วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2556

ช่องสามช่วยตอบทีว่าอะไรอยู่เหนือเมฆ

สวัสดีปีใหม่อีกครั้งครับ สำหรับบล็อกนี้ก็เป็นบล็อกแรกในปีนี้นะครับ จริง ๆ ตั้งใจจะเขียนอีกเรื่องหนึ่ง แต่บังเอิญตอนที่กำลังจะเขียนก็มีกระแสเรื่องละครเหนือเมฆ 2 ถูกถอดออกจากช่องสามทั้งที่ยังฉายไม่จบ ก็เลยเปลี่ยนใจเขียนถึงเสียหน่อย บอกตามตรงว่าผมไม่ค่อยได้ตามดูละครเรื่องนี้นะครับ ดังนั้นผมก็ไม่รู้ว่ามันเป็นเพราะอะไร เท่าที่ดูผ่าน ๆ ก็เห็นมีเนื้อหาเกี่ยวกับนักการเมือง เวทย์มนตร์ ฉากบู๊ล้างผลาญ ยิงกัน ปล่อยพลังเหมือนหนังกำลังภายในอะไรประมาณนี้

ช่องสามก็ออกมาชี้แจงว่าที่ต้องแบนเพราะมีเนื้อหาไม่เหมาะสม แต่ก็ไม่บอกว่าไม่เหมาะสมตรงไหน และก่อนที่จะเอาละครมาฉายนี่ไม่ได้ดูเนื้อหาก่อนหรือ ทำไมตอนที่อนุญาตให้ฉายถึงไม่คิดว่ามันไม่เหมาะสม แล้วทำไมตอนนี้มันถึงเกิดไม่เหมาะสมขึ้นมา หรือมันไปโดนต่อมดัดจริตของใครเข้า ละครตบตีกันแย่งผู้ชาย โวยวายโหวกเหวก กรี๊ดกร๊าด เลิฟซีนชัดเจน พวกนี้เป็นละครที่มีเนื้อหาเหมาะสม? แล้วตกลงใครควรเป็นคนคิดว่าอะไรเหมาะสม หรืออะไรไม่เหมาะสม คนไทยคิดเองไม่เป็นหรืออย่างไร

ละครก็คือละครจุดประสงค์หลักก็คือความบันเทิง ผมว่าคนส่วนใหญ่ก็คงไม่ได้จริงจังอะไรกับละคร เรื่องไหนชอบก็ดู เรื่องไหนไม่ชอบก็ไม่ดู จบเรื่องนี้ก็ดูเรื่องใหม่ บางเรื่องอาจมีข้อคิดบ้าง แต่ก็คงไม่มีใครที่ใช้ละครเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ดังนั้นผมว่าผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเราก็อย่าไปยุ่งวุ่นวายกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้เลยครับ ที่พูดมานี่ไม่ใช่ว่าไม่ต้องควบคุมดูแลกันเลย ไอ้ประเภทโป๊เปลือยเรทอาร์เรทเอ๊กซ์อะไรแบบนี้ก็คงปล่อยให้ออกมาในละครไม่ได้ และจริง ๆ เราก็มีการจัดเรทละครกันอยู่แล้ว ก็ทำให้มันชัดเจนเป็นจริงเป็นจัง ละครที่มีเนื้อหารุนแรงมีฉากที่คิดว่าไม่เหมาะสมกับเยาวชน เช่นสูบบุหรี่กินเหล้า เลิฟซีนชัดเจน นางเอกนางร้ายแต่งตัวโชว์ร่องอก ก็จัดเป็นเรท ฉ. ให้ฉายตอนดึกไปเลย จะได้ไม่ต้องไปทำเบลออะไรให้รำคาญ  ผมจะได้ดูได้ชัด ๆ ด้วย เอ๊ย ไม่ใช่ยังงั้น พ่อแม่ผู้ปกครองก็ควรจะดูแลให้ลูกหลานไม่ดูละครที่ไม่เหมาะกับวัยของตนด้วย อันนี้น่าจะรวมถึงหนังโรงด้วยนะครับ ผู้เกี่ยวข้องน่าจะเข้มงวดกันหน่อย

