วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2556

คนที่ไม่สนับสนุนม็อบไม่ได้เห็นด้วยหรือยอมให้โกง

ในสัปดาห์ที่แล้วต่อเนื่องถึงสัปดาห์นี้ ผมถูกพิพากษาจากแกนนำผู้ชุมนุุมว่าเป็นพวกเลือกข้างคนชั่ว เป็นคนโลกสวย และยอมที่จะเป็นขี้ข้ารับใช้ระบอบทักษิณ ซึ่งผมไม่แคร์หรอกครับว่าแกนนำจะให้ผมเป็นอะไร เพราะสุดท้ายพวกเขาก็นับผมเป็นเสียงหนึ่งของพวกเขาอยู่ดีเวลาจะอ้างมติอะไรก็บอกว่าเป็นเสียงของคนส่วนใหญ่ซึ่งก็เหมารวมผมเข้าไปด้วยทุกที ไม่ว่าการชุมนุมของกลุ่มหรือสีไหน

แต่ที่อยากจะเขียนวันนี้เพราะอยากให้หลายคนที่ยังไม่เข้าใจและแบ่งฝ่ายว่าคนที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมที่ออกมาขับไล่รัฐบาลนี่เป็นพวกที่ยอมรับการโกง โดยเอาเรื่องรัฐบาลได้รับเลือกตั้งเข้ามามาอ้าง จริง ๆ ผมอยากให้คนกลุ่มนี้ทำความเข้าใจเสียใหม่ก่อนนะครับว่าคนที่ไม่สนับสนุนการชุมนุมตอนนี้ หลายคนเป็นที่ร่วมชุมนุมหรือลงชื่อค้านพรบ.นิรโทษกรรมมาก่อนนะครับ ซึ่งหลายคนก็มองว่าได้แสดงพลังแล้ว และถ้าพูดถึงสถานการณ์ตอนนี้รัฐบาลก็ได้ยอมยุบสภาและคืนอำนาจให้ประชาชนแล้ว ทำไมแกนนำถึงไม่ยอมหยุดทำไมถึงไปเสนอแนวคิดที่อาจจะเป็นไปไม่ได้ และอาจจะต้องใช้เวลานานกว่าที่ประเทศจะกลับมาเป็นประชาธิปไตยอีกครั้ง และทำไมถึงคิดว่าตัวเองสามารถเป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศได้ว่าต้องการแบบนี้ แนวคิดหลายอย่างที่นำเสนอเช่นการให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ทำไมตอนที่แกนนำเป็นรัฐบาลอยู่ถึงไม่เสนอ และแนวคิดหลาย ๆ อย่างมันจะทำได้ก็อาจจะต้องแก้รัฐธรรมนูญแล้วทำไมตอนที่เขาให้เสนอแก้รัฐธรรมนูญถึงไม่เสนอเข้ามา

การอ้างว่าถ้าไปเลือกตั้งด้วยกติกาที่มีอยู่ก็จะแพ้การเลือกตั้งอยู่ดี เพราะมีการทุจริตทุกรูปแบบจนทำให้อดีตพรรคของแกนนำนั้นต้องแพ้การเลือกตั้ง ผมคิดว่าความคิดแบบนี้เป็นอันตรายมากนะครับ มันจริงหรือครับที่แพ้เพราะถูกโกง การคิดและการพูดแบบนี้ไม่มีทางที่อดีตพรรคของแกนนำจะกลับมาชนะได้แน่ครับเอาแต่โทษสิ่งอิ่นที่ไม่ใช่ตัวเอง ลองคิดดูถ้าผมเป็นคนอีสานผมคงคิดว่าเอ๊ะพรรคนี้ชนะการเลือกตั้งที่ภาคใต้ แต่มาบอกว่าแพ้เพราะถูกโกง งั้นก็หมายความว่าคนใต้เป็นคนดี คนอีสานไม่ดีเพราะรับเงินพรรคอื่นอย่างนั้นหรือ และถ้าผมเป็นกกต. ผมคงคิดว่านี่พวกเราทำงานแย่มากจนทำให้เกิดการโกงทั้งประเทศจนพรรคพรรคหนึ่งต้องแพ้การเลือกตั้งเลยหรือ ยิ่งไปกว่านั้นถ้าผมจำไม่ผิดก่อนการเลือกตั้งครั้งที่แล้วอดีตพรรคของแกนนำนี่แหละที่ขอแก้รัฐธรรมนูญเรื่องกฏเกณฑ์การเลือกตั้ง ซึ่งเขาก็วิจารณ์กันให้แซ่ดว่าแก้เพื่อให้ตัวเองได้เปรียบ แต่สุดท้ายก็ยังแพ้อยู่ดี (ซึ่งเพราะอันนี้หรือเปล่าเลยคิดว่าขนาดแก้อย่างนี้แล้วยังแพ้มันต้องโกงแน่)

ผมคิดว่าพวกเราที่เป็นประชาชนคงไม่เห็นด้วยกับนักวิชาการหลายคนที่ออกมาพูดเรื่องเสียงมีคุณภาพ เสียงด้อยคุณภาพนะครับ เป็นความเห็นที่แย่มาก ทุกเสียงควรจะมีค่าเท่ากันครับ และถ้าจะคิดว่าเสียงคนชนบทที่บอกว่าด้อยการศึกษาเท่านั้นที่เลือกเพื่อไทย เท่าที่ผมคุย ๆ มาคนที่มีการศึกษาสูง ๆ หลายคน ระดับปริญญาเอกก็เลือกเพื่อไทยนะครับ ดังนั้นถ้าอยากจะแก้ผมว่าไม่ใช่แก้กติกา ผมว่ามันดีอยู่แล้ว แต่ถ้าจะแก้มันต้องแก้ที่ว่าหลังจากเลือกมาแล้วจะทำให้ประชาชนมีบทบาทในการตรวจสอบมากขึ้นได้อย่างไรมากกว่า กฏเกณฑ์การเข้าชื่อถอดถอนเหมาะสมดีหรือยัง องค์กรอิสระทั้งหลายทำหน้าที่ได้ดีหรือยัง จะต้องแก้ตรงไหนไหมเพื่อให้ตรวจสอบได้มากขึ้น หรือจะถ่วงดุลอำนาจกันอย่างไร

ซึ่งถ้าแกนนำเสนอตรงนี้เข้าไปและทำสัญญาประชาคมกันว่า ไม่ว่าใครชนะเลือกตั้งเข้ามาจะมีการปฏิรูปตรงนี้ อย่างนี้จะไม่ดีกว่าหรือ การประท้วงก็จะได้จบ ประเทศเราก็จะได้เดินหน้า ช่วงนี้เป็นฤดูกาลท่องเที่ยว ซึ่งตอนนี้มันยังต้นเดือนอยู่ ถ้าเราทำให้มันสงบได้เร็ว นักท่องเที่ยวอาจกลับเข้ามา อย่ามองว่าผลประโยชน์ตรงนี้มันจะไปตกกับรัฐบาลรักษาการ แต่ให้มองว่ามันเป็นผลประโยชน์ของประเทศ และนี่น่าจะเป็นทางออกที่อารยประเทศเขายอมรับ

อีกสักเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าควรจะทำความเข้าใจเสียใหม่เพราะเดี๋ยวจะเป็นการเถียงคนละเรื่อง คือมีคนพยายามบอกว่าทำไมคนทำผิดแล้วถึงไล่ไม่ได้ ไม่เข้าใจหรือไงว่าสถานะของการได่้มากับสถานะของการดำรงอยู่มันต่างกันนะ แล้วก็ยกตัวอย่างมาหลายตัวอย่าง ตัวอย่างหนึ่งที่ผมจำได้คือ สมมติว่ามีเด็กคนหนึ่งสอบเข้ามาได้เป็นอันดับหนึ่ง แต่เข้ามาแล้วโกงการสอบไล่ เด็กคนนี้จะต้องไม่ถูกไล่ออกใช่ไหม เพราะสอบเข้ามาได้ อ่านแล้วก็คิดว่าเขาช่างคิดยกตัวอย่างนะ แล้วก็มีคนเห็นด้วยมากมาย ก่อนอื่นต้องบอกว่าผมก็เห็นด้วยนะว่าสถานะของการได้มากับสถานะของการคงอยู่มันคนละเรื่องกัน และกลุ่มคนที่ไปชุมนุมต้านพรบ.และลงชื่อถอดถอนเขาก็คิดอย่างนี้แหละ ถ้าเปรียบเทียบก็คือการนำเด็กคนนี้เข้าสู่กระบวนการสอบสวนนั่นเอง ซึ่งเด็กคนนี้ก็หน้าด้านไม่ยอมลาออก สมมติว่าประชาคมในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เขาพอใจแค่นี้แล้วก็รอผลลัพธ์ แต่คราวนี้สมมติว่ามีเด็กคนหนึ่งซึ่งมีข้อมูลภายในหรืออาจไม่ชอบเด็กคนนั้นเป็นการส่วนตัว ก็ไปป่าวประกาศชักชวนใครต่อใครว่าเด็กคนที่โกงนี่จริง ๆ มันโกงตั้งแต่สอบเข้ามาแล้ว แล้วก็พาพรรคพวกมารวมตัวกันเรียกร้องขอตั้งกรรมการเฉพาะขึ้นมาเพื่อสอบสวนเด็กคนนี้ รวมถึงมีการพูดไปจนถึงว่าญาติพี่น้องของเด็กคนนี้ที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยเดียวกันควรจะต้องถูกไล่ออกไปด้วย ถ้าเป็นแบบนี้ประชาคมที่เขาไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย ก็กลายเป็นว่าเขาออกมาปกป้องเด็กคนนี้อย่างนั้นหรือ

ดังนั้นผมอยากให้มองยาว ๆ ครับ ลองคิดว่าประเทศของเราต้องมีหลักการในการปกครองประเทศ เราไม่ควรจะยอมเสียหลักการเพราะใครไม่ว่าจะรัก จะเกลียดหรือกระแสความต้องการ ลองย้อนกลับไปวันที่มีการพิพากษาคดีซุกหุ้นภาคหนึ่งของทักษิณนะครับ วันนั้นกระแสความต้องการทักษิณแรงมากจากการชนะการเลือกตั้ง วันนั้นทักษิณรอดได้เป็นนายก และเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาในประเทศไทยมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งในความเห็นผมตอนนั้นผมเห็นว่าผิดนะรอดได้ไง และผมคิดว่าในวันนั้นอาจมีคนที่ต้านทักษิณอยู่ในตอนนี้ดีใจอยู่ด้วยก็ได้นะครับ...

วันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เริ่มต้นที่ตัวเราเปลี่ยนความคิดเพื่อพ่อหลวงของเรา

ในวาระที่วันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์ท่านได้เวียนมาครบอีกวาระหนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายพระพร ขอพระองค์จงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน มีพระพลานามัยที่สมบูรณ์ เป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยไปชั่วกาลนาน และข้าพระพุทธเจ้าขอปฏิญาณว่าข้าพระพุทธเจ้าจะทำความดีถวายแด่พระองค์ท่าน ด้วยการปฏิบัติตัวเป็นพลเมืองที่ดีเคารพกฏหมายของบ้านเมือง และจะปฏิบัติหน้าที่ของข้าพเจ้าให้ดีที่สุด ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ

เวลาปีหนึ่งเร็วมากครับ วันพ่อเวียนมาถึงอีกแล้วดูเหมือนเพิ่งเขียนบล็อกวันพ่อไปไม่นานนี้เอง แต่อาจเป็นไปได้ครับว่าหลัง ๆ มานี้ผมแทบไม่ได้เขียนบล็อกเลยก็เลยทำให้มันดูเหมือนเร็ว ปีนี้ประเทศเรามีปัญหากันอีกแล้ว ด้วยเรื่องเดิม ๆ ที่ย้อนกลับมาอีกและคงจะเป็นเช่นนี้ไม่รู้จักจบสิ้นถ้าเรายังยึดติดกันด้วยกรอบความคิดเดิม ๆ  แต่ด้วยพระบารมีในวันสำคัญนี้ที่ทำให้ประชาชนรวมใจกันเป็นหนึ่งอีกครั้ง พักวางทุกอย่างลงและร่วมฉลองวันสำคัญนี้ ซึ่งก็คงไม่มีที่ไหนเหมือนในประเทศเราอีกแล้ว

สิ่งที่ผมอยากจะนำเสนอให้เราคิดในวันนี้เพื่อพ่อหลวงของเราก็คือ เรื่องการเมืองก็คือการเมืองความคิดก็คือความคิด แต่ละคนคงไปห้ามความคิดความเชื่อของใครไม่ได้ แต่สิ่งที่ผมอยากให้พวกเราไม่ว่าฝ่ายไหนก็ตามทำก็คือ อย่าได้ดึงพระองค์ท่านลงมาเกี่ยวข้องเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ฝ่ายตน มันจำเป็นด้วยหรือว่าฝ่ายที่ชอบทักษิณทุกคนจะต้องไม่รักในหลวง และจริงหรือที่คนที่ออกมาต่อต้านทักษิณทุกคนรักในหลวง คนที่ออกไปประท้วงกันอยู่ตอนนี้เป็นคนที่รักสถาบันกษัตริย์ คนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามคือไม่ปกป้อง ถ้าเราติดอยู่กับกรอบคิดแบบนี้มันจะทำให้เราอาจใช้ความรุนแรงต่อกัน และลองคิดดูนะครับว่าข้อหาไม่จงรักภักดีนี่มันเป็นข้อหาที่รุนแรงสำหรับคนไทยที่จงรักภักดีทุกคนนะครับ

อีกอย่างผมว่าในยุคปัจจุบันนี้เมื่อโลกมันเปลี่ยนไป เราก็ควรจะยอมรับความคิดเห็นที่ต่างกันมากขึ้น เราไม่ควรจะออกปากขับไล่คนที่เห็นต่างจากเราออกไป ผมว่าในหลวงท่านไม่อยากให้เราทำอย่างนั้นหรอกนะครับ ไม่มีพ่อคนไหนหรอกนะครับที่อยากจะไล่ลูกออกจากบ้าน ถึงแม้ลูกจะไม่รักก็ตาม ผมเคยเขียนลงในบล็อกบ้างแล้วว่าผมไม่เข้าใจคนที่ไม่รักในหลวงเหมือนกันว่าทำไม ด้วยสิ่งที่พระองค์ทำให้เรา ทำให้ประเทศเรารอดพ้นวิกฤตมานับครั้งไม่ถ้วนเพราะพระองค์เป็นศูนย์รวมให้คนไทยรวมใจเป็นหนึ่งอย่างที่เป็นอยู่อย่างวันนี้แหละ คนต่างชาติยังเห็นทำไมคนเหล่านี้ถึงไม่เห็น แต่ถ้าถามว่าระหว่างคนที่ปากบอกว่ารักสถาบันรักในหลวงแต่มีพฤติกรรมคดโกง กับคนที่บอกไม่รักในหลวงแต่ทำงานตรงไปตรงมาซื่อสัตย์ คนแบบไหนที่เราควรจะยกย่อง เราคิดว่าในหลวงท่านจะมีความสุขหรือครับที่เราเลือกที่จะไม่ทำหน้าที่ของเราให้กับคนบางคนที่เรารู้ว่าไม่รักท่าน

ในวันพ่อปีนี้ก็อยากจะฝากไว้แค่นี้แหละครับ เริ่มที่ตัวเรากำจัดอคติออกไป เปิดใจให้มากขึ้น แลกเปลี่ยนความเห็นกับคนที่เห็นต่างอย่างมิตร ถ้าทำได้ประเทศของเราก็อาจจะกลับมามีความสุขสงบมากขึ้น และนี่น่าจะเป็นของขวัญที่ดีที่สุดที่เราจะถวายให้กับพ่อหลวงของเราครับ...

วันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ถึงผู้ชุมนุมครับ

ขอการเมืองอีกสักวัน จริง ๆ ไม่อยากเขียนแล้วนะ ขนาดตัวเองโพสต์อะไรไปคิดว่าเป็นกลาง ๆ ที่สุดแล้วก็ยังถูกตีความว่าเป็นอีกข้างหนึ่งได้ ผมยังยืนยันความต้องการเดิมนะว่ารัฐบาลขาดความชอบธรรมและควรยุบสภาหรือลาออก แต่วันนี้จะขอเขียนถึงผู้ชุมนุมบ้าง ผมได้อ่านโพสต์ของคนหลายคนที่ออกมาชุมนุมกันแล้วก็พยายามโน้มน้าวคนที่ยังไม่ได้ออกมาชุมนุมให้ออกมา โดยได้บอกว่าอย่าเพิ่งไปสนใจว่าผลลัพธ์หลังจากนี้จะเป็นยังไง ขอให้ล้มระบอบทักษิณให้ได้ก่อน เท่าที่ดูก็ดูเหมือนคนโพสต์และแชร์ต่อ ๆ มาก็มีความรู้มีการศึกษาดีนะ แต่บังเอิญผมเป็นคนรู้น้อย เป็นคนขี้สงสัย จะชวนผมออกไปทำอะไรผมต้องการที่จะรู้ให้สุดไปเลยว่าเราจะได้อะไรจากการทำครั้งนี้ สิ่งที่ได้มาจากการกระทำครั้งนี้คุ้มกับที่เสียไปไหม ปัญหาที่เราออกไปแก้จะจบไปไหมหรือแค่ยืดเวลาออกไปแล้วก็เวียนกลับมาใหม่

จากการที่ได้คุยและอ่านการโพสต์ของหลาย ๆ คนที่เห็นด้วยกับการชุมนุมครั้งนี้ (ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าคนเหล่านี้มีความรักความห่วงใยประเทศชาติอย่างแท้จริง) ว่าทำไมต้องออกมาคำตอบที่ผมได้ก็เป็นคำตอบเดิมที่ได้รับจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร คือเราต้องออกมาล้มระบอบทักษิณกัน ถ้าปล่อยไว้ประเทศชาติจะล่มสลายทักษิณจะโกงกินชาติไปจนหมด เราไม่มีวิธีอื่นใดแล้วนอกจากจะใช้วิธีการที่ผิดกฏหมายแบบนี้ ผมเคยตั้งคำถามว่าเราเชื่อถือสนธิ (ลิ้ม) ได้หรือเขามีวาระซ่อนเร้นอะไรหรือเปล่า ดูเขาโหนเอาความรักที่เรามีต่อพ่อหลวงมาใช้ให้เป็นประโยชน์นะคำตอบที่ได้ก็คือก็รู้แหละว่าสนธิมีปัญหา แต่เราต้องกำจัดทักษิณให้ได้ก่อน ซึ่งก็ไม่ต่างกับตอนนี้คือสุเทพก็ไม่ดี แต่เราต้องแยกแยะนะจัดการทักษิณก่อน แล้วค่อยมาจัดการสุเทพ แต่ถึงตอนนี้สนธิก็ยังอยู่ดีมีสุข ระบอบทักษิณก็ยังตามมาหลอกหลอนเราจนถึงวันนี้ หลายคนคิดว่าผมไม่รู้เรื่องราวอะไร เพราะเป็นพวกไม่สนใจชาติบ้านเมืองบ้าแต่ลิเวอร์พูล ก็ส่งลิงก์ส่งวีดีโอที่แสดงความเลวร้ายของทักษิณและรัฐบาลมาให้ดู ซึ่งของพวกนี้ผมเห็นหมดแล้วเห็นมาตั้งนานแล้ว แต่คำถามคือมันใช้เป็นหลักฐานอะไรได้ไหม  ผมดูแล้วผมก็คิดว่ามันเป็นไปได้นะ แต่ความที่มันทำมาจากฝ่ายตรงข้ามของทักษิณ และหลักฐานที่เป็นรูปธรรมอะไรก็ไม่มี มันทำให้ยากที่จะดึงมวลชนฝ่ายตรงข้ามหรือที่อยู่กลาง ๆ มาร่วมได้ บางอันรัฐบาลยังไม่ได้ทำอะไร แต่ก็มีความวิตกกังวลกันล่วงหน้าว่ามันจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

ในวันนี้บางคนถึงกับบอกด้วยว่าคราวนี้ถ้ากำจัดระบอบทักษิณแล้วก็กำจัดสุเทพไปพร้อมกันเลย ผมก็ยังงงว่ามันจะทำได้ยังไง มาตั้งคำถามแรกกันก่อนอะไรคือกำจัดระบอบทักษิณให้หมดสิ้นไป หลังจากยึดประเทศได้แล้ว เราจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมายึดทรัพย์ทั้งหมดของตระกูลชินวัตรหรือยังไง ถ้าจะทำอย่างนั้น เราจะใช้กฏหมายข้อไหน เรายึดรัฐธรรมนูญฉบับไหนอยู่ หรือเราจะใช้วิธีตั้งศาลเตี้ยเอา ถ้าเราทำอย่างนั้นเราจะยังเป็นประเทศที่เป็นอารยะ ได้รับการยอมรับจากนานาชาติอยู่ไหม ถ้าเราบอกว่าไม่แคร์ สิ่งที่เราจะสูญเสียคืออะไรคุ้มกับที่ได้มาไหม หรือเราจะจับลูกเมียทักษิณมาขังคุก แล้วยื่นคำขาดให้ทักษิณกลับมาติดคุก คือมันไม่ชัดเจนสักอย่างว่าระบอบทักษิณที่จะล้มมันคืออะไร แล้วบอกว่าจะกำจัดสุเทพจะทำยังไง หลังจากสุเทพประกาศชัยชนะ มวลหมู่มหาชนก็จะจับสุเทพขังคุกข้อหาเป็นกบฏต่อราชอาณาจักร หรือจะให้สุเทพลงสัตยาบรรณว่าจะวางมือจากการเมือง จะบังคับให้คืนที่ดินเขาแพงหรืออะไรยังไง

ทำสำเร็จแล้วใครจะมาเป็นนายก สุเทพบอกไม่ อภิสิทธ์กับกรณ์ก็ไม่ (ยิ่งรายหลังนี่ยิ่งไม่มีทางเพราะสุเทพคงไม่เอาแล้ว) เราโอเคไหมถ้าสุริยะใสอาจจะได้เป็นนายก อันนี้ไม่ได้ดูถูกอะไรเขานะ ถ้าเขาลงเลือกตั้งแล้วชนะเลือกตั้งเข้ามาผมโอเค แต่ถ้าเป็นแบบนี้จริงผมไม่โอเคนะ สภาประชาชนจะมีหน้าตายังไง ใครจะอยู่ในสภานี้ ใช่พวกมวลหมู่มหาชนนี่ไหม เลือกกันขึ้นมาหรือยังไง มีเงินเดือนไหม เงินเดือนกี่บาท และคำถามที่สำคัญคือมวลหมู่มหาชนที่ว่านี่เอาซะว่าประมาณล้านคน มีสิทธิอะไรที่จะมาพูดแทนคนที่เหลือของประเทศ อาศัยอำนาจมาจากทางใด

หลายคนชอบบอกว่านี่คือปฏิวัติโดยประชาชนและเป็นการปฏิวัติโดยสันติ ตกลงตอนนี้มันยังสันติอยู่ไหมนะ และก็บอกว่าหลายประเทศทำสำเร็จมาแล้ว อียิปต์ก็ทำสำเร็จมาแล้ว แต่ที่ผมอยากบอกก็คืออียิปต์ทำสำเร็จในครั้งแรกคือโค่นมูบารัค เพราะคนทั้งประเทศรวมใจเป็นหนึ่ง แต่ตอนโค่นมอร์ซีนีเกิดสงครามกลางเมืองจนยังไม่สงบมาถึงตอนนี้นะ เพราะมอร์ซีมาจากการเลือกตั้งเขาก็มีฐานของคนเลือกเขาอยู่ในมือ ซึ่งถ้าพวกเสื้อแดงเกิดรวมตัวกันขึ้นมาต่อต้านจริง ๆ เกิดสงครามกลางเมืองมามันจะคุ้มไหม หลายคนบอกว่าถ้าปล่อยให้รัฐบาลนี้อยู่ต่อไปจะเกิดผลเสียกับประเทศเป็นหลายแสนล้าน ถามว่าเคยประเมินไหมว่าจากที่ทำอยู่ถึงตอนนี้เสียหายไปเท่าไหร่แล้ว แล้วเคยประเมินย้อนกลับกันไปไหมว่าที่ขับไล่กันมาก่อนหน้านี้น่ะสิ่งที่เสียไปกับการที่คิดว่าจะป้องกันเขาโกงไปนี่มันคุ้มหรือยัง แล้วจริง ๆ แล้วสิ่งที่ขับไล่มันหายไปไหม

คราวนี้ก็มีคำถามย้อนกลับมาถึงจากผู้ชุมนุมมาถึงกลุ่มคนที่คิดอย่างผมว่าแล้วจะให้ทำยังไง เอาแต่นั่งบอกว่าอย่าไปชุมนุมรุนแรงช่วยเสนอทางออกมาซิ มาผมจะลองเสนอทางออกมาให้ดู ประการแรกผูู้ชุมนุมจะต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนครับว่าไอ้ที่เรากังวลที่สุดมันคืออะไร ยกคำว่าทักษิณ ชินวัตรออกไปจากหัวก่อน เสนอสิ่งที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้และยังอยู่ภายใต้กฏหมายรัฐธรรมนูญ  สิ่งที่ผู้ชุมนุมกังวลตอนนี้ถ้าเป็นพรบ.นิรโทษมันก็ยุติไปส่วนหนึ่งแล้ว ถ้ากังวลเรื่องพรบ.เงินกู้สองล้านล้าน และพรบ.จัดการน้ำ 3.5 แสนล้านเป็นหลัก ก็ยื่นเงื่อนไขไปเลยว่า ผู้ชุมนุมจะกลับไปชุมนุมอย่างสงบที่ราชดำเนินก่อนให้เวลารัฐบาล 7 วัน เพื่อให้รัฐบาลเปิดประชุมสภาเพื่อหาทางออกที่จะทำให้พรบ.ทั้งสองฉบับไม่มีผลบังคับใช้ จากนั้นให้รัฐบาลยุบสภาเพื่อดำเนินการเลือกตั้งใหม่ และขอให้มีการทำมติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพื่อที่มวลหมู่มหาชนจะได้มีโอกาสนำเสนอแนวคิดการปฏิรูปประเทศ มวลหมู่มหาชนอาจรวมตัวกันเพื่อสนับสนุนพรรคประชาธิป้ตย์ แล้วก็พยายามรณรงค์เรียกร้องคนที่เป็นกลาง ๆ หรือเกลียดทักษิณแต่ไม่ชอบประชาธิปัตย์ให้ฝืนใจเลือกประชาธิปัตย์ไปก่อนเถอะ หรือถ้าคิดว่าไม่พอใจประชาธิปัตย์ก็ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเลยจะตั้งชื่อว่า "พรรคมวลหมู่มหาชนเพื่อส่งเสริมสุดยอดประชาธิปไตยขับไล่ระบอบทักษิณ (มมพสสปชตขรท)" ก็ได้ แล้วมวลหมู่มหาชนก็ลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อผลักดันแนวคิดของตัวเองให้สำเร็จ เป็นยังไงครับอย่างนี้พอเป็นรูปธรรมจับต้องได้ไหม...
 

วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

นายกยิ่งลักษณ์ควรจะยุบสภาหรือลาออกและถอนตัวจากการเมือง

วันนี้ขอเขียนเรื่องการเมืองอีกสักวัน ความเห็นผมตอนนี้คือทางออกเฉพาะหน้าของตอนนี้คือนายกยิ่งลักษณ์ควรจะยุบสภาหรือลาออกหลังจากเสร็จการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันนี้ และควรจะออกจากการเมืองไปเลย ที่เขียนตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าผมเห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้ชุมนุมทำอยู่ตอนนี้นะครับ ผมเห็นด้วยแค่เรื่องต้านพรบ.นิรโทษกรรม ผมมองว่าการชุมนุมเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย. 2556 เป็นสิ่งที่ดีที่เป็นไปด้วยความสงบจริง ๆ เป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถทำอะไรได้ตามอำเภอใจ และถ้าจบแค่นั้นคงจะสวยมาก แต่สิ่งที่ผู้ชุมนุมทำอยู่หลังจากวันนั้นผมเห็นว่าไม่ถูกต้องมันเกินเลยไปจนอาจทำให้ประเทศเสียหาย และยิ่งถ้าเกิดความรุนแรงขึ้นมาซึ่งสุ่มเสี่ยงมาก จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเมื่อถึงจุดหนึ่งไม่ว่าจะด้วยความร้อนความเครียดหรือความเกลียดชังที่ถูกปลุกระดมมาตลอด มันก็ทำให้เกิดเรื่องร้ายจนอาจไม่สามารถควบคุมได้

ผมไม่อยากเห็นความสูญเสียเกิดขึ้นอีก จริง ๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน ๆ ผมก็ไม่เห็นด้วยกับการที่จะมีการชุมนุมขับไล่ในลักษณะที่จะทำให้ประเทศชาติเสียหายแบบนี้ ตอนเสื้อเหลืองชุมนุมผมก็เขียนบล็อกแสดงความไม่เห็นด้วย ตอนเสื้อแดงผมก็เขียน ซึ่งการเขียนแต่ละครั้งก็มีคอมเมนต์จากอีกฝ่ายบ้างว่าผมเป็นฝั่งตรงข้าม ยิ่งตอนนี้รายได้หลักของประเทศเราก็คือการท่องเที่ยว และช่วงนี้ก็เป็นฤดูซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยอะ ทำแบบนี้ผมเห็นว่าเป็นการทุบหม้อข้าวตัวเองครับ คนที่เห็นด้วยกับการชุมนุมอาจบอกว่าก็รัฐบาลมันหน้าด้านไม่ยอมทำอะไรเลย ผมก็เห็นว่าจริงนะดังจะได้เขียนต่อไป แต่เราก็มีวิธีที่จะทำตามระบบและก็ได้ทำไปแล้วไม่ว่าจะยื่นถอดถอนสส.-สว. และประธานสภา เพียงแต่ผลลัพธ์มันอาจจะช้าและไม่ทันใจ ส่วนเรื่องทุจริตนั้นถ้ามีหลักฐานชัดเจนก็ยื่นปปช. ไปเลย ผมอยากจะถามไปยังแกนนำผู้ชุมนุมด้วยว่าเป้าหมายที่จะตั้งรัฐบาลประชาชนน่ะ ใช้กฏหมายข้อไหน มีบทบัญัติตามรัฐธรรมนูญไหม ไหนว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีมากอย่าไปแตะต้องมัน ตอนนี้จะฉีกมันทิ้งแล้วหรือ ตั้งเป้าแบบนี้หวังอะไรกันแน่ เรื่องนี้พอแค่นี้ดีกว่าไว้วันหลังเขียนบล็อกต่างหากไปเลย ถ้ายังรู้สึกอยากระบายอยู่นะครับ

