วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

ความพอเพียง(อาจ)ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอ

หายจาก #ศรัณย์วันศุกร์ ไปนานมาก ศุกร์ที่แล้วก็มีกระแสเรื่อง "พอเพียง" จากเดี่ยวล่าสุดของโน้ส อุดมที่เริ่มลงฉายทาง Netflix ก็เลยอยากจะแบ่งปันความเห็นของคำว่าพอเพียงในมุมมองของตัวเองบ้าง ซึ่งจะไม่ได้เกี่ยวอะไรกับที่โน้สพูดนะครับ จะขอแชร์ความเห็นของตัวเองเท่านั้น  

ก่อนอื่นคำว่าพอเพียงมักจะถูกเข้าใจผิด ๆ อย่างไม่ตั้งใจ หรืออาจจะอย่างตั้งใจที่จะเอาไว้แซะฝ่ายตรงข้าม ว่ามันเป็นเรื่องของการกลับไปทำเกษตร ใช้ชีวิตปลูกผักสวนครัวไว้กิน เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ดไว้กินไข่และขาย อะไรแบบนี้ 

ที่มันเป็นแบบนี้ส่วนตัวมองว่าส่วนหนึ่งมันเป็นพราะภาครัฐนั่นแหละ คือเอาเศรฐกิจพอเพียงกับเกษตรทฤษฎีใหม่ที่เป็นคนละเรื่องกัน เอามาจับมัดรวมกันแล้วก็นำเสนอ จนกลายเป็นภาพจำของคนหลายคนว่าเศรษฐกิจพอเพียงก็คือการเกษตร และก็จะเกี่ยวโยงไปถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ดังนั้นก็ไม่น่าแปลกอะไรที่ฝั่งโหนกับฝั่งแซะจะเล่นกันที่ประเด็นนี้ ลองค้นคำว่าพอเพียงจาก Google ดูแล้วไปคลิกดูที่ผลการค้นรูปภาพสิครับ นี่คือตัวอย่างสิ่งที่ผมได้ 

sufficient

ภาพจากการค้นหาด้วยคำว่าพอเพียงจาก Google

คราวนี้ความพอเพียงมันคืออะไร จริง ๆ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านก็ตรัสไว้ชัดแล้วในปรัชญาญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่าน และพระองค์ท่านก็ไม่ได้ให้นิยามคำว่าพอเพียงขึ้นมาใหม่ ซึ่งผมขอสรุปคำว่าพอเพียงด้วยคำพูดของตัวเองแล้วกันนะครับว่า ความพอเพียงก็คือ การที่เราสามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างเหมาะสมกับตัวเอง พึ่งพาความสามารถของตัวเองเป็นหลัก ไม่ต้องไปกราบไหว้อ้อนวอนขอความช่วยเหลือจากใคร ไม่ต้องไปเบียดเบียนคดโกงใคร มันไม่เกี่ยวกับคนจนก็ต้องเจียม ไม่ต้องไปทำเกษตร หรือห้ามรวย หรือคนรวยจะซื้อของฟุ่มเฟือยไม่ได้ จุดของความพอเพียงเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล

ความพอเพียงจะเกิดขึ้นได้ส่วนหนึ่งมันจะต้องเกิดจากการวางแผนชีวิตของตัวเองให้เหมาะสม ตัวอย่างเช่นเมื่อเราเริ่มต้นทำงานรายได้ยังไม่สูงนัก  เราก็ต้องวางแผนว่าถ้าเรามีรายได้เท่านี้ เราจะจัดสรรอย่างไรให้ตัวเองสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้แบบพอเพียงภายใต้จำนวนเงินนั้น  และถ้าเราทำได้แล้ว ความพอเพียงก็ไม่ได้บอกว่าหยุดแค่นี้เถอะ ไม่ได้หมายความว่าเราจะอยากมีบ้านมีรถ มีนู่นมีนี่ไม่ได้ ถ้าอายุการทำงานของเรายังมีอีกเยอะ ร่างกายสมองยังไหว เราก็ควรคิดถึงการขยับขยาย ปรับปรุงตัวเอง เพื่อให้มีความเจริญก้าวหน้า เพื่อให้คุณภาพชีวิตของตัวเองดีขึ้น ถ้าเราจะมีครอบครัวเราก็ต้องวางแผนให้ทั้งครอบครัวของเราอยู่ได้อย่างพอเพียง ซึ่งก็คือนิยามเดิม คืออยู่ได้อย่างเหมาะสมกับสภาพการณ์ ไม่ขึ้นกับใคร ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน 

