แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ มุมมอง แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ มุมมอง แสดงบทความทั้งหมด

วันพุธที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2561

เราต้องดีหรือเก่งแค่ไหนถึงจะวิจารณ์คนอื่นได้

เคยรู้สึกไหมครับว่าหลาย ๆ ครั้งที่เราคุยกับใครแล้วก็มีความเห็นต่างกัน โดยอาจจะเป็นการวิจารณ์อะไรสักอย่างในมุมมองที่ต่างกัน สุดท้ายก็มักจะมีข้อความประเภทว่า ไปวิจารณ์เขาเราดีพร้อมแล้วหรือ หรือไปวิจารณ์เขาทำดีได้เท่าเขาหรือเปล่า ซึ่งถ้ามาถึงตรงนี้ผมก็มักจะเลิกคุย เพราะคุยไปก็ไม่มีประโยชน์ เสียอารมณ์กันเปล่า ๆ

ถ้าคนเราต้องดีให้ครบทุกด้าน แล้วถึงจะมีสิทธิวิจารณ์คนอื่นได้ โลกนี้คงไม่ต้องมีการวิจารณ์กัน อันนี้ไม่ได้หมายถึงว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเองนะ แต่หมายถึงคนทุกคนย่อมมีข้อบกพร่องอยู่ในตัวแทบทุกคน เช่นบางคนเป็นคนเคารพกฎหมาย แต่อาจจะหงุดหงิดง่าย ถ้าเขาจะวิจารณ์คนทำผิดกฎหมายก็ไม่น่าจะแปลก แต่ถ้าเขาไปวิจารณ์คนอื่นว่าหงุดหงิดง่ายจัง นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง และก็สมควรถูกว่ากลับว่าดูตัวเองหรือยัง

ถ้าคนเราจะวิจารณ์ใครแล้วจะต้องทำดีให้เท่าเขาให้ได้ก่อน โลกนี้คงไม่ต้องมีการวิจารณ์กันเช่นกัน การวิจารณ์นักฟุตบอลระดับพรีเมียร์ลีกสักคนหนึ่ง ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเตะบอลให้เก่งระดับพรีเมียร์ลีก แต่การวิจารณ์เหล่านั้นมันจะอยู่บนมาตรฐานหรือสิ่งที่เราคาดหวังว่านักฟุตบอลระดับนั้นน่าจะทำได้ อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือคนที่ประเมินการสอนของอาจารย์ก็คือนักเรียน ถ้าอาจารย์คิดว่านักเรียนพวกนี้เป็นใครถึงมาวิจารณ์เรา มาสอนเองจะสอนได้ไหม มีความรู้เท่าเราไหม ก็คงไม่ต้องมีการประเมิน แต่ถ้าคิดว่าเขาประเมินเราด้วยระดับมาตรฐานที่เขาคิดว่าเราน่าจะทำได้ นั่นก็เป็นสิ่งที่เราควรจะต้องรับฟัง การวิจารณ์นักการเมือง ทหาร หัวหน้าคสช. หรือผู้บริหารบ้านเมือง โดยประชาชนก็เช่นกัน

อีกอย่างคงต้องแยกการวิจารณ์ออกจากการติเตียน (ด่า) ด้วย เพราะบางคนก็ขอให้ได้แย้ง ขอด่าเอามัน แต่การวิจารณ์ที่ดีก็คือการติเพื่อก่อ ชี้ให้เห็นข้อบกพร่อง และอาจจะเสนอทางแก้ด้วยหรือไม่ก็ได้ ถ้าเสนอได้ก็ดีมาก จริง ๆ การวิจารณ์บางอย่างมันก็บอกทางแก้อยู่ในตัวแล้ว เช่นถ้าบอกว่าแบบฟอร์มมันไม่เหมาะสม มีส่วนที่ให้ป้อนข้อมูลมากเกินไป ตรงนี้ตรงนั้นไม่น่ามี หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง วิจารณ์ว่าทำไมไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง จะได้ไม่ต้องทำเรื่องขยายเวลาการทำงานพรรคการเมืองออกไป นั่นก็เสนอทางแก้ปัญหาแล้ว แต่ถ้าเสนอไม่ได้ เพราะปัญหาบางอย่างมันอาจเกินความสามารถของคนธรรมดาที่ไม่ได้มีความรู้ในเรื่องนั้นจะแก้ปัญหาได้ เพียงแต่เขาเห็นว่ามันเป็นปัญหา ก็เป็นหน้าที่ของผู้รับผิดชอบที่จะต้องรับฟังและหาทางแก้ หรือไม่ก็ชี้แจง แทนที่จะมาทำฟาดงวงฟาดงาหาว่าบิดเบือน หรือฟ้องเขาบ้าง อย่างที่คนบางคนชอบทำอยู่ในทุกวันนี้

การวิจารณ์อย่างเสรีและสร้างสรรค์เป็นปัจจัยหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสมควรจะเริ่มได้คืนมาก่อนที่เราจะได้เลือกตั้งกันนะ เอ๊ะผมพูดอะไรนี่ พวกเพลงดาบแม่น้ำห้าสายเขาประสานงานกันอย่างเป็นระบบที่จะทำให้การเลือกตั้งมันเลื่อนออกไปเรื่อย ๆ ดาบนี้ชง ดาบนี้รับลูก คนหนึ่งไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง อีกคนทำเรื่องขยายเวลาอ้างความหวังดีกลัวพรรคการเมืองทำงานไม่ทัน ช่างเป็นกระบวนท่าที่สวยงามจริง ๆ อ้าวทำไมวกมาเรื่องนี้ล่ะนี่ พอก่อนแล้วกันนะครับ เดี๋ยวบล็อกจะปลิวไปซะ บล็อกต่อไปเขียนเรื่องเมย์-เจ ชวัญ-กอล์ฟท่านลอร์ด อะไรแบบนี้น่าจะถูกใจผู้มีอำนาจมากกว่า...



วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2559

การสอบเข้ามหาวิทยาลัย การทดลองของผู้ใหญ่ที่ไม่เคยถามอะไรเด็ก

เริ่มเขียนเรื่องนี้มาหลายวันแล้วครับ แต่ไม่มีเวลามาเขียนจนเสร็จ จนกระแสเริ่มซาไปแล้ว แต่คิดว่ายังไงก็ยังอยากเขียน ก็คือเรื่องระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ (อีกแล้ว) ที่มีแนวโน้มว่าจะบังคับใช้ปีการศึกษา 2561 นี่แหละครับ

หลังจากรวบรวมเสียงของเด็กเกี่ยวกับแนวคิดจะเปลี่ยนระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ ในบล็อกที่แล้ว วันนี้ก็ขอแสดงความเห็นของตัวเองบ้างนะครับ สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าแนวคิดนี้คืออะไร ถ้าคลิกดูที่บล็อกที่แล้วของผมก็จะเห็น หรือจะลองอ่านดูจากลิงก์นี้ได้ครับ http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/638816 ซึ่งผมแนะนำว่าถ้าใครเข้าไปอ่านลิงก์นี้แล้ว ขอให้อ่านให้จบนะครับ เพราะมันมีอะไรที่ผมอยากจะมาพูดถึงในบล็อกของผมด้วย

ก่อนที่จะพูดถึงแนวคิดใหม่นี้ เรามาทำความเข้าใจระบบที่มีอยู่ในปัจจุบันกันก่อนแล้วกันนะครับ เพราะจริง ๆ ผมเชื่อว่าคนที่เป็นพ่อแม่ที่มีลูกเข้ามหาวิทยาลัยในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ น่าจะเป็นคนยุคที่สมัยตัวเองการสอบเข้ามหาวิทยาลัย มีการสอบเอ็นทรานซ์เพียงครั้งเดียว แล้วก็นั่งลุ้นว่าคะแนนจะติดไหม แต่ระบบใหม่ที่เด็กใช้กันมาตลอดหลายปีนี้ ถูกพัฒนาขึ้นมาด้วยเหตุผลของผู้ใหญ่ที่มองเห็นว่า ระบบเอ็นทรานซ์แบบดั้งเดิมทำให้เด็กเครียด ไม่มีโอกาสแก้ตัว และทำให้เด็กไม่สนใจเรียนในห้อง มุ่งหน้าไปกวดวิชาเพื่อเอนทรานซ์อย่างเดียว (ซึ่งระบบใหม่ผมก็ไม่เห็นว่ามันจะแก้ปัญหาได้ โรงเรียนกวดวิชาเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด) จากตอนนั้นถึงตอนนี่ต้องบอกว่าระบบมีการปรับเปลี่ยนแทบทุกปี จนดูเหมือนจะเริ่มลงตัวมาในช่วงสองสามปีหลัง ดังนั้นผมจะขอสรุประบบล่าสุดที่ใช้กันอยู่ให้ฟังก่อนนะครับ บอกตามตรงผมก็เพิ่งจะมาเข้าใจระบบนี้จริง ๆ เมื่อปีที่แล้วนี้เอง เพราะลูกคนโตต้องสอบเข้า

สำหรับระบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงจะใช้กับนักเรียนที่จะเข้ามหาวิทยาลัยในปี 2560 ก็เป็นดังนี้ครับ นักเรียนจะเข้ามหาวิทยาลัยได้ตามช่องทางนี้ครับ
1. โควต้า มหาวิทยาลัยจะให้โควต้ากับนักเรียนซึ่งมีความสามารถพิเศษ อยู่ในภูมิภาคเดียวกับมหาวิทยาลัย หรืออยู่ในโรงเรียนที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเป็นต้น ซึ่งโควต้าประเภทนี้อาจจะมีการสอบเองโดยมหาวิทยาลัย หรือจะใช้คะแนนสอบกลาง (จะกล่าวถึงต่อไป) มาประกอบบ้างก็ได้
2. รับตรง โดยมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะประกาศรับนักศึกษาด้วยตัวเอง ซึ่งการรับแบบนี้แหละครับ ที่ระบบที่นำมาใช้ใหม่เขาบอกว่ามันเป็นปัญหาที่เขาตั้งใจจะมาแก้ โดยระบบนี้มหาวิทยาลัยบางแห่งก็จะจัดสอบเอง หรือใช้คะแนนสอบกลาง โดยกำหนดเงื่อนไขขั้นต่ำในการรับ ถ้านักศึกษาไม่ผ่านเงื่อนไขขั้นต่ำ ก็ไม่สามารถสมัครได้ และถ้านักเรียนได้ในรอบนี้แล้ว ก็มักจะเรียกเก็บเงินค่ามัดจำล่วงหน้าไว้ก่อน เผื่อนักเรียนไปสมัครที่อื่น แล้วจะสละสิทธิ์ (คือมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะมีวันสอบหรือช่วงยื่นคะแนนและประกาศผลไม่ตรงกัน ดังนั้นใครประกาศรับก่อนก็จะเก็บเงินค่ามัดจำไว้ก่อน) ผมเล่ามาถึงตรงนี้คิดว่าคงเห็นปัญหาที่เขาพยายามจะแก้แล้วใช่ไหมครับ แต่จริง ๆ ระบบนี้มันก็มีข้อดีนะครับ ซึ่งผมจะพูดต่อไปทีหลัง ระบบรับตรงนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งจะเข้าร่วมสิ่งที่เรียกว่า Clearing House ก็คือถ้านักเรียนคนไหนที่ได้มหาวิทยาลัยในรอบนี้แล้ว จะไม่มีสิทธิ์ไปเข้าระบบแอดมิชชันกลาง (จะพูดถึงต่อไป) ด้วยการยืนยันสิทธิ์ เอาง่าย ๆ คือเขาจะไม่ให้เด็กที่มีที่เรียนแล้วไปกั๊กที่คนอื่นในรอบแอดมิดชันอีก ถ้าอยากไปแอดมิชชันก็ต้องสละสิทธิ์สิ่งที่ได้ในรอบรับตรง
3. แอดมิชชันกลาง อันนี้ก็เป็นระบบที่ใช้คะแนนสอบกลาง ให้นักเรียนเลือกมหาวิทยาลัย และคณะที่ต้องการได้ 4 อันดับ ถ้าคะแนนถึงอันดับไหนก็ได้อันดับนั้น ในระบบปัจจุบันการแอดมิชชันจะอยู่หลังจากรับตรง และเป็นความหวังเกือบสุดท้ายของเด็ก เพราะคู่แข่งก็จะน้อยลง เนื่องจากพวกที่รับตรงและยืนยันสิทธิ์ไปแล้ว จะไม่มาแข่งกับเขาอีก
4. รับตรงหลังแอดมิชชันกลาง อันนี้มหาวิทยาลัยบางแห่งจะเปิดรับอีกในกรณีได้นักศึกษาไม่ครบตามเป้าหมาย    
5. การสอบ กสพท. อันนี้เป็นการสอบที่จัดให้นักศึกษาที่จะเข้าแพทย์ ทันตแพทย์ อะไรพวกนี้ เข้าใจว่าที่ต้องมาจัดสอบเองในสาขานี้ก็เพราะว่า มหาวิทยาลัยมองว่าข้อสอบกลางไม่สามารถคัดกรองคนที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมได้

คราวนี้มามองดูการสอบกลางบ้างว่านักเรียนต้องสอบอะไรบ้าง

1. GAT/PAT ซึ่ง GAT ก็เป็นการสอบความถนัดทางภาษา ทั้งไทยและอังกฤษ ส่วน PAT ก็คือการสอบความถนัดทางด้านต่าง ๆ เช่น PAT1 คือเลข PAT2 วิทยาศาสตร์ (รวมฟิสิกส์ เคมี ชีวะ) และ PAT2 นี้นักเรียนที่อยู่สายศิลป์ก็เลือกสอบได้นะครับ แปลกดีเหมือนกัน PAT5 คือความถนัดด้านครูเป็นต้น ซึ่งจะต้องสอบ PAT อะไรบ้างนั้น แต่ละคณะในแต่ละมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้กำหนด นักเรียนจะต้องดูเงื่อนไขของคณะที่ต้องการเข้าเอาเองว่าต้องสอบอะไรบ้าง GAT/PAT จะสอบได้สองครั้ง ครั้งแรกจะประมาณ ปลายปี (ประมาณ ต.ค. - พ.ย.) คือยังเรียน ม.6 ไม่จบก็ต้องสอบแล้ว ครั้งที่สองจะประมาณเดือนมีนาคม หลังจากจบม. 6 แล้ว
2. 9 วิชาสามัญ ก็พวก เลข ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย สังคม อะไรพวกนี้ ซึ่งนักเรียนก็ต้องดูว่าคณะที่ตัวเองต้องการเข้าเขาต้องการวิชาอะไรบ้าง อันนี้สอบประมาณ ธ.ค.
3. ONET อันนี้สอบหลังสุด และส่วนใหญ่จะใช้ตอนแอดมิชชันกลาง และที่เขาคิด ONET ขึ้นมาเพราะเขาบอกว่าจะให้นักเรียนตั้งใจเรียนในห้องเรียนมากขึ้น และทำให้เกรดที่ได้ของโรงเรียนมันเท่าเทียมกัน เพราะโรงเรียนมีคุณภาพไม่เท่ากัน บางโรงเรียนปล่อยเกรด อะไรแบบนี้   ONET จะนำไปถ่วงกับเกรดที่นักเรียนได้ ดังนั้นใครทำ ONET ได้น้อยก็จะทำให้เกรดที่ได้จากโรงเรียนลดลง และเขาค่อย ๆ เพิ่มน้ำหนักของการเข้ามหาวิทยาลัยด้วย ONET เพิ่มขึ้นทุกปี (แต่ได้ผลตามที่เขาคิดไหม ... ขอไม่พูดแล้วกัน)

