วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ความแตกฉานสี่ด้านที่เราพึงมี

อยากเขียนบล็อกมาเป็นเดือนแล้วแต่ไม่ว่างเลย แต่จะปีใหม่ทั้งทีก็คงต้องเขียนสักหน่อยนะครับ ถึงแม้เพื่อน ๆ ผู้ติดตามอาจจะหายไปหมดแล้วเพราะไม่ได้เขียนมาสักครึ่งปีได้ ปีใหม่นี้จะพยายามเขียนให้บ่อยขึ้นครับ เป็นปณิธานข้อหนึ่งเลยแล้วกัน

บล็อกต้อนรับปีใหม่นี้ก็ขอเป็นทางธรรมะหน่อยแล้วกันนะครับ และผมเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับพวกเราโดยเฉพาะกับครูและนักเรียนครับ เรื่องที่เล่าให้ฟังนี้ได้มาจากหนังสือเรียนพุทธศาสนาของลูกคนเล็กครับ คือเขาจะสอบแล้วผมก็ช่วยติวก็เลยได้รู้เรื่องและเห็นว่าน่าสนใจดี และน่าจะเป็นประโยชน์ก็เลยนำมาถ่ายทอดต่อให้ฟังกันครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับพุทธสาวิกาซึ่งก็คือพระอริยบุคคลฝ่ายหญิงซึ่งยังทันได้พบกับพระพุทธองค์ พุทธสาวิกาคนนี้คือพระเขมาเถรีครับ

บอกตามตรงว่าก่อนหน้าที่จะช่วยติวลูกนี้ผมไม่เคยรู้จักมาก่อนเลยครับ และคิดว่าพวกเราหลายคนก็อาจไม่รู้จักนะครับ ก็เลยขอเล่าประวัติให้ฟังคร่าว ๆ ก่อนแล้วกันครับ ส่วนใครที่รู้จักอยู่แล้วก็ทนอ่านนิดหนึ่งแล้วกันนะครับ พระเขมาเถรีนี้ก่อนจะออกบวชมีนามว่าพระนางเขมาเทวีซึ่งเป็นพระมเหสีผู้เลอโฉมของพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งพระเจ้าพิมพิสารนี้พวกเราอาจจะทราบดีว่าเป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง และพระองค์ก็ต้องการให้พระมเหสีได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า แต่พระนางเขมาเทวีไม่ยอมไปฟังครับ เพราะพระนางได้รับฟังมาว่าพระพุทธเจ้ามักจะทรงสั่งสอนเกี่ยวกับโทษของร่างกายก็เลยไม่ยอมไปฟัง แต่สุดท้ายพระเจ้าพิมพิสารก็ออกอุบายให้ไปฟังจนได้ครับ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้แสดงธรรมให้เห็นถึงว่าร่างกายเป็นของไม่เที่ยงจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามวัย ซึ่งพระนางเขมาเทวีพอได้ฟังแล้วก็เลิกยึดติดกับความงามและบรรลุโสดาบัน จากนั้นพระพุทธเจ้าก็แสดงธรรมต่อจนพระนางตัดกิเลสได้จนบรรลุเป็นพระอรหันต์ ซึ่งตามที่หนังสือบอกไว้คนธรรมดาที่สำเร็จอรหันต์จะต้องออกบวชมิฉะนั้นจะต้องนิพพานใน 7 วันครับ ดังนั้นพระเจ้าพิมพิสารจึงต้องให้พระนางออกบวชครับ (ถ้าผมเป็นพระเจ้าพิมพิสารผมอาจคิดว่าไม่น่าหาเรื่องเลยตู ซวยเลยต้องเสียภรรยาแสนสวยไปคนหนึ่ง :) )

เมื่อพระนางออกบวชแล้วก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัยจนแตกฉานครับ และได้รับการแต่งตั้งจากพระพุทธเจ้าให้เป็นพระอัครสาวิกาเบื้องขวาครับ โดยพระนางได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นภิกษุณีที่เป็นเลิศทางปัญญา ซึ่งพระนางมีความแตกฉานในสี่ด้าน ซึ่งผมคิดว่าเป็นสี่ด้านที่พวกเราโดยเฉพาะที่เป็นครูและนักเรียนควรจะมีครับ มาดูกันครับว่าสี่ด้านที่ว่ามีอะไรบ้าง


  1.   ความแตกฉานในความหมาย ในข้อนี้หมายความว่าพระนางเพียงเห็นหัวข้อธรรม ก็สามารถอธิบายได้โดยละเอียด ดังนั้นนักเรียนทั้งหลายถ้าสามารถเรียนหนังสือจนสามารถทำแบบนี้ได้ ย่อมจะเรียนหนังสือได้ดีจริงไหมครับ ส่วนครูอาจารย์ถ้าทำแบบนี้ได้ก็แสดงว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชาที่ตัวเองสอน
  2. ความแตกฉานในหลักการ ข้อนี้หมายความว่าเมื่อได้รับฟังรายละเอียดของเรื่องราวใดก็สามารถจับใจความหรือตั้งเป็นหัวข้อได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็คือการจับประเด็นนั่นเอง ดังนั้นนักเรียนหรือใครก็ตามที่ฟังบรรยายแล้ว และสามารถจับใจความสำคัญได้นั่นก็แสดงว่าเข้าใจในหลักการที่ผู้บรรยายต้องการนำเสนอ ส่วนครูอาจารย์โดยเฉพาะที่คุมงานวิจัย ถ้ามีความแตกฉานในข้อนี้ก็จะสามารถบอกถึงหลักการที่นักศึกษานำเสนอ และสามารถให้ความเห็นได้ว่ามีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไร
  3. ความแตกฉานในภาษา อันนี้ก็หมายความว่าสามารถอธิบายคำศัพท์ หรือคำบัญญัติให้ผู้อื่นเข้าใจได้ ซึ่งอันนี้ก็คงจะตรงกับที่ไอน์สไตน์ได้กล่าวไว้ว่า ถ้าคุณอธิบายเรื่องราวให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ไม่ได้ นั่นคือคุณไม่เข้าใจเรื่องนั้นดีพอ
  4. ความแตกฉานในปฏิภาณ อันนี้ก็คือความมีไหวพริบสามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม นักเรียนที่เรียนภาคทฤษฎีมาแล้วและไม่สามารถนำมาประบุกต์ได้ก็อาจทำข้อสอบไม่ได้ อาจารย์ที่ดีก็ควรจะมีความสามารถในการยกตัวอย่างเชิงเปรียบเทียบให้นักศึกษาเห็นภาพได้
นี่คือสี่ข้อที่พระเขมาเถรีมีครับ ทำให้ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เป็นเลิศในทางปัญญาอย่างที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งผมคิดว่าเป็นประโยชน์ก็เลยเอามาฝากกันเป็นของขวัญปีใหม่ครับ  ส่วนตัวเองผมก็ขอตั้งปณิธานว่าจะพยายามพัฒนาตัวเองให้มีความแตกฉานในสี่ด้านนี้ให้ได้มากที่สุด สวัสดีปีใหม่ 2558 ครับทุกคน...

วันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

อีกมุมมองหนึ่งในกรณีโค้ชเชกับน้องก้อย

วันนี้ขอเกาะกระแสเรื่องเทควันโดนี้สักหน่อยนะครับตอนแรกคิดว่ามันจะถูกกลบด้วยเรื่องอื่นไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่จบเมื่อโค้ชเชบอกว่าจะกลับมาทำทีมต่อ (อันนี้ผมดีใจนะ) และน้องก้อยยังไม่ยอมจบ

ในบล็อกนี้ผมคงไม่บอกว่าใครถูกใครผิดทั้งหมดนะครับ (ถึงแม้ผมจะเห็นด้วยกับฝั่งหนึ่งมากกว่าอีกฝั่งหนึ่ง) เพราะกรณีนี้คือหนึ่งเราทั้งหลายไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ และสองมันมีมุมมองที่ต่างกันในหลายด้านที่ต้องนำมาพิจารณาเช่นทางด้านวัฒนธรรมของประเทศ วัฒนธรรมองค์กร และเรื่องสิทธิมนุษยชน อะไรพวกนี้ คือผมเข้าใจทั้งโค้ช และน้องก้อยและครอบครัว ในแง่ของโค้ชผมเทียบกับตัวเองในฐานะอาจารย์ที่ค่อนข้างเข้มงวดคนหนึ่งในด้านผลงานวิชาการ นักศึกษาที่เคยทำวิจัยกับผมตั้งแต่ระดับป.ตรีถึงป.เอกเกือบทุกคนจะโดนผมดุว่าเรื่องการทำวิจัย ยิ่งถ้าใครที่ทำมาอย่างไม่ใส่ใจคือทำให้เสร็จ ๆ ไป หรือถ้าไปคัดลอกใครมานี่จะโดนผมดุเอาอย่างแรงมาก ซึ่งหลายคนถึงกับร้องไห้เลยนะครับ (ไม่ได้ดีใจนะ พอเห็นเด็กร้องไห้ผมก็ใจเสียเหมือนกัน)  หลัง ๆ ผมน่าจะเบาลง (มั้ง) เพราะไม่ค่อยมีใครร้องไห้แล้ว คือผมไม่ได้สนใจว่านักศึกษาจะเก่งหรือไม่เก่ง แต่จะดูที่ความเอาใจใส่และความพยายามทำงานของเขามากกว่า อันนี้ก็คงเหมือนกับโค้ชเชที่มองว่าน้องก้อยไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่จึงลงโทษ ซึ่งถ้าถามว่ามันเกินกว่าเหตุไหมอันนี้ผมว่ามันขึ้นกับกฎเกณฑ์ขององค์กรในที่นี้คือสมาคมเทควันโดภายใต้การโค้ชของโค้ชเช โค้ชเชไม่ได้เพิ่งมาทำทีมแต่ทำมาแล้วสิบกว่าปี ดังนั้นวิธีการลงโทษแบบนี้สมาคมและนักกีฬาต้องรับทราบและถ้าไม่มีการดำเนินการใด ๆ ก็แสดงว่ายอมรับได้กับวิธีนี้ถ้าแลกกับความสำเร็จ ในแง่ของน้องก้อยซึ่งไม่ได้แข่งครั้งแรกแต่เป็นครั้งที่สามแล้วดังนั้นเธอก็ต้องรับทราบระบบนี้ด้วย ถ้าเธอบอกว่ารับไม่ได้เธอก็ควรถอนตัวไปแต่แรก แต่แน่นอนก็เป็นสิทธิของเธอที่คิดว่าเธอถูกลงโทษรุนแรงไป คือเธออาจมองว่าการลงโทษครั้งนี้มันแรงกว่าเกณฑ์ปกติขององค์กร แต่สิ่งที่เธอกระทำนี่เป็นอีกเรื่องนะครับซึ่งผมจะพูดถึงต่อไป

มุมที่ผมอยากจะเขียนถึงจริง ๆ ในเรื่องนี้มีอยู่สามประเด็นคือหนึ่งการโพสต์ข้อความผ่านทางเครือข่ายสังคม ปัจจุบันนี้หลายคนใช้เครือข่ายสังคมกันอย่างไม่ระมัดระวัง คือมีเรื่องอะไรก็โพสต์โดยไม่ได้คิดว่าเหมาะสมหรือไม่ เรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องส่วนตัวมาก ๆ ก็โพสต์ เรื่องบางเรื่องที่เป็นความขัดแย้งในองค์กร ซึ่งควรจะเป็นการพูดคุยแก้ปัญหากันภายในก็โพสต์ ถ้าตามสุภาษิตโบราณเขาเรียกว่าสาวไส้ให้กากิน อย่างนี้คู่แข่งขององค์กรเราก็สบายไปเลย จากการที่ผมเคยสอนเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์ในการสื่อสารผมมักจะเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของการพูดคุยต่อหน้ากับการสื่อสารโดยใช้คอมพิวเตอร์ว่า ข้อเสียของการใช้คอมพิวเตอร์ในการสื่อสารคือในหลาย ๆ ครั้งมันไม่มีองค์ประกอบที่เรามักจะมีในการพูดจาต่อหน้าเช่นน้ำเสียง หรือสีหน้าไปด้วยทำให้บางครั้งอาจเข้าใจผิด ซึ่งหลายครั้งเราก็อาจแก้ปัญหาด้วยการใช้สัญลักษณ์แสดงอารมณ์แนบท้ายข้อความไปด้วยอย่าง :) ก็อาจหมายความว่าแซวเล่นขำ ๆ นะ แต่บางครั้งมันก็อาจใช้แบบนี้ไม่ได้ แต่ข้อดีของการใช้คอมพิวเตอร์ในการสื่อสารที่เหนือกว่าการพูดคุยกันต่อหน้าคือ เรามีเวลาที่จะคิดว่าเราควรพูด (โพสต์) ออกไปดีไหม และเราสามารถที่จะเรียบเรียงคำพูดให้เหมาะสมได้ ในขณะที่การพูดกันโดยตรงเราอาจพูดอะไรที่ไม่เหมาะสมออกไปตามอารมณ์ในขณะนั้น ในกรณีนี้ถ้าน้องก้อยรอให้ใจเย็นได้พูดคุยได้เคลี่ยร์กันก่อนแล้วคิดให้ดีว่าควรโพสต์อะไรออกมาไหม เหตุการณ์ก็อาจไม่บานปลายมาถึงขั้นนี้