กลับมาที่เรื่องที่ผมเรียกร้องกับนายกดีกว่า จริง ๆ ผมแอบหวังไว้ว่าว่านายกน่าจะยุบสภาตั้งแต่ตอนที่มีเรื่องพรบ.นิรโทษกรรมแล้ว แต่ก็ไม่ยอมยุบโอเคก็พอจะพยายามคิดในแง่ดีว่าเพราะมีเรื่องที่ฝ่ายค้านตั้งใจเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ  นายกอาจอยากเปิดโอกาสให้ทำหน้าที่ก่อน งั้นเดี๋ยวก็จะถูกหาว่าหนีการอภิปรายอีก (ทำอะไรก็โดนด่าทั้งนั้นแหละ) ช่วงอภิปรายที่ผมไม่เขียนก็เพราะรู้ว่าในช่วงนั้นนายกยุบสภาไม่ได้ เพราะกฏหมายบัญญัติไว้ ซึ่งผมก็รู้สึกเศร้าใจมากที่มีคนมาเรียกร้องให้นายกยุบสภาในช่วงนั้น ทั้งที่คนเหล่านั้นก็รู้ว่ายุบไม่ได้ แต่จงใจพูดไม่หมดให้คนที่ไม่ได้ติดตามข่าวสารหรือไม่รู้กฏหมายข้อนี้ทวีความเกลียดชังเพิ่มขึ้นไปอีก เหมือนส่งเสริมให้คนไปร่วมชุมนุมมากขึ้น

แต่ตอนนี้เสร็จการอภิปรายแล้ว นายกชนะไปด้วยเสียงข้างมากที่มีอยู่ในมือ อำนาจการยุบสภากลับมาอยู่ในมือของนายกอีกครั้งดังนั้นผมอยากขอวิงวอนครับขอให้ยุบสภาเถอะครับ  ผมว่าสส.เพื่อไทยตั้งแต่กรรมมาธิการที่เข้าไปแก้ร่างและโหวตให้พรบ.ผ่าน หมดความชอบธรรมที่จะเป็นสส.นะ ดังนั้นยุบสภาน่าจะเป็นทางออกที่ดี ให้ประชาชนได้เลือกเข้ามาใหม่ และทางที่ดีไม่น่าจะส่งคนเหล่านั้นลงสส.อีก (อันนี้ผมคงจะฝันไป) ถึงแม้แกนนำการชุมนุมจะบอกว่ายุบสภาก็ไม่เลิกก็ไม่ต้องสนใจ ผมเชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่น่าจะพอใจแค่นี้

อย่างไรก็ตามผมว่ายุบสภาแล้วถ้ายังลงเลือกตั้งกันเหมือนเดิม ผมยังคิดว่าในเวลานี้เพื่อไทยก็จะยังชนะการเลือกตั้งอยู่ดี เพราะประชาธิปัตย์ในความเห็นผมก็ยังไม่พร้อมที่จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ดังนั้นมันก็จะกลับมาสู่จุดเดิมอีกจนได้ ดังนั้นผมจึงอยากเสนอว่านายกน่าจะประกาศถอนตัวทางการเมืองเลยด้วย ไม่ว่าจะด้วยการลาออกโดยไม่ยุบสภาหรือยุบสภาก็ตาม โดยส่วนตัวผมชอบบุคลิกของนายกนะที่ไม่ตอบโต้อะไรทางการเมือง เพราะผมว่ามันทำให้บรรยากาศของประเทศดีขึ้น ไม่น่ารำคาญโต้กันไปโต้กันมา และถ้าเป็นไปได้อย่างนี้เรื่อย ๆ ประเทศเราอาจจะกลับมาปรองดองกันก็ได้ แต่จากการที่ผมมองดูนายกบริหารงานมาสองปีนี้ผมรู้สึกว่านายกอาจไม่เหมาะกับตำแหน่งนี้ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ดังนี้


  1. นายกขาดความรู้พื้นฐานด้านภาษา เศรษฐกิจ การต่างประเทศและสังคม ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่มีคนโจมตีนายกกันมากโดยใช้ถ้อยคำหยาบคาย ซึ่งผมจะไม่เอามากล่าวถึงในที่นี่เพราะผมไม่เห็นด้วยกับการที่คนเราจะมาด่ากันด้วยคำ ๆ นี้ และหลายคนด่าโดยไม่รู้สึกผิด และทำเหมือนว่าตัวเองจะดูดีขึ้นด้วยถ้าได้ด่าคนด้วยคำนี้ ผมมองว่าที่นายกไม่รู้ อาจเป็นเพราะไม่ได้เตรียมตัวที่จะมารับตำแหน่งนี้ ถึงตรงนี้ผมอยากเสริมสำหรับนักเรียนที่เรียนอยู่และไม่เห็นความสำคัญของวิชาอย่างประวัติศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ และภาษาไทยว่า น่าจะตั้งใจเรียนกันให้มากขึ้นหน่อยนะ เพราะไม่รู้ว่าเราอาจจะต้องนำมันมาใช้ก็ได้ ยิ่งภาษาอังกฤษนี่ตอนนี้ยิ่งเพิมความสำคัญมากขึ้นอีกมาก 
  2. นายกไม่มีบารมีมากพอทางการเมือง สส.ในพรรคของตัวเองก็คงไม่ได้เคารพหรือผูกพันกับนายกสักเท่าไหร่ น่าจะฟังแต่พี่ชายหรือพี่สาวนายกเท่านั้น
  3. นายกไม่มีทีมงานที่ดี ถ้าตัวเองไม่พร้อมทีมงานที่ดีน่าจะช่วยได้ แต่ปรากฏว่าทีมงานเศรษฐกิจของนายกทำงานได้แย่มาก โดยเฉพาะเรื่องการจำนำข้าวนี่เป็นที่น่าผิดหวังจริง ๆ ไม่มีความชัดเจนอะไรสักอย่าง จนถึงตอนนี้ก็ไม่มีเงินจะให้ชาวนาแล้ว 


จากสามข้อนี้ผมว่าก็เพียงพอจะให้นายกรู้ตัวเองได้แล้วนะว่าตัวเองไม่เหมาะสมที่จะเป็นนายกของประเทศไทย ถ้านายกตั้งใจเข้ามาทำงานด้วยเจตนาดีต่อประเทศจริง ก็ต้องรู้ตัวแล้วว่าตัวเองทำไม่ได้แล้วก็ถอนตัวออกไป ถ้านายกเข้ามาเพราะต้องการตอบแทนบุญคุณพี่ชายที่เลี้ยงตัวเองมา ตอนนี้นายกก็ได้ทำแล้ว และน่าจะได้รู้เช่นเห็นชาติของพี่ชายนายกแล้วว่าไม่ได้รักนายกจริง ๆ เลย ขณะที่นายกพยายามทำหน้าที่ของตัวเองไป พี่ชายนายกก็คิดแต่เรื่องตัวเองจะกลับมาไทยแบบไม่มีความผิด โดยไม่ได้ดูเลยว่าสิ่งนี้มันจะทำลายสิ่งที่นายกพยายามทำมา

อีกประการหนึ่งอันนี้ไม่เกี่ยวกับสามข้อที่กล่าวมา นายกน่าจะคิดถึงลูกชายนายกให้มาก ๆ ดีกว่า จากการที่ดูมาผมว่านายกเป็นแมที่ดีนะ ก่อนหน้าที่นายกจะมารับตำแหน่งผมว่าครอบครัวของนายกน่าจะเป็นครอบครัวที่อบอุ่นรักใคร่กันดี ถ้านายกวางมือตอนนี้ก็กลับไปใช้ชีวิตครอบครัวเหมือนเดิม และไม่ต้องกังวลว่าลูกของนายกจะได้รับผลกระทบทางการเมืองไปด้วย ผมว่าสังคมไทยเดี๋ยวนี้โหดร้ายนะ (หรือเป็นมานานแล้วแต่ไม่มีช่องทางแสดงออกก็ไม่รู้) คือถ้าเกลียดใครแล้วก็สามารถโยงให้ไปเกลียดคนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้หมด โดยไม่ต้องแยกแยะ อย่างที่การชุมนุมขับไล่ตระกูลของนายกทั้ง ๆ ที่ คนบางคนในตระกูลนายกก็อาจจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ทางการเมืองเลยก็ได้

นี่ก็เป็นความเห็นของคนไทยคนหนึ่ง ซึ่งอยากจะแสดงออกแม้จะรู้ว่ามันอาจจะไม่ได้เข้าหูเข้าตานายกหรือผู้มีอำนาจใด ๆ อยากขอสรุปอีกครั้งว่า นายกยิ่งลักษณ์ครับยุบสภาหรือลาออกและถอนตัวออกจากการเมืองเถอะครับ...  

วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

มุมมองเล็ก ๆ เกี่ยวกับการคัดค้านพรบ.นิรโทษกรรม

ไม่ได้เขียนบล็อกมานานมากครับ ย้อนไปดูว่าบล็อกล่าสุดก็เกือบครึ่งปีมาแล้ว จริง ๆ มันก็มีเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมายที่อยากจะเขียนแต่ไม่มีเวลา พอจะว่างเหตุการณ์นั้นก็ผ่านไปแล้ว แต่การรวมตัวกันค้านพรบ.นิรโทษกรรมนี้เป็นอะไรที่คงจะไม่เขียนไม่ได้

ก่อนอื่นผมดีใจมากที่ได้เห็นคนไทยแทบทุกหมู่เหล่าทุกกลุ่มออกมารวมพลังกันต่อต้านสิ่งที่คิดว่าไม่ถูกต้อง คนผิดคนโกงจะต้องได้รับการลงโทษ และดีใจที่หลาย ๆ กลุ่มที่ไม่ได้เป็นกลุ่มการเมืองออกมาคัดค้านผ่านทางเครือข่ายสังคมบ้าง ประท้วงอยู่ในบริเวณที่ของตัวเอง ไม่ได้ละเมิดสิทธิหรือก่อความเดือดร้อนรำคาญให้กับคนอื่นมากนัก ผมอยากให้กลุ่มเหล่านี้รักษาจุดยืนตรงนี้ไว้นะครับให้คิดว่าเราออกมาต้านสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่ออกมาเพราะเกลียดหรือมีอคติ และอย่าให้พวกนักการเมืองหรือพวกที่แสวงอำนาจมาหลอกล่อเอาพลังของพวกเราไปใช้เพื่อประโยชน์ของพวกคนเหล่านั้น และให้ชั่งใจให้ดีก่อนที่จะทำอะไรให้คิดว่ามันคุ้มที่จะทำไหม สิ่งที่ผ่านมาเมื่อไม่กี่ปีนี้ไม่ว่าจะเป็นการยึดทำเนียบ ปิดสนามบิน หรือยึดย่านธุรกิจ มันคุ้มกับสิ่งที่เราได้มาไหม ผมว่าเราคงไม่อยากจะเป็นเหมือนซีเรีย หรืออียิปต์ใช่ไหมครับ

เราคงเห็นแล้วว่าด้วยพลังของพวกเราที่แสดงออกมาก็มีผลทำให้ทางฝั่งที่คิดว่าตัวเองมีอำนาจจะทำอะไรก็ได้ก็เริ่มที่จะถอยหลังแล้ว และฝากด้วยว่าก่อนจะลงคะแนนเลือกตั้งครั้งหน้า ให้คิดถึงสิ่งที่พรรคที่มีเสียงข้างมากอยู่ตอนนี้ทำเอาไว้นะครับ ที่เขียนอย่างนี้นี่ไม่ได้หมายความว่าผมเชียร์พรรคเก่าแก่ที่ทำหน้าที่ฝ่ายค้านอยู่ตอนนี้นะครับ ผมว่าพรรคนี้ก็ไม่สามารถฝากความหวังอะไรได้ ตราบใดที่ยังคงคิดแต่จะเล่นการเมือง ตอดเล็กตอดน้อย เหน็บแนมเขาไปทั่ว และคิดแต่จะกลับมามีอำนาจ อย่างตอนนี้ก็ทำท่าว่าจะใช้กระแสตอนนี้หาประโยชน์เข้าตัวอีกแล้ว ผมเชียร์ให้คุณอลงกรณ์ปฎิรูปพรรคนี้สำเร็จ เปลี่ยนตัวผู้บริหารเอาคนที่มีคุณภาพอย่างคุณศุภชัย หรือคุณสุรินทร์มาทำงาน ถ้าทำได้ผมจะได้มีทางเลือก เลิกกาช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนนซะที ชักนอกเรื่องแฮะดูสิการเมืองพาไปจริง ๆ กลับมาเรื่องพรบ.นี่ดีกว่า

อีกจุดหนึ่งที่ผมอยากให้คิดหลังจากที่เราได้ออกมาต่อต้านพรบ.นี้ก็คือ ขอให้เราดูตัวเราเองครับ ผมมองว่าสังคมจะดีได้ต้องเริ่มจากตัวเราก่อน มันง่ายครับที่จะชี้หน้าด่าว่าคนอื่นเขาไม่ดี คดโกง เห็นแก่พวกพ้องแต่ลองมองตัวเองครับว่าตัวเราเองก็มีพฤติกรรมเหล่านี้หรือเปล่า อย่างคนเป็นครูบาอาจารย์ เราได้ทำหน้าที่ของเราเต็มที่หรือยัง เราสอนหนังสือให้ความรู้กับนักศึกษาเต็มที่ไหม เราเป็นนักเรียนเราตั้งใจเรียนเต็มที่ไหม เราลอกการบ้านลอกข้อสอบ ลอกผลงานวิชาการของคนอื่นมาเป็นของตัวเองไหม เราเป็นหัวหน้าคนเราให้รางวัลกับผลงานของลูกน้องเราอย่างยุติธรรมไหม หรือให้ผลงานแต่พวกตัวเอง ถ้าไม่ใช่พวกตัวเองต่อให้ทำงานให้ตายก็แทบไม่ได้อะไร เราไปชี้หน้าด่าคนอื่นว่าโกงไม่จ่ายภาษี แต่ถ้าเป็นตัวเราเองถ้ามีช่องทางเราจะทำไหม

