วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ผู้บุกเบิกคอมพิวเตอร์ Arnold Spielberg พ่อของ Steven Spielberg ตายเมื่ออายุ 103 ปี

Steven Spielberg (ซ้าย) Arnold Spielberg (ขวา) ภาพจาก AP โดย Chris Pizzello

วิศวกรคอมพิวเตอร์ Arnold Spielberg ผู้ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกทางไปสู่คอมพิวเตอร์พีซี และเป็นพ่อแท้ ๆ ของนักสร้างภาพยนต์ชื่อดัง Steven Spielberg เสียชีวิตด้วยวัย 103 ปี ผลงานในการบุกเบิกของเขาคือเขาได้ร่วมมือกับ Charles Propster สร้างเครื่องเมนเฟรมคอมพิวเตอร์ GE-225 ในช่วงปลายทศวรรษ 1950 ซึ่งทำให้นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่ Dartmouth College ได้พัฒนาภาษาเขียนโปรแกรมคือภาษา Basic ขึ้นมา และภาษา Basic นี้เองเป็นภาษาหลักที่ทำให้เกิดการพัฒนาเครื่องคอมพิวเตอร์พีซีในช่วง ทศวรรษ 1970 และ 1980  Steven Spielberg บอกว่า เมื่อเขามองไปที่เครื่อง PlayStation และมือถือที่มีขนาดตั้งแต่เท่ากับเครื่องคิดเลข ไปจนถึง iPad เขาจะพูดว่าพ่อของเขาและทีมที่เต็มไปด้วยอัจฉริยะ เป็นผู้เริ่มต้นที่ทำให้พวกมันเกิดขึ้นมา

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Associated Press

เพิ่มเติมเสริมข่าว: 

ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าพ่อ Steven Spielberg เป็นผู้บุกเบิกวงการคอมพิวเตอร์คนนึง 


วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2563

เทคนิคใหม่เพื่อป้องกันอุปกรณ์ถ่ายภาพทางการแพทย์จากการจู่โจมทางไซเบอร์

Photo by National Cancer Institute on Unsplash

นักวิจัยจากBen-Gurion University of the Negev (BGU) ในอิสราเอลได้พัฒนาวิธีการใหม่ที่ใช้ AI ในการป้องกันอุปกรณ์ที่ใช้ถ่ายภาพทางการแพทย์จากการจู่โจมทางไซเบอร์ และจากความผิดพลาดของคนที่ป้อนคำสั่งที่ผิดผ่านทางคอมพิวเตอร์ โดยนักวิจัยได้สร้างการตรวจสอบเป็นสองระดับ ยกตัวอย่างเช่นคำสั่งที่สั่งเครื่องให้ทำงาน โดยให้ทำงานกับผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ ก็จะเป็นอันตรายถ้าคนไข้จริง ๆ เป็นเด็กทารก ซึ่งถ้าตรวจสอบเพียงชั้นเดียวอาจตรวจสอบไม่พบความผิดนี้ แต่เมื่อเพิ่มการตรวจสอบในชั้นที่สองเข้าไปก็จะตรวจพบได้ การตรวจสอบในชั้นแรกนั้นเป็นการตรวสอบโดยไม่ดูบริบท (context-free) ส่วนการตรวจสอบในชั้นที่สองนั้นเป็นแบบขึ้นกับบริบท (context-sensitive)  นักวิจัยได้ทดสอบการทำงานของระบบกับเครื่อง computed tomography (CT) โดยใช้คำสั่ง 8,227 คำสั่ง ผลการทดลองพบว่าการใช้ชั้นที่สองร่วมกับชั้นที่ 1 จะตรวจจับความผิดพลาดได้เพิ่มขึ้นจาก 71.6% เป็น 82 ถึง 99% ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ทางคลีนิคและทำงานกับส่วนไหนของร่างกาย ยิ่งไปกว่านั้นการใช้การตรวจสอบในชั้นที่สองนี้สามารถครวจจับความผิดพลาดที่ตรวจไม่เจอในการใช้ชั้นที่หนึ่งอย่างเดียวด้วย

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  Ben-Gurion University of the Negev (Israel)


วันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ช้างกับรถไฟ AI ช่วยไม่ให้มันชนกัน

ทีมนักวิจัยประสบความสำเร็จในการทดสอบระบบใน West Bengal 
[ภาพจาก Apal Singh] 

