แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ career แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ career แสดงบทความทั้งหมด

วันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

งานอะไรฮอตที่สุดด้านเทคโนโลยี

ต่อคำถามที่ว่างานอะไรฮอตที่สุดด้านเทคโนโลยีในปี 2019  คำตอบขึ้นอยู่กับว่าเรามองในมุมไหน ถ้ามองด้านตำแหน่งงานที่เปิดรับจะได้ว่านักพัฒนาซอฟต์แวร์เป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยวิศวกรเครือข่าย และวิศวกรระบบ แต่ถ้ามองตำแหน่งที่มีการเติบโตในความต้องการมากที่สุดอันดับหนึ่งก็คือวิศวกรข้อมูลซึ่งมีความต้องการเพิ่มขึ้นถึง 50%  เมื่อเทียบกับปี 2018 ทักษะด้าน Structure Query Language (SQL) ด้าน container อย่าง Kubernetes เป็นทักษะที่มีความต้องการมากที่สุดในการประกาศหางาน ทักษะด้านภาษาเขียนโปรแกรม ประมาณ 20% ของการประกาศงานบอกว่าต้องการคนที่เขียนโปรแกรมภาษา python ได้ สำหรับงานด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล และวิศวกรข้อมูลมีความต้องการอยู่ที่ 75% และ 64% ตามลำดับ

อ่านข่าวเต็มได้ที่: IEEE Spectrum

เพิ่มเติมเสริมข่าว:

อ่านจากข่าวเพิ่งรู้ว่าเขาแยกตำแหน่งนักพัฒนาซอฟต์แวร์ และนักพัฒนาแอปพลิเคชันออกจากกัน

วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

วิศวกรคอมพิวเตอร์ อาชีพที่ดีเป็นอันดับสามของโลก

สวัสดีครับ บล็อกวันนี้เอาเรื่องอาชีพทางคอมพิวเตอร์มาเล่าให้ฟังกันอีกสักเรื่องหนึ่งต่อจากบล็อกที่แล้วครับ นั่นคืออาชีพวิศวกรคอมพิวเตอร์ที่ถูกจัดให้เป็นอาชีพที่ดีที่สุดเป็นอันดับสามของโลกจากทั้งหมดสองร้อยอาชีพ การจัดอันดับนี้มีรายงานอยู่ใน Jobs Rated Report 2013 ซึ่งถ้าใครสนใจก็สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ครับ แต่ผมขอนำข่าวที่สรุปมาแล้วมาเล่าให้ฟังกันครับ การจัดอันดับครั้งนี้เขาพิจารณาจากปัจจัยหลักสี่ด้านคือสภาพแวดล้อมในการทำงาน รายได้ อนาคตที่ดี และระดับความเครียด

การที่อาชีพวิศวกรซอฟต์แวร์ได้รับอันดับที่ดีก็เนื่องมาจากเงินเดือนเฉลี่ยที่อยู่ที่ $89,000 ต่อปี สภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี มีความเครียดต่ำ (อันนี้ผมไม่ค่อยแน่ใจนะ) อนาคตอาจไม่โดดเด่นเท่ากับกลุ่มอาชีพอื่นในสิบอันดับแรกแต่ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี

นอกจากอาชีพวิศกรซอฟต์แวร์แล้วอาชีพอื่น ๆ ทางด้านคอมพิวเตอร์ที่อูย่ในอันดับที่ค่อนข้างดีก็ได้แก่นักวิเคราะห์ระบบในอันดับสิบ นักพัฒนาเว็บไซต์อันดับที่ยี่สิบสี่ และนักเขียนโปรแกรมในระดับที่สามสิบแปด

เพื่อให้ข่าวนี้มีความสมบูรณ์ก็ขอบอกอาชีพอันดับหนึ่ง อันดับสองและอันดับสุดท้ายมาให้รู้กันด้วยแล้วกันครับ เพราะคิดว่าหลายคนก็น่าจะอยากรู้ อาชีพอันดับหนึ่งคือนักคณิตศาสตร์ประกันภัยครับ (จริง ๆ ผมเคยเกือบตัดสินใจเข้าสู่อาชีพนี้ด้วยนะครับนี่) อันดับสองคือวิศวกรชีวการแพทย์ (biomedical engineer) ส่วนอันดับสุดท้ายผมว่าพวกเราอาจคาดไม่ถึงนะครับนั่นคือผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ครับ โดยยังมีอันดับต่ำกว่าคนตัดไม้ซึ่งอยู่อันดับรองบ๊วย

ก็ดูเอาไว้เป็นข้อมูลนะครับ แต่ผมว่าสุดท้ายแล้วอาชีพสุจริตอะไรที่เราทำแล้วเราชอบมีความสุขกับมัน ทำด้วยความตั้งใจเต็มที่ก็เป็นอาชีพที่ดีสำหรับเราทั้งนั้นครับ...