กลับมาวันนี้อาจจะหนักไปหน่อย แต่ก็ขอแสดงมุมมองเล็ก ๆ ของตัวเองสักหน่อยแล้วกันนะครับ

วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สุดยอดแบตเตอรีกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว

ปัญหาหนึ่งของแบตเตอรีในปัจจุบันก็คือเรื่องความจุ ขนาดและเวลาในการชาร์จครับ แต่นักวิจัยจาก University of Illinoises บอกว่าได้คิดวิธีแก้ปัญหานี้ได้ครับ โดยใช้อิเลกโตรดแบบสามมิติ ซึ่งจะทำให้สามารถสร้างแบตเตอรีที่มีขนาดเล็ก ตามข่าวเรียกว่า microbattery หรือขนาดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้แต่มีพลังงานมากกว่าเดิม และยังชาร์จเร็วขึ้นหนึ่งพันเท่าด้วย แต่ปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกตอนนี้คือเรื่องความปลอดภัยครับนั่นก็คือเรื่องที่มันอาจระเบิดได้

ก็หวังว่านักวิจัยจะแก้ปัญหานี้ได้เร็ว ๆ นะครับ ปัญหาแบตมือถือหมดระหว่างวันจะได้หมดไป และเราอาจจะได้ใช้รถไฟฟ้าซึ่งชาร์จไฟได้ด้วยความรวดเร็วโดยใช้เวลาเท่า ๆ การเติมน้ำมันในปัจจุบันนี้

ที่มา: BBC News

เครื่องมือที่ช่วยป้องกันไม่ให้ข่าวสารผิดกระจายในอินเทอร์เน็ต

ในยุคที่เราใช้เครือข่ายสังคมในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ปัญหาประการหนึ่งก็คือข้อมูลบางอย่างบางครั้งก็ผิดพลาด ไม่ว่าจะผิดพลาดโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ และข้อมูลเหล่านี้ก็มักจะถูกส่งกันต่อ ๆ ไปในเครือข่ายสังคมซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือความสับสน ดังนั้นนักวิจัยจาก Masdar Institute of Technology และ Qatar Computing Research Institute จึงได้ร่วมมือกันเพื่อที่จะเปิดบริการเพื่อให้ผู้คนในเครือข่ายสังคมได้ช่วยกันตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร ซึ่งบริการดังกล่าวคือ verily ซึ่งจะเปิดให้บริการในเร็ว ๆ นี้ครับ แรงจูงใจที่จะให้ผู้คนเข้ามาช่วยกันตรวจสอบข่าวสารก็คือ คนที่เข้ามาร่วมตรวจสอบจะได้แต้มครับ ใครได้แต้มมากก็มีชื่อเสียงมาก

ก็หวังว่าบริการนี้จะเปิดให้ใช้กันโดยเร็วนะครับ แต่ผมว่าพวกเราไม่ต้องรอก็ได้ครับ แค่คิดเสียหน่อยเมื่อได้รับข่าวอะไรมาว่ามันควรจะเป็นเรื่องจริงไหม หรือเช็คจากแหล่งข่าวหลาย ๆ แหล่ง อย่าใช้ความเชื่อหรืออคติในการส่งต่อข่าวสารแค่นี้ก็จะช่วยลดการแพร่กระจายของข่าวผิด ๆ หรือข่าวลือทั้งหลายได้ครับ

 ที่มา: MIT Technology Review


วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

NASA ใช้สมาร์ทโฟนเป็นดาวเทียม

องค์การ NASA ได้ส่งดาวเทียมขึ้นไปในอวกาศสามดวงครับ ซึ่งดาวเทียมเหล่านั้นมีชื่อว่า PhoneSat โดยดาวเทียมเหล่านี้จะอยู่ในวงโคจรประมาณสองสัปดาห์ ความน่าสนใจของดาวเทียมพวกนี้คือหัวใจการทำงานหลักของมันคือสมาร์ทโฟนครับ เหตุผลที่เขาเลือกสมาร์ทโฟนก็เพราะมันมีความสามารถในการประมวลผลมากกว่าดาวเทียมเป็นร้อยเท่า มีหน่วยประมวลผลที่เร็ว มีตัวรับสัญญาณที่หลากหลาย มี GPS และมีกล้องที่มีความละเอียดสูงเป็นต้น นอกจากนี้ยังมีน้ำหนักเบา และมีราคาถูกซึ่งช่วยลดต้นทุนการสร้างดาวเทียมลงได้ โดย PhoneSat ตัวแรกหรือที่เรีกว่า PhoneSat 1.0 นั้นใช้ HTC Nexus One ส่วน PhoneSat 2.0 ใช้ Samsung Nexus S ครับ

ฟังดูแล้วก็รู้สึกทึ่งนะครับว่าสมาร์ทโฟนมีความสามารถจนสามารถใช้เป็นดาวเทียมขนาดเล็กได้ และรุ่นที่เขาใช้นี่ก็เป็นรุ่นที่เก่ามาปีสองปีแล้วนะครับ ดังนั้นในปัจจุบันใครที่ใช้มือถือรุ่นล่าสุดทั้งหลายนี่ก็ให้รู้ไว้นะครับว่าคุณใช้มือถือที่มีความสามารถสูงกว่าดาวเทียมเสียอีก ดังนั้นก็ใช้คุณลักษณะที่มือถือเตรียมไว้ให้เต็มที่นะครับ และก็คงทำให้หลายคนได้คิดนะครับว่าเราอาจไม่จำเป็นต้องซื้อมือถือรุ่นใหม่ที่ออกมาทุกตัวก็ได้ เพราะดาวเทียมเขายังใช้รุ่นเก่าอยู่เลย เรามาใช้มือถือเก่าของเราให้เต็มความสามารถกันก่อนดีกว่า

ที่มา: Information Week

วิศวกรคอมพิวเตอร์ อาชีพที่ดีเป็นอันดับสามของโลก

สวัสดีครับ บล็อกวันนี้เอาเรื่องอาชีพทางคอมพิวเตอร์มาเล่าให้ฟังกันอีกสักเรื่องหนึ่งต่อจากบล็อกที่แล้วครับ นั่นคืออาชีพวิศวกรคอมพิวเตอร์ที่ถูกจัดให้เป็นอาชีพที่ดีที่สุดเป็นอันดับสามของโลกจากทั้งหมดสองร้อยอาชีพ การจัดอันดับนี้มีรายงานอยู่ใน Jobs Rated Report 2013 ซึ่งถ้าใครสนใจก็สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ครับ แต่ผมขอนำข่าวที่สรุปมาแล้วมาเล่าให้ฟังกันครับ การจัดอันดับครั้งนี้เขาพิจารณาจากปัจจัยหลักสี่ด้านคือสภาพแวดล้อมในการทำงาน รายได้ อนาคตที่ดี และระดับความเครียด

การที่อาชีพวิศวกรซอฟต์แวร์ได้รับอันดับที่ดีก็เนื่องมาจากเงินเดือนเฉลี่ยที่อยู่ที่ $89,000 ต่อปี สภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี มีความเครียดต่ำ (อันนี้ผมไม่ค่อยแน่ใจนะ) อนาคตอาจไม่โดดเด่นเท่ากับกลุ่มอาชีพอื่นในสิบอันดับแรกแต่ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี

นอกจากอาชีพวิศกรซอฟต์แวร์แล้วอาชีพอื่น ๆ ทางด้านคอมพิวเตอร์ที่อูย่ในอันดับที่ค่อนข้างดีก็ได้แก่นักวิเคราะห์ระบบในอันดับสิบ นักพัฒนาเว็บไซต์อันดับที่ยี่สิบสี่ และนักเขียนโปรแกรมในระดับที่สามสิบแปด

เพื่อให้ข่าวนี้มีความสมบูรณ์ก็ขอบอกอาชีพอันดับหนึ่ง อันดับสองและอันดับสุดท้ายมาให้รู้กันด้วยแล้วกันครับ เพราะคิดว่าหลายคนก็น่าจะอยากรู้ อาชีพอันดับหนึ่งคือนักคณิตศาสตร์ประกันภัยครับ (จริง ๆ ผมเคยเกือบตัดสินใจเข้าสู่อาชีพนี้ด้วยนะครับนี่) อันดับสองคือวิศวกรชีวการแพทย์ (biomedical engineer) ส่วนอันดับสุดท้ายผมว่าพวกเราอาจคาดไม่ถึงนะครับนั่นคือผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ครับ โดยยังมีอันดับต่ำกว่าคนตัดไม้ซึ่งอยู่อันดับรองบ๊วย

ก็ดูเอาไว้เป็นข้อมูลนะครับ แต่ผมว่าสุดท้ายแล้วอาชีพสุจริตอะไรที่เราทำแล้วเราชอบมีความสุขกับมัน ทำด้วยความตั้งใจเต็มที่ก็เป็นอาชีพที่ดีสำหรับเราทั้งนั้นครับ...

ที่มา: v3.co.uk

วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2556

การสำรวจเงินเดือนด้านไอทีประจำปี 2013 ในอเมริกา

สวัสดีครับ พอดีได้อ่านข่าวซึ่งรายงานการสำรวจงานด้านไอทีในอเมริกาว่าแต่ละด้านได้เงินเดือนเท่าไร ก็เลยเอามาเล่าให้ฟังเป็นข้อมูลกันครับ ตามข่าวบอกว่าโดยภาพรวมแล้วงานด้านไอทีถือว่ามีรายได้ดีเลยครับ โดยพนักงานระดับปฏิบัติจะได้เงินโดยเฉลี่ยประมาณ $90, 000 ต่อปี ส่วนถ้าเป็นผู้จัดการจะได้ประมาณ $120,000 ต่อปีครับ  

แต่รายได้จะแตกต่างกันตามทักษะและประเภทของอุตสาหกรรมครับ ตามข่าวยกตัวอย่างว่าถ้าใครทำด้านการรวมแอพพลิเคชันระดับเอนเทอร์ไพรส์ (business enterprise integration) จะได้เงินเดือนประมาณ $110,000 ถ้าทำด้านไอทีทั่ว ๆ ไป ก็จะได้ประมาณ $73,000 ส่วนงานด้านให้ความช่วยเหลือ (help desk) จะได้ประมาณ $55,000 จริง ๆ ผมว่างานด้านให้ความช่วยเหลือนี่หนักนะเพราะต้องติดต่อกับลูกค้าโดยตรง แล้วบางทีก็ต้องรองรับอารมณ์ด้วย (หรือเปล่า) น่าจะได้มากกว่านี้นะ

แต่สิ่งที่ผมว่าน่าสนใจอยู่ตรงนี้ครับ ฟิลด์ที่มีความพิเศษอย่างคลาวด์คอมพิวติง ความมั่นคงเว็บ (web security) และด้านโมบายล์ จะมีเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ $130,000 $118,000 และ $111,000 ตามลำดับ งานด้านการวิเคราะห์และธุรกิจอัจฉริยะ (analytic/business intelligence) จะได้เงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ $93,000 สำหรับพนักงาน และ $132,000 สำหรับระดับผู้จัดการ แต่สำหรับงานด้านการวิเคราะห์นี้ก็จะมีความแตกต่างกันตามทักษะ แต่เขาบอกว่าฟิลด์นี้ต้องการคนที่มีพรสววรค์ด้านการวิเคราะห์/จัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจ

จากข้อมูลนี้ผมมองว่ามหาวิทยาลัยก็คงจะต้องปรับหลักสูตรให้มีรายวิชาทางด้านที่มีความต้องการเป็นพิเศษนี้มากขึ้นตามความถนัดของมหาวิทยาลัย และก็หวังว่าพอจะเป็นประโยชน์กับใครที่กำลังเรียนหรือกำลังจะเข้ามาเรียนทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีสารสนเทศว่าควรมุ่งไปทางไหน ส่วนคนที่ทำงานอยู่แล้วก็อาจจะหาเวลาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในด้านใดด้านหนึ่งที่กล่าวมาแล้วไว้บ้างก็ดีนะครับ เพราะถึงแม้ข้อมูลนี้จะเป็นข้อมูลในอเมริกา แต่อเมริกาอาจผลิตบุคลากรมารองรับไม่ทันทั้งหมด ดังนั้นโอกาสที่งานพวกนี้จะถูกส่งออกมายังประเทศที่มีความพร้อมก็มีอยู่มาก ดังนั้นมาเตรียมตัวพวกเราให้พร้อมกันดีกว่าครับ...

ที่มา: Information Week

วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2556

Google ทำให้ผลการเลือกตั้งเอนเอียง?

ในขณะที่บ้านเราโทษโพลเรื่องการเลือกตั้ง ในอเมริกาเขาคิดว่า Google อาจมีส่วนครับ Google ตกเป็นประเด็นเพราะเป็นเครื่องมือค้นหาข้อมูลใหญ่ที่สุดในอเมริกา (หรืออาจจะในโลก) ตามข่าวบอกว่ามีคนที่คิดว่าผลการสืบค้นที่ได้จาก Google ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งอาจมีผลกับผู้สมัครบางราย เขายกตัวอย่างเช่นอดีตประธานาธิบดี George W. Bush ก็จะมีคำว่า ผู้แพ้ที่น่าสังเวช (miserable failure) ติดอยู่กับชื่อเวลาสืบค้น ซึ่งตรงนี้ใครที่ทำการตลาดบน Search Engine คงทราบนะครับว่ามันมีการปรับแต่งเพื่อหลอก Search Engine โดยคนที่รู้หลักได้ แต่ Google ก็บอกว่าได้แก้ปัญหาการทำแบบนี้ไปแล้ว แต่ก็ยังมีคนสงสัยอยู่ดีว่าแล้วถ้ามันไม่ได้เกิดจากการทำจากคนนอกล่ะ แต่เป็นการทำจากภายใน เช่น Google อาจจะมีการปรับแต่งขั้นตอนวิธีการค้นหาเพื่อให้คุณให้โทษกับผู้สมัครรายใดก็ได้ เฮ้ออ่านแล้วก็รู้สึกว่าตอนนี้โลกเราซึ่งเป็นโลกแห่งข้อมูลข่าวสารนี่ชักอยู่ยากขึ้นทุกวันนะครับ ในขณะที่เรากำลังส่งเสริมให้คนหาข้อมูลข่าวสารก่อนตัดสินใจ แต่ในข่าวนี้มีคำหนึ่งที่สะดุดใจผมมากครับนั่นคือผู้ที่ชนะการเลือกตั้งมักจะได้มาจากคะแนนของผู้ลงคะแนนที่รับรู้ข่าวสารน้อย

