แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ Thailand แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ Thailand แสดงบทความทั้งหมด

วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ผู้บริหารบ้านเมืองของเราจะยอมรับผิดกันบ้างได้ไหม?

วันนี้ขอเขียนเรื่องฟุตซอลชิงแชมป์โลกสักวันแล้วกันนะครับ ในขณะที่เขียนนี่ก็กำลังรอลุ้นว่าไทยจะผ่านเข้ารอบเป็นหนึ่งในสี่ของอันดับสามที่ดีที่สุดหรือเปล่า ซึ่งบอกตรง ๆ ว่าต้องลุ้นเหนื่อยมากครับ ต้องให้ทีมนั้นชนะทีมโน้นกี่ประตูขึ้นไป ปวดหัวจริง ๆ ครับเรื่องต้องยืมจมูกคนอื่นเขาหายใจเนี่ย  แต่ที่จะพูดถึงไม่ใช่เรื่องการแข่งขันครับ แต่จะพูดถึงข่าวที่ได้ฟังแล้วรู้สึกไม่สบายใจเลย ก็คือข่าวที่ผู้ว่ากทม.จะฟ้องฟีฟ่าเรื่องที่ไม่ยอมอนุมัติให้ใช้สนามบางกอกฟุตซอลอารีน่าในการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลกที่เราเป็นเจ้าภาพอยู่ตอนนี้ เหตุผลที่ผู้ว่าจะฟ้องก็คือการกระทำของฟีฟ่าทำให้กทม.เสียชื่อ ผมฟังแล้วก็รู้สึกประหลาดใจมาก จริง ๆ เราเสียชื่อมาตั้งแต่สนามสร้างเสร็จไม่ทันวันเปิดการแข่งขันแล้วไม่ใช่เพิ่งจะมาเสียชื่อตอนนี้

ผมอยากถามว่าการที่ผู้ว่าจะฟ้องนี่จริง ๆ แล้วจะปกป้องชื่อเสียงกทม.หรือชื่อเสียงตัวเองกันแน่ เพราะตอนนี้รู้สึกว่าตัวผู้ว่าตกเป็นเป้าโจมตีอย่างหนัก แต่ในส่วนนี้ขอออกตัวให้ผู้ว่าหน่อยแล้วกันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้โทษผู้ว่าคนเดียวไม่ได้นะครับ ต้องโทษผู้บริหารที่เกี่ยวข้องทุกคนตั้งแต่รัฐบาลประชาธิปัตย์ รัฐบาลนี้ และตัวนายกสมาคมฟุตบอลด้วย แต่ที่ผู้ว่าโดนหนักก็เพราะเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้างสนามโดยตรง และจากที่สื่อนำเสนอก็คือมีการมาโหมเร่งงานกันเมื่อเหลือเวลาประมาณสองสามเดือนสุดท้ายก่อนจะแข่ง

ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นตามความคิดของผมคือผู้บริหารเหล่านี้ติดการทำงานแบบไทย ๆ และเล่นเกมการเมืองกันมากเกินไป ที่ว่าติดการทำงานแบบไทย ๆ ก็คือได้รับงานมาล่วงหน้าแต่แทนที่จะวางแผนเร่งลงมือทำก็มักจะทอดเวลาไว้จนใกล้จะถึงเส้นตายแล้วถึงจะเร่งลงมือทำ หรือตามสำนวนที่เรียกว่ารอจนไฟลนก้นนั่นแหละครับ เหตุการณ์ที่เราเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาหลายรายการก่อนหน้าก็เป็นแบบนี้นะครับ คือรู้ว่าต้องเป็นเจ้าภาพมาล่วงหน้าหลายปี แต่กว่าจะลงมือทำก็รอไว้จนใกล้จะถึงกำหนด ซึ่งที่ผ่านมาเราโชคดีครับที่เราสามารถสร้างสนามอะไรต่ออะไรให้เสร็จก่อนหน้าการแข่งขันได้ประมาณสักไม่กี่เดือนมั้งครับ ที่เราทำได้เพราะเราโชคดีที่ไม่มีเหตุการณ์วิกฤตอย่างมหาอุทกภัยในปีที่แล้ว  แต่คราวนี้เราไม่โชคดีอย่างนั้น ดังนั้นจากเหตุการณ์นี้ถ้าประเทศเรายังมีโอกาสได้เป็นเจ้าภาพอะไรอีก (ซึ่งผมว่าคงยากแล้วหละ) ช่วยคิดใหม่ทำใหม่ให้เหมือนประเทศที่เขามีการวางแผนที่ดีหน่อยนะครับ เช่นอยากเห็นสนามแข่งเสร็จก่อนหน้าการแข่งขันสักครึ่งปีอะไรอย่างนี้ และอีกอย่างก็คือช่วยดูหน่อยนะครับว่าเรื่องอะไรมันเป็นเรื่องของประเทศชาติก็พักเรื่องส่วนตัวไว้ มาระดมแรงระดมความคิดช่วยกันให้ผ่านไปให้ได้ ไม่ใช่ขัดแข้งขัดขากันจนมันเกิดความเสียหายจนแก้ไขอะไรไม่ได้แล้วแบบนี้

 กลับมาที่เรื่องที่ผู้ว่าจะฟ้องผมว่าอยากให้คิดใหม่นะ ผมว่าฟีฟ่าก็มีเหตุผลที่เหตุผลที่จะไม่รับนะครับ ลองคิดดูว่าถ้าเราเป็นฟีฟ่าตอนมาดูเมื่อเดือนสองเดือนที่แล้วยังเป็นโครงอยู่เลยอะไรอะไรก็ไม่เสร็จสักอย่าง แป๊บเดียวเสร็จเหมือนเนรมิต ลองย้อนถามตัวเราเองดูว่าเป็นเราเราจะกล้าใช้ไหม ถ้าใช้ไปแล้วมันเกิดถล่มเกิดพังขึ้นมามันจะเสียหายกันมากกว่านี้นะครับ หรือถ้าฟีฟ่าให้ผ่านด้านความปลอดภัยได้ มันก็อาจมีปัญหาอื่นไม่ว่าจะเป็นปัญหาสภาพแวดล้อม การดำเนินการ ลองคิดดูสนามเพิ่งเสร็จยังไม่ได้ทดสอบเต็มที่เลย สมมติถ้าใช้ตอนแข่งเกิดเกิดปัญหาที่ไม่คาดคิดขึ้นจะทำยังไง เปรียบเหมือนซอฟต์แวร์ที่เร่งพัฒนาจนเสร็จ ดูภาพรวมอาจดูดีมีส่วนติดต่อกับผู้ใช้ที่สวยงาม แต่พอใช้ไปอาจเจอบั๊กก็ได้ เพราะไม่ได้มีการทดสอบซอฟต์แวร์เต็มที่ทั้งระบบ สรุปก็คือคนพวกนี้เขาทำงานกันแบบมืออาชีพครับ เขาไม่มานั่งมัวรักษาหน้าหรือเกรงใจใครหรอกถ้าคิดว่ามันอาจทำให้เกิดปัญหา อีกอย่างเขาอาจไม่เข้าใจวิธีทำงานแบบผักชีโรยหน้าของไทย และเขาอาจไม่ชอบกินผักชีก็ได้ :)

ถ้าสร้างเหมือนเนรมิตแบบนี้อย่าว่าแต่ฟีฟ่าเลย แม้แต่ผมเองผมยังถามตัวเองเลยว่าผมจะกล้าเข้าไปใช้สนามนี้ไหม เพราะมันสร้างกันเร็วมาก บอกตามตรงตอนที่รู้ว่าเราเป็นเจ้าภาพและจะมีการสร้างสนามที่หนอกจอก ผมก็วางแผนไว้แล้วว่าจะพาลูก ๆ ไปดูฟุตซอลสักนัดหนึ่ง เพราะสนามมันอยู่ไม่ไกลจากบ้านและอยากให้ลูก ๆ ได้สัมผัสบรรยากาศของงานระดับโลก แต่ตอนนี้ต่อให้ฟีฟ่าอนุมัติผมยังลังเลที่จะไปเลยครับ

ดังนั้นผมคิดว่าฟีฟ่าทำถูกแล้วครับที่ไม่รับ แต่ถ้าฟีฟ่าจะผิดก็ผิดอยู่อย่างเดียวคือไม่ยอมใช้เทคโนโลยีมาช่วยตัดสินฟุตบอลเสียที เพราะทำให้หงส์แดงของผมเสียประโยชน์มากมาย... เฮ้ยไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้...   คือที่ผมว่าฟีฟ่าทำผิดก็คือไม่รีบบอกมาตั้งแต่ต้นว่าจะไม่ใช้ เพราะในความคิดของผมผมว่าฟีฟ่าจะไม่ใช้มาตั้งแต่ต้นแล้วแต่อาจติดเชื้อพี่ไทยเข้าไปหน่อยก็เลยออกลูกเกรงใจรักษาหน้าเจ้าภาพไว้ แต่ผมว่าถ้าฟีฟ่าฟันธงมาเลยตั้งแต่มาตรวจรอบแรกว่าไม่ใช้ เราจะได้ไม่ต้องเร่งสร้าง อาจจะเลิกสร้างไปเลยจะได้ประหยัดงบไป แต่ถ้ากลัวเป็นแบบโครงการโฮปเวล (โฮปเลส) ก็อาจสร้างต่อแต่ทำให้มันมั่นใจว่ามันแข็งแรง แล้วก็ใช้แข่งฟุตซอลในรายการอื่น ๆ ต่อไป


