วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ผู้บริหารบ้านเมืองของเราจะยอมรับผิดกันบ้างได้ไหม?

วันนี้ขอเขียนเรื่องฟุตซอลชิงแชมป์โลกสักวันแล้วกันนะครับ ในขณะที่เขียนนี่ก็กำลังรอลุ้นว่าไทยจะผ่านเข้ารอบเป็นหนึ่งในสี่ของอันดับสามที่ดีที่สุดหรือเปล่า ซึ่งบอกตรง ๆ ว่าต้องลุ้นเหนื่อยมากครับ ต้องให้ทีมนั้นชนะทีมโน้นกี่ประตูขึ้นไป ปวดหัวจริง ๆ ครับเรื่องต้องยืมจมูกคนอื่นเขาหายใจเนี่ย  แต่ที่จะพูดถึงไม่ใช่เรื่องการแข่งขันครับ แต่จะพูดถึงข่าวที่ได้ฟังแล้วรู้สึกไม่สบายใจเลย ก็คือข่าวที่ผู้ว่ากทม.จะฟ้องฟีฟ่าเรื่องที่ไม่ยอมอนุมัติให้ใช้สนามบางกอกฟุตซอลอารีน่าในการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลกที่เราเป็นเจ้าภาพอยู่ตอนนี้ เหตุผลที่ผู้ว่าจะฟ้องก็คือการกระทำของฟีฟ่าทำให้กทม.เสียชื่อ ผมฟังแล้วก็รู้สึกประหลาดใจมาก จริง ๆ เราเสียชื่อมาตั้งแต่สนามสร้างเสร็จไม่ทันวันเปิดการแข่งขันแล้วไม่ใช่เพิ่งจะมาเสียชื่อตอนนี้

ผมอยากถามว่าการที่ผู้ว่าจะฟ้องนี่จริง ๆ แล้วจะปกป้องชื่อเสียงกทม.หรือชื่อเสียงตัวเองกันแน่ เพราะตอนนี้รู้สึกว่าตัวผู้ว่าตกเป็นเป้าโจมตีอย่างหนัก แต่ในส่วนนี้ขอออกตัวให้ผู้ว่าหน่อยแล้วกันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้โทษผู้ว่าคนเดียวไม่ได้นะครับ ต้องโทษผู้บริหารที่เกี่ยวข้องทุกคนตั้งแต่รัฐบาลประชาธิปัตย์ รัฐบาลนี้ และตัวนายกสมาคมฟุตบอลด้วย แต่ที่ผู้ว่าโดนหนักก็เพราะเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้างสนามโดยตรง และจากที่สื่อนำเสนอก็คือมีการมาโหมเร่งงานกันเมื่อเหลือเวลาประมาณสองสามเดือนสุดท้ายก่อนจะแข่ง

ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นตามความคิดของผมคือผู้บริหารเหล่านี้ติดการทำงานแบบไทย ๆ และเล่นเกมการเมืองกันมากเกินไป ที่ว่าติดการทำงานแบบไทย ๆ ก็คือได้รับงานมาล่วงหน้าแต่แทนที่จะวางแผนเร่งลงมือทำก็มักจะทอดเวลาไว้จนใกล้จะถึงเส้นตายแล้วถึงจะเร่งลงมือทำ หรือตามสำนวนที่เรียกว่ารอจนไฟลนก้นนั่นแหละครับ เหตุการณ์ที่เราเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาหลายรายการก่อนหน้าก็เป็นแบบนี้นะครับ คือรู้ว่าต้องเป็นเจ้าภาพมาล่วงหน้าหลายปี แต่กว่าจะลงมือทำก็รอไว้จนใกล้จะถึงกำหนด ซึ่งที่ผ่านมาเราโชคดีครับที่เราสามารถสร้างสนามอะไรต่ออะไรให้เสร็จก่อนหน้าการแข่งขันได้ประมาณสักไม่กี่เดือนมั้งครับ ที่เราทำได้เพราะเราโชคดีที่ไม่มีเหตุการณ์วิกฤตอย่างมหาอุทกภัยในปีที่แล้ว  แต่คราวนี้เราไม่โชคดีอย่างนั้น ดังนั้นจากเหตุการณ์นี้ถ้าประเทศเรายังมีโอกาสได้เป็นเจ้าภาพอะไรอีก (ซึ่งผมว่าคงยากแล้วหละ) ช่วยคิดใหม่ทำใหม่ให้เหมือนประเทศที่เขามีการวางแผนที่ดีหน่อยนะครับ เช่นอยากเห็นสนามแข่งเสร็จก่อนหน้าการแข่งขันสักครึ่งปีอะไรอย่างนี้ และอีกอย่างก็คือช่วยดูหน่อยนะครับว่าเรื่องอะไรมันเป็นเรื่องของประเทศชาติก็พักเรื่องส่วนตัวไว้ มาระดมแรงระดมความคิดช่วยกันให้ผ่านไปให้ได้ ไม่ใช่ขัดแข้งขัดขากันจนมันเกิดความเสียหายจนแก้ไขอะไรไม่ได้แล้วแบบนี้