จริง ๆ ผมว่าไอ้ฉากกินเหล้าสูบบุหรี่นี่มันก็ไม่น่าจะต้องเซ็นเซอร์นะ เด็กก็ดูได้ ผมไม่คิดว่าเด็กจะกินเหล้าหรือสูบบุหรี่เพราะดูละครหรอก แล้วไปเบลอคิดว่าเด็กไม่รู้หรือว่าเขาทำอะไร ไปเบลอขวดเหล้าเสร็จแล้วตัวละครกินเสร็จก็เมา เด็กไม่ได้โง่นะครับจะได้เข้าใจว่าไอ้ที่เมาน่ะเมาโค้ก หรือไอ้ฉากเอาปืนขึ้นมาจ่อกันก็ดันเบลอปืนอีก ผมโตมาในยุคที่ไม่ได้เบลอพวกนี้นะครับ ผมไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ และก็ไม่เคยเอาปืนไปจ่อหัวใคร อีกอย่างไอ้เบลอป้ายโฆษณาเหล้าตอนข่าวกีฬาจนดูไม่รู้เรื่องนี่ก็น่าจะเลิกด้วย

ชักออกนอกเรื่องแฮะ กลับมาเข้าเรื่องหน่อย ถ้าการแบนละครเหนือเมฆนี้มีสาเหตุมาจากเรื่องการเมืองจริง ๆ อย่างที่ว่ากัน ต่อไปเราก็คงได้ดูแต่ละครประเภทนางเอกปลอมตัวเป็นผู้ชายแล้วพระเอกไม่รู้ นางเอกหรือพระเอกปลอมตัวเป็นคนใช้ทั้งที่เป็นทายาทมหาเศรษฐี พระเอกเป็นเจ้าชายประเทศสมมติอะไรสักแห่ง บ้านทรายทอง 2013 ดอกส้มสีทอง 2014 แรงเงา 2015 หรือละครประเภทโลกสวยขณะที่ประเทศเราถูกจัดอยู่ในอันดับต้น ๆ เรื่องคอรัปชัน แต่ละครต้องสร้างออกมาว่าเรามีรัฐบาล ข้าราชการที่โปร่งใสซื่อสัตย์อะไรประมาณนี้ แต่คิดอีกทีละครเรื่องหงส์สะบัดลายของช่องสามก็มีเรื่องนักการเมืองโกงนะ ทำไมไม่โดนแบน หรือมันไม่โดนต่อมดัดจริต

สรุปสุดท้ายอยากฝากช่องสามให้มีความชัดเจนครับ ชี้แจงไปเลยว่าแบนเพราะอะไร ถ้ามีใครสั่งก็ต้องกล้าเปิดเผย ตัวเองเป็นสื่อถ้าไม่กล้าเปิดเผยความจริง แล้วจะเป็นสื่อไปทำไม...

วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ห้าอันดับบทความยอดฮิตประจำปี 2012

ขอเริ่มต้นบล็อกสุดท้ายของปีนี้ด้วยการอัญเชิญอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักสิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลกจงดลบันดาลให้ประเทศของเราสงบสุข และขอให้ทุกท่านที่คิดดีทำดีมีความสุขสมหวังตลอดปีใหม่นี้และตลอดไปนะครับ เวลาปีปีหนึ่งผ่านไปเร็วมากครับ ยิ่งปีนี้ทำไมไม่รู้ผมรู้สึกว่ามันผ่านไปเร็วเป็นพิเศษ มีปณิธาณปีใหม่ที่ผมตั้งใจจะทำในปีนี้ตั้งหลายข้อที่ยังทำไม่ได้หรือยังทำไม่เสร็จ สงสัยปีนี้ต้องตั้งปณิธาณว่าขอทำปณิธาณให้สำเร็จซะละมั้งเนี่ย สำหรับบล็อกสุดท้ายของปีนี้ก็ขอเลียนแบบชาวบ้านเขาคือจัดอันดับบล็อกยอดนิยมในปีนี้ 5 อันดับนะครับ เผื่อใครสนใจและพลาดไม่ได้อ่านไป จะได้เข้าไปอ่านกันได้ เริ่มเลยแล้วกันครับว่ามีอะไรบ้าง


