วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2559

สิ่งที่คาดหวังหลังจากผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ตอนที่ 2

จะขอจบซีรีย์ร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยตอนที่ 2 ของสิ่งที่ผมคาดหวังจากฝ่ายต่าง ๆ หลังจากผลลงมติร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าใครยังไม่ได้อ่านตอน 1 ก็เชิญอ่านก่อนได้นะครับ และคิดว่าจะเป็นบล็อกเกี่ยวกับการเมืองบล็อกสุดท้ายในช่วงนี้ก่อนจะถึงการเลือกตั้ง ถ้าไม่มีประเด็นอะไรร้อน ๆ แทรกเข้ามานะครับ สำหรับฝ่ายที่ผมคาดหวังจะเห็นต่อไปก็คือ

1. คสช. และนายก: ผมก็คาดหวังว่าจะทำตาม roadmap ที่วางไว้ และน่าจะเริ่มผ่อนคลายบรรยากาศการควบคุมลงได้แล้ว เพราะตอนนี้ผมว่าไม่น่าจะมีใครมาสนใจจะต่อต้านรัฐประหารกันแล้ว มันล่วงเลยมากันจนป่านนี้แล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ก็รับร่างแล้ว และน่าจะมุ่งหน้าสู่โหมดการเลือกตั้งกัน นายกเคยพูดบ่อย ๆ ในรายการบอกว่าไม่เห็นพรรคการเมืองออกมาพูดเรื่องจะปฏิรูปประเทศยังไง ก็ท่านไม่เปิดโอกาสให้เขาพูดนี่ครับ ไม่ให้เขาดำเนินการอะไรเลย ผมว่าท่านน่าจะเปิดให้เขาเริ่มดำเนินการได้บ้างแล้ว และจะยิ่งดีถ้าท่านจะเปิดโอกาสให้เขาได้เสนอสิ่งที่จะเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะต้องจัดทำขึ้นด้วย ถ้าทำอย่างนี้ได้ มันก็จะหมดข้อครหาว่าท่านทำของท่านคนเดียว และยังจะไปตามควบคุมอีก ถ้าให้เขาช่วยเสนอ เวลาเขาได้ไปเป็นรัฐบาล ก็ไม่ต้องมาควบคุมเขาหรือสั่งเขามาก เขาก็อาจจะอยากทำอยู่แล้ว เพราะมันเป็นสิ่งที่เขามีส่วนเสนอด้วย ค่อย ๆ คืนเสรีภาพในการแสดงออกให้ประชาชน ลองพิจารณายกเลิกข้อหาของคนที่ถูกฟ้องหรือถูกจับในช่วงแรกที่มีการต่อต้านการยึดอำนาจ เพื่อให้บรรยากาศมันเตรียมพร้อมที่จะกลับคืนสู่ประชาธิปไตย (ถึงจะเป็นแบบควบคุมก็เถอะ) ผมว่ามันน่าจะดีกว่าบรรยากาศอึมครึมแบบตอนลงประชามตินะครับ และท่านอาจจะได้ใจของฝ่ายที่ต่อต้านท่านบ้าง ก่อนที่ท่านจะวางมือไปพักผ่อนหลังเกษียณ

2. นักการเมือง: ผลการลงประชามติ ผมว่าส่วนหนึ่งมันสะท้อนนะว่าประชาชนส่วนหนึ่งไม่ไว้ใจนักการเมือง จนยอมมอบอำนาจของตัวเองให้กับคนที่ไม่ได้มาจากเสียงของตัวเอง เหตุที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะนักการเมืองที่ได้อำนาจมามาก ๆ ก็ใช้อำนาจจนเกินพอดีบทเรียนได้มากี่ครั้งก็ไม่เคยจำ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็ฝากความหวังไม่ได้ เพราะไม่สามารถดึงคนที่ไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใดอย่างแน่นอนมาเลือกตัวเองได้ เลยแพ้เลือกตั้งแทบทุกครั้ง แถมพอได้โอกาสมาบ้างก็ยังไม่สามารถสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรมได้ ในประเทศที่เขาเป็นประชาธิปไตยและมีพรรคการเมืองสลับกันเข้ามาบริหารประเทศ เขาก็เหมือนเราคือมันจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่จะเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งอยู่แล้ว เรียกว่าเป็นแฟนพันธ์แท้ แต่มันจะมีประชาชนส่วนหนึ่งที่อยู่ตรงกลาง และพร้อมจะเลือกพรรคใดก็ได้ที่เขาเห็นว่าดีกว่า ดังนั้นมันจึงมีการสลับกันแพ้ชนะ ในเมืองไทยผมว่าก็มีคนแบบนี้ แต่พรรคการเมืองที่แพ้มาตลอดไม่สามารถดึงคนกลุ่มนี้ได้ ดังนั้นนักการเมืองควรใช้เวลาช่วงนี้ในการปฏิรูปตัวเอง และถ้าเขาให้เสนอยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีก็น่าจะเสนอเข้าไป หรือถ้าเขาไม่ให้เสนอก็ลองเสนอยุทธศาสตร์ชาติของตัวเองไปเทียบกับที่รัฐบาลจะจัดทำก็ได้ 

3. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ: ก็ขอให้ร่างกฏหมายประกอบที่จำเป็นให้เร็วที่สุด เอาเท่าที่จำเป็น และเขียนให้มันเข้าใจง่าย ๆ ไม่ต้องตีความหรืออ่านสามตลบก็ไม่รู้เรื่อง และลองดูว่าจะทำยังไงให้มันเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นหน่อย รับฟังเสียงของฝ่ายต่าง ๆ ให้มากขึ้น รวมถึงฟังความเห็นของนักการเมืองบ้างก็ได้ เพราะเขาต้องเป็นคนทำงานภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ หรือจะร่างยังไงที่จะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้มากขึ้น

4. กกต. สำหรับฝ่ายนี้บอกได้เลยว่าผมผิดหวังมาก และเท่าที่รู้คือมันจะต้องมีการร่างกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ก่อนจะเลือกตั้ง ซึ่งผมภาวนาว่าให้กกต.ชุดนี้หายไปเลย และได้ชุดใหม่มาแทน แต่ถ้ายังอยู่ก็ขอให้ปรับปรุงการทำงานของตัวเองอย่างมากเลยนะครับ อย่างคราวนี้มีคนจำนวนมากไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งที่กกต. บอกว่าได้จัดส่งแล้ว คำถามคือมันหายไปไหน วันลงประชามติเท่าที่ฟังมาก็ค่อนข้างมั่ว บางหน่วยปั๊มนิ้ว บางหน่วยไม่ บางหน่วยเซ็นชื่อ บางหน่วยไม่ มาตรฐานอะไรไม่มีสักอย่าง

นี่คือสิ่งที่ผมหวังว่าจะเกิดขึ้นครับ สรุปง่าย ๆ ก็คือขอให้ทุกฝ่ายสร้างบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย ในขณะที่ประเทศของเรามุ่งสู่ประชาธิปไตยนั่นเองครับ อย่างที่บอกผมคงหยุดขียนการเมืองไว้ในช่วงนี้ เพราะมีเรื่องอื่นที่น่าเขียนถึงไม่ว่าจะเป็นผลงานของนักกีฬาไทยในโอลิมปิก พรีเมียร์ลีกจะเปิดฤดูกาลแล้ว และที่ไม่ได้เขียนมานานมากแล้วคือเรืองเกี่ยวกับเทคโนโลยี ก็หวังว่าจะได้เขียนเรื่องเหล่านี้ให้ผู้ที่สนใจได้ติดตามกันนะครับ... 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น