ที่มา: Washington Post

โปรแกรมช่วยตรวจข้อสอบแบบเขียนตอบ

สำหรับข่าวนี้คงเป็นข่าวดีสำหรับอาจารย์และอาจจะนักศึกษาด้วยนะครับ สำหรับงานนี้เป็นผลงานของ Edx ซึ่งเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไร ก่อตั้งขึ้นมาโดยมหาวิทยาลัย Harvard และ สถาบันเทคโนโลยี Massachusetts จุดประสงค์ขององค์กรนี้ก็คือให้การเรียนการสอนวิชาต่าง ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต ตามข่าวนี้องค์กรนี้ได้พัฒนาเครื่องมือที่ช่วยตรวจข้อสอบแบบเขียนตอบโดยอัตโนมัติ ซึ่งประโยชน์ที่ได้ก็คืออาจารย์ไม่ต้องมาตรวจข้อสอบนักศึกษาแต่ละคนด้วยตนเอง และนักศึกษาก็สามารถรู้คะแนนของตัวเองได้ทันทีหลังจากสอบเสร็จไม่ต้องรอลุ้นเป็นอาทิตย์หรืออาจเป็นเดือน แต่ก็ยังมีคนค้านเหมือนกันนะครับว่ายังไม่มีข้อมูลทางสถิติที่เชื่อถือได้ว่าเครื่องจะตรวจได้ดีเท่ากับคน แต่ Ex เขื่อว่าระบบจะได้รับการยอมรับจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ทาง Edx บอกว่าระบบนี้จะทำงานโดยใช้เทคนิคของ Machine Learning โดยเรียนรู้จากการตรวจข้อสอบของอาจารย์ที่เป็นคนจากการตรวจข้อสอบแบบเขียนตอบจำนวนร้อยชุด 

ที่มา: The New York Times

โปรแกรมที่ใช้เครือข่าย LinkedIn ในการแนะนำอาชีพ

LinkedIn เป็นเครือข่ายสังคมที่เน้นไปในเรื่องของการหางาน โดยคนที่ใช้เครือข่ายนี้ก็จะโพสต์คุณสมบัติของตัวเองไว้ในเครือข่ายนี้ ซึ่งบริษัทที่ต้องการคนไปทำงานด้วยก็มักจะมาหาข้อมูลจากเครือข่ายนี้ นอกจากประโยชน์จากการหางานแล้ว LinkedIn ยังเปิดโอกาสให้เราได้สร้างเครือข่ายสังคมของคนที่อยู่ในวงการอาชีพเดียวกันได้ด้วย นักวิจัยจาก University of California, Santa Barbara มองเห็นประโยชน์ของการนำข้อมูลจากเครือข่ายนี้ไปใช้ครับ โดยเขาได้พัฒนาโปรแกรมชื่อ LinkedVis ซึ่งจะช่วยแนะนำเส้นทางอาชีพให้กับเรา โปรแกรมนี้ทำงานโดยวิเคราะห์เส้นทางอาชีพของคนที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับเรา จากนั้นจึงนำผลจากการวิเคราะห์ดังกล่าวมาแนะนำเราครับ ยิ่งไปกว่านั้นโปรแกรมนี้ยังมีความสามารถตอบคำถามประเภทถ้า.... ได้อีกด้วยครับ ตามข่าวยกตัวอย่างว่าโปรแกรมสามารถตอบคำถามเช่น ถ้าฉันกลับไปเรียนต่อป.เอก จะมีโอกาสที่ดีขึ้นไหม?  น่าสนใจใช่ไหมล่ะครับ แต่ถ้าอยากใช้โปรแกรมนี้คงต้องรอหน่อยครับ เพราะผู้วิจัยกำลังคุยกับทาง LinkedIn อยู่ แต่ตามข่าวบอกว่าทาง LinkedIn สนใจโปรแกรมนี้มากครับ

ที่มา: New Scientist

สอนเด็กเขียนภาษา Java ด้วยวีดีโอเกม

นักวิจัยจาก University of California, San Diego ได้พัฒนาเกมเพื่อช่วยสอนภาษา Java ซึ่งเป็นภาษาโปรแกรมที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน และเป็นภาษาที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งใช้ในการเรียนการสอน แต่จุดประสงค์ของงานวิจัยนี้คือเขาอยากจะสอนภาษานี้กับเด็ก ๆ สิบขวบถึงสิบสองขวบครับ ดังนั้นเขาจึงได้สร้างเกมเพื่อใช้สอนภาษานี้ขึ้นมาครับ โดยเนื้อหาของเกมก็คือ คนเล่นจะเป็นพ่อมดซึ่งจะต้องเข้าไปช่วยเหลือคนแคระซึ่งเคยมีเวทมนตร์แต่ตอนนี้เสียมันไปหมดแล้ว โดยพ่อมดจะต้องช่วยเขียนคาถาด้วยภาษา Java ซึ่งเมื่อเด็กผ่านระดับแรกของเกมก็จะมีความรู้ในองค์ประกอบหลักของภาษา Java เช่นพารามิเตอร์ if, for, และ while เป็นต้น ทางผู้วิจัยจะนำเสนองานของเขาในวันที่ 18 เมษายนนี้ครับ ในงาน Research Expo ของ  University of California, San Diego โดยผู้วิจัยตั้งใจจะแจกเกมนี้ฟรีให้กับสถานศึกษาที่ขอไป ไม่รู้ว่าเฉพาะในอเมริกาหรือเปล่านะครับ ก็หวังว่าจะแจกจ่ายให้กับทั่วโลกนะครับ แต่ถ้าไม่แจกผมว่าคนไทยเราก็ทำแบบนี้ได้นะครับ มีใครสนใจจะทำไหมครับ


ที่มา: UC Sandiego News Center

วันเสาร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2556

เรื่องเล่าจากงานสัมมนา

ในช่วงปิดเทอมพอจะมีเวลาว่างบ้าง ก็เลยไปร่วมสัมมนาวิชาการสักหน่อยครับ จริง ๆ หลาย ๆ งานก็นำมาประกาศเชิญชวนบนเฟซบุ๊คของตัวเองนะครับ แต่พอไปในงานไม่เจอนักศึกษาของตัวเองเลยสักคน :( วันนี้พอมีเวลาว่างก็เลยเอามาเล่าให้ฟังกันสักหน่อย เริ่มจากงานแรกก็คือ PRAGMA Cloud Computing and Software-Defined Networking (SDN) Technology Workshop งานนี้จัดที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ระหว่างวันที่ 20-22 มีนาคม 2556 ครับ ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมฟังสัมมนาวันแรกซึ่งในช่วงแรกก็เป็นการปูพื้นคลาวด์คอมพิวติงทั่ว ๆ ไปว่าคืออะไร ในส่วนหลังก็จะเน้นไปที่ตัวอย่างของการติดตั้งคลาวด์คอมพิวติง ซึ่งก็จะลงไปในแง่ของสถาปัตยกรรมซึ่งไม่ได้อยู่ในความสนใจของผมมากนัก ดังนั้นก็ขอสรุปสิ่งที่คิดว่าพอจะเป็นประเด็นที่น่าสนใจและยังพอจำได้มาให้ฟังกันสักสองสามเรื่องดังนี้ครับ

 1. ประเด็นหนึ่งที่เป็นเรื่องที่ยังมีความเป็นกังวลเกี่ยวกับคลาวด์คอมพิวติงก็คือเรื่องของความมั่นคง (security) คือต้องแยกเป็นสองประเด็นนะครับ ข้อมูลที่อยู่บนคลาวด์ในแง่หนึ่งก็จะมีความมั่นคงในแง่ที่บริษัทผู้ให้บริการคลาวด์ส่วนใหญ่ก็จะสำรองข้อมูลไว้ให้เราอยู่ระดับหนึ่ง แต่ความกังวลด้านความมั่นคงจะเกี่ยวกับข้อมูลที่มีความอ่อนไหว หรือเป็นเรื่องลับ การที่เราจะฝากข้อมูลดังกล่าวไว้ให้กับผู้ให้บริการก็อาจไม่ปลอดภัยได้

2. ประเด็นเรื่องการเขียนงบประมาณการใช้งานคลาวด์ครับ อันนี้ผมว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจสำหรับประเทศเราที่น่าจะเตรียมตัวไว้นะครับ เพราะแม้แต่ประเทศต้นกำเนิดอย่างสหรัฐอเมริกาก็ยังมีปัญหาครับ คือวิทยากรเล่าให้ฟังว่าเขามีปัญหาเรื่องการเขียนงบประมาณเหมือนกัน เพราะโดยปกติเวลาเขียนงบประมาณนี่เราก็จะระบุเป็นของไปเช่นจะซื้อเครื่องเซิฟเวอร์ มีฮารด์ดิสก์เท่าไร มีหน่วยความจำเท่าไร แต่พอจะเขียนข้อกำหนดคุณลักษณะของคลาวด์เราไม่ได้ซื้อฮาร์ดแวร์ แต่เราจะซื้อเวลาในการประมวลผล ซึ่งตรงนี้ระเบียบหลาย ๆ อย่างยังไม่รองรับ

3. การใช้งานคลาวด์ไม่ได้เหมาะกับงานทุกงาน วิทยากรบอกว่าอย่าลืมว่าเราต้องจ่ายค่าบริการคลาวด์ตามปริมาณการใช้งาน ดังนั้นงานที่ต้องมีการรับส่งข้อมูลไปมาเป็นจำนวนมากอาจไม่เหมาะที่จะใช้บริการคลาวด์ งานที่ควรใช้งานคลาวด์ควรเป็นงานที่มีการประมวลผลหลัก ๆ อยู่บนเซิฟร์เวอร์ และนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ถ้าใครตามข่าวด้านไอทีคงพอจะทราบว่าเริ่มมีแนวคิดที่จะเก็บเงินค่าบริการอินเทอร์เน็ตต่อการคลิกดูข้อมูลแต่ละครั้ง เพราะผู้ให้บริการอาจต้องจ่ายค่าการใช้งานข้อมูลที่เราโหลดมานั่นเองครับ

 4. ประเด็นที่เป็นเรื่องที่กำลังอยู่ในกระแสของคลาวด์ตอนนี้ก็คือเรื่องของ Software-Defined Networking (SDN) ซึ่งเป็นการจัดการเครือข่ายผ่านทางซอฟต์แวร์ พูดถึงตรงนี้หลายคนอาจนึกถึง Virtual LAN แต่วิธีนี้จะเหมือนกับเหนือขึ้นไปอีกระดับครับ เป็นลักษณะของเขียนโปรแกรมเพื่อปรับแต่งเครือข่ายตามที่เราต้องการ ซึ่งก็จะรองรับกับแนวคิดของคลาวด์คอมพิวติงซึ่งจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรต่าง ๆ ในแบบไดนามิก ก็เป็นเรื่องที่คนที่สนใจด้านการทำ IaaS น่าจะศึกษาไว้นะครับ 

ทั้งหมดนี่้ก็คืองานสัมมนาแรกที่พอจะจับประเด็นและพอจะจำได้ครับ 

งานสัมมนางานที่สองที่ไปมาก็เมื่อวันอาทิตย์ 31 มีนาคม ที่ผ่านมาครับ งานนี้ก็คือการประชุมวิชาการประจำปี สวทช.ครั้งที่ 9 ในหัวข้อ ความพร้อมสู่ AEC ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Towards AEC with Science and Technology) สำหรับงานนี้ก็มีประเด็นพอจะสรุปให้ฟังได้ดังนี้ครับ ในช่วงเช้าเป็นการบรรยายหลักที่เกี่ยวกับทีมของงานครับ แต่ผมไปสายครับ :( ก็เลยได้ฟังเรื่องเดียวคือ เรื่องการสนับสนุนงานวิจัยของสวทช. ซึ่งสามารถดูรายละเอียดของได้จากเอกสารประกอบการบรรยายของ ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ซึ่งนอกจากจะมีข้อมูลงานวิจัยแล้ว ก็มีข้อมูลที่น่าสนใจเช่นความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตัวอย่างงานวิจัยที่นำไปใช้ได้จริงที่สนับสนุนโดยสวทช. ถ้าใครอยากได้เอกสารบรรยายของวิทยากรทุกคนก็สามารถโหลดได้ที่นี่ครับ

ในช่วงบ่ายจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับทรัพยากรบุคคลครับ ซึ่งหัวข้อของการบรรยายก็คือ  AEC : ขุมทรัพย์ Talent ไร้พรมแดน (AEC : Talent Treasury ) ต้องบอกตามตรงว่าตอนแรกผมตั้งใจว่าจะไปฟังแค่ช่วงเช้าแล้วกลับ แต่พอเห็นหัวข้อนี้จากเอกสารที่ได้รับก็รู้สึกสนใจครับเลยตัดสินใจอยู่ฟัง และจากที่ฟังก็ได้ประเด็นที่น่าสนใจมาสรุปให้ฟังดังนี้ครับ  

1. อันนี้คิดว่าหลายคนก็คงทราบอยู่แล้วนะครับว่าเมือประเทศเราเปิด AEC จะมีการเคลื่อนย้ายบุคคลากรระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน ซึ่งอาชีพ 7 อย่างที่จะเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีก็คือ หมอ หมอฟัน นักบัญชี วิศวกร สถาปนิก พยาบาล และนักสำรวจ ยังไม่มีคอมพิวเตอร์นะครับ ถ้ามองในแง่ดีก็คืออย่างน้อยตอนนี้ก็ยังไม่ถูกแย่งงาน แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่งก็คือถ้าเราอยากไปทำงานในประเทศอื่นบ้างก็ยังไม่เปิดเสรี

2. ประโยชน์ของการใช้เครือข่ายสังคมในการได้งาน เครือข่ายสังคมที่พวกเราใช้อยู่ตอนนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งเป็นช่องทางที่เราจะได้รู้เรื่องความต้องการงานจากนายจ้าง และเป็นช่องทางให้นายจ้างรู้จักเราด้วย โดยเครือข่ายสังคมที่วิทยากรบอกว่ามีศักยภาพเกี่ยวกับการเรืองงานมากที่สุดคือ Linkedin ถัดมาคือ Facebook และ Twitter ตามลำดับ ดังนั้นใครที่ยังไม่มี Linkedin ก็ไปเปิดบัญชีกันไว้ซะนะครับ และก็ไม่จำเป็นนะครับที่เราจะต้องหางานอยู่แล้วค่อยไปเปิดบัญชีพวกนี้ ถึงแม้เราจะมีความสุขดีอยู่แล้วกับงานที่ทำแต่ถ้าเราไปเปิดบัญชีไว้ ก็เท่ากับเราเปิดโอกาสของงานใหม่ ๆ ที่อาจดีกว่าเข้ามาสู่ตัวเรา

