แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ร่างรัฐธรรมนูญ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ร่างรัฐธรรมนูญ แสดงบทความทั้งหมด

วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2559

สิ่งที่คาดหวังหลังจากผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ตอนที่ 2

จะขอจบซีรีย์ร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยตอนที่ 2 ของสิ่งที่ผมคาดหวังจากฝ่ายต่าง ๆ หลังจากผลลงมติร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าใครยังไม่ได้อ่านตอน 1 ก็เชิญอ่านก่อนได้นะครับ และคิดว่าจะเป็นบล็อกเกี่ยวกับการเมืองบล็อกสุดท้ายในช่วงนี้ก่อนจะถึงการเลือกตั้ง ถ้าไม่มีประเด็นอะไรร้อน ๆ แทรกเข้ามานะครับ สำหรับฝ่ายที่ผมคาดหวังจะเห็นต่อไปก็คือ

1. คสช. และนายก: ผมก็คาดหวังว่าจะทำตาม roadmap ที่วางไว้ และน่าจะเริ่มผ่อนคลายบรรยากาศการควบคุมลงได้แล้ว เพราะตอนนี้ผมว่าไม่น่าจะมีใครมาสนใจจะต่อต้านรัฐประหารกันแล้ว มันล่วงเลยมากันจนป่านนี้แล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ก็รับร่างแล้ว และน่าจะมุ่งหน้าสู่โหมดการเลือกตั้งกัน นายกเคยพูดบ่อย ๆ ในรายการบอกว่าไม่เห็นพรรคการเมืองออกมาพูดเรื่องจะปฏิรูปประเทศยังไง ก็ท่านไม่เปิดโอกาสให้เขาพูดนี่ครับ ไม่ให้เขาดำเนินการอะไรเลย ผมว่าท่านน่าจะเปิดให้เขาเริ่มดำเนินการได้บ้างแล้ว และจะยิ่งดีถ้าท่านจะเปิดโอกาสให้เขาได้เสนอสิ่งที่จะเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะต้องจัดทำขึ้นด้วย ถ้าทำอย่างนี้ได้ มันก็จะหมดข้อครหาว่าท่านทำของท่านคนเดียว และยังจะไปตามควบคุมอีก ถ้าให้เขาช่วยเสนอ เวลาเขาได้ไปเป็นรัฐบาล ก็ไม่ต้องมาควบคุมเขาหรือสั่งเขามาก เขาก็อาจจะอยากทำอยู่แล้ว เพราะมันเป็นสิ่งที่เขามีส่วนเสนอด้วย ค่อย ๆ คืนเสรีภาพในการแสดงออกให้ประชาชน ลองพิจารณายกเลิกข้อหาของคนที่ถูกฟ้องหรือถูกจับในช่วงแรกที่มีการต่อต้านการยึดอำนาจ เพื่อให้บรรยากาศมันเตรียมพร้อมที่จะกลับคืนสู่ประชาธิปไตย (ถึงจะเป็นแบบควบคุมก็เถอะ) ผมว่ามันน่าจะดีกว่าบรรยากาศอึมครึมแบบตอนลงประชามตินะครับ และท่านอาจจะได้ใจของฝ่ายที่ต่อต้านท่านบ้าง ก่อนที่ท่านจะวางมือไปพักผ่อนหลังเกษียณ

2. นักการเมือง: ผลการลงประชามติ ผมว่าส่วนหนึ่งมันสะท้อนนะว่าประชาชนส่วนหนึ่งไม่ไว้ใจนักการเมือง จนยอมมอบอำนาจของตัวเองให้กับคนที่ไม่ได้มาจากเสียงของตัวเอง เหตุที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะนักการเมืองที่ได้อำนาจมามาก ๆ ก็ใช้อำนาจจนเกินพอดีบทเรียนได้มากี่ครั้งก็ไม่เคยจำ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็ฝากความหวังไม่ได้ เพราะไม่สามารถดึงคนที่ไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใดอย่างแน่นอนมาเลือกตัวเองได้ เลยแพ้เลือกตั้งแทบทุกครั้ง แถมพอได้โอกาสมาบ้างก็ยังไม่สามารถสร้างผลงานที่เป็นรูปธรรมได้ ในประเทศที่เขาเป็นประชาธิปไตยและมีพรรคการเมืองสลับกันเข้ามาบริหารประเทศ เขาก็เหมือนเราคือมันจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่จะเลือกพรรคใดพรรคหนึ่งอยู่แล้ว เรียกว่าเป็นแฟนพันธ์แท้ แต่มันจะมีประชาชนส่วนหนึ่งที่อยู่ตรงกลาง และพร้อมจะเลือกพรรคใดก็ได้ที่เขาเห็นว่าดีกว่า ดังนั้นมันจึงมีการสลับกันแพ้ชนะ ในเมืองไทยผมว่าก็มีคนแบบนี้ แต่พรรคการเมืองที่แพ้มาตลอดไม่สามารถดึงคนกลุ่มนี้ได้ ดังนั้นนักการเมืองควรใช้เวลาช่วงนี้ในการปฏิรูปตัวเอง และถ้าเขาให้เสนอยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีก็น่าจะเสนอเข้าไป หรือถ้าเขาไม่ให้เสนอก็ลองเสนอยุทธศาสตร์ชาติของตัวเองไปเทียบกับที่รัฐบาลจะจัดทำก็ได้ 

3. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ: ก็ขอให้ร่างกฏหมายประกอบที่จำเป็นให้เร็วที่สุด เอาเท่าที่จำเป็น และเขียนให้มันเข้าใจง่าย ๆ ไม่ต้องตีความหรืออ่านสามตลบก็ไม่รู้เรื่อง และลองดูว่าจะทำยังไงให้มันเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นหน่อย รับฟังเสียงของฝ่ายต่าง ๆ ให้มากขึ้น รวมถึงฟังความเห็นของนักการเมืองบ้างก็ได้ เพราะเขาต้องเป็นคนทำงานภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ หรือจะร่างยังไงที่จะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้มากขึ้น

4. กกต. สำหรับฝ่ายนี้บอกได้เลยว่าผมผิดหวังมาก และเท่าที่รู้คือมันจะต้องมีการร่างกฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ก่อนจะเลือกตั้ง ซึ่งผมภาวนาว่าให้กกต.ชุดนี้หายไปเลย และได้ชุดใหม่มาแทน แต่ถ้ายังอยู่ก็ขอให้ปรับปรุงการทำงานของตัวเองอย่างมากเลยนะครับ อย่างคราวนี้มีคนจำนวนมากไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งที่กกต. บอกว่าได้จัดส่งแล้ว คำถามคือมันหายไปไหน วันลงประชามติเท่าที่ฟังมาก็ค่อนข้างมั่ว บางหน่วยปั๊มนิ้ว บางหน่วยไม่ บางหน่วยเซ็นชื่อ บางหน่วยไม่ มาตรฐานอะไรไม่มีสักอย่าง

นี่คือสิ่งที่ผมหวังว่าจะเกิดขึ้นครับ สรุปง่าย ๆ ก็คือขอให้ทุกฝ่ายสร้างบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย ในขณะที่ประเทศของเรามุ่งสู่ประชาธิปไตยนั่นเองครับ อย่างที่บอกผมคงหยุดขียนการเมืองไว้ในช่วงนี้ เพราะมีเรื่องอื่นที่น่าเขียนถึงไม่ว่าจะเป็นผลงานของนักกีฬาไทยในโอลิมปิก พรีเมียร์ลีกจะเปิดฤดูกาลแล้ว และที่ไม่ได้เขียนมานานมากแล้วคือเรืองเกี่ยวกับเทคโนโลยี ก็หวังว่าจะได้เขียนเรื่องเหล่านี้ให้ผู้ที่สนใจได้ติดตามกันนะครับ... 

วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2559

สิ่งที่คาดหวังหลังจากผลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ตอนที่ 1

ถึงตอนนี้ผลลัพธ์ก็ออกมาแล้วนะครับว่าคนไทยที่ออกไปลงมติร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วง ยอมรับทั้งสองประการ ด้วยเสียงที่มากกว่าฝ่ายที่ไม่รับอยู่มาก ผมเป็นคนหนึ่งที่อยู่ฝ่ายไม่รับก็ขอยอมรับผลนี้ด้วยความเต็มใจ เพราะนี่คือประชาธิปไตยครับ แต่สิ่งที่ผมคาดหวังหลังจากผลที่เกิดขึ้นมีหลายประการครับ โดยผมจะแบ่งออกเป็นส่วน ๆ ซึ่งในตอนที่ 1 นี้ ขอเขียนถึงประชาชนก่อน

