แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ Siri แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ Siri แสดงบทความทั้งหมด

วันพุธที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2563

คนเรามีแนวโน้มที่จะแชร์ข้อมูลส่วนตัวกับผู้ช่วยเสมือนมากขึ้น

ปัจจุบันมีผู้ช่วยเสมือนที่เราใช้ ๆ กันอยู่หลัก ๆ ก็คือ Alexa (ของอะแมซอน) Google Assistant และ Siri ซึ่งบริษัทที่อยู่เบื้องหลังของผู้ช่วยเสมือนเหล่านี้ ก็จะแอบเก็บข้อมูลที่เราพูดจาโต้ตอบกับผู้ช่วยเหล่านี้นำไปใช้ประโยชน์ นักวิจัยจาก University of Waterloo พบว่าตอนนี้มีแนวโน้มที่คนเราจะเชื่อถือและเปิดเผยเรื่องราวส่วนตัวกับผู้ช่วยเสมือนเหล่านี้มากขึ้น เพราะผู้ใช้เริ่มสร้างอวตาร (Avatar) ของผู้ช่วยเหล่านี้ขึ้น เช่นอายุประมาณเท่าไร หน้าตา และทรงผมเป็นยังไง เป็นต้น โดยนักวิจัยบอกว่าการที่คนเรามีภาพที่เป็นตัวตนกับผู้ช่วยเหล่านี้ แทนที่ึคิดว่ามันเป็นเพียงแค่เทคโนโลยี คือสาเหตุให้เราเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวจากการพูดคุยกับผู้ช่วยเหล่านี้ (ซึ่งแน่นอนบริษัทที่อยู่เบื่องหลังพวกมันก็จะได้ข้อมูลไปด้วย)  โดยจากการสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมวิจัย  20 คน ชาย 10 หญิง 10 พบว่าบุคลิกของผู้ช่วยแต่ละตัวสรุปได้ดัวนี้  Siri ออกจะไม่ตรงไปตรงมา และดูเจ้าเล่ห์นิด ๆ Alexa จะจริงใจ และห่วงใยมากกว่า ในส่วนของรูปลักษณ์ Alexa จะเตี้ยกว่าอีกสองตัวนิดหน่อย แต่งตัวด้วยชุดลำลอง หรือชุดทำงานแบบลำลอง สีเข้ม หรือสีพื้น ๆ ถ้าอยากเห็นภาพของผู้ช่วยทั้งสามคลิกเข้าไปดูในข่าวเต็มได้เลยนะครับ

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Waterloo News 

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

คำโบราณที่ว่า อย่าไว้ใจทางอย่าวางใจคน คงไม่พอแล้วนะครับ คงอาจต้องเปลี่ยนเป็น

อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน อย่าหลงกลผู้ช่วยเสมือน

วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2559

ฤาคดี Siri จะได้ข้อยุติแล้ว? พร้อมชัยชนะของนักวิจัยไทย

ผมไม่ได้เขียนบล็อกมานานมาก เนื่องจากไม่ว่าง บวกกับไม่ค่อยมีอารมณ์อยากจะเขียน เพราะบรรยากาศในตอนนี้มันไม่อำนวยให้เขียนเรื่องที่อยากจะเขียน แต่เรื่องนี้คงไม่เขียนไม่ได้ครับ เพราะเป็นเรื่องต่อเนื่องที่ผมเคยเขียนไว้เมื่อสามหรือสี่ปีที่แล้วคือเรื่องนี้ครับ  เบื้องหลัง Siri ของ Apple หรือจะคืองานวิจัยของนักวิจัยไทย? สำหรับคนที่ไม่อยากเข้าไปอ่านก็ขอสรุปให้ตรงนี้นิดหนึ่งครับคือ บริษัท Dynamic Advances ได้ยื่นฟ้องบริษัท Apple เรื่องการละเมิดสิทธิบัตรงานวิจัยที่ชื่อว่า Natural Language Interface โดยบริษัทได้ฟ้อง Apple ว่าได้นำงานวิจัยนี้ไปใช้กับ Siri โปรแกรมผู้ช่วยแสนฉลาดที่ผู้ใช้ iOS ทุกคนคงรู้จักดี ซึ่งสิทธิบัตรตัวนี้ถูกจดโดยอาจารย์มหาวิทยาลัย Rensselaer Polytechnic Institute (RPI) ที่  New York คือ Professor Cheng Hsu และนักศึกษาปริญญาเอกชาวไทยของเขาในขณะนั้นคือ วีระ บุญจริง ซึ่งปัจจุบันคือ รศ.ดร.วีระ บุญจริง อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พูดง่าย ๆ ว่าสิทธิบัตรนี้เป็นของนักวิจัยชาวไทยโดยตรงเลยครับ

