน้าที่ ความรับผิดชอบ และที่สำคัญที่สุดคือความเคารพคนอื่น"

อันนี้ชัดมากครับ ดังนั้นใครที่ชอบอ้างแต่สิทธิและเสรีภาพช่วยอ่านและคิดตามนะครับ

และที่ผมอ่านแล้วชอบมากคืออันนี้ครับ (ย้ำอีกรอบนะครับสามีผู้หญิงคนนี้ได้รับเสนอชื่อเข้าชิงพูลิตเซอร์สองครั้ง)

I see no hope in winning a Pulitzer award for you. However, an Oscar for screenwriting is hopeful.
ผม(ฉัน)ไม่เห็นว่าคุุณจะมีทางได้รับรางวัลพูลิทเซอร์หรอกนะ แต่ถ้าเป็นรางวัลออสการ์ด้านบทภาพยนต์ยอดเยี่ยมอันนั้นอาจจะพอหวังได้ 

แสบเข้าไปถึงทรวงไหมครับ จากวีดีโอกับบทความที่เขียนมันคนละเรื่องกันเลย ดังนั้นไปเปลี่ยนไปเขียนบทภาพยนตร์ อาจจะประสบความสำเร็จมากกว่านะครับ...

วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2559

สิ่งที่คาดหวังหลังจากผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ตอนที่ 2

จะขอจบซีรีย์ร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยตอนที่ 2 ของสิ่งที่ผมคาดหวังจากฝ่ายต่าง ๆ หลังจากผลลงมติร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าใครยังไม่ได้อ่านตอน 1 ก็เชิญอ่านก่อนได้นะครับ และคิดว่าจะเป็นบล็อกเกี่ยวกับการเมืองบล็อกสุดท้ายในช่วงนี้ก่อนจะถึงการเลือกตั้ง ถ้าไม่มีประเด็นอะไรร้อน ๆ แทรกเข้ามานะครับ สำหรับฝ่ายที่ผมคาดหวังจะเห็นต่อไปก็คือ

1. คสช. และนายก: ผมก็คาดหวังว่าจะทำตาม roadmap ที่วางไว้ และน่าจะเริ่มผ่อนคลายบรรยากาศการควบคุมลงได้แล้ว เพราะตอนนี้ผมว่าไม่น่าจะมีใครมาสนใจจะต่อต้านรัฐประหารกันแล้ว มันล่วงเลยมากันจนป่านนี้แล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ก็รับร่างแล้ว และน่าจะมุ่งหน้าสู่โหมดการเลือกตั้งกัน นายกเคยพูดบ่อย ๆ ในรายการบอกว่าไม่เห็นพรรคการเมืองออกมาพูดเรื่องจะปฏิรูปประเทศยังไง ก็ท่านไม่เปิดโอกาสให้เขาพูดนี่ครับ ไม่ให้เขาดำเนินการอะไรเลย ผมว่าท่านน่าจะเปิดให้เขาเริ่มดำเนินการได้บ้างแล้ว และจะยิ่งดีถ้าท่านจะเปิดโอกาสให้เขาได้เสนอสิ่งที่จะเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะต้องจัดทำขึ้นด้วย ถ้าทำอย่างนี้ได้ มันก็จะหมดข้อครหาว่าท่านทำของท่านคนเดียว และยังจะไปตามควบคุมอีก ถ้าให้เขาช่วยเสนอ เวลาเขาได้ไปเป็นรัฐบาล ก็ไม่ต้องมาควบคุมเขาหรือสั่งเขามาก เขาก็อาจจะอยากทำอยู่แล้ว เพราะมันเป็นสิ่งที่เขามีส่วนเสนอด้วย ค่อย ๆ คืนเสรีภาพในการแสดงออกให้ประชาชน ลองพิจารณายกเลิกข้อหาของคนที่ถูกฟ้องหรือถูกจับในช่วงแรกที่มีการต่อต้านการยึดอำนาจ เพื่อให้บรรยากาศมันเตรียมพร้อมที่จะกลับคืนสู่ประชาธิปไตย (ถึงจะเป็นแบบควบคุมก็เถอะ) ผมว่ามันน่าจะดีกว่าบรรยากาศอึมครึมแบบตอนลงประชามตินะครับ และท่านอาจจะได้ใจของฝ่ายที่ต่อต้านท่านบ้าง ก่อนที่ท่านจะวางมือไปพักผ่อนหลังเกษียณ

2. นักการเมือง: ผลการลงประชามติ ผมว่าส่วนหนึ่งมันสะท้อนนะว่าประชาชนส่วนหนึ่งไม่ไว้ใจนักการเมือง จนยอมมอบอำนาจของตัวเองให้กับคนที่ไม่ได้มาจากเสียงของตัวเอง เหตุที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะนักการเมืองที่ได้อำนาจมามาก ๆ ก็ใช้อำนาจจนเกินพอดีบทเรียนได้มากี่ครั้งก็ไม่เคยจำ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็ฝากความหวังไม่ได้ เพราะไม่สามารถดึงคนที่ไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใดอย่างแน่นอนมาเลือกตัวเองได้ เลยแพ้เลือกตั้งแทบทุกครั้ง แถมพอได้โอกาสมาบ้างก็ยังไม่สามารถสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรมได้ ในประเทศที่เขาเป็นประชาธิปไตยและมีพรรคการเมืองสลับกันเข้ามาบริหารประเทศ เขาก็เหมือนเราคือมันจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่จะเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งอยู่แล้ว เรียกว่าเป็นแฟนพันธ์แท้ แต่มันจะมีประชาชนส่วนหนึ่งที่อยู่ตรงกลาง และพร้อมจะเลือกพรรคใดก็ได้ที่เขาเห็นว่าดีกว่า ดังนั้นมันจึงมีการสลับกันแพ้ชนะ ในเมืองไทยผมว่าก็มีคนแบบนี้ แต่พรรคการเมืองที่แพ้มาตลอดไม่สามารถดึงคนกลุ่มนี้ได้ ดังนั้นนักการเมืองควรใช้เวลาช่วงนี้ในการปฏิรูปตัวเอง และถ้าเขาให้เสนอยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีก็น่าจะเสนอเข้าไป หรือถ้าเขาไม่ให้เสนอก็ลองเสนอยุทธศาสตร์ชาติของตัวเองไปเทียบกับที่รัฐบาลจะจัดทำก็ได้ 

3. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ: ก็ขอให้ร่างกฏหมายประกอบที่จำเป็นให้เร็วที่สุด เอาเท่าที่จำเป็น และเขียนให้มันเข้าใจง่าย ๆ ไม่ต้องตีความหรืออ่านสามตลบก็ไม่รู้เรื่อง และลองดูว่าจะทำยังไงให้มันเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นหน่อย รับฟังเสียงของฝ่ายต่าง ๆ ให้มากขึ้น รวมถึงฟังความเห็นของนักการเมืองบ้างก็ได้ เพราะเขาต้องเป็นคนทำงานภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ หรือจะร่างยังไงที่จะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้มากขึ้น

4. กกต. สำหรับฝ่ายนี้บอกได้เลยว่าผมผิดหวังมาก และเท่าที่รู้คือมันจะต้องมีการร่างกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ก่อนจะเลือกตั้ง ซึ่งผมภาวนาว่าให้กกต.ชุดนี้หายไปเลย และได้ชุดใหม่มาแทน แต่ถ้ายังอยู่ก็ขอให้ปรับปรุงการทำงานของตัวเองอย่างมากเลยนะครับ อย่างคราวนี้มีคนจำนวนมากไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งที่กกต. บอกว่าได้จัดส่งแล้ว คำถามคือมันหายไปไหน วันลงประชามติเท่าที่ฟังมาก็ค่อนข้างมั่ว บางหน่วยปั๊มนิ้ว บางหน่วยไม่ บางหน่วยเซ็นชื่อ บางหน่วยไม่ มาตรฐานอะไรไม่มีสักอย่าง

นี่คือสิ่งที่ผมหวังว่าจะเกิดขึ้นครับ สรุปง่าย ๆ ก็คือขอให้ทุกฝ่ายสร้างบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย ในขณะที่ประเทศของเรามุ่งสู่ประชาธิปไตยนั่นเองครับ อย่างที่บอกผมคงหยุดขียนการเมืองไว้ในช่วงนี้ เพราะมีเรื่องอื่นที่น่าเขียนถึงไม่ว่าจะเป็นผลงานของนักกีฬาไทยในโอลิมปิก พรีเมียร์ลีกจะเปิดฤดูกาลแล้ว และที่ไม่ได้เขียนมานานมากแล้วคือเรืองเกี่ยวกับเทคโนโลยี ก็หวังว่าจะได้เขียนเรื่องเหล่านี้ให้ผู้ที่สนใจได้ติดตามกันนะครับ... 

วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2559

สิ่งที่คาดหวังหลังจากผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ตอนที่ 1

ถึงตอนนี้ผลลัพธ์ก็ออกมาแล้วนะครับว่าคนไทยที่ออกไปลงมติร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วง ยอมรับทั้งสองประการ ด้วยเสียงที่มากกว่าฝ่ายที่ไม่รับอยู่มาก ผมเป็นคนหนึ่งที่อยู่ฝ่ายไม่รับก็ขอยอมรับผลนี้ด้วยความเต็มใจ เพราะนี่คือประชาธิปไตยครับ แต่สิ่งที่ผมคาดหวังหลังจากผลที่เกิดขึ้นมีหลายประการครับ โดยผมจะแบ่งออกเป็นส่วน ๆ ซึ่งในตอนที่ 1 นี้ ขอเขียนถึงประชาชนก่อน

1. ฝ่ายที่ไม่เห็นชอบ ผมเห็นหลายคนออกมาโพสต์แสดงความผิดหวัง ซึ่งอันนี้ระบายได้เป็นเรื่องปกติ แต่บางคนเริ่มต่อว่าคนที่รับว่ารับโดยไม่รู้เรื่องอะไร ผมเข้าใจนะครับว่าผิดหวัง (ผมเองก็ผิดหวัง) พราะหลายคนอาจรู้สึกว่าการรับร่างนี้เท่ากับยอมลดความเป็นประชาธิปไตย แต่การที่คุณตำหนิคนอื่นว่าไปลงมติด้วยความไม่รู้ ก็เท่ากับคุณกำลังลดตัวลงไปเป็นคนพวกเดียวกับที่บอกว่าเสียงคนในเมืองมีคุณภาพกว่าเสียงของคนในชนบทนั่นเอง ผมว่าการลงมติด้วยความเห็นของคนเรา ไม่ว่าเขาจะใช้เหตุผลอะไรในการตัดสินใจไม่ว่า จะเป็นการอ่านร่างมาแล้วเห็นด้วย ฟังคนอื่นมา ลงตามพ่อแม่ รักลุงตู่ ฯลฯ นั่นคือหนึ่งเสียงที่เราต้องเคารพครับ หนึ่งเสียงหนึ่งสิทธิเท่ากัน ระบอบประชาธิปไตยก็อย่างนี้ คราวนี้โหวตแพ้แต่คราวหน้าเราอาจโหวตชนะก็ได้ ความรู้สึกที่ฝ่ายไม่เห็นชอบมีตอนนี้ ก็คงเป็นความรู้สึกเดียวกับฝั่งที่ไม่ชอบทักษิณรู้สึกตอนที่เพื่อไทยชนะและยิ่งลักษณ์ได้เป็นนายก สิ่งที่ต้องทำก็คือตอนนี้ก็รอดูว่าคสช.จะดำเนินการตาม roadmap ที่วางไว้ให้มีการเลือกตั้งปีหน้าได้จริงไหม ยุทธศาสตร์ชาติจะออกมายังไง ประชาชนจะมีส่วนร่วมมากแค่ไหน กฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญทีออกมาจะเป็นยังไง เราจะใช้สิทธิของเราได้อย่างไรในกฏเกณฑ์ที่เราคิดว่ามันไม่เป็นประชาธิปไตย เพื่ออย่างน้อยก็ทำให้ฝั่งที่มีอำนาจได้ตระหนักและระวัง อำนาจที่มีมากมันไม่ได้รับประกันว่ามันจะยั่งยืนหรอกนะครับ ตัวอย่างรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่พังไปจุดเริ่มต้นก็มาจากการนึกว่ามีอำนาจอยู่ในมือแล้วจะทำอะไรก็ได้

2. ฝ่ายที่เห็นชอบ สิ่งแรกก็คืออย่าลำพองและมาเยาะเย้ยหรือดูถูกฝ่ายที่เห็นชอบ คุณควรเคารพความเห็นของเสียงข้างน้อยด้วย ไม่ใช่คิดว่าเป็นพวกโง่ถูกนัการเมืองบิดเบือน ถึงแม้บางคนอาจจะไม่ได้อ่านร่างและโหวตตามนักการเมืองจริง ๆ แต่อย่างที่ผมบอกเราต้องเคารพในเสียงโหวตไม่ว่าเขาจะโหวตด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม และบางคนในกลุ่มนี้ที่เกลียดทักษิณก็คงเคยเป็นเสียงส่วนน้อย และเรียกร้องให้เคารพเสียงส่วนน้อยด้วยมาแล้ว และอย่าลืมว่าพวกคุณเป็นคนมอบอำนาจให้ปัจจัยภายนอกเข้ามาควบคุมคนที่มาจากเสียงของประชาชน ดังนั้นคุณก็มีหน้าที่รับผิดชอบหลักที่จะต้องติดตามว่าอำนาจที่พวกคุณให้เขาไป มันถูกใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศจริง ๆ ไม่ใช่คอยจับผิดจับโกงเฉพาะคนที่ไม่ชอบ แต่ถ้าไม่ใช่คนที่ไม่ชอบก็ปล่อยไป

โดยสรุปสำหรับประชาชนโดยทั่วไปก็คือ ผมไม่อยากให้คิดว่านี่เป็นการแพ้ชนะกัน มันก็เป็นแค่การเลือกกติกาในการปกครองประเทศ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่มีใครรู้หรอกว่ามันดีหรือไม่ดีจนกว่าจะได้ใช้มัน ไม่แน่คนที่โหวตไม่เห็นชอบอยู่ตอนนี้ ในอนาคตอาจจะดีใจเพราะมันอาจจะเป็นกติกาที่เหมาะสมกับประเทศเราก็ได้  สิ่งสำคัญที่เราควรจะยึดถือต่อจากนี้ก็คือเคารพเสียงเคารพความเห็น และให้เกียรติซึ่งกันและกัน ซึ่งถ้าทำได้ผมไม่เห็นความจำเป็นอะไรที่จะต้องมาพูดถึงเรื่องปรองดองอะไรเลย และหน้าที่ของเราก็คือจับตามองผู้มีอำนาจซึ่งเราได้ให้อำนาจเขาไปแล้วว่าเขาจะใช้อำนาจของเขาอย่างไร...  



วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2559

สรุปร่างรัฐธรรมนูญให้แม่ฟัง

ช่วงนี้ผมเขียนบล็อกเรื่องร่างรัฐธรรมนูญบ่อยหน่อยนะครับ เพราะมีประเด็นอยากเขียนผ่านเข้ามา และใกล้วันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแล้ว คือวันนี้ผมได้สรุปเรื่องร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงให้แม่ของผม ซึ่งจะอายุครบ 80 ปีนี้ และแม่ต้องการจะไปลงประชามติครับ แต่แม่ไม่ได้รับร่างฉบับจริง ได้แต่ฉบับหนุมาน แต่เอาจริง ๆ นะผมว่าถึงได้มาแม่ก็คงอ่านแล้วปวดหัวเหมือนที่ผมเป็น ยิ่งถ้าใครได้ดูรายการที่กรรมการร่างคนหนึ่งมาบอกว่าคนที่อ่านรัฐธรรมนูญไม่เป็น คือคนที่อ่านร่างเรียงตามมาตราลงมา ซึ่งถ้าจะอ่านต้องอ่านอย่างเช่นอ่านวรรคแรกของมาตรา 47 แล้วไปอ่านมาตรา 55 แล้วค่อยย้อนกลับมาอ่านวรรคสองของมาตรา 47 ถึงจะเข้าใจซึ่งถ้าต้องอ่านแบบนี้คงเกือบทั้งประเทศก็คงอ่านไม่เป็นกันแน่ ๆ

ดังนั้นแม่ก็เลยถามผมให้ช่วยสรุปให้แม่ฟังหน่อยในฐานะที่ผมอ่านจบแล้ว (ถึงแม้จะไม่ได้อ่านแบบที่กรรมการร่างเขาบอกมาก็ตาม) ผมก็เลยสรุปให้แม่ฟัง โดยบอกแม่ว่าผมอาจเข้าใจผิดก็ได้นะ ผมจะพยายามสรุปในสิ่งที่ผมเข้าใจ แต่บางอันการตีความมันอาจจะเกิดจากอคติของผมก็ได้ ดังนั้นแม่ไม่ต้องเชื่อผมทั้งหมดก็ได้ ซึ่งจากข้อสรุปที่ผมพูดให้แม่ฟัง คิดว่าอาจเป็นประโยชน์ก็เลยมาเขียนบล็อกไว้ให้อ่านกันด้วยครับ

ผมเริ่มจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่เขาว่าเป็นการปราบโกงนี่มันยังไง ผมสรุปง่าย ๆ ให้แม่ฟังว่ารัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้คนที่เคยทุจริต หรือมีอาชีพที่ผิดกฎหมาย จะไม่สามารถเข้ามาทำงานการเมืองได้อีก และยังเพิ่มมาตรฐานเรื่องจริยธรรมเข้ามาพิจารณาด้วย แม่บอกฟังดูก็โอเคนะ ผมก็บอกว่าใช่ แต่ทั้งหลายทั้งปวงมันขึ้นอยู่กับคนที่จะใช้มันว่าจะใช้มันจริงจังหรือยุติธรรมหรือเปล่า

ส่วนเรื่องสิทธิในการรักษาพยาบาลนั้นมีคนบอกว่ามันกำกวม ไม่ชัดเจนเหมือนในฉบับเก่า บางคนไปตีความว่าจะยกเลิกบัตรทอง แต่คณะกรรมการร่างเขาออกมายืนยันว่าไม่ยกเลิกแน่ ซึ่งตรงนี้ผมสรุปให้แม่ฟังว่าไม่มีใครกล้าเลิกหรอก ขนาดรัฐบาลนี้ยังไม่กล้าเลิกเลย ดังนั้นจะรับหรือไม่รับสิทธินี้น่าจะคงอยู่เหมือนเดิม  

เรื่องเรียนฟรี (ซึ่งจริง ๆ ไม่ได้ฟรี) 14 ปี อะไรนี่ ผมก็สรุปว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังคงให้สิทธิเรียนฟรี 12 ปี เพียงแต่เลื่อนลงมาจาก ป.1 ถึง ม.6 มาเป็นอนุบาล 1 ถึง ม.3 แต่ที่เขาบอกว่า 14 ปี เพราะมันมีส่วนของการปฏิรูปประเทศ ซึ่งบอกว่าเด็กเล็ก (เล็กกว่าอนุบาล 1) ต้องได้รับการพัฒนา ก็เลยไปตีความว่านี่คือการเรียนฟรีอีกสองปีเลยกลายเป็น 14 ปี  แต่ประเด็นหลังจาก ม.3 ซึ่งไม่ใช่ภาคบังคับ รัฐธรรมนูญก็บอกประมาณว่ารัฐจะต้องจัดทุนหรืออะไรก็ตามเพื่อส่งเสริมให้ได้เรียนได้ ซึ่งก็มีกระแสไม่พอใจจากคนหลายกลุ่ม แต่ตอนนี้รัฐบาลนี้แก้ปัญหาแล้วโดยการออกมาตรา 44 ว่าส่งเสริมจนจบ  ม.ุ6 หรืออาชีวะ ผมก็สรุปง่าย ๆ ให้แม่ฟังอีกที่ว่า หลังจากนี้ก็ไม่มีรัฐบาลไหนกล้าเลิกหรอก ดังนั้นรับหรือไม่รับก็ได้เรียนฟรีหลังจาก ม. 3 แน่ เพียงแต่ถ้ารับก็ได้เรียนฟรีตั้งแต่อนุบาลเลย

