เริ่มต้นจากบทคัดย่อคืออะไรและสำคัญอย่างไร บทคัดย่อก็คือการสรุปงานวิจัยที่สมบูรณ์ในรูปแบบที่สั้นและกระชับ ความสำคัญของบทคัดย่อก็คือถ้าเราเขียนได้ดี ผู้อ่านจะสามารถเข้าใจภาพรวมของงานวิจัยเราได้ และเขาอาจประเมินงานวิจัยของเราได้เลยว่าน่าสนใจ มีประโยชน์ หรือเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เขาสนใจหรือไม่ โดยที่ไม่ต้องอ่านรายละเอียดของงานวิจัยเราทั้งหมด คนที่อยู่ในแวดวงวิจัยคงจะทราบดีนะครับว่า เวลาเราจะหาหัวข้องานวิจัยที่เราสนใจ ในตอนแรกเราไม่ได้อ่านรายละเอียดทั้งหมดในเอกสาร เพราะถ้าทำอย่างนั้นเราก็คงต้องเสียเวลาไปมากกว่าจะเลือกเรื่องที่เราสนใจจริง ๆ ได้ ดังนั้นวิธีการที่เราใช้กันก็คืออ่านจากบทคัดย่อก่อน คัดกรองเรื่องที่คิดว่าเกี่ยวข้องจริง ๆ กับเรา แล้วจึงจะอ่านในรายละเอียดส่วนอื่น ๆ ต่อไป ดังนั้นบทคัดย่อที่ดีจึงเป็นประโยชน์กับวงการวิจัยมาก อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมจากการเขียนบทคัดย่อที่ดีที่เพิ่งเกิดขึ้นกับตัวผมและนักศึกษาปริญญาเอกในที่ปรึกษาก็คือ ผมและนักศึกษาได้รับเชิญให้เขียนบทความวิจัยลงในวารสารวิชาการระดับนานาชาติเล่มหนึ่ง ซึ่งเขาให้เหตุผลในการเชิญคือเขาอ่านจากบทคัดย่อจากบทความวิจัยที่นำเสนอในที่ประชุมวิชาการ (conference) แล้วคิดว่างานวิจัยดังกล่าวน่าสนใจ ขอให้เขียนเพิ่มเติมเพื่อที่จะนำลงตีพิมพ์ในวารสาร ถึงตรงนี้ก็คงเห็นความสำคัญของการเขียนบทคัดย่อที่ดีกันบ้างแล้วนะครับ
คราวนี้ในบทคัดย่อควรมีอะไรบ้าง ผมขออ้างอิงจากเว็บของมหาวิทยาลัย Berkeley ดังนี้ครับ
- แรงจูงใจในการทำวิจัย/ความสำคัญของปัญหา ในส่วนนี้จะบอกว่าทำไมเราจึงสนใจปัญหานี้ มีประเด็นอะไรที่งานวิจัยของเราจะเข้าไปแก้ไข
- วิธีการในการวิจัย ในส่วนนี้จะอธิบายวิธีการดำเนินการวิจัยของเรา เพื่อให้เห็นว่าเราได้ผลลัพธ์มาอย่างไร
- ผลลัพธ์ ในส่วนนี้จะอธิบายผลลัพธ์ที่ได้จากงานวิจัยนี้ โดยจะบอกว่าเราได้เรียนรู้ หรือได้พัฒนาอะไรขึ้นมา
- สรุป เป็นส่วนที่บอกว่างานที่ได้นั้นมีประโยชน์อย่างไร ประเด็นก็คือมันสามารถตอบคำถามในข้อ 1 ได้อย่างไร
คราวนี้มาลองดูตัวอย่างบทคัดย่อสักตัวอย่างหนึ่งนะครับเผื่อจะเห็นภาพมากขึ้น อันนี้มาจากปัญหาพิเศษล่าสุดที่ผมเป็นที่ปรึกษาครับ
เป็นที่ยอมรับกันในวงการการศึกษาว่าการติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียนรายบุคคลเป็นกลไกสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน ซึ่งผลที่ได้จากกลไกนี้ก็คือผู้สอนสามารถที่จะออกแบบการเรียนการสอนที่ส่งเสริมผู้เรียนเป็นรายบุคคลได้โดยง่าย ผู้เรียนจะได้เข้าใจจุดอ่อนจุดแข็งและมองเห็นการพัฒนาของตนเอง ส่วนผู้ปกครองก็จะได้รับรู้ข้อมูลพัฒนาการของบุตรหลานและสามารถร่วมมือกับโรงเรียนได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะมาสนับสนุนให้กลไกดังกล่าวเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือการมีระบบสารสนเทศที่เหมาะสม ปัญหาพิเศษนี้มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาต้นแบบของระบบสารสนเทศการติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียน โดยระบบที่พัฒนาขึ้นมีลักษณะเป็นเว็บแอพพลิเคชันเพื่อให้ผู้สอน ผู้เรียน และผู้ปกครองสามารถเข้าถึงข้อมูลผ่านทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์ สำหรับการวัดและประเมินผลการเรียนรู้จะพิจารณาจากมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยในการพัฒนาระบบนี้ผู้พัฒนาได้ใช้โรงเรียน... เป็นกรณีศึกษา การทดสอบระบบทำโดยการเก็บข้อมูลการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่สองจำนวนสองห้อง ผลการทดสอบพบว่าระบบที่พัฒนาขึ้นสามารถจัดเก็บข้อมูลที่จำเป็นและแสดงผลการวิเคราะห์ที่สามารถนำไปใช้ในการติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียนรายบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น