 กลับมาที่เรื่องที่ผู้ว่าจะฟ้องผมว่าอยากให้คิดใหม่นะ ผมว่าฟีฟ่าก็มีเหตุผลที่เหตุผลที่จะไม่รับนะครับ ลองคิดดูว่าถ้าเราเป็นฟีฟ่าตอนมาดูเมื่อเดือนสองเดือนที่แล้วยังเป็นโครงอยู่เลยอะไรอะไรก็ไม่เสร็จสักอย่าง แป๊บเดียวเสร็จเหมือนเนรมิต ลองย้อนถามตัวเราเองดูว่าเป็นเราเราจะกล้าใช้ไหม ถ้าใช้ไปแล้วมันเกิดถล่มเกิดพังขึ้นมามันจะเสียหายกันมากกว่านี้นะครับ หรือถ้าฟีฟ่าให้ผ่านด้านความปลอดภัยได้ มันก็อาจมีปัญหาอื่นไม่ว่าจะเป็นปัญหาสภาพแวดล้อม การดำเนินการ ลองคิดดูสนามเพิ่งเสร็จยังไม่ได้ทดสอบเต็มที่เลย สมมติถ้าใช้ตอนแข่งเกิดเกิดปัญหาที่ไม่คาดคิดขึ้นจะทำยังไง เปรียบเหมือนซอฟต์แวร์ที่เร่งพัฒนาจนเสร็จ ดูภาพรวมอาจดูดีมีส่วนติดต่อกับผู้ใช้ที่สวยงาม แต่พอใช้ไปอาจเจอบั๊กก็ได้ เพราะไม่ได้มีการทดสอบซอฟต์แวร์เต็มที่ทั้งระบบ สรุปก็คือคนพวกนี้เขาทำงานกันแบบมืออาชีพครับ เขาไม่มานั่งมัวรักษาหน้าหรือเกรงใจใครหรอกถ้าคิดว่ามันอาจทำให้เกิดปัญหา อีกอย่างเขาอาจไม่เข้าใจวิธีทำงานแบบผักชีโรยหน้าของไทย และเขาอาจไม่ชอบกินผักชีก็ได้ :)

ถ้าสร้างเหมือนเนรมิตแบบนี้อย่าว่าแต่ฟีฟ่าเลย แม้แต่ผมเองผมยังถามตัวเองเลยว่าผมจะกล้าเข้าไปใช้สนามนี้ไหม เพราะมันสร้างกันเร็วมาก บอกตามตรงตอนที่รู้ว่าเราเป็นเจ้าภาพและจะมีการสร้างสนามที่หนอกจอก ผมก็วางแผนไว้แล้วว่าจะพาลูก ๆ ไปดูฟุตซอลสักนัดหนึ่ง เพราะสนามมันอยู่ไม่ไกลจากบ้านและอยากให้ลูก ๆ ได้สัมผัสบรรยากาศของงานระดับโลก แต่ตอนนี้ต่อให้ฟีฟ่าอนุมัติผมยังลังเลที่จะไปเลยครับ