  1. เบื้องหลัง Siri ของ Apple หรือจะคืองานวิจัยของนักวิจัยไทย? บล็อกนี้มียอดดู 3295 ครั้งทีเดียวครับ
  2. iPhone 5 ไม่ว้าว แต่ iPod touch รุ่น 5 นี่โดนใจจริง ๆ อันนี้มียอดดู 861 ครั้งครับ 
  3. การเขียนบททฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง (เน้นที่ปริญญานิพนธ์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์) ยอดดูอยู่ที่ 804 ครั้งครับ
  4. การเขียนคำภาษาต่างประเทศในบทความวิชาการ ยอดดูอยู่ที่ 663 ครั้งครับ
  5. คำเตือนสำหรับผู้ที่จะใช้โปรแกรมช่วยคำนวณภาษี ยอดดูอยู่ที่ 573 ครับสำหรับบล็อกนี้ 
นั่นก็คือบทความที่มียอดดูสูงสุดห้าอันดับแรกสำหรับบล็อกผมในปี 2012 ครับ ก็อาจไม่ได้มียอดอ่านหลักหมื่นหลักแสนเหมือนกับบล็อกที่ดัง ๆ ทั้งหลายนะครับ แต่สำหรับผมผมก็ดีใจแล้วครับที่ได้แบ่งปันเรื่องราวที่คิดว่ามีประโยชน์ให้กับทุกคนที่ได้เข้ามาอ่าน แต่ถ้าถามว่าผมชอบบล็อกไหนมากที่สุดมันกลับไม่ใช่บล็อกที่ติดอยู่ในห้าอันดับแรกนี้ครับ แต่เป็นบล็อกลำดับที่หกซึงคือ จะทำยังไงเมื่อ Facebook คิดว่าเราตายไปแล้ว 

สรุปในปีนี้ผมเขียนไปทั้งหมด 21 บล็อก ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อย ก็หวังว่าปีหน้าจะสามารถวางแผนงานเพื่อให้เขียนได้มากกว่านี้ และก็หวังว่าจะยังมีผู้อ่านติดตามผลงานของผมต่อไปนะครับ สวัสดีปีใหม่ครับ... 

วันอาทิตย์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สัญญาณสิบประการที่บอกว่าเราอาจไม่เหมาะกับงานด้านไอที

จะปีใหม่แล้วเห็นหลาย ๆ ที่ เขาจัดอันดับนู่นนี่นั่นประจำปีกัน ผมก็เลยลองหาข้อมูลไปเรื่อย ๆ ว่า เราจะเอาอะไรมาเขียนจัดอันดับกับเขาดีไหม ค้นไปค้นมาก็มาเจอบล็อกนี้เข้าครับ 10 signs that you aren't cut out for IT ไม่ได้เกี่ยวกับการจัดอันดับอะไร แต่เห็นว่าน่าสนใจดีก็เลยเอามาเล่าให้ฟังกันครับ คือในบล็อกนี้เขาได้สรุปสัญญาณ 10 ประการว่าถ้าเกิดขึ้นกับคนที่ทำงานอยู่ในสายไอทีแล้ว อาจต้องกลับมาคิดว่าเราเหมาะกับงานนี้หรือไม่ ลองมาดูกันครับ