ความพอเพียงไม่ได้หมายความว่าเราจะไปกู้หนี้ยืมสินไม่ได้ แต่การกู้หนี้ยืมสินเราก็ต้องคิดแล้วว่าที่เรากู้มามันจะสร้างประโยชน์ให้กับเราได้อย่างคุ้มค่า และที่สำคัญคือเราจะต้องมั่นใจว่าเราจะสามารถจ่ายหนี้คืนได้ ซึ่งมันก็กลับมาอยู่ที่การวางแผนของเรา  

ความพอเพียงไม่ได้หมายความว่า เราจะซื้อของฟุ่มเฟือยไม่ได้ ถ้าการซื้อนั้นไม่ได้ทำให้เราเดือดร้อน ไม่ได้กระทบกับการดำรงชีวิตใด ๆ ของเรา จะซื้อก็ซื้อไป ดังนั้นถ้าคนรวย ๆ เหรือใครที่เขาไม่เดือดร้อนเขาจะซื้อลาบูบู้ มาเก็บสะสมไว้ หรือเขาจะสะสมซุปเปอร์คาร์ เขาย่อมทำได้ 

ถ้าชีวิตมันเกิดอุบัติเหตุไม่คาดหมาย เราก็ต้องวางแผนชีวิตใหม่ ลดระดับการใช้ชีวิตลง เพื่อให้อยู่แบบพอเพียงตามอัตภาพของเราให้ได้ ดังนั้นส่วนหนึ่งของความพอเพียงก็คือการวางแผนชีวืตของเรานั่นเอง ถ้าเราวางแผนชีวิตไว้เป็นอย่างดี เมื่อถึงจุดหนึ่งคือในวัยที่เราหมดพลังงาน ร่างกายแย่ลงแล้ว เราก็เข้าสู่ความพร้อมที่จะเกษียณ ไปใช้ชีวิตให้มีความสุขต่อไปตามอัตภาพของเรา ตามที่เราวางแผนชีวิตไว้

แต่สิ่งที่พูดมาทั้งหมดต้องบอกว่านี่คืออุดมคติ ที่อยากจะพูดถึงว่าความพอเพียงมันคืออะไรในมุมมองของตัวเอง เพราะจากสถิติมีคนไม่กี่เปอร์เซนต์เท่านั้นที่สามารถเกษียณและอยู่อย่างพอเพียงได้ ส่วนใหญ่ก็ยังต้องอาศัยการดูแลจากลูกหลาน 

ที่เป็นอย่างนี้เพราะอะไร อย่างที่บอกไปแล้วว่าส่วนหนึ่งของความพอเพียงคือการวางแผน แต่สำหรับบางคนที่ต้นทุนทางสังคมไม่ได้สูงหรืออาจติดลบ การวางแผนอย่างเดียวอาจไม่พอ แต่อาจต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอด้วย ซึ่งที่จะพูดถึงก็คือการสนับสนุนจากภาครัฐ 

ความเพียงพอส่วนแรกก็คือค่าครองชีพกับเงินเดือนที่เหมาะสม รายรับจะต้องเพียงพอกับร่ายจ่าย และถ้าจะให้ดีมันควรจะต้องพอให้มีเหลือไว้ใช้กับสิ่งที่ไม่คาดหมายในชีวิตด้วย ข้าวของขึ้นมาตลอดเวลาเป็นสิบปี แต่ค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้ขยับตาม ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ ผู้คนส่วนใหญ่อาจจะไม่สามารถก้าวสู่ความพอเพียงได้เลย คือทำทุกอย่างวางแผนทุกอย่างแล้ว มันก็ยังไม่พอจะดำรงชีวิตได้อย่างเหมาะสม เมื่อก่อนอาจจะมีข้าวไข่เจียวจานละ 10 บาทให้กิน เดี๋ยวนี้จะไปกินข้าวอะไรอาจต้องไปถามดี ๆ เพราะอาจเจอข้าวไข่ดาวสองฟอง 70 บาท ไหนจะค่าเดินทาง ค่าสาธารณูปโภค ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นทุกวัน 

การขึ้นค่าแรงอย่างเดียว แต่ควบคุมค่าครองชีพพื้นฐานไม่ได้ส่วนตัวคิดว่ามีประโยชน์น้อยมาก  ค่าแรงขึ้นค่าครองชีพก็ขึ้นแบบนี้ระยะห่างมันก็เท่าเดิม และอย่าลืมว่าค่าครองชีพขยับขึ้นมาตลอด แต่ค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้ขยับตามมาหลายปีแล้ว 

ไม่ได้เห็นด้วยกับค่าแรงราคาเดียวกันทั่วประเทศ แต่ต้องพิสูจน์ว่าค่าครองชีพมันมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทั่วประเทศจริง ๆ แล้วก็ขึ้่นให้เหมาะสม คือยังไงมันต้องทำให้เขาอยู่ได้กันก่อน ไม่ใช่ขนาดวางแผนกินแต่มาม่าเป็นหลักแล้ว ก็ยังอยู่ไม่ได้ เอาจริง ๆ เดี๋ยวนี้มาม่าก็แพงนะ 

ผู้ประกอบการบอกว่าค่าแรงต้องให้ตามความสามารถ อันนี้เห็นด้วย เพราะหลายคนชอบเอาคำว่าเท่าเทียมมาใช้แบบผิด ๆ ในความเป็นจริงใครเก่งกว่าก็ควรได้มากกว่า ไม่อย่างนั้นใครมันจะอยากเป็นคนเก่ง เพราะจะเป็นคนเก่งกว่าคนอื่น มันก็ต้องลงทุนลงแรงมากกว่าคนอื่น ซึ่งตรงนี้คิดว่ามันไม่ใช่ปัญหา ส่วนใหญ่นายจ้างก็ให้ค่าแรงคนเก่งมากกว่าอยู่แล้ว 

แต่ปัญหามันคือค่าแรงขั้นต่ำที่มันไม่พอกับค่าครองชีพ ทำยังไงที่จะทำให้คนที่สามารถทำงานขั้นพื้นฐานให้เจ้าของกิจการสามารถมีชีวิตอยู่ทำงานต่อไปได้แบบ  win-win คนเราถ้าต้องทำงานเช้าถึงเย็นที่หนึ่ง เย็นถึงค่ำอีกที่หนึ่ง เพื่อแค่ให้อยู่ได้ แล้วมาบอกว่าอยากได้เงินเพิ่มก็พัฒนาตัวเองสิ ไป upskill, reskill,  หรือหา new skill เขาก็อาจไม่รู้จะเอาเวลาที่ไหนไปทำ

เดี๋ยวจะหาว่าไม่ชมประยุทธ์เลย ในยุคประยุทธ์โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็เป็นความพยายามหนึ่งที่ตัวเองมองว่าก็พยายามช่วย แต่ถ้าจะให้ยั่งยืนกว่า ก็ต้องจัดสรรค่าแรงและค่าครองชีพให้เพียงอยู่กันได้ ถ้าทำได้เงินสวัสดิการนี้อาจไม่จำเป็น หรือใช้เงินน้อยลง หรือไม่ลดวงเงินแต่ถ้าจัดสรรให้คนจำนวนน้อยลง คนที่เดือดร้อนจริง ๆ  คนแก่ทำงานไม่ไหวและยังไม่สามารถพอเพียงได้ก็ได้เงินมากขึ้นจนอาจจะพอเพียง  

สำหรับเกษตกรจริง ๆ แทนที่จะเอาเงินไปช่วยโปะราคาซื้อให้เขา มันน่าจะช่วยลดต้นทุนให้เขา ลดค่าปุ๋ย สอนวิธีทีจะทำให้เขาได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ดูแลด้านชลประทาน ไม่ใช่ปล่อยไปตามธรรมชาติ เวลาเขาจะต้องถางไร่ถางนา จัดหารถไถให้เขา อาจจะฟรี หรือราคาถูกอะไรก็แล้วแต่ เขาอาจจะได้ไม่ต้องเผาด้วย ลดฝุ่น  PM ได้อีก สมัยผมเด็ก ๆ ยกย่องเกษตกรเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ถึงทุกวันนี้กระดูกสันหลังก็ยังมีชีวิตความเป็นอยู่ที่แทบไม่ได้ดีขึ้นเลย  

เพียงพอถัดมาก็คือเรื่องสุขภาพ ไม่ว่าใครจะไม่ชอบทักษิณยังไง แต่ควรต้องยอมรับนะว่าโครงการ 30 บาท นี่ก็เป็นโครงการหนึ่งที่ชวยสนับสนุนให้เกิดความพอเพียงได้ อย่างน้อยแผนการที่อาจต้องออมเงินจำนวนมากเอาไว้เพื่อรักษาพยาบาล ก็อาจโยกไปไว้ในส่วนที่จำเป็นเร่งด่วนกว่าได้ เอาจริง ๆ ถ้าทำได้อยากให้ลองรื้อระบบประกันสุขภาพของประเทศขึ้นมาให้เป็นระบบที่ดีกว่านี้ ส่วนตัวมองว่าถ้าคนเรามีความเพียงพอด้านสุภาพ มันก็อาจจะทำให้เขามุ่งหน้าไปสู่ความพอเพียงในระดับของเขาได้ง่ายขึ้น และเขาอาจสามารถจ่ายเงินเพิ่มเติมเพื่อให้ได้รับการดูแลด้านสุขภาพที่ดีขึ้นกว่าที่รัฐจัดให้

เพียงพอต่อมาคือด้านการศึกษา ที่มาเขียนไว้ลำดับนี้ ไม่ใช่มันไม่สำคัญนะ มันสำคัญน่าจะมากที่สุดเลย เพราะคนเราจะวางแผนชีวิตเพื่อไปสู่ความพอเพียงได้ มันก็เกิดจากการศึกษานี่แหละ ทำยังไงจะทำให้คนในประเทศมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน โดยได้คุณภาพที่ไม่แตกต่างกันมากนัก อันนี้ไม่ได้พูดถึงโรงเรียนทางเลือกอย่างโรงเรียนเอกชน หรือนานาชาตินะ คือถ้าใครมีปัญญาไประดับนั้นได้อย่างไม่ลำบากและคิดว่ามันคุ้มก็ไปทางนั้นได้ เพราะนั่นคือความพอเพียงในระดับของคนเหล่านั้น

โรงเรียนของรัฐจะปรับหลักสูตรยังไงให้เหมาะสมและเท่าเทียมกันให้มากที่สุดเทาที่เป็นไปได้ คือเข้าเรียนโรงเรียนไหนก็ได้ ถ้าเป็นแบบนี้คนก็จะเอาลูกหลานเข้าโรงเรียนใกล้บ้าน นี่ก็ลดค่าครองชีพด้านการเดินทางแล้ว  การเรียนก็เน้นที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม คิดอย่างมีเหตุผล อ่านออกเขียนได้ สื่อสารได้ (ถ้าได้อย่างน้อยสองภาษาก็ดี) ในระดับชั้นประถม คือถ้าคนเราสื่อสารไม่ได้ พูดไม่รู้เรื่อง ฟังไม่รู้เรื่อง อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ มันก็ไปต่ออะไรยากนะ วิชาการต่าง ๆ ค่อยมาปรับมาเรียนในชั้นสูงขึ้นมา แทรกวิชาการวางแผน วิชาการเงินการลงทุนเข้าไป ทำให้เด็กคิดเป็นวางแผนชีวิตตัวเองเป็นตั้งแต่มัธยม ซึ่งเมื่อเขาวางแผนได้มันเขาจะได้วางแผนไปสู่ความพอเพียงตามแบบฉบับของเขา

อาจจะอุดมคติไปหน่อย แต่นี่คือความพอเพียงในความเข้าใจของตัวเอง ซึ่งก็คือการที่เราใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างเหมาะสมตามอัตภาพของเรา ไม่คดโกงเบียดเบียนใคร จะรวยหรือจน จะประกอบอาชีพอะไรก็ได้ แต่การก้าวไปถึงความพอเพียงสำหรับหลายคนก็อาจต้องการการสนับสนุนที่เพียงพอจากภาครัฐด้วย ซึ่งถ้าภาครัฐไม่ทำอะไรเลย เราจะมีรัฐบาลกันไปทำไมล่ะ ใช่ไหมครับ...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น