ประเด็นที่สองคือการจัดการปัญหาของผู้ใหญ่ครับ ในวันที่เกิดเรื่องมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งในสมาคมเทควันโดให้สัมภาษณ์ได้แย่มากครับ คือเข้าข้างโค้ชเชก็พอทำเนา แต่บอกว่าน้องก้อยไม่ได้มีความหมายอะไร สมาคมไม่ได้มีความหวังอะไรอยู่แล้ว เป็นผู้ใหญ่พูดแบบนี้กับนักกีฬาได้อย่างไร ถ้าไม่มีความหวังอะไรแล้วให้เขาติดทีมชาติทำไม การที่เขายอมเสียสละมาฝึกซ้อมลงแข่งเป็นตัวแทนทีมชาตินี่ไม่มีความดีอะไรเลยใช่ไหม อีกอย่างเท่าที่ตามข่าวมาน้องเขาก็เคยได้เหรียญในการแข่งขันแล้วด้วย การบริหารจัดการก็แย่มาก จริง ๆ ควรจะขอร้องทุกฝ่ายว่าอย่าเพิ่งให้ข่าวหรือให้สัมภาษณ์อะไร (ถ้าขอไปแล้วน้องเขาไม่ทำก็ขอโทษด้วย อย่างนี้สมควรให้ออกจากทีมชาติไปเลย) ขอให้คุยกันเป็นการภายในก่อน แล้วค่อยออกมาแถลง

ประเด็นสุดท้ายก็เรื่องของการวิพากษ์วิจารณ์ของผู้คนหลาย ๆ คนนี่แหละครับ คือผมมีความรู้สึกว่าหลายคนก็ยังยึดติดกับตัวบุคคลมากกว่าที่จะพิจารณาไปตามเหตุผลหรือหลักการ ผมเห็นคำวิจารณ์ประเภทว่าโค้ชเชทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติมามากมาย ยายคนนี้เป็นใคร คือทำไมเราถึงไม่เอาตัวบุคคลออกไปแล้วพิจารณาเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าสมมติคนทำไม่ใช้โค้ชเช เป็นคนอื่นที่ไม่มีต้นทุนสูงแบบโค้ชเช คนที่วิพากษ์วิจารณ์ยังจะคิดอย่างนี้อยู่หรือเปล่า ประเด็นนี้ผมว่าก็สำคัญนะครับ สังคมเราดูเหมือนเป็นสังคมบูชาฮีโร่ ถ้ารักใครชอบใครแล้วคนนั้นทำอะไรก็ถูกไว้ก่อน ซึ่งบางครั้งก็อันตรายนะครับถ้าคิดกันแบบนี้ (ย้ำอีกครั้งผมไม่ได้คิดว่าโค้ชเชผิดนะ) หรือบางทีก็แบ่งพวกแบ่งเหล่าไปเลย ผมลองสมมติให้สุดโต่งไปเลย ลองถามตัวเองดูสมมติโค้ชเชเคยขึ้นเวทีนปช. (เอ้ามีการเมืองจนได้) คนที่เชียร์กกปส.ยังจะเข้าข้างโค้ชเชอยู่หรือเปล่า หรือจะไปเข้าข้างน้องก้อยเพราะโค้ชเป็นอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว

ก็ฝากให้คิดกันเล่น ๆ ไว้แค่นี้แล้วกันครับ และก็หวังว่าเรื่องนี้จะจบลงด้วยดี และกีฬาเทควันโดก็จะเป็นกีฬาที่เรามีความหวังในมหกรรมกีฬาต่าง ๆ ต่อไปครับ ...

วันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เทคโนโลยี 8 อย่างที่จะหายไปและอีกหนึ่งที่จะคงอยู่ตลอดไป

ไม่ได้เขียนบล็อกมาซะนาน จริง ๆ ก็มีหลายเรื่องที่อยากเขียนนะครับ แต่ดูจากบรรยากาศแล้วไม่ค่อยน่าเขียนสักเท่าไหร่ หรือบางครั้งอ่านเรื่องที่น่าสนใจว่าจะเขียนแต่ก็ไม่ว่างซะอีกจนลืมไปเลย พอดีวันนี้อ่่านบทความจาก Computer World  ซึ่งเขียนขึ้นมาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา เห็นว่าน่าสนใจดีประกอบกับรอดูบอลอยู่ ก็เลยถือโอกาสเขียนหน่อยแล้วกันครับ

บทความที่ผมอ่านนี้ได้กล่าวถึงเทคโนโลยีในปัจจุบัน 8 อย่าง ที่ทางผู้เขียนคาดว่าจะถูกแทนที่ในช่วงอีก 5 ถึง 20 ปีข้างหน้า และอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ไม่มีอะไรจะแทนได้ อยากรู้แล้วใช่ไหมครับว่ามีอะไรบ้างลองไปดูกันครับ เริ่มจากอุปกรณ์พวกมือถือแท็บเล็ตที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ทางผู้เขียนคาดว่าจะถูกแทนที่ด้วยอุปกรณ์ประเภทสวมใส่ (wearable device) ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า อันนี้ผมคิดว่าพวกเราที่อยู่ในแวดวงเทคโนโลยีก็คงจะเห็นด้วยนะครับว่าแนวโน้มมันน่าจะเป็นอย่างนั้น อย่างตอนนี้เราก็มีอุปกรณ์อย่าง Google  Glass ออกมาให้เห็นกันแล้ว ซึ่งใน 5-10 ปีนี้ เทคโนโลยีน่าจะลงตัวมากขึ้น ประกอบกับราคาก็น่าจะลดลงจนผู้บริโภคทั่วไปสามารถซื้อหามาใช้ได้

เทคโนโลยีอันต่อมาที่เขาคาดว่าจะหายไปคือสิ่งที่เราเพิ่งพูดถึงไปในย่อหน้าที่แล้วครับ ใช่แล้วครับเขาบอกว่าเจ้าเทคโนโลยีของอุปกรณ์สวมใส่จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีประเภทฝังตัว ถูกแล้วครับฝังเข้าไปในตัวเรานี่แหละ เขาบอกว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นใน 20 ปี ครับ สำหรับอันนี้ผมก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นไปได้หรือเปล่านะครับ เพราะผมคนหนึ่งหละที่จะไม่ยอมให้เอาอะไรแปลกปลอมมาใส่ในตัวผมแน่ แต่ไม่แน่ในอีก 20 ปี ข้างหน้ามันอาจกลายเป็นแฟชั่นสำหรับคนยุคนั้นก็ได้ ก็ไม่รู้ว่าผมจะอยู่จนได้เห็นหรือเปล่า แต่คิดอีกทีไม่อยู่ก็ดีนะครับ เพราะไม่อยากฟังหลานมาขอ "ปู่ครับขอเงินไปซื้อชิปคุกกี้นางฟ้ามาใส่ตัวผมหน่อยครับ" :(

แบตเตอรีแบบที่เราใช้ในปัจจุบันก็จะหายไปครับ โดยจะถูกแทนด้วยสุดยอดตัวเก็บประจุ (super capacitor) ซึ่งสุดยอดตัวเก็บประจุนี้จะชาร์จได้เร็ว และจะสามารถชาร์ซ้ำได้เป็นล้าน ๆ ครั้ง เขาบอกว่าเทคโนโลยีนี้จะเริ่มเข้ามาภายใน 5 ปี และจะมาแทนที่แบตเตอรีอย่างสมบูรณ์ใน 10 ปีครับ ซึ่งแนวโน้มก็ควรเป็นอย่างนั้นนะครับ เพราะเราคงต้องการเทคโนโลยีที่ดีกว่าแบตเตอรีที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้อย่างแน่นอน ที่เห็นได้ชัดก็คือรถยนต์ซึ่งในอนาคตแหล่งพลังงานหลักก็น่าจะมาจากไฟฟ้า ซึ่งถ้าต้องมารอชาร์จแบตกันทีเป็นชั่วโมงแล้วค่อยขับต่อไปก็คงไม่ไหวนะครับ

