แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ Social Network แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ Social Network แสดงบทความทั้งหมด

วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เครื่องมือที่ช่วยป้องกันไม่ให้ข่าวสารผิดกระจายในอินเทอร์เน็ต

ในยุคที่เราใช้เครือข่ายสังคมในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ปัญหาประการหนึ่งก็คือข้อมูลบางอย่างบางครั้งก็ผิดพลาด ไม่ว่าจะผิดพลาดโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ และข้อมูลเหล่านี้ก็มักจะถูกส่งกันต่อ ๆ ไปในเครือข่ายสังคมซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือความสับสน ดังนั้นนักวิจัยจาก Masdar Institute of Technology และ Qatar Computing Research Institute จึงได้ร่วมมือกันเพื่อที่จะเปิดบริการเพื่อให้ผู้คนในเครือข่ายสังคมได้ช่วยกันตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร ซึ่งบริการดังกล่าวคือ verily ซึ่งจะเปิดให้บริการในเร็ว ๆ นี้ครับ แรงจูงใจที่จะให้ผู้คนเข้ามาช่วยกันตรวจสอบข่าวสารก็คือ คนที่เข้ามาร่วมตรวจสอบจะได้แต้มครับ ใครได้แต้มมากก็มีชื่อเสียงมาก

ก็หวังว่าบริการนี้จะเปิดให้ใช้กันโดยเร็วนะครับ แต่ผมว่าพวกเราไม่ต้องรอก็ได้ครับ แค่คิดเสียหน่อยเมื่อได้รับข่าวอะไรมาว่ามันควรจะเป็นเรื่องจริงไหม หรือเช็คจากแหล่งข่าวหลาย ๆ แหล่ง อย่าใช้ความเชื่อหรืออคติในการส่งต่อข่าวสารแค่นี้ก็จะช่วยลดการแพร่กระจายของข่าวผิด ๆ หรือข่าวลือทั้งหลายได้ครับ

 ที่มา: MIT Technology Review


วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2556

โปรแกรมที่ใช้เครือข่าย LinkedIn ในการแนะนำอาชีพ

LinkedIn เป็นเครือข่ายสังคมที่เน้นไปในเรื่องของการหางาน โดยคนที่ใช้เครือข่ายนี้ก็จะโพสต์คุณสมบัติของตัวเองไว้ในเครือข่ายนี้ ซึ่งบริษัทที่ต้องการคนไปทำงานด้วยก็มักจะมาหาข้อมูลจากเครือข่ายนี้ นอกจากประโยชน์จากการหางานแล้ว LinkedIn ยังเปิดโอกาสให้เราได้สร้างเครือข่ายสังคมของคนที่อยู่ในวงการอาชีพเดียวกันได้ด้วย นักวิจัยจาก University of California, Santa Barbara มองเห็นประโยชน์ของการนำข้อมูลจากเครือข่ายนี้ไปใช้ครับ โดยเขาได้พัฒนาโปรแกรมชื่อ LinkedVis ซึ่งจะช่วยแนะนำเส้นทางอาชีพให้กับเรา โปรแกรมนี้ทำงานโดยวิเคราะห์เส้นทางอาชีพของคนที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับเรา จากนั้นจึงนำผลจากการวิเคราะห์ดังกล่าวมาแนะนำเราครับ ยิ่งไปกว่านั้นโปรแกรมนี้ยังมีความสามารถตอบคำถามประเภทถ้า.... ได้อีกด้วยครับ ตามข่าวยกตัวอย่างว่าโปรแกรมสามารถตอบคำถามเช่น ถ้าฉันกลับไปเรียนต่อป.เอก จะมีโอกาสที่ดีขึ้นไหม?  น่าสนใจใช่ไหมล่ะครับ แต่ถ้าอยากใช้โปรแกรมนี้คงต้องรอหน่อยครับ เพราะผู้วิจัยกำลังคุยกับทาง LinkedIn อยู่ แต่ตามข่าวบอกว่าทาง LinkedIn สนใจโปรแกรมนี้มากครับ