3. ถัดมาอีกหัวข้อหนึ่ง อันนี้น่าสนใจมากครับเพราะเป็นเสียงของผู้ประกอบการที่ชี้ให้เห็นถึงนิสัยแบบไทย ๆ ที่ทำให้คนไทยไม่ค่อยก้าวหน้าในหน้าที่การงานเมื่อเทียบกับชาวต่างชาติ ปัญหาประการแรกคือปัญหาที่เรารู้กันอยู่แล้วก็คือเรื่องของภาษา ซึ่งทางวิทยากรบอกว่าสิ่งที่เราต้องแก้ที่สุดไม่ใช่เรื่องของการพูดนะครับ แต่เป็นเรื่องของการฟัง เขาบอกว่าเรื่องพูดนี่อย่างภาษาอังกฤษสำเนียงสิงคโปร์ฝรั่งก็ยังฟังรู้เรื่อง แต่เหตุผลหนึ่งที่คนไทยไม่ค่อยแสดงความเห็นอาจเป็นเพราะฟังไม่รู้เรื่องมากกว่า ปัญหาประการที่สองก็คือเขามองว่าคนไทยไม่ทุ่มเทให้กับงานเท่าที่ควร เขาบอกว่าไม่ได้หมายความว่าจะต้องมาทำงานเป็นบ้าเป็นหลังนะครับ แต่หมายความว่าให้ใส่ใจในงานที่รับผิดชอบให้มากกว่านี้ อันถัดมาก็คือเรื่องของการที่เรามักจะทำตัวเป็นผู้รายงานเหตุการณ์แต่ไม่ทำตัวเป็นผู้แก้ปัญหา เขายกตัวอย่างว่าบริษัทรับนักศึกษาฝึกงาน เมื่อเกิดปัญหาขึ้นนักศึกษาไทยก็จะรายงานว่าเกิดเหตุการณ์แบบนั้นแบบนี้ขึ้น แต่ไม่เคยบอกว่าควรจะแก้ปัญหาอย่างไร ดังนั้นเราคงต้องเริ่มกันตั้งแต่ในห้องเรียนแล้วล่ะครับ ดังนั้นนักศึกษาของผมต่อไปผมถามอะไร ให้คิดวิเคราะห์แก้ปัญหาอะไรก็ช่วยกันตอบนะ 

4. หัวข้อต่อมาเกี่ยวกับบทบาทของสถานศึกษาครับ โดยหน้าที่หลักของสถานศึกษาก็คือสร้างบุคคลากรที่มีความสามารถดีเด่น (talent)  ซึ่งวิทยากรก็ได้ยกตัวอย่างโครงการต่าง ๆ ของสถาบันการศึกษาที่วิทยากรดูแลคือพระจอมเกล้าธนบุรีมาให้ดูกัน ซึ่งประเด็นสำคัญก็คือการสอนที่เน้นกระบวนการเรียนรู้ครับ 

5. ส่วนหัวข้อสุดท้ายอันนี้เป็นเรื่องผ่อนคลายครับเหมือนกับดูทอล์กโชว์เลย เป็นการขึ้นนำเสนอของบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นนักคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยได้รางวัลนวัตกรรมมากมายหลายรางวัล ประเด็นที่ได้ก็คือการที่เราจะสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ออกมาได้นั้นเราต้องมีความรักกับงานที่เราทำ มีความสังเกตุ มีความอดทน มีความพยายาม และอย่าคิดดูถูกตัวเองว่าเราเป็นคนไทยเราจะไปทำอะไรสู้ระดับโลกได้ยังไง หรือเราอยู่นอกเมืองคงทำอะไรสู้คนในเมืองไม่ได้อะไรอย่างนี้ นอกจากนี้การนำเสนอก็เป็นเรื่องสำคัญ ต่อให้ทำงานออกมาดีเลิศแต่นำเสนอไม่เป็นหรือไม่น่าสนใจก็อาจทำให้งานของเราถูกมองข้ามไปได้ 

สำหรับรายละเอียดและรายชื่อวิทยากรของหัวข้อนี้สามารถดูได้จากที่นี่ครับ เสียดายที่หัวข้อนี้ไม่ได้มีลิงก์ให้ไปโหลดเอกสารประกอบการบรรยายครับ 

สำหรับงานสัมมนาเรื่อง AEC นี้ ผมขอนำเสนอมุมมองส่วนตัวในฐานะที่เป็นอาจารย์สอนด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์หน่อยแล้วกันนะครับว่านักศึกษาและบุคคลากรในด้านนี้จะมีบทบาทอย่างไร จากงานนี้ผมได้เห็นว่าประเทศของเรากำลังมุ่งสู่งานวิจัยระดับสูงในด้านต่าง ๆ ซึ่งก็เน้นไปในส่วนที่เป็นหลักของประเทศเราก็คือด้านอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งงานวิจัยเหล่านี้ผมมองว่าต้องการการสนับสนุนด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์อย่างแน่นอนครับ ดังนั้นสถานศึกษาที่สอนด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ก็ควรจะเน้นที่จะสร้างคนด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์จริง ๆ กันให้มากขึ้นได้แล้ว คือสร้างคนที่มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาซอฟต์แวร์ระดับสูงที่อาจต้องมีการคิดค้นขั้นตอนวิธีใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหา พอผมพูดประเด็นนี้อาจมีคนสงสัยว่ามันยังไงเน้นวิทยาการคอมพิวเตอร์จริง ๆ ปัจจุบันนี้มันไม่จริงยังไง คือต้องขออธิบายก่อนว่าสาขาหลัก ๆ ที่มีการเรียนการสอนทางด้านคอมพิวเตอร์และดูมันจะเหลื่อม ๆ กันอยู่ก็มีอยู่สามสาขาคือวิทยาการคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งทั้งสามสาขานี้จริง ๆ แล้วมีจุดเน้นที่ต่างกันนะครับ ผมขออนุญาตไม่ลงรายละเอียดเรื่องความแตกต่างแล้วกันนะครับเพราะมันยาว และรู้สึกว่าน่าจะมีคนเคยเขียนไว้แล้ว ลองค้นจาก Google ดูแล้วกันนะครับ ถ้าค้นไม่เจอมาคอมเม้นต์บอกไว้ได้ครับแล้วผมจะเขียนให้อ่านกัน แต่เพราะตลาดแรงงานของเราในอดีตถึงปัจจุบันมันอาจจะไม่กว้างนักครับ ดังนั้นทั้งสามสาขาก็จำเป็นที่จะต้องเรียนอะไรที่เป็นความต้องการของตลาด เพราะถ้าไม่ทำอย่างนี้ก็อาจตกงานกันหมด นักศึกษาจึงมักจะเลือกเรียนวิชาที่ออกมาทำงานในตลาดแรงงานได้ โดยไม่เลือกเรียนวิชาที่เป็นวิชาระดับสูงในสาขาตัวเองเพราะมองว่ายากและเรียนแล้วก็ไม่ได้ใช้ ดังนั้นบัณฑิตที่จบจากสามสาขานี้ก็มักจะจบออกมามีความรู้ในเรื่องที่ใกล้ ๆ กัน ทำงานในด้านเดียวกันเช่นจบมาไม่ว่าสาขาไหนก็มาพัฒนาเว็บแอพพลิเคชันอะไรประมาณนี้ แต่ถ้าเรามีงานด้านวิจัยระดับสูงแบบนี้มารองรับก็น่าที่จะทำให้นักศึกษาหันมาเรียนวิชาเลือกที่เคยโดนมองข้ามไปมากขึ้น 

เอาล่ะครับนั่นก็คือบทสรุปทั้งหมดตามที่พอจะจำได้ในงานสัมมนาวิขาการที่ได้ไปฟังมา ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ...  


วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2556

การแก้ปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์เริ่มได้ที่ตัวเรา

สวัสดีครับสำหรับวันนี้พอดีอ่านเจอเรื่องที่น่าสนใจจาก CNET เกี่ยวกับความพยายามแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ของค่ายหนังค่ายเพลงในอเมริกาครับ เห็นว่าน่าสนใจดีเลยเอามาเล่าให้ฟังกัน สำหรับวิธีแก้ปัญหานี้เขามุ่งไปที่ตัวผู้ใช้ครับแทนที่จะไปไล่ตามจับผู้ละเมิด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไปไล่จับผู้ใช้ที่ดาวน์โหลดไฟล์ละเมิดนะครับ แต่เขาจะใช้วิธีที่เรียกว่าให้ความรูู้กับผู้ใช้บริการครับ วิธีนี้นี้มีชื่อว่าระบบแจ้งเตือนการละเมิดลิขสิทธิ์ (Copyright Alert System)  หรือเรียกย่อ ๆ ว่าซีเอเอส (CAS) ลักษณะการทำงานของระบบก็คือ  จะให้ผู้บริการอินเทอร์เน็ตแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้ว่าขณะนี้ผู้ใช้กำลังดาวน์โหลดไฟล์ที่ละเมิดลิขสิทธิอยู่  ซึ่งทางระบบมองว่าถ้าเป็นผู้ใช้ที่ดีและไม่รู้เรื่องจริง ๆ ก็จะหยุดการกระทำดังกล่าว แต่เขาจะให้โอกาสผู้ใช้โดยการเตือนถึงหกครั้งนะครับ ซึ่งนี่ก็เป็นที่มาของอีกชื่อหนึ่งที่ใช้เรียกระบบนี้คือ  "เตือนหกครั้ง (six strikes)"   ถ้าเตือนไปขนาดนี้แล้วแต่ผู้ใช้ยังคงละเมิดต่อไปก็แสดงว่าผู้ใช้คนนี้อาจเกินเยียวยาแล้ว ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตก็มีสิทธิที่จะระงับการให้บริการชั่วคราวได้ แต่การยกเลิกสัญญากับผู้ใช้นี่ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขของระบบนี้นะครับ แต่ถ้าผู้ใช้คิดว่าตัวเองไม่ได้ละเมิดก็สามารถแสดงหลักฐานกับทางผู้ให้บริการได้นะครับ แต่สุดท้ายแล้วเจ้าของลิขสิทธิ์ก็จะต้องลงมาดำเนินการฟ้องร้องกับผู้ใช้เองต่อไป ระบบนี้เริ่มใช้แล้วในอเมริกาเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2556 ครับ จริง ๆ ระบบนี้มีกำหนดการที่จะต้องเสร็จและใช้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วครับ แต่ก็ต้องเลื่อนมาเพราะพายุเฮอริเคนแซนดี้กับเรื่องที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตยังลังเลที่จะให้ความร่วมมือด้วย 

จากประเด็นนี้เราคงเห็นนะครับว่าไม่ใช่เฉพาะคนในประเทศเราที่ละเมิดลิขสิทธิ์ แม้แต่ในประเทศที่ถูกมองว่าเจริญแล้วอย่างอเมริกาก็ยังมีปัญหานี้ ในส่วนตัวผมว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ก็มาถูกทางแล้วระดับหนึ่งคือเริ่มจากการให้ความรู้  แต่ที่น่ารังเกียจกว่าพวกประเภทไปเอาของเขามาคือพวกที่เอาของเขามาฟรี ๆ แล้วเอามาหากำไรต่อหรือเอามาเคลมว่าเป็นของตัวเองครับ อย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้อ่านเว็บดรามาเรื่องมีคนไปโหลดเกมมาฟรี ๆ แล้วก็เอามาให้คนอื่นโหลดต่อแต่ดันทำลิงก์โฆษณาครอบไว้ประเภทว่าต้องคลิกผ่านลิงก์นี้ก่อนถึงจะโหลดไฟล์ได้ ดังนั้นคนพวกนี้ก็จะได้ค่าโฆษณาครับ แต่คนเขียนเกมไม่ได้อะไรเลย ส่วนเขาจะดราม่าอะไรกันนั้นก็ลองไปอ่านกันดูเองนะครับ หรือที่เจออีกอันหนึ่งก็คือมีคนสร้างฟอนต์ที่ให้นักพัฒนาแอพบน iOS เอาไปใช้ ก็มีคนเอามาเผยแพร่แล้วก็บอกว่าเป็นของตัวเอง ลองอ่านดูที่นี่ครับ และอีกอันหนึ่งที่ยุคนี้กำลังเกิดขึ้นอย่างมากมายและอยู่ในวงการวิชาชีพของผมซะด้วย ก็คือพวกนักวิชาการที่ไปโขมยผลงานคนอื่นมาเป็นของตัวเอง 

ข้ออ้างที่คนเหล่านี้มักจะนำมาใช้ซึ่งผมว่ามันน่าเศร้าใจมากก็คือคำว่า "สังคมแห่งการแบ่งปัน" จริงครับสังคมแห่งการแบ่งปันเป็นสังคมที่ดีแต่ก็ควรจะให้เกียรติกับเจ้าของผลงาน และไม่ควรเอาของที่เจ้าของเขาไม่ได้แบ่งปันเอามาแบ่งปัน หนักไปกว่านั้นดันไปเอาของเขามาหาประโยชน์ และบางครั้งพอเจ้าของเขามาทวงถามหรือขอให้ให้เครดิตเขาบ้างดันไปด่าเขาอีกว่าเห็นแก่ตัว จริง ๆ นะครับพออ่านความคิดเห็นอะไรแบบนี้แล้วรู้สึกเศร้าใจจริง ๆ 

วิธีการแก้ปัญหานี้ที่ดีที่สุดผมว่าต้องเริ่มที่ตัวเราครับ ระบบอะไรที่สร้างขึ้นมาผมว่ามันกันคนที่ตั้งใจจะละเมิดไม่ได้หรอก อย่างมากก็ทำให้ลำบากขึ้นบ้าง ตัวเราเองต้องสำนึกครับ เริ่มจากไม่ทำงานหรือรายงานด้วยการตัดปะงานคนอื่น และให้คิดแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา ลองคิดดูว่าถ้าเราเป็นคนที่นั่งหลังขดหลังแข็งสร้างงานขึ้นมา แต่มีใครไม่รู้ที่ใช้เพียงการคลิกไม่กี่คลิกก็ได้งานของเราไปใช้แบบฟรี ๆ หรือมาหาประโยชน์จากงานของเราแล้วเราจะรู้สึกอย่างไร เราภูมิใจไหมกับการที่ได้รับตำแหน่งเพิ่มขึ้นหรือได้รับความชื่นชมด้วยการไปลอกผลงานของคนอื่นมา แล้วเราจะมีความสุขไหมที่ต้องมานั่งกังวลว่าจะมีคนมาเจอไหมว่าเราลอกงาน 

เราควรจะเริ่มต้นให้ความรู้กับคนที่อาจจะยังไม่รู้ครับว่าเนื้อหาที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต หรือที่ไหนก็ตามถึงแม้บางอย่างเจ้าของเขาอาจจะประกาศให้เรานำไปใช้ได้ฟรี แต่มันก็เป็นสิ่งที่เราจะต้องเคารพ ถ้าเราต้องการจะนำมาใช้ไม่ว่าจะเป็นแค่ประโยคเดียวเราก็ควรจะต้องให้เกียรติกับเจ้าของ ยิ่งของอะไรที่ผู้ใช้ไม่ได้บอกว่าให้ฟรีนี่ก็ไม่ควรจะไปเอามาใช้

ซอฟต์แวร์ก็เหมือนกันครับ เดี๋ยวนี้ราคาก็ถือว่าถูกลงจนพอหาซื้อมาใช้ได้ และถ้าเราไม่อยากซื้้อเราก็ยังมีทางเลือกอื่น อย่างชุด Microsoft Office ในสมัยก่อนเราอาจไม่มีทางเลือก แต่ในปัจจุบันเราอาจใช้ OpenOffice ซึ่งใช้ได้ฟรี หรือใช้บริการอย่าง Google Docs ก็ได้ มันอาจจะมีคุณสมบัติไม่ครบเท่า Microsoft Office แต่คุณสมบัติพื้นฐานก็มีครบถ้วน หรือถ้าจะตกแต่งรูปถ้าเราไม่ใช่มืออาชีพ อยากตกแต่งรูปเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็อาจไม่ต้องไปหาโปรแกรมอย่าง Photoshop มาใช้ก็ได้ มีเว็บให้เราใช้แต่งภาพแบบฟรีมากมาย แม้แต่ Photoshop เองก็มีเครื่องมือออนไลน์อย่าง PhotoshopExpress  แต่ถ้าเป็นมืออาชีพและต้องการใช้งานคุณสมบัติในระดับสูงของโปรแกรม ผมก็แนะนำว่าควรซื้อโปรแกรมแบบถูกลิขสิทธิ์มาใช้นะครับ เพราะคุณนำโปรแกรมเขาไปหาผลประโยชน์ 

เรามาเริ่มที่ตัวเราสร้างสังคมให้เป็นสังคมแห่งการแบ่งปันที่อยู่บนฐานของการไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ (และสิทธิ) ของคนอื่นกันเถอะครับ... 

วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2556

วันเสาร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2556

วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2556

การเขียนบทสรุปและข้อเสนอแนะในตัวเล่มงานวิจัย

การเขียนบทสุดท้ายในงานวิจัยซึ่งก็คือบทสรุปและข้อเสนอแนะดูเหมือนจะเป็นอีกบทหนึ่งที่ยากสำหรับนักวิจัยหลาย ๆ คน เพราะไม่รู้ว่าควรจะต้องเขียนอะไรบ้าง บางคนเขียนไปเขียนมาก็กลายเป็นเหมือนกับบทคัดย่อ หรือบางคนก็เขียนไปเขียนมากลายเป็นบทนำไปเลย ดังนั้นวันนี้เราจะมาดูกันว่าในบทนี้จุดประสงค์ของมันคืออะไรและควรจะมีอะไรอยู่ในบทนี้บ้าง ตอนแรกผมก็ว่าจะเขียนสรุปขึ้นมาเอง แต่ก็รู้สึกอยากหาทางลัดบ้างก็เลยลองค้นจาก Google ดูว่ามีใครที่เขียนสรุปเรื่องนี้ไว้ดี ๆ บ้างก็ได้เจอสไลด์สรุปของ คุณ Louise Edwards ซึ่งเขียนไว้ที่ Acedimia.edu ซึ่งผมเห็นว่ามันค่อนข้างตรงกับสิ่งที่ผมจะอยากจะเขียนครับก็เลยเอามาสรุปให้ฟังกัน

แต่ก่อนจะมาดูว่ามีอะไรอยู่บ้างเรามาดูประโยชน์ของการเขียนบทนี้กันก่อนดีกว่าครับ คุณ Louise Edwards ได้เขียนสรุปไว้ได้ค่อนข้างตรงประเด็นทีเดียวครับกล่าวคือประโยชน์แรกก็คือเมื่อคุณต้องนำเสนองานวิจัยของคุณต่อคณะกรรมการสอบ ซึ่งบทนี้มักจะเป็นบทที่กรรมการสอบมักจะอ่านเพื่อที่จะเข้าใจแนวคิดโดยรวมและผลลัพธ์ของงานวิจัย ประเด็นคือคณะกรรมการสอบอาจจะไม่ได้อ่านงานวิจัยของคุณต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนจบ แต่อาจจะอ่าน ๆ หยุด ๆ เป็นช่วง ๆ ดังนั้นบทนี้และบทนำจะช่วยให้กรรมการสามารถเข้าใจงานคุณได้เร็วขึ้น ประโยชน์ประการที่สองคือประโยชน์ต่อตัวคุณเองถ้าคุณมีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย และต่อมาคุณต้องการเขียนบทความวิชาการเกี่ยวกับงานของคุณ บทนี้จะเป็นบทที่ทำให้คุณปะติดปะต่องานที่คุณทำได้เร็วขึ้น

เอาล่ะครับหลังจากเห็นประโยชน์บางประการของบทนี้กันไปแล้ว เรามาดูว่าบทนี้ควรมีอะไรอยู่บ้าง อันแรกก็คือส่วนสรุป และอีกส่วนหนึ่งก็คือข้อเสนอแนะ แต่ไม่ได้หมายความว่าบทนี้ของเราจะต้องแบ่งออกเป็นแค่สองส่วนนะครับ เช่นในส่วนสรุปอาจแบ่งเป็นส่วนย่อย ๆ อีกก็ได้ ส่วนสรุปก็คือการนำทุกส่วนในรูปเล่มของเรานำมาร้อยเรียงเชื่อมกันเพื่อให้ผู้อ่านได้มองเห็นภาพรวมของงานวิจัยของเราอีกครั้ง ในส่วนนี้ก็มักจะประกอบด้วยเราทำวิจัยเกี่ยวกับอะไร ประเด็นหลักของงานคืออะไร เราทำวิจัยอย่างไร เราค้นพบอะไรจากงานวิจัยนี้ งานวิจัยนี้มีข้อดีเมื่อเทียบกับงานวิจัยก่อนหน้าอย่างไร แต่การสรุปแบบนี้อย่างเดียวยังไม่พอครับในส่วนนี้เราจะต้องเน้นให้เห็นประโยชน์ ความสำคัญ ความรู้ใหม่ที่ได้จากการวิจัยนี้ และข้อจำกัดของงานวิจัยนี้ ข้อจำกัดก็คือส่วนที่จะแสดงให้เห็นถึงว่าเราทำงานวิจัยนี้ภายใต้ขอบเขตหรือสภาพแวดล้อมแบบใด มีปัญหาอะไรที่เรายังไม่ได้แก้หรือยังไม่ได้ทดสอบ เช่นบอกว่าโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นนี้ได้ทดสอบและทำงานบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เวอร์ชัน 4.1.2  หรือเราได้ทดลองระบบของเราโดยใช้ข้อมูลจากคณะวิทยาศาสตร์ สถาบัน... เป็นกรณีศึกษา ซึ่งถ้านำไปใช้กับข้อมูลของสถาบันอื่นอาจจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขบางส่วนเป็นต้น ในส่วนของข้อเสนอแนะจะเป็นส่วนที่แนะนำการทำวิจัยต่อไป เช่นการนำเสนอให้ทดลองโดยใช้ชุดข้อมูลใหม่ หรือทดลองกับข้อมูลชุดเดิมโดยใช้ขั้นตอนวิธีใหม่ หรือทดลองและปรับปรุงโปรแกรมให้ทำงานได้ภายใต้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เวอร์ชันอื่น หรืออุปกรณ์ที่มีขนาดหน้้าจอที่หลากหลายเป็นต้น

คุณ Louise Edwards ได้สรุปไว้ว่าซึ่งที่จะต้องมีในบทนี้ก็คือการเขียนที่ชัดเจนและเน้นให้เห็นประโยชน์และความรู้ใหม่ที่ได้จากงานวิจัย ในบทนี้จะต้องแสดงถึงความเชื่อมโยงของแนวคิดหลักที่กระจัดกระจายอยู่ในบทต่าง ๆ ของตัวเล่มของเรา ควรจะแสดงถึงความมุ่งมั่นและความกระตือรือร้นของเราในด้านงานวิชาการ และต้องให้ผู้ที่อ่านงานวิจัยของเรามีความคิดเชิงบวกเกี่ยวกับตัวเราครับ คือเขาอ่านจบแล้วเขาควรจะต้องเข้าใจงานของเราและเชื่อถือหรือยอมรับในสิ่งที่เราทำ ไม่ใช่พออ่านเสร็จก็มีคำถามเต็มไปหมดว่าไอ้คนนี้มันทำอะไร มันทดลองอะไร ทำไมมันทำแบบนี้ แล้วผลการทดลองมันน่าเชื่อถือได้หรืออะไรประมาณนี้

นอกจากสิ่งที่ควรต้องทำหรือต้องเขียนแล้ว คุณ Louise Edwards ก็แนะนำถึงสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงด้วย ซึ่งผมก็ว่าสำคัญนะครับ เพราะหลายคนยังเข้าใจผิดอยู่ในหลาย ๆ เรื่อง ส่วนแรกที่ไม่ควรจะอยู่ในบทนี้ก็คือการอ้างหรือนำสิ่งที่เรายังไม่ได้ทดสอบมาใช้ เช่นบอกว่าโปรแกรมนี้น่าจะทำงานได้ภายใต้ระบบปฏิบัติการ Black Berry  ด้วยโดยผ่านทางระบบอีมูเลเตอร์ทั้งที่เราก็ไม่เคยได้ทดสอบ อีกส่วนหนึ่ง (ซึ่งส่วนนี้ผมมักจะพบบ่อย ๆ) ก็คือการนำเสนอแนวคิดใหม่หรือหัวข้อใหม่ซึ่งไม่เคยพูดถึงมาก่อนในบทใด ๆ ในตัวเล่มงานวิจัย อีกจุดที่ควรหลีกเลี่ยงก็คือการหลีกเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงข้อจำกัดของงานวิจัยเราครับ เพราะมันจะทำให้ผู้อ่านมองว่างานวิจัยของเราไม่น่าเชือถือ นอกจากนี้เราควรจะหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงข้อเสนอแนะที่เป็นไปในทางปฏิบัติมาก ๆ เช่นพูดถึงวิธีการปรับแต่งเซิร์ฟเวอร์โปรแกรมหรือการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบจัดการฐานข้อมูล ซึ่งถ้าจำเป็นจริง ๆ ให้เขียนไว้ที่ภาคผนวกครับ และสุดท้ายก็คืออย่าให้บทนี้ยาวเกินไปหรือสั้นเกินไป ถ้าบทนี้จะยาวเกินไปส่วนใหญ่จะเกิดจากการที่เราเขียนซ้ำไปซ้ำมาครับ สิ่งที่ผมมักจะเจอก็คือบางทีไปเอาผลการทดลองซึ่งอยู่ในบทก่อนหน้าเอามาใส่ซ้ำในบทสรุปอีกทีหนึ่ง หรือไปคัดลอกเอาส่วนของบทนำมาใส่เป็นต้น แต่ถ้าเขียนสั้นเกินไปผลก็คือเราอาจจะไม่ได้พูดถึงสิ่งสำคัญที่งานวิจัยของเราได้นำเสนอ

ก็หวังว่าคงพอจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ สุดท้ายนี้ก็ขอรวบรวมบล็อกที่เกี่ยวกับการเขียนงานวิจัยของผมมาไว้ที่นี่นะครับเพื่อความสะดวกในการอ้างถึง

การเขียนบทคัดย่อ
การเขียนบททฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (เน้นที่ปริญญานิพนธ์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์)
การเขียนคำภาษาต่างประเทศในบทความวิชาการ
Use Case Diagram ไม่ใช่ Flowchart นะจะบอกให้ (อันนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับบทที่สามสำหรับด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์)

อ้างอิง: Writing the Conclusion Chapter for your Thesis

วันเสาร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ตำแหน่งงานด้านคอมพิวเตอร์ของอเมริกาในอีก 7 ปีข้างหน้า

สวัสดีครับ สัปดาห์นี้ได้อ่านข่าวจาก InfoWorld เรื่องเกี่ยวกับความต้องการตำแหน่งงานด้านคอมพิวเตอร์ในอเมริกา ซึ่งเขาบอกว่าอัตรางานด้านนี้จะเพิ่มขึ้นจากปีนี้  โดยเฉลี่ย 22 % ในปี ค.ศ. 2020 โดยตำแหน่งงานที่จะเพิ่มมากสุดห้าอันดับแรกคือ

  1. นักพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบ จะมีความต้องการเพิ่มขึ้น 32%
  2. ผู้ดูแลระบบฐานข้อมูล จะมีความต้องการเพิ่มขึ้น 31%
  3. นักพัฒนาแอพพลิเคชัน เพิ่มขึ้น 28%   
  4. ผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่าย เพิ่มขึ้น 28% 
  5. นักวิเคราะห์ระบบ เพิ่มขึ้น 22%
ส่วนอันดับอื่น ๆ ก็ติดตามจากข่าวนะครับ แต่ที่น่าสนใจอีกอันหนึ่งจากข่าวก็คือเงินเดือนในปัจจุบันของงานด้านต่าง ๆ ครับ ในห้าอันดับนี้ที่สูงสุดคือ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบ 100,420 เหรียญสหรัฐต่อปี รองลงมาคือ นักพัฒนาแอพพลิเคชันครับอยู่ที่ 92,080 เหรียญสหรัฐต่อปีครับ อันดับถัดมาก็คือนักวิเคราห์ระบบ ผู้ดูแลระบบฐานข้อมูล  และผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่าย โดยจะมีเงินเดือน 82,320 77,350 และ 74,720 เหรียญสหรัฐต่อปีตามลำดับ แต่อัตราเงินเดือนสูงสุดไม่ได้อยู่ในห้าอันดับนี้นะครับ อัตราเงินเดือนสูงสุดคือตำแหน่งผู้จัดการด้านคอมพิวเตอร์และสารสนเทศครับอยู่ที่ 125,660 เหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งตำแหน่งนี้จะมีความต้องการเพิ่มขึ้น 18 % ในปี 2020 และผมก็เลยถือโอกาสแอบดูตำแหน่งานด้านวิจัยด้วย ซึ่่งได้รายได้ไม่เลวนะครับ 103,160  เหรียญสหรัฐต่อปี และจะมีความต้องการเพิ่มขึ้น 19% ครับ 

ถึงตรงนี้อาจมีคำถามว่าผมเอามาเล่าให้ฟังทำไม นี่มันเป็นตำแหน่งงานในอเมริกาของเราอาจไม่เป็นอย่างนี้ก็ได้ ก็จริงครับประเทศเราอาจไม่เป็นไปตามนี้ แต่จากที่ผมได้ติดตามข่าวมาประเทศอเมริกาและประเทศในยุโรปเขาขาดแรงงานด้านนี้นะครับ เนื่องจากมีคนเรียนด้านนี้น้อยกว่าความต้องการของตลาด ดังนั้นเขาจึงมีความพยายามที่จะปรับหลักสูตรให้มีการเรียนด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ในระดัยมัธยมกันเลยทีเดียวเพื่อหวังว่าจะสร้างบุคลากรด้านนี้เพิ่มขึ้น ในปัจจุบันนี้ประเทศอย่างอเมริกายังต้องใช้การจ้างแรงงานการเขียนโปรแกรมจากต่างประเทศ และยังมีความต้องการจากบริษัทคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ ที่ต้องการให้ออกวีซ่าให้คนต่างชาติเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมด้านคอมพิวเตอร์เพิ่มมากขึ้น 

ในส่วนตัวผมคิดว่าเขาน่าจะสร้างบุคลากรเพื่อรองรับความต้องการในปี 2020 ไม่ทันครับ เพราะตอนนี้ก็ยังมีคนทำงานไม่พอเลย ดังนั้นนี่อาจเป็นโอกาสของพวกเรา ผมคิดว่าบุคลากรที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยระดับมาตรฐานของไทยมีความสามารถไม่เป็นรองใคร ปัญหาหลักที่เรามีก็คือเรื่องภาษาอังกฤษ ซึ่งถ้าแก้ตรงนี้ได้ และมีการปรับหลักสูตรในระดับมัธยมของเราให้มีการเรียนด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์เข้าไปด้วย เราน่าจะมีบุคลากรด้านนี้เป็นสินค้าส่งออกเข้าไปทำงานในตำแหน่งดังกล่าว หรืออย่างน้อยเราก็น่าจะเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้รับจ้างงานพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย 

ดังนั้นคนที่ทำงานอยู่ในสาขานี้ หรือกำลังเริ่มต้นเข้ามาสู่สาขาอาชีพนี้ มาพัฒนาตัวเองให้พร้อมสำหรับโอกาสที่กำลังจะเข้ามากันเถอะครับ อย่าปล่อยให้งานนี้ตกไปเป็นของสิงคโปร์ มาเลเซีย หรือแม้กระทั่งเวียดนาม โดยเราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ เลยครับ...