เรื่องเลือกตุั้ง ตอนนี้การเลือก สส. จะไม่เหมือนเดิมคือตามรัฐธรรมนูญนี้จะใช้บัตรใบเดียว ดังนั้นแม่จะทำอย่างที่แม่เคยทำไม่ได้แล้ว คือต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า แม่ผมอาจจะเรียกอย่างไม่เป็นทางการก็ได้ว่าเป็นผู้ใหญ่บ้าน เพราะถ้ามีเรื่องอะไรคนในละแวกบ้านก็จะมาขอให้แม่ช่วยจัดการ อย่างเรื่องขยะอะไรพวกนี้ เพราะแม่ผมเขาชอบจัดการ แม่ก็จะติดต่อไปที่สก. ให้มาดูแล ซึ่งในเขตที่แม่อยู่เป็นพื้นที่ของพรรคหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงแม่ผมเขาเชียร์อีกพรรคหนึ่ง  ดังนั้นเวลาเลือกตั้งแม่ก็แบ่ง เลือกสส.เขต พรรคหนึ่ง บัญชีรายชื่อพรรคหนึ่ง แต่ถ้าแม่รับแม่จะทำอย่างนั้นไม่ได้แล้ว แม่ต้องเลือกเลยว่าจะเอาพรรคไหน แม่บอกว่าไม่ชอบเลยแบบนี้

ส่วนผลลัพธ์หลังจากการเลือกตั้ง จากการวิเคราะห์ของหลายฝ่ายว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่าน และมาใช้ ผลจากการเลือกตั้งจะทำให้ได้รัฐบาลผสม มากกว่าที่จะเป็นรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากพรรคเดียว ซึ่งตรงนี้แม่ทำหน้าเบ้ และบอกว่าไม่ชอบเลย เพราะแม่เคยอยู่ในยุคแบบนั้นมาแล้ว และเห็นว่ารัฐบาลทำงานไม่ค่อยได้ ใช่ผมก็เห็นด้วย แต่ก็ให้แม่คิดในแง่ว่ามีอำนาจมากไปก็มีข้อเสียนะ อย่างออกกฏหมายนิรโทษกรรมสุดซอยจนมีปัญหา ดังนั้นเราก็ต้องเลือกล่ะว่า เราคิดว่าแบบไหนดีกว่ากัน

เรื่องสว. ตามรัฐธรรมนูญมี 200 คน ให้เลือกไขว้กันเองจากกลุ่มอาชีพ อันนี้แม่เฉย ๆ แต่พอบอกว่าแต่ในบทเฉพาะกาล   สว. จะมี 250 คน และคสช.เป็นคนเลือกในขั้นสุดท้าย พูดถึงตรงนี้แม่เบ้หน้า มองบน :)  ยังยังไม่จบแม่ 6 คนในนั้นจะเป็น ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการ ทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แม่เบ้หน้าหนักเข้าไปอีก 555

ศาลรัฐธรรมนูญ (ที่แม่ไม่ชอบ) ยังคงมีอยู่ และอำนาจก็ไม่ได้น้อยลงไปกว่าเดิม แม่ถอนหายใจ

แล้วก็มีหมวดปฎิรูปประเทศ ว่ารัฐจะต้องทำการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ

ประเด็นยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดว่ารัฐบาลจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี ตอนแรกแม่เฉย ๆ นะ คงมึนอันก่อนหน้าที่ผมพูดให้ฟัง แต่พอผมถามว่า หลังจากนี้หนึ่งปีรัฐบาลไหนยังทำงานอยู่เอ่ย พอพูดถึงตอนนี้แม่เบ้หน้า มองบนอีกแล้ว 555

เห็นแม่เริ่มมึนแล้ว ผมก็บอกพอเนอะเรื่องร่างได้ข้อมูลพอจะไปลงแล้วใช่ไหม แม่ก็พยักหน้า

คราวนี้มาดูคำถามพ่วง เอาง่าย ๆ เลยคำถามพ่วงก็คือ ในช่วงห้าปีแรกหลังจากที่เลือกตั้งมีสภาอะไรแล้ว เห็นด้วยไหมที่จะให้สว.มีส่วนร่วมโหวตเลือกนายกด้วย ผมก็ให้ข้อมูลแม่เพิ่มว่าถ้าคำถามนี้ผ่าน หมายความว่า สว. 250 คน จาก คสช. จะได้ช่วยเลือกนายก อย่างน้อย 2 ครั้ง เพราะรัฐบาลหนึ่งชุดมีอายุ 4 ปี และอาจได้เลือกมากกว่า 2 ก็ได้ถ้ารัฐบาลอยู่ไม่ครบวาระ และผมก็บอกว่ามันอาจเกิดหตุการณ์ในแบบตุ๊กตาที่ผมเขียนในบล็อกที่แล้วให้แม่ฟัง  แม่ก็พยักหน้าเข้าใจ และก็ถอนหายใจอีกครั้ง ...


วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ปริศนาร่างรัฐธรรมนูญ

จริง ๆ ว่าจะไม่เขียนอะไรแล้วนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ แต่พออ่านร่างจบ พอเข้าใจบ้างและไม่เข้าใจบ้างก็เลยเกิดคำถาม และประเด็นนี้เท่าที่ติดตามไม่ค่อยเห็นใครพูดถึง คำถามที่เกิดกับผมอันหนึ่งคือข้อนี้ครับ

ถ้ารัฐธรรมนูญนี้ผ่าน และคำถามพ่วงผ่าน

ลองดูตุ๊กตานี้กันนะครับ

สมมติพรรค A เสนอ ปันปัน อยู่ในรายชื่อนายก
พรรค B เสนอ น้ำชา อยู่ในรายชื่อเป็นนายก

พรรค  A เลือกตั้งได้ 350 เสียง
พรรค B ได้ 150 เสียง

เมื่อถึงเวลาโหวตนายก พรรค A 350 คน เสนอปันปัน พรรค B 150 คน เสนอน้ำชา

(ตามมาตรา 159 พรรค B จะเสนอชื่อน้ำชาได้ เพราะได้เสียงเกินร้อยละ 5 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ในตัวอย่างนี้คือ 500 คน คือมี 25 คนก็เสนอได้แล้ว และก็มีเสียงพอที่จะรับรอง เพราะร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้เสียงรับรองร้อยละ 10 ของ ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ในตัวอย่างนี้คือ 500 คน คือมี 50 คนก็รับรองได้แล้ว)

สมาชิกวุฒิสภา 250 คน (ถ้าอ่านแค่มาตรา 107 จะหาว่าผมบิดเบือนเพราะสมาชิกวุฒิสภามี 200 คน แต่ถ้าอ่านมาตรา 269 ซึ่งอยู่ในบทเฉพาะกาล วาระเริ่มแรกสมาชิกวุฒิสภามี 250 คนนะครับ คสช.เป็นคนตัดสินใจขั้นสุดท้าย) เลือกน้ำชา

ดังนั้นเสียงของน้ำชาจะเป็น 400 และได้เป็นนายก และถ้าเป็นอย่างนั้น หมายความว่า

1. เสียงของประชาชนที่เลือกพรรค A ให้ชนะแบบขาดลอย ไม่มีความหมาย
2. น้ำชาจะเป็นนายกที่ลำบากมาก เนื่องจากมีเสียงสส.ในมือน้อยมาก แล้วจะทำงานกันได้ไหม

ไม่รู้เข้าใจถูกไหม ใครตอบได้บ้าง เห็นเขาว่าพรุ่งนี้ (4 ส.ค.) กรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะมาตอบคำถามที่ ThaiPBS ใครมีเวลาว่างช่วยโทรเข้าไปถามหน่อยได้ไหมครับ 

วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

อ่านร่างรัฐธรรมนูญจบแล้วพร้อมจะไปลงมติแล้ว

ไม่ได้เขียนบล็อกนานอีกตามเคย นอกจากไม่มีเวลาแล้ว หัวข้อที่อยากจะเขียนก็รู้สึกไม่สะดวกใจที่จะเขียนในสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ ส่วนเรื่องที่จะเขียนในวันนี้ ก็ตั้งใจว่าถ้าไม่ได้อ่านร่างฉบับจริงจนจบก็จะไม่เขียน

ก่อนที่ผมจะเริ่มอ่านรัฐธรรมนูญผมก็ถามตัวเองว่านี่เราจะเสียเวลามาอ่านไอ้ร่างนี่ดีไหม เพราะอายุมันก็อาจไม่กี่ปี เดี๋ยวก็อาจมีคนลุกขึ้นมาฉีกมันอีก อย่าว่าผมมองโลกในแง่ร้ายเลยครับ ผมเคยมองในแง่ดีว่า หลังจาก พฤษภา 2535 ประเทศเราผมหมายถึงทุกฝ่ายน่าจะได้เรียนรู้กันแล้ว ประเทศเราไม่น่ามีรัฐประหารกันอีก แต่สุดท้ายผมก็คิดผิด