อีกเทคโนโลยีที่เขาคาดว่าจะหายไปคือเมาส์และแป้นพิมพ์ครับ โดยจะถูกแทนที่ด้วยการสั่งงานด้วยเสียงและท่าทางครับ จริง ๆ ตอนนี้เราก็เริ่มใช้เทคโนโลยีนี้กันแล้วนะครับ การสั่งงานด้วยเสียงอย่าง Siri (ซึ่งเบื้องหลังอาจเกิดจากงานวิจัยระดับป.เอกของอ.วีระ) หรือ Google Now โทรทัศน์หลายรุ่นก็สามารถใช้การสั่งงานด้วยท่าทางได้ และการใช้งานในลักษณะนี้ก็น่าจะสอดรับกับพวกอุปกรณ์สวมใส่ที่ได้พูดถึงไปแล้วนะครับ เขาประมาณการไว้ว่าประมาณ 10 ปีครับท่ี่เทคโนโลยีนี้จะเข้ามาแทนที่เมาส์และแป้นพิมพ์ได้ แต่เขาบอกว่าอาจใช้เวลาถึง 20 ปีก็ได้ เพราะคนเราบางคนมักจะยึดติดกับความเคยชินเก่า ๆ ไม่ค่อยอยากจะเรียนรู้วิธีการใหม่ ๆ ผมว่าถ้าถึงยุคนั้นจริง ๆ ก็คงสนุกดีนะครับ นึกภาพดูในห้องเรียนอีก 10 ปีข้างหน้า ทั้งครูและนักเรียนโบกมือหรือโยกตัวไปมา เพื่อสั่งงานคอมพิวเตอร์แบบสวมใส่ของตัวเอง แล้วเราซึ่งมาจากยุคนี้ไปเห็นเข้าอาจนึกว่าเขากำลังเต้นแอโรบิคกันอยู่ก็ได้นะครับ

อุปกรณ์ที่มีปุ่มมีสวิทช์ก็จะหายไปครับ ต่อไปอุปกรณ์จะเชื่อมต่อกันและถูกควบคุมได้จากระยะไกล ซึ่งจริง ๆ ในปัจจุบันเราก็เริ่มใช้กันแล้วนะครับอย่างพวกลำโพงไร้สายซึ่งสามารถเล่นเพลงจากมือถือของเราได้  แต่เขาบอกว่าในอนาคตมันจะล้ำไปกว่านี้อีกครับ คือการวิเคราะห์หรือซ่อมแซมอุปกรณ์สามารถทำได้จากระยะไกลเลยครับ คือช่างอาจจะซ่อมเครื่องได้โดยไม่ต้องแตะเครื่องด้วยซ้ำ เขาคาดการณ์ว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 10-20 ปีครับ แต่ผมว่าน่าจะเร็วกว่านั้นนะ

เทคโนโลยีที่จะมีการเปลี่ยนแปลงคือเทคโนโลยีด้านความมั่นคง (security) ครับ คือในปัจจุบันเราต้องรอให้เหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนแล้วจึงจะมีการแจ้งเตือน เช่นโจรต้องบุกเข้ามาในบ้านเราก่อนสัญญาณกันโขมยถึงจะดัง แต่ในอนาคตภายใน 5 ปี เขาคาดว่าระบบความมั่นคงจะเปลี่ยนไปเป็นแบบการทำนายล่วงหน้าก่อนเหตุการณ์จะเกิดขึ้นครับ โดยเทคนิคที่อยู่เบื้องหลังการทำงานนี้ก็คือเรื่องของการทำเหมืองข้อมูล (data mining) นั่นเองครับ ซึ่งจริง ๆ ในปัจจุบันเราก็ใช้เทคโนโลยีนี้อยู่บ้างแล้ว โดยเฉพาะในระบบเครือข่ายเราใช้แนวคิดนี้ในการวิเคราะห์ข้อมูลที่ถูกส่งเข้ามายังเครือข่ายของเราว่าเป็นข้อมูลที่มีอันตรายแอบแฝงมาหรือไม่

เทคโนโลยีถัดมายังอยู่ในหมวดความมั่นคงครับ คือในปัจจุบันเราใช้ระบบความมั่นคงที่เรียกว่าความมั่นคงตามหน้าที่ (role-based security) คือเราจะดูว่าคนคนนี้มีหน้าที่อะไร แน่นอนว่าคนหนึ่งคนก็มักจะมีหลายหน้าที่อยู่แล้วใช่ไหมครับ เช่นหน้าที่เป็นประชาชน หน้าที่เป็นนักเรียน หน้าที่เป็นอาจารย์ ซึ่งในระบบที่เราใช้ในปัจจุบันเราก็จะมีบัตรประจำตัวตามหน้าที่ที่เรามีใช่ไหมครับ เรามีบัตรประจำตัวประชาชนและถ้าเราเป็นนักเรียนเราก็จะมีบัตรประจำตัวนักเรียน ถ้าเราไปเรียนกวดวิชาก็จะมีบัตรประจำตัวโรงเรียนกวดวิชาอีกใบด้วย แต่ภายใน 5-10 ปี เราจะเปลี่ยนเป็นความมั่นคงแบบปรับตัวหรือแบบอิงบริบท (adaptive, contextual security) เราจะมีเลขประจำตัวเพียงชุดเดียว แต่สิทธิของเราอาจจะดูจากหลาย ๆ อย่าง เช่นอุปกรณ์ที่เราใช้ สถานที่ที่เราอยู่ และรูปแบบการทำงานของเรา ซึ่งถ้าเรามีการทำงานที่ผิดรูปแบบไป ระบบก็จะสามารถตรวจจับได้ว่ามีการละเมิดความมั่นคงเกิดขึ้นแล้ว แนวคิดคือคนจะมีเพียงตัวตน (identity) เดียว แต่จะมีสิทธิที่ต่างกันในเครือข่ายต่าง ๆ  เช่นผมเป็นอาจารย์ประจำในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งและได้รับเชิญไปเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยอีกแห่งหนึ่ง ผู้ดูแลระบบของมหาวิทยาลัยนั้นก็ไม่จำเป็นต้องสร้างหรือให้เลขประจำตัวใหม่กับผม เพียงแต่กำหนดสิทธิให้ผมสามารถเข้าใช้ทรัพยากรในมหาวิทยาลัยแห่งนั้นในฐานะอาจารย์พิเศษ ดู ๆ มันก็สะดวกดีนะครับ แต่ผมมองว่าเราจะต้องรักษาความเป็นตัวตนของเราให้ดีมาก ๆ เลยครับ เพราะถ้าโดนโขมยไปเมื่อไหร่แย่แน่ ๆ ครับ