 เห็นนักเรียนต้องสอบแล้วเหนื่อยใช่ไหมครับ และถ้ามหาวิทยาลัยหรือคณะในบางมหาวิทยาลัยที่รับตรงแบบให้ไปสอบ อย่างคณะบริหารธุรกิจของธรรมศาสต์ในปีก่อนหน้าปีนี้ เขาก็จะมีการสอบที่เรียกว่า Smart-1 ซึ่งเปิดสอบทั้งปี ให้นักเรียนไปสอบเก็บคะแนนเพื่อนำไปยื่นเข้ามหาวิทยาลัย หรือคณะอื่น ๆ ที่จัดสอบเองอีก ก็จะต้องเหนื่อยเข้าไปอีก ซึ่งระบบใหม่ส่วนหนึ่งนี้เขามุ่งจะแก้ปัญหานี้ เพื่อให้นักเรียนสอบน้อยลง ประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง และเขายังมองถึงการลดความเหลื่อมล้ำด้วย คือเขามองว่าคนรวยก็มีสิทธิ์ที่จะได้สอบมากกว่าคนจนอะไรประมาณนี้

ก็คงพอเห็นภาพ และเห็นปัญหาที่เขาพยายามจะแก้แล้วนะครับ คราวนี้ผมจะขอแสดงความเห็นบ้าง แต่ก่อนจะแสดงความเห็นขอพูดสั้น ๆ ก่อนว่าสิ่งที่พวกเขาคิดขึ้นมามันเหมือนคิดอะไรไม่ค่อยจะสุด มีปัญหาให้ลองผิดลองถูกมาแทบจะตลอด คนที่รับผลก็คือนักเรียนนี่แหละ เพราะคิดปุ๊ปก็ทำปั๊ป พอเห็นว่ามีปัญหาก็เปลี่ยนใหม่ จะทำอะไรก็ไม่เคยถามความคิดของคนที่ต้องเป็นผู้ปฏิบัติ ไม่รู้คนพวกนี้ไม่มีลูกมีหลานที่ต้องสอบบ้างหรือยังไง

คราวนี้มาดูสิ่งที่เขาพยายามจะแก้ด้วยระบบใหม่นี้คือระบบรับตรง อันนี้เห็นด้วยว่าระบบรับตรง นักเรียนต้องสอบเยอะ ผู้ปกครองเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม และมหาวิทยาลัยบางแห่งใช้ตรงนี้เป็นแหล่งหารายได้ทั้งค่าสอบและค่ามัดจำล่วงหน้า แต่ประเด็นหลังนี้ก็ต้องบอกว่าส่วนหนึ่งก็เพราะนโยบายที่จะให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบด้วยหรือเปล่า มหาวิทยาลัยหลายแห่งก็เลยหันมาหารายได้ด้วยวิธีนี้ ไม่ได้เห็นด้วยนะ แต่อยากให้คิดว่าเรื่องนี้มันก็เป็นปัญหา ส่วนเรื่องคนรวยได้สอบเยอะ ก็อยากให้คิดว่าคนที่ได้สอบเยอะก็ใช่ว่ามันจะสอบได้นะ คนที่ตั้งใจเรียนอาจสอบครั้งเดียวแล้วได้เลยก็ได้ และที่ต้องมองคือข้อดีอันหนึ่งของระบบรับตรงที่ผมมองเห็นคือ ระบบรับตรงจะทำให้มหาวิทยาลัยได้เด็กที่มีการเตรียมพร้อม (ผมไม่ได้บอกว่าเก่งกว่าพวกแอดมิชชันนะ) คือการรับตรงถ้าใช้คะแนนจากการสอบกลางนี่ มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะตั้งเงื่อนไขการรับไว้ค่อนข้างสูง และส่วนใหญ่จะใช้ผลจากการสอบ GAT/PAT ครั้งที่ 1 และ 9 วิชาสามัญ ซึ่งนักเรียนที่ผ่านมาได้คือเขามีการเตรียมพร้อมที่ดี แต่ประเด็นนี้จริง ๆ ก็ไม่สำคัญหรอก เพราะคนที่มันเตรียมพร้อมจะให้สอบอะไรแบบไหนมันก็พร้อม อีกประเด็นถ้าไม่มองแค่ว่ามหาวิทยาลัยอยากได้เงินจากการสอบ การที่มหาวิทยาลัยบางแห่งที่จัดสอบเองเป็นเพราะข้อสอบกลางคัดเด็กให้เขาไม่ได้ด้วยหรือเปล่า

ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากเสนอให้คิดกันก็คือ

  • ถึงเวลาหรือยังที่จะสอบถามคนที่ได้ผลกระทบก่อนจะทำอะไร ลองให้เขาพูดถึงความรู้สึก หรือเสนอวิธีแก้ตามที่เขาคิดบ้างดีไหม 
  • ถึงเวลาหรือยังที่จะคิดอะไรปุ๊ปแล้วทำปั๊ปลองคิดพิจารณาให้ดีให้ถี่ถ้วน ไม่ใช้ลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ ดีไหม ผมมองว่ามันยังมีอะไรที่ควรจะต้องคิดให้ลงตัวก่อนที่จะนำระบบมาใช้เช่น
    • ข้อสอบจะทำยังไงให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ยอมรับว่าคัดเด็กที่ต้องการได้จริง เรืองพวกนี้ต้องใช้เวลานะผมว่า ข้อสอบที่สทศ.จัดการอยู่ก็มีปัญหาเรื่องมาตรฐานให้พูดกันทุกปี ตามข่าวก็เห็นว่าที่ประชุมก็คิดถึงเรื่องนี้ ดังนั้นก่อนประกาศใช้อะไรเรื่องนี้ต้องชัดเจน
    •  เรื่องคะแนนที่จะเป็นจุดอ้างอิงให้นักเรียนที่จะสอบด้วยระบบใหม่เป็นรุ่นแรกจะต้องทำยังไง
    • เรื่องการปิดเปิดเทอมของมหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนกลับไปใช้แบบเดิมหรือเปล่า (นี่ก็อีกตัวอย่างของการทำอะไรไม่คิดให้ถี่ถ้วน) และมีมหาวิทยาลัยบางแห่งประกาศแล้วว่าจะกลับไปใช้แบบเดิมจะแก้ปัญหายังไง
    • การสอบ ONET ถ้าไม่ได้แก้ปัญหาอะไร และจะไม่เอามาใช้เข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ยังต้องสอบอยู่ไหม  
    • การสอบ GAT/PAT ที่เคยสอบสองครั้ง มาเหลือสอบครั้งเดียว จะทำให้เด็กบางคนคิดว่าเสียโอกาสไหม 
    • เป็นไปได้ไหมที่จะรวมการสอบทั้งสองอย่าง หรือสามอย่างที่ว่าเข้าเป็นการสอบเดียว
    • กสทพ. ยังจะให้เขาสอบอยู่ไหม ถ้าไม่ให้เขาสอบแสดงว่าต้องปรับข้อสอบกลาง แล้วถ้าปรับแล้ว มันจะทำให้สาขาอื่นที่ไม่ต้องการอะไรยากอย่างนั้นลำบากไปด้วยไหม
  •  เลิกด่าว่าคนที่เขาคิดไม่เหมือนตัวเองว่าเป็นผู้เสียผลประโยชน์ หรือไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงซะที หัดรับฟังความคิดและข้อเสนอที่หลากหลายบ้าง และควรยอมรับว่าเด็กเขาก็มีความคิดดี ๆ มันน่าจะหมดยุคผู้ใหญ่หัวหงอก ไปนั่งคิดแล้วก็บอกว่านี่คือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเด็กได้แล้วมั้ง ขอโทษที่อาจแรงไปหน่อย เพราะอ่านในเนื้อข่าวที่พูดแล้วมันจี๊ด (ด่ามาก็ด่ากลับไม่คดโกง :) ) 
สรุปสุดท้ายก็คือ ไม่ใช่ผมจะต่อต้านการเปลี่ยนแปลงใด ๆ นะ ผมก็เห็นปัญหาและเข้าใจที่พยายามจะแก้ แต่อยากจะให้เลิกใช้วิธีแบบหนูลองยาซะที ลองรับฟังความเห็น และวางแผนการปรับเปลี่ยนให้ชัดเจนก่อนดีไหม ผมเชื่อว่าเด็กเขาพร้อมจะเปลี่ยนแปลง แต่ทางผู้ใหญ่ต้องชัดเจน และให้โอกาสให้เวลาเขาวางแผนเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่ใช่เขาเตรียมตัวมาอย่างแต่มาเปลี่ยนเป็นอีกอย่าง ผมมองว่าหลังจากวางแผนอะไรลงตัวแล้ว ก็ควรจะจัดอมรมให้ครูแนะแนวได้เข้าใจ เพื่อนำไปถ่ายทอดให้นักเรียนด้วยและก็ควรจะประกาศใช้กับนักเรียนที่ขึ้นจาก ม.3 มา ม.4 หรือช้าสุดก็น่าจะม.4 ขึ้นม.5 อะไรประมาณนี้... 




 
 

วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ลดความขัดแย้งเริ่มได้ที่ตัวเรา

ขณะที่เขียนบล็อกนี้ประเทศไทยของเราก็เกิดรัฐประหารมาได้สักห้าวันแล้วนะครับ ก็มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียกคนเข้าไปรายงานตัว มีทั้งคนที่ชื่นชมเอาดอกไม้ไปขอบคุณทหาร และก็มีคนที่ไม่กลัวปืนออกมาแสดงการต่อต้านด้วย แต่สิ่งที่ไม่มีแล้วคือม็อบกกปส. กับนปช. ครับ :) สำหรับบล็อกวันนี้ผมอยากเสนอแนวคิดให้ไปลองพิจารณากันครับว่าเราจะช่วยกันลดความขัดแย้งในชาติลงได้ยังไง ซึ่งผมจะขอเขียนโดยแบ่งออกเป็นสองฝ่ายหลัก ๆ นะครับ คือเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร

สำหรับคนที่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ถ้าต้องการจะให้การรัฐประหารนี้มีผลสำเร็จอยู่บ้างในเรื่องลดความขัดแย้งแนะนำว่าให้เลิกการโพสต์ข้อความด่าว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ยกย่องตัวเองว่าดีเลิศเลอเป็นผู้รักชาติ คนที่ไม่เห็นด้วยเป็นพวกที่ไม่รักชาติ เป็นพวกโลกสวยที่วัน ๆ ฝันหาแต่การเลือกตั้ง เป็นพวกโง่ที่คิดว่าประชาธิปไตยคือการไปเลือกตั้งแล้วปล่อยให้คนโกงไปอีกสี่ปี ที่หนักว่านั้นคือไปไล่เขาว่าถ้าอึดอัดนักก็ไปอยู่ที่อื่นสิ ลองถามตัวเองดูนะครับว่าตัวเองใช้สิทธิอะไรข้อไหนถึงจะไปไล่คนอื่นได้ ถ้าเขาอึดอัดเพราะคุณทำไมเขาถึงต้องไป จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนที่มีความคิดแบบคุณเป็นเพียงคนส่วนน้อยของประเทศ ลองออกจากอคติที่ครอบตัวเองอยู่ ค่อย ๆ อ่าน ค่อย ๆ คิดดูว่าคนที่เขาไม่เห็นด้วยนี่เขามีเหตุผลอะไรบ้าง มันเป็นไปได้นะครับที่คนที่ออกมาไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารในครั้งนี้อาจเคยเป็นคนที่ไปเดินอยู่ข้าง ๆ คุณ ตอนพรบ.นิรโทษกรรม อาจเป็นคนที่นั่งอยู่ข้าง ๆ คุณ ขณะฟังปราศัยของวิทยากร กกปส.  และที่ไม่สบายใจมาก ๆ ก็คือบางคนถึงกับบอกว่าระบบเผด็จการแบบนี้น่ะดีแล้ว เผด็จการไม่เป็นไรขอให้ได้ฆ่านักการเมืองชั่ว อยากบอกว่าถ้าหลังจากนี้เผด็จการมันชั่วซะเองเลือดคงนองแผ่นดินกันอีกครั้ง ถ้าไม่เข้าใจก็ลองกลับไปอ่านประวัติศาสตร์ที่คนเดือนตุลา 2516 เขาช่วยกันโค่นล้มเผด็จการกันก็ดีนะครับ

ในขณะเดียวกันผู้ที่ต่อต้านรัฐประหารก็ควรปฏิบัติเช่นกันออกจากอคติที่ครอบตัวเอง ไม่ด่าว่าคนที่เขาเห็นด้วยกับรัฐประหารด้วยถ้อยคำที่รุนแรง หรืออาจไล่เขาไปอยู่ที่อื่นเช่นกัน ลองทำความเข้าใจศึกษาที่มาที่ไปของการเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ ลองรับฟังความคิดของอีกฝั่งหนึ่ง และอาจจะต้องฝืนใจลองให้โอกาสกับทหารซึ่งเขาก็อาจไม่อยากทำแบบนี้ ซึ่งผมบอกตามตรงว่าก็เป็นคนหนึ่งที่คิดว่าการรัฐประหารเป็นเรื่องล้าหลังและควรหมดไปจากประเทศไทยได้แล้ว และผมคิดว่ามันยังมีทางเลือกอื่น เช่นการให้สัตยาบันเรืองการปฏิรูป ทำประชามติ แล้วก็ไปเลือกตั้ง ผมไม่คิดว่าการรัฐประหารครั้งนี้จะทำให้เราสามารถกำจัดนักการเมืองชั่ว ๆ หรือปัญหาคอรัปชันให้หมดไปได้ คือมันเกิดมาหลายครั้งแล้ว และทุกครั้งที่เกิดก็แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า และยิ่งไปว่านั้นยังเป็นการตัดวงจรประชาธิปไตยอีกด้วย แต่ถ้าถามว่านับตั้งแต่ผมรู้ความติดตามการเมืองมา ผมอาจต้องยอมรับด้วยความเจ็บปวดว่าการรัฐประหารครั้งนี้มีเหตุผลที่สุดเมื่อเทียบกับทุกครั้งที่ผ่านมา เรามีนักการเมืองที่เลวร้ายคิดถึงแต่ประโยชน์ตัวเอง เรามีสื่อเลือกข้างไม่รายงานความจริง เรามีนักวิชาการที่ไม่ได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นธรรม เรามีนักกฏหมายที่ตีความกฏหมายเข้าข้างตัวเอง เรามีองค์กรอิสระที่ไม่สามารถสร้างความเชื่อถือในด้านความยุติธรรมได้ และสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุดเรามีประชาชนที่ไม่รับฟังเหตุผลซึ่งกันและกันและบางคนอาจพร้อมที่จะฆ่ากันด้วย ด้วยปัจจัยทั้งหลายที่กล่าวมา มันอาจทำให้ทหารคิดว่าคงต้องทำอย่างนี้ ดังนั้นฝ่ายไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ก็อาจต้องทำใจและลองถามตัวเองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นถึงตอนนี้มีอะไรเลวร้ายกว่าที่มันเกิดมากว่าครึ่งปีไหม ลองทำใจคิดว่านี่มันก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่งหลังจากที่พวกนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจที่ควรจะทำอะไรได้ดีกว่านี้แต่ไม่ยอมทำ

ไหน ๆ การรัฐประหารมันก็เกิดขึ้นแล้ว ผมว่าตอนนี้สิ่งที่พวกเราไม่ว่าฝ่ายไหนควรจะทำต่อไปก็คือ การจับตาดูสิ่งที่ทหารจะทำครับว่าเขาทำทุกอย่างโปร่งใส ให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย และทำเพื่อแก้ปัญหาของชาติจริงไหม และเขาจะคืนอำนาจกลับมาให้กับเราเมื่อไหร่ (ซึ่งตรงนี้ผมว่าทหารควรจะต้องรีบให้คำตอบ) หรือจะยึดยาวไปเลย (ซึ่งผมภาวนาว่าอย่าให้เป็นอย่างนั้น) การประท้วงที่ผ่านมาผมก็ว่าพอเป็นสัญลักษณ์ให้ทหารได้เห็นแล้วว่าถ้าเมื่อไรเขาล้ำเส้นก็จะมีคนที่พร้อมจะออกมาต่อต้าน และเขาคงไม่อยากให้เกิดเหตุูการณ์ตุลาคม 2516 หรือพฤษภาคม 2535 ขึ้นอีกหรอกครับ ต่อจากนี้เราลองให้โอกาสเขาดู และในส่วนของพวกเราที่จะทำได้ก็คือลดความขัดแย้งในหมู่พวกเรากันเองด้วยการไม่โพสต์ข้อความยั่วยุแสดงความเกลียดชัง ถกเถียงกันด้วยเหตุผล ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็จะทำให้เป้าหมายหนึ่งของการรัฐประหารครั้งคือการลดความขัดแย้งได้สำเร็จลง และอาจทำให้เขาคืนอำนาจอธิปไตยกลับมาได้เร็วขึ้น เริ่มที่ตัวเราหยุดสร้างความขัดแย้งกันเถอะครับ...

วันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

เลือกตั้งครั้งนี้จะได้อะไร

ใกล้วันเลือกตั้งเข้ามาแล้ว ซึ่งปีนี้เป็นปีที่แปลกครับ เพราะมีการรณรงค์คัดค้านการเลือกตั้ง การไปเลือกตั้งสำหรับคนบางคนกลับกลายเป็นการแสดงความไม่รักชาติ บางคนก็ลังเลไม่รู้ว่าควรจะไปเลือกตั้งดีไหม เรียกว่าจะทำอะไรก็กลัวไปหมดจะไปเลือกก็กลัวกลายเป็นขี้ข้าทักษิณ จะไม่ไปเลือกก็กลัวจะกลายเป็นพวกไม่รักประชาธิปไตยแพ้แล้วพาล ซึ่งผมอยากบอกว่าอย่าให้มายาคติเหล่านี้มาทำให้เราสับสนครับ ผมมองว่าคนส่วนใหญ่ทั้งคนที่เห็นด้วยกับกปปส.และคนที่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งล้วนแล้วแต่เป็นคนที่รักชาติ เพียงแต่มีมุมมองหรือชุดความคิดต่อการแก้ปัญหาที่ต่างกันเท่านั้น ดังนั้นอย่ากลัวที่จะไปใช้สิทธิตามความเชื่อของเราครับ และคงต้องขอร้องโดยเฉพาะกกปส.ว่าอย่าไปขัดขวางคนที่เขาต้องการไปเลือกตั้งครับ เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้ผมเชื่อว่ามันมีสิ่งที่จะได้ตามมาหลายอย่างครับ ไม่ใช่แค่ผลาญเงินสามพันล้านแล้วไม่ได้อะไร ลองมาดูกันครับ

ก่อนอื่นผมขอไม่พูดถึงคนที่ต้องการออกมาเลือกพรรคเพื่อไทยหรือพรรคอื่น ๆ นะครับอันนั้นก็เป็นสิทธิของพวกคุณครับ แต่ผมอยากจะพูดถึงคนที่ไม่เห็นด้วยกับเพื่อไทยแต่ก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการของกกปส. เพราะคนกลุ่มนี้แหละครับที่มีความสับสนมากว่าจะทำอะไรกันดี  และผมก็เป็นหนึ่งในนั้น ในส่วนตัวผมผมชัดเจนว่าผมไปโหวตโนแน่  ในตอนแรกผมคิดว่าเราน่าจะรณรงค์ให้คนที่ไม่ชอบเพื่อไทยซึ่งหมายรวมถึงกกปส.ด้วยให้ออกมาโหวตโนกัน ถ้ามวลมหาประชาชนมีจำนวนมากจริง ๆ เสียงโหวตโนจะต้องมากกว่าเสียงที่เพื่อไทยได้ ซึ่งตรงนี้ถึงแม้มันจะไม่มีผลทางนิติศาสตร์แต่ผมว่ามันมีผลทางรัฐศาสตร์นะครับ เพราะรัฐบาลจะไม่สามารถอ้างได้ว่าตัวเองเป็นเสียงข้างมากอีกแล้ว และน่าจะต้องรีบทำเรื่องปฏิรูปตามที่ประชาชนต้องการ

แต่คิดอีกทีจากการประมวลจากหลากหลายความคิดที่แสดงกันออกมาในช่วงนี้ ผมกลับมองใหม่ครับว่า กกปส.ไหน ๆ ก็รณรงค์กันมานานแล้ว ก็ให้ยึดกับแนวทางเดิมไปเลยคือไม่ต้องไปเลือกตั้งกัน แต่ก็อย่าไปขัดขวางคนที่เขาจะไปเลือกนะครับ เพราะถ้าปล่อยให้เป็นไปเป็นแบบนี้สิ่งที่จะได้มาก็คือถ้าจำนวนมวลมหาประชาชนเป็นคนส่วนมากของประเทศจริง ๆ เราจะต้องได้จำนวนคนที่ไม่ไปเลือกตั้งมากกว่าคนที่ไปเลือกตั้ง ซึ่งตรงนี้ผมว่ามันเหมือนเป็นการทำประชามติได้นะครับ ให้มองว่าเงินสามพันล้านที่เสียไปในการจัดการเลือกตั้งคราวนี้เป็นค่าใช้จ่ายการทำประชามติซะก็แล้วกัน ซึ่งถ้าเกิดขึ้นแบบนี้จริง ๆ กกปส.จะได้ความชอบธรรมมากขึ้นแน่นอนครับ ผมคนหนึ่งล่ะที่จะไม่บ่นในสิ่งที่กกปส.จะทำ เพราะถือว่าได้ฉันทามติแล้ว ผมมองว่าถ้าเป็นอย่างนี้กกปส.มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้พรรคที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาทำตามสิ่งที่ต้องการ เช่นยื่นเงื่อนไขว่าขอไม่ให้คุณยิ่งลักษณ์ หรือคนที่เกี่ยวข้องกับตระกูลชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี ลองเลือกสักคนจากสส.พรรคเพื่อไทย (ซึ่งก็น่าจะมีคนดีอยู่บ้างล่ะน่าหรือเอาที่คิดว่าเลวน้อยสุดก็ได้) เพราะรัฐธรรมนูญบอกว่านายกต้องมาจาก สส. จากนั้นนำเสนอบุคคลที่คิดว่าควรจะเป็นรัฐมนตรีเข้าไป จะตั้งสภาประชาชนขึ้นมา จะแก้กฏหมายก็ยิ่งง่ายเพราะตอนนี้มีสภานิติบัญญัติแล้ว