และในวันนี้ดูเหมือนว่าเรื่องราวกำลังจะได้ข้อยุติแล้วครับ โดยข้อมูลจาก timesunion บอกว่า Apple ได้ยอมตกลงที่จะจ่ายเงิน 24.9 ล้านเหรียญ เพื่อที่จะยุติคดีนี้โดยที่ไม่ต้องไปขึ้นศาล ตามข่าวเขาบอกว่าโฆษกของทาง RPI กับ Apple ไม่ได้ให้ความเห็นใด ๆ เพิ่มเติมกับข่าวนี้ ซึ่งถ้าจบแบบนี้ก็หมายความว่าส่วนหนึ่งซึ่งอาจเป็นส่วนสำคัญของ Siri ด้วย เป็นผลงานของนักวิจัยไทยเรานี่เอง  ในฐานะเพื่อนคนหนึ่งของรศ.ดร.วีระ บุญจริง และเคยมีส่วนร่วมเล็ก ๆ ในงานนี้ ก็อดที่จะภูมิใจด้วยไม่ได้ครับ นับว่าเป็นข่าวดี ๆ ที่น่าเขียนถึงในช่วงนี้จริง ๆ ครับ

วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เบื้องหลัง Siri ของ Apple หรือจะคืองานวิจัยของนักวิจัยไทย?

ไม่ได้เขียนบล็อกมานานมาก คำแก้ตัวเดิม ๆ คือไม่ว่าง แต่วันนี้ยังไงก็ขอเขียนเสียหน่อย เพราะเป็นข่าวเกี่ยวกับนักวิจัยไทยของเราที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทระดับโลกอย่าง Apple เจ้าของ iDevice ทั้งหลายที่พวกเราหลายคนใช้กันอยู่นั่นแหละครับ ยิ่งไปกว่านั้นนักวิจัยคนดังกล่าวก็เป็นคนที่ผมรู้จักดีเสียด้วย

 ก่อนจะมารู้จักกันว่าเขาเป็นใครเรามาดูข่าวที่เป็นต้นเรื่องของบล็อกวันนี้กันก่อน ถ้าใครอยากอ่านข่าวต้นฉบับก็เชิญอ่านจาก ฺBloomberg ได้เลยครับ แต่ถ้าไม่อยากอ่านผมจะสรุปให้ฟังครับ เนื้อหาก็คือบริษัทใน Texas ชื่อ Dynamic Advances กำลังจะฟ้อง Apple ในข้อหาละเมิดสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับโปรแกรม Siri ซึ่งเป็นโปรแกรมเลขาส่วนตัวที่มีความชาญฉลาดในการโต้ตอบและทำตามคำสั่งจากผู้ใช้ที่ใช้ภาษาพูดปกติ คือผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องใช้คำสั่งเฉพาะในการบอกให้ Siri ทำงานให้ เจ้า Siri  ที่ว่านี่ Apple เริ่มนำมาใช้งานใน  iPhone 4s และต่อมาก็นำมาใช้กับ iDevice รุ่นใหม่ ๆ  อีกด้วย