ที่มา: New Scientist

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

หุ่นยนต์ที่จะส่งกลิ่นทุกครั้งที่มีคนพูดถึงเรา

ปกติเรามักจะใช้เสียงเพื่อเตือนเวลาใครพูดถึงเราในเครือข่ายสังคมใช่ไหมครับ แต่คุณ Benjamin Redford เขาใช้กลิ่นในการเตือนครับ โดยเขาได้สร้างหุ่นยนต์ที่เรียกว่า Olly ซึ่งเจ้า Olly นี้จะส่งกลิ่นออกมาทุกครั้งที่มีการอ้างถึงเราทางเครือข่ายสังคมซึ่งเราสามารถตั้งค่าได้ด้วยนะครับว่าเราจะให้ Olly ติดตามเครือข่ายอะไรบ้าง เหตุผลที่เขาสร้างเจ้า Olly ขึ้นมาก็คือเขามองว่าเราใช้สายตาเพื่อดูจอภาพมามากพอแล้ว เราน่าจะใช้ประสาทสัมผัสส่วนอื่นในการติดตามข่าวสารข้อมูลบ้าง  ตัวอย่างของผู้ใช้งานเจ้า Olly เช่นพ่อครัวคนหนึ่งในสหรัฐอเมริกาให้เจ้า Olly ส่งกลิ่น tortilla ซึ่งเป็นอาหารเม็กซิโกประเภทหนึ่งเวลามีคนพูดถึงร้านของเขา และยังมีบริษัทแห่งหนึ่งวางแผนที่จะใช้ Olly ในแผนรณรงค์การตลาดในปีนี้

ถึงตอนนี้หลายคนอาจอยากได้เจ้า Olly มาใช้สักตัวหนึ่งใช่ไหมครับ บางคนอาจถามว่าจะซื้อได้ที่ไหน แต่เท่าที่ผมค้นมาไม่มีขายนะครับ เห็นแต่เว็บที่ให้เราแจ้งอีเมลแสดงความจำนงค์เอาไว้ http://ollyfactory.com/get แต่ถ้าอยากได้ตอนนี้เราต้องสร้างมันขึ้นมาเอง ซึ่งทางคุณ Benjamin เขาได้ทำเว็บไซต์สอนวิธีสร้าง Olly เอาไว้ครับ ถ้าใครสนใจเชิญเข้าไปดูได้ตามลิงก์นี้ครับ http://ollyfactory.com/instructions ถ้าใครสร้างแล้วประสบความสำเร็จจะสร้างเผื่อผมสักตัวก็ยินดีครับ...

ที่มา: ฺฺBBC News



วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เครื่องมือไม่ใช่ปัญหาคนต่างหากที่เป็นปัญหา

วันนี้พอดีได้อ่านข่าวจาก blognone เรื่องนี้ครับ นิวยอร์คซิตี้ออกกฎใหม่ห้ามอาจารย์-นักเรียนเป็นเพื่อนกันบนโซเชียลเน็ตเวิร์ค เหตุผลที่เขาออกกฎนี้ออกมาก็เพราะในปีที่แล้วมีกรณีไม่เหมาะสมระหว่างครูกับนักเรียนเกิดขึ้นผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์คหลายกรณีด้วยกัน พออ่านแล้วก็รู้สึกประหลาดใจมาก เพราะนึกไม่ถึงว่าประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีจะมีผู้คนที่ใช้วิธีการแก้ปัญหาที่ไม่ต่างจากประเทศสารขัณฑ์ที่นึกอะไรไม่ออกก็บล็อกเว็บไซต์ไว้ก่อนแบบนี้  ผมไม่คิดว่าการแก้ปัญหาแบบนี้มันจะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดนะครับ กรณีระหว่างครูกับนักเรียนนี่ถ้ามันจะมีไม่ต้องมีโซเชียลเน็ตเวิร์คมันก็มีได้ และจริง ๆ ไอ้เรื่องแบบนี้มันก็มีมาตั้งแต่สมัยก่อนที่จะมีโซเชียลเน็ตเวิร์คแล้ว