ผมมองว่าปัญหาของประเทศที่ผ่านมามันไม่ได้เกิดจากตัวรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมคิดว่าผมคิดไม่ผิดนะ เพราะถ้ารัฐธรรมนูญมันแก้ปัญหาได้จริง ทำไมยังมีความกลัวกันว่าหลังจากเลือกตั้งแล้วเหตุการณ์จะกลับไปวุ่นวาย จนถึงกับต้องพยายามหาทางร่างรัฐธรรมนูญให้มีบทเฉพาะกาลเอาไว้ มีคำถามพ่วงโดยอ้างว่าเพื่อควบคุมสถานการณ์ในช่วงแรก ซึ่งผมว่ามันไม่มีเหตุผลเอาเลย สมมติมันคุมได้จริง แต่หลังจากผ่านช่วงควบคุมไปแล้วล่ะ มันก็อาจกลับมาวุ่นกันได้ใช่ไหม

ผมเคยคิดว่าจริง ๆ ถ้ามันไม่สำคัญก็ออกไปเสี่ยงหัวก้อยเอาดีไหม หรืออย่างผมที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารควรจะไปออกเสียงเพื่อบอกว่าไม่เห็นด้วยดีไหม แต่ก็ไม่รู้จะออกเสียงยังไงว่าไม่เห็นด้วยเพราะมันก็มีกระแสไม่รับเพื่อให้รัฐบาลนี้อยู่ต่อ แต่เหตุผลที่ผมตัดสินใจอ่านร่างรัฐธรรมนูญก็คือบรรยากาศการลงประชามตินี่แหละครับ คือมันไม่มีความเสรีในการแสดงความคิดเห็น โดยส่วนใหญ่คนที่ออกมาแสดงความเห็นต่างมักจะถูกกล่าวหาจากฝ่ายรัฐว่าบิดเบือน ในอีกมุมหนึ่งก็มีการแสดงความเห็นจากฝ่ายที่ร่างหรือฝ่ายที่เห็นด้วยออกมา และก็ถูกโจมตีเหมือนกันว่าบิดเบือนเกินความจริง แล้วก็มีคำพูดเท่ ๆ ออกมาประมาณว่าตัดสินใจด้วยตัวเองอย่าให้ใครชี้นำ ผมก็ถามตัวเองว่าประชาชนจะตัดสินใจยังไงกันไม่มีข้อมูลอะไรสักอย่าง ไอ้ข้อมูลที่ฟังมาก็ถูกหาว่าบิดเบือน อยากจะฟังความคิดเห็นอย่างเสรีก็หาฟังได้ยากเหลือเกิน หลายคนโดยเฉพาะคนที่เห็นต่างก็ไม่กล้าพูดอะไรมาก ผมก็ชักอยากรู้ความจริงก็เลยตัดสินใจอ่าน

วิธีการที่จะอ่านร่างก็คือเข้าเว็บกกต. แล้วโหลดมาอ่านครับ ผมเริ่มดาวน์โหลดเมื่อเสาร์ที่แล้ว อ่านไปได้หน่อยนึงแล้วก็ไม่ว่างอ่านต่อ จนพยายามทำตัวให้ว่างเพื่อให้ได้อ่านเมื่อวานนี้ครับเริ่มอ่านตั้งแต่สักสี๋โมงเย็นไปจนเสร็จใกล้ ๆ เที่ยงคืน บอกเลยว่าไม่เคยอ่านหนังสือความยาว 105 หน้า ภาษาไทย ช้าแบบนี้มาก่อน เพราะมันเป็นภาษากฏหมายอ่านเข้าใจยาก แล้วก็ยังมีการอ้างถึงมาตราที่ผ่านมาแล้ว หรือมาตราที่อยู่ถัดไป ก็ต้องเลื่อนไปเลื่อนมา ยังนึกในใจว่าทำไม กกต. ไม่ทำเป็น Hypertext หน่อยจะได้ตามง่าย ๆ

อ่านจบแล้วก็ต้องบอกว่าพอเข้าใจคร่าว ๆ ครับ เพราะหลายอย่างก็เป็นภาษากฎหมาย ซึ่งผมว่านักกฎหมายก็อาจตีความกันคนละทางก็ได้  ถ้าทุกคนอ่านแล้วเข้าใจตรงกันหมดก็คงไม่ต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ และก็ทำให้คิดว่าทำไมถึงไม่ยอมให้มีการแสดงความคิดเห็นกันตั้งแต่เนิ่น ๆ และไอ้ที่ว่าบิดเบือนนี่มันเพราะมองกันคนละมุม มองกันคนละมาตราหรือเปล่า อีกอย่างก็ได้เห็นเรื่องบางเรื่องอย่างมาตรการการกำจัดขยะอย่างมีประสิทธิภาพ อ่านแล้วก็ขำว่าเฮ้ยเรื่องแบบนี้ต้องอยู่ในรัฐธรรมนูญด้วยเหรอ

ยังไงก็ตามการอ่านจนจบทำให้ผมคิดว่าตัวเองก็พอจะมีฐานความรู้ที่คิดว่าพอจะบอกได้ว่าอะไรที่มันไม่อยู่ในรัฐธรรมนูญนี้เลย แล้วไปแต่งเติมขยายความกัน อะไรน่าจะเป็นมุมมองที่แตกต่าง และก็ทำให้ตัดสินใจได้ด้วยเหตุผล (ตามความเข้าใจของตัวเองซึ่งอาจเข้าใจผิดก็ได้) บนร่างรัฐธรรมนูญนี้ว่าผมจะรับหรือไม่รับร่างนี้

ถ้าถามว่าผมจะรับหรือไม่ผมคงไม่ตอบในบล็อกนี้นะครับ แต่วิธีคิดของผมจะไม่พิจารณาแค่ประเด็นใดประเด็นหนึ่งอย่างเช่นปราบโกง แล้วไม่สนใจประเด็นอื่นเลยอย่างเรื่องการเมือง อย่างประเด็นปราบโกงผมว่าที่ผ่านมาเรามีกฎหมายอยู่แล้ว แต่คำถามคือคนที่มีอำนาจใช้ใช้มันอย่างไรมากกว่า และจากที่อ่านผมก็ไม่เห็นว่ามันจะยิ่งใหญ่อย่างที่หลาย ๆ คนพูดกัน และไม่คิดว่ามันจะปราบการทุจริตคอรัปชันให้หมดไปได้หรอก ส่วนเรื่องการเมืองผมมองว่าโอกาสที่จะได้รัฐบาลผสมแบบยุคเก่า ๆ มีเยอะมาก ซึ่งก็คงเป็นความตั้งใจของผู้ร่างที่คิดว่าการที่พรรคใดพรรคหนึ่งมีเสียงมากไปมันเป็นปัญหา ซึ่งก็ต้องถามว่าคนที่เคยผ่านยุครัฐบาลแบบที่พรรคแกนนำมีเสียงไม่มาก จำเป็นต้องอาศัยพรรคร่วมนั้นมันมีปัญหายังไง แล้วคิดว่าแบบไหนดีกว่า ดังนั้นที่ผมทำก็คือพิจารณาข้อที่คิดว่าดีและเสียและให้น้ำหนักในหลาย ๆ ด้านประกอบกัน แต่ถ้าใครจะมองประเด็นใดประเด็นหนึ่งเป็นหลักก็ไม่ผิดนะครับ เช่นจะมองเรื่องปราบโกง เรื่องการเมือง เรื่องสิทธิเสรีภาพ หรือสวัสดิการอย่างเดียวก็ได้ แล้วแต่เลยครับ

อ้อ แล้วอย่าลืมคำถามพ่วงด้วยนะครับ คำถามพ่วงสรุปง่าย ๆ ก็คือเห็นด้วยไหมใน 5 ปีแรกที่จะให้สว.มีส่วนร่วมในการโหวตนายก ซึ่งประเด็นนี้ผมขอเพิ่มเติมว่าตามบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญนี้ สว. ชุดแรกจากรัฐธรรมนูญนี้ตามมาตรา 269 จะได้มาจากการตัดสินใจของคสช. ในขั้นสุดท้าย และ 5 ปี หมายความว่า สว. จะสามารถร่วมเลือกนายกได้สองครั้ง ถ้ารัฐบาลชุดแรกจากรัฐธรรมนูญนี้อยู่ครบวาระ 4 ปี และอาจได้เลือกมากกว่าสองครั้งถ้าใน 5 ปีนี้ มีการยุบสภา และต้องเลือกตั้งใหม่กันหลายครั้ง

สุดท้ายผมก็ยังเชื่อว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้ารัฐธรรมนูญนี้ (ถ้าผ่าน) ก็คงถูกฉีกทิ้งเหมือนที่ผ่าน ๆ มา แต่ยังไงผมก็อยากให้ทุกคนที่สามารถอ่านได้อ่านนะครับ แล้วก็ไปแสดงความเห็นของเราต่อร่างนี้โดยไม่ต้องเอาเหตุผลอื่นใดนอกเหนือจากที่เขียนอยู่ในร่างนี้ อย่างน้อยก็ให้คนที่เขาเสียเวลาร่างขึ้นมาและคนที่เข้ามายึดอำนาจการบริหารประเทศ ได้เห็นความคิดของคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ครับ  อย่าลืมนะครับ อาทิตย์ 7 สิงหาคม 2559 8.00-16.00 ครับ