1. ฝ่ายที่ไม่เห็นชอบ ผมเห็นหลายคนออกมาโพสต์แสดงความผิดหวัง ซึ่งอันนี้ระบายได้เป็นเรื่องปกติ แต่บางคนเริ่มต่อว่าคนที่รับว่ารับโดยไม่รู้เรื่องอะไร ผมเข้าใจนะครับว่าผิดหวัง (ผมเองก็ผิดหวัง) พราะหลายคนอาจรู้สึกว่าการรับร่างนี้เท่ากับยอมลดความเป็นประชาธิปไตย แต่การที่คุณตำหนิคนอื่นว่าไปลงมติด้วยความไม่รู้ ก็เท่ากับคุณกำลังลดตัวลงไปเป็นคนพวกเดียวกับที่บอกว่าเสียงคนในเมืองมีคุณภาพกว่าเสียงของคนในชนบทนั่นเอง ผมว่าการลงมติด้วยความเห็นของคนเรา ไม่ว่าเขาจะใช้เหตุผลอะไรในการตัดสินใจไม่ว่า จะเป็นการอ่านร่างมาแล้วเห็นด้วย ฟังคนอื่นมา ลงตามพ่อแม่ รักลุงตู่ ฯลฯ นั่นคือหนึ่งเสียงที่เราต้องเคารพครับ หนึ่งเสียงหนึ่งสิทธิเท่ากัน ระบอบประชาธิปไตยก็อย่างนี้ คราวนี้โหวตแพ้แต่คราวหน้าเราอาจโหวตชนะก็ได้ ความรู้สึกที่ฝ่ายไม่เห็นชอบมีตอนนี้ ก็คงเป็นความรู้สึกเดียวกับฝั่งที่ไม่ชอบทักษิณรู้สึกตอนที่เพื่อไทยชนะและยิ่งลักษณ์ได้เป็นนายก สิ่งที่ต้องทำก็คือตอนนี้ก็รอดูว่าคสช.จะดำเนินการตาม roadmap ที่วางไว้ให้มีการเลือกตั้งปีหน้าได้จริงไหม ยุทธศาสตร์ชาติจะออกมายังไง ประชาชนจะมีส่วนร่วมมากแค่ไหน กฏหมายประกอบรัฐธรรมนูญทีออกมาจะเป็นยังไง เราจะใช้สิทธิของเราได้อย่างไรในกฏเกณฑ์ที่เราคิดว่ามันไม่เป็นประชาธิปไตย เพื่ออย่างน้อยก็ทำให้ฝั่งที่มีอำนาจได้ตระหนักและระวัง อำนาจที่มีมากมันไม่ได้รับประกันว่ามันจะยั่งยืนหรอกนะครับ ตัวอย่างรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่พังไปจุดเริ่มต้นก็มาจากการนึกว่ามีอำนาจอยู่ในมือแล้วจะทำอะไรก็ได้

2. ฝ่ายที่เห็นชอบ สิ่งแรกก็คืออย่าลำพองและมาเยาะเย้ยหรือดูถูกฝ่ายที่เห็นชอบ คุณควรเคารพความเห็นของเสียงข้างน้อยด้วย ไม่ใช่คิดว่าเป็นพวกโง่ถูกนัการเมืองบิดเบือน ถึงแม้บางคนอาจจะไม่ได้อ่านร่างและโหวตตามนักการเมืองจริง ๆ แต่อย่างที่ผมบอกเราต้องเคารพในเสียงโหวตไม่ว่าเขาจะโหวตด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม และบางคนในกลุ่มนี้ที่เกลียดทักษิณก็คงเคยเป็นเสียงส่วนน้อย และเรียกร้องให้เคารพเสียงส่วนน้อยด้วยมาแล้ว และอย่าลืมว่าพวกคุณเป็นคนมอบอำนาจให้ปัจจัยภายนอกเข้ามาควบคุมคนที่มาจากเสียงของประชาชน ดังนั้นคุณก็มีหน้าที่รับผิดชอบหลักที่จะต้องติดตามว่าอำนาจที่พวกคุณให้เขาไป มันถูกใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศจริง ๆ ไม่ใช่คอยจับผิดจับโกงเฉพาะคนที่ไม่ชอบ แต่ถ้าไม่ใช่คนที่ไม่ชอบก็ปล่อยไป

โดยสรุปสำหรับประชาชนโดยทั่วไปก็คือ ผมไม่อยากให้คิดว่านี่เป็นการแพ้ชนะกัน มันก็เป็นแค่การเลือกกติกาในการปกครองประเทศ ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่มีใครรู้หรอกว่ามันดีหรือไม่ดีจนกว่าจะได้ใช้มัน ไม่แน่คนที่โหวตไม่เห็นชอบอยู่ตอนนี้ ในอนาคตอาจจะดีใจเพราะมันอาจจะเป็นกติกาที่เหมาะสมกับประเทศเราก็ได้  สิ่งสำคัญที่เราควรจะยึดถือต่อจากนี้ก็คือเคารพเสียงเคารพความเห็น และให้เกียรติซึ่งกันและกัน ซึ่งถ้าทำได้ผมไม่เห็นความจำเป็นอะไรที่จะต้องมาพูดถึงเรื่องปรองดองอะไรเลย และหน้าที่ของเราก็คือจับตามองผู้มีอำนาจซึ่งเราได้ให้อำนาจเขาไปแล้วว่าเขาจะใช้อำนาจของเขาอย่างไร...  



วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2559

สรุปร่างรัฐธรรมนูญให้แม่ฟัง

ช่วงนี้ผมเขียนบล็อกเรื่องร่างรัฐธรรมนูญบ่อยหน่อยนะครับ เพราะมีประเด็นอยากเขียนผ่านเข้ามา และใกล้วันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแล้ว คือวันนี้ผมได้สรุปเรื่องร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงให้แม่ของผม ซึ่งจะอายุครบ 80 ปีนี้ และแม่ต้องการจะไปลงประชามติครับ แต่แม่ไม่ได้รับร่างฉบับจริง ได้แต่ฉบับหนุมาน แต่เอาจริง ๆ นะผมว่าถึงได้มาแม่ก็คงอ่านแล้วปวดหัวเหมือนที่ผมเป็น ยิ่งถ้าใครได้ดูรายการที่กรรมการร่างคนหนึ่งมาบอกว่าคนที่อ่านรัฐธรรมนูญไม่เป็น คือคนที่อ่านร่างเรียงตามมาตราลงมา ซึ่งถ้าจะอ่านต้องอ่านอย่างเช่นอ่านวรรคแรกของมาตรา 47 แล้วไปอ่านมาตรา 55 แล้วค่อยย้อนกลับมาอ่านวรรคสองของมาตรา 47 ถึงจะเข้าใจซึ่งถ้าต้องอ่านแบบนี้คงเกือบทั้งประเทศก็คงอ่านไม่เป็นกันแน่ ๆ

ดังนั้นแม่ก็เลยถามผมให้ช่วยสรุปให้แม่ฟังหน่อยในฐานะที่ผมอ่านจบแล้ว (ถึงแม้จะไม่ได้อ่านแบบที่กรรมการร่างเขาบอกมาก็ตาม) ผมก็เลยสรุปให้แม่ฟัง โดยบอกแม่ว่าผมอาจเข้าใจผิดก็ได้นะ ผมจะพยายามสรุปในสิ่งที่ผมเข้าใจ แต่บางอันการตีความมันอาจจะเกิดจากอคติของผมก็ได้ ดังนั้นแม่ไม่ต้องเชื่อผมทั้งหมดก็ได้ ซึ่งจากข้อสรุปที่ผมพูดให้แม่ฟัง คิดว่าอาจเป็นประโยชน์ก็เลยมาเขียนบล็อกไว้ให้อ่านกันด้วยครับ

ผมเริ่มจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่เขาว่าเป็นการปราบโกงนี่มันยังไง ผมสรุปง่าย ๆ ให้แม่ฟังว่ารัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้คนที่เคยทุจริต หรือมีอาชีพที่ผิดกฎหมาย จะไม่สามารถเข้ามาทำงานการเมืองได้อีก และยังเพิ่มมาตรฐานเรื่องจริยธรรมเข้ามาพิจารณาด้วย แม่บอกฟังดูก็โอเคนะ ผมก็บอกว่าใช่ แต่ทั้งหลายทั้งปวงมันขึ้นอยู่กับคนที่จะใช้มันว่าจะใช้มันจริงจังหรือยุติธรรมหรือเปล่า

ส่วนเรื่องสิทธิในการรักษาพยาบาลนั้นมีคนบอกว่ามันกำกวม ไม่ชัดเจนเหมือนในฉบับเก่า บางคนไปตีความว่าจะยกเลิกบัตรทอง แต่คณะกรรมการร่างเขาออกมายืนยันว่าไม่ยกเลิกแน่ ซึ่งตรงนี้ผมสรุปให้แม่ฟังว่าไม่มีใครกล้าเลิกหรอก ขนาดรัฐบาลนี้ยังไม่กล้าเลิกเลย ดังนั้นจะรับหรือไม่รับสิทธินี้น่าจะคงอยู่เหมือนเดิม  

เรื่องเรียนฟรี (ซึ่งจริง ๆ ไม่ได้ฟรี) 14 ปี อะไรนี่ ผมก็สรุปว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังคงให้สิทธิเรียนฟรี 12 ปี เพียงแต่เลื่อนลงมาจาก ป.1 ถึง ม.6 มาเป็นอนุบาล 1 ถึง ม.3 แต่ที่เขาบอกว่า 14 ปี เพราะมันมีส่วนของการปฏิรูปประเทศ ซึ่งบอกว่าเด็กเล็ก (เล็กกว่าอนุบาล 1) ต้องได้รับการพัฒนา ก็เลยไปตีความว่านี่คือการเรียนฟรีอีกสองปีเลยกลายเป็น 14 ปี  แต่ประเด็นหลังจาก ม.3 ซึ่งไม่ใช่ภาคบังคับ รัฐธรรมนูญก็บอกประมาณว่ารัฐจะต้องจัดทุนหรืออะไรก็ตามเพื่อส่งเสริมให้ได้เรียนได้ ซึ่งก็มีกระแสไม่พอใจจากคนหลายกลุ่ม แต่ตอนนี้รัฐบาลนี้แก้ปัญหาแล้วโดยการออกมาตรา 44 ว่าส่งเสริมจนจบ  ม.ุ6 หรืออาชีวะ ผมก็สรุปง่าย ๆ ให้แม่ฟังอีกที่ว่า หลังจากนี้ก็ไม่มีรัฐบาลไหนกล้าเลิกหรอก ดังนั้นรับหรือไม่รับก็ได้เรียนฟรีหลังจาก ม. 3 แน่ เพียงแต่ถ้ารับก็ได้เรียนฟรีตั้งแต่อนุบาลเลย

