บล็อกต้อนรับปีใหม่นี้ก็ขอเป็นทางธรรมะหน่อยแล้วกันนะครับ และผมเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับพวกเราโดยเฉพาะกับครูและนักเรียนครับ เรื่องที่เล่าให้ฟังนี้ได้มาจากหนังสือเรียนพุทธศาสนาของลูกคนเล็กครับ คือเขาจะสอบแล้วผมก็ช่วยติวก็เลยได้รู้เรื่องและเห็นว่าน่าสนใจดี และน่าจะเป็นประโยชน์ก็เลยนำมาถ่ายทอดต่อให้ฟังกันครับ เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับพุทธสาวิกาซึ่งก็คือพระอริยบุคคลฝ่ายหญิงซึ่งยังทันได้พบกับพระพุทธองค์ พุทธสาวิกาคนนี้คือพระเขมาเถรีครับ
บอกตามตรงว่าก่อนหน้าที่จะช่วยติวลูกนี้ผมไม่เคยรู้จักมาก่อนเลยครับ และคิดว่าพวกเราหลายคนก็อาจไม่รู้จักนะครับ ก็เลยขอเล่าประวัติให้ฟังคร่าว ๆ ก่อนแล้วกันครับ ส่วนใครที่รู้จักอยู่แล้วก็ทนอ่านนิดหนึ่งแล้วกันนะครับ พระเขมาเถรีนี้ก่อนจะออกบวชมีนามว่าพระนางเขมาเทวีซึ่งเป็นพระมเหสีผู้เลอโฉมของพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งพระเจ้าพิมพิสารนี้พวกเราอาจจะทราบดีว่าเป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง และพระองค์ก็ต้องการให้พระมเหสีได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า แต่พระนางเขมาเทวีไม่ยอมไปฟังครับ เพราะพระนางได้รับฟังมาว่าพระพุทธเจ้ามักจะทรงสั่งสอนเกี่ยวกับโทษของร่างกายก็เลยไม่ยอมไปฟัง แต่สุดท้ายพระเจ้าพิมพิสารก็ออกอุบายให้ไปฟังจนได้ครับ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้แสดงธรรมให้เห็นถึงว่าร่างกายเป็นของไม่เที่ยงจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามวัย ซึ่งพระนางเขมาเทวีพอได้ฟังแล้วก็เลิกยึดติดกับความงามและบรรลุโสดาบัน จากนั้นพระพุทธเจ้าก็แสดงธรรมต่อจนพระนางตัดกิเลสได้จนบรรลุเป็นพระอรหันต์ ซึ่งตามที่หนังสือบอกไว้คนธรรมดาที่สำเร็จอรหันต์จะต้องออกบวชมิฉะนั้นจะต้องนิพพานใน 7 วันครับ ดังนั้นพระเจ้าพิมพิสารจึงต้องให้พระนางออกบวชครับ (ถ้าผมเป็นพระเจ้าพิมพิสารผมอาจคิดว่าไม่น่าหาเรื่องเลยตู ซวยเลยต้องเสียภรรยาแสนสวยไปคนหนึ่ง :) )
เมื่อพระนางออกบวชแล้วก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัยจนแตกฉานครับ และได้รับการแต่งตั้งจากพระพุทธเจ้าให้เป็นพระอัครสาวิกาเบื้องขวาครับ โดยพระนางได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นภิกษุณีที่เป็นเลิศทางปัญญา ซึ่งพระนางมีความแตกฉานในสี่ด้าน ซึ่งผมคิดว่าเป็นสี่ด้านที่พวกเราโดยเฉพาะที่เป็นครูและนักเรียนควรจะมีครับ มาดูกันครับว่าสี่ด้านที่ว่ามีอะไรบ้าง
- ความแตกฉานในความหมาย ในข้อนี้หมายความว่าพระนางเพียงเห็นหัวข้อธรรม ก็สามารถอธิบายได้โดยละเอียด ดังนั้นนักเรียนทั้งหลายถ้าสามารถเรียนหนังสือจนสามารถทำแบบนี้ได้ ย่อมจะเรียนหนังสือได้ดีจริงไหมครับ ส่วนครูอาจารย์ถ้าทำแบบนี้ได้ก็แสดงว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในวิชาที่ตัวเองสอน
- ความแตกฉานในหลักการ ข้อนี้หมายความว่าเมื่อได้รับฟังรายละเอียดของเรื่องราวใดก็สามารถจับใจความหรือตั้งเป็นหัวข้อได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็คือการจับประเด็นนั่นเอง ดังนั้นนักเรียนหรือใครก็ตามที่ฟังบรรยายแล้ว และสามารถจับใจความสำคัญได้นั่นก็แสดงว่าเข้าใจในหลักการที่ผู้บรรยายต้องการนำเสนอ ส่วนครูอาจารย์โดยเฉพาะที่คุมงานวิจัย ถ้ามีความแตกฉานในข้อนี้ก็จะสามารถบอกถึงหลักการที่นักศึกษานำเสนอ และสามารถให้ความเห็นได้ว่ามีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไร
- ความแตกฉานในภาษา อันนี้ก็หมายความว่าสามารถอธิบายคำศัพท์ หรือคำบัญญัติให้ผู้อื่นเข้าใจได้ ซึ่งอันนี้ก็คงจะตรงกับที่ไอน์สไตน์ได้กล่าวไว้ว่า ถ้าคุณอธิบายเรื่องราวให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ไม่ได้ นั่นคือคุณไม่เข้าใจเรื่องนั้นดีพอ
- ความแตกฉานในปฏิภาณ อันนี้ก็คือความมีไหวพริบสามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม นักเรียนที่เรียนภาคทฤษฎีมาแล้วและไม่สามารถนำมาประบุกต์ได้ก็อาจทำข้อสอบไม่ได้ อาจารย์ที่ดีก็ควรจะมีความสามารถในการยกตัวอย่างเชิงเปรียบเทียบให้นักศึกษาเห็นภาพได้