สรุปข่าวงานวิจัยด้านไอที 11-15 ก.พ.56

วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

Nothing but trouble

สวัสดีครับ เวลาผ่านไปไวมากตอนนี้ปีใหม่ก็ผ่านมาแล้วหนึ่งเดือน ผมยังแทบไม่ได้ทำอะไรที่วางแผนไว้เลยรวมถึงเรื่องที่ว่าจะอัพบล็อกนี้ให้ได้สักอาทิตย์ละเรื่อง จริง ๆ ในเดือนแรกของปีก็มีอะไรที่อยากจะเขียนถึงอยู่นะครับ แต่พอไม่มีเวลาเข้าเรื่องมันก็ผ่านไปจนหมดความน่าสนใจไปแล้ว และบางครั้งก็ลืมไปด้วยว่าตั้งใจจะเขียนเรื่องอะไร เฮ้อผมถ้าจะแก่แล้วจริง ๆ เอ้ากลับมาที่เรื่องที่จะเขียนวันนี้ดีกว่า บอกตามตรงว่าคิดหัวข้อภาษาไทยไม่ออก แต่พอดีคิดถึงหนังฝรั่งเรื่องหนึ่งที่เคยดูสมัยยังเป็นหนุ่ม (มากกว่าตอนนี้) ได้ ก็คือเรื่อง Nothing but trouble และคิดว่ามันน่าจะเกี่ยวกับเรื่องที่จะมาเล่าให้ฟังวันนี้ครับ สำหรับเรื่อง Nothing but trouble นี่มีดาราดังอย่าง Demi Moore เล่นด้วยนะครับ แต่เป็นหนังที่ผมคิดว่าไม่ค่อยได้เรื่องได้ราวเท่าไร เท่าที่จำได้คร่าว ๆ ก็คือเรือง ๆ ของเรื่องมันเริ่มจากเรื่องที่ไม่น่าจะมีอะไร จากการทำผิดกฏจราจรในเรื่องที่น่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยอย่างไม่ได้หยุดรถที่ป้ายหยุดในเมืองเล็ก ๆ ที่แทบไม่มีรถวิ่ง แล้วก็นำไปสู่เรื่องไร้สาระมากมาย ผมลองไปค้นดูพบว่า Wikipedia เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ด้วยนะครับ ถ้าใครสนใจก็ลองเข้าไปอ่านดูได้ตามลิงก์นี้ครับ Nothing but trouble (1991 film)

แต่สำหรับเรื่องนี้เป็นเรื่องของพนักงานในร้าน Applebee ซึ่งเป็นแฟรนไชส์ร้านอาหารในอเมริกาถูกไล่ออกด้วยสาเหตุมาจากการที่ไปโพสต์รูปใบเสร็จที่มีลายเซ็นและข้อความของลูกค้าที่แสดงความไม่พอใจที่มีการคิดค่าทิปอัตโนมัติ โดยลูกค้าคนดังกล่าวรู้สึกว่าจะเป็นบาทหลวงเสียด้วยครับ นี่คือรูปเจ้าปัญหาที่ถูกโพสต์ขึ้นไปครับ
ภาพจาก http://news.yahoo.com/blogs/sideshow/applebees-waitress-fired-pastor-receipt-193820748.html
จากรูปจะเห็นว่าลูกค้าไม่พอใจและขีดฆ่าค่าทิปออก และยังเขียนข้อความเชิงประชดประชันว่าฉันให้พระเจ้าแค่ 10% ทำไมเธอถึงจะได้ 18% ล่ะ นอกจากนี้ยังเขียนคำว่า Pastor ซึ่งถ้าแปลเป็นไทยก็น่าจะหมายถึงบาทหลวงอยู่เหนือลายเซ็นด้วย

ซึ่งพนักงานคนหนึ่งได้โพสต์รูปนี้ขึ้นไปที่ reddit โดยเธอบอกว่าเธอไม่มีความตั้งใจจะโพสต์เพื่อต่อว่าลูกค้าหรือประจานอะไร แต่เธอคิดว่ามันเป็นเรื่องที่น่าสนใจดีและอยากจะแบ่งปันไปทั่ว ๆ โดยเธอได้ชี้แจงว่าการที่ค่าทิปถูกคิดอัตโนมัติ เพราะถ้าลูกค้ามาเป็นกลุ่มเกินแปดคนระบบจะคิดค่าทิปอัตโนมัติเธอไม่ได้เป็นคนคิด และลูกค้าก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับเธอยังชมว่าเธอทำงานดีด้วยซ้ำ ปัญหาก็มีเพียงแต่ว่าเขาไม่อยากจ่ายทิปก็แค่นั้น  

แต่เรื่องราวกลับมาเป็นเรื่องใหญ่โตเพราะว่าหลังจากรูปนี้ถูกเผยแพร่ออกไป ลูกค้าคนดังกล่าวก็ได้มาร้องเรียนกับผู้จัดการร้านว่ารูปดังกล่าวทำให้เขาได้รับความอับอาย เพราะลายเซ็นของเขาบนใบเสร็จใบนั้นมีคนหลายคนที่จำได้ เป็นการทำลายชื่อเสียงของเขาต่อชุมชน ซึ่ง Applebee ได้ตอบสนองต่อคำร้องเรียนนี้ด้วยการไล่พนักงานคนดังกล่าวออกครับ ย้ำอีกทีครับว่าไล่ออก ด้วยเหตุผลละเมิดความเป็นส่วนตัว 

อ่านเรื่องนี้แล้วรู้สึกกันอย่างไรบ้างครับ เรื่องทีเกิดขึ้นมันเริ่มจากเรื่องที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรนะครับ ในยุคนี้ดูเหมือนมันจะเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันของเราที่จะแชร์โน่นแชร์นี่ขึ้นอินเทอร์เน็ต แต่จากตัวอย่างนี้เราก็คงต้องระมัดระวังกันให้มากขึ้นแล้วล่ะครับ และผมก็เห็นว่าตอนนี้คนไทยก็เริ่มระวังกันมากขึ้นนะครับ อย่างที่เห็นล่าสุดก็คือมีการถ่ายรูปรถที่เป็นพวกจอมปาด (ไม่ใช่ปราชญ์) ชอบมาแซงคิวเขาขึ้นสะพานในขณะที่คนอื่นเขาต่อคิวกันอยู่ ก็มีการเบลอป้ายทะเบียนไว้

สุดท้ายก็คงสรุปว่าในต่างประเทศเขาให้ความเคารพสิทธิของลูกค้าและความเป็นส่วนตัวกันค่อนข้างมากนะครับ ถ้าเทียบกับประเทศเราแล้วก็คนละเรื่องกันเลย แต่กรณีนี้ถึงกับไล่ออกเลยผมว่ามันก็อาจจะมากไปหน่อยหรือเปล่า เพราะถ้าดูแล้วพนักงานก็ไม่ได้ตั้งใจจะทำอะไรให้เสียหาย และข้อความที่อยู่ในใบเสร็จในสายตาผมก็ไม่ใช่ข้อความที่จะทำให้ชื่อเสียงของคนเขียนเสียหายอะไร หรือจะเป็นเพราะคนเขียนเป็นบาทหลวงแต่มาสารภาพว่าให้พระเจ้าแค่ 10% เดี๋ยวชาวบ้านจะไม่นับถือ...      

ที่มา Yahoo News!

วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2556

ช่องสามช่วยตอบทีว่าอะไรอยู่เหนือเมฆ

สวัสดีปีใหม่อีกครั้งครับ สำหรับบล็อกนี้ก็เป็นบล็อกแรกในปีนี้นะครับ จริง ๆ ตั้งใจจะเขียนอีกเรื่องหนึ่ง แต่บังเอิญตอนที่กำลังจะเขียนก็มีกระแสเรื่องละครเหนือเมฆ 2 ถูกถอดออกจากช่องสามทั้งที่ยังฉายไม่จบ ก็เลยเปลี่ยนใจเขียนถึงเสียหน่อย บอกตามตรงว่าผมไม่ค่อยได้ตามดูละครเรื่องนี้นะครับ ดังนั้นผมก็ไม่รู้ว่ามันเป็นเพราะอะไร เท่าที่ดูผ่าน ๆ ก็เห็นมีเนื้อหาเกี่ยวกับนักการเมือง เวทย์มนตร์ ฉากบู๊ล้างผลาญ ยิงกัน ปล่อยพลังเหมือนหนังกำลังภายในอะไรประมาณนี้

ช่องสามก็ออกมาชี้แจงว่าที่ต้องแบนเพราะมีเนื้อหาไม่เหมาะสม แต่ก็ไม่บอกว่าไม่เหมาะสมตรงไหน และก่อนที่จะเอาละครมาฉายนี่ไม่ได้ดูเนื้อหาก่อนหรือ ทำไมตอนที่อนุญาตให้ฉายถึงไม่คิดว่ามันไม่เหมาะสม แล้วทำไมตอนนี้มันถึงเกิดไม่เหมาะสมขึ้นมา หรือมันไปโดนต่อมดัดจริตของใครเข้า ละครตบตีกันแย่งผู้ชาย โวยวายโหวกเหวก กรี๊ดกร๊าด เลิฟซีนชัดเจน พวกนี้เป็นละครที่มีเนื้อหาเหมาะสม? แล้วตกลงใครควรเป็นคนคิดว่าอะไรเหมาะสม หรืออะไรไม่เหมาะสม คนไทยคิดเองไม่เป็นหรืออย่างไร

ละครก็คือละครจุดประสงค์หลักก็คือความบันเทิง ผมว่าคนส่วนใหญ่ก็คงไม่ได้จริงจังอะไรกับละคร เรื่องไหนชอบก็ดู เรื่องไหนไม่ชอบก็ไม่ดู จบเรื่องนี้ก็ดูเรื่องใหม่ บางเรื่องอาจมีข้อคิดบ้าง แต่ก็คงไม่มีใครที่ใช้ละครเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ดังนั้นผมว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราก็อย่าไปยุ่งวุ่นวายกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้เลยครับ ที่พูดมานี่ไม่ใช่ว่าไม่ต้องควบคุมดูแลกันเลย ไอ้ประเภทโป๊เปลือยเรทอาร์เรทเอ๊กซ์อะไรแบบนี้ก็คงปล่อยให้ออกมาในละครไม่ได้ และจริง ๆ เราก็มีการจัดเรทละครกันอยู่แล้ว ก็ทำให้มันชัดเจนเป็นจริงเป็นจัง ละครที่มีเนื้อหารุนแรงมีฉากที่คิดว่าไม่เหมาะสมกับเยาวชน เช่นสูบบุหรี่กินเหล้า เลิฟซีนชัดเจน นางเอกนางร้ายแต่งตัวโชว์ร่องอก ก็จัดเป็นเรท ฉ. ให้ฉายตอนดึกไปเลย จะได้ไม่ต้องไปทำเบลออะไรให้รำคาญ  ผมจะได้ดูได้ชัด ๆ ด้วย เอ๊ย ไม่ใช่ยังงั้น พ่อแม่ผู้ปกครองก็ควรจะดูแลให้ลูกหลานไม่ดูละครที่ไม่เหมาะกับวัยของตนด้วย อันนี้น่าจะรวมถึงหนังโรงด้วยนะครับ ผู้เกี่ยวข้องน่าจะเข้มงวดกันหน่อย

จริง ๆ ผมว่าไอ้ฉากกินเหล้าสูบบุหรี่นี่มันก็ไม่น่าจะต้องเซ็นเซอร์นะ เด็กก็ดูได้ ผมไม่คิดว่าเด็กจะกินเหล้าหรือสูบบุหรี่เพราะดูละครหรอก แล้วไปเบลอคิดว่าเด็กไม่รู้หรือว่าเขาทำอะไร ไปเบลอขวดเหล้าเสร็จแล้วตัวละครกินเสร็จก็เมา เด็กไม่ได้โง่นะครับจะได้เข้าใจว่าไอ้ที่เมาน่ะเมาโค้ก หรือไอ้ฉากเอาปืนขึ้นมาจ่อกันก็ดันเบลอปืนอีก ผมโตมาในยุคที่ไม่ได้เบลอพวกนี้นะครับ ผมไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ และก็ไม่เคยเอาปืนไปจ่อหัวใคร อีกอย่างไอ้เบลอป้ายโฆษณาเหล้าตอนข่าวกีฬาจนดูไม่รู้เรื่องนี่ก็น่าจะเลิกด้วย

ชักออกนอกเรื่องแฮะ กลับมาเข้าเรื่องหน่อย ถ้าการแบนละครเหนือเมฆนี้มีสาเหตุมาจากเรื่องการเมืองจริง ๆ อย่างที่ว่ากัน ต่อไปเราก็คงได้ดูแต่ละครประเภทนางเอกปลอมตัวเป็นผู้ชายแล้วพระเอกไม่รู้ นางเอกหรือพระเอกปลอมตัวเป็นคนใช้ทั้งที่เป็นทายาทมหาเศรษฐี พระเอกเป็นเจ้าชายประเทศสมมติอะไรสักแห่ง บ้านทรายทอง 2013 ดอกส้มสีทอง 2014 แรงเงา 2015 หรือละครประเภทโลกสวยขณะที่ประเทศเราถูกจัดอยู่ในอันดับต้น ๆ เรื่องคอรัปชัน แต่ละครต้องสร้างออกมาว่าเรามีรัฐบาล ข้าราชการที่โปร่งใสซื่อสัตย์อะไรประมาณนี้ แต่คิดอีกทีละครเรื่องหงส์สะบัดลายของช่องสามก็มีเรื่องนักการเมืองโกงนะ ทำไมไม่โดนแบน หรือมันไม่โดนต่อมดัดจริต

สรุปสุดท้ายอยากฝากช่องสามให้มีความชัดเจนครับ ชี้แจงไปเลยว่าแบนเพราะอะไร ถ้ามีใครสั่งก็ต้องกล้าเปิดเผย ตัวเองเป็นสื่อถ้าไม่กล้าเปิดเผยความจริง แล้วจะเป็นสื่อไปทำไม...