เรื่องเลือกตุั้ง ตอนนี้การเลือก สส. จะไม่เหมือนเดิมคือตามรัฐธรรมนูญนี้จะใช้บัตรใบเดียว ดังนั้นแม่จะทำอย่างที่แม่เคยทำไม่ได้แล้ว คือต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า แม่ผมอาจจะเรียกอย่างไม่เป็นทางการก็ได้ว่าเป็นผู้ใหญ่บ้าน เพราะถ้ามีเรื่องอะไรคนในละแวกบ้านก็จะมาขอให้แม่ช่วยจัดการ อย่างเรื่องขยะอะไรพวกนี้ เพราะแม่ผมเขาชอบจัดการ แม่ก็จะติดต่อไปที่สก. ให้มาดูแล ซึ่งในเขตที่แม่อยู่เป็นพื้นที่ของพรรคหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงแม่ผมเขาเชียร์อีกพรรคหนึ่ง  ดังนั้นเวลาเลือกตั้งแม่ก็แบ่ง เลือกสส.เขต พรรคหนึ่ง บัญชีรายชื่อพรรคหนึ่ง แต่ถ้าแม่รับแม่จะทำอย่างนั้นไม่ได้แล้ว แม่ต้องเลือกเลยว่าจะเอาพรรคไหน แม่บอกว่าไม่ชอบเลยแบบนี้

ส่วนผลลัพธ์หลังจากการเลือกตั้ง จากการวิเคราะห์ของหลายฝ่ายว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่าน และมาใช้ ผลจากการเลือกตั้งจะทำให้ได้รัฐบาลผสม มากกว่าที่จะเป็นรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากพรรคเดียว ซึ่งตรงนี้แม่ทำหน้าเบ้ และบอกว่าไม่ชอบเลย เพราะแม่เคยอยู่ในยุคแบบนั้นมาแล้ว และเห็นว่ารัฐบาลทำงานไม่ค่อยได้ ใช่ผมก็เห็นด้วย แต่ก็ให้แม่คิดในแง่ว่ามีอำนาจมากไปก็มีข้อเสียนะ อย่างออกกฏหมายนิรโทษกรรมสุดซอยจนมีปัญหา ดังนั้นเราก็ต้องเลือกล่ะว่า เราคิดว่าแบบไหนดีกว่ากัน

เรื่องสว. ตามรัฐธรรมนูญมี 200 คน ให้เลือกไขว้กันเองจากกลุ่มอาชีพ อันนี้แม่เฉย ๆ แต่พอบอกว่าแต่ในบทเฉพาะกาล   สว. จะมี 250 คน และคสช.เป็นคนเลือกในขั้นสุดท้าย พูดถึงตรงนี้แม่เบ้หน้า มองบน :)  ยังยังไม่จบแม่ 6 คนในนั้นจะเป็น ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการ ทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แม่เบ้หน้าหนักเข้าไปอีก 555

ศาลรัฐธรรมนูญ (ที่แม่ไม่ชอบ) ยังคงมีอยู่ และอำนาจก็ไม่ได้น้อยลงไปกว่าเดิม แม่ถอนหายใจ

แล้วก็มีหมวดปฎิรูปประเทศ ว่ารัฐจะต้องทำการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ

ประเด็นยุทธศาตร์ชาติ 20 ปี ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดว่ารัฐบาลจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี ตอนแรกแม่เฉย ๆ นะ คงมึนอันก่อนหน้าที่ผมพูดให้ฟัง แต่พอผมถามว่า หลังจากนี้หนึ่งปีรัฐบาลไหนยังทำงานอยู่เอ่ย พอพูดถึงตอนนี้แม่เบ้หน้า มองบนอีกแล้ว 555

เห็นแม่เริ่มมึนแล้ว ผมก็บอกพอเนอะเรื่องร่างได้ข้อมูลพอจะไปลงแล้วใช่ไหม แม่ก็พยักหน้า