ดังนั้นผมคิดว่าฟีฟ่าทำถูกแล้วครับที่ไม่รับ แต่ถ้าฟีฟ่าจะผิดก็ผิดอยู่อย่างเดียวคือไม่ยอมใช้เทคโนโลยีมาช่วยตัดสินฟุตบอลเสียที เพราะทำให้หงส์แดงของผมเสียประโยชน์มากมาย... เฮ้ยไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้...   คือที่ผมว่าฟีฟ่าทำผิดก็คือไม่รีบบอกมาตั้งแต่ต้นว่าจะไม่ใช้ เพราะในความคิดของผมผมว่าฟีฟ่าจะไม่ใช้มาตั้งแต่ต้นแล้วแต่อาจติดเชื้อพี่ไทยเข้าไปหน่อยก็เลยออกลูกเกรงใจรักษาหน้าเจ้าภาพไว้ แต่ผมว่าถ้าฟีฟ่าฟันธงมาเลยตั้งแต่มาตรวจรอบแรกว่าไม่ใช้ เราจะได้ไม่ต้องเร่งสร้าง อาจจะเลิกสร้างไปเลยจะได้ประหยัดงบไป แต่ถ้ากลัวเป็นแบบโครงการโฮปเวล (โฮปเลส) ก็อาจสร้างต่อแต่ทำให้มันมั่นใจว่ามันแข็งแรง แล้วก็ใช้แข่งฟุตซอลในรายการอื่น ๆ ต่อไป


พูดถึงการสร้างแบบเนรมิตแบบนี้ทำให้ผมคิดถึงนิทานที่ผมเคยอ่านตอนเด็ก ๆ ได้เรื่องหนึ่งครับ เรื่องก็มีอยู่ว่ามีชาวไทยคนหนึ่ง ไปรับเพื่อนชาวต่างชาติสองคนคนหนึ่งเป็นคนจีนอีกคนเป็นอเมริกัน ซึ่งทั้งสองเพิ่งเคยมาเมืองไทยเป็นครั้งแรก พอทั้งสองขึ้นรถได้ก็เริ่มคุยโม้โอ้อวดกันว่าจีนกับอเมริกานี่ใครเป็นสุดยอดของการก่อสร้าง คนจีนก็ยกตัวอย่างกำแพงเมืองจีนว่าสร้างในสมัยที่ไม่มีเทคโนโลยีอะไรเลย  ใช้เวลาไม่กี่ปีก็เสร็จ คนอเมริกันก็บอกว่าอเมริกันสิสุดยอดกว่า อย่างเทพีสันติภาพนี่คนอเมริกันใช้เวลาสร้างสองสามเดือนเอง คือจริง ๆ เจ้าสองคนนี่โม้นะครับ เพราะจริง ๆ พวกเขาก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจริง ๆ มันใช้เวลาสร้างเท่าไรกันแน่  ส่วนคนไทยก็เงียบไม่พูดอะไร ทำให้เจ้าสองคนนี่นึกดูถูกว่าคนไทยคงไม่มีความสามารถก่อสร้างอะไรเลย จนรถแล่นผ่านมาถึงอนุเสาวรีย์ชัย ฯ เจ้าคนอเมริกันก็ถามว่าเฮ้ยนี่มันอะไรน่ะประเทศนายก็มีสิ่งก่อสร้างดี ๆ เหมือนกันนี่ คนจีนก็ถามว่าสร้างนานไหม คนไทยก็ตอบแบบนิ่ง ๆ ว่า เรียกว่าอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน เมื่อกี้ตอนขามามันยังไม่มีไอ้นี่อยู่เลย...

ออกนอกเรื่องไปอีกแล้วสรุปก็คือผมอยากจะให้พวกผู้บริหารหรือแม้แต่ตัวพวกเราเองยอมรับในความผิดพลาด แล้วก็แก้ไขแทนที่จะเที่ยวไปโทษคนโน้นคนนี้ก่อน อย่างผมเองเป็นอาจารย์ก็มีบางครั้งที่ผมพูดผิดแต่เมื่อผิดผมก็บอกว่าผิดและก็ขอแก้ไข ซึ่งผมก็ไม่เห็นว่ามันจะเป็นการเสียหน้าอะไร อาจารย์ก็คนก็ผิดได้ (วันนี้ก็เพิ่งพูดผิดไปต้องรีบสั่งให้นักเรียนลบที่พูดออกจากหน่วยความจำ) แต่หลัง ๆ มานี่ผมรู้สึกว่าผู้บริหารของเรากลัวเสียหน้ามากกว่าอย่างอื่น นอกจากกรณีนี้ที่โยนกันไปโยนกันมาและกำลังจะโยนต่อไปให้ฟีฟ่าแล้ว อีกตัวอย่างก็คือเครื่อง GT200 ครับ ทำไมยังมีคนพูดอยู่ได้ว่ามันใช้งานได้ ทั้งที่ไม่สามารถหาหลักการทางวิทยาศาสตร์อะไรมารองรับได้เลย นักวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศและในประเทศก็พิสูจน์แล้วว่ามันทำงานไม่ได้ มันจะเสียหน้าอะไรนักหนาถ้าจะออกมายอมรับความผิดพลาด มันไม่ใช่ประเทศเราประเทศเดียวเสียหน่อยที่ีโดนหลอก ประเทศที่เขาเจริญกว่าเราก็ยังโดน