พูดถึงการสร้างแบบเนรมิตแบบนี้ทำให้ผมคิดถึงนิทานที่ผมเคยอ่านตอนเด็ก ๆ ได้เรื่องหนึ่งครับ เรื่องก็มีอยู่ว่ามีชาวไทยคนหนึ่ง ไปรับเพื่อนชาวต่างชาติสองคนคนหนึ่งเป็นคนจีนอีกคนเป็นอเมริกัน ซึ่งทั้งสองเพิ่งเคยมาเมืองไทยเป็นครั้งแรก พอทั้งสองขึ้นรถได้ก็เริ่มคุยโม้โอ้อวดกันว่าจีนกับอเมริกานี่ใครเป็นสุดยอดของการก่อสร้าง คนจีนก็ยกตัวอย่างกำแพงเมืองจีนว่าสร้างในสมัยที่ไม่มีเทคโนโลยีอะไรเลย  ใช้เวลาไม่กี่ปีก็เสร็จ คนอเมริกันก็บอกว่าอเมริกันสิสุดยอดกว่า อย่างเทพีสันติภาพนี่คนอเมริกันใช้เวลาสร้างสองสามเดือนเอง คือจริง ๆ เจ้าสองคนนี่โม้นะครับ เพราะจริง ๆ พวกเขาก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจริง ๆ มันใช้เวลาสร้างเท่าไรกันแน่  ส่วนคนไทยก็เงียบไม่พูดอะไร ทำให้เจ้าสองคนนี่นึกดูถูกว่าคนไทยคงไม่มีความสามารถก่อสร้างอะไรเลย จนรถแล่นผ่านมาถึงอนุเสาวรีย์ชัย ฯ เจ้าคนอเมริกันก็ถามว่าเฮ้ยนี่มันอะไรน่ะประเทศนายก็มีสิ่งก่อสร้างดี ๆ เหมือนกันนี่ คนจีนก็ถามว่าสร้างนานไหม คนไทยก็ตอบแบบนิ่ง ๆ ว่า เรียกว่าอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน เมื่อกี้ตอนขามามันยังไม่มีไอ้นี่อยู่เลย...

ออกนอกเรื่องไปอีกแล้วสรุปก็คือผมอยากจะให้พวกผู้บริหารหรือแม้แต่ตัวพวกเราเองยอมรับในความผิดพลาด แล้วก็แก้ไขแทนที่จะเที่ยวไปโทษคนโน้นคนนี้ก่อน อย่างผมเองเป็นอาจารย์ก็มีบางครั้งที่ผมพูดผิดแต่เมื่อผิดผมก็บอกว่าผิดและก็ขอแก้ไข ซึ่งผมก็ไม่เห็นว่ามันจะเป็นการเสียหน้าอะไร อาจารย์ก็คนก็ผิดได้ (วันนี้ก็เพิ่งพูดผิดไปต้องรีบสั่งให้นักเรียนลบที่พูดออกจากหน่วยความจำ) แต่หลัง ๆ มานี่ผมรู้สึกว่าผู้บริหารของเรากลัวเสียหน้ามากกว่าอย่างอื่น นอกจากกรณีนี้ที่โยนกันไปโยนกันมาและกำลังจะโยนต่อไปให้ฟีฟ่าแล้ว อีกตัวอย่างก็คือเครื่อง GT200 ครับ ทำไมยังมีคนพูดอยู่ได้ว่ามันใช้งานได้ ทั้งที่ไม่สามารถหาหลักการทางวิทยาศาสตร์อะไรมารองรับได้เลย นักวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศและในประเทศก็พิสูจน์แล้วว่ามันทำงานไม่ได้ มันจะเสียหน้าอะไรนักหนาถ้าจะออกมายอมรับความผิดพลาด มันไม่ใช่ประเทศเราประเทศเดียวเสียหน่อยที่ีโดนหลอก ประเทศที่เขาเจริญกว่าเราก็ยังโดน

อ้าวจากเรื่องสนามฟุตซอลมาออกเรื่อง GT200 ได้ยังไงนี่ จบดีกว่าเดี๋ยวจะลากไปเรื่องอื่นอีก แล้วบล็อกจะพาลถูกปิดเอา...

วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เริ่มเขียนที่โรงเรียนกวดวิชาแต่จบที่บ้าน


บล็อกนี้เริ่มเขียนที่โรงเรียนกวดวิชาชื่อดังแห่งหนึ่งในวิสุทธานีครับ และพูดอย่างไม่กลัวเชยว่าผมเพิ่งเคยมาที่นี่เป็นครั้งแรก มาส่งลูกคนโตเรียนพิเศษและถือโอกาสเดินสำรวจไปทั่ว ๆ จากนั้นก็เข้ามานั่งรอลูกและเริ่มเขียนบล็อกนี้ครับ ผมเข้ามาสู่วังวนของโรงเรียนกวดวิชาอีกครั้งแล้วครับหลังจากหยุดมานานตั้งแต่สมัยที่ให้ลูกไปเรียนกวดวิชาเพื่อสอบเข้าป.1 ตอนนั้นผมกับภรรยาก็ยังไม่ค่อยแน่ใจหรอกว่ามันควรทำหรือไม่ แต่ได้รับคำแนะนำจากผู้รู้ทั้งเพื่อนฝูงและญาติพี่น้องว่าควรไปจะได้รู้แนวข้อสอบงั้นจะเสียเปรียบเขา เราก็เลยพาลูกไปเรียน ซึ่งจริงๆ ก็สงสารลูกนะครับและต้องชมเขาอีกครั้งว่าพวกเขาซึ่งตอนที่ไปเรียนนั้นอายุแค่ประมาณห้าขวบ ตื่นกันขึ้นมาแต่เช้าและยอมไปเรียนโดยไม่งอแง

หลังจากสอบเข้าป.1 แล้วผมกับภรรยาก็ไม่ได้ให้ลูกไปเรียนพิเศษที่โรงเรียนกวดวิชาที่ไหนอีก จะมีก็แค่เป็นส่วนเสริมเช่นไปเรียนภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ดนตรี ฟุตบอล แต่ถ้าจะเรียนเป็นงานเป็นการก็คือคุมองซึ่งเป็นการเน้นการทำโจทย์คณิตศาสตร์และฝึกให้เด็กรู้จักรับผิดชอบ และถ้าแบ่งเวลาดี ๆ ก็จะใช้เวลาไม่มาก  ซึ่งจริง ๆ ผมเพิ่งมาทราบภายหลังว่าภรรยาผมเธอมีจุดประสงค์แอบแฝงในการให้ลูกไปเรียนคุมอง เพราะเธอต้องการเปิดศูนย์คุมองครับเลยส่งลูกไปเป็นสายลับก่อน :) ซึ่งตอนนี้เธอก็ได้เปิดศูนย์คุมองสมใจเธอแล้ว   

ถ้าถามว่าทำไมผมถึงไม่ชอบให้ลูกเรียนกวดวิชาคำตอบก็คือผมกับภรรยาไม่คิดว่าการเรียนพิเศษในวิชาที่เรียนอยู่ในห้องมันจะเป็นเรื่องจำเป็นอะไร สำหรับภรรยาผมเท่าที่คุยกันเธอก็ไม่เคยไปเรียนพิเศษที่ไหนเนื่องจากตอนเด็กเธอต้องช่วยที่บ้านขายของ ส่วนผมเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือเองครับ ผมจะใช้วิธีซื้อหนังสือคู่มือมาอ่านแล้วก็ฝึกทำโจทย์ อีกอย่างหนึ่งเราคิดว่าการไปเรียนกวดวิชาเป็นการยัดเยียดอะไรให้ลูกมากเกินไป เราก็เลยสอนลูกให้ตั้งใจเรียนทำความเข้าใจในห้องและหมั่นทบทวนซึ่งลูกก็สอบในโรงเรียนได้ดีโดยไม่ต้องไปเรียนพิเศษที่ไหน

คราวนี้ทำไมให้ลูกมากวดวิชาอีก เหตุผลเริ่มจากที่ภรรยาผมต้องการให้ลูกคนเล็กลองมาสอบเข้าม.1 ที่โรงเรียนอื่นดูบ้าง เธอให้เหตุผลว่าให้เขามาลองฝีมือดู มาเทียบกับเด็กโรงเรียนอื่นดูบ้าง  ซึ่งเราก็ให้เขามาลองสอบ pre-test  เข้า ม. 1 ซึ่งโรงเรียนดัง ๆ ส่วนใหญ่นิยมจัดกัน ลองให้เขาสอบตั้งแต่เขาอยู่ ป. 5 ผลปรากฏว่าไม่ติดฝุ่นครับ เจ้าตัวเล็กผมตอนอยู่โรงเรียนเดิมนี่ได้ที่ 1-3 ของห้องมาเกือบตลอด แต่พอมาสอบนี่ไม่ติดอันดับเลย ตอนนั้นเราก็วิเคราะห์กันว่าเพราะเขาอยู่แค่ป. 5 และไม่ได้เตรียมตัวสอบดีเท่าไร  พอเขาอยู่ป. 6 ก็ให้มาลองสอบอีกปรากฏว่าดีขึ้นแต่ก็ยังไม่ติดอันดับเหมือนเดิม คราวนี้เราก็เลยต้องคิดกันใหม่  ช่วงแรกเราก็เลยหาคู่มือสอบมาให้เขาลองทำซึ่งทำให้รู้ว่าเขาไม่เคยเจอข้อสอบในลักษณะนั้นมาก่อน เท่าที่จำได้และเห็นเด่นชัดก็คือวิชาวิทยาศาสตร์ซึ่งการเรียนในโรงเรียนดูเหมือนจะไม่ได้เน้นพวกโครงสร้างอะตอมอะไรพวกนี้ (อันนี้ที่รู้เพราะเวลาลูกสอบผมมักจะหาเวลามาติวลูก) แต่ในคู่มือกลับมีข้อสอบลักษณะนี้ ซึ่งผมจำได้ว่าสมัยผมกว่าจะเรียนพวกนี้ หรือรู้จักตารางธาตุก็ตอนม.ปลายแล้ว แต่นี่แค่เด็กป. 6 และข้อสอบไม่ได้ถามแค่ให้รู้จักธรรมดายังถามให้คำนวณด้วย หรืออย่างข้อสอบคณิตศาสตร์นี่มันก็จะมีสูตรลัดต่าง ๆ ซึ่งถ้าทำตรง ๆ อาจใช้เวลานาน และในบางวิชาถึงจะมีเฉลยแล้วเราก็ยังไม่รู้ที่มาที่ไปอยู่ดี คือผมกับภรรยาก็พยายามช่วยเขา แต่ความที่เราก็ทิ้งวิชาอื่น ๆ นอกจากเลขกับภาษาอังกฤษมานานแล้วทำให้บางครั้งเราก็ตอบไม่ได้ว่าอะไรเป็นอะไร  อีกประการที่ผมพยายามฝึกลูกอยู่ก็คือลูกผมไม่เหมือนผมที่ชอบอ่านและทำโจทย์เองครับ ด้วยเหตุผลนี้เราจึงคิดว่าน่าจะลองให้เขาเรียนพิเศษดูและเขาก็น่ารักอีกตามเคยที่ยอมไปเรียนครับ แต่คราวนี้แรก ๆ ก็มีงอแงบ้าง เพราะจริง ๆ เขาก็ไม่ได้รู้สึกว่าอยากย้ายจากโรงเรียนเดิมครับ เราก็ต้องบอกเขาว่าอยากให้เขาไปเรียนเพื่อที่จะเพิ่มความรู้ให้เขาไปลองเทียบฝีมือกับคนอื่นดู ถ้าสอบได้และเขาไม่อยากย้ายก็จะไม่บังคับอะไร