แล้วมันเกี่ยวกับงานวิจัยคนไทยยังไง ประเด็นก็คือบริษัท Dynamic Advances ที่ว่านี่ได้รับใบอนุญาตในการใช้สิทธิบัตรที่เกี่ยวกับงานวิจัยที่เรีกว่า natural language interface ซึ่งเป็นการทำให้ระบบสามารถตอบคำถามที่คนพูดเข้ามาตามปกติได้ โดยใช้วิธีการที่ซับซ้อนในการสืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูล งานวิจัยนี้ได้ถูกคิดค้นและจดสิทธิบัตรไว้กว่าสิบปีแล้ว โดย Professor Cheng Hsu ที่เป็นอาจารย์อยู่ที่ Rensselaer Polytechnic Institute (RPI) ที่ New York และนักศึกษาปริญญาเอกของเขาในขณะนั้นคือ วีระ บุญจริง (Veera Boonjing) ซึ่งปัจจุบันคือ รศ.ดร.วีระ บุญจริง แห่งสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  นักศึกษาที่ทำวิทยานิพนธ์ไม่ว่าระดับไหนคงทราบดีนะครับว่างานที่ออกมา จะออกมาจากตัวนักศึกษาเป็นหลักโดยอ.ที่ปรึกษาจะให้คำแนะนำในแง่มุมต่าง ๆ  ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าระบบดังกล่าวนี้รศ.ดร.วีระ น่าจะมีส่วนไม่ต่ำกว่า 80 % และระบบนี้แหละครับที่ทาง Dynamic Advances ฟ้องว่าโปรแกรม Siri ละเมิดสิทธิบัตร โดยสรุปตอนนี้ทาง Apple ยังไม่มีความเห็นใด ๆ นะครับ รวมทั้ง Professor Hsu ด้วย โดย Professor บอกว่าตัวแกก็ไม่รู้ว่าสิทธิบัตรนี้จะมีมูลค่าเท่าไร แต่ก็ได้กล่าวทิ้งท้ายในข่าวไว้ด้วยว่า เสียใจด้วย (นะ Apple) แต่เราทำมันก่อน 

นั่นคือเนื้อข่าวและที่มาที่ไปคร่าว ๆ นะครับ มาดูในส่วนอ.วีระกันบ้าง ผมในฐานะที่เป็นรุ่นน้องที่มหาวิทยาลัย และเป็นเพื่อนร่วมงานกับอ.วีระเกือบ 20 ปี แล้ว (ขอเกาะกระแสคนดังหน่อยนะ :) ) ก็ได้คุยกับอ.ในเรื่องนี้ โดยตัวอ.ก็บอกว่าเรื่องการฟ้องนี่จริง ๆ เริ่มมาได้พักหนึ่งแล้วไม่ได้มาเริ่มตอนนี้หรอก แต่แกก็ไม่รู้ว่าทำไมมันถึงออกมาตอนนี้ตอนที่ Apple ออกผลิตภัณฑ์ใหม่พอดี ตอนนี้ก็รอผลลัพธ์ต่อไปว่าจะเป็นยังไง โดยการฟ้องร้องนี้อ.วีระไม่ได้ทำเองนะครับเป็นเรื่องของทาง RPI และ บริษัท Dynamic Advances

ท้ายนี้ผมก็ขอเล่าถึงเบื้องหลังงานวิจัยของอ.วีระชิ้นนี้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวผมเองเท่าที่พอจำได้นะครับ ก็คือในตอนที่งานวิจัยของอ.ใกล้จะเสร็จแล้วมีวันหนึ่งผมก็ได้รับเมลจากอ.ว่าขอให้ช่วยคิดคำถามเอาแบบที่เป็นภาษาพูดหน่อยจะเอาไปทดสอบกับระบบที่สร้างขึ้น ซึ่งอ.วีระก็คงขอให้เพื่อน ๆ ของแกหลายคนช่วยกันคิด จะได้มีข้อมูลที่หลากหลายไปทดสอบ ซึ่งผมก็ช่วยคิดไปจำนวนหนึ่งจำไม่ได้ว่ากี่ประโยค และก็ไม่เคยถามด้วยว่าแกเอาของผมไปใช้บ้างหรือเปล่า ส่งเสร็จก็ลบทิ้งไป ถ้ารู้ว่ามันจะดังอย่างนี้จะเก็บไว้ฟ้องร้อง... เอ๊ยไม่ใช่... เป็นที่ระลึกว่าเราก็มีส่วนร่วมในระบบนี้เหมือนกันก็คงจะดี ไม่แน่เหมือนกันนะครับว่าการที่ Apple รีบออกผลิตภัณฑ์อย่าง iPad รุ่นสี่ หรือ iPad Mini นี่อาจทำไปเพื่อระดมทุนมาจ่ายค่าสิทธิบัตรนี่ก็ได้...  :) 


หมายเหตุ
ใครที่อยากดูตัวสิทธิบัตรว่าหน้าตาอย่างไรดูได้จากลิงก์ต่อไปนี้ครับ http://www.google.com/patents/US7177798