คราวนี้มาดูคำถามพ่วง เอาง่าย ๆ เลยคำถามพ่วงก็คือ ในช่วงห้าปีแรกหลังจากที่เลือกตั้งมีสภาอะไรแล้ว เห็นด้วยไหมที่จะให้สว.มีส่วนร่วมโหวตเลือกนายกด้วย ผมก็ให้ข้อมูลแม่เพิ่มว่าถ้าคำถามนี้ผ่าน หมายความว่า สว. 250 คน จาก คสช. จะได้ช่วยเลือกนายก อย่างน้อย 2 ครั้ง เพราะรัฐบาลหนึ่งชุดมีอายุ 4 ปี และอาจได้เลือกมากกว่า 2 ก็ได้ถ้ารัฐบาลอยู่ไม่ครบวาระ และผมก็บอกว่ามันอาจเกิดหตุการณ์ในแบบตุ๊กตาที่ผมเขียนในบล็อกที่แล้วให้แม่ฟัง  แม่ก็พยักหน้าเข้าใจ และก็ถอนหายใจอีกครั้ง ...


วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ปริศนาร่างรัฐธรรมนูญ

จริง ๆ ว่าจะไม่เขียนอะไรแล้วนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ แต่พออ่านร่างจบ พอเข้าใจบ้างและไม่เข้าใจบ้างก็เลยเกิดคำถาม และประเด็นนี้เท่าที่ติดตามไม่ค่อยเห็นใครพูดถึง คำถามที่เกิดกับผมอันหนึ่งคือข้อนี้ครับ

ถ้ารัฐธรรมนูญนี้ผ่าน และคำถามพ่วงผ่าน

ลองดูตุ๊กตานี้กันนะครับ

สมมติพรรค A เสนอ ปันปัน อยู่ในรายชื่อนายก
พรรค B เสนอ น้ำชา อยู่ในรายชื่อเป็นนายก

พรรค  A เลือกตั้งได้ 350 เสียง
พรรค B ได้ 150 เสียง

เมื่อถึงเวลาโหวตนายก พรรค A 350 คน เสนอปันปัน พรรค B 150 คน เสนอน้ำชา

(ตามมาตรา 159 พรรค B จะเสนอชื่อน้ำชาได้ เพราะได้เสียงเกินร้อยละ 5 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ในตัวอย่างนี้คือ 500 คน คือมี 25 คนก็เสนอได้แล้ว และก็มีเสียงพอที่จะรับรอง เพราะร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้เสียงรับรองร้อยละ 10 ของ ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ในตัวอย่างนี้คือ 500 คน คือมี 50 คนก็รับรองได้แล้ว)

สมาชิกวุฒิสภา 250 คน (ถ้าอ่านแค่มาตรา 107 จะหาว่าผมบิดเบือนเพราะสมาชิกวุฒิสภามี 200 คน แต่ถ้าอ่านมาตรา 269 ซึ่งอยู่ในบทเฉพาะกาล วาระเริ่มแรกสมาชิกวุฒิสภามี 250 คนนะครับ คสช.เป็นคนตัดสินใจขั้นสุดท้าย) เลือกน้ำชา

ดังนั้นเสียงของน้ำชาจะเป็น 400 และได้เป็นนายก และถ้าเป็นอย่างนั้น หมายความว่า

1. เสียงของประชาชนที่เลือกพรรค A ให้ชนะแบบขาดลอย ไม่มีความหมาย
2. น้ำชาจะเป็นนายกที่ลำบากมาก เนื่องจากมีเสียงสส.ในมือน้อยมาก แล้วจะทำงานกันได้ไหม

ไม่รู้เข้าใจถูกไหม ใครตอบได้บ้าง เห็นเขาว่าพรุ่งนี้ (4 ส.ค.) กรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะมาตอบคำถามที่ ThaiPBS ใครมีเวลาว่างช่วยโทรเข้าไปถามหน่อยได้ไหมครับ 

วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

อ่านร่างรัฐธรรมนูญจบแล้วพร้อมจะไปลงมติแล้ว

ไม่ได้เขียนบล็อกนานอีกตามเคย นอกจากไม่มีเวลาแล้ว หัวข้อที่อยากจะเขียนก็รู้สึกไม่สะดวกใจที่จะเขียนในสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ ส่วนเรื่องที่จะเขียนในวันนี้ ก็ตั้งใจว่าถ้าไม่ได้อ่านร่างฉบับจริงจนจบก็จะไม่เขียน

ก่อนที่ผมจะเริ่มอ่านรัฐธรรมนูญผมก็ถามตัวเองว่านี่เราจะเสียเวลามาอ่านไอ้ร่างนี่ดีไหม เพราะอายุมันก็อาจไม่กี่ปี เดี๋ยวก็อาจมีคนลุกขึ้นมาฉีกมันอีก อย่าว่าผมมองโลกในแง่ร้ายเลยครับ ผมเคยมองในแง่ดีว่า หลังจาก พฤษภา 2535 ประเทศเราผมหมายถึงทุกฝ่ายน่าจะได้เรียนรู้กันแล้ว ประเทศเราไม่น่ามีรัฐประหารกันอีก แต่สุดท้ายผมก็คิดผิด