สรุปเจ้าคนเล็กเริ่มเรียนพิเศษเพื่อเตรียมสอบเข้าม.1 ช้ามากคือมาเริ่มเรียนตอนป.6 แล้ว ไปสอบสนามแรกก็ไม่ติด มาสนามที่สองก็ยังไม่ติดแต่ที่ผมสังเกตุคือคะแนนเขาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนถึงสนามสุดท้ายบดินทรเดชา 2 สนามนี้เจ้าคนเล็กอยากเข้ามากครับ เพราะเขาไปได้เพื่อนใหม่ที่เรียนพิเศษด้วยกันและตั้งใจเข้าบดินทร 2 ด้วยกัน  (คิด ๆ ดูนี่เจ้าตัวเล็กผมใจง่ายนะครับ เพื่อนโรงเรียนเดิมเรียนกันมาตั้งหกปีจะทิ้งไปอยู่กับเพื่อนที่เพิ่งเรียนด้วยกันซะแล้ว) ปรากฏว่าเขาสอบติดครับและเพื่อนเขาที่เรียนด้วยกันหลายคนก็ติดด้วย ไม่รู้ว่านี่จะสรุปได้ไหมว่าโรงเรียนกวดวิชามีผลเป็นอย่างมาก ถ้าลูกใครสอบเข้าได้โดยไม่ต้องไปกวดวิชาที่ไหนนี่มาแสดงความเห็นด้วยก็ดีนะครับ มาช่วยบอกหน่อยว่าทำยังไง คือถึงตอนนี้ผมก็ไม่ได้ชอบโรงเรียนกวดวิชา แต่มันเหมือนกับว่าถ้าคุณไม่กวดวิชาคุณก็จะเสียเปรียบสู้คนที่กวดไม่ได้  

คราวนี้ก็ถึงรอบคนโตครับเพราะภรรยาผมก็ต้องการให้เขาไปวัดฝีมือสอบเข้าม.4 กับเด็กอื่นอีกแล้ว และนี่ก็คือเหตุผลที่ผมต้องมาที่วิสุทธานีเป็นครั้งแรก และยังคงจะต้องมาอีกหลายครั้งเพื่อรับส่งเขา ส่วนคนเล็กนี่เราตัดสินใจให้เขาหยุดเรียนพิเศษไว้ก่อนครับ เพราะเราก็ยังเชื่อว่าการตั้งใจเรียนและทบทวนบทเรียนในห้องเรียนน่าจะเพียงพอสำหรับการเรียนในโรงเรียนแล้ว ซึ่งถ้าแค่เรียนในโรงเรียนยังต้องมากวดวิชานี่เราสองคนก็ยังไม่เห็นด้วยครับ เพราะเราคิดว่ามันจะติดเป็นนิสัยจนเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยครับ ซึ่งเหตุการณ์นี้เจอกับตัวเองเลย มีลูกศิษย์บางคนเคยเข้ามาถามว่าอาจารย์ไม่รับติวพิเศษบ้างหรือ ซึ่งผมก็บอกว่าเราเรียนระดับมหาวิทยาลัยแล้วเราไม่ควรจะต้องมีการมาติวพิเศษอีกแล้ว เราจะต้องหัดเรียนรู้และรับผิดชอบด้วยตัวเองให้ได้ เร็ว ๆ นี้ก็ได้คุยกับเพื่อนที่เป็นอาจารย์ด้วยกันแต่อยู่กันคนละมหาวิทยาลัยซึ่งเขาก็บอกว่าเดี๋ยวนี้ค่านิยมการเรียนพิเศษมันได้ลามไปถึงระดับป.โทหรือกระทั่งป.เอกแล้ว ฟังแล้วก็อนาถใจ 

สิ่งหนึ่งที่ผมได้เห็นจากเรื่องโรงเรียนกวดวิชานี้ก็คือเหตุผลของการที่เด็กต้องมาเรียนกวดวิชา ซึ่งผมสรุปเองได้หลัก ๆ สามข้อ หนึ่งคือข้อสอบที่ใช้สอบเข้าไม่ว่าจะระดับไหนไม่ได้ออกตามจุดประสงค์หรือแม้กระทั่งอาจจะไม่ตรงกับหลักสูตรที่เด็กได้เรียนมา (ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น) สองการมาเรียนกวดวิชาทำให้เด็กได้สูตรลัดในการคิดคำนวณซึ่งก็จะได้เปรียบกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนเพราะจะทำให้ได้คำตอบที่เร็วกว่า (แต่จุดประสงค์ของการสอบต้องการวัดอะไรกันแน่ วัดความเร็วหรือจะวัดกระบวนการคิด) สามครูที่สอนอยู่ในสถานศึกษา(รวมถึงตัวผมด้วย) อาจต้องพิจารณาแล้วว่าทำไมเราจึงสื่ิอสารกับเด็กสู้ติวเตอร์ที่สอนพิเศษเหล่านี้ไม่ได้ บางคนอาจถามว่าแล้วความแตกต่างระหว่างโรงเรียนไม่เกี่ยวหรือ ผมว่าไม่เกี่ยวนะเด็กที่มาเรียนพิเศษที่ผมเห็นอยู่รวมถึงลูกผมด้วยส่วนใหญ่ก็มาจากโรงเรียนดัง ๆ กันทั้งนั้น คือพูดง่าย ๆ ว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่โรงเรียนไหนคุณก็ต้องกวดวิชาทั้งนั้น ผมยังเคยคิดเล่น ๆ เลยว่าถ้ามันเป็นอย่างนี้ให้ลูกเรียนกศน.เสียเลยดีไหม แล้วก็มาเรียนกวดวิชาเอา  

ผมเริ่มเขียนบล็อกที่โรงเรียนกวดวิชาแต่สุดท้ายก็มาจบที่บ้านครับ ยังไงเสียบ้านก็จะเป็นที่บ่มเพาะสำคัญให้ลูก ๆ ของเราเติบโตเป็นสมาชิกที่ดีของประเทศชาติต่อไป ช่วยกันทำบ้านให้อบอุ่นเพื่อลูกหลานของเรากันนะครับ วันนี้จบมันแบบไม่เกี่ยวกับเรื่องที่เขียนมาแบบนี้แหละ สวัสดีครับ...

วันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อำนาจอยู่ในมือเราแล้วไปเลือกตั้งกันครับ

สวัสดีครับผมไม่ได้เขียนบล็อกมาซะนาน วันนี้ขอเขียนหน่อยเพราะอยากจะร่วมรณรงค์ให้ออกไปเลือกตั้งกันวันอาทิตย์ที่ 3 ก.ค. นี้ครับ จริง ๆ ผมก็ไม่ได้คิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะมาเปลี่ยนแปลงประเทศของเราให้มันดีขึ้นมาได้ทันตาเห็นหรอกนะครับ เพราะนักการเมืองที่ลงเลือกตั้งก็หน้าเดิม ๆ มีแนวคิดแบบเดิม ๆ ที่บอกว่าจะปรองดองกันก็ทำได้แต่ปากพูด เพราะเท่าที่เห็นหาเสียงกันอยู่ตอนนี้ก็มีแต่สาดโคลนใส่กัน เอาเรื่องที่ยังไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริงกล่าวหากันไปมา ฝ่ายหนึ่งก็กล่าวหาว่าอีกฝ่ายหนึ่งสั่งฆ่าคน อีกฝ่ายก็กล่าวหาว่าอีกฝ่ายเผาบ้านเผาเมืองทั้งที่ความจริงเป็นอย่างไรก็ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ชัดเจน ทำกันแบบนี้ประเทศชาติคงจะสงบได้หรอกเพราะประชาชนที่สนับสนุนแต่ละฝ่ายก็ออกมาตอบโต้กันไปมาสนับสนุนฝ่ายที่ตัวเชียร์อยู่ เขียนมาถึงตรงนี้หลายคนอาจถามว่าถ้าอย่างนั้นเราจะไปเลือกตั้งกันทำไม คำตอบคือการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการแสดงพลังอำนาจของประชาชนอย่างพวกเราที่ถูกปล้นไปโดยผู้คนหลายกลุ่ม (ถ้าใครลืมไปแล้วเดี๋ยวผมจะทวนให้ฟังต่อไป) และหวังว่ามันจะเป็นจุดเริ่มต้นให้ประเทศเรากลับมาสู่ระบบอีกครั้งถ้าทุกฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้งตามที่บอกไว้ 

