แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ Google แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ Google แสดงบทความทั้งหมด

วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2563

เมื่อบริษัทเทคโนโลยีหนุน Google ในการสู้กับ Oracle

บริษัทเทคโนโลยีที่เป็นคู่แข่งของ Google อย่างไมโครซอฟท์ ไอบีเอ็ม หรือโมซิลลา ต่างออกมาสนับสนุน Google ในคดีฟ้องร้องที่ Oracle ฟ้อง Google เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ์การใช้งาน API (Application Program Interface) ของภาษา Java ของ Oracle ในการนำไปพัฒนาระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ การฟ้องร้องนี้มีระยะเวลานานประมาณ 10 ปีได้แล้ว โดยกำลังจะมีการตัดสินจากศาลสูงของสหรัฐภายในปีนี้ ซึ่งบริษัทเทคโนโลยีทั้งหลายที่เป็นคู่แข่งของ Google ได้ขึ้นให้การต่อศาลโดยสนับสนุน Goolge เพราะบริษัทเหล่านี้มองว่าสิ่งที่ Oracle ฟ้องร้องในเรื่องของ API เป็นการขัดขวางนวัตกรรม โดย IBM บอกว่า API ไม่ควรจะจดลิขสิทธิ์ได้ ในขณะที่ Oracle ยังยืนยันว่า Google เป็นโขมย และยังทำลายจุดแข็งของ Java ในแง่ของการทำงานร่วมกันได้

อ่านข่าวเต็มได้ที่: The Hill

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

ขออธิบายเพิ่มเติมว่าทำไมบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ ถึงออกมาเข้าข้าง Google และถ้า Oracle ชนะมันจะมีอาจมีผลกระทบกับอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ยังไงบ้าง ก่อนอื่นมาทำความรู้จัก API (Application Program Interface) กันก่อน ซึ่งก็ขออธิบายง่าย ๆ ว่ามันคือลิสต์รายชื่อของฟังก์ชันที่นักเขียนโปรแกรมสามารถเรียกใช้จากคลังโปรแกรม (program library) ที่พัฒนาไว้ก่อนหน้าแล้วได้ โดยประโยชน์ของมันก็คือนักเขียนโปรแกรมสามารถเรียกใช้ฟังก์ชันจากคลังโปรแกรมได้โดยไม่ต้องรู้รายละเอียดว่าโค้ดในคลังโปรแกรมเขียนขึ้นมายังไง เขียนขึ้นมาด้วยภาษาอะไร ทำงานบนแพลตฟอร์มแบบไหน

ในปัจจุบันเราต้องเขียนโปรแกรมให้ทำงานได้บนอุปกรณ์หลากหลายเช่นทั้งบนมือถือ บนแท็บเล็ต บนคอมพิวเตอร์ ซึ่งนอกจากตัวอุปกรณ์แล้วระบบปฏิบัติการก็ยังมีหลายตัวอีกด้วย ดังนั้นคลังโปรแกรมก็อาจจำเป็นต้องพัฒนาขึ้นมาสำหรับอุปกรณ์ต่าง ๆ บนระบบปฏิบัตการต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งถ้าเราสามารถใช้ API เดียวกัน ในการเรียกคลังโปรแกรมเหล่านี้ เราก็สามารถนำโค้ดที่เขียนกับอุปกรณ์ตัวหนึ่ง มาใช้กับโค้ดสำหรับอุปกรณ์อีกตัวหนึ่งได้โดยง่าย

แต่สมมติถ้า Oracle ชนะในคดีนี้ คือตัว API สามารถมีลิขสิทธื์ได้ มันก็อาจทำให้เกิดปัญหาเช่นสมมติผมสร้างคลังโปรแกรมขึ้นมาให้ทำงานกับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ซึ่งแน่นอนผมต้องมี API ให้นักพัฒนาที่จะเอาคลังโปรแกรมของผมไปใช้ เรียกใช้คลังโปรแกรมของผมได้ คราวนี้ถ้ามีคนอยากพัฒนาคลังโปรแกรมที่ทำงานเหมือนของผมแต่ทำงานบนแอนดรอยด์ แต่เพราะ API เป็นลิขสิทธิ์ของผม ดังนั้นเขาต้องสร้าง API ของเขาเอง นั่นหมายความว่าตอนนี้นักพัฒนาซึ่งอยากพัฒนาให้ทำงานได้บนวินโดวส์ และบนแอนดรอยด์จำเป็นต้องเขียนโปรแกรมสองแบบเพื่อใช้เรียกใช้คลังโปรแกรมที่ทำงานเหมือนกัน และลองคิดต่อ ๆ ไปสิครับว่าถ้าต้องเขียนโปรแกรมสำหรับ iOS Mac OS และอื่น ๆ อีกมากมายจะยุ่งแค่ไหน

