แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ น้องก้อย แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ น้องก้อย แสดงบทความทั้งหมด

วันเสาร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

อีกมุมมองหนึ่งในกรณีโค้ชเชกับน้องก้อย

วันนี้ขอเกาะกระแสเรื่องเทควันโดนี้สักหน่อยนะครับตอนแรกคิดว่ามันจะถูกกลบด้วยเรื่องอื่นไปแล้ว แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่จบเมื่อโค้ชเชบอกว่าจะกลับมาทำทีมต่อ (อันนี้ผมดีใจนะ) และน้องก้อยยังไม่ยอมจบ

ในบล็อกนี้ผมคงไม่บอกว่าใครถูกใครผิดทั้งหมดนะครับ (ถึงแม้ผมจะเห็นด้วยกับฝั่งหนึ่งมากกว่าอีกฝั่งหนึ่ง) เพราะกรณีนี้คือหนึ่งเราทั้งหลายไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ และสองมันมีมุมมองที่ต่างกันในหลายด้านที่ต้องนำมาพิจารณาเช่นทางด้านวัฒนธรรมของประเทศ วัฒนธรรมองค์กร และเรื่องสิทธิมนุษยชน อะไรพวกนี้ คือผมเข้าใจทั้งโค้ช และน้องก้อยและครอบครัว ในแง่ของโค้ชผมเทียบกับตัวเองในฐานะอาจารย์ที่ค่อนข้างเข้มงวดคนหนึ่งในด้านผลงานวิชาการ นักศึกษาที่เคยทำวิจัยกับผมตั้งแต่ระดับป.ตรีถึงป.เอกเกือบทุกคนจะโดนผมดุว่าเรื่องการทำวิจัย ยิ่งถ้าใครที่ทำมาอย่างไม่ใส่ใจคือทำให้เสร็จ ๆ ไป หรือถ้าไปคัดลอกใครมานี่จะโดนผมดุเอาอย่างแรงมาก ซึ่งหลายคนถึงกับร้องไห้เลยนะครับ (ไม่ได้ดีใจนะ พอเห็นเด็กร้องไห้ผมก็ใจเสียเหมือนกัน)  หลัง ๆ ผมน่าจะเบาลง (มั้ง) เพราะไม่ค่อยมีใครร้องไห้แล้ว คือผมไม่ได้สนใจว่านักศึกษาจะเก่งหรือไม่เก่ง แต่จะดูที่ความเอาใจใส่และความพยายามทำงานของเขามากกว่า อันนี้ก็คงเหมือนกับโค้ชเชที่มองว่าน้องก้อยไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่จึงลงโทษ ซึ่งถ้าถามว่ามันเกินกว่าเหตุไหมอันนี้ผมว่ามันขึ้นกับกฎเกณฑ์ขององค์กรในที่นี้คือสมาคมเทควันโดภายใต้การโค้ชของโค้ชเช โค้ชเชไม่ได้เพิ่งมาทำทีมแต่ทำมาแล้วสิบกว่าปี ดังนั้นวิธีการลงโทษแบบนี้สมาคมและนักกีฬาต้องรับทราบและถ้าไม่มีการดำเนินการใด ๆ ก็แสดงว่ายอมรับได้กับวิธีนี้ถ้าแลกกับความสำเร็จ ในแง่ของน้องก้อยซึ่งไม่ได้แข่งครั้งแรกแต่เป็นครั้งที่สามแล้วดังนั้นเธอก็ต้องรับทราบระบบนี้ด้วย ถ้าเธอบอกว่ารับไม่ได้เธอก็ควรถอนตัวไปแต่แรก แต่แน่นอนก็เป็นสิทธิของเธอที่คิดว่าเธอถูกลงโทษรุนแรงไป คือเธออาจมองว่าการลงโทษครั้งนี้มันแรงกว่าเกณฑ์ปกติขององค์กร แต่สิ่งที่เธอกระทำนี่เป็นอีกเรื่องนะครับซึ่งผมจะพูดถึงต่อไป