อ้าวจากเรื่องสนามฟุตซอลมาออกเรื่อง GT200 ได้ยังไงนี่ จบดีกว่าเดี๋ยวจะลากไปเรื่องอื่นอีก แล้วบล็อกจะพาลถูกปิดเอา...

วันพฤหัสบดีที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เบื้องหลัง Siri ของ Apple หรือจะคืองานวิจัยของนักวิจัยไทย?

ไม่ได้เขียนบล็อกมานานมาก คำแก้ตัวเดิม ๆ คือไม่ว่าง แต่วันนี้ยังไงก็ขอเขียนเสียหน่อย เพราะเป็นข่าวเกี่ยวกับนักวิจัยไทยของเราที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัทระดับโลกอย่าง Apple เจ้าของ iDevice ทั้งหลายที่พวกเราหลายคนใช้กันอยู่นั่นแหละครับ ยิ่งไปกว่านั้นนักวิจัยคนดังกล่าวก็เป็นคนที่ผมรู้จักดีเสียด้วย

 ก่อนจะมารู้จักกันว่าเขาเป็นใครเรามาดูข่าวที่เป็นต้นเรื่องของบล็อกวันนี้กันก่อน ถ้าใครอยากอ่านข่าวต้นฉบับก็เชิญอ่านจาก ฺBloomberg ได้เลยครับ แต่ถ้าไม่อยากอ่านผมจะสรุปให้ฟังครับ เนื้อหาก็คือบริษัทใน Texas ชื่อ Dynamic Advances กำลังจะฟ้อง Apple ในข้อหาละเมิดสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับโปรแกรม Siri ซึ่งเป็นโปรแกรมเลขาส่วนตัวที่มีความชาญฉลาดในการโต้ตอบและทำตามคำสั่งจากผู้ใช้ที่ใช้ภาษาพูดปกติ คือผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องใช้คำสั่งเฉพาะในการบอกให้ Siri ทำงานให้ เจ้า Siri  ที่ว่านี่ Apple เริ่มนำมาใช้งานใน  iPhone 4s และต่อมาก็นำมาใช้กับ iDevice รุ่นใหม่ ๆ  อีกด้วย

แล้วมันเกี่ยวกับงานวิจัยคนไทยยังไง ประเด็นก็คือบริษัท Dynamic Advances ที่ว่านี่ได้รับใบอนุญาตในการใช้สิทธิบัตรที่เกี่ยวกับงานวิจัยที่เรีกว่า natural language interface ซึ่งเป็นการทำให้ระบบสามารถตอบคำถามที่คนพูดเข้ามาตามปกติได้ โดยใช้วิธีการที่ซับซ้อนในการสืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูล งานวิจัยนี้ได้ถูกคิดค้นและจดสิทธิบัตรไว้กว่าสิบปีแล้ว โดย Professor Cheng Hsu ที่เป็นอาจารย์อยู่ที่ Rensselaer Polytechnic Institute (RPI) ที่ New York และนักศึกษาปริญญาเอกของเขาในขณะนั้นคือ วีระ บุญจริง (Veera Boonjing) ซึ่งปัจจุบันคือ รศ.ดร.วีระ บุญจริง แห่งสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  นักศึกษาที่ทำวิทยานิพนธ์ไม่ว่าระดับไหนคงทราบดีนะครับว่างานที่ออกมา จะออกมาจากตัวนักศึกษาเป็นหลักโดยอ.ที่ปรึกษาจะให้คำแนะนำในแง่มุมต่าง ๆ  ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าระบบดังกล่าวนี้รศ.ดร.วีระ น่าจะมีส่วนไม่ต่ำกว่า 80 % และระบบนี้แหละครับที่ทาง Dynamic Advances ฟ้องว่าโปรแกรม Siri ละเมิดสิทธิบัตร โดยสรุปตอนนี้ทาง Apple ยังไม่มีความเห็นใด ๆ นะครับ รวมทั้ง Professor Hsu ด้วย โดย Professor บอกว่าตัวแกก็ไม่รู้ว่าสิทธิบัตรนี้จะมีมูลค่าเท่าไร แต่ก็ได้กล่าวทิ้งท้ายในข่าวไว้ด้วยว่า เสียใจด้วย (นะ Apple) แต่เราทำมันก่อน 