ผมมองว่าปัญหาของประเทศที่ผ่านมามันไม่ได้เกิดจากตัวรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมคิดว่าผมคิดไม่ผิดนะ เพราะถ้ารัฐธรรมนูญมันแก้ปัญหาได้จริง ทำไมยังมีความกลัวกันว่าหลังจากเลือกตั้งแล้วเหตุการณ์จะกลับไปวุ่นวาย จนถึงกับต้องพยายามหาทางร่างรัฐธรรมนูญให้มีบทเฉพาะกาลเอาไว้ มีคำถามพ่วงโดยอ้างว่าเพื่อควบคุมสถานการณ์ในช่วงแรก ซึ่งผมว่ามันไม่มีเหตุผลเอาเลย สมมติมันคุมได้จริง แต่หลังจากผ่านช่วงควบคุมไปแล้วล่ะ มันก็อาจกลับมาวุ่นกันได้ใช่ไหม

ผมเคยคิดว่าจริง ๆ ถ้ามันไม่สำคัญก็ออกไปเสี่ยงหัวก้อยเอาดีไหม หรืออย่างผมที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารควรจะไปออกเสียงเพื่อบอกว่าไม่เห็นด้วยดีไหม แต่ก็ไม่รู้จะออกเสียงยังไงว่าไม่เห็นด้วยเพราะมันก็มีกระแสไม่รับเพื่อให้รัฐบาลนี้อยู่ต่อ แต่เหตุผลที่ผมตัดสินใจอ่านร่างรัฐธรรมนูญก็คือบรรยากาศการลงประชามตินี่แหละครับ คือมันไม่มีความเสรีในการแสดงความคิดเห็น โดยส่วนใหญ่คนที่ออกมาแสดงความเห็นต่างมักจะถูกกล่าวหาจากฝ่ายรัฐว่าบิดเบือน ในอีกมุมหนึ่งก็มีการแสดงความเห็นจากฝ่ายที่ร่างหรือฝ่ายที่เห็นด้วยออกมา และก็ถูกโจมตีเหมือนกันว่าบิดเบือนเกินความจริง แล้วก็มีคำพูดเท่ ๆ ออกมาประมาณว่าตัดสินใจด้วยตัวเองอย่าให้ใครชี้นำ ผมก็ถามตัวเองว่าประชาชนจะตัดสินใจยังไงกันไม่มีข้อมูลอะไรสักอย่าง ไอ้ข้อมูลที่ฟังมาก็ถูกหาว่าบิดเบือน อยากจะฟังความคิดเห็นอย่างเสรีก็หาฟังได้ยากเหลือเกิน หลายคนโดยเฉพาะคนที่เห็นต่างก็ไม่กล้าพูดอะไรมาก ผมก็ชักอยากรู้ความจริงก็เลยตัดสินใจอ่าน

วิธีการที่จะอ่านร่างก็คือเข้าเว็บกกต. แล้วโหลดมาอ่านครับ ผมเริ่มดาวน์โหลดเมื่อเสาร์ที่แล้ว อ่านไปได้หน่อยนึงแล้วก็ไม่ว่างอ่านต่อ จนพยายามทำตัวให้ว่างเพื่อให้ได้อ่านเมื่อวานนี้ครับเริ่มอ่านตั้งแต่สักสี๋โมงเย็นไปจนเสร็จใกล้ ๆ เที่ยงคืน บอกเลยว่าไม่เคยอ่านหนังสือความยาว 105 หน้า ภาษาไทย ช้าแบบนี้มาก่อน เพราะมันเป็นภาษากฏหมายอ่านเข้าใจยาก แล้วก็ยังมีการอ้างถึงมาตราที่ผ่านมาแล้ว หรือมาตราที่อยู่ถัดไป ก็ต้องเลื่อนไปเลื่อนมา ยังนึกในใจว่าทำไม กกต. ไม่ทำเป็น Hypertext หน่อยจะได้ตามง่าย ๆ

อ่านจบแล้วก็ต้องบอกว่าพอเข้าใจคร่าว ๆ ครับ เพราะหลายอย่างก็เป็นภาษากฎหมาย ซึ่งผมว่านักกฎหมายก็อาจตีความกันคนละทางก็ได้  ถ้าทุกคนอ่านแล้วเข้าใจตรงกันหมดก็คงไม่ต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ และก็ทำให้คิดว่าทำไมถึงไม่ยอมให้มีการแสดงความคิดเห็นกันตั้งแต่เนิ่น ๆ และไอ้ที่ว่าบิดเบือนนี่มันเพราะมองกันคนละมุม มองกันคนละมาตราหรือเปล่า อีกอย่างก็ได้เห็นเรื่องบางเรื่องอย่างมาตรการการกำจัดขยะอย่างมีประสิทธิภาพ อ่านแล้วก็ขำว่าเฮ้ยเรื่องแบบนี้ต้องอยู่ในรัฐธรรมนูญด้วยเหรอ