มุมที่ผมอยากจะเขียนถึงจริง ๆ ในเรื่องนี้มีอยู่สามประเด็นคือหนึ่งการโพสต์ข้อความผ่านทางเครือข่ายสังคม ปัจจุบันนี้หลายคนใช้เครือข่ายสังคมกันอย่างไม่ระมัดระวัง คือมีเรื่องอะไรก็โพสต์โดยไม่ได้คิดว่าเหมาะสมหรือไม่ เรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องส่วนตัวมาก ๆ ก็โพสต์ เรื่องบางเรื่องที่เป็นความขัดแย้งในองค์กร ซึ่งควรจะเป็นการพูดคุยแก้ปัญหากันภายในก็โพสต์ ถ้าตามสุภาษิตโบราณเขาเรียกว่าสาวไส้ให้กากิน อย่างนี้คู่แข่งขององค์กรเราก็สบายไปเลย จากการที่ผมเคยสอนเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์ในการสื่อสารผมมักจะเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของการพูดคุยต่อหน้ากับการสื่อสารโดยใช้คอมพิวเตอร์ว่า ข้อเสียของการใช้คอมพิวเตอร์ในการสื่อสารคือในหลาย ๆ ครั้งมันไม่มีองค์ประกอบที่เรามักจะมีในการพูดจาต่อหน้าเช่นน้ำเสียง หรือสีหน้าไปด้วยทำให้บางครั้งอาจเข้าใจผิด ซึ่งหลายครั้งเราก็อาจแก้ปัญหาด้วยการใช้สัญลักษณ์แสดงอารมณ์แนบท้ายข้อความไปด้วยอย่าง :) ก็อาจหมายความว่าแซวเล่นขำ ๆ นะ แต่บางครั้งมันก็อาจใช้แบบนี้ไม่ได้ แต่ข้อดีของการใช้คอมพิวเตอร์ในการสื่อสารที่เหนือกว่าการพูดคุยกันต่อหน้าคือ เรามีเวลาที่จะคิดว่าเราควรพูด (โพสต์) ออกไปดีไหม และเราสามารถที่จะเรียบเรียงคำพูดให้เหมาะสมได้ ในขณะที่การพูดกันโดยตรงเราอาจพูดอะไรที่ไม่เหมาะสมออกไปตามอารมณ์ในขณะนั้น ในกรณีนี้ถ้าน้องก้อยรอให้ใจเย็นได้พูดคุยได้เคลี่ยร์กันก่อนแล้วคิดให้ดีว่าควรโพสต์อะไรออกมาไหม เหตุการณ์ก็อาจไม่บานปลายมาถึงขั้นนี้

ประเด็นที่สองคือการจัดการปัญหาของผู้ใหญ่ครับ ในวันที่เกิดเรื่องมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งในสมาคมเทควันโดให้สัมภาษณ์ได้แย่มากครับ คือเข้าข้างโค้ชเชก็พอทำเนา แต่บอกว่าน้องก้อยไม่ได้มีความหมายอะไร สมาคมไม่ได้มีความหวังอะไรอยู่แล้ว เป็นผู้ใหญ่พูดแบบนี้กับนักกีฬาได้อย่างไร ถ้าไม่มีความหวังอะไรแล้วให้เขาติดทีมชาติทำไม การที่เขายอมเสียสละมาฝึกซ้อมลงแข่งเป็นตัวแทนทีมชาตินี่ไม่มีความดีอะไรเลยใช่ไหม อีกอย่างเท่าที่ตามข่าวมาน้องเขาก็เคยได้เหรียญในการแข่งขันแล้วด้วย การบริหารจัดการก็แย่มาก จริง ๆ ควรจะขอร้องทุกฝ่ายว่าอย่าเพิ่งให้ข่าวหรือให้สัมภาษณ์อะไร (ถ้าขอไปแล้วน้องเขาไม่ทำก็ขอโทษด้วย อย่างนี้สมควรให้ออกจากทีมชาติไปเลย) ขอให้คุยกันเป็นการภายในก่อน แล้วค่อยออกมาแถลง

ประเด็นสุดท้ายก็เรื่องของการวิพากษ์วิจารณ์ของผู้คนหลาย ๆ คนนี่แหละครับ คือผมมีความรู้สึกว่าหลายคนก็ยังยึดติดกับตัวบุคคลมากกว่าที่จะพิจารณาไปตามเหตุผลหรือหลักการ ผมเห็นคำวิจารณ์ประเภทว่าโค้ชเชทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติมามากมาย ยายคนนี้เป็นใคร คือทำไมเราถึงไม่เอาตัวบุคคลออกไปแล้วพิจารณาเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าสมมติคนทำไม่ใช้โค้ชเช เป็นคนอื่นที่ไม่มีต้นทุนสูงแบบโค้ชเช คนที่วิพากษ์วิจารณ์ยังจะคิดอย่างนี้อยู่หรือเปล่า ประเด็นนี้ผมว่าก็สำคัญนะครับ สังคมเราดูเหมือนเป็นสังคมบูชาฮีโร่ ถ้ารักใครชอบใครแล้วคนนั้นทำอะไรก็ถูกไว้ก่อน ซึ่งบางครั้งก็อันตรายนะครับถ้าคิดกันแบบนี้ (ย้ำอีกครั้งผมไม่ได้คิดว่าโค้ชเชผิดนะ) หรือบางทีก็แบ่งพวกแบ่งเหล่าไปเลย ผมลองสมมติให้สุดโต่งไปเลย ลองถามตัวเองดูสมมติโค้ชเชเคยขึ้นเวทีนปช. (เอ้ามีการเมืองจนได้) คนที่เชียร์กกปส.ยังจะเข้าข้างโค้ชเชอยู่หรือเปล่า หรือจะไปเข้าข้างน้องก้อยเพราะโค้ชเป็นอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว

ก็ฝากให้คิดกันเล่น ๆ ไว้แค่นี้แล้วกันครับ และก็หวังว่าเรื่องนี้จะจบลงด้วยดี และกีฬาเทควันโดก็จะเป็นกีฬาที่เรามีความหวังในมหกรรมกีฬาต่าง ๆ ต่อไปครับ ...