วันศุกร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2558

เรื่องสั้น:ศาลรัฐธรรมนูญกับ Hate Speech

บล็อกแรกของปีนี้ขอแต่งเรื่องสั้นให้อ่านสักเรืองหนึ่งนะครับ เรื่องสั้นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากข่าวนี้ http://news.voicetv.co.th/thailand/154995.html คือข่าวที่จะมีการบรรจุเรื่อง Hate Speech ซึ่งก็คือคำพูดหรือความเห็นที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังซึ่งกันและกันลงในรัฐธรรมนูญ โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้กำหนดบรรทัดฐาน พออ่านข่าวปุ๊บผมก็ได้พล็อตเรื่องสั้นในหัวเลยครับ เลยจะลองเขียนมาให้อ่านกันเผื่อจะยึดเป็นอาชีพหลังเกษียณได้ ขอย้ำนะครับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องแต่งขึ้นทั้งหมด ตัวละครที่ปรากฏอยู่ในเรื่องนี้มิได้มีความสัมพันธ์กับบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริง

แนะนำตัวละคร
นายเหลือง: ผู้นำกลุ่มการเมืองที่เกลียดอีปูวและครอบครัวเป็นอย่างมาก
นายแดง: ผู้นำกลุ่มการเมืองที่รักชอบอีปูวและครอบครัว และเกลียดนายมากเป็นอย่างยิ่ง
อีปูว: นักการเมืองหญิงที่นายเหลืองเกลียดชังเป็นอย่างมาก
นายมาก: นักการเมืองขั้วตรงข้ามกับอีปูว ซึ่งนายแดงเกลียดเป็นอย่างมาก นายเหลืองก็ไม่ได้ชอบนายมากเท่าไร แต่ก็ยังเกลียดน้อยกว่าอีปูว
ศาล1 และศาล2: ตัวแทนของ ตลก. ศาลรัฐธรรมนูญแห่งประเทศสารขัณฑ์

เรื่องนี้เกิดขึ้นในประเทศสารขัณฑ์ หลังจากที่ประชาชนชาวสารขัณฑ์ได้ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับริดรอนสิทธิ โดยให้คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีสิทธิเหนือกว่าคนที่มาจากการเลือกตั้ง และเรื่อง Hate Speech ก็ถูกบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย โดยมอบให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ดูแลเรื่อง Hate Speech นี้ การที่ชาวสารขัณฑ์จำเป็นต้องรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เพราะเริ่มเบื่อหน่ายกับการฟังเพลงจำได้ไหม... หลังหกโมงเย็นเกือบทุกวัน และต้องฟังท่านผู้นำทุกสองทุ่มวันศุกร์ ถ้าไม่รับรัฐธรรมนูญท่านผู้นำก็จะอยู่ต่อไป ก็เลยออกไปลงมติรับรัฐธรรมนูญกัน

เรื่องนี้เริ่มจากนายเหลืองได้โพสต์ข้อความลงในเครือข่ายสังคมที่เป็นที่นิยมในประเทศสารขัณฑ์ได้แก่ FeetBook ว่า "อีปูว อีโง่" และนายแดงได้เห็นข้อความนี้จึงได้นำเรื่องไปยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในประเด็น Hate Speech โดยได้กล่าวหานายเหลืองว่าได้โพสต์ข้อความที่แสดงความกลียดชังต่ออีปูว และจะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในชาติ ศาลรัฐธรรมนูญจึงได้เรียกนายแดงมาไต่สวน

ศาล1: "ศาลคิดว่าเรื่องที่โจทย์ยื่นมาน่าจะหมดอายุความแล้วนะ"
นายแดง: "ยังไม่หมดมั้งครับ เขาโพสต์เมื่อวานวันนี้ผมก็ยื่นเลย"
ศาล1: "เออจริง ขอโทษทีศาลดูปฏิทินผิดไป"
ศาล2: "ทำไมโจทย์ถึงรีบยื่นฟ้องจัง ทำไมไม่รอให้ถนนลูกรังในประเทศหมดไปก่อนล่ะ"
นายแดง: ????
ศาล1: "คงไม่เกี่ยวกับถนนลูกรังมั้งครับท่าน มันคนละคดีกัน คดีนั้นมันรถไฟความเร็วสูง"
ศาล2: "เออจริง ผมเผลอไป เอาอย่างนี้ศาลขอรับเรื่องนี้ไว้พิจารณาสัก 6 เดือนนะ มันเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้เวลาพิจารณา"

6 เดือนผ่านไป ถึงวันพิพากษา

ศาล1: "โจทย์และจำเลยรับฟังคำพิพากษา หลังจากที่ได้พิจารณาอย่างกว้างขวางมา 6 เดือน โดยศาลได้สอบถามจากภรรยา และลูกสาวของศาลได้ความว่าในหนังซีรีย์ต่างประเทศการใช้คำว่าโง่นั้นไม่ได้มีความหมายเป็นคำด่า แต่เป็นคำเรียกกันด้วยความเอ็นดูเช่นเด็กโง่เอ๊ย หรือรักนะเด็กโง่เป็นต้น ดังนั้นการที่นายเหลืองโพสต์ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์ FeetBook ว่าอีปูว อีโง่นั้นจึงเป็นการเรียกอีปูวด้วยความเอ็นดูไม่ใช่การใช้ Hate Speech แต่อย่างใด ดังนั้นพิพากษายกฟ้อง"

หลังจากนั้นนายแดงจึงไปโพสต์ข้อความใน FeetBook ว่า "นายมาก ไอ้โง่" เมื่อนายเหลืองเห็นข้อความดังกล่าวจึงไปบื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญด้วยข้อหาเดียวกัน

นายแดง: "แกจะไปยื่นฟ้องฉันทำไม ศาลก็เพิ่งตัดสินมาว่าคำว่าโง่เป็นการเรียกด้วยความเอ็นดู"
นายเหลือง: "แกคอยดูก็แล้วกัน"

ซึ่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องก็รีบดำเนินการทันที เนื่องจากมีความเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ซึ่งอาจสร้างความขัดแย้งในชาติได้ โดยได้นัดกันประชุมตอนเช้าและรีบเขียนคำพิพากษาให้เสร็จในตอนบ่าย ซึ่งคำพิพากษามีดังนี้

ศาล1: "ศาลพิเคราะห์จากคำฟ้อง และดูจากละครไทยที่ตัวละครมักจะด่ากันด้วยคำว่าโง่ ดังนั้นคำว่าโง่จึงมีความหมายทำให้ผู้ที่ถูกด่าและผู้ที่สนับสนุนเกิดความไม่พอใจ จนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งในชาติ ดังนั้นการที่นายแดงไปโพสต์ข้อความในเครือข่ายสังคมอย่าง FeetBook ว่านายมาก ไอ้โง่ จึงเข้าข่ายการใช้ Hate Speech สร้างความขัดแย้งในชาติ พิพากษาให้นายแดงมีความผิดต้องประหารชีวิต หวังเฉา หม่าฮั่น เตรียมเครื่องประหารหัวสุนัข"

อ้าวไปกันใหญ่แล้ว ทำไมมาจบที่ศาลไคฟงได้ สงสัยเราคงหากินทางนักเขียนไม่ได้จริง ๆ แฮะ จบตรงนี้เลยแล้วกันนะครับ...







วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ลดความขัดแย้งเริ่มได้ที่ตัวเรา

ขณะที่เขียนบล็อกนี้ประเทศไทยของเราก็เกิดรัฐประหารมาได้สักห้าวันแล้วนะครับ ก็มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียกคนเข้าไปรายงานตัว มีทั้งคนที่ชื่นชมเอาดอกไม้ไปขอบคุณทหาร และก็มีคนที่ไม่กลัวปืนออกมาแสดงการต่อต้านด้วย แต่สิ่งที่ไม่มีแล้วคือม็อบกกปส. กับนปช. ครับ :) สำหรับบล็อกวันนี้ผมอยากเสนอแนวคิดให้ไปลองพิจารณากันครับว่าเราจะช่วยกันลดความขัดแย้งในชาติลงได้ยังไง ซึ่งผมจะขอเขียนโดยแบ่งออกเป็นสองฝ่ายหลัก ๆ นะครับ คือเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร

สำหรับคนที่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ถ้าต้องการจะให้การรัฐประหารนี้มีผลสำเร็จอยู่บ้างในเรื่องลดความขัดแย้งแนะนำว่าให้เลิกการโพสต์ข้อความด่าว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ยกย่องตัวเองว่าดีเลิศเลอเป็นผู้รักชาติ คนที่ไม่เห็นด้วยเป็นพวกที่ไม่รักชาติ เป็นพวกโลกสวยที่วัน ๆ ฝันหาแต่การเลือกตั้ง เป็นพวกโง่ที่คิดว่าประชาธิปไตยคือการไปเลือกตั้งแล้วปล่อยให้คนโกงไปอีกสี่ปี ที่หนักว่านั้นคือไปไล่เขาว่าถ้าอึดอัดนักก็ไปอยู่ที่อื่นสิ ลองถามตัวเองดูนะครับว่าตัวเองใช้สิทธิอะไรข้อไหนถึงจะไปไล่คนอื่นได้ ถ้าเขาอึดอัดเพราะคุณทำไมเขาถึงต้องไป จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนที่มีความคิดแบบคุณเป็นเพียงคนส่วนน้อยของประเทศ ลองออกจากอคติที่ครอบตัวเองอยู่ ค่อย ๆ อ่าน ค่อย ๆ คิดดูว่าคนที่เขาไม่เห็นด้วยนี่เขามีเหตุผลอะไรบ้าง มันเป็นไปได้นะครับที่คนที่ออกมาไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารในครั้งนี้อาจเคยเป็นคนที่ไปเดินอยู่ข้าง ๆ คุณ ตอนพรบ.นิรโทษกรรม อาจเป็นคนที่นั่งอยู่ข้าง ๆ คุณ ขณะฟังปราศัยของวิทยากร กกปส.  และที่ไม่สบายใจมาก ๆ ก็คือบางคนถึงกับบอกว่าระบบเผด็จการแบบนี้น่ะดีแล้ว เผด็จการไม่เป็นไรขอให้ได้ฆ่านักการเมืองชั่ว อยากบอกว่าถ้าหลังจากนี้เผด็จการมันชั่วซะเองเลือดคงนองแผ่นดินกันอีกครั้ง ถ้าไม่เข้าใจก็ลองกลับไปอ่านประวัติศาสตร์ที่คนเดือนตุลา 2516 เขาช่วยกันโค่นล้มเผด็จการกันก็ดีนะครับ