คราวนี้ผมจะทวนให้ฟังครับว่าอำนาจของเราถูกใครปล้นไปบ้าง เริ่มจากกลุ่มแรกเลยครับก็คือกลุ่มคนที่ใช้สีเหลืองเป็นสัญลักษณ์กับทหารที่ทำปฏิวัติเมื่อปี 2549 จริง ๆ ผมเคยคิดนะครับว่าการปฏิวัติสมัย รสช. คงจะเป็นครั้งสุดท้ายของประเทศแล้วไม่คิดว่าจะได้เห็นอีก จริง ๆ กลุ่มคนที่ใช้เสื้อเหลืองนี่ผมก็ไม่อยากจะเหมารวมไปทุกคนนะครับ เอาเป็นว่าขอเน้นไปที่แกนนำแล้วกัน แกนนำยุยงปลุกปั่นด้วยเรื่องจริงบ้างไม่จริงบ้างให้ประชาชนออกมารวมตัวกัน จนทหารมีข้ออ้างออกมาปฏิวัติ ทั้ง ๆ ที่ตอนนั้นเรากำลังจะมีการเลือกตั้งกันอยู่แล้ว ซึ่งคนเสื้อเหลืองและทหารไม่แน่ใจว่าถ้าปล่อยให้มีการเลือกตั้งแล้วพรรคที่ตัวเองต้องการจะได้มาบริหารประเทศหรือไม่ และที่น่าเศร้าที่สุดก็คือหลังจากการปฏิวัติแล้วก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ปัญหาที่มีอยู่ที่เป็นสาเหตุของการปฏิวัติก็ไม่ได้รับการแก้ไข สิ่งที่การปฏิวัติทิ้งไว้ให้เราคือความแตกแยก และรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งอ้างว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนยอมรับเพราะมีการลงมติ แต่การลงมติที่ว่านั้นอยู่ในบรรยากาศที่ว่าให้รับ ๆ ไปก่อนเพราะถ้าไม่รับคณะปฏิวัตินี้ก็จะยังคงปกครองประเทศเราอยู่ต่อไป และสุดท้ายเมื่อมีการเลือกตั้งพรรคการเมืองที่ทั้งเสื้อเหลืองและทหารไม่อยากให้เข้ามาก็ชนะได้เข้ามาอยู่ดี 

แต่เอาล่ะครับอย่างน้อยการเลือกตั้งครั้งนั้นก็ทำให้เราได้อำนาจคืนมาบ้าง แต่ก็ได้มาไม่นานส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะนักการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาไม่รู้จักหลาบจำ ไปทำเรื่องที่เป็นเหตุให้คนเสื้อเหลืองหาเหตุระดมคนออกมาชุมนุมอีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์บางอย่างที่ผมคิดว่าถ้าประเทศเราอยู่ในสถานการณ์ปกติมันไม่น่าจะเกิดขึ้น เช่นการที่นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยต้องถูกปลดเพราะไปออกรายการทำกับข้าว พอเปลี่ยนนายกมาเป็นอีกคนหนึ่งก็ยังไม่ถูกใจคนเสื้อเหลือง ก็เลยทำการชุมนุมเลยเถิดสร้างความเดือดร้อนไปทั่วไปยึดทำเนียบรัฐบาลเป็นแรมเดือน จนถึงขั้นไปทำนากันอยู่ในนั้น และยังไปยึดสนามบินนานาชาติ ทำเอาเศรษฐกิจของชาติเสียหายไปมากมาย และที่น่าโมโหสำหรับผมก็คือคนเสื้อเหลืองอ้างอีกว่านี่คื่อเสียงของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งไม่มีที่มาที่ไปเพราะคนเสื้อเหลืองไม่ได้รับการเลือกตั้งมา ส่วนทหารก็ให้ความร่วมมือด้วยการอยู่เฉย ๆ ไม่่ิออกมาทำอะไรทั้งที่รัฐบาลมอบหมายหน้าที่ให้ แต่สุดท้ายรัฐบาลก็ต้องจากไปแต่ไม่ใช่เพราะคนเสืิ้อเหลืองแต่เป็นเพราะสาเหตุอื่น นั่นคือการถูกยุบพรรคของแกนนำรัฐบาล 

คราวนี้การเมืองก็พลิกขั้วมาเป็นอีกฝ่ายหนึ่งได้เข้ามาเป็นรัฐบาล ซึ่งโดยส่วนตัวผมก็พอจะทำใจรับได้ (ถึงแม้มันจะดูไม่โปร่งใสอยู่บ้าง) เพราะอย่างน้อยคนเหล่านั้นก็ยังได้รับเลือกตั้งเข้ามา เรียกว่ายังอยู่ในระบบ แต่อำนาจของเรากลับถูกโขมยไปอีกจากคนอีกกลุ่มหนึ่ง (ขอเน้นที่แกนนำเช่นกัน) ที่ใช้เสื้อสีแดง คนกลุ่มนี้ที่เคยด่าเสื้อเหลืองไว้ว่าทำอะไรไม่คิดทำให้ประเทศชาติเสียหายก็ทำซะเอง เริ่มตั้งแต่ไม่ได้สนใจว่าตัวเราเองเป็นเจ้าบ้านจัดการประชุมสำคัญระดับนานาชาติ ไปประท้วงจนเกิดความวุ่นวายจนแขกบ้านแขกเมืองต้องหนีขึ้นเรือออกไปกลางทะเลเพื่อไปขึ้นเครื่องบินกลับบ้านเป็นภาพที่อเนจอนาถเหลือเกิน หลังจากนั้นรัฐบาลใหม่ก็ไม่ได้ทำอะไรให้ดีขึ้น ความพยายามที่จะลดความขัดแย้งก็ทำอย่างไม่จริงใจ จนในที่สุดคนกลุ่มนี้ก็กลับมาอีกครั้ง และก็ประท้วงมาเลยเถิดไปยึดแยกราชประสงค์จนเกิดความเสียหายไม่รู้เท่าไรต่อเท่าไร และในที่สุดมันก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดจนเป็นปัญหากันอยู่ตอนนี้ และเหมือนเดิมคนกลุ่มนี้ก็อ้างว่านี่คือความต้องการของคนส่วนใหญ่ของประเทศ นี่มันโขมยอำนาจของเราไปชัด ๆ นะครับ คนสองกลุ่มนี้เราไม่ได้เลือกเข้ามา (ถึงแม้ในแต่ละกลุ่มอาจมีส.ส.อยู่แต่ก็มีไม่กี่คน) 

ทั้งหมดก็คือการสรุปคร่าว ๆ ของกลุ่มคนที่มาเอาอำนาจที่อยู่ในมือเราออกไป ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้อำนาจได้กลับมาอยู่ในมือเราแล้ว ขอให้เราออกไปแสดงให้เขาเห็นครับว่าเราต้องการให้ประเทศเป็นไปอย่างไร ถึงแม้เราจะได้นักการเมืองหน้าเดิม ๆ กลับเข้ามา แต่ก็หวังว่าเขาจะทำตัวดีขึ้นและเราก็ติดตาม ถ้าเขายังทำตัวไม่ดีเราก็ใช้ช่องทางตามที่กฏหมายกำหนดเช่นการเข้าชื่อหรืออะไรก็ว่าไป ซึ่งฝ่ายค้านน่าจะมาชี้นำประชาชนในจุดนี้มากกว่าที่จะไปสนับสนุนคนที่ออกมาเคลื่อนไหวเข้าข้างฝ่ายตัวเองบนถนน (หวังว่าจะไม่มีอีก) และถ้ายังทำอะไรไม่ได้จริง ๆ (ผมคิดว่าถ้ามันแย่จริง ๆ หรือมีหลักฐานชัดมันน่าจะทำได้) เราก็รอให้ครบเทอมครับจนอำนาจกลับมาอยู่ในมือเราอีกครั้ง ทหารควรจะเอาคำว่าปฏิวัติทิ้งไปได้แล้ว ให้ระบบมันดำเนินไปได้อย่างถูกต้อง และผมเชื่ออย่างที่ผมเคยเขียนไปแล้วว่าถ้าเรายอมอยู่ในระบบจนคนดีมีความสามารถเขามีความมั่นใจเขาก็จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาของบ้านเมืองครับ 

สุดท้ายผมอยากบอกว่าประเทศเราโชคดีที่ยังไม่เป็นอย่างลิเบีย ซึ่งผมคิดว่าคนที่ออกมาประท้วงรัฐบาลตอนแรกอาจจะไม่ได้คิดว่าเหตุการณ์มันจะบานปลายมาถึงขนาดนี้ ถ้าเขารู้เขาอาจจะไม่ทำ ดังนั้นพวกเราโชคดีครับที่ยังมีโอกาส ออกไปเลือกตั้งกันครับและยอมรับผลการเลือกตั้ง ติดตามดูผลงานของคนที่เราเลือกและไม่ได้เลือกเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกตั้งครั้งหน้า และขอฝากนักการเมืองทั้งหลายให้เปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำงานโดยคิดถึงประเทศชาติเป็นหลัก เลิกสร้างความขัดแย้ง ทำงานให้สมกับที่ประชาชนไว้ใจเลือกเข้ามาเป็นตัวแทน ผมว่าถ้าเป็นได้อย่างนี้ประเทศเราจะเดินไปข้างหน้าได้โดยเริ่มจากการเลือกตั้งครั้งนี้ครับ

วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เรยา ในมุมมองของผม

สวัสดีครับ ไม่ได้เขียนบล็อกนี้มาเสียนาน จริง ๆ ก็มีหลายเรื่องที่อยากจะเขียนถึง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานการณ์ไทย-กัมพูชา เรื่องการทำงานของรัฐบาลหรือการยุบสภา แต่ก็ไม่คิดอยากจะเขียนเพราะมันค่อนข้างจะเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ซึ่งผมไม่อยากจะพูดอะไรมาก เพราะได้เคยพูดไปแล้วบ้างในบล็อก เรากลับมาอยู่ในระบบกันดีไหม เอาไว้ถ้ารู้สึกอึดอัดคับข้องมากกว่านี้ก็อาจจะมาเขียนระบายให้ฟังเพิ่มเติมอีก แต่ตอนนี้ขอรอไปลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมาถึงในเร็ว ๆ นี้ก็แล้วกัน (หวังว่าจะมีการเลือกตั้งนะ ถ้าใครทำให้มันไม่มีขอให้มีอันเป็นไปไม่ได้ผุดไม่ได้เกิด)

เรื่องที่อยากเขียนในวันนี้เป็นเรื่องที่น่าจะฮอตฮิตที่สุดในตอนนี้นั่นก็คือเรื่องละครดอกส้มสีทอง โดยเฉพาะตัวละครเรยา ต้องบอกว่าละครเรื่องนี้เป็นละครที่ผมค่อนข้างจะติดตามมากที่สุดในรอบหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา เพราะความเข้มข้นของเนื้อหา และผู้แสดงเกือบทุกคนแสดงได้สมบทบาทมาก และอาจจะเพราะความสมบทบาทนี้ทำให้เกิดกระแสที่พูดถึงละครเรื่องนี้อย่างมากมายทั้งทางที่ดีและไม่ดี ผมก็เลยอยากจะแสดงความคิดเห็นของตัวเองเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้บ้าง เน้นนะครับว่านี่เป็นความเห็นส่วนตัว และผมไม่ได้คิดว่าคนที่คิดตรงข้ามกับผมจะเป็นฝ่ายที่ผิด สังคมที่ดีควรจะมีความคิดเห็นที่หลากหลายแตกต่างและนำมาแลกเปลี่ยนกันอย่างสร้างสรรค์ เราควรจะคิดต่างและอยู่ร่วมกันได้ อย่าให้เหมือนการเมืองซึ่งตอนนี้ถ้าใครคิดไม่เหมือนฉันนั่นคือศัตรูที่จะต้องฆ่ากันให้ตายไปข้างหนึ่ง  อ้าวว่าจะไม่พูดถึงการเมืองไหงลากเข้าไปจนได้ มาเข้าเรื่องดีกว่า

ในส่วนตัวผมบอกได้เลยว่าผมไม่เห็นด้วยเลยกับเสียงที่ออกมาให้แบนละครเรื่องดังกล่าวหรือจะไปตัดฉากที่เป็นการแสดงออกที่ไม่ดีของเรยาออกไป แต่ก็มีฉากอย่างเลิฟซีนบางฉากก็มากเกินไปเหมือนกัน ซึ่งผมว่าฉากแบบนี้อาจทำให้เบาลงพอที่ผู้ชมเข้าใจก็น่าจะพอแล้ว นอกจากฉากเลิฟซีนที่กล่าวถึงไปแล้วผมว่าโดยภาพรวมเนื้อหาถึงจะแรงแต่มันก็มีเหตุผลของมันอยู่ และเราต้องยอมรับว่าในสังคมของเราคนอย่างเรยาอาจจะมีอยู่จริง รายการผู้หญิงถึงผู้หญิงทางช่องสามที่ผมได้ดูเมื่อเช้านี้ก็ได้นำบทสัมภาษณ์จากหนังสือพิมพ์มติชน (ถ้าจำไม่ผิด) ของผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเคยทำตัวเหมือนเรยามาเล่าให้ฟัง ซึ่งเรื่องดังกล่าวอาจจะจริงหรือไม่ก็ได้ แต่เราต้องยอมรับกันว่าสังคมทุกสังคมมีด้านมืดอยู่มีคนไม่ดีปะปนอยู่ในสังคมของเรา ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าลูกหลานเราหรือแม้แต่ตัวเราจะไปเจอะเจอคนแบบนี้เมื่อไร ดังนั้นเมื่อมีละครนำมานำเสนอเราก็น่าจะนำมาคิดและวิเคราะห์ และก็หยิบยกมาคุยกับลูกหลานว่าถ้าเราเจอคนแบบนี้เราควรจะทำอย่างไร และเราก็สามารถชี้ให้เห็นตัวอย่างจริง ๆ ของการทำตัวไม่ดีให้กับลูกหลานเราได้เห็นได้ ซึ่งผมได้ใช้มาแล้วกับลูกชายของผมเอง ลูกผมเขาไม่ได้ติดตามละครเรื่องนี้นะครับเพราะเขายังเด็กและเนื้อหามันค่อนข้างหนักสำหรับเขา แต่มีวันหนึ่งเขาเดินผ่านทีวีมาเห็นฉากที่เรยากำลังพูดจาระเบิดอารมณ์ใส่แม่ของตัวเอง ซึ่งเขาดูแล้วเขาก็รู้โดยผมไม่ต้องสอนเลยว่ามันไม่ดี เพราะเขาถามว่าทำไมเรยาพูดกับแม่อย่างนั้น ผมก็เลยได้โอกาสสอนเขาไปว่าเวลาเขาโมโหเขาก็ลืมตัว และบางทีก็พูดจาไม่ดีกับแม่ของเขาเหมือนกัน ถ้าไม่อยากเป็นเหมือนเรยาก็ให้ระวังตัวเองด้วย  

ส่วนที่มีคนออกมาบอกว่าถ้าปล่อยให้เด็กหรือเยาวชนดูละครเรื่องนี้แล้วจะนำไปทำตามตัวอย่างที่ไม่ดีเหมือนที่เรยาทำ ผมคิดว่าเราอาจต้องเปลี่ยนวิธีคิดกันใหม่นะครับ ทำไมเราถึงคิดว่าละครเรื่องเดียวจะทำให้ลูกหลานที่เราเลี้ยงมาอย่างดีเป็นปี ๆ กลายเป็นคนไม่ดีไปได้ ผมว่าเด็กจะเติบโตขึ้นมาเป็นอย่างไรมันมาจากการอบรมเลี้ยงดูจากทางบ้านและโรงเรียนมากกว่า ถ้าเราสั่งสอนลูกหลานกันมาดีเด็กที่เห็นเรยาทำตัวไม่ดีกับแม่ ก็อาจจะถามเหมือนกับที่ลูกผมถามว่าทำไมเรยาทำกับแม่แบบนั้น  ผมมองว่าพ่อแม่ผู้ปกครองที่ยอมให้ลูกตัวเล็ก ๆ ไปเต้นท่ายั่วยวนบนหลังคารถจากข่าวที่เห็นในช่วงสงกรานต์ ผมว่าอันนั้นน่ากลัวกว่านะครับ การที่เรามีความคิดแบบปิดกั้นนี้ไงครับ ทำให้เราคิดวิธีการป้องกันอะไรแบบประหลาด ๆ เช่นฉากเบลอขวดเหล้าหรือบุหรี่ในละคร หรือหนักกว่านั้นไปเบลอป้ายโฆษณาบุหรี่หรือเหล้าที่อยู่ในสนามกีฬาจนดูไม่รู้เรื่อง

มีคำกล่าวว่าดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัว ละครหลายเรื่องเป็นละครเบา ๆ สนุกสนานดูได้อย่างมีความสุขทั้งครอบครัว บางเรื่องก็มีแต่เรื่องความฟุ้งเฟ้อ บางเรื่องตื่นเต้นสืบสวนหรือบู๊ดุเดือดเลือดพล่าน หรือบางเรื่องก็หนักสะท้อนสังคม ดังนั้นละครนอกจากจะให้ความเพลิดเพลินแล้วก็อาจให้ข้อคิดในหลาย ๆ ด้านอีกด้วย ขึ้นอยู่กับว่าเราจะปรับนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้หรือไม่ อย่างละครเรื่องดอกส้มสีทองนี้ ผมมองว่ามันได้สะท้อนด้านมืดของสังคม ซึ่งแทนที่จะเราจะปิดกั้นลูกหลานของเราโดยไม่ให้เขารับรู้ว่าในสังคมมีสิ่งนี้อยู่ แล้วปล่อยให้เขาไปเผชิญกับสิ่งนี้โดยเขาอาจไม่มีภูมิคุ้มกันอยู่เลย ทำไมเราไม่นำสิ่งละครนำเสนออกมานำมาสอนให้เขาระมัดระวังในการใช้ชีวิต และถ้าใครได้ติดตามดูละครเรื่องนี้มาโดยตลอดจะพบว่าเรยาไม่เคยมีความสุขที่ยั่งยืนจากการกระทำของตัวเองเลย และในตอนจบเท่าที่ทราบมาก็จะมีบทสรุปว่าผลที่เรยาจะได้รับจากการกระทำนี้คืออะไร หลายคนให้ความเห็นว่าแหมเลวมาตั้งนานมาสรุปแค่ตรงท้ายเรื่องว่าผลกรรมเป็นอย่างไรมันน้อยไป แต่ผมถามจริง ๆ เถอะครับ ละครหรือหนังส่วนใหญ่มันก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้นไม่ใช่หรือครับ ที่ตัวร้ายก็กลั่นแกล้งพระเอกหรือนางเอกมาค่อนเรื่องแล้วก็มาแพ้หรือตายตอนเรื่องจบ ดังนั้นผมว่านี่มันก็คือละครธรรมดาเรื่องหนึ่ง

สำหรับบทสรุปของการแก้ปัญหาของละครเรื่องนี้เมื่อสักครู่ที่ดูจากข่าวช่องสามก็คือ จะมีการขึ้นข้อความว่าเป็นการแสดง และอาจมีการตัดฉากบางฉากซึ่งไม่เหมาะสมออก ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นฉากอะไรเหมือนกันนะครับ ก็อาจจะเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุดในตอนนี้แล้วก็ได้ครับ...

