วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555

มารู้จักปุ่มไปรษณีย์และปุ่มบทวิจารณ์กันดีกว่า

สุดสัปดาห์นี้มีเรื่องเบา ๆ ที่ตัวเองได้เจอมาเล่าให้ฟังกันครับ จริง ๆ มันเกิดขึ้นประมาณเกือบเดือนมาแล้วตั้งใจจะเขียนเล่าให้ฟังกันแต่พอดีไม่ค่อยว่าง ประกอบกับมีเรื่องอื่นแทรกเข้ามาเลยเขียนก่อน สำหรับวันนี้เป็นเรื่องนี้เกี่ยวกับการแปลส่วนติดต่อกับผู้ใช้ของโปรแกรมมาเป็นภาษาท้องถิ่นหรือที่พวกเราอาจรู้จักกันในชื่อ localization ครับ

ปัญหาที่เกิดกับ localization นี้ผมว่าพวกเราทุกคนน่าจะเจอกันมามากบ้างน้อยบ้างนะครับคือประเภทเปิดเมนูภาษาไทยขึ้นมาแล้วต้องนั่งคิดกลับว่าภาษาอังกฤษของมันคืออะไรหว่า จนบางคนเลือกใช้เมนูภาษาอังกฤษไปเลย แต่ผมว่าปัญหานี้เดี๋ยวนี้ดีขึ้นมากนะครับ และผมก็เข้าใจว่าทำไมสมัยก่อนบางครั้งการแปลออกมามันดูเพี้ยน ๆ เพราะตัวเองเคยมีประสบการณ์การทำ localization ให้กับไมโครซอฟท์เมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว โดยโปรแกรมที่ผมมีส่วนทำก็คือโปรแกรมที่ชื่อว่า Microsoft Work ไม่ทราบว่ามีใครรู้จักบ้างไหมครับ... เงียบ สงสัยจะ(ไม่) ช้อต เจ้าโปรแกรมนี้พูดง่าย ๆ คือโปรแกรม Microsoft Office ชุดเล็ก คือมันจะมีโปรแกรมพวก Word Processor และ Spread Sheet อะไรเหล่านี้ แต่แน่นอนครับความสามารถของมันสู้ Microsoft Office ไม่ได้แน่ ซึ่งเข้าใจว่าโปรแกรมนี้มันไม่ประสบความสำเร็จนะครับ เพราะผมว่ามันทับซ้อนกับ Microsoft Office (หวังว่ามันคงไม่ได้เจ๊งเพราะผมไปทำ localization ให้นะ) และจากการทำ localization โปรแกรมนี้มันทำให้ผมเข้าใจเลยว่าทำไมการแปลมันถึงเพี้ยน เพราะจากประสบการณ์ที่ผมทำมาก็คือ ผมจะได้รายการคำศัพท์มาแล้วก็นั่งแปลไป โดยบางครั้งก็ไม่รู้ว่าไอ้คำศัพท์นี้มันจะอยู่ในเมนูไหนหรือโปรแกรมอะไร ซึ่งการทำอย่างนี้มีโอกาสผิดพลาดสูงนะครับ เพราะภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ต้องใช้ความหมายไม่ใช่คำแปล คือมันต้องรู้บริบทรอบข้างของคำศัพท์นั้นด้วยถึงจะใช้คำได้ถูกต้อง แต่คิดว่าปัจจุบันนี้ไมโครซอฟท์คงเข้าใจปัญหานี้มากขึ้นแล้วแหละครับ เพราะเท่าที่ลองใช้เมนูภาษาไทยดูก็รู้สึกว่าดีขึ้นมาก 

กลับมาเรื่องที่ผมเจอดีกว่า คือเมื่อเดือนก่อนผมได้ใช้โปรแกรมเช็คอินยอดนิยมบนอุปกรณ์เคลื่อนที่โปรแกรมหนึ่ง คือโปรแกรม Foursquare ปกติผมจะใช้แค่เช็คอินตำแหน่งที่ผมอยู่เท่านั้น แต่วันนั้นผมพาลูกไปเรียนฟุตบอลและก็ถ่ายรูปเขาก็เลยเช็คอินแล้วก็แนบรูปของเขาไปด้วย แต่บังเอิญตอนเช็คอินผมลืมให้มันส่งข้อมูลไปที่ Facebook และ Twitter ด้วยก็เลยต้องมาทำตอนหลัง และเมื่อผมเข้ามาผมก็เจอหน้าจอนี้ครับ  