ในกรณีที่มวลมหาประชาชนไม่ได้เป็นเสียงส่วนใหญ่ของประเทศจริงคือมีคนไปเลือกตั้งมากกว่าคนไม่ไปเลือก ก็ยังไม่เป็นไรเพราะผมมองว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีคนโหวตโนกันมาก อย่างน้อยคนที่เคยเลือกประชาธิปัตย์ก็น่าจะโหวตโนกันนะ ตรงนี้ถ้าจำนวนคนที่ไม่ไปเลือกกับคนโหวตโนมีจำนวนมากกว่าคะแนนเสียงที่เพื่อไทยได้ ผมว่ามันก็จะเข้ากรณีแรกคือมีผลทางรัฐศาสตร์ที่ทำให้รัฐบาลสำนึกตัวว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้เขาไม่เอาคุณนะ ดังนั้นรีบปฏิรูปตามที่สัญญาไว้ซะ และอย่าทำอะไรแบบนิรโทษสุดซอยอีก เพราะถ้าทำคราวนี้คนส่วนใหญ่ของประเทศออกมาจัดการคุณแน่ แต่ถ้าสุดท้ายคนที่เลือกเพื่อไทยยังคงมากกว่าเสียงของโหวตโนและโนโหวตก็คงต้องยอมรับ แต่ยังไงก็ตามผมยังเชื่อนะว่าเพื่อไทยก็จะไม่กล้าทำอะไรที่เลวร้ายมาก ๆ อย่างที่ผ่านมาอีกแน่

ถึงตรงนี้หลายคนอาจคิดว่าผมเป็นพวกโลกสวยรัฐบาลแบบนี้มันไม่ยอมทำอะไรแบบนี้หรอก ก็ไม่รู้สินะครับ ผมมองว่าไม่ว่าใครที่ได้รับเสียงที่เลือกเข้ามาน้อยกว่าเสียงที่ไม่เลือก เขาไม่น่าจะกล้าทำอะไรที่ขัดความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ และถ้าจะพูดเรื่องโลกสวยผมว่าคนในกกปส.นี่โลกสวยกว่าผมอีกนะ ที่คิดกันว่าการปฏิรูป (ที่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะทำอะไรบ้าง) ในช่วงประมาณปีครึ่ง จะแก้ปัญหาที่เกาะกินประเทศเรามาเป็นสิบ ๆ ปี อย่างเรื่องนักการเมืองด้อยคุณภาพ การทุจริตในทุกระดับได้ ไม่ใช่ผมไม่อยากได้นะอะไรแบบนี้ แต่ผมมองว่าประเทศเราผ่านการปฏิวัติกันมากันตั้งหลายครั้ง ทุกครั้งก็มีการร่างกติกาการปกครองประเทศขึ้นมาใหม่ ซึ่งแต่ละครั้งก็บอกว่านี่คือกติกาที่ดีที่สุดแล้ว จะแก้ปัญหาได้ แต่สุดท้ายเป็นยังไงครับ ขนาดรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ซึ่งแต่ก่อนก็ว่าดีนักดีหนา ก็ยังกันคนโกงไม่ได้ ผมว่าปัญหาแบบนี้มันจะต้องค่อย ๆ แก้กันไปให้มีการเรียนรู้กันไป ซึ่งผมมองว่าประเทศเราก็เดินหน้ามาเรื่อย ๆ นะ อย่างน้อยตอนหลังมานี้เราได้เห็นการแข่งขันกันด้านนโยบายมากขึ้น และมันทำให้คนได้เรียนรู้ว่านโยบายแบบไหนทีที่มันไม่ยั่งยืนและสร้างความเสียหาย อย่างเช่นนโยบายจำนำข้าวนี่ผมเชื่อว่าชาวนาหลายคนก็ได้เรียนรู้แล้วและเขาไม่น่าจะเลือกเพื่อไทยเข้ามาอีก

สุดท้ายผมก็อยากบอกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มาถึงขนาดนี้แล้วควรจะเดินหน้าต่อไป ไม่ว่าสุดท้ายมันจะเป็นโมฆะหรือไม่ อยากขออย่างเดียวว่าไม่ว่าจะคิดเห็นต่างกันอย่างไรก็อย่าไปละเมิดสิทธิของคนอื่น ผมเชื่อว่าเงินสามพันล้านที่เราใช้ลงไปกับการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ จะให้อะไรกลับมาครับนั่นคือมันจะเป็นตัวแสดงความเห็นของคนทั้งประเทศ