นั่นคือเนื้อข่าวและที่มาที่ไปคร่าว ๆ นะครับ มาดูในส่วนอ.วีระกันบ้าง ผมในฐานะที่เป็นรุ่นน้องที่มหาวิทยาลัย และเป็นเพื่อนร่วมงานกับอ.วีระเกือบ 20 ปี แล้ว (ขอเกาะกระแสคนดังหน่อยนะ :) ) ก็ได้คุยกับอ.ในเรื่องนี้ โดยตัวอ.ก็บอกว่าเรื่องการฟ้องนี่จริง ๆ เริ่มมาได้พักหนึ่งแล้วไม่ได้มาเริ่มตอนนี้หรอก แต่แกก็ไม่รู้ว่าทำไมมันถึงออกมาตอนนี้ตอนที่ Apple ออกผลิตภัณฑ์ใหม่พอดี ตอนนี้ก็รอผลลัพธ์ต่อไปว่าจะเป็นยังไง โดยการฟ้องร้องนี้อ.วีระไม่ได้ทำเองนะครับเป็นเรื่องของทาง RPI และ บริษัท Dynamic Advances

ท้ายนี้ผมก็ขอเล่าถึงเบื้องหลังงานวิจัยของอ.วีระชิ้นนี้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตัวผมเองเท่าที่พอจำได้นะครับ ก็คือในตอนที่งานวิจัยของอ.ใกล้จะเสร็จแล้วมีวันหนึ่งผมก็ได้รับเมลจากอ.ว่าขอให้ช่วยคิดคำถามเอาแบบที่เป็นภาษาพูดหน่อยจะเอาไปทดสอบกับระบบที่สร้างขึ้น ซึ่งอ.วีระก็คงขอให้เพื่อน ๆ ของแกหลายคนช่วยกันคิด จะได้มีข้อมูลที่หลากหลายไปทดสอบ ซึ่งผมก็ช่วยคิดไปจำนวนหนึ่งจำไม่ได้ว่ากี่ประโยค และก็ไม่เคยถามด้วยว่าแกเอาของผมไปใช้บ้างหรือเปล่า ส่งเสร็จก็ลบทิ้งไป ถ้ารู้ว่ามันจะดังอย่างนี้จะเก็บไว้ฟ้องร้อง... เอ๊ยไม่ใช่... เป็นที่ระลึกว่าเราก็มีส่วนร่วมในระบบนี้เหมือนกันก็คงจะดี ไม่แน่เหมือนกันนะครับว่าการที่ Apple รีบออกผลิตภัณฑ์อย่าง iPad รุ่นสี่ หรือ iPad Mini นี่อาจทำไปเพื่อระดมทุนมาจ่ายค่าสิทธิบัตรนี่ก็ได้...  :) 


หมายเหตุ
ใครที่อยากดูตัวสิทธิบัตรว่าหน้าตาอย่างไรดูได้จากลิงก์ต่อไปนี้ครับ http://www.google.com/patents/US7177798

วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555

การเขียนบททฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (เน้นที่ปริญญานิพนธ์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์)

จริง ๆ ว่าจะเขียนเรื่องนี้มานานแล้ว เพราะในฐานะที่ตัวเองเป็นอาจารย์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์จะต้องตอบคำถามว่าบทที่สองในรูปเล่มรายงานปริญญานิพนธ์ (ทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง) ต้องเขียนอะไรบ้าง วันนี้ก็โดนถามอีกก็เลยคิดว่ามาเขียนบล็อกให้แนวทางในการเขียนสักหน่อยก็น่าจะดี นอกจากจะเป็นประโยชน์กับลูกศิษย์ตัวเองแล้ว ก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับนักศึกษาที่ต้องเขียนปริญญานิพนธ์ และที่สำคัญก็คือตัวเองจะได้ไม่ต้องปากเปียกปากแฉะซ้ำ ๆ หลายรอบ :)