ยังไงก็ตามการอ่านจนจบทำให้ผมคิดว่าตัวเองก็พอจะมีฐานความรู้ที่คิดว่าพอจะบอกได้ว่าอะไรที่มันไม่อยู่ในรัฐธรรมนูญนี้เลย แล้วไปแต่งเติมขยายความกัน อะไรน่าจะเป็นมุมมองที่แตกต่าง และก็ทำให้ตัดสินใจได้ด้วยเหตุผล (ตามความเข้าใจของตัวเองซึ่งอาจเข้าใจผิดก็ได้) บนร่างรัฐธรรมนูญนี้ว่าผมจะรับหรือไม่รับร่างนี้

ถ้าถามว่าผมจะรับหรือไม่ผมคงไม่ตอบในบล็อกนี้นะครับ แต่วิธีคิดของผมจะไม่พิจารณาแค่ประเด็นใดประเด็นหนึ่งอย่างเช่นปราบโกง แล้วไม่สนใจประเด็นอื่นเลยอย่างเรื่องการเมือง อย่างประเด็นปราบโกงผมว่าที่ผ่านมาเรามีกฎหมายอยู่แล้ว แต่คำถามคือคนที่มีอำนาจใช้ใช้มันอย่างไรมากกว่า และจากที่อ่านผมก็ไม่เห็นว่ามันจะยิ่งใหญ่อย่างที่หลาย ๆ คนพูดกัน และไม่คิดว่ามันจะปราบการทุจริตคอรัปชันให้หมดไปได้หรอก ส่วนเรื่องการเมืองผมมองว่าโอกาสที่จะได้รัฐบาลผสมแบบยุคเก่า ๆ มีเยอะมาก ซึ่งก็คงเป็นความตั้งใจของผู้ร่างที่คิดว่าการที่พรรคใดพรรคหนึ่งมีเสียงมากไปมันเป็นปัญหา ซึ่งก็ต้องถามว่าคนที่เคยผ่านยุครัฐบาลแบบที่พรรคแกนนำมีเสียงไม่มาก จำเป็นต้องอาศัยพรรคร่วมนั้นมันมีปัญหายังไง แล้วคิดว่าแบบไหนดีกว่า ดังนั้นที่ผมทำก็คือพิจารณาข้อที่คิดว่าดีและเสียและให้น้ำหนักในหลาย ๆ ด้านประกอบกัน แต่ถ้าใครจะมองประเด็นใดประเด็นหนึ่งเป็นหลักก็ไม่ผิดนะครับ เช่นจะมองเรื่องปราบโกง เรื่องการเมือง เรื่องสิทธิเสรีภาพ หรือสวัสดิการอย่างเดียวก็ได้ แล้วแต่เลยครับ

อ้อ แล้วอย่าลืมคำถามพ่วงด้วยนะครับ คำถามพ่วงสรุปง่าย ๆ ก็คือเห็นด้วยไหมใน 5 ปีแรกที่จะให้สว.มีส่วนร่วมในการโหวตนายก ซึ่งประเด็นนี้ผมขอเพิ่มเติมว่าตามบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญนี้ สว. ชุดแรกจากรัฐธรรมนูญนี้ตามมาตรา 269 จะได้มาจากการตัดสินใจของคสช. ในขั้นสุดท้าย และ 5 ปี หมายความว่า สว. จะสามารถร่วมเลือกนายกได้สองครั้ง ถ้ารัฐบาลชุดแรกจากรัฐธรรมนูญนี้อยู่ครบวาระ 4 ปี และอาจได้เลือกมากกว่าสองครั้งถ้าใน 5 ปีนี้ มีการยุบสภา และต้องเลือกตั้งใหม่กันหลายครั้ง

สุดท้ายผมก็ยังเชื่อว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้ารัฐธรรมนูญนี้ (ถ้าผ่าน) ก็คงถูกฉีกทิ้งเหมือนที่ผ่าน ๆ มา แต่ยังไงผมก็อยากให้ทุกคนที่สามารถอ่านได้อ่านนะครับ แล้วก็ไปแสดงความเห็นของเราต่อร่างนี้โดยไม่ต้องเอาเหตุผลอื่นใดนอกเหนือจากที่เขียนอยู่ในร่างนี้ อย่างน้อยก็ให้คนที่เขาเสียเวลาร่างขึ้นมาและคนที่เข้ามายึดอำนาจการบริหารประเทศ ได้เห็นความคิดของคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ครับ  อย่าลืมนะครับ อาทิตย์ 7 สิงหาคม 2559 8.00-16.00 ครับ