วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563

แปลงภาพสเก็ตช์หน้าให้เป็นรูปถ่ายเหมือนจริง

นักวิจัยจาก  Chinese Academy of Sciences ได้พัฒนา AI ซึ่งช่วยแปลงภาพสเก็ตช์ใบหน้าให้เป็นรูปถ่ายที่เหมือนจริง ซึ่งสามารถแปลงได้แม้ภาพสเก็ตช์จะไม่สมบูรณ์ก็ตาม AI ตัวนี้มีชื่อว่า DeepFaceDrawing โดยหลักการทำงานคือวิเคราะห์รายละเอียดของภาพสเก็ตช์ จากนั้นเอาแต่ละส่วนไปตรวจสอบกับฐานข้อมูลใบหน้าเพื่อสร้างรูปใบหน้าขึ้นมาเอง นักวิจัยบอกว่าจุดประสงค์ของเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมานี้ เพื่อช่วยให้คนที่ไม่มีทักษะทางการวาดรูปมากนัก สามารถสร้างรูปภาพที่มีคุณภาพที่ดีได้ เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีแบบเก่าที่ต้องใช้นักวาดภาพมืออาชีพจึงจะสร้างรูปภาพที่มีคุณภาพที่ดีได้

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Daily Mail (U.K.)

วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2563

อูเบอร์และลิฟท์คิดราคาเพิ่มขึ้นถ้าเรียกรถจากย่านที่ไม่ใช่ย่านคนขาว

นักวิจัยจาก George Washington University (GW) พบว่ามีการเหยียดเชื้อชาติเกิดขึ้นในขั้นตอนวิธีของบริษัทที่ให้บริการเรียกรถอย่างอูเบอร์ (Uber) และลิฟต์ (Lyft) โดยพบว่าบริษัทเหล่านี้คิดค่าโดยสารสูงกว่าถ้าจุดที่ต้องไปรับอยู่ในย่านที่มีคนผิวขาวอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ นักวิจัยบอกว่าถึงแม้เชื้อชาติของผู้โดยสารจะไม่ได้อยู่ในข้อมูลการเดินทาง แต่ข้อมูลค่าโดยสารต่อไมล์จะสูงกว่าเมื่อจุดรับส่งอยู่ในย่านที่มีคนผิวขาวอยู่น้อย บ้านมีราคาเฉลี่ยต่ำ หรือระดับการศึกษาเฉลี่ยต่ำ

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  New Scientist

วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2563

นักวิจัยพัฒนาระบบความมั่นคงที่ใช้ชีวมาตรที่ทันสมัยที่สุด

นักวิจัยจากUniversity of Southern California's Information Sciences Institute ได้พัฒนาระบบความมั่นคงที่ใช้ชีวมาตร (biometric) ที่ทันสมัยที่สุดสำหรับม่านตา หน้า และลายนิ้วมือ วิธีการคือการวิเคราะห์ตัวอย่างข้อมูลชีวมาตรโดยใช้ข้อมูลที่มาจากหลายช่วงคลื่น โดยฉายแสงจากแอลอีดี (LED) ที่มีความยาวคลื่นต่างกันลงบนตัวอย่าง จากนั้นใช้ขั้นตอนวิธีเรียนรู้ของเครื่อง (machine learning) เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างชีวมาตรจริงกับชีวมาตรปลอม ผลการทดลองจาก John Hopkins Applied Physics Laboratory พบว่าการตรวจสอบโดยใช้การรู้จำใบหน้ามีความแม่นยำ 100% นั่นคือไม่สามารถใช้เทคนิคอะไรที่จะเข้าระบบโดยไม่ใช้หน้าจริง ๆ ของเจ้าของบัญชีได้ ส่วนการใช้ม่านตาได้ความแม่นยำที่ 99.36% และลายนิ้วมืออยู่ที่ 99.08%
 
อ่านข่าวเต็มได้ที่: USC Viterbi School of Engineering

วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ขอพูดถึงเกณฑ์การเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการบ้าง