บทที่สองจุดประสงค์จริง ๆ ก็คือให้คุณได้เขียนอธิบายถึงหลักการและทฤษฎีที่คุณจะนำมาใช้เป็นหลักในการทำวิจัย และวิเคราะห์และสรุปการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับงานของคุณ ส่วนที่เป็นปัญหาที่เจอมากที่สุดก็คือทฤษฎีจะเขียนอะไร บางคนก็เข้าใจว่าอะไรที่ตัวเองใช้ก็คือทฤษฎี ดังนั้นในสมัยก่อนที่เจอบ่อยก็คือจะเริ่มต้นด้วยว่าฐานข้อมูลคืออะไร อธิบายการออกแบบ การเขียน ER ไปจนถึง primary key, candidate key เป็นต้น ซึ่งพอถามว่าจะเขียนมาทำไม ก็ได้รับคำตอบว่านี่คือทฤษฎีที่ต้องใช้ในการออกแบบฐานข้อมูล พอเจอคำตอบอย่างนี้ผมก็เลยถามกลับว่าถ้าอย่างนั้นทำไมถึงไม่เขียนมาด้วยล่ะว่าการเขียนโปรแกรมคืออะไร การคอมไพล์โปรแกรมทำยังไง หรือการวิเคราะห์หรือออกแบบระบบคืออะไร เพราะก็ต้องใช้ในการพัฒนาโปรแกรมเหมือนกันไม่ใช่หรือ พอเจอคำถามนี้เข้าไปก็เงียบกันไปหมด   รุ่นหลัง ๆ นี้ก็เลยไม่เขียนกันแล้วว่าฐานข้อมูลคืออะไร แต่ไปเขียนว่าแอนดรอยด์คืออะไร จะเขียนโปรแกรมบนแอนดรอย์ต้องทำยังไงแทน เฮ้อ....  แต่ที่เจอแล้วมึนที่สุดก็คือเขียนอธิบายมาว่าเว็บเบราซ์เซอร์คืออะไร เหตุผลที่เขียนมาก็คือเพราะตัวเองทำเว็บแอพพลิเคชัน เว็บเบราซ์เซอร์ก็เลยเป็นทฤษฎีที่ใช้ส่วนหนึ่ง เวรกรรมจริง ๆ

ผมมานั่งวิเคราะห์ปัญหาดูว่าทำไมเราถึงเขียนอะไรกันอย่างนี้ ก็เลยคิดว่าปัญหาอาจมาจากคำว่าอย่าเขียนอะไรโดยคิดว่าคนอ่านรู้อยู่แล้ว แต่จริง ๆ มันมีสิ่งที่ซ่อนอยู่ในนั้นนะครับคือเราต้องคิดว่าคนอ่านอย่างน้อยก็น่าจะอยู่ในฟิลด์ของเรา (คอมพิวเตอร์) ดังนั้นเขาควรจะต้องมีความรู้พื้นฐานเรื่องพวกฐานข้อมูล หรือการพัฒนาโปรแกรมอยู่แล้ว หรือถ้าเขาเป็นนักคอมพิวเตอร์แต่ไม่รู้วิธีการเขียนโปรแกรมแอนดรอยด์ เขาก็ควรไปหาอ่านจากหนังสือทางด้านนี้โดยตรง งานวิจัยของเราคงไม่ได้มีจุดประสงค์จะมาสอนใครให้เขียนโปรแกรมแอนดรอยด์เป็นใช่ไหมครับ ดังนั้นอันแรกครับพวกความรู้พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโปรแกรมไม่ว่าแพล็ตฟอร์มไหนนี่ตัดทิ้งไปได้เลยครับ เวลาเขียนบทที่สองให้คิดไว้ครับว่าคนอ่านเขาคงไม่ได้เข้ามาอ่านงานของเราเพื่ออ่านทฤษฎีพื้นฐานที่หาอ่านได้ทั่ว ๆ ไป หรือมีการเรียนการสอนกันอยู่แล้วนะครับ

