เริ่มเขียนเรื่องนี้มาหลายวันแล้วครับ แต่ไม่มีเวลามาเขียนจนเสร็จ จนกระแสเริ่มซาไปแล้ว แต่คิดว่ายังไงก็ยังอยากเขียน ก็คือเรื่องระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ (อีกแล้ว) ที่มีแนวโน้มว่าจะบังคับใช้ปีการศึกษา 2561 นี่แหละครับ
หลังจากรวบรวมเสียงของเด็กเกี่ยวกับแนวคิดจะเปลี่ยนระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ ใน
บล็อกที่แล้ว วันนี้ก็ขอแสดงความเห็นของตัวเองบ้างนะครับ สำหรับใครที่ยังไม่รู้ว่าแนวคิดนี้คืออะไร ถ้าคลิกดู
ที่บล็อกที่แล้วของผมก็จะเห็น หรือจะลองอ่านดูจากลิงก์นี้ได้ครับ
http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/638816 ซึ่งผมแนะนำว่าถ้าใครเข้าไปอ่านลิงก์นี้แล้ว ขอให้อ่านให้จบนะครับ เพราะมันมีอะไรที่ผมอยากจะมาพูดถึงในบล็อกของผมด้วย
ก่อนที่จะพูดถึงแนวคิดใหม่นี้ เรามาทำความเข้าใจระบบที่มีอยู่ในปัจจุบันกันก่อนแล้วกันนะครับ เพราะจริง ๆ ผมเชื่อว่าคนที่เป็นพ่อแม่ที่มีลูกเข้ามหาวิทยาลัยในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ น่าจะเป็นคนยุคที่สมัยตัวเองการสอบเข้ามหาวิทยาลัย มีการสอบเอ็นทรานซ์เพียงครั้งเดียว แล้วก็นั่งลุ้นว่าคะแนนจะติดไหม แต่ระบบใหม่ที่เด็กใช้กันมาตลอดหลายปีนี้ ถูกพัฒนาขึ้นมาด้วยเหตุผลของผู้ใหญ่ที่มองเห็นว่า ระบบเอ็นทรานซ์แบบดั้งเดิมทำให้เด็กเครียด ไม่มีโอกาสแก้ตัว และทำให้เด็กไม่สนใจเรียนในห้อง มุ่งหน้าไปกวดวิชาเพื่อเอนทรานซ์อย่างเดียว (ซึ่งระบบใหม่ผมก็ไม่เห็นว่ามันจะแก้ปัญหาได้ โรงเรียนกวดวิชาเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด) จากตอนนั้นถึงตอนนี่ต้องบอกว่าระบบมีการปรับเปลี่ยนแทบทุกปี จนดูเหมือนจะเริ่มลงตัวมาในช่วงสองสามปีหลัง ดังนั้นผมจะขอสรุประบบล่าสุดที่ใช้กันอยู่ให้ฟังก่อนนะครับ บอกตามตรงผมก็เพิ่งจะมาเข้าใจระบบนี้จริง ๆ เมื่อปีที่แล้วนี้เอง เพราะลูกคนโตต้องสอบเข้า
สำหรับระบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงจะใช้กับนักเรียนที่จะเข้ามหาวิทยาลัยในปี 2560 ก็เป็นดังนี้ครับ นักเรียนจะเข้ามหาวิทยาลัยได้ตามช่องทางนี้ครับ
1. โควต้า มหาวิทยาลัยจะให้โควต้ากับนักเรียนซึ่งมีความสามารถพิเศษ อยู่ในภูมิภาคเดียวกับมหาวิทยาลัย หรืออยู่ในโรงเรียนที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเป็นต้น ซึ่งโควต้าประเภทนี้อาจจะมีการสอบเองโดยมหาวิทยาลัย หรือจะใช้คะแนนสอบกลาง (จะกล่าวถึงต่อไป) มาประกอบบ้างก็ได้
