แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ CAS แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ CAS แสดงบทความทั้งหมด

วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2556

การแก้ปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์เริ่มได้ที่ตัวเรา

สวัสดีครับสำหรับวันนี้พอดีอ่านเจอเรื่องที่น่าสนใจจาก CNET เกี่ยวกับความพยายามแก้ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ของค่ายหนังค่ายเพลงในอเมริกาครับ เห็นว่าน่าสนใจดีเลยเอามาเล่าให้ฟังกัน สำหรับวิธีแก้ปัญหานี้เขามุ่งไปที่ตัวผู้ใช้ครับแทนที่จะไปไล่ตามจับผู้ละเมิด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไปไล่จับผู้ใช้ที่ดาวน์โหลดไฟล์ละเมิดนะครับ แต่เขาจะใช้วิธีที่เรียกว่าให้ความรูู้กับผู้ใช้บริการครับ วิธีนี้นี้มีชื่อว่าระบบแจ้งเตือนการละเมิดลิขสิทธิ์ (Copyright Alert System)  หรือเรียกย่อ ๆ ว่าซีเอเอส (CAS) ลักษณะการทำงานของระบบก็คือ  จะให้ผู้บริการอินเทอร์เน็ตแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้ว่าขณะนี้ผู้ใช้กำลังดาวน์โหลดไฟล์ที่ละเมิดลิขสิทธิอยู่  ซึ่งทางระบบมองว่าถ้าเป็นผู้ใช้ที่ดีและไม่รู้เรื่องจริง ๆ ก็จะหยุดการกระทำดังกล่าว แต่เขาจะให้โอกาสผู้ใช้โดยการเตือนถึงหกครั้งนะครับ ซึ่งนี่ก็เป็นที่มาของอีกชื่อหนึ่งที่ใช้เรียกระบบนี้คือ  "เตือนหกครั้ง (six strikes)"   ถ้าเตือนไปขนาดนี้แล้วแต่ผู้ใช้ยังคงละเมิดต่อไปก็แสดงว่าผู้ใช้คนนี้อาจเกินเยียวยาแล้ว ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตก็มีสิทธิที่จะระงับการให้บริการชั่วคราวได้ แต่การยกเลิกสัญญากับผู้ใช้นี่ไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขของระบบนี้นะครับ แต่ถ้าผู้ใช้คิดว่าตัวเองไม่ได้ละเมิดก็สามารถแสดงหลักฐานกับทางผู้ให้บริการได้นะครับ แต่สุดท้ายแล้วเจ้าของลิขสิทธิ์ก็จะต้องลงมาดำเนินการฟ้องร้องกับผู้ใช้เองต่อไป ระบบนี้เริ่มใช้แล้วในอเมริกาเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2556 ครับ จริง ๆ ระบบนี้มีกำหนดการที่จะต้องเสร็จและใช้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วครับ แต่ก็ต้องเลื่อนมาเพราะพายุเฮอริเคนแซนดี้กับเรื่องที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตยังลังเลที่จะให้ความร่วมมือด้วย 

จากประเด็นนี้เราคงเห็นนะครับว่าไม่ใช่เฉพาะคนในประเทศเราที่ละเมิดลิขสิทธิ์ แม้แต่ในประเทศที่ถูกมองว่าเจริญแล้วอย่างอเมริกาก็ยังมีปัญหานี้ ในส่วนตัวผมว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ก็มาถูกทางแล้วระดับหนึ่งคือเริ่มจากการให้ความรู้  แต่ที่น่ารังเกียจกว่าพวกประเภทไปเอาของเขามาคือพวกที่เอาของเขามาฟรี ๆ แล้วเอามาหากำไรต่อหรือเอามาเคลมว่าเป็นของตัวเองครับ อย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้อ่านเว็บดรามาเรื่องมีคนไปโหลดเกมมาฟรี ๆ แล้วก็เอามาให้คนอื่นโหลดต่อแต่ดันทำลิงก์โฆษณาครอบไว้ประเภทว่าต้องคลิกผ่านลิงก์นี้ก่อนถึงจะโหลดไฟล์ได้ ดังนั้นคนพวกนี้ก็จะได้ค่าโฆษณาครับ แต่คนเขียนเกมไม่ได้อะไรเลย ส่วนเขาจะดราม่าอะไรกันนั้นก็ลองไปอ่านกันดูเองนะครับ หรือที่เจออีกอันหนึ่งก็คือมีคนสร้างฟอนต์ที่ให้นักพัฒนาแอพบน iOS เอาไปใช้ ก็มีคนเอามาเผยแพร่แล้วก็บอกว่าเป็นของตัวเอง ลองอ่านดูที่นี่ครับ และอีกอันหนึ่งที่ยุคนี้กำลังเกิดขึ้นอย่างมากมายและอยู่ในวงการวิชาชีพของผมซะด้วย ก็คือพวกนักวิชาการที่ไปโขมยผลงานคนอื่นมาเป็นของตัวเอง 