การที่นักเรียนกับอาจารย์เป็นเพื่อนกันบนโซเชียลเน็ตเวิร์คมันก็มีประโยชน์หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ การติดตามดูแลการโพสต์ของนักศึกษาไม่ให้เกินเลยไปรวมถึงการโพสต์ข้อความของตัวอาจารย์เองด้วย ยิ่งไปกว่านั้นการที่อาจารย์กับนักเรียนเป็นเพื่อนกันบนเฟซบุ๊คก็จะทำให้นักเรียนไม่รู้สึกกลัวเวลาที่จะต้องไปพบอาจารย์เพื่อปรึกษาเรื่องต่าง ๆ หรือถ้ายังกลัวอยู่ก็ยังสามารถขอคำปรึกษาผ่านเฟซบุ๊คได้ ซึ่งในยุคสมัยที่ผมยังเป็นนักเรียนอยู่นี่เวลาต้องเข้าไปปรึกษาอาจารย์ก็รู้สึกเกร็ง ๆ แทบทุกครั้ง ขนาดไม่ได้ทำความผิดอะไรนะครับ และไม่มีเฟซบุ๊คให้ไปโพสต์ถามด้วยต้องเข้าไปเผชิญหน้ากันอย่างเดียว เทียบกับลูกผมตอนนี้เป็นเพื่อนกับครูบนเฟซบุ๊คอยากถามอะไรก็ถามได้ง่าย หรือบางครั้งก็มีการคุยเล่นสนุก ๆ กับครูของเขาบ้าง  หรือแม้แต่ตัวผมเองต้องบอกว่าเพื่อนของผมกว่าครึ่งบนเฟซบุ๊คตอนนี้ก็คือลูกศิษย์ของผม และผมก็ถูกแซวบ้างเวลาที่ลิเวอร์พูลแพ้ (แต่ก็อย่าแซวมากนักนะ เดี๋ยวมีเคือง) ซึ่งผมว่าตรงนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนใกล้ชิดกันมากขึ้น

สรุปก็คือผมว่าทั้งหลายทั้งปวงมันขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของคนไม่ว่าจะมีอาชีพใดก็ตาม ถ้าคนคนนั้นไม่มีจิตสำนึกที่ดี ต่อให้ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมืออะไรคนคนนั้นก็ทำเรื่องไม่ดีได้ การแก้ปัญหาจึงไม่ใช่น่าจะใช่การไปควบคุมการใช้เครื่องมือที่คนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนดีใช้ประโยชน์อยู่ แต่ควรจะกลับมาเน้นเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมให้แก่เด็ก ๆ ซึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า และช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องผู้ใหญ่ไม่ดีในวันนี้ไม่ให้ทำเรื่องชั่วร้ายและควรจะลงโทษสถานหนักสำหรับคนที่ทำผิดมากกว่า 


วันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553

บล็อกส่งท้ายปีเสือดุ: พลังของ Social Network

ปีหนึ่ง ๆ ผ่านไปเร็วมากนะครับ มันเหมือนกับว่าเพิ่งจะผ่านปีใหม่ไปไม่นานนี้เอง ปีนี้จริง ๆ แล้วก็คงต้องบอกว่าเป็นปีเสือดุจริง ๆ นะครับ มีเหตุการณ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้นมากมายไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมทางการเมืองและมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากมาย มาจนถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ กรณีซากเด็กทารกที่เกิดจาการทำแท้ง กรณีโจ๊ก-จิ๊บไผ่เขียวและเหตุการณ์ล่าสุดที่กำลังเป็นเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ในตอนนี้ก็คือกรณีอุบัติเหตุรถซีวิคชนกับรถตู้โดยสารจนมีผู้เสียชีวิตหลายคน และเด็กสาวที่ขับรถซีวิคก็กลายเป็นจำเลยของสังคมถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมายอยู่ในตอนนี้ กรณีโจ๊ก-จิ๊บผมได้เขียนไปแล้วในเรื่องที่แล้ว วันนี้ผมก็ขอส่งท้ายด้วยมุมมองของผมเกี่ยวกับเหตุการณ์ซีวิคนี้ก็แล้วกันครับ โดยจะเน้นให้เห็นถึงพลังของ Social Network ซึ่งมีทั้งที่ดีและไม่ดี