นักวิจัยจาก Polytechnic University of Catalonia (UPC)-BarcelonaTech ในสเปนได้พัฒนา"หูอัจฉริยะ"เพื่อช่วยกันการชนกันจนตายระหว่างช้างกับรถไฟในอินเดีย โดยรถไฟที่วิ่งอยู่บนรางรถไฟสาย  Siliguri-Jalapaiguri ได้ชนช้างตายไปแล้วกว่า 200 เชือกในทศวรรษที่ผ่านมา นักวิจัยได้ติดตั้งกล้องและเครื่องบันทึกเสียงบนรางรถไฟใน West Bengal จากนั้นวิเคราะห์เสียงและภาพที่ถูกบันทึกไว้ด้วยการเรียนรู้ของเครื่อง เพื่อแยกระหว่างเสียงกับภาพของช้างออกจากสิ่งอื่น ๆ "หูอัจฉริยะนี้" สามารถระบุเสียงของช้างได้ในระยะห่าง 1 กม. และสามารถระบุภาพของช้างได้ในระยะ 250 เมตร เมื่อระบบตรวจจับเจอช้างก็จะส่งสัญญาณเตือนไปที่โทรศัพท์ของคนขับรถไฟ
อ่านข่าวเต็มได้ที่: ZDNet

วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2563

หน้ากากผ้าใช้ป้องกันไวรัสได้ ยืนยันโดยซุปเปอร์คอมพิวเตอร์

Fugaku ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในโลก ภาพโดย Shoya Okinaga

Riken Institute ของญี่ปุ่นบอกว่าซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ชื่อ Fugaku ซึ่งเพิ่งได้รับรางวัล ซูปเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในโลก ได้พัฒนาตัวแบบที่แสดงให้เห็นว่าหน้ากากผ้าที่ทำจากใยสังเคราะห์สามารถกันการแพร่ของไวรัสไปกับละอองที่เกิดจากระบบทางเดินหายใจได้ดีกว่าผ้าฝ้ายหรือโพลีเอสเตอร์ โดยจากการจำลองแสดงให้เห็นว่าหน้ากากจากผ้าใยสังเคราะห์สามารถกันละอองจาการจามได้เกือบทั้งหมด แต่อีกสองประเภทกันได้อย่างน้อย 80% ซึ่งก็ถือว่าทั้งสามประเภทนี้ทำได้ดีในการชะลอการระบาดของโคโรนาไวรัส ทีมทดลองยังได้จำลองการระบาดของไวรัสในหอประชุมที่มีที่นั่งประมาณ 2000 ที่นั่ง และพบว่ามีอันตรายน้อยมากจากการระบาด ถ้าผู้อยู่ในหอประชุมใส่หน้ากาก และนั่งห่าง ๆ กัน 

อ่านข่าวเต็มได้ที่: Nikkei Asian Review


วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2563

นักวิจัยด้านความมั่นคงสามารถทำลูกกุญแจสำรองได้จากการฟังเสียงเสียบลูกกุญแจ

(LFO62/iStock/Getty Images

นักวิจัยจาก  National University of Singapore บอกว่าการฟังเสียงการเสียบลูกกุญแจเข้ากับรูกุญแจ ก็สามารถสร้างลูกกุญแจสำรองได้ ถึงแม้วิธีนี้จะยุ่งยากกว่าวิธีการการคัดลอกลูกกุญแจแบบดั้งเดิม แต่มันก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจถ้ารู้ว่ามันมีช่องโหว่ทางความมั่นคงในลักษณะนี้ ระบบนี้เรียกว่า Spikey โดยมันจะสร้างกุญแจขึ้นมาชุดหนึ่งหลังจากฟังเสียงการเสียบกุญแจแล้ว โดยปกติจะประมาณ 3 ดอก และมักจะมีดอกหนึ่งที่ใช้ได้ แต่ในบางกรณีที่น้อยมาก จะสร้างกุญแจขึ้นมาถึง 15 ดอก แต่ถึงแม้วิธีนี้จะฟังดูน่าประทับใจ แต่มันก็มีข้อจำกัดคือ การเสียบกุญแจเข้ารูกุญแจจะต้องทำด้วยความเร็วคงที่ และจะต้องเอาไมโครโฟนของมือถือไปอยู่ใกล้ ๆ กับกุญแจ ซึ่งย่อมจะดึงดูดความสนใจของเจ้าของห้องแน่ ดังนั้นการอัดเสียงอาจต้องใช้ไมโครโฟนที่ซ่อนไว้ หรือต้องแฮกโทรศัพท์มือถือหรือเครื่องมืออัดเสียงของเจ้าของห้องเพื่อใช้เป็นการอัดเสียงแทน 

อ่านข่าวเต็มได้ที่:  ScienceAlert