เห็นปุ่มไปรษณีย์ไหมครับ พวกเราคิดว่ามันคือปุ่มอะไรครับ .... ใช่แล้วครับมันคือปุ่ม Post บอกตามตรงว่าตอนแรกที่ผมเห็นปุ่มนี้ผมนั่งอี้งอยู่พักหนึ่ง เพราะนึกไม่ออกว่าปุ่มนี้มันคืออะไร เกือบไม่กล้ากดแล้วครับ เพราะกลัวมันจะเอาข้อความผมไปส่งตู้ไปรษณีย์ :) ถึงแม้ผมจะมีความเข้าใจเรื่อง localization อยู่บ้าง แต่พอเห็นอันนี้เข้าแล้วก็อดขำและประหลาดใจไม่ได้ คือประการแรกผมมองว่าโปรแกรมอย่าง Foursquare นี่ ไม่ใช่โปรแกรมใหญ่นะครับ ดูมันมีหน้าจอหลัก ๆ ไม่กี่หน้าจอเอง ดังนั้นไม่น่าพลาด และคำว่า Post ในภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับโปรแกรมนี้ มันก็ไม่น่าจะสื่อถึงอะไรได้อย่างอื่นนอกจากการโพสต์ข้อมูล แต่คนแปลกลับเลือกใช้คำว่าไปรษณีย์ ซึ่งในการใช้งานของคนไทยเรามักจะนึกถึงแต่การส่งจดหมายหรือพัสดุ จะว่าใช้ Google Translate แปลแทนจ้างคนแปลก็ไม่น่าใช่ เพราะผมลองใช้ Google Translate ลองแปลคำว่า Post ดูมันก็ใช้คำว่าโพสต์

ยังไม่พอครับคราวนี้กับ Apple บ้าง อันนี้เพิ่งเจอเมื่อสักสัปดาห์ก่อน คือผมสอนลูกสมัคร Apple ID อันนี้เสียดายไม่ได้จับหน้าจอไว้ และพยายามเข้าไปที่หน้าจอนั้นอีกก็เข้าไม่ได้ รู้สึกว่ามันจะขึ้นมาเฉพาะตอนเราสมัคร Apple ID ใหม่ เอาเป็นว่าเราให้ฟังแบบแห้ง ๆ แล้วกันนะครับ คือหลังจากเราป้อนข้อมูลไปมันจะมีปุ่มขึ้นมาปุ่มหนึ่งครับปุ่มนั้นมีคำว่าบทวิจารณ์ ซึ่งพอเรา (ผมกับลูก) เจอปุ่มนี้เข้าก็มองหน้ากันไปมาว่ามันคืออะไร มันจะให้เราวิจารณ์อะไร สุดท้ายก็นึกออกว่ามันหมายถึงปุ่ม Review ซึ่งตรงนี้คำว่า Review ควรจะหมายถึงการตรวจทานมากกว่านะครับ เจอแบบนี้สงสัยคงต้องใช้เมนูภาษาอังกฤษไปตลอดครับ แต่คิดอีกทีก็เป็นการฝึกสมองดีเหมือนกันนะครับ

ผมว่าหลายคนมีความเข้าใจผิดว่าคำศัพท์ในภาษาอังกฤษนี่เราจะแปลได้แบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น  แต่จริง ๆ แล้วมันไม่ใช่นะครับ ศัพท์ในภาษาอังกฤษนี่มันมีลักษณะเป็นความหมายมากกว่า คำ ๆ หนึ่งอยู่ในบริบทหนึ่งมันจะหมายถึงอย่างหนึ่ง อีกบริบทหนึ่งอาจจะหมายถึงอีกอย่างหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้นผู้แปลก็ควรจะมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่จะแปลในระดับหนึ่งด้วย ผมมีประสบการณ์การอ่านบทความภาษาไทยบทความหนึ่งเมื่อสิบกว่าปีมาแล้ว และยังติดใจมาจนถึงทุกวันนี้ บทความนั้นเป็นบทความทางคณิตศาสตร์ และคนแปลได้ใช้คำหนึ่งครับคำนั้นคือ ผลิตภัณฑ์คาร์ทีเชียน เดาได้ไหมครับว่าเขาแปลมาจากคำว่าอะไร ใครที่จบคณิตศาสตร์มาอาจตอบได้ ครับใช่แล้ว Cartesian Product ซึ่งในทางคณิตศาสตร์คำที่ใช้กันคือผลคูณคาร์ทีเชียน แต่จริง ๆ ก็คงโทษคนแปลไม่ได้นะครับ เพราะเมื่อสิบกว่าปีก่อนคนที่ทำงานด้านแปลเก่ง ๆ ในประเทศเราอาจยังมีน้อย ยิ่งไปกว่านั้นผมลองใช้ Google Translate ดู มันก็แปลว่า ผลิตภัณฑ์ Cartesian ครับ

ที่เล่ามาให้ฟังทั้งหมดนี่ก็ไม่มีเจตนาจะไปตำหนิหรือติเตียนใครนะครับ แค่อยากจะเล่าให้ฟังแล้วก็ให้ระมัดระวังกันเวลาจะแปลหรือเขียนบทความอะไร แต่สุดท้้ายแล้วไม่รู้ว่าเรื่องนี้มันจะย้อนมาเข้าตัวหรือเปล่า เพราะตัวผมเองมักจะจู้จี้กับนักศึกษา (ที่หลงผิดมาทำงานด้วย) ในที่ปรึกษา หรือนักศึกษา (ที่โชคร้าย) ได้ผมเป็นกรรมการสอบ ให้ระมัดระวังเรื่องการเขียน และการใช้คำ พอเขามาอ่านเรื่องนี้เข้าอาจย้อนว่าโห.... อาจารย์จะเอาอะไรกับพวกผม (หนู) นักหนา ดูอย่างโปรแกรมที่คนใช้กันเกือบทั้งโลกอย่าง Foursquare หรือ Apple สิ เขายังทำแบบนี้เลย....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น