ผมได้ติดตามเรื่องอุบัติเหตุครั้งนี้มาเรื่อย ๆ จากหลายสื่อด้วยกัน โดยสื่อแรกที่ผมได้ทราบเรื่องนี้ก็คือจาก twitter ซึ่งตอนแรกนั้นข่าวเป็นเหมือนว่ารถตู้ตกโทลเวย์ จนในที่สุดก็เป็นเรื่องอย่างที่เราทราบกันอยู่ก็คือรถซีวิคชนรถตู้จนผู้โดยสารกระเด็นจากรถออกมา และมีผู้โดยสารเสียชีวิตซึ่งในขณะที่เขียนอยู่นี้มีผู้เสียชีวิตแล้วเก้าคน ส่วนคนที่ชนนั้นเป็นเด็กสาวอายุ 16 ปี และมีนามสกุลใหญ่โต ผมก็ได้ติดตามข่าวนี้จากหลาย ๆ สื่อ รวมทั้งอ่าน Timeline ของผมใน Twitter ด้วย ซึ่งสิ่งที่ทำให้ผมไม่สบายใจมากก็คือกระแสจาก Social Network นี่แหละครับเพราะบอกตามตรงว่ามันรุนแรงมากถึงกับขั้นที่สร้างความเกลียดชังกับตัวเด็กคนนั้นกันทีเดียว และจากกระแสนี้มันทำให้ผมเข้าใจเลยว่าทำไมสังคมไทยมันถึงเกิดการแตกแยกกันขนาดนี้

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนนะครับว่าผมก็เสียใจไปกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตทุกคน และผมไม่ได้จะออกมาเข้าข้างคนขับรถซีวิค แต่ต้องออกตัวไว้ก่อนเพราะเข้าใจว่ามีคนที่มีความเห็นคล้าย ๆ ผมนี่โดนมาแล้ว นี่ก็คือปัญหาหนึงตอนนี้เหมือนกับว่าสังคมเรายอมรับความเห็นต่างไม่ได้แล้ว ถ้าใครเห็นต่างจากตัวเองก็กลายเป็นคนเลวหรือกลายเป็นอีกฝ่ายหนึ่งไป ทั้ง ๆ ที่การรับฟังความเห็นของคนอิ่นนั้นน่าจะมีประโยชน์ทำให้เรามีมุมมองที่กว้างขึ้นหรือมองปัญหาได้รอบด้านขึ้น

แน่นอนอยู่แล้วครับที่เด็กที่ขับซีวิคนั้นมีความผิดในส่วนของการขับรถทั้งที่ไม่มีสิทธิขับตามกฏหมาย และพ่อแม่ของเด็กคนนั้นก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบในฐานะที่เป็นคนอบรมเลี้ยงดูลูก และผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมจนป่านนี้พ่อแม่ของเด็กจึงยังไม่ออกมากล่าวขอโทษและแสดงความเสียใจในส่วนนี้ คือจากคำสัมภาษณ์เหมือนกับจะรอให้ชัดเจนก่อนว่าในเรื่องอุบัติเหตุใครถูกหรือผิด แต่ผมว่ามันไม่เกี่ยวกันในส่วนที่ตัวเองผิดนี่ก็ยอมรับไปก่อน ผมว่ามันจะช่วยลดกระแสสังคมลงได้ส่วนหนึ่ง ดีกว่าออกแถลงการมาเป็นสกุล มันยิ่งทำให้ดูเหมือนการแบ่งชนชั้นมากขึ้น

กลับมาถึงเรื่องที่ผมอยากให้เราตั้งสติกันครับ จากกระแสที่กำลังสร้างความเกลียดชังเด็กคนนี้อยู่ตอนนี้ ผมว่าสังคมไทยในยุคที่มี Social Network และการรับข่าวสารแบบทันทีทันใดนี้นี่น่ากลัวมากครับ ถ้าคนรับข่าวสารไม่ตั้งสติและใช้วิจารณญาณในการรับข่าวสารให้ดี วิพากษ์วิจารณ์ตามกระแส หรือเห็นคล้อยตามกับคนมีชื่อเสียงที่ใช้ Social Network และอาจจะมีทัศนคติที่ไม่ดีเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น และเราก็ตามกระแสไปจนผมขอใช้คำว่าถึงขั้นเลยเถิด  และถ้าเรายังปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปผมว่าสังคมไทยก็จะเกิดความขัดแย้งแบบนี้ไปอีกนาน