ยิ่งไปกว่านั้นเหตุการณ์นี้อาจทำให้เกิดการผูกขาดเช่น ถ้านักพัฒนาโปรแกรมไม่อยากเขียนโค้ดเยอะ เขาก็จำเป็นต้องรอให้ผมพัฒนาคลังโปรแกรมให้ทำงานบนเครื่องที่เขาอยากใช้ ถึงตรงนี้หลายคนอาจถามว่าแล้วอย่างนี้คนคิดคนแรกก็เสียเปรียบสิ อุตสาห์ทำขึ้นมาก่อน พอทำดีก็มีคนเอาไปทำตาม คือต้องเข้าใจนะครับว่าตัวโค้ดในคลังโปรแกรมยังเป็นลิขสิทธิ์ของคนที่ทำมันขึ้นมา คนที่สร้างคลังโปรแกรมตัวถัดมาต้องยังคงต้องเขียนโค้ดคลังโปรแกรมของตัวเองขึ้นมาเอง แต่เขาสามารถใช้ API เหมือนของคนแรกได้ คนแรกถ้าต้องการจะแข่งขันก็สามารถสร้างคลังโปรแกรมให้ทำงานบนแพลตฟอร์มเดียวกันกับคนที่สองขึ้นมาแข่งได้ และถ้ามันดีกว่านักพัฒนาก็สามารถเปลี่ยนมาใช้ได้โดยง่าย เพราะใช้ API เดียวกัน โค้ดก็ไม่ต้องเปลี่ยนอะไรอยู่แล้ว

ถ้าอ่านแล้วยังไม่เข้าใจว่าถ้า Oracle ชนะจะมีผลยังไง ลองจินตนาการว่าเราอยู่ในโลกซึ่งรูที่เติมน้ำมันรถมีลิขสิทธิ์ รถแต่ละยี่ห้อไม่สามารถใช้รูเติมน้ำมันแบบเดียวกันได้ เช่นถ้า Toyota ใช้วงกลมไปแล้ว  Honda ถ้าอยากใช้วงกลมด้วยต้องจ่ายเงินให้ Toyota ตามยอดขาย Honda ไม่ยอมก็เลยไปใช้รูเติมน้ำมันเป็นสี่เหลี่ยม แล้วยี่ห้ออื่น ๆ ก็ใช้รูปแบบของตัวเอง ลองคิดกันดูแล้วกันครับว่ามันจะยุ่งแค่ไหน




วันพุธที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2557

หลักการสำคัญ 9 ประการที่นำไปสู่นวัตกรรมของ Google

สวัสดีปีใหม่ 2557 ครับ ขอถือโอกาสนี้เขียนบล็อกแรกของปีให้อ่านกันเลยก็แล้วกันครับ ตอนแรกก็ยังไม่รู้จะเขียนอะไรดีเพราะผมว่าช่วงปลายปีที่แล้วพวกเราหลายคนคงจะเครียดและสนใจเรื่องการเมืองเป็นหลัก แม้แต่ผมเองยังจัดซะสามบล็อกติดกัน แต่บล็อกแรกของปีนี้ผมไม่อยากจะเขียนอะไรที่มันเครียด ๆ กันก่อนตั้งแต่ต้นปีครับ ก็พอดีนึกขึ้นได้ว่ามีคนแบ่งปันลิงก์เกี่ยวกับแนวทางที่ทำให้ Google เป็นบริษัทที่สร้างสรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ มากมาย ก็เลยคิดว่าเรื่องนี้แหละที่น่าจะนำมาเขียน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับทุกคนที่มีโอกาสได้อ่าน เผื่อจะสามารถนำไปประยุกต์กับการทำงานของเราในปีนี้ได้บ้าง