ที่มา: v3.co.uk

วันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2556

การสำรวจเงินเดือนด้านไอทีประจำปี 2013 ในอเมริกา

สวัสดีครับ พอดีได้อ่านข่าวซึ่งรายงานการสำรวจงานด้านไอทีในอเมริกาว่าแต่ละด้านได้เงินเดือนเท่าไร ก็เลยเอามาเล่าให้ฟังเป็นข้อมูลกันครับ ตามข่าวบอกว่าโดยภาพรวมแล้วงานด้านไอทีถือว่ามีรายได้ดีเลยครับ โดยพนักงานระดับปฏิบัติจะได้เงินโดยเฉลี่ยประมาณ $90, 000 ต่อปี ส่วนถ้าเป็นผู้จัดการจะได้ประมาณ $120,000 ต่อปีครับ  

แต่รายได้จะแตกต่างกันตามทักษะและประเภทของอุตสาหกรรมครับ ตามข่าวยกตัวอย่างว่าถ้าใครทำด้านการรวมแอพพลิเคชันระดับเอนเทอร์ไพรส์ (business enterprise integration) จะได้เงินเดือนประมาณ $110,000 ถ้าทำด้านไอทีทั่ว ๆ ไป ก็จะได้ประมาณ $73,000 ส่วนงานด้านให้ความช่วยเหลือ (help desk) จะได้ประมาณ $55,000 จริง ๆ ผมว่างานด้านให้ความช่วยเหลือนี่หนักนะเพราะต้องติดต่อกับลูกค้าโดยตรง แล้วบางทีก็ต้องรองรับอารมณ์ด้วย (หรือเปล่า) น่าจะได้มากกว่านี้นะ

แต่สิ่งที่ผมว่าน่าสนใจอยู่ตรงนี้ครับ ฟิลด์ที่มีความพิเศษอย่างคลาวด์คอมพิวติง ความมั่นคงเว็บ (web security) และด้านโมบายล์ จะมีเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ $130,000 $118,000 และ $111,000 ตามลำดับ งานด้านการวิเคราะห์และธุรกิจอัจฉริยะ (analytic/business intelligence) จะได้เงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ $93,000 สำหรับพนักงาน และ $132,000 สำหรับระดับผู้จัดการ แต่สำหรับงานด้านการวิเคราะห์นี้ก็จะมีความแตกต่างกันตามทักษะ แต่เขาบอกว่าฟิลด์นี้ต้องการคนที่มีพรสววรค์ด้านการวิเคราะห์/จัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจ

จากข้อมูลนี้ผมมองว่ามหาวิทยาลัยก็คงจะต้องปรับหลักสูตรให้มีรายวิชาทางด้านที่มีความต้องการเป็นพิเศษนี้มากขึ้นตามความถนัดของมหาวิทยาลัย และก็หวังว่าพอจะเป็นประโยชน์กับใครที่กำลังเรียนหรือกำลังจะเข้ามาเรียนทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีสารสนเทศว่าควรมุ่งไปทางไหน ส่วนคนที่ทำงานอยู่แล้วก็อาจจะหาเวลาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในด้านใดด้านหนึ่งที่กล่าวมาแล้วไว้บ้างก็ดีนะครับ เพราะถึงแม้ข้อมูลนี้จะเป็นข้อมูลในอเมริกา แต่อเมริกาอาจผลิตบุคลากรมารองรับไม่ทันทั้งหมด ดังนั้นโอกาสที่งานพวกนี้จะถูกส่งออกมายังประเทศที่มีความพร้อมก็มีอยู่มาก ดังนั้นมาเตรียมตัวพวกเราให้พร้อมกันดีกว่าครับ...

ที่มา: Information Week

วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2556

โปรแกรมที่ใช้เครือข่าย LinkedIn ในการแนะนำอาชีพ

LinkedIn เป็นเครือข่ายสังคมที่เน้นไปในเรื่องของการหางาน โดยคนที่ใช้เครือข่ายนี้ก็จะโพสต์คุณสมบัติของตัวเองไว้ในเครือข่ายนี้ ซึ่งบริษัทที่ต้องการคนไปทำงานด้วยก็มักจะมาหาข้อมูลจากเครือข่ายนี้ นอกจากประโยชน์จากการหางานแล้ว LinkedIn ยังเปิดโอกาสให้เราได้สร้างเครือข่ายสังคมของคนที่อยู่ในวงการอาชีพเดียวกันได้ด้วย นักวิจัยจาก University of California, Santa Barbara มองเห็นประโยชน์ของการนำข้อมูลจากเครือข่ายนี้ไปใช้ครับ โดยเขาได้พัฒนาโปรแกรมชื่อ LinkedVis ซึ่งจะช่วยแนะนำเส้นทางอาชีพให้กับเรา โปรแกรมนี้ทำงานโดยวิเคราะห์เส้นทางอาชีพของคนที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับเรา จากนั้นจึงนำผลจากการวิเคราะห์ดังกล่าวมาแนะนำเราครับ ยิ่งไปกว่านั้นโปรแกรมนี้ยังมีความสามารถตอบคำถามประเภทถ้า.... ได้อีกด้วยครับ ตามข่าวยกตัวอย่างว่าโปรแกรมสามารถตอบคำถามเช่น ถ้าฉันกลับไปเรียนต่อป.เอก จะมีโอกาสที่ดีขึ้นไหม?  น่าสนใจใช่ไหมล่ะครับ แต่ถ้าอยากใช้โปรแกรมนี้คงต้องรอหน่อยครับ เพราะผู้วิจัยกำลังคุยกับทาง LinkedIn อยู่ แต่ตามข่าวบอกว่าทาง LinkedIn สนใจโปรแกรมนี้มากครับ