แล้วจะเขียนอะไรดีล่ะในส่วนทฤษฎีนี้ คำตอบที่ผมมักจะให้นักศึกษาใช้เป็นแนวทางคือ มีทฤษฎีหรือความรู้อะไรที่คนที่อ่านงานของคุณในบทที่สาม (การดำเนินการวิจัย/การวิเคราะห์และออกแบบระบบ) จำเป็นต้องรู้บ้างไหม ถ้ามีก็ให้เขียนไว้เพื่อที่เขาจะได้กลับมาอ่านเป็นแนวทางได้ แต่ก็เอาเฉพาะที่จำเป็น ส่วนที่เป็นรายละเอียดมาก ๆ ก็ให้เป็นเอกสารอ้างอิงไป ตัวอย่างเช่นสมมติว่าคุณต้องทำโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับ GPS และต้องเก็บข้อมูลเกี่ยวกับ GPS ลงฐานข้อมูล ก็ไม่แปลกอะไรที่คุณจะมีทฤษฎีเบื้องต้นเกี่ยวกับข้อมูลที่ GPS ต้องใช้  จะเห็นนะครับว่าอย่างเรื่อง GPS นี่ไม่ใช่เรื่องที่เป็นพื้นฐานใช้กันทั่วไป และการที่คุณให้ข้อมูลตรงนี้ไว้ มันก็จะช่วยให้คนอ่านในบทที่สามของคุณเข้าใจว่าทำไมคุณต้องมีฟิลด์ที่ใช้เก็บข้อมูลนี้ในตารางในฐานข้อมูลของคุณ หรืออีกสักตัวอย่างหนึ่ง ถ้างานเราต้องใช้การติดต่อกับ Social Network อย่าง Twitter หรือ Facebook ก็ถือว่าโอเคนะถ้าจะมีส่วนที่แสดงให้เห็นว่าการติดต่อกับ Social Network เหล่านี้ทำได้โดยผ่าน API และมันมีข้อมูลหรือบริการอะไรที่เราใช้ได้บ้าง เพราะตรงนี้มันก็อาจอธิบายถึงการออกแบบในบทที่สามของเราเมื่อต้องทำงานกับส่วนนี้ ส่วนถ้างานของเราเน้นที่การพัฒนาโปรแกรม ไม่ได้ใช้อะไรจริง ๆ นอกจากทักษะด้านออกแบบและการพัฒนาโปรแกรม ผมว่าจะไม่มีทฤษฎีที่เกี่ยวข้องเลยก็ไม่แปลกนะ เพราะบทนี้ยังมีอีกส่วนหนึ่งก็คืองานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะให้คุณได้แสดงทักษะความสามารถในการคิดวิเคราะห์

ในส่วนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องถ้าใครที่ทำงานที่เน้นไปที่ด้านการวิจัย สิ่งที่ต้องทำก็คือให้ศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับงานที่เราทำ แต่ไม่ใช่ไปลอกงานเขามาใส่งานเรานะครับ แต่ทีต้องทำก็คือศึกษาและวิเคราะห์จุดดีจุดด้อยของงานวิจัยที่มีอยู่ เพื่อที่จะได้ตอบคำถามว่าทำไมเราถึงต้องทำงานชิ้นนี้ จากนั้นก็เขียนสรุปงานของเขาและส่วนของการวิเคราะห์ด้วยคำพูดของเราเอง ส่วนคนที่ทำำแอพพลิเคชันก็ต้องเขียนเพื่อตอบให้ได้ว่าทำไมต้องทำแอพลิเคชันนี้ ถ้ามันยังไม่มีิอยู่เลยก็ต้องหาที่มาของข้อกำหนดความต้องการให้ได้ เช่นถ้าจะพัฒนาระบบงานเพื่อช่วยทำอะไรก็ต้องชี้ให้เห็นว่าระบบเดิมที่เขาทำด้วยคนโดยไม่มีโปรแกรมนี่มันมีการทำงานอย่างไร ระบบเดิมมีปัญหาตรงไหน  หรือถ้าจะทำแอพพลิเคชันที่มีคนทำอยู่แล้ว ก็ศึกษาข้อดีข้อด้อยของแอพลิเคชันเหล่านั้น แล้วก็นำมาเขียนอาจจะเป็นลักษณะของการรีวิวก็ได้  ซึ่งสิ่งที่เราศึกษาและวิเคราะห์มาก็จะนำไปสู่ข้อกำหนดความต้องการของระบบที่เราจะพัฒนาขึ้นนั่นเอง