สำหรับต้นฉบับของเรื่องนี้ก็คือ GOOGLE REVEALS ITS 9 PRINCIPLES OF INNOVATION โดยคุณ Kathy Chin Leong ในบทความนี้ได้สรุปสิ่งที่คุณ Gopi Kallayil ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายกิจการสังคม (ไม่รู้จะใช่ไหมนะครับในภาษาอังกฤษใช้คำว่า chief social evangelist ) ได้พูดถึงหลักสำคัญ 9 ข้อที่ทำให้ Google เป็นบริษัทที่มีการสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ อย่างมากมายออกมาให้เราใช้กัน ลองมาดูกันครับว่ามีอะไรบ้าง

1. นวัตกรรมมาได้จากทุกที่ทุกทาง ไม่ว่าจะมองจากบนลงล่าง ล่างขึ้นบนหรือแม้แต่ในจุดที่ไม่ได้คาดคิดไว้ ในบทความได้ยกตัวอย่างของคุณหมอซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานของ Google ได้พยายามผลักดันให้การค้นหาเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย (ในสหรัฐ) มีการแสดงเบอร์โทรฟรีสำหรับศููนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายอยู่ทางด้านบนของจอ

2.  มุ่งเป้าไปที่ผู้ใช้ เรื่องเงินเอาไว้ทีหลัง ตัวอย่างก็คือการค้นหาทันใจ (instant search) ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้ได้ผลลัพธ์ที่เร็วขึ้นแต่อาจทำให้ผู้ใช้ไม่ได้ดูโฆษณาซึ่งเป็นแหล่งที่มาของรายได้หลักของ Google ซึ่ง Google ก็ยอมที่จะเสี่ยงในส่วนนี้ โดยแนวคิดก็คือให้ผู้ใช้ได้ประสบการณ์การใช้งานที่ยอดเยี่ยมไปแล้วรายได้ก็จะตามมาเอง

3. ตั้งเป้าว่าจะดีขึ่นสิบเท่า การตั้งเป้าว่าจะทำให้ดีขึ้นแค่สิบเปอร์เซนต์เราก็จะทำได้แค่เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ถ้าต้องการจะเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างนวัตกรรมที่ปฏิวัติวงการจะต้องตั้งเป้าว่าจะทำให้ดีขึ้นสิบเท่า และนั่นจะทำให้เราต้องคิดนอกกรอบ ตัวอย่างของข้อนี้ก็คือโครงการ Google Books ซึ่งเริ่มต้นในปี ค.ศ. 2004 ซึ่งตั้งเป้าว่าจะสแกนหนังสือทั้งหมดเพื่อทำให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล โดย Lary Page ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Google ถึงกับลงมือสร้างเครื่องสแกนหนังสือขึ้นมาเองเลย สำหรับหนังสือตอนนี้ก็สแกนไปได้แล้วกว่า 30 ล้านเล่ม

4.  ใช้ความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคให้เป็นประโยชน์ เขายกตัวอย่างถึงแนวคิดของรถไร้คนขับ ซึ่งจริง ๆ แล้ว Google เองไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่ Google มีเทคโนโลยีที่สามารถใช้เป็นพื้นฐานอย่าง Google Maps Google Earth และ รถที่ใช้ทำ Street View โดยการร่วมมือกับทีมปัญญาประดิษฐ์ที่มหาวิทยาลัย Stanford ก็ทำให้ Google สามารถสร้างรถที่ไม่ต้องมีคนขับซึ่งสามารถเดินทางไปกลับเป็นระยะทางไกลได้จริง

5. ปล่อยออกมาก่อนแล้วค่อยปรับปรุง แนวคิดนี้คือไม่ต้องรอให้ผลิตภัณฑ์สมบูรณ์ ส่งไปให้ผู้ใช้ใช้ก่อน แล้วให้ผู้ใช้นั่นแหละเป็นผู้ช่วยปรับปรุง ตัวอย่างของโครงการที่ใช้วิธีนี้ก็เช่น Google Chrome ซึ่งเปิดตัวมาในปี 2008 และ Google ปล่อยตัวปรับปรุงออกมาทุกหกสัปดาห์