อีกเทคโนโลยีหนึ่งซึ่งผมในฐานะอาจารย์ที่สอนทางด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์รอจะเห็นอยู่ก็คือ การที่การพัฒนาซอฟต์แวร์จะเปลี่ยนจากการที่นักพัฒนาใช้โค้ดที่ตัวเองพัฒนาขึ้นมาเป็นหลัก มาเป็นการนำโค้ดที่มีการพัฒนาไว้แล้วจากนักพัฒนาคนอื่นมาประกอบกันเพื่อสร้างเป็นแอพพลิเคชันใหม่ ซึ่งจริง ๆ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่นะครับ ในปัจจุบันเราก็มีเทคโนโลยีการพัฒนาที่รองรับการทำงานแบบนี้อยู่แล้วเช่นการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบอิงคอมโพเนนต์ (component-based) แบบอิงบริการ (service-based) ซึ่งก็เป็นวิชาที่ผมสอนอยู่ (ขอโฆษณาหน่อย :) ) ปัจจุบันเราสร้างแอพพลิเคชันท่ี่ใช้ส่วนต่อประสานการเขียนโปรแกรม (programming interface) ที่ผู้ให้บริการอย่าง Google หรือ Facebook เตรียมไว้ให้กันอยู่แล้ว แต่เขาคาดการณ์ว่าภายใน 5 ปี มันอาจจะเข้ามาเป็นวิธีการหลัก ซึ่งผมคิดว่าเครื่องมือในการพัฒนาโปรแกรมก็น่าจะดีขึ้นด้วย อาจดีขนาดที่ว่าผู้ใช้ที่เป็นผู้ใช้เก่ง ๆ หน่อย ที่เรียกกันว่า power user อาจสามารถพัฒนาโปรแกรมที่ไม่ซับซ้อนนักได้ด้วยตัวเอง

และนั่นคือเทคโนโลยีแปดอย่างท่ี่จะถูกแทนที่ครับ คราวนี้เหลือเทคโนโลยีที่เขาคาดว่าจะไม่มีอะไรมาแทนที่ได้ครับ ลองเดาดูไหมครับว่าคืออะไร... หลายคนอาจคิดไม่ถึงว่ามันคืออีเมลครับ เขาบอกว่าอีเมลมีคุณสมบัติหลัก ๆ ที่ไม่สามารถจะหาอะไรมาแทนได้ นั่นคือการแนบไฟล์ การส่งถึงผู้รับหลายคนพร้อม ๆ กัน และการเก็บอีเมลที่ต้องการไว้อย่างถาวร ซึ่งคิด ๆ แล้วผมก็ค่อนข้างเห็นด้วยนะครับ อย่างน้อยในตอนนี้ผมก็ยังไม่เห็นว่าจะมีเทคโนโลยีอะไรที่จะแพร่หลาย ใช้งานได้สะดวกในการทำงานดังกล่าวมากกว่าอีเมล

ก็รอดูนะครับว่าจะแม่นหรือเปล่า สำหรับผมอีก 20 ปีข้างหน้า ไม่รู้ว่าจะได้อยู่เห็นไหม คนที่ยังอยู่ฝากส่งอีเมลไปนรกเอ๊ยไม่ใช่ต้องสวรรค์สิไปบอกด้วยนะครับ...

วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ลดความขัดแย้งเริ่มได้ที่ตัวเรา

ขณะที่เขียนบล็อกนี้ประเทศไทยของเราก็เกิดรัฐประหารมาได้สักห้าวันแล้วนะครับ ก็มีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียกคนเข้าไปรายงานตัว มีทั้งคนที่ชื่นชมเอาดอกไม้ไปขอบคุณทหาร และก็มีคนที่ไม่กลัวปืนออกมาแสดงการต่อต้านด้วย แต่สิ่งที่ไม่มีแล้วคือม็อบกกปส. กับนปช. ครับ :) สำหรับบล็อกวันนี้ผมอยากเสนอแนวคิดให้ไปลองพิจารณากันครับว่าเราจะช่วยกันลดความขัดแย้งในชาติลงได้ยังไง ซึ่งผมจะขอเขียนโดยแบ่งออกเป็นสองฝ่ายหลัก ๆ นะครับ คือเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร

สำหรับคนที่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ถ้าต้องการจะให้การรัฐประหารนี้มีผลสำเร็จอยู่บ้างในเรื่องลดความขัดแย้งแนะนำว่าให้เลิกการโพสต์ข้อความด่าว่าฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ยกย่องตัวเองว่าดีเลิศเลอเป็นผู้รักชาติ คนที่ไม่เห็นด้วยเป็นพวกที่ไม่รักชาติ เป็นพวกโลกสวยที่วัน ๆ ฝันหาแต่การเลือกตั้ง เป็นพวกโง่ที่คิดว่าประชาธิปไตยคือการไปเลือกตั้งแล้วปล่อยให้คนโกงไปอีกสี่ปี ที่หนักว่านั้นคือไปไล่เขาว่าถ้าอึดอัดนักก็ไปอยู่ที่อื่นสิ ลองถามตัวเองดูนะครับว่าตัวเองใช้สิทธิอะไรข้อไหนถึงจะไปไล่คนอื่นได้ ถ้าเขาอึดอัดเพราะคุณทำไมเขาถึงต้องไป จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนที่มีความคิดแบบคุณเป็นเพียงคนส่วนน้อยของประเทศ ลองออกจากอคติที่ครอบตัวเองอยู่ ค่อย ๆ อ่าน ค่อย ๆ คิดดูว่าคนที่เขาไม่เห็นด้วยนี่เขามีเหตุผลอะไรบ้าง มันเป็นไปได้นะครับที่คนที่ออกมาไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารในครั้งนี้อาจเคยเป็นคนที่ไปเดินอยู่ข้าง ๆ คุณ ตอนพรบ.นิรโทษกรรม อาจเป็นคนที่นั่งอยู่ข้าง ๆ คุณ ขณะฟังปราศัยของวิทยากร กกปส.  และที่ไม่สบายใจมาก ๆ ก็คือบางคนถึงกับบอกว่าระบบเผด็จการแบบนี้น่ะดีแล้ว เผด็จการไม่เป็นไรขอให้ได้ฆ่านักการเมืองชั่ว อยากบอกว่าถ้าหลังจากนี้เผด็จการมันชั่วซะเองเลือดคงนองแผ่นดินกันอีกครั้ง ถ้าไม่เข้าใจก็ลองกลับไปอ่านประวัติศาสตร์ที่คนเดือนตุลา 2516 เขาช่วยกันโค่นล้มเผด็จการกันก็ดีนะครับ