ในขณะเดียวกันผู้ที่ต่อต้านรัฐประหารก็ควรปฏิบัติเช่นกันออกจากอคติที่ครอบตัวเอง ไม่ด่าว่าคนที่เขาเห็นด้วยกับรัฐประหารด้วยถ้อยคำที่รุนแรง หรืออาจไล่เขาไปอยู่ที่อื่นเช่นกัน ลองทำความเข้าใจศึกษาที่มาที่ไปของการเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ ลองรับฟังความคิดของอีกฝั่งหนึ่ง และอาจจะต้องฝืนใจลองให้โอกาสกับทหารซึ่งเขาก็อาจไม่อยากทำแบบนี้ ซึ่งผมบอกตามตรงว่าก็เป็นคนหนึ่งที่คิดว่าการรัฐประหารเป็นเรื่องล้าหลังและควรหมดไปจากประเทศไทยได้แล้ว และผมคิดว่ามันยังมีทางเลือกอื่น เช่นการให้สัตยาบันเรืองการปฏิรูป ทำประชามติ แล้วก็ไปเลือกตั้ง ผมไม่คิดว่าการรัฐประหารครั้งนี้จะทำให้เราสามารถกำจัดนักการเมืองชั่ว ๆ หรือปัญหาคอรัปชันให้หมดไปได้ คือมันเกิดมาหลายครั้งแล้ว และทุกครั้งที่เกิดก็แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า และยิ่งไปว่านั้นยังเป็นการตัดวงจรประชาธิปไตยอีกด้วย แต่ถ้าถามว่านับตั้งแต่ผมรู้ความติดตามการเมืองมา ผมอาจต้องยอมรับด้วยความเจ็บปวดว่าการรัฐประหารครั้งนี้มีเหตุผลที่สุดเมื่อเทียบกับทุกครั้งที่ผ่านมา เรามีนักการเมืองที่เลวร้ายคิดถึงแต่ประโยชน์ตัวเอง เรามีสื่อเลือกข้างไม่รายงานความจริง เรามีนักวิชาการที่ไม่ได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นธรรม เรามีนักกฏหมายที่ตีความกฏหมายเข้าข้างตัวเอง เรามีองค์กรอิสระที่ไม่สามารถสร้างความเชื่อถือในด้านความยุติธรรมได้ และสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุดเรามีประชาชนที่ไม่รับฟังเหตุผลซึ่งกันและกันและบางคนอาจพร้อมที่จะฆ่ากันด้วย ด้วยปัจจัยทั้งหลายที่กล่าวมา มันอาจทำให้ทหารคิดว่าคงต้องทำอย่างนี้ ดังนั้นฝ่ายไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ก็อาจต้องทำใจและลองถามตัวเองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นถึงตอนนี้มีอะไรเลวร้ายกว่าที่มันเกิดมากว่าครึ่งปีไหม ลองทำใจคิดว่านี่มันก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่งหลังจากที่พวกนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจที่ควรจะทำอะไรได้ดีกว่านี้แต่ไม่ยอมทำ

ไหน ๆ การรัฐประหารมันก็เกิดขึ้นแล้ว ผมว่าตอนนี้สิ่งที่พวกเราไม่ว่าฝ่ายไหนควรจะทำต่อไปก็คือ การจับตาดูสิ่งที่ทหารจะทำครับว่าเขาทำทุกอย่างโปร่งใส ให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย และทำเพื่อแก้ปัญหาของชาติจริงไหม และเขาจะคืนอำนาจกลับมาให้กับเราเมื่อไหร่ (ซึ่งตรงนี้ผมว่าทหารควรจะต้องรีบให้คำตอบ) หรือจะยึดยาวไปเลย (ซึ่งผมภาวนาว่าอย่าให้เป็นอย่างนั้น) การประท้วงที่ผ่านมาผมก็ว่าพอเป็นสัญลักษณ์ให้ทหารได้เห็นแล้วว่าถ้าเมื่อไรเขาล้ำเส้นก็จะมีคนที่พร้อมจะออกมาต่อต้าน และเขาคงไม่อยากให้เกิดเหตุูการณ์ตุลาคม 2516 หรือพฤษภาคม 2535 ขึ้นอีกหรอกครับ ต่อจากนี้เราลองให้โอกาสเขาดู และในส่วนของพวกเราที่จะทำได้ก็คือลดความขัดแย้งในหมู่พวกเรากันเองด้วยการไม่โพสต์ข้อความยั่วยุแสดงความเกลียดชัง ถกเถียงกันด้วยเหตุผล ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็จะทำให้เป้าหมายหนึ่งของการรัฐประหารครั้งคือการลดความขัดแย้งได้สำเร็จลง และอาจทำให้เขาคืนอำนาจอธิปไตยกลับมาได้เร็วขึ้น เริ่มที่ตัวเราหยุดสร้างความขัดแย้งกันเถอะครับ...

วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เลือกตั้งครั้งนี้จะได้อะไร

ใกล้วันเลือกตั้งเข้ามาแล้ว ซึ่งปีนี้เป็นปีที่แปลกครับ เพราะมีการรณรงค์คัดค้านการเลือกตั้ง การไปเลือกตั้งสำหรับคนบางคนกลับกลายเป็นการแสดงความไม่รักชาติ บางคนก็ลังเลไม่รู้ว่าควรจะไปเลือกตั้งดีไหม เรียกว่าจะทำอะไรก็กลัวไปหมดจะไปเลือกก็กลัวกลายเป็นขี้ข้าทักษิณ จะไม่ไปเลือกก็กลัวจะกลายเป็นพวกไม่รักประชาธิปไตยแพ้แล้วพาล ซึ่งผมอยากบอกว่าอย่าให้มายาคติเหล่านี้มาทำให้เราสับสนครับ ผมมองว่าคนส่วนใหญ่ทั้งคนที่เห็นด้วยกับกปปส.และคนที่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งล้วนแล้วแต่เป็นคนที่รักชาติ เพียงแต่มีมุมมองหรือชุดความคิดต่อการแก้ปัญหาที่ต่างกันเท่านั้น ดังนั้นอย่ากลัวที่จะไปใช้สิทธิตามความเชื่อของเราครับ และคงต้องขอร้องโดยเฉพาะกกปส.ว่าอย่าไปขัดขวางคนที่เขาต้องการไปเลือกตั้งครับ เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ผมเชื่อว่ามันมีสิ่งที่จะได้ตามมาหลายอย่างครับ ไม่ใช่แค่ผลาญเงินสามพันล้านแล้วไม่ได้อะไร ลองมาดูกันครับ

ก่อนอื่นผมขอไม่พูดถึงคนที่ต้องการออกมาเลือกพรรคเพื่อไทยหรือพรรคอื่น ๆ นะครับอันนั้นก็เป็นสิทธิของพวกคุณครับ แต่ผมอยากจะพูดถึงคนที่ไม่เห็นด้วยกับเพื่อไทยแต่ก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการของกกปส. เพราะคนกลุ่มนี้แหละครับที่มีความสับสนมากว่าจะทำอะไรกันดี  และผมก็เป็นหนึ่งในนั้น ในส่วนตัวผมผมชัดเจนว่าผมไปโหวตโนแน่  ในตอนแรกผมคิดว่าเราน่าจะรณรงค์ให้คนที่ไม่ชอบเพื่อไทยซึ่งหมายรวมถึงกกปส.ด้วยให้ออกมาโหวตโนกัน ถ้ามวลมหาประชาชนมีจำนวนมากจริง ๆ เสียงโหวตโนจะต้องมากกว่าเสียงที่เพื่อไทยได้ ซึ่งตรงนี้ถึงแม้มันจะไม่มีผลทางนิติศาสตร์แต่ผมว่ามันมีผลทางรัฐศาสตร์นะครับ เพราะรัฐบาลจะไม่สามารถอ้างได้ว่าตัวเองเป็นเสียงข้างมากอีกแล้ว และน่าจะต้องรีบทำเรื่องปฏิรูปตามที่ประชาชนต้องการ

แต่คิดอีกทีจากการประมวลจากหลากหลายความคิดที่แสดงกันออกมาในช่วงนี้ ผมกลับมองใหม่ครับว่า กกปส.ไหน ๆ ก็รณรงค์กันมานานแล้ว ก็ให้ยึดกับแนวทางเดิมไปเลยคือไม่ต้องไปเลือกตั้งกัน แต่ก็อย่าไปขัดขวางคนที่เขาจะไปเลือกนะครับ เพราะถ้าปล่อยให้เป็นไปเป็นแบบนี้สิ่งที่จะได้มาก็คือถ้าจำนวนมวลมหาประชาชนเป็นคนส่วนมากของประเทศจริง ๆ เราจะต้องได้จำนวนคนที่ไม่ไปเลือกตั้งมากกว่าคนที่ไปเลือกตั้ง ซึ่งตรงนี้ผมว่ามันเหมือนเป็นการทำประชามติได้นะครับ ให้มองว่าเงินสามพันล้านที่เสียไปในการจัดการเลือกตั้งคราวนี้เป็นค่าใช้จ่ายการทำประชามติซะก็แล้วกัน ซึ่งถ้าเกิดขึ้นแบบนี้จริง ๆ กกปส.จะได้ความชอบธรรมมากขึ้นแน่นอนครับ ผมคนหนึ่งล่ะที่จะไม่บ่นในสิ่งที่กกปส.จะทำ เพราะถือว่าได้ฉันทามติแล้ว ผมมองว่าถ้าเป็นอย่างนี้กกปส.มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้พรรคที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาทำตามสิ่งที่ต้องการ เช่นยื่นเงื่อนไขว่าขอไม่ให้คุณยิ่งลักษณ์ หรือคนที่เกี่ยวข้องกับตระกูลชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี ลองเลือกสักคนจากสส.พรรคเพื่อไทย (ซึ่งก็น่าจะมีคนดีอยู่บ้างล่ะน่าหรือเอาที่คิดว่าเลวน้อยสุดก็ได้) เพราะรัฐธรรมนูญบอกว่านายกต้องมาจาก สส. จากนั้นนำเสนอบุคคลที่คิดว่าควรจะเป็นรัฐมนตรีเข้าไป จะตั้งสภาประชาชนขึ้นมา จะแก้กฏหมายก็ยิ่งง่ายเพราะตอนนี้มีสภานิติบัญญัติแล้ว

