แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ อาชีพ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ อาชีพ แสดงบทความทั้งหมด

วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

วิศวกรคอมพิวเตอร์ อาชีพที่ดีเป็นอันดับสามของโลก

สวัสดีครับ บล็อกวันนี้เอาเรื่องอาชีพทางคอมพิวเตอร์มาเล่าให้ฟังกันอีกสักเรื่องหนึ่งต่อจากบล็อกที่แล้วครับ นั่นคืออาชีพวิศวกรคอมพิวเตอร์ที่ถูกจัดให้เป็นอาชีพที่ดีที่สุดเป็นอันดับสามของโลกจากทั้งหมดสองร้อยอาชีพ การจัดอันดับนี้มีรายงานอยู่ใน Jobs Rated Report 2013 ซึ่งถ้าใครสนใจก็สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ครับ แต่ผมขอนำข่าวที่สรุปมาแล้วมาเล่าให้ฟังกันครับ การจัดอันดับครั้งนี้เขาพิจารณาจากปัจจัยหลักสี่ด้านคือสภาพแวดล้อมในการทำงาน รายได้ อนาคตที่ดี และระดับความเครียด

การที่อาชีพวิศวกรซอฟต์แวร์ได้รับอันดับที่ดีก็เนื่องมาจากเงินเดือนเฉลี่ยที่อยู่ที่ $89,000 ต่อปี สภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี มีความเครียดต่ำ (อันนี้ผมไม่ค่อยแน่ใจนะ) อนาคตอาจไม่โดดเด่นเท่ากับกลุ่มอาชีพอื่นในสิบอันดับแรกแต่ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี

นอกจากอาชีพวิศกรซอฟต์แวร์แล้วอาชีพอื่น ๆ ทางด้านคอมพิวเตอร์ที่อูย่ในอันดับที่ค่อนข้างดีก็ได้แก่นักวิเคราะห์ระบบในอันดับสิบ นักพัฒนาเว็บไซต์อันดับที่ยี่สิบสี่ และนักเขียนโปรแกรมในระดับที่สามสิบแปด

เพื่อให้ข่าวนี้มีความสมบูรณ์ก็ขอบอกอาชีพอันดับหนึ่ง อันดับสองและอันดับสุดท้ายมาให้รู้กันด้วยแล้วกันครับ เพราะคิดว่าหลายคนก็น่าจะอยากรู้ อาชีพอันดับหนึ่งคือนักคณิตศาสตร์ประกันภัยครับ (จริง ๆ ผมเคยเกือบตัดสินใจเข้าสู่อาชีพนี้ด้วยนะครับนี่) อันดับสองคือวิศวกรชีวการแพทย์ (biomedical engineer) ส่วนอันดับสุดท้ายผมว่าพวกเราอาจคาดไม่ถึงนะครับนั่นคือผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ครับ โดยยังมีอันดับต่ำกว่าคนตัดไม้ซึ่งอยู่อันดับรองบ๊วย

ก็ดูเอาไว้เป็นข้อมูลนะครับ แต่ผมว่าสุดท้ายแล้วอาชีพสุจริตอะไรที่เราทำแล้วเราชอบมีความสุขกับมัน ทำด้วยความตั้งใจเต็มที่ก็เป็นอาชีพที่ดีสำหรับเราทั้งนั้นครับ...

ที่มา: v3.co.uk

วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

วิศวกรซอฟต์แวร์:อาชีพยอดเยี่ยมประจำปี 2012

เมื่อวานนี้ผมได้โพสต์ลิงก์นี้ Software Engineer: 2012's Top Job ลงในเฟซบุ๊คของผม ซึ่งโดยสรุปก็คือจากการสำรวจของ careercast พบว่าอาชีพที่ยอดเยี่ยมที่สุดประจำปี 2012 คือวิศวกรซอฟต์แวร์ ในวันนี้ผมอยากจะมาขยายความหน่อยครับสำหรับคนที่อาจไม่อยากอ่านรายละเอียดเป็นภาษาอังกฤษเอง

การจัดอันดับนี้เขาไม่ได้วัดจากรายได้สูงสุดนะครับ แต่เขาวัดจากปัจจัย 5 ประการด้วยกัน คือด้านกายภาพ สภาพแวดล้อมการทำงาน รายได้ ความเครียดและแนวโน้มการได้งาน อีกประการที่อยากจะนำมาขยายความก็คือภาระหน้าที่ของวิศวกรซอฟต์แวร์จากการสำรวจนี้ครับ หน้าที่ของตำแหน่งนี้คือวิจัย ออกแบบ พัฒนาและดูแลระบบซอฟต์แวร์ตลอดจนฮาร์ดแวร์ สำหรับงานด้านการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรมต่าง ๆ   รายได้เฉลี่ยต่อปีของอาชีพนี้อยู่ที่ 88, 142 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยก็ตกราว 2,732,402 บาท ต่อปี ซึ่งน้อยกว่าอาชีพเภสัชกรที่อยู่ที่ 112,070 เหรียญสหรัฐ (3,474,170 บาท) แต่อาชีพเภสัชกรอยู่ถึงอันดับที่ 14 ครับ

คราวนี้มาดูว่าทำไมอาชีพวิศวกรซอฟต์แวร์ถึงได้การจัดอันดับยอดเยี่ยมเป็นอันดับที่หนึ่ง ก็มีเหตุผลหลัก ๆ อยู่ห้าประการครับ

  1. เวลาที่ยืดหยุ่นมาก  วิศวกรซอฟต์แวร์สามารถเลือกเวลาทำงานได้ด้วยตัวเอง หรือแม้แต่อยากจะทำงานอยู่ที่บ้านก็ได้
  2. ได้ร่วมงานกับคนเก่ง ตำแหน่งนี้ต้องทำงานแบบลองผิดลองถูก ซึ่งก็จะดึงดูดพวกที่ชอบแก้ปัญหาแบบมีหลักการ จากการสำรวจมองว่าคนพวกนี้คือคนเก่ง และคนที่มาทำงานตำแหน่งนี้อาจไม่จำเป็นต้องจบด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์มาโดยตรง ก็คือเปิดโอกาสให้คนเก่ง ๆ จากหลากหลายสาขาเข้ามาร่วมกันทำงาน
  3. มีสภาพแวดล้อมการทำงานแบบทำงานเป็นทีม ตำแหน่งนี้จะต้องช่วยกันทำงานเป็นทีมเพื่อช่วยให้โครงการเสร็จในเวลาที่กำหนด ในข่าวนี้เขาเปรียบเทียบกับตำแหน่งนักเขียนโปรแกรมว่ามักจะทำงานคนเดียว
  4. มีโอกาสที่จะคิดสร้างสรรค์ อย่างที่บอกในข้อสองคือตำแหน่งนี้ต้องทดลองและแก้ปัญหา ซึ่งปัญหานั้นอาจไม่สามารถค้นหาคำตอบได้ง่าย ๆ จาก Google 
  5. มีอิสระที่จะทำพลาด จากข้อสองอีกนั่นแหละครับคือทดลองวิธีแก้ปัญหาที่คิดได้ ถ้ามันไม่สำเร็จก็กลับไปคิดใหม่ 
อย่างไรก็ตามนี่คือการสำรวจในต่างประเทศนะครับ ผมไม่แน่ใจว่าในเมืองไทยเราเป็นอย่างนี้หรือเปล่า  ใครที่ทำงานในตำแหน่งนี้อยู่อยากจะแสดงความคิดเห็นก็ยินดีครับ



ที่มา: Information Week