ในขณะเดียวกันผู้ที่ต่อต้านรัฐประหารก็ควรปฏิบัติเช่นกันออกจากอคติที่ครอบตัวเอง ไม่ด่าว่าคนที่เขาเห็นด้วยกับรัฐประหารด้วยถ้อยคำที่รุนแรง หรืออาจไล่เขาไปอยู่ที่อื่นเช่นกัน ลองทำความเข้าใจศึกษาที่มาที่ไปของการเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ ลองรับฟังความคิดของอีกฝั่งหนึ่ง และอาจจะต้องฝืนใจลองให้โอกาสกับทหารซึ่งเขาก็อาจไม่อยากทำแบบนี้ ซึ่งผมบอกตามตรงว่าก็เป็นคนหนึ่งที่คิดว่าการรัฐประหารเป็นเรื่องล้าหลังและควรหมดไปจากประเทศไทยได้แล้ว และผมคิดว่ามันยังมีทางเลือกอื่น เช่นการให้สัตยาบันเรืองการปฏิรูป ทำประชามติ แล้วก็ไปเลือกตั้ง ผมไม่คิดว่าการรัฐประหารครั้งนี้จะทำให้เราสามารถกำจัดนักการเมืองชั่ว ๆ หรือปัญหาคอรัปชันให้หมดไปได้ คือมันเกิดมาหลายครั้งแล้ว และทุกครั้งที่เกิดก็แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า และยิ่งไปว่านั้นยังเป็นการตัดวงจรประชาธิปไตยอีกด้วย แต่ถ้าถามว่านับตั้งแต่ผมรู้ความติดตามการเมืองมา ผมอาจต้องยอมรับด้วยความเจ็บปวดว่าการรัฐประหารครั้งนี้มีเหตุผลที่สุดเมื่อเทียบกับทุกครั้งที่ผ่านมา เรามีนักการเมืองที่เลวร้ายคิดถึงแต่ประโยชน์ตัวเอง เรามีสื่อเลือกข้างไม่รายงานความจริง เรามีนักวิชาการที่ไม่ได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นธรรม เรามีนักกฏหมายที่ตีความกฏหมายเข้าข้างตัวเอง เรามีองค์กรอิสระที่ไม่สามารถสร้างความเชื่อถือในด้านความยุติธรรมได้ และสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุดเรามีประชาชนที่ไม่รับฟังเหตุผลซึ่งกันและกันและบางคนอาจพร้อมที่จะฆ่ากันด้วย ด้วยปัจจัยทั้งหลายที่กล่าวมา มันอาจทำให้ทหารคิดว่าคงต้องทำอย่างนี้ ดังนั้นฝ่ายไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร ก็อาจต้องทำใจและลองถามตัวเองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นถึงตอนนี้มีอะไรเลวร้ายกว่าที่มันเกิดมากว่าครึ่งปีไหม ลองทำใจคิดว่านี่มันก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่งหลังจากที่พวกนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจที่ควรจะทำอะไรได้ดีกว่านี้แต่ไม่ยอมทำ

ไหน ๆ การรัฐประหารมันก็เกิดขึ้นแล้ว ผมว่าตอนนี้สิ่งที่พวกเราไม่ว่าฝ่ายไหนควรจะทำต่อไปก็คือ การจับตาดูสิ่งที่ทหารจะทำครับว่าเขาทำทุกอย่างโปร่งใส ให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย และทำเพื่อแก้ปัญหาของชาติจริงไหม และเขาจะคืนอำนาจกลับมาให้กับเราเมื่อไหร่ (ซึ่งตรงนี้ผมว่าทหารควรจะต้องรีบให้คำตอบ) หรือจะยึดยาวไปเลย (ซึ่งผมภาวนาว่าอย่าให้เป็นอย่างนั้น) การประท้วงที่ผ่านมาผมก็ว่าพอเป็นสัญลักษณ์ให้ทหารได้เห็นแล้วว่าถ้าเมื่อไรเขาล้ำเส้นก็จะมีคนที่พร้อมจะออกมาต่อต้าน และเขาคงไม่อยากให้เกิดเหตุูการณ์ตุลาคม 2516 หรือพฤษภาคม 2535 ขึ้นอีกหรอกครับ ต่อจากนี้เราลองให้โอกาสเขาดู และในส่วนของพวกเราที่จะทำได้ก็คือลดความขัดแย้งในหมู่พวกเรากันเองด้วยการไม่โพสต์ข้อความยั่วยุแสดงความเกลียดชัง ถกเถียงกันด้วยเหตุผล ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็จะทำให้เป้าหมายหนึ่งของการรัฐประหารครั้งคือการลดความขัดแย้งได้สำเร็จลง และอาจทำให้เขาคืนอำนาจอธิปไตยกลับมาได้เร็วขึ้น เริ่มที่ตัวเราหยุดสร้างความขัดแย้งกันเถอะครับ...

วันจันทร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2557

วงการศึกษาไทยคิดอะไรนอกจากสอบเป็นไหม

ไม่ได้เขียนบล็อกมานาน อ่านข่าวเจอว่าจะให้นักศึกษาที่เรียนจบป.ตรีต้องสอบ U-Net แล้วรู้สึกหงุดหงิด ประกอบกับลิเวอร์พูลแพ้เชลซี และแมนซิตี้ยังชนะอีก ก็เลยหงุดหงิดหนักเข้าไปอีก ขอระบายจัดหนักในบล็อกนี้เลยแล้วกัน สำหรับใครที่ยังไม่ทราบเรื่องนี้ก็ลองอ่านเรื่องจากลิงก์นี้ และบทสัมภาษณ์ผู้บริหารสถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) คนนี้จากลิงก์นี้ดูแล้วกันนะครับ

ก็หวังว่าจะพอเข้าใจเรื่องราวกันแล้วนะครับ ก่อนอื่นผมก็ขอออกตัวก่อนว่านี่เป็นเพียงความเห็นส่วนตัวที่ไม่เห็นด้วยของผมเท่านั้นนะครับ จากการติดตามข่าวและการให้สัมภาษณ์ ซึ่งผมก็ไม่ได้บอกว่าความคิดของผมจะถูกทั้งหมด เพราะคนที่คิดเรื่องนี้ขึ้นมาคงมีเหตุผลของเขา แต่ผมอยากจะแสดงให้เห็นถึงจุดที่ผมไม่เห็นด้วยเท่านั้น แต่ก็อาจจะแรงหน่อยนะ เพราะอย่างที่บอกกำลังหงุดหงิดกับผลบอล