ในกรณีที่มวลมหาประชาชนไม่ได้เป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศจริงคือมีคนไปเลือกตั้งมากกว่าคนไม่ไปเลือก ก็ยังไม่เป็นไรเพราะผมมองว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีคนโหวตโนกันมาก อย่างน้อยคนที่เคยเลือกประชาธิปัตย์ก็น่าจะโหวตโนกันนะ ตรงนี้ถ้าจำนวนคนที่ไม่ไปเลือกกับคนโหวตโนมีจำนวนมากกว่าคะแนนเสียงที่เพื่อไทยได้ ผมว่ามันก็จะเข้ากรณีแรกคือมีผลทางรัฐศาสตร์ที่ทำให้รัฐบาลสำนึกตัวว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้เขาไม่เอาคุณนะ ดังนั้นรีบปฏิรูปตามที่สัญญาไว้ซะ และอย่าทำอะไรแบบนิรโทษสุดซอยอีก เพราะถ้าทำคราวนี้คนส่วนใหญ่ของประเทศออกมาจัดการคุณแน่ แต่ถ้าสุดท้ายคนที่เลือกเพื่อไทยยังคงมากกว่าเสียงของโหวตโนและโนโหวตก็คงต้องยอมรับ แต่ยังไงก็ตามผมยังเชื่อนะว่าเพื่อไทยก็จะไม่กล้าทำอะไรที่เลวร้ายมาก ๆ อย่างที่ผ่านมาอีกแน่

ถึงตรงนี้หลายคนอาจคิดว่าผมเป็นพวกโลกสวยรัฐบาลแบบนี้มันไม่ยอมทำอะไรแบบนี้หรอก ก็ไม่รู้สินะครับ ผมมองว่าไม่ว่าใครที่ได้รับเสียงที่เลือกเข้ามาน้อยกว่าเสียงที่ไม่เลือก เขาไม่น่าจะกล้าทำอะไรที่ขัดความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ และถ้าจะพูดเรื่องโลกสวยผมว่าคนในกกปส.นี่โลกสวยกว่าผมอีกนะ ที่คิดกันว่าการปฏิรูป (ที่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะทำอะไรบ้าง) ในช่วงประมาณปีครึ่ง จะแก้ปัญหาที่เกาะกินประเทศเรามาเป็นสิบ ๆ ปี อย่างเรื่องนักการเมืองด้อยคุณภาพ การทุจริตในทุกระดับได้ ไม่ใช่ผมไม่อยากได้นะอะไรแบบนี้ แต่ผมมองว่าประเทศเราผ่านการปฏิวัติกันมากันตั้งหลายครั้ง ทุกครั้งก็มีการร่างกติกาการปกครองประเทศขึ้นมาใหม่ ซึ่งแต่ละครั้งก็บอกว่านี่คือกติกาที่ดีที่สุดแล้ว จะแก้ปัญหาได้ แต่สุดท้ายเป็นยังไงครับ ขนาดรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ซึ่งแต่ก่อนก็ว่าดีนักดีหนา ก็ยังกันคนโกงไม่ได้ ผมว่าปัญหาแบบนี้มันจะต้องค่อย ๆ แก้กันไปให้มีการเรียนรู้กันไป ซึ่งผมมองว่าประเทศเราก็เดินหน้ามาเรื่อย ๆ นะ อย่างน้อยตอนหลังมานี้เราได้เห็นการแข่งขันกันด้านนโยบายมากขึ้น และมันทำให้คนได้เรียนรู้ว่านโยบายแบบไหนทีที่มันไม่ยั่งยืนและสร้างความเสียหาย อย่างเช่นนโยบายจำนำข้าวนี่ผมเชื่อว่าชาวนาหลายคนก็ได้เรียนรู้แล้วและเขาไม่น่าจะเลือกเพื่อไทยเข้ามาอีก

สุดท้ายผมก็อยากบอกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มาถึงขนาดนี้แล้วควรจะเดินหน้าต่อไป ไม่ว่าสุดท้ายมันจะเป็นโมฆะหรือไม่ อยากขออย่างเดียวว่าไม่ว่าจะคิดเห็นต่างกันอย่างไรก็อย่าไปละเมิดสิทธิของคนอื่น ผมเชื่อว่าเงินสามพันล้านที่เราใช้ลงไปกับการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ จะให้อะไรกลับมาครับนั่นคือมันจะเป็นตัวแสดงความเห็นของคนทั้งประเทศ

วันเสาร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2557

รายการความเห็นทางการเมืองของตัวเอง

ผ่านปีใหม่มากว่าครึ่งเดือนแล้วเวลาเร็วจริง ๆ ครับ แต่การประท้วงในประเทศเราก็ยังดำเนินต่อไป โดยยังไม่รู้ว่ามันจะไปจบลงยังไง วันนี้ก็เลยอยากลิสต์รายการความเห็นทางการเมืองของตัวเองออกมาสักหน่อยครับ จะได้เข้าใจตัวเองด้วยว่าตัวเองคิดอย่างไรกันแน่ เพราะทุกวันนี้ดูช่องดาวเทียมมาก ๆ เข้ามันชักจะเพี้ยนวันไหนดูบลูสกายมากไปหน่อยก็ดูจะกลายร่างเป็นสาวกลุงกำนันออกมาร้องเพลงสู้ต่อไปอย่าได้ถอย ... หรือวันไหนดู Asia Update มาก ๆ เข้าก็เกือบจะวิ่งไปหาเสื้อแดงมาใส่ และการทำรายการความเห็นนี้ก็เผื่อจะทำให้ได้เข้าใจกันว่าในประเทศนี้มันไม่ได้มีแต่คนรู้ทันและขับไล่ทักษิณกับคนที่เป็นเป็นพวกทักษิณเท่านั้น จะตรงใจใครไม่ตรงใจใครยังไงก็ขอโทษด้วยนะครับ