วันเสาร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2554

สีไว้ทุกข์ในรัชกาลที่ 5

สวัสดีครับ สำหรับวันนี้ขอนำเรื่องไทย ๆ ที่พวกเราหลายคน(รวมทั้งผมด้วย)อาจไม่เคยทราบมาก่อนมาเล่าให้ฟังกันครับ เป็นเรื่องเกี่ยวกับสีเสื้อผ้าสำหรับไว้ทุกข์ครับ ในปัจจุบันเวลาเราไปงานศพสีเสื้อผ้าที่เราใส่ก็คือสีขาวหรือสีดำเป็นหลักนะครับ แต่จริง ๆ แล้วในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการแบ่งสีไว้ทุกข์ไว้ตามนี้ครับ


  1. สีดำ ผู้ที่สวมใส่คือญาติที่มีอายุมากกว่าผู้ตาย 
  2. สีขาว ผู้ที่สวมใส่คือญาติที่มีอายุน้อยกว่าผู้ตาย
  3. สีม่วงแก่หรือน้ำเงินแก่ ผู้ที่สวมใส่คือผู้ที่ไม่ได้เป็นญาติกับผู้ตาย  
ที่มา: Brainfood New Edition เล่ม 4 ปี 2553

วันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553

บล็อกส่งท้ายปีเสือดุ: พลังของ Social Network

ปีหนึ่ง ๆ ผ่านไปเร็วมากนะครับ มันเหมือนกับว่าเพิ่งจะผ่านปีใหม่ไปไม่นานนี้เอง ปีนี้จริง ๆ แล้วก็คงต้องบอกว่าเป็นปีเสือดุจริง ๆ นะครับ มีเหตุการณ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้นมากมายไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมทางการเมืองและมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากมาย มาจนถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ กรณีซากเด็กทารกที่เกิดจาการทำแท้ง กรณีโจ๊ก-จิ๊บไผ่เขียวและเหตุการณ์ล่าสุดที่กำลังเป็นเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในตอนนี้ก็คือกรณีอุบัติเหตุรถซีวิคชนกับรถตู้โดยสารจนมีผู้เสียชีวิตหลายคน และเด็กสาวที่ขับรถซีวิคก็กลายเป็นจำเลยของสังคมถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมายอยู่ในตอนนี้ กรณีโจ๊ก-จิ๊บผมได้เขียนไปแล้วในเรื่องที่แล้ว วันนี้ผมก็ขอส่งท้ายด้วยมุมมองของผมเกี่ยวกับเหตุการณ์ซีวิคนี้ก็แล้วกันครับ โดยจะเน้นให้เห็นถึงพลังของ Social Network ซึ่งมีทั้งที่ดีและไม่ดี

ผมได้ติดตามเรื่องอุบัติเหตุครั้งนี้มาเรื่อย ๆ จากหลายสื่อด้วยกัน โดยสื่อแรกที่ผมได้ทราบเรื่องนี้ก็คือจาก twitter ซึ่งตอนแรกนั้นข่าวเป็นเหมือนว่ารถตู้ตกโทลเวย์ จนในที่สุดก็เป็นเรื่องอย่างที่เราทราบกันอยู่ก็คือรถซีวิคชนรถตู้จนผู้โดยสารกระเด็นจากรถออกมา และมีผู้โดยสารเสียชีวิตซึ่งในขณะที่เขียนอยู่นี้มีผู้เสียชีวิตแล้วเก้าคน ส่วนคนที่ชนนั้นเป็นเด็กสาวอายุ 16 ปี และมีนามสกุลใหญ่โต ผมก็ได้ติดตามข่าวนี้จากหลาย ๆ สื่อ รวมทั้งอ่าน Timeline ของผมใน Twitter ด้วย ซึ่งสิ่งที่ทำให้ผมไม่สบายใจมากก็คือกระแสจาก Social Network นี่แหละครับเพราะบอกตามตรงว่ามันรุนแรงมากถึงกับขั้นที่สร้างความเกลียดชังกับตัวเด็กคนนั้นกันทีเดียว และจากกระแสนี้มันทำให้ผมเข้าใจเลยว่าทำไมสังคมไทยมันถึงเกิดการแตกแยกกันขนาดนี้

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนนะครับว่าผมก็เสียใจไปกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตทุกคน และผมไม่ได้จะออกมาเข้าข้างคนขับรถซีวิค แต่ต้องออกตัวไว้ก่อนเพราะเข้าใจว่ามีคนที่มีความเห็นคล้าย ๆ ผมนี่โดนมาแล้ว นี่ก็คือปัญหาหนึงตอนนี้เหมือนกับว่าสังคมเรายอมรับความเห็นต่างไม่ได้แล้ว ถ้าใครเห็นต่างจากตัวเองก็กลายเป็นคนเลวหรือกลายเป็นอีกฝ่ายหนึ่งไป ทั้ง ๆ ที่การรับฟังความเห็นของคนอิ่นนั้นน่าจะมีประโยชน์ทำให้เรามีมุมมองที่กว้างขึ้นหรือมองปัญหาได้รอบด้านขึ้น

แน่นอนอยู่แล้วครับที่เด็กที่ขับซีวิคนั้นมีความผิดในส่วนของการขับรถทั้งที่ไม่มีสิทธิขับตามกฏหมาย และพ่อแม่ของเด็กคนนั้นก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบในฐานะที่เป็นคนอบรมเลี้ยงดูลูก และผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมจนป่านนี้พ่อแม่ของเด็กจึงยังไม่ออกมากล่าวขอโทษและแสดงความเสียใจในส่วนนี้ คือจากคำสัมภาษณ์เหมือนกับจะรอให้ชัดเจนก่อนว่าในเรื่องอุบัติเหตุใครถูกหรือผิด แต่ผมว่ามันไม่เกี่ยวกันในส่วนที่ตัวเองผิดนี่ก็ยอมรับไปก่อน ผมว่ามันจะช่วยลดกระแสสังคมลงได้ส่วนหนึ่ง ดีกว่าออกแถลงการมาเป็นสกุล มันยิ่งทำให้ดูเหมือนการแบ่งชนชั้นมากขึ้น

กลับมาถึงเรื่องที่ผมอยากให้เราตั้งสติกันครับ จากกระแสที่กำลังสร้างความเกลียดชังเด็กคนนี้อยู่ตอนนี้ ผมว่าสังคมไทยในยุคที่มี Social Network และการรับข่าวสารแบบทันทีทันใดนี้นี่น่ากลัวมากครับ ถ้าคนรับข่าวสารไม่ตั้งสติและใช้วิจารณญาณในการรับข่าวสารให้ดี วิพากษ์วิจารณ์ตามกระแส หรือเห็นคล้อยตามกับคนมีชื่อเสียงที่ใช้ Social Network และอาจจะมีทัศนคติที่ไม่ดีเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น และเราก็ตามกระแสไปจนผมขอใช้คำว่าถึงขั้นเลยเถิด  และถ้าเรายังปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปผมว่าสังคมไทยก็จะเกิดความขัดแย้งแบบนี้ไปอีกนาน

ดังนั้นผมอยากให้พวกเราตั้งสติและพิจารณาเหตุการณ์นี้ให้ดีครับลองมาพิจารณาเป็นข้อ ๆ นะครับ  ข้อแรกเหตุการณ์นี้เป็นอุบัติเหตุซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิด เหตุการณ์แบบนี้สามารถเกิดได้กับทุกคนที่ขับรถ เด็กคนนั้นในแง่ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะผิดจริงหรือไม่ก็ต้องรอการพิสูจน์ เด็กคนนั้นผิดแน่ในแง่การขับรถโดยไม่มีใบขับขี่และขับรถเร็วเกินกฏหมายกำหนด แต่ส่วนอื่น ๆ ไม่ว่าจะผิดจริงหรือไม่สิ่งที่เราต้องตั้งสติและพิจารณาให้ดีก็คือ เด็กคนนั้ีนคงไม่ได้ตั้งใจทีจะขับรถพุ่งชนใส่รถตู้ ดังนั้นสมควรแล้วหรือที่เราจะต้องสร้างความเกลียดชังเด็กคนนี้ถึงขนาดนั้น จริง ๆ เราไม่เคยรู้จักเด็กคนนี้ด้วยซ้ำก่อนที่จะเกิดเรื่องนี้ขึ้น

ข้อสองหลายคนอาจบอกว่าที่ไม่พอใจก็เพราะเด็กคนนั้นหลังจากชนแล้วยังออกไปกดบีบีเล่นไม่สนใจคนเจ็บ คำถามก็คือเราทราบได้อย่างไรว่าเด็กคนนั้นทำอะไรอยู่ แค่ดูจากรูปที่มีคนถ่ายแล้วส่งมา ซึ่งดูจากรูปแล้วมันจะเป็นอะไรก็ได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ดูเหมือนจะสรุปได้ว่าเด็กคนนั้นกำลังโทรศัพท์ ซึ่งถ้าโทรศัพท์ก็คงเป็นเรื่องปกติที่พวกเราทุกคนคงต้องทำเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น หรือถ้ากดบีบีจริงผมว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องผิดถ้าเธอจะใช้เป็นช่องทางเพื่อติดต่อหรือแจ้งให้คนอื่น ๆ ทราบถึงเหตุการณ์ดังกล่าว