2. รับตรง โดยมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะประกาศรับนักศึกษาด้วยตัวเอง ซึ่งการรับแบบนี้แหละครับ ที่ระบบที่นำมาใช้ใหม่เขาบอกว่ามันเป็นปัญหาที่เขาตั้งใจจะมาแก้ โดยระบบนี้มหาวิทยาลัยบางแห่งก็จะจัดสอบเอง หรือใช้คะแนนสอบกลาง โดยกำหนดเงื่อนไขขั้นต่ำในการรับ ถ้านักศึกษาไม่ผ่านเงื่อนไขขั้นต่ำ ก็ไม่สามารถสมัครได้ และถ้านักเรียนได้ในรอบนี้แล้ว ก็มักจะเรียกเก็บเงินค่ามัดจำล่วงหน้าไว้ก่อน เผื่อนักเรียนไปสมัครที่อื่น แล้วจะสละสิทธิ์ (คือมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะมีวันสอบหรือช่วงยื่นคะแนนและประกาศผลไม่ตรงกัน ดังนั้นใครประกาศรับก่อนก็จะเก็บเงินค่ามัดจำไว้ก่อน) ผมเล่ามาถึงตรงนี้คิดว่าคงเห็นปัญหาที่เขาพยายามจะแก้แล้วใช่ไหมครับ แต่จริง ๆ ระบบนี้มันก็มีข้อดีนะครับ ซึ่งผมจะพูดต่อไปทีหลัง ระบบรับตรงนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งจะเข้าร่วมสิ่งที่เรียกว่า Clearing House ก็คือถ้านักเรียนคนไหนที่ได้มหาวิทยาลัยในรอบนี้แล้ว จะไม่มีสิทธิ์ไปเข้าระบบแอดมิชชันกลาง (จะพูดถึงต่อไป) ด้วยการยืนยันสิทธิ์ เอาง่าย ๆ คือเขาจะไม่ให้เด็กที่มีที่เรียนแล้วไปกั๊กที่คนอื่นในรอบแอดมิดชันอีก ถ้าอยากไปแอดมิชชันก็ต้องสละสิทธิ์สิ่งที่ได้ในรอบรับตรง
3. แอดมิชชันกลาง อันนี้ก็เป็นระบบที่ใช้คะแนนสอบกลาง ให้นักเรียนเลือกมหาวิทยาลัย และคณะที่ต้องการได้ 4 อันดับ ถ้าคะแนนถึงอันดับไหนก็ได้อันดับนั้น ในระบบปัจจุบันการแอดมิชชันจะอยู่หลังจากรับตรง และเป็นความหวังเกือบสุดท้ายของเด็ก เพราะคู่แข่งก็จะน้อยลง เนื่องจากพวกที่รับตรงและยืนยันสิทธิ์ไปแล้ว จะไม่มาแข่งกับเขาอีก
4. รับตรงหลังแอดมิชชันกลาง อันนี้มหาวิทยาลัยบางแห่งจะเปิดรับอีกในกรณีได้นักศึกษาไม่ครบตามเป้าหมาย
5. การสอบ กสพท. อันนี้เป็นการสอบที่จัดให้นักศึกษาที่จะเข้าแพทย์ ทันตแพทย์ อะไรพวกนี้ เข้าใจว่าที่ต้องมาจัดสอบเองในสาขานี้ก็เพราะว่า มหาวิทยาลัยมองว่าข้อสอบกลางไม่สามารถคัดกรองคนที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมได้
คราวนี้มามองดูการสอบกลางบ้างว่านักเรียนต้องสอบอะไรบ้าง
1. GAT/PAT ซึ่ง GAT ก็เป็นการสอบความถนัดทางภาษา ทั้งไทยและอังกฤษ ส่วน PAT ก็คือการสอบความถนัดทางด้านต่าง ๆ เช่น PAT1 คือเลข PAT2 วิทยาศาสตร์ (รวมฟิสิกส์ เคมี ชีวะ) และ PAT2 นี้นักเรียนที่อยู่สายศิลป์ก็เลือกสอบได้นะครับ แปลกดีเหมือนกัน PAT5 คือความถนัดด้านครูเป็นต้น ซึ่งจะต้องสอบ PAT อะไรบ้างนั้น แต่ละคณะในแต่ละมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้กำหนด นักเรียนจะต้องดูเงื่อนไขของคณะที่ต้องการเข้าเอาเองว่าต้องสอบอะไรบ้าง GAT/PAT จะสอบได้สองครั้ง ครั้งแรกจะประมาณ ปลายปี (ประมาณ ต.ค. - พ.ย.) คือยังเรียน ม.6 ไม่จบก็ต้องสอบแล้ว ครั้งที่สองจะประมาณเดือนมีนาคม หลังจากจบม. 6 แล้ว
2. 9 วิชาสามัญ ก็พวก เลข ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย สังคม อะไรพวกนี้ ซึ่งนักเรียนก็ต้องดูว่าคณะที่ตัวเองต้องการเข้าเขาต้องการวิชาอะไรบ้าง อันนี้สอบประมาณ ธ.ค.