ดังนั้นผมอยากให้พวกเราตั้งสติและพิจารณาเหตุการณ์นี้ให้ดีครับลองมาพิจารณาเป็นข้อ ๆ นะครับ  ข้อแรกเหตุการณ์นี้เป็นอุบัติเหตุซึ่งไม่มีใครอยากให้เกิด เหตุการณ์แบบนี้สามารถเกิดได้กับทุกคนที่ขับรถ เด็กคนนั้นในแง่ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะผิดจริงหรือไม่ก็ต้องรอการพิสูจน์ เด็กคนนั้นผิดแน่ในแง่การขับรถโดยไม่มีใบขับขี่และขับรถเร็วเกินกฏหมายกำหนด แต่ส่วนอื่น ๆ ไม่ว่าจะผิดจริงหรือไม่สิ่งที่เราต้องตั้งสติและพิจารณาให้ดีก็คือ เด็กคนนั้ีนคงไม่ได้ตั้งใจทีจะขับรถพุ่งชนใส่รถตู้ ดังนั้นสมควรแล้วหรือที่เราจะต้องสร้างความเกลียดชังเด็กคนนี้ถึงขนาดนั้น จริง ๆ เราไม่เคยรู้จักเด็กคนนี้ด้วยซ้ำก่อนที่จะเกิดเรื่องนี้ขึ้น

ข้อสองหลายคนอาจบอกว่าที่ไม่พอใจก็เพราะเด็กคนนั้นหลังจากชนแล้วยังออกไปกดบีบีเล่นไม่สนใจคนเจ็บ คำถามก็คือเราทราบได้อย่างไรว่าเด็กคนนั้นทำอะไรอยู่ แค่ดูจากรูปที่มีคนถ่ายแล้วส่งมา ซึ่งดูจากรูปแล้วมันจะเป็นอะไรก็ได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ดูเหมือนจะสรุปได้ว่าเด็กคนนั้นกำลังโทรศัพท์ ซึ่งถ้าโทรศัพท์ก็คงเป็นเรื่องปกติที่พวกเราทุกคนคงต้องทำเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น หรือถ้ากดบีบีจริงผมว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องผิดถ้าเธอจะใช้เป็นช่องทางเพื่อติดต่อหรือแจ้งให้คนอื่น ๆ ทราบถึงเหตุการณ์ดังกล่าว

ข้อสามหลายคนอาจถามว่าทำไมไม่ไปดูแลคนเจ็บ ผมอยากให้ลองคิดอย่างนี้ครับว่าถ้าเราเป็นคนขับรถคันนั้น และเราเป็นคนชนเราจะเป็นยังไงครับ เราจะตกใจไหม รถที่ขับก็พังยับทั้งคัน เราถูกงัดอกมาจากรถ เราไม่เห็นรถคู่กรณี เราอาจจะนึกว่าเราแค่ขับชนท้ายรถก็เหมือนรถชนธรรมดา เราไม่รู้ว่ามีคนเจ็บคนตาย ประเด็นก็คือผมเองแม้จะอายุเยอะแล้วถ้าอยู่ในเหตุการณ์นั้นก็อาจทำอะไรไม่ถูกก็ได้ นับประสาอะไรกับเด็กอายุ 16

ข้อสี่คนมีนามสกุลใหญ่จะต้องได้รับอภิสิทธิ์ พวกคนตระกูลใหญ่จะต้องใช้เส้นสายเพื่อให้พวกตัวเองพ้นผิด เรื่องการปฏิบัติสองมาตรฐานหรือเอาใจคนใหญ่คนโตนี้ผมเห็นด้วยครับว่ามันมีอยู่ในสังคมเราจริง  ๆ  แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าคนใหญ่คนโตทุกคนจะต้องใช้เส้นสายหรือใช้สิทธินี้ และมันก็ไม่มีเหตุผลที่จะไปเกลียดหรือเข้าข้างใคร ๆ เพียงเพราะเขามีนามสกุลใหญ่โตและทำผิด เรื่องการแบ่งแยกนี้มันทำให้เกิดปัญหาระดับชาติมาแล้วนะครับ พวกชนชั้นกลางหลายคนก็ไปดูถูกคนต่างจังหวัดว่าโง่เลือกผู้แทนที่ไม่มีคุณภาพ คนต่างจังหวัดก็ถูกปลุกปั่นให้เห็นว่าคนชั้นกลางเอารัดเอาเปรียบ ดังนั้นผมอยากเสนอว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ให้เราพิจารณาที่คนคนนั้น เหตุการณ์นั้นโดยไม่เอาอคติในเรื่องชนชั้นมาเกี่ยวข้องด้วยก็น่าจะทำให้เรามองปัญหาด้วยใจที่เทียงธรรมมากขึ้นครับ