คิดว่าจากที่เขียนมาทั้งหมด ก็คงจะพอทำให้เห็นแนวทางการเขียนบทที่สองของงานปริญญานิพนธ์ได้มากขึ้นนะครับ ซึ่งถึงแม้ผมจะเน้นและยกตัวอย่างด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์เป็นหลัก แต่คิดว่าก็อาจนำไปปรับใช้กับงานวิจัยด้านอื่นได้เช่นกัน

สุดท้ายก็ขอนำบล็อกที่เคยเขียนเกี่ยวกับการเขียนงานวิจัยมาใส่ลิงก์ไว้ให้ตรงนี้ เพื่อความสะดวกในการค้นหาครับ

การเขียนคำภาษาต่างประเทศในบทความวิชาการ

การเขียนบทคัดย่อ

วันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2555

เครื่องโยนข้าวโพดคั่วเข้าปาก???

หลังจากไม่ได้อั๊พบล็อกนี้มาซะนาน วันศุกร์รถติด ๆ แบบนี้กลับถึงบ้านแล้วมาอ่านเรื่องเบา ๆ คลายเครียดกันดีกว่าครับ พอดีอ่านเจอในข่าวจาก C|NET พวกเราคงเคยกินข้าวโพดคั่ว (popcorn) กันใช่ไหมครับ ส่วนใหญ่เวลากินก็ใช้มือหยิบขึ้นมาเอาเข้าปาก  หรือบางคนอาจพิสดารกว่านั้นเล็กน้อยคือโยนขึ้นไปแล้วอ้าปากรับ แต่ยังไงเราก็ต้องใช้มือหยิบมันขึ้นมาใช่ไหมครับ คราวนี้ถ้ามือเราไม่ว่างล่ะ หรือถ้ามือเราสกปรกอยู่ล่ะ

มีบริษัทหนึ่งเล็งเห็นปัญหานี้ครับและคิดวิธีแก้ด้วยการสร้างเครื่องโยนข้าวโพดคั่วเข้าปากอัตโนมัติ เขาเรียกเครื่องนี้ว่า "Popinator" หลักการทำงานของมันก็คือที่เครื่องจะมีไมโครโฟนและเซ็นเซอร์อยู่ พอผู้ใช้พูดคำว่า "pop" มันก็จะคำนวณทิศทางและระยะทางระหว่างปากเราและตัวเครื่องเพื่อโยนข้าวโพดคั่วมาลงในปากเรา ลองดูวิีดีโอการทำงานของมันกันครับ



ไม่ว่าเครื่องนี้จะผลิตออกมาจำหน่ายจริงหรือไม่หรือแม้ดูว่ามันจะไร้สาระ  แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นอยู่ในของชิ้นนี้ก็คือคนที่ประดิษฐ์นี่จะต้องใช้หลักการคำนวณและหลักการทางฟิสิกส์เป็นอย่างดี เพราะนอกจากจะคำนวณระยะทางระหว่างปากกับตัวเครื่องแล้ว เราต้องไม่ลืมว่าข้าวโพดคั่วแต่ละชิ้นอาจมีขนาดและน้ำหนักต่างกัน ดังนั้นการที่เจ้าเครื่องโยนมาให้อยู่ในระยะที่คนรับจะขยับตัวเอาปากไปรับได้นี่ต้องถือว่าคำนวณได้ดีมาก

พวกเราดูแล้วเป็นไงบ้างครับอยากได้มาใช้สักเครื่องไหม ผมลองไล่ดูในคอมเมนต์จาก YouTube หลายคนก็ชอบบอกว่าคงทำให้การกินข้าวโพดคั่วสนุกสนานมากขึ้น บางคนก็ไม่แน่ใจว่านี่เป็นเรื่องจริงหรือเปล่า บางคนก็บอกว่าไร้สาระ และยังบอกว่ามีแต่พวกอเมริกันเท่านั้นแหละที่จะผลาญทรัพยากรไปทำอะไรแบบนี้ แต่ผมชอบแนวคิดของคนที่เขียนข่าวนี้นะครับ เขาบอกว่าถ้าเปลี่ยนให้มันรับคำสั่งจากเสียงเห่าแทน ไอ้เจ้าเครื่องนี้น่าจะเป็นของเล่นชิ้นโปรดของน้องหมาแน่ ๆ หรือเราคิดว่าควรจะปรับมันให้ไปใช้กับอะไรได้อีกดีครับ...

ที่มา:  C|NET