3. ONET อันนี้สอบหลังสุด และส่วนใหญ่จะใช้ตอนแอดมิชชันกลาง และที่เขาคิด ONET ขึ้นมาเพราะเขาบอกว่าจะให้นักเรียนตั้งใจเรียนในห้องเรียนมากขึ้น และทำให้เกรดที่ได้ของโรงเรียนมันเท่าเทียมกัน เพราะโรงเรียนมีคุณภาพไม่เท่ากัน บางโรงเรียนปล่อยเกรด อะไรแบบนี้ ONET จะนำไปถ่วงกับเกรดที่นักเรียนได้ ดังนั้นใครทำ ONET ได้น้อยก็จะทำให้เกรดที่ได้จากโรงเรียนลดลง และเขาค่อย ๆ เพิ่มน้ำหนักของการเข้ามหาวิทยาลัยด้วย ONET เพิ่มขึ้นทุกปี (แต่ได้ผลตามที่เขาคิดไหม ... ขอไม่พูดแล้วกัน)
เห็นนักเรียนต้องสอบแล้วเหนื่อยใช่ไหมครับ และถ้ามหาวิทยาลัยหรือคณะในบางมหาวิทยาลัยที่รับตรงแบบให้ไปสอบ อย่างคณะบริหารธุรกิจของธรรมศาสต์ในปีก่อนหน้าปีนี้ เขาก็จะมีการสอบที่เรียกว่า Smart-1 ซึ่งเปิดสอบทั้งปี ให้นักเรียนไปสอบเก็บคะแนนเพื่อนำไปยื่นเข้ามหาวิทยาลัย หรือคณะอื่น ๆ ที่จัดสอบเองอีก ก็จะต้องเหนื่อยเข้าไปอีก ซึ่งระบบใหม่ส่วนหนึ่งนี้เขามุ่งจะแก้ปัญหานี้ เพื่อให้นักเรียนสอบน้อยลง ประหยัดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง และเขายังมองถึงการลดความเหลื่อมล้ำด้วย คือเขามองว่าคนรวยก็มีสิทธิ์ที่จะได้สอบมากกว่าคนจนอะไรประมาณนี้
ก็คงพอเห็นภาพ และเห็นปัญหาที่เขาพยายามจะแก้แล้วนะครับ คราวนี้ผมจะขอแสดงความเห็นบ้าง แต่ก่อนจะแสดงความเห็นขอพูดสั้น ๆ ก่อนว่าสิ่งที่พวกเขาคิดขึ้นมามันเหมือนคิดอะไรไม่ค่อยจะสุด มีปัญหาให้ลองผิดลองถูกมาแทบจะตลอด คนที่รับผลก็คือนักเรียนนี่แหละ เพราะคิดปุ๊ปก็ทำปั๊ป พอเห็นว่ามีปัญหาก็เปลี่ยนใหม่ จะทำอะไรก็ไม่เคยถามความคิดของคนที่ต้องเป็นผู้ปฏิบัติ ไม่รู้คนพวกนี้ไม่มีลูกมีหลานที่ต้องสอบบ้างหรือยังไง
คราวนี้มาดูสิ่งที่เขาพยายามจะแก้ด้วยระบบใหม่นี้คือระบบรับตรง อันนี้เห็นด้วยว่าระบบรับตรง นักเรียนต้องสอบเยอะ ผู้ปกครองเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม และมหาวิทยาลัยบางแห่งใช้ตรงนี้เป็นแหล่งหารายได้ทั้งค่าสอบและค่ามัดจำล่วงหน้า แต่ประเด็นหลังนี้ก็ต้องบอกว่าส่วนหนึ่งก็เพราะนโยบายที่จะให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบด้วยหรือเปล่า มหาวิทยาลัยหลายแห่งก็เลยหันมาหารายได้ด้วยวิธีนี้ ไม่ได้เห็นด้วยนะ แต่อยากให้คิดว่าเรื่องนี้มันก็เป็นปัญหา ส่วนเรื่องคนรวยได้สอบเยอะ ก็อยากให้คิดว่าคนที่ได้สอบเยอะก็ใช่ว่ามันจะสอบได้นะ คนที่ตั้งใจเรียนอาจสอบครั้งเดียวแล้วได้เลยก็ได้ และที่ต้องมองคือข้อดีอันหนึ่งของระบบรับตรงที่ผมมองเห็นคือ ระบบรับตรงจะทำให้มหาวิทยาลัยได้เด็กที่มีการเตรียมพร้อม (ผมไม่ได้บอกว่าเก่งกว่าพวกแอดมิชชันนะ) คือการรับตรงถ้าใช้คะแนนจากการสอบกลางนี่ มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะตั้งเงื่อนไขการรับไว้ค่อนข้างสูง และส่วนใหญ่จะใช้ผลจากการสอบ GAT/PAT ครั้งที่ 1 และ 9 วิชาสามัญ ซึ่งนักเรียนที่ผ่านมาได้คือเขามีการเตรียมพร้อมที่ดี แต่ประเด็นนี้จริง ๆ ก็ไม่สำคัญหรอก เพราะคนที่มันเตรียมพร้อมจะให้สอบอะไรแบบไหนมันก็พร้อม อีกประเด็นถ้าไม่มองแค่ว่ามหาวิทยาลัยอยากได้เงินจากการสอบ การที่มหาวิทยาลัยบางแห่งที่จัดสอบเองเป็นเพราะข้อสอบกลางคัดเด็กให้เขาไม่ได้ด้วยหรือเปล่า
ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากเสนอให้คิดกันก็คือ
- ถึงเวลาหรือยังที่จะสอบถามคนที่ได้ผลกระทบก่อนจะทำอะไร ลองให้เขาพูดถึงความรู้สึก หรือเสนอวิธีแก้ตามที่เขาคิดบ้างดีไหม
- ถึงเวลาหรือยังที่จะคิดอะไรปุ๊ปแล้วทำปั๊ปลองคิดพิจารณาให้ดีให้ถี่ถ้วน ไม่ใช้ลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ ดีไหม ผมมองว่ามันยังมีอะไรที่ควรจะต้องคิดให้ลงตัวก่อนที่จะนำระบบมาใช้เช่น
- ข้อสอบจะทำยังไงให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ยอมรับว่าคัดเด็กที่ต้องการได้จริง เรืองพวกนี้ต้องใช้เวลานะผมว่า ข้อสอบที่สทศ.จัดการอยู่ก็มีปัญหาเรื่องมาตรฐานให้พูดกันทุกปี ตามข่าวก็เห็นว่าที่ประชุมก็คิดถึงเรื่องนี้ ดังนั้นก่อนประกาศใช้อะไรเรื่องนี้ต้องชัดเจน
- เรื่องคะแนนที่จะเป็นจุดอ้างอิงให้นักเรียนที่จะสอบด้วยระบบใหม่เป็นรุ่นแรกจะต้องทำยังไง
- เรื่องการปิดเปิดเทอมของมหาวิทยาลัยจะเปลี่ยนกลับไปใช้แบบเดิมหรือเปล่า (นี่ก็อีกตัวอย่างของการทำอะไรไม่คิดให้ถี่ถ้วน) และมีมหาวิทยาลัยบางแห่งประกาศแล้วว่าจะกลับไปใช้แบบเดิมจะแก้ปัญหายังไง
- การสอบ ONET ถ้าไม่ได้แก้ปัญหาอะไร และจะไม่เอามาใช้เข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ยังต้องสอบอยู่ไหม
- การสอบ GAT/PAT ที่เคยสอบสองครั้ง มาเหลือสอบครั้งเดียว จะทำให้เด็กบางคนคิดว่าเสียโอกาสไหม
- เป็นไปได้ไหมที่จะรวมการสอบทั้งสองอย่าง หรือสามอย่างที่ว่าเข้าเป็นการสอบเดียว
- กสทพ. ยังจะให้เขาสอบอยู่ไหม ถ้าไม่ให้เขาสอบแสดงว่าต้องปรับข้อสอบกลาง แล้วถ้าปรับแล้ว มันจะทำให้สาขาอื่นที่ไม่ต้องการอะไรยากอย่างนั้นลำบากไปด้วยไหม
- เลิกด่าว่าคนที่เขาคิดไม่เหมือนตัวเองว่าเป็นผู้เสียผลประโยชน์ หรือไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงซะที หัดรับฟังความคิดและข้อเสนอที่หลากหลายบ้าง และควรยอมรับว่าเด็กเขาก็มีความคิดดี ๆ มันน่าจะหมดยุคผู้ใหญ่หัวหงอก ไปนั่งคิดแล้วก็บอกว่านี่คือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเด็กได้แล้วมั้ง ขอโทษที่อาจแรงไปหน่อย เพราะอ่านในเนื้อข่าวที่พูดแล้วมันจี๊ด (ด่ามาก็ด่ากลับไม่คดโกง :) )
สรุปสุดท้ายก็คือ ไม่ใช่ผมจะต่อต้านการเปลี่ยนแปลงใด ๆ นะ ผมก็เห็นปัญหาและเข้าใจที่พยายามจะแก้ แต่อยากจะให้เลิกใช้วิธีแบบหนูลองยาซะที ลองรับฟังความเห็น และวางแผนการปรับเปลี่ยนให้ชัดเจนก่อนดีไหม ผมเชื่อว่าเด็กเขาพร้อมจะเปลี่ยนแปลง แต่ทางผู้ใหญ่ต้องชัดเจน และให้โอกาสให้เวลาเขาวางแผนเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงนี้ ไม่ใช่เขาเตรียมตัวมาอย่างแต่มาเปลี่ยนเป็นอีกอย่าง ผมมองว่าหลังจากวางแผนอะไรลงตัวแล้ว ก็ควรจะจัดอมรมให้ครูแนะแนวได้เข้าใจ เพื่อนำไปถ่ายทอดให้นักเรียนด้วยและก็ควรจะประกาศใช้กับนักเรียนที่ขึ้นจาก ม.3 มา ม.4 หรือช้าสุดก็น่าจะม.4 ขึ้นม.5 อะไรประมาณนี้...