ในสัปดาห์นี้เรื่องที่น่าจะเป็นประเด็นร้อนที่สุดในวงการวิชาการของมหาวิทยาลัยก็คือเกณฑ์ใหม่ที่ออกมาในการประเมินอาจารย์เพื่อเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการครับ ซึ่งตัวเกณฑ์ใหม่ก็ดูได้จากลิงก์นี้ครับ พออกมาก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมากมาย ว่าเป็นกฏเกณฑ์ที่สูงกว่าเกณฑ์เดิม ซึ่งจริง ๆ ก็สูงอยู่แล้ว มีการวิจารณ์ว่าเป็นเหมือนการชักบันไดหนีของคนที่ได้ไปแล้ว และก็มีผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญได้ทำการวิเคราะห์ปัญหาของเกณฑ์นี้ตัวอย่างก็เช่นลิงก์นี้ครับ

ในส่วนตัวผมซึ่งก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะก็เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และก็วางแผนที่จะขยับขยายยื่นเรื่องเพือเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการที่สูงขึ้น ซึ่งต้องบอกว่าผมควรจะยื่นนานแล้ว แต่ติดโน่นติดนี่คือขาดงานบางชิ้น ซึ่งอันนี้ผมโทษตัวเองที่วางแผนเวลาไม่ดีเอง คืออย่างนี้ครับเกณฑ์การเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการถ้านับจากสักสิบปีที่แล้วนี่น่าจะเปลี่ยนมาสามหรือสี่ครั้งแล้วนะครับ ซึ่งการปรับแต่ละครั้งก็จะมีเงื่อนไขที่ต่างออกไป และมีเงื่อนไขที่ส่วนใหญ่จะสูงขึ้น ดังนั้นผมก็ไม่ประหลาดใจกับอันล่าสุดนี่สักเท่าไหร่ที่มันจะสูงขึ้น แต่คราวนี้มันสูงขึ้น บ้าขึ้น และไม่สอดคล้องกับบริบทที่ประเทศกำลังดำเนินไป

อีกอย่างหนึ่งส่วนใหญ่เกณฑ์ที่ออกมามันมักจะมีระยะเวลาก่อนที่จะบังคับใช้ คือให้เวลาอาจารย์ที่วางแผนกับเกณฑ์เก่าก็ทำตามเกณฑ์เก่าไปก่อนได้ แต่อันนี้เหมือนออกมาปุ๊ปก็จะบังคับใช้ปั๊ป อารมณ์ก็เหมือนกับวิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เปลี่ยนไปเกือบทุกปี ทำให้เด็กบางคนที่วางแผนมาตั้งแต่ ม.4 ม.5 เสียแผนไปหมด อันนี้คืออาจารย์ก็เสียแผนไปหมด และงานบางอย่างที่ทำมาเกณฑ์เก่าใช้ได้ แต่พอเกณฑ์ใหม่นี่อาจใช้ไม่ได้เลยนะครับ ตัวอย่างก็เช่นการกำหนดว่าผลงานที่มาขอตำแหน่งวิชาการ ถ้าทำหลายคนผู้ขอจะต้องมีชื่อเป็นคนแรก หรือเป็นผู้เขียนที่รับผิดชอบในการแก้ไข (corresponding author) เท่านั้น ซึ่งบริบทในปัจจุบัน และทิศทางของประเทศ การทำงานมันจะเป็นลักษณะของสหสาขาวิชา หรือทำร่วมกันหลายคน เนื่องจากแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญที่ต่างกัน ซึ่งผลงานอย่างหนังสือหนึ่งเล่ม อาจจะมีอาจารย์ช่วยกันแต่งหลายคน ถ้ากำหนดให้คนที่มีชื่อเป็นคนแรกเท่านั้นเอาไปขอผลงานได้ ก็คงไม่มีใครอยากทำงานร่วมกันกับใคร เพราะไม่ได้ประโยชน์อะไร ซึ่งในเกณฑ์เก่าเขาให้อาจารย์ไปเซ็นเอกสารกันมาว่างานชิ้นนี้อาจารย์มีส่วนร่วมกันคนละกี่เปอร์เซนต์ ซึ่งก็เป็นการตกลงกันของอาจารย์เอง

สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะดีจากเกณฑ์ใหม่นี้คือการที่สามารถเสนอจะขอตำแหน่งได้โดยไม่ต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิมาพิจารณางาน ซึ่งเป็นส่วนที่ผมเห็นด้วยค่อนข้างมาก เพราะเกณฑ์เก่า ๆ ก่อนหน้านี้เขาก็ให้ผู้ทรงคุณวุฒิมาให้เกรดงานวิจัยว่าดี ดีมาก อะไรแบบนี้ ซึ่งจริง ๆ เกณฑ์ใหม่ก็ให้เกรดวารสารว่ากลุ่มไหนเป็น A, B+, B (เท่าที่อ่านเหมือน B จะให้กรรมการพิจารณา) อะไรแบบนี้ แต่เท่าที่ดูเกณฑ์ A กับ A+ ค่อนข้างสูง และยังกำหนดว่าต้องตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ ซึ่งก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมทุกสาขาต้องทำเหมือนกัน แต่ถ้ามีเกณฑ์ตรงนี้แล้วก็ไม่เห็นต้องไปให้ผู้ทรงคุณวุฒิอ่านอีก ประหยัดเวลา และลดงานที่ซ้ำซ้อน กำหนดไปเลยว่าจะเอากี่ชิ้น (แต่ช่วยทำวิจัย และดูแต่ละสาขาด้วย)  ผมบอกเลยนะครับว่าเหตุผลหนึ่งที่ผมไม่ได้ยื่นขอตำแหน่งก็เพราะอันนี้นี่แหละ คือผมไม่เข้าใจว่าถ้าเราตีพิมพ์งานลงบนวารสารที่ตรงตามเกณฑ์แล้ว ผู้ทรงคุณวุฒิเหล่านี้เอาอะไรมาบอกว่าบทความเราผ่านหรือไม่ผ่าน  

แต่แทนที่จะทำแบบนี้กลับไปวางเกณฑ์แบบบ้าบอมาก คือเอาง่าย ๆ ว่าคงไม่มีใครสามารถยื่นขอตำแหน่งวิชาการแบบไม่มีผู้ทรงคุณวุฒิได้ เท่าที่อ่านมามีคนถามว่าต่อให้ศาตราจารย์ระดับโลกถ้ามายื่นขอศาสตราจารย์ในประเทศไทย ก็คงไม่ผ่านเกณฑ์นี้ ก็ได้รับคำตอบว่าก็ไปยื่นแบบมีผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาสิ ตอบได้บ้าบอมาก (ถ้าจริงนะ) และที่น่าขำคือมีคนไปขุดมาว่า พวกที่ออกเกณฑ์นี้มาเองก็ไม่ผ่านเกณฑ์ที่ตัวเองตั้งขึ้นมา

จริง ๆ ผมมองไปถึงมีระบบที่ให้อาจารย์แต่ละคนพอมีผลงานก็อัพโหลดผลงานเข้าไปในระบบ พอผลงานถึงเกณฑ์ก็ได้ตำแหน่งไป ผมไม่เข้าใจว่าจะทำให้มันซ้ำซ้อนโดยอาจารย์จะต้องมากรอกแบบฟอร์มประวัติตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ก็มีข้อมูลอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์แล้วทำไม นอกจากนี้ระบบนี้ยังมีประโยชน์ในเรื่องของการประกันคุณภาพได้อีกด้วย สามารถดึงข้อมูลตรงนี้ไปใส่เป็นหลักฐานประกันคุณภาพได้เลย ไม่ต้องมาเรียกขอจากอาจารย์ซ้ำไปซ้ำมา

แต่ไม่ใช่ว่าผู้ทรงคุณวุฒิจะไม่มีความจำเป็น สิ่งที่ผมคิดว่ายังคงต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิอ่านอยู่ก็คือกรณีที่ยื่นขอตำแหน่งโดยใช้ตำรา/หนังสือประกอบด้วย อันนี้ควรที่จะมีผู้ทรงคุณวุฒิช่วยตรวจดู ช่วยคุมคุณภาพ และก็ควรจะมีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความทันสมัย เข้าใจเทคโนโลยี และวิชาใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นด้วย

อีกอย่างที่ควรจะเลิกได้แล้วก็คือทำอะไรแบบ one-size-fits-all แต่ละสาขาวิชา มีบริบทที่แตกต่างกัน ทำไมการยื่นขอศาสตราจารย์ของทุกสาขาจะต้องลงตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติเท่านั้น บางประเด็นมันแก้ปัญหาอยู่ในบริบทของประเทศไทยซึ่งเป็นประโยชน์มากกับประเทศไทย เช่นสมมติเป็นงานวิจัยด้านภาษาไทย แล้วจะไปตีพิมพ์นานาชาติยังไง 

