วันพุธที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ความต้องการการฝึกอบรมด้านไอทีเพิ่มสูงขึ้น

cloud-computing-at-keyboard-3-photo-by-joe-mckendrick.jpg
Photo: Joe McKendrick

จากการสำรวจผู้ที่อยู่ในวงการ 937 คน โดยบริษัท Netwrix ซึ่งเป็นบริษัทด้านซอฟต์แวร์พบว่า การระบาดของ COVID-19 ทำให้บริษัทต้องเปลี่ยนแปลงเข้าสู่รูปแบบดิจิทัลชั่วข้ามคืน ซึ่งมีผลทำให้มีความต้องการการฝึกสอนทางด้านไอทีเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก โดยเปอร์เซนต์การลงทุนทางด้านการศึกษาด้านไอทีของหลายบริษัทเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจาก 20% ในช่วงปลายปี 2019 มาเป็น 38% ในวันนี้ และเนื่องจากการจ้างงานเพิ่มไม่สามารถทำได้ในช่วงนี้ บริษัทที่ตอบแบบสำรวจถึง 31% ตอบว่าวิธีการแก้ไขก็คือให้การศึกษากับพนักงานด้านไอทีที่มีอยู่เดิม โดยรายงานจากสภาคองเกรสแสดงให้เห็นว่า ต้องมีการเรียนและฝึกอบรมด้าน AI ที่เพิ่มขึ้น เพื่อทื่ภาครัฐและเอกชนจะเป็นผู้นำในเศรษฐกิจโลก และข่าวดีก็คือคนที่ต้องการทักษะด้าน AI ไม่จำเป็นต้องรออีกต่อไป เนื่องจากในปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่เปิดให้เรียนด้าน AI ได้ฟรี หรือในราคาที่ไม่สูงมาก   

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet

วันอังคารที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2563

นักวิทยาศาสตร์สร้างโมเดลเพื่อตรวจหาสัญญาณเริ่มของโรคซึมเศร้าจากข้อความ


[ภาพจาก https://unsplash.com/@vmxhu]


นักวิทยาศาสตร์จาก Canada's University of Alberta (UAlberta) ได้สร้างตัวแบบการเรียนรู้ของเครื่องที่สามารถระบุลักษณะของข้อความอย่างเช่นข้อความที่โพสต์ในทวิตเตอร์ (twitter) ที่เป็นสัญญาณของความซึมเศร้าได้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้สร้างตัวแบบภาษาอังกฤษจากข้อความตัวอย่างที่ถูกโพสต์ลงในฟอรัม (forum) โดยคนที่ถูกระบุว่าเป็นโรคซึมเศร้า ขั้นตอนวิธีนี้ถูกสอนให้ตรวจจับภาษาที่แสดงถึงการซึมเศร้าจากการทวีต นักวิจัยบอกว่านี่เป็นการศึกษาชิ้นแรกที่แสดงให้เห็นว่าภาษาที่แสดงความซึมเศร้านั้นมีรูปแบบที่แน่ชัด และตัวแบบที่สร้างขึ้นนี้จะนำไปสู่การตรวจหาภาษาที่แสดงถึงความซึมเศร้าจากข้อความใด ๆ ที่ไม่ได้มาจากทวิตเตอร์ได้ ตัวอย่างของการนำไปใช้ก็เช่น ถ้าเอาตัวแบบนี้ใส่เข้าไปในโปรแกรมแชทบอทที่ใช้คุยกับคนสูงอายุ โปรแกรมก็จะสามารถเห็นสัญญาณเตือนว่าผู้สูงอายุคนนั้นกำลังเหงาหรือซึมเศร้าอยู่หรือไม่ หรืออาจใช้กับนักเรียนเพื่อดูว่าพวกเขากำลังทรมานจากอาการซึมเศร้าอยู่หรือไม่ 

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  University of Alberta

วันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2563

โดรนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพาราไกลเดอร์ เครื่องบิน และเฮลิคอปเตอร์

Gih-Keong Lau
Mechanical engineer Associate Professor Gih-Keong Lau pictured with the drone prototypeNATIONAL CHIAO TUNG UNIVERSITY