เริ่มจากจุดประสงค์ก่อน ตอนแรกก็บอกว่าจะให้สอบแล้วก็จะให้ผู้ประกอบการเอาไปใช้ประกอบการรับสมัครงานด้วย พอถูกค้านเข้าก็มาบอกว่าเข้าใจผิด การสอบจะเป็นการวัดคุณภาพของสถาบันการศึกษาเท่านั้น ไม่รู้พูดมานี่เคยประเมิน O-Net ไหมว่าตกลงมันวัดคุณภาพของสถานศึกษาได้ไหม อย่างตอนนี้ก็เอาคะแนน O-Net มาเฉลี่ยกับเกรดนักเรียน นัยว่าจะได้บังคับให้เด็กตั้งใจสอบ จะเอามาเฉลี่ยเผื่อโรงเรียนปล่อยเกรด แต่พอเอาเข้าจริง ๆ มันก็ไม่ได้เป็นไปตามจุดประสงค์ พอเด็กสอบตรงติด เขาก็ไม่สนใจที่จะสอบ O-Net แล้ว (ก็เลยจะยกเลิกสอบตรงซะ อันนี้ผมมโนเอาเองนะครับ :) ) ถ้าบังคับมาก ๆ เข้า ตอนนี้ก็มีโรงเรียนกวดวิชา กวดข้อสอบ O-Net แล้ว และผมมั่นใจว่าถ้าบังคับ U-Net กันจริง ๆ มันต้องมีกวดวิชาสอบ U-Net ถ้าเป็นแบบนี้มันวัดคุณภาพสถานศึกษาได้หรือ (ถ้าจะวัดก็คงวัดคุณภาพโรงเรียนกวดวิชา) ยิ่งไปกว่านั้นข้อสอบ O-Net แต่ละปี ก็ล้วนแล้วแต่มีวีรกรรมดี ๆ ทั้งนั้น ไม่รู้ว่าคำถามจะวัดอะไร ให้ครู-อาจารย์ทำกันเองยังตอบกันไปคนละทางสองทาง (น่าจะให้คนออกข้อสอบลองไขว้กันทำข้อสอบที่คนอื่นออกนะ) นี่ระดับโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรกลางเดียวกันนะ โรงเรียนบางแห่งก็ยังสอนไม่เหมือนกัน ข้อสอบ O-Net เน้นวิเคราะห์แต่โรงเรียนส่วนใหญ่ก็ยังสอนให้ท่องจำกันอยู่ นี่ระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายมาก ก็ไม่รู้ว่าจะวัดได้ยังไง แล้วข้อสอบที่ออกมาจะมีวีรกรรมอะไรอีก ผมว่าถ้าจะทำนะก็ทำกับตัวผู้บริหารสทศ. หรือคนที่เป็นต้นเรื่องเห็นด้วยกับเรื่องนี้แหละ ลองดูว่าตัวเองจะสอบผ่านไหม ถ้าไม่ผ่านก็ลาออกไปอยู่บ้านปลูกต้นไม้ต้นไร่ไปตามเรื่องดีกว่า

ตอนนี้ก็บอกว่าไม่มีผลกับเด็ก ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นเด็ก ๆ ก็คงสอบแก้บนไปอย่างนั้นเอง เสียงบประมาณไปโดยใช่เหตุ มันวัดอะไรไม่ได้ และถ้าจะให้เดาสุดท้ายก็คงต้องมาบังคับ อย่างเอามาเฉลี่ยกับเกรดตอนจบอะไรอย่างนี้ หรือหนักกว่านั้นถ้าสอบไม่ผ่านก็ไม่ให้จบ ซึ่งผมว่ามันเป็นอะไรที่ไร้สาระมาก ถ้าจะบอกว่านี่ไงเป็นการควบคุมสถานศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ ไอ้การสอบครั้งเดียวนี้มันวัดได้หรือ ถ้าจะคุมคุณภาพสถานศึกษามันต้องคุมตั้งแต่หลักสูตร การจัดการเรียนการสอน คุณภาพของผู้สอน แต่ไม่ใช่ทำแบบประกันคุณภาพการศึกษานะ (เรื่องประกันนี่เดี๋ยวหาเวลาว่างจัดเป็นอีกเรื่องดีกว่า) แต่อยากจะบอกว่าสองหน่วยงานนี้นี่เป็นหน่วยงานที่รับลูกกันดีมาก พอ สทศ. ทำเรื่องนี้ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ซึ่งดูแลเรื่องประกันคุณภาพ ก็รับลูกว่าจะเอามาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินคุณภาพการศึกษาทันที เข้ากันได้ดีราวผีเน่ากับโลงผุ ซึ่งอย่างนี้มหาวิทยาลัยทั้งหลายที่ต้องถูกประเมินโดยสมศ. ก็ต้องบังคับเด็กสอบแน่นอน จะบอกว่าไม่บังคับได้ยังไง สองหน่วยงานนี้บอกตามตรงว่าเป็นหน่วยงานที่ผมไม่ประทับใจการทำงานเอาเลยจริง ๆ

แล้วก็ให้สัมภาษณ์บอกว่าเป็นพันธกิจ ทำไมไม่ตั้งพันธกิจให้มันดูมีประโยชน์กว่า อย่างเช่นทำการทดสอบภาษาอังกฤษระดับชาติขึ้นมา แล้วผลักดันการสอบนี้ให้เป็นที่ยอมรับอย่างน้อยในระดับ AEC คือแทนที่จะให้ไปสอบ TOEFL หรือ IELTS ซึ่งมีราคาแพง ก็ให้คนของเรามาสอบอันนี้แทนตามความสมัครใจ ค่าใช้จ่ายก็ให้เหมาะสมกับประเทศเรา หรือในระดับวิชาชีพ ก็อาจจะจัดการสอบเพื่อวัดความรู้การเขียนโปรแกรมภาษา Java ให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติ หรือนานาชาติด้วยก็ยิ่งดี อันนี้ไม่ต้องบังคับผมว่าก็คงมีคนหลายคนยินดีสอบ และผู้ประกอบการก็คงจะพอใจที่จะมีอะไรแบบนี้ ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่อยู่นอกระบบการศึกษาปกติ แต่มีความสามารถได้มีผลลัพธ์จากการสอบนี้เป็นจุดอ้างอิงได้ด้วย  

พันธกิจที่ตอบคำถามสังคมไม่ได้ว่าทำไปทำไม มีประโยน์อะไร คุ้มค่ากับที่แต่ละฝ่ายต้องลงทุนลงแรงเสียเวลาเสียเงินเสียทองไปหรือไม่ แล้วยังจะเดินหน้ืำต่อไปโดยอ้างแค่ว่ามีหน้าที่ อย่างนี้เรียกว่าคิดอย่างมีวิจารณญาณแล้วใช่ไหม ลองตัดอคติที่มัวแต่มาคิดว่าคนที่ค้านนี่เพราะกลัวการสอบออกไป แล้วมานั่งมองดูสิว่าที่เขาค้านกันนี่มันเพราะอะไร หรือถ้ายังคิดไม่ได้ ก็ลองกลับไปประเมินสิ่งที่ตัวเองทำไปแล้วอย่าง O-Net ก็ได้ว่าผลลัพธ์มันเป็นยังไง มันให้อะไรกับสังคมกับประเทศชาติตามที่ตั้งใจไว้หรือยัง ถ้ายังก็ทำให้มันสำเร็จ มีข้อสอบที่คนในสังคมยอมรับว่ามันได้มาตรฐาน วัดความรู้ได้จริง ๆ คนในสังคมเห็นประโยชน์ของมัน ทำอันที่มีอยู่ให้มันสำเร็จอย่างนี้ก่อนดีไหม แล้วค่อยเดินหน้าทำต่อไป คิดว่าถ้าทำได้อย่างนี้ เสียงค้านจะไม่มากมายแบบนี้แน่ ฝากถึงที่ประชุมอธิการบดีด้วยแล้วกัน เห็นเรื่องการเมืองก็ออกมาแสดงบทบาทกันมากมายแล้ว อันนี้เรื่องใกล้ตัวเรื่องการศึกษาออกมาแสดงบทบาทหน่อยก็ดีนะครับ