  1. ไม่ชอบทักษิณ ไม่ชอบประชาธิปัตย์ ไม่เหลือง ไม่แดง ไม่ขาว ไม่หลากสี แต่ชอบทำอะไรที่มันอยู่ในหลักการ มีความชัดเจนและถูกกฏหมาย
  2. ไม่ชอบละเมิดสิทธิใครและไม่ชอบถูกละเมิดสิทธิ
  3. ไม่ใช่คนดีเลิศเลอ แต่ก็คิดว่าตัวเองไม่ใช่คนเลว เพราะแค่ไม่ออกมาร่วมประท้วง
  4. ไม่เห็นด้วยกับพรบ.นิรโทษกรรมไม่ยอมให้มีการโกงและได้ลงชื่อคัดค้านแล้ว และก็รู้สึกพอใจที่รัฐบาลยุบสภาและคืนอำนาจมาให้ประชาชน ตอนแรกตั้งใจว่าจะยอมเลือกประชาธิปัตย์ เพื่อลงโทษเพื่อไทย แต่ตอนนี้เมื่อประชาธิปัตย์ไม่ลง ก็กำลังมองดูพรรคอื่นอยู่ หรือไม่ก็โหวตโน
  5. เห็นว่ารัฐบาลขาดความชอบธรรม
  6. นายกยิ่งลักษณ์ และคนตระกูลชินวัตรควรวางมือจากการเมืองไปก่อน ไม่น่าลงสมัครเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อแสดงความจริงใจในการปฏิรูป และแสดงว่าเสียใจต่อสิ่งที่ได้กระทำไป 
  7. หนึงคนหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากัน
  8. การที่คนเรามีเสรีภาพไม่ได้หมายความว่าจะทำอะไรก็ได้โดยผิดกฏหมาย และไม่เคารพสิทธิของคนอื่น จริง ๆ เราทุกคนถูกจำกัดเสรีภาพอยู่แล้วนะครับ นั่นคือกฏหมาย
  9. ไม่ว่าอะไรที่จะช่วยชาวนา หรือเกษตรกร แต่เห็นว่าควรจะช่วยเขาในด้านอื่นเช่นลดต้นทุนการผลิต สนับสนุนการจัดตั้งสหกรณ์เพื่อให้ชาวนาสามารถต่อรองกับพ่อค้าข้าวได้ หรือจัดให้มีบริษัทรับประกันมารับประกันความเสียหายของผลผลิต โดยรัฐบาลช่วยออกค่าเบี้ยประกัยให้เป็นต้น 
  10. ไม่ชอบวิธีการจัดการโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่ปล่อยให้มีการโกง ทำให้ตลาดข้าวเสียหาย และดีใจที่ปปช.กำลังดำเนินการเรื่องนี้ ตรงนี้อยากให้ผู้ที่ประท้วงเห็นว่ามันมีวิธีการตามกฏหมายที่จัดการกับคนโกงได้ แต่มันอาจต้องใช้เวลาหน่อย
  11. ไม่ศรัทธาศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้ มีความเห็นว่าตัดสินไม่มีหลักการ มีอคติ และไม่มีวิสัยทัศน์
  12. เห็นด้วยกับการปฏิรูปโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่แก้กฏหมายให้ลงโทษประหารกับคนโกง และคดีเกี่ยวกับการโกงไม่มีหมดอายุ
  13. ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมยืดเยื้อของ กกปส. เพราะเห็นว่าเป็นการทำที่ผิดหลักกฏหมาย การที่เราจะจัดการคนทำผิดกฏหมายตัวเราไม่ควรทำผิดกฏหมาย เมื่อมันมีช่องทางตามกฏหมายให้ทำได้
  14. เข้าใจว่าผู้ที่ออกมาร่วมชุมนุมกับกกปส.ส่วนใหญ่เป็นคนที่หวังดีและรักชาติ แต่คนที่ไม่ได้ออกมาไม่ได้หมายความว่าเขาไม่รักชาติ แต่เขาคิดต่างกับผู้ชุมนุมกกปส. การที่คนเหล่านี้ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของกปปส. และต้องการไปเลือกตั้งคนเหล่านี่กลายเป็นคนโง่และไม่รักชาติหรือ
  15. ไม่ชอบที่เอาคนต่างชาติมาอ้างบอกว่าดูสิคนต่างชาติยังออกมาทำไมคนไทยไม่ออกมาไม่รักชาติหรือ แต่ไปต่อว่าคนต่างชาติที่แสดงความไม่เห็นด้วย
  16. ไม่ต้องการถูกปิดตาเดินไปโดยแค่มีคนมาบอกว่าไปเส้นทางนี้เถอะเดี๋ยวดีเอง โดยคนที่มาบอกก็ไม่มีความชัดเจนว่าเส้นทางที่จะไปเป็นยังไง ซึ่งแปลกใจมากที่มีอาจารย์นักวิจัยมากมายที่เห็นด้วยกับวิธีการนี้ ตัวผู้เขียนเป็นอาจารย์ที่ควบคุมงานวิจัย ถ้ามีลูกศิษย์มาเสนอว่าจะทำวิจัยเราจะต้องชัดเจนเรื่องระเบียบวิธีวิจัยก่อนนะครับ 
  17. ไม่เห็นด้วยกับกปปส.เพราะไม่มีความชัดเจนใด ๆ จะปฏิรูปอะไรบ้าง และจะทำยังไงถ้าต้องมีการแก้กฏหมายแต่ไม่มีสภานิติบัญญัติ และไม่มีอะไรมารับประกันว่ามันจะแก้ปัญหาได้จริง ดูอย่างการรัฐประหารหรือการต่อสู้ของประชาชนที่ผ่านมาก็ได้ เราร่างรัฐธรรมนูญมากี่ฉบับแล้ว แต่ละฉบับก็ร่างขึ้นมาเพื่อที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนหน้าการรัฐประหารในแต่ละครั้งใช่ไหม แล้วผลเป็นยังไงมันแก้ปัญหาได้ไหม คนร่างก็พวกนักวิชาการนักฏหมายนี่แหละ ชาวบ้านรากหญ้าไม่ได้มาร่างด้วย รัฐธรรมนูญ 50 ที่ว่าดีนักดีหนา ถึงขั้นจะแก้อะไรก็แก้แทบจะไม่ได้ แต่ตอนนี้มาบอกว่ามันไม่ดี เพราะมันไม่สามารถป้องกันทักษิณให้กลับเข้ามามีอำนาจได้ ส่วนตัวเห็นว่าถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญจริง มาแก้ในส่วนให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมมากขึ้นดีกว่า และการแก้นี้ก็จะต้องใช้สภานิติบัญญัติ ซึ่งต้องมาจากการเลือกตั้ง 
  18. อยากให้กฏหมายเขียนให้มันชัดเจน จะได้ไม่ต้องมานั่งตีความกันไปคนละทางสองทาง
  19. การมาประท้วงยืดเยื้อแบบนี้ คนที่เสียประโยชน์และน่าสงสารมากในตอนนี้คือชาวนา เพราะรัฐไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ที่จะนำเงินมาให้ชาวนา จริงอยู่อันนี้มันเป็นการบริหารที่ผิดพลาดของรัฐบาลเองก็จริง แต่ชาวนาก็ไม่ควรได้รับผลกระทบ รัฐบาลที่จะตั้งมาโดยกกปส. จะเป็นรัฐบาลรักษาการเหมือนอย่างนี้หรือเปล่า ถ้าใช่จะมีอำนาจในการอนุมัติเงินหรือหาเงินมาให้ชาวนาไหม และเคยคิดเคยประเมินไหมว่าตอนนี้เศรษฐกิจของประเทศเสียไปแค่ไหน 
  20. เห็นว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ก็อาจมีปัญหา แต่มันก็ดีกว่ามาประท้วงกันอยู่อย่างนี้ มันเป็นทางที่ให้ประชาชนได้แสดงความเห็นของตัวเอง และเป็นการวัดความเห็นของประชาชนได้ดีที่สุด แทนที่จะรณรงค์ให้คนออกมาประท้วงบนท้องถนน ถ้ามองว่ามีคนเห็นด้วยกับกกปส. มาก จริง ๆ ทำไมไม่รณรงค์กันไม่ให้เลือกเพื่อไทย รณรงค์ให้โหวตโนก็ได้ อย่างน้อยถ้าคะแนนโหวตโนมากกว่าเพื่อไทย ก็น่าจะทำให้พรรคนี้อ้างไม่ได้อีกแล้วว่าเป็นฉันทามติ และเป็นการบอกเพื่อไทยว่าถ้ายังทำอย่างนี้อีก ให้ระวังพลังของมวลมหาประชาชนที่แท้จริง
  21. เห็นว่ารัฐบาลใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ (ถ้ามี) ควรจะเน้นที่การปฏิรูปและใช้เวลาไม่เกินหนึ่งปี จากนั้นยุบสภาและเลือกตั้งใหม่
  22. ไม่เชื่อว่าการซื้อเสียงการทุจริตเลือกตั้งจะเป็นสาเหตุให้เพื่อไทยชนะและประชาธิปัตย์แพ้
  23. ไม่ชอบการใช้ถ้อยคำแสดงความเกลียดชังต่อกัน ด่าคนที่เราไม่ชอบด้วยถ้อยคำหยาบคาย และเหยียดหยามทางเพศ เราต้องการให้สิ่งนี้กลายเป็นสิ่งปกติของลูกหลานของเราต่อไปหรือ
  24. ไม่ชอบการเหยียดหรือจัดกลุ่มคนโดยใช้ถ้อยคำที่เหยียดหยามเช่น สลิ่มเหลือง ควายแดง แดงแอ๊บขาว โลกสวย เป็นต้น 
  25. ไม่เห็นด้วยที่จะนำในหลวงมาอ้างให้การชุมนุมของตัวเองดูดี แล้วผลักให้อีกพวกหนึ่งกลายเป็นคนไม่จงรักภักดี
  26. อยากได้รถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูง (โดยไม่ต้องรอให้ประเทศไม่มีถนนลูกรังก่อน เพราะตายไปแล้วอาจยังเป็นไปไม่ได้) เพราะเป็นสิ่งจำเป็นกับการพัฒนาประเทศ เรื่องต้องเป็นหนี้ไม่กลัว แต่ขอให้เงินที่กู้มาถูกใช้ลงไปในโครงการจริง ๆ ไม่มีใครอยากเป็นหนี้หรอกแต่ถ้าเป็นหนี้แล้วมันทำให้ประเทศก้าวหน้าก็ต้องทำ อยากจะบอกว่าตอนสมัยเด็ก ๆ ก็เรียนมาว่าประเทศเราก็เป็นหนี้มากมาย ครูที่สอนวิชาสังคมก็พูดเป็นเชิงประชดประชันขำ ๆ ว่าเป็นหนี้ก็ดีนะไม่ต้องห่วงว่าประเทศที่เป็นเจ้าหนี้เขาจะปล่อยให้ประเทศเราล้ม เพราะว่าเขากลัวจะเสียเงินที่เขาให้เรากู้มา ถึงตอนนี้ผมยังไม่ตายเลย เข้าใจว่าหนี้ก้อนนั้นเราใช้หมดแล้ว และเพราะหนี้ก้อนนั้นก็ทำให้ประเทศเราเจริญมาจนถึงวันนี้ อยากเห็นนโยบายของคนที่ออกมาค้านว่าจะสร้างโครงสร้างพิ้นฐานเหล่านี้ได้อย่างไรโดยไม่ต้องเป็นหนี้ หรือเป็นหนี้น้อยกว่านี้ 
  27. ไม่อยากเห็นความรุนแรง หรือมีใครที่ต้องมาตายเพิ่มขึ้นอีกแล้ว
  28. อยากให้คนไทยอยู่ร่วมกันได้แม้มีความเห็นต่างกันเหมือนในสมัยก่อน ซึ่งถึงแม้จะเลือกจะเชียร์คนละพรรคก็ยังพูดคุยกันได้ ไม่เหมือนทุกวันนี้ที่ต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่คุยกัน หรือต้องดูก่อนว่าคนที่เราคุยด้วยนี่เชียร์ข้างไหน 
  29. ไม่ชอบการทำงานของกสทช.ชุดนี้ โดยเฉพาะส่วนโทรคมนาคม (อันนี้ไม่เกี่ยวกับการเมืองแต่อยากเขียน :))
  30. สุดท้ายแล้วดีกว่าแค่นี้ก็พอแล้ว 30 ข้อแล้ว อยากให้มีการทำประชามติถามความเห็นของคนทั้งประเทศว่าจะเอาแนวทางของกกปส.หรือไม่ ถ้าคนส่วนใหญ่บอกว่าเอา ริวจะไม่พูด เอ๊ยไม่ใช่ จะไม่บ่น จะทำอะไรก็เชิญ และจะช่วยภาวนาให้สิ่งที่ทำประสบความสำเร็จ...