ข้อสามหลายคนอาจถามว่าทำไมไม่ไปดูแลคนเจ็บ ผมอยากให้ลองคิดอย่างนี้ครับว่าถ้าเราเป็นคนขับรถคันนั้น และเราเป็นคนชนเราจะเป็นยังไงครับ เราจะตกใจไหม รถที่ขับก็พังยับทั้งคัน เราถูกงัดอกมาจากรถ เราไม่เห็นรถคู่กรณี เราอาจจะนึกว่าเราแค่ขับชนท้ายรถก็เหมือนรถชนธรรมดา เราไม่รู้ว่ามีคนเจ็บคนตาย ประเด็นก็คือผมเองแม้จะอายุเยอะแล้วถ้าอยู่ในเหตุการณ์นั้นก็อาจทำอะไรไม่ถูกก็ได้ นับประสาอะไรกับเด็กอายุ 16

ข้อสี่คนมีนามสกุลใหญ่จะต้องได้รับอภิสิทธิ์ พวกคนตระกูลใหญ่จะต้องใช้เส้นสายเพื่อให้พวกตัวเองพ้นผิด เรื่องการปฏิบัติสองมาตรฐานหรือเอาใจคนใหญ่คนโตนี้ผมเห็นด้วยครับว่ามันมีอยู่ในสังคมเราจริง  ๆ  แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าคนใหญ่คนโตทุกคนจะต้องใช้เส้นสายหรือใช้สิทธินี้ และมันก็ไม่มีเหตุผลที่จะไปเกลียดหรือเข้าข้างใคร ๆ เพียงเพราะเขามีนามสกุลใหญ่โตและทำผิด เรื่องการแบ่งแยกนี้มันทำให้เกิดปัญหาระดับชาติมาแล้วนะครับ พวกชนชั้นกลางหลายคนก็ไปดูถูกคนต่างจังหวัดว่าโง่เลือกผู้แทนที่ไม่มีคุณภาพ คนต่างจังหวัดก็ถูกปลุกปั่นให้เห็นว่าคนชั้นกลางเอารัดเอาเปรียบ ดังนั้นผมอยากเสนอว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ให้เราพิจารณาที่คนคนนั้น เหตุการณ์นั้นโดยไม่เอาอคติในเรื่องชนชั้นมาเกี่ยวข้องด้วยก็น่าจะทำให้เรามองปัญหาด้วยใจที่เทียงธรรมมากขึ้นครับ

กรณีเรื่องการปฏิบัติสองมาตรฐานนี้ถ้าจะโทษผมอยากให้โทษที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมากกว่า ลองถามตัวเองดูว่าปฏิบัติเหมือนกันไหมระหว่างคนธรรมดากับคนตระกูลใหญ่ ถ้าคนที่ขับรถชนเป็นคนนามสกุลธรรมดาตำรวจจะปล่อยตัวไปโดยไม่ควบคุมอะไรเลยแบบนี้ไหม แต่ถ้ามองในแง่ตำรวจผู้ปฏิบัติงานก็อาจน่าเห็นใจว่าเขาอาจถูกกดดันจากคนที่มีอำนาจเหนือกว่า ถ้าเขาทำตามหน้าที่ตรงไปตรงมาก็อาจมีปัญหาได้โดยไม่มีใครช่วยเขา ตรงนี้แหละครับที่ผมมองว่า Social Network อาจเข้ามาช่วยได้ คือถ้ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงตรงโดยไม่กลัวเกรงกับอิทธิพลใด ๆ ก็ให้เราใช้พลัง Social Network ช่วยเขาครับ ส่วนเรื่องการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันอะไรที่รัฐบาลเสนอเข้ามา ผมก็ภาวนาขอให้มันสำเร็จจริง ๆ ไม่ใช่แค่นโยบายหาเสียงไปวัน ๆ ก็แล้วกัน    

เขียนมาซะยืดยาวและเป็นเรื่องหนัก ๆ ทั้งนั้นในวันส่งท้ายปีแบบนี้จริง ๆ ไม่อยากเขียนเลย แต่ที่ต้องเขียนเขียนก็เพราะอยากเห็นคนไทยในยุค Social Network ตั้งสติและพิจารณาข่าวสารให้ดี ให้เราเข้าใจว่าข้อมูลที่เราได้รับจากสื่อต่าง ๆ มันอาจจะไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้องทั้งหมด ให้แยกแยะว่าอะไรคือข้อเท็จจริง อะไรคือข้อวิจารณ์ซึ่งบางทีอาจเกิดจากอารมณ์ก็ได้ 

สุดท้ายผมอยากให้เราใช้ Social Network ในทางสร้างสรรค์เช่นการรวมตัวกันช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมอย่างที่ผ่านมา หรือสนับสนุนคนดี ๆ มากกว่าที่จะมาใช้ Social Network เพื่อทำลายล้างกันหรือสร้างกระแสให้เกลียดชังกัน ซึ่งถ้าเราทำอย่างนี้ได้ผมว่าเราจะใช้ประโยชน์จาก Social Network ได้คุ้มค่า และประเทศของเราก็น่าจะเข้าสู่ปีใหม่ด้วยความสงบสุขเหมือนที่ผ่านมาได้ครับ สวัสดีปีใหม่ครับ ...

วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

มุมุมองของผมจากเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2553

จริง ๆ เรื่องน้ำท่วมนี้มีอะไรอยู่ในใจผมและตั้งใจว่าจะเขียนนานแล้ว แต่ก็ไม่มีโอกาสได้เขียนสักที จนตอนนี้พอจะมีเวลาบ้างก็ขอเขียนเลยแล้วกัน เพราะถ้าไม่เขียนตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้เขียนเมื่อไหร่ สำหรับเหตุูการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ก็มีทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดีปะปนกันไป เอาสิ่งที่ดีก่อนแล้วกันสิ่งดีประการแรกก็คือผมยังเห็นว่าคนไทยยังรักกันครับ เราพร้อมที่จะช่วยเหลือกันเมื่อยามเดือดร้อนไม่ต้องคิดว่าใครเป็นสีไหน และหลังจากเหตุการณ์นี้ผมก็หวังว่าเราจะไม่ยอมให้พวกนักการเมืองหรือผู้ที่ต้องการครองอำนาจในบ้านเมืองมาชักนำให้พวกเราต้องมาแบ่งสีกันอีกนะครับ ผมมองเห็นการทำงานที่แข็งขันของภาคประชาชน การใช้เครือข่ายสังคมให้เกิดประโยชน์ ผมรู้สึกว่าประเทศเรายังมีความหวัง และขอขอบคุณอาสาสมัครทุกคนด้วยใจจริงครับ อีกสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกดีแต่อาจจะเป็นส่วนตัวสักเล็กน้อยนะครับก็คือลูก ๆ ของผมทั้งสองคนซึ่งยังไม่โตมากนัก แต่เขาก็มีความรู้สึกและพร้อมที่จะช่วยเหลือด้วย คือเมื่อวันเสาร์ (23 ต.ค. 2553) ที่ผ่านมา ผมและลูกได้ดูรายการเรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์ ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมไป และผมก็ได้พูดเปรย ๆ ว่า "คราวนี้น้ำท่วมหนัก สงสัยที่บริจาคไปแล้วจะน้อยไปพ่อจะไปบริจาคเงินช่วยเพิ่มเติม" ลูกของผมทั้งสองคนได้ยินอย่างนั้น ก็เดินไปเปิดกระเป๋าเงินของเขาและหยิบเงินออกมาคนละพัน บอกว่าเงินนี้คุณยายให้มาให้เขาเอาไว้ใช้ตอนเปิดเทอมให้ผมเอาเงินนี้ไปบริจาคด้วย ซึ่งทำให้ผมรู้สึกปลื้มใจมาก

ส่วนสิ่งที่ผมมองว่ายังไม่ดีประการแรกก็คือการทำงานของรัฐบาลนี่แหละครับ รัฐบาลไม่ได้แสดงถึงความสามารถในการจัดการสถานการณ์วิกฤตเลย มันทำให้เห็นว่าตอนนี้การทำงานของภาครัฐนั้นล้าหลังภาคประชาชนไปมาก ผมว่าบล็อก ถ้าฉันเป็นนายกฯ ในประเทศที่กำลังมีน้ำท่วมหนัก เขียนสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพของรัฐบาลได้ดีมาก ก็ลองไปอ่านกันดูแล้วกันครับ ผมคงไม่เพิ่มเติมอะไรเพราะผมว่าบล็อกดังกล่าวได้สะท้อนสิ่งที่น่าจะอยู่ในใจของหลาย ๆ คนออกมาอยู่แล้ว