คราวนี้มาดูที่วิชาสอบกันบ้าง เริ่มจากวิชาที่เขาจะสอบเอาแค่วิชาแรกก่อนแล้วกัน การใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร แน่นอนครับผมเห็นด้วยว่าเด็กไทยเรามีปัญหาจริง ๆ กับการสื่อสารทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จากการที่ได้คุมปริญญานิพนธ์ วิทยานิพนธ์ ตั้งแต่ระดับป.ตรีถึงป.เอก แต่คำถามคือทำไมเราถึงจะมาแก้ปัญหาด้วยการสอบในระดับอุดมศึกษา เรื่องการสื่อสารนี่มันควรจะเริ่มจากตรงไหน มันควรจะเริ่มจากเด็ก ๆ เลยใช่ไหม ตามที่ผมเข้าใจคือเด็กนักเรียนสมัยนี้เขาไม่ได้เรียนการผันวรรณยุกต์ กา ก่า ก้า ก๊า ก๋า กันแล้ว ใช้วิธีเหมือนจำ ๆ เอา ดังนั้นก็ผันไม่ถูก ไม่เข้าใจอักษรสูงกลางต่ำ (ไม่ใช่ไฮโลนะ) อย่างคำว่า โค้ด ก็เขียนกันเป็นโค๊ด เพราะเห็นแบบผิด ๆ ที่ใช้กันมาอย่างแพร่หลาย วิชาเรียงความก็รู้สึกจะไม่มีแล้ว ภาษาอังกฤษนี่ไม่ต้องพูดถึงเรียนกันมาไม่รู้กี่ปีก็ยังสื่อสารไม่ได้ ถ้าไม่ปูไม่ทำกันมาตั้งแต่ต้น แล้วคุณจะมาวัดคุณภาพบัณฑิตคุณภาพสถาบันอุดมศึกษาอะไรกันตอนนี้ พูดถึงตรงนี้ก็นึกขึ้นได้ว่าผอ.สทศ. บอกว่าหน่วยงานตัวเองมีหน้าที่วัด ไม่ได้มีหน้าที่เป็นตัวปรับปรุงกระบวนการผลิต ฟังแล้วก็ดูเหมือนปัด ๆ ให้พ้นตัวยังไงก็ไม่รู้  ประเด็นคือถ้ากระบวนการผลิตยังไม่ดี ผลลัพธ์มันก็ออกมาอย่างที่เห็นนี่แหละ ดูอย่าง O-Net ผลมันก็ออกมาทุกปีว่าเด็กไทย อ่อนเลข วิทย์ อังกฤษ ไทย แล้วก็มานั่งตีโพยตีพายกัน ปีหน้าสอบใหม่ผลออกมาก็เหมือนเดิม แล้วจริง ๆ ไม่ต้องมีผล O-Net ผมว่าเราก็รู้อยู่แล้วนะว่าเด็กไทยอ่อนวิชาเหล่านี้

อีกสักวิชาแล้วกันการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking)  ดูแล้วก็น่าสนใจนะ เพราะถ้าผู้บริหารบ้านเมืองและนักการเมืองในประเทศเราสามารถคิดได้ย่างมีวิจารณญาณจริง บ้านเมืองเราคงไม่ปั่นป่วนวุ่นวายแบบทุกวันนี้ ชักจะโยงเข้าหาการเมืองแฮะ กลับมาดีกว่า แต่คำถามก็คือไอ้ข้อสอบที่จะวัดนี่จะมีหน้าตายังไง มหาวิทยาลัยจะต้องจัดวิชาอะไรมารองรับข้อสอบแบบนี้ไหม ถ้าต้องทำก็ต้องเป็นวิชาบังคับ ก็หมายความว่าอาจต้องเพิ่มหน่วยกิต หรือไปลดรายวิชาบางตัวออกไปอย่างนั้นหรือ อาจจะบอกว่าก็ทุกสาขามันก็ต้องให้นักศึกษาคิดอย่างมีวิจารณญาณอยู่แล้ว แต่อยากจะบอกอีกครั้งว่านี่คือมหาวิทยาลัย แต่ละสาขาวิชาก็จะมีชุดความคิดพื้นฐานที่แตกต่างกัน ปัญหาเดียวกันไปถามนักคณิตศาสตร์อาจได้คำตอบอย่างหนึ่ง ไปถามนักอักษรศาตร์อาจได้คำตอบอีกอย่างหนึ่ง หรือตัวอย่างใกล้ ๆ ตัวนี่ก็ได้ กฏหมายข้อเดียวกันแท้ ๆ นักกฎหมายก็ยังตีความไปได้คนละทางสองทาง แล้วมันจะมีข้อสอบวิเศษอะไรที่จะวัดตรงนี้ได้ ข้อสอบอย่างผ้าปูโต๊ะควรใช้สีอะไรแบบนั้นหรือไง และถ้ามีข้อสอบแบบนี้จริง ผู้บริหารสทศ.นั่นแหละทำให้ผ่านก่อนเลย จะได้วัดว่าตัวเองเป็นผู้คิดอย่างมีวิจารณญาณหรือไม่

ผู้หลักผู้ใหญ่ประเทศเราชอบแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ผมเข้าใจว่าหลายคนหวังดีอย่างช่วยแก้ปัญหาการศึกษาของประเทศชาติ แต่การแก้ปัญหาด้วยการรีบเร่งมาวัดจากผลลัพธ์แบบนี้มันอาจไม่ใช่คำตอบ การแก้ปัญหาก็คือต้องแก้ตั้งแต่ต้นทาง แก้ปัญหาที่กระบวนการผลิต ตั้งแต่หลักสูตรระดับประถม มัธยม จนถึงมหาวิทยาลัย ดูแลเรื่องการจัดการเรียนการสอน ปรับปรุงพัฒนาคุณภาพครูผู้สอน แต่ไม่ใช่การเน้นที่การตรวจเอกสารทีมีเพื่อให้ผ่าน KPI โดยไม่ได้คิดจะแก้ปัญหาจริง ๆ อย่างที่ทำประกันคุณภาพกันอยู่นะ อย่างเช่นบางทีมีเอกสารให้อาจารย์ผู้สอนแจ้งว่าการเรียนการสอนมีปัญหาอะไรบ้าง แต่พอแจ้งไปก็ไม่เคยได้รับการเหลียวแลแก้ไข ซึ่งจริง ๆ แล้วผู้บริหารเพียงแต่ต้องการให้มีเอกสารที่ สมศ. ต้องการให้ครบเท่านั้นไม่ได้คิดจะแก้ปัญหาอะไร อย่างนี้เป็นต้น เรื่องนี้ถ้าให้พูดคงได้พูดกันกันยาวครับ เอาเป็นว่าพอแค่นี้ก่อนแล้วกัน เดี๋ยวมันจะออกนอกเรื่องไปยาวกันใหญ่ อีกอย่างก็ได้ระบายออกมาจนพอจะหายหงุดหงิดที่ลิเวอร์พูลแพ้ไปบ้างแล้ว หวังว่าอีกสองนัดคงไม่พลาดอีกจนหงุดหงิดต้องออกมาระบายอะไรแบบนี้อีกนะหงส์นะ อยากเห็นเจอร์ราดชูถ้วย  EPL และ สทศ.ยกเลิกการสอบ O-Net U-Net V-Net อะไรนี่ให้มันหมดไปซะที เอ้อว่าแต่สองเรื่องนี้มันเกี่ยวกันตรงไหนหว่า...