ทีมนักวิจัยนานาขาตินำโดย National University of Singapore ได้พัฒนาต้นแบบของอุปกรณ์บินแบบกระพือปีกได้ ที่สามารถบินวน บินร่อน หรือดิ่งลงมา ได้ดีกว่าโดรนแบบสี่ใบพัดในปัจจุบัน เครื่องนี้สามารถบินโฉบเข้ามาในพื้นที่ที่มีคนอยู่หนาแน่น และสามารถหยุดได้ทันทีเพื่อหลีกเลี่ยงการชน นักวิจัยบอกว่าโดรนนี้คือการผสมผสานกันของ พาราไกลเดอร์ (paraglider) เครื่องบิน และเฮลิคอปเตอร์

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Newsweek

วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2563

อัตราการประกาศหางานด้านด้านเทคโนโลยีในอเมริกาลดลงมากกว่างานด้านอื่น

postings-tech-vs-all.png
Image: Indeed

Indeed ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มด้านการหางานในอเมริกาบอกว่าอัตราการประกาศหางานด้านเทคโนโลยีลดลง 36% ในปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว จริง ๆ แล้วการประกาศหางานก็ลดลงในทุกด้านแต่เฉลี่ยแล้วอยูที่ 21% นั่นคืองานด้านเทคโนโลยีลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ย ถึงแม้มีการเพิ่มขึ้นของนักพัฒนาที่เขียนโปรแกรมด้วยภาษา R และ Python แต่การประกาศงานด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับงานด้านเทคโนโลยีทั้งหมด บริษัทจัดอันดับภาษาโปรแกรมชื่อดังอย่าง Tiobe บอกว่าการค้นหาเกี่ยวกับภาษา R และ Python ที่มีอัตราสูงขึ้น น่าจะมาจากมหาวิทยาลัย และด้านสาธารณสุขที่กำลังทำวิจัยด้านวัคซีนไวรัสโคโรนา จากข้อมูลของ Indeed การประกาศหานักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และผู้จัดการด้านเทคโนโลยีลดลง 43% และ 45% ตามลำดับ ยิ่งไปกว่านั้นงานด้านพัฒนาซอฟต์แวร์ ก็ลดลง 35% และงานด้าน ปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่องก็ยังลดลง 29% 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet

วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2563

การจู่โจม Garmin ไม่ได้มีผลแค่เรื่องออกกำลังกาย

grounded planes

PHOTOGRAPH: TOM BLACHFORD/GETTY IMAGES

จากที่บริษัทด้านฟิตเนสและเครื่องมือนำทางอย่าง Garmin ถูกโปรแกรมเรียกค่าไถ่ (ransomeware) จู่โจมสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้บริการหลายอย่างใช้ไม่ได้ แต่ปัญหาตอนนี้ไม่ได้เกิดกับแค่ผู้ที่ออกกำลังกายเท่านั้น นักบินที่ใช้ Garmin ในการหาตำแหน่ง และนำทางของเครื่องบินก็กำลังมีปัญหาเช่นกัน แอป flyGarmin และ Garmin Pilot ซึ่งไม่สามารถติดต่อกับระบบคลาวด์ของ Garmin ได้ ก็มีปัญหากับกลไกการวางแผนการบิน และไม่สามารถอัพเดตฐานข้อมูลการบินของ FAA ได้  โดยปกตินักบินจะใช้แอปบน iPad เพื่อสำรองแผนการบิน แต่ถ้าแอปนั้นเป็นของ Garmin ก็จะใช้การไม่ได้ นักบินจะต้องไปโหลดไฟล์จาก FAA เว็บไซต์ หรือโทรศัพท์ไปขอไฟล์ด้วยตัวเอง โปรแกรมเรียกค่าไถ่พุ่งเป้าหมายไปที่กลุ่มอุตสาหกรรมด้านระบบควบคุม และสาธารณูประโภคที่สำคัญมากขึ้น เช่นโรงกลั่นน้ำมัน ท่อส่งก๊าซ และระบบไฟฟ้าสำหรับโรงพยาบาล ซึ่งการที่อุตสาหกรรมเหล่านี้ถูกเป็นเป้าจู่โจมก็เพราะเป้าหมายเหล่านี้มักจะมีอะไรที่ต้องสูญเสียมากถ้าระบบล่มไป ดังนั้นเป้าหมายเหล่านี้จึงมักที่จะยอมจ่ายเงินค่าไถ่ เพื่อกู้ระบบคืนมา

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Wired

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

ตอนที่โพสต์ข่าวนี้เห็นว่า Garmin เริ่มทยอยแก้ปัญหาได้บางส่วนแล้ว