6. ให้เวลาร้อยละยี่สิบแก่พนักงาน แนวคิดนี้คือให้พนักงานได้ใช้เวลาในการทำโครงการที่ตัวเองอยากทำที่ไม่ใช่งานประจำที่ตัวเองทำอยู่ โดยจะให้เวลาร้อยละยี่สิบแก่พนักงานในการทำโครงการดังกล่าว พูดง่าย ๆ ก็คือในเวลางานห้าวัน ก็ให้เวลาวันหนึ่งที่พนักงานจะได้ทดลองทำสิ่งที่เป็นแนวคิดของตัวเอง สิ่งที่ได้จากการทำแบบนี้ก็คืออาจจะได้ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ หรืออาจได้เทคนิคหรือแนวคิดที่จะนำไปปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิม

7. ให้กระบวนการทำงานเป็นแบบเปิด คือเปิดโอกาสให้ทั้งนักพัฒนาภายนอก หรือแม้แต่ผู้ใช้เองมีส่วนร่วมในโครงการ ตัวอย่างเช่นการเปิดให้นักพัฒนามาช่วยกันพัฒนาแอพต่าง ๆ ให้กับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์

8. ล้มให้เป็น ไม่ควรตำหนิความล้มเหลว แน่นอนว่าผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ดีสุด ๆ ก็ต้องถูกยกเลิกไป แต่สิ่งที่สามารถดึงมาใช้ได้ก็คือส่วนดีที่สุดของผลิตภัณฑ์เหล่านั้น เขาบอกว่าความล้มเหลวคือเครื่องหมายของเกียรติยศ ความล้มเหลวคือหนทางที่จะนำไปสู่นวัตกรรมและความสำเร็จ ดังนั้นจงล้มเหลวด้วยความภาคภูมิใจเถอะ

9. ภารกิจที่ทำมีความสำคัญ เขาบอกว่านี่คือข้อที่สำคัญที่สุดใน 9 ข้อนี้ เขาบอกว่าคนที่ Google ทุกคนมีความตั้งใจแรงกล้าที่จะทำตามภารกิจและจุดประสงค์ให้สำเร็จ เพราะพวกเขาเชื่อว่าสิ่งที่พวกเขาทำจะมีผลในทางบวกกับผู้คนเป็นล้าน ๆ คน

ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ สวัสดีปีใหม่อีกครั้งครับ ...

วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2556

Google ทำให้ผลการเลือกตั้งเอนเอียง?

ในขณะที่บ้านเราโทษโพลเรื่องการเลือกตั้ง ในอเมริกาเขาคิดว่า Google อาจมีส่วนครับ Google ตกเป็นประเด็นเพราะเป็นเครื่องมือค้นหาข้อมูลใหญ่ที่สุดในอเมริกา (หรืออาจจะในโลก) ตามข่าวบอกว่ามีคนที่คิดว่าผลการสืบค้นที่ได้จาก Google ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งอาจมีผลกับผู้สมัครบางราย เขายกตัวอย่างเช่นอดีตประธานาธิบดี George W. Bush ก็จะมีคำว่า ผู้แพ้ที่น่าสังเวช (miserable failure) ติดอยู่กับชื่อเวลาสืบค้น ซึ่งตรงนี้ใครที่ทำการตลาดบน Search Engine คงทราบนะครับว่ามันมีการปรับแต่งเพื่อหลอก Search Engine โดยคนที่รู้หลักได้ แต่ Google ก็บอกว่าได้แก้ปัญหาการทำแบบนี้ไปแล้ว แต่ก็ยังมีคนสงสัยอยู่ดีว่าแล้วถ้ามันไม่ได้เกิดจากการทำจากคนนอกล่ะ แต่เป็นการทำจากภายใน เช่น Google อาจจะมีการปรับแต่งขั้นตอนวิธีการค้นหาเพื่อให้คุณให้โทษกับผู้สมัครรายใดก็ได้ เฮ้ออ่านแล้วก็รู้สึกว่าตอนนี้โลกเราซึ่งเป็นโลกแห่งข้อมูลข่าวสารนี่ชักอยู่ยากขึ้นทุกวันนะครับ ในขณะที่เรากำลังส่งเสริมให้คนหาข้อมูลข่าวสารก่อนตัดสินใจ แต่ในข่าวนี้มีคำหนึ่งที่สะดุดใจผมมากครับนั่นคือผู้ที่ชนะการเลือกตั้งมักจะได้มาจากคะแนนของผู้ลงคะแนนที่รับรู้ข่าวสารน้อย

ที่มา: Washington Post