ที่มา: New Scientist

วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

วิศวกรซอฟต์แวร์:อาชีพยอดเยี่ยมประจำปี 2012

เมื่อวานนี้ผมได้โพสต์ลิงก์นี้ Software Engineer: 2012's Top Job ลงในเฟซบุ๊คของผม ซึ่งโดยสรุปก็คือจากการสำรวจของ careercast พบว่าอาชีพที่ยอดเยี่ยมที่สุดประจำปี 2012 คือวิศวกรซอฟต์แวร์ ในวันนี้ผมอยากจะมาขยายความหน่อยครับสำหรับคนที่อาจไม่อยากอ่านรายละเอียดเป็นภาษาอังกฤษเอง

การจัดอันดับนี้เขาไม่ได้วัดจากรายได้สูงสุดนะครับ แต่เขาวัดจากปัจจัย 5 ประการด้วยกัน คือด้านกายภาพ สภาพแวดล้อมการทำงาน รายได้ ความเครียดและแนวโน้มการได้งาน อีกประการที่อยากจะนำมาขยายความก็คือภาระหน้าที่ของวิศวกรซอฟต์แวร์จากการสำรวจนี้ครับ หน้าที่ของตำแหน่งนี้คือวิจัย ออกแบบ พัฒนาและดูแลระบบซอฟต์แวร์ตลอดจนฮาร์ดแวร์ สำหรับงานด้านการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรมต่าง ๆ   รายได้เฉลี่ยต่อปีของอาชีพนี้อยู่ที่ 88, 142 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยก็ตกราว 2,732,402 บาท ต่อปี ซึ่งน้อยกว่าอาชีพเภสัชกรที่อยู่ที่ 112,070 เหรียญสหรัฐ (3,474,170 บาท) แต่อาชีพเภสัชกรอยู่ถึงอันดับที่ 14 ครับ

คราวนี้มาดูว่าทำไมอาชีพวิศวกรซอฟต์แวร์ถึงได้การจัดอันดับยอดเยี่ยมเป็นอันดับที่หนึ่ง ก็มีเหตุผลหลัก ๆ อยู่ห้าประการครับ

  1. เวลาที่ยืดหยุ่นมาก  วิศวกรซอฟต์แวร์สามารถเลือกเวลาทำงานได้ด้วยตัวเอง หรือแม้แต่อยากจะทำงานอยู่ที่บ้านก็ได้
  2. ได้ร่วมงานกับคนเก่ง ตำแหน่งนี้ต้องทำงานแบบลองผิดลองถูก ซึ่งก็จะดึงดูดพวกที่ชอบแก้ปัญหาแบบมีหลักการ จากการสำรวจมองว่าคนพวกนี้คือคนเก่ง และคนที่มาทำงานตำแหน่งนี้อาจไม่จำเป็นต้องจบด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์มาโดยตรง ก็คือเปิดโอกาสให้คนเก่ง ๆ จากหลากหลายสาขาเข้ามาร่วมกันทำงาน
  3. มีสภาพแวดล้อมการทำงานแบบทำงานเป็นทีม ตำแหน่งนี้จะต้องช่วยกันทำงานเป็นทีมเพื่อช่วยให้โครงการเสร็จในเวลาที่กำหนด ในข่าวนี้เขาเปรียบเทียบกับตำแหน่งนักเขียนโปรแกรมว่ามักจะทำงานคนเดียว
  4. มีโอกาสที่จะคิดสร้างสรรค์ อย่างที่บอกในข้อสองคือตำแหน่งนี้ต้องทดลองและแก้ปัญหา ซึ่งปัญหานั้นอาจไม่สามารถค้นหาคำตอบได้ง่าย ๆ จาก Google 
  5. มีอิสระที่จะทำพลาด จากข้อสองอีกนั่นแหละครับคือทดลองวิธีแก้ปัญหาที่คิดได้ ถ้ามันไม่สำเร็จก็กลับไปคิดใหม่ 
อย่างไรก็ตามนี่คือการสำรวจในต่างประเทศนะครับ ผมไม่แน่ใจว่าในเมืองไทยเราเป็นอย่างนี้หรือเปล่า  ใครที่ทำงานในตำแหน่งนี้อยู่อยากจะแสดงความคิดเห็นก็ยินดีครับ



ที่มา: Information Week