ข้ออ้างที่คนเหล่านี้มักจะนำมาใช้ซึ่งผมว่ามันน่าเศร้าใจมากก็คือคำว่า "สังคมแห่งการแบ่งปัน" จริงครับสังคมแห่งการแบ่งปันเป็นสังคมที่ดีแต่ก็ควรจะให้เกียรติกับเจ้าของผลงาน และไม่ควรเอาของที่เจ้าของเขาไม่ได้แบ่งปันเอามาแบ่งปัน หนักไปกว่านั้นดันไปเอาของเขามาหาประโยชน์ และบางครั้งพอเจ้าของเขามาทวงถามหรือขอให้ให้เครดิตเขาบ้างดันไปด่าเขาอีกว่าเห็นแก่ตัว จริง ๆ นะครับพออ่านความคิดเห็นอะไรแบบนี้แล้วรู้สึกเศร้าใจจริง ๆ 

วิธีการแก้ปัญหานี้ที่ดีที่สุดผมว่าต้องเริ่มที่ตัวเราครับ ระบบอะไรที่สร้างขึ้นมาผมว่ามันกันคนที่ตั้งใจจะละเมิดไม่ได้หรอก อย่างมากก็ทำให้ลำบากขึ้นบ้าง ตัวเราเองต้องสำนึกครับ เริ่มจากไม่ทำงานหรือรายงานด้วยการตัดปะงานคนอื่น และให้คิดแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา ลองคิดดูว่าถ้าเราเป็นคนที่นั่งหลังขดหลังแข็งสร้างงานขึ้นมา แต่มีใครไม่รู้ที่ใช้เพียงการคลิกไม่กี่คลิกก็ได้งานของเราไปใช้แบบฟรี ๆ หรือมาหาประโยชน์จากงานของเราแล้วเราจะรู้สึกอย่างไร เราภูมิใจไหมกับการที่ได้รับตำแหน่งเพิ่มขึ้นหรือได้รับความชื่นชมด้วยการไปลอกผลงานของคนอื่นมา แล้วเราจะมีความสุขไหมที่ต้องมานั่งกังวลว่าจะมีคนมาเจอไหมว่าเราลอกงาน 

เราควรจะเริ่มต้นให้ความรู้กับคนที่อาจจะยังไม่รู้ครับว่าเนื้อหาที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต หรือที่ไหนก็ตามถึงแม้บางอย่างเจ้าของเขาอาจจะประกาศให้เรานำไปใช้ได้ฟรี แต่มันก็เป็นสิ่งที่เราจะต้องเคารพ ถ้าเราต้องการจะนำมาใช้ไม่ว่าจะเป็นแค่ประโยคเดียวเราก็ควรจะต้องให้เกียรติกับเจ้าของ ยิ่งของอะไรที่ผู้ใช้ไม่ได้บอกว่าให้ฟรีนี่ก็ไม่ควรจะไปเอามาใช้

ซอฟต์แวร์ก็เหมือนกันครับ เดี๋ยวนี้ราคาก็ถือว่าถูกลงจนพอหาซื้อมาใช้ได้ และถ้าเราไม่อยากซื้้อเราก็ยังมีทางเลือกอื่น อย่างชุด Microsoft Office ในสมัยก่อนเราอาจไม่มีทางเลือก แต่ในปัจจุบันเราอาจใช้ OpenOffice ซึ่งใช้ได้ฟรี หรือใช้บริการอย่าง Google Docs ก็ได้ มันอาจจะมีคุณสมบัติไม่ครบเท่า Microsoft Office แต่คุณสมบัติพื้นฐานก็มีครบถ้วน หรือถ้าจะตกแต่งรูปถ้าเราไม่ใช่มืออาชีพ อยากตกแต่งรูปเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็อาจไม่ต้องไปหาโปรแกรมอย่าง Photoshop มาใช้ก็ได้ มีเว็บให้เราใช้แต่งภาพแบบฟรีมากมาย แม้แต่ Photoshop เองก็มีเครื่องมือออนไลน์อย่าง PhotoshopExpress  แต่ถ้าเป็นมืออาชีพและต้องการใช้งานคุณสมบัติในระดับสูงของโปรแกรม ผมก็แนะนำว่าควรซื้อโปรแกรมแบบถูกลิขสิทธิ์มาใช้นะครับ เพราะคุณนำโปรแกรมเขาไปหาผลประโยชน์ 

เรามาเริ่มที่ตัวเราสร้างสังคมให้เป็นสังคมแห่งการแบ่งปันที่อยู่บนฐานของการไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ (และสิทธิ) ของคนอื่นกันเถอะครับ...