กรณีเรื่องการปฏิบัติสองมาตรฐานนี้ถ้าจะโทษผมอยากให้โทษที่เจ้าหน้าที่ของรัฐมากกว่า ลองถามตัวเองดูว่าปฏิบัติเหมือนกันไหมระหว่างคนธรรมดากับคนตระกูลใหญ่ ถ้าคนที่ขับรถชนเป็นคนนามสกุลธรรมดาตำรวจจะปล่อยตัวไปโดยไม่ควบคุมอะไรเลยแบบนี้ไหม แต่ถ้ามองในแง่ตำรวจผู้ปฏิบัติงานก็อาจน่าเห็นใจว่าเขาอาจถูกกดดันจากคนที่มีอำนาจเหนือกว่า ถ้าเขาทำตามหน้าที่ตรงไปตรงมาก็อาจมีปัญหาได้โดยไม่มีใครช่วยเขา ตรงนี้แหละครับที่ผมมองว่า Social Network อาจเข้ามาช่วยได้ คือถ้ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงตรงโดยไม่กลัวเกรงกับอิทธิพลใด ๆ ก็ให้เราใช้พลัง Social Network ช่วยเขาครับ ส่วนเรื่องการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันอะไรที่รัฐบาลเสนอเข้ามา ผมก็ภาวนาขอให้มันสำเร็จจริง ๆ ไม่ใช่แค่นโยบายหาเสียงไปวัน ๆ ก็แล้วกัน    

เขียนมาซะยืดยาวและเป็นเรื่องหนัก ๆ ทั้งนั้นในวันส่งท้ายปีแบบนี้จริง ๆ ไม่อยากเขียนเลย แต่ที่ต้องเขียนเขียนก็เพราะอยากเห็นคนไทยในยุค Social Network ตั้งสติและพิจารณาข่าวสารให้ดี ให้เราเข้าใจว่าข้อมูลที่เราได้รับจากสื่อต่าง ๆ มันอาจจะไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกต้องทั้งหมด ให้แยกแยะว่าอะไรคือข้อเท็จจริง อะไรคือข้อวิจารณ์ซึ่งบางทีอาจเกิดจากอารมณ์ก็ได้ 

สุดท้ายผมอยากให้เราใช้ Social Network ในทางสร้างสรรค์เช่นการรวมตัวกันช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมอย่างที่ผ่านมา หรือสนับสนุนคนดี ๆ มากกว่าที่จะมาใช้ Social Network เพื่อทำลายล้างกันหรือสร้างกระแสให้เกลียดชังกัน ซึ่งถ้าเราทำอย่างนี้ได้ผมว่าเราจะใช้ประโยชน์จาก Social Network ได้คุ้มค่า และประเทศของเราก็น่าจะเข้าสู่ปีใหม่ด้วยความสงบสุขเหมือนที่ผ่านมาได้ครับ สวัสดีปีใหม่ครับ ...

วันอังคารที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ใช้เครือข่ายสังคมเพื่อแก้ปัญหาโรคนอนไม่หลับ

นักวิจัยจาก Lincoln University กำลังทำวิจัยที่จะนำเครือข่ายสังคมยอดนิยมอย่าง Twitter และ Facebook มารักษาโรคนอนไม่หลับ โดยในปัจจุบันเขามีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า computer-based cognitive behavioral therapy (CBT) อยู่แล้ว เพียงแต่โปรแกรมดังกล่าวไม่ได้ดึงดูดให้คนไข้เข้ามาใช้เป็นประจำเหมือน Twitter และ Facebook ดังนั้นถ้ามีการพัฒนาโปรแกรมในลักษณะที่เป็นเกมให้เล่นผ่านเครือข่ายสังคมดังกล่าวจะทำให้การรักษาโรคได้ผลดีขึ้น

ที่มา: BBC News