ในส่วนหนึ่งผมก็เข้าใจ และเห็นว่ามันต้องมีการควบคุมคุณภาพทางวิชาการ แต่ควรทำอยู่ในขอบเขตของความพอดี ความเป็นไปได้ เหมาะสมกับบริบทของประเทศ อย่างตอนนี้ประเทศบอกว่าต้องการงานวิจัยแบบเน้นการพัฒนาประเทศ แต่เกณฑ์ก็ยังจะเอาการอ้างอิงจากต่างประเทศ ขอให้เข้าใจว่ามหาวิทยาลัย และสาขาวิชาต่าง ๆ มีความแตกต่างกัน และภาระงานต่าง ๆ ของอาจารย์ก็ต่างกัน และเอาใจเขามาใส่ใจเราว่าถ้าตัวเองต้องมาอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์นี้จะเป็นยังไง ไม่ใช่เพราะฉันผ่านไปแล้ว ไม่ต้องลงมาทำอันนี้แล้ว จะทำยังไงก็ได้ ไหน ๆ ก็อยู่ในวงการการศึกษาการวิจัยระดับสูงสุดของประเทศแล้ว ช่วยสร้างตัวอย่างการทำงานให้หน่วยงานอื่นเขาดูกันเถอะครับ จะทำอะไรจะวางเกณฑ์อะไรก็ชี้แจงแสดงเหตุผล หรือมีงานวิจัยใช้อ้างอิงประกอบด้วยก็ดี อย่างมีประเทศไหนไหมที่เขาใช้เกณฑ์แบบเราบ้าง เพราะแทบทุกวงการในประเทศนี้ ส่วนใหญ่มันถูกสั่งการมาโดยคนกลุ่มหนึ่งที่วางเกณฑ์แบบดูเหมือนจะมโนเอา ไม่ได้วิจัยอะไร หรือมองโลกแต่ในมุมของตัวเองว่าแบบนี้มันดี โดยไม่ได้ดูว่ามันปฏิบัติได้ไหม ทำแล้วมันคุ้มกับการสิ้นเปลืองเวลาในการทำไหม และมีการประเมินข้อดีข้อเสียไหม 

สุดท้ายก็ขอฝากไว้ว่า พวกกลุ่มคนที่ออกกฏมานี่ ก็ล้วนแล้วแต่ที่จะต้องผ่านการทำวิจัยมาแล้ว และกฏเกณฑ์พวกนี้ส่วนหนึ่งก็ออกมาวัดความสามารถในการทำวิจัยของอาจารย์ ดังนั้นก่อนจะทำอะไรออกกฏอะไร ก็ช่วยทำให้คนที่เขาต้องปฏิบัติ ได้เชื่อว่าเรื่องพวกนี้ผ่านการทำวิจัยมาแล้ว มีเหตุผลรองรับชี้แจงได้ ทุกข้อ เหมือนตอนที่พวกเราต้องเป็นกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ของนักศึกษา เราก็ต้องถามประเด็นที่นักศึกษานำเสนอจนชัดเจน ก็ขอฝากไว้แค่นี้แล้วกันครับ 
  

วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2563

นักวิจัยพัฒนาขั้นตอนวิธีเพิ่มประสิทธิภาพของระบบคลาวด์เพี่อรองรับการทำงานจากที่บ้าน

นักวิจัยจาก University of Texas at San Antonio, University of Georgia, University of Virginia, และ IBM’s Thomas J. Watson Research Center ไ้ด้ร่วมมือกันพัฒนาขั้นตอนวิธีที่จะลดปริมาณความต้องการการใช้ทรัพยากรของระบบคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้ใช้ต้องทำงานจากที่บ้านเพิ่มขึ้นเนื่องจากการระบาดของโคโรนาไวรัส โดนความต้องการที่เพิ่มขึ้นมีทั้งโปรแกรมที่ทำงานอยู่ในฉากหน้าอย่างโปรแกรมอีเมล หรือประชุมทางไกล และโปรแกรมที่ทำงานอยู่ในฉากหลังอย่างโปรแกรมป้องกันไวรัส โดยขั้นตอนวิธีที่พัฒนาขึ้นนี้จะช่วยปรับการใช้ทัพยากรให้เหมาะสม โดยที่ฝ่ายไอทีไม่ต้องติดตั้งโปรแกรมอะไรเพิ่ม หรือต้องมาคอยตามดูการใช้ทรัพยากรด้วยตัวเอง นักวิจัยบอกว่าถึงแม้ขั้นตอนวิธีนี้จะทดสอบบนAmazon Elastic Compute Cloud แต่มันก็สามารถทำงานบนแพลตฟอร์มอื่นได้ด้วย 

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  University of Texas at San Antonio