อีกจุดหนึ่งก็คือพวกส.ส.ทั้งหลายครับ ตอนนี้พวกคุณทำอะไรกันอยู่บ้างครับ ผมไม่เห็นบทบาทที่โดดเด่นของพวกคุณในสถานการณ์นี้เลยครับ ตกลงพวกคุณยังมีตัวตนอยู่ไหม จริง ๆ มันไม่สำคัญว่าคุณจะเป็น ส.ส. ฝ่ายค้านหรือรัฐบาล ตอนนี้ประชาชนที่เขาเลือกพวกคุณมากำลังเดือดร้อน คุณได้ทำอะไรเพื่อช่วยเหลือพวกเขาบ้าง คุณเลิกทะเลาะเบาะแว้งทางการเมืองสักพักได้ไหม หรือจะตามสนใจแต่เรื่องคลิปจะยุบพรรคหรือไม่ยุบพรรค ก็ไม่ได้บอกว่าไม่สำคัญ แต่ตอนนี้ผมว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องรองนะครับ ส.ส. ฝ่ายค้านกับรัฐบาลลองทำเหมือนภาคประชาชนดูไหมครับ ลองหันมาจับมือกันเพื่อช่วยประชาชนให้ผ่านความทุกข์ยากครั้งนี้ไปให้ได้ แล้วเรื่องอื่นค่อยมาว่ากันทีหลัง

สุดท้ายก็คือเรื่องการแก้ปัญหาระยะยาวครับ ลองถามตัวเองครับว่าประเทศของเราเกิดเหตูการณ์แล้ง-น้ำท่วมแบบนี้มากี่ครั้งแล้ว ต้นปีก็ปัญหาภัยแล้ง พอกลางปีถึงปลายปีก็มีปัญหาน้ำท่วม ผมคงไม่สามารถให้ความเห็นที่ดีได้ในเรื่องวิธีแก้ปัญหาเพราะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ แต่คำถามก็คือประเทศเราไม่มีใครที่จะแก้ปัญหานี้ได้เลยหรือครับ หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงไม่สามารถทำอะไรได้ดีกว่านี้หรือครับ เท่าที่ผมฟังมาวิธีการหนึ่งที่อาจจะบรรเทาปัญหานี้ได้ก็คือการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น แต่ก็ถูกคัดค้านจาก NGO ซึ่งผมมองว่าถ้ามันแก้ได้จริง ๆ ก็น่าจะต้องทำนะครับ ก็ขอฝากรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องไว้ด้วยแล้วกันในเรื่องการแก้ปัญหาระยะยาว

นั่นคือบางสิ่งที่อยู่ในใจผมจากสถานการณ์นี้ สำหรับท่านใดมีความเห็นอื่นใดต้องการจะมาแบ่งปันกันก็ยินดีครับ อ้อขอให้ลิงก์ไปยังเว็บที่ถือว่าเป็นศูนย์ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำท่วมครั้งนี้ไว้ด้วยนะครับ เผื่อใครยังไม่ทราบ และต้องการข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ http://www.thaiflood.com/

วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2553

ความเห็นเกี่ยวกับข่าวฮอตประจำสัปดาห์

สำหรับสัปดาห์นี้ข่าวร้อนแรงที่สุดก็คงมีอยู่ 3 เรื่องนะครับ คือเรื่องที่การประมูลใบอนุญาต 3G ถูกระงับ เรื่องฟิล์ม และเรื่องเปิดตัวไอโฟน 4 อย่างเป็นทางการในไทย ก็ขออนุญาตเกาะกระแสเขียนถึงทั้ง 3 เรื่องนี้บ้างแล้วกันนะครับ

เริ่มจากเรื่อง 3G ก่อน จริง ๆ เรื่องนี้ผมเขียนถึงไปสองครั้งแล้ว คงต้องบอกว่าผิดหวังเหมือนกับหลาย ๆ คนในประเทศนี้ แต่คิดไว้ล่วงหน้าแล้วว่ายังไงศาลก็คงไม่ยอมให้เดินหน้าต่อเพราะมีปัญหาเรื่องข้อกฏหมายจริง ๆ แต่ถ้าถามว่าปัญหาน่าจะเกิดจากอะไร ผมคิดว่าเป็นปัญหาด้านการบริหารจัดการของรัฐบาล รัฐบาลไม่รู้ว่าองค์กรใดมีอำนาจทำอะไรได้บ้าง ไม่รู้ว่าเคยปรึกษากับกฤษฎีกาหรือเปล่า (จริง ๆ ถ้ายังไม่แน่ใจนี่น่าจะรีบดันเรื่อง กสทช.ออกมาให้เร็วที่สุด มาเร่งทำตอนนี้ก็ค่อนข้างสายแล้วครับ) อีกอย่างหนึ่งยังไม่สามารถควบคุมองค์กรที่อยู่ในสังกัดของตัวเองให้ทำตามนโยบายของรัฐบาลได้ อ้อแต่รับฟังมาอีกกระแสหนึ่งเห็นเขาบอกว่าจริง ๆ รัฐบาลไม่อยากให้การประมูล 3G สำเร็จโดยกทช. ครับ เพราะมีข้อไม่เห็นด้วยกับ กทช. (ทำนองว่า กทช. มีความไม่โปร่งใสอะไรบางอย่าง) แต่ไม่สามารถทำอะไรได้เพราะกทช. เป็นองค์กรอิสระ อันนี้แค่ฟังมานะครับไม่รู้จริงหรือเปล่าเอามาเล่าให้ฟังไว้เป็นข้อมูลอีกด้านหนึ่ง สรุปเรื่องนี้ก็คือตอนนี้ TOT กับ กสท. ก็สมหวังแล้วในการที่ยับยั้งไม่ให้มี 3G รายอื่นเกิดขึ้นมาในประเทศ ก็ช่วยพัฒนาสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์กับประเทศชาติสูงสุดด้วยนะครับ

ส่วนเรื่องฟิล์มนี่ผมจะไม่แตะเลยครับ ถ้าคุณระเบียบรัตน์ไม่ออกมาให้สัมภาษณ์อะไรซึ่งในส่วนตัวผมฟังแล้วรู้สึกแย่มาก ผมไม่ใช่แฟนของฟิล์ม และติดตามผลงานของฟิล์มน้อยมาก และผมไม่ชอบยุ่งเรื่องส่วนตัวของคนอื่น แต่ที่เขียนถึงเรื่องนี้ก็เพราะคุณระเบียบรัตน์จริง ๆ ก่อนอื่นผมบอกเลยนะครับว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องของคนสองคน เขารู้ดีที่สุดว่าอะไรเป็นอะไร เราเป็นบุคคลนอกไม่มีสิทธิที่จะไปวิพากษ์วิจารณ์เขาในทางที่เหมือนต่อว่าคนที่เราไม่เห็นด้วยอย่างเสีย ๆ หาย ๆ สิ่งที่เราทำได้เพียงอย่างเดียวคือยกเอามาเป็นตัวอย่างในการสั่งสอนลูกหลานของเราให้ระมัดระวังตัวในการใช้ชีวิต ในการให้สัมภาษณ์คุณระเบียบรัตน์ได้ต่อว่าคุณพจน์ อานนท์ที่มาพูดให้ข่าวเหมือนเชิงแก้ตัวแทนฟิล์มว่าไม่ควรพูดเพราะเป็นคนนอก แต่ตัวเองกลับทำเสียเอง ไปพูดเป็นเชิงว่าฟิล์มไม่สนใจไม่ดูแลไม่รับผิดชอบ แถมยังมาพูดเป็นเชิงประชดประชันแดกดันว่าไม่ต้องตรวจดีเอ็นเอ ให้บอกว่าเด็กเป็นลูกฟิล์ม ให้จำไว้จนวันตายอะไรประมาณนี้ (การให้สัมภาษณ์เต็ม ๆ ฟังได้จากจากคลิปนี้ครับ) คำถามคือคุณระเบียบรัตน์ถือสิทธิอะไรในการไปพูดจาว่ากล่าวคนอื่นแบบนี้ ทั้งที่ความจริงตัวเองก็ไม่น่าจะรู้หรอกว่าจริง ๆ แล้วมันเป็นยังไง ปัญหาของประเทศเราส่วนหนึ่งก็มาจากวิธีคิดและการกระทำแบบนี้แหละครับ เที่ยวไปตัดสินคนอื่นโดยรับฟังข้อมูลข้างเดียว เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ไม่คิดไตร่ตรองว่าอะไรควรพูดอะไรไม่ควรพูด

ส่วนเรื่องไอโฟน 4 กระแสแรงจริง ๆ ครับ แสดงว่าคนไทยหลายคนก็อดทนรอที่จะได้ใช้เจ้าโทรศัพท์ตัวนี้ ส่วนคนที่รอไม่ได้นี่ได้ข่าวว่ายอมซื้อเครื่องหิ้วที่เข้ามาตอนแรก ๆ ถึงสี่-ห้าหมื่น สำหรับตอนนี้ก็เปิดขายแล้วโดยทั้งสามค่ายใหญ่ เครื่องเปล่าราคาเท่ากันหมด เริ่มต้นที่สองหมื่นกว่า รายละเอียดดูได้ที่บล็อกของคุณพัชร แว่ว ๆ ว่าขายดีเหมือนแจกฟรี ถ้าจะใช้ครอบคลุมจริง ๆ คือได้ใช้ทั้ง 3G และ Wifi นี่ตอนนี้ก็คงไม่มีใครสู้ True ได้ ดังนั้นผมคิดว่า AIS และ DTAC ก็คงต้องเปิด 3G ให้ได้บนเครือข่ายเดิมที่ตัวเองมีอยู่เพื่อจะให้การใช้งานเครื่องให้ได้คุ้มค่าที่สุด เห็นว่ารัฐบาลอาจจะผลักดัน 3G ตามแนวนี้ด้วยเหมือนกันครับ แต่ก็แปลกดีนะครับบริษัทที่มี 3G อยู่แล้วอย่าง TOT กลับไม่กระตือรือร้นที่จะนำไอโฟนเข้ามาขาย บริษัทที่นำมาขายกลับยังไม่มี 3G

สำหรับวันนี้ก็คงพอแค่นี้นะครับ ขอให้มีความสุขในวันศุกร์ครับ