 1. คุณเป็นคนไม่อดทน เขาอธิบายว่างานสายนี้ต้องอดทนในการแก้ปัญหา และยังต้องอดทนกับผู้ใช้อีกด้วย ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ผมหลีกเลี่ยงไม่รับงานพัฒนาระบบมานานมากแล้ว เพราะผมเบื่อผู้ใช้นี่แหละ
2.  คุณเป็นคนที่ไม่ชอบที่จะเรียนต่อไปเรื่อย ๆ อันนี้เหมือนที่ผมบอกนักศึกษาเสมอครับว่าเทคโนโลยีด้านนี้มันเปลี่ยนแปลงไปตลอด ดังนั้นเราจะต้องพร้อมที่จะเรียนรู้เสมอ
3.  คุณไม่ยอมทำงานนอกเวลา (9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น) ชัด ๆ ครับ งานด้านนี้ต้องพร้อมทำงานนอกเวลาเสมอ โปรแกรมยังไม่เสร็จแต่ใกล้ถึงเส้นตายแล้ว เซอร์ฟเวอร์ล่มตอนเที่ยงคืนอะไรประมาณนี้ ซึงพูดถึงตรงนี้ผมยังแปลกใจมุนินทร์(แรงเงา) นะครับ ว่าทำไมมีเวลาไปวางแผนแก้แค้นใครต่อใครได้ร้ายกาจอย่างนั้น
4. คุณไม่ชอบคน เขาบอกว่างานด้าน IT มีจุดประสงค์หลักอันหนึ่งก็คือสนับสนุนผู้ใช้ ดังนั้นถ้าคุณไม่ชอบคนก็ไม่น่าทำงานด้านนี้ แต่อันนี้ผมว่าไม่เฉพาะด้านไอทีนะ ถ้าคุณทำงานด้านบริการไม่ว่าอะไรก็ตามคุณต้องมีตรงนี้
5. คุณยอมแพ้ง่ายเกินไป อันนี้ผมว่าคล้าย ๆ ข้อแรกนะ คือไม่อดทน ตรงนี้ขอคุยกับนักศึกษาหน่อยแล้วกันครับ คือหลาย ๆ ครั้งที่ผมให้งานไปค้นคว้านี่คือผมต้องการให้คุณไปค้นคว้าและหาคำตอบด้วยตัวเองนะครับ แต่หลายคนมักจะกลับมาถามและมักจะบอกว่าค้นไม่เจอทำไม่ได้ ซึ่งผมต้องบอกว่าเดี๋ยวนี้คุณมีเครื่องมือให้ค้นคว้าอะไรได้ง่ายกว่าสมัยก่อนมากเลยนะครับ ดังนั้นใช้ความพยายามหน่อยนะครับ ผมจะบอกว่าคำตอบของปัญหายาก ๆ ที่เราสามารถแก้ได้ด้วยตัวเองนี่มันน่าภาคภูมิใจนะครับ
6. คุณหงุดหงิดง่าย อันนี้ก็คล้าย ๆ ข้อแรกอีกเหมือนกัน แต่เขาขยายความว่าเมื่อคุณโกรธ คุณก็เสียเวลาไปกับความโกรธนั่นแหละ แทนที่จะเอาเวลามาแก้ปัญหา
7. คุณทำงานหลายงานพร้อมกันไม่ได้ เพราะคุณอาจต้องรับผิดชอบโครงการหลายโครงการ ซึ่งถ้าคุณสามารถทำงานได้ทีละอย่างก็จะทำให้ชีวิตของคุณยากขึ้น นอกจากงานแล้วอย่าลืมว่าเรายังมีเรื่องส่วนตัวต้องรับผิดชอบด้วยนะ พูดถึงตรงนี้นี่อาจแสดงว่ามุนินทร์เป็นคนที่มีความสามารถแบบนี้ก็ได้ ถึงได้มีเวลาไปแก้แค้นได้
8. คุณมีความฝันที่จะก้าวหน้าขึ้นไปในระดับสูงในอาชีพ ถ้าเป็นอย่างนี้เขาบอกว่าคุณไม่เหมาะ เพราะงานสายนี้อาจพาคุณไปได้สูงสุดแค่ CIO แต่ถ้าคุณฝันถึง CEO งานสายนี้อาจไม่เหมาะกับคุณ
9. คุณเกลียดเทคโนโลยี อันนี้ผมว่าคล้ายข้อสองนะ และคงชัดเจนว่าถ้าคุณเกลียดเทคโนโลยี คุณก็อาจจะไม่ยอมเรียนรู้ และไม่ยอมพัฒนาตัวเองให้ได้ความรู้ใหม่ ๆ คุณอาจจะยึดติดกับเทคนิควิธีการแก้ไขปัญหาแบบเก่า ๆ ซึ่งล้าสมัยไปแล้ว คุณอาจไม่ยอมรับการเข้ามาของอุปกรณ์เคลื่อนที่ ซึ่งคุณมองว่าทำให้ชีวิตของคุณยากขึ้นเพราะต้องมาเรียนรู้วิธีการพัฒนาโปรแกรมแบบใหม่เป็นต้น
10. คุณปิดมือถือตอนกลางคืน อันนี้ก็คงเกี่ยวข้องกับข้อ 3 เพราะถ้าคุณปิดโทรศัพท์ก็เท่ากับบอกกลาย ๆ ว่านอกเวลางานแล้วอย่ามายุ่งกับฉันนะอะไรประมาณนี้ ดูไปดูมานี่มันจะคล้ายหมอขึ้นทุกทีแล้วนะ ต้องตามตัวได้ตลอด 24 ชั่วโมง

 ยังไงก็ตามเขาบอกว่าถ้าคุณมีสิ่งเหล่านี้สักสองสามข้อก็ไม่ได้หมายความว่าคุณควรจะออกจากงานด้านนี้ไปทันทีนะครับ เขาบอกว่ามันแค่อาจเป็นสัญญาณว่าคุณอาจจะต้องกลับไปเรียนต่อเพื่อที่จะพาคุณไปทำงานในสิ่งที่คุณชอบ และผมไม่อยากบอกเลยว่าผมอาจเป็นคนหนึ่งที่เป็นแบบนี้ เพราะผมลองตามลิงก์งานที่เป็นทางเลือกให้คนที่ไม่ชอบทำงานด้านไอทีตรง ๆ งานหนึ่งก็คือสอนหนังสือนี่เอง และมันก็เป็นงานที่ผมชอบจริง ๆ ซะด้วย

ปีใหม่นี้ก็ขอให้ทุกคนหาตัวเองให้เจอนะครับว่าชอบงานอะไร และขอให้มีความสุขกับการทำงานนะครับ สวัสดีปีใหม่ 2556 ล่วงหน้าไว้ก่อนนะครับ

วันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ข่าวงานวิจัยด้านไอที 29/12/2555

สรุปข่าวส่งท้ายปี หลังจากไม่ได้โพสต์มานาน หวังว่าปีหน้าจะโพสต์ได้มากขึ้น สวัสดีปีใหม่ครับ

วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555

มารู้จักปุ่มไปรษณีย์และปุ่มบทวิจารณ์กันดีกว่า

สุดสัปดาห์นี้มีเรื่องเบา ๆ ที่ตัวเองได้เจอมาเล่าให้ฟังกันครับ จริง ๆ มันเกิดขึ้นประมาณเกือบเดือนมาแล้วตั้งใจจะเขียนเล่าให้ฟังกันแต่พอดีไม่ค่อยว่าง ประกอบกับมีเรื่องอื่นแทรกเข้ามาเลยเขียนก่อน สำหรับวันนี้เป็นเรื่องนี้เกี่ยวกับการแปลส่วนติดต่อกับผู้ใช้ของโปรแกรมมาเป็นภาษาท้องถิ่นหรือที่พวกเราอาจรู้จักกันในชื่อ localization ครับ

ปัญหาที่เกิดกับ localization นี้ผมว่าพวกเราทุกคนน่าจะเจอกันมามากบ้างน้อยบ้างนะครับคือประเภทเปิดเมนูภาษาไทยขึ้นมาแล้วต้องนั่งคิดกลับว่าภาษาอังกฤษของมันคืออะไรหว่า จนบางคนเลือกใช้เมนูภาษาอังกฤษไปเลย แต่ผมว่าปัญหานี้เดี๋ยวนี้ดีขึ้นมากนะครับ และผมก็เข้าใจว่าทำไมสมัยก่อนบางครั้งการแปลออกมามันดูเพี้ยน ๆ เพราะตัวเองเคยมีประสบการณ์การทำ localization ให้กับไมโครซอฟท์เมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว โดยโปรแกรมที่ผมมีส่วนทำก็คือโปรแกรมที่ชื่อว่า Microsoft Work ไม่ทราบว่ามีใครรู้จักบ้างไหมครับ... เงียบ สงสัยจะ(ไม่) ช้อต เจ้าโปรแกรมนี้พูดง่าย ๆ คือโปรแกรม Microsoft Office ชุดเล็ก คือมันจะมีโปรแกรมพวก Word Processor และ Spread Sheet อะไรเหล่านี้ แต่แน่นอนครับความสามารถของมันสู้ Microsoft Office ไม่ได้แน่ ซึ่งเข้าใจว่าโปรแกรมนี้มันไม่ประสบความสำเร็จนะครับ เพราะผมว่ามันทับซ้อนกับ Microsoft Office (หวังว่ามันคงไม่ได้เจ๊งเพราะผมไปทำ localization ให้นะ) และจากการทำ localization โปรแกรมนี้มันทำให้ผมเข้าใจเลยว่าทำไมการแปลมันถึงเพี้ยน เพราะจากประสบการณ์ที่ผมทำมาก็คือ ผมจะได้รายการคำศัพท์มาแล้วก็นั่งแปลไป โดยบางครั้งก็ไม่รู้ว่าไอ้คำศัพท์นี้มันจะอยู่ในเมนูไหนหรือโปรแกรมอะไร ซึ่งการทำอย่างนี้มีโอกาสผิดพลาดสูงนะครับ เพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ต้องใช้ความหมายไม่ใช่คำแปล คือมันต้องรู้บริบทรอบข้างของคำศัพท์นั้นด้วยถึงจะใช้คำได้ถูกต้อง แต่คิดว่าปัจจุบันนี้ไมโครซอฟท์คงเข้าใจปัญหานี้มากขึ้นแล้วแหละครับ เพราะเท่าที่ลองใช้เมนูภาษาไทยดูก็รู้สึกว่าดีขึ้นมาก 

กลับมาเรื่องที่ผมเจอดีกว่า คือเมื่อเดือนก่อนผมได้ใช้โปรแกรมเช็คอินยอดนิยมบนอุปกรณ์เคลื่อนที่โปรแกรมหนึ่ง คือโปรแกรม Foursquare ปกติผมจะใช้แค่เช็คอินตำแหน่งที่ผมอยู่เท่านั้น แต่วันนั้นผมพาลูกไปเรียนฟุตบอลและก็ถ่ายรูปเขาก็เลยเช็คอินแล้วก็แนบรูปของเขาไปด้วย แต่บังเอิญตอนเช็คอินผมลืมให้มันส่งข้อมูลไปที่ Facebook และ Twitter ด้วยก็เลยต้องมาทำตอนหลัง และเมื่อผมเข้ามาผมก็เจอหน้าจอนี้ครับ  

เห็นปุ่มไปรษณีย์ไหมครับ พวกเราคิดว่ามันคือปุ่มอะไรครับ .... ใช่แล้วครับมันคือปุ่ม Post บอกตามตรงว่าตอนแรกที่ผมเห็นปุ่มนี้ผมนั่งอี้งอยู่พักหนึ่ง เพราะนึกไม่ออกว่าปุ่มนี้มันคืออะไร เกือบไม่กล้ากดแล้วครับ เพราะกลัวมันจะเอาข้อความผมไปส่งตู้ไปรษณีย์ :) ถึงแม้ผมจะมีความเข้าใจเรื่อง localization อยู่บ้าง แต่พอเห็นอันนี้เข้าแล้วก็อดขำและประหลาดใจไม่ได้ คือประการแรกผมมองว่าโปรแกรมอย่าง Foursquare นี่ ไม่ใช่โปรแกรมใหญ่นะครับ ดูมันมีหน้าจอหลัก ๆ ไม่กี่หน้าจอเอง ดังนั้นไม่น่าพลาด และคำว่า Post ในภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับโปรแกรมนี้ มันก็ไม่น่าจะสื่อถึงอะไรได้อย่างอื่นนอกจากการโพสต์ข้อมูล แต่คนแปลกลับเลือกใช้คำว่าไปรษณีย์ ซึ่งในการใช้งานของคนไทยเรามักจะนึกถึงแต่การส่งจดหมายหรือพัสดุ จะว่าใช้ Google Translate แปลแทนจ้างคนแปลก็ไม่น่าใช่ เพราะผมลองใช้ Google Translate ลองแปลคำว่า Post ดูมันก็ใช้คำว่าโพสต์

ยังไม่พอครับคราวนี้กับ Apple บ้าง อันนี้เพิ่งเจอเมื่อสักสัปดาห์ก่อน คือผมสอนลูกสมัคร Apple ID อันนี้เสียดายไม่ได้จับหน้าจอไว้ และพยายามเข้าไปที่หน้าจอนั้นอีกก็เข้าไม่ได้ รู้สึกว่ามันจะขึ้นมาเฉพาะตอนเราสมัคร Apple ID ใหม่ เอาเป็นว่าเราให้ฟังแบบแห้ง ๆ แล้วกันนะครับ คือหลังจากเราป้อนข้อมูลไปมันจะมีปุ่มขึ้นมาปุ่มหนึ่งครับปุ่มนั้นมีคำว่าบทวิจารณ์ ซึ่งพอเรา (ผมกับลูก) เจอปุ่มนี้เข้าก็มองหน้ากันไปมาว่ามันคืออะไร มันจะให้เราวิจารณ์อะไร สุดท้ายก็นึกออกว่ามันหมายถึงปุ่ม Review ซึ่งตรงนี้คำว่า Review ควรจะหมายถึงการตรวจทานมากกว่านะครับ เจอแบบนี้สงสัยคงต้องใช้เมนูภาษาอังกฤษไปตลอดครับ แต่คิดอีกทีก็เป็นการฝึกสมองดีเหมือนกันนะครับ

ผมว่าหลายคนมีความเข้าใจผิดว่าคำศัพท์ในภาษาอังกฤษนี่เราจะแปลได้แบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น  แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่นะครับ ศัพท์ในภาษาอังกฤษนี่มันมีลักษณะเป็นความหมายมากกว่า คำ ๆ หนึ่งอยู่ในบริบทหนึ่งมันจะหมายถึงอย่างหนึ่ง อีกบริบทหนึ่งอาจจะหมายถึงอีกอย่างหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้นผู้แปลก็ควรจะมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่จะแปลในระดับหนึ่งด้วย ผมมีประสบการณ์การอ่านบทความภาษาไทยบทความหนึ่งเมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว และยังติดใจมาจนถึงทุกวันนี้ บทความนั้นเป็นบทความทางคณิตศาสตร์ และคนแปลได้ใช้คำหนึ่งครับคำนั้นคือ ผลิตภัณฑ์คาร์ทีเชียน เดาได้ไหมครับว่าเขาแปลมาจากคำว่าอะไร ใครที่จบคณิตศาสตร์มาอาจตอบได้ ครับใช่แล้ว Cartesian Product ซึ่งในทางคณิตศาสตร์คำที่ใช้กันคือผลคูณคาร์ทีเชียน แต่จริง ๆ ก็คงโทษคนแปลไม่ได้นะครับ เพราะเมื่อสิบกว่าปีก่อนคนที่ทำงานด้านแปลเก่ง ๆ ในประเทศเราอาจยังมีน้อย ยิ่งไปกว่านั้นผมลองใช้ Google Translate ดู มันก็แปลว่า ผลิตภัณฑ์ Cartesian ครับ

ที่เล่ามาให้ฟังทั้งหมดนี่ก็ไม่มีเจตนาจะไปตำหนิหรือติเตียนใครนะครับ แค่อยากจะเล่าให้ฟังแล้วก็ให้ระมัดระวังกันเวลาจะแปลหรือเขียนบทความอะไร แต่สุดท้้ายแล้วไม่รู้ว่าเรื่องนี้มันจะย้อนมาเข้าตัวหรือเปล่า เพราะตัวผมเองมักจะจู้จี้กับนักศึกษา (ที่หลงผิดมาทำงานด้วย) ในที่ปรึกษา หรือนักศึกษา (ที่โชคร้าย) ได้ผมเป็นกรรมการสอบ ให้ระมัดระวังเรื่องการเขียน และการใช้คำ พอเขามาอ่านเรื่องนี้เข้าอาจย้อนว่าโห.... อาจารย์จะเอาอะไรกับพวกผม (หนู) นักหนา ดูอย่างโปรแกรมที่คนใช้กันเกือบทั้งโลกอย่าง Foursquare หรือ